06 มีนาคม 2567

การแสดงเจตนาลวงเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้


          ป.พ.พ. มาตรา  155 วรรคหนึ่ง "การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้"

          การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ตามมาตรา 155 เป็นเรื่องที่ผู้แสดงเจตนาได้แสดงเจตนาออกมาโดยสมคบกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับการแสดงเจตนาว่า เจตนาทำนิติกรรมกันไว้หลอกๆ โดยไม่เจตนาผูกพันตามนิติกรรมนั้น เป็นการทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดว่าคู่กรณีทั้ง 2 คนได้ทำนิติกรรมกันจริง

          ผลที่เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในแง่ของคู่กรณีนั้น นิติกรรมที่ทำเป็นโมฆะ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863-864/2496  สามีภริยาไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภอ แต่ความจริงนั้นทั้งสองฝ่ายมิได้มีเจตนาจะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันเลย ที่ทำไปก็เพื่อจะลวงผู้อื่นเกี่ยวกับทรัพย์สินของสามีภริยานั่นเอง แล้วภริยาทำนิติกรรมขายที่ดินบ้านเรือนอันเป็นสินเดิมให้สามีเพื่อกีดกันบุตรของภริยาอันเกิดแก่สามีคนเก่า แต่ความจริงมิได้ขายกัน ดังนี้ นิติกรรมซื้อขายย่อมเป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 249/2497  รถยนต์ของจำเลยชนกับรถยนต์ของผู้อื่นเสียหาย เขาได้มีหนังสือมาขอให้ใช้ค่าเสียหายแก่เขา จำเลยไปติดต่อแล้ว แต่ว่าจะปรึกษากันดูก่อน ครั้นแล้วกลับเอาที่ดินของจำเลยไปขายให้แก่พี่ชาย เพื่อป้องกันมิให้ถูกยึดทรัพย์ถ้าแพ้คดีแก่เขา ซึ่งพี่ชายผู้รับซื้อก็ทราบดี ดังนี้ เมื่อเขาชนะคดีในเรื่องเรียกค่าเสียหายเพราะรถยนต์จำเลยชนรถยนต์ของเขาแล้ว เขามีสิทธิขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับพี่ชายเสียได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1016/2513  จำเลยทำหนังสือจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้  ส. โดยมิได้ตั้งใจยกให้โดยเสน่หา แต่กระทำไปเพื่อ ส. จะได้นำไปจำนองไว้กับสหกรณ์ แล้วเอาเงินมาให้จำเลยใช้สอย นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ เป็นผลให้ที่ดินพิพาทไม่เคยตกทอดเป็นของ ส. แต่ยังคงเป็นของจำเลยตลอดมา ฉะนั้น เมื่อ ส. ตายไปเสียก่อนที่จะนำที่ดินพิพาทไปจำนองสหกรณ์ ที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่มรดก ส. ทายาท ส. ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2547  จำเลยทั้งสองสมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แท้จริง การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 ก็ได้ โจทก์ทั้งสองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อใดก็ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองมิใช่การฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240

          ถึงแม้การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้น มีผลให้นิติกรรมที่ทำเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้ เนื่องจากบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องโดยไม่รู้เรื่องด้วย กฎหมายจึงบัญญัติไว้เพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริตไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2562  โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินพิพาทเพื่อไปกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงถือสิทธิครอบครองที่ดินแทนโจทก์ กับทำหนังสือมอบอำนาจให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายคืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะซื้อขายที่ดินกันจริง แต่เพื่อนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่จำเลยที่ 2 และโจทก์เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้านรับว่า เงินที่ได้จากการจำนอง 4,500,000 บาท โจทก์นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายธนาคาร ก. จำนวน 3,000,000 บาท ชำระค่าที่ดินที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซื้อจาก พ. โดยมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ในใบคำขอซื้อเช็ค ตรงกับบันทึกท้ายหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 เขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์ มีข้อความว่า "นำเงินที่ได้จากการจำนองที่ดิน 3,000,000 บาท ไปชำระค่าซื้อที่ดิน เนื้อที่ 58 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ที่ลงทุนร่วมกัน" และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงเขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจาก พ. และ ด. โดยโจทก์เป็นผู้ชำระเงินให้แก่ผู้จะขาย 2,750,000 บาท และชำระด้วยแคชเชียร์เช็คให้แก่ธนาคาร ก. จำนวนเงิน 3,000,000 บาท สนับสนุนให้เห็นว่าการจำนองที่ดินพิพาทนั้นเป็นความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการเงินไปชำระค่าที่ดินที่ซื้อร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองธนาคาร ส. สาขาแหลมฉบัง จำนวนเงิน 4,500,000 บาท ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเพื่อให้โจทก์นำเช็คไปชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 ดังนี้ โจทก์ย่อมทราบดีว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำนอง โจทก์อาจนำหนังสือมอบอำนาจและเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ได้เอง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ยอมรับว่าประสงค์จะชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดแจ้งว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันโจทก์เสมือนหนึ่งว่าโจทก์เป็นผู้จำนองเอง การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อที่โจทก์ไม่ต้องชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 นั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

