01 มีนาคม 2567

การเลิกสัญญา


          เมื่อมีสัญญาเกิดขึ้น สิทธิของคู่สัญญาที่จะยกเลิกสัญญานั้นจะต้องเป็นไปตามข้อสัญญาหรือตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเท่านั้น คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยที่ไม่มีข้อสัญญาหรือกฎหมายที่ให้สิทธิไว้ไม่ได้ หากได้ทำการบอกเลิกไปก็ไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด

          มาตรา 386  "ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
          แสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่"

           1 สิทธิเลิกสัญญาตามข้อสัญญา

          เมื่อคู่สัญญาตกลงทำสัญญากันไว้อย่างไร ปกติแล้วก็ต้องบังคับไปตามนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขในสัญญาเพิ่มเติมโดยปราศจากความยินยอมของอีกฝ่ายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2564  บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่มีผลผูกพันกัน และคู่สัญญามีสิทธิเลิกสัญญาหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 และมาตรา 386 ข้อความในบันทึกข้อตกลงมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า โจทก์มีความสนใจที่จะลงทุนในโครงการอาคารพักอาศัยให้เช่าของจำเลยซึ่งประกอบด้วยที่ดิน 2 แปลง โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องเข้าศึกษาข้อมูลและตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนต่อไปเสียก่อน ซึ่งในข้อ 1.3 ระบุว่า หากผลการศึกษาโครงการเป็นที่น่าพอใจแก่โจทก์ คู่สัญญาจะทำการเจรจาทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการอาคารพักอาศัยให้เช่าต่อไป และข้อ 1.4 ระบุว่า จำเลยตกลงให้โจทก์มีสิทธิยกเลิกบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ได้ หากผลการศึกษาโครงการพบว่าไม่เป็นที่น่าพอใจแก่โจทก์ในด้านใด ๆ ดังนี้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้สิทธิโจทก์ในการเลิกบันทึกข้อตกลงไว้ โดยอาศัยความพึงพอใจของโจทก์ในการเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในข้อ 4 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เงินจำนวน 35,000,000 บาท ที่โจทก์มอบให้จำเลยไว้ เป็นเงินประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่โจทก์เข้าศึกษาโครงการ ในกรณีที่ผลการศึกษาโครงการไม่เป็นที่น่าพอใจและโจทก์แจ้งไม่ประสงค์จะเข้าลงทุน ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เป็นอันสิ้นสุดลงทันที โดยคู่สัญญาตกลงจะไม่เรียกร้องสิทธิหรือค่าเสียหายใด ๆ ต่อกัน และจำเลยต้องคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน ประกอบกับในรายงานประชุมคณะกรรมการของโจทก์มีข้อความระบุชัดว่า โจทก์ยังไม่ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกับจำเลย และคณะกรรมการของโจทก์ขอเสนอให้เปลี่ยนจากการวาง “เงินมัดจำ” ตามที่จำเลยเสนอมา เป็นการวาง “เงินประกัน” ความเสียหายในการเข้าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแทน แสดงให้เห็นว่า หากโจทก์จะซื้อโครงการของจำเลย จะต้องมีการเจรจาตกลงในข้อสาระสำคัญกันให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งต่อไป ตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 366 ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าโครงการของจำเลยไม่เหมาะสมที่จะลงทุน เป็นเหตุให้คณะกรรมการของโจทก์ได้บอกเลิกบันทึกข้อตกลงไปยังจำเลยพร้อมแจ้งให้คืนเงินประกัน 35,000,000 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิเลิกบันทึกข้อตกลงตามที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลง หาใช่เป็นการใช้สิทธิเลิกตามอำเภอใจหรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ เมื่อสัญญาเข้าร่วมทุนหรือซื้อโครงการระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของโจทก์ และตามบันทึกข้อตกลงได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเพียงแต่คืนเงินประกันแก่โจทก์ภายใน 7 วัน โดยไม่มีดอกเบี้ย จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินประกันดังกล่าว เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินประกันภายใน 7 วัน จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยไม่คืนเงินประกันภายในกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง สำหรับค่าเสียหาย 10,000,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นค่าเสียหายที่จำเลยไม่ยอมคืนเงินประกัน ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในโครงการอื่นนั้น ตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 4 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีที่โจทก์ไม่ประสงค์จะเข้าลงทุนในโครงการของจำเลย ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เป็นอันสิ้นสุดลงทันที จำเลยเพียงแต่คืนเงินประกันให้แก่โจทก์ภายใน 7 วันเท่านั้น โดยคู่สัญญาจะไม่เรียกร้องสิทธิหรือค่าเสียหายใด ๆ ต่อกันอีก ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์          
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2561  สัญญารถขนส่งสินค้ามีผลผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นเวลา 3 ปี โดยอัตราค่าขนส่งยึดตามตารางกำหนดราคาน้ำมันแนบท้ายสัญญา ซึ่งเป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของสัญญา การที่จำเลยปรับเปลี่ยนอัตราค่าขนส่งโดยจัดทำช่วงราคาน้ำมันขึ้นใหม่จากเดิมปรับทุกช่วงราคา 2 บาท ต่อลิตร เป็นปรับทุกช่วงราคา 3.50 บาท ต่อลิตร ย่อมทำให้โจทก์เสียหาย และข้อตกลงในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงใดให้จำเลยปรับเปลี่ยนอัตราค่าขนส่งให้แตกต่างจากอัตราค่าขนส่งแนบท้ายสัญญาได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย การที่จำเลยขอยุติสัญญารถขนส่งสินค้าจึงไม่สามารถกระทำได้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4778/2558  ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้น ย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง" จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดสิทธิในการเลิกสัญญาไว้ 2 ประการ คือ โดยข้อสัญญาหรือโดยกฎหมายให้อำนาจไว้ เมื่อสัญญาเช่าบ้านไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนสัญญาเช่าถึงกำหนดโดยข้อสัญญาได้ โจทก์จึงต้องอาศัยสิทธิการบอกเลิกสัญญาโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แม้โจทก์จะขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากบ้านเช่าพร้อมกับทำหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบ ก็มิใช่เป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านกับจำเลยได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมตกลงเลิกสัญญาเช่าบ้านกับโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านแต่เพียงฝ่ายเดียว สัญญาเช่าบ้านระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยจึงไม่จำต้องคืนเงินดังกล่าวอันเป็นค่าเช่าล่วงหน้าส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4756/2556  วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยระบุให้มีผลเป็นการพ้นสภาพพนักงานในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย เจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยและจะถอนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลย ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ตามหนังสือลาออกของโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2509  สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทโดยจำเลยเป็นผู้สร้างและยอมให้ตึกเป็นของโจทก์ และโจทก์ยอมให้จำเลยเช่ามีกำหนด 9 ปี อันเป็นสัญญาต่างตอบแทนและมีข้อตกลงในสัญญาเช่าด้วยว่า ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาได้ทันทีเมื่อผู้เช่าผิดสัญญาแม้ข้อหนึ่งข้อใด นั้น หากต่อมาผู้เช่าผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า 4 งวดติดกัน ผู้ให้เช่าย่อมบอกเลิกสัญญาเช่าได้เพราะข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อได้ตกลงไว้ในสัญญาเช่นนี้ กำหนดเวลาเช่า 9 ปีก็ต้องอยู่ภายในข้อตกลงนั้นด้วย เมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า 4 งวดติดกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามข้อตกลงนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2130/2526   แม้สัญญาเช่าจะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่มีข้อสัญญาระบุว่า ถ้าผู้เช่าผิดสัญญาข้อใด ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที เมื่อจำเลยผู้เช่าผิดสัญญา โจทก์ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้


          แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะทำขึ้นเป็นหนังสือ แต่การบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1129/2504   การตกลงเลิกสัญญาซื้อขายที่ดิน และคืนเงินมัดจำกันนั้น ไม่ใช่เป็นการปลดหนี้ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือ ฉะนั้น เพียงแต่มีการแสดงเจตนาต่อกัน ก็ย่อมสมบูรณ์

           2 การแสดงเจตนาเลิกสัญญาโดยปริยาย

          พฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฎิบัติต่อกันที่แสดงให้เห็นว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเจตนาที่จะเลิกสัญญา เช่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562  แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า "และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที..." แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3090/2552  ป.พ.พ. มาตรา 386 ให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อสัญญาหรือตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ นอกจากนี้คู่สัญญาอาจตกลงเลิกสัญญากันเองภายหลังทำสัญญาก็ได้ ซึ่งอาจตกลงเลิกสัญญากันโดยชัดแจ้งหรือถือว่าสัญญาเลิกกันโดยปริยายก็ได้ และการบอกเลิกสัญญาโดยปริยายไม่มีกฎหมายบังคับไว้ว่าจะต้องบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือ แต่ต้องทำโดยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง แม้ตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจะให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว โดยจำเลยไม่สามารถบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดสัญญาก็ตาม แต่การที่ ธ. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยเคยแจ้งให้โจทก์ทราบทางจดหมายว่าจะไม่เช่าพื้นที่ทั้งหมดและจะย้ายออกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2539 โจทก์ทราบว่าจำเลยได้ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกสถานที่เช่า ทั้งจำเลยซ่อมแซมพื้นที่เช่าไปด้วย โจทก์ไม่ได้โต้แย้ง โจทก์ไม่ได้ให้บริการแก่จำเลยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2540 และจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์เพื่อคืนกุญแจห้องและสถานที่จอดรถตั้งแต่เดือนธันวาคม 2539 ในเดือนพฤศจิกายน 2540 จำเลยว่าจ้างบริษัท ท. มาปรับปรุงอาคารที่เช่าเพื่อส่งมอบคืนแก่โจทก์ โจทก์ตอบกลับว่างานที่ปรับปรุงยังมีความบกพร่องต้องแก้ไข ทั้งโจทก์คืนเงินมัดจำค่าโทรศัพท์ให้จำเลย 2 ครั้ง ดังนั้นเมื่อจำเลยทำคำเสนอแสดงเจตนาขอเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์และโจทก์ทำคำสนองรับด้วยพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาเช่าและสัญญาให้บริการต่อกันโดยปริยายแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4645/2540   จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทได้ แต่เมื่อไม่มีข้อกำหนดเวลากันไว้ โจทก์จึงใช้ทางได้ตราบเท่าที่จำเลยยินยอม หากจำเลยไม่ยินยอมโจทก์ก็ไม่มีสิทธิใช้ทาง เพราะสิทธิของโจทก์เกิดจากความยินยอมของจำเลยแม้การที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์สร้างทางได้ทำสัญญากันไว้เป็นหนังสือ แต่ในกรณีบอกเลิกสัญญาเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบังคับไว้ว่าจะต้องบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือจำเลยจะบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นการที่จำเลยนำลวดหนามขึงกั้นทางพิพาทไว้จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยปริยายแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5228/2539   จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์น้อยกว่าจำนวนเนื้อที่ที่ตกลงซื้อขายกันตามสัญญาถึงเกือบครึ่ง เป็นการส่งมอบที่ดินที่ขาดตกบกพร่องถึงขนาดซึ่งหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 อย่างแน่นอนโจทก์จึงมีสิทธิบอกปัดเสียหรือเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์บอกปัดไม่ยอมรับโอนที่ดินพิพาทและไม่ชำระราคาที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญากรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคสอง แล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9652/2539   ก่อนทำสัญญาเช่านั้นจำเลยได้ก่อสร้างอาคารพิพาทเสร็จแล้วเพียงแต่ยังมิได้ตบแต่งเท่านั้น โจทก์ตกลงจะชำระเงินช่วยค่าก่อสร้างอาคารพิพาทให้แก่จำเลยเป็นเงิน 1,000,000 บาท โดยโจทก์จะจ่ายให้ในวันจดทะเบียนการเช่า แม้ตามสัญญาเช่าไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะไปจดทะเบียนการเช่าเมื่อใดแต่โจทก์กับจำเลยยอมรับกันว่าได้ตกลงกันจะไปจดทะเบียนการเช่าในวันที่ 5 มกราคม 2535 ซึ่งในวันดังกล่าวโจทก์จะต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าอีก 100,000 บาท กับเงินช่วยค่าก่อสร้างจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่จำเลย ตามที่ตกลงไว้ในสัญญาเช่า แต่ปรากฏว่าในวันนัดจดทะเบียนการเช่าดังกล่าว โจทก์ไม่ได้ชำระเงินค่าเช่าล่วงหน้าที่ค้างชำระอยู่ 100,000 บาท และเงินช่วยค่าก่อสร้างอาคารพิพาทให้แก่จำเลย และจำเลยเองก็ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อจดทะเบียนการเช่าให้แก่โจทก์ ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามสัญญาเช่ากันอีกต่อไป ทั้งหลังจากนั้นโจทก์และจำเลยต่างปล่อยปละละเลยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาโดยมิจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการเช่าและมิได้เรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญา จนเวลาผ่านไปเนิ่นนานจนถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2535 โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าขอบอกเลิกสัญญาเช่าและให้ชำระเงินค่าเช่าล่วงหน้ากับค่าใช้จ่ายในการลงทุนให้แก่โจทก์ กรณีเช่นนี้แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว สัญญาเช่าจึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไปฝ่ายใดจะอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหาได้ไม่ ดังนั้น โจทก์และจำเลยต้องคืนสู่ฐานะดังเดิมที่เป็นอยู่ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391


