05 สิงหาคม 2560

การใช้กฎหมายอาญา (ไม่มีความผิดและไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้)

          ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรก  "บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย" หลักกฎหมายตามมาตรานี้นับได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายอาญา ซึ่งมาจากสุภาษิตกฎหมายละตินว่า "ไม่มีความผิดและไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ หรือ NULLUM CRIMEN, NULLA POENA SINE PRAEVIA LEGE POENALI


          หลักการใช้กฎหมายอาญาตามมาตรา 2 


          (1) การจะลงโทษบุคคลใด จะต้องมีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ โดยต้องบัญญัติไว้โดยชัดเจน จะใช้จารีตประเพณีหรือกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับใช้เพื่อลงโทษไม่ได้
          กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3643/2526  บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 217 โดยให้ผู้กระทำความผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ใน มาตรา 218(1) ถึง (6) ต้องได้รับโทษหนักขึ้น แต่การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม มาตรา 217 จะต้องเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น เมื่อบ้านที่ถูกเพลิงไม้เป็นบ้านที่จำเลยเป็นเจ้าของร่วมกับ ร. สามีจำเลยซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้จะฟังว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิง จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม มาตรา 218 เพราะเมื่อมาตรา 217 บัญญัติว่าการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิด จะตีความคำว่า "ทรัพย์ของผู้อื่น" ให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยหาได้ไม่เป็นการขัดต่อหลักกฎหมายใน มาตรา 2
          กรณีไม่มีกฎหมายกำหนดโทษไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2557  คดีหมิ่นประมาท ป.อ. มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาเท่านั้น มิได้มีกฎหมายให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำขออภัยด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำขออภัยโจทก์จึงเป็นการลงโทษจำเลยที่ 2 นอกเหนือจากโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ต้องห้ามตาม ป.อ มาตรา 2 วรรคหนึ่ง



          (2) หากมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ก็ต้องแปลหรือตีความกฎหมายนั้นโดยเคร่งครัด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5354/2539  โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม 2537 ถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2537 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้ทำและมีเครื่องวิทยุคมนาคม โดยการนำโทรศัพท์มือถือมาทำการปรับจูนโดยใช้เครื่องดีเลอโค๊ด และก๊อปปี้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336 ซึ่งเป็นคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ระบบเซลลูล่า 900 มือถือของบริษัท อ. ผู้เสียหาย เข้าเครื่องโทรศัพท์มือถือดังกล่าวจนสามารถใช้ส่งและรับวิทยุคมนาคมได้ แล้วจำเลยได้บังอาจลักเอาไปซึ่งสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336 ของผู้เสียหาย คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 24,733 บาท โดยทุจริต โดยใช้โทรศัพท์มือถือดังกล่าวส่งและรับวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตนั้น ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 334 การที่ฟ้องระบุว่าจำเลยนำโทรศัพท์มือถือมาทำการปรับจูนและก๊อปปี้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336 ของผู้เสียหายแล้วใช้ทำการรับส่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตนั้นเป็นเพียงการทำการรับส่งวิทยุคมนาคม โดยอาศัยคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือเป็นการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธิ มิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 334 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

          (3) กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งมาจากถ้อยคำว่า "กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น" คือ ในขณะที่ลงมือกระทำความผิดจะต้องมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดอยู่แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2553  โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2510 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2545 จำเลยเข้ายึดถือที่ดินสาธารณประโยชน์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน ตามคำฟ้อง จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่พิพาทก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 อันเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ ใช้บังคับ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2510 ตลอดมาเป็นการครอบครองสืบเนื่องมาจากการเข้ายึดครอบครองในครั้งแรก เมื่อ ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับผู้กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุก ฯลฯ เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406/2523  จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติก่อนกฎกระทรวงกำหนดให้ที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติใช้บังคับ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด

          อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่ใช่โทษทางอาญาก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 2 จึงอาจบังคับย้อนหลังไปถึงการกระทำของเขาก่อนมีการออกกฎเกณฑ์นั้นได้ จึงต้องพิจารณาก่อนว่าสิ่งนั้นใช่โทษทางอาญาหรือไม่ ทั้งนี้ โทษทางอาญาตามมาตรา 18 มีอยู่ 5 ประการได้แก่ ประหารชีวิต, จำคุก, กักขัง, ปรับ และริบทรัพย์สิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8229/2556  พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 มาตรา 21 ตรี วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีมติว่าเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติตามมาตรา 21 ทวิ ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่ชักช้าเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นจะสามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นตนได้มาโดยชอบ ในกรณีนี้ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม" จากผลของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นมาตรการในทางแพ่งเพื่อบังคับให้ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน มิใช่เป็นการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาอันจะสามารถบังคับได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติและกำหนดโทษไว้ตาม ป.อ มาตรา 2 แม้ในขณะยื่นคำร้องเพื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวมีการยักย้ายทรัพย์สินไปก่อน และบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 21 ตรี วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราบการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 มิได้กล่าวถึงวิธีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นตามที่ผู้คัดค้านฎีกา แต่เมื่อต่อมาได้มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 83 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 บัญญัติวิธีการบังคับคดีในกรณีไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน จึงชอบที่จะนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับให้มีผลย้อนหลังแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ต้องตกเป็นของแผ่นดินนั้นได้ด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ผู้คัดค้านชดใช้เงิน 73,525,436.09 บาท จึงเป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติตามคำพิพากษาในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้คัดค้านแทนทรัพย์สินที่ศาลมีคำพิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือเพื่อให้มีการขอให้เพิกถอนการโอนหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ได้กระทำหลังจากผู้คัดค้านแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 82 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2539  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 20 ที่บัญญัติให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาโดยมิชอบตกเป็นของแผ่นดินนั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการอันเป็นวิธีการทางวินัยเท่านั้น มิใช่เป็นการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาอันจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของหลักกฎหมายที่ว่าบุคคลจะต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและได้กำหนดโทษไว้ ดังนั้น กฎหมายนี้ย้อนหลังไปบังคับถึงทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้มาโดยมิชอบและยังคงมีอยู่ในขณะที่กฎหมายนี้ใช้บังคับได้เพราะการได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบด้วยหน้าที่นั้นเป็นการผิดวินัยตั้งแต่ที่ได้รับมา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3174/2538  การที่ศาลชั้นต้นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดจนกว่าจะอายุครบ18ปีไม่เป็นการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา18แต่เป็นวิธีการสำหรับเด็กตามมาตรา74(5)ที่เบากว่าการลงโทษจำคุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9083/2544  การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท กล่าวคือนอกจากจำเลยมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ป.อ. มาตรา 157 แล้ว ยังมีความผิดต่อ พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 59 , 60 , 71 , 72 โดยเหตุที่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นมาตรการที่มุ่งจะจำกัดสิทธิของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งซึ่งกระทำหน้าที่โดยทุจริต มิใช่โทษตามกฎหมาย เมื่อศาลลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 157 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแต่เพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยได้ มิฉะนั้นแล้วการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวย่อมไร้ผลอันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย


          ข้อยกเว้นหลักที่ว่ากฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง


          (1) กรณีมีกฎหมายยกเลิกความผิดเดิม มีผลย้อนหลังได้ ตามมาตรา 2 วรรคสอง
          มาตรา 2 วรรคสอง "ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5166/2537  โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตั้งโรงงาน ประกอบกิจการโรงงานและรับเด็กอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่ถึงสิบห้าปีบริบูรณ์เข้าทำงานในโรงงานดังกล่าวโดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ดังนี้ แม้ขณะเกิดเหตุการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามฟ้อง แต่เมื่อระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ออกมายกเลิกพระราชบัญญัติโรงงานฉบับเดิมทั้งหมด และเมื่อปรากฏว่าโรงงานของจำเลยเป็นโรงงานซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ระบุไว้ว่าการตั้งโรงงานหรือประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตและไม่มีบทกำหนดโทษไว้ เช่น พระราชบัญญัติโรงงานฉบับเดิม ถือได้ว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานตั้งโรงงาน และฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2546  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรม โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 11 ซึ่งความผิดดังกล่าวมีบัญญัติไว้แล้วใน พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 21 จึงถือว่าความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ในส่วนที่เกี่ยวกับสาขาเวชกรรมถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2544 เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำความผิดฐานประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรม โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 4 , 11 , 21 ที่แก้ไขแล้ว เท่ากับเป็นการขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างกฎหมายอันใดมาเลย ไม่ใช่เรื่องอ้างกฎหมายผิด ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ไม่ได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2753/2540  โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ทั้งสองออกเช็คพิพาทให้ ส. ยึดถือไว้แทนสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ที่1กู้ยืมเงินไปจาก ส. แต่จำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีอาญาที่ ส. ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ว่าโจทก์ทั้งสองออกเช็คพิพาทแลกเงินสดไปจากจำเลยอันเป็นการออกเช็คพิพาทให้จำเลยเพื่อชำระหนี้ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง คำเบิกความของจำเลยย่อมเป็นความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว จำเลยย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จ แต่เนื่องจากในขณะคดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ซึ่งเป็นกฎหมายในคดีเดิมที่โจทก์ทั้งสองนำมาเป็นมูลในการฟ้องคดีนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว มี พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดการใช้เช็ค พ.ศ.2534ออกมาใช้บังคับแทน ปรากฏว่ากฎหมายฉบับใหม่ที่ออกภายหลังการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้นต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แต่กรณีการออกเช็คพิพาทแล้วแลกเงินสดมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ดังนี้คำเบิกความของจำเลยในคดีนั้นจึงไม่เป็นข้อสำคัญในคดีนี้อันจะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จการกระทำของจำเลยไม่เป็นของผิดตามฟ้อง

          (2) กฎหมายที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดตามมาตรา 3 มีผลย้อนหลังได้
          มาตรา 3  "ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด....."
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2548  จำเลยที่ 2 อายุ 16 ปี กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสอง (เดิม) , 66 วรรคสอง (เดิม) ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2546 มาตรา 3 ให้เพิ่มความขึ้นเป็นวรรคสองและวรรคสามของมาตรา 18 แห่ง ป.อ. ซึ่งข้อความในวรรคสามที่เพิ่มมีข้อความว่า ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่า สิบแปดปีกระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษห้าสิบปี ระวางโทษตามที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 3
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2551 โทษที่จะลงแก่จำเลยนั้น ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดมาบังคับแก่คดีตาม ป.อ. มาตรา 3 เมื่อมาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำความผิด ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ ในขณะที่มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิด ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องใช้กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังในส่วนที่ไม่มีระวางโทษจำคุกซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาใช้บังคับ เมื่อมีแต่ระวางโทษปรับสถานเดียว จึงไม่อาจรอการกำหนดโทษแก่จำเลยในความผิดฐานนี้ได้ สำหรับอัตราระวางโทษปรับนั้น ตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่า จึงต้องใช้อัตราระวางโทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6517/2552  ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74, 75 และ 76 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน เมื่อปรากฏว่ากฎหมายที่แก้ไข ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำความผิดในขณะอายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะกระทำความผิดอายุ 17 ปีเศษ กฎหมายบังคับให้ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษลงให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง มิใช่อยู่ในดุลพินิจของศาลตามกฎหมายเดิม เป็นกรณีมีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ภายหลังเป็นคุณกว่า ต้องใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225