          บุคคลภายนอกผู้สุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้ว่าบุคคลภายนอกจะไม่ได้เสียค่าตอบแทนก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2369/2529  ผู้ร้องอ้างว่าได้ทำนิติกรรมยกทรัพย์พิพาทของตนให้จำเลยที่ 1 โดยมิได้มีเจตนายกให้จริงๆ แต่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์ดังกล่าวไปขายให้จำเลยที่ 3 แล้วต่อมาโจทก์ได้รับจำนองทรัพย์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 ข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่านี้จะยกขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 3 หรือโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายแต่การแสดงเจตนาลวงนั้นหาได้ไม่ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าตนครอบครองที่ดินทรัพย์พิพาทตลอดมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีก็ตาม แต่เมื่อทำหนังสือแบ่งให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 1 โดยมีการจดทะเบียนที่ดิน กรณีต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1373 เมื่อนับตั้งแต่วันที่ผู้ร้องทำหนังสือแบ่งให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ถึงวันที่ยื่นคำร้องยังไม่ถึง 10 ปี ผู้ร้องจะอ้างว่าตนได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 หาไม่ได้.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1156/2545  ขณะที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับขายฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่านิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างโจทก์เจ้าของที่ดินกับจำเลยที่ 1 เป็นเจตนาลวง อีกทั้งจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากไว้ในราคาที่สูงกว่าราคาประเมินมาก ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น โจทก์ไม่อาจยกข้อต่อสู้เรื่องการแสดงเจตนาลวงดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมขายฝากได้ เมื่อการขายฝากมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอน จำเลยที่ 2 โอนให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ขายต่อให้จำเลยที่ 4 ดังนี้ นิติกรรมการให้และการซื้อขายก็ไม่อาจเพิกถอนได้เช่นเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 648/2513 (ประชุมใหญ่)  จำเลยสมยอมกันทำสัญญากู้และสมยอมกันทำยอมความในศาล เป็นผลให้เกิดการโอนทรัพย์สินของจำเลยคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งให้พ้นจากการถูกบังคับชำระหนี้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับเอาทรัพย์สินของจำเลยมาชำระหนี้ได้ เป็นการจงใจทำโดยผิดกฎหมายอันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โจทก์ย่อมเสียหาย ทางทรัพย์สินแล้ว การกระทำผิดกฎหมายดังนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้ผิดคือได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์
          คำพิพากษาที่พิพากษาตามที่จำเลยยอมความกันนั้น เป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสอง ย่อมไม่ผูกพันโจทก์ การทำการสมยอมกันนิติกรรมระหว่างจำเลยย่อมเป็นโมฆะ โจทก์ไม่จำเป็นต้องฟ้องขอให้เพิกถอน

          แต่ถ้าบุคคลภายนอกกระทำการโดยไม่สุจริต ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1704-1705/2515  จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินของโจทก์เพื่อนำไปจำนองเป็นประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้จากธนาคาร โจทก์จึงแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ส่วนหนึ่งแล้วใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ โดยตกลงกันว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ธนาคารหมดแล้วจะคืนที่ดินให้โจทก์เป็นการแสดงเจตนาลวง ที่ดินยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ จำเลยตกอยู่ในความผูกพันที่จะต้องโอนที่ดินคืนให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเอาที่ดินไปขายให้ผู้อื่น
          จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยทราบถึงการแสดงเจตนาลวงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1096/2533  โจทก์โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยแสดงเจตนาลวงด้วย สมรู้กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนและโอนให้หลังจากที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทคืนให้แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบเรื่องนี้ดี แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่สุจริต โจทก์จึงยกขึ้นมาต่อสู้จำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (เดิม) ดังนี้โจทก์ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท        
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5686/2561  การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 กรณีต้องเป็นเรื่องที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของทรัพย์มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้น อันเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์
          เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ส. ผู้ขาย กับจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ เกิดจากเจตนาลวงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่ใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 แม้ขณะที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 1061/2556 ศาลฎีกายังไม่ได้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่าง ส. กับจำเลยก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริต จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ   


ทรัพย์มรดกของพระภิกษุที่มรณภาพ

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 1623  "ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม"
          มาตรา 1624  "ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้"

          เมื่อพระภิกษุมรณภาพลง ทรัพย์สินของพระภิกษุจะตกได้แก่บุคคลใดบ้าง แยกเป็น 2 กรณี คือ

          กรณีแรก ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนอุปสมบท ตามมาตรา 1624 หมายความถึง ทรัพย์สินที่บุคคลได้มาก่อนบวชเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนี้แม้ต่อมาบุคคลนั้นจะบวชเป็นพระภิกษุแล้วและต่อมาได้มรณภาพลงในขณะที่ยังเป็นพระภิกษุอยู่ ทรัพย์สินนั้นก็ไม่ตกเป็นของวัด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 273 - 274/2475  ถ้าพระภิกษุได้รับที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกมาก่อนบวช แต่พึ่งมาโอนใส่ชื่อเมื่อบวชแล้ว ที่ดินนั้นไม่เป็นของวัด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 903/2536  แม้พระภิกษุ ช.จะได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินที่เช่าซื้อมาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศก็ตาม แต่พระภิกษุ ช.ได้เช่าซื้อและชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนแล้วก่อนที่จะมาบวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งหากผู้ให้เช่าซื้อไม่จดทะเบียนโอนที่ดินให้ พระภิกษุ ช.ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ให้เช่าซื้อโอนที่ดินได้อันเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่พระภิกษุ ช. มีก่อนที่จะมาบวชเป็นพระภิกษุ จึงต้องถือว่าพระภิกษุ ช.ได้ที่ดินมาแล้วก่อนที่จะบวชเป็นพระภิกษุ การจดทะเบียนการได้มาในภายหลังเป็นแต่เพียงทำให้การได้มาบริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคแรก เท่านั้น ฉะนั้น เมื่อที่ดินมิใช่ทรัพย์สินที่พระภิกษุ ช.ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงไม่ตกเป็นสมบัติของวัด ตามมาตรา 1623 หากแต่เป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่บรรดาทายาทของพระภิกษุ ช.

          กรณีที่สอง ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดที่พระภิกษุได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศไม่ว่าทางใด และจะได้มาเนื่องจากการเป็นสมณเพศหรือไม่ก็ตาม ต้องอยู่ในบังคับมาตรา 1623 คือ ทรัพย์สินนั้นต้องตกเป็นของวัด ยกเว้นพระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยการทำพินัยกรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2495  พระภิกษุถึงมรณภาพในขณะที่เป็นพระภิกษุอยู่ โดยมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ใคร มรดกของพระภิกษุนั้นย่อมตกได้แก่วัดที่พระภิกษุนั้นอยู่ แม้ทายาทจะครอบครองที่ดินมรดกของพระภิกษุนั้นเกิน 10 ปีนับแต่วันมรณภาพทายาทนั้นก็จะเอาที่ดินมรดกนั้นไม่ได้ เพราะที่ดินมรดกนั้นเป็นของวัด จะใช้อายุความ 10 ปียันวัดให้เสียสิทธิหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2532  บิดามารดายกที่นาให้แก่พระภิกษุ ข. ภายหลังที่พระภิกษุ ข. บวชเป็นพระภิกษุ การที่พระภิกษุ ข. ขายที่นาแปลงดังกล่าวและนำเงินที่ขายได้ไปฝากธนาคาร เงินที่นำไปฝากธนาคารรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ เมื่อพระภิกษุ ข. ถึงแก่มรณภาพ เงินฝากดังกล่าวย่อมตกเป็นของวัดโจทก์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ ข.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1807/2536  เมื่อเจ้ามรดกเป็นพระภิกษุถึงแก่มรณภาพโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้เงินของเจ้ามรดกที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศจึงตกเป็นสมบัติของผู้คัดค้านซึ่งเป็นวัดที่เป็นภูมิลำเนาของเจ้ามรดก แม้ผู้ร้องที่ 2 จะเป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้วและเป็นทายาทโดยธรรมก็หามีสิทธิในเงินดังกล่าวไม่ จึงไม่ใช่ทายาทสำหรับเงินจำนวนนี้ และมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมาร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2538  พินัยกรรมของพระภิกษุ ส.ผู้มรณะ ระบุไว้ว่า บรรดาเงินที่ข้าพเจ้ามีอยู่ในขณะนี้และที่จะมีขึ้นหรือได้มาในอนาคตซึ่งได้ฝากไว้ที่ธนาคาร ก. ข. และ ค.เงินทั้งนี้ข้าพเจ้าขอยกให้แก่จำเลยศิษย์ของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว แต่ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏสมุดฝากเงินบัญชีเลขที่ 5106 และ 5459 ที่พิพาทซึ่งเป็นเงินส่วนตัวของพระภิกษุ ส. ผู้มรณะ และพินัยกรรมฉบับนี้ทำขึ้นก่อนที่ผู้มรณะจะมีเงินตามบัญชีพิพาททั้งสองบัญชีนั้นข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับถึงเงินในบัญชีพิพาททั้งสองบัญชีนี้ จดหมายของพระภิกษุ ส.ผู้มรณะฉบับแรกเป็นจดหมายธรรมดาที่ผู้มรณะเขียนถึงจำเลย ตอนท้ายของจดหมายมีข้อความเพิ่มเติมให้จำเลยไปลงชื่อในสมุดฝากเงินที่ผู้มรณะฝากไว้ไม่มีการสั่งการกำหนดการเผื่อตายที่จะเข้าแบบเป็นพินัยกรรมจึงไม่ใช่พินัยกรรม ส่วนจดหมายฉบับที่สองมีข้อความว่า ลูกหมอ (จำเลย) ที่รักเวลานี้พ่อหลวง (พระภิกษุ ส.)ป่วยจะตายวันนี้หรือพรุ่งนี้ยังรู้ไม่ได้เลย พ่อหลวงเป็นห่วงเรื่องเงินที่ฝากธนาคารไว้ถ้าพ่อหลวงสิ้นลมหายใจลง โดยไม่มีหลักฐานอะไร เงินตกเป็นสงฆ์หมด พ่อหลวงไม่อยากให้เป็นของคนอื่น อยากให้เป็นของลูกหมอคนเดียว แต่ในสมุดเงินฝากต้องลงชื่อลูกหมดเบิกได้คนเดียว จึงจะเป็นหลักฐานมั่นคง สงกรานต์ปีนี้ ขอให้ลูกหมอไปลงชื่อในสมุดฝากให้จงได้ ถ้าไม่ไปจะเสียใจภายหลังฯลฯจดหมายของผู้มรณะฉบับที่สองนี้เป็นเรื่องที่ผู้มรณะแจ้งให้จำเลยไปลงตัวอย่างลายมือชื่อเพื่อให้จำเลยมีสิทธิเบิกเงินจากสมุดเงินฝากเงินธนาคาร แม้ในตอนต้นของจดหมายได้มีข้อความว่า ผู้มรณะเป็นห่วงเรื่องเงินที่ฝากธนาคารไว้ผู้มรณะไม่อยากให้เป็นของคนอื่นก็ตาม แต่ผู้มรณะก็เพียงแต่เขียนแสดงความรู้สึกในในว่า อยากให้เป็นของจำเลยคนเดียวเท่านั้น การที่พระภิกษุ ส.ใช้วิธีให้จำเลยมาลงตัวอย่างลายมือชื่อเพื่อให้จำเลยมีสิทธิเบิกเงินจากสมุดฝากเงิน แสดงว่าผู้มรณะยังไม่ได้ยกเงินในบัญชีพิพาทให้แก่จำเลยในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และข้อความที่ผู้มรณะเขียนไว้เช่นนี้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นพินัยกรรมที่ผู้มรณะยกเงินในบัญชีพิพาทให้แก่จำเลย เมื่อผู้มรณะได้ถึงแก่มรณภาพขณะเป็นพระภิกษุเงินตามบัญชีพิพาททั้งสองบัญชีซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้มรณะที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงตกเป็นของวัดโจทก์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้มรณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2546  เอกสารนี้ผู้ตายเขียนขึ้นเองทั้งฉบับ มีการลงวัน เดือน ปี และลงลายมือชื่อผู้ตายไว้ครบถ้วนเป็นพินัยกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 วรรคหนึ่งแล้ว การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มเติมต่อไปว่า "และสมุดฝากในธนาคารต่างๆ ด้วย" แม้จะไม่ชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 วรรคสอง เพราะผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ก็ตาม ก็มีผลเพียงว่าไม่มีเพิ่มเติมข้อความที่ว่า "และสมุดฝากในธนาคารต่างๆ ด้วย" เท่านั้น ส่วนข้อความอื่นในพินัยกรรมยังคงมีผลสมบูรณ์ หามีผลทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์อยู่แล้วตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด
          เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์สินอันจะตกเป็นสมบัติแก่วัดผู้คัดค้านเพราะผู้ตายได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 1623 ผู้คัดค้านจึงไม่เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย อันจะยื่นคำร้องคัดค้านการร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ร้องได้



สิทธิในการรับมรดกของพระภิกษุในฐานะทายาท

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 1622  "พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 1754
          แต่พระภิกษุนั้น อาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้"

          1. พระภิกษุในฐานะทายาทโดยธรรม

          คำว่าเรียกร้องตามมาตรา 1622 วรรคหนึ่ง หมายถึงการฟ้องคดีมรดก ดังนั้น การใช้สิทธิอย่างอื่นในฐานะทายาทโดยธรรมจึงไม่อยู่ในข้อห้าม เช่น ฟ้องเรียกเอาทรัพย์จากบุคคลภายนอกที่ยึดถือไว้โดยมิชอบ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นมรดก ภิกษุก็สามารถฟ้องได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2485  พระภิกษุได้รับมรดกที่ดินมาแล้วให้ผู้อื่นอาศัย ย่อมฟ้องขับไล่ผู้อาศัยในระหว่างเป็นภิกษุได้ กรณีไม่เข้า มาตรา 1622 ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทายาทฟ้องร้องเรียกมรดกของผู้ตายโจทก์ไม่จำเป็นต้องสึกจากสมนะเพสก็ฟ้องจำเลยได้

          มาตรา 1622 วรรคแรก ห้ามเฉพาะการฟ้องร้องเท่านั้น ดังนั้น พระภิกษุอาจพูดจาตกลงแบ่งมรดกกับทายาทอื่นๆได้ หรือถ้าแบ่งโดยทำสัญญากันไว้ พระภิกษุก็ย่อมเรียกร้องเอาตามสัญญาที่ทำกันไว้ได้ กรณีนี้หาใช่เรียกเอาในฐานะทายาทโดยธรรมไม่

          กรณีพระภิกษุถูกทายาทอื่นฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดก พระภิกษุย่อมยกข้อต่อสู้ได้ว่าตนมีสิทธิในทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม หาเป็นการต้องห้ามไม่ แต่อย่างไรก็ตาม พระภิกษุไม่สามารถฟ้องแย้งให้แบ่งทรัพย์มรดกแก่ตนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 341/2495  โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินและเรือนจากจำเลยโดยอ้างว่ามารดายกให้โจทก์แต่ผู้เดียว แต่ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นมรดกของผู้ตายตกได้แก่โจทก์และจำเลย ดังนี้ ศาลก็อาจพิพากษาให้โจทก์รับส่วนแบ่งไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ส่วนข้อที่ผู้มีส่วนควรได้มรดกอาจจะมีอยู่นั้นก็เป็นเรื่องของผู้นั้นจะต้องร้องขอเข้ามาเองหาใช่เป็นหน้าที่ของศาลไม่
          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้พระภิกษุเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมแต่ถ้าพระภิกษุถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้วศาลก็พิพากษาให้พระภิกษุได้รับส่วนแบ่งมรดกด้วย ก็ไม่เป็นการขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622

          อย่างไรก็ตาม หากพระภิกษุประสงค์จะฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมก็สามารถทำได้ โดยลาสิกขาออกมาฟ้องคดีภายในอายุความตามมาตรา 1754 แต่ถ้าพระภิกษุจะฟ้องเรียกทรัพย์อื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์มรดก เช่น การฟ้องเรียกร้องทรัพย์ในฐานะเจ้าของรวมนั้น พระภิกษุย่อมฟ้องร้องได้โดยไม่ต้องลาสิกขา เพราะไม่มีกฎหมายห้าม
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2535  เมื่อเจ้ามรดกตาย โจทก์และ ล.บุตรเจ้ามรดกซึ่งเป็นทายาทได้รับมรดกที่ดินพิพาทมาและร่วมกันครอบครองโดยมิได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทจึงมิใช่มรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไป แต่เป็นทรัพย์สินร่วมกันของโจทก์และ ล. มารดาของจำเลยทั้งห้าเมื่อ ล.ตายส่วนของ ล. ตกแก่จำเลยทั้งห้า การที่จำเลยทั้งห้าไม่ยอมแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ในฐานะเจ้าของรวม จึงมีอำนาจฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทได้ แม้โจทก์จะเป็นพระภิกษุ ก็หามีบทกฎหมายห้ามโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5587/2543  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 นั้น หมายถึงกรณีที่เจ้ามรดกตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ และพระภิกษุเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิในการรับมรดกด้วย ได้ฟ้องทายาทคนอื่น ๆ ขอแบ่งมรดก แต่โจทก์ได้รับการยกให้ซึ่งบ้านและที่ดินจาก ล. ในขณะที่ ล. มีชีวิตอยู่โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าว การฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินของโจทก์จึงมิใช่ฟ้องเรียกร้องเอาส่วนแบ่งทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม แม้โจทก์จะเป็นพระภิกษุก็ย่อมมีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3773/2538  การที่โจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุนำเงินส่วนตัวออกให้บุคคลกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยนั้น ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดห้ามไว้ พระภิกษุก็เป็นบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย การให้กู้ยืมเงินก็เป็นการสงเคราะห์ผู้ที่เดือดร้อนได้ทางหนึ่งอีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 224 บัญญัติว่า หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์มีสิทธินำสัญญากู้ยืมเงินมาฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้

          2. พระภิกษุในฐานะผู้รับพินัยกรรม

          กรณีนี้ กฎหมายกำหนดว่า พระภิกษุอาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้ ตามมาตรา 1622 วรรคสอง ซึ่งในกรณีนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามฟ้องร้องไว้ ดังนั้น หากทายาทไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมให้แก่พระภิกษุ พระภิกษุนั้นมีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์ตามพินัยกรรมได้



ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์

          ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ได้แบ่งที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัดไว้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
          (1) ที่วัด
          (2) ที่ธรณีสงฆ์
          (3) ที่กัลปนา
          ส่วนที่ดินที่ไม่ได้เป็นของวัดหนึ่งวัดใด แต่เป็นทรัพย์สินของพระศาสนา ได้แก่ ที่ศาสนสมบัติกลาง

          ที่วัด คือ ที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น เป็นที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดหนึ่งวัดใดโดยเฉพาะ
          ที่ธรณีสงฆ์ คือ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด แต่ไม่ใช่ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งวัด เช่น ที่ดินที่มีผู้อุทิศยกให้แก่วัดหนึ่งวัดใด เป็นต้น



          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2542   พระภิกษุ ส. ได้ที่ดินพิพาทมาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศและเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุ ส. ในขณะถึงแก่มรณภาพ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1623 แต่วัดมิใช่ทายาทโดยธรรมของพระภิกษุที่ถึงแก่มรณภาพตามมาตรา 1629 ดังนั้น การที่วัดจำเลยร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ส. จึงมิใช่กรณีทายาทร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อจัดแบ่งมรดกให้ทายาท การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยผลแห่งกฎหมาย
          แม้ก่อนถึงแก่มรณภาพพระภิกษุ ส. ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วม และจำเลยร่วมได้ผ่อนชำระค่าที่ดินครบถ้วนแล้ว แต่เมื่อพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพ ที่ดินพิพาทตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่ 1 โดยเป็นที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33 (2) และมาตรา 34 การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกพระภิกษุ ส. จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้จำเลยร่วม แม้จะ โดยความเห็นชอบของจำเลยที่ 1 ก็เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 นิติกรรมย่อมเสียเปล่ามาแต่แรก โดยศาลไม่จำเป็นต้องเพิกถอน และโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เพราะจำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นธรณีสงฆ์ให้แก่โจทก์ได้ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 หรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6354/2540   แม้จำเลยที่ 2 จะได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับพระภิกษุส. ไว้แล้ว ตั้งแต่ปี 2528 และชำระราคาครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่พระภิกษุ ส. ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 จนพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพในปี 2530 เมื่อชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของพระภิกษุ ส. อยู่ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุ ส. ที่ได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623ให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาในขณะที่พระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ดังนั้นเมื่อพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสมบัติของวัดศรีบุญเรืองตามกฎหมายและถือว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดศรีบุญเรืองด้วย ตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33(2) กรณีต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ มาตรา 34 ซึ่งบัญญัติให้ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติฯ และห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องสิทธิอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ส.หรือวัดศรีบุญเรืองจึงไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลใดๆได้ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 นิติกรรมดังกล่าวจึงเสียเปล่ามาแต่แรกโดยศาลไม่จำเป็นต้องเพิกถอน และโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1หรือวัดศรีบุญเรืองจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทและชำระราคาแก่พระภิกษุ ส.ครบถ้วนแล้วได้เพราะวัดศรีบุญเรืองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมามีฐานะเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ จึงเป็นนิติบุคคลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 72(1) ต่างหากจากพระภิกษุ ส. ผู้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับพระภิกษุ ส. และชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้วหรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 550/2510   ที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของป่าช้าซึ่งเป็นของวัด แม้จะตั้งอยู่ห่างจากตัววัด ก็จัดเข้าอยู่ในประเภทที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33 (2)

          ที่กัลปนา คือ ที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา ที่กัลปนาจึงไม่ใช่ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของวัด แต่เป็นที่ดินที่เจ้าของอุทิศเพียงผลประโยชน์จากที่ดินนั้นให้วัดหรือพระศาสนาเท่านั้น หากต่อมาเจ้าของที่ดินยกที่ดินนั้นให้วัด ที่ดินนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นที่ธรณีสงฆ์ต่อไป
          ที่ศาสนสมบัติกลาง คือ ทรัพย์สินของพระศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง เช่น วัดที่ถูกยุบไปที่ดินของวัดนั้นก็จะกลายเป็นที่ศาสนสมบัติกลาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4599/2531   ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของวัดนก (ร้าง) อันเป็นที่ศาสนสมบัติแม้โจทก์จะซื้อมาโดยสุจริตก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เพราะตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ที่วัดจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

          การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง
          มาตรา 34  "การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ เว้นแต่เป็นกรณีตามวรรคสอง
          การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เมื่อมหาเถรสมาคมไม่ขัดข้องและได้รับค่าผาติกรรมจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานนั้นแล้ว ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
          ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดหรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แล้วแต่กรณี ในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15710/2558   โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสิทธิเป็นประเด็นแห่งคดีประการแรกว่า วัด ช. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและยกให้โจทก์ เพียงแต่วัด ช. จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของแทน กับประการที่สอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกแสดงเจตนาจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ แต่ภายหลังไม่ปฏิบัติตาม เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งสิทธิต้องตามหลักเกณฑ์ในการนำคดีเข้าสู่ศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากวัด ช. ผู้เป็นเจ้าของ กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกเพราะถูกข่มขู่และถูกกลฉ้อฉล ประเด็นข้อพิพาทมิใช่มีเพียงโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินหรือไม่เท่านั้น เพราะหากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยบันทึกว่ามีผลตามกฎหมายหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท เพราะการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ รัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 33 (2) ประกอบมาตรา 34 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วด่วนพิพากษายกฟ้องนั้นหาชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ เพราะยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับบันทึกอันมีผลเกี่ยวกับเนื้อหาคดีที่ศาลต้องพิพากษาอีก ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจหยิบยกวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทยังเป็นของวัด ช.ตามเดิมหรือไม่นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์อยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยส่วนนี้ชอบแล้ว
          แม้จะรับฟังตามบันทึกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามความประสงค์ของวัด ช. แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าวัด ช. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท การโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์จะกระทำได้ก็แต่โดยรัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ดังนี้ การจะบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนโดยตรงให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นการพ้นวิสัย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีหน้าที่จดทะเบียนโอนใส่ชื่อวัด ช. เป็นเจ้าของตามความเป็นจริงก่อน และจะหยิบยกอายุความได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 มากล่าวอ้างมิได้ เพราะมีบัญญัติห้ามไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 วรรคท้าย แต่ศาลจะพิพากษาในคดีนี้มิได้เพราะเป็นการเกินคำขอต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันระหว่างวัด ช. กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องติดต่อกับวัด ช. ต่อไป ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกยินยอมที่จะไปโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์และจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทต่อไป ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิได้ดอกผลในที่ดินพิพาทด้วย กับถือว่าเจตนาสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ผลผลิตยางพาราในที่ดินพิพาท และห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9543/2551   โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากผู้อื่นแล้วยกให้วัดโจทก์ที่ 1 ขณะที่โจทก์ที่ 1 ยังไม่เป็นนิติบุคคล ต่อมาเมื่อโจทก์ที่ 1 ได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2513 โดยมีโจทก์ที่ 2 ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส โจทก์ที่ 2 ก็ได้แสดงเจตนายืนยันว่าได้มีการยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 ตลอดมาโดยมีการทำบันทึกถ้อยคำว่า โจทก์ที่ 1 มีความประสงค์ขอรับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 2 นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2513 ถือได้ว่ามีเจตนาอุทิศที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นที่สร้างวัดที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของแผ่นดินสำหรับใช้เป็นที่สำหรับสร้างวัดโจทก์ที่ 1 ตามเจตนาของผู้อุทิศทันทีโดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการยกให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 เมื่อสร้างวัดโจทก์ที่ 1 เสร็จเรียบร้อย กระทรวงศึกษาธิการและมหาเถรสมาคมเห็นชอบให้ตั้งวัดโจทก์ที่ 1 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2513 ที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 โดยสมบูรณ์ตั้งแต่บัดนั้น เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นของโจทก์ที่ 1 แล้วตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น การที่โจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยไปรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิรับโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ที่ 1 มาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนซึ่งมีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยไปยังจำเลยร่วมที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3688/2546   หากเจ้าของเดิมอุทิศที่ดินให้แก่วัดโจทก์และที่ดินตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง การโอนที่ธรณีสงฆ์จะต้องทำตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 คือ โอนโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา แม้ที่ดินจะได้มีการโอนต่อกันมาหลายทอดจนถึงจำเลยทั้งสอง เมื่อการโอนมิได้ทำตามกฎหมายจึงเป็นการโอนที่ต้องห้ามชัดแจ้ง ย่อมเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดพิพาท และขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองครอบครองอยู่ได้ โดยหาจำต้องฟ้องเจ้าของเดิมและผู้รับโอนคนก่อนจำเลยทั้งสองไม่ ฟ้องโจทก์ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3760/2545   หลังจากตั้งวัดโจทก์ขึ้นแล้ว มีการตั้งโรงเรียนขึ้นโดยยืมศาลาวัดสร้างเป็นโรงเรียนอยู่ 10 ปี จึงสร้างโรงเรียนในที่ดินของวัดด้วยความยินยอมของโจทก์ แต่เมื่อวัดโจทก์ย้ายออกไปแล้ว โจทก์มิได้สละสิทธิในที่ดินพิพาทยังคงนำที่ดินออกหาผลประโยชน์ตลอดมา การที่โจทก์ยอมให้ทางราชการใช้ที่ดินพิพาทเป็นโรงเรียนหาใช่เป็นการยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยไม่ เมื่อที่ดินพิพาทมีผู้ยกให้เพื่อสร้างวัด ซึ่งต่อมาก็มีการสร้างวัดขึ้นตามเจตนาของผู้ยกให้ ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่วัดและเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 40(1) และ (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น โดยที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น การที่มีผู้นำที่ดินพิพาทไปออก น.ส. 3 ก. เป็นชื่อจำเลยและต่อมาถูกเปลี่ยนแปลงขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ดินพิพาทยังคงสภาพเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์อยู่เช่นเดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2542  แม้ก่อนถึงแก่มรณภาพพระภิกษุ ส. ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วม และจำเลยร่วมได้ผ่อนชำระค่าที่ดินครบถ้วนแล้ว แต่เมื่อพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพ ที่ดินพิพาทตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่ 1 โดยเป็นที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33 (2) และมาตรา 34 การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกพระภิกษุ ส. จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้จำเลยร่วม แม้จะ โดยความเห็นชอบของจำเลยที่ 1 ก็เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 นิติกรรมย่อมเสียเปล่ามาแต่แรก โดยศาลไม่จำเป็นต้องเพิกถอน และโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เพราะจำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นธรณีสงฆ์ให้แก่โจทก์ได้ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 หรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6943/2538  การแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 เป็นกรณีที่ใช้บังคับได้แต่เฉพาะแก่ทรัพย์สินธรรมดาสำหรับทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์นั้นต้องใช้บังคับตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ซึ่งได้บัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษในเรื่องกรรมสิทธิ์และการโอนที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะนำบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินธรรมดามาใช้บังคับไม่ได้ซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติและห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่อง ทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ ดังนั้น โจทก์จะยกเรื่องการแย่งการครอบครองขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้ง ในเรื่องที่วัดไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5645-5646/2538   ในระหว่างพิจารณา พ. รักษาการเจ้าอาวาสวัดโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้สัตยาบันการที่นาย ช. และนาย น. ฟ้องคดีแทนวัดโจทก์พร้อมกับได้ชี้แจงเหตุผลประกอบ และได้ส่งหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่โดยไม่ได้ระบุมอบอำนาจให้นาย ช. เป็นผู้ฟ้องคดีแทนด้วยเพราะนาย ช. ถึงแก่กรรมไปแล้วย่อมเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันในการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งห้ามไว้แต่ประการใด ทั้งกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 47 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นาย ช. และนาย น. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์มาแต่ต้น   ที่ดินโจทก์ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าช้ามาแต่โบราณกาล ล้อมรอบด้วยที่ธรณีสงฆ์ของวัด บ. จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎต่อมาว่านาย ห.เป็นผู้แจ้งสิทธิครอบครองในที่ป่าช้าดังกล่าวไว้ด้วยเหตุผลที่จะกันไม่ให้ถูกบุกรุกยึดครอง โดยเจตนาของนาย ห. ดังกล่าวนี้ได้ประกาศชัดเจนว่าถือครองในฐานะแทนโจทก์ ซึ่งจำเลยก็มิได้คัดค้านโต้แย้งเมื่อพิเคราะห์ประกอบกับข้อเท็จจริงที่บริเวณที่ดินใกล้เคียงที่ป่าช้า ซึ่งหากจำเลยยึดถือครอบครองและออกโฉนดซึ่งมีทั้งซากวัตถุโบราณซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมการฝังศพ ตลอดจนทางจำเลยก็ยอมรับถึงความเชื่อถือที่ไม่ยอมใช้น้ำในหนองโบสถ์ตรงตามที่พยานโจทก์เบิกความเป็นหนองน้ำใช้ล้างกระดูกศพ แล้วยิ่งเห็นได้ชัดว่าคำยืนยันของโจทก์ดังกล่าวเป็นความจริงว่าที่ดินพิพาทที่ล้อมรอบป่าช้าของโจทก์ เป็นที่ที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการฝังศพจริง ที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัด บ. โจทก์ จำเลยไม่อาจยกการครอบครองขึ้นยันวัดโจทก์ การออกโฉนดในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบ และโต้แย้งสิทธิโจทก์โจทก์มีอำนาจขอให้เพิกถอนได้ตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1029/2519   พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ครอบคลุมถึงอายุความได้ภารจำยอมด้วย ผู้ใดจะยกอายุความขึ้นอ้างกับวัดในเรื่องที่ดินของวัด หรือที่ธรณีสงฆ์ไม่ได้

          แม้หน่วยงานราชการก็จะเข้าไปยึดถือครอบครองที่วัดไปเป็นกรรมสิทธิ์หาได้ไม่ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2513  เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง  ตามโฉนดที่ 2693  และโฉนดที่ 2649  เป็นที่ดินวัดประดิษฐารามโจทก์  กระทรวงการคลังจำเลยได้นำรังวัดออกโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้รุกล้ำเอาที่ดินซึ่งเป็นที่วัดโจทก์  แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า กระทรวงการคลังจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงโดยเก็บค่าเช่าจากผู้อยู่อาศัยตลอดมาเกิน 10 ปี และวัดโจทก์ก็ไม่คัดค้าน หรือไม่ส่งคนไปรังวัดแนวเขตในเมื่อมีการรังวัดออกโฉนดพิพาท ก็หาใช่ข้อสำคัญไม่ เพราะเมื่อฟังว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่วัดเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดโจทก์แล้ว กระทรวงการคลังจำเลยจะเข้าไปยึดไปเป็นกรรมสิทธิ์หาได้ไม่ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์  ร.ศ. 121  มาตรา 7  ซึ่งต่อมาได้แก้ไขตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477 มาตรา 3  พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41  และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505  ซึ่งยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 34  ซึ่งบัญญัติได้ตลอดมาว่า  ที่วัด ผู้ใดผู้หนึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ที่นั้นไปไม่ได้  และว่าที่วัด จะโอนกรรมสิทธิ์ได้แต่โดยพระราชบัญญัติ และห้ามมิให้บุคคลยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด

          แต่ถ้าบุคคลอื่นเป็นเจ้าของร่วมกับวัด ย่อมมีสิทธิขอให้แบ่งที่ดินนั้นได้ ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2507  ในกรณีที่วัดกับบุคคลอื่นเป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมกัน เมื่อมีเหตุที่จะต้องแบ่งทรัพย์ต่อกัน ศาลก็พิพากษาให้แบ่งทรัพย์นั้นได้ และย่อมพิพากษาถึงวิธีการแบ่งทรัพย์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ได้ ไม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

          ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่ศาสนสมบัติกลาง เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี (มาตรา 35)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1316/2544   ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์และที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 35 เป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285(4) ด้วย คำพิพากษาในส่วนที่ให้วัดจำเลยโอนที่ดินให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยสภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 วรรคสาม ก็บัญญัติให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้กระทำได้เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์เพื่อดำเนินการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ และมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไปจึงไม่อาจกระทำได้ ศาลฎีกาให้ยกเลิกการบังคับคดีแก่จำเลย
          การแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกมาจากโฉนดเดิมไม่ถือว่าเป็นการจำหน่ายที่ดิน เพราะการจำหน่ายจะต้องเป็นการจดทะเบียนโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น การที่ ส.  ซึ่งเป็นพระภิกษุดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินของตนเสร็จ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ก่อนที่ ส. มรณภาพ จึงมิใช่ ส. โอนที่ดินให้แก่โจทก์ก่อน ส. มรณภาพ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นของวัดจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1110/2540   ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 35ที่บัญญัติว่า ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์และที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี" ย่อมหมายถึงว่าเมื่อมีการบังคับคดีแล้วจะต้องมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่กฎหมายห้ามยึดหรืออายัด การที่ทนายโจทก์และจำเลยตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลว่าให้จำเลยจัดทำถนนในที่ดินพิพาทโดยจำเลยต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ ข้อตกลงดังกล่าวหากโจทก์บิดพริ้วจำเลยไม่จำต้องยึดหรืออายัดที่ดินพิพาทเพื่อการบังคับคดีแต่อย่างใด ข้อตกลงของทนายโจทก์กับจำเลยข้อนี้จึงมิได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว เมื่อข้ออ้างของโจทก์จึงมิได้เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ในอันที่โจทก์จะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์จึงชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับนั้น ยังไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 151 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง



05 มีนาคม 2567

แม้ผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการก่อสร้างก็ไม่ผิดสัญญาจ้าง ถ้าผู้ว่าจ้าง(หน่วยงานทางปกครอง)ยังไม่พร้อมส่งมอบสถานที่ก่อสร้าง | สัญญาทางปกครอง | คดีปกครอง

          คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

       
          สัญญาที่ได้จัดทำขึ้นโดยมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่รัฐตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเขาดำเนินการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
          เมื่อเป็นสัญญาทางปกครองแล้ว คู่สัญญาฝ่ายเอกชนมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาโดยเคร่งครัด เว้นแต่การปฏิบัติตามสัญญาไม่อาจทำได้เนื่องจากเหตุสุดวิสัย หากคู่สัญญาฝ่ายเอกชนไม่ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว รัฐหรือคู่สัญญาฝ่ายปกครองย่อมมีอำนาจในการบังคับให้มีการปฏิบัติตามสัญญา กำหนดค่าปรับ หรือบอกเลิกสัญญาเสียได้

          คดีปกครองเกี่ยวกับข้อพิพาทในสัญญาทางปกครองที่เอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ตกลงเข้าทำสัญญากับรัฐในการดำเนินการสร้างสิ่งก่อสร้างอันเป็นสิ่งสาธารณูปโภค แต่การก่อสร้างไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา เนื่องจากสถานที่ก่อสร้างไม่มีความพร้อมในการดำเนินการก่อสร้างได้ กรณีเช่นนี้จะถือว่าเอกชนเป็นฝ่ายผิดสัญญาและรัฐสามารถบอกเลิกสัญญาได้หรือไม่ ?


          ข้อเท็จจริงคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (จังหวัดสงขลา) ได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนให้ดำเนินการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างบนเกาะหนู จงหวัดสงขลา ได้แก่ ทางเดินชมธรรมชาติ ศาลาอเนกประสงค์ และบ้านพักข้าราชการ เพื่อเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ ในการสนับสนุนโครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัด โดยกำหนดระยะเวลาในการเริ่มดำเนินการและระยะเวลาแล้วเสร็จไว้อย่างชัดเจน แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เริ่มงานที่รับจ้างตามกำหนดเวลา จึงได้มีหนังสือเร่งรัดไปยังผู้ฟ้องคดี
          ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่สามารถกำหนดตำแหน่งการก่อสร้างตามสัญญาจ้างที่แน่นอนได้และพื้นที่จะทำการก่อสร้างยังไม่ได้รับอนุญาตจากกองทัพเรือ ประกอบกับการก่อสร้างต้องมีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่โดยการตัดต้นไม้จำนวนมาก การขุดตัดหน้าดินและที่สําหรับทิ้งดิน หากดำเนินการไปโดยไม่ได้รับการยืนยันที่ชัดเจน อาจถูกร้องเรียนได้ ผู้ฟ้องคดีจึงขอแจ้งหยุดงาน
          ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เห็นว่า ในชั้นการประกวดราคาตามสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีได้ไปดูสถานที่และเจ้าหน้าที่ได้ชี้จุดก่อสร้างแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ทักท้วง จนมีการลงนามในสัญญา ส่วนการขออนุญาตใช้พื้นที่ได้ดำเนินการแล้วและเป็นหน้าที่ของส่วนราชการที่จะประสานงานกันเอง จึงขอให้ลงมือก่อสร้างโดยด่วน แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามสัญญาจ้าง จึงได้มีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาและริบเงินประกัน
          ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ไม่ได้ทำผิดสัญญา เพราะผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยังไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้ฟ้องคดี การบอกเลิกสัญญาและริบเงินประกันจึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คืนเงินประกันแก่ผู้ฟ้องคดี

          ปัญหามีว่า การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากคู่สัญญาฝ่ายปกครองไม่ส่งมอบพื้นที่ เป็นการกระทำผิดสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายปกครองสามารถบอกเลิกสัญญาและริบเงินประกันตามสัญญาได้หรือไม่?
          โดยสัญญาที่ได้จัดทำขึ้นระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะผู้ว่าจ้างกับผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับจ้างได้กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จและกำหนดสิทธิของผู้ว่าจ้างในการบอกเลิกสัญญาไว้ว่า ผู้รับจ้างจะต้องเริ่มทำงานและทำงานที่รับจ้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กาหนด หากผู้รับจ้างไม่ได้เริ่มทำงานภายในกำหนดเวลาหรือไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ โดยผู้ว่าจ้างมีสิทธิริบเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วนตามแต่จะเห็นสมควร

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า สถานที่ก่อสร้างตามสัญญาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ขึ้นทะเบียนเป็นของกระทรวงกลาโหมเพื่อประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินบางส่วนเป็นสถานที่วิจัยและเพาะเลี้ยงสัตวน้ำชายฝั่ง โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างแต่อย่างใด การได้รับอนุญาตดังกล่าวถือเป็นเพียงการอนุญาตในเรื่องทั่วๆไป และเป็นคนละกรณีกับการขออนุญาตก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจ้าง กรณีจึงต้องดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างก่อนดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาจ้าง
          นอกจากนี้เมื่อผู้ฟ้องคดีจะเข้าดำเนินการก่อสร้างตามสัญญา เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็ไม่สามารถกำหนดตำแหน่งของสถานที่ก่อสร้างที่แน่นอนให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ รวมทั้งมีอุปสรรคอื่นๆ คือ สถานที่ก่อสร้างต้องตัดต้นไม้จำนวนมาก และต้องตัดดินเชิงลาดบนเกาะหนูหลายลูกบาศก์เมตร แต่ไม่มีที่สำหรับทิ้งดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากกรมประมง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะผู้ใช้พื้นที่บริเวณที่จะมีการก่อสร้างย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการใดๆ เพื่อให้พื้นที่ก่อสร้างมีความพร้อมที่จะให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดำเนินการตามสัญญาจ้างดังกล่าว
          การที่ผู้ถูกฟ้องคดีท้ังสองยังไม่ได้รับอนุญาตจากกองทัพเรือให้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างตามสัญญาจ้างกรณีจึงถือได้ว่าสถานที่ก่อสร้างยังไม่มีความพร้อมที่จะส่งมอบให้ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับจ้างลงมือก่อสร้างตามสัญญาจ้างได้ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่สามารถกำหนดตำแหน่งสถานที่ก่อสร้างที่แน่นอนได้จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องแก้ไขตามสัญญาจ้างเสียก่อน
          ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ลงมือทำงานที่รับจ้างตามสัญญาจ้างจึงเกิดจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้ผิดสัญญาจ้างแต่อย่างใด และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 บอกเลิกสัญญาจ้างและริบเงินประกันตามสัญญา จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อสัญญาจ้าง
          พิพากษาให้คืนเงินประกันตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา
          (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1077/2558)

          ***สำหรับคู่สัญญาฝ่ายปกครองและคู่สัญญาฝ่ายเอกชน เกี่ยวกับสัญญาทางปกครองโดยต่างฝ่ายต่างมีสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องผูกพันตนให้เป็นไปตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้โดยคู่สัญญาฝ่ายเอกชนมีหน้าที่ประการสําคัญที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาอย่างเคร่งครัด และต้องยอมรับเอกสิทธิ์ของคู่สัญญาฝ่ายปกครองที่มีอํานาจในการควบคุมบังคับการให้มีการปฏิบัติตามสัญญารวมทั้งมีอำนาจในการสั่งปรับ สั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย หรือบอกเลิกสัญญาได้ หากคู่สัญญาฝ่ายเอกชนไม่เริ่มปฏิบัติงาน ปฏิบัติงานไม่ทันตามกำหนดเวลา หรือผิดสัญญาไม่ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ อย่างไรก็ตาม หากในกรณีเกิดปัญหาอุปสรรคจากการกระทําหรืองดเว้นการกระทําของคู่สัญญาฝ่ายปกครองและเหตุแห่งการนั้นได้ส่งผลกระทบต่อการดําเนินการตามสัญญาของคู่สัญญาฝ่ายเอกชนแล้ว การที่คู่สัญญาฝ่ายเอกชนไม่สามารถดําเนินการให้บรรลุผลตามสัญญาย่อมไม่ถือเป็นการกระทําผิดสัญญาแต่อย่างใด และคู่สัญญาฝ่ายปกครองย่อมไม่อาจบอกเลิกสัญญาและริบเงินประกันตามสัญญาของคู่สัญญาฝ่ายเอกชนได้