          การแสดงเจตนาเลิกสัญญาไปแล้วจะถอนเสียไม่ได้
          ตามมาตรา 386 วรรคสองนั้น หมายความว่า การแสดงเจตนานั้นจะต้องสมบูรณ์แล้ว แต่ถ้ามีการถอนการแสดงเจตนาเลิกสัญญาเสียก่อนที่การแสดงเจตนาจะมีผลสมบูรณ์อย่างนี้ย่อมถอนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4756/2556  วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยระบุให้มีผลเป็นการพ้นสภาพพนักงานในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย เจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยและจะถอนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลย ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ตามหนังสือลาออกของโจทก์

           3 สิทธิเลิกสัญญาโดยกฎหมาย


          ก. การเลิกสัญญากรณีที่เรื่องกำหนดเวลาชำระหนี้ไม่ใช่สาระสำคัญของสัญญา ต้องมีการกำหนดเวลาพอสมควรบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ก่อน หากอีกฝ่ายผิดนัดจึงจะบอกเลิกสัญญาได้
          กรณีตามมาตรา 387  "ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้"
          กรณีใช้สิทธิเลิกสัญญาตามมาตรา 387 เป็นเรื่องกำหนดเวลาชำระหนี้ไม่ใช่สาระสำคัญของสัญญา จึงต้องมีการกำหนดเวลาพอสมควรบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ก่อน เมื่อครบกำหนดเวลาตามที่บอกกล่าวไปแล้วแต่ยังไม่มีการชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8505/2561  หนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ระหว่างโจทก์ผู้จองกับจำเลยผู้รับจองกำหนดเวลาการตกแต่งไว้ 4 เดือน นับแต่วันที่รับมอบพื้นที่จากจำเลย โดยระบุวันรับและส่งมอบพื้นที่วันที่ 15 มกราคม 2557 วันเริ่มต้นสัญญาเช่าและบริการวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 โดยมีระยะเวลาปลอดค่าเช่าและค่าบริการเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2557 กำหนดเวลาชำระเงินจองโดยแบ่งออกเป็น3 งวด งวดละ 1,169,343 บาท งวดที่ 1 ชำระวันทำหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ งวดที่ 2 ชำระภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 และงวดที่ 3 ชำระภายในวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 และกำหนดเวลาที่โจทก์จะเข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการกับจำเลยภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 หากโจทก์ไม่มาทำสัญญาเช่าและบริการตามที่กำหนด ยินยอมให้จำเลยยึดเงินจองและให้นำพื้นที่ที่จองไว้ออกจำหน่ายให้แก่ผู้เช่ารายอื่นทันที แต่พฤติการณ์ที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ที่จองตามกำหนด โจทก์ขอเลื่อนเวลาการชำระเงินจองงวดที่ 3 กับเลื่อนการทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการ ส่วนจำเลยนำสืบว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2557 โจทก์และจำเลยมีการตรวจวัดรับพื้นที่เช่าและงานระบบกันแล้ว ต่อมาปลายเดือนมีนาคม 2557 จำเลยเรียกโจทก์เข้ามาเจรจาเนื่องจากตรวจสอบพบว่าโจทก์เข้าไปตกแต่งพื้นที่ส่วนกลางและเปลี่ยนแบบแปลนประเภทร้านค้าเป็นร้านอาหาร ทำให้จำเลยต้องเปลี่ยนแก้ไขระบบงานสาธารณูปโภค เปลี่ยนและติดตั้งระบบดูดควันใหม่ เทพื้นใหม่ เปลี่ยนและวางท่อก๊าซแอลพีจีใหม่ตามคำร้องขอของโจทก์ ซึ่งจำเลยยอมผ่อนปรนและพยายามทำทุกอย่างเท่าที่โจทก์ร้องขอมาโดยตลอดนั้น กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยไม่ถือเอากำหนดเวลาที่ระบุในหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่เป็นข้อสำคัญ เช่นนี้ที่โจทก์ไม่ชำระเงินจองงวดที่ 3 ไม่เข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการภายในกำหนดเวลาตามหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุดังกล่าวทันทีไม่ได้ หากแต่จำเลยต้องบอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระเงินจองที่ยังคงค้างและให้เข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการเสียก่อน และเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดแล้วโจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 แต่ ส. พยานจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเบิกความลอย ๆ ว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่าและบริการหลายครั้ง แต่โจทก์เพิกเฉย โดยไม่มีพยานหลักฐานอย่างอื่นมายืนยันสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยได้บอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระเงินจองที่ยังค้างและเข้าทำสัญญาเช่ากับสัญญาบริการมาก่อนแล้ว การที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ไปยังโจทก์บอกเลิกหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ ด้วยเหตุว่าโจทก์คงค้างชำระเงินจองงวดสุดท้าย และไม่ได้เข้าทำสัญญาภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยมิได้กำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติก่อนจึงไม่ชอบ แต่เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2558 จากจำเลยแล้ว โจทก์กลับมีหนังสือลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ไปยังจำเลยเพื่อขอยกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่กันแล้ว โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินจองพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันที่รับไว้ให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ต้องชดใช้ค่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของจำเลยและนำมาหักกลบลบหนี้กับเงินจองที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์ได้นั้น จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้มา จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2561  แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ก็ไม่อาจถือว่าสัญญาเช่าซื้อต้องเลิกกันทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามสัญญาข้อ 6 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดงวดนั้นดังที่ระบุในสัญญาข้อ 9 การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 33 งวด โดยเป็นการชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาแต่จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งนั้นให้โจทก์โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุโจทก์ผิดนัด นอกจากนี้ยังปรากฏว่า หลังจากมีการยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว จำเลยยังส่งหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 34 ถึงงวดที่ 36 อีก 2 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายขอให้โจทก์ติดต่อชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมค่าใช้จ่าย มิฉะนั้นจำเลยจะนำรถขุดออกขายแก่บุคคลภายนอก เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังคงผ่อนผันการผิดนัดให้โจทก์อีกเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ โดยหากโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระแก่จำเลยพร้อมเบี้ยปรับฐานชำระล่าช้า จำเลยก็จะยินยอมให้โจทก์รับรถขุดที่เช่าซื้อกลับคืนไปและชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนกว่าจะครบตามสัญญา ส่วนหนังสือบอกเลิกสัญญาที่จำเลยให้ลูกจ้างของจำเลยนำติดตัวไปเพื่อดำเนินการยึดรถขุดแล้วลูกจ้างของจำเลยนำไปมอบให้แก่ผู้ขับรถขุดภายหลังจากทำการยึดรถขุดแล้วนั้น กรณีมิใช่การมอบให้แก่โจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทั้งหนังสือดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน กลับมีการมอบให้ภายหลังการยึดรถขุด ทั้งข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อขัดแย้งกับที่จำเลยยังคงออกหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายหลังจากที่ยึดรถขุดคืนมาแล้วดังกล่าวการบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เลิกกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนได้ การที่จำเลยยึดรถขุดดังกล่าวมา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2428/2515  หนังสือสัญญาจะซื้อขายมิได้ระบุไว้ว่า  ถ้าผู้จะซื้อผิดสัญญา ไม่ผ่อนชำระราคาทรัพย์ที่ซื้อขายเป็นรายเดือนตามกำหนด ให้ผู้จะขายใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ทันที  และปรากฏว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาที่จะถือเอากำหนดเวลาผ่อนชำระราคาเป็นสารสำคัญตามสัญญา ฉะนั้น แม้ผู้จะซื้อผิดสัญญา  ไม่ผ่อนชำระราคาทรัพย์ที่ซื้อขายเป็นรายเดือนตามวันที่กำหนดไว้ ผู้จะขายก็จะบอกเลิกสัญญาทันทีมิได้ หากแต่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โดยต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควร  บอกกล่าวให้ผู้จะซื้อชำระหนี้ราคาทรัพย์ที่ติดค้างอยู่  ต่อเมื่อผู้จะซื้อไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้น ผู้จะขายจึงจะเลิกสัญญาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2539   วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจะซื้อขายว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาแสดงไว้ ไม่มีพฤติการณ์ให้เห็นว่าระยะเวลาในการจัดหาทางภาระจำยอมให้ได้ภายในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2534 ของจำเลยเป็นสาระสำคัญแก่ผลสำเร็จและประโยชน์ที่โจทก์จะพึงได้รับตามสัญญา ซึ่งหากล่าช้าไปแล้วย่อมเป็นอันไร้ประโยชน์แก่โจทก์ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติ ป.พ.พ.มาตรา 387 กล่าวคือ เมื่อจำเลยผิดสัญญายังไม่สามารถจัดหาทางภาระจำยอมให้แก่ที่ดินพิพาทได้ตามสัญญา เป็นการไม่ชำระหนี้ในส่วนที่เป็นหน้าที่ของตน ซึ่งเป็นเวลาก่อนกำหนดระยะเวลาโอนที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ด้วย โจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยจัดหาทางภาระจำยอมให้ได้ โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรก่อน ถ้าจำเลยไม่ดำเนินการให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว โจทก์จึงจะเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อขาย การบอกเลิกสัญญาของทนายความโจทก์ต่อจำเลยตามเอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.25 จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมีผลผูกพันอยู่ ดังนั้นโจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 5,000,000 บาท และเงินค่าที่ดินที่จำเลยเบิกล่วงหน้าไปจากโจทก์ก่อน 2,000,000 บาท เพราะเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยไว้ตามข้อกำหนดในสัญญาจะซื้อขาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1378/2546   สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านมีใจความในข้อ 2.1, 2.2 และ 2.3 ว่าโจทก์จะชำระค่าจ้างในวันทำสัญญาเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท และให้ถือว่าเป็นการชำระเงินงวดที่ 1 และชำระเงินงวดอีกเป็นจำนวน 1,433,190 บาท โดยแบ่งชำระรวม 21 งวด ภายในวันที่ 20 ของเดือน และข้อ 2.4 มีว่า ส่วนที่เหลือจากการชำระตามข้อ 2.1, 2.2 และ 2.3 เป็นเงินจำนวน 3,694,110 บาท จะชำระเมื่องานก่อสร้างทุกอย่างแล้วเสร็จสมบูรณ์ แม้สัญญาดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างบ้านไปแล้วเสร็จไว้ก็ตาม ก็อนุมานได้ว่าภายในระยะเวลาที่โจทก์ผ่อนชำระค่างวดครบ 22 งวด จำเลยจะต้องปลูกสร้างบ้านให้แก่โจทก์ให้ได้ไม่น้อยกว่าตามสัดส่วนของเงินค่าจ้างที่จำเลยได้รับชำระจากโจทก์ไปแล้ว แต่จำเลยไม่ได้เริ่มลงมือปลูกสร้างบ้านแต่อย่างใด โจทก์จึงมีหนังสือสอบถามไปยังจำเลยถึงความคืบหน้าในการปลูกสร้างบ้าน และให้จำเลยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จสมบูรณ์ของการปลูกสร้างบ้าน แต่จำเลยก็มิได้มีหนังสือชี้แจงหรือโต้แย้งคัดค้านอย่างใด โจทก์ให้เวลาจำเลยอีก 4 เดือนเศษ จำเลยก็ยังไม่ปลูกสร้างบ้านให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายในระยะเวลาอันสมควรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4211/2539   เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดแรกเป็นต้นมาเกินกว่า 2 งวดติดต่อกัน โจทก์ให้พนักงานเร่งรัดหนี้สินติดตามทวงถาม จำเลยที่ 1 ก็นำเงินมาชำระให้โจทก์บางส่วน ซึ่งโจทก์ยอมรับไว้และยอมให้จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อต่อไป ต้องถือว่าโจทก์รับเงินดังกล่าวไว้เป็นค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระหลังจากผิดนัดแล้ว แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังคงปฏิบัติต่อกันเสมือนหนึ่งว่าสัญญาเช่าซื้อยังใช้บังคับอยู่ โดยมิได้ถือกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อมิได้ และหากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาก็ต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาที่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เสียก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระจึงบอกเลิกสัญญาได้ แต่เมื่อโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาและจำเลยที่ 1 ก็ยินยอมโดยมิได้โต้แย้ง ถือว่าทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถคืนมา จำเลยที่ 1 ไม่ต้องใช้ค่าเสียหายใดๆแก่โจทก์ คงรับผิดเฉพาะค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันสัญญาเลิกกันเท่านั้น

          ข. การเลิกสัญญาในกรณีที่กำหนดเวลาชำระหนี้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญ เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วอีกฝ่ายไม่ชำระหนี้ สามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันที
          มาตรา 388  "ถ้าวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญานั้น ว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้ จะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลามีกำหนดก็ดี หรือภายในระยะเวลาอันใดอันหนึ่งซึ่งกำหนดไว้ก็ดี และกำหนดเวลาหรือระยะเวลานั้นได้ล่วงพ้นไปโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ชำระหนี้ไซร้ ท่านว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้ มิพักต้องบอกกล่าวดังว่าไว้ในมาตราก่อนนั้นเลย"
          เมื่อกำหนดเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญของสัญญาแล้ว หากถึงเวลาชำระหนี้แต่ฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ผิดนัด อีกฝ่ายหนึ่งสามารถเลิกสัญญาได้ทันที
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4551/2544   สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกำหนดระยะเวลาเช่า 8 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคม 2539 ถ้าผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าถือว่าสัญญาเช่าระงับลงโดยไม่ต้องบอกกล่าว จำเลยชำระค่าเช่าถึงเดือนสิงหาคม 2539 แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าอีก ดังนี้ สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทเป็นสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาแน่นอน  เมื่อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าต้องถือว่าสัญญาเช่าระงับโดยไม่ต้องบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 ฉะนั้น โจทก์จึงไม่จำต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าให้จำเลยทราบก่อนชั่วระยะเวลาเช่าตามมาตรา 566
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2009/2524   โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยโดยกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินไว้ว่า โจทก์จะต้องชำระราคาซื้อขายทั้งหมดให้แก่จำเลยในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก่อนถึงวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ทนายจำเลยมีหนังสือถึงทนายโจทก์ยืนยันเงื่อนไขดังกล่าว มิฉะนั้นจำเลยขอบอกเลิกสัญญา อันเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ชำระหนี้ไว้แล้ว เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญาในวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยยืนยันจะชำระราคาซื้อขายเป็นสองงวด ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาและริบมัดจำเสียได้

          ค. กรณีการเลิกสัญญาเพราะการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัยอันจะโทษลูกหนี้ได้
          มาตรา 389  "ถ้าการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้ได้ไซร้ เจ้าหนี้จะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้"
          การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย คือ ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6615/2553  เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันเพราะการบอกเลิกสัญญาของจำเลย คู่สัญญาจึงยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา กล่าวคือ โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระราคาส่วนที่เหลือและจำเลยมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องแก่โจทก์ แต่ได้ความตามคำให้การของจำเลยว่าจำเลยได้โอนขายห้องชุดทั้งสองห้องแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญา ดังนี้ การชำระหนี้ของจำเลยในการที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์จึงกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำของจำเลยโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยอาจซื้อห้องชุดคืนมาโอนให้โจทก์ได้หรือไม่ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 389 โดยหาจำต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามมาตรา 387 ก่อน การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว เมื่อสัญญาเลิกกันเพราะโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม กล่าวคือ จำเลยจำต้องคืนราคาห้องชุดที่โจทก์ชำระแล้วแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้ ทั้งนี้ตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ประกอบมาตรา 7
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 982/2513 (ประชุมใหญ่)  สัญญาเช่าเพื่อการปลูกสร้างอาคารที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ชัดเจนพอแล้วว่า  ให้ผู้เช่าคือโจทก์จัดการให้ผู้เช่าเดิมออกไปจากสถานที่เช่าให้แล้วเสร็จภายในกำหนด  3  ปี  ทั้งนี้ รวมทั้งการเจรจาหรือโดยการฟ้องร้องต่อศาลทั้งสองประการ และหากผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด  ผู้ให้เช่าทรงสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีสารสำคัญแห่งสัญญาข้อนี้อยู่ที่ว่า  โจทก์จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะให้ผู้เช่าเดิมออกไปให้เสร็จภายใน 3 ปีมิใช่ว่าให้โจทก์ฟ้องภายใน  3  ปี  เมื่อโจทก์ไม่สามารถขับไล่ให้เสร็จภายในกำหนด โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที

          ง.สิทธิเลิกสัญญาตามมาตรา 371 วรรคสอง เป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนที่มีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง แต่กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนเพราะมีเงื่อนไขบังคับก่อน และทรัพย์นั้นเสียหายไปก่อนที่เงื่อนไขสำเร็จ
          มาตรา 371 วรรคสอง  "ถ้าทรัพย์นั้นเสียหายเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้มิได้ และเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้โดยลดส่วนอันตนจะต้องชำระหนี้ตอบแทนนั้นลง หรือเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้ แล้วแต่จะเลือก แต่ในกรณีที่ต้นเหตุเสียหายเกิดเพราะฝ่ายลูกหนี้นั้น ท่านว่าหากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนไม่"
          สิทธิเลิกสัญญาตามมาตรา 371 เป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนที่มีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง แต่กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนเพราะมีเงื่อนไขบังคับก่อน และทรัพย์นั้นเสียหายไปก่อนที่เงื่อนไขสำเร็จ เจ้าหนี้สามารถเลิกสัญญาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2554  จำเลยทำคันดินริมแม่น้ำแควน้อยมีผลทำให้ที่ดินที่โจทก์ตกลงจะซื้อจากจำเลยมีสภาพด้อยลงกว่าในขณะทำสัญญา ถือได้ว่าเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินตามสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยจะโทษโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 371 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิเลือกที่จะเลิกสัญญาหรือเรียกให้จำเลยชำระหนี้ด้วยการจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านแก่โจทก์ตามสภาพที่เป็นอยู่โดยลดส่วนหนี้ค่าราคาที่ดินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยได้ เมื่อโจทก์ไม่ใช้สิทธิเลิกสัญญา โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าว แม้สัญญาจะซื้อขายมีข้อตกลงว่าหากจำเลยผู้จะขายปฏิบัติผิดสัญญา ผู้จะขายตกลงคืนเงินที่ได้รับชำระไว้แล้วพร้อมดอกเบี้ยก็เป็นเพียงทางเลือกทางหนึ่งมิได้เป็นข้อสัญญาจำกัดหรือเป็นการสละสิทธิของโจทก์ในการเลือกใช้สิทธิ

          การใช้สิทธิเลิกสัญญาในกรณีที่มีคู่สัญญาหลายคน

          มาตรา 390  "ถ้าในสัญญาใดคู่สัญญาเป็นบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง ท่านว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก็แต่เมื่อบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันใช้ ทั้งใช้ต่อบุคคลเหล่านั้นรวมหมดทุกคนด้วย ถ้าสิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่บุคคลคนหนึ่งในจำพวกที่มีสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว สิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่คนอื่น ๆ ก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 781/2523  โจทก์และผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันอีก 2 คน รับโอนบ้านพิพาทซึ่งจำเลยเช่าอยู่เดิม จำเลยไม่ชำระค่าเช่าบ้านพิพาทให้โจทก์อันเป็นการผิดสัญญา โจทก์แต่ผู้เดียวย่อมมีอำนาจบอกเลิกสัญญา และฟ้องขับไล่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8235/2555   การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกัน แจ้งต่อนายทะเบียนให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกัน ส่งมอบกิจการและทรัพย์สินของห้างจำเลยที่ 1 ตามสัญญาให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยเท่ากับเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาเพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ ห. อ. ย. ป. และ จ. เป็นคู่สัญญาฝ่ายเดียวกันตกลงทำสัญญายินยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าเป็นผู้บริหารกิจการห้างจำเลยที่ 1 อันเป็นการทำสัญญาโดยบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง โจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้ต้องอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 390 คือ ต้องใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยบุคคลฝ่ายเดียวกันทั้งหมดรวมกันใช้ โจทก์เพียงคนเดียวในฐานะส่วนตัวไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยลำพังได้



          ผลของการเลิกสัญญา

          มาตรา 391  "เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
          ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
          ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น
          การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่"

          ผลของการเลิกสัญญามี 5 ข้อ 

          (1) เมื่อสัญญาเลิกกันคู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16349/2555  โจทก์ฎีกาว่า เงินจำนวน 344,250 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับไปจากโจทก์เป็นเงินค่าจ้างล่วงหน้าและจำเลยทั้งสองจะต้องคืนแก่โจทก์หรือไม่ สัญญาซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงานติดตั้งระบบไฟฟ้า แบ่งการทำงานและการชำระเงินเป็น 6 งวด แต่เงินจำนวน 344,250 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับไปจากโจทก์นั้น เป็นการรับไปตามสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า ข้อ 1 และสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงานติดตั้งระบบไฟฟ้างวดที่ 1 ซึ่งเงินงวดนี้ไม่ได้ระบุถึงเนื้องานว่าจำเลยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเพียงใด ซึ่งต่างจากการดำเนินการในงวดงานที่ 2 ถึงงวดที่ 6 เพียงแต่มีข้อความว่าชำระเงินจำนวนร้อยละ 10 ของราคาวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงทั้งหมด ในวันเซ็นสัญญาหรือเมื่อผู้ซื้อออกหนังสือสัญญาว่าจะจ้างให้แก่ผู้ขาย และผู้ขายจะนำหนังสือค้ำประกันธนาคารจำนวนเงินเท่ากันมาเป็นหลักค้ำประกัน อันเป็นการสอดคล้องกับเนื้อความในข้อสัญญาที่ว่าโจทก์ได้จ่ายให้แก่จำเลยในวันลงนามสัญญา เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวโจทก์จ่ายให้แก่จำเลยในวันเริ่มลงนามสัญญาโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลการดำเนินงานที่จำเลยรับจ้างทำงานให้แก่โจทก์ เงินจำนวน 344,250 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับไปจากโจทก์จึงเป็นเงินค่าจ้างล่วงหน้า
          ตามสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงาน งวดที่ 2 จำเลยจะต้องดำเนินการสกัดแนวท่อ ฝังบล็อก วางท่อ ร้อยสายไฟฟ้า ต่อสาย ระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์และระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ พร้อมทั้งปิดฝากล่องเชื่อมสายไฟให้เรียบร้อย ทั้งจะต้องจัดทำระบบสายใต้ดินให้แล้วเสร็จร้อยละ 90 ของงาน จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างพยานโจทก์ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยมิได้ส่งมอบงานและดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามสัญญางวดที่ 2 โจทก์จึงชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาย่อมเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยทั้งสองจำต้องให้ฝ่ายโจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยต้องใช้เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่รับไปคืนแก่โจทก์
          สัญญาทั้งสองฉบับเป็นสัญญาจ้างทำของ เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจากจำเลยทั้งสอง ถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างให้ประกอบการงานเรียกเอาคืนซึ่งเงินทดรองที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) จึงมีอายุความ 2 ปี หาใช่เรื่องที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะอันจะมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาจึงเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงสิ้นสุดลงในวันนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่รับไปจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดดังกล่าว เมื่อคิดถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          (2) เงินที่ใช้คืนต้องบวกดอกเบี้ยนับแต่วันที่รับไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2556  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อหนี้ที่ต่างต้องชำระมิได้กำหนดเวลาไว้แน่นอน ต่างฝ่ายย่อมเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลัน โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควร บอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ประกอบมาตรา 369 การที่จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1314 โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระหนี้ แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยมีสิทธิรับเงินมัดจำ จำนวน 100,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงหมายเลข 1315 จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยมิได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ก่อนจึงไม่ชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญาต่อกัน แม้ไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาตามพฤติการณ์ แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 จึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไป กรณีไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท
          สำหรับเงินค่าทำสัญญาที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์สองแปลง เป็นเงินแปลงละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น ไม่ใช่มัดจำ แต่เป็นการชำระราคาค่าที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์บางส่วน เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ส่วนเงินที่จะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 และราคาที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงบางส่วนดังกล่าวที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไว้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2545 อันเป็นวันที่รับไว้เป็นต้นไป