09 กรกฎาคม 2560

ความผิดตามมาตรา 346 (ชักจูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน โดยอาศัยเหตุที่ผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอ หรือเป็นเด็กเบาปัญญา)

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 346  "ผู้ใดเพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ชักจูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน โดยอาศัยเหตุที่ผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอ หรือเป็นเด็กเบาปัญญา และไม่สามารถเข้าใจตามควรซึ่งสาระสำคัญแห่งการกระทำของตน จนผู้ถูกชักจูงจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          องค์ประกอบความผิดมาตรา 346

          องค์ประกอบภายนอก
          1. ผู้ใด
          2. ชักจูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน
          3. โดยอาศัยเหตุที่ผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอ หรือเป็นเด็กเบาปัญญา และไม่สามารถเข้าใจตามควรซึ่งสาระสำคัญแห่งการกระทำของตน
          4. ผู้ถูกชักจูงจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินนั้น

          องค์ประกอบภายใน
          1. เจตนาธรรมดา
          2. เพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม (เจตนาพิเศษ)

          ส่วนของการกระทำ ได้แก่ การชักจูงและการจำหน่าย
          การชักจูง คือ ชวน แนะนำ ยุยง ส่งเสริม หรือมีส่วนในการตัดสินใจ
          การจำหน่าย คือ การโอนกรรมสิทธิ์

          ความผิดตามมาตรานี้ ต้องการผล คือ มีการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นผลมาจากการถูกชักจูงของผู้กระทำ ถ้ามีการชักจูงแล้ว แต่ผู้ถูกชักจูงไม่เชื่อก็เป็นได้แค่พยายามกระทำความผิด

          สำหรับเจตนาพิเศษ คือ เพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ดังนั้น ถ้าการชักจูงนั้นไม่มีเจตนาเอาทรัพย์สินเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม เช่น การชักจูงให้ทำลายทรัพย์สิน ก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้


21 พฤษภาคม 2560

สิทธิและหน้าที่ของทายาทที่มีร่วมกันจนกว่าแบ่งมรดกเสร็จสิ้น

          ในกรณีที่เจ้ามรดกมีทายาทหลายคน ทรัพย์สิน สิทธิและหน้าที่ รวมทั้งความรับผิดของเจ้ามรดกที่ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวย่อมตกแก่ทายาททุกคน ทายาททุกคนมีสิทธิและหน้าที่ร่วมกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกนั้นจนกว่าการแบ่งมรดกจะเสร็จสิ้น ซึ่งสิทธิและหน้าที่ร่วมกันของทายาทนั้น มาตรา 1645 บัญญัติให้นำมาตรา 1356 ถึงมาตรา 1366 ในเรื่องกรรมสิทธิ์รวมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในเรื่องมรดก บทบัญญัติเรื่องกรรมสิทธิ์รวมซึ่งนำมาใช้ ได้แก่
          (1) การจัดการมรดกต้องจัดการร่วมกัน
          (2) การใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกทั้งหมดต่อสู้บุคคลภายนอก
          (3) มีสิทธิใช้ทรัพย์มรดกและสิทธิได้ดอกผล
          (4) จำหน่ายทรัพย์มรดกส่วนของตนหรือจำนองหรือก่อให้เกิดภาระติดพันในทรัพย์มรดกส่วนของตนได้
          (5) ร้องขอให้ศาลแบ่งทรัพย์มรดกได้หากไม่สามารถตกลงการแบ่งกันได้


          สิทธิของทายาทในกองมรดกก่อนแบ่งปันมรดก


          (1) ทายาทมีส่วนเท่ากันในมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานตามมาตรา 1746
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2519  โจทก์ฟ้องว่าเดิมโจทก์จำเลยได้ครอบครองที่นามรดกร่วมกัน 2 แปลง เรียกว่านา ต. กับนา ห. ต่อมาจึงแยกกันทำนา โดยโจทก์ทำนา ต.จำเลยทำนา ห. แต่จำเลยไปขอ น.ส.3 เป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวโจทก์ขอให้แบ่งกันคนละแปลง จำเลยไม่ยอม ขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่นามรดกกับโจทก์คนละแปลง โดยให้โจทก์ได้นา ต. ซึ่งโจทก์ครอบครองอยู่ จำเลยให้การว่าได้แบ่งมรดกกันแล้วโดยนา ต. กับนา ห. ให้แก่จำเลย ได้ความว่านาทั้งสองแปลงนี้เป็นทรัพย์มรดกที่โจทก์จำเลยได้รับมา โจทก์จำเลยแยกกันทำนาคนละแปลง แต่ต่างฝ่ายต่างครอบครองแทนอีกฝ่ายหนึ่งตลอดมา โจทก์จำเลยต่างยังเป็นเจ้าของนาทั้งสองแปลงร่วมกัน นา ต. ก็เป็นทรัพย์มรดกที่จำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย จะแบ่งให้แก่โจทก์ฝ่ายเดียวไม่ได้ จึงพิพากษาว่านาทั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่โจทก์จำเลย ให้แบ่งนา 2 แปลงนี้ให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง

          (2) ทายาทมีสิทธิรับมรดกแม้จะเคยได้รับทรัพย์สินจากเจ้ามรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ตามมาตรา 1747

          (3) ทายาทมีสิทธิจะเรียกร้องให้แบ่งมรดก โดยต้องใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องคดีภายในอายุความมรดกตามมาตรา 1754 ยกเว้นจะเป็นกรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คือ กรณีทายาทครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังไม่ได้แบ่งกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 418/2493  การที่บิดาพูดรับรองในวันทำบุญ 7 วันศพภริยาจะแบ่งนาพิพาทให้บุตรทุกคน แล้วบิดาได้ครอบครองนาพิพาทต่อมาร่วมกับบุตรบางคน ดังนี้ ถือว่าบิดาได้ครอบครองนาพิพาทแทน
          สินสมรสระหว่างบิดามารดานั้น หากมารดาตาย แต่ถ้าบิดายังมีชีวิตอยู่ บุตรคงมีส่วนเฉพาะที่เป็นมรดกของมารดาเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2493  การที่ทายาทของผู้ตายร่วมกันไปกู้เงินผู้อื่นมาไถ่นาพิพาท และให้เจ้าหนี้ทำนาพิพาทต่างดอกเบี้ยภายใน 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตายนั้น ถือว่าทายาทเหล่านั้นได้ครอบครองนาพิพาทด้วยกัน ตลอดเวลาที่เจ้าหนี้ทำนามรดกนั้นต่างดอกเบี้ยอยู่ หากทายาทคนใดไปลอบไถ่มาโดยไม่แจ้งให้ทายาทอื่นทราย ก็ไม่ถือว่าทายาทคนอื่นสละการครอบครอง คงถือว่าทายาทลอบที่ไถ่มาครอบครองแทนทายาทอื่นนั้น และคดีไม่ขาดอายุความมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 922/2498  เมื่อได้ความว่าเจ้าหนี้ครอบครองที่ดินพิพาทของเจ้ามรดกไว้ทำประโยชน์ต่างดอกเบี้ยตลอดมา โดยทายาทมิได้ครอบครองมรดกนั้นด้วย ดังนี้ถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ครอบครองในนามของผู้ตายหรือครอบครองแทนทายาทของผู้ตายร่วมกัน และอายุความที่เกี่ยวกับฟ้องขอให้แบ่งที่พิพาทระหว่างทายาทด้วยกันนั้นจึงไม่อยู่ในบังคับบท มาตรา 1754 (อายุความ 1 ปี)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2506  โจทก์อยู่กับมารดาที่เรือนมารดาในที่พิพาท ก่อนมารดาตาย มารดาตายที่พิพาทตกเป็นมรดกของมารดา โจทก์ก็ยังคงอยู่ที่เรือนมารดาอีกหลายเดือนนับแต่มารดาตาย แล้วเรือนมารดาก็ถูกรื้อถวายวัด โจทก์จึงมาอยู่ที่เรือนจำเลยในที่พิพาทอีกหลายเดือน รวมเวลาที่โจทก์อยู่ในที่พิพาทหลังจากมารดาตายได้ราวปีเศษ โจทก์จึงไปอยู่ที่จังหวัดอื่น นับว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมากับจำเลยด้วยกันในตอนแรก โจทก์กับจำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาถือได้ว่าครอบครองที่พิพาทไว้แทนในฐานะเจ้าของร่วม แม้โจทก์มาฟ้องขอให้แบ่งมรดกที่พิพาทภายหลังมารดาตายแล้ว 18 ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2528 (ประชุมใหญ่)  การที่จำเลยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ทั้งสองแปลงตามที่โจทก์ขอแบ่ง แสดงว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินในกองมรดกซึ่งอยู่ระหว่างจัดการมรดก ถึงแม้ว่าจำเลยจะครอบครองที่พิพาทนั้นตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมแต่ผู้เดียว ก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน และต่อมาจำเลยก็ได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ดังนั้นการที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจึงจะยกอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทจากจำเลยได้

          (4) ทายาทมีสิทธิตามข้อตกลงไม่ให้แบ่งมรดก คือ ทายาทอาจตกลงกันไม่ให้แบ่งทรัพย์มรดกก็ได้ แต่ข้อตกลงห้ามแบ่งมรดกนี้จะกำหนดเกินคราวละสิบปีไม่ได้

