มาตรา 1374 "ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้
การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกรบกวน"
ในกรณีที่ผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เนื่องจากมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ และถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้ ซึ่งการฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น กฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้ โดยจะต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ถูกรบกวน
การซื้อขายที่ดินซึ่งมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 แต่มีผลเป็นการสละการครอบครองที่ดินของผู้ขายให้แก่ผู้ซื้อ ไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1401/2553 จ. ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสองและมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองครอบครองแล้วในวันเดียวกัน เมื่อการซื้อขายมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เป็นที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ จ. จึงมีแต่สิทธิครอบครอง เมื่อ จ.ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองเป็นการสละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป โจทก์ทั้งสองย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตามมาตรา 1377, 1378 แล้ว จึงเป็นการได้มาด้วยการครอบครองฟ้องบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และจดทะเบียนคัดชื่อจำเลยออกแล้วใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองแทนชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกอันเป็นการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาซื้อขายหาได้ไม่ และเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวแก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. เจ้ามรดกแล้ว ก็ไม่มีปัญหาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคสาม หรือไม่ แต่โจทก์ทั้งสองได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้วจึงชอบที่จะขอให้ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า นาย ฉ.และนาง จ. เป็นสามีภริยากัน และเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เล่มที่ 7 หน้า 128 สารบบเลขที่ 115 หมู่ที่ 7 ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 12 ไร่ 3 ตารางวา วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ทั้งสองทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวจากนาย ฉ.และนาง จ. จำนวน 5 ไร่ ราคา 700,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. 4 หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินรวม 330,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. 5 ต่อมาในปี 2538 นาย ฉ.ถึงแก่กรรม นาง จ.ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ทั้งสองใหม่ในราคา 1,000,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. 6 ต่อมาโจทก์ได้ชำระราคาค่าที่ดินให้แก่นาง จ.ครบถ้วนแล้ว และนาง จ.ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองครอบครองตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2539 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. 7 และโจทก์ทั้งสองให้นาง ส.และนาย ภ. เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแทน โดยนาย ส. และนาย ภ. ปลูกพริก ข้าวโพดและอ้อยในที่ดินพิพาท แต่นาง จ. ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง และเมื่อปี 2541 นาง จ. ถึงแก่กรรม
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อนาง จ. ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสองในวันที่ 12 ตุลาคม 2539 และได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองครอบครองแล้วในวันเดียวกัน ซึ่งนับถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว เมื่อการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับนาง จ. มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ นาง จ. จึงมีแต่สิทธิครอบครอง การซื้อขายเมื่อได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองไปแล้วก็ฟังได้ว่า นาง จ. สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป โจทก์ทั้งสองย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 แล้ว การได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการได้มาด้วยการครอบครองตามกฎหมาย มิใช่เป็นการได้มาตามสัญญาซื้อขายซึ่งตกเป็นโมฆะดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองจะใช้สิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนาง จ.ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เล่ม 7 หน้า 128 สารบบเลขที่ 115 หมู่ที่ 7 ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และจดทะเบียนคัดชื่อจำเลยออกแล้วใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองเนื้อที่ 5 ไร่ แทนชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกอันเป็นการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาซื้อขายหาได้ไม่ และเมื่อฟังว่าโจทก์ทั้งสองไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวแก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง จ. เจ้ามรดกแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม หรือไม่อีกต่อไป แต่เนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะขอให้ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เล่ม 7 หน้า 128 สารบบเลขที่ 115 หมู่ที่ 7 ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ในส่วนที่นาง จ. สละการครอบครองให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 5 ไร่ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