          (3) ถ้ามีการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืนให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2978/2560  โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง จำเลยรับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าร้อยละ 30 ของราคาค่ารับเหมาก่อสร้าง แต่ไม่ได้กำหนดวันเดือนใดที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกัน หากโจทก์ต้องการเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทำการก่อสร้างภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน กล่าวคือ โจทก์ไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นก่อสร้างตามสัญญา จำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวกำหนดวันให้โจทก์ส่งมอบพื้นที่ให้จำเลย ทั้งสองฝ่ายต่างเพิกเฉยปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 3 ปี แสดงว่าคู่สัญญาไม่นำพาที่จะปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ดังนั้น การที่โจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้ง เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่โจทก์ จำเลยได้จัดทำแบบแปลนการก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และบริเวณทางเดินภายในโรงงานและส่งมอบให้แก่โจทก์แล้ว เป็นการงานอันจำเลยได้กระทำให้โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำสืบว่าค่าแบบแปลนมีราคาเท่าใด จึงกำหนดค่าแบบแปลนให้จำเลย 10,700 บาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2559  โจทก์มีอาชีพออกแบบโครงการก่อสร้างย่อมต้องทราบระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเป็นอย่างดีจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่โจทก์จะไม่ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวในอัตราส่วน 1 ต่อ 100 เพื่อใช้ก่อสร้างให้แก่จำเลย ดังนั้นเมื่อโจทก์ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวดังกล่าวแล้ว จำเลยต้องชำระค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 4 ส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ ส่วนการที่จำเลยไม่ได้ทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ดีหรือยังไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้าง อันทำให้จำเลยไม่สามารถทำการก่อสร้างได้ก็ดีก็เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยเอง หาอาจยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ไม่
          โจทก์ออกแบบและส่งมอบแบบโครงการพัทยา สาย 2 ให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยก็ได้ชำระค่าบริการวิชาชีพแก่โจทก์ครบตามสัญญา การที่จำเลยยอมรับมอบงานที่โจทก์ทำและชำระค่าบริการให้แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่ามีข้อโต้แย้งใดบ่งชี้ว่างานออกแบบที่โจทก์ทำขึ้นไม่ถูกต้อง โจทก์จึงย่อมไม่มีความรับผิดใดๆ ตามสัญญาจ้างเดิม การที่โจทก์และจำเลยมาทำสัญญาจ้างออกแบบกันใหม่แม้จะมีเนื้อหาเป็นการให้โจทก์แก้ไขปรับปรุงแบบเดิมที่โจทก์ทำไว้ก็ตาม ต้องถือเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาเพื่อผูกพันตามข้อตกลงใหม่ที่ระบุไว้ในสัญญาจึงไม่ใช่เป็นการก่อหนี้ที่จำเลยเข้าทำสัญญากับโจทก์โดยสำคัญผิดในแบบของสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาอันจะทำให้สัญญาจ้างออกแบบฉบับใหม่ตกเป็นโมฆะตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดังนั้น จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดชำระค่าบริการวิชาชีพตามสัญญาฉบับใหม่แก่โจทก์ อย่างไรก็ดี แม้สัญญาฉบับใหม่จะไม่ตกเป็นโมฆะแต่การที่โจทก์ในฐานะผู้มีอาชีพออกแบบในงานสถาปัตยกรรมย่อมต้องมีหน้าที่ออกแบบให้เป็นไปตามข้อตกลงในกรอบของกฎหมาย ดังนั้น การที่โจทก์ออกแบบอาคารเออยู่ในตำแหน่งที่กฎหมายห้ามไม่ให้ก่อสร้างอาคารที่มีจำนวนเกิน 80 ห้อง นั้น แสดงว่าโจทก์ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงข้อห้ามตามกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับสาธารณชน แม้จำเลยรู้เห็นหรือยินยอมก็ต้องถือว่าโจทก์มีส่วนผิด จึงสมควรไม่กำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 2 ถึงที่ 4 ในส่วนของการออกแบบอาคารเอ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบริการวิชาชีพเฉพาะในส่วนของการออกแบบอาคารบีเท่านั้น ซึ่งเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 428,000 บาท พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2551
          จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มีหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโครงการพหลโยธิน 37 ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้จำเลยสามารถนำแบบแปลนไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของจำเลยแต่โจทก์กลับไม่ดำเนินการตามสัญญาเป็นเหตุให้จำเลยก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด พอถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ออกแบบสำหรับการก่อสร้างไม่ถูกต้องแล้ว ข้อนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ผิดสัญญาจึงไม่ใช่การนำสืบนอกประเด็นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามสัญญาจ้างออกแบบโครงการพหลโยธิน 37 หรือไม่... ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าการออกแบบของโจทก์เป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ต้องการให้เพดานห้องสูงมีความปลอดโปร่งอันส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าซึ่งหากนำไปใช้เป็นแบบในการก่อสร้างจะทำให้อาคารที่ก่อสร้างมีความสูง 25 เมตร เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และการที่โจทก์ซึ่งมีอาชีพด้านการออกแบบยอมกระทำในสิ่งที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สาธารณชนถือว่าโจทก์มีส่วนผิดที่ทำงานโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการออกแบบที่ผิดกฎหมายของตน โจทก์จึงไม่สมควรได้รับค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 2 ส่วนที่เหลือจำนวน 189,582.60 บาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4900/2559  เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้ผิดสัญญาเช่า จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่า การที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยคืนเงินประกันและชดใช้เงินค่าปรับปรุงตึกแถวโดยมิได้ขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาต่อไป ถือได้ว่า โจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาเช่าด้วย จึงเป็นกรณีคู่สัญญาสมัครใจเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แม้การปรับปรุงตึกแถวจะเป็นไปเพื่อประโยชน์และกิจการของโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยเป็นฝ่ายใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนโดยไม่มีสาเหตุอันควร ทำให้ต้องเลิกสัญญาเช่ากันในเวลาต่อมา และการงานที่โจทก์เข้าปรับปรุงตึกแถวเป็นการงานที่โจทก์ทำให้และจำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โจทก์ชอบที่จะเรียกค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงตึกแถวพิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4330/2554  เมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้ ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม การที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยในข้อ 9 ระบุให้บรรดางานที่โจทก์ได้ทำขึ้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยโจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้ เพื่อเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้ค่างานแก่โจทก์ จึงเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า อันเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง หาใช่ว่าจะต้องบังคับตามข้อสัญญาโดยเด็ดขาดเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งงานแก่โจทก์เสมอไปไม่

          (4) การเลิกสัญญาไม่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2554  จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากโจทก์โดยชำระราคาเพียงบางส่วนจำนวน 300,000 บาท แล้วนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่บรรยายฟ้องถึงการที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าที่ดินอันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาซื้อขายโดยขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเพื่อให้ได้ที่ดินกลับคืนเท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญาอันมีผลให้คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังที่เป็นอยู่ แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกที่รับจำนองที่ดินไว้โดยมีมูลหนี้และโดยสุจริต โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้ จึงต้องจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์คืนที่ดินแก่โจทก์โดยติดจำนอง
          การชำระหนี้ระหว่างคู่สัญญาเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมเป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 392 และมาตรา 369 เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คืนที่ดินแก่โจทก์โดยติดจำนองซึ่งโจทก์อาจถูกบังคับจำนองเพื่อให้ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับจำนอง โจทก์จะต้องคืนเงินค่าที่ดินจำนวน 300,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนองครบถ้วนแล้วจึงจะเป็นการกลับคืนสู่ฐานะเดิมที่ถูกต้อง การที่โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการขอให้ที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนโจทก์โดยติดจำนองและให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินบางส่วนจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองครบถ้วนแล้วได้ แม้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ได้ฟ้องแย้งก็ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ. พ. มาตรา 142

          (5) การเลิกสัญญาไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย (ถ้ามี)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19692/2557  แม้พฤติการณ์ที่โจทก์ปิดวาล์วก๊าซ ถือว่าโจทก์ในฐานะคู่สัญญาได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาซื้อขายก๊าซแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่กรณีก็เป็นการเลิกสัญญาเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเบี้ยปรับซึ่งเป็นค่าเสียหายจากการผิดสัญญาซื้อขายก๊าซของจำเลย ซึ่งได้เกิดขึ้นและยังมีอยู่ตลอดไปจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยโดยสิ้นเชิง การเลิกสัญญาดังกล่าวหาได้ทำให้สิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับจากจำเลยระงับไปไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซจากจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 638/2556  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ บัญญัติว่า "การใช้สิทธิ์เลิกสัญญานั้น หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่" บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายเพียงว่าการเลิกสัญญานั้นไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้น กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้มีความรับผิดที่ตนเองไม่ชำระหนี้แล้วการไม่ชำระหนี้เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213, 215 บทบัญญัติมาตรา 391 มิได้ให้สิทธิพิเศษที่จะเรียกค่าเสียหายในกรณีที่คู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากันโดยลูกนี่มิได้ค้างชำระหนี้หรือผิดสัญญาด้วย ดังนั้น การวินิจฉัยว่าโจทก์จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาได้หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาก่อนว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่

การถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณ

 

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 531  "อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้นท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
          (1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือ
          (2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
          (3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้"

           (1) เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณเนื่องจากผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ตามมาตรา 531 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8485/2538   ข้ออ้างของโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องนั้น มิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ได้ประทุษร้ายต่อโจทก์ทั้งสองเป็นความผิดอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญา หรือจำเลยที่ 1 ได้ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองอย่างร้ายแรง หรือจำเลยที่ 1 ได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ทั้งสองในเวลาที่โจทก์ทั้งสองยากไร้และจำเลยที่ 1 ยังสามารถจะให้ได้แต่อย่างใด แม้โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาว่า จำเลยที่ 1 ขับไล่โจทก์ทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายมาด้วยว่าจำเลยที่ 1 ขับไล่โจทก์ทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทด้วยการกระทำหรือด้วยวาจาอย่างใดอันจะฟังได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 ได้ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองอย่างร้ายแรง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ ก็ไม่มีเหตุที่จะถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งสองอันจะทำให้โจทก์ทั้งสองเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 531 แต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 ได้ และเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่อาจเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ทั้งสองก็ย่อมไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 และนิติกรรมการขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 และที่ 4 ได้ด้วย
          ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสองจะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสองได้หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาหากศาลฎีกาเห็นสมควร ก็ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้


          (2) เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณเนื่องจากผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง ตามมาตรา 531 (2)

          ด่าผู้ให้ว่า "เป็นคนจัญไร" มีความหมายว่า "เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล" เป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7301/2559 จำเลยด่าโจทก์ว่า เป็นคนจัญไร ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า "เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล" อันเป็นถ้อยคำรุนแรงไร้ความเคารพนับถือเป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดาผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

          การพูดจาโดยไม่มีสัมมาคารวะและไม่เคารพยำเกรงโจทก์ผู้เป็นมารดาเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง อันจะถือได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18347/2557  คดีนี้ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยกล่าวแก่โจทก์ว่า "แม่แก่แล้วอายุตั้ง 90 ปี พูดกลับไปกลับมา แม่ใหญ่ได้แค่ในห้องนี้แหละ ข้างนอกฉันใหญ่ ถ้าไม่มีแม่ ฉันก็ดูแลทุกอย่างเองได้ ออกไปจากบ้านเถอะ" ต่อมาชั้นสืบพยานโจทก์เบิกความแต่เพียงว่า จำเลยกล่าวแก่โจทก์ว่า "แม่อายุ 90 ปี แล้ว พูดกลับไปกลับมา แม่ไม่อยู่ไม่มีแม่เค้าก็ทำได้" และจำเลยบอกคนดูแลโจทก์ให้จูงโจทก์ออกไปข้างนอก แม้ในข้อนี้จำเลยจะให้การปฏิเสธว่าไม่ได้พูดข้อความเช่นนั้นและอ้างว่าวันเกิดเหตุจำเลยเดินทางไปต่างจังหวัดก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการพูดจาโดยไม่มีสัมมาคารวะและไม่เคารพยำเกรงโจทก์ผู้เป็นมารดาเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง อันจะถือได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

          กล่าวเพียงคำหยาบไม่ให้ความเคารพและลำเลิกบุญคุณ หาใช่เจตนาทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงหรือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10552/2557   การที่จำเลยกล่าวต่อโจทก์ซึ่งเป็นบิดาโดยใช้คำว่ามึงกู เป็นคำหยาบไม่ให้ความเคารพโจทก์ ส่วนข้อความที่ว่า “ถ้ากูไม่ช่วยมึง มึงติดคุกไปนานแล้ว” เป็นการกล่าวเพื่อลำเลิกบุญคุณ ที่จำเลยเคยช่วยเหลือโจทก์ในอดีตเท่านั้น หาใช่เจตนาทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงหรือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงไม่ คำกล่าวนี้ยังไม่ถึงขนาดที่จะพอฟังได้ว่า จำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

          เรียกโจทก์ว่า อีแก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2553 ถ้อยคำที่จำเลยด่าโจทก์ว่า “อีแก่ไม่ยุติธรรม มึงทำให้ครอบครัวกูแตกแยก กูจะไม่อยู่กับมึงแล้ว” เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นโจทก์ซึ่งเป็นอา จำเลยเรียกโจทก์ว่า อีแก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) โจทก์ย่อมเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้
          ก่อนฟ้องคดีจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 27546 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้อื่น เมื่อถอนคืนการให้ จำเลยต้องส่งคืนทรัพย์สินแก่โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ โดยคืนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ตามสภาพที่เป็นอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 413 วรรคหนึ่งและมาตรา 534

          ต้องนำสืบด้วยว่าจำเลยด่าว่าโจทก์อย่างไรบ้างที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6323/2552  โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยประพฤติเนรคุณเป็น 2 ประการ ประการแรกจำเลยขับไล่และด่าว่าโจทก์ว่า “แก่แล้วทำไมไม่ตายเสียที น่าจะตายให้พ้นๆ ไป จะได้ไม่เป็นภาระคนอื่น” ประการที่สอง จำเลยไม่ยอมให้สิ่งจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ทั้งๆ ที่จำเลยสามารถจะหยิบยื่นให้ได้ อันเป็นเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) และ (3) ตามลำดับ แต่เหตุประการแรกโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยด่าว่าโจทก์อย่างไรบ้างที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) ส่วนเหตุในประการที่สองโจทก์อ้างว่าจำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูและไม่ให้ค่าเลี้ยงชีพเมื่อโจทก์ขอ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยังมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินอีกอย่างน้อย 1 แปลง และโจทก์ยังมีบุตรคนอื่นๆ ให้การอุปการะเลี้ยงดูอีกด้วย ตามสถานภาพของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นคนยากไร้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3) กรณีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนคืนการให้ได้

           ด่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ว่า เป็นหมา ไม่มีศีลธรรม เป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 980/2550   โจทก์เจ็บป่วยไปขอความช่วยเหลือจากจำเลย จำเลยไม่พอใจพร้อมพูดว่า บักหมามึงแก่แล้ว พูดจากลับไปกลับมาเหมือนเด็กเล่นขายของ มึงไม่มีศีลธรรม มึงไปตายที่ไหนก็ไป ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง จึงมีเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณที่โจทก์ถอนคืนการให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)       
 
          พูดกับผู้ให้ว่า "..เสือกโง่เอง.." เป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2550   คำฟ้องโจทก์อ้างเหตุประการแรกว่า จำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ด้วยถ้อยคำว่า "โจทก์ยกที่ดินให้แล้ว ยังจะเอาคืน เสือกโง่เอง อย่าหวังว่าจะได้สมบัติคืนเลย" ข้อความนี้ เป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด ดังนั้น แม้หากจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กล่าวถ้อยคำตามคำฟ้องจริงก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเพิกถอนการให้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้กล่าวข้อความตามคำฟ้องหรือไม่
          โจทก์บรรยายฟ้องต่อมาความว่า หลังจากโจทก์ยกที่ดินให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ตัดโค่นไม้ยางพาราเสียและรับเงินราคาค่าไม้ยางทั้งหมดและจงใจทอดทิ้งโจทก์เสีย ไม่ยอมส่งอาหารหรือปัจจัยสี่แก่โจทก์เลย โจทก์พักอาศัยอยู่คนเดียว จำเลยที่ 1 จงใจประพฤติเนรคุณโจทก์ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2542 ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อาจได้รับอันตรายแก่ชีวิต ทั้งนี้จำเลยที่ 1 สามารถดูแลปรนนิบัติโจทก์ได้แต่จำเลยที่ 1 ละเลยทอดทิ้งเสียทั้งที่สามารถทำได้ ตามคำฟ้องของโจทก์และการนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่า โจทก์เคยขอและจำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์แต่อย่างใด กรณีจึงไม่เข้าเหตุที่โจทก์มีสิทธิถอนคืนการให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3)

           ด่าว่าผู้ให้ด้วยถ้อยคำ "ไอ้เหี้ย.." และไล่ให้ไปเป็นขอทาน พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าจำเลยที่ 1 สิ้นความเคารพยำเกรงผู้ให้ซึ่งเป็นบิดา เป็นการลบหลู่และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2304/2548  โจทก์เป็นบิดาจำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยตนเองยังปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 ขับไล่โจทก์ให้รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินพิพาท โดยพูดด่าว่าโจทก์ว่า "ไอ้เหี้ย ให้รื้อบ้านออกไปจากที่ดินของกู ไปให้พ้นไม่ต้องมาใช้น้ำบ้านกู ให้มึงรื้อบ้านออกไปเป็นขอทานที่วัดเสียเลย" ทั้งยังด่าว่าโจทก์อีกว่า "พ่ออย่างมึงกูไม่นับถือเป็นพ่อต่อไป" นอกจากนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาข้อหายักยอกเงินค่าขายที่ดินที่โจทก์ฝากไว้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ได้พาพวกไปที่บ้านโจทก์โดยจำเลยที่ 1 พูดจาข่มขู่ให้โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาเสีย มิฉะนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกจะฆ่าโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ด่าว่าโจทก์อีกว่า "ไอ้เหี้ยให้รื้อบ้านออกไปจากที่กู" และบอกเรื่องที่ดินว่า "ได้ขายให้คนอื่นแล้ว มึงอย่าหวังว่าจะได้คืนจากกูได้" การที่จำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำและพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าจำเลยที่ 1 สิ้นความเคารพยำเกรงโจทก์ซึ่งเป็นบิดา เป็นการลบหลู่และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) แม้คำเบิกความของพยานโจทก์จะมิได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์เมื่อใด ก็มิใช่สาระสำคัญถึงขนาดทำให้พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้
          การที่จำเลยที่ 2 ตกลงซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 แต่กลับปล่อยให้จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยอ้างเหตุว่าตนเห็นว่ายังมีการฟ้องร้องกันอยู่ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีปัญหาเรื่องที่ดินพิพาทกันแล้วยังซื้อไว้ เช่นนี้น่าจะเป็นการซื้อไว้โดยไม่สุจริต ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ยังอาศัยอยู่กับบิดามารดา และไม่มีเหตุผลใดๆ ในการซื้อที่ดินพิพาทมาทิ้งไว้โดยไม่เข้าทำประโยชน์ พฤติการณ์ในการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำไปโดยรู้ว่าโจทก์ผู้ให้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายต้องเสียเปรียบ จึงเป็นการสมคบกันฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้

          ด่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรงและหยาบคายเปรียบผู้ให้เป็นสัตว์และด่าว่าให้ผู้ให้ไปตาย การกระทำของจำเลยทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียงเป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8655/2544   โจทก์ได้ยกที่ดินให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยประพฤติตนไม่ดี เล่นการพนันและเสพสุรา โจทก์ได้ว่ากล่าวตักเตือน จำเลยไม่ยอมเชื่อฟังกลับด่าโจทก์ว่า "อีแก่ อีชาติหมา มึงจะไปตายไหนก็ไป กูไม่นับถือมึงเป็นแม่ลูกกัน" อันเป็นถ้อยคำที่รุนแรงและหยาบคายเปรียบโจทก์เป็นสัตว์และด่าว่าให้โจทก์ไปตาย และจำเลยใช้ไม้จะตีโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะบุตรไม่พึงกระทำต่อโจทก์ผู้เป็นมารดา การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์ผู้ให้ย่อมเรียกถอนคืนการให้ เพราะเหตุจำเลยผู้รับประพฤติเนรคุณได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2)

          ด่าว่าผู้ให้ด้วยถ้อยคำรุนแรงแสดงว่าจำเลยสิ้นความเคารพยำเกรงผู้ให้ซึ่งเป็นมารดาเป็นการลบหลู่ และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ หาใช่เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพหรือไม่สมควรกระทำต่อมารดาไม่ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2543  หลังจากโจทก์ยกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรแล้วจำเลยยังคงเลี้ยงดูโจทก์โดยโจทก์อาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าว ต่อมาจำเลยเริ่มเปลี่ยนแปลงโดยแสดงอาการรังเกียจเมื่อโจทก์ไปที่บ้านจำเลย และต่อมาเริ่มด่าว่าโจทก์ว่า"อีหัวหงอก อีสันดานหมา ไม่รู้จักภาษาคนมึงจะไปอยู่ที่ไหนก็ไป" กับเคยด่าโจทก์ว่า"อีหัวหงอก อีหัวโคน อีสันดานหมา อีตายยาก กูเกิดผิดพ่อผิดแม่ กูเกิดหลงรูหลังจากนั้นจำเลยขายบ้านที่โจทก์อยู่อาศัยโดยมิได้บอกกล่าว ผู้ซื้อจึงได้รื้อถอนบ้านดังกล่าวไป จำเลยบอกโจทก์ว่า "ก็ไม่เลี้ยงมึงอีก มึงจะไปอยู่ที่ไหนก็ไป" โจทก์จึงไปอาศัยอยู่กับน้องสาวจำเลย การที่จำเลยด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำรุนแรงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยสิ้นความเคารพยำเกรงโจทก์ซึ่งเป็นมารดาเป็นการลบหลู่ และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ หาใช่เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพหรือไม่สมควรกระทำต่อมารดาไม่ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิถอนคืนการให้ เพราะจำเลยประพฤติเนรคุณได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 531(2) แม้คำเบิกความของพยานโจทก์จะมิได้ระบุว่า จำเลยด่าโจทก์เมื่อใด ก็มิใช่สาระสำคัญที่ถึงขนาดทำให้พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้เสียเลย

          ด่าผู้ให้ด้วยถ้อยคำที่ทำให้เข้าใจได้ว่าผู้ให้เป็นคนไม่ดี บ้าสมบัติ บ้าผู้หญิง ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงแต่คำหยาบคายและเป็นคำกล่าวที่ไม่สมควรเท่านั้นหากแต่เป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2540  โจทก์จดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยผู้เป็นบุตรเพื่อนำไปทำมาหาเลี้ยงชีพนั้น เป็นการให้ทรัพย์สินแก่บุตรโดยเสน่หามิใช่เป็นการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 535(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่ตามธรรมจรรยาที่จะต้องกระทำเช่นนั้น ทั้งในการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยก็ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และหนังสือสัญญาให้ที่ดินว่าเป็นการให้ไม่มีค่าตอบแทน เพราะผู้รับให้เป็นบุตร จำเลยผู้รับให้จะอ้างว่าที่ระบุการให้เช่นนั้น เป็นแต่เพียงกระทำขึ้นตามระเบียบ ปฎิบัติของกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทยมิได้กระทำตามเจตนาแห่งการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาหาได้ไม่จึงต้องฟังว่าการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นการให้ทรัพย์สินโดยเสน่หา 
          จำเลยด่าโจทก์ผู้ให้ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยด้วยถ้อยคำว่า"ไอ้เปรต"ไอ้เฒ่าบ้าแก่จะเข้าโลงยังหลงบ้าสมบัติแถมบ้าเมียไม่สมแก่ไอ้หัวล้าน" และด้วยถ้อยคำว่า "ไอ้เปรตไอ้เฒ่าไอ้หัวดอ ตายกับหีอีคลี่" ต่อหน้าบุคคลอื่น การที่จำเลยด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำเช่นนั้นผู้ได้ยินฟังย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี บ้าสมบัติบ้าผู้หญิง ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงแต่คำหยาบคายและเป็นคำกล่าวที่ไม่สมควรเท่านั้นหากแต่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ผู้ให้อย่างร้ายแรง อันถือได้ว่าเป็นการประพฤติเนรคุณ โจทก์ย่อมจะเรียกถอนคืนการให้จากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2) 
          แม้สารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดิน จะระบุว่า อ.ขายให้แก่จำเลยก็ตาม แต่โจทก์ก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าโจทก์ผู้เป็นบิดาเป็นผู้ชำระราคาที่ดิน โดยให้จำเลยบุตรของโจทก์ของโจทก์เป็นผู้รับโอนในฐานะผู้ซื้อเนื่องจากโจทก์ประสงค์จะยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย เพราะเป็นการนำสืบถึงเหตุแห่งความจริงเกี่ยวกับเจตนาของโจทก์ผู้ให้และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับการยกให้ การจดทะเบียนก็ยังคงเป็นการจดทะเบียนขายที่ดินของ อ. ให้โจทก์ เพียงแต่ระบุชื่อผู้ซื้อเป็นจำเลยซึ่งเป็นผู้ที่โจทก์ประสงค์จะยกที่ดินนั้นให้เท่านั้น หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 
         
           (3) เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณเนื่องจากผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้ ตามมาตรา 531 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3601/2542   โจทก์กู้เงินจาก ร. โดยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้ ร. ยึดถือไว้เป็นประกัน จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนโจทก์เป็นเงิน 70,000 บาท และรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืนมา ต่อมาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างราคา 500,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทน เมื่อเปรียบเทียบแล้วราคาที่ดินพิพาทสูงกว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนโจทก์เมื่อ 3 ถึง 4 ปี ที่แล้วไม่น้อยกว่า 7 เท่า การที่โจทก์ให้ที่ดินพิพาทจึงถือไม่ได้ว่าเป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้ในการที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทน และการที่ ร. ยึดถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทไว้โดยไม่ได้จดทะเบียนจำนอง ไม่ใช่กรณีที่มีภาระเกี่ยวกับตัวที่ดินพิพาท การให้ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่การให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน จำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ยอมให้เงินโจทก์ซื้อยารักษาตัวอันเป็นการบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้และจำเลยที่ 1 ยังสามารถจะให้ได้ โจทก์จึงเรียกถอนคืนการให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3)
          โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกถอนคืนการให้จากจำเลยที่ 1 ได้แต่เพียงผู้เดียว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2551  เหตุที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุที่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3) นั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ให้มีความจำเป็นเพราะขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีวิต แล้วผู้ให้ร้องขอความช่วยเหลือจากผู้รับ และผู้รับอยู่ในฐานะที่จะให้ได้โดยไม่เดือดร้อน แล้วผู้รับปฏิเสธที่จะให้นั้น การที่จำเลยจะขายที่ดินที่โจทก์ยกให้แต่ถูกโจทก์ห้ามปราม จำเลยจึงไปอยู่เสียที่อื่นจนโจทก์ต้องไปอาศัยอยู่กับน้องสาวนั้น จะฟังว่าโจทก์ได้ขอความช่วยเหลือจากจำเลยและจำเลยอยู่ในฐานะที่จะให้ความช่วยเหลือโจทก์ได้โดยไม่เดือดร้อน แล้วจำเลยไม่ช่วยเหลือหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณโจทก์ตามฟ้อง

          (4) ทายาทของผู้ให้อาจเรียกให้ถอนคืนการให้ได้แต่เฉพาะในเหตุที่ผู้รับได้ฆ่าผู้ให้ตายโดยเจตนาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้กีดกันผู้ให้ไว้มิให้ถอนคืนการให้
          มาตรา 532  "ทายาทของผู้ให้อาจเรียกให้ถอนคืนการให้ได้แต่เฉพาะในเหตุที่ผู้รับได้ฆ่าผู้ให้ตายโดยเจตนาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้กีดกันผู้ให้ไว้มิให้ถอนคืนการให้
          แต่ว่าผู้ให้ได้ฟ้องคดีไว้แล้วอย่างใดโดยชอบ ทายาทของผู้ให้จะว่าคดีอันนั้นต่อไปก็ได้"

          อายุความฟ้องคดีถอนคืนการให้

          มาตรา 533  "เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่
          อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9854/2544    บุคคลผู้ชอบที่ะฟ้องเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณได้นั้น ต้องฟ้องคดีภายในหกเดือนนับแต่เหตุประพฤติเนรคุณนั้นได้ทราบถึงผู้นั้น และห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้นตามป.พ.พ. มาตรา 533 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิเลือกจะฟ้องคดีภายในหกเดือนหรือสิบปี
          แม้ผู้ให้ยังมีชีวิตอยู่และยากไร้ ผู้รับให้มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้ให้ตามความจำเป็นและผู้รับให้สามารถให้ได้ตลอดเวลาที่ผู้ให้ยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม แต่เหตุประพฤติเนรคุณทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อนับถึงวันฟ้องเกินกว่าหกเดือนนับแต่วันที่ผู้ให้ได้ทราบถึงเหตุเหล่านั้น คดีจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 533 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6962/2550   โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยกที่ดินเฉพาะส่วนทั้งห้าแปลงให้จำเลยโดยเสน่หา ต่อมาประมาณปลายปี 2538 ถึงต้นปี 2539 จำเลยประพฤติเนรคุณด้วยการด่าว่าและหมิ่นประมาทโจทก์ในฐานะบุพการีอย่างร้ายแรง ขอเรียกถอนคืนการให้ที่ดินทั้งห้าแปลงจากจำเลย จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าว มูลเหตุของการฟ้องคดีนี้ หากเหตุการณ์ดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์เกิดขึ้นจริง ฟ้องของโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว แม้คำให้การของจำเลยจะไม่ระบุระยะเวลาที่เป็นอายุความตามข้อต่อสู้ไว้ แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณเพียงเรื่องเดียว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติเรื่องอายุความการถอนคืนการให้ไว้ในลักษณะให้ มาตรา 533 เพียงมาตราเดียวดังนี้ นอกจากจำเลยได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์แล้ว จำเลยยังได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธและการขาดอายุความให้ปรากฏว่าเหตุใดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความคำให้การของจำเลยชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงมีประเด็นเรื่องอายุความ
         จำเลยประพฤติเนรคุณด่าและหมิ่นประมาทโจทก์เมื่อประมาณปลายปี 2538 ถึงต้นปี 2539 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 เกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ได้ทราบถึงเหตุเหล่านั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 533 วรรคหนึ่ง

