10 มีนาคม 2567

ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ตามมาตรา 446

          ป.พ.พ. มาตรา 446  "ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
          อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้"

          ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดนั้น นอกจากความเสียหายที่เป็นตัวเงินแล้ว ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ เป็นสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินนั้น หมายถึง ความเสียหายอันไม่อาจคิดคำนวณเป็นเงินได้ แต่ความเสียหายเช่นว่านี้ต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิด จำเป็นต้องเยียวยาหรือทดแทนความเสียหายให้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีความเสียหายมากยิ่งกว่าความเสียหายต่อร่างกายอีกด้วย 
          ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาระหว่างการรักษาพยาบาล หรือต้องทุพพลภาพพิการต่อไป 

          ใช้อาวุธปืนข่มขู่ทำให้ตกใจกลัวเป็นความเสียหายเกี่ยวกับความรู้สึกด้านจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4404/2564  การที่จำเลยใช้อาวุธปืนเล็งข่มขู่ผู้ร้อง แม้จะไม่ได้ทำให้ผู้ร้องบาดเจ็บ แต่ก็เป็นการทำให้ผู้ร้องเสียหายแก่ร่างกายและอนามัยของผู้ร้อง เพราะการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ร้องตกใจกลัวเป็นความเสียหายเกี่ยวกับความรู้สึกด้านจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 ผู้ร้องถูกกระทำละเมิดจึงชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4571/2556    ในคดีเดิมอันเป็นมูลเหตุของคดีนี้คือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1027/2552 ของศาลชั้นต้น มีโจทก์คดีนี้เป็นผู้เสียหาย ศาลในคดีดังกล่าวยังได้อนุญาตให้โจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ร่วมด้วย จึงฟังได้ว่าโจทก์คดีนี้เป็นผู้เสียหาย และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคดีอาญาหมายเลขแดงดังกล่าวข้างต้นแล้วว่า จำเลยถืออาวุธปืนติดตัวออกมาบริเวณทางเดินเท้าสาธารณะซึ่งอยู่ติดกับถนนสาธารณะหลังจากมีปากเสียงกับโจทก์ ประกอบกับจำเลยยังรับข้อเท็จจริงในคดีนี้อีกว่า จำเลยได้พูดขู่เข็ญโจทก์ว่า “มึงอยากตายหรือ” การกระทำดังกล่าวนับว่าเป็นการกระทำโดยจงใจทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
          แม้ว่าจำเลยจะมิได้ยิงอาวุธปืนดังกล่าวก็ตาม แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนข่มขู่โจทก์เช่นนี้เป็นการทำให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกายและอนามัยของโจทก์แล้ว เพราะเป็นการทำให้โจทก์ตกใจกลัวเป็นความเสียหายเกี่ยวกับความรู้สึกทางด้านจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 โจทก์มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีดังกล่าวนี้ได้ 

          การผ่าตัดและรักษาต่อเนื่องนานนับปี ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานเป็นอันมาก มีรอยแผลเป็นและไม่สามารถเดินได้อย่างปกติเพราะขายาวไม่เท่ากัน ความเสียหายดังกล่าวเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้จากจำเลยผู้ทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 446
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3945/2558 ผลของการทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกขาขวาท่อนล่าง ซึ่งมี 2 ท่อนคู่กันกระดูกแต่ละท่อนได้หัก 2 แห่ง และมีแผลฉีกขาดที่ปลายขาขวา ยาว 20 เซนติเมตร แพทย์ต้องตัดเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นของร่างกายมาใส่แผลที่ฉีกขาด ต้องผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกที่หัก ถึง 2 ครั้ง โจทก์ต้องรับการรักษาต่อเนื่องนานนับปี ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานเป็นอันมาก มีรอยแผลเป็นและไม่สามารถเดินได้อย่างปกติเพราะขายาวไม่เท่ากัน เห็นได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้จากจำเลยผู้ทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 446 วรรคหนึ่ง และการที่โจทก์ต้องรับการผ่าตัดกระดูกขาขวานั้นเอง ทำให้โจทก์ไม่สามารถประกอบการงานขับรถจักรยานยนต์ส่งเอกสารได้จนถูกบริษัทนายจ้างสั่งให้ออกจากงาน แม้ต่อมาโจทก์จะได้กลับไปทำงานขับรถส่งเอกสารอีก แต่ก็ไม่สามารถขับไปส่งในระยะไกล ๆ ได้ดังเดิม ทำให้รายได้โจทก์ลดลงจากเดิมเดือนละ 15,000 บาท เหลือเพียง 8,000 บาท อันถือได้ว่า เป็นการเสียความสามารถประกอบการงานแต่บางส่วนที่คิดเป็นเงินได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 444 วรรคหนึ่ง และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกันดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา ส่วนจำนวนค่าเสียหายโจทก์ควรจะได้เท่าใดนั้น เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2527/2553  กรมพิธีการทูตจำเลยที่ 2 ปล่อยปละละเลย ย่อหย่อน ไม่ควบคุมการใช้รถให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ จนจำเลยที่ 1 เคยนำรถไปจอดค้างคืนที่บ้านของตนเอง รวมทั้งสามารถนำรถออกไปใช้ในกิจธุระส่วนตัวโดยพลการทั้งที่ขัดต่อระเบียบกฎเกณฑ์การใช้รถราชการ เข้าลักษณะที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้รถอันเป็นหน้าที่ของพนักงานขับรถได้แม้เป็นเวลานอกราชการการ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปเฉี่ยวชนจนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บโดยประมาท จึงถือได้ว่าเป็นผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
          โจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกติโดยหลังเกิดเหตุภายหลังการรักษาทำให้ขาข้างขวาสั้นกว่าขาข้างซ้าย ถือว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับชดใช้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2546 เวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ษ - 9204 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน นธว กรุงเทพมหานคร 836 ซึ่งมีนาย ว. เป็นผู้ขับ และมีโจทก์นั่งซ้อนท้ายที่บริเวณถนนซอยเทศบาลสำโรงใต้ 11 (ซอยร่มประดู่) ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเหตุให้โจทก์รับอันตรายสาหัส
          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นประการต่อไปว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด สำหรับปัญหานี้จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์นั้นสูงเกินไป เห็นว่า ในส่วนค่ารักษาพยาบาลโจทก์นำสืบโดยมีใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 มาแสดง ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าใบเสร็จรับเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร หรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นกรณีจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงินรวม 61,677 บาท ในส่วนค่าขาดประโยชน์ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า หลังจากโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ขับรถเฉี่ยวชนต้องพักรักษาตัวและกว่าจะเดินได้ต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน การที่โจทก์ต้องพักรักษาตัวดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำงาน ซึ่งได้ความว่าก่อนเกิดเหตุโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท น. จำกัด ได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นเงิน 10,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ในส่วนค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า ในการรักษาอาการอันเกิดจากกระดูกต้นขาขวาของโจทก์หักนั้นจะต้องใช้เหล็กดามกระดูกไว้ ซึ่งการใช้เหล็กดามกระดูกดังกล่าวแม้จะได้ความจากพยานจำเลยที่ 2 ปากนายแพทย์ ส. แพทย์ผู้ตรวจรักษาโจทก์ว่า เมื่อบาดแผลหายแล้ว หากไม่เกิดผลข้างเคียงก็ไม่จำต้องผ่าเอาหล็กที่ดามกระดูกออกก็ตาม แต่การจะผ่าตัดเหล็กที่ดามไว้ซึ่งถือได้ว่าเป็นของแปลกปลอมอย่างหนึ่งในร่างกายออกหรือไม่ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ และย่อมเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนว่าในอนาคตเหล็กที่ดามไว้จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ สำหรับจำนวนค่าเสียหายในส่วนนี้นั้น ก็ได้ความจากนายแพทย์ ส. เบิกความว่า หากไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชนต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินจำนวน 30,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว สำหรับค่าเสียหายอันเนื่องจากโจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกตินั้น โจทก์เบิกความว่า ภายหลังการตรวจรักษาโจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกติโดยหลังเกิดเหตุภายหลังการรักษาทำให้ขาข้างขวาสั้นกว่าขาข้างซ้าย ข้อนี้แม้นายแพทย์ ส. พยานจำเลยที่ 2 เบิกความว่าการรักษากระดูกนั้นหากกระดูดติดดีและมีการฟื้นฟูสมรรถนะกล้ามเนื้อดีจะเดินได้อย่างคนปกติ เห็นว่า นายแพทย์ ส. เบิกความถึงกรณีผ่าตัดนำเหล็กดามกระดูกออกว่าไม่จำเป็น แต่อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากโลหะดามหัก หลวมหรือทำอันตรายเนื้อเยื่อข้างเคียงนั้น ทำให้เห็นได้ว่าการรักษาอาการของโจทก์ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ และต้องขึ้นอยู่กับการฟื้นฟูสมรรถนะกล้ามเนื้อด้วย ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าโจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกติอันเป็นความเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552   จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามด้วยตนเอง แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามจากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้แก่โจทก์เพื่อทำการรักษาก็ตาม ก็มิใช่วิสัยของบุคคลผู้มีวิชาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำไม่ ทั้งห้องแพทย์เวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร ไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเองแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ เมื่อพยาบาลฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการ หลังจากนั้นโจทก์มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอาการเช่นว่านั้นมาก่อน อาการแพ้ยาดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
          ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษา หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรแห่งวิชาชีพแพทย์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายโจทก์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำละเมิด จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ได้
          ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงาม ถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ซึ่งโจทก์จึงมีสิทธิเรียกได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ประกอบอาชีพด้วยหรือไม่