เพียงแต่ไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9696/2552 การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1374 โจทก์ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทจะต้องถูกรบกวนโดยการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากฝ่ายจำเลย การที่ฝ่ายจำเลยเพียงแต่ไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่โจทก์จะต้องฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินภายใน 1 ปี นับแต่วันออกโฉนดที่ดิน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่านาง ล. เป็นมารดาของนาย ฟ. และนาย ง. โจทก์เป็นบุตรของนาย ฟ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นบุตรของนาย ง. ส่วนจำเลยที่ 7 เป็นบุตรของนาย ฟ. และเป็นบุตรบุญธรรมของนาย ง. เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ตามใบแจ้งครอบครองเลขที่ 99 หมู่ที่ 3 ตำบลตะพง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามเอกสารหมาย จ.4 มีชื่อนาง ล. เป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครอง เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2520 นาง ล. จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่นาย ง. ต่อมาปี 2538 นาย ง. มอบอำนาจให้จำเลยที่ 7 ไปดำเนินการขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 84453 และ 84454 ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา และ 39 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 หรือ จ.7 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 7 โจทก์ไม่อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ก็ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาล่วงเลยเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายไว้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงเป็นยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประการแรกว่า นาง ล. ยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 84453 และ 84454 ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา และ 39 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 หรือ จ.7 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ให้แก่นาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 แต่เพียงผู้เดียวหรือไม่... ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นาง ล. ยกที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เอกสารหมาย จ.4 ให้แก่นาย ฟ. และนาย ง. คนละครึ่ง โดยนาย ฟ. ได้ที่ดินทางด้านทิศตะวันออกเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ตามสำเนาโฉนดที่ดินส่วนที่ระบายไว้ด้วยสีเหลืองเอกสารหมาย จ.7 ส่วนนาย ง. ได้ทางด้านทิศตะวันตกตามสำเนาโฉนดที่ดินส่วนที่ไม่ได้ระบายสีเอกสารหมาย จ.7 หลังจากได้รับการยกให้นาย ฟ.เข้าทำประโยชน์โดยทำสวนยางพารา ต่อมาปี 2523 นาย ฟ.ยกที่ดินพิพาทโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ทำสวนยางพารา โดยเจตนายึดถือเพื่อตนตลอดมาถึงปัจจุบัน การให้ที่ดินพิพาทระหว่างนาง ล. กับนาย ฟ.บิดาโจทก์ แม้ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ก็ตาม แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เป็นหลักฐาน เจ้าของที่ดินจึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อนาง ล.ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นาย ฟ.บิดาโจทก์ถือว่านาง ล.ได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นาย ฟ.บิดาโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 แล้ว เมื่อโจทก์ได้เข้าครอบครองโดยนาย ฟ.บิดาโจทก์ยกให้ โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ตั้งแต่ปี 2523 การที่นาย ง. บิดาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 นำที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์มีสิทธิครอบครองไปขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 84453 และ 84454 ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา และ 39 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 หรือ จ.7 โดยโจทก์ไม่ทราบเรื่องและนาย ง. มิได้บอกให้โจทก์ทราบ ถึงกระนั้นโจทก์ก็ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน การที่นาย ง. ไปขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยรวมเอาที่ดินพิพาทเข้าไปด้วยนั้น หาเป็นเหตุให้สิทธิครอบครองของโจทก์เหนือที่ดินพิพาทที่มีอยู่แล้วโดยสมบูรณ์เสียไปไม่ เมื่อในขณะออกโฉนดที่ดินนาย ง. ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการออกโฉนดที่ดินให้นาย ง. โดยไม่ชอบ นาย ง. จึงไม่ได้กรรมสิทธิในที่ดินพิพาท นาย ง. ย่อมไม่มีสิทธิที่จะนำที่ดินพิพาทไปทำพินิจกรรมยกให้แก่ทายาทของตน ศาลจึงชอบที่จะสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทในส่วนที่ออกโดยไม่ถูกต้องได้ แม้นาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 84453 และ 84454 ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 หรือ จ.7 อันเป็นเอกสารสิทธิซึ่งเป็นเอกสารมหาชน ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่า นาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างสามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ตามหน้าที่นำสืบของโจทก์ จึงนำพยานหลักฐานโจทก์มารับฟังให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีได้ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การขอออกโฉนดที่ดินของนาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นไปโดยชอบ และนาง ล. ยกที่ดินพิพาทให้นาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เพียงผู้เดียวนั้น จึงฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในประการต่อมา การที่นาย ง. ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2539 ถือเป็นการรบกวนสิทธิครอบครอง โจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองที่ดินภายใน 1 ปี นับแต่วันออกโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเวลาที่ถูกรบกวนนั้น เห็นว่า การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 นั้น โจทก์ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทจะต้องถูกรบกวนโดยการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากฝ่ายจำเลย การที่นาย ง. เพียงแต่ไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2539 นั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เช่นกัน ส่วนฎีกาประการอื่นของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
ถ้าผู้ถูกฟ้องให้การว่าที่เป็นของตนเอง มิได้แย่งการครอบครอง คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองที่จะต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง แต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343 - 1344/2552 เมื่อจำเลยทั้งสองให้การชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองมาแต่ต้นมิได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์ จึงไม่มีประเด็นเรื่องการโต้แย้งการครอบครองเพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้แต่เฉพาะที่ดินเป็นของผู้อื่น เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงนอกประเด็นมาวินิจฉัยว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นการไม่ชอบ เพราะการวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องเกิดจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ
จำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาตั้งแต่ต้นไม่เคยตกเป็นของโจทก์ กรณีจึงไม่อาจมีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8107/2544 โจทก์ฟ้องว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของ ด. บิดาจำเลย ต่อมาก่อน ด. จะถึงแก่ความตาย ด. ได้ขายให้โจทก์โดยการส่งมอบ โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตลอดมา จึงได้สิทธิครอบครอง จำเลยให้การว่า ด. ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อทำกินต่างดอกเบี้ย มิได้ครอบครองเพื่อตน หลังจาก ด. ถึงแก่ความตายโจทก์จำเลยฟ้องร้องกันเป็นคดีอาญาและต่างฝ่ายต่างถอนฟ้องไปแล้วจำเลยได้กลับเข้าครอบครองที่ดินพิพาท เพราะเป็นของจำเลย แสดงว่าจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาตั้งแต่ต้นไม่เคยตกเป็นของโจทก์ กรณีจึงไม่อาจมีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่น จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่
จำเลยมิได้อ้างว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2552 จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่เคยซื้อที่ดินจาก ก. จำเลยได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และมีเจตนาเป็นเจ้าของ ทั้งได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยตั้งแต่จำเลยได้ซื้อมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิออกโฉนดที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย โจทก์ไม่เคยครอบครองหรือทำประโยชน์ โจทก์ทราบมานานหลายปีแล้วว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ แต่มิได้ฟ้องภายใน 1 ปี จึงหมดสิทธิฟ้องร้องตามป.พ.พ. มาตรา 1374 มาตรา 1375 และมาตราอื่นๆ ในลักษณะ 3 ครอบครอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวจำเลยมิได้อ้างว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองเป็นประเด็นข้อพิพาทด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวมา จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำฟ้องและคำให้การไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
จำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ที่ดินหรือเป็นเจ้าของที่ดิน มีอาณาเขตทั้งสี่ทิศจดที่ดินอะไรหรือของใคร และไม่ได้บรรยายฟ้องว่าที่ดินโจทก์ทั้งสี่ทิศมีความกว้างยาวเท่าไร จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 172 นั้น เป็นเรื่องนอกเหนือจากเหตุผลที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตามที่จำเลยได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7393/2550 ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ และ พ. เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ พ. ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า พ. ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 จำเลยให้การว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจาก พ. จำเลยครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบันโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ ดังนี้จึงไม่มีปัญหาในเรื่องแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ ก็แต่เฉพาะในกรณีที่ดินเป็นของบุคคลอื่น เมื่อจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและจำเลยครอบครองเอง จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวนหรือนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1374 วรรคสอง และมาตรา 1375 วรรคสอง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า นาย ส. กับนาง ฟ. เป็นบุตรของนาง ย. โดยนาง ฟ. เป็นพี่นาย ส.และเป็นพี่มารดาของนาง พ. ส่วนนาย ช. เป็นบุตรของนาย ส. เดิมนาย ช. เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 ตำบลหวายเหนียว อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 โจทก์กับนาย ช. เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย นาย ช. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2537 โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ช. ตามคำสั่งศาล จากนั้นโจทก์ได้ดำเนินการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวทางทะเบียนมาเป็นชื่อของโจทก์ในฐานะผู้รับมรดก เดิมนาง ฟ.เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 989 ตำบลหวายเหนียว อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.10 แผ่นที่ 7 นาง ฟ. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2514 จากนั้นได้มีการโอนที่ดินของนาง ฟ.ทางทะเบียนมาเป็นของนาง พ. ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2536 นาง พ. ยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวในนามเดิม และวันที่ 23 พฤษภาคม 2537 นาง พ. ขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและการสอบสวนสิทธิในที่ดินประเภทแบ่งแยกในนามเดิม โดยขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 989 ออกเป็นโฉนดที่ดินแปลงใหม่ 2 แปลง แปลงแรกโฉนดเลขที่ 14188 เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 7.5 ตารางวา ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนสิทธิประเภทแบ่งแยกในนามเดิมและสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 3 และแผ่นที่ 8 แปลงที่สองโฉนดเลขที่ 14187 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนสิทธิประเภทแบ่งแยกในนามเดิมและสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 หลังจากแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลงดังกล่าวแล้ว คงเหลือเนื้อที่ตามโฉนดเลขที่ 989 เพียง 1 ไร่ 3 งาน 66.3 ตารางวา ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 นาง พ. นำเนื้อที่ดินที่เหลือตามโฉนดเลขที่ 989 ดังกล่าว รวมกันกับที่ดินที่นาง พ. อ้างว่าเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีหลักฐานเนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน ไปขอออกโฉนดที่ดินแปลงใหม่คือโฉนดเลขที่ 15627 เนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา ตามสำเนาหนังสือสำนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรีและสำเนาบันทึกการสอบสวนการครอบครองที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงใหม่เอกสารหมาย จ.10 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 นาง พ. จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 14187 ให้แก่จำเลย ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.1 สำหรับที่ดินที่พิพาทกันในคดีนี้โจทก์และจำเลยนำชี้รังวัดคือที่ดินในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.6 เฉพาะตามเส้นแดงเนื้อที่ 3 ไร่ 12.3 ตารางวา โจทก์นำรังวัดอ้างว่าเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ ส่วนจำเลยนำชี้รังวัดภายในเส้นสีแดงนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนทางด้านทิศใต้ตามเส้นสีฟ้าประ เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 10.1 ตารางวา จำเลยอ้างว่าเป็นที่ดินตามใบ ภ.บ.ท.5 ที่นาง พ. ขายให้แก่จำเลยพร้อมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 14187 และส่วนทางด้านทิศเหนือลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมอันเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 14187 เนื้อที่ของโฉนดดังกล่าว เฉพาะเท่าที่อยู่ภายในเส้นสีแดงมีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งาน 2.2 ตารางวา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์คงอุทธรณ์เฉพาะส่วนทางด้านทิศใต้ภายในเส้นสีฟ้าประเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 10.1 ตารางวา ว่าเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของโจทก์ และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินภายในเส้นสีฟ้าประ เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 10.1 ตารางวา เป็นของโจทก์ ดังนั้น ที่ดินส่วนทางด้านทิศเหนือภายในเส้นสีแดงที่โจทก์นำรังวัดอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินภายในเส้นสีฟ้าประ ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.6 เป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 ของโจทก์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันสรุปได้ว่า เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 เป็นของนาย ช.สามีโจทก์ เมื่อนาย ช. ถึงแก่ความตายจึงได้รับโอนมาเป็นของโจทก์ โดยที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่หมู่ที่ 2 สาเหตุที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวระบุว่าอยู่หมู่ที่ 4 เนื่องจากระบุผิดพลาดตามที่อยู่เดิมของนาย ช. ซึ่งเจ้าพนักงานผู้ทำการรังวัดทำแผนที่วิวาทได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสอบถามจากนาย ว. นาง บ. และนาย จ. ต่างให้ถ้อยคำยืนยันว่าที่ดินที่ทำแผนที่วิวาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 และอยู่หมู่ที่ 2 จริง ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 เดิมนาย ช.