          การให้ที่จะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้


          มาตรา 535  "การให้อันจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ คือ
          (1) ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้
          (2) ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
          (3) ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
          (4) ให้ในการสมรส"

          ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน จะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3384/2552 จำเลยทั้งสองนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคารเพื่อประโยชน์ของโจทก์ในวันเดียวกับที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันซึ่งผู้ให้ไม่อาจถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4475/2551   หลังจากจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์แล้ว จำเลยได้กู้เงินจากธนาคาร ก. เพื่อรับภาระหนี้แทนโจทก์ สอดคล้องกับสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทซึ่งระบุว่าในวันที่ 27 มกราคม 2538 โจทก์ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. แล้วจึงจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย และในวันเดียวกันจำเลยได้ จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันไว้แก่ธนาคาร ก. โดยจำเลยกู้เงิน 150,000 บาท จึงรับฟังได้ว่า โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยเป็นการตอบแทนที่จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท อันเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2)
          แม้หนังสือสัญญาให้ที่ดินจะระบุว่า เป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน จำเลยก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินนั้น เป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันได้ เพราะคดีนี้เป็นการฟ้องถอนคืนการให้ ไม่ใช่คดีฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ จึงไม่ใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร อันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2543   การที่โจทก์ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยโดยเสน่หา โดยโจทก์ยังคงมีสิทธิเก็บกินในที่ดินที่ยกให้นั้น ถือได้ว่าเป็นการให้ทรัพย์สินแก่จำเลยโดยมีค่าภาระติดพัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณตามป.พ.พ. มาตรา 535 ได้ และหากโจทก์ถูกจำเลยรบกวนสิทธิเก็บกิน โจทก์สามารถใช้สิทธิทางศาลบังคับจำเลยไม่ให้ขัดขวางการใช้สิทธิเก็บกินของโจทก์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องถอนคืนการให้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10344/2551   ขณะ ท. สามีโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ โจทก์กับ ท. แบ่งที่ดินสำหรับปลูกบ้าน ที่นาและที่สวนให้แก่บุตรทุกคนรวมทั้งจำเลยด้วย โดยจำเลยได้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในการให้ที่ดินดังกล่าวมีข้อตกลงว่า โจทก์กับ ท. มีสิทธิเก็บกินในที่ดิน ถ้าเป็นที่นาโจทก์กับ ท. มีสิทธิเก็บค่าเช่าที่นา ถ้าเป็นที่สวนผลไม้ โจทก์กับ ท. มีสิทธินำผลไม้ไปขายได้หรือหากบุตรซึ่งเป็นผู้รับนำผลไม้ไปขายก็ต้องนำเงินมาให้โจทก์กับ ท. ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยโดยโจทก์ยังมีสิทธิเก็บกินผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกถอนคืนการให้ เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2)

          ให้ในการสมรส จะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2545   การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าโจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองเนื่องในโอกาสที่จำเลยทั้งสองสมรสกันเพื่อให้ใช้ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวสืบไปนั้นหาใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารหลักฐานการจดทะเบียนที่ระบุว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่ เพราะเป็นการนำสืบให้เห็นถึงมูลเหตุจูงใจที่โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองว่าเป็นการให้เนื่องในโอกาสใด จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบได้ 
          โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองในการสมรส ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะได้ประพฤติเนรคุณโจทก์หรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็จะฟ้องขอถอนคืนการให้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 535 (4) ไม่ได้



เหตุสุดวิสัย ที่อาจจะขอขยายระยะเวลาดําเนินการตามสัญญาทางปกครอง

               สัญญาทางปกครอง
               สัญญาเป็นการแสดงเจตนาทำข้อตกลงที่มีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สัญญา ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดสัญญาโดยไม่ปฏิบัติตามที่ได้ตกลงกันไว้ อาจจะต้องเสียค่าปรับ ถูกบอกเลิกสัญญา หรืออาจถูกลงโทษ ตามข้อกําหนดที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายผู้รับจ้างในสัญญาทางปกครองต้องปฏิบัติไปตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการทําสัญญากับทางราชการมีกฎหมายกําหนด ระเบียบ ขั้นตอน และหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติอย่างชัดเจน ซึ่งบางกรณี การที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติไปตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากคู่สัญญาฝ่ายนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่อาจเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัยบางประการ ซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นกฎหมายได้กําหนดให้หัวหน้าส่วนราชการมีอํานาจที่จะพิจารณาอนุญาตขยายระยะเวลาดําเนินการตามสัญญาได้ 
               ส่วนกรณีใดจะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันอาจขยายระยะเวลาได้นั้น ศาลปกครองได้เคยวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวไว้ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความรุนแรงจนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการรับเหมาซึ่งรวมทั้งผู้ฟ้องคดีประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะเข้าทํางานในพื้นที่ก่อสร้างจริง ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่สามารถขอขยายเวลาการทำงานตามสัญญาออกไปได้

          คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 260/2552  คดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นซองประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่ว่าการอําเภอบันนังสตา จังหวัดยะลาและได้ลงนามในสัญญาจ้างกับผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2547 วงเงินค่าก่อสร้าง 7,980,000 บาท รวมทั้งได้นําหนังสือค้ําประกันของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุจํากัด (มหาชน) จํานวน 399,000 บาท มอบให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยต้องเริ่มทํางานภายในวันที่ 23 มีนาคม 2547 และต้องทําให้เสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งในสัญญาจ้างดังกล่าวได้กําหนดว่าถ้าผู้รับจ้างมิได้ลงมือทํางานภายในกําหนดเวลาหรือไม่สามารถทํางานให้แล้วเสร็จตามกําหนดเวลา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิยกเลิกสัญญาและมีสิทธิจ้างผู้รับจ้างรายใหม่เข้าทํางาน รวมทั้งมีสิทธิริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ภายหลังจากที่ทําสัญญาแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เข้าทํางานภายในระยะเวลาที่กําหนด นายอําเภอบันนังสตาในฐานะผู้รับมอบอํานาจจากผู้ถูกฟ้องคดีจึงจัดทําหนังสือเร่งรัดให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดําเนินการก่อสร้างตามสัญญา แต่ผู้ฟ้องคดีขอสงวนสิทธิขยายระยะเวลาการก่อสร้างโดยอ้างว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภาคใต้ทําให้แรงงานไม่ยอมเข้าทํางานในพื้นที่ ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่า เหตุดังกล่าวมิใช่เหตุอันอาจขอขยายระยะเวลาได้แต่เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงได้ขอให้ผู้ฟ้องคดีเร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือยืนยันความรับผิดชอบในการทํางาน แต่เมื่อถึงกําหนดก็ไม่ได้เข้าดําเนินการก่อสร้าง ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างและขอสงวนสิทธิในการริบเงินประกันตามสัญญากับผู้ฟ้องคดี หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีได้อนุมัติให้อําเภอบันนังสตาดําเนินการจ้างก่อสร้างอาคารที่ว่าการโดยวิธีพิเศษ แต่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดสนใจรับงานก่อสร้างอาคารดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อนหน้านี้ผู้ถูกฟ้องคดีได้ทําการสํารวจว่ามีผู้ประกอบการรับเหมาที่อยู่ในข่ายได้รับผลกระทบการขาดแคลนแรงงานจากปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่ามีผู้รับเหมายื่นคําร้องขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างหรือขอต่ออายุสัญญาจ้างหรือของดหรือลดค่าปรับ ผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่อาจริบหลักประกันได้เนื่องจากการที่ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาเป็นเพราะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทําให้คนงานไม่กล้าเข้าไปทํางานในพื้นที่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ฟ้องคดี
               ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 139 วรรคหนึ่ง กําหนดว่า การงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญาหรือขยายระยะเวลาทําการตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้อยู่ในอํานาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะพิจารณาได้ตามจํานวนที่มีเหตุเกิดขึ้นจริงเฉพาะกรณีดังต่อไปนี้ (1) เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของส่วนราชการ (2) เหตุสุดวิสัย (3) เหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดียอมรับว่าได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จริง กรณีจึงมีเพียงปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีความรุนแรงจนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถจัดหาคนงานเข้าทํางานในพื้นที่ก่อสร้างได้จริงหรือไม่ ซึ่งเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้ทําการสํารวจแล้วพบว่า ผู้ประกอบการรับเหมาเกือบทั้งหมดอยู่ในข่ายได้รับผลกระทบการขาดแคลนแรงงานจากปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น นอกจากนี้เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีบอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีก็ปรากฏว่าไม่มีผู้ประกอบการรายใดสนใจที่จะรับงานก่อสร้างดังกล่าว โดยต่างให้เหตุผลว่า พื้นที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่ล่อแหลมเสี่ยงภัย คนงานก่อสร้างไม่กล้าเข้าทํางาน หรือพักอาศัยในสถานที่ก่อสร้าง ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถรับงานจ้างก่อสร้างอาคารที่ว่าการอําเภอบันนังสตา ไม่ได้มีสาเหตุสําคัญมาจากเรื่องงบประมาณที่ไม่เพียงพอแต่เพียงประการเดียว และข้อเท็จจริงดังกล่าวเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น มีความรุนแรง จนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการรับเหมาซึ่งรวมทั้งผู้ฟ้องคดีประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะเข้าทํางานในพื้นที่ก่อสร้างจริง ประกอบกับเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ฟ้องคดีไม่อาจป้องกันได้ แม้จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นผู้ฟ้องคดี กรณีจึงถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตามนัยข้อ 139 วรรคหนึ่ง ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และของสัญญาจ้าง เมื่อผู้ฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งเหตุสุดวิสัยดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีทราบและขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญาจ้าง ผู้ถูกฟ้องคดีชอบที่จะพิจารณาขยายระยะเวลาให้แก่ผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่พิจารณาขยายระยะเวลาและบอกเลิกสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดี รวมทั้งริบเงินหลักประกันจากธนาคารผู้ค้ำประกันจึงเป็นการไม่ชอบตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 
               

กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย


          มาตรา 291  "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"

           กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีหลักดังนี้
          (1) ผู้ใด
          (2) กระทำโดยประการใด
          (3) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
          (4) โดยประมาท (ไม่ต้องมีเจตนา)


          การกระทำโดยประมาท คือ การกระทำที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังทั้งๆที่สามารถใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 59 วรรคสี่ "กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่"
          การกระทำนั้น ได้แก่ การเคลื่อนไหวและรวมถึงการงดเว้น ตามมาตรา 59 วรรคท้าย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7581/2561 การที่จำเลยที่ 3 มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยของผู้ต้องหาแต่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลคือ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 3 กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท แม้มีเหตุเพลิงไหม้ทำให้เกิดผลคือความตายของผู้ตายด้วย ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3 และผลคือความตายของผู้ตายขาดตอนลง เพราะถ้าจำเลยที่ 3 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ย่อมช่วยเหลือผู้ตายได้ทันเนื่องจากห้องทำงานของจำเลยที่ 3 อยู่หน้าห้องขังเยาวชนและติดกับห้องขังหญิง ความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3
          การที่จำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาทั้งสี่อย่างเต็มที่แล้วแต่ไม่สามารถช่วยได้ แสดงให้เห็นว่านอกจากจำเลยที่ 3 จะต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแล้วยังนำสืบต่อสู้ด้วยว่าไม่ได้กระทำโดยประมาท ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าหลงต่อสู้ ทำให้ไม่มีโอกาสนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำโดยประมาท จึงฟังไม่ขึ้น แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เจตนาฆ่าผู้อื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาได้เพราะการกระทำโดยเจตนาและการกระทำโดยประมาทมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและไม่ถือเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงชอบแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1909/2516  จำเลยขับรถยนต์บรรทุกเสาไฟฟ้าโดยใช้ล้อพ่วง  เมื่อล้อรถพ่วงหลุดทำให้เสาตกลงมาขวางถนน  จนกระทั่งค่ำแล้วจำเลยก็ไม่ได้จัดให้มีโคมไฟหรือเครื่องสัญญาณอย่างอื่น เพื่อให้ผู้ใช้ถนนเห็นเสาที่ขวางถนนอยู่นั้น  เป็นเหตุให้รถที่แล่นมาชนเสา มีคนตายและบาดเจ็บ ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาท และผลเสียหายเกิดขึ้นจากการที่จำเลยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นได้แต่หากระทำไม่ จำเลยจึงมีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2538  จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปิดกั้นถนนซึ่งมีทางรถไฟผ่านได้เปิดสวิตช์สัญญาณไฟ 5 ดวง และให้สัญญาณโคมไฟสีเขียวแก่จำเลยที่ 2 ผู้ขับขบวนรถไฟเพื่อผ่าน แต่ไม่ได้นำแผงกั้นถนนไปปิดกั้นถนน เป็นสาเหตุทำให้รถยนต์โดยสารแล่นข้ามชนตู้โดยสารรถไฟ เป็นเหตุให้คนตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2544  แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจุดที่จำเลยจอดรถและเกิดเหตุชนกันอยู่ในไหล่ทางด้านซ้ายของถนนในลักษณะที่ไม่กีดขวางการจราจรแล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยจอดรถในเวลามืดค่ำโดยไม่ได้เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ขับขี่มองเห็นรถที่จอดอยู่ จนเป็นเหตุให้ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถคันที่จำเลยจอดทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นผลจากความประมาทของจำเลยไม่ว่าจะฟังว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยก็ตามก็ต้องถือว่าเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดเพราะความประมาทของจำเลยด้วยจึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น

          การกระทำนั้นประมาทหรือไม่ ต้องสมมุติบุคคลขึ้นมาคนหนึ่งนำมาเปรียบเทียบกับตัวผู้กระทำ คือ เป็นบุคคลที่อยู่ในภาวะเช่นเดียวกัน อยู่ในวิสัยเช่นเดียวกัน และมีพฤติการณ์อย่างเดียวกัน แล้วเปรียบเทียบดูว่าหากบุคคลที่สมมุติอยู่ในภาวะเช่นนั้น มีวิสัยเช่นเดียวกับผู้กระทำ และมีพฤติการณ์อย่างเดียวกันสามารถใช้ความระมัดระวังได้หรือไม่ ถ้าหากใช้ความระมัดระวังได้แต่ผู้กระทำไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง การกระทำนั้นย่อมเป็นการกระทำโดยประมาท

          ผลที่เกิดขึ้นจะต้องมีความสัมพันธ์กับการกระทำโดยประมาท (ผลโดยตรง)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7581/2561  การที่จำเลยที่ 3 มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยของผู้ต้องหาแต่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลคือ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 3 กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท แม้มีเหตุเพลิงไหม้ทำให้เกิดผลคือความตายของผู้ตายด้วย ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3 และผลคือความตายของผู้ตายขาดตอนลง เพราะถ้าจำเลยที่ 3 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ย่อมช่วยเหลือผู้ตายได้ทันเนื่องจากห้องทำงานของจำเลยที่ 3 อยู่หน้าห้องขังเยาวชนและติดกับห้องขังหญิง ความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3
          การที่จำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาทั้งสี่อย่างเต็มที่แล้วแต่ไม่สามารถช่วยได้ แสดงให้เห็นว่านอกจากจำเลยที่ 3 จะต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแล้วยังนำสืบต่อสู้ด้วยว่าไม่ได้กระทำโดยประมาท ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าหลงต่อสู้ ทำให้ไม่มีโอกาสนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำโดยประมาท จึงฟังไม่ขึ้น แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เจตนาฆ่าผู้อื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาได้เพราะการกระทำโดยเจตนาและการกระทำโดยประมาทมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและไม่ถือเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงชอบแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2559  เหตุคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์แล่นแซงรถกระบะที่อยู่ด้านหน้าล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายที่แล่นสวนทางมาในช่องเดินรถของผู้ตาย ซึ่งหากจำเลยไม่ขับรถจักรยานยนต์แล่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตายเหตุครั้งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็ว ก็อาจเป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เท่านั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกระทำความผิดของจำเลย ประการสำคัญขณะเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แล่นอยู่ในช่องเดินรถของตน การที่ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็วดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน แต่การที่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน และผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย ผู้ตายหามีส่วนประมาทด้วยไม่ ผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้ตายย่อมมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1011/2503  เมื่อจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าชนรถสามล้อโดยประมาทแล้ว ผู้ตายซึ่งโดยสารมาในรถสามล้อก็ตกกระเด็นลงไปล้มนอนอยู่ที่ทางรถราง พอดีกับรถรางแล่นมาถึงแล้วทับครูดไปในระยะ 1 วา รถรางจึงสามารถหยุดนิ่งได้ ทำให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บมากและถึงตายเพราะพิษบาดแผลนั้น โดยรถรางมิได้แล่นมาเร็วผิดธรรมดา กรณีเช่นนี้ถือว่า ความตายของผู้ตายเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลย จำเลยย่อมมีความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2502  เมื่อจำเลยรู้อยู่ว่าผู้ตายกำลังโหนตัวอยู่ข้างนอกรถด้านขวาและกำลังมีรถสวนมาด้วยความเร็ว จำเลยก็มิได้ชลอลดความเร็วลงหรือหยุดรถ เพียงแต่หักรถหลบไปในระยะกระชั้นชิด ผู้ตายจึงถูกรถที่สวนมาเฉี่ยวถึงแก่ความตาย ย่อมได้ชื่อว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ซึ่งจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เช่นนี้ เป็นการกระทำโดยประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1436/2511  เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยขับรถด้วยความประมาทชนเสาไม้ที่ปักริมทางแฉลบจะไปชนเสาไฟฟ้าอย่างแรงอันเป็นการหวาดเสียวและใกล้อันตรายแล้วแม้ผู้ตายจะกระโดดลงจากรถก่อน หากแต่ในระยะกระชั้นชิดกับที่รถจะเข้าชนเสาไฟฟ้าดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า และในที่สุดก็ได้เกิดขึ้นจริง ๆ ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ก็ต้องถือว่าเป็นผลอันเกิดใกล้ชิดกับเหตุที่จำเลยขับรถด้วยความประมาท จำเลยต้องมีความผิด


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5729/2556  ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นั้น จำเลยที่ 1 ต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก คือ (1) ผู้ใด (2) ฆ่า (3) ผู้อื่น กล่าวคือ รู้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฆ่า และรู้ด้วยว่า วัตถุแห่งการกระทำคือผู้อื่นนั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วนั้น โจทก์ไม่ได้ฎีกา และฎีกาโจทก์รับว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลล่างว่าจำเลยที่ 1 พยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายจนหมดสติแล้วนำไปทิ้งที่อ่างเก็บน้ำโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดว่าผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย จะถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามความใน ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 แต่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามมาตรา 291
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12114/2556  การที่จำเลยนำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปซ่อมรอยรั่วซึมของถังน้ำมัน โดยจำเลยไม่ได้แจ้งให้นายจ้างทราบก่อน กลับแจ้งผู้ตายโดยตรงให้ซ่อมถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกน้ำมัน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการทำงานที่มีขึ้นเพื่อความปลอดภัย และจำเลยไม่ได้บอกผู้ตายว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกน้ำมันเบนซินมาด้วย ทำให้ผู้ตายไม่ทราบข้อเท็จจริงจึงไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำงาน เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกน้ำมันเกิดระเบิดขึ้นและผู้ตายถึงแก่ความตาย นับเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียวที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาได้เกิดจากความประมาทของผู้ตายด้วยไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

          ถ้าผลที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยประมาท หรือไม่ใช่ผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 114/2510  จำเลยไม่ได้ขับรถเร็ว และทางลากไม้ที่ขับมานั้นเป็นทางจำกัดบังคับให้ขับโดยข้างหนึ่งเป็นคลอง อีกข้างหนึ่งเป็นเขาจะขับให้ห่างคลองอีกไม่ได้ เพราะติดเขา การที่ล้อพ่วงเอียงนั้นก็เนื่องจากที่ตรงนั้นเป็นหลุมเอาหินกองไว้ หินแตกเป็นเหตุให้ระดับล้อที่ผ่านไปทรุดต่ำลง เช่นนี้ หาใช่ความประมาทของจำเลยไม่ และรถที่จำเลยขับมาก็ไม่ได้คว่ำ ถ้าผู้ตายไม่ด่วนตัดสินใจกระโดยลงจากรถเหมือนคนอื่นก็คงไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2553  บริเวณที่เกิดเหตุเป็นสามแยกติดตั้งสัญญาณจราจรไฟ และขณะเกิดเหตุสัญญาณจราจรไฟเป็นสัญญาณจราจรไฟสีเขียวให้เลี้ยวขวา เมื่อได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวให้เลี้ยวขวารถทุกคันที่จะเลี้ยวขวาย่อมเคลื่อนที่แล่นเข้าสู่ทางร่วมทางแยกผ่านช่องเดินรถของรถที่แล่นสวนทางมาไปได้ การที่จำเลยขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของรถที่แล่นสวนมาก็เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเลี้ยวขวาแล่นผ่านช่องเดินรถของรถที่แล่นสวนทางมาเท่านั้น แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องจากการกระทำของผู้ตายที่ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงแล่นเข้าชนรถโดยสารที่จำเลยเป็นผู้ขับโดยที่ไม่ว่าจำเลยหรือผู้ใดก็ไม่อาจคาดคิดได้ จำเลยจึงไม่เป็นฝ่ายประมาท การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 598/2538  รถยนต์คันที่ ส. ขับมีผู้ตายทั้งสองนั่งโดยสารมาด้วย ส.ขับรถชนท้ายรถบรรทุกห้องเย็นอย่างแรงแล้วจึงถูกรถจำเลยชนท้ายไม่รุนแรงนัก ก. และ ท. ที่นั่งโดยสารมากับรถจำเลยในที่นั่งตอนหน้าได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย การที่ผู้ตายทั้งสองซึ่งนั่งอยู่หน้ารถ ส. อยู่ห่างไกลจุดชนมากกว่า ก. และ ท. กลับได้รับอันตรายถึงแก่ความตายเช่นนี้ย่อมแสดงว่าความตายของผู้ตายทั้งสองมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย แต่น่าจะเป็นผลโดยตรงมาจากการที่ ส.ขับรถชนท้ายรถยนต์บรรทุกห้องเย็นมากกว่า จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 แต่มีความผิดตามมาตรา 390
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3445/2535  ตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 80-6988 อุดรธานีมาถึงที่เกิดเหตุยางล้อหลังระเบิด จำเลยจึงนำรถเข้าจอดข้างทาง ในเวลาเดียวกัน นาย พ. ขับรถยนต์มาถึงที่เกิดเหตุ ชนเข้ากับท้ายรถของจำเลยที่จอดไว้เป็นเหตุให้เด็กชาย จ. ถึงแก่ความตายกับเป็นเหตุให้นาย ถ. นาย บ. และนาง ร. ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส โดยรถยนต์โดยสารที่จำเลยขับยางล้อหลังระเบิดจำเลยจึงจอดรถยนต์ไว้ชิดไหล่ทางด้านซ้าย ล้อหน้าอยู่ที่ไหล่ทาง ส่วนล้อหลังด้านขวาอยู่บนถนน แล้วจำเลยได้หากิ่งไม้มาวางและเปิดสัญญาณไฟกระพริบ ถือได้ว่าจำเลยใช้ความระมัดระวังเพียงพอแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำโดยประมาท.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3194/2556  โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำประมาทของจำเลยว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์ด้วยความเร็วและเปลี่ยนช่องเดินรถโดยกะทันหัน เข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับในช่องเดินรถของผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่ทางพิจารณาโจทก์ทั้งสองนำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุมีรถจักรยานยนต์ที่ขับคู่กันมาเบียดรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับล้มลงในช่องเดินรถช่องที่ 1 ขณะผู้ตายกำลังจะลุกขึ้น จำเลยซึ่งขับรถตามหลังมาในช่องเดินรถที่ 2 ได้เปลี่ยนช่องเดินรถเข้ามาในช่องเดินรถที่ 1 โดยขณะขับรถจำเลยกำลังใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พูดคุย เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับชนผู้ตาย ดังนี้ เหตุที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์เสียหลักล้มลงไม่ได้เกิดจากการที่จำเลยขับรถเปลี่ยนช่องเดินรถมาเฉี่ยวชนตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้อง และขณะที่จำเลยขับรถพุ่งเข้าชนนั้น ผู้ตายและรถของผู้ตายล้มลงบนถนนแล้ว มิใช่ผู้ตายกำลังขับรถจักรยานยนต์อยู่บนถนนตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้อง รวมทั้งข้อที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พูดคุยในขณะขับรถยนต์นั้น โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองนำสืบเกี่ยวกับการกระทำประมาทของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายมาในฟ้อง ต้องห้ามมิให้ศาลพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
       

          ความผิดฐานประมาทเป็นเรื่องที่ไม่มีเจตนา จึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน แต่อย่างไรก็ตาม การประมาทร่วมกันย่อมมีได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1326/2510  เหตุที่รถเกิดชนกันขึ้น เป็นเพราะความประมาทด้วยกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ รถก็จะไม่ชนกัน ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ถ้ารอให้รถของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับมาตามทางตรงผ่านไปก่อน รถก็จะไม่ชนกันขึ้นเหมือนกัน การที่เกิดชนกันขึ้นจึงเป็นผลโดยตรงมาจากความประมาทของจำเลยทั้งสองที่ไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของกฎหมาย จึงเป็นความผิดด้วยกันทั้งคู่

