01 มีนาคม 2567

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

          มาตรา 5  "หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
          ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง"

          ถ้าการปฏิบัติงานในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก กรณีนี้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่นั้น โดยผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้

          มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้

          ครูโรงเรียนในสังกัดของ กทม.ไม่รีบนำตัวเด็กส่งแพทย์เพื่อรักษาหลังเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา ทำให้ตาติดเชื้อมีผลให้สูญเสียการมองเห็น เป็นการประมาทเลินเล่อ และมีผลให้ กทม.ต้องรับผิดในผลของความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 420 และเมื่อโจทก์ไม่นำสืบเรื่องค่าเสียหายไว้ ศาลจึงต้องวินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7383/2558  อ. ครูประจำชั้นของโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนของจำเลยมีส่วนประมาทเลินเล่อในการดูแลความปลอดภัยของโจทก์โดยละเลยไม่รีบนำโจทก์ไปให้แพทย์ตรวจรักษาดวงตา หลังจากทราบว่าโจทก์ถูกเด็กชาย ณ. ใช้หนังยางยิงแท่งดินสอถูกดวงตาข้างซ้าย ซึ่งการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวน่าเชื่อว่ามีส่วนทำให้ดวงตาข้างซ้ายของโจทก์ติดเชื้อ โดย ว. จักษุแพทย์พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า หากดวงตาข้างซ้ายของโจทก์ไม่ติดเชื้อก็อาจจะไม่ถึงขนาดสูญเสียการมองเห็น เมื่อโจทก์นำสืบรับฟังได้ว่า โจทก์ต้องสูญเสียการมองเห็นในเวลาต่อมาตามใบรับรองแพทย์ โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่น เช่นนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดในผลของความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 420
          โจทก์มิได้นำสืบในรายละเอียดของค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าเจ็บป่วยต้องทนทุกขเวทนาและกระทบกระเทือนจิตใจที่สูญเสียดวงตาข้างซ้าย กับค่าสูญเสียดวงตาในการทำมาหาเลี้ยงชีพตามที่โจทก์เรียกมาในคำฟ้องแต่ละจำนวน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายและมีค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่ากับที่โจทก์เรียกมาในคำฟ้อง ดังนี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้นับแต่เวลาที่ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชำระค่าดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันถัดจากวันฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น ศาลฎีกาจึงต้องพิพากษาเรื่องดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่โจทก์ขอมาในคำฟ้องฎีกา


          พนักงานสอบสวนขอออกหมายจับโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายหรือไม่ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้มีการออกหมายจับผิดตัว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีต่างท้องที่ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนนั้นจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15591/2557   การขอออกหมายจับบุคคลใด ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกออกหมายจับนั้น พนักงานสอบสวนจึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง ซึ่งจำต้องกระทำด้วยความรอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแน่ใจว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายที่ได้มาจากการรวบรวมพยานหลักฐาน
          คดีนี้แม้การออกหมายจับที่ระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายจะสืบเนื่องมาจากคำให้การของผู้เสียหายและพยาน แต่ผู้เสียหายยังระบุยืนยันว่าคนร้ายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม แต่ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่พนักงานสอบสวนอ้างเป็นพยานระบุว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มาโดยตลอดไม่เคยย้ายไปอยู่ที่จังหวัดนครพนม และยังมีภาพถ่ายของโจทก์ปรากฏอยู่ด้วย พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดเสียก่อนว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายหรือไม่ โดยจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานชี้ภาพถ่ายของโจทก์ว่าใช่คนร้ายหรือไม่ก่อนที่จะขอออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนกลับขอให้ศาลออกหมายจับโดยระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายไปเลย แม้การขอให้ออกหมายจับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวจะฟังไม่ได้ว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวังไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้มีการออกหมายจับผิดตัว ทำให้โจทก์ต้องถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีต่างท้องที่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมที่ออกหมายจับโจทก์ผิดตัวจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องดังกล่าว

          เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวังทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นต้นสังกัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น จึงต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12335/2557   คำร้องของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่า ผู้คัดค้านไม่ยึดทรัพย์ตามที่โจทก์นำชี้ และหลอกลวงให้คำแนะนำในการบังคับคดี จนหลงเชื่อทำคำร้องขอให้ศาลเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้คัดค้าน และถูกศาลยกคำร้องทำให้โจทก์ต้องเสียหาย ขอให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 283 วรรคสอง อันเป็นข้ออ้างให้ผู้คัดค้านในฐานะเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่ของผู้คัดค้านตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 แต่เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ โดยไม่มีบทมาตราใดยกเว้นมิให้ใช้บังคับแก่กรณีใด และมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติอีกว่า “บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับใด ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน” ดังนี้ หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นต้นสังกัดของผู้คัดค้านจึงต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงต้องห้ามมิให้เรียกร้องเอาแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีแต่ต้องเรียกร้องเอาแก่หน่วยงานของรัฐนั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

          การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นหน่วยงานของรัฐ เมื่อเจ้าหน้าที่ของตนกระทำการในการปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16150/2556   จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 จำเลยที่ 1 จึงเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ทำงานประจำอยู่ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา จำเลยที่ 4 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกบริหารพัสดุ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เมื่อปรากฏว่าทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 สูญหายและตรวจพบว่าที่ร้านของโจทก์มีทรัพย์สินลักษณะเดียว กับของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดทรัพย์สินดังกล่าวโดยมีหมายค้นของศาล ทั้งมิได้กระทำเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัว ย่อมเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แล้ว แม้โจทก์อ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 มีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรง จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เพื่อมิให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ อันเป็นบทยกเว้นหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีไม่อาจนำหลักความรับผิดของผู้กระทำละเมิดและเรื่องความรับผิดของนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 425 มาใช้บังคับกับคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5

          ยินยอมให้พนักงานขับรถใช้รถยนต์ของหน่วยงานราชการได้แม้เป็นเวลานอกราชการ เมื่อเกิดเหตุละเมิดขึ้นในคดีนี้ จึงถือได้ว่าเป็นผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่กระทรวงจำเลยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกระทรวงจำเลยต้องรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15723/2556   ธ.ขับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุกลับมาที่สำนักงานเมื่อเวลาประมาณ 14 นาฬิกา หลังจาก ป.โทรศัพท์ตาม ธ. เพื่อให้นำกุญแจรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุมาส่งคืนเมื่อเวลาประมาณ 15 นาฬิกาแล้ว ป. ก็ไม่ได้โทรศัพท์ติดต่อ ธ. อีกเลย และก่อนที่ ป. จะกลับบ้านเมื่อเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ป. เห็นอยู่ว่า รถยนต์ตู้คันเกิดเหตุจอดเก็บในช่องจอดรถ ซึ่งแสดงว่า ธ. กลับมาที่สำนักงานแล้ว แต่ ป. ก็ไม่ได้โทรศัพท์สั่งให้ ธ. นำกุญแจรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุมาส่งคืนตามระเบียบ จะถือว่า ป.ปฏิบัติงานตามหน้าที่อันสมควรแก่หน้าที่ความรับผิดชอบของตนแล้วหาได้ไม่ ส่วน ธ. ก็เข้าใจเอาเองว่า ป. กลับบ้านไปแล้ว แต่ก็ยังนั่งเล่นอยู่ที่บริเวณที่ทำการของจำเลยจนถึงเวลา 18 นาฬิกา โดยต่างฝ่ายต่างทอดธุระ ขาดความสำนึกไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ กระทำเสมือนหนึ่งว่าเป็นเรื่องปกติ แสดงให้เห็นถึงการปล่อยปละละเลย ย่อหย่อนไม่ควบคุมการใช้รถให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ และเชื่อว่าจำเลยปล่อยปละละเลยให้เป็นเช่นนี้มาก่อนเกิดเหตุแล้ว ป.และ ธ. จึงไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามระเบียบ เข้าลักษณะที่จำเลยยินยอมให้ ธ. ใช้รถยนต์ตู้คันเกิดเหตุ อันเป็นหน้าที่ของพนักงานขับรถได้แม้เป็นเวลานอกราชการ เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นในคดีนี้ จึงถือได้ว่าเป็นผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่กระทรวงจำเลยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกระทรวงจำเลยต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

          นักการภารโรงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโรงเรียนที่ให้เก็บเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุไว้ในห้องสมุดทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จมาโดยตลอด การที่ ผอ.โรงเรียนปล่อยปละละเลยการบริหารกิจการของสถานศึกษาและไม่ควบคุมดูแลบุคลากรในสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการหรือของสถานศึกษา จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของผอ.โรงเรียน เมื่อความประมาทเลินเล่อนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หน่วยงานที่ ผอ.โรงเรียน อยู่ในสังกัดจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15171/2556    ส. นักการภารโรงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโรงเรียนจำเลยที่ 5 ที่ให้เก็บเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุไว้ในห้องสมุดทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จมาโดยตลอด จำเลยที่ 4 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นสถานศึกษา จึงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการและของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ ประสานการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา รวมทั้งควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของสถานการศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ เป็นผู้แทนของสถานศึกษาหรือส่วนราชการในกิจการทั่วไป รวมทั้งการจัดทำนิติกรรมสัญญาราชการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการตามวงเงินงบประมาณที่สถานศึกษาหรือส่วนราชการตามวงเงินงบประมาณที่สถานศึกษาหรือส่วนราชการได้รับตามที่ได้รับมอบอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 39 (1) (2) และ (3) แม้เครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุจะมิใช่ทรัพย์สินของทางราชการ แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนจำเลยที่ 5 ยืมมาใช้ในราชการ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 644 การที่จำเลยที่ 4 ปล่อยปละละเลยการบริหารกิจการของสถานศึกษาและไม่ควบคุมดูแลบุคลากรในสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการหรือของสถานศึกษา จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 เมื่อความประมาทเลินเล่อนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 4 ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 4 ยืมเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุมาใช้ราชการ แต่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 39 จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำเลยที่ 4 อยู่ในสังกัดจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

          ตำรวจขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เวรยามจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำร้าย ส. จนถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันผลจากเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น ถือได้ว่า ตำรวจนั้นประมาทเลินเล่อ หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของตำรวจนั้นจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14427/2555    การที่ดาบตำรวจ ว. ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ 3 มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงเป็นเวรดูแลผู้ต้องหาในห้องควบคุมของสถานีตำรวจให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยและเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหลบหนี แต่ดาบตำรวจ ว. ขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เวรยามจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำร้าย ส. จนถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันผลจากเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น ถือได้ว่า ดาบตำรวจ ว. ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของดาบตำรวจ ว. จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง แต่ดาบตำรวจ ว. ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์ คงรับผิดเป็นการเฉพาะตัวของดาบตำรวจ ว. ที่ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจห้องควบคุมผู้ต้องหาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำร้าย ส. ถึงแก่ความตาย ซึ่งพิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว สมควรให้ดาบตำรวจ ว. รับผิดเพียง 200,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนที่จำเลยที่ 3 ต้องชดใช้แก่โจทก์

          อบต.อนุญาตให้ปลัดฯใช้รถยนต์ที่เกิดเหตุได้ตลอดเวลา เมื่อการขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลและตามคำสั่งของปลัดฯ แม้จะนอกเวลาราชการ จึงถือว่ากระทำไปในระหว่างปฏิบัติงานตามหน้าที่ของ อบต. แล้ว อบต. จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7829/2553   องค์การบริหารส่วนตำบล บ. จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุ วันเกิดเหตุ ส. ปลัดของจำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปส่ง ส. ที่บ้าน จากนั้น ระหว่างทางกลับจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาททำให้รถยนต์เสียหลักชนเสาไฟฟ้าของโจทก์หักเสียหาย โดยขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ ส. เป็นผู้มีหน้าที่ควบคุม บำรุงรักษา และรับผิดชอบรถยนต์ของจำเลยที่ 2 แสดงว่าจำเลยที่ 2 อนุญาตให้ ส. ใช้รถยนต์คันเกิดเหตุได้ตลอดเวลา ฉะนั้นวันเกิดเหตุที่ ส. ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปส่งตน แม้จะนอกเวลาราชการและเป็นไปเพื่อความประสงค์ของ ส. เอง แต่ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 โดย ส. ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 2 ให้ทำเช่นนั้นได้ การขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล บ. และตามคำสั่งของ ส. จึงถือว่ากระทำไปในระหว่างปฏิบัติงานตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แล้ว หาได้เป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์
          สิทธิของโจทก์ในการฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐให้รับผิดทางละเมิดนั้นต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

          *** แต่ตำรวจนำตัวผู้เยาว์ส่งสถานพินิจฯ เป็นหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ ไม่มีเจตนารับดูแลผู้เยาว์ เมื่อผู้เยาว์หลบหนีไปทำละเมิด เจ้าพนักงานตำรวจไม่ต้องรับผิดเพราะไม่อยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 430  สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่ต้องรับผิดด้วย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12979/2558  เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวผู้เยาว์ส่งสถานพินิจฯ เป็นหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ไม่มีเจตนารับดูแลผู้เยาว์ เมื่อผู้เยาว์หลบหนีไปทำละเมิด เจ้าพนักงานตำรวจไม่ต้องรับผิดเพราะไม่อยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 430 ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ต้องรับผิดเพราะเป็นเพียงความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ทำละเมิดโดยตรงที่หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

          พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่ได้บัญญัติอายุความกรณีความรับผิดของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12686/2557   บทบัญญัติเรื่องอายุความละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ใช้บังคับในกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องผู้กระทำละเมิดหรือผู้ร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิด เช่น นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างเป็นต้น แต่คดีนี้จำเลยที่ 3 ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในผลแห่งละเมิดที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนสาขาบ้านโฮ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และกรณีนี้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ความรับผิดของจำเลยที่ 3 เช่นว่านี้ มิใช่รับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิดหรือผู้ร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิด จึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับได้ และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่ได้บัญญัติอายุความกรณีความรับผิดของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่คดีนี้


การโอนทรัพย์สินที่ให้เช่า

          เจ้าของทรัพย์สินที่นำทรัพย์สินออกให้เช่า หากต้องการที่โอนทรัพย์สินที่ให้เช่านั้นต่อไปให้แก่บุคคลภายนอกในระหว่างสัญญาเช่า ก็สามารถทำได้โดยชอบ เนื่องจากมีสิทธิในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ตามมาตรา 1336 แต่จะมีผลต่อไปว่า เมื่อมีการโอนทรัพย์ที่ให้เช่าไปแล้วจะมีผลให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลงหรือไม่