          ต้องเสียความสามารถในการมองเห็น เนื่องจากต้องสูญเสียตาข้างซ้ายทำให้ไม่สามารถมองภาพได้ละเอียดและกว้างเท่าคนปกติถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 446
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2552  เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อผู้เยาว์อันมีผลให้ผู้เยาว์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่ผู้เยาว์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมก็ชอบที่จะต้องขอนุญาตศาลเสียก่อน เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่บังคับไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 1574(12) เมื่อ ช.บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์กับจำเลยได้ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลของโจทก์กับของ ช. โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาจากจำเลยอีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ ช.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตามลำพัง โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงไม่ระงับไป
          เมื่อโจทก์ต้องเสียความสามารถในการมองเห็น เนื่องจากโจทก์เสียตาข้างซ้ายทำให้ไม่สามารถมองภาพได้ละเอียดและกว้างเท่าคนปกติถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 446 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ.ผู้ทำละเมิดจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว หาใช่ต้องกำหนดเป็นค่ารักษาพยาบาลไม่ และค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสื่อมสุขภาพอนามัย ต้องเสียโฉม ได้รับความเจ็บปวดทรมานเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 446 วรรคหนึ่ง

          ต้องทุกข์ทรมานจากการผ่าตัด ถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3913/2548  โจทก์ทั้งสองฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในทางการที่จ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้น ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2), 1087
          การกำหนดค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ต้องวินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 อายุ 14 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งต่อไปย่อมสามารถประกอบอาชีพการงานมีรายได้เช่นคนปกติทั่วไป หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 มีอาการไม่รู้สึกตัวสมองบวม กะโหลกศีรษะยุบ เลือดออกใต้หนังศีรษะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดกะโหลก ต้องใช้เวลารักษานานอาจเป็นปี หลังผ่าตัดแล้วโจทก์ที่ 1 ยังมีอาการสมองไม่รับรู้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พูดไม่ได้ ต้องจ้างผู้ดูแลตลอดเวลาทั้งไม่ปรากฏว่าจะสามารถรักษาให้โจทก์ที่ 1 หายเป็นปกติไว้ ปัจจุบันโจทก์ที่ 1 ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้เช่นนี้ ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 สูญเสียความสามารถที่จะประกอบอาชีพต่อไปได้โดยสิ้นเชิง โจทก์ที่ 1 จึงได้รับความเสียหาย โดยไม่คำนึงว่าจะต้องมีอาชีพแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 ต้องทุกข์ทรมานจากการผ่าตัดและทุพลภาพไม่สามารถช่วยตัวเองได้ไปตลอดชีวิต ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เสียความสามารถในการประกอบการงานเป็นเงิน 500,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินเป็นเงิน 500,000 บาท เหมาะสมแล้ว

          ต้องทุพพลภาพไปตลอดชีวิต เป็นความเสียหายอันเป็นที่มาของความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัสที่บังเกิดขึ้น ถือเป็นความเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303/2547  การที่เด็กชาย ก. ต้องเป็นคนพิการ ไม่สามารถเดินและขับถ่ายได้ตามปกติ ถือได้ว่าเด็กชาย ก. ต้องสูญเสียความสามารถประกอบการงานในภายหน้าและทำลายความก้าวหน้าไปตลอดชีวิต โดยความเสียหายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติก็คือ ความเสียหายที่ไม่สามารถประกอบการงานได้สิ้นเชิงทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต เมื่อผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้เด็กชาย ก. ต้องทุพพลภาพไปตลอดชีวิต โจทก์ทั้งสองจึงเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 444 วรรคหนึ่ง และความทุพพลภาพที่เกิดขึ้นนี้ยังเข้ากรณีเป็นความเสียหายอันเป็นที่มาของความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัสที่บังเกิดขึ้นกับเด็กชาย ก. ในขณะที่มีอายุเพียง 6 ปี เท่านั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 ด้วย ค่าเสียหายดังกล่าวไม่ซ้ำซ้อนกันและไม่เป็นค่าเสียหายอย่างเดียวกัน

          ความเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน กฎหมายให้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5751/2544  การรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 9 มีหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางตามที่ตกลงไว้กับผู้โดยสาร เมื่อไม่สามารถส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นต่อไปได้ เพราะมีรถไฟตกรางอยู่ข้างหน้า จำเลยที่ 9 ย่อมมีหน้าที่จัดหายานพาหนะอื่นขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง อันเป็นการรับขนส่งผู้โดยสารตาม ป.พ.พ. มาตรา 608, 609 และ พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 9 (7) จำเลยที่ 9 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งโดยสารทางรถยนต์รับขนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถไฟของจำเลยที่ 9 ที่ปรากฏแก่โจทก์ทั้งสองและบุคคลภายนอกซึ่งไปมาระหว่างสถานีรถไฟ ล. กับสถานีรถไฟ ค. จึงเป็นการทำแทนจำเลยที่ 9 นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 9 กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 จึงอยู่ในฐานะตัวการและตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 
          ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 หมายความว่า ความเสียหายอันไม่อาจคิดคำนวณเป็นเงินได้ แต่ความเสียหายเช่นว่านี้ต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิด จำเป็นต้องเยียวยาหรือทดแทนความเสียหายให้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีความเสียหายมากยิ่งกว่าความเสียหายต่อร่างกายอีกด้วย ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาระหว่างการรักษาพยาบาล หรือต้องทุพพลภาพพิการต่อไป ความเสียหายเช่นว่านี้กฎหมายให้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด เพราะค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินย่อมจะนำสืบคิดเป็นจำนวนเงินเท่าใดไม่ได้อยู่ในตัว เมื่อพิจารณาจากสภาพทางร่างกายและอาการของโจทก์ ซึ่งต้องผ่าตัดและเข้าเฝือกหลายครั้ง ต้องรับการรักษาเป็นเวลานานร่วม 3 ปี และต้องทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวดของ บาดแผลในระหว่างการรักษาอันเป็นเวลานาน ยิ่งกว่านั้นสภาพแขนซ้ายของโจทก์ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิต ทั้งเสียบุคลิกภาพเนื่องจากผลของการผ่าตัดทำให้แขนซ้ายสั้นกว่าแขนขวาดังนี้ถือว่าเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน  ที่โจทก์ชอบจะเรียกร้องได้

          ต้องเสียบุคลิกภาพ ใบหน้าเสียโฉม เนื่องจากหนังตาแหว่งเห็นตาขาวมากกว่าปกติ ย่อมเป็นความทุกข์ทรมานที่โจทก์รู้สึกได้อยู่ตลอดเวลาตราบจนความเสียโฉมดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข ถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2544  โจทก์เป็นหญิง รับราชการเป็นอาจารย์ โดยตำแหน่งหน้าที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก แต่ต้องเสียบุคลิกภาพ ใบหน้าเสียโฉม เนื่องจากหนังตาแหว่งเห็นตาขาวมากกว่าปกติ ย่อมเป็นความทุกข์ทรมานที่โจทก์รู้สึกได้อยู่ตลอดเวลาตราบจนความเสียโฉมดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข ค่าที่โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานกับค่าที่โจทก์ต้องสูญเสียบุคลิกภาพตั้งแต่จำเลยผ่าตัดโจทก์จนโจทก์ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446 วรรคแรก


ความรับผิดทางละเมิด จากความเสียหายซึ่งเกิดจากทรัพย์อันตราย

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา 437 วรรคสอง "ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตนซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย"

          ความเสียหายอันเกิดจากทรัพย์อันตราย  มี 3 ชนิด ได้แก่
          (1) ทรัพย์อันตรายโดยสภาพ
          (2) ทรัพย์อันตรายโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ และ
          (3) ทรัพย์อันตรายโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้น

          ทรัพย์อันตรายโดยสภาพ ตัวทรัพย์นั้นเองเกิดอันตรายได้ เช่น ดินปืน น้ำมันเบนซิน ลูกระเบิด กระแสไฟฟ้า เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1919/2523  จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากันเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ ซึ่งจำเลยขึงสายทองแดงเปลือยปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้รอบบ้าน แล้วไม่ดูแลให้สายไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ในสภาพเรียบร้อยเป็นเหตุให้สายไฟฟ้าตกลงมาพาดรั้ว ผู้ตายไปยืนปัสสาวะริมรั้วจึงถูกกระแสไฟฟ้าดูดถึงแก่ความตายดังนี้ จำเลยได้ชื่อว่าเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ จะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ไฟฟ้านั้น ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นแต่เพียงผู้ดูแลบ้านเท่านั้น แม้จะเป็นผู้ว่าจ้างให้ช่างไฟฟ้ามาเดินสายไฟดังกล่าวก็ไม่ใช่ผู้ครอบครองไฟฟ้านั้น จึงไม่ต้องรับผิด



