28 กุมภาพันธ์ 2567

การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร


          กฎหมายได้วางข้อสันนิษฐานว่า เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่มาตรา 1555 วรรคหนึ่งกำหนดไว้ จึงเป็นหน้าที่ของชายที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นบิดาของเด็กจะต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานกฎหมายเช่นว่านี้ ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าวมีอยู่ 7 ประการ กล่าวคือ

          (1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
          ระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรภ์ได้ คือ ระยะเวลา 180 วัน ถึง 310 วันก่อนเด็กเกิด ถ้าในระหว่างนี้มีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงโดยมิชอบด้วยกฎหมายจนหญิงนั้นตั้งครรภ์ ก็เข้าตามข้อสันนิษฐานข้อนี้

          (2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
          การลักพาหรือการล่อลวงตามข้อนี้ ต้องอยู่ในระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรภ์ได้เช่นเดียวกัน คือ ระยะเวลา 180 วัน ถึง 310 วันก่อนเด็กเกิด

          (3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน
          เอกสารที่แสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตร ต้องมีความชัดแจ้ง ซึ่งเอกสารดังกล่าวบิดาจะตั้งใจทำขึ้นหรือไม่นั้น ไม่สำคัญ


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2536  โจทก์คลอดเด็กหญิง บ. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2531 จำเลยได้ร่วมประเวณีกับโจทก์หลายครั้งในระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2530 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2531 และจัดการให้โจทก์ไปอยู่กับเพื่อนของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นจำเลยไปเยี่ยมโจทก์หลายครั้งพาโจทก์ไปหาแพทย์และเขียนจดหมายถึงโจทก์หลายฉบับมีข้อความที่แสดงว่าเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลย ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ร่วมประเวณีกับชายอื่น ย่อมมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าเด็กหญิง บ. มิได้เป็นบุตรของชายอื่น โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลยได้ การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557(3) ดังนั้น ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจะต้องกำหนดให้นับแต่วันดังกล่าวมิใช่นับแต่วันฟ้อง จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเท่าไร ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ชำระตามที่ศาลล่างกำหนดคือเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 10 ปีบริบูรณ์ หลังจากนั้นให้ชำระเดือนละ 1,500 บาท จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ โดยให้จำเลยชำระเป็นเงินก้อนครั้งเดียว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2698/2536  ผู้ตายได้ทำบันทึกมีข้อความระบุว่า ผู้ร้องยินยอมรับเงินจำนวน 15,000 บาท เป็นค่าทดแทนกรณีที่ผู้ร้องมีบุตรกับผู้ตาย โดยผู้ร้องลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้สัญญา ส่วนผู้ตายลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับสัญญา บันทึกดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเอกสารของผู้ตายที่ยอมรับว่าเด็กหญิง ม. เป็นบุตรของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555(3) แล้ว

          (4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5335/2542  ผู้ตายและนาง บ. เป็นสามีภริยากันโดยมีนาง ค. ซึ่งเป็นบุตรของนาง บ.กับสามีเก่าพักอาศัยอยู่ด้วย นาง ค. คลอดผู้ร้องแล้วผู้ตายถึงแก่กรรม โดยผู้ตายมิได้เป็นผู้ไปแจ้งการเกิดผู้ร้อง จึงไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ตายรับผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555(4) นาง ค. พักอาศัยในฐานะที่เป็นบุตรสาวของนาง บ. มิใช่ในฐานะภริยาของผู้ตาย การที่ผู้ร้องใช้นามสกุลของผู้ตายก็เพราะสูติบัตรของผู้ร้องระบุว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายกับนาง บ. หาใช่เพราะผู้ตายยอมให้ใช้นามสกุลของตนเพราะเหตุที่ผู้ร้องเป็นบุตรของนางค.ไม่ จึงฟังไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าผู้ร้องเป็นบุตรผู้ตายที่เกิดจากนาง ค. ไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ตายรับผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555(7)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4141/2535  จำเลยเคยร่วมประเวณีกับโจทก์ และเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2529 โจทก์คลอดเด็กหญิง ธ. ผู้เยาว์ ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2529 โจทก์ได้ไปแจ้งการเกิดของผู้เยาว์ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี โดยนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุบลราชธานี เป็นผู้สอบสวนพยานหลักฐานไว้ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2  ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการที่โจทก์ไปแจ้งเกิดผู้เยาว์จึงอยู่ในความรู้เห็นยินยอมของจำเลย ซึ่งเมื่อฟังประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์จำเลยได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผยในระยะเวลาที่โจทก์อาจตั้งครรภ์เด็กหญิง ธ. ได้แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า เด็กหญิง ธ. เป็นบุตรของโจทก์ที่เกิดกับจำเลย

          (5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2525  ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของจำเลยซึ่งเกิดจากนาง ส. โดยจำเลยกับนาง ส. ได้แต่งงานอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งนาง ส. มารดาโจทก์อาจตั้งครรภ์ได้ และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยไม่ได้บังคับให้นาง ส. ทำหนังสือรับรองว่าโจทก์ทั้งสองไม่ใช่บุตรของจำเลย และไม่ได้บังคับให้นาง ส. ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยไปยื่นคำร้องขอเพิกถอนหลักฐานทะเบียนบ้าน แต่นาง ส. กระทำด้วยความสมัครใจ ย่อมสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของจำเลยซึ่งมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยรับโจทก์เป็นบุตร ถึงแม้นาง ส. มารดาโจทก์จะทำหนังสือรับรองว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่บุตรของจำเลยและทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยไปยื่นคำร้องขอเพิกถอนหลักฐานทะเบียนบ้านด้วยความสมัครใจ ก็หามีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์ไม่"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2268/2533  จำเลยกับมารดาโจทก์รู้จักกันมาก่อนเป็นเวลานานโดยมารดาโจทก์ทำงานเป็นหญิงพาร์ตเนอร์อยู่ที่นครถ้ำไนท์คลับ จำเลยก็เบิกความรับว่ารู้จักกับมารดาโจทก์มาประมาณ 20 ปี จำเลยไปเที่ยวที่ไนท์คลับดังกล่าวและเคยพามารดาโจทก์ไปร่วมหลับนอนด้วย เมื่อมารดาโจทก์คลอดบุตรคือตัวโจทก์แล้วได้มีการแจ้งในใบสูติบัตรว่า บิดาโจทก์ชื่อ ป. อันเป็นชื่อของจำเลยและแจ้งนามสกุลโจทก์เป็นนามสกุลของจำเลยปรากฏตามใบสูติบัตรแจ้งการเกิดจากโรงพยาบาลตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งผู้แจ้งจะต้องนำหลักฐานทางทะเบียนของมารดาเด็กและบิดาเด็กไปแสดงเพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ลงทะเบียนได้ถูกต้อง หลักฐานดังกล่าวได้แก่บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านลักษณะการแจ้งเกิดที่บ้านกับที่โรงพยาบาลไม่แตกต่างกัน ใช้เอกสารอย่างเดียวกันแสดงว่าการแจ้งเกิดตามใบสูติบัตรของโจทก์ดังกล่าวมีหลักฐานการแจ้งเกิดตามระเบียบโดยถูกต้องบ่งชี้โดยแน่ชัดว่าจำเลยเป็นบิดาของโจทก์จริง

          (6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2536  โจทก์คลอดเด็กหญิง บ. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2531 ก่อนโจทก์คลอดบุตรดังกล่าว จำเลยได้ร่วมประเวณีกับโจทก์หลายครั้ง โดยโจทก์ไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์เนื่องจากจำเลยต้องการมีบุตรกับโจทก์ เพราะภรรยาของจำเลยไม่สามารถมีบุตรได้จนโจทก์ตั้งครรภ์และโจทก์ได้บอกให้จำเลยทราบ จำเลยเกรงว่าภรรยาของจำเลยจะทราบเรื่อง จึงจัดการให้โจทก์ไปอยู่กับเพื่อนของจำเลย จากนั้นจำเลยได้ไปเยี่ยมโจทก์หลายครั้งและพาโจทก์ไปหาแพทย์ด้วย นอกจากนี้จำเลยยังได้เขียนจดหมายถึงโจทก์หลายฉบับซึ่งเป็นข้อความที่แสดงว่าเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลย ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ไปร่วมประเวณีกับชายอื่น คดีจึงรับฟังได้ว่าเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลย

          (7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2549  ผู้ร้องเป็นบุตรสืบสายโลหิตของ ป. ป. แสดงออกต่อญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่บ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนาของมารดาผู้ร้อง มิได้แสดงออกต่อญาติข้างบิดาหรือเพื่อนบ้านแถวบ้านพักของ ป. ซึ่งอยู่ต่างท้องที่กันว่าผู้ร้องเป็นบุตร ก็ถือได้ว่าพฤติกรรมที่รู้กันอยู่ทั่วไปตลอดเวลาว่าผู้ร้องเป็นบุตร ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555 (7) แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2538  ม.และโจทก์ที่ 1 ได้แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรโดยให้ความอุปการะเลี้ยงดูให้ใช้นามสกุลเดียวกัน เป็นพฤติการณ์ที่รู้กันโดยทั่วไปตลอดมาว่าโจทก์ที่ 1 เป็นบุตร โจทก์ที่ 1 จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ ม. แต่เมื่อ ม.ซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกตายไปก่อนเจ้ามรดก โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่ ม.ได้


          การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา 1556 กำหนดไว้ดังนี้
          ก. ถ้าเด็กยังเป็นผู้เยาว์และยังมีอายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็กก็ได้
          ข. เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเอง  ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
          ค. กรณีที่เด็กบรรลุนิติภาวะแล้ว จะต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันบรรลุนิติภาวะ
          ง. กรณีที่เด็กตายในระหว่างที่เด็กนั้นยังมีสิทธิฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรอยู่ ผู้สืบสันดานของเด็กจะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก็ได้ ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรมาก่อนวันที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรภายหลังที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้เหตุดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ต้องไม่พ้นสิบปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย

          กฎหมายกำหนดเวลาไว้ชัดเจนว่าการฟ้องให้รับเด็กเป็นบุตรต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่เด็กนั้นบรรลุนิติภาวะ ถ้าฟ้องเกินกำหนด 1 ปี ย่อมต้องห้ามตามมาตรา 1556
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9574/2551  ผู้ร้องบรรลุนิติภาวะเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ป. เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2549 จึงเกินกำหนด 1 ปี นับแต่ผู้ร้องบรรลุนิติภาวะ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้องขอ) ดังนั้นปัญหาว่าผู้ร้องเป็นบุตรของ ป. หรือไม่ ก็ไม่จำต้องวินิจฉัย หากผู้ร้องเห็นว่ามีการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในการรับมรดกของ ป. อย่างไร ผู้ร้องต้องไปใช้สิทธิทางศาลอย่างคดีมีข้อพิพาทต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2549  การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่เด็กบรรลุภาวะแล้วจะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ ปรากฏตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านว่า ผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2512 ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2546 ขณะผู้ร้องมีอายุได้ 34 ปี จึงเป็นการยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ตายไม่เคยปฏิเสธว่าผู้ร้องมิใช่บุตรไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายจนเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องไปติดต่อขอรับเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกคุรุสภา (ช.พ.ค.) แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าไม่มีหลักฐานแสดงว่าผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย นับเป็นเหตุขัดข้องโดยเพิ่งเกิดการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ก็ตาม แต่การใช้สิทธิทางศาลของผู้ร้องก็ยังต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าวด้วย ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ร้องเพิ่งถูกโต้แย้งสิทธิ คดียังไม่ขาดอายุความหาได้ไม่


          ผลของการที่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

          เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเด็กเป็นบุตรแล้ว การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย ให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้ ตามมาตรา 1557
          แต่หากฝ่ายชายผู้เป็นบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วจึงมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเด็กเป็นบุตรของชายผู้ตายในภายหลังเช่นนี้ มาตรา 1558 ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรของผู้ตายที่ได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความมรดก ถ้าต่อมาศาลได้พิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เด็กนั้นมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8504/2544  การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555 หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทคือฟ้องบิดาโดยเสนอข้อหาทำเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือให้เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตามมาตรา 188 (1)