05 สิงหาคม 2560

การใช้กฎหมายอาญา (ไม่มีความผิดและไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้)

          ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรก  "บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย" หลักกฎหมายตามมาตรานี้นับได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายอาญา ซึ่งมาจากสุภาษิตกฎหมายละตินว่า "ไม่มีความผิดและไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ หรือ NULLUM CRIMEN, NULLA POENA SINE PRAEVIA LEGE POENALI


          หลักการใช้กฎหมายอาญาตามมาตรา 2 


          (1) การจะลงโทษบุคคลใด จะต้องมีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ โดยต้องบัญญัติไว้โดยชัดเจน จะใช้จารีตประเพณีหรือกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับใช้เพื่อลงโทษไม่ได้
          กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3643/2526  บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 217 โดยให้ผู้กระทำความผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ใน มาตรา 218(1) ถึง (6) ต้องได้รับโทษหนักขึ้น แต่การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม มาตรา 217 จะต้องเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น เมื่อบ้านที่ถูกเพลิงไม้เป็นบ้านที่จำเลยเป็นเจ้าของร่วมกับ ร. สามีจำเลยซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้จะฟังว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิง จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม มาตรา 218 เพราะเมื่อมาตรา 217 บัญญัติว่าการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิด จะตีความคำว่า "ทรัพย์ของผู้อื่น" ให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยหาได้ไม่เป็นการขัดต่อหลักกฎหมายใน มาตรา 2
          กรณีไม่มีกฎหมายกำหนดโทษไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2557  คดีหมิ่นประมาท ป.อ. มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาเท่านั้น มิได้มีกฎหมายให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำขออภัยด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำขออภัยโจทก์จึงเป็นการลงโทษจำเลยที่ 2 นอกเหนือจากโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ต้องห้ามตาม ป.อ มาตรา 2 วรรคหนึ่ง



          (2) หากมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ก็ต้องแปลหรือตีความกฎหมายนั้นโดยเคร่งครัด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5354/2539  โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม 2537 ถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2537 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้ทำและมีเครื่องวิทยุคมนาคม โดยการนำโทรศัพท์มือถือมาทำการปรับจูนโดยใช้เครื่องดีเลอโค๊ด และก๊อปปี้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336 ซึ่งเป็นคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ระบบเซลลูล่า 900 มือถือของบริษัท อ. ผู้เสียหาย เข้าเครื่องโทรศัพท์มือถือดังกล่าวจนสามารถใช้ส่งและรับวิทยุคมนาคมได้ แล้วจำเลยได้บังอาจลักเอาไปซึ่งสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336 ของผู้เสียหาย คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 24,733 บาท โดยทุจริต โดยใช้โทรศัพท์มือถือดังกล่าวส่งและรับวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตนั้น ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 334 การที่ฟ้องระบุว่าจำเลยนำโทรศัพท์มือถือมาทำการปรับจูนและก๊อปปี้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336 ของผู้เสียหายแล้วใช้ทำการรับส่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตนั้นเป็นเพียงการทำการรับส่งวิทยุคมนาคม โดยอาศัยคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือเป็นการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธิ มิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 334 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

          (3) กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งมาจากถ้อยคำว่า "กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น" คือ ในขณะที่ลงมือกระทำความผิดจะต้องมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดอยู่แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2553  โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2510 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2545 จำเลยเข้ายึดถือที่ดินสาธารณประโยชน์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน ตามคำฟ้อง จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่พิพาทก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 อันเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ ใช้บังคับ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2510 ตลอดมาเป็นการครอบครองสืบเนื่องมาจากการเข้ายึดครอบครองในครั้งแรก เมื่อ ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับผู้กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุก ฯลฯ เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406/2523  จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติก่อนกฎกระทรวงกำหนดให้ที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติใช้บังคับ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด

          อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่ใช่โทษทางอาญาก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 2 จึงอาจบังคับย้อนหลังไปถึงการกระทำของเขาก่อนมีการออกกฎเกณฑ์นั้นได้ จึงต้องพิจารณาก่อนว่าสิ่งนั้นใช่โทษทางอาญาหรือไม่ ทั้งนี้ โทษทางอาญาตามมาตรา 18 มีอยู่ 5 ประการได้แก่ ประหารชีวิต, จำคุก, กักขัง, ปรับ และริบทรัพย์สิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8229/2556  พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 มาตรา 21 ตรี วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีมติว่าเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติตามมาตรา 21 ทวิ ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่ชักช้าเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นจะสามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นตนได้มาโดยชอบ ในกรณีนี้ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม" จากผลของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นมาตรการในทางแพ่งเพื่อบังคับให้ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน มิใช่เป็นการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาอันจะสามารถบังคับได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติและกำหนดโทษไว้ตาม ป.อ มาตรา 2 แม้ในขณะยื่นคำร้องเพื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวมีการยักย้ายทรัพย์สินไปก่อน และบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 21 ตรี วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราบการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 มิได้กล่าวถึงวิธีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นตามที่ผู้คัดค้านฎีกา แต่เมื่อต่อมาได้มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 83 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 บัญญัติวิธีการบังคับคดีในกรณีไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน จึงชอบที่จะนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับให้มีผลย้อนหลังแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ต้องตกเป็นของแผ่นดินนั้นได้ด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ผู้คัดค้านชดใช้เงิน 73,525,436.09 บาท จึงเป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติตามคำพิพากษาในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้คัดค้านแทนทรัพย์สินที่ศาลมีคำพิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือเพื่อให้มีการขอให้เพิกถอนการโอนหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ได้กระทำหลังจากผู้คัดค้านแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 82 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2539  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 20 ที่บัญญัติให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาโดยมิชอบตกเป็นของแผ่นดินนั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการอันเป็นวิธีการทางวินัยเท่านั้น มิใช่เป็นการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาอันจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของหลักกฎหมายที่ว่าบุคคลจะต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและได้กำหนดโทษไว้ ดังนั้น กฎหมายนี้ย้อนหลังไปบังคับถึงทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้มาโดยมิชอบและยังคงมีอยู่ในขณะที่กฎหมายนี้ใช้บังคับได้เพราะการได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบด้วยหน้าที่นั้นเป็นการผิดวินัยตั้งแต่ที่ได้รับมา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3174/2538  การที่ศาลชั้นต้นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดจนกว่าจะอายุครบ18ปีไม่เป็นการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา18แต่เป็นวิธีการสำหรับเด็กตามมาตรา74(5)ที่เบากว่าการลงโทษจำคุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9083/2544  การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท กล่าวคือนอกจากจำเลยมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ป.อ. มาตรา 157 แล้ว ยังมีความผิดต่อ พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 59 , 60 , 71 , 72 โดยเหตุที่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นมาตรการที่มุ่งจะจำกัดสิทธิของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งซึ่งกระทำหน้าที่โดยทุจริต มิใช่โทษตามกฎหมาย เมื่อศาลลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 157 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแต่เพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยได้ มิฉะนั้นแล้วการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวย่อมไร้ผลอันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย


          ข้อยกเว้นหลักที่ว่ากฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง


          (1) กรณีมีกฎหมายยกเลิกความผิดเดิม มีผลย้อนหลังได้ ตามมาตรา 2 วรรคสอง
          มาตรา 2 วรรคสอง "ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5166/2537  โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตั้งโรงงาน ประกอบกิจการโรงงานและรับเด็กอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่ถึงสิบห้าปีบริบูรณ์เข้าทำงานในโรงงานดังกล่าวโดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ดังนี้ แม้ขณะเกิดเหตุการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามฟ้อง แต่เมื่อระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ออกมายกเลิกพระราชบัญญัติโรงงานฉบับเดิมทั้งหมด และเมื่อปรากฏว่าโรงงานของจำเลยเป็นโรงงานซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ระบุไว้ว่าการตั้งโรงงานหรือประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตและไม่มีบทกำหนดโทษไว้ เช่น พระราชบัญญัติโรงงานฉบับเดิม ถือได้ว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานตั้งโรงงาน และฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2546  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรม โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 11 ซึ่งความผิดดังกล่าวมีบัญญัติไว้แล้วใน พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 21 จึงถือว่าความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ในส่วนที่เกี่ยวกับสาขาเวชกรรมถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2544 เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำความผิดฐานประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรม โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 4 , 11 , 21 ที่แก้ไขแล้ว เท่ากับเป็นการขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างกฎหมายอันใดมาเลย ไม่ใช่เรื่องอ้างกฎหมายผิด ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ไม่ได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2753/2540  โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ทั้งสองออกเช็คพิพาทให้ ส. ยึดถือไว้แทนสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ที่1กู้ยืมเงินไปจาก ส. แต่จำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีอาญาที่ ส. ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ว่าโจทก์ทั้งสองออกเช็คพิพาทแลกเงินสดไปจากจำเลยอันเป็นการออกเช็คพิพาทให้จำเลยเพื่อชำระหนี้ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง คำเบิกความของจำเลยย่อมเป็นความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว จำเลยย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จ แต่เนื่องจากในขณะคดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ซึ่งเป็นกฎหมายในคดีเดิมที่โจทก์ทั้งสองนำมาเป็นมูลในการฟ้องคดีนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว มี พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดการใช้เช็ค พ.ศ.2534ออกมาใช้บังคับแทน ปรากฏว่ากฎหมายฉบับใหม่ที่ออกภายหลังการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้นต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แต่กรณีการออกเช็คพิพาทแล้วแลกเงินสดมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ดังนี้คำเบิกความของจำเลยในคดีนั้นจึงไม่เป็นข้อสำคัญในคดีนี้อันจะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จการกระทำของจำเลยไม่เป็นของผิดตามฟ้อง

          (2) กฎหมายที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดตามมาตรา 3 มีผลย้อนหลังได้
          มาตรา 3  "ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด....."
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2548  จำเลยที่ 2 อายุ 16 ปี กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสอง (เดิม) , 66 วรรคสอง (เดิม) ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2546 มาตรา 3 ให้เพิ่มความขึ้นเป็นวรรคสองและวรรคสามของมาตรา 18 แห่ง ป.อ. ซึ่งข้อความในวรรคสามที่เพิ่มมีข้อความว่า ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่า สิบแปดปีกระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษห้าสิบปี ระวางโทษตามที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 3
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2551 โทษที่จะลงแก่จำเลยนั้น ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดมาบังคับแก่คดีตาม ป.อ. มาตรา 3 เมื่อมาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำความผิด ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ ในขณะที่มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิด ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องใช้กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังในส่วนที่ไม่มีระวางโทษจำคุกซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาใช้บังคับ เมื่อมีแต่ระวางโทษปรับสถานเดียว จึงไม่อาจรอการกำหนดโทษแก่จำเลยในความผิดฐานนี้ได้ สำหรับอัตราระวางโทษปรับนั้น ตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่า จึงต้องใช้อัตราระวางโทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6517/2552  ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74, 75 และ 76 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน เมื่อปรากฏว่ากฎหมายที่แก้ไข ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำความผิดในขณะอายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะกระทำความผิดอายุ 17 ปีเศษ กฎหมายบังคับให้ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษลงให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง มิใช่อยู่ในดุลพินิจของศาลตามกฎหมายเดิม เป็นกรณีมีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ภายหลังเป็นคุณกว่า ต้องใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225