          ทรัพย์อันตรายโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ คือ ตัวทรัพย์โดยลำพังไม่อันตราย ต้องนำมาใช้ก่อนจึงจะก่อให้เกิดอันตราย เช่น มีด ปืน เป็นต้น

          ทรัพย์อันตรายโดยอาการกลไกของทรัพย์ คือ ตัวทรัพย์มีอาการกลไกหรือเครื่องจักรกลในการทำงาน เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องจักรกลในโรงงาน

          ผู้รับผิดตามมาตรา 437 วรรคสอง คือ ผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งทรัพย์อันตรายนั้น ทั้งนี้ ผู้ครอบครองอาจจะเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ได้ ผู้ครอบครองในที่นี้ต้องเป็นผู้ครอบครองตามข้อเท็จจริงว่าขณะเกิดเหตุมีใครครอบครองหรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3734/2531  ข้อบังคับการบริการและใช้ไฟฟ้าระบุว่า สายและอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งต่อจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ามายังสถานที่ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าต้องดูแลรับผิดชอบเอง เมื่อปรากฏว่าการไฟฟ้านครหลวง จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดตั้งสายไฟฟ้ามาบรรจบสายที่ตู้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 เท่านั้น และขณะเกิดเหตุ สายไฟฟ้าที่ต่อจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าซึ่งติดกับเสาไฟฟ้าส่วนที่ใกล้ขอบชายคาโทรศัพท์ชำรุดเป็นเหตุให้เกิดกระแสไฟฟ้ารั่วผ่านตู้โทรศัพท์ลงน้ำเป็นเหตุให้ ป. ถึงแก่ความตาย เช่นนี้ ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองสายไฟฟ้าที่ชำรุดดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดแต่ผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 และมาตรา 437 วรรค 2 โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

          เหตุยกเว้นความรับผิด ตามมาตรา 437 วรรคสอง กำหนดเหตุยกเว้นความรับผิดอยู่ 2 กรณีเหมือนกับวรรคหนึ่ง คือ จะต้องเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากความผิดของผู้เสียหายเอง ซึ่งภาระการพิสูจน์ก็ตกอยู่กับผู้ครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3354/2524  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเลยผู้ครอบครองต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่กระแสไฟฟ้าที่จำเลยจัดให้มีขึ้นเพื่อจำหน่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง จำเลยนำสืบว่าผู้ตายคงขึ้นไปนั่งบนผนังกันตกที่ดาดฟ้าแล้วเสียหลักมือจึงไปถูกสายไฟฟ้าเข้า ดังนี้ ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าเหตุเกิดเพราะความผิดของผู้ตายเองดังจำเลยอ้าง
          การเดินสายไฟฟ้าแรงสูงซึ่งเป็นสายเปลือยผ่านอาคารที่เกิดเหตุในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง หากจำเลยจัดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสายไฟฟ้าดังกล่าวให้ถูกต้องตามวิธีการที่กำหนดไว้ ก็อาจป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากสายไฟฟ้านั้นได้ จึงอยู่ในวิสัยของจำเลยที่จะป้องกันได้ อันตรายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ตายจึงถือไม่ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 179/2522  กระแสไฟฟ้าที่จำเลยจัดให้มีขึ้นเพื่อจำหน่ายเป็นของที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพ ผู้ครอบครองต้องรับผิดถ้าเกิดความเสียหายขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง เมื่อจำเลยยอมรับว่าเสาไฟที่หักเป็นทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย จำเลยจะพ้นผิดก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดของโจทก์ผู้เสียหายเองหรือเกิดจากเหตุสุดวิสัย
          ข้อเท็จจริงได้ความว่าเสาไฟที่หักเป็นเสาไม้เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 คืบขึงสายไฟแรงสูง 10,000 โวลท์ 3 เส้นบนหัวเสา ปักอยู่ในทุ่งหญ้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ทุกปีจะมีไฟไหม้ทุ่งหญ้า เสาไฟต้นที่ปักถัดไปเคยถูกไฟไหม้หักมาแล้ว หญ้าในทุ่งเต็มมาถึงโคนเสาไฟ ไม่เคยมีใครเข้าไปถางหญ้าโคนเสา ไฟไหม้หญ้าเป็นทางมาถึงโคนเสาที่หัก เช่นนี้ เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยควรรู้ได้เป็นอย่างดีว่าบริเวณนั้นมีไฟไหม้หญ้ามาติดเสาไฟซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว ถ้าใช้ความระมัดระวังไม่ปล่อยให้มีหญ้าขึ้นอยู่เต็มที่โคนเสาไฟก็อาจป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก จึงอยู่ในวิสัยที่จำเลยจะป้องกันได้ อันตรายที่เกิดขึ้นถือไม่ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่พ้นความรับผิด
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 529/2523  กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเกิดอันตรายได้โดยสภาพ ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเลยผู้ผลิตและจำหน่ายเป็นผู้มีไว้ในครอบครองจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 การที่กระแสไฟฟ้าลัดวงจรไหม้ทรัพย์สินของโจทก์เพราะเหตุที่ต้นมะพร้าวอยู่ใกล้ชิดกับแนวสายไฟฟ้าเป็นเหตุให้ทางมะพร้าวพาดไปถูกสายไฟฟ้าเมื่อมีลมพัด มิใช่เหตุสุดวิสัยเพราะจำเลยอาจป้องกันได้ถ้าตัดต้นมะพร้าวหรือแจ้งให้โจทก์ตัดอันเป็นหน้าที่จำเลย แต่โจทก์ไม่สนใจตัดต้นมะพร้าวในที่ดินที่โจทก์เช่าหรือแจ้งให้จำเลยตัดถือได้ว่าโจทก์มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงควรรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพียงครึ่งหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2538  กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ เมื่อกระแสไฟฟ้าลัดวงจรเกิดขึ้นที่บ้านของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้มีไว้ในครอบครองของตนซึ่งกระแสไฟฟ้าดังกล่าวและต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่กระแสไฟฟ้าลัดวงจร เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 วรรคสอง จำเลยทั้งสองนำสืบเพียงว่าจำเลยทั้งสองดูแลรักษาสายไฟฟ้าภายในบ้านให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยอยู่เสมอและเพิ่งเปลี่ยนสายไฟฟ้าภายในบ้านใหม่ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในบ้านของจำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อและไฟฟ้าลัดวงจรเกิดขึ้นได้อย่างไรไม่ทราบ ดังนี้ ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองแสดงไม่ได้เลยว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 883/2518  ผู้ครอบครองดูแลสถานที่เก็บรถยนต์ย่อมรวมถึงสายไฟฟ้าในบริเวณสถานที่นั้น ซึ่งต่อออกมาจากบ้านพักไปยังกริ่งสำหรับบ้านพักด้วย เด็กปีนรั้วเก็บดอกรักถูกสายไฟฟ้าเปลือยตกลงมาทับสายไฟฟ้าตาย ไม่มีร่องรอยที่เด็กในวัยนั้นจะคาดคิดว่าจะมีสายไฟฟ้าเปลือยพาดอยู่ไม่เป็นความผิดของเด็ก ผู้ครอบครองสายไฟฟ้าต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 437



บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดิน กฎหมายให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง


          ป.พ.พ. มาตรา 1373  "ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง"

          ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นให้ถือตามความเป็นจริง กล่าวคือ บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน บุคคลนั้นย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครอง ตามมาตรา 1367  บุคคลผู้ที่มีสิทธิครอบครองที่แท้จริงอาจจะเป็นบุคคลอื่น ไม่ใช่บุคคลที่มีชื่อในเอกสารเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6142/2544  โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่มีเอกสาร ภ.บ.ท. 5 แต่ยังไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่โจทก์นำเจ้าหน้าที่ที่ดินเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อรังวัดและนำเสาซีเมนต์ไปปักไว้ 2 ต้น ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนการเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทไม่ใช่หลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทหรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท นอกจากนี้ภริยาโจทก์ซึ่งลงชื่อเป็นผู้ซื้อที่ดินก็ไม่เคยเข้าไปดูแลหรือเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมอบหมายให้โจทก์ไปดูแลแทนหรือกระทำแทนเท่านั้น เช่นนี้โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1476/2561  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ หาใช่เป็นการครอบครองที่ดินผิดแปลง แม้การให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับพระภิกษุ ป. ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่เมื่อ ส. สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุ ป. การครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลง พระภิกษุ ป. ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 และแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพระภิกษุ ป. กับโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อพระภิกษุ ป. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสละการครอบครองและส่งมอบที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ค. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่มรดกของ ส. ให้แก่ ป. ป. ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตามความจริง จึงไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้การขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง


          แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ตามมาตรา 1373 ซึ่งทะเบียนที่ดินตามมาตรานี้ หมายความถึง ทะเบียนที่ดินที่เป็นโฉนดและทะเบียนที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง เช่น น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3565/2538  ที่ดินตาม น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. เป็นที่ดินที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินของสำนักงานที่ดินอำเภอ จึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนที่ดินดังนั้นข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่า อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนนั้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองย่อมรวมถึงที่ดินที่มี น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. ด้วย

