12 มีนาคม 2567

ผู้เสียหาย ตามมาตรา 2(4)

        ป.วิ.อ.มาตรา 2 (4) “ผู้เสียหาย”  หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6

          1. ผู้เสียหายต้องได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง

          การเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาหรือไม่ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดนั้น โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินหรือเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลย ซึ่งเป็นประธานกรรมการสโมสรรัฐสภา และผู้จัดการสโมสร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3620/2566  ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับ การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 10 (1) สโมสรรัฐสภาไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่อยู่ในหน้าที่ควบคุมดูแลของโจทก์และมิได้เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามประกาศรัฐสภา โดยผู้จัดการสโมสรรัฐสภาและคณะกรรมการสโมสรรัฐสภามีอำนาจดูแลและจัดการบริหารทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา อนุมัติการจ่ายเงินของสโมสรรัฐสภา และจัดการซึ่งกิจการโดยทั่วไปของสโมสรรัฐสภา โจทก์มิได้เป็นคณะกรรมการสโมสรรัฐสภาหรือผู้จัดการสโมสรรัฐสภา จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานหรือจัดการทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา คำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยเป็นประธานกรรมการสโมสรรัฐสภา และผู้จัดการสโมสรจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มิได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะมีอำนาจเข้าบริหารกิจการและทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินหรือเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา การเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาหรือไม่ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิด ทั้งการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นผลเสียหายแก่รัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ การกระทำความผิดของจําเลยที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำต่อรัฐซึ่งเป็นอำนาจของหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดดังกล่าวตาม ป วิ อ. มาตรา 28 (1) โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 151, 157, 334 และ 335

          การที่จำเลยเบิกความเท็จ อ้างว่า ว. สติสมบูรณ์ ช่วยเหลือตนเองได้ และไม่มีสติฟั่นเฟือน ในคดีที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ว. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และแต่งตั้งโจทก์ร่วมเป็นผู้พิทักษ์ การเบิกความของจำเลยย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมโดยตรง โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จในคดีนี้โดยตรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2566  ผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 177 หาใช่จะมีแต่เฉพาะเจ้าพนักงานเท่านั้นไม่ ราษฎรที่ได้รับความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวก็เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) การที่จำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ว. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และแต่งตั้งโจทก์ร่วมเป็นผู้พิทักษ์ โดยจำเลยเบิกความเป็นใจความว่า ว. มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สามารถโต้ตอบมีเหตุผลและสามารถตัดสินใจด้วยตนเอง จำบุคคลใกล้ชิดและเรื่องราวต่าง ๆ ช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง และไม่มีอาการฟั่นเฟือน อันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมโดยตรง โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จในคดีนี้โดยตรง และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีนี้ได้

          ความผิดฐานกระทำอนาจาร พยายามกระทำชำเรา และกระทำชำเรา ผู้เยาว์ซึ่งถูกทำอนาจารหรือถูกกระทำชำเราเท่านั้นเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าว มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนผู้เยาว์ได้ แต่เมื่อมารดาซึ่งเป็นผู้คัดค้านมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์ จึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้เยาว์และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4536/2565
ความผิดฐานกระทำอนาจาร พยายามกระทำชำเรา และกระทำชำเรา ผู้เสียหายเท่านั้นเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าว มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการแทนผู้เสียหาย แต่ขณะเกิดเหตุผู้คัดค้านและจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลย แม้ภายหลังจะจดทะเบียนหย่ากัน แต่ยังคงมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน อีกทั้งโจทก์คัดค้านคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้คัดค้าน เพราะมีพฤติการณ์กระทำการเป็นปฏิปักษ์กับโจทก์ อาจทำให้คดีของโจทก์เสียหาย เชื่อได้ว่าผู้คัดค้านมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เสียหาย เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้แทนเฉพาะคดีเพราะเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้เสียหาย จึงทำให้ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายและไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการแทนผู้เสียหาย

          ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ก็ถือเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมพินัยกรรมอันเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 265 ด้วย เพราะหากพินัยกรรมปลอมถูกยกขึ้นกล่าวอ้างว่าเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้ ทายาทโดยธรรมย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกในส่วนที่ระบุไว้ในพินัยกรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4337/2565  โจทก์และจําเลยที่ 3 เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ จ. จําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันปลอมพินัยกรรมของ จ. ขึ้นทั้งฉบับว่า จ. ยกที่ดินพร้อมบ้านให้แก่จําเลยที่ 3 แต่เพียงผู้เดียว นอกจาก จ. ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการทำปลอมพินัยกรรมจะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมพินัยกรรมอันเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 265 แล้ว โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ก็ถือเป็นผู้เสียหายอีกคนหนึ่งด้วย เพราะหากพินัยกรรมปลอมถูกยกขึ้นกล่าวอ้างว่าเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้ โจทก์ซึ่งเป็นแต่เพียงทายาทโดยธรรมมิใช่ทายาทตามพินัยกรรม ย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ในส่วนที่เป็นที่ดินพร้อมบ้านซึ่งกำหนดไว้ในพินัยกรรมตามสิทธิที่ควรจะได้ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม ถือได้ว่าการกระทำความผิดของจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทบต่อส่วนได้เสียของโจทก์ในการรับมรดกของ จ. อันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องด้วยบทนิยามคําว่า "ผู้เสียหาย" ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)

          ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.ท.บ. 5) ไม่ใช่เอกสารที่แสดงว่าผู้ชำระค่าภาษีมีสิทธิในที่ดิน การกระทำการเกี่ยวกับใบภาษีบำรุงท้องที่ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่กระทบถึงการที่โจทก์ยึดถือที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิที่จำเลยทั้งหกมอบให้ไว้เป็นหลักประกัน การที่จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความว่าใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่มอบให้โจทก์ยึดถือไว้หาย แล้วไปขออกใบแทนใหม่ จึงไม่ทำให้โจทก์เสียหาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9557/2558   ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.ท.บ. 5) ไม่ใช่เอกสารที่แสดงว่าผู้ชำระค่าภาษีมีสิทธิในที่ดิน คือ สิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพราะเอกสารที่แสดงถึงสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมเป็นไปตาม ป.ที่ดิน มาตรา 1 คือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน การกระทำการเกี่ยวกับใบภาษีบำรุงท้องที่ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่กระทบถึงการที่โจทก์ยึดถือที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิที่จำเลยทั้งหกมอบให้ไว้เป็นหลักประกันเมื่อเข้าร่วมโครงการปลูกพืชพลังงานทดแทนกับโจทก์ ทั้งโจทก์ก็ไม่เคยมีเจตนาจะชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งต้องนำใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.ท.บ. 5) ท่อนที่มอบให้เจ้าของที่ดินนี้มาแสดงด้วยเมื่อมาติดต่อขอชำระภาษีบำรุงท้องที่ การที่จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความว่าใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่มอบให้โจทก์ยึดถือไว้หาย แล้วไปขออกใบแทนใหม่ จึงไม่ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย

          สิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8782/2558   ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า “ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ...” ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวต้องพิจารณาในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นหรือไม่ อีกทั้งสิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้ สิทธิในการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในคดีแพ่งให้แก่บริษัท บ. แล้วก็ตาม แต่วันที่จำเลยกระทำความผิดโจทก์ยังเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อจำเลยโอนขายที่ดินของจำเลยให้แก่ น. เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลย โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

          กรรมการบริษัทกระทำผิดต่อบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นเอง ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายจึงมีสิทธิฟ้องกรรมการนั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1041/2558  คดีนี้เป็นความผิดที่ได้กระทำต่อนิติบุคคลซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (3) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคลเป็นผู้ฟ้องคดีแทน เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทและเป็นกรรมการบริษัทผู้กระทำผิดต่อบริษัท ค. ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นเอง ย่อมจะไม่ฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเพื่อกล่าวหาตนเอง เมื่อเป็นดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหาย ทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 1169 ก็บัญญัติไว้ว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดี ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งฟ้องคดีได้ ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ของบริษัทตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2) ประกอบมาตรา 2 (4) และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ได้ และต้องถือว่าโจทก์ฟ้องแทนบริษัทด้วย
          มติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ค. ที่ให้ยุติการฟ้องร้องและยุติข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการบริหารทั้งหมด ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงว่าผู้ถือหุ้นของบริษัท ค. ซึ่งรวมทั้งโจทก์ ตกลงไม่เอาความทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 และไม่เป็นการยอมความในความผิดฐานร่วมกันยักยอกโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวจึงไม่ระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

          เมื่อผู้เช่าซื้อเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อมาในขณะที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเอารถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อไปโดยทุจริต ผู้เช่าซื้อย่อมเป็นผู้เสียหายและเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมคดีนี้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  16502/2557   จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในการเล่นการพนันโดยยึดถือรถกระบะที่โจทก์ร่วมเช่าซื้อมาจากผู้ให้เช่าซื้อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ร่วมนำรถกระบะกลับไปใช้ และโจทก์ร่วมไม่นำรถกระบะกลับมาคืนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจนำรถกระบะกลับมายึดถือครอบครองโดยโจทก์ร่วมไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปจากโจทก์ร่วม แม้น่าเชื่อว่าหากโจทก์ร่วมชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วน จำเลยที่ 1 คงจะคืนรถกระบะให้ แต่ก็เห็นได้ว่าถ้าโจทก์ร่วมไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 คงไม่คืนรถกระบะให้ การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปดังกล่าวจึงเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในรถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมตลอดไปแล้ว และเมื่อเป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และไม่ว่าโจทก์ร่วมจะผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองรถกระบะคันดังกล่าวในขณะที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเอารถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อไปโดยทุจริต โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายและเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมคดีนี้ได้

          เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว จำเลยได้ทำการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15933/2557   การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองอยู่ แม้ขณะนั้นที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กับทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่น จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

          ผู้ที่ถูกปลอมลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายแล้วมีคนนำเอกสารปลอมไปกู้เงินธนาคาร เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15315/2557  มีผู้ปลอมสัญญาจะซื้อจะขายโดยมีการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในฐานะผู้จะขายแล้วนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปใช้ติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ย่อมทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้

          2. ผู้เสียหายต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยด้วย

          แม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะมีพฤติการณ์เรียกผลประโยชน์ตอบแทนเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็เป็นเรื่องการเรียกดอกเบี้ยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายเป็นคนละส่วนกับต้นเงินที่โจทก์ร่วมทั้งสองต้องเสียไปในการซื้อที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานฉ้อโกงและใช้เอกสารราชการปลอม 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893 - 4895/2565
โจทก์ร่วมทั้งสองถูกจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เอกสารราชการสำเนาใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและสำเนาระวางที่ดินปลอมมาหลอกลวงขายที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่มีสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นที่ดินมีสิ่งปลูกสร้างอาคารอะพาร์ตเมนต์ อยู่ใกล้ถนนพัทยาใต้ติดแหล่งชุมชนจนหลงเชื่อ แล้วโจทก์ร่วมที่ 1 โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าว แม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะมีพฤติการณ์เรียกผลประโยชน์ตอบแทนเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กล่าวอ้างมาในฎีกาก็เป็นเรื่องการเรียกดอกเบี้ยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายเป็นคนละส่วนกับต้นเงินที่โจทก์ร่วมทั้งสองต้องเสียไปในการซื้อที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานฉ้อโกงและใช้เอกสารราชการปลอม

          ผู้เสียหายต้องไม่มีส่วนร่วมหรือก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5172/2557   การที่โจทก์ร่วมไปหาจำเลยที่ห้องพักซึ่งแม้จะได้ความตามที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมรบกวนการครอบครองห้องพักโดยปกติสุขของจำเลย แต่โจทก์ร่วมก็ไม่ได้บอกให้จำเลยกล่าวถ้อยคำอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนร่วมหรือก่อให้เกิดการกระทำความผิด อันจะเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)

          ผู้ตายข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยจึงลงมือฆ่าผู้ตายโดยบันดาลโทสะ ผู้ตายมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เพราะผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญาด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  21814/2556  คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยฆ่า น. ผู้ตาย โดยบันดาลโทสะ ผู้ตายจึงมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่าผู้ตายมิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและมารดาผู้ตายจึงไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ บ. และ อ. เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนี้ บ. และ อ. จึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์และฎีกาด้วย

          ผู้ตายมีส่วนในความประมาทด้วย ถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิด จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19300/2556   การที่โจทก์ร่วมทั้งสี่ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 เป็นการยื่นคำร้องโดยอาศัยสิทธิตามคำฟ้องของพนักงานอัยการ เมื่อคำฟ้องของพนักงานอัยการบรรยายว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทด้วย โจทก์ร่วมทั้งสี่จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องโดยไม่จำต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เช่นนี้ ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสี่ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และ 30

          โจทก์ร่วมถือขวานเข้าไปหาเรื่องจะทำร้ายจำเลย จึงถูกจำเลยใช้มีดของกลางออกมาฟันทำร้ายโดยบันดาลโทสะ ถือว่าโจทก์ร่วมมีส่วนก่อเหตุให้จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ จึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13195/2556  เมื่อโจทก์ร่วมมีส่วนก่อเหตุให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ที่จะมีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์และไม่อาจใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 ในคดีนี้ได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยใช้อาวุธมีดดาบปลายตัดใบมีดยาว 55 เซนติเมตร ฟันโจทก์ร่วมหลายครั้งเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส ข้อมือขวาเกือบขาด เส้นเอ็น เส้นประสาทขาดกระดูกหัก กระดูกแขนซ้ายหัก และเส้นเอ็นขาด ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์สำหรับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร โจทก์และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะหรือไม่ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลน่าเชื่อว่า ก่อนเกิดเหตุ โจทก์ร่วมถือขวานเข้าไปหาเรื่องจำเลยที่บ้านของนาย ว. แล้วครั้งหนึ่ง แต่นาง อ. เข้าไปกันไว้ในลักษณะห้ามปราม โจทก์ร่วมจึงเดินกลับบ้านไป แล้วกลับมาอีกครั้งโดยยังคงถือขวานมาด้วยและเงื้อขวานดังกล่าวจะฟันประทุษร้ายจำเลย พฤติกรรมของโจทก์ร่วมดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ร่วมข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยนำอาวุธมีดของกลางออกมาฟันโจทก์ร่วมซึ่งยังคงอยู่บริเวณหน้าบ้านของนาย ว. ในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอยู่ จึงเป็นการกระทำต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ร่วมมีส่วนก่อเหตุให้จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) ที่จะมีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ และไม่อาจใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 ในคดีนี้ได้




การระบุวิธีการและระยะเวลาการฟ้องคดีใน “คําสั่งทางปกครอง” มีความสำคัญต่อการใช้สิทธิฟ้องคดี | คำสั่งทางปกครอง | คดีปกครอง

          หน้าที่สําคัญอย่างหนึ่งของฝ่ายปกครองในการออก “คําสั่งทางปกครอง” คือ คำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ ให้ผู้ออกคำสั่งระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ด้วย และในกรณีที่มีการฝ่าฝืน ไม่ยอมระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ในคำสั่ง ให้ถือว่าระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่และระยะเวลาดังกล่าวมีระยะเวลาสั้นกว่าหนึ่งปี ให้ขยายเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง ทั้งนี้ ตามมาตรา 40 แหงพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และคำสั่งใดที่อาจฟ้องต่อศาลปกครองได้ ให้ผู้ออกคำสั่งระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องไว้ในคำสั่งดังกล่าวด้วย ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 
          มาตรา 50  "คำสั่งใดที่อาจฟ้องต่อศาลปกครองได้ ให้ผู้ออกคำสั่งระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องไว้ในคำสั่งดังกล่าวด้วย
          ในกรณีที่ปรากฏต่อผู้ออกคำสั่งใดในภายหลังว่า ตนมิได้ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้นั้นดำเนินการแจ้งข้อความซึ่งพึงระบุตามวรรคหนึ่งให้ผู้รับคำสั่งทราบโดยไม่ชักช้า ในกรณีนี้ให้ระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ผู้รับคำสั่งได้รับแจ้งข้อความดังกล่าว
          ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่ตามวรรคสองและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องมีกำหนดน้อยกว่าหนึ่งปี ให้ขยายเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง"
          จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงมีผลให้คำสั่งทางปกครองใดก็ตามที่ผู้ออกคำสั่งไม่ได้ระบุวิธีการและระยะเวลาในการอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งไว้ ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ย่อมมีผลให้มีการขยายระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์ออกไปได้อีกเป็นเวลาหนึ่งปี และหากในคำสั่งทางปกครองใดที่อาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ก็ไม่มีการระบุวิธีการและระยะเวลาในการยื่นคำฟ้องไว้อีกด้วย ระยะเวลาในการฟ้องคดีก็ย่อมขยายออกไปได้อีกเป็นหนึ่งปี(เฉพาะระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องมีกำหนดน้อยกว่าหนึ่งปี)


          คําสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 546/2550  เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยไม่อนุมัติปริญญาเกียรตินิยมอันดับสองให้แก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากผู้ฟ้องคดีลงทะเบียนซ้ำ ซึ่งขัดต่อข้อบังคับมหาวิทยาลัย โดยผู้ฟ้องคดีต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่อธิการบดีฯ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ไม่ได้แจ้งสิทธิในการฟ้องคดีโดยระบุวิธีการยื่นคําฟ้องและระยะเวลาในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งสิทธิดังกล่าวในภายหลัง ผลตามกฎหมายมาตรา 50 ก็คือ ระยะเวลาในการยื่นคําฟ้องขยายเป็น 1 ปีนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับคําสั่ง ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคําสั่งในวันที่ 26 มกราคม 2549 ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธินําคดีมาฟ้องต่อศาลได้ถึงวันที่ 26 มกราคม 2550 การที่ผู้ฟ้องคดีนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองในวันที่ 4 กันยายน 2549 จึงเป็นการยื่นฟ้องภายในกําหนดเวลาการฟ้องคดี

          กรณีนี้ หากผู้ออกคําสั่งไม่ได้ระบุวิธีการและระยะเวลาในการยื่นฟ้องคดีไว้ในคําสั่ง ก็ควรที่จะมีการแจ้งให้ผู้รับคําสั่งทราบในภายหลัง ซึ่งระยะเวลาการฟ้องคดีจะมีกําหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้รับคําสั่งได้รับแจ้งข้อความดังกล่าว

          แต่มีปัญหาว่า หากพ้นกําหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 50 แล้ว ผู้ฟ้องคดีได้ทําหนังสือถึงผู้ออกคําสั่งขอให้ระบุวิธีการและระยะเวลาในการฟ้องคดีให้ถูกต้องและผู้ออกคําสั่งได้ดําเนินการแจ้งข้อความตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ กรณีเช่นนี้ระยะเวลาในการฟ้องคดีจะสามารถเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคําสั่งที่ระบุข้อความดังกล่าวหรือไม่ ?

          ข้อเท็จจริงในคดีนี้... ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีคําสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากตําแหน่งผู้ใหญ่บ้านและกํานันตําบล เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์กระทําความผิดวินัยอย่างร้ายแรงกรณีมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนที่ใช้ในราชการสงครามซึ่งนายทะเบียนไม่อนุญาตให้ใช้หรือมีไว้ในครอบครอง อีกทั้งมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการค้ารถตามแนวชายแดนและการลักพาตัวราษฎรลาว
          แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคําสั่งลงโทษดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อตน เนื่องจากเป็นการกล่าวหาเท็จโดยปราศจากพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้อกล่าวหา ผู้ร้องเรียนต้องการกลั่นแกล้งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่งผู้ใหญ่บ้านและกํานันตําบล และกรณีที่กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนซึ่งนายทะเบียนไม่อนุญาตไว้ในครอบครองนั้น พนักงานอัยการได้มีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดีก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะมีคําสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากตําแหน่ง
          ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นหนังสืออุทธรณ์ร้องทุกข์ต่อกระทรวงมหาดไทย
          กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วมีคําสั่งให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแต่ได้แก้ไขคําสั่งลงโทษบางส่วนโดยให้ตัดข้อความที่ว่า “มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการค้ารถตามแนวชายแดนและการลักพาตัวราษฎรลาว” ออก นอกนั้นให้คงเดิม ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้มีคําสั่งแก้ไขคําสั่งเดิม รวมทั้งแจ้งคําสั่งยกอุทธรณ์ของกระทรวงมหาดไทยให้ผู้ฟ้องคดีทราบ โดยไม่ได้ระบุวิธีการยื่นคําฟ้องและระยะเวลาสําหรับยื่นคําฟ้องไว้ในคําสั่ง
          สำหรับคดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีสามารถนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคําพิพากษาหรือมีคําสั่งเพิกถอนคําสั่งปลดออกจากตําแหน่งได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคําสั่งยกอุทธรณ์ ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ระบุวิธีการยื่นคําฟ้องและระยะเวลาสําหรับยื่นคําฟ้องไว้ ระยะเวลาในการฟ้องคดีจึงต้องขยายจาก 90 วัน ออกเป็น 1 ปีนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคําสั่งยกอุทธรณ์ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542  แต่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีก็มิได้นําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองภายใน 1 ปี
          หลังจาก 1 ปีผ่านไป ผู้ฟ้องคดีได้ทําหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีขอให้ระบุวิธีการและระยะเวลาในการยื่นฟ้องคดีในคําสั่งเสียใหม่ให้ถูกต้องครบถ้วน และผู้ถูกฟ้องคดีก็ได้แจ้งคําสั่งใหม่โดยได้ระบุวิธีการและระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ผู้ฟ้องคดีทราบด้วย ผู้ฟ้องคดีจึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งใหม่ดังกล่าว

           ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ระบุวิธีการยื่นคําฟ้องและระยะเวลาสําหรับยื่นคําฟ้องไว้ในคําสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีจึงมีผลทําให้ระยะเวลาสําหรับยื่นคําฟ้องขยายจาก 90 วัน เป็น 1 ปี เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์อย่างช้าประมาณเดือนสิงหาคม 2544 จึงครบกําหนดระยะเวลาการฟ้องคดีที่ขยายออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2545 แต่ผู้ฟ้องคดีก็มิได้นําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองแต่อย่างใด จึงพ้นระยะเวลาที่จะนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีระบุวิธีการยื่นคําฟ้องและระยะเวลาในการยื่นคําฟ้องหลังจากที่พ้นกําหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไปแล้ว และแม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะได้แจ้งวิธีการดังกล่าวตามคําขอนั้น ก็ย่อมไม่มีผลทําให้กําหนดระยะเวลาสําหรับการฟ้องคดีที่สิ้นสุดไปแล้ว กลับมาเริ่มต้นนับใหม่ได้อีก จึงมีคําสั่งไม่รับคําฟ้องไว้พิจารณาและให้จําหน่ายคดีออกจากสารบบความ (คําสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 535/2547)

          ดังนั้น กําหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 และมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นเงื่อนไขสําคัญสําหรับการฟ้องคดีที่หากยื่นคําฟ้องเมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าว ศาลปกครองมีอํานาจสั่งไม่รับคําฟ้องไว้พิจารณาและจําหน่ายคดีออกจากสารบบความได้
          สำหรับการกําหนดหน้าที่ให้ผู้ออกคําสั่งทางปกครองระบุวิธีการยื่นคําฟ้องและระยะเวลาสําหรับยื่นคําฟ้องไว้ในคําสั่งด้วยนั้น ก็เพื่อให้ผู้รับคําสั่งทราบเพื่อจะได้ใช้สิทธิฟ้องคดีได้ถูกต้องตามกําหนดเวลา และหากฝ่าฝืนไม่แจ้ง กฎหมายก็ได้คุ้มครองสิทธิดังกล่าว โดยผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นฟ้องได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับคําสั่ง แต่เมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ก็ต้องถือว่ากําหนดระยะเวลาการฟ้องคดีสิ้นสุดลง



ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ตามมาตรา 59 วรรคสาม เท่ากับกระทำโดยไม่มีเจตนา ไม่มีความผิด

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 59  "บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
          กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
          ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
          ........"

          การกระทำที่ผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด มีผลเท่ากับกระทำไปโดยไม่มีเจตนากระทำผิด จึงไม่มีความผิดในความผิดฐานนั้นๆ เช่น

          ไม่รู้ว่าผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 15 ปี เนื่องจากผู้เสียหายรูปร่างสูงใหญ่ดูเหมือนคนอายุ 18-19 ปี จึงร่วมประเวณีด้วยโดยความยินยอมของผู้เสียหาย ไม่มีความผิดฐานชำเราเด็ก ตามมาตรา 277 เพราะขาดเจตนา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11683/2556   จำเลยเบิกความว่า จำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุประมาณ 18 ปี ถึง 19 ปี เพราะรูปร่างสูงใหญ่ ซึ่งในข้อนี้ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้เสียหายที่ 1 มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าอายุ หากดูภายนอกเพียงผิวเผินอาจเข้าใจได้ว่ามีอายุเกิน 18 ปีแล้ว เจ้าของร้านอาหารริมชีรับผู้เสียหายที่ 1 เข้าทำงานเนื่องจากเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกิน 18 ปี ส่วนผู้เสียหายที่ 3 ก็เบิกความทำนองเดียวกันว่า หากเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ผู้เสียหายที่ 1 จะรูปร่างสูงใหญ่กว่าเพื่อน บุคคลทั่วไปมองผู้เสียหายที่ 1 แล้วอาจเข้าใจได้ว่ามีอายุ 17 ถึง 18 ปี จึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เคยทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารริมชีมาก่อนโดยทำงานตั้งแต่เวลา 9 ถึง 19 นาฬิกา อีกทั้งหลังเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 บอกผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ว่านอกจากจำเลยแล้วยังมีชายอื่นกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีก 11 คน จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่ารูปร่างและลักษณะของผู้เสียหายที่ 1 ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกินกว่า 18 ปี จำเลยอาจสำคัญผิดว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุเกิน 18 ปี ดังที่อ้างก็เป็นได้ หากเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดทั้งสองฐานตามฟ้องและทำให้เป็นการกระทำที่ขาดเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19960/2555   ขณะจำเลยรับผู้เสียหายเข้าทำงานไม่ได้ตรวจดูหลักฐานเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายก่อน ผู้เสียหายมีรูปร่างโตกว่าเด็กทั่วไปตัวใหญ่และมีส่วนสูงประมาณ 155 เซนติเมตร และเมื่อพิจารณาภาพถ่ายของผู้เสียหายแล้วก็มีรูปร่างสูงใหญ่และลักษณะสูงใหญ่เกินกว่าเด็กหญิงที่มีอายุ 15 ปี โดยทั่วไป เช่นนี้จึงมีเหตุผลที่จำเลยจะเข้าใจโดยสุจริตว่าผู้เสียหายมีอายุ 17 ถึง 18 ปี การที่จำเลยสำคัญผิดเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายนี้เป็นการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก ประกอบมาตรา 59 วรรคสาม วรรคสอง และวรรคหนึ่ง แม้จะมีบทบัญญัติความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราในมาตรา 276 วรรคแรก แต่เมื่อผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดมาตรา 276 วรรคแรก

          ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 18 ปี จึงพาผู้เสียหายไปอยู่ในห้องนอนเพื่อจะร่วมประเวณีกัน ไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา 318 วรรคสาม เพราะขาดเจตนา 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9285/2556   เมื่อจำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายพ้นวัยผู้เยาว์ โดยเข้าใจว่าผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า 18 ปี แล้ว(ผู้เสียหายมีรูปร่างสูงกว่าและอวบกว่าคนในวัยเดียวกัน รวมทั้งอยู่ในร้านอาหารที่ติดป้ายห้ามคนอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงาน) จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

          ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าบุคคลที่ตนเองเอาไปทิ้งน้ำนั้นยังมีชีวิตอยู่ เท่ากับไม่มีเจตนาฆ่าผู้อื่น จึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288 เพราะการกระทำขาดองค์ประกอบความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5729/2556  ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นั้น จำเลยที่ 1 ต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก คือ (1) ผู้ใด (2) ฆ่า (3) ผู้อื่น กล่าวคือ รู้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฆ่า และรู้ด้วยว่า วัตถุแห่งการกระทำคือผู้อื่นนั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วนั้น โจทก์ไม่ได้ฎีกา และฎีกาโจทก์รับว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลล่างว่าจำเลยที่ 1 พยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายจนหมดสติแล้วนำไปทิ้งที่อ่างเก็บน้ำโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดว่าผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย จะถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามความใน ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

          ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเช็คซึ่งตนเองนำไปเข้าบัญชีนั้นเป็นตั๋วเงินปลอม เป็นการขาดเจตนากระทำความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4) จึงไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1761/2552   จำเลยนำเช็คซึ่งเป็นตั๋วเงินปลอมเข้าบัญชีจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินแทนนาง ย.โดยไม่ทราบว่าเป็นตั๋วเงินปลอม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด เป็นการขาดเจตนากระทำความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4) และมาตรา 59 วรรคสาม วรรคสอง และวรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกับพวกใช้ตั๋วเงินปลอม(ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่า จำเลยได้ร่วมทำปลอมโดยกรอกข้อความและลงลายมือชื่อปลอมของนาย ส.ลงในเช็ค อีกทั้งผลการตรวจพิสูจน์ลายมือของผู้เขียนข้อความในเช็คก็น่าจะเป็นลายมือของบุคคลอื่น มิใช่ลายมือชื่อของจำเลยด้วย พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดฐานปลอมตั๋วเงิน)

          ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าที่ดินนั้นอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของผู้เสียหายเนื่องจากไม่มีแนวเขตที่แน่นอน จึงเข้าไปก่อสร้างห้องแถวบ้านพักชั่วคราว ปักหลักกั้นรั้ว เท่ากับไม่มีเจตนาบุกรุก ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3714/2540  ที่ดินของผู้เสียหายไม่มีแนวเขตที่แน่นอน จำเลยโต้เถียงตลอดมาว่า ที่ดินไม่ใช่ของผู้เสียหาย ขณะที่จำเลยเข้าไปก่อสร้างห้องแถวบ้านพักชั่วคราว ปักหลักกั้นรั้ว และก่อสร้างรั้วคอนกรีตในที่ดินจำเลยจึงไม่รู้ว่าที่ดินนั้นอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ซึ่งตามมาตรา 59 วรรคสาม จะถือว่าจำเลยกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้จึงไม่เป็นการกระทำโดยเจตนาไม่มีความผิด
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2536เวลาประมาณ 9 นาฬิกา เห็นจำเลยที่ 2 กับพวกอีกสี่คนกำลังปักหลักไม้และหลักคอนกรีตในที่ดินของผู้เสียหายประมาณ 10 หลัก ผู้เสียหายบอกจำเลยที่ 2 ว่า ที่ดินเป็นของผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ขอดูหลักฐาน เมื่อผู้เสียหายเอาโฉนดให้จำเลยที่ 2 ดู จำเลยที่ 2 บอกว่าเป็นโฉนดปลอมผู้เสียหายจึงขอให้ไปตกลงที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองระนองเจ้าพนักงานตำรวจสอบสวนแล้วแนะนำให้ผู้เสียหายรังวัดสอบเขตที่ดินให้แน่นอนก่อนจำเลยที่ 2 ว่า หากรังวัดแล้วเป็นที่ดินของผู้เสียหายจะรื้อถอนหลักที่ปักไว้ออกไป และจะไม่เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีก พนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ผู้เสียหายอ้างว่าเป็นที่ดินมีโฉนดจำเลยที่ 1 ว่าไม่มีโฉนด และเป็นฝ่ายครอบครองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 ทั้งสองฝ่ายตกลงจะให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัด หากผลการรังวัดปรากฏว่าเป็นที่มีโฉนดจำเลยที่ 1 ยอมให้เป็นของผู้เสียหายและเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ตอนที่ผู้เสียหายนำชี้ให้ทำแผนที่เกิดเหตุยังไม่ทราบว่าสิ่งปลูกสร้างของจำเลยรุกล้ำที่ดินพิพาทหรือไม่ ทราบว่ามีการรุกล้ำเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดทำรูปจำลองเสร็จแล้ว จำเลยทั้งสองเบิกความว่าครอบครองที่พิพาทมานานแล้ว เห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ไม่มีแนวเขตที่แน่นอน จำเลยทั้งสองโต้เถียงตลอดมาว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่า ขณะที่จำเลยทั้งสองเข้าไปก่อสร้างห้องแถวบ้านพักชั่วคราว ปักหลักกั้นรั้ว และก่อสร้างรั้วคอนกรีตในที่ดินพิพาทตามที่โจทก์ฟ้องนั้น จำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้รู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ขณะเข้าไปปลูกสร้างดังวินิจฉัยข้างต้น จำเลยทั้งสองจึงไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสาม บัญญัติว่า จะถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้ ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการกระทำโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรก และวรรคสอง ไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2264/2538  จำเลยทั้งสองเข้าไปปักเสาขึงลวดหนามและจำเลยที่ 2 ปลูกต้นผลไม้ในที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์จำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิกันและต่างฟ้องคดีแพ่งอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองโดยเข้าใจว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองจึงไม่มีเจตนาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362




วิธีการแบ่งทรัพย์มรดก


          มาตรา  1750 "การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท
          ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญา จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำมาตรา 850, 852 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม"

          การแบ่งทรัพย์มรดก ทำได้ดังนี้
          1. โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือ
          2. โดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท หรือ
          3. โดยการทำสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก ซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ

          1. โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด กล่าวคือ ทายาทอาจตกลงเข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนๆได้ เช่น ที่ดินแปลงหนึ่ง ทายาทคนหนึ่งได้ส่วนทางทิศเหนือ อีกคนได้ส่วนตรงกลาง อีกคนได้ส่วนทางทิศใต้ เป็นต้น 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2493  ทายาทได้แบ่งปันมรดกกันเป็นส่วนสัดและเข้าครอบครองเป็นกิจปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ภายหลังจะเถียงว่าการแบ่งใช้ไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ.มาตรา 1750 วรรคหลัง ย่อมไม่ได้ เพราะการแบ่งได้กระทำถูกต้องตามมาตรา 1750 วรรคแรกแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6441/2561  เจ้ามรดกทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง โดยเจ้ามรดกคนที่ 1 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เจ้ามรดกคนที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่เศษ และเจ้ามรดกทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเนื้อที่ 25 ไร่เศษ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก จากนั้นได้โอนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวบ่งชี้ว่าที่ดิน 3 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองที่จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 จัดการโอนที่ดินมรดกของเจ้ามรดกคนที่ 2 แปลงเนื้อที่ 1 ไร่เศษ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 หลังจากนั้นโจทก์ที่ 3 นำที่ดินไปจำนองไว้แก่ ป. แล้วโอนที่ดินดังกล่าวตีใช้หนี้ ป. เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องไปซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวกลับคืนมาจาก ป. แล้วใส่ชื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้จัดการมรดกโดยพลการและอยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 มาตลอด อีกทั้งโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 กับมารดาของโจทก์ที่ 2 มีเหตุขัดแย้งกับเจ้ามรดกคนที่ 2 จึงไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินและไม่ไปงานศพของเจ้ามรดกคนที่ 2 มูลเหตุแห่งการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 สืบเนื่องมาจาก ก. บุตรของโจทก์ที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โจทก์ที่ 1 กับ ส. บุตรสาวของโจทก์ที่ 1 จึงมาขอร้องให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปประกันตัว ก. จำเลยที่ 1 ตกลงและขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปบางส่วนเนื้อที่ 20 ไร่ แล้วมอบหมายให้ ม. ภริยาของจำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายไปประกันตัว อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ที่ 1 รับรู้และเห็นชอบในการขายที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 มาแต่ต้น เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทบางส่วนมาจากจำเลยที่ 1 แล้วเข้าทำนาในที่ดินพิพาทแทนที่โจทก์ที่ 1 กับครอบครัว โจทก์ที่ 1 ก็หลีกทางให้เข้ายึดถือทำประโยชน์โดยไม่มีข้อทักท้วงโต้แย้งใด ๆ เท่ากับเป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจจัดการที่ดินพิพาทได้เพียงผู้เดียว สอดคล้องกับการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยการให้จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เอง จึงมิใช่การมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่น 
          หลังจากเจ้ามรดกคนที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลเจ้ามรดกคนที่ 2 ซึ่งมีอาการป่วยเจ็บหนักและต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนนานหลายวันต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมาก สอดคล้องกับยอดเงินในบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกคนที่ 2 ที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยก่อนถึงแก่ความตาย และยังสอดคล้องกับการที่จำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกไปชำระหนี้จำนองให้แก่ อ. และ ป. นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้อนุญาตให้ ส. บุตรของโจทก์ที่ 1 ทยอยไปขอเบิกเงินที่ได้จากการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จากจำเลยที่ 2 หลายครั้ง อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาทแล้วนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเพียงฝ่ายเดียว แต่นำไปใช้เพื่ออุดหนุนจุนเจือโจทก์ที่ 3 และที่ 4 รวมทั้ง ก. และ ส. ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวของโจทก์ที่ 1 มาโดยตลอด ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองที่โจทก์ทั้งสี่ยินยอมให้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องแบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ทั้งมีอำนาจในการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โดยชอบ โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่อาจบังคับให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2560  ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท แสดงว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท ได้ความว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกพยายามแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงให้แก่ทายาท แต่ตกลงกันไม่ได้ว่าทายาทคนใดจะได้รับที่ดินแปลงใด จึงแจ้งให้ทายาทไปรับมรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงตามสัดส่วน โดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับตามพินัยกรรม แสดงว่าผู้ร้องยังสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงโดยการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาทอื่นเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนโดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนตามสิทธิที่แต่ละคนจะได้รับได้ โดยอาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาททุกคนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทรัพย์มรดก หากผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 หรือทายาทอื่นไม่ไป ให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาได้ กรณีจึงยังไม่เป็นเหตุให้ต้องขายทอดตลาดที่ดินทั้งเจ็ดแปลงเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6429/2558  ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ ต. ฝ่ายโจทก์ทั้งสองตกลงให้ตั้งจำเลยที่ 1 และฝ่ายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงให้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ต. ข้อตกลงดังกล่าวเพื่อให้มีตัวแทนของแต่ละฝ่ายเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ส่วนของตนในกองมรดกของ ต. เมื่อก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเดิมจำเลยที่ 2 บ. สามีโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 นำที่ดินและอาคารดังกล่าวออกให้เช่า เมื่อใกล้ครบสัญญาเช่า ผู้เช่าทำหนังสือถึงโจทก์ที่ 2 ขอทำสัญญาเช่าต่อพร้อมขออนุญาตปรับปรุงอาคารที่เช่า โจทก์ที่ 2 จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้ตกลงกับผู้เช่าเอง ต่อมาจำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้ให้เช่าแทนโจทก์ที่ 2 อีก 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 ปี ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้เก็บค่าเช่าเองโดยโจทก์ที่ 2 ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินพิพาทแทนฉบับเดิมที่สูญหาย ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าเดิม บ. เป็นผู้เก็บโฉนดดังกล่าวไว้ แต่ขณะออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่ บ. ถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น หากโจทก์ที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. โอนที่ดินพิพาทพร้อมมอบโฉนดที่ดินให้ไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่สามารถดำเนินการเองโดยลำพัง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ทั้งสองในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ยินยอมแบ่งที่ดินพร้อมอาคารพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ต. ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. 1750 วรรคหนึ่ง โดยการนำออกให้เช่าและเก็บค่าเช่ามาโดยตลอด โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกให้นำที่ดินและอาคารพิพาทมาแบ่งแก่โจทก์ทั้งสองได้อีก
          คำพิพากษาในส่วนเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องการครอบครองเป็นส่วนสัด แต่เป็นอำนาจและหน้าที่ของศาลในการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายอันเป็นการปรับบทกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8371/2557  การแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงต้องได้ความชัดแจ้งแล้วว่าทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนแบ่งนั้นอย่างเป็นส่วนสัดชัดเจนว่าทายาทคนใดเข้าครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนั้นในส่วนใด มีอาณาเขตและเนื้อที่ดินเข้าครอบครองแบ่งแยกกันจนชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้ เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบไม่ได้ความ เช่นนั้นที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของ พ. และกรณีต้องถือว่าการที่ ต. และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของ พ. ทุกคน กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ พ. เพราะเข้าสืบสิทธิในมรดกส่วนของ ต. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม ดังนั้น คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3399/2552  การแบ่งปันทรัพย์มรดก นอกจากไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือแล้ว ที่ดินพิพาทที่มีเพียงใบไต่สวน ผู้เป็นเจ้าของจึงมีเพียงสิทธิครอบครอง ดังนั้น การแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงกระทำได้โดยการส่งมอบการครอบครองเท่านั้น เมื่อที่ดินพิพาทมีการตกลงแบ่งปันกันระหว่างทายาทเป็นส่วนสัด อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่งแล้ว ว. ทายาทซึ่งเป็นมารดาโจทก์ครอบครองที่ดินส่วนพิพาทตอนกลางเพื่อตนเองตลอดมาและมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8042/2551  เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ทายาทของ ส. ตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ส. ว่าบุคคลใดได้รับยกให้ที่ดินแปลงใดก่อน ส. ถึงแก่ความตายและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นก็ให้ตกเป็นของบุคคลนั้น จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ ส. ถึงแก่ความตายแต่ผู้เดียว กรณีจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยทายาทก่อนเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วอีกไม่ได้ แม้ภายหลังจำเลยไปยื่นขอจัดการมรดกของ ส.ก็ไม่ทำให้ที่ดินพิพาทกลับกลายเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท เพราะจำเลยประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น มิใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทแล้ว

          2. โดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท กรณีนี้ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อทายาทตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะได้ทรัพย์สินอะไรส่วนไหน หรือกรณีทรัพย์มรดกไม่เปิดช่องให้แบ่งกันได้โดยวิธีแรก และทายาทไม่ต้องการถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ก็ต้องขายแล้วเอาเงินมาแบ่งกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2545   การที่โจทก์ที่ 1 และทายาทอื่นของเจ้ามรดกขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของเจ้ามรดกส่วนของตนที่ได้รับนั้น เป็นการแสดงเจตนาขายสิทธิในทรัพย์มรดกส่วนของทายาทแต่ละคนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของเจ้ามรดก และมีการโอนทางทะเบียนเป็นชื่อของจำเลยแล้ว ย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย เนื่องจากทายาทแต่ละคนมีอำนาจขายทรัพย์มรดกส่วนของตนได้ตามป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 1745 ทั้งเป็นกรณีที่ถือได้ว่า โจทก์ที่ 1 จำเลย และทายาทอื่นตกลงแบ่งทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1760 วรรคหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด

          3. โดยการทำสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก ซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ คือกรณีที่ตกลงกันได้ว่าใครจะได้ทรัพย์สินอะไร เพียงใด คือ เพียงตกลงกันแต่ไม่มีการเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด จึงต้องมีการทำสัญญากันไว้โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ เพื่อป้องกันการบิดพริ้วไม่ปฏิบัติตามสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 80/2497  บุตรภริยาเจ้ามรดกทำสัญญาประนีประนอมให้แบ่งทรัพย์ไปตามพินัยกรรม (พินัยกรรมจะเป็นโมฆะหรือไม่ก็ดี) ส่วนทรัพย์นอกพินัยกรรมให้เป็นของภริยาเจ้ามรดกฝ่ายเดียวสัญญานี้บังคับได้ทุกข้อตลอดจนข้อที่ตกลงกันถึงทรัพย์นอกพินัยกรรมด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 475/2511 (ประชุมใหญ่)  ถ้าคนต่างด้าวผู้รับพินัยกรรมมีสิทธิหรือมีทางที่จะขออนุญาตถือที่ดินได้ พินัยกรรมก็ไม่เป็นโมฆะ
          โจทก์จำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก และได้ทำสัญญาประนีประนอมกันว่าจำเลยจะโอนที่ดินให้โจทก์ตามส่วนในพินัยกรรมเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับผิด จึงบังคับตามสัญญาได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 ส่วนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าวก็ให้ไปจัดการตามประมวลกฎหมายที่ดินก่อน (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2511)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 161/2524  สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสองใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา แม้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกบางคนจะมิได้ร่วมลงลายมือชื่อด้วยก็หาทำให้สัญญาดังกล่าวเสียไปไม่ คงมีผลเพียงไม่ผูกพันทายาทผู้มิได้ลงลายมือชื่อให้จำต้องถือตามเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1072/2527  สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์เข้าทำสัญญาดังกล่าวเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนในอันที่จะคุ้มครองผู้เยาว์ แม้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ 
          โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกมรดกจากผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายด้วย การแบ่งทรัพย์มรดกต้องแบ่งกันตามส่วนที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับ เมื่อปรากฏว่าทายาทผู้มีสิทธิได้รับที่ดินพิพาทตามพินัยกรรม มี 5 คนโจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเพียงคนละ 1 ใน 5 ส่วน 
          (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1602/2519)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1926/2537  โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยข้อความว่า "วันที่ 14 มีนาคม ถึงกิมเช็งทราบเรื่องเงินเหลือจากจ่ายธนาคาร 1 ล้านบาท เอาทำบุญให้แม่เขา 1 แสนบาทกิมห้องให้ไป 1 แสนห้าหมื่น เฮียเอา 5 หมื่น เหลือนอกนั้นให้แป๊ว, ณีไป เพราะเฮียต้องเอามารักษาตัว ถ้าเฮียไม่เป็นอะไรก็จะไม่เอา เวลานี้ก็มีบ้านอยู่กันไม่เดือดร้อนอะไรแล้ว ถนอม" เอกสารนี้มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง เป็นแต่หนังสือที่โจทก์มีถึงจำเลยขอเงินส่วนแบ่งมรดกไปรักษาตัวจำนวน 50,000 บาท อันเป็นหนังสือที่โจทก์แสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียวไม่เข้าลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 จึงไม่มีผลผูกพัน โจทก์ยังคงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งมรดกตามสิทธิของโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4921/2552  การสละมรดกมี ป.พ.พ. มาตรา 1612 บัญญัติให้กระทำได้ 2 แบบคือ แสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ คำว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 หมายถึง ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอหรือหัวหน้ากิ่งอำเภอและหมายรวมถึงบุคคลที่กระทำหน้าที่แทนด้วย ดังนั้น การที่บุตรทั้งเจ็ดของเจ้ามรดกไปให้ถ้อยคำและทำบันทึกหลักฐานเป็นหนังสือระบุชัดแจ้งว่าไม่ขอรับโอนมรดกที่ดินไว้ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำสำนักงานที่ดินอำเภอสวี ในฐานะเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินปฏิบัติราชการแทนนายอำเภอ ซึ่งนายอำเภอมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 (10) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นที่จะมอบอำนาจให้หัวหน้าส่วนราชการที่ประจำอยู่ในอำเภอปฏิบัติราชการแทนได้ จึงเป็นการแสดงเจตนาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว แต่การที่บุตรทั้งเจ็ดระบุว่า ไม่ประสงค์ขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้และยินยอมให้จำเลยรับมรดกแปลงนี้แต่ผู้เดียว ไม่ใช่การสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 เพราะเป็นการสละมรดกโดยมีเงื่อนไข ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1613 อย่างไรก็ตามบันทึกดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลใช้บังคับผูกพันบุตรทั้งเจ็ดกับจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850, 852 และ 1750
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8445/2558  แม้ พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 และมาตรา 12 กำหนดให้ทางราชการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมที่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งสมาชิกสามารถนำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่ภายในห้าปีนับแต่วันได้รับโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐซึ่งราษฎรสามารถมีสิทธิครอบครองได้ และไม่มีกฎหมายห้ามโอนสิทธิครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกัน เพียงแต่ราษฎรไม่สามารถยกการครอบครองขึ้นอ้างต่อรัฐได้เท่านั้น เมื่อราษฎรสามารถอ้างสิทธิครอบครองยันกันระหว่างราษฎรด้วยกันได้ และสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง
          หลักจาก ข. ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของสหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด และได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน (กสน.5) ถึงแก่ความตาย ทายาทของ ข. ตกลงให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ใน กสน.5 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดจึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการแทนทายาทอื่น บันทึกข้อตกลงให้ความยินยอมในการแบ่งแยกโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ 1 และบรรดาทายาทของ ข. ตกลงทำขึ้นเพื่อแบ่งแยกที่ดินพิพาทกัน จึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาท ไม่ถือว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายหรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ย่อมไม่มีผลเป็นโมฆะและสามารถบังคับกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15721/2558  ตามบันทึกถ้อยคำไม่รับมรดกที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินมีใจความสำคัญว่า ที่ดินพิพาทที่มีชื่อ ว. เจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อ. สามีของ ว. ได้มายื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ของ ว. ซึ่งโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ทายาทของ ว. ไม่ประสงค์จะขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ และยินยอมให้ อ. เป็นผู้ขอรับมรดกแต่เพียงผู้เดียว ต่อมา อ. จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง ดังนี้ ไม่ใช่การสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612, 1613 เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด แต่บันทึกถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความมีผลบังคับได้ตามมาตรา 850, 852 และ 1750 วรรคสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ว. จึงไม่มีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสอง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3886/2566  การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นหนังสือและต่างได้ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 กรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันต่อกันและได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในบันทึกที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงกันนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิอันพึงมีพึงได้แก่โจทก์ทั้งสามตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย ดังนั้น โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องร้องให้บังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย แต่การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้ใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด” ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำคำพิพากษาของศาลไปให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาได้ และการเพิกถอนดังกล่าวมิใช่หนี้ที่เป็นการทำนิติกรรมที่ศาลจะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง
          จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ให้แก่ตนเองแล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 แต่เพียงผู้เดียว จากนั้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองไว้แก่สหกรณ์การเกษตร ป. เป็นการกระทำภายหลังวันที่ 6 สิงหาคม 2560 ที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายกัน โดยที่บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 ในส่วนของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 นั้น เฉพาะแต่จำเลยทั้งสองเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองย่อมสามารถกระทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตายที่ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมนั้นหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 และมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 ยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนที่ตนจะได้โดยรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่นที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กลับสู่กองมรดกของผู้ตายและบังคับให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองได้
          ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ. 17 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ให้แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 2 และยังไม่มีการแบ่งปันให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายและจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงเพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก แม้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ได้ในฐานะทายาทของจำเลยที่ 1 แต่ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนแบ่งปันที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 แทนจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ได้ เพราะกรณีเช่นนี้เป็นสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 คงพิพากษาได้แต่เพียงแสดงกรรมสิทธิ์ว่าโจทก์ที่ 3 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 จำนวน 1 ใน 2 ส่วน เมื่อที่ดินพิพาทดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันมรดกของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิแบ่งส่วนเอาจากที่ดินพิพาทดังกล่าวได้

          แต่ถ้าข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดก ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ไม่มีผลใช้บังคับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2562  จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โดยมีบุตรด้วยกัน 7 คน รวมทั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่โจทก์ได้รับเงิน 6,000,000 บาท จากผู้ตายโดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ต้องเสื่อมเสียไปไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1747 และแม้จะมีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้ทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิอาจบังคับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามสัดส่วน




เจ้าหนี้กองมรดกใช้สิทธิเรียกร้องให้ทายาทชำระหนี้ได้ (ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกแก่ทายาท)

          เมื่อลูกหนี้ตาย กฎหมายคุ้มครองเจ้าหนี้เพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากกองมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1734, 1737, 1753 กองมรดกที่มีหนี้สินก่อนจะนำมาแบ่งแก่ทายาทก็ต้องนำไปชำระหนี้ก่อน หากหนี้สินมีมากกว่าทรัพย์มรดก ทายาทก็อาจจะไม่ได้รับมรดกเลย อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ภายในอายุความมรดกด้วย มิฉะนั้น ทายาทก็อาจยกเรื่องอายุความมรดกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้

          สิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก

          1. เจ้าหนี้กองมรดกมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองมรดกโดยสิ้นเชิง ตามมาตรา 194 ประกอบ มาตรา 1734 และ 1738 วรรคหนึ่ง

          2. เจ้าหนี้มีสิทธิคัดค้านการขายทอดตลาดและตีราคาทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1740 วรรคสอง

          3. เจ้าหนี้มีสิทธิรับประโยชน์จากสัญญาประกันชีวิตของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1742

          4. เจ้าหนี้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม ตามมาตรา 1683

          5. เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทายาทคนใดก็ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะไม่อยู่กับทายาทที่ถูกฟ้องก็ตาม แต่ทั้งนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทายาทได้ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกแก่ทายาท ตามมาตรา 1601, 1738 วรรคสอง



          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11631/2557   การที่เจ้าหนี้กองมรดกจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ก่อนหรือหลังจากแบ่งปันทรัพย์มรดกแล้วก็ย่อมจะสามารถทำได้ทั้งสิ้น แต่เมื่อแบ่งมรดกแล้ว เจ้าหนี้อาจเรียกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนใดซึ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดกเกินกว่าส่วนที่ตนจะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ ทายาทคนนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยทายาทคนอื่นได้ตามมาตรา 1738 วรรคสอง ดังนั้น การที่ธนาคาร ท. ธนาคาร ก. หรือเจ้าหนี้กองมรดกรายใดจะเรียกร้องให้ชำระหนี้เอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกได้รับแบ่งมรดกไว้หรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดกที่เรียกร้องแก่จำเลยทั้งหกคนใดหรือทั้งหมดก็ได้ แต่ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ทายาทที่ได้รับแบ่งมรดกไปจะอ้างว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้กองมรดกไม่ได้เท่านั้นและยังคงมีความรับผิดต่อเจ้าหนี้กองมรดกเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไปตามมาตรา 1601 และ 1738 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดกรายใดไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกหรือทายาทอื่นได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกดังกล่าวไปตามมาตรา 1738 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3996/2540   เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมขอให้บังคับคดีเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของจำเลยได้โดยไม่ต้องรอให้มีผู้จัดการมรดกหรือแบ่งมรดกระหว่างทายาทของจำเลยก่อน ดังนั้น การที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลย แม้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะคัดค้านและขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลย และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลก็ตาม กรณีก็หาใช่เหตุสมควรที่ศาลจะสั่งงดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 292 (2) ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2535  ป. กู้เงินไปจากโจทก์ เมื่อ ป. ตาย โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ป. ให้ชำระหนี้เงินกู้ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1737 โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยได้รับมรดกของ ป. หรือไม่เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีตาม มาตรา 1601, 1738 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 792/2506  (ประชุมใหญ่)  ในกรณีที่ได้แบ่งมรดกแล้ว เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องให้ทายาทคนใดชำระหนี้ เจ้าหนี้นั้นก็มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นรับไป หาได้ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกจากทายาทคนอื่นที่มิได้ถูกฟ้องด้วยไม่.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6225/2539   ป. เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ เมื่อ ป. ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือเพื่อชำระหนี้แทน ป. ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้โจทก์ โดยระบุว่า ขณะทำสัญญาฉบับนี้ ป.ยังคงเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเงิน 2,720,000 บาท จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวโดยจะชำระเป็นงวด เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ป. ทำขึ้นเพื่อยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดก มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้มูลหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับ ป. ระงับลงเพราะ ป. ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือดังกล่าวแล้วและข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทผู้ตาย มิใช่รับผิดเป็นส่วนตัวและเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่คงรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองจะได้รับ

          6. เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งก่อตั้งมูลนิธิ หากทรัพย์สินที่เหลือจากการก่อตั้งมูลนิธิไม่มีหรือไม่มีพอชำระหนี้ ตามมาตรา 1680 วรรคสอง