          บางกรณีผู้กระทำอาจจะฝ่าฝืนบทกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่ผู้กระทำได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอแล้ว ย่อมไม่เป็นการกระทำโดยประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2501  ว่าการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับรถยนต์และการจราจร แม้จะกระทำโดยมิได้ตั้งใจซึ่งตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 43 บัญญัติว่าเป็นการกระทำโดยประมาท แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 หาได้บัญญัติเช่นนั้นไม่ จึงปรับเอาว่าจำเลยได้ทำให้ น. ตายโดยประมาท เพราะเหตุการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับดังกล่าวหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3  
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727/2503  เรือยนต์จำเลยแท่นทวนน้ำแอบฝั่งขวาของคลองโดยถูกต้องตามกฎหมายเรือยนต์อีกลำหนึ่งแล่นตามน้ำสวนมาในเส้นทางเดินเรือของจำเลย บันทุกคนโดยสารเกินอันตรามากแล้ว เกิดชนกันในเวลาค่ำมือในเส้นทางของเรือจำเลยโดยเรือจำเลยไม่สามารถหลบหลีกได้ หัวเรือจำเลยชนถูกผู้โดยสารในเรือที่แล่นมาผิดทางถึงตาย ดังนี้ ถึงแม้เรือจำเลยไม่ได้จุดโคมไฟ จำเลยก็ไม่ผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท (คงผิดแต่ฐานไม่จุดโคมไฟตามพระราชบัญญัติการเดินเรือ ซึ่งไม่ใช่ผลโดยตรงที่ก่อให้เกิดชนกันและทำให้คนตาย )
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6450/2558   ตามฟ้องที่จำเลยให้การรับสารภาพฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วงในทางเดินรถของจำเลย จำเลยไม่ได้ขับล้ำเข้าไปในทางเดินรถสวน ส่วน ร. ขับรถจักรยานยนต์สวนทางมาโดยขับตามหลังรถอีแต๋นที่ บ. เป็นผู้ขับ แต่ ร. ขับแซงขึ้นหน้ารถอีแต๋นล้ำเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่ ร. ขับชนกับรถจำเลย หาก ร. ไม่ขับรถล้ำเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย เหตุรถทั้งสองคันชนกันก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะฟังว่าจำเลยมิได้ขับรถชิดขอบทางด้านซ้าย แต่ก็ยังขับอยู่ในทางเดินรถของจำเลย และตามรายงานชันสูตรพลิกศพเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องระบุว่า ร. ขับรถตัดหน้ารถจำเลยเป็นเหตุให้ชนกัน แล้วรถจำเลยเสียหลักไปชนรถอีแต๋น แสดงว่า ร. ขับแซงขึ้นหน้ารถอีแต๋นในระยะกระชั้นชิดขณะที่รถจำเลยใกล้จะสวนทางกับรถอีแต๋น การที่รถจำเลยเสียหลักพุ่งชนรถอีแต๋น จึงเป็นผลโดยตรงจาก ร. ขับแซงขึ้นหน้าในระยะกระชั้นชิดเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย มิใช่ผลโดยตรงที่จำเลยมิได้ขับรถชิดขอบทางด้านซ้ายหรือไม่ชะลอความเร็ว จะถือว่าจำเลยมีส่วนประมาทด้วยหาได้ไม่ เพราะการที่รถจำเลยเสียการควบคุมไปชนรถอีแต๋นเป็นผลจากความประมาทอย่างร้ายแรงของ ร. ที่ขับแซงขึ้นหน้าในระยะกระชั้นชิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและรับอันตรายแก่กาย ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่การที่จำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วงซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่บรรทุกหินเต็มคันรถด้วยความเร็วสูงในทางแคบ ถือได้ว่าเป็นการขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157

          การที่จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี ผู้ตายจะต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ไม่มีส่วนประมาทด้วย)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2559  เหตุคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์แล่นแซงรถกระบะที่อยู่ด้านหน้าล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายที่แล่นสวนทางมาในช่องเดินรถของผู้ตาย ซึ่งหากจำเลยไม่ขับรถจักรยานยนต์แล่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตายเหตุครั้งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็ว ก็อาจเป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เท่านั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกระทำความผิดของจำเลย ประการสำคัญขณะเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แล่นอยู่ในช่องเดินรถของตน การที่ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็วดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน แต่การที่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน และผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย ผู้ตายหามีส่วนประมาทด้วยไม่ ผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้ตายย่อมมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19300/2556   การที่โจทก์ร่วมทั้งสี่ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 เป็นการยื่นคำร้องโดยอาศัยสิทธิตามคำฟ้องของพนักงานอัยการ เมื่อคำฟ้องของพนักงานอัยการบรรยายว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทด้วย โจทก์ร่วมทั้งสี่จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องโดยไม่จำต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เช่นนี้ ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสี่ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และ 30

          แต่กรณีที่ยื่นคำร้องในคดีอาญาเพื่อขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้  (ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2560 (ประชุมใหญ่)  ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็วดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 นั้น แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายของรถยนต์ของ ผ. และค่าขาดไร้อุปการะ สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ ผ. เป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกค่าเสียหายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ และค่าขาดไร้อุปการะนั้น ผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาทของ ผ. นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2560)


การครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะเจ้าของร่วมและแทนกันของทายาทโดยธรรม‬

          การครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะเจ้าของร่วมและแทนกันของทายาทโดยธรรม

          ป.พ.พ.มาตรา 1745  "ถ้ามีทายาทหลายคน ทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้ว และให้ใช้มาตรา 1356 ถึงมาตรา 1366 แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับ เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพนี้"

          กรณียังไม่มีการแบ่งปันทรัพย์มรดก ต้องถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมและแทนกัน ดังนี้ ทายาทจึงไม่มีสิทธินำทรัพย์มรดกส่วนของทายาทอื่นไปจำหน่ายจ่ายโอนโดยลำพัง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 3340/2526 โจทก์ทั้งสี่และบิดาจำเลยร่วมกันครอบครองที่นามรดกแปลงพิพาทต่อจากเจ้ามรดก ถือได้ว่าร่วมกันรับมรดกดังกล่าวและเป็นเจ้าของที่นามรดกรายนี้ร่วมกันแล้ว แม้ภายหลังบิดาจำเลยจะเป็นฝ่ายครอบครองที่นาพิพาทแต่เพียงผู้เดียวก็ต้องถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมกันและแทนกันมิใช่เป็นการแย่งการครอบครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 จำเลยอยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิของบิดาจำเลย การที่บิดาจำเลยยกที่นาแปลงพิพาทให้แก่บุตรของตนรวมทั้งจำเลยแล้วจำเลย เอาที่นาดังกล่าวขอออก น.ส.3 เป็นชื่อจำเลยและพี่น้อง ไม่ทำให้จำเลยได้สิทธิครอบครองในที่นาแปลงพิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสี่ เมื่อโจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้อง จำเลยยังไม่ถึง 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยไม่ยินยอมแบ่งที่นาแปลงพิพาทให้ โดยอ้างว่าที่นาดังกล่าวเป็นของจำเลยและพี่น้องของจำเลยโจทก์จึงไม่หมดสิทธิที่จะฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2528 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามที่โจทก์ขอแบ่ง แสดงว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินในกองมรดกซึ่งอยู่ระหว่างจัดการมรดกถึงแม้ว่าจำเลยจะครอบครองที่พิพาทนั้นตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมแต่ผู้เดียว ก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน และต่อมาจำเลยก็ได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ดังนั้น การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจึงจะยกอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทจากจำเลยได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2528)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 383/2535 โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง แต่ได้ความว่าโจทก์เป็นภริยาของ ต. จำเลยยกที่พิพาทให้ ต. ไม่ได้ยกให้โจทก์ด้วย หลังจาก ต. ตายโจทก์ครอบครองที่พิพาทตลอดมา โดยไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ครอบครองอย่างเจ้าของ โดยเปลี่ยนลักษณะการยึดถือ ถือว่าโจทก์ครอบครองแทนทายาทของ ต. โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่พิพาทและไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3455/2537 การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร กับจำเลยที่ 2 และโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นหลาน โดยโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น เมื่อเจ้ามรดกตายที่พิพาทจึงตกได้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ขอออก น.ส.3 ก. สำหรับที่พิพาท โดยใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้รับมรดกคนหนึ่งและเป็นพี่ของโจทก์ทั้งสองร่วมด้วย อันเป็นการเข้ารับมรดกแสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่พิพาทในฐานะทายาทตามพินัยกรรมและเป็นการเข้าครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจึงยังคงเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการขายเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้นจำเลยที่ 3 ได้สิทธิไปเท่าที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอยู่ การครอบครองที่พิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสองจะถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองไม่ได้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์นั้นได้และจะนำอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2627/2542 ประเด็นที่ผู้ร้องยกขึ้นกล่าวอ้างในคำร้องขอมีเพียงว่าผู้ร้องครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทโดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องติดต่อกันมา 56 ปีเศษ จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ไม่มีประเด็นเรื่องการได้รับที่ดินพิพาทโดยการยกให้จากบิดามารดาก่อนบิดามารดาถึงแก่ความตาย ศาลจึงไม่อาจหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยให้ได้ เพราะจะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เมื่อบิดามารดาของผู้ร้องถึงแก่ความตายโดยมิได้ยกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะทั้งก่อนตายและโดยพินัยกรรมนอกจากนี้ระหว่างทายาทด้วยกันเองก็ยังไม่มีการแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าวแม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทนั้นนานสักเพียงใด ตราบใดที่ผู้ร้องไม่เคยแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังทายาททั้งหลายว่า ผู้ร้องมีเจตนายึดถือเพื่อตน ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ของมารดาทายาทผู้หนึ่งที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกร่วมกับผู้ร้องยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์และขับไล่ผู้คัดค้านที่ 3 ออกจากที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาททั้งปวงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่จะแบ่งให้แก่ทายาทผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ

          ทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 มีสิทธิที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาท เพื่อเอาทรัพย์ที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2562 ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินพิพาทโดยสุจริต เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งมีทายาทด้วยกัน 5 คน โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เพื่อเอาทรัพย์ที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 1 ใน 5 ส่วน จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจขายฝากที่ดินพิพาทส่วนของตนได้ จึงต้องเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นรวม 4 ใน 5 ส่วน
          
          ทายาทมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกันจนกว่าจะแบ่งมรดกแล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าทายาทเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่า ๆ กัน จึงมีสิทธิฟ้องผู้จัดการมรดกเพื่อขอแบ่งทรัพย์มรดกได้
          จทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ต่างเป็นทายาทโดยธรรมของ พ. เจ้ามรดกลำดับเดียวกัน ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากัน ทั้งมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกันจนกว่าจะแบ่งมรดกแล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวจากจำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกระทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวซึ่งไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่บังคับตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1755

          จำเลยได้รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทรัพย์พิพาทอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกมา ก็เนื่องจากทายาททุกคนตกลงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้นำไปขายแล้วนำเงินมาแบ่งแก่ทายาท จำเลยจึงครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9787/2552  จำเลยได้รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทรัพย์พิพาทอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกมา ก็เนื่องจากทายาททุกคนตกลงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้นำไปขายแล้วนำเงินมาแบ่งแก่ทายาท ดังเห็นได้จากที่จำเลยแบ่งเงินที่ขายให้แก่ทายาทบางคนตามสิทธิในเวลาต่อมา จำเลยจึงครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วมกันดังกล่าว ดังนั้น แม้ปรากฏว่าในวันที่ 1 มิถุนายน 2537 จำเลยขายที่ดินมรดกนี้ไปก็เป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ถือว่าจำเลยยังครอบครองเงินที่ขายแทนทายาททุกคนเพื่อการแบ่งปันกันอายุความตัดสิทธิในระหว่างทายาทด้วยกันยังไม่เริ่มนับเพราะการแบ่งปันทรัพย์มรดกนี้ยังไม่เสร็จสิ้น จำเลยจะยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสองและวรรคท้ายมาต่อสู้โจทก์หาได้ไม่

          แต่ **** การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่จะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเอง ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดี 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9992/2560 (ประชุมใหญ่) ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" และวรรคสี่ บัญญัติว่า "ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย" อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อยกเว้นตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี" การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่จะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเองย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดี เพราะหากถือว่าทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วย อายุความตามมาตรา 1754 ก็ไม่อาจใช้บังคับได้เลย
          การที่ ก. เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทของผู้ตายตั้งแต่ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายอย่างเป็นเจ้าของโดยถือว่าเป็นสินส่วนตัวตลอดมาแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ไม่เคยฟ้องหรือร้องขอให้พนักงานอัยการยกคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวเอาแก่ ก. ซึ่งเป็นมารดาเพื่อขอแบ่งมรดกพิพาทจาก ก. แต่อย่างใด และเมื่อ ก. แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 ออกเป็น 7 แปลง โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 78021 รวมอยู่ด้วย โจทก์ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ยิ่งกว่านั้นในคดีที่ ก. ฟ้องขอให้เพิกถอนคืนการให้ที่ดินแก่โจทก์รวม 5 แปลง ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีชื่อ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและ ก. ได้จดทะเบียนยกให้โจทก์นั้น โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าที่ดินทั้งห้าแปลงและที่ดินที่ขายไปเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายและ ก. และเป็นมรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่งอันจะตกแก่โจทก์ที่เป็นทายาทและทายาทอื่นด้วย ก. ไม่เคยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายรวมทั้งไม่เคยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอันจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น นอกจากนี้ตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายของ ศ. ระบุเพียงว่า ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากในธนาคารเท่านั้น และ ศ. ก็เบิกความยืนยันว่า ได้จัดการแบ่งเงินทรัพย์มรดกของผู้ตายเสร็จสิ้นไปแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะจัดการอีก อันเป็นข้อสนับสนุนว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทที่มีชื่อ ก. แต่ผู้เดียวโดย ศ. และทายาทอื่นไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2532 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 เกินสิบปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ จำเลยเป็นผู้สืบสิทธิ ก. ผู้เป็นทายาทย่อมมีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ตามมาตรา 1755
          (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2560)