          สำหรับที่ดินมือเปล่าที่มีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หรือที่ดินที่มีเอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) นั้น ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนที่ดินตามความหมายในมาตรา 1373 จึงไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7324/2556  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) ออกโดยส่วนจัดนิคมสหกรณ์ในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดินพิพาทดังกล่าวมีหนังสือแสดงการทำประโยชน์เป็นหลักฐาน จึงมิใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินของสำนักงานที่ดินอำเภอหรือจังหวัดในกรมที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครอง ที่ดินที่มีหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) เป็นหลักฐานจึงถือได้ว่าเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีหลักฐานอื่น ๆ เช่นเดียวกับที่ดินที่มีแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ใบไต่สวน หรือหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่เป็นหลักฐานแสดงสิทธิ ซึ่งล้วนแต่ไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2551  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) แต่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานที่รับฟังได้แต่เพียงว่า ขณะแจ้งการครอบครองผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้งที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หาใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินตามนัยที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1373 อันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่อย่างใดไม่ จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ว่า จำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน จึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4622/2550  ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) แต่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานที่รับฟังได้แต่เพียงว่าขณะแจ้งการครอบครองผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้ง ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หาใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินตามนัยที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1373 อันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่อย่างใดไม่ จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน จึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว
          การที่จำเลยนำสืบว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์และ ถ. มิใช่เป็นการนำสืบว่าจำเลยแย่งการครอบครอง และแม้ว่าคำให้การของจำเลยจะไม่มีประเด็นนำสืบว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์และ ถ. เนื่องจากจำเลยมิได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทได้อย่างไรก็ตาม แต่การที่จำเลยให้การว่าจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น เท่ากับเป็นการให้การปฏิเสธว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทตามฟ้อง โจทก์จึงต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง เมื่อโจทก์นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ให้รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมิได้ยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน (เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้)จึงต้องฟังว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน และได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367
 
          เมื่อสิทธิครอบครองในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นให้ถือตามความเป็นจริง ตามมาตรา 1367 แต่มีกฎหมายมาตรา 1373 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดินเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนั้น หากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดินกล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง บุคคลนั้นก็สามารถนำสืบพยานหลักฐานมาหักล้างข้อสันนิษฐานทางกฎหมายดังกล่าวได้ หาใช่ว่าจำต้องถือตามข้อสันนิษฐานทางกฎหมายดังกล่าวเสมอไปไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2561  จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชน ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเพราะเป็นผู้รักษาทรัพย์มรดกไว้แทนโจทก์ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2560  แม้โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ส่วนฝ่ายจำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ก็ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเช่นกัน แต่มาตรา 1367 เป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครอง จึงต้องบังคับตามมาตรา 1373 ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9456/2558  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ก็บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร ที่ดินตามโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน และโฉนดที่ดินกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นเอกสารมหาชน จึงได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างและนำสืบว่า โฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามฟ้องออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องมีภาระพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามข้อกฎหมายดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6913-6916/2550  จำเลยที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ส่วนการที่โจทก์ทั้งสามได้จัดการออก น.ส.3 ในที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ทั้งสามก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3 ก็ได้สิทธิครอบครองแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5487/2550  แม้รายการในสารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดินพิพาทจะเป็นเอกสารมหาชนก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะให้รับฟังตามนั้น โจทก์สามารถนำพยานเข้าสืบหักล้างได้ว่าความจริงเป็นเช่นใด ซึ่งเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ พ. นั้นจึงหาฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 94 แห่ง ป.วิ.พ. ไม่


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3760/2545  หลังจากตั้งวัดโจทก์ขึ้นแล้ว มีการตั้งโรงเรียนขึ้นโดยยืมศาลาวัดสร้างเป็นโรงเรียนอยู่ 10 ปี จึงสร้างโรงเรียนในที่ดินของวัดด้วยความยินยอมของโจทก์ แต่เมื่อวัดโจทก์ย้ายออกไปแล้ว โจทก์มิได้สละสิทธิในที่ดินพิพาทยังคงนำที่ดินออกหาผลประโยชน์ตลอดมา การที่โจทก์ยอมให้ทางราชการใช้ที่ดินพิพาทเป็นโรงเรียนหาใช่เป็นการยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยไม่ เมื่อที่ดินพิพาทมีผู้ยกให้เพื่อสร้างวัด ซึ่งต่อมาก็มีการสร้างวัดขึ้นตามเจตนาของผู้ยกให้ ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่วัดและเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 40(1) และ (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น โดยที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น การที่มีผู้นำที่ดินพิพาทไปออก น.ส. 3 ก. เป็นชื่อจำเลยและต่อมาถูกเปลี่ยนแปลงขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ดินพิพาทยังคงสภาพเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์อยู่เช่นเดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9326-9327/2544  น. นำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยทั้งสามไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในนามของ น. เป็นเพียงการมีชื่อถือสิทธิครอบครองหนังสือรับรองการทำประโยชน์แทนจำเลยทั้งสามเท่านั้น เมื่อ น. ถึงแก่กรรม ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของ น. การที่เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนใส่ชื่อ ส. สามีของโจทก์ลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์  ในฐานะที่ ส. เป็นทายาทของ น. โดยที่ ส. ไม่มีสิทธิ  ก็ไม่ทำให้ ส. ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นของจำเลยทั้งสามตลอดมา แม้ต่อมาจำเลยทั้งสามทำหนังสือสัญญาตกลงแบ่งแยกที่ดินด้านทิศตะวันออกของถนนขอนแก่น - มัญจาคีรี ให้เป็นของจำเลยที่ 2 กับ ส. สามีของโจทก์ร่วมกัน สัญญาดังกล่าวก็มิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะ ส. สามีของโจทก์กับจำเลยทั้งสามมิได้มีข้อพิพาทกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ น. ในขณะทำสัญญาหรือจะมีขึ้นในภายหน้า หากแต่เป็นสัญญาให้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ มิได้มีการส่งมอบการครอบครอง แม้จำเลยทั้งสามจะทำเป็นหนังสือสัญญาตกลงแบ่งแยกที่ดินไว้ แต่ก็มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การยกให้จึงไม่สมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2541  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า ความเป็นเจ้าของต้องพิจารณาจากแนวเขตที่ดินที่ทั้งสองฝ่ายยึดถือครอบครอง น.ส.3 ก.ของจำเลยเป็นเพียงคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้วเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในที่ดินส่วนที่มิได้ยึดถือครอบครอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิในที่ดิน น.ส.3 ก.ด้านทิศตะวันออกที่อยู่นอกเขตการยึดถือครอบครองของฝ่ายจำเลย และเมื่อโจทก์และจำเลยต่างครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของตน ดังนี้ ที่ดินตาม น.ส.3 ก. ในส่วนที่จำเลยมิได้ยึดถือครอบครองจึงเป็นที่ดินของโจทก์ จำเลยคงเป็นเจ้าของที่ดินเฉพาะส่วนที่จำเลยยึดถือครอบครองในกรอบเส้นสีดำประในแผนที่พิพาท ศาลจึงชอบที่จะพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 ที่พิพาทในกรอบเส้นสีแดงดำในแผนที่พิพาท เว้นแต่ที่ดินในกรอบเส้นสีดำประ และให้เพิกถอน น.ส.3 ก.ของจำเลยด้านทิศตะวันออกเฉพาะส่วนที่โจทก์ครอบครองที่ดิน กับห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์
         