และโจทก์ไม่ได้เข้าทำประโยชน์เนื่องจากนาย ส.บิดาของนาย ช. ต้องการเก็บกินในที่ดินดังกล่าว โดยให้นาง พ.เป็นผู้ดูแลและส่งผลประโยชน์ให้แก่นาย ส.ทุกปี ภายหลังที่ดินแปลงดังกล่าวแบ่งออกเป็นสามส่วน เนื่องจากมีคลองและถนนตัดผ่าน ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2543 โจทก์ได้ขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่นาง พ.และจำเลยคัดค้าน โดยจำเลยคัดค้านว่าที่ดินเฉพาะส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินของจำเลยตามใบ ภ.บ.ท.5 ที่ซื้อมาจากนาง พ. นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางสาว ภ. บุตรของโจทก์เป็นพยานเบิกความสนับสนุนข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์ แม้โจทก์และนางสาว ภ.จะเบิกความแตกต่างกับคำเบิกความของนาย ส.ในเรื่องผลประโยชน์ที่เก็บจากผู้เช่า ก็เป็นเพียงพลความมิใช่ข้อสาระสำคัญแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ยังเบิกความได้สอดคล้องต้องกันกับคำให้การตามบันทึกถ้อยคำของนาย ว. อายุ 65 ปี ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ประมาณปี 2512 ถึง 2532 และเคยเป็นกำนันตำบลหวายเหนียวตั้งแต่ประมาณปี 2532 ถึง 2537 นาง บ. อายุ 64 ปี และนาย จ. อายุ 62 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินพิพาทมาแต่เดิมต่างยืนยันตรงกันว่า ที่ดินที่ทำแผนที่วิวาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 ของโจทก์ ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 อีกทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่านาย ว. นาง บ.และนาย จ.มิได้รู้เห็นเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทภายในเส้นสีฟ้าประตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.6 เป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 ของโจทก์ แม้นาย ช.และโจทก์จะไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยตนเอง แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความจากโจทก์และนางสาว ภ.ว่า นาย ช.และโจทก์ได้ให้นาย ส.เป็นผู้เก็บกินในที่ดินพิพาท และนาย ส.ให้นาง พ.เป็นผู้ดูแลแทนและส่งผลประโยชน์ให้แก่นาย ส. โดยโจทก์อ้างส่งคำเบิกความของนาย ส.ซึ่งได้เบิกความต่อศาลเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในคดีที่โจทก์ฟ้องนาง พ. เป็นจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเป็นพยาน จึงเชื่อได้ว่านาย ช.และโจทก์ให้นาย ส.เป็นผู้เก็บกินในที่ดินพิพาท และนาย ส.ให้นาง พ.เป็นผู้ดูแลและเก็บผลประโยชน์แทน แม้โจทก์จะไม่ได้นำนาย ส.มาเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ด้วย เนื่องจากมีอายุมากและความจำเริ่มบกพร่อง แต่เมื่อรับฟังคำเบิกความของนาย ส.ในคดีที่โจทก์ฟ้องนาง พ.เป็นจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทประกอบคำเบิกความของโจทก์และนางสาว ภ.แล้วมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ดังนี้ ย่อมถือได้ว่านาย ส.และนาง พ. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนนาย ช.และโจทก์ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาทตามใบ ภ.บ.ท.5 มาพร้อมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 14187 จากนาง พ. โดยเสียค่าตอบแทนและจำเลยเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่มาตลอด จำเลยครอบครองโดยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2537 จำเลยจึงเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ และนาง พ.เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว นาง พ.ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่านาง พ.ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นผู้ยึดถือครอบครองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 และมาตรา 1375 กำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนซึ่งสิทธิครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวน หรือนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 จำเลยให้การว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากนาง พ. จำเลยครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบันโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ ดังนี้ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในกรณีที่ดินของบุคคลอื่น เมื่อจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและจำเลยครอบครองเอง จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวนหรือนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ไว้และศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินของรัฐ แต่ราษฎรก็อาจเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ได้ ผู้ที่ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ที่ดินของรัฐอยู่ก่อนย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6667/2542 แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินของรัฐ แต่ราษฎรก็อาจเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ได้ เพียงแต่เมื่อรัฐต้องการที่ดินราษฎรจะยกเอาการครอบครองมาเป็นข้อโต้แย้งรัฐมิได้แต่ระหว่างราษฎรด้วยกันเองแล้ว ผู้ที่ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 เมื่อมีกฎหมายรับรองสิทธิในกรณีดังกล่าวให้ ผู้มีสิทธิก็ย่อมสละสิทธินั้นได้ ดังนั้น การที่จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์พร้อมส่งมอบการครอบครอง ย่อมถือได้ว่าจำเลยสละการครอบครองที่ดินพิพาทโดยโจทก์เข้ายึดถือครอบครองต่อไป การที่จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองโดยอ้างว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทนั้น เป็นการนำข้อความเท็จไปแจ้งทำให้เจ้าพนักงานของรัฐหลงเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิจริง ดังนั้น การที่จำเลยได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ส.3) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการไปโดยผิดหลงจากการแจ้งเท็จของจำเลย เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองอันแท้จริงแล้ว จำเลยย่อมไม่อาจอ้างเอาประโยชน์จากเอกสารสิทธิดังกล่าวได้ โจทก์ซึ่งครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันแท้จริงย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า เดิมจำเลยซื้อที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทมาจากนาย ก. ไม่ปรากฏนามสกุล ตั้งแต่ปี 2507 แล้วเข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมาในปี 2515 มีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองลำตะคองขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 351 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ทำให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตนิคมดังกล่าว ในปี 2525 จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยมอบการครอบครองในที่ดินพิพาทแก่โจทก์แล้ว หลังจากนั้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2526 จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองลำตะคองโดยแจ้งว่าได้เข้าถือครองทำกินในที่ดินพิพาท ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2528 อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จำเลยได้นำไปขอออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และจำเลยได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2533 ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของรัฐโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น จำเลยก็ไม่อาจโอนการครอบครองหรือสละการครอบครองให้โจทก์ได้ การที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยย่อมไม่ได้รับสิทธิใด ๆในที่ดินพิพาทไปด้วย จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเอง และได้รับอนุญาตให้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ส.3) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามกฎหมายดีกว่าโจทก์ เห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินของรัฐ แต่ราษฎรก็อาจเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ได้ เพียงแต่เมื่อรัฐต้องการที่ดินดังกล่าว ราษฎรจะยกเอาการครอบครองมาเป็นข้อโต้แย้งรัฐมิได้ แต่ระหว่างราษฎรด้วยกันเองแล้ว ผู้ที่ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 เมื่อมีกฎหมายรับรองสิทธิในกรณีดังกล่าวให้ผู้มีสิทธิย่อมสละสิทธินั้นได้ ดังนั้น การที่จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์พร้อมส่งมอบการครอบครอง ย่อมถือได้ว่าจำเลยสละการครอบครองที่ดินพิพาทโดยโจทก์เข้ายึดถือครอบครองต่อไป การที่จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองโดยอ้างว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 นั้น เป็นการนำข้อความเท็จไปแจ้ง ทำให้เจ้าพนักงานของรัฐหลงเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิจริงจึงออกหนังสือสำคัญทั้งสองฉบับให้ ทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ให้รัฐบาลมีอำนาจจัดที่ดินของรัฐเพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินโดยจัดตั้งเป็นนิคมนั้นน่าจะหมายความว่าที่ดินของรัฐที่จะนำมาจัดให้กับประชาชนต้องเป็นที่ดินซึ่งยังไม่มีผู้ใดยึดถือครอบครอง แต่หากที่ดินผืนใดที่อยู่ในเขตนิคมมีผู้ยึดถือครอบครองเข้าทำประโยชน์อยู่แล้ว รัฐบาลย่อมไม่มีอำนาจยึดกลับคืนมาจัดสรรให้ราษฎรอื่น ทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทมาตราใดที่ให้อำนาจรัฐบาลซึ่งก็คือคณะบุคคลคณะหนึ่งกระทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น การที่จำเลยได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ส.3) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) จึงเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการไปโดยผิดหลงจากการแจ้งเท็จของจำเลย เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองอันแท้จริงแล้ว จำเลยย่อมไม่อาจอ้างเอาประโยชน์จากเอกสารสิทธิดังกล่าวได้โจทก์ซึ่งครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันแท้จริงย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6264/2541 แม้การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จะตกอยู่ในบังคับตามเงื่อนไขห้ามโอนตาม พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครอบชีพ พ.