11 พฤษภาคม 2560

สิทธิในการขอแบ่งมรดกของทายาทที่ได้ครอบครองทรัพย์มรดก

          มาตรา 1748  "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี
          สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้"
       

          ก. การครอบครองทรัพย์มรดก


          (1)  การครอบครองตามมาตรา 1748 มีความหมายถึงการครอบครองทั่วไป กล่าวคือ การยึดถือทรัพย์สินไว้เพื่อตนในฐานะทายาท ซึ่งการครอบครองนี้อาจมีการครอบครองแทนกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2493  การที่ทายาทของผู้ตายร่วมกันไปกู้เงินผู้อื่นมาไถ่นาพิพาทและให้เจ้าหนี้ทำนาพิพาทต่างดอกเบี้ยภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายนั้นถือว่าทายาทเหล่านั้นได้ครอบครองนาพิพาทด้วยกัน ตลอดเวลาที่เจ้าหนี้ทำนามรดกนั้นต่างดอกเบี้ยอยู่ หากทายาทคนใดไปลอบไถ่มาโดยไม่แจ้งให้ทายาทอื่นทราบ  ก็ไม่ถือว่าทายาทคนอื่นสละการครอบครองคงถือว่าทายาทที่ลอบไถ่มาครอบครองแทนทายาทอื่นนั้นและคดีไม่ขาดอายุความมรดก


