04 มีนาคม 2567

ทายาทต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดก เนื่องจากทำการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก


          ทายาทที่ทำการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่า ตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นย่อมจะต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดก
          การถูกกำจัดมิให้รับมรดกเพราะทายาทยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกนั้นเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียสิทธิในการรับมรดก

          มาตรา 1605  "ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
          มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น"


          ผลของการถูกกำจัดมิให้ได้มรดก 

          มีผลให้ทายาทผู้นั้นสิ้นสิทธิในการที่จะได้มรดก โดยอาจจะสิ้นสิทธิทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้แล้วแต่กรณี คือ ถ้ายักย้ายหรือปิดบังมากกว่าหรือเท่ากับส่วนที่ตนจะได้ก็สิ้นสิทธิมิให้ได้มรดกเลย  แต่ถ้าหากทำการยักย้ายหรือปิดบังน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ก็จะถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2562   จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โดยมีบุตรด้วยกัน 7 คน รวมทั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่โจทก์ได้รับเงิน 6,000,000 บาท จากผู้ตายโดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ต้องเสื่อมเสียไปไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1747 และแม้จะมีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้ทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิอาจบังคับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามสัดส่วน
          ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยมีทรัพย์มรดกหลายรายการ ได้แก่ เงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารต่าง ๆ หุ้นในบริษัท และที่ดินอีกหลายแปลง ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อในการครอบครองทรัพย์มรดกและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นหลายรายการมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวต่อให้บุคคลอื่นอีก จึงไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยักย้ายโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่น ไม่เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง
          แต่การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินบางโฉนดที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งรับโอนมาแล้ว โอนขายแก่จำเลยที่ 4 ในราคา 11,100,000 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสื่อมประโยชน์ในการได้รับการแบ่งปัน จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาถึงราคาที่ดินซึ่งขายสูงกว่าราคาประเมินตามที่โจทก์และฝ่ายจำเลยรับกันว่ามีราคา 9,950,000 บาท หากแบ่งเป็นสินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งคิดเป็นเงินเพียง 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 8 ส่วน ทายาทจะได้รับคนละ 693,750 บาท แต่จำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนอื่นอีก อันมีมูลค่ามากกว่าที่ดินโฉนดที่โอนขายไป จำเลยที่ 2 จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ยักย้าย คิดเป็นเงิน 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 7 ส่วน ทายาทอื่นได้รับคนละ 792,857 บาท และจำเลยที่ 2 ยังคงเหลือส่วนที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกอยู่อีกคิดเป็นเงิน 4,856,250 บาท
          ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งมิใช่ทายาท จำนวน 16,000 หุ้น จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกส่วนนี้คนละ 8,000 หุ้น เพราะน้อยกว่าหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 พึงจะได้รับหลังแบ่งแก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งแล้ว คนละ 11,875 หุ้น ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายเพียงบางส่วน

          ข้อสังเกตุกรณีทายาทยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก***

          (1) การที่ทายาทยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก ซึ่งทำขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตายนี้ เป็นเหตุให้หมดความเป็นทายาทไปโดยผลของกฎหมาย ผู้สืบสันดานของผู้ถูกกำจัดตามมาตรา 1605 ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ แต่อาจสืบสิทธิได้ตามมาตรา 1607 และมาตรา 1615
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2539  แม้ ป.พ.พ.มาตรา 1639 บัญญัติให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นได้ในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้นก็ตาม แต่มาตรา 1607 บัญญัติว่า การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัวผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว โดยมิได้บัญญัติว่า ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกสืบมรดกต่อไปได้เฉพาะในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกของ บ.เจ้ามรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้และต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของ บ.เลย อันเป็นการถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตายก็ตาม บุตรของจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของจำเลยทายาทผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายบุญช่วยย่อมสืบมรดกของ บ.ต่อไปได้เหมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1607 และบทบัญญัติมาตรา 1607 หาได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 1639 ไม่

          (2) ทายาทตามมาตรานี้หมายความถึงทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไป แต่ไม่รวมไปถึงผู้รับพินัยกรรมเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างตามมาตรา 1651 (2) ซึ่งได้รับยกเว้นไว้ในวรรคสอง

          (3) การกระทำที่เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ได้แก่ การยักย้ายทรัพย์มรดก หรือการปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2539   ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของ บ. โดย บ.มีบุตร 4 คน คือโจทก์ทั้งสองจำเลย และ จ. แต่ จ.ถึงแก่ความตายก่อน บ. โดย จ.มีบุตร 3 คน บ.ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรม จำเลยจึงมีสิทธิได้ส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของ บ.เพียงหนึ่งในสี่ส่วนเท่านั้น เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนของ บ.ทั้งหมดโดยการครอบครอง ทั้ง ๆ ที่จำเลยมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาถึง 10 ปีก่อนจำเลยยื่นคำร้องขอเช่นนั้น แล้วจำเลยนำพยานหลักฐานมาไต่สวนในคดีดังกล่าวจนศาลชั้นต้นหลงเชื่อและมีคำสั่งว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนของบ.ในโฉนดเลขที่ 2505 โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้วจำเลยนำคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงถือได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น จำเลยจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลยตามมาตรา 1605 วรรคหนึ่ง
          แต่ถ้าไม่ใช่การยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ก็ไม่ถูกจำกัดมิให้ได้มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7203/2544   จำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดที่ดินบ้านโดยให้ถ้อยคำยอมรับต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยที่ 1 ได้ที่บ้านโดยรับมรดกจากบิดามารดาประมาณ 15 ปี แล้วครอบครองตลอดมา การออกโฉนดดังกล่าวได้กระทำเปิดเผยตามระเบียบของทางราชการ หลังจากจำเลยที่ 1 จดทะเบียนชื่อตนเป็นเจ้าของที่ดินบ้านดังกล่าวแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของตนซึ่งได้ปลูกบ้านแยกครัวเรือนออกไปอยู่ในแปลงเดียวกันย่อมเป็นเรื่องปกติของผู้เป็นมารดายกทรัพย์อันเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทรุ่นถัดไปของตนตามประเพณีนิยมทั่วไปเพราะจำเลยที่ 1 เชื่อว่าเป็นสิทธิของตนที่จะได้ทรัพย์มรดกที่ไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีความมุ่งหมายที่จะยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น สำหรับที่นาตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยที่ 1 ได้ที่นาโดยรับมรดกการครอบครองต่อเนื่องจากเมื่อ พ.ศ. 2504 รวมเวลาการครอบครองและทำประโยชน์จนถึงวันที่สำรวจ 16 ปี ส่วนที่สวนตามโฉนด ที่ออกตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งมีชื่อผู้มีชื่อเป็นเจ้าของ แต่ตามโฉนดมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยปกติของการออกโฉนดต้องมีขั้นตอนในการสอบสวนสิทธิและวิธีการต่าง ๆ ตามระเบียบของทางราชการโดยเปิดเผย เช่นนี้จำเลยที่ 1 ต้องเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของที่นาและที่สวนโดยชอบแล้ว การประกาศขายที่นาและที่สวนนั้นหากผู้ประกาศขายมีความเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินนั้น ย่อมไม่ใช่การยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น จำเลยที่ 1 จึงไม่ถูกจำกัดมิให้ได้มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2043/2541  จำเลยได้รับการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 37181, 37183 และ 3493 ไว้ และจำเลยเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ตายจำนวน 2,790,425.74 บาท นำมาเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย แล้วนำเงินมรดกดังกล่าวบริจาคให้วัด กับสร้างโบสถ์และซื้อที่ดินให้วัด การที่จำเลยจดทะเบียนรับโอนที่ดินมรดกเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมรดกเพื่อจัดแบ่งให้แก่ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นทายาทต่อไป ส่วนการบริจาคเงินมรดกก็เป็นการจัดการตามความประสงค์ของผู้ตายโดยฝ่ายโจทก์ยินยอมไม่คัดค้าน ทั้งมารดาโจทก์และจำเลยต่างได้ร่วมกันจัดการศพผู้ตายตลอดจนปรึกษาหารือกันเรื่องทรัพย์มรดกมาโดยตลอด และจำเลยก็จัดการมรดกในลักษณะที่เปิดเผย ทั้งจำเลยได้แบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์บางส่วนแล้วและจะแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกอื่นให้อีก โดยมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ไว้ แต่โจทก์ไม่ยอมไปจดทะเบียนรับโอนเพราะยังไม่พอใจในอัตราส่วนแบ่งมรดกเช่นนี้ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉล


          (4) การถูกกำจัดมิให้รับมรดก หมายถึง ถูกกำจัดมิให้รับมรดกในส่วนแห่งมรดกที่ทายาทนั้นจะพึงได้รับ ไม่ได้หมายความถึงถูกกำจัดในทรัพย์มรดกที่ถูกยักย้ายหรือปิดบัง

          (5) ผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นเหตุให้หมดความเป็นทายาทไปโดยผลของกฎหมาย ทำให้ไม่มีสิทธิถือประโยชน์จากทรัพย์มรดกอันนั้น จึงไม่อาจยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ทายาทอื่นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2492  โจทก์เป็นภริยา และจำเลยเป็นน้องของเจ้ามรดก จำเลยได้ปิดบังที่สวนอันเป็นทรัพย์มรดกไว้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยบอกแก่โจทก์ว่าที่สวนนั้นผู้ตายโอนไปแล้ว แต่ความจริงยังไม่ได้โอน แล้วจำเลยไปโอนใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ ถือว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยปิดบังมรดก แม้โจทก์จะฟ้องคดีเกิน 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย จำเลยผู้ปิดบังก็ไม่มีสิทธิที่จะถือประโยชน์ยกอายุความตามมาตรา 1735 มายันแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นฝ่ายผิด อีกประการหนึ่งจำเลยย่อมถูกตัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1605 จึงไม่อยู่ในฐานที่จะยกอายุความมาตัดสิทธิโจทก์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5382-5383/2539   จำเลยที่ 2 ไปรับโอนมรดกแต่ผู้เดียว และนำที่ดินทรัพย์มรดกซึ่งตกได้แก่โจทก์ทั้งสามและ จ.ด้วยไปโอนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก จึงเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่า จำเลยที่ 2 จึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตามบทกฎหมายดังกล่าว
          จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 2 โดยทราบว่าโจทก์ทั้งสามและ จ. เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดก จึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมโดยการยกให้โดยเสน่หาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300  จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 6 หลังจากโจทก์ที่ 3 ได้อายัดที่ดินไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยกรรมการของจำเลยที่ 6 ทราบเรื่องแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 6 รับโอนโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิให้เพิกถอนการโอน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ได้เช่นกัน
          ผู้ที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่บุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดก ทั้งจำเลยที่ 2 ถูกกำจัดมิให้รับมรดก จำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในฐานะทายาท การที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 2 แล้วให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ถือกรรมสิทธิ์รวม จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นบุคคลซึ่งชอบจะใช้สิทธิของทายาท จึงไม่มีสิทธิยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสาม

          (6) กรณีปิดบังทายาทย่อมไม่ใช่ปิดบังทรัพย์มรดก จึงนำเรื่องการถูกกำจัดมิให้รับมรดกมาใช้บังคับไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2506   จำเลยก็เป็นบุตรของเจ้ามรดก เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินกับเรือนที่พิพาทให้แก่จำเลย กับยกโคกระบือให้โจทก์ และเมื่อทายาทที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1605 นั้นต้องเป็นผู้ที่ปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดก แต่เรื่องที่ดินมรดกนี้ จำเลยไม่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้ แต่ยังได้ไปขอประกาศรับมรดกอย่างเปิดเผย การที่จำเลยไม่ระบุลงไปในเครือญาติว่าโจทก์เป็นบุตรเจ้ามรดกเป็นเรื่องไม่ใส่ชื่อบุคคลในบัญชีเครือญาติเท่านั้น

          (7) แต่กรณีที่ผู้จัดการมรดกซึ่งศาลแต่งตั้ง ไปยื่นคำร้องขอรับโอนที่ดินมรดกในฐานะทายาทโดยให้ถ้อยคำต่อพนักงานที่ดินและรับรองบัญชีเครือญาติว่าเป็นทายาทเพียงคนเดียว ถือเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4164/2532   จำเลยเป็นภรรยา อ. ไม่มีบุตรด้วยกัน เมื่อ อ. ตายศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. จำเลยจึงได้จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของ อ. มาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกต่อมาจำเลยไปขอรับมรดกของ อ. ในฐานะเป็นทายาทโดยให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินและรับรองบัญชีเครือญาติว่า จำเลยเป็นทายาทของ อ. ทายาทอื่นนอกจากนี้ไม่มี ทั้งที่จำเลยก็ทราบว่า อ. มีโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมเป็นทายาทอีกคนหนึ่ง เป็นผลให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของ อ. ให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ส่วนทรัพย์มรดกอื่น ๆ จำเลยก็ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ใช่ของ อ. ถือได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าในส่วนที่ตนจะได้โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่น จึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605

          (8) บุคคลที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 มุ่งเฉพาะแต่ทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเท่านั้น 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3046/2539   บุคคลที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 มุ่งเฉพาะแต่ทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเท่านั้น ดังนั้นเมื่อขณะที่ ล. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก คือ โจทก์ จ. และ ม. เพียง 3 คนซึ่ง จ. ได้ถึงแก่ความตายภายหลัง ล. จำเลยทั้งสองเป็นภรรยาและบุตรจ. แม้ว่าจะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ล. ก็เพียงแต่ในฐานะผู้สืบสิทธิของ จ. คือรับมรดกในส่วนของ จ.เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นทายาทที่ได้กระทำการตามฟ้องอันจะถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกของ ล.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2545  ทายาทที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1605 มุ่งเฉพาะบุคคลที่เป็นทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายฉะนั้น เมื่อขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม มีทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดก คือ พ. ซึ่งเป็นสามีโจทก์ที่ 1 จำเลย อ. และ ซ. มารดาของผู้ตาย แม้ว่าโจทก์ที่ 1 จะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ พ. แต่จะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายก็เพียงในฐานะผู้สืบสิทธิของ พ. โดยรับมรดกเฉพาะส่วนของ พ. เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นทายาทอันจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย

          (9) กรณีผู้จัดการมรดกยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาล แม้ไม่ระบุทรัพย์มรดกครบถ้วนก็ไม่ถือว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก แต่ถ้าระบุทรัพย์มรดกเพียงบางรายการแล้วรับรองว่าไม่มีทรัพย์มรดกอื่นอีกนั้น ถือว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2548   โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยมิได้ระบุว่ามีที่ดิน 2 แปลงด้วย แต่ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด และตามคำร้องก็ระบุเพียงว่า ผู้ร้องไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อโอนซื้อผู้ครอบครองรถยนต์กระบะเป็นของทายาทตามเจตนาของเจ้าของมรดก แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อนเท่านั้น โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ระบุว่านอกจากทรัพย์สินดังกล่าว ผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกอื่นอีก จึงมิใช่เป็นการปิดบังทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองถูกกำจัดมิให้ได้มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5130/2541   การที่ผู้ร้องมิได้ระบุว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายในคำร้องดังกล่าวนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด และตามคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายของผู้ร้องก็ระบุเพียงว่าผู้ร้องไปขอเบิกเงินจากธนาคารออมสิน แต่ธนาคารแจ้งว่าจ่ายเงินให้ผู้ร้องไม่ได้และแนะนำให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อน อันเป็นการที่ผู้ร้องอ้างเหตุที่ไม่สามารถถอนเงินที่ผู้ตายฝากไว้กับธนาคารออมสินเป็นข้ออ้างที่ผู้ร้องต้องมายื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้นผู้ร้องหาได้ระบุว่านอกจากเงินฝากในธนาคารออมสินแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกอี่นอีกแต่อย่างใดไม่ และหากศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ผู้ร้องก็ย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายใน 1 เดือน และแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันเริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้อ้างถึงที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายในคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงมิใช่เป็นการปิดบังทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้น อันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1605 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย


การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก

            เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกซึ่งเรามักเรียกกันว่ากองมรดก เช่น ที่ดิน เงินฝากธนาคาร เงินที่เขายืมไป ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล บ้านช่อง ย่องตกเป็นของทายาททันที และก็ยังรวมถึงหนี้สินด้วย คือ เจ้ามรดกไปยืมเงินใครเขาไว้หรือเป็นหนี้เขา ค้างค่าเช่าบ้าน พวกนี้เป็นพวกความรับผิดก็ตกทอดมาถึงทายาทเหมือนกัน แต่ก็รับผิดในฐานะเป็นทายาทเท่านั้นไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว
          แม้ว่ากองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทแล้ว แต่ก็อาจมีปัญหาขัดข้องในการจัดสรรแบ่งปันมรดก หรือติดตามทวงถามหนี้สินที่บุคคลอื่นเป็นหนี้เจ้ามรดกอยู่ หรือจะไปโอนที่ดินเป็นของตน เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินก็จะปฎิเสธบ้าง ลูกหนี้เจ้ามรดกปฎิเสธบ้าง หรือแม้จะไปเบิกเงินธนาคารๆ ก็ปฎิเสธบ้างว่า ต้องนำเอาคำสั่งศาลตั้งผู้นั้นเป็นผู้จัดการมรดกมาให้ดูมาแสดงเสียก่อนว่า ผู้มาติดต่อนั้นศาลได้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว มิฉะนั้นไม่ดำเนินการให้
          จึงมีความจำเป็นที่ทายาทจะต้องไปดำเนินการขอให้ศาลแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก จึงขออนุญาตนำสาระเกี่ยวกับการร้องจัดการมรดกมาฝากให้ศึกษากันครับ

          สิ่งที่ควรรู้ในการขอเป็นผู้จัดการมรดก


          1.  จะขอเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อใด?
               เมื่อเจ้ามรดกตาย เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดก และมีเหตุขัดข้องที่จะต้องจัดการมรดก

          2.  ใครเป็นผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก?
               ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้แก่ ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกที่มีสิทธิรับมรดก เช่น บุตร บิดามารดา คู่สมรสของเจ้ามรดกผู้รับพินัยกรรมของเจ้ามรดก ซึ่งอาจเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น เจ้าของร่วมในทรัพย์สินของเจ้ามรดก กรณีเช่นนี้ที่มีมากคือ กรณีที่สามีภริยาไม่จดทะเบียนสมรสและมีทรัพย์สินร่วมกันนั่นเอง สำหรับเจ้าหนี้ ตามปกติแล้วไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ (ยกเว้น กรณีที่เจ้ามรดกไม่มีทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ กรณีนี้ เจ้าหนี้จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้)

          3.  คุณสมบัติของผู้จัดการมรดกเป็นอย่างไร?
               ผู้จัดการมรดกไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทของเจ้ามรดก จะเป็นใครก็ได้ แต่สำหรับผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาลต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียดังที่กล่าวแล้ว ทายาทอาจขอให้ศาลตั้งนาย ก. นาย ข. หรือนาย ค. ก็ได้ ประการสำคัญผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย เนื่องจากคนประเภทนี้เห็นแล้วว่าไม่สามารถรู้ผิดชอบ หย่อนความคิดอ่าน มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขืนไปจัดการทรัพย์สินคนอื่น ก็มีแต่จะเสียหายยิ่งขึ้นไปเท่านั้น กฎหมายจึงได้บัญญัติห้ามเอาไว้

          4. การยื่นคำร้องขอยื่นที่ไหน?
               ยื่นที่ศาล โดยทั่วไปเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาที่ไหน เช่น ที่ขอนแก่น เชียงใหม่ ตรัง ตราด ก็ยื่นศาลที่เป็นภูมิลำเนาของผู้ตายนั่นเอง ถ้ายื่นที่ศาลจังหวัดในกรุงเทพฯ ก็ยื่นที่ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลจังหวัดพระโขนง ศาลจังหวัดตลิ่งชัน แล้วแต่กรณี

          5. คำร้องต้องทำอย่างไร?
              ดังได้กล่าวมาแล้วว่าการทำคำร้องเป็นเรื่องที่ผู้มีความรู้ในทางกฎหมายและทางปฏิบัติเท่านั้นจะเข้าใจและทำได้ถูกต้อง เราประชาชนหรือมีอาชีพอื่นย่อมไม่เข้าใจ ก็ต้องปรึกษานักกฎหมายหรือทนายความ สำหรับคำร้องจะมีแบบคำร้องแล้วนำมาบรรยายในคำร้องระบุรายละเอียดต่างๆไว้


          คำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับผู้จัดการมรดก
          (1) ผู้ร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย
          (2) ผู้จัดการมรดกที่ศาลจะแต่งตั้งนั้นต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายและมีความเหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดก



          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8740/2547  ขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ซ. บุตรของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของ ซ. จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทของเจ้ามรดกอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยอ้างความเป็นทายาทได้ และเมื่อ ล. บุตรอีกคนหนึ่งของเจ้ามรดกได้ยื่นคำร้องขอรับที่ดินมรดก ซ. และ ถ. คัดค้าน แต่ต่อมา ซ. และ ถ. ได้ตกลงให้ ล. รับโอนที่ดินมรดกไปแต่ผู้เดียวและ ล. ได้ครอบครองทำกินโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน เช่นนี้ถือได้ว่า ซ. ถ. และ ล. ทายาทเจ้ามรดกได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันแล้วตามมาตรา 1750 วรรคหนึ่ง หาก ซ. ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่อาจเรียกร้องที่ดินมรดกตามที่ตกลงแบ่งปันกันได้ จึงไม่มีมรดกที่จะตกทอดแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2475/2543  แม้ที่ดินที่ผู้ร้องขอจัดการมรดกจะเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนสมรสกับผู้ร้อง อันเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย แต่ผู้ร้องก็เป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายผู้ร้องย่อมเป็นทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1629 วรรคสอง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 และตามบทกฎหมายดังกล่าวหาได้จำกัดเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้นที่จะร้องขอไม่ เมื่อผู้ร้องมิได้ถูกตัดมิให้รับมรดก ผู้ร้องจึงเป็นผู้ที่มีสิทธิรับมรดกย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558  แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6540/2557  เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 ที่ต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น ไม่อาจตกทอดแก่ทายาทโดยพินัยกรรมได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมให้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตกแก่ผู้คัดค้านเพียงผู้เดียว การทำพินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย พินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงมิใช่กรณีที่ผู้ร้องถูกตัดมิให้รับมรดกด้วยพินัยกรรม ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม และมีสิทธิที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 จึงไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6301/2556  แม้ผู้ร้องจะมิได้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกย่อมทำให้ผู้ร้องมีหน้าที่ที่จะต้องทำการอันจำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และอาจต้องรับผิดต่อทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1720 จึงถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6291/2554  แม้ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อาจเข้ารับมรดกแทนที่ อ. เพราะ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังเจ้ามรดกก็ตาม แต่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของ อ. ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเพราะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งไม่มีสามีและบุตร และบิดามารดาตายไปก่อนแล้ว เมื่อ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังผู้ตาย ทรัพย์มรดกในส่วนของ อ. จึงตกแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 3 ย่อมเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ อ. ในการรับมรดกของผู้ตาย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2554  ผู้มีส่วนได้เสียตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1713 นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือในทางพินัยกรรมของผู้ตายโดยตรง แม้ผู้คัดค้านเป็นสามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ได้อยู่กินร่วมกันมานานสิบกว่าปีจนผู้ตายถึงแก่ความตาย โดยมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คัดค้านกับผู้ตายมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินมีโฉนดรวม 3 แปลง ซึ่งผู้ร้องทั้งสองเบิกความรับว่า ผู้คัดค้านกับผู้ตายประกอบกิจการอู่ซ่อมรถยนต์ร่วมกัน โดยให้ผู้ร้องทั้งน้องๆ และหลานทำงานในอู่และรับเงินเดือนเป็นค่าจ้างผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ในการตั้งผู้จัดการมรดกนั้นศาลย่อมใช้ดุลพินิจคำนึงถึงความเหมาะสมประกอบกับพฤติการณ์ที่จะให้ประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก เมื่อเห็นว่าการให้ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านจัดการมรดกร่วมกันน่าจะเป็นประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดกมากกว่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการมรดกฝ่ายเดียว ศาลย่อมตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12704/2556  เด็กหญิง ช. เป็นผู้เยาว์ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ต. แม้เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมก็เป็นผู้จัดการมรดกแทนผู้เยาว์ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ เด็กหญิง ช. โดย ต. ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตายย่อมเป็นการไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6166-6167/2552  บุคคลที่ศาลจะตั้งเป็นผู้จัดการมรดก นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอื่นๆ ประกอบด้วยที่ผู้ร้องเบิกความว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้ตายจำนวน 8,000,000 บาท โดยเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืม ตามหนังสือรับรองว่าเป็นหนี้และสัญญากู้เงิน ซึ่งการที่ผู้จัดการมรดกเป็นเจ้าหนี้กองมรดกอยู่เป็นจำนวนมากจึงอยู่สองสถานะ คือเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ การจัดการมรดกอาจมีผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนได้เสียของทายาทอื่นโดยตรงทั้งก่อนผู้ตายจะถึงแก่กรรมประมาณ 10 วัน ผู้ตายได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่าโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.8 ถึง ร.12 หายไป แต่กลับปรากฏว่าโฉนดที่ดินทั้ง 5 ฉบับ อยู่ที่ผู้ร้อง โดยผู้ร้องเบิกความอ้างว่าผู้ตายมอบให้ผู้ร้องเพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งถ้าผู้ตายมอบให้จริงก็ไม่น่าหลงลืมจนไปแจ้งความ นอกจากนี้ผู้ร้องยังเป็นผู้มีอารมณ์รุนแรง มีสาเหตุกับบุตรและหลานของตนเองจนกระทั่งผู้คัดค้านที่ 1 และ ส. ซึ่งเป็นหลานไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน จากพฤติการณ์ดังกล่าวทำให้เชื่อว่าถ้าผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกจะมีอุปสรรคและมีข้อโต้แย้งกับเครือญาติ ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4698/2552  พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งไม่ได้ทำต่อหน้าพยาน 2 คนพร้อมกัน เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก แม้ผู้ร้องจะไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แต่ผู้ร้องนำพินัยกรรมซึ่งเป็นโมฆะมายื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกย่อมทำให้เป็นที่หวาดระแวงแก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นในการรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์สินให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดก

ความผิดฐานซ่องโจร

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 210 "ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิด ที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท"
          
          ผู้ร่วมกระทำความผิดฐานซ่องโจรจะต้องมีการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป 
          ลักษณะการสมคบกันเพื่อกระทำความผิด คือ ร่วมคบคิดกัน ประชุมปรึกษาหารือกัน หรือการแสดงออกซึ่งความตกลงจะกระทำผิดร่วมกัน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2533)  
          ถ้าเพียงแต่มาประชุมหารือกันโดยมิได้ตกลงอะไรกันเลยหรือตกลงกันไม่ได้ ก็ไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2829/2526) หรือถ้าข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป แม้จะมีคนหนึ่งคนใดได้ลงมือกระทำความผิดอาญาอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ ก็ไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2539)
          แต่ถ้ามีการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้ที่ร่วมสมคบกันนั้นก็มีความผิดฐานซ่องโจรทันที แม้ในขณะลงมือกระทำความผิดตามที่เคยร่วมตกลงกันนั้น ตนเองจะไม่ได้อยู่ด้วย เช่น จำเลยที่ 5 กับพวกรวม 10 คนจับกลุ่มกันวางแผนเพื่อจะใช้ตลับยาหม่องครอบเหรียญพนันบนรถยนต์โดยสารประจำทางโดยจำเลยที่ 1 จะเป็นคนใช้ตลับยาหม่องครอบเหรียญ แล้วให้จำเลยอื่นเป็นหน้าม้าแทงจำเลยที่ 1 แจกเงินให้จำเลยอื่น ทุกคนเพื่อนำไปแทงใครได้เสียเท่าใดให้จำไว้ เมื่อเลิกเล่นแล้วจะคืนให้หมดจำเลยอื่นขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารประจำทางส่วนจำเลยที่ 5 รออยู่ที่สถานีขนส่ง และจะขับรถมารับจำเลยอื่นระหว่างทางหลังจากเล่นการพนันเสร็จแล้ว เมื่อรถยนต์โดยสารออกจากสถานีขนส่ง จำเลยที่ 1 กับพวกลงมือเล่นการพนันทายเหรียญแล้วชักชวนให้ผู้โดยสารมาแทงอันเป็นการสมคบกันเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของผู้ที่โดยสารไปกับรถยนต์โดยสารโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 5 จะไม่ได้ขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารพร้อมกับจำเลยอื่น แต่ก็รออยู่ที่สถานีขนส่งและจะขับรถตาม มารับจำเลยอื่นเมื่อเลิกเล่นกันแล้วอันเป็นการแสดงถึง การแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยที่ 5 ได้เข้าร่วมปรึกษาวางแผนกับจำเลยอื่นแล้วการกระทำของจำเลยที่ 5 จึงเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2528)
           แต่ถ้าผู้ที่ร่วมสมคบกันเพื่อกระทำความผิดมีจำนวนไม่ถึง 5 คน ย่อมไม่มีความผิดฐานซ่องโจร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2533 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2539

          ความผิดที่สบคบกันมุ่งหมายที่จะกระทำนั้น แม้จะเลิกเสียไม่กระทำตามที่ตกลงกันก็เป็นความผิดตามมาตรา 210 แล้ว
           สาระสำคัญของความผิดฐานเป็นซ่องโจร จะต้องมีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปได้คบคิดประชุมหารือร่วมกันและตกลงกันที่จะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป เมื่อได้ประชุมตกลงกันดังกล่าวแล้ว แม้จะยังมิได้ไปกระทำความผิดตามที่ตกลงไว้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมก็มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรแล้ว หากมีผู้ที่เข้าร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งไปกระทำความผิดตามที่ตกลงกันไว้  ก็เป็นความผิดขึ้นอีกกระทงหนึ่ง  ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมประชุมแม้จะไม่ได้ไปร่วมกระทำผิด  ก็ต้องมีความผิดด้วยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 213 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3201/2527
          
          ผู้เข้าร่วมประชุมมีความผิดด้วย
          มาตรา 211 "ผู้ใดประชุมในที่ประชุมอั้งยี่หรือซ่องโจร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร เว้นแต่ผู้นั้นจะแสดงได้ว่า ได้ประชุมโดยไม่รู้ว่าเป็นการประชุมของอั้งยี่หรือซ่องโจร"

          ผู้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวก รับโทษเท่ากับผู้กระทำผิด
          มาตรา 212 "ผู้ใด
          (1) จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แก่อั้งยี่หรือซ่องโจร
          (2) ชักชวนบุคคลให้เข้าเป็นสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจร
          (3) อุปการะอั้งยี่หรือซ่องโจรโดยให้ทรัพย์หรือโดยประการอื่น หรือ
          (4) ช่วยจำหน่ายทรัพย์ที่อั้งยี่หรือซ่องโจรได้มาโดยการกระทำความผิด
          ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจรแล้วแต่กรณี"

          ถ้าความผิดได้กระทำลง พรรคพวกซ่องโจรที่อยู่ด้วยในขณะกระทำผิดหรืออยู่ด้วยในที่ประชุม หรือหัวหน้า ผู้จัดการ ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำด้วยอีกฐานหนึ่ง
          มาตรา  213 "ถ้าสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรคนหนึ่งคนใดได้กระทำความผิดตามความมุ่งหมายของอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น สมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรที่อยู่ด้วยในขณะกระทำความผิด หรืออยู่ด้วยในที่ประชุมแต่ไม่ได้คัดค้านในการตกลงให้กระทำความผิดนั้น และบรรดาหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นทุกคน"

          จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกรวม 6 คน ร่วมกันวางแผนไปกระทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่ง ป.อ.จึงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจร และเมื่อจำเลยที่ 4 กับพวกไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 ตามแผนที่ร่วมกันวางไว้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร่วมวางแผนย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการปล้นร้านทองร่วมกับจำเลยที่ 4 กับพวกด้วย ตาม ป.อ.มาตรา 213 และความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานปล้นทรัพย์เกี่ยวเนื่องกันเพราะพวกจำเลยกระทำผิดฐานเป็นซ่องโจรเพื่อจะไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานปล้นทรัพย์อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่ฐานเป็นซ่องโจรด้วย จึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสามจะไม่ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้และเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงต้องวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 4 ด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4548/2540)




นิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

          ป.พ.พ.
          มาตรา 1574   "นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
          (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
          (2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
          (3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
          (4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
          (5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
          (6) ก่อข้อผูกพันใดๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
          (7) ให้กู้ยืมเงิน
          (8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
          (9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
          (10) ประกันโดยประการใดๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
          (11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4  (1) (2) หรือ (3)
          (12) ประนีประนอมยอมความ
          (13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย"

          เมื่อศาลอนุญาตให้ขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์แล้ว ผู้ซื้อจะอ้างว่าถูกหลอกให้ซื้อเพื่อคัดค้านการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5534/2558   ป.พ.พ. มาตรา 1574 บัญญัติเกี่ยวกับการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องที่ผู้ร้องขออนุญาตขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ทั้งสามและอนุญาตให้ผู้ร้องขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ทั้งสาม ประเด็นดังกล่าวจึงยุติ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องมายื่นคำร้องขออนุญาตขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ทั้งสามในราคาใหม่ คดีจึงมีประเด็นเพียงว่า สมควรกำหนดให้ขายใหม่ในราคาเท่าใดเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ร้องต้องนำสืบเกี่ยวกับราคาอสังหาริมทรัพย์ว่ามีราคาเท่าใดและสมควรขายในราคาเท่าใด หาได้เกี่ยวข้องกับผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าถูก ก. หลอกลวงขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ผู้คัดค้านหลงเชื่อวางเงินมัดจำให้ ก. ก็เป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านต้องไปว่ากล่าวต่อ ก. เอง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิคัดค้านการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ทั้งสาม

          *** เมื่อเป็นกรณีที่ทำนิติกรรมใดเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ซึ่งต้องขออนุญาตศาลแล้ว จะเลี่ยงโดยให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้ เพราะเท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2125 - 2126/2558   การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นนิติกรรมอันมีผลเกี่ยวถึงทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี การทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 บอกล้างนิติกรรมสัญญาประนีประนอมยอมความและจำเลยที่ 3 บอกเลิกความยินยอมที่ให้จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความได้หรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วในชั้นอุทธรณ์ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน โดยในวันดังกล่าวโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้เยาว์มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายและศาลชั้นต้นไม่เป็นศาลเยาวชนและครอบครัว ทั้งไม่ได้รับการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ เห็นว่า การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นนิติกรรมอันมีผลเกี่ยวถึงทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว ซึ่งหมายรวมถึงทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายและเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี การทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8535/2547  ข้อความตามบันทึกข้อตกลงที่ว่า จำเลยทั้งหกขอถอนชื่อออกจากโฉนดที่ดินพิพาทในเฉพาะส่วนของ ส. นั้น ย่อมมีผลทำให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว การถอนชื่อจำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ออกจากโฉนดดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการกระทำให้สิ้นสุดลงบางส่วนซึ่งทรัพย์สินของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และเป็นการประนีประนอมยอมความ จึงเป็นนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (2) และ (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว ซึ่งหมายรวมถึงทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบกรรม มีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาล ซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 5 และที่ 6 ผู้เยาว์ได้รับอนุญาตจากศาล บันทึกข้อตกลงการถอนชื่อจากโฉนดที่ดินดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 5 และที่ 6

          หากทำนิติกรรมใดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 1574  ย่อมมีผลให้นิติกรรมนั้นไม่ผูกพันผู้เยาว์ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6838/2555  หลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ว. ทายาทคนหนึ่งของเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของ ว. จึงตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิชั้นบุตรและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยา หลังจากนั้นได้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกระหว่างผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของเจ้ามรดกให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาท ว. ซึ่งในวันที่ทำบันทึกแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ปรากฏว่าผู้จัดการมรดกกระทำโดยมิชอบหรือทำผิดหน้าที่หรือทำเกินอำนาจหน้าที่ผู้จัดการมรดกแต่ประการใด จึงเป็นสิทธิของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกทำกิจการในขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1724 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงมีผลผูกพันทายาททั้งหมดของเจ้ามรดก รวมทั้งโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นทายาทของเจ้ามรดกทั้งไม่ใช่ทายาทผู้เข้ารับมรดกแทนที่ ว. เป็นเพียงทายาทของ ว. ซึ่งมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกที่ตกได้แก่ ว. เท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1724
          แม้บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกจะมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะกระทำแทนผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต และจำเลยที่ 2 ได้กระทำบันทึกดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่การขออนุญาตศาลหรือไม่ ไม่ใช่แบบของนิติกรรมและกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะกรรม ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามมาตรา 1574 ไม่ได้ เว้นแต่ศาลอนุญาตนั้น เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้ศาลเป็นผู้กำกับดูแลผลประโยชน์ส่วนได้เสียของผู้เยาว์ โดยดูแลให้ผู้แทนโดยชอบธรรมปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์อย่างถูกต้องแท้จริงเท่านั้น นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถึงขนาดตกเป็นโมฆะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันผู้เยาว์ที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะอันจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดก็สามารถยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แต่มีผลเพียงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่จะยกการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามบันทึกดังกล่าวได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเพิกถอนบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  533/2552  เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อผู้เยาว์อันมีผลให้ผู้เยาว์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่ผู้เยาว์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมก็ชอบที่จะต้องขอนุญาตศาลเสียก่อน เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่บังคับไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 1574 (12) เมื่อ ช.บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์กับจำเลยได้ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลของโจทก์กับของ ช. โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาจากจำเลยอีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ ช.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตามลำพัง โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงไม่ระงับไป
          เมื่อโจทก์ต้องเสียความสามารถในการมองเห็น เนื่องจากโจทก์เสียตาข้างซ้ายทำให้ไม่สามารถมองภาพได้ละเอียดและกว้างเท่าคนปกติถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 446 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ.ผู้ทำละเมิดจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว หาใช่ต้องกำหนดเป็นค่ารักษาพยาบาลไม่ และค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสื่อมสุขภาพอนามัย ต้องเสียโฉม ได้รับความเจ็บปวดทรมานเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 446 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12115/2555  การทำนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุทำขณะที่โจทก์ทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ได้กระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 1574 (11) นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะทันที และยังเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล กิจการนั้นย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุเกิดขึ้นเลย  สิทธิการเช่าดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยรับโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวไว้ แม้จะอ้างว่า รับโอนโดยสุจริตก็หามีผลทำให้จำเลยกลับมีสิทธิตามนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวไม่ และเป็นกรณีมิใช่โมฆียกรรม ไม่อาจให้สัตยาบันหรือบอกล้างนิติกรรมได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 บัญญัติว่า “ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้” ดังนั้น สิทธิการเช่าจึงเป็นทรัพย์สิน และเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่ง ซึ่งตกอยู่ภายใต้การบังคับคดีตามกฎหมาย จึงอาจจำหน่ายจ่ายโอนแก่บุคคลอื่นได้เพื่อได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าแทนตน สิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 จึงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะนั้น และตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติมาตรา 1574 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้เยาว์ ซึ่งผู้เยาว์นั้นต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของผู้ใช้อำนาจปกครอง อันได้แก่ บิดาและ/หรือมารดา ในบทมาตราดังกล่าวนี้บัญญัติว่า “...ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต...” และมีอนุมาตราแสดงการกระทำที่ต้องห้ามไว้สิบสามอนุมาตรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเป็นบทเคร่งครัดที่จะต้องปฏิบัติตาม ลักษณะที่เป็นบทเคร่งครัดของมาตรา 1574 ประกอบกับการเป็นบทบัญญัติที่ห้ามกระทำไว้อย่างชัดแจ้งนั้น ทำให้นิติกรรมใดที่ได้กระทำลงโดยฝ่าฝืน คือ หากเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 1574 (1) ถึง (13) แล้ว นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะทันที ตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย...การนั้นเป็นโมฆะ” และการที่นาง บ.ในฐานะผู้ปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะนั้นทำนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 ที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลอนุญาตให้กระทำการเช่นนั้นได้ โดยการนำสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 ของโจทก์ทั้งสองโอนให้แก่จำเลยเพื่อเป็นการชำระหนี้ที่นาง บ. เป็นหนี้จำเลยเกี่ยวกับการซื้อขายพลอยโดยตีราคาสิทธิการเช่าดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 3,000,000 บาท นั้น เป็นการทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (11) นั่นคือ นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3) เมื่อนาง บ. ผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 แทนโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะนั้นโดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ยินยอมให้นาง บ. ผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมดังกล่าวมีผลว่านาง บ. ผู้แทนโดยชอบธรรมทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน หาเป็นเช่นนั้นไม่ หากกรณีดังกล่าวสามารถทำเช่นนั้นได้ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องขออนุญาตจากศาล และเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้น การทำนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 ตามสำเนาแบบคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ และสำเนาบันทึกข้อความที่ทำขณะที่โจทก์ทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ได้กระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1574 (11) นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะทันทีตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล กิจการนั้นย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 เกิดขึ้นเลย สิทธิการเช่าดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยรับโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวไว้ แม้จะอ้างว่ารับโอนโดยสุจริตก็หามีผลทำให้จำเลยกลับมีสิทธิตามนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวไม่ และป็นกรณีมิใช่โมฆียกรรม ไม่อาจให้สัตยาบันหรือบอกล้างนิติกรรมได้

          แต่ถ้าผู้เยาว์ทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติมาตรา 1574 โดยลำพัง ต้องปรับตามมาตรา 21 มีผลให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1783/2558  โจทก์เป็นผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของตนแก่จำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่ผู้เยาว์กระทำนิติกรรมเอง ไม่ใช่ผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำ จึงหาใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ไม่ แต่ต้องปรับตามมาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เยาว์จะกระทำนิติกรรมใดต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆียะ เมื่อมีการบอกล้างก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สัญญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ กรณีมิใช่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย

          กรณีผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นในการจัดการทรัพย์มรดก แม้มีทายาทบางคนเป็นผู้เยาว์ ก็ไม่ต้องขออนุญาตศาล เพราะไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8207/2544  ที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ผู้จัดการมรดกนำมาเป็นทุนจัดตั้งเป็นบริษัทจำเลยที่ 8 แล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นตามส่วนสัดที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดก การนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 ดังกล่าวเป็นการจัดการตามที่จำเป็นเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ในขอบอำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง เนื่องจากไม่สามารถจัดการให้ทายาทเข้าครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดได้
          แม้ทายาทบางคนยังเป็นผู้เยาว์อยู่ขณะนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนของบริษัทจำเลยที่ 8 ผู้จัดการมรดกก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ แต่เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง
          เมื่อทายาททุกคนโดยเฉพาะโจทก์ได้รับหุ้นและผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทจำเลยที่ 8 เรื่อยมาจนกระทั่งโจทก์ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่ ป. และ อ. ไปในปี 2509 โดยไม่ได้คัดค้านว่าการกระทำของผู้จัดการมรดกไม่ชอบด้วยกฎหมายแสดงว่าโจทก์และทายาททุกคนพอใจและให้ความยินยอมในการกระทำดังกล่าวแล้วถือว่าโจทก์ได้รับแบ่งมรดกตามสิทธิครบถ้วนและถือว่าผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันมรดกเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2503 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งอีก




ผู้แทนนิติบุคคล


          นิติบุคคล

          ป.พ.พ. มาตรา 66  "นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง"

          นิติบุคคลเกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมาย เช่น ห้างหุ้นส่วน บริษัท นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น ซึ่งได้ไปจดทะเบียนจัดตั้งตามขั้นตอนของกฎหมายถูกต้องครบถ้วน และนิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น (มาตรา 67)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4554/2559  บริษัทมหาชนจำกัดเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้น และมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นเจ้าของเงินที่ให้กู้ยืมไป เมื่อมีผู้เบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าว ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงตาม ป.วิ.อ.


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7625/2552  บริษัท ส. ที่โจทก์เป็นกรรมการได้มอบเงินให้บริษัท ซ. ที่จำเลยเป็นกรรมการเป็นค่าสินค้าที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยล่วงหน้า เงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่หนี้ตามข้อตกลงในฐานะส่วนตัวของโจทก์กับจำเลย แต่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ส. กับจำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ซ. ต่อมาบริษัท ซ. จะต้องคืนเงินแก่บริษัท ส. แต่ได้ทำในรูปสัญญากู้ยืมที่จำเลยลงลายมือชื่อรับผิดต่อโจทก์ หนี้ที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์จึงเป็นหนี้ที่บริษัท ซ. มีต่อบริษัท ส. ไม่ใช่เป็นหนี้ของจำเลยในฐานะส่วนตัว สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน

          นิติบุคคลต้องมีผู้แทนทำการแทนนิติบุคคล

          มาตรา 70 "นิติบุคคลต้องมีผู้แทนคนหนึ่งหรือหลายคน  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งจะได้กำหนดไว้
          ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล"
       
          นิติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่นิติบุคคลไม่มีตัวตนเช่นอย่างบุคคลธรรมดา ดังนั้น การแสดงเจตนาเพื่อทำการในเรื่องใดๆ จึงต้องมีผู้แทนนิติบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคน ตามที่กฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งจะได้กำหนดไว้ เป็นผู้ทำการแทน โดยความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2560  แม้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติขององค์การคลังสินค้าผู้เสียหายจะกำหนดให้มีผู้ประสานงานในจังหวัดเป็นผู้แทนของผู้เสียหายในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ และรายงานการตรวจสอบข้าวที่หน่วยรับฝากไว้แก่ผู้เสียหายอย่างช้าไม่เกิน 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น แต่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรของรัฐบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 และ พ.ร.ก.จัดตั้งคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งมาตรา 26 บัญญัติว่า ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนองค์การ และเพื่อการนี้ผู้อำนวยการอาจมอบให้บุคคลใดๆ ปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนในเมื่อคณะกรรมการกำหนด และตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ดังนั้น การแสดงออกของผู้เสียหายย่อมต้องแสดงออกโดยผู้อำนวยการ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่า พ. ทราบเหตุที่ข้าวสารในหน่วยที่รับฝากไว้สูญหายไปตามฟ้องก่อนแล้ว แต่ พ. เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของผู้เสียหายซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารับทราบตามลำดับชั้นเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะร้องทุกข์หรือดำเนินคดี จึงถือไม่ได้ว่า พ. เป็นผู้แทนของผู้เสียหายในการรับรู้เรื่องอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่มีข้าวสารในโรงสีของจำเลยที่ 1 ให้ตรวจรับ ตามหนังสือลงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 จึงต้องถือว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดเมื่อได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21764/2556  โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ย่อมต้องแสดงออกโดยผู้แทนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง อายุความ 1 ปี จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้แทนของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5158/2546 ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่า ร. ต้องชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศแก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นคนละประเด็นกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ทั้งคำพิพากษาคดีก่อนก็ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ คำพิพากษาคดีก่อนเพียงแต่วินิจฉัยว่า ร. ไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์ตามฟ้องจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าในวันที่ศาลในคดีก่อนมีคำพิพากษา โจทก์ได้ทราบแล้วว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิด เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์โดยรักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ฝ่ายบริหาร) ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจากรายงานของกองนิติการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2548 จึงไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2556  ช. ผู้จัดการโจทก์ สาขาสำโรง เป็นเพียงลูกจ้างของโจทก์ แม้ ช. รู้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดก็จะถือว่าผู้แทนโจทก์รู้ด้วยไม่ได้ ผ. เป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ เมื่อกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงทำรายงานเสนอ ผ. ว่าจำเลยทั้งสองได้หลอกลวง ช. อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และ ผ. ลงลายมือชื่อรับทราบในรายงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537 จึงต้องถือว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537



          กรณีที่ตำแหน่งผู้แทนนิติบุคคลว่างลง ก็อาจร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งผู้แทนชั่วคราวขึ้นได้

          มาตรา 73 "ถ้ามีตำแหน่งว่างลงในจำนวนผู้แทนของนิติบุคคล และมีเหตุอันควรเชื่อว่าการปล่อยตำแหน่งว่างไว้น่าจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอศาลจะแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวขึ้นก็ได้"

          ถ้าตำแหน่งผู้แทนนิติบุคคลว่างลง จนมีเหตุควรเชื่อว่าจะเกิดความเสียหายได้ ผู้มีส่วนได้เสียก็ร้องขอต่อศาลให้สั่งตั้งผู้แทนชั่วคราวขึ้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2548  ผู้ร้องซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนชั่วคราวของห้าง โดยให้ผู้ร้องแต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อและประทับตราของห้างมีอำนาจกระทำการแทนห้าง เพื่อผู้ร้องจะได้กระทำกิจการต่างๆ ในนามห้างได้ อันเป็นการแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องของห้างมิให้เกิดความเสียหายเนื่องจากหุ้นส่วนผู้จัดการคนอื่นไม่ยอมลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจร่วมกับผู้ร้องเพื่อดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจากการที่ผู้อื่นฉ้อโกงห้างทำให้ห้างเสียหาย แม้คำร้องขอของผู้ร้องจะไม่ใช่กรณีตำแหน่งผู้แทนของห้างว่างลงตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 73 บัญญัติไว้ แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในกรณีนี้ จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4 วรรคสอง และมาตรา 73 เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะนำมาวินิจฉัยคดีได้ดังนั้นหากได้ความจริงตามคำร้องขอศาลก็สามารถตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนชั่วคราวตามบทกฎหมายดังกล่าวได้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8938/2542  ข้อบังคับของบริษัท ซ. กำหนดให้ ส. ลงลายมือชื่อร่วมกับผู้ร้องและประทับตราสำคัญของบริษัทจึงมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้ แต่ ส. ขัดขวางและทำการเป็นปฏิปักษ์ไม่ยอมลงลายมือชื่อร่วมกับผู้ร้องในกิจการที่ต้องกระทำในนามบริษัท ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนชั่วคราวของบริษัท โดยให้ผู้ร้องแต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท เพื่อแก้ไขอุปสรรคและข้อขัดข้องของบริษัทมิให้เกิดความเสียหาย ดังนี้ แม้คำร้องขอของผู้ร้องจะไม่ใช่กรณีตำแหน่งผู้แทนของบริษัทว่างลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 73 แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีนี้ได้ ทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในกรณีนี้จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งได้แก่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 73 ศาลจึงสามารถตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนชั่วคราวตามบทกฎหมายดังกล่าวได้

          ผู้แทนชั่วคราวเมื่อร้องขอให้ศาลแต่งตั้งได้ ก็ย่อมร้องขอให้ศาลสั่งถอดถอนได้เช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4049/2540  แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1151 จะกำหนดให้เฉพาะที่ประชุมใหญ่เท่านั้นที่จะตั้งหรือถอนกรรมการบริษัทได้ก็ตาม แต่ก็มิได้ตัดอำนาจของศาลที่จะถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวที่ศาลตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 73 ถึงแม้ว่าจะไม่มีบทบัญญัติโดยตรงให้ศาลถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวก็ตาม แต่ศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวที่ศาลตั้งได้หากมีเหตุอันสมควร ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าหากกฎหมายประสงค์จะให้ศาลมีอำนาจถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวที่ศาลตั้งขึ้นก็ย่อมจะบัญญัติไว้แต่ไม่ปรากฏว่าได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใดนั้น จึงไม่ถูกต้อง
       



          กรณีประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกันกับผู้แทน

          มาตรา 74 "ถ้าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในการอันใด ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้"
          มาตรา 75 "ถ้ากรณีตามมาตรา 74 เป็นเหตุให้ไม่มีผู้แทนของนิติบุคคลเหลืออยู่ หรือผู้แทนของนิติบุคคลที่เหลืออยู่มีจำนวนไม่พอจะเป็นองค์ประชุม หรือไม่พอจะกระทำการอันนั้นได้ หากกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งของนิติบุคคลนั้น มิได้มีข้อกำหนดในเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น ให้นำความในมาตรา 73 มาใช้บังคับเพื่อตั้งผู้แทนเฉพาะการโดยอนุโลม"

          แม้ความประสงค์ของนิติบุคคลจะแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล แต่เมื่อใดที่ผลประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลกับผู้แทนนิติบุคคลเกิดขัดกัน กฎหมายก็ได้บัญญัติห้ามไว้มิให้ผู้แทนนิติบุคคลทำการนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3313/2536  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 เดิม(มาตรา 74 ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติไว้ความว่า ในการอันใดถ้าประโยชน์ทางได้เสียของนิติบุคคลฝ่ายหนึ่งกับของตัวผู้จัดการอีกฝ่ายหนึ่งเป็นปฏิปักษ์แก่กันในการอันนั้น ผู้จัดการเป็นอันไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนได้ การที่ ส.ผู้จัดการโจทก์สาขาลอง กับ ป. ต้องการขายลดเช็คให้โจทก์เอง โดยให้จำเลยทั้งสามออกหน้าเป็นผู้ขายลดเช็คนั้น ส.ผู้จัดการโจทก์จึงไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนโจทก์ตามมาตรา 80 เดิม(มาตรา 74 ที่แก้ไขใหม่) และความรู้ของ ส. ผู้จัดการโจทก์ดังกล่าวจะถือเป็นความรู้ของโจทก์ด้วยไม่ได้ การที่จำเลยทั้งสามร่วมกับ ส. ผู้จัดการโจทก์และ ป. ขายลดเช็คให้โจทก์ จำเลยทั้งสามต้องผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาขายลดเช็คที่จำเลยทั้งสามแสดงเจตนาต่อโจทก์ด้วย อายุความฟ้องร้องตามสัญญาขายลดเช็ค ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2563  การถอนฟ้องเป็นการกระทำใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอันเกี่ยวด้วยคดีซึ่งได้กระทำไปโดยคู่ความในคดี จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่จะต้องพิจารณาว่า ผู้กระทำการนั้นมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในขณะนั้นหรือไม่เป็นสำคัญ หากมีการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่มีอำนาจอันเป็นการไม่ชอบแล้ว ก็ชอบที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณานั้น หรือหากอนุญาตไปก่อนแล้วโดยผิดหลงก็ต้องสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ การพิจารณาอำนาจของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันโจทก์ในขณะโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องนั้น ต้องถือเอาข้อความในหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเป็นสำคัญ แต่ยังต้องพิจารณาด้วยว่าถ้าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนนิติบุคคลในการอันใด ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 74 โจทก์เป็นนิติบุคคลฟ้องว่าโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน เนื่องจาก ค. กรรมการที่มีอำนาจกระทำแทนโจทก์ และจำเลยที่ 1 บอกว่า ไม่อาจใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้ มูลเหตุการฟ้องส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของ ค. การไต่สวนก็ได้ความว่า ค. เคยอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 และมีบุตรด้วยกัน แม้เลิกรากันแล้วแต่ ค. ยังคงไปมาหาสู่กับบุตรเป็นประจำ ในการไกล่เกลี่ยระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ค. ก็อยู่ฝ่ายเดียวกับจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ส่อแสดงว่า ค. และจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายเดียวกันและเป็นคู่กรณีกับโจทก์ การที่ ค. ขอถอนฟ้องเนื่องจากประสงค์ไม่ให้โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 อันเป็นการขัดขวางมิให้โจทก์ใช้สิทธิทางศาลเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์ได้เสียของโจทก์ ถือได้ว่า ประโยชน์ได้เสียของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของ ค. ซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคล จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการในคำร้องขอถอนฟ้อง คำร้องขอถอนฟ้องจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะยกคำร้องขอถอนฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลง

          ถ้าการที่ประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกันกับผู้แทนนิติบุคคล ทำให้ไม่มีผู้แทนของนิติบุคคลเหลืออยู่ หรือผู้แทนของนิติบุคคลที่เหลืออยู่มีจำนวนไม่พอจะเป็นองค์ประชุม หรือไม่พอจะกระทำการอันนั้นได้ หากกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งของนิติบุคคลนั้น มิได้มีข้อกำหนดในเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น ในมาตรา 75 ก็ได้บัญญัติทางออกไว้ กล่าวคือ ให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลเพื่อขอตั้งผู้แทนเฉพาะการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15198/2551  ผู้ร้องคัดค้านได้ร่วมก่อตั้งบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ม. โดยผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้ถือหุ้น การที่ผู้ร้องคัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ดำเนินการใดๆ กับบริษัท ม.ซึ่งค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อเครือญาติและตนเองในบริษัทดังกล่าว อันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของนิติบุคคลอาคารชุดมิลฟอร์ด พาราไดซ์ คอนโดเทล ถือได้ว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในเรื่องดังกล่าว เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่กรณีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในกรณีเช่นนี้ จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดย่อมร้องขอให้ศาลแต่งตั้ง ธ. เป็นผู้แทนเฉพาะการเพื่อดำเนินการในเรื่องการทวงถามค่าใช้จ่ายส่วนกลางตลอดจนการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดมิลฟอร์ด พาราไดซ์ คอนโดเทลได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 75
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2980/2550  การขอให้ศาลแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวของนิติบุคคลนั้นจะต้องเป็นกรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลว่างลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 73 หรือผู้แทนนิติบุคคลไม่อาจทำหน้าที่ได้ตามมาตรา 75 และหากปล่อยให้ตำแหน่งว่างไว้น่าจะทำให้เกิดความเสียหายในการดำเนินกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วย กรณีตามคำร้องเป็นการขอให้ศาลตั้งผู้แทนเฉพาะการหรือผู้แทนชั่วคราวของนิติบุคคลเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการบริษัทเอง ซึ่งหากผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดทางอาญาของบริษัทก็สามารถดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลที่ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายได้อยู่แล้วตามมาตรา 1169 กรณีตามคำร้องมิใช่กรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลว่างลง หรือผู้แทนนิติบุคคลไม่อาจทำหน้าที่ได้อันน่าจะทำให้เกิดความเสียหายในการดำเนินกิจการของบริษัท ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีที่ประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนนิติบุคคลในการอันใดที่จะทำให้ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 74 ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอตั้งผู้แทนเฉพาะการหรือผู้แทนชั่วคราวนิติบุคคลได้



          ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกของนิติบุคคลซึ่งเกิดจากการทำหน้าที่ของผู้แทน

          มาตรา 76 "ถ้าการกระทำตามหน้าที่ของผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น นิติบุคคลนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น แต่ไม่สูญเสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ก่อความเสียหาย
          ถ้าความเสียหายแก่บุคคลอื่นเกิดจากการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของนิติบุคคล บรรดาบุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่งที่ได้เห็นชอบให้กระทำการนั้นหรือได้เป็นผู้กระทำการดังกล่าว ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายนั้น"
          มาตรา 77 "ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล และระหว่างนิติบุคคล หรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอก โดยอนุโลม"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2554  จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2548 โจทก์สั่งซื้อสินค้าเป็นกล่องใส่ซีดีทำด้วยดีบุก จำนวน 5,000,000 ใบราคา 1,470,432 ดอลลาร์สหรัฐ และของเล่นเป็นรถไฟฟ้าทำด้วยไม้ระบบโซนิค จำนวน 5,501,500 ชิ้น ราคา 1,603,429 ดอลลาร์สหรัฐ จากจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ชำระเงินมัดจำร้อยละ 20 ของราคาสินค้าในแต่ละประเภทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าทั้งสองประเภทและไม่คืนเงินมัดจำ จึงเป็นการผิดสัญญาต้องคืนเงินและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น แม้ในการติดต่อซื้อขายสินค้ากับโจทก์ โจทก์ติดต่อผ่านจำเลยที่ 2 โดยการส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่ได้อ้างถึงจำเลยที่ 1 แต่ข้อความดังกล่าวจำเลยที่ 2 เขียนเพื่อแจ้งรายละเอียดของวันเวลาตามแผนงานการผลิตกล่องใส่ซีดีตั้งแต่วันเริ่มออกแบบจนถึงวันที่จัดส่งสินค้าเสร็จสิ้น และแจ้งราคาค่าเครื่องมือสำหรับผลิตกล่องใส่ซีดีและรถไฟไม้ให้โจทก์ทราบ รวมถึงการนัดหมายเชื้อเชิญให้โจทก์มาเยี่ยมชมโรงงาน ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับสินค้าที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ไม่ปรากฏข้อความตอนใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปในฐานะส่วนตัว อีกทั้งหลักฐานการโอนเงินก็เป็นชื่อบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินแต่ผู้เดียว มิใช่จำเลยที่ 2 ประกอบกับการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 นิติบุคคลย่อมจะต้องกระทำโดยผ่านจำเลยที่ 2 ที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายสินค้าที่พิพาทกับโจทก์ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1