          ข้อเท็จจริงว่าใครเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน เพราะหากผู้ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินมิใช่ผู้มีสิทธิครอบครองแล้วย่อมมีผลให้การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจถูกเพิกถอนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8551/2550  โจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท การที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของจำเลยบางส่วนออกทับที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ครอบครองอยู่ ก็มีผลให้จำเลยยังได้รับคำรับรองของทางราชการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 ทวิ และได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายในฐานที่มีชื่อในทะเบียนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ดังนั้น สิทธิของจำเลยที่ได้รับตามกฎหมายจึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดิน (น.ส.3 ก.) ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองให้แก่โจทก์มาด้วยนั้น พอแปลได้ว่าเป็นคำขอให้เพิกถอนชื่อของจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะส่วนที่ดินที่ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาเพิกถอนชื่อของจำเลยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในส่วนที่ทับที่ดินพิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2548  การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 24285 ถึง 24289 ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป ทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งต้องอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24285 ของจำเลยล้ำเข้าไปอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ของโจทก์ โจทก์มีเจตนาซื้ออาคารเลขที่ 56/56 และที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าวโดยไม่รวมถึงที่ดินพิพาท โดยโจทก์ได้ใช้ผนังด้านข้างของอาคารเลขที่ 56/56 กับรั้วที่สร้างต่อจากแนวผนังด้านข้างของอาคารกั้นระหว่างอาคารเลขที่ 56/56 กับที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยปลูกต้นไม้ประดับไว้ โจทก์จดทะเบียนรับโอนอาคารและที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารโดยไม่มีเจตนาซื้อที่ดินพิพาท ทั้งไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อน จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลย 
          การได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และที่ดินที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ คดีนี้โจทก์จดทะเบียนรับโอนอาคารและที่ดินโฉนดเลขที่ 24286 โดยไม่มีเจตนาซื้อที่ดินรวมไปถึงที่ดินพิพาท จำเลยจดทะเบียนรับโอนที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทและจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา แต่การออกโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามเจตนาของผู้ขอออกโฉนดที่ดินทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งต้องอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24285 กลับไปอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ของโจทก์ ดังนี้ โจทก์จะอ้างสิทธิใดๆในที่ดินพิพาทโดยอาศัยการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ซึ่งคลาดเคลื่อนไปหาได้ไม่ 
          โฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ของโจทก์ ซึ่งรุกล้ำที่ดินพิพาทของจำเลยออกโดยคลาดเคลื่อน ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ออกโดยคลาดเคลื่อนนั้นได้ ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 61 แม้จำเลยจะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอนก็ตาม เนื่องจาก มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติรองรับว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด และเมื่อความในมาตรา 61 วรรคแปด ดังกล่าวบัญญัติถึงกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินโดยกำหนดวิธีการให้เจ้าพนักงานที่ดินต้องดำเนินการตามคำพิพากษานั้นอย่างไร ซึ่งจำเลยสามารถนำคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปดำเนินการให้ได้รับผลตามคำพิพากษาได้ จึงไม่จำต้องอาศัยคำพิพากษาบังคับโจทก์ให้ไปดำเนินการขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินอีก 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2546  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอน ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ คำพิพากษาที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท มิใช่เป็นการบังคับผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่เป็นการบังคับเฉพาะคู่ความในคดีนี้เท่านั้น ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้          



          แม้จะมีชื่อในทะเบียนที่ดิน แต่ถ้าความจริงแล้วไม่ใช่เจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครอง ก็ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินนั้น เช่น ไม่มีสิทธินำไปขาย นำไปยกให้ หรือไม่มีสิทธินำไปจำนองกับบุคคลอื่นต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001-4002/2548  จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ที่ 1 แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยยอมให้โจทก์ที่ 1 เข้าครอบครองที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทนับเป็นการสละเจตนาครอบครองและไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไป การที่โจทก์ที่ 1 ครอบครองต่อมาและชำระภาษีบำรุงท้องที่มาตลอดจึงเป็นการยึดถือโดยเจตนาจะยึดเพื่อตน โจทก์ที่ 1 ย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะทำนิติกรรมจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว แม้จะมีชื่อจำเลยที่ 2 ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้รับโอน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2546  การที่จำเลยซื้อที่ดินซึ่งเกิดที่งอกริมตลิ่ง จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ส่วนที่เกิดที่งอกด้วยโดยผลของกฎหมาย ส่วนเจ้าของที่ดินเดิมพ้นจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดที่เคยมีอยู่ แม้ว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิมจะได้ขอออกโฉนดในที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกไว้และต่อมาได้รับโฉนดในภายหลังแล้วโอนขายให้โจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่าผู้โอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5479/2543 (ประชุมใหญ่)  โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แปลงหนึ่งมี น.ส.3 อีกแปลงหนึ่งไม่มีหนังสือเอกสารสิทธิ โดยได้มาจากการให้ต่างตอบแทนจาก ป. และจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้เงินยืม โจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครอง โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1367 ส่วนจำเลยที่ 1 ก็หมดสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวตามมาตรา 1378 การที่จำเลยที่ 1 ยังคงมีชื่อใน น.ส.3 มีผลให้จำเลยที่ 1 ยังได้รับคำรับรองของทางราชการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตาม ป.ที่ดินมาตรา 4 ทวิ และจำเลยที่ 1 ยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายในฐานะที่มีชื่อในทะเบียนที่ดินว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1373 สิทธิของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับตามกฎหมายจึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ตามความเป็นจริงโดยตรง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนชื่อของจำเลยที่ 1 ออกจาก น.ส.3 ได้ กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการโต้แย้งตัวทรัพย์ คือ ที่ดินที่ครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองตามน.ส.3 ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยกระทำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยที่ 2 ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวตาม น.ส.3 ซึ่งไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิครอบครองของโจทก์โดยตรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2552  ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าจากนาย ค. และนาง บ. ผู้เป็นเจ้าของ เมื่อนาย ค.และนาง บ. สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง และผู้ร้องเข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนแล้ว การครอบครองที่ดินพิพาทของนาย ค. และนาง บ. จึงสิ้นสุดลง ผู้ร้องย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367, 1377 และ 1378 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของผู้ร้อง เมื่อนาย ค. และนาง บ. ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทแล้ว ดังนี้ นาง ท. ผู้เป็นทายาทของนาย ค.กับนาง บ. จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นของตน และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้รับโอน ก็ไม่ทำให้จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยหามีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่โจทก์ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 การจำนองจึงไม่มีผล โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่ เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในส่วนที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จะอ้างสิทธิที่เกิดจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8160/2551   จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ได้นำไปจดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 ทวิ แต่จำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายแล้ว ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา เมื่อจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทอีกต่อไป จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นของตนและไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 เพราะผู้ที่จะจำนองทรัพย์สินได้ต้องเป็นเจ้าของในขณะนั้น การจำนองจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่ เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นั้นต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิที่เกิดจากโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ส่วนคำขอของโจทก์ที่ว่าให้จำเลยที่ 1 จดเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนจากจำเลยที่ 1 มาเป็นชื่อโจทก์นั้น เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดโดยไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น โจทก์จะขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบหาได้ไม่ เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินเองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ใน ป. ที่ดิน

          ผู้ที่กล่าวอ้างว่าที่ดินมิใช่เป็นของบุคคลที่มีชื่อปรากฎในโฉนด ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2565 ที่ดินที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารทางราชการที่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในทะเบียนที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 127 บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนําสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ดังนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อจําเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน เนื่องจากโจทก์ออกอุบายให้จําเลยยกที่ดินเฉพาะส่วนของจําเลยให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้บุคคลภายนอกฟ้องบังคับชําระหนี้เอาจากจําเลย เท่ากับจําเลยให้การและฟ้องแย้งต่อสู้ว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์และโจทก์ร่วม แต่เป็นสินสมรสของจําเลยและโจทก์ร่วม จําเลยจึงมีหน้าที่นําสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 และมาตรา 127





สิทธิในการรับมรดกบิดาของบุตรนอกสมรส

 

          บุตรนอกสมรสหรือบุตรนอกกฎหมาย ซึ่งเกิดจากหญิงผู้เป็นมารดาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับชายผู้เป็นบิดา แม้กฎหมายถือว่าเด็กที่เกิดมานั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงผู้เป็นมารดา (ป.พ.พ.มาตรา 1546) แต่ก็ไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา เว้นแต่บิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร (ป.พ.พ.มาตรา 1547) 

          อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเป็นบุตรนอกสมรสหรือบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรอง(โดยพฤติการณ์)แล้ว  กฎหมายให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิในกองมรดกของบิดาเท่าๆกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (ป.พ.พ.มาตรา 1627) ทุกประการ รวมถึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดานั้นด้วย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2538  ม. และโจทก์ที่ 1 ได้แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรโดยให้ความอุปการะเลี้ยงดูให้ใช้นามสกุลเดียวกันเป็นพฤติการณ์ที่รู้กันโดยทั่วไปตลอดมาว่าโจทก์ที่ 1 เป็นบุตรโจทก์ที่ 1 จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ ม. แต่เมื่อ ม. ซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกตายไปก่อนเจ้ามรดก โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่ ม. ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1312/2537  ผู้ตายได้แสดงออกกับชาวบ้านในละแวกนั้นว่า นาย ต. เป็นบุตรของผู้ตายและพักอาศัยอยู่ด้วยกันกับผู้ตาย และให้ใช้นามสกุลของผู้ตายด้วย เมื่อครั้นนาย ต. แต่งงานกับมารดาของผู้คัดค้านก็ได้มาอยู่กินกันที่บ้านของผู้ตายตลอดจนผู้คัดค้านเกิด ผู้ตายก็แสดงออกว่าผู้คัดค้านเป็นหลานของผู้ตาย จึงฟังได้ว่านาย ต.เป็นบุตรของผู้ตายซึ่งผู้ตายได้รับรองแล้ว จึงมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย เมื่อนาย ต. ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายแทนที่นาย ต.

