21 พฤษภาคม 2560

สิทธิและหน้าที่ของทายาทที่มีร่วมกันจนกว่าแบ่งมรดกเสร็จสิ้น

          ในกรณีที่เจ้ามรดกมีทายาทหลายคน ทรัพย์สิน สิทธิและหน้าที่ รวมทั้งความรับผิดของเจ้ามรดกที่ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวย่อมตกแก่ทายาททุกคน ทายาททุกคนมีสิทธิและหน้าที่ร่วมกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกนั้นจนกว่าการแบ่งมรดกจะเสร็จสิ้น ซึ่งสิทธิและหน้าที่ร่วมกันของทายาทนั้น มาตรา 1645 บัญญัติให้นำมาตรา 1356 ถึงมาตรา 1366 ในเรื่องกรรมสิทธิ์รวมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในเรื่องมรดก บทบัญญัติเรื่องกรรมสิทธิ์รวมซึ่งนำมาใช้ ได้แก่
          (1) การจัดการมรดกต้องจัดการร่วมกัน
          (2) การใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกทั้งหมดต่อสู้บุคคลภายนอก
          (3) มีสิทธิใช้ทรัพย์มรดกและสิทธิได้ดอกผล
          (4) จำหน่ายทรัพย์มรดกส่วนของตนหรือจำนองหรือก่อให้เกิดภาระติดพันในทรัพย์มรดกส่วนของตนได้
          (5) ร้องขอให้ศาลแบ่งทรัพย์มรดกได้หากไม่สามารถตกลงการแบ่งกันได้


          สิทธิของทายาทในกองมรดกก่อนแบ่งปันมรดก


          (1) ทายาทมีส่วนเท่ากันในมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานตามมาตรา 1746
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2519  โจทก์ฟ้องว่าเดิมโจทก์จำเลยได้ครอบครองที่นามรดกร่วมกัน 2 แปลง เรียกว่านา ต. กับนา ห. ต่อมาจึงแยกกันทำนา โดยโจทก์ทำนา ต.จำเลยทำนา ห. แต่จำเลยไปขอ น.ส.3 เป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวโจทก์ขอให้แบ่งกันคนละแปลง จำเลยไม่ยอม ขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่นามรดกกับโจทก์คนละแปลง โดยให้โจทก์ได้นา ต. ซึ่งโจทก์ครอบครองอยู่ จำเลยให้การว่าได้แบ่งมรดกกันแล้วโดยนา ต. กับนา ห. ให้แก่จำเลย ได้ความว่านาทั้งสองแปลงนี้เป็นทรัพย์มรดกที่โจทก์จำเลยได้รับมา โจทก์จำเลยแยกกันทำนาคนละแปลง แต่ต่างฝ่ายต่างครอบครองแทนอีกฝ่ายหนึ่งตลอดมา โจทก์จำเลยต่างยังเป็นเจ้าของนาทั้งสองแปลงร่วมกัน นา ต. ก็เป็นทรัพย์มรดกที่จำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย จะแบ่งให้แก่โจทก์ฝ่ายเดียวไม่ได้ จึงพิพากษาว่านาทั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่โจทก์จำเลย ให้แบ่งนา 2 แปลงนี้ให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง

          (2) ทายาทมีสิทธิรับมรดกแม้จะเคยได้รับทรัพย์สินจากเจ้ามรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ตามมาตรา 1747