ศ. 2511 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้โอนขายโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาท ให้โจทก์ที่ 1 ก่อนจำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตจาก อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ให้ทำกินถึง 3 ปี โจทก์ทั้งสองซึ่งได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนตามความเป็นจริงนับแต่ซื้อตลอดมา ย่อมมีสิทธิขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกทำละเมิดเป็นเหตุให้ต้นข้าวที่โจทก์ทั้งสองร่วมกันปลูกไว้ในที่ดินพิพาทต้องเสียหายนับได้ว่าโจทก์ทั้งสองถูกรบกวนสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2538 การฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์มิได้ขอให้ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน มิใช่เป็นการฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่จำเลยโดยโจทก์อ้างว่าทำขึ้นโดยไม่สุจริต แต่เมื่อโจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินมาตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 4 โดยชอบอย่างไร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดิน ไม่ว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์จะออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 548 ตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกันและไม่โต้เถียงกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันบุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินเดิมจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายสำหรับที่ดินพิพาท และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 548 ตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2519 ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2521 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่พันตำรวจโท ส. วันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 พันตำรวจโท ส.ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยเสน่หาปรากฏตามเอกสารหมาย จ.13 พิเคราะห์แล้ว ตามฟ้องและทางนำสืบโจทก์อ้างว่าโจทก์และบิดาโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2502 ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่ได้ความว่าโจทก์อาจได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินพิพาทโดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายที่ดินอย่างไร และตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 4 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 6 บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและให้คุ้มครองตอลดถึงผู้รับโอนด้วย"บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2497 เมื่อโจทก์อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมา จึงเป็นการครอบครองภายหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยชอบและคดีนี้มิใช่เป็นการฟ้องขอห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท อันเป็นการฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 แต่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์อ้างว่าทำขึ้นโดยไม่สุจริตเมื่อโจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยชอบโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทไม่ว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์จะออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3372/2538 ที่ดินพิพาทมี น.ส.3 ก.ที่ทางราชการออกให้แก่มารดาโจทก์โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 5 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ก่อนพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวมารดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและมอบการครอบครองให้แล้ว แต่การซื้อขายมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเป็นที่ดินที่ทางราชการห้ามโอนภายใน 5 ปี การซื้อขายจึงไม่ถูกต้องตามแบบและเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามชัดแจ้ง ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิม ส่วนการครอบครองที่ดินพิพาทของผู้รับโอนดังกล่าวต้องถือว่าเป็นการครอบครองไว้แทนเจ้าของ แม้พ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้วก็ยังคงถือว่าการครอบครองไว้แทนตลอดมา จนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 หรือจนกว่าเจ้าของที่ดินพิพาทจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตามมาตรา 1377, 1379 การที่โจทก์รื้อบ้านไปในระยะเวลาห้ามโอน ผลก็เท่ากับการสละเจตนาครอบครองเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามโอนตกเป็นโมฆะเช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเป็นการครอบครองแทนจึงไม่อยู่ในบังคับต้องฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2432/2538 จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเช่าจากโจทก์ จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง
โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยเปลี่ยนเจตนาในการครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทจากจำเลย
พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองหรืออาศัยอยู่ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ และมาตรา 12 บัญญัติให้บุคคลผู้อ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในป่าสงวนแห่งชาติอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ ยื่นคำร้องภายในกำหนด 90 วัน มิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น เป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ยันต่อรัฐได้ แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน เมื่อจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ แม้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยได้