28 กุมภาพันธ์ 2567

การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร

          เด็กที่เกิดย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงซึ่งเป็นมารดานั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1546 แต่สำหรับฝ่ายชายนั้นในกรณีที่สันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตามมาตรา 1536 มาตรา 1537 หรือมาตรา 1538 ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะไม่รับเด็กเป็นบุตรของตนก็ได้ โดยฟ้องเด็กกับมารดาเด็กร่วมกันเป็นจำเลยและพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรภ์คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนเด็กเกิด หรือตนไม่สามารถเป็นบิดาของเด็กได้เพราะเหตุอย่างอื่น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1539


          กรณีฝ่ายชายฟ้องคดีเอง

          เด็กที่เกิดระหว่างสมรส หรือภายใน 310 วันนับแต่การสมรสสิ้นสุดลง เด็กที่เกิดจากการสมรสของหญิงหม้ายที่สมรสใหม่ก่อนครบกำหนด 310 วันนับแต่วันที่ขาดจากการสมรสเดิม หรือเด็กที่เกิดจากการสมรสที่เป็นโมฆะ ซึ่งกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีนั้น สามีมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับว่าเป็นบุตรของตนได้ โดยการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร โดยวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 1539 ดังนี้
          ก. ถ้าเด็กและมารดาเด็กยังมีชีวิตอยู่ ต้องฟ้องเด็กและมารดาเด็กเป็นจำเลยร่วมกัน
          ข. ถ้ามารดาเด็กไม่มีชีวิตอยู่แล้ว จะฟ้องเด็กผู้เดียวเป็นจำเลยก็ได้
          ค. ถ้าเด็กไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ไม่ว่ามารดาเด็กจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ ให้ใช้วิธียื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงว่าเด็กนั้นไม่ใช่บุตรของตน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2547  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ การที่โจทก์จะฟ้องคดีไม่รับจำเลยที่ 2 เป็นบุตร โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าโจทก์ไม่ได้อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 มารดาจำเลยที่ 2 ในเวลาตั้งครรภ์คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนจำเลยที่ 2 เกิดหรือโจทก์ไม่สามารถเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้เพราะเหตุอย่างอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 แต่โจทก์สืบแต่เพียงว่าไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา อันเป็นการนำสืบลอย ๆ การนำสืบของโจทก์ยังไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง ที่ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์

          ข้อยกเว้นห้ามชายฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร
          ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรไม่ได้ ถ้าปรากฏว่าตนเป็นผู้แจ้งการเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตน หรือจัดหรือยอมให้มีการแจ้งดังกล่าว ตามมาตรา 1541
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4791/2542 บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1541 หมายถึงชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา 1539 ซึ่งเป็นกรณีที่สันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีตามมาตรา 1536 และ 1537 หรือมาตรา 1538 โจทก์เป็นบุตรของ ร.และ อ.ซึ่งมีตัวตนแน่นอน ส.และ สค. ไม่ใช่บิดามารดาผู้ให้กำเนิดโจทก์โดยแท้จริง การที่ ส.ไปแจ้งการเกิดลงในสูติบัตรของโจทก์ว่า บิดาโจทก์เป็นคนไทย มารดาเป็นคนกัมพูชาเมื่อมีบุตรขึ้นมาก็แจ้งเกิดไม่ได้ ส. จึงรับสมอ้างไปแจ้งเกิดแทน โดยระบุว่าเป็นบิดาดังนี้ เป็นคนละเรื่องกับกรณีการแจ้งเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1541 เมื่อโจทก์ไม่ใช่บุตรที่แท้จริงของ ส. จึงไม่ใช่บุตรนอกกฎหมายตามความเป็นจริงที่บิดาได้รับรองแล้ว ทั้งไม่ใช่ ผู้สืบสันดานและไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของ ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 และ 1629(1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ส. ผู้ตาย และไม่มีอำนาจฟ้อง

          ระยะเวลาในการฟ้องคดี
          มาตรา 1542  "การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก
          ในกรณีที่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่าเด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ตามมาตรา 1537 หรือชายผู้เป็นสามีในการสมรสครั้งหลังตามมาตรา 1538 ถ้าชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีซึ่งต้องด้วยบทสันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตนตามมาตรา 1536 ประสงค์จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ให้ฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุด"



          กรณีทายาทผู้มีส่วนได้เสียฟ้องคดีแทน

          ตามมาตรา 1544 ให้อำนาจทายาทผู้มีส่วนได้เสียฟ้องคดีแทนชายได้ หากชายได้ถึงแก่ความตายไปก่อน แต่บุคคลเช่นว่านี้ต้องเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็กหรือผู้จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็ก และจะฟ้องได้เฉพาะใน 2 กรณีดังนี้ คือ
          (1) ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตายก่อนพ้นระยะเวลาที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะพึงฟ้องได้
          (2) เด็กเกิดภายหลังการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามี
          ทั้งนี้ การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (1) ต้องฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามี และการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (2) ต้องฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ไม่ว่าเป็นกรณีใด ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก          

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7069/2559  การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีมีสิทธิโต้แย้งว่า เด็กมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตนได้ แต่ต้องกระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตาม ป.พ.พ. 1542 แต่บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้สงวนไว้ใช้เฉพาะชายผู้ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเด็กเท่านั้น เมื่อ ด. ผู้ถูกอ้างว่าเป็นบิดาของจำเลยถึงแก่ความตายไปก่อนที่มีการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ป.พ.พ. 1545 ได้เปิดช่องให้ผู้มีส่วนได้เสียฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรได้ อันได้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็ก หรือผู้ที่จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็ก เมื่อโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด. โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร แต่ทั้งนี้ก็มีกำหนดระยะเวลาที่โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา 1544 (1) คือ ในกรณีที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตายก่อนพ้นระยะเวลาที่ชายผู้เป็นสามีจะพึงฟ้อง ซึ่งมาตรา 1542 กำหนดระยะเวลาไว้ว่า ชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก ดังนั้นเมื่อ ด. เป็นผู้ไปแจ้งเกิดว่า จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2512 เท่ากับอย่างน้อย ด. ต้องฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่วันเกิดของจำเลย คืออย่างช้าในวันที่ 30 เมษายน 2522 การที่ ด. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2544 ด. จึงไม่ได้ตายก่อนพ้นระยะเวลาที่จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามเงื่อนไขแห่งมาตรา 1544 (1) เมื่อ ด. ซึ่งเป็นบิดายังไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ด. แม้เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยมิใช่บุตรของ ด. เช่นกัน ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


           กรณีการฟ้องคดีปฏิเสธความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

           เป็นกรณีที่เด็กปฏิเสธความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีของมารดาตนได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1545 ซึ่งถือว่าเป็นคดีที่บุตรฟ้องบุพการี เป็นคดีอุทลุม จึงฟ้องเองไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 1562 เด็กจะต้องร้องขอให้พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดีแทน ซึ่งต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่บรรลุนิติภาวะ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามห้ามฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่เด็กบรรลุนิติภาวะ