27 กุมภาพันธ์ 2567

สัญญาก่อนสมรส


          สัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สินนั้น กฎหมายเปิดโอกาสให้สามีภริยามีสิทธิที่จะเลือก โดยกำหนดให้สามีภริยามีสิทธิทำสัญญาก่อนสมรสเพื่อเป็นการยกเว้นไม่ใช้ระบบทรัพย์สินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ได้ โดยการทำเป็นสัญญาก่อนจะมีการจดทะเบียนสมรสกัน ตามมาตรา 1465 อันเป็นการยกเว้นไม่ปฏิบัติตามมาตรา 1466 ถึงมาตรา 1493 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อความในสัญญาก่อนสมรสจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือจะต้องไม่ระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น มิฉะนั้นข้อความดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ

          มาตรา  1465 "ถ้าสามีภริยามิได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้
          ถ้าข้อความใดในสัญญาก่อนสมรสขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น ข้อความนั้นๆ เป็นโมฆะ"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4214/2534  โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภรรยากันอยู่และไม่ปรากฏว่าได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาของโจทก์จำเลยในเรื่องทรัพย์สินนั้นก็ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 4 ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา และโจทก์จำเลยซึ่งเป็นสามีภรรยากัน จะฟ้องร้องกันด้วยเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาไม่ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น กรณีตามคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ขอแบ่งเงินค่าขายที่ดินสินสมรสจากจำเลยกึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ฟ้องแบ่งได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง  

          แต่การทำสัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สินนั้น ข้อความในสัญญาก่อนสมรสจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น มิฉะนั้น ข้อความดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะตามมาตรา 1465 วรรคสอง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6711/2537  การที่โจทก์จำเลยทำความตกลงในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา โดยจำเลยให้สัญญาว่าบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยให้เป็นสินสมรส  จึงเป็นกรณีที่คู่สมรสจดแจ้งข้อความอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1466  เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อความขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1465 วรรคสอง

          การทำสัญญาก่อนสมรสจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินเท่านั้น ถ้าทำสัญญาก่อนสมรสว่าเมื่อหย่าขาดจากกันแล้วให้สินสมรสทั้งหมดตกเป็นของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียวนั้น สัญญาดังกล่าวนี้ใช้บังคับไม่ได้เพราะไม่ใช่สัญญาเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สิน แต่เป็นสัญญาเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินหลังการหย่า


          การทำสัญญาก่อนสมรส

          เมื่อคู่สมรสจะทำสัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สิน ทำได้โดยการจดแจ้งสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือโดยการทำเป็นหนังสือสัญญาก่อนสมรสลงลายมือชื่อคู่สมรสพร้อมทั้งจดไว้ในทะเบียนสมรสในขณะจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้ก็ได้ ซึ่งกฎหมายให้ทำตามแบบใดแบบหนึ่งข้างต้นเท่านั้น หากไปทำสัญญาก่อนสมรสนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดแบบไว้ข้างต้น สัญญานั้นย่อมตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1466

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497/2552   เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนสมรสว่า ไม่ประสงค์จะให้บันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สิน แม้ภายหลังในวันเดียวกันทั้งสองฝ่ายจะมาขอบันทึกเพิ่มเติ่มว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลงจะยกให้โจทก์ บันทึกครั้งหลังนี้ก็มิใช่สัญญาก่อนสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1466 แต่เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาทำไว้ต่อกันตามมาตรา 1469 ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีสิทธิตามกฎหมายที่จะบอกล้างได้ในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการสุจริต การที่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งขอเลิกสัญญาถือเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่แล้ว จำเลยมีสิทธิเรียกร้องที่ดินคืนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6711/2537  การที่โจทก์จำเลยทำความตกลงในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา โดยจำเลยให้สัญญาว่าบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยให้เป็นสินสมรส  จึงเป็นกรณีที่คู่สมรสจดแจ้งข้อความอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1466  เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อความขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1465 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3346/2532   สัญญาก่อนสมรสที่ผู้ร้องและจำเลยทำขึ้นมีข้อความว่า ให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรสตกเป็นสินสมรสนั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยมิได้จดแจ้งข้อความอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทำสัญญาก่อนสมรสเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้ สัญญาก่อนสมรสดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เมื่อทรัพย์สินดังกล่าวถูกโจทก์ยึดขายทอดตลาดชำระหนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วนของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287

          การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาหรือเพิกถอนสัญญาก่อนสมรส
          สัญญาก่อนสมรสเมื่อทำแล้วจะมีผลผูกพันคู่สมรสตลอดไปจะเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสนั้นไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาล ตามบทบัญญัติในมาตรา 1467 ถ้าคู่สมรสไปตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อนสมรสโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อนสมรส และแม้ในสัญญาก่อนสมรสจะมีข้อความชัดแจ้งว่าให้สามีและภริยามีสิทธิเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสได้เอง ข้อความนั้นย่อมใช้บังคับไม่ได้เพราะขัดกับมาตรา 1467

          ผลของสัญญาก่อนสมรสอันมีต่อบุคคลภายนอก
          สัญญาก่อนสมรสมีผลผูกพันเฉพาะสามีภริยาที่เป็นคู่สัญญาเท่านั้น ในส่วนของบุคคลภายนอกแล้วระบบทรัพย์สินของสามีภริยาต้องถือตามกฎหมายเหมือนกรณีปกติทั่วไป และแม้สัญญาก่อนสมรสจะถูกเปลี่ยนแปลงเพิกถอนโดยได้รับอนุญาตจากศาลก็ตาม ก็ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1082/2504  ที่ดินและเรือนเป็นของภริยาก่อนสมรสและได้ทำสัญญาก่อนสมรสว่า สามีจะไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ของภริยาก็ตาม แต่เมื่อภริยาปล่อยให้สามีลงชื่อในใบไต่สวนเพื่อขอออกโฉนดว่าเป็นที่ของสามี แล้วสามีเอาไปจำนองผู้อื่นและเอาเงินนั้นมาซื้อรถยนต์ใช้รับส่งคนโดยสารอันเป็นอาชีพของสามีภริยา เป็นเหตุให้ผู้รับจำนองเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นที่ของสามีและผูกพันภริยา ดังนี้ การจำนองนั้นสมบูรณ์ใช้บังคับได้