01 มีนาคม 2567

การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้

 

          
          เมื่อลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องที่จะบังคับเอาจากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้ของลูกหนี้ แต่กลับเพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธินั้น ย่อมทำให้เจ้าหนี้ไม่มีทรัพย์สินของลูกหนี้ที่จะบังคับชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้จึงต้องเรียกร้องโดยการฟ้องลูกหนี้ของลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้ชำระหนี้ได้ตามมาตรา 233 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถ้าชเจ้าหนี้นะคดีแล้ว แต่บุคคลภายนอกยังไม่ยอมชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็บังคับยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้ 

          มาตรา 233  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

          อย่างไรก็ตาม ถ้าเจ้าหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้โดยการฟ้องบังคับเอาจากบุคคลภายนอก เจ้าหนี้ก็อาจเลือกใช้วิธีฟ้องลูกหนี้ของตนให้ชำระหนี้ แล้วนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ก็ได้ เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิเรียกร้องเหนือบุคคลภายนอกที่จะต้องชำระหนี้เป็นเงินให้แก่ลูกหนี้ กรณีนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นโดยให้บุคคลภายนอกชำระเงินคืนให้แก่เจ้าหนี้ผ่านทางเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้ ถ้าบุคคลภายนอกไม่ชำระ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็สามารถยึดทรัพย์สินของบุคคลภายนอกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเสมือนบุคคลได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2549  สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นสิทธิเรียกร้องที่บริษัทจำเลยมีต่อผู้ถือหุ้นเป็นสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ เมื่อบริษัทจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้ ว. ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดค่าหุ้นที่ค้างชำระนั้น เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งอายัดให้ ว. ส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 312 วรรคสอง ที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้นและดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
          ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1125 เป็นเรื่องวิธีการเรียกค่าหุ้นค้างชำระของบริษัทในกรณีปกติ แต่เมื่อกรรมการบริษัทจำเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนี้ ก็ไม่ห้ามเจ้าหนี้ที่จะให้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ทั้งไม่ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขออายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ

          การที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง จะต้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ ถ้าเจ้าหนี้ไม่เสียประโยชน์ก็ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2536  การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ฟ้องคดีในนามของตนเองนั้น นอกจากลูกหนี้จะต้องขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว การขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเช่นนั้นจะต้องทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์ด้วย ซึ่งหมายความว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีอยู่โดยไม่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องนั้นไม่พอจะชำระหนี้ หากลูกหนี้มีทรัพย์สินอยู่พอที่จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้แล้ว การที่ลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง ก็ไม่ทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์แต่ประการใด โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 19 ตามตั๋วเงินจำนวน 58,267,483.30 บาทแต่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า หากมีการชำระบัญชีถึงที่สุดจำเลยที่ 19 มีความสามารถชำระหนี้เป็นเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทแสดงว่าขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 19 มีทรัพย์สินประมาณ 500 ล้านบาทซึ่งหากโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าหนี้จำนวนดังกล่าวจริง ทรัพย์สินของจำเลยที่ 19 ก็สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ครบถ้วน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 19 และจำเลยที่ 19 ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องก็ก็ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 จึงไม่สามารถใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233มาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 ได้โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2562  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้ เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้น หรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตร สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1614 ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่อย่างใด เมื่อจ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกโดยทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง รวมถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ได้
          จ่าสิบตำรวจ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาก็ตาม เพราะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ก็เป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันและตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 4 และในภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้สละมรดกดังกล่าว แต่โจทก์ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 อยู่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิร้องขอเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนการสละมรดกดังกล่าวนั้นได้ เพราะสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ไม่ยอมใช้นั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีอยู่ก่อนหรือได้มาในภายหลังย่อมอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ แม้จะปรากฏว่านอกจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว เจ้ามรดกยังมีที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่ง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ถือเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา และมีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 จะมีทรัพย์สินอื่นหรือที่ดินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนถึง 1,332,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โอนทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามฟ้องได้
          การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดก จะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 อันเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หรือการที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ตาม ที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้มีการจัดการเสร็จสิ้นและแบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งเป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16273/2557  จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวแทน เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าทดแทนจากอาคารของจำเลยที่ 1 ถูกทางราชการเวนคืน อันเกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนแล้วไม่ยอมส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 เมื่อจำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 และต้องเสียประโยชน์จากการเพิกเฉยของจำเลยที่ 1 ก็ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนเองแทนจำเลยที่ 1 เพื่อป้องกันสิทธิของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อจำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่แท้จริง และจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ทวงถามเอาจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของตนเองตามมาตรา 233 บังคับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้จ่ายเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ได้

          ในการฟ้องคดีนั้น เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้ได้เลย โดยไม่ต้องรับมอบอำนาจจากลูกหนี้อีก แต่ต้องบรรยายฟ้องให้เข้าหลักเกณฑ์เรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2546  บริษัท ท. หรือผู้ชำระบัญชีมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงิน ส่วนแบ่งซึ่งเป็นสินทรัพย์ของบริษัท ท. ในฐานลาภมิควรได้และหากบริษัท ท. ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้น เป็นเหตุให้กรมสรรพากรโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรค้างต้องเสียประโยชน์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนบริษัท ท. ลูกหนี้ได้โดยโจทก์จะต้องขอหมายเรียกบริษัท ท. เข้ามาในคดีด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และมาตรา 234แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ฟ้องคดีแทนบริษัท ท. เพราะบริษัท ท. ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินส่วนแบ่งที่จำเลยรับไปโดยมิชอบหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง รวมทั้งโจทก์มิได้ขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงของโจทก์เข้ามาในคดี จึงต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์ที่ได้รับจากผู้ชำระบัญชีโดยมิชอบให้แก่โจทก์เองโดยตรง ซึ่งโจทก์หามีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยเช่นนั้นไม่ เนื่องจากจำเลยไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือตามกฎหมายที่จะต้องคืนเงินสินทรัพย์ของบริษัท ท. ที่ตนได้รับไว้คืนให้แก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1633/2565  แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาอำพรางไม่ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้และบรรยายฟ้องถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์เสียประโยชน์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 และมาตรา 234
          
          การฟ้องคดีเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้นั้น เจ้าหนี้จะต้องฟ้องภายในอายุความด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18624/2555  จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ท. ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2536 จดทะเบียนเลิกบริษัทโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี ในระหว่างการชำระบัญชี โจทก์ตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระ จึงแจ้งให้ชำระ ขณะนั้น จำเลยที่ 1 ก็รวบรวมทรัพย์สินของบริษัทแล้วแบ่งคืนเป็นเงินให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงยื่นฟ้องบริษัทต่อศาลภาษีอากรกลางและยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อเรียกเงินคืน จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 รับเงินไว้โดยปราศจากมูลจะอ้างด้วยกฎหมาย จึงเป็นลาภมิควรได้ที่จะต้องคืนให้แก่บริษัท แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนแทนลูกหนี้รวมทั้งไม่ได้เรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีด้วย จึงให้ยกฟ้องแต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะฟ้องใหม่ คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์หาได้ไม่ เมื่อสิทธิของโจทก์เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แล้ว โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่รู้หรือ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นมีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 การที่โจทก์ได้ฟ้องคดีก่อนภายในอายุความแล้ว แม้ระหว่างนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะนำเงินบางส่วนไปชำระให้แก่โจทก์หรือไม่ก็ตาม ย่อมถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง และต่อมาเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีนั้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2546 ซึ่งอายคุวามครบกำหนดสิบปีไปแล้วโจทก์จึงต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ภายใน 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สำหรับจำเลยที่ 2
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5806/2539  โจทก์ฟ้องขอใช้สิทธิเรียกร้องแทนบริษัท บ. โดยอ้างว่าก่อนที่จำเลยจะพ้นจากการเป็นกรรมการบริษัท บ. จำเลยเบียดบังทรัพย์สินของบริษัท บ.ไปโดยทุจริต บริหารงานหรือจัดการทรัพย์สินของบริษัท บ.ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บ. ซึ่งเท่ากับกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อบริษัท บ. บริษัท บ.ชอบจะฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของบริษัท บ.ชอบจะใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 ฟ้องเรียกร้องบังคับเอาจากจำเลยแทนบริษัท บ.เท่าที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัท บ.อยู่ การเรียกร้องดังกล่าวเป็นการเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่กระทำละเมิดต่อบริษัท บ.มีอายุความตามมาตรา 448 เมื่อการกระทำละเมิดเกิดขณะจำเลยเป็นกรรมการบริษัท บ.อยู่ คือก่อนวันที่ 17 กันยายน 2525 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยลาออกจากบริษัท บ. โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 23 กันยายน 2535 พ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่จำเลยได้กระทำละเมิดแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ

          การฟ้องคดีนั้น เจ้าหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย

          มาตรา 234  เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นจะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย

          เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้

          มาตรา 235  เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้ ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น คดีก็เป็นเสร็จกันไป แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้
          แต่อย่างไรก็ดี ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย

          จำเลยสามารถยกข้อต่อสู้ที่มีต่อลูกหนี้เดิมขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้    
       
          มาตรา 236  จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆ ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1748/2540  จำเลยทั้งสองต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วซึ่งกันและกัน และเป็นหนี้เงินเหมือนกัน ทั้งเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดจะชำระแล้วด้วย จึงเป็นหนี้ที่สามารถนำมาหักกลบลบกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ จึงขอใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของโจทก์ เพื่อบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และในกรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 236 กำหนดให้จำเลยที่มีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2 จึงยกข้อต่อสู้ที่มีอยู่กับจำเลยที่ 1 ขึ้นต่อสู้โจทก์ โดยขอหักกลบลบหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 และ 342 ได้


          

หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน


          คำพิพากษาศาลฎีกาหลายเรื่องอาศัยหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนในการวินิจฉัยคดี โดยกล่าวถึง "ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน" ข้อเท็จจริงในคดีที่มีการอ้างหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนส่วนมากจะเป็นกรณีที่ผู้โอนไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่โอน เป็นเหตุให้ผู้รับโอนไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาบางเรื่องกล่าวไว้ชัดเจนว่าหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนเป็น "หลักกฎหมายทั่วไป" โดยเป็นการใช้กฎหมายตามมาตรา 4  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 4 "กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ
          เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7393/2550  ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ และ พ. เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ พ. ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า พ. ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6436/2550  จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์และส่งมอบการครอบครองให้แล้ว โดยไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเป็นหนังสือจึงตกเป็นโมฆะ แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 2 เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5640/2541  จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหลักฐานเป็นแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) และสละสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์แล้ว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำไปขายให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะได้ออก น.ส. 3 ก. แต่จำเลยที่ 3 ก็มิได้ครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 3 มีชื่อใน น.ส.3 ก. จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ไป แม้จำเลยที่ 4 ซื้อไว้โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 4 ก็ไม่มีสิทธิอย่างใดในที่ดินพิพาท ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
          โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์มีสิทธิครอบครองไปขายโดยไม่ชอบ และขอให้เพิกถอน น.ส. 3 ก.ที่จำเลยที่ 3 ออกโดยไม่ชอบ กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันทราบมูลคดีนี้ คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้

          หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน มีข้อยกเว้นตามมาตรา 1299 วรรคสอง ซึ่งเป็นหลักคุ้มครองบุคคลภายนอกที่ได้อสังหาริมทรัพย์ไปทางทะเบียนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2549   จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำเลยที่ 1 ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ส. โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ส. ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ครั้นครบกำหนดจำเลยที่1 ไม่ใช้สิทธิไถ่คืน แต่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มิใช่หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่สิทธิครอบครอง แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่การได้มาของโจทก์ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม ซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียน โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 427/2538  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาจริงดังโจทก์กล่าวอ้าง การได้มาของโจทก์ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ โจทก์ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7007/2540   โจทก์เป็นทายาทได้รับที่ดินมรดกของ ป. เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ส่วนจำเลยกับ น.รับโอนที่ดินดังกล่าวมาโดยผู้โอนขายให้ โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริต เมื่อที่ดินส่วนของ น. น.มีสิทธิดีกว่าโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง แม้ต่อมาที่ดินส่วนนี้จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ห. เมื่อ ห.ถึงแก่กรรมจำเลยและ ถ.เป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินส่วนของ ห. โดยไม่เสียค่าตอบแทน โจทก์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนใช้ยันจำเลยได้ เพราะสิทธิของโจทก์ขาดตอนไปแล้ว ตั้งแต่ น. รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริต จะนำหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้บังคับไม่ได้เพราะสิทธิหลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าว
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องหรือไม่ โจทก์นำสืบอ้างว่า เดิมนาย ป. และนาง จ. ต่างเป็นเจ้าของที่ดินตามตราจอง ศก.108 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่แปลงละประมาณ 25 ไร่ ที่ดินของนาย ป. อยู่ทางด้านทิศใต้ ภายหลังนาย ป. ถึงแก่กรรม นาง จ.ขอออกโฉนดที่ดินโดยรวมเอาที่ดินของนาย ป. เข้าด้วยกัน ที่ดินส่วนของนาย ป. เนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ จึงรวมอยู่ในโฉนดที่ 952 โจทก์เป็นบุตรนาง ล. นาง ล. เป็นทายาทโดยธรรมของนาย ป. โจทก์จึงเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนาย ป. และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ป. โจทก์และทายาทของนาย ป. จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 952 กึ่งหนึ่งนั้น เห็นว่า แม้จะฟังตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อสิทธิของโจทก์ยังมิได้จดทะเบียน โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง คดีได้ความว่า จำเลยกับนาย น. รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวโดยผู้โอนขายกรรมสิทธิ์ให้เมื่อปี 2491 ตามหนังสือสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสารบาญจดทะเบียนท้ายสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.21 และ ล.9 ตามลำดับ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต เมื่อโจทก์มิได้อ้างว่าจำเลยและนาย น. รับโอนโดยไม่สุจริต ข้อเท็จจริงต้องฟังว่า จำเลยและนาย น. รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนของโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 1299 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นโดยสุจริตแล้ว เมื่อที่ดินส่วนของนาย น. นาย น.มีสิทธิดีกว่าโจทก์ แม้ต่อมาที่ดินส่วนนี้จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนาง ห. เมื่อนาง ห.ถึงแก่กรรม จำเลยและนาง ถ. เป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินส่วนนาง ห.โดยไม่เสียค่าตอบแทน โจทก์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนตามที่กล่าวอ้างใช้ยันจำเลยได้ เพราะสิทธิของโจทก์ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่นาย น.รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริต กรณีนี้จะนำหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะสิทธิของโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ซึ่งเป็นบทยกเว้นหลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่อาจอ้างเอากรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งในที่ดินตามโฉนดที่ 952 ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว"



การเลิกสัญญา


          เมื่อมีสัญญาเกิดขึ้น สิทธิของคู่สัญญาที่จะยกเลิกสัญญานั้นจะต้องเป็นไปตามข้อสัญญาหรือตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเท่านั้น คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยที่ไม่มีข้อสัญญาหรือกฎหมายที่ให้สิทธิไว้ไม่ได้ หากได้ทำการบอกเลิกไปก็ไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด

          มาตรา 386  "ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
          แสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่"

           1 สิทธิเลิกสัญญาตามข้อสัญญา

          เมื่อคู่สัญญาตกลงทำสัญญากันไว้อย่างไร ปกติแล้วก็ต้องบังคับไปตามนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขในสัญญาเพิ่มเติมโดยปราศจากความยินยอมของอีกฝ่ายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2564  บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่มีผลผูกพันกัน และคู่สัญญามีสิทธิเลิกสัญญาหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 และมาตรา 386 ข้อความในบันทึกข้อตกลงมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า โจทก์มีความสนใจที่จะลงทุนในโครงการอาคารพักอาศัยให้เช่าของจำเลยซึ่งประกอบด้วยที่ดิน 2 แปลง โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องเข้าศึกษาข้อมูลและตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนต่อไปเสียก่อน ซึ่งในข้อ 1.3 ระบุว่า หากผลการศึกษาโครงการเป็นที่น่าพอใจแก่โจทก์ คู่สัญญาจะทำการเจรจาทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการอาคารพักอาศัยให้เช่าต่อไป และข้อ 1.4 ระบุว่า จำเลยตกลงให้โจทก์มีสิทธิยกเลิกบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ได้ หากผลการศึกษาโครงการพบว่าไม่เป็นที่น่าพอใจแก่โจทก์ในด้านใด ๆ ดังนี้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้สิทธิโจทก์ในการเลิกบันทึกข้อตกลงไว้ โดยอาศัยความพึงพอใจของโจทก์ในการเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในข้อ 4 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เงินจำนวน 35,000,000 บาท ที่โจทก์มอบให้จำเลยไว้ เป็นเงินประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่โจทก์เข้าศึกษาโครงการ ในกรณีที่ผลการศึกษาโครงการไม่เป็นที่น่าพอใจและโจทก์แจ้งไม่ประสงค์จะเข้าลงทุน ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เป็นอันสิ้นสุดลงทันที โดยคู่สัญญาตกลงจะไม่เรียกร้องสิทธิหรือค่าเสียหายใด ๆ ต่อกัน และจำเลยต้องคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน ประกอบกับในรายงานประชุมคณะกรรมการของโจทก์มีข้อความระบุชัดว่า โจทก์ยังไม่ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกับจำเลย และคณะกรรมการของโจทก์ขอเสนอให้เปลี่ยนจากการวาง “เงินมัดจำ” ตามที่จำเลยเสนอมา เป็นการวาง “เงินประกัน” ความเสียหายในการเข้าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแทน แสดงให้เห็นว่า หากโจทก์จะซื้อโครงการของจำเลย จะต้องมีการเจรจาตกลงในข้อสาระสำคัญกันให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งต่อไป ตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 366 ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าโครงการของจำเลยไม่เหมาะสมที่จะลงทุน เป็นเหตุให้คณะกรรมการของโจทก์ได้บอกเลิกบันทึกข้อตกลงไปยังจำเลยพร้อมแจ้งให้คืนเงินประกัน 35,000,000 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิเลิกบันทึกข้อตกลงตามที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลง หาใช่เป็นการใช้สิทธิเลิกตามอำเภอใจหรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ เมื่อสัญญาเข้าร่วมทุนหรือซื้อโครงการระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของโจทก์ และตามบันทึกข้อตกลงได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเพียงแต่คืนเงินประกันแก่โจทก์ภายใน 7 วัน โดยไม่มีดอกเบี้ย จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินประกันดังกล่าว เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินประกันภายใน 7 วัน จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยไม่คืนเงินประกันภายในกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง สำหรับค่าเสียหาย 10,000,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นค่าเสียหายที่จำเลยไม่ยอมคืนเงินประกัน ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในโครงการอื่นนั้น ตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 4 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีที่โจทก์ไม่ประสงค์จะเข้าลงทุนในโครงการของจำเลย ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เป็นอันสิ้นสุดลงทันที จำเลยเพียงแต่คืนเงินประกันให้แก่โจทก์ภายใน 7 วันเท่านั้น โดยคู่สัญญาจะไม่เรียกร้องสิทธิหรือค่าเสียหายใด ๆ ต่อกันอีก ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์          
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2561  สัญญารถขนส่งสินค้ามีผลผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นเวลา 3 ปี โดยอัตราค่าขนส่งยึดตามตารางกำหนดราคาน้ำมันแนบท้ายสัญญา ซึ่งเป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของสัญญา การที่จำเลยปรับเปลี่ยนอัตราค่าขนส่งโดยจัดทำช่วงราคาน้ำมันขึ้นใหม่จากเดิมปรับทุกช่วงราคา 2 บาท ต่อลิตร เป็นปรับทุกช่วงราคา 3.50 บาท ต่อลิตร ย่อมทำให้โจทก์เสียหาย และข้อตกลงในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงใดให้จำเลยปรับเปลี่ยนอัตราค่าขนส่งให้แตกต่างจากอัตราค่าขนส่งแนบท้ายสัญญาได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย การที่จำเลยขอยุติสัญญารถขนส่งสินค้าจึงไม่สามารถกระทำได้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4778/2558  ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้น ย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง" จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดสิทธิในการเลิกสัญญาไว้ 2 ประการ คือ โดยข้อสัญญาหรือโดยกฎหมายให้อำนาจไว้ เมื่อสัญญาเช่าบ้านไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนสัญญาเช่าถึงกำหนดโดยข้อสัญญาได้ โจทก์จึงต้องอาศัยสิทธิการบอกเลิกสัญญาโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แม้โจทก์จะขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากบ้านเช่าพร้อมกับทำหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบ ก็มิใช่เป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านกับจำเลยได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมตกลงเลิกสัญญาเช่าบ้านกับโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านแต่เพียงฝ่ายเดียว สัญญาเช่าบ้านระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยจึงไม่จำต้องคืนเงินดังกล่าวอันเป็นค่าเช่าล่วงหน้าส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4756/2556  วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยระบุให้มีผลเป็นการพ้นสภาพพนักงานในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย เจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยและจะถอนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลย ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ตามหนังสือลาออกของโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2509  สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทโดยจำเลยเป็นผู้สร้างและยอมให้ตึกเป็นของโจทก์ และโจทก์ยอมให้จำเลยเช่ามีกำหนด 9 ปี อันเป็นสัญญาต่างตอบแทนและมีข้อตกลงในสัญญาเช่าด้วยว่า ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาได้ทันทีเมื่อผู้เช่าผิดสัญญาแม้ข้อหนึ่งข้อใด นั้น หากต่อมาผู้เช่าผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า 4 งวดติดกัน ผู้ให้เช่าย่อมบอกเลิกสัญญาเช่าได้เพราะข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อได้ตกลงไว้ในสัญญาเช่นนี้ กำหนดเวลาเช่า 9 ปีก็ต้องอยู่ภายในข้อตกลงนั้นด้วย เมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า 4 งวดติดกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามข้อตกลงนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2130/2526   แม้สัญญาเช่าจะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่มีข้อสัญญาระบุว่า ถ้าผู้เช่าผิดสัญญาข้อใด ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที เมื่อจำเลยผู้เช่าผิดสัญญา โจทก์ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้


          แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะทำขึ้นเป็นหนังสือ แต่การบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1129/2504   การตกลงเลิกสัญญาซื้อขายที่ดิน และคืนเงินมัดจำกันนั้น ไม่ใช่เป็นการปลดหนี้ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือ ฉะนั้น เพียงแต่มีการแสดงเจตนาต่อกัน ก็ย่อมสมบูรณ์

           2 การแสดงเจตนาเลิกสัญญาโดยปริยาย

          พฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฎิบัติต่อกันที่แสดงให้เห็นว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเจตนาที่จะเลิกสัญญา เช่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562  แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า "และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที..." แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3090/2552  ป.พ.พ. มาตรา 386 ให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อสัญญาหรือตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ นอกจากนี้คู่สัญญาอาจตกลงเลิกสัญญากันเองภายหลังทำสัญญาก็ได้ ซึ่งอาจตกลงเลิกสัญญากันโดยชัดแจ้งหรือถือว่าสัญญาเลิกกันโดยปริยายก็ได้ และการบอกเลิกสัญญาโดยปริยายไม่มีกฎหมายบังคับไว้ว่าจะต้องบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือ แต่ต้องทำโดยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง แม้ตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจะให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว โดยจำเลยไม่สามารถบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดสัญญาก็ตาม แต่การที่ ธ. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยเคยแจ้งให้โจทก์ทราบทางจดหมายว่าจะไม่เช่าพื้นที่ทั้งหมดและจะย้ายออกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2539 โจทก์ทราบว่าจำเลยได้ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกสถานที่เช่า ทั้งจำเลยซ่อมแซมพื้นที่เช่าไปด้วย โจทก์ไม่ได้โต้แย้ง โจทก์ไม่ได้ให้บริการแก่จำเลยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2540 และจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์เพื่อคืนกุญแจห้องและสถานที่จอดรถตั้งแต่เดือนธันวาคม 2539 ในเดือนพฤศจิกายน 2540 จำเลยว่าจ้างบริษัท ท. มาปรับปรุงอาคารที่เช่าเพื่อส่งมอบคืนแก่โจทก์ โจทก์ตอบกลับว่างานที่ปรับปรุงยังมีความบกพร่องต้องแก้ไข ทั้งโจทก์คืนเงินมัดจำค่าโทรศัพท์ให้จำเลย 2 ครั้ง ดังนั้นเมื่อจำเลยทำคำเสนอแสดงเจตนาขอเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์และโจทก์ทำคำสนองรับด้วยพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาเช่าและสัญญาให้บริการต่อกันโดยปริยายแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4645/2540   จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทได้ แต่เมื่อไม่มีข้อกำหนดเวลากันไว้ โจทก์จึงใช้ทางได้ตราบเท่าที่จำเลยยินยอม หากจำเลยไม่ยินยอมโจทก์ก็ไม่มีสิทธิใช้ทาง เพราะสิทธิของโจทก์เกิดจากความยินยอมของจำเลยแม้การที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์สร้างทางได้ทำสัญญากันไว้เป็นหนังสือ แต่ในกรณีบอกเลิกสัญญาเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบังคับไว้ว่าจะต้องบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือจำเลยจะบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นการที่จำเลยนำลวดหนามขึงกั้นทางพิพาทไว้จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยปริยายแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5228/2539   จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์น้อยกว่าจำนวนเนื้อที่ที่ตกลงซื้อขายกันตามสัญญาถึงเกือบครึ่ง เป็นการส่งมอบที่ดินที่ขาดตกบกพร่องถึงขนาดซึ่งหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 อย่างแน่นอนโจทก์จึงมีสิทธิบอกปัดเสียหรือเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์บอกปัดไม่ยอมรับโอนที่ดินพิพาทและไม่ชำระราคาที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญากรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคสอง แล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9652/2539   ก่อนทำสัญญาเช่านั้นจำเลยได้ก่อสร้างอาคารพิพาทเสร็จแล้วเพียงแต่ยังมิได้ตบแต่งเท่านั้น โจทก์ตกลงจะชำระเงินช่วยค่าก่อสร้างอาคารพิพาทให้แก่จำเลยเป็นเงิน 1,000,000 บาท โดยโจทก์จะจ่ายให้ในวันจดทะเบียนการเช่า แม้ตามสัญญาเช่าไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะไปจดทะเบียนการเช่าเมื่อใดแต่โจทก์กับจำเลยยอมรับกันว่าได้ตกลงกันจะไปจดทะเบียนการเช่าในวันที่ 5 มกราคม 2535 ซึ่งในวันดังกล่าวโจทก์จะต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าอีก 100,000 บาท กับเงินช่วยค่าก่อสร้างจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่จำเลย ตามที่ตกลงไว้ในสัญญาเช่า แต่ปรากฏว่าในวันนัดจดทะเบียนการเช่าดังกล่าว โจทก์ไม่ได้ชำระเงินค่าเช่าล่วงหน้าที่ค้างชำระอยู่ 100,000 บาท และเงินช่วยค่าก่อสร้างอาคารพิพาทให้แก่จำเลย และจำเลยเองก็ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อจดทะเบียนการเช่าให้แก่โจทก์ ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามสัญญาเช่ากันอีกต่อไป ทั้งหลังจากนั้นโจทก์และจำเลยต่างปล่อยปละละเลยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาโดยมิจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการเช่าและมิได้เรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญา จนเวลาผ่านไปเนิ่นนานจนถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2535 โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าขอบอกเลิกสัญญาเช่าและให้ชำระเงินค่าเช่าล่วงหน้ากับค่าใช้จ่ายในการลงทุนให้แก่โจทก์ กรณีเช่นนี้แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว สัญญาเช่าจึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไปฝ่ายใดจะอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหาได้ไม่ ดังนั้น โจทก์และจำเลยต้องคืนสู่ฐานะดังเดิมที่เป็นอยู่ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391


          การแสดงเจตนาเลิกสัญญาไปแล้วจะถอนเสียไม่ได้
          ตามมาตรา 386 วรรคสองนั้น หมายความว่า การแสดงเจตนานั้นจะต้องสมบูรณ์แล้ว แต่ถ้ามีการถอนการแสดงเจตนาเลิกสัญญาเสียก่อนที่การแสดงเจตนาจะมีผลสมบูรณ์อย่างนี้ย่อมถอนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4756/2556  วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยระบุให้มีผลเป็นการพ้นสภาพพนักงานในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย เจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยและจะถอนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลย ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ตามหนังสือลาออกของโจทก์

           3 สิทธิเลิกสัญญาโดยกฎหมาย


          ก. การเลิกสัญญากรณีที่เรื่องกำหนดเวลาชำระหนี้ไม่ใช่สาระสำคัญของสัญญา ต้องมีการกำหนดเวลาพอสมควรบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ก่อน หากอีกฝ่ายผิดนัดจึงจะบอกเลิกสัญญาได้
          กรณีตามมาตรา 387  "ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้"
          กรณีใช้สิทธิเลิกสัญญาตามมาตรา 387 เป็นเรื่องกำหนดเวลาชำระหนี้ไม่ใช่สาระสำคัญของสัญญา จึงต้องมีการกำหนดเวลาพอสมควรบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ก่อน เมื่อครบกำหนดเวลาตามที่บอกกล่าวไปแล้วแต่ยังไม่มีการชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8505/2561  หนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ระหว่างโจทก์ผู้จองกับจำเลยผู้รับจองกำหนดเวลาการตกแต่งไว้ 4 เดือน นับแต่วันที่รับมอบพื้นที่จากจำเลย โดยระบุวันรับและส่งมอบพื้นที่วันที่ 15 มกราคม 2557 วันเริ่มต้นสัญญาเช่าและบริการวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 โดยมีระยะเวลาปลอดค่าเช่าและค่าบริการเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2557 กำหนดเวลาชำระเงินจองโดยแบ่งออกเป็น3 งวด งวดละ 1,169,343 บาท งวดที่ 1 ชำระวันทำหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ งวดที่ 2 ชำระภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 และงวดที่ 3 ชำระภายในวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 และกำหนดเวลาที่โจทก์จะเข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการกับจำเลยภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 หากโจทก์ไม่มาทำสัญญาเช่าและบริการตามที่กำหนด ยินยอมให้จำเลยยึดเงินจองและให้นำพื้นที่ที่จองไว้ออกจำหน่ายให้แก่ผู้เช่ารายอื่นทันที แต่พฤติการณ์ที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ที่จองตามกำหนด โจทก์ขอเลื่อนเวลาการชำระเงินจองงวดที่ 3 กับเลื่อนการทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการ ส่วนจำเลยนำสืบว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2557 โจทก์และจำเลยมีการตรวจวัดรับพื้นที่เช่าและงานระบบกันแล้ว ต่อมาปลายเดือนมีนาคม 2557 จำเลยเรียกโจทก์เข้ามาเจรจาเนื่องจากตรวจสอบพบว่าโจทก์เข้าไปตกแต่งพื้นที่ส่วนกลางและเปลี่ยนแบบแปลนประเภทร้านค้าเป็นร้านอาหาร ทำให้จำเลยต้องเปลี่ยนแก้ไขระบบงานสาธารณูปโภค เปลี่ยนและติดตั้งระบบดูดควันใหม่ เทพื้นใหม่ เปลี่ยนและวางท่อก๊าซแอลพีจีใหม่ตามคำร้องขอของโจทก์ ซึ่งจำเลยยอมผ่อนปรนและพยายามทำทุกอย่างเท่าที่โจทก์ร้องขอมาโดยตลอดนั้น กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยไม่ถือเอากำหนดเวลาที่ระบุในหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่เป็นข้อสำคัญ เช่นนี้ที่โจทก์ไม่ชำระเงินจองงวดที่ 3 ไม่เข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการภายในกำหนดเวลาตามหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุดังกล่าวทันทีไม่ได้ หากแต่จำเลยต้องบอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระเงินจองที่ยังคงค้างและให้เข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการเสียก่อน และเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดแล้วโจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 แต่ ส. พยานจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเบิกความลอย ๆ ว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่าและบริการหลายครั้ง แต่โจทก์เพิกเฉย โดยไม่มีพยานหลักฐานอย่างอื่นมายืนยันสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยได้บอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระเงินจองที่ยังค้างและเข้าทำสัญญาเช่ากับสัญญาบริการมาก่อนแล้ว การที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ไปยังโจทก์บอกเลิกหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ ด้วยเหตุว่าโจทก์คงค้างชำระเงินจองงวดสุดท้าย และไม่ได้เข้าทำสัญญาภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยมิได้กำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติก่อนจึงไม่ชอบ แต่เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2558 จากจำเลยแล้ว โจทก์กลับมีหนังสือลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ไปยังจำเลยเพื่อขอยกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่กันแล้ว โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินจองพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันที่รับไว้ให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ต้องชดใช้ค่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของจำเลยและนำมาหักกลบลบหนี้กับเงินจองที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์ได้นั้น จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้มา จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2561  แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ก็ไม่อาจถือว่าสัญญาเช่าซื้อต้องเลิกกันทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามสัญญาข้อ 6 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดงวดนั้นดังที่ระบุในสัญญาข้อ 9 การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 33 งวด โดยเป็นการชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาแต่จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งนั้นให้โจทก์โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุโจทก์ผิดนัด นอกจากนี้ยังปรากฏว่า หลังจากมีการยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว จำเลยยังส่งหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 34 ถึงงวดที่ 36 อีก 2 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายขอให้โจทก์ติดต่อชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมค่าใช้จ่าย มิฉะนั้นจำเลยจะนำรถขุดออกขายแก่บุคคลภายนอก เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังคงผ่อนผันการผิดนัดให้โจทก์อีกเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ โดยหากโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระแก่จำเลยพร้อมเบี้ยปรับฐานชำระล่าช้า จำเลยก็จะยินยอมให้โจทก์รับรถขุดที่เช่าซื้อกลับคืนไปและชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนกว่าจะครบตามสัญญา ส่วนหนังสือบอกเลิกสัญญาที่จำเลยให้ลูกจ้างของจำเลยนำติดตัวไปเพื่อดำเนินการยึดรถขุดแล้วลูกจ้างของจำเลยนำไปมอบให้แก่ผู้ขับรถขุดภายหลังจากทำการยึดรถขุดแล้วนั้น กรณีมิใช่การมอบให้แก่โจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทั้งหนังสือดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน กลับมีการมอบให้ภายหลังการยึดรถขุด ทั้งข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อขัดแย้งกับที่จำเลยยังคงออกหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายหลังจากที่ยึดรถขุดคืนมาแล้วดังกล่าวการบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เลิกกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนได้ การที่จำเลยยึดรถขุดดังกล่าวมา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2428/2515  หนังสือสัญญาจะซื้อขายมิได้ระบุไว้ว่า  ถ้าผู้จะซื้อผิดสัญญา ไม่ผ่อนชำระราคาทรัพย์ที่ซื้อขายเป็นรายเดือนตามกำหนด ให้ผู้จะขายใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ทันที  และปรากฏว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาที่จะถือเอากำหนดเวลาผ่อนชำระราคาเป็นสารสำคัญตามสัญญา ฉะนั้น แม้ผู้จะซื้อผิดสัญญา  ไม่ผ่อนชำระราคาทรัพย์ที่ซื้อขายเป็นรายเดือนตามวันที่กำหนดไว้ ผู้จะขายก็จะบอกเลิกสัญญาทันทีมิได้ หากแต่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โดยต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควร  บอกกล่าวให้ผู้จะซื้อชำระหนี้ราคาทรัพย์ที่ติดค้างอยู่  ต่อเมื่อผู้จะซื้อไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้น ผู้จะขายจึงจะเลิกสัญญาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2539   วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจะซื้อขายว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาแสดงไว้ ไม่มีพฤติการณ์ให้เห็นว่าระยะเวลาในการจัดหาทางภาระจำยอมให้ได้ภายในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2534 ของจำเลยเป็นสาระสำคัญแก่ผลสำเร็จและประโยชน์ที่โจทก์จะพึงได้รับตามสัญญา ซึ่งหากล่าช้าไปแล้วย่อมเป็นอันไร้ประโยชน์แก่โจทก์ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติ ป.พ.พ.มาตรา 387 กล่าวคือ เมื่อจำเลยผิดสัญญายังไม่สามารถจัดหาทางภาระจำยอมให้แก่ที่ดินพิพาทได้ตามสัญญา เป็นการไม่ชำระหนี้ในส่วนที่เป็นหน้าที่ของตน ซึ่งเป็นเวลาก่อนกำหนดระยะเวลาโอนที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ด้วย โจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยจัดหาทางภาระจำยอมให้ได้ โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรก่อน ถ้าจำเลยไม่ดำเนินการให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว โจทก์จึงจะเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อขาย การบอกเลิกสัญญาของทนายความโจทก์ต่อจำเลยตามเอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.25 จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมีผลผูกพันอยู่ ดังนั้นโจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 5,000,000 บาท และเงินค่าที่ดินที่จำเลยเบิกล่วงหน้าไปจากโจทก์ก่อน 2,000,000 บาท เพราะเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยไว้ตามข้อกำหนดในสัญญาจะซื้อขาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1378/2546   สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านมีใจความในข้อ 2.1, 2.2 และ 2.3 ว่าโจทก์จะชำระค่าจ้างในวันทำสัญญาเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท และให้ถือว่าเป็นการชำระเงินงวดที่ 1 และชำระเงินงวดอีกเป็นจำนวน 1,433,190 บาท โดยแบ่งชำระรวม 21 งวด ภายในวันที่ 20 ของเดือน และข้อ 2.4 มีว่า ส่วนที่เหลือจากการชำระตามข้อ 2.1, 2.2 และ 2.3 เป็นเงินจำนวน 3,694,110 บาท จะชำระเมื่องานก่อสร้างทุกอย่างแล้วเสร็จสมบูรณ์ แม้สัญญาดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างบ้านไปแล้วเสร็จไว้ก็ตาม ก็อนุมานได้ว่าภายในระยะเวลาที่โจทก์ผ่อนชำระค่างวดครบ 22 งวด จำเลยจะต้องปลูกสร้างบ้านให้แก่โจทก์ให้ได้ไม่น้อยกว่าตามสัดส่วนของเงินค่าจ้างที่จำเลยได้รับชำระจากโจทก์ไปแล้ว แต่จำเลยไม่ได้เริ่มลงมือปลูกสร้างบ้านแต่อย่างใด โจทก์จึงมีหนังสือสอบถามไปยังจำเลยถึงความคืบหน้าในการปลูกสร้างบ้าน และให้จำเลยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จสมบูรณ์ของการปลูกสร้างบ้าน แต่จำเลยก็มิได้มีหนังสือชี้แจงหรือโต้แย้งคัดค้านอย่างใด โจทก์ให้เวลาจำเลยอีก 4 เดือนเศษ จำเลยก็ยังไม่ปลูกสร้างบ้านให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายในระยะเวลาอันสมควรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4211/2539   เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดแรกเป็นต้นมาเกินกว่า 2 งวดติดต่อกัน โจทก์ให้พนักงานเร่งรัดหนี้สินติดตามทวงถาม จำเลยที่ 1 ก็นำเงินมาชำระให้โจทก์บางส่วน ซึ่งโจทก์ยอมรับไว้และยอมให้จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อต่อไป ต้องถือว่าโจทก์รับเงินดังกล่าวไว้เป็นค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระหลังจากผิดนัดแล้ว แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังคงปฏิบัติต่อกันเสมือนหนึ่งว่าสัญญาเช่าซื้อยังใช้บังคับอยู่ โดยมิได้ถือกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อมิได้ และหากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาก็ต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาที่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เสียก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระจึงบอกเลิกสัญญาได้ แต่เมื่อโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาและจำเลยที่ 1 ก็ยินยอมโดยมิได้โต้แย้ง ถือว่าทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถคืนมา จำเลยที่ 1 ไม่ต้องใช้ค่าเสียหายใดๆแก่โจทก์ คงรับผิดเฉพาะค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันสัญญาเลิกกันเท่านั้น

          ข. การเลิกสัญญาในกรณีที่กำหนดเวลาชำระหนี้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญ เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วอีกฝ่ายไม่ชำระหนี้ สามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันที
          มาตรา 388  "ถ้าวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญานั้น ว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้ จะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลามีกำหนดก็ดี หรือภายในระยะเวลาอันใดอันหนึ่งซึ่งกำหนดไว้ก็ดี และกำหนดเวลาหรือระยะเวลานั้นได้ล่วงพ้นไปโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ชำระหนี้ไซร้ ท่านว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้ มิพักต้องบอกกล่าวดังว่าไว้ในมาตราก่อนนั้นเลย"
          เมื่อกำหนดเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญของสัญญาแล้ว หากถึงเวลาชำระหนี้แต่ฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ผิดนัด อีกฝ่ายหนึ่งสามารถเลิกสัญญาได้ทันที
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4551/2544   สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกำหนดระยะเวลาเช่า 8 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคม 2539 ถ้าผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าถือว่าสัญญาเช่าระงับลงโดยไม่ต้องบอกกล่าว จำเลยชำระค่าเช่าถึงเดือนสิงหาคม 2539 แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าอีก ดังนี้ สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทเป็นสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาแน่นอน  เมื่อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าต้องถือว่าสัญญาเช่าระงับโดยไม่ต้องบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 ฉะนั้น โจทก์จึงไม่จำต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าให้จำเลยทราบก่อนชั่วระยะเวลาเช่าตามมาตรา 566
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2009/2524   โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยโดยกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินไว้ว่า โจทก์จะต้องชำระราคาซื้อขายทั้งหมดให้แก่จำเลยในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก่อนถึงวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ทนายจำเลยมีหนังสือถึงทนายโจทก์ยืนยันเงื่อนไขดังกล่าว มิฉะนั้นจำเลยขอบอกเลิกสัญญา อันเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ชำระหนี้ไว้แล้ว เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญาในวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยยืนยันจะชำระราคาซื้อขายเป็นสองงวด ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาและริบมัดจำเสียได้

          ค. กรณีการเลิกสัญญาเพราะการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัยอันจะโทษลูกหนี้ได้
          มาตรา 389  "ถ้าการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้ได้ไซร้ เจ้าหนี้จะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้"
          การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย คือ ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6615/2553  เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันเพราะการบอกเลิกสัญญาของจำเลย คู่สัญญาจึงยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา กล่าวคือ โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระราคาส่วนที่เหลือและจำเลยมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องแก่โจทก์ แต่ได้ความตามคำให้การของจำเลยว่าจำเลยได้โอนขายห้องชุดทั้งสองห้องแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญา ดังนี้ การชำระหนี้ของจำเลยในการที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์จึงกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำของจำเลยโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยอาจซื้อห้องชุดคืนมาโอนให้โจทก์ได้หรือไม่ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 389 โดยหาจำต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามมาตรา 387 ก่อน การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว เมื่อสัญญาเลิกกันเพราะโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม กล่าวคือ จำเลยจำต้องคืนราคาห้องชุดที่โจทก์ชำระแล้วแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้ ทั้งนี้ตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ประกอบมาตรา 7
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 982/2513 (ประชุมใหญ่)  สัญญาเช่าเพื่อการปลูกสร้างอาคารที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ชัดเจนพอแล้วว่า  ให้ผู้เช่าคือโจทก์จัดการให้ผู้เช่าเดิมออกไปจากสถานที่เช่าให้แล้วเสร็จภายในกำหนด  3  ปี  ทั้งนี้ รวมทั้งการเจรจาหรือโดยการฟ้องร้องต่อศาลทั้งสองประการ และหากผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด  ผู้ให้เช่าทรงสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีสารสำคัญแห่งสัญญาข้อนี้อยู่ที่ว่า  โจทก์จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะให้ผู้เช่าเดิมออกไปให้เสร็จภายใน 3 ปีมิใช่ว่าให้โจทก์ฟ้องภายใน  3  ปี  เมื่อโจทก์ไม่สามารถขับไล่ให้เสร็จภายในกำหนด โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที

          ง.สิทธิเลิกสัญญาตามมาตรา 371 วรรคสอง เป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนที่มีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง แต่กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนเพราะมีเงื่อนไขบังคับก่อน และทรัพย์นั้นเสียหายไปก่อนที่เงื่อนไขสำเร็จ
          มาตรา 371 วรรคสอง  "ถ้าทรัพย์นั้นเสียหายเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้มิได้ และเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้โดยลดส่วนอันตนจะต้องชำระหนี้ตอบแทนนั้นลง หรือเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้ แล้วแต่จะเลือก แต่ในกรณีที่ต้นเหตุเสียหายเกิดเพราะฝ่ายลูกหนี้นั้น ท่านว่าหากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนไม่"
          สิทธิเลิกสัญญาตามมาตรา 371 เป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนที่มีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง แต่กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนเพราะมีเงื่อนไขบังคับก่อน และทรัพย์นั้นเสียหายไปก่อนที่เงื่อนไขสำเร็จ เจ้าหนี้สามารถเลิกสัญญาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2554  จำเลยทำคันดินริมแม่น้ำแควน้อยมีผลทำให้ที่ดินที่โจทก์ตกลงจะซื้อจากจำเลยมีสภาพด้อยลงกว่าในขณะทำสัญญา ถือได้ว่าเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินตามสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยจะโทษโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 371 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิเลือกที่จะเลิกสัญญาหรือเรียกให้จำเลยชำระหนี้ด้วยการจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านแก่โจทก์ตามสภาพที่เป็นอยู่โดยลดส่วนหนี้ค่าราคาที่ดินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยได้ เมื่อโจทก์ไม่ใช้สิทธิเลิกสัญญา โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าว แม้สัญญาจะซื้อขายมีข้อตกลงว่าหากจำเลยผู้จะขายปฏิบัติผิดสัญญา ผู้จะขายตกลงคืนเงินที่ได้รับชำระไว้แล้วพร้อมดอกเบี้ยก็เป็นเพียงทางเลือกทางหนึ่งมิได้เป็นข้อสัญญาจำกัดหรือเป็นการสละสิทธิของโจทก์ในการเลือกใช้สิทธิ

          การใช้สิทธิเลิกสัญญาในกรณีที่มีคู่สัญญาหลายคน

          มาตรา 390  "ถ้าในสัญญาใดคู่สัญญาเป็นบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง ท่านว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก็แต่เมื่อบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันใช้ ทั้งใช้ต่อบุคคลเหล่านั้นรวมหมดทุกคนด้วย ถ้าสิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่บุคคลคนหนึ่งในจำพวกที่มีสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว สิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่คนอื่น ๆ ก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 781/2523  โจทก์และผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันอีก 2 คน รับโอนบ้านพิพาทซึ่งจำเลยเช่าอยู่เดิม จำเลยไม่ชำระค่าเช่าบ้านพิพาทให้โจทก์อันเป็นการผิดสัญญา โจทก์แต่ผู้เดียวย่อมมีอำนาจบอกเลิกสัญญา และฟ้องขับไล่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8235/2555   การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกัน แจ้งต่อนายทะเบียนให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกัน ส่งมอบกิจการและทรัพย์สินของห้างจำเลยที่ 1 ตามสัญญาให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยเท่ากับเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาเพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ ห. อ. ย. ป. และ จ. เป็นคู่สัญญาฝ่ายเดียวกันตกลงทำสัญญายินยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าเป็นผู้บริหารกิจการห้างจำเลยที่ 1 อันเป็นการทำสัญญาโดยบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง โจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้ต้องอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 390 คือ ต้องใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยบุคคลฝ่ายเดียวกันทั้งหมดรวมกันใช้ โจทก์เพียงคนเดียวในฐานะส่วนตัวไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยลำพังได้



          ผลของการเลิกสัญญา

          มาตรา 391  "เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
          ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
          ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น
          การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่"

          ผลของการเลิกสัญญามี 5 ข้อ 

          (1) เมื่อสัญญาเลิกกันคู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16349/2555  โจทก์ฎีกาว่า เงินจำนวน 344,250 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับไปจากโจทก์เป็นเงินค่าจ้างล่วงหน้าและจำเลยทั้งสองจะต้องคืนแก่โจทก์หรือไม่ สัญญาซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงานติดตั้งระบบไฟฟ้า แบ่งการทำงานและการชำระเงินเป็น 6 งวด แต่เงินจำนวน 344,250 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับไปจากโจทก์นั้น เป็นการรับไปตามสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า ข้อ 1 และสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงานติดตั้งระบบไฟฟ้างวดที่ 1 ซึ่งเงินงวดนี้ไม่ได้ระบุถึงเนื้องานว่าจำเลยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเพียงใด ซึ่งต่างจากการดำเนินการในงวดงานที่ 2 ถึงงวดที่ 6 เพียงแต่มีข้อความว่าชำระเงินจำนวนร้อยละ 10 ของราคาวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงทั้งหมด ในวันเซ็นสัญญาหรือเมื่อผู้ซื้อออกหนังสือสัญญาว่าจะจ้างให้แก่ผู้ขาย และผู้ขายจะนำหนังสือค้ำประกันธนาคารจำนวนเงินเท่ากันมาเป็นหลักค้ำประกัน อันเป็นการสอดคล้องกับเนื้อความในข้อสัญญาที่ว่าโจทก์ได้จ่ายให้แก่จำเลยในวันลงนามสัญญา เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวโจทก์จ่ายให้แก่จำเลยในวันเริ่มลงนามสัญญาโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลการดำเนินงานที่จำเลยรับจ้างทำงานให้แก่โจทก์ เงินจำนวน 344,250 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับไปจากโจทก์จึงเป็นเงินค่าจ้างล่วงหน้า
          ตามสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงาน งวดที่ 2 จำเลยจะต้องดำเนินการสกัดแนวท่อ ฝังบล็อก วางท่อ ร้อยสายไฟฟ้า ต่อสาย ระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์และระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ พร้อมทั้งปิดฝากล่องเชื่อมสายไฟให้เรียบร้อย ทั้งจะต้องจัดทำระบบสายใต้ดินให้แล้วเสร็จร้อยละ 90 ของงาน จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างพยานโจทก์ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยมิได้ส่งมอบงานและดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามสัญญางวดที่ 2 โจทก์จึงชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาย่อมเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยทั้งสองจำต้องให้ฝ่ายโจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยต้องใช้เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่รับไปคืนแก่โจทก์
          สัญญาทั้งสองฉบับเป็นสัญญาจ้างทำของ เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจากจำเลยทั้งสอง ถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างให้ประกอบการงานเรียกเอาคืนซึ่งเงินทดรองที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) จึงมีอายุความ 2 ปี หาใช่เรื่องที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะอันจะมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาจึงเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงสิ้นสุดลงในวันนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่รับไปจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดดังกล่าว เมื่อคิดถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          (2) เงินที่ใช้คืนต้องบวกดอกเบี้ยนับแต่วันที่รับไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2556  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อหนี้ที่ต่างต้องชำระมิได้กำหนดเวลาไว้แน่นอน ต่างฝ่ายย่อมเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลัน โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควร บอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ประกอบมาตรา 369 การที่จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1314 โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระหนี้ แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยมีสิทธิรับเงินมัดจำ จำนวน 100,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงหมายเลข 1315 จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยมิได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ก่อนจึงไม่ชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญาต่อกัน แม้ไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาตามพฤติการณ์ แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 จึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไป กรณีไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท
          สำหรับเงินค่าทำสัญญาที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์สองแปลง เป็นเงินแปลงละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น ไม่ใช่มัดจำ แต่เป็นการชำระราคาค่าที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์บางส่วน เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ส่วนเงินที่จะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 และราคาที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงบางส่วนดังกล่าวที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไว้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2545 อันเป็นวันที่รับไว้เป็นต้นไป

          (3) ถ้ามีการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืนให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2978/2560  โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง จำเลยรับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าร้อยละ 30 ของราคาค่ารับเหมาก่อสร้าง แต่ไม่ได้กำหนดวันเดือนใดที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกัน หากโจทก์ต้องการเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทำการก่อสร้างภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน กล่าวคือ โจทก์ไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นก่อสร้างตามสัญญา จำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวกำหนดวันให้โจทก์ส่งมอบพื้นที่ให้จำเลย ทั้งสองฝ่ายต่างเพิกเฉยปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 3 ปี แสดงว่าคู่สัญญาไม่นำพาที่จะปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ดังนั้น การที่โจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้ง เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่โจทก์ จำเลยได้จัดทำแบบแปลนการก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และบริเวณทางเดินภายในโรงงานและส่งมอบให้แก่โจทก์แล้ว เป็นการงานอันจำเลยได้กระทำให้โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำสืบว่าค่าแบบแปลนมีราคาเท่าใด จึงกำหนดค่าแบบแปลนให้จำเลย 10,700 บาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2559  โจทก์มีอาชีพออกแบบโครงการก่อสร้างย่อมต้องทราบระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเป็นอย่างดีจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่โจทก์จะไม่ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวในอัตราส่วน 1 ต่อ 100 เพื่อใช้ก่อสร้างให้แก่จำเลย ดังนั้นเมื่อโจทก์ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวดังกล่าวแล้ว จำเลยต้องชำระค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 4 ส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ ส่วนการที่จำเลยไม่ได้ทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ดีหรือยังไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้าง อันทำให้จำเลยไม่สามารถทำการก่อสร้างได้ก็ดีก็เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยเอง หาอาจยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ไม่
          โจทก์ออกแบบและส่งมอบแบบโครงการพัทยา สาย 2 ให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยก็ได้ชำระค่าบริการวิชาชีพแก่โจทก์ครบตามสัญญา การที่จำเลยยอมรับมอบงานที่โจทก์ทำและชำระค่าบริการให้แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่ามีข้อโต้แย้งใดบ่งชี้ว่างานออกแบบที่โจทก์ทำขึ้นไม่ถูกต้อง โจทก์จึงย่อมไม่มีความรับผิดใดๆ ตามสัญญาจ้างเดิม การที่โจทก์และจำเลยมาทำสัญญาจ้างออกแบบกันใหม่แม้จะมีเนื้อหาเป็นการให้โจทก์แก้ไขปรับปรุงแบบเดิมที่โจทก์ทำไว้ก็ตาม ต้องถือเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาเพื่อผูกพันตามข้อตกลงใหม่ที่ระบุไว้ในสัญญาจึงไม่ใช่เป็นการก่อหนี้ที่จำเลยเข้าทำสัญญากับโจทก์โดยสำคัญผิดในแบบของสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาอันจะทำให้สัญญาจ้างออกแบบฉบับใหม่ตกเป็นโมฆะตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดังนั้น จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดชำระค่าบริการวิชาชีพตามสัญญาฉบับใหม่แก่โจทก์ อย่างไรก็ดี แม้สัญญาฉบับใหม่จะไม่ตกเป็นโมฆะแต่การที่โจทก์ในฐานะผู้มีอาชีพออกแบบในงานสถาปัตยกรรมย่อมต้องมีหน้าที่ออกแบบให้เป็นไปตามข้อตกลงในกรอบของกฎหมาย ดังนั้น การที่โจทก์ออกแบบอาคารเออยู่ในตำแหน่งที่กฎหมายห้ามไม่ให้ก่อสร้างอาคารที่มีจำนวนเกิน 80 ห้อง นั้น แสดงว่าโจทก์ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงข้อห้ามตามกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับสาธารณชน แม้จำเลยรู้เห็นหรือยินยอมก็ต้องถือว่าโจทก์มีส่วนผิด จึงสมควรไม่กำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 2 ถึงที่ 4 ในส่วนของการออกแบบอาคารเอ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบริการวิชาชีพเฉพาะในส่วนของการออกแบบอาคารบีเท่านั้น ซึ่งเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 428,000 บาท พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2551
          จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มีหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโครงการพหลโยธิน 37 ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้จำเลยสามารถนำแบบแปลนไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของจำเลยแต่โจทก์กลับไม่ดำเนินการตามสัญญาเป็นเหตุให้จำเลยก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด พอถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ออกแบบสำหรับการก่อสร้างไม่ถูกต้องแล้ว ข้อนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ผิดสัญญาจึงไม่ใช่การนำสืบนอกประเด็นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามสัญญาจ้างออกแบบโครงการพหลโยธิน 37 หรือไม่... ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าการออกแบบของโจทก์เป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ต้องการให้เพดานห้องสูงมีความปลอดโปร่งอันส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าซึ่งหากนำไปใช้เป็นแบบในการก่อสร้างจะทำให้อาคารที่ก่อสร้างมีความสูง 25 เมตร เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และการที่โจทก์ซึ่งมีอาชีพด้านการออกแบบยอมกระทำในสิ่งที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สาธารณชนถือว่าโจทก์มีส่วนผิดที่ทำงานโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการออกแบบที่ผิดกฎหมายของตน โจทก์จึงไม่สมควรได้รับค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 2 ส่วนที่เหลือจำนวน 189,582.60 บาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4900/2559  เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้ผิดสัญญาเช่า จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่า การที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยคืนเงินประกันและชดใช้เงินค่าปรับปรุงตึกแถวโดยมิได้ขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาต่อไป ถือได้ว่า โจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาเช่าด้วย จึงเป็นกรณีคู่สัญญาสมัครใจเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แม้การปรับปรุงตึกแถวจะเป็นไปเพื่อประโยชน์และกิจการของโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยเป็นฝ่ายใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนโดยไม่มีสาเหตุอันควร ทำให้ต้องเลิกสัญญาเช่ากันในเวลาต่อมา และการงานที่โจทก์เข้าปรับปรุงตึกแถวเป็นการงานที่โจทก์ทำให้และจำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โจทก์ชอบที่จะเรียกค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงตึกแถวพิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4330/2554  เมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้ ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม การที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยในข้อ 9 ระบุให้บรรดางานที่โจทก์ได้ทำขึ้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยโจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้ เพื่อเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้ค่างานแก่โจทก์ จึงเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า อันเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง หาใช่ว่าจะต้องบังคับตามข้อสัญญาโดยเด็ดขาดเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งงานแก่โจทก์เสมอไปไม่

          (4) การเลิกสัญญาไม่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2554  จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากโจทก์โดยชำระราคาเพียงบางส่วนจำนวน 300,000 บาท แล้วนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่บรรยายฟ้องถึงการที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าที่ดินอันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาซื้อขายโดยขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเพื่อให้ได้ที่ดินกลับคืนเท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญาอันมีผลให้คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังที่เป็นอยู่ แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกที่รับจำนองที่ดินไว้โดยมีมูลหนี้และโดยสุจริต โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้ จึงต้องจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์คืนที่ดินแก่โจทก์โดยติดจำนอง
          การชำระหนี้ระหว่างคู่สัญญาเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมเป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 392 และมาตรา 369 เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คืนที่ดินแก่โจทก์โดยติดจำนองซึ่งโจทก์อาจถูกบังคับจำนองเพื่อให้ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับจำนอง โจทก์จะต้องคืนเงินค่าที่ดินจำนวน 300,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนองครบถ้วนแล้วจึงจะเป็นการกลับคืนสู่ฐานะเดิมที่ถูกต้อง การที่โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการขอให้ที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนโจทก์โดยติดจำนองและให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินบางส่วนจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองครบถ้วนแล้วได้ แม้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ได้ฟ้องแย้งก็ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ. พ. มาตรา 142

          (5) การเลิกสัญญาไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย (ถ้ามี)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19692/2557  แม้พฤติการณ์ที่โจทก์ปิดวาล์วก๊าซ ถือว่าโจทก์ในฐานะคู่สัญญาได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาซื้อขายก๊าซแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่กรณีก็เป็นการเลิกสัญญาเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเบี้ยปรับซึ่งเป็นค่าเสียหายจากการผิดสัญญาซื้อขายก๊าซของจำเลย ซึ่งได้เกิดขึ้นและยังมีอยู่ตลอดไปจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยโดยสิ้นเชิง การเลิกสัญญาดังกล่าวหาได้ทำให้สิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับจากจำเลยระงับไปไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซจากจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 638/2556  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ บัญญัติว่า "การใช้สิทธิ์เลิกสัญญานั้น หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่" บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายเพียงว่าการเลิกสัญญานั้นไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้น กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้มีความรับผิดที่ตนเองไม่ชำระหนี้แล้วการไม่ชำระหนี้เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213, 215 บทบัญญัติมาตรา 391 มิได้ให้สิทธิพิเศษที่จะเรียกค่าเสียหายในกรณีที่คู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากันโดยลูกนี่มิได้ค้างชำระหนี้หรือผิดสัญญาด้วย ดังนั้น การวินิจฉัยว่าโจทก์จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาได้หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาก่อนว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่

การถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณ

 

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 531  "อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้นท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
          (1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือ
          (2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
          (3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้"

           (1) เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณเนื่องจากผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ตามมาตรา 531 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8485/2538   ข้ออ้างของโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องนั้น มิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ได้ประทุษร้ายต่อโจทก์ทั้งสองเป็นความผิดอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญา หรือจำเลยที่ 1 ได้ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองอย่างร้ายแรง หรือจำเลยที่ 1 ได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ทั้งสองในเวลาที่โจทก์ทั้งสองยากไร้และจำเลยที่ 1 ยังสามารถจะให้ได้แต่อย่างใด แม้โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาว่า จำเลยที่ 1 ขับไล่โจทก์ทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายมาด้วยว่าจำเลยที่ 1 ขับไล่โจทก์ทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทด้วยการกระทำหรือด้วยวาจาอย่างใดอันจะฟังได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 ได้ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองอย่างร้ายแรง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ ก็ไม่มีเหตุที่จะถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งสองอันจะทำให้โจทก์ทั้งสองเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 531 แต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 ได้ และเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่อาจเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ทั้งสองก็ย่อมไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 และนิติกรรมการขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 และที่ 4 ได้ด้วย
          ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสองจะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสองได้หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาหากศาลฎีกาเห็นสมควร ก็ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้


          (2) เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณเนื่องจากผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง ตามมาตรา 531 (2)

          ด่าผู้ให้ว่า "เป็นคนจัญไร" มีความหมายว่า "เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล" เป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7301/2559 จำเลยด่าโจทก์ว่า เป็นคนจัญไร ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า "เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล" อันเป็นถ้อยคำรุนแรงไร้ความเคารพนับถือเป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดาผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

          การพูดจาโดยไม่มีสัมมาคารวะและไม่เคารพยำเกรงโจทก์ผู้เป็นมารดาเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง อันจะถือได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18347/2557  คดีนี้ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยกล่าวแก่โจทก์ว่า "แม่แก่แล้วอายุตั้ง 90 ปี พูดกลับไปกลับมา แม่ใหญ่ได้แค่ในห้องนี้แหละ ข้างนอกฉันใหญ่ ถ้าไม่มีแม่ ฉันก็ดูแลทุกอย่างเองได้ ออกไปจากบ้านเถอะ" ต่อมาชั้นสืบพยานโจทก์เบิกความแต่เพียงว่า จำเลยกล่าวแก่โจทก์ว่า "แม่อายุ 90 ปี แล้ว พูดกลับไปกลับมา แม่ไม่อยู่ไม่มีแม่เค้าก็ทำได้" และจำเลยบอกคนดูแลโจทก์ให้จูงโจทก์ออกไปข้างนอก แม้ในข้อนี้จำเลยจะให้การปฏิเสธว่าไม่ได้พูดข้อความเช่นนั้นและอ้างว่าวันเกิดเหตุจำเลยเดินทางไปต่างจังหวัดก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการพูดจาโดยไม่มีสัมมาคารวะและไม่เคารพยำเกรงโจทก์ผู้เป็นมารดาเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง อันจะถือได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

          กล่าวเพียงคำหยาบไม่ให้ความเคารพและลำเลิกบุญคุณ หาใช่เจตนาทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงหรือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10552/2557   การที่จำเลยกล่าวต่อโจทก์ซึ่งเป็นบิดาโดยใช้คำว่ามึงกู เป็นคำหยาบไม่ให้ความเคารพโจทก์ ส่วนข้อความที่ว่า “ถ้ากูไม่ช่วยมึง มึงติดคุกไปนานแล้ว” เป็นการกล่าวเพื่อลำเลิกบุญคุณ ที่จำเลยเคยช่วยเหลือโจทก์ในอดีตเท่านั้น หาใช่เจตนาทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงหรือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงไม่ คำกล่าวนี้ยังไม่ถึงขนาดที่จะพอฟังได้ว่า จำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

          เรียกโจทก์ว่า อีแก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2553 ถ้อยคำที่จำเลยด่าโจทก์ว่า “อีแก่ไม่ยุติธรรม มึงทำให้ครอบครัวกูแตกแยก กูจะไม่อยู่กับมึงแล้ว” เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นโจทก์ซึ่งเป็นอา จำเลยเรียกโจทก์ว่า อีแก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) โจทก์ย่อมเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้
          ก่อนฟ้องคดีจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 27546 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้อื่น เมื่อถอนคืนการให้ จำเลยต้องส่งคืนทรัพย์สินแก่โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ โดยคืนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ตามสภาพที่เป็นอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 413 วรรคหนึ่งและมาตรา 534

          ต้องนำสืบด้วยว่าจำเลยด่าว่าโจทก์อย่างไรบ้างที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6323/2552  โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยประพฤติเนรคุณเป็น 2 ประการ ประการแรกจำเลยขับไล่และด่าว่าโจทก์ว่า “แก่แล้วทำไมไม่ตายเสียที น่าจะตายให้พ้นๆ ไป จะได้ไม่เป็นภาระคนอื่น” ประการที่สอง จำเลยไม่ยอมให้สิ่งจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ทั้งๆ ที่จำเลยสามารถจะหยิบยื่นให้ได้ อันเป็นเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) และ (3) ตามลำดับ แต่เหตุประการแรกโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยด่าว่าโจทก์อย่างไรบ้างที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) ส่วนเหตุในประการที่สองโจทก์อ้างว่าจำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูและไม่ให้ค่าเลี้ยงชีพเมื่อโจทก์ขอ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยังมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินอีกอย่างน้อย 1 แปลง และโจทก์ยังมีบุตรคนอื่นๆ ให้การอุปการะเลี้ยงดูอีกด้วย ตามสถานภาพของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นคนยากไร้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3) กรณีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนคืนการให้ได้

           ด่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ว่า เป็นหมา ไม่มีศีลธรรม เป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 980/2550   โจทก์เจ็บป่วยไปขอความช่วยเหลือจากจำเลย จำเลยไม่พอใจพร้อมพูดว่า บักหมามึงแก่แล้ว พูดจากลับไปกลับมาเหมือนเด็กเล่นขายของ มึงไม่มีศีลธรรม มึงไปตายที่ไหนก็ไป ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง จึงมีเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณที่โจทก์ถอนคืนการให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)       
 
          พูดกับผู้ให้ว่า "..เสือกโง่เอง.." เป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2550   คำฟ้องโจทก์อ้างเหตุประการแรกว่า จำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ด้วยถ้อยคำว่า "โจทก์ยกที่ดินให้แล้ว ยังจะเอาคืน เสือกโง่เอง อย่าหวังว่าจะได้สมบัติคืนเลย" ข้อความนี้ เป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด ดังนั้น แม้หากจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กล่าวถ้อยคำตามคำฟ้องจริงก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเพิกถอนการให้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้กล่าวข้อความตามคำฟ้องหรือไม่
          โจทก์บรรยายฟ้องต่อมาความว่า หลังจากโจทก์ยกที่ดินให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ตัดโค่นไม้ยางพาราเสียและรับเงินราคาค่าไม้ยางทั้งหมดและจงใจทอดทิ้งโจทก์เสีย ไม่ยอมส่งอาหารหรือปัจจัยสี่แก่โจทก์เลย โจทก์พักอาศัยอยู่คนเดียว จำเลยที่ 1 จงใจประพฤติเนรคุณโจทก์ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2542 ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อาจได้รับอันตรายแก่ชีวิต ทั้งนี้จำเลยที่ 1 สามารถดูแลปรนนิบัติโจทก์ได้แต่จำเลยที่ 1 ละเลยทอดทิ้งเสียทั้งที่สามารถทำได้ ตามคำฟ้องของโจทก์และการนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่า โจทก์เคยขอและจำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์แต่อย่างใด กรณีจึงไม่เข้าเหตุที่โจทก์มีสิทธิถอนคืนการให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3)

           ด่าว่าผู้ให้ด้วยถ้อยคำ "ไอ้เหี้ย.." และไล่ให้ไปเป็นขอทาน พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าจำเลยที่ 1 สิ้นความเคารพยำเกรงผู้ให้ซึ่งเป็นบิดา เป็นการลบหลู่และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2304/2548  โจทก์เป็นบิดาจำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยตนเองยังปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 ขับไล่โจทก์ให้รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินพิพาท โดยพูดด่าว่าโจทก์ว่า "ไอ้เหี้ย ให้รื้อบ้านออกไปจากที่ดินของกู ไปให้พ้นไม่ต้องมาใช้น้ำบ้านกู ให้มึงรื้อบ้านออกไปเป็นขอทานที่วัดเสียเลย" ทั้งยังด่าว่าโจทก์อีกว่า "พ่ออย่างมึงกูไม่นับถือเป็นพ่อต่อไป" นอกจากนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาข้อหายักยอกเงินค่าขายที่ดินที่โจทก์ฝากไว้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ได้พาพวกไปที่บ้านโจทก์โดยจำเลยที่ 1 พูดจาข่มขู่ให้โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาเสีย มิฉะนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกจะฆ่าโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ด่าว่าโจทก์อีกว่า "ไอ้เหี้ยให้รื้อบ้านออกไปจากที่กู" และบอกเรื่องที่ดินว่า "ได้ขายให้คนอื่นแล้ว มึงอย่าหวังว่าจะได้คืนจากกูได้" การที่จำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำและพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าจำเลยที่ 1 สิ้นความเคารพยำเกรงโจทก์ซึ่งเป็นบิดา เป็นการลบหลู่และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) แม้คำเบิกความของพยานโจทก์จะมิได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์เมื่อใด ก็มิใช่สาระสำคัญถึงขนาดทำให้พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้
          การที่จำเลยที่ 2 ตกลงซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 แต่กลับปล่อยให้จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยอ้างเหตุว่าตนเห็นว่ายังมีการฟ้องร้องกันอยู่ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีปัญหาเรื่องที่ดินพิพาทกันแล้วยังซื้อไว้ เช่นนี้น่าจะเป็นการซื้อไว้โดยไม่สุจริต ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ยังอาศัยอยู่กับบิดามารดา และไม่มีเหตุผลใดๆ ในการซื้อที่ดินพิพาทมาทิ้งไว้โดยไม่เข้าทำประโยชน์ พฤติการณ์ในการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำไปโดยรู้ว่าโจทก์ผู้ให้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายต้องเสียเปรียบ จึงเป็นการสมคบกันฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้

          ด่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรงและหยาบคายเปรียบผู้ให้เป็นสัตว์และด่าว่าให้ผู้ให้ไปตาย การกระทำของจำเลยทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียงเป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8655/2544   โจทก์ได้ยกที่ดินให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยประพฤติตนไม่ดี เล่นการพนันและเสพสุรา โจทก์ได้ว่ากล่าวตักเตือน จำเลยไม่ยอมเชื่อฟังกลับด่าโจทก์ว่า "อีแก่ อีชาติหมา มึงจะไปตายไหนก็ไป กูไม่นับถือมึงเป็นแม่ลูกกัน" อันเป็นถ้อยคำที่รุนแรงและหยาบคายเปรียบโจทก์เป็นสัตว์และด่าว่าให้โจทก์ไปตาย และจำเลยใช้ไม้จะตีโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะบุตรไม่พึงกระทำต่อโจทก์ผู้เป็นมารดา การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์ผู้ให้ย่อมเรียกถอนคืนการให้ เพราะเหตุจำเลยผู้รับประพฤติเนรคุณได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2)

          ด่าว่าผู้ให้ด้วยถ้อยคำรุนแรงแสดงว่าจำเลยสิ้นความเคารพยำเกรงผู้ให้ซึ่งเป็นมารดาเป็นการลบหลู่ และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ หาใช่เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพหรือไม่สมควรกระทำต่อมารดาไม่ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2543  หลังจากโจทก์ยกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรแล้วจำเลยยังคงเลี้ยงดูโจทก์โดยโจทก์อาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าว ต่อมาจำเลยเริ่มเปลี่ยนแปลงโดยแสดงอาการรังเกียจเมื่อโจทก์ไปที่บ้านจำเลย และต่อมาเริ่มด่าว่าโจทก์ว่า"อีหัวหงอก อีสันดานหมา ไม่รู้จักภาษาคนมึงจะไปอยู่ที่ไหนก็ไป" กับเคยด่าโจทก์ว่า"อีหัวหงอก อีหัวโคน อีสันดานหมา อีตายยาก กูเกิดผิดพ่อผิดแม่ กูเกิดหลงรูหลังจากนั้นจำเลยขายบ้านที่โจทก์อยู่อาศัยโดยมิได้บอกกล่าว ผู้ซื้อจึงได้รื้อถอนบ้านดังกล่าวไป จำเลยบอกโจทก์ว่า "ก็ไม่เลี้ยงมึงอีก มึงจะไปอยู่ที่ไหนก็ไป" โจทก์จึงไปอาศัยอยู่กับน้องสาวจำเลย การที่จำเลยด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำรุนแรงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยสิ้นความเคารพยำเกรงโจทก์ซึ่งเป็นมารดาเป็นการลบหลู่ และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ หาใช่เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพหรือไม่สมควรกระทำต่อมารดาไม่ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิถอนคืนการให้ เพราะจำเลยประพฤติเนรคุณได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 531(2) แม้คำเบิกความของพยานโจทก์จะมิได้ระบุว่า จำเลยด่าโจทก์เมื่อใด ก็มิใช่สาระสำคัญที่ถึงขนาดทำให้พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้เสียเลย

          ด่าผู้ให้ด้วยถ้อยคำที่ทำให้เข้าใจได้ว่าผู้ให้เป็นคนไม่ดี บ้าสมบัติ บ้าผู้หญิง ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงแต่คำหยาบคายและเป็นคำกล่าวที่ไม่สมควรเท่านั้นหากแต่เป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2540  โจทก์จดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยผู้เป็นบุตรเพื่อนำไปทำมาหาเลี้ยงชีพนั้น เป็นการให้ทรัพย์สินแก่บุตรโดยเสน่หามิใช่เป็นการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 535(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่ตามธรรมจรรยาที่จะต้องกระทำเช่นนั้น ทั้งในการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยก็ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และหนังสือสัญญาให้ที่ดินว่าเป็นการให้ไม่มีค่าตอบแทน เพราะผู้รับให้เป็นบุตร จำเลยผู้รับให้จะอ้างว่าที่ระบุการให้เช่นนั้น เป็นแต่เพียงกระทำขึ้นตามระเบียบ ปฎิบัติของกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทยมิได้กระทำตามเจตนาแห่งการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาหาได้ไม่จึงต้องฟังว่าการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นการให้ทรัพย์สินโดยเสน่หา 
          จำเลยด่าโจทก์ผู้ให้ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยด้วยถ้อยคำว่า"ไอ้เปรต"ไอ้เฒ่าบ้าแก่จะเข้าโลงยังหลงบ้าสมบัติแถมบ้าเมียไม่สมแก่ไอ้หัวล้าน" และด้วยถ้อยคำว่า "ไอ้เปรตไอ้เฒ่าไอ้หัวดอ ตายกับหีอีคลี่" ต่อหน้าบุคคลอื่น การที่จำเลยด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำเช่นนั้นผู้ได้ยินฟังย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี บ้าสมบัติบ้าผู้หญิง ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงแต่คำหยาบคายและเป็นคำกล่าวที่ไม่สมควรเท่านั้นหากแต่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ผู้ให้อย่างร้ายแรง อันถือได้ว่าเป็นการประพฤติเนรคุณ โจทก์ย่อมจะเรียกถอนคืนการให้จากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2) 
          แม้สารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดิน จะระบุว่า อ.ขายให้แก่จำเลยก็ตาม แต่โจทก์ก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าโจทก์ผู้เป็นบิดาเป็นผู้ชำระราคาที่ดิน โดยให้จำเลยบุตรของโจทก์ของโจทก์เป็นผู้รับโอนในฐานะผู้ซื้อเนื่องจากโจทก์ประสงค์จะยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย เพราะเป็นการนำสืบถึงเหตุแห่งความจริงเกี่ยวกับเจตนาของโจทก์ผู้ให้และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับการยกให้ การจดทะเบียนก็ยังคงเป็นการจดทะเบียนขายที่ดินของ อ. ให้โจทก์ เพียงแต่ระบุชื่อผู้ซื้อเป็นจำเลยซึ่งเป็นผู้ที่โจทก์ประสงค์จะยกที่ดินนั้นให้เท่านั้น หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 
         
           (3) เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณเนื่องจากผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้ ตามมาตรา 531 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3601/2542   โจทก์กู้เงินจาก ร. โดยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้ ร. ยึดถือไว้เป็นประกัน จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนโจทก์เป็นเงิน 70,000 บาท และรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืนมา ต่อมาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างราคา 500,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทน เมื่อเปรียบเทียบแล้วราคาที่ดินพิพาทสูงกว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนโจทก์เมื่อ 3 ถึง 4 ปี ที่แล้วไม่น้อยกว่า 7 เท่า การที่โจทก์ให้ที่ดินพิพาทจึงถือไม่ได้ว่าเป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้ในการที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทน และการที่ ร. ยึดถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทไว้โดยไม่ได้จดทะเบียนจำนอง ไม่ใช่กรณีที่มีภาระเกี่ยวกับตัวที่ดินพิพาท การให้ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่การให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน จำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ยอมให้เงินโจทก์ซื้อยารักษาตัวอันเป็นการบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้และจำเลยที่ 1 ยังสามารถจะให้ได้ โจทก์จึงเรียกถอนคืนการให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3)
          โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกถอนคืนการให้จากจำเลยที่ 1 ได้แต่เพียงผู้เดียว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2551  เหตุที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุที่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3) นั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ให้มีความจำเป็นเพราะขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีวิต แล้วผู้ให้ร้องขอความช่วยเหลือจากผู้รับ และผู้รับอยู่ในฐานะที่จะให้ได้โดยไม่เดือดร้อน แล้วผู้รับปฏิเสธที่จะให้นั้น การที่จำเลยจะขายที่ดินที่โจทก์ยกให้แต่ถูกโจทก์ห้ามปราม จำเลยจึงไปอยู่เสียที่อื่นจนโจทก์ต้องไปอาศัยอยู่กับน้องสาวนั้น จะฟังว่าโจทก์ได้ขอความช่วยเหลือจากจำเลยและจำเลยอยู่ในฐานะที่จะให้ความช่วยเหลือโจทก์ได้โดยไม่เดือดร้อน แล้วจำเลยไม่ช่วยเหลือหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณโจทก์ตามฟ้อง

          (4) ทายาทของผู้ให้อาจเรียกให้ถอนคืนการให้ได้แต่เฉพาะในเหตุที่ผู้รับได้ฆ่าผู้ให้ตายโดยเจตนาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้กีดกันผู้ให้ไว้มิให้ถอนคืนการให้
          มาตรา 532  "ทายาทของผู้ให้อาจเรียกให้ถอนคืนการให้ได้แต่เฉพาะในเหตุที่ผู้รับได้ฆ่าผู้ให้ตายโดยเจตนาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้กีดกันผู้ให้ไว้มิให้ถอนคืนการให้
          แต่ว่าผู้ให้ได้ฟ้องคดีไว้แล้วอย่างใดโดยชอบ ทายาทของผู้ให้จะว่าคดีอันนั้นต่อไปก็ได้"

          อายุความฟ้องคดีถอนคืนการให้

          มาตรา 533  "เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่
          อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9854/2544    บุคคลผู้ชอบที่ะฟ้องเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณได้นั้น ต้องฟ้องคดีภายในหกเดือนนับแต่เหตุประพฤติเนรคุณนั้นได้ทราบถึงผู้นั้น และห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้นตามป.พ.พ. มาตรา 533 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิเลือกจะฟ้องคดีภายในหกเดือนหรือสิบปี
          แม้ผู้ให้ยังมีชีวิตอยู่และยากไร้ ผู้รับให้มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้ให้ตามความจำเป็นและผู้รับให้สามารถให้ได้ตลอดเวลาที่ผู้ให้ยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม แต่เหตุประพฤติเนรคุณทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อนับถึงวันฟ้องเกินกว่าหกเดือนนับแต่วันที่ผู้ให้ได้ทราบถึงเหตุเหล่านั้น คดีจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 533 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6962/2550   โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยกที่ดินเฉพาะส่วนทั้งห้าแปลงให้จำเลยโดยเสน่หา ต่อมาประมาณปลายปี 2538 ถึงต้นปี 2539 จำเลยประพฤติเนรคุณด้วยการด่าว่าและหมิ่นประมาทโจทก์ในฐานะบุพการีอย่างร้ายแรง ขอเรียกถอนคืนการให้ที่ดินทั้งห้าแปลงจากจำเลย จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าว มูลเหตุของการฟ้องคดีนี้ หากเหตุการณ์ดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์เกิดขึ้นจริง ฟ้องของโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว แม้คำให้การของจำเลยจะไม่ระบุระยะเวลาที่เป็นอายุความตามข้อต่อสู้ไว้ แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณเพียงเรื่องเดียว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติเรื่องอายุความการถอนคืนการให้ไว้ในลักษณะให้ มาตรา 533 เพียงมาตราเดียวดังนี้ นอกจากจำเลยได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์แล้ว จำเลยยังได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธและการขาดอายุความให้ปรากฏว่าเหตุใดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความคำให้การของจำเลยชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงมีประเด็นเรื่องอายุความ
         จำเลยประพฤติเนรคุณด่าและหมิ่นประมาทโจทก์เมื่อประมาณปลายปี 2538 ถึงต้นปี 2539 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 เกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ได้ทราบถึงเหตุเหล่านั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 533 วรรคหนึ่ง

          การให้ที่จะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้


          มาตรา 535  "การให้อันจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ คือ
          (1) ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้
          (2) ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
          (3) ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
          (4) ให้ในการสมรส"

          ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน จะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3384/2552 จำเลยทั้งสองนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคารเพื่อประโยชน์ของโจทก์ในวันเดียวกับที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันซึ่งผู้ให้ไม่อาจถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4475/2551   หลังจากจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์แล้ว จำเลยได้กู้เงินจากธนาคาร ก. เพื่อรับภาระหนี้แทนโจทก์ สอดคล้องกับสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทซึ่งระบุว่าในวันที่ 27 มกราคม 2538 โจทก์ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. แล้วจึงจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย และในวันเดียวกันจำเลยได้ จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันไว้แก่ธนาคาร ก. โดยจำเลยกู้เงิน 150,000 บาท จึงรับฟังได้ว่า โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยเป็นการตอบแทนที่จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท อันเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2)
          แม้หนังสือสัญญาให้ที่ดินจะระบุว่า เป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน จำเลยก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินนั้น เป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันได้ เพราะคดีนี้เป็นการฟ้องถอนคืนการให้ ไม่ใช่คดีฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ จึงไม่ใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร อันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2543   การที่โจทก์ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยโดยเสน่หา โดยโจทก์ยังคงมีสิทธิเก็บกินในที่ดินที่ยกให้นั้น ถือได้ว่าเป็นการให้ทรัพย์สินแก่จำเลยโดยมีค่าภาระติดพัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณตามป.พ.พ. มาตรา 535 ได้ และหากโจทก์ถูกจำเลยรบกวนสิทธิเก็บกิน โจทก์สามารถใช้สิทธิทางศาลบังคับจำเลยไม่ให้ขัดขวางการใช้สิทธิเก็บกินของโจทก์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องถอนคืนการให้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10344/2551   ขณะ ท. สามีโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ โจทก์กับ ท. แบ่งที่ดินสำหรับปลูกบ้าน ที่นาและที่สวนให้แก่บุตรทุกคนรวมทั้งจำเลยด้วย โดยจำเลยได้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในการให้ที่ดินดังกล่าวมีข้อตกลงว่า โจทก์กับ ท. มีสิทธิเก็บกินในที่ดิน ถ้าเป็นที่นาโจทก์กับ ท. มีสิทธิเก็บค่าเช่าที่นา ถ้าเป็นที่สวนผลไม้ โจทก์กับ ท. มีสิทธินำผลไม้ไปขายได้หรือหากบุตรซึ่งเป็นผู้รับนำผลไม้ไปขายก็ต้องนำเงินมาให้โจทก์กับ ท. ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยโดยโจทก์ยังมีสิทธิเก็บกินผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกถอนคืนการให้ เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2)

          ให้ในการสมรส จะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2545   การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าโจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองเนื่องในโอกาสที่จำเลยทั้งสองสมรสกันเพื่อให้ใช้ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวสืบไปนั้นหาใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารหลักฐานการจดทะเบียนที่ระบุว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่ เพราะเป็นการนำสืบให้เห็นถึงมูลเหตุจูงใจที่โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองว่าเป็นการให้เนื่องในโอกาสใด จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบได้ 
          โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองในการสมรส ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะได้ประพฤติเนรคุณโจทก์หรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็จะฟ้องขอถอนคืนการให้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 535 (4) ไม่ได้