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2506 (ประชุมใหญ่)  โจทก์อยู่กับมารดาที่เรือนมารดาในที่พิพาทก่อนมารดาตาย มารดาตายที่พิพาทตกเป็นมรดกของมารดา โจทก์ก็ยังคงอยู่ที่เรือนมารดาอีกหลายเดือนนับแต่มารดาตาย แล้วเรือนมารดาก็ถูกรื้อถวายวัด โจทก์จึงมาอยู่ที่เรือนจำเลยในที่พิพาทอีกหลายเดือน รวมเวลาที่โจทก์อยู่ในที่พิพาทหลังจากมารดาตายได้ราวปีเศษ โจทก์จึงไปอยู่ที่จังหวัดอื่น นับว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมากับจำเลยด้วยกันในตอนแรก โจทก์กับจำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาถือได้ว่าครอบครองที่พิพาทไว้แทนในฐานะเป็นเจ้าของร่วม แม้โจทก์มาฟ้องขอให้แบ่งมรดกที่พิพาทภายหลังมารดาตายแล้ว 18 ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความ
          โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องจำเลยคนเดียว ขอให้แบ่งที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ใน 3 ส่วน แต่ปรากฏว่าคดีสำหรับโจทก์ที่ 1 ขาดอายุความมรดกแล้ว โจทก์ที่ 2 คงมีสิทธิรับมรดกร่วมกับจำเลยเพียง 2 คนดังนี้ ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งมรดก 1 ใน 2 ส่วน ไม่ได้เพราะเกินคำขอ  คงพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งมรดก 1 ใน 3 ส่วนตามคำขอ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 12/2505)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2508  การที่จำเลยได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตลอดมาตั้งแต่เจ้ามรดกตาย แม้ต่อมาโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยก็ยังคงครอบครองแทนต่อมาอีก โจทก์ย่อมฟ้องคดีเกิน 10 ปีนับตั้งแต่เจ้ามรดกตายได้ คดีไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6460/2538  จำเลยทั้งสองทำกินในทรัพย์มรดกร่วมกับเจ้ามรดกและมารดาจำเลยทั้งสองก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม 10 ปีเศษ เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมก็ยังครอบครองทรัพย์มรดกนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเกิน 10 ปีแล้ว โดยโจทก์และผู้ร้องสอดไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก ฉะนั้นสิทธิของโจทก์และผู้ร้องสอดให้จำเลยทั้งสองแบ่งมรดกซึ่งเป็นคดีมรดกจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคท้าย สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยทั้งสองโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยที่ 1 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อจะดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นๆ ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่
          กรณีดังกล่าวมิใช่กรณีจำเลยที่ 1 สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 192 เดิม หรือ 193/24 ใหม่ ฉะนั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแทนหรือเพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นทั้งปวงของเจ้ามรดก โจทก์และผู้ร้องจะยกเอาประโยชน์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1748 มาอ้างสิทธิเพื่อเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วหาได้ไม่ จำเลยจึงยกอายุความใช้ยันโจทก์และผู้ร้องสอดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2540  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด การที่ผู้ตายยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง ซึ่งทายาทคนหนึ่งของผู้ตาย แต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 เมื่อการยกให้ไม่สมบูรณ์ ต่อมาเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายและไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้แสดงเจตนาไปยังทายาทคนอื่นว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเองการครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8371/2557  การแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงต้องได้ความชัดแจ้งแล้วว่าทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนแบ่งนั้นอย่างเป็นส่วนสัดชัดเจนว่าทายาทคนใดเข้าครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนั้นในส่วนใด มีอาณาเขตและเนื้อที่ดินเข้าครอบครองแบ่งแยกกันจนชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้ เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบไม่ได้ความ เช่นนั้นที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของ พ. และกรณีต้องถือว่าการที่ ต. และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของ พ. ทุกคน กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ พ. เพราะเข้าสืบสิทธิในมรดกส่วนของ ต. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม ดังนั้น คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2557  อายุความฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เป็นกรณีที่ทายาทที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกฟ้องขอแบ่งมรดกในฐานะที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย แต่หากเป็นกรณีที่ทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งและทายาทผู้นั้นยังครอบครองทรัพย์มรดกอยู่หรือมีทายาทอื่นครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนแล้ว กรณีนี้ทายาทผู้นั้นย่อมสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามมาตรา 1748 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1754 ทั้งนี้เพราะไม่มีกฎหมายใดบังคับให้ทายาทที่มิได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วยตนเองแต่มีทายาทอื่นครอบครองแทนต้องฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกจากทายาทอื่นที่ครอบครองแทนใน 1 ปี และการที่ทายาทบางคนได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นแล้วแม้ครอบครองแทนนานเพียงใด หากยังไม่ได้เปลี่ยนเจตนาการยึดถือครอบครอง ยังถือว่าเป็นการครอบครองแทนอยู่นั่นเอง เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองสิทธิในกิจการโรงเรียนอันเป็นทรัพย์มรดกแทนโจทก์ และมิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือครอบครอง แม้โจทก์จะฟ้องเอาทรัพย์มรดกดังกล่าวเกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย คดีย่อมไม่ขาดอายุความ และไม่อาจยกเอาอายุความมรดกตามมาตรา 1754 มาใช้บังคับได้      
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078/2537  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินโดยโจทก์ทั้งสี่และ ส. เจ้ามรดกตกลงให้จำเลยทั้งสองใส่ชื่อไว้แทน แสดงว่าที่ดินมิใช่ของจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสี่และ ส. ให้จำเลยทั้งสองลงชื่อไว้แทนเท่านั้น สิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ยังเป็นของทายาททุกคน มิใช่ของจำเลยทั้งสอง การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่หากฟ้องโจทก์ทั้งสี่เป็นความจริงแล้ว คำขอบังคับก็เป็นการขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดที่ดิน และการให้ไปในตัว โจทก์ทั้งสี่ไม่จำเป็นต้องไปฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดที่ดินและการให้เสียก่อน ดังนั้น คำพิพากษาที่วินิจฉัยให้จดทะเบียนแบ่งที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสี่จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ   หลังจาก ผ. เจ้ามรดกถึงแก่กรรม โจทก์บางคนร่วมกับจำเลยที่ 1 ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา และการที่จำเลยทั้งสองมีชื่อในที่ดินพิพาทเป็นการถือสิทธิและครอบครองแทนทายาทโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ส.และผ. ย่อมมีสิทธิฟ้องแบ่งมรดกได้แม้จะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย


          ***ผู้จัดการมรดกถือว่าครอบครองทรัพย์มรดกนั้นแทนทายาทจนกว่าการจัดการมรดกจะเสร็จสิ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553  ก. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ก. เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายก่อน ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นทายาทของ ย. ส่วนโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นทายาทของ ย. เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ส. จึงเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท มีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของ ย. ทุกคน แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ส. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมดโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2544  เมื่อข้อเท็จจริงยังมีที่ดินมรดกอีก 3 แปลงที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการแบ่งให้ทายาท แสดงว่าการจัดการมรดกยังอยู่ในระหว่างจัดการ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้แทนของทายาททั้งปวงโดยนำลักษณะตัวการตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทตาม มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1368 โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม มาตรา 1754 ทั้งนี้ ตาม มาตรา 1748
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8267/2538  จำเลยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกย่อมเป็นตัวแทนของทายาทคือโจทก์ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ ตามป.พ.พ.มาตรา 1720 ดังนั้น การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้งสองแปลงไว้ ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ด้วยตลอดมา จำเลยจะอ้างว่าจำเลยครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแต่ผู้เดียวโดยจำเลยไม่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือหาได้ไม่ หากจำเลยประสงค์จะครอบครองที่ดินแต่ผู้เดียว จำเลยจะต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยังโจทก์ว่าจะไม่ครอบครองที่ดินแทนโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 จำเลยยังมิได้แบ่งปันที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังอยู่ในระหว่างการจัดการ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมไม่มีสิทธิอ้างอายุความมรดกขึ้นต่อสู้เพื่อที่จะบอกปัดไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ และเมื่อถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแทนโจทก์ด้วยตลอดมาเช่นนี้แล้วคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความมรดก
          ***ทรัพย์มรดกที่อยู่ระหว่างการแบ่งปันยังไม่เสร็จสิ้น ต้องถือว่าทายาทนั้นครอบครองแทนทายาทอื่นทุกคน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2539  แม้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขอให้ทางราชการออกเลขที่บ้านให้โดยจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นเจ้าบ้านในหลักฐานทะเบียนราษฎร์ ก็มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 2 ผู้ขอออกเลขที่บ้านและมีชื่อเป็นเจ้าบ้านจะมีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังดังกล่าว เพราะหลักฐานดังกล่าวมิใช่หลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เป็นเพียงหลักฐานของทางราชการที่ต้องการทราบว่าในหมู่บ้านนั้นมีบ้านอยู่กี่หลัง และมีคนอาศัยอยู่ในบ้านที่ขอออกเลขที่บ้านกี่คน เพื่อประโยชน์ในทางทะเบียนราษฎร์เท่านั้น เมื่อรูปคดีฟังได้ว่าบ้านพิพาทเป็นของเจ้ามรดกจึงเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่บรรดาทายาททุกคน เจ้ามรดกถึงแก่ความตายในปี 2528 ทายาทของเจ้ามรดกตกลงกันว่าทายาทจะยังไม่แบ่งมรดกกันจนกว่าจะมีการเผาศพเจ้ามรดกเสียก่อน และได้มีการเผาศพเจ้ามรดกหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วประมาณ 2 ปี นอกจากนี้ยังปรากฎหลักฐานว่ามรดกของเจ้ามรดกยังอยู่ในระหว่างการแบ่งปันของบรรดาทายาท เมื่อมรดกยังแบ่งกันไม่เสร็จ แม้ทายาทคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนจะเป็นผู้ครอบครองมรดกอยู่ก็ต้องถือว่าทายาทคนนั้นหรือเหล่านั้นครอบครองมรดกแทนบรรดาทายาทอื่นด้วยทุกคน แม้จะล่วงเลยเวลา 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นก็ชอบที่จะฟ้องขอแบ่งมรดกได้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามครอบครองที่ดินและบ้านพิพาททั้งสองหลังอันเป็นมรดกแทนผู้ตายซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกด้วยคนหนึ่ง โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2537  ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ยังแบ่งปันกันไม่เสร็จ แม้จำเลยจะครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. แต่เพียงผู้เดียวก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปัน ถือว่าครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นเอาไว้ โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกของ ส. ซึ่งโจทก์ทั้งห้ามีส่วนได้รับนั้นได้จำเลยจะยกเอาอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้
          ***ผู้เช่าที่ดินมรดกต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนเจ้ามรดกตาย ถือว่าครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2542   ท. เช่าที่ดินพิพาทจาก จ. แม้ จ. ถึงแก่กรรมแล้ว ท. ก็ยังเช่าติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่า ท. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ จ. ซึ่งก็คือโจทก์กับจำเลยทั้งสอง มิได้ครอบครองแทนเฉพาะจำเลยทั้งสองที่เป็นผู้เก็บค่าเช่าเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทโดยโจทก์ไม่ทราบประกาศกับมิได้คัดค้าน ยังถือไม่ได้ว่ามีการแบ่งมรดกที่ดินพิพาทแล้ว เพราะการปิดประกาศการขอรับมรดกของเจ้าพนักงานที่ดินก็เพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิเกี่ยวข้องได้ทราบและมีการกำหนดเวลาให้เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินสามารถดำเนินการเกี่ยวกับคำขอรับมรดกได้หากไม่มีผู้คัดค้าน เมื่อถือว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปี ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง
          ***แต่การครอบครองเพียงโฉนดที่ดินนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14225/2555  โฉนดที่ดินเป็นเพียงเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มิใช่ตัวที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดก ดังนั้นการที่ ก. ครอบครองโฉนดที่ดินจึงไม่ใช่เป็นการครอบครองทรัพย์มรดก ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสี่จะอ้างว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกจึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกแม้ว่าจะพ้นสิบปีนับแต่ ล. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ไม่ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของ ล. กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่จัดการมรดกถูกต้องหรือไม่ เพราะแม้จำเลยจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

          (2) ระยะเวลาในการครอบครองทรัพย์มรดก
          ระยะเวลาในการครอบครองทรัพย์มรดกที่จะทำให้มีผลตามมาตรา 1748 นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องครอบครองนานเท่าใด ดังนั้น แม้จะเข้าไปครอบครองเพียงหนึ่งวันก็ถือว่าทายาทนั้นได้เข้าไปครอบครองแล้ว แต่การเข้าไปครอบครองจะต้องเริ่มต้นภายในอายุความด้วย มิฉะนั้นทายาทอื่นย่อมยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2508  เจ้ามรดกตาย ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้ครอบครองมรดกร่วมกัน แม้เพียง 1 เดือนก็ถือได้ว่าได้ร่วมกันรับมรดกดังกล่าวและเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันแล้ว เมื่อทายาทฝ่ายหนึ่งมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวนั้น จึงเป็นการฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ซึ่งทายาทฝ่ายนั้นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้
          โจทก์จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันมา ต่อมาโจทก์โกรธจำเลยจึงแยกไปอยู่เสียที่อื่น จำเลยจึงครอบครอบทรัพย์มรดกนั้นแต่ผู้เดียวต้องถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมกันและแทนกัน มิใช่เป็นการเข้าแย่งการครองครองดังประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375        

          (3) การครอบครองตามมาตรา 1748 มีผลเฉพาะในทรัพย์สินที่ครอบครองเท่านั้น
          ทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกอันมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้จะพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 นั้น หมายความถึง การเรียกร้องเอาเฉพาะทรัพย์มรดกที่ครอบครองเท่านั้น การครอบครองนั้นไม่มีผลทำให้มีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกอย่างอื่นที่ตนไม่ได้ครอบครองแต่อย่างใด

          ข. ข้อตกลงมิให้แบ่งมรดก ตามมาตรา 1748 วรรคท้าย

          สิทธิที่จะแบ่งมรดกในฐานะเจ้าของรวมนั้น เจ้าของรวมอาจตกลงกันมิให้แบ่งก็ได้ โดยข้อตกลงนี้อาจทำได้เป็นคราวๆไป ครั้งละไม่เกิน 10 ปี