          (3) ทายาทมีสิทธิจะเรียกร้องให้แบ่งมรดก โดยต้องใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องคดีภายในอายุความมรดกตามมาตรา 1754 ยกเว้นจะเป็นกรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คือ กรณีทายาทครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังไม่ได้แบ่งกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 418/2493  การที่บิดาพูดรับรองในวันทำบุญ 7 วันศพภริยาจะแบ่งนาพิพาทให้บุตรทุกคน แล้วบิดาได้ครอบครองนาพิพาทต่อมาร่วมกับบุตรบางคน ดังนี้ ถือว่าบิดาได้ครอบครองนาพิพาทแทน
          สินสมรสระหว่างบิดามารดานั้น หากมารดาตาย แต่ถ้าบิดายังมีชีวิตอยู่ บุตรคงมีส่วนเฉพาะที่เป็นมรดกของมารดาเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2493  การที่ทายาทของผู้ตายร่วมกันไปกู้เงินผู้อื่นมาไถ่นาพิพาท และให้เจ้าหนี้ทำนาพิพาทต่างดอกเบี้ยภายใน 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตายนั้น ถือว่าทายาทเหล่านั้นได้ครอบครองนาพิพาทด้วยกัน ตลอดเวลาที่เจ้าหนี้ทำนามรดกนั้นต่างดอกเบี้ยอยู่ หากทายาทคนใดไปลอบไถ่มาโดยไม่แจ้งให้ทายาทอื่นทราย ก็ไม่ถือว่าทายาทคนอื่นสละการครอบครอง คงถือว่าทายาทลอบที่ไถ่มาครอบครองแทนทายาทอื่นนั้น และคดีไม่ขาดอายุความมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 922/2498  เมื่อได้ความว่าเจ้าหนี้ครอบครองที่ดินพิพาทของเจ้ามรดกไว้ทำประโยชน์ต่างดอกเบี้ยตลอดมา โดยทายาทมิได้ครอบครองมรดกนั้นด้วย ดังนี้ถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ครอบครองในนามของผู้ตายหรือครอบครองแทนทายาทของผู้ตายร่วมกัน และอายุความที่เกี่ยวกับฟ้องขอให้แบ่งที่พิพาทระหว่างทายาทด้วยกันนั้นจึงไม่อยู่ในบังคับบท มาตรา 1754 (อายุความ 1 ปี)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2506  โจทก์อยู่กับมารดาที่เรือนมารดาในที่พิพาท ก่อนมารดาตาย มารดาตายที่พิพาทตกเป็นมรดกของมารดา โจทก์ก็ยังคงอยู่ที่เรือนมารดาอีกหลายเดือนนับแต่มารดาตาย แล้วเรือนมารดาก็ถูกรื้อถวายวัด โจทก์จึงมาอยู่ที่เรือนจำเลยในที่พิพาทอีกหลายเดือน รวมเวลาที่โจทก์อยู่ในที่พิพาทหลังจากมารดาตายได้ราวปีเศษ โจทก์จึงไปอยู่ที่จังหวัดอื่น นับว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมากับจำเลยด้วยกันในตอนแรก โจทก์กับจำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาถือได้ว่าครอบครองที่พิพาทไว้แทนในฐานะเจ้าของร่วม แม้โจทก์มาฟ้องขอให้แบ่งมรดกที่พิพาทภายหลังมารดาตายแล้ว 18 ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2528 (ประชุมใหญ่)  การที่จำเลยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ทั้งสองแปลงตามที่โจทก์ขอแบ่ง แสดงว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินในกองมรดกซึ่งอยู่ระหว่างจัดการมรดก ถึงแม้ว่าจำเลยจะครอบครองที่พิพาทนั้นตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมแต่ผู้เดียว ก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน และต่อมาจำเลยก็ได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ดังนั้นการที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจึงจะยกอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทจากจำเลยได้

          (4) ทายาทมีสิทธิตามข้อตกลงไม่ให้แบ่งมรดก คือ ทายาทอาจตกลงกันไม่ให้แบ่งทรัพย์มรดกก็ได้ แต่ข้อตกลงห้ามแบ่งมรดกนี้จะกำหนดเกินคราวละสิบปีไม่ได้

          (5) ทายาทมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีมรดก ตามบทบัญญัติมาตรา 1749 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2491  ผู้ตายมีภริยาคือโจทก์และนางผิวเล็ก โจทก์ฟ้องแบ่งมรดกจากจำเลยซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายกับนางผิวเล็กกึ่งหนึ่ง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การแบ่งทรัพย์มรดก เมื่อเจ้ามรดกตาย เมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 แล้ว ต้องแบ่งตามมาตรา 1635 และ  1636 กล่าวคือ โจทก์และนางผิวเล็กสองคนรวมกันได้หนึ่งส่วน จำเลยเป็นบุตรได้หนึ่งส่วน ระหว่างโจทก์กับนางผิวเล็กได้ในส่วนนั้นคนละครึ่ง และเห็นว่าการแบ่งต้องแบ่งให้เพียงเท่าที่โจทก์มีสิทธิควรจะได้ จะแบ่งให้กึ่งหนึ่ง โดยเอาส่วนของนางผิวเล็กไปให้โจทก์ด้วยหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ของโจทก์และโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอส่วนแบ่งในนามของนางผิวเล็กด้วย การแบ่งนี้ไม่ขัดกับมาตรา 1749  คำว่า "กันส่วนไว้เพื่อทายาทอื่น" ตามมาตรา 1749 ห้ามนั้น หมายความว่า กันไว้เพื่อทายาทนั้นมารับเอาไปได้ทีเดียว โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาเมื่อก่อนใช้ ป.พ.พ.บรรพ 6 เรื่องนี้ ถ้านางผิวเล็กต้องการส่วนของตน จะมารับเอาไปจากศาลไม่ได้ จำต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ การแบ่งให้โจทก์เพียง 1 ใน 4 เช่นนี้ จึงหาใช่เป็นการกันส่วนไว้เพื่อนางผิวเล็กไม่ แต่เป็นการแบ่งให้ตามสิทธิที่โจทก์ควรจะได้รับ

          (6) ทายาทมีสิทธิฟ้องคดี ถึงแม้จะมีผู้จัดการมรดกแล้วก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824/2543  แม้มรดกนั้นจะมีผู้จัดการมรดกอยู่แล้ว ทายาทก็ยังมีสิทธิฟ้องร้องให้บุคคลภายนอกชำระหนี้สินของกองมรดกอันเป็นการรักษาสิทธิอันจะพึงตกแก่กองมรดกได้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 เมื่อเจ้ามรดกตายทรัพย์มรดกนั้นก็จะตกยังทายาท เมื่อมีทายาทหลายคนทายาทแต่ละคนก็ย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของตามส่วนที่ตนจะพึงได้ ซึ่งเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแก่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก รวมถึงการเรียกร้องเอาทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ซึ่งมาตรา 1745 ก็ให้นำมาใช้บังคับได้ ทั้งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 ลักษณะ 4 อันว่าด้วยวิธีจัดการและปันทรัพย์มรดกก็มิได้ห้ามมิให้ทายาทฟ้องร้องในกรณีเช่นนี้ แต่จะเห็นได้ตามมาตรา 1737 ว่าแม้แต่เจ้าหนี้กองมรดกจะฟ้องร้องทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกให้เรียกผู้จัดการมรดกเข้ามาในคดีด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้มรดกมีผู้จัดการมรดกแล้วเจ้าหนี้ก็ยังฟ้องร้องทายาทได้ แต่เพื่อความสะดวกก็ให้เรียกผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วยจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะห้ามมิให้ทายาทฟ้องร้องดังเช่นคดีนี้ โจทก์ในฐานะทายาทจึงมีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10484/2551  แม้จำเลยที่ 2 และ ฉ. จะเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. แล้ว ก็หาทำให้สิทธิของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ อ. ที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกคืนจากบุคคลภายนอกหรือลูกหนี้ของ อ. สิ้นไปแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายบัญญัติห้ามหรือตัดสิทธิไว้ เมื่อ อ. ถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นของทายาทรวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วย หนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจาก อ. ก็ตกเป็นสิทธิของทายาทของ อ. รวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วยเช่นกัน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ถือว่ามีผลประโยชน์ขัดกับกองมรดกจำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 กลับกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นหนี้ตามสัญญากู้เงินอีก หากทายาทไม่มีอำนาจฟ้องย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดก