28 กุมภาพันธ์ 2567

ผู้รับมอบอํานาจอุทิศที่ดินให้ราชการเกินกว่าอำนาจที่ตนมีอยู่ ย่อมไม่มีผลผูกพันเจ้าของที่ดิน | ละเมิด | คดีปกครอง

 

         กรณีที่ตัวแทนกระทําการเกินอํานาจที่ได้รับมอบหมาย โดยตัวการได้มอบอํานาจให้ตัวแทนไปยื่นคําขอรังวัดสอบเขตที่ดินและให้ถ้อยคําต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่ปรากฏว่าตัวแทนได้ให้ถ้อยคําต่อช่างรังวัดว่ามีความประสงค์อุทิศที่ดินบางส่วนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์
         มีปัญหาว่า ที่ผู้รับมอบอํานาจได้แสดงความประสงค์ต่อช่างรังวัดในการอุทิศที่ดินบางส่วนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นการกระทําเกินอํานาจที่ได้รับมอบหมาย จะถือเป็นการแสดงเจตนาแทนผู้มอบอํานาจและมีผลผูกพันต่อหน่วยงานราชการที่สร้างถนนสาธารณะหรือไม่
         ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ...ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยได้มอบอํานาจให้ผู้รับมอบอำนาจไปยื่นคําขอรังวัดสอบเขตที่ดินและให้ถ้อยคําต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยในการรังวัดสอบเขตที่ดิน ผู้รับมอบอำนาจได้ให้ถ้อยคําต่อช่างรังวัดว่ามีความประสงค์อุทิศที่ดินบางส่วนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์และช่างรังวัดได้ทําการรังวัดแบ่งหักที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดให้เป็นทางสาธารณประโยชน์
         ต่อมา สํานักงานที่ดินจังหวัดได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดให้ไปดําเนินการจดทะเบียน
แบ่งหักที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดจึงยื่นขอรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินอีกครั้ง
แต่ผู้แทนนายอําเภอและผู้แทนนายกอบต. ได้คัดค้านการรังวัดที่ดินที่พิพาท โดยเห็นว่าผู้รับมอบอำนาจ
จากผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดได้แสดงเจตนายกที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว การก่อสร้างถนนของอบต. จึงเป็นการดําเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด
         พนักงานที่ดินจังหวัดจึงดําเนินการสอบสวนไกล่เกลี่ยตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลกฎหมาย
ที่ดิน แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้จึงแจ้งให้คู่กรณีไปฟ้องศาล ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดจึงยื่นฟ้องอบต. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครองขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทําให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดกลับคืนสู่สภาพเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี

          คดีจึงมีประเด็นวา การก่อสร้างถนนของ อบต. เป็นการก่อสร้างรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดหรือไม่ และการกระทําของผู้รับมอบอํานาจในการอุทิศที่ดินดังกล่าวมีผลผูกพัน อบต. หรือไม่

         ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอํานาจให้ผู้รับมอบอำนาจไปยื่นคําขอรังวัดสอบเขตที่ดินระบุว่าผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดได้มอบอํานาจให้ผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้มีอํานาจจัดการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยนําช่างทําการรังวัดปักหลักเขตที่ดินและรับรองแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี ถ้าทําการรังวัดแล้วได้รูปแผนที่หรือเนื้อที่ต่างจากเดิมให้มีอํานาจยินยอมให้แก้ไขรูปแผนที่ เนื้อที่ หมายเลขหลักเขตในโฉนดที่ดินให้ถูกต้องตามความเป้นจริง แก้คําขอ (ถ้ามี) วางและรับเงินมัดจํารังวัดที่เหลือคืน รับโฉนดที่ดิน ตลอดจนให้ถ้อยคําต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งให้รับรองสําเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย จากข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดมอบอํานาจให้ผู้รับมอบอํานาจไปดําเนินการยื่นคําขอเฉพาะที่เกี่ยวกับการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดโดยมิได้หมายความถึงการให้อํานาจในการแก้ไขคําขอรังวัดสอบเขตที่ดิน โดยเพิ่มคําขอใหม่เป็นการอุทิศที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปดําเนินการจดทะเบียนแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้ฟ้องคดีก็มิได้ไปดําเนินการ จึงเห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงเจตนายินยอมให้ผู้รับมอบอํานาจแบ่งหักที่ดินของตนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด
         ดังนั้น การที่ผู้รับมอบอํานาจแก้ไขคําขอรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยเพิ่มคําขอใหม่เป็นการอุทิศที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ จึงมิใช่การกระทําในสิ่งที่จําเป็นเพื่อให้การรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีสําเร็จลุล่วงไป และมิใช่การทําการตามคําสั่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 800 และมาตรา 807 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นการกระทํานอกเหนืออํานาจที่ผู้ฟ้องคดีมอบหมาย ที่ดินส่วนดังกล่าวจึงยังไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์แต่อย่างใด
         แม้การก่อสร้างทางจะเป็นอํานาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่อาจกระทํา
ในทางที่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินของเอกชน โดยไม่มีกฎหมายให้อํานาจได้ เมื่อการกระทําดังกล่าวทําให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 902/2563)