          เมื่อบิดาเสียชีวิตและยังมีทายาทซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้แสดงการรับรองไว้แล้วนั้น ย่อมมีผลทำให้ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดไปหลังจากนั้น ยกเว้นบิดามารดาของเจ้ามรดก หมดสิทธิในกองมรดกของเจ้ามรดก (ป.พ.พ.มาตรา 1629)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5764/2537  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับแต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังอันดับที่ 1 คือผู้สืบสันดานซึ่งตามมาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2231/2537  ผู้ตายแนะนำผู้คัดค้านที่ 1 ต่อบุคคลอื่นว่าผู้ตายเป็นบิดาให้ความอุปการะเลี้ยงดูส่งเสียเล่าเรียน ทั้งระบุในใบสมัครสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรให้เป็นผู้รับประโยชน์ด้วย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ย่อมถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนรับรองและไม่จำต้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้สืบสันดาน โดยเป็นทายาทลำดับ 1 ส่วนผู้ร้องเป็นทายาทลำดับ 3 จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายแม้ผู้ร้องจะมีสิทธิรับมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกับผู้คัดค้านทั้งสองก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งสองด้วยกันเอง และทำขึ้นหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับการมีสิทธิรับมรดกแต่อย่างใดไม่ก่อให้ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้


          พฤติการณ์ที่ถือว่าบุตรนอกสมรสหรือบุตรนอกกฎหมายนั้น บิดาได้รับรองว่าเป็นบุตรของตนแล้ว

          1. ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7272/2562  โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเนื่องจากโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627, 1629 (1) ดังนั้น โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามมาตรา 1627 ซึ่งประกอบด้วยข้อเท็จจริง 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์เป็นบุตรของเจ้ามรดก และส่วนที่สองคือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้ามรดกที่รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรของตน เช่น เจ้ามรดกเป็นผู้แจ้งเกิดให้แก่โจทก์ว่าโจทก์เป็นบุตรของตน ยอมให้ใช้ชื่อสกุล เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู และส่งเสียให้การศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนแนะนำและแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปอย่างเปิดเผยว่าโจทก์เป็นบุตร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2534   พฤติการณ์ที่ พ. พาโจทก์ไปมอบตัวตามโรงเรียนต่าง ๆ เหมือนบิดากับบุตรโดยทั่วไปได้ปฏิบัติกัน และปฏิบัติต่อโจทก์อย่างโจทก์เป็นบุตรของตนเช่นนี้ถือได้ว่า พ. ได้รับรองโจทก์ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายว่าเป็นบุตรของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2537   ผู้ตายพามารดาผู้คัดค้านที่ 3 ไปคลอดที่โรงพยาบาลกับแจ้งว่าเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 3 ออกค่าใช้จ่ายการคลอด และรับกลับจากโรงพยาบาล ส่งเสียให้เงินค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนตลอดมา ทั้งยังพาผู้คัดค้านที่ 3 ไปสมัครงานโดยใบสมัครงานระบุว่าผู้ตายเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 3 นอกจากนี้ผู้ตายยังเคยพาผู้คัดค้านที่ 3 ไปเที่ยวเป็นประจำ พฤติการณ์ที่ผู้ตายปฏิบัติต่อผู้คัดค้านที่ 3 เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ตายได้รับรองว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของตนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627

          2. บิดาแจ้งการเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบุตรของตน และยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลของบิดา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9313/2559  แม้ผู้คัดค้านมิได้นำสืบว่า เจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับ ส. อย่างไร เมื่อใด แต่มีสูติบัตรกับสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดก เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำขึ้น ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้อง ประกอบกับผู้คัดค้านใช้ชื่อสกุลเดียวกับเจ้ามรดกและหนังสือที่เจ้ามรดกมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโอนที่ดินระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตร จึงเป็นหลักฐานให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คัดค้านกับเจ้ามรดก และเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์รับรองว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดก ฟังได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรที่เจ้ามรดกรับรองแล้ว และถือเป็นผู้สืบสันดาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2731/2556  เอกสารสำคัญประจำตัวเด็กชาย ว. ทั้งตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน อันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นอันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 กับทะเบียนนักเรียนและหนังสือรับรองของโรงเรียนสาธิตอุดมศึกษา ล้วนระบุว่าเด็กชาย ว.เป็นบุตรของผู้ตาย เช่นนี้ เชื่อว่าผู้ตายได้มอบหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตายประกอบการขอออกสูติบัตรของเด็กชาย ว. พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ระบุชื่อผู้ตายเป็นบิดา อันเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเด็กชาย ว. เป็นบุตรและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลแล้วนั่นเอง แม้ไม่มีหนังสือยินยอมแยกต่างหากก็ตาม พฤติการณ์ของผู้ตายที่เลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 1 กับเด็กชาย ว.และยินยอมให้เด็กชาย ว. ใช้ชื่อสกุลของผู้ตายอย่างเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการรับรองว่าเด็กชาย ว. เป็นบุตรของผู้ตายแล้ว ส่วนหลักฐานที่แสดงว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรของผู้ตายก็ปรากฏชัดตามสูติบัตรอันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ทั้งในการแจ้งเกิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีเอกสารประกอบคำขอทั้งสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ตายกับหนังสือยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ตายรับว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรของตนและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลด้วยความเต็มใจและอย่างเปิดเผย ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่รับรองว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. เป็นบุตรผู้ตาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเด็กชาย ว. เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627, 1629 (1) ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชาย ว. และผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785 - 3787/2552  เด็กหญิง ญ. แม้จะมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตาม แต่ปรากฏตามสำเนาสูติบัตรว่าผู้ตายแจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของเด็กหญิง ญ. ทั้งได้นำเด็กหญิง ญ. มาเลี้ยงดูอุปการะ ส่งเสียให้เล่าเรียนและให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงได้ว่าผู้ตายได้รับรองเด็กหญิง ญ. เป็นบุตร ดังนั้นเด็กหญิง ญ. จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ฉะนั้นผู้ร้องในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ญ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713

          3. บิดาแจ้งย้ายชื่อบุตรเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านต่อนายทะเบียน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2534   การที่ ค. เจ้าบ้านแจ้งย้ายผู้คัดค้านเข้ามาอยู่ในบ้านต่อนายทะเบียนในฐานะบุตรของตน ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ ค. บิดารับรองแล้ว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานของ ค. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627

          4. บิดาแสดงออกโดยเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกว่าเป็นบุตรของตน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2549  ในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิต ผู้ตายได้กล่าวกับบุคคลในหมู่บ้านว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย คนในหมู่บ้านก็รู้ว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย ผู้ตายได้แสดงความเป็นบิดาโดยได้อุปการะเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 4 โดยพาไปเที่ยวกับผู้ตายและส่งเสียค่าเลี้ยงดูตลอดมาเว้นแต่ขณะที่ผู้ตายถูกคุมขัง นับได้ว่าผู้ตายได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นบิดาผู้คัดค้านที่ 4 และให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 4 ตลอดมา พฤติการณ์ของผู้ตายดังกล่าวเป็นการแสดงต่อผู้คัดค้านที่ 4 ให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายคนหนึ่ง จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งมารดาของผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8661/2544  ป. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกและ บ. อยู่กินฉันสามีภริยากันโดยเปิดเผยเป็นที่รับรู้ของบุคคลอื่นทั่ว ๆ ไป และมีบุตรด้วยกันก่อนโจทก์แล้วคนหนึ่งซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ป. ถึงแก่ความตายขณะ บ. ตั้งครรภ์โจทก์ พฤติการณ์ของ ป. และบ. ที่ปฏิบัติต่อกันแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ป. ยกย่อง บ. เป็นภริยาและยอมรับว่าเด็กที่เกิดจาก บ. เป็นบุตร บ. ตั้งครรภ์โจทก์ขณะที่ ป. ยังไม่ถึงแก่ความตายและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นให้เห็นว่าป. ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าเด็กในครรภ์ บ. ไม่ใช่เป็นบุตรของ ป. จึงต้องถือว่า ป. ได้รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรและต้องถือว่า ป. ได้รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรตั้งแต่อยู่ในครรภ์ บ. แล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. และเป็นทายาทของ ป. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และมาตรา 1604
          เมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่จะตกทอดไปยังทายาทของ ป. ตามกฎหมาย บ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ป. โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. โจทก์จึงเป็นทายาทของ ป. แต่เพียงผู้เดียว ที่ดินพิพาทจึงตกได้แก่โจทก์ซึ่งยังเป็นเด็กเล็กและอาศัยอยู่กับ บ. มารดา ดังนั้น จึงต้องถือว่า บ. ครอบครองดูแลที่ดินพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์มาตลอด แม้ต่อมา บ. จะได้ ส. เป็นสามีและรับ ส. เข้ามาอยู่ร่วมกันในที่ดินพิพาทก็ตามแต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บ. และ ส. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหรือเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่มีเจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป บ. และส. จึงไม่เกิดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและยังต้องถือว่าบุคคลทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์มาตลอดเมื่อ บ. โอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีไปกว่า บ. ผู้ครอบครองที่ดินแทนโจทก์ จำเลยจึงเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนเท่านั้น
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1205/2542  แม้ตามสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านกับสำเนาทะเบียน นักเรียนระบุว่า ล. เป็นบิดาโจทก์ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ไม่เคยใช้นามสกุลของผู้ตายก็ตาม แต่การที่ผู้ตายรับโจทก์มาอยู่กับผู้ตายที่บ้านและจำเลยที่ 3 ระบุในบัญชีเครือญาติว่าโจทก์เป็นบุตรเจ้ามรดกต่างมารดาเท่ากับยอมรับว่าโจทก์เป็นบุตรของผู้ตาย เมื่อได้ความว่าผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูและให้โจทก์เรียนตัดเย็บเสื้อผ้า ทั้งผู้ตายยังเป็นเจ้าภาพแต่งงานให้โจทก์ด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวที่ผู้ตายแสดงต่อโจทก์ให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4), 28(2)  
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3823/2538  ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับ อ.เจ้ามรดก อ. มิได้จดทะเบียนสมรสกับ พ. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องผู้ร้องเป็นบุตรนอกกฎหมายของ อ. ผู้ร้องนำสืบสมุดรายงานประจำตัวนักเรียนของผู้ร้องในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นสายสามัญซึ่งมีข้อความระบุว่าผู้ร้องเป็นบุตรของ อ. กับ พ. กับมีข้อความที่ อ. ได้บันทึกลงในช่องความเห็นผู้ปกครองแล้วลงลงชื่อกำกับไว้ทั้ง อ. เคยพาผู้ร้องไปให้พระภิกษุเปลี่ยนชื่อให้นอกจากนี้ในใบมอบตัวสำหรับนักเรียนเข้าใหม่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญก็มีข้อความระบุว่า อ. เป็นบิดาของผู้ร้องและมีลายมือชื่อของ อ. ลงไว้ในฐานะผู้ปกครองของผู้ร้องถือได้ว่า อ. ได้รับรองว่าผู้ร้องเป็นบุตรของตนแล้ว

          ทั้งนี้ แม้ว่าบุตรนอกกฎหมายหรือบุตรนอกสมรสที่บิดารับรองแล้วจะมีสิทธิรับมรดกของบิดา แต่ในทางกลับกัน หากบุตรนอกกฎหมายเสียชีวิตก่อนบิดา บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรนอกกฎหมายหรือบุตรนอกสมรสแต่อย่างใด 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2551  ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 ด้วยไม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาผู้ตายจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิคัคค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ และปัญหาดังกล่าวมีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้อยู่แล้ว กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 4 ที่จะต้องวินิจฉัยคดีตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หรืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หรือวินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

          อนึ่ง เมื่อกรณีที่เป็นบุตรนอกกฎหมาย บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดู ดังนั้น ถ้าบิดาต้องเสียชีวิตลงเพราะถูกผู้อื่นทำให้ตายโดยละเมิด บุตรนอกกฎหมายไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้ทำละเมิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2543  โจทก์เป็นผู้เยาว์เป็นบุตรของนาง ด.กับนาย ป.ผู้ตาย ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และผู้ตายก็ไม่ได้จดทะเบียนรับรองว่าโจทก์เป็นบุตร นาย ป.เพียงแต่ให้ใช้นามสกุลและให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ และตามป.พ.พ. มาตรา 1564 บิดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายส่วนบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตามมาตรา 1627 บัญญัติให้ถือว่า เป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลทำให้เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 เท่านั้น เมื่อนาย ป.ผู้ตายไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลย ผู้กระทำละเมิดเป็นเหตุให้นาย ป.ถึงแก่ความตาย กรณีดังกล่าว ป.พ.พ.บรรพ 5 ในเรื่องครอบครัวก็ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 มาใช้บังคับไม่ได้ 




09 มีนาคม 2567

ความรับผิดทางละเมิด กรณีความเสียหายซึ่งเกิดจากยานพาหนะ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา 437 วรรคหนึ่ง "บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบ เพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง"

          มาตรา 437 วรรคหนึ่ง มีหลักเกณฑ์ดังนี้
          (1) ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ คือ บุคคลที่ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ
          (2) ยานพาหนะในกรณีนี้ต้องเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล
          (3) ความเสียหายเกิดแต่ยานพาหนะในขณะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลนั้น
          (4) เหตุยกเว้นความรับผิด คือ เหตุสุดวิสัย หรือเหตุเกิดจากความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง



          ยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล  ไม่ว่าจะเดินด้วยแรงเครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า ที่ไม่ใช่เกิดจากพลังลม พลังสัตว์ การถีบ หรือการเข็ญ ดังนั้น จักรยานสองล้อจึงไม่ใช่ยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6384/2558  เมื่อจำเลยที่ 4 ผู้ควบคุมเรือเพ็นนินซูล่าซึ่งมีหน้าที่ตรวจนับสินค้าและผูกโยงเชือกเรือไม่สามารถบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ของเรือดังกล่าวได้เองต้องแล่นไปตามที่เรือยนต์จินดา 95 ลากจูงไปที่มี น. เป็นผู้ควบคุม จำเลยที่ 4 จึงไม่ใช่ผู้ควบคุมเรืออันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 437 ผู้ควบคุมเรืออันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลขณะเกิดเหตุคือ น. ซึ่งขับเรือยนต์จินดา 95 ลากเรือลำเลียงเพ็นนินซูล่า เข้าไปในระยะกระชั้นชิดใกล้กับสะพานของท่าเทียบเรือ และเลี้ยวกลับเป็นเหตุให้เรือลำเลียงเพ็นนินซูล่ากระแทกเสาและคานของท่าเรือ จึงเป็นการกระทำประมาทเลินเล่อของ น. โดยตรง และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันที จำเลยที่ 4 ไม่อาจช่วยเหลือหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้ จำเลยที่ 4 มิได้มีส่วนประมาท จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลละเมิด

          ความเสียหายเกิดแต่ยานพาหนะนั้นขณะเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล โดยต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในขณะที่ยานพาหนะนั้นกำลังเดินด้วยเครื่องจักรกลนั้นอยู่ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2474  เรือยนต์ของจำเลยแล่นเต็มฝีจักรสวนเรือบรรทุกข้าวของโจทก์ คนในเรือเข้าบอกให้เรือยนต์เบาเครื่อง เรือยนต์ไม่เบา คลื่นของเรือยนต์ซัดเรือข้าวโจทก์ล่มลง ปรากฏว่าเรือของโจทก์บรรทุกข้าวอย่างธรรมดาเหมือนเรืออื่นๆ ในจังหวัดนี้บรรทุกกัน ไม่เพียบจนเกินขนาด จำเลยต้องรับผิดตามมาตรา 437 เพราะผู้ควบคุมเรือยนต์และพิสูจน์ไม่ได้ว่าที่เรือบรรทุกข้าวล่มเกิดจากเหตุสุดวิสัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1300-1315/2499 ระหว่างรถไฟแล่นอยู่ในเขตตำบลมหาชัย จำเลยได้เร่งไฟและกำลังไอน้ำเป็นเหตุให้ลูกไฟและประกายไฟปลิวไปไหม้บ้านเรือนนาย ก. แล้วลุกลามไปไหม้บ้านโจทก์ ทั้งนี้เนื่องจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ทราบดีแล้วว่าตัวรถจักรและเครื่องจักรชำรุดขาดสมรรถภาพที่จะใช้เดินรถ ก็หาได้หาทางป้องกันหรือแก้ไข จำเลยจึงต้องรับผิด

           ถ้าความเสียหายที่เกิดจากยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลด้วยกัน กรณีนี้ไม่เอามาตรา 437 มาใช้ ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา 437 จึงต้องนำมาตรา 420 มาใช้ในการพิสูจน์ว่าฝ่ายใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5371/2557 บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคสอง เป็นข้อสันนิษฐานในคดีอาญาเพื่อให้ผู้ขับรถเข้าแสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือแสดงความบริสุทธิ์ จึงไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ล. ลูกจ้างของจำเลยขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ ช. ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า ล. ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และจำเลยให้การปฏิเสธว่า ล. ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่า ล. เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเพราะโจทก์เป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น) โจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา 84 (2) ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 437
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2379-2380/2532 ผู้ตายโดยสารมาในรถยนต์ของจำเลยที่ 3 ซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลเช่นเดียวกับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ความเสียหายมิได้เกิดจากยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลของจำเลยที่ 3 แต่ฝ่ายเดียว จึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 อันว่าด้วยหน้าที่นำสืบมาใช้บังคับไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9688/2558 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2543 จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกสิบล้อ เฉี่ยวชนกับรถแท็กซี่ ซึ่งมีนาย ส. เป็นผู้ขับและถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 5 เป็นผู้รับประกันภัยรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับ อุบัติเหตุดังกล่าวทำให้รถบรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับชนท่อประปาของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เสียค่าใช้จ่ายซ่อมแซมเป็นเงิน 92,347 บาท การที่จำเลยทั้งห้าจะรับผิดต่อโจทก์ ข้อเท็จจริงต้องรับฟังได้ว่า เหตุที่รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือนาย ส. แม้โจทก์จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ยังคงต้องนำสืบให้ได้ความดังกล่าว เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าเหตุที่รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และเป็นเหตุในลักษณะคดีจึงให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย

          ผู้ต้องรับผิด คือ ผู้ควบคุมดูแลกับผู้ครอบครอง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 436 - 437/2559 จำเลยที่ 10 และ ป. ขับรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และทำให้ทรัพย์สินของผู้ตายได้รับความเสียหาย ดังนั้นจำเลยที่ 10 และ ป. จึงเป็นผู้ครอบครองหรือเป็นผู้ควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล โดยผู้ตายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมหรือครอบครองเครื่องจักรกลที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยที่ 10 และ ป. จึงต้องรับผิดเพื่อการเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะนั้นเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคหนึ่ง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3088/2524  จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำร่องเรือเดินสมุทร ซึ่งนายเรือต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ในการนำร่อง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะอันเกิดด้วยเครื่องจักรกลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 เมื่อจำเลยที่ 1 สั่งให้นายเรือเลี้ยวขวาเพื่อทอดสมอโดยยังไม่พ้นเรือโจทก์ที่จอดอยู่เป็นเหตุให้เรือที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำร่องโดนเรือโจทก์เสียหาย ซึ่งหากจำเลยที่ 1 สั่งให้แล่นไปให้พ้นเสียก่อนแล้วจึงเลี้ยวขวาเพื่อทอดสมอก็จะไม่เกิดเหตุขึ้น จึงเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ฯลฯ ซึ่งกำหนดให้ผู้นำร่องต้องใช้ความระมัดระวังมากที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายและถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช้ความช่ำชองในวิชาการเรือซึ่งตนมีอยู่จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ประมาทเลินเล่อ แม้เรือโจทก์จะจอดเทียบเป็นลำที่ 3 ซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายก็มิใช่ผลโดยตรงที่ก่อให้เรือโดนกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3437/2537 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 4 ง-5838 กรุงเทพมหานคร ทั้งเป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวด้วย ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยประมาทจนชนท้ายรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ และโจทก์จัดการซ่อมรถคันที่โจทก์รับประกันภัยแล้วจึงเข้ารับช่วงสิทธิในค่าเสียหายดังกล่าว ดังนี้ แม้คำฟ้องของโจทก์จะระบุให้จำเลยรับผิดในฐานะจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุไว้ด้วย แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าในขณะที่เกิดเหตุจำเลยเพียงเป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุเท่านั้น โดยจำเลยมิได้เป็นผู้ขับหรือโดยสารไปด้วย จำเลยจึงมิใช่เป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมรถยนต์คันเกิดเหตุตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2524  ผู้ครอบครองตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 หมายถึงผู้ที่ใช้ยานพาหนะนั้นในฐานะเป็นผู้ยึดถือในขณะเกิดความเสียหายหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งหมายถึงผู้ที่ได้ครอบครองยานพาหนะนั้นอยู่ในขณะเกิดเหตุ ซึ่งได้กำหนดความหมายแคบกว่าความหมายของผู้เป็นเจ้าของ เพราะในบางกรณีผู้ที่เป็นเจ้าของอาจจะไม่ได้เป็นผู้ครอบครองยานพาหนะนั้นในขณะที่ไปก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมิได้อยู่หรือไปกับรถขณะเกิดเหตุจำเลยจึงไม่เป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะในขณะเกิดเหตุ

          เหตุยกเว้นความรับผิด มี 2 กรณี คือ ความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง ซึ่งฝ่ายผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะนั้นต้องมีภาระพิสูจน์ หากไม่พิสูจน์ก็ต้องรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2505  การนำรถยนต์ไปบรรทุกไม้ซุงและไม้แปรรูปซึ่งหนักมากออกมาจากป่าในเวลากลางคืน ต้องผ่านทางที่คดโค้งและเทลง และข้างทางเป็นห้วยลึก ผู้ขับควรระมัดระวังให้มาก และก่อนที่จะนำรถไปใช้ในเส้นทางเช่นนี้ก็ควรตรวจดูสภาพของรถให้เรียบร้อยดีเสียก่อน ถ้าขับรถพุ่งลงห้วยข้างทางแล้วจะอ้างว่าเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยเนื่องจากสภาพของทางหรือเพราะลูกหมากบังคับคันส่งอาจหลุด ยางระเบิดหรือไฟหน้ารถอาจดับกระทันหันหาได้ไม่ ลูกจ้างของจำเลยขับรถตกห้วย ทำให้ตนเองกับบุตรของโจทก์ตาย โจทก์ฟ้องจำเลยผู้เป็นนายจ้างให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีก็อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437  จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของคนขับรถจะต้องพิสูจน์ว่าไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุใด (แม้โจทก์จะอ้างว่ารถตกห้วยเพราะคนขับขับเร็ว และศาลเห็นว่ายังฟังไม่ได้ก็ตาม)ผู้เยาว์มีเงินเดือนและแบ่งเงินเดือนส่งไปเลี้ยงดูโจทก์ผู้เป็นมารดา เมื่อลูกจ้างของจำเลยทำให้ผู้เยาว์ตาย โจทก์ก็เรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 443 วรรค 3 และ 1535 (ไม่ใช่ว่าเรียกร้องไม่ได้เพราะบิดามารดาต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เสมอไปตามมาตรา 1545) การที่ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้พอสมควรแก่ฐานะของโจทก์และของผู้ตายประกอบด้วยเหตุผลในคดีโดยทั่วๆไปนั้น เป็นการวินิจฉัยตามมาตรา 438 แล้ว

          กรณีเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่ต้องรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2506  ก่อนเกิดเหตุเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถข้ามสะพานมาเล็กน้อย ล้อรถขวาข้างหน้าตกหลุม เป็นเหตุให้แหนบรถข้างขวาหักรถเฉไปทางขวาจำเลยที่ 1 พยายามหักพวงมาลัยไปทางซ้ายแต่ปรากฏว่าพวงมาลัยทำงานไม่ได้ โดยแหนบหักไปค้ำคันส่ง รถจึงไปชนหลักกิโลเมตรข้างทางตะแคงลง เห็นได้ว่ารถตะแคงเพราะแหนบที่หักไปค้ำคันส่งทำให้จำเลยที่ 1 บังคับรถไม่ได้ กรณีที่แหนบรถหักไปค้ำคันส่งนี้เป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจจะรู้และไม่สามารถป้องกันได้แม้จะฟังว่าแหนบรถหักเนื่องมาจากบรรทุกน้ำหนักเกินอัตรา และรถตกหลุมก็ดี แต่กรณีดังกล่าวไม่น่าจะเป็นเหตุให้รถตะแคงเพราะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขับรถไม่เร็ว จำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและปฏิบัติในพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเยี่ยงคนขับรถทั่วๆไปทั้งหลายแล้ว จึงถือได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2510  จำเลยขับรถยนต์ในราชการตำรวจไปตามถนนโดยใช้สัญญาณไฟแดงกระพริบและแตรไซเรนเพื่อนำคนประสพอุบัติเหตุส่งโรงพยาบาล การขับรถโดยใช้สัญญาณดังกล่าวมิได้หมายความว่าขับได้เร็วเท่าใดก็ไม่เป็นการละเมิดหากเกิดการเสียหายขึ้น แต่จะต้องขับด้วยความเร็วไม่สูงเกินกว่าที่ควรกระทำในพฤติการณ์เช่นนั้น และต้องใช้ความระมัดระวังในฐานะที่ต้องใช้ความเร็วสูงกว่าธรรมดาตามสมควรแก่พฤติการณ์เช่นนั้นด้วย
          จำเลยขับรถใช้อาณัติสัญญาณไฟแดงกระพริบและเปิดแตรไซเรนมาด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อจะขึ้นสะพานลดลงเหลือ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีรถบรรทุกแล่นสวนมาบนสะพานโดยไม่หยุด และมีเด็กวิ่งข้ามถนนตัดท้ายรถบรรทุกในระยะกระชั้นชิดซึ่งจำเลยไม่สามารถหยุดรถได้ทัน จึงต้องหักหลบแล้วไปชนผู้ตาย ถือได้ว่าความเร็วที่จำเลยใช้ในขณะข้ามสะพานไม่เป็นความเร็วที่เกินสมควร ตามเวลา สถานที่ และพฤติการณ์อื่นๆ ในขณะนั้น จึงไม่เป็นการประมาทเลินเล่อ การที่มีเด็กวิ่งตัดหลังรถบรรทุกข้ามถนนผ่านหน้ารถจำเลยในระยะใกล้เป็นเหตุบังเอิญมิอาจคาดหมายได้ และเกิดขึ้นโดยฉับพลันเป็นเหตุที่ไม่มีใครป้องกันได้ เมื่อจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะที่ประสบเหตุเช่นั้นแล้ว เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 437
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2015/2520  ผู้ตายวิ่งตัดหน้ารถยนต์ที่จำเลยขับในระยะกระชั้นชิด เป็นความประมาทของผู้ตายเอง จำเลยไม่อาจห้ามล้อหยุดได้ทันสุดวิสัยที่จะป้องกันได้ ไม่ใช่เกิดจากความประมาทของจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326/2522  จำเลยขับรถหลบรถของ  ผ. ที่ขับสวนล้ำเส้นทางมาในระยะกระชั้นชิด จึงบังคับรถไม่ได้ ไปชนรถของโจทก์ที่คนขับหลบรถออกนอกเขตถนนมา ดังนี้ ไม่ใช่จำเลยประมาทแต่เกิดจากเหตุสุดวิสัย