          (5) ทายาทมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีมรดก ตามบทบัญญัติมาตรา 1749 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2491  ผู้ตายมีภริยาคือโจทก์และนางผิวเล็ก โจทก์ฟ้องแบ่งมรดกจากจำเลยซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายกับนางผิวเล็กกึ่งหนึ่ง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การแบ่งทรัพย์มรดก เมื่อเจ้ามรดกตาย เมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 แล้ว ต้องแบ่งตามมาตรา 1635 และ  1636 กล่าวคือ โจทก์และนางผิวเล็กสองคนรวมกันได้หนึ่งส่วน จำเลยเป็นบุตรได้หนึ่งส่วน ระหว่างโจทก์กับนางผิวเล็กได้ในส่วนนั้นคนละครึ่ง และเห็นว่าการแบ่งต้องแบ่งให้เพียงเท่าที่โจทก์มีสิทธิควรจะได้ จะแบ่งให้กึ่งหนึ่ง โดยเอาส่วนของนางผิวเล็กไปให้โจทก์ด้วยหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ของโจทก์และโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอส่วนแบ่งในนามของนางผิวเล็กด้วย การแบ่งนี้ไม่ขัดกับมาตรา 1749  คำว่า "กันส่วนไว้เพื่อทายาทอื่น" ตามมาตรา 1749 ห้ามนั้น หมายความว่า กันไว้เพื่อทายาทนั้นมารับเอาไปได้ทีเดียว โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาเมื่อก่อนใช้ ป.พ.พ.บรรพ 6 เรื่องนี้ ถ้านางผิวเล็กต้องการส่วนของตน จะมารับเอาไปจากศาลไม่ได้ จำต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ การแบ่งให้โจทก์เพียง 1 ใน 4 เช่นนี้ จึงหาใช่เป็นการกันส่วนไว้เพื่อนางผิวเล็กไม่ แต่เป็นการแบ่งให้ตามสิทธิที่โจทก์ควรจะได้รับ

          (6) ทายาทมีสิทธิฟ้องคดี ถึงแม้จะมีผู้จัดการมรดกแล้วก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824/2543  แม้มรดกนั้นจะมีผู้จัดการมรดกอยู่แล้ว ทายาทก็ยังมีสิทธิฟ้องร้องให้บุคคลภายนอกชำระหนี้สินของกองมรดกอันเป็นการรักษาสิทธิอันจะพึงตกแก่กองมรดกได้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 เมื่อเจ้ามรดกตายทรัพย์มรดกนั้นก็จะตกยังทายาท เมื่อมีทายาทหลายคนทายาทแต่ละคนก็ย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของตามส่วนที่ตนจะพึงได้ ซึ่งเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแก่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก รวมถึงการเรียกร้องเอาทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ซึ่งมาตรา 1745 ก็ให้นำมาใช้บังคับได้ ทั้งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 ลักษณะ 4 อันว่าด้วยวิธีจัดการและปันทรัพย์มรดกก็มิได้ห้ามมิให้ทายาทฟ้องร้องในกรณีเช่นนี้ แต่จะเห็นได้ตามมาตรา 1737 ว่าแม้แต่เจ้าหนี้กองมรดกจะฟ้องร้องทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกให้เรียกผู้จัดการมรดกเข้ามาในคดีด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้มรดกมีผู้จัดการมรดกแล้วเจ้าหนี้ก็ยังฟ้องร้องทายาทได้ แต่เพื่อความสะดวกก็ให้เรียกผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วยจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะห้ามมิให้ทายาทฟ้องร้องดังเช่นคดีนี้ โจทก์ในฐานะทายาทจึงมีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10484/2551  แม้จำเลยที่ 2 และ ฉ. จะเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. แล้ว ก็หาทำให้สิทธิของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ อ. ที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกคืนจากบุคคลภายนอกหรือลูกหนี้ของ อ. สิ้นไปแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายบัญญัติห้ามหรือตัดสิทธิไว้ เมื่อ อ. ถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นของทายาทรวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วย หนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจาก อ. ก็ตกเป็นสิทธิของทายาทของ อ. รวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วยเช่นกัน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ถือว่ามีผลประโยชน์ขัดกับกองมรดกจำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 กลับกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นหนี้ตามสัญญากู้เงินอีก หากทายาทไม่มีอำนาจฟ้องย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดก



11 พฤษภาคม 2560

สิทธิในการขอแบ่งมรดกของทายาทที่ได้ครอบครองทรัพย์มรดก

          มาตรา 1748  "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี
          สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้"
       

          ก. การครอบครองทรัพย์มรดก


          (1)  การครอบครองตามมาตรา 1748 มีความหมายถึงการครอบครองทั่วไป กล่าวคือ การยึดถือทรัพย์สินไว้เพื่อตนในฐานะทายาท ซึ่งการครอบครองนี้อาจมีการครอบครองแทนกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2493  การที่ทายาทของผู้ตายร่วมกันไปกู้เงินผู้อื่นมาไถ่นาพิพาทและให้เจ้าหนี้ทำนาพิพาทต่างดอกเบี้ยภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายนั้นถือว่าทายาทเหล่านั้นได้ครอบครองนาพิพาทด้วยกัน ตลอดเวลาที่เจ้าหนี้ทำนามรดกนั้นต่างดอกเบี้ยอยู่ หากทายาทคนใดไปลอบไถ่มาโดยไม่แจ้งให้ทายาทอื่นทราบ  ก็ไม่ถือว่าทายาทคนอื่นสละการครอบครองคงถือว่าทายาทที่ลอบไถ่มาครอบครองแทนทายาทอื่นนั้นและคดีไม่ขาดอายุความมรดก


