28 ก.พ. 2567

การรับมรดกแทนที่


          เมื่อบุคคลผู้มีสิทธิรับมรดกตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) และ (6) ถึงแก่ความตายหรือตายโดยผลของกฎหมายในเรื่องสาบสูญ หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ผู้สืบสันดานของบุคคลผู้เป็นทายาทที่ถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้น ย่อมเข้ารับมรดกแทนที่ตามส่วนที่ผู้ตายหรือผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกมีสิทธิจะได้รับ รวมทั้งผู้สืบสันดานของทายาทนั้นก็อาจเป็นบุคคลที่จะถูกรับมรดกแทนที่ได้เช่นเดียวกัน

          มาตรา 1639  "ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย"

          มาตรา 1640  "เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 65 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้มีการรับมรดกแทนที่กันได้"



          หลักเกณฑ์การรับมรดกแทนที่

          (1) การรับมรดกแทนที่นั้นใช้บังคับในระหว่างทายาทโดยธรรมเท่านั้น ส่วนสิทธิตามพินัยกรรมรับมรดกแทนที่ไม่ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2784/2515  ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนหนึ่งให้ ท. ซึ่งเป็นบุตรคนหนึ่ง แต่ ท.ตายไปก่อนผู้ทำพินัยกรรม ข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพินัยกรรมนั้นจึงเป็นอันตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(1) และต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1699 ประกอบกับ มาตรา 1620 วรรคสอง ทรัพย์สินดังกล่าวต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ซึ่งมีแต่ ท. แต่เมื่อ ท. ตายไปก่อนแล้ว ผู้สืบสันดานของ ท.จึงเข้ารับมรดกแทนที่ในทรัพย์มรดกดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639

          (2) ผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ต้องเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของบุคคลซึ่งจะเป็นทายาท ตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) และ (6) ซึ่งผู้สืบสันดานโดยตรงนั้นหมายความถึงญาติผู้สืบสายโลหิตของบุพการีเท่านั้น ดังนั้น ผู้สืบสันดานประเภทบุตรบุญธรรมจึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่
          อย่างไรก็ตาม หากบุคคลที่มีสิทธิได้รับมรดกที่ถึงแก่ความตายไปก่อนนั้นคือบุตรบุญธรรม กรณีนี้ ผู้สืบสันดานโดยตรงของบุตรบุญธรรมที่เสียชีวิตนั้นย่อมมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่บุตรบุญธรรมนั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2494  บุตรบุญธรรมตายก่อนผู้รับบุตรบุญธรรม บุตรของบุตรบุญธรรมย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่กันได้ตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติให้ไว้ตามมาตรา 1639
          บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ตามมาตรา 1627 ย่อมเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาได้ตามมาตรา 1639 และ 1643
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2538   ม.และโจทก์ที่ 1 ได้แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรโดยให้ความอุปการะเลี้ยงดูให้ใช้นามสกุลเดียวกัน เป็นพฤติการณ์ที่รู้กันโดยทั่วไปตลอดมาว่าโจทก์ที่ 1 เป็นบุตร โจทก์ที่ 1 จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ ม. แต่เมื่อ ม.ซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกตายไปก่อนเจ้ามรดก โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่ ม.ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 436/2518   โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของ บ.พฤติการณ์ที่ บ.ได้อุปการะเลี้ยงดูกับให้การศึกษาเล่าเรียนแก่โจทก์ ถือได้ว่า บ.ได้รับรองและแสดงออกว่าโจทก์เป็นบุตรของ บ. โจทก์จึงเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิรับมรดกแทนที่ บ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2546  โจทก์เป็นบุตรของ พ. ซึ่งเป็นพี่สาวของผู้ตาย เมื่อขณะผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ตายไม่มีคู่สมรสและบุตร ทั้งบิดามารดาก็ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว มรดกของผู้ตายจึงตกทอดแก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งรวมทั้ง พ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(3) เมื่อ พ. ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรและผู้สืบสันดานของ พ. ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ พ. โจทก์จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเฉพาะส่วนแบ่งของ พ. ตามมาตรา 1639

          ภริยาไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่สามี 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5189/2539  การรับมรดกแทนที่กันจะมีได้เฉพาะผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่บิดามารดาเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1639 และ 1642 โจทก์ที่ 1 เป็นภรรยาของ ส. มิใช่ผู้สืบสันดานของ ส. จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ส.  ส.มีบุตร 3 คน คือ พ. โจทก์ที่ 2 และที่ 3 พ.สละมรดกของ ส. เท่านั้น ไม่ได้สละสิทธิในการรับมรดกของ ก. อันเป็นการรับมรดกแทนที่ ส. ดังนี้ พ. มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ส. ในการสืบมรดกของ ก. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1645 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ส. ในการสืบมรดกของ ก.คนละหนึ่งในสาม

          (3) บุคคลซึ่งจะเป็นทายาทจะต้องเสียสิทธิในการรับมรดกเพราะตาย(หรือสาบสูญ) หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2548  ผู้ตายไม่มีบุตรและภริยา บิดามารดาของผู้ตายก็ถึงแก่กรรมไปหมดแล้วทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายซึ่งรวมถึง ล. ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) เมื่อ ล. ถึงแก่กรรมภายหลังโดยยังไม่ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกส่วนที่ ล. จะได้รับก็ตกแก่ ป. ผู้สืบสันดาน แต่ปรากฏว่า ป. ถึงแก่กรรมไปก่อน ล. แล้ว ทรัพย์มรดกส่วนที่ ป. จะได้รับก็ตกแก่ผู้ร้องและ ฉ. ผู้สืบสันดานซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ป. ตามมาตรา 1639 ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในกองมรดกและเมื่อมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2546  โจทก์เป็นบุตรของ พ. ซึ่งเป็นพี่สาวของผู้ตาย เมื่อขณะผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ตายไม่มีคู่สมรสและบุตร ทั้งบิดามารดาก็ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว มรดกของผู้ตายจึงตกทอดแก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งรวมทั้ง พ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(3) เมื่อ พ. ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรและผู้สืบสันดานของ พ. ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ พ. โจทก์จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเฉพาะส่วนแบ่งของ พ. ตามมาตรา 1639
          แต่ถ้าหากทายาทตายภายหลังเจ้ามรดก ก็ไม่ใช่เรื่องการรับมรดกแทนที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6291/2554  แม้ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อาจเข้ารับมรดกแทนที่ อ. เพราะ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังเจ้ามรดกก็ตาม แต่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของ อ. ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเพราะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งไม่มีสามีและบุตร และบิดามารดาตายไปก่อนแล้ว เมื่อ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังผู้ตาย ทรัพย์มรดกในส่วนของ อ. จึงตกแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 3 ย่อมเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ อ. ในการรับมรดกของผู้ตาย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้        

          (4) ผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ต้องมีสิทธิรับมรดกและมีสิทธิสมบูรณ์ในการรับมรดก กล่าวคือ ต้องมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา 15 (มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง) และต้องไม่เป็นผู้เสียสิทธิในการรับมรดก เช่น ถูกตัดมิให้รับมรดก เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 178/2520   ท.มารดาจำเลยถูกตัดไม่ให้รับมรดกตั้งแต่ก่อน ท.ตาย ท.จึงไม่ได้เป็นทายาทตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 อีกต่อไป ท.จึงไม่มีที่ (ความเป็นทายาท) ที่จำเลยจะเข้ารับมรดกแทนได้และไม่มีบทกฎหมายมาตราใดบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้สืบสันดานที่จะเข้าแทนที่การรับมรดกของทายาทโดยธรรมที่ถูกตัดมรดก หนังสือตัดไม่ให้รับมรดกเป็นการแสดงเจตนาโดยเด็ดขาดปราศจากเงื่อนไขใดๆ ของเจ้ามรดก จึงมีผลทันทีเมื่อได้ทำขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย หาใช่จะมีผลต่อเมื่อเจ้ามรดกตายไม่ เพราะหนังสือตัดทายาทโดยธรรมไม่ใช่พินัยกรรม ส่วนการที่การแสดงเจตนาตามหนังสือตัดการรับมรดกจะเกิดผลขึ้นเมื่อใดเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8023/2538   ผู้ร้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจ จับกล่าวหาว่า ผู้ร้องเป็นผู้ยิงเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ต่อมาผู้ร้องถูกส่งฟ้องต่อศาลในข้อหาดังกล่าวซึ่งผู้ร้องให้การปฏิเสธ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ดังนั้น ถ้าหากต่อมามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ร้องได้เจตนากระทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องก็เป็นบุคคลที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(1) ซึ่งเป็นการถูกกำจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 ที่ผู้สืบสันดานของผู้ร้องจะมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้ร้อง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2539  แม้ ป.พ.พ.มาตรา 1639 บัญญัติให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นได้ในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้นก็ตาม แต่มาตรา 1607 บัญญัติว่า การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัวผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว โดยมิได้บัญญัติว่า ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกสืบมรดกต่อไปได้เฉพาะในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกของ บ.เจ้ามรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้และต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของ บ.เลย อันเป็นการถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตายก็ตาม บุตรของจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของจำเลยทายาทผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายบุญช่วยย่อมสืบมรดกของ บ.ต่อไปได้เหมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1607 และบทบัญญัติมาตรา 1607 หาได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 1639 ไม่  


          (5) ถ้าทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (2) และ (5) คือ บิดามารดาและปู่ย่าตายาย ถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ให้ส่วนแบ่งทั้งหมดตกได้แก่ทายาทในลำดับเดียวกันที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ห้ามมิให้รับมรดกแทนที่กันต่อไป ตามมาตรา 1641

          (6) กรณีที่ทายาทและผู้สืบสันดานของทายาทได้ถึงแก่ความตายพร้อมกันนั้น มิใช่กรณีตามมาตรา 1639 จึงไม่อาจมีผู้รับมรดกแทนที่กันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13129/2556  ธ. ซึ่งเป็นบุตรของ ก. และ ก. ตายพร้อมกัน ต่างไม่เป็นทายาทที่จะรับมรดกของกันและกัน เพราะในขณะที่บุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายอีกบุคคลหนึ่งไม่มีสภาพบุคคลที่มีความสามารถที่จะมีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 และมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1639 เนื่องจาก ธ. ทายาทไม่ได้ตายก่อน ก. เจ้ามรดกอันจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ธ. มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ธ. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ก. ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247