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2506 (ประชุมใหญ่)  โจทก์อยู่กับมารดาที่เรือนมารดาในที่พิพาทก่อนมารดาตาย มารดาตายที่พิพาทตกเป็นมรดกของมารดา โจทก์ก็ยังคงอยู่ที่เรือนมารดาอีกหลายเดือนนับแต่มารดาตาย แล้วเรือนมารดาก็ถูกรื้อถวายวัด โจทก์จึงมาอยู่ที่เรือนจำเลยในที่พิพาทอีกหลายเดือน รวมเวลาที่โจทก์อยู่ในที่พิพาทหลังจากมารดาตายได้ราวปีเศษ โจทก์จึงไปอยู่ที่จังหวัดอื่น นับว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมากับจำเลยด้วยกันในตอนแรก โจทก์กับจำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาถือได้ว่าครอบครองที่พิพาทไว้แทนในฐานะเป็นเจ้าของร่วม แม้โจทก์มาฟ้องขอให้แบ่งมรดกที่พิพาทภายหลังมารดาตายแล้ว 18 ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความ
          โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องจำเลยคนเดียว ขอให้แบ่งที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ใน 3 ส่วน แต่ปรากฏว่าคดีสำหรับโจทก์ที่ 1 ขาดอายุความมรดกแล้ว โจทก์ที่ 2 คงมีสิทธิรับมรดกร่วมกับจำเลยเพียง 2 คนดังนี้ ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งมรดก 1 ใน 2 ส่วน ไม่ได้เพราะเกินคำขอ  คงพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งมรดก 1 ใน 3 ส่วนตามคำขอ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 12/2505)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2508  การที่จำเลยได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตลอดมาตั้งแต่เจ้ามรดกตาย แม้ต่อมาโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยก็ยังคงครอบครองแทนต่อมาอีก โจทก์ย่อมฟ้องคดีเกิน 10 ปีนับตั้งแต่เจ้ามรดกตายได้ คดีไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6460/2538  จำเลยทั้งสองทำกินในทรัพย์มรดกร่วมกับเจ้ามรดกและมารดาจำเลยทั้งสองก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม 10 ปีเศษ เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมก็ยังครอบครองทรัพย์มรดกนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเกิน 10 ปีแล้ว โดยโจทก์และผู้ร้องสอดไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก ฉะนั้นสิทธิของโจทก์และผู้ร้องสอดให้จำเลยทั้งสองแบ่งมรดกซึ่งเป็นคดีมรดกจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคท้าย สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยทั้งสองโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยที่ 1 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อจะดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นๆ ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่
          กรณีดังกล่าวมิใช่กรณีจำเลยที่ 1 สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 192 เดิม หรือ 193/24 ใหม่ ฉะนั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแทนหรือเพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นทั้งปวงของเจ้ามรดก โจทก์และผู้ร้องจะยกเอาประโยชน์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1748 มาอ้างสิทธิเพื่อเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วหาได้ไม่ จำเลยจึงยกอายุความใช้ยันโจทก์และผู้ร้องสอดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2540  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด การที่ผู้ตายยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง ซึ่งทายาทคนหนึ่งของผู้ตาย แต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 เมื่อการยกให้ไม่สมบูรณ์ ต่อมาเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายและไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้แสดงเจตนาไปยังทายาทคนอื่นว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเองการครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8371/2557  การแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงต้องได้ความชัดแจ้งแล้วว่าทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนแบ่งนั้นอย่างเป็นส่วนสัดชัดเจนว่าทายาทคนใดเข้าครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนั้นในส่วนใด มีอาณาเขตและเนื้อที่ดินเข้าครอบครองแบ่งแยกกันจนชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้ เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบไม่ได้ความ เช่นนั้นที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของ พ. และกรณีต้องถือว่าการที่ ต. และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของ พ. ทุกคน กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ พ. เพราะเข้าสืบสิทธิในมรดกส่วนของ ต. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม ดังนั้น คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2557  อายุความฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เป็นกรณีที่ทายาทที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกฟ้องขอแบ่งมรดกในฐานะที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย แต่หากเป็นกรณีที่ทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งและทายาทผู้นั้นยังครอบครองทรัพย์มรดกอยู่หรือมีทายาทอื่นครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนแล้ว กรณีนี้ทายาทผู้นั้นย่อมสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามมาตรา 1748 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1754 ทั้งนี้เพราะไม่มีกฎหมายใดบังคับให้ทายาทที่มิได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วยตนเองแต่มีทายาทอื่นครอบครองแทนต้องฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกจากทายาทอื่นที่ครอบครองแทนใน 1 ปี และการที่ทายาทบางคนได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นแล้วแม้ครอบครองแทนนานเพียงใด หากยังไม่ได้เปลี่ยนเจตนาการยึดถือครอบครอง ยังถือว่าเป็นการครอบครองแทนอยู่นั่นเอง เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองสิทธิในกิจการโรงเรียนอันเป็นทรัพย์มรดกแทนโจทก์ และมิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือครอบครอง แม้โจทก์จะฟ้องเอาทรัพย์มรดกดังกล่าวเกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย คดีย่อมไม่ขาดอายุความ และไม่อาจยกเอาอายุความมรดกตามมาตรา 1754 มาใช้บังคับได้      
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078/2537  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินโดยโจทก์ทั้งสี่และ ส. เจ้ามรดกตกลงให้จำเลยทั้งสองใส่ชื่อไว้แทน แสดงว่าที่ดินมิใช่ของจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสี่และ ส. ให้จำเลยทั้งสองลงชื่อไว้แทนเท่านั้น สิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ยังเป็นของทายาททุกคน มิใช่ของจำเลยทั้งสอง การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่หากฟ้องโจทก์ทั้งสี่เป็นความจริงแล้ว คำขอบังคับก็เป็นการขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดที่ดิน และการให้ไปในตัว โจทก์ทั้งสี่ไม่จำเป็นต้องไปฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดที่ดินและการให้เสียก่อน ดังนั้น คำพิพากษาที่วินิจฉัยให้จดทะเบียนแบ่งที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสี่จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ   หลังจาก ผ. เจ้ามรดกถึงแก่กรรม โจทก์บางคนร่วมกับจำเลยที่ 1 ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา และการที่จำเลยทั้งสองมีชื่อในที่ดินพิพาทเป็นการถือสิทธิและครอบครองแทนทายาทโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ส.และผ. ย่อมมีสิทธิฟ้องแบ่งมรดกได้แม้จะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย


          ***ผู้จัดการมรดกถือว่าครอบครองทรัพย์มรดกนั้นแทนทายาทจนกว่าการจัดการมรดกจะเสร็จสิ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553  ก. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ก. เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายก่อน ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นทายาทของ ย. ส่วนโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นทายาทของ ย. เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ส. จึงเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท มีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของ ย. ทุกคน แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ส. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมดโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2544  เมื่อข้อเท็จจริงยังมีที่ดินมรดกอีก 3 แปลงที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการแบ่งให้ทายาท แสดงว่าการจัดการมรดกยังอยู่ในระหว่างจัดการ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้แทนของทายาททั้งปวงโดยนำลักษณะตัวการตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทตาม มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1368 โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม มาตรา 1754 ทั้งนี้ ตาม มาตรา 1748
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8267/2538  จำเลยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกย่อมเป็นตัวแทนของทายาทคือโจทก์ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ ตามป.พ.พ.มาตรา 1720 ดังนั้น การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้งสองแปลงไว้ ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ด้วยตลอดมา จำเลยจะอ้างว่าจำเลยครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแต่ผู้เดียวโดยจำเลยไม่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือหาได้ไม่ หากจำเลยประสงค์จะครอบครองที่ดินแต่ผู้เดียว จำเลยจะต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยังโจทก์ว่าจะไม่ครอบครองที่ดินแทนโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 จำเลยยังมิได้แบ่งปันที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังอยู่ในระหว่างการจัดการ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมไม่มีสิทธิอ้างอายุความมรดกขึ้นต่อสู้เพื่อที่จะบอกปัดไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ และเมื่อถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแทนโจทก์ด้วยตลอดมาเช่นนี้แล้วคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความมรดก
          ***ทรัพย์มรดกที่อยู่ระหว่างการแบ่งปันยังไม่เสร็จสิ้น ต้องถือว่าทายาทนั้นครอบครองแทนทายาทอื่นทุกคน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2539  แม้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขอให้ทางราชการออกเลขที่บ้านให้โดยจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นเจ้าบ้านในหลักฐานทะเบียนราษฎร์ ก็มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 2 ผู้ขอออกเลขที่บ้านและมีชื่อเป็นเจ้าบ้านจะมีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังดังกล่าว เพราะหลักฐานดังกล่าวมิใช่หลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เป็นเพียงหลักฐานของทางราชการที่ต้องการทราบว่าในหมู่บ้านนั้นมีบ้านอยู่กี่หลัง และมีคนอาศัยอยู่ในบ้านที่ขอออกเลขที่บ้านกี่คน เพื่อประโยชน์ในทางทะเบียนราษฎร์เท่านั้น เมื่อรูปคดีฟังได้ว่าบ้านพิพาทเป็นของเจ้ามรดกจึงเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่บรรดาทายาททุกคน เจ้ามรดกถึงแก่ความตายในปี 2528 ทายาทของเจ้ามรดกตกลงกันว่าทายาทจะยังไม่แบ่งมรดกกันจนกว่าจะมีการเผาศพเจ้ามรดกเสียก่อน และได้มีการเผาศพเจ้ามรดกหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วประมาณ 2 ปี นอกจากนี้ยังปรากฎหลักฐานว่ามรดกของเจ้ามรดกยังอยู่ในระหว่างการแบ่งปันของบรรดาทายาท เมื่อมรดกยังแบ่งกันไม่เสร็จ แม้ทายาทคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนจะเป็นผู้ครอบครองมรดกอยู่ก็ต้องถือว่าทายาทคนนั้นหรือเหล่านั้นครอบครองมรดกแทนบรรดาทายาทอื่นด้วยทุกคน แม้จะล่วงเลยเวลา 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นก็ชอบที่จะฟ้องขอแบ่งมรดกได้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามครอบครองที่ดินและบ้านพิพาททั้งสองหลังอันเป็นมรดกแทนผู้ตายซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกด้วยคนหนึ่ง โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2537  ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ยังแบ่งปันกันไม่เสร็จ แม้จำเลยจะครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. แต่เพียงผู้เดียวก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปัน ถือว่าครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นเอาไว้ โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกของ ส. ซึ่งโจทก์ทั้งห้ามีส่วนได้รับนั้นได้จำเลยจะยกเอาอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้
          ***ผู้เช่าที่ดินมรดกต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนเจ้ามรดกตาย ถือว่าครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2542   ท. เช่าที่ดินพิพาทจาก จ. แม้ จ. ถึงแก่กรรมแล้ว ท. ก็ยังเช่าติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่า ท. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ จ. ซึ่งก็คือโจทก์กับจำเลยทั้งสอง มิได้ครอบครองแทนเฉพาะจำเลยทั้งสองที่เป็นผู้เก็บค่าเช่าเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทโดยโจทก์ไม่ทราบประกาศกับมิได้คัดค้าน ยังถือไม่ได้ว่ามีการแบ่งมรดกที่ดินพิพาทแล้ว เพราะการปิดประกาศการขอรับมรดกของเจ้าพนักงานที่ดินก็เพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิเกี่ยวข้องได้ทราบและมีการกำหนดเวลาให้เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินสามารถดำเนินการเกี่ยวกับคำขอรับมรดกได้หากไม่มีผู้คัดค้าน เมื่อถือว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปี ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง
          ***แต่การครอบครองเพียงโฉนดที่ดินนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14225/2555  โฉนดที่ดินเป็นเพียงเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มิใช่ตัวที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดก ดังนั้นการที่ ก. ครอบครองโฉนดที่ดินจึงไม่ใช่เป็นการครอบครองทรัพย์มรดก ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสี่จะอ้างว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกจึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกแม้ว่าจะพ้นสิบปีนับแต่ ล. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ไม่ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของ ล. กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่จัดการมรดกถูกต้องหรือไม่ เพราะแม้จำเลยจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

          (2) ระยะเวลาในการครอบครองทรัพย์มรดก
          ระยะเวลาในการครอบครองทรัพย์มรดกที่จะทำให้มีผลตามมาตรา 1748 นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องครอบครองนานเท่าใด ดังนั้น แม้จะเข้าไปครอบครองเพียงหนึ่งวันก็ถือว่าทายาทนั้นได้เข้าไปครอบครองแล้ว แต่การเข้าไปครอบครองจะต้องเริ่มต้นภายในอายุความด้วย มิฉะนั้นทายาทอื่นย่อมยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2508  เจ้ามรดกตาย ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้ครอบครองมรดกร่วมกัน แม้เพียง 1 เดือนก็ถือได้ว่าได้ร่วมกันรับมรดกดังกล่าวและเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันแล้ว เมื่อทายาทฝ่ายหนึ่งมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวนั้น จึงเป็นการฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ซึ่งทายาทฝ่ายนั้นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้
          โจทก์จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันมา ต่อมาโจทก์โกรธจำเลยจึงแยกไปอยู่เสียที่อื่น จำเลยจึงครอบครอบทรัพย์มรดกนั้นแต่ผู้เดียวต้องถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมกันและแทนกัน มิใช่เป็นการเข้าแย่งการครองครองดังประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375        

          (3) การครอบครองตามมาตรา 1748 มีผลเฉพาะในทรัพย์สินที่ครอบครองเท่านั้น
          ทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกอันมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้จะพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 นั้น หมายความถึง การเรียกร้องเอาเฉพาะทรัพย์มรดกที่ครอบครองเท่านั้น การครอบครองนั้นไม่มีผลทำให้มีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกอย่างอื่นที่ตนไม่ได้ครอบครองแต่อย่างใด

          ข. ข้อตกลงมิให้แบ่งมรดก ตามมาตรา 1748 วรรคท้าย

          สิทธิที่จะแบ่งมรดกในฐานะเจ้าของรวมนั้น เจ้าของรวมอาจตกลงกันมิให้แบ่งก็ได้ โดยข้อตกลงนี้อาจทำได้เป็นคราวๆไป ครั้งละไม่เกิน 10 ปี


09 พฤษภาคม 2560

สิทธิในการสืบมรดกโดยผู้สืบสันดานของทายาท

          การสืบมรดก ตามมาตรา 1615 วรรคสอง นั้น เป็นกรณีที่ "เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้น ต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือ ผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น" 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2167/2518   การสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะกระทำได้ต่อเมื่อหลังจากที่เจ้ามรดกตายแล้ว และผู้สละเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกนั้นด้วย หากเจ้ามรดกยังไม่ตายก็ย่อมจะไม่มีมรดกตกทอดเพื่อให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกสละได้ ดังจะเห็นได้จากการที่มาตรา 1615 บัญญัติให้การสละมรดกมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย
          เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2501 ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2504 ผู้ร้องและเจ้ามรดกได้ทำสัญญากันมีใช้ความว่า ผู้ร้องไม่ขอเกี่ยวข้องในทรัพย์สินของเจ้ามรดก นอกจากนา 10 ไร่ และยุ้งข้าวครึ่งหนึ่งแล้ว ผู้ร้องยอมสละสิทธิหมดทุกอย่างเท่าที่มีสิทธิจะพึงได้ ต่อมาเจ้ามรดกถึงแก่กรรม ดังนี้สัญญาดังกล่าวมิใช่เป็นการสละมรดก เพราะได้ทำไว้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม ไม่มีผลกระทบกระเทือนพินัยกรรมของเจ้ามรดกที่ทำไว้ข้างต้น และเมื่อผู้ร้องเป็นผู้เหมาะสม ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย จึงชอบที่จะต้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958/2544  การสละมรดก หมายถึงการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้มรดกที่สละนั้นตกได้แก่บุคคลอื่นใด เพราะมิเช่นนั้นแล้วบทบัญญัติแห่งมาตรา 1615 วรรคสอง จะไม่มีผลบังคับ ดังนั้น หนังสือตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำขึ้นโดยมีเจตนาจะไม่รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย โดยจะยกให้เด็กหญิง ด. แต่ผู้เดียว แต่ผู้ร้องและผู้คัดค้านยังประสงค์จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอยู่ จึงมิใช่เป็นการสละมรดก ผู้ร้องซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961-3962/2528  มารดาของจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์และเจ้ามรดก เมื่อมารดาจำเลยสละมรดก จำเลยซึ่งเป็นบุตรจึงมีสิทธิสืบมรดกได้ตามมาตรา 1615 และมีฐานะเป็นทายาทของเจ้ามรดก ในลำดับเดียวกับโจทก์ มีสิทธิยกอายุความ 1 ปีขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ตามมาตรา 1755