          ผลของการโอนทรัพย์สินที่ให้เช่า


          (1) สัญญาเช่าเป็นเพียงบุคคลสิทธิจึงมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญา ไม่ผูกพันบุคคลภายนอกผู้รับโอน เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้ ดังนั้น สัญญาเช่าสังหาริมทรัพย์(รวมถึงสังหาริมทรัพย์พิเศษด้วย)จึงสิ้นสุดลงทันทีที่โอนทรัพย์สินนั้นให้แก่บุคคลภายนอก ผู้เช่าไม่สามารถบังคับบุคคลผู้รับโอนว่าจะต้องให้เช่าต่อไป ซึ่งกรณีนี้ถือว่าผู้เช่าถูกบุคคลภายนอกรอนสิทธิเพราะความผิดของผู้ให้เช่า ผู้เช่าจึงต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเอากับผู้ให้เช่าต่อไป
          (2) ในส่วนสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับเพราะการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่ให้เช่า เนื่องจากมีมาตรา 569 กำหนดไว้โดยเฉพาะ และผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 322/2519  จำเลยที่ 2 เช่าที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของ ต่อมาโจทก์เช่าช่วงจากจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ยินยอม แล้วโจทก์ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่สัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ยังมีผลบังคับอยู่ แม้จำเลยที่ 1 จะต้องโอนขายที่พิพาทให้โจทก์ แต่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนจะต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าที่จำเลยที่ 1 ผู้โอนได้ทำไว้กับจำเลยที่ 2 ผู้เช่าเดิมมาด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 และโจทก์ก็รู้ถึงความผูกพันตามสัญญาเช่าระหว่างจำเลยทั้งสองอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงยังมีสิทธิในที่พิพาทในฐานะผู้เช่าอยู่ โจทก์จะห้ามจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องในที่พิพาทหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 498/2536  เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2525 ห.ทำสัญญาให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทมีกำหนด 11 ปี 5 เดือน โดยได้ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนการเช่าต่อเจ้าหน้าที่ในวันเดียวกัน สัญญาเช่าย่อมมีผลใช้บังคับได้ไม่เป็นโมฆะ เป็นแต่ว่าหากไม่มีการจดทะเบียนการเช่าก็บังคับกันได้เพียง 3 ปี การที่เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนการเช่าอาคารพิพาทเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2525 ก็มิได้หมายความว่าสัญญาเช่าเพิ่งเกิดขึ้นในวันดังกล่าว การที่ ห. จดทะเบียนยกที่ดินและอาคารพิพาทให้ภรรยาและบุตร แล้วภรรยาและบุตรของ ห.จดทะเบียนให้ห.มีสิทธิเก็บกินในที่ดินและอาคารพิพาทก่อนวันจดทะเบียนการเช่า ภรรยาและบุตรของ ห.ผู้รับโอนย่อมต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าที่ ห.ทำไว้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 ภรรยาและบุตรของ ห.จดทะเบียนโอนที่ดินและอาคารพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2530 โจทก์ผู้รับโอนย่อมต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าดังกล่าว โดยต้องยอมให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทจนครบ 11 ปี 5 เดือน การที่ ห.ถึงแก่ความตาย หาทำให้สัญญาเช่าระงับไม่ เมื่อสัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนด และไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องขับไล่จำเลย


          สิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่าที่ผู้รับโอนทรัพย์สินต้องผูกพัน


          (1) ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย ตามมาตรา 569 วรรคสองนั้น หมายความถึง เฉพาะสิทธิและหน้าที่ซึ่งผู้ให้เช่าเดิมและผู้เช่าต่างผูกพันกันอยู่ตามข้อตกลงในสัญญาเช่าและตามกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ เท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2282/2527  จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงตึกแถวที่เช่าก่อนที่ผู้ให้เช่าเดิมจะขายตึกแถวให้โจทก์ สิทธิในการฟ้องร้องเพราะเหตุที่จำเลยเปลี่ยนแปลงตึกแถวที่เช่าจึงเป็นของผู้ให้เช่าเดิมหาตกมาเป็นของโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวไม่ สัญญาเช่ามีข้อความว่าผู้เช่าจะไม่นำตึกแถวไปให้เช่าช่วงหรือให้ผู้อื่นอยู่ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ให้เช่า สิทธิอันนี้ตกไปยังโจทก์ผู้รับโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 เมื่อปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าโดยนำตึกแถวพิพาทไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงหรือให้ผู้อื่นอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์หรือผู้ให้เช่าเดิมโจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้


          (2) แต่สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาที่ไม่มีหลักฐานการเช่าใดๆ แม้จะผูกพันคู่สัญญา แต่ไม่ผูกพันผู้รับโอนด้วย เว้นแต่จะมีการทำหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนการเช่า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2282/2539  ก่อนโจทก์ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ว. เจ้าของเดิมได้ตกลงให้จำเลยที่ 1 เช่าโดยให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างตึกแถวบนที่ดินและมีสิทธินำไปให้บุคคลอื่นเช่าต่อได้เป็นระยะเวลา 20 ปี เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้วให้กรรมสิทธิ์ในตึกแถวตกเป็นของ ว. แต่ข้อตกลงการเช่าดังกล่าวมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน จึงมีผลใช้บังคับได้ระหว่าง ว. กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่มีผลผูกพันโจทก์เพราะโจทก์มิได้ยอมตกลงกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะให้ตึกแถวคงอยู่ต่อไปในที่ดินของโจทก์ได้ต้องรื้อถอนออกไป จำเลยที่ 2 แม้จะจดทะเบียนสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะให้ตึกแถวอยู่ในที่ดินของโจทก์แล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นบริวารของจำเลยที่ 1 ต้องออกไปด้วยกรณีไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 เพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้รับโอนตึกแถวที่เช่า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้

          (3) ข้อตกลงต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่า ย่อมไม่มีผลผูกพันผู้รับโอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6491/2539  สัญญาเช่าระหว่างผู้ให้เช่าเดิมกับจำเลยระบุว่าผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าต่อระยะเวลาการเช่าไปอีกหลังจากที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วเป็นเพียงข้อตกลงต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่าซึ่งเป็นบุคคลสิทธิไม่ใช่เป็นทรัพยสิทธิที่จะได้เช่าต่อไปคงผูกพันเฉพาะคู่สัญญาคือผู้ให้เช่าห้องพิพาทเดิมกับจำเลยเท่านั้นไม่มีผลผูกพันโจทก์วิ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องพิพาทซึ่งมิได้ตกลงกับจำเลยในข้อตกลงดังกล่าวจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้โจทก์ต่อสัญญาเช่าให้อีกเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในห้องพิพาทต่อไปจำเลยก็ต้องออกไปจากห้องพิพาทนั้น

          (4) สิทธิและหน้าที่อื่นตามสัญญาเช่าไม่ใช่สาระสำคัญเกี่ยวกับสัญญาเช่า ไม่มีผลผูกพันผู้รับโอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4098/2532  โจทก์ทำสัญญาเช่าบ้านจากจำเลยที่ 1 และได้วางเงินประกันความเสียหายอันเกิดจากการเช่าไว้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงในสัญญาเช่าว่า จำเลยที่ 1 จะคืนเงินดังกล่าวให้เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงและโจทก์ได้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านเช่าแล้วก่อนสัญญาเช่าสิ้นสุดจำเลยที่ 1 ได้โอนขายบ้านให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้มอบเงินประกันความเสียหายให้แก่จำเลยที่ 2 และไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับเงินนี้ขึ้นใหม่ระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ ดังนี้ เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงและโจทก์ได้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปแล้ว โจทก์จะฟ้องเรียกเงินประกันความเสียหายคืนจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์บ้านไม่จำต้องรับเอาความรับผิดที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 วรรคสอง แต่อย่างใดเนื่องจากการคืนเงินนี้เป็นเพียงสิทธิและหน้าที่อื่นตามสัญญาเช่าไม่ใช่สาระสำคัญเกี่ยวกับสัญญาเช่าจึงหาใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่าที่ผู้รับโอนจะต้องรับผิดและปฏิบัติตามไม่.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6190/2538  จำเลยวางเงินประกันการเช่าอาคารไว้แก่ผู้ให้เช่าเดิมการคืนเงินประกันให้จำเลยเมื่อมีการเลิกการเช่าเป็นเพียงสิทธิและหน้าที่อื่นตามสัญญาเช่า ไม่ใช่สาระสำคัญเกี่ยวกับสัญญาเช่าจึงไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่าที่โจทก์ในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ให้เช่าจะต้องรับผิด โจทก์จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 วรรคสองที่จะต้องคืนเงินประกันให้จำเลย

การทำนิติกรรมเพราะถูกข่มขู่ นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ ฟ้องเพิกถอนได้


          การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

          การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น (มาตรา 164)

          การแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกข่มขู่ เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมที่ไม่ได้เกิดด้วยความสมัครใจ แต่การแสดงเจตนาทำนิติกรรมเกิดขึ้นเพราะความเกรงกลัวจากผลของการข่มขู่ นิติกรรมที่ทำขึ้นจึงตกเป็นโมฆียะ
          ทั้งนี้ การข่มขู่ที่จะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2225/2540  ก่อนโจทก์จำเลยทำสัญญากันได้มีการโต้เถียงกัน แล้วโจทก์เดินขึ้นไปบนบ้านของโจทก์ เมื่อโจทก์กลับลงมากระเป๋ากางเกงของโจทก์มีสิ่งของซึ่งไม่ทราบว่าเป็นอะไรตุงอยู่เท่านั้น โดยโจทก์ไม่ได้กระทำการอย่างใดอันเป็นการข่มขู่ให้จำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขาย ยิ่งกว่านั้นในวันที่กำหนดจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ จำเลยไปรอโจทก์ที่สำนักงานที่ดินตามนัด แต่ไม่พบโจทก์เพราะเป็นวันหยุดราชการ เช่นนี้ฟังได้ว่าจำเลยมิได้ถูกโจทก์ข่มขู่ให้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายสัญญาดังกล่าวจึงสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆียะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2551 โจทก์เข้าไปในร้านแล้วเอาเท้าวางไว้บนโต๊ะพูดจากับลูกค้าภายในร้านของจำเลยว่าสินค้าในร้านไม่มีคุณภาพ และบอกร้านค้าใกล้เคียงว่าจำเลยเป็นหนี้แล้วไม่ชำระ เป็นเพียงการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ด้วยพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น มิได้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการข่มขู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164

          ในบางกรณีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้ ไม่ให้ถือว่าเป็นการข่มขู่ ได้แก่
          มาตรา 165  "การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่
          การใดที่กระทำไปเพราะนับถือยำเกรง ไม่ถือว่าการนั้นได้กระทำเพราะถูกข่มขู่"

          ขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ได้แก่ การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามที่ผู้ขู่มีอยู่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2545  โจทก์เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการโรงแรมได้ทำสัญญาซื้อกระแสไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะปฏิเสธว่าไม่ได้ทำละเมิด แต่เมื่อมีกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าของโจทก์เกิดขึ้นตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งมีข้อความว่า "หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการซื้อขายไฟฟ้าข้อหนึ่งข้อใด ผู้ซื้อยินยอมให้ผู้ขายงดจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ซื้อได้ทันที โดยผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ซื้อและผู้ขายตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายในอันที่จะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าด้วยความสุจริตและจะไม่กระทำการใด ๆ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการละเมิดการใช้ไฟฟ้า การละเมิดการใช้ไฟฟ้า หมายถึง การทำลายหรือดัดแปลงแก้ไขมาตรวัดไฟฟ้าและหรืออุปกรณ์ประกอบใดๆ ... ทำให้มาตรวัดไฟฟ้าอ่านค่าคลาดเคลื่อน..." นอกจากนี้ในกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้า ตามสัญญายังระบุว่า "กรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าทางด้านกิโลวัตต์ และหรือกิโลวัตต์ชั่วโมง ผู้ซื้อต้องชดใช้ค่าละเมิดการใช้ไฟฟ้า..." ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินค่าละเมิดสิทธิการใช้ไฟฟ้าไปชำระแก่ฝ่ายจำเลยตามฟ้อง หากไม่ชำระภายในกำหนดจะงดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ จึงเป็นการกระทำไปตามสิทธิในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยเชื่อว่ามีสิทธิกระทำได้ ถือเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาตามปกติ หาใช่เป็นการข่มขู่ อันจะทำให้หนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องเป็นโมฆียะดังที่โจทก์อ้างไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1331/2525  เมื่อลูกจ้างได้กระทำการอันส่อว่าทุจริตเกี่ยวกับการเงินแล้วนายจ้างบอกให้ลูกจ้างลาออกมิฉะนั้นจะดำเนินคดีเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ดังนั้น เมื่อลูกจ้างสมัครใจลาออก จึงถือไม่ได้ว่านายจ้างเลิกจ้าง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5426/2553  บุตรจำเลยเช่ารถยนต์รวม 3 คัน ซึ่งเป็นของโจทก์ ส. และ น. บุตรจำเลยกลับนำรถยนต์ไปจำนำผู้มีชื่อแล้วไม่สามารถนำรถยนต์มาคืนเพราะไม่มีเงินค่าไถ่รถที่จำนำไว้ โจทก์แจ้งความเพื่อนดำเนินคดีแก่บุตรจำเลย ก. บุตรเขยแจ้งแก่จำเลยว่า ว. ได้นำรถของโจทก์ไปจำนำไว้และได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว ขอให้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไว้ ต่อมาจำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินพิพาทเกี่ยวกับการที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน เนื่องจากจำเลยเป็นมารดาของ ว. ซึ่งเช่ารถยนต์ของโจทก์กับพวกไปและนำรถไปจำนำแล้วไม่มีเงินค่าไถ่รถยนต์คืน โจทก์จึงไปแจ้งความกล่าวหาบุตรสาวจำเลยและได้เจรจากัน ต่อมาจำเลยจึงได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ การที่โจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน หากไม่ทำก็จะดำเนินคดีอาญาแก่บุตรของจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสุจริต อันถือได้ว่าเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 สัญญากู้ยืมเงินจึงมีผลใช้บังคับได้ และการที่จำเลยซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้โจทก์มาทำสัญญากู้เนื่องจากบุตรจำเลยมีหนี้กับโจทก์เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 350 ก็มิได้บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าได้ทำขึ้นโดยขืนใจลูกหนี้เดิมแล้ว สัญญาแปลงหนี้ใหม่จึงใช้บังคับได้ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญากู้พิพาท

          แต่ถ้าเป็นการข่มขู่จะใช้สิทธิทางศาลในเรื่องที่ไม่มีมูล หรือข่มขู่จะดำเนินคดีอาญาเพื่อบีบบังคับให้ผู้ถูกข่มขู่ยอมทำนิติกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับนิติกรรมที่ข่มขู่ หรือข่มขู่จะใช้มาตราการอื่นที่ไม่ใช่การดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม เหล่านี้มิใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1479/2523  การที่นายตำรวจขู่ให้โจทก์ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ให้จำเลย มิฉะนั้นจะจับโจทก์ไปขังในฐานะเป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคมนั้น ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายหรือตามปกตินิยม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5588/2540  โจทก์มิได้สมัครใจซื้อรถบรรทุก 10 ล้อ คันเกิดเหตุจากจำเลย จำเลยมิได้เจ้าของรถคันดังกล่าวแล้ว แต่กลับกล่าวหาว่าโจทก์ถอดเอาอุปกรณ์ของรถคันดังกล่าวไปขายอันเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ แล้วบังคับให้โจทก์ซื้อรถคันดังกล่าวในราคา 55,000 บาท หากไม่ซื้อก็จะดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหายักยอกทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการข่มขู่โจทก์ จนโจทก์จำต้องยอมลงลายมือชื่อในบันทึกการชำระหนี้พิพาท และยอมมอบเช็คจำนวนเงิน 55,000 บาท ให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวมาถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม แต่ถือได้ว่าเป็นภัยถึงขนาดที่จะจูงใจให้โจทก์มีมูลต้องกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่เสรีภาพของโจทก์ เป็นภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงเท่ากับที่จะพึงกลัวต่อการอันถูกจำเลยข่มขู่เอานั้น บันทึกการชำระหนี้ดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะ เมื่อโจทก์ได้บอกล้างแล้ว บันทึกการชำระหนี้ดังกล่าว จึงเป็นโมฆะเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้นโจทก์ไม่จำต้องรับผิด ตามบันทึกการชำระหนี้ดังกล่าวนั้น

          การที่กระทำไปเพราะความนับถือยำเกรง เช่น บุตรยำเกรงพ่อแม่ ลูกศิษย์ยำเกรงครูอาจารย์ นิติกรรมเหล่านี้ไม่ถือเป็นการข่มขู่ จึงมีผลสมบูรณ์

          แม้บุคคลภายนอกข่มขู่ ก็ย่อมมีผลให้การแสดงเจตนาทำนิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ
          มาตรา 166  "การข่มขู่ย่อมทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะแม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่"

เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉล


          การเพิกถอนการฉ้อฉล เป็นวิธีการทำให้ทรัพย์สินกลับเข้ามาสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามเดิม เนื่องจากนิติกรรมที่ลูกหนี้ทำไปนั้นมีผลสมบูรณ์ แต่เป็นการฉ้อฉลทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ต้องใช้การฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นตามมาตรา 237

          มาตรา 237  "เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
          บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน"


          หลักเกณฑ์การเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237


          (1) ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ลูกหนี้อยู่ก่อน
          ผู้ที่จะฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลได้ต้องเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งหนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องอยู่นั้นอาจมาจากมูลสัญญาหรือมูลละเมิด หรือมูลหนี้อย่างอื่นก็ได้ ทั้งนี้ เจ้าหนี้ที่จะใช้สิทธิเพิกถอนตามมาตรา 237 นี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิทางศาลแล้วแต่ประการใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 385/2564  จำเลยที่ 1 เป็นผู้คํ้าประกันตามสัญญาเช่าซื้อโดยตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อผู้เช่าซื้อไม่ชำระหนี้ตามกำหนดจึงตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยที่ 1 ย่อมมีภาระหนี้ที่ต้องชำระแทนผู้เช่าซื้อตามสัญญาคํ้าประกัน และถือว่าจำเลยที่ 1 ตกเป็นลูกหนี้ตั้งแต่ผู้เช่าซื้อผิดนัดเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 (เดิม) จำเลยที่ 1 จะทราบถึงการผิดนัดของผู้เช่าซื้อลูกหนี้หรือไม่ ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้คํ้าประกัน เมื่อจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาภายหลังผู้เช่าซื้อผิดนัด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอที่จะชำระให้แก่โจทก์ได้ จึงทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลนั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14934/2557  การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วมีระยะเวลาห่างกันเพียง 1 เดือนเศษ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เมื่อเป็นการให้โดยเสน่หาจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทราบหรือไม่ว่าการทำนิติกรรมดังกล่าวเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 และมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้
          จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21585 เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าว 1 ไร่ และต่อมาจดทะเบียนโอนให้จำเลยที่ 2 ทั้งแปลง อันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงต้องเพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองเท่ากับจำนวนเนื้อที่ตามที่จำเลยที่ 1 ขายให้โจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองโดยไม่ระบุเนื้อที่เท่ากับเป็นการเพิกถอนการโอนทั้งแปลงย่อมเป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247




          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15037/2555  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงไปทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบจะต้องเป็นผู้ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วในขณะที่ลูกหนี้ได้กระทำนิติกรรมดังกล่าวแล้ว เจ้าหนี้รายหลัง ๆ หามีสิทธิเช่นนั้นไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14094/2555  โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา อันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ จ. เสียเปรียบ กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 237 แล้ว แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าหนี้ที่ จ. เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับ จ. ซึ่งเป็นสามีภริยากันตามที่ได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1490 (1) ถึง (4) อันจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวร่วมกับ จ. ซึ่งจะมีผลให้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างศาลก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

          (2) ลูกหนี้ทำนิติกรรมขึ้นมาภายหลัง
          ลูกหนี้มาทำนิติกรรมขึ้นภายหลังจากก่อหนี้กับเจ้าหนี้แล้ว 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19413/2555  แม้การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทระบุว่าเป็นการขายก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 รวบรวมเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจาก ม. จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวันเดียวกัน การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมิใช่เป็นการซื้อขายเพราะมิได้มีการชำระราคากันจริง แต่ถือเป็นการให้โดยเสน่หา ส่วนการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาเงินมาไถ่ถอนที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ผู้เป็นมารดาของจำเลยที่ 4 จะถือเอาการที่ต้องไถ่ถอนจำนองเองเป็นค่าตอบแทนการโอนหาได้ไม่ เมื่อเป็นการโอนให้โดยเสน่หา แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์ดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้

          (3) นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นต้องเกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น
          ถ้าไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินแม้จะมีผลกระทบกับกองทรัพย์สินของลูกหนี้ก็เพิกถอนไม่ได้ เช่น การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรต้องอุปการะเลี้ยงดูนี้ การอุปการะเลี้ยงดูเกิดจากสถานะของบุคคลไม่ใช่เกิดจากนิติกรรม หรือจดทะเบียนหย่าต้องแบ่งแยกทรัพย์สิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3975/2553  การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้ เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีกนอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้

          (4) นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นต้องทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
          ความเสียเปรียบ อาจเกิดจากการทำนิติกรรมที่ทำให้กองทรัพย์สินของลูกหนี้นั้นลดลง เสื่อมค่าเกิดภาระแก่กองทรัพย์สิน หรือทำให้การยึดนั้นออกขายทอดตลาดได้ราคาต่ำลง เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12781/2557  เมื่อพิจารณาทรัพย์สินต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ และมีอยู่ก่อนอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ ทั้งมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทที่จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 2 ประกอบกับรายได้ประจำของจำเลยที่ 1 ย่อมเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินฝากไปซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้กระทบกระเทือนถึงฐานะและความสามารถในการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเพราะเป็นการกระทำที่ไม่ทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 814/2554  แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ช. จำเลยที่ 1 ก็เพียงแต่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของ ช. แทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่บุคคลใดโดยทายาทผู้ได้รับทรัพย์มรดกไม่ยินยอม แม้จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่โจทก์ทั้งห้ามาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทคืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 กรณีไม่ใช่เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เพราะการที่จะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น จำเลยที่ 1 ผู้โอนจะต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว แต่การโอนทำให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5658/2552  แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยกปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ขึ้นอ้างในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
          ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์กับจำเลยที่ 2 คนละครึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้

          (5) ลูกหนี้ต้องรู้ว่านิติกรรมที่ทำขึ้นนั้นทำให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ
          โดยลูกหนี้ต้องรู้ก่อนหรือในขณะทำนิติกรรมนั้นๆ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11188/2558  การที่บุคคลหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนอันตนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าเป็นตัวแทนของตนตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 821 นั้น นอกจากจะมีการแสดงออกว่าเป็นตัวแทนของบุคคลใดแล้ว บุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วยจะต้องรับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลนั้นที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการด้วย ผู้ที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการ จึงจะต้องรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการ ถ้าหากบุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วย มิได้รับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลอื่น แต่ยอมติดต่อโดยเชื่อถือผู้ที่มาติดต่อด้วยอย่างผู้มาติดต่อเป็นเจ้าของกิจการนั้นเองแล้ว ก็ต้องถือว่าไม่ใช่กรณีที่บุคคลคนหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทน หรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองเป็นผู้แทนตน อันตนจะต้องพลอยรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการไปด้วย และต้องถือเป็นกรณีที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นติดต่อกับบุคคลภายนอกเป็นส่วนตัวเอง ไม่มีการพาดพิงไปถึงบุคคลใดให้ต้องรับผิดชอบด้วย ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์เป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 บังคับให้จำเลยแสดงออกแก่โจทก์ทำให้โจทก์เชื่อว่าการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 เอง จึงเป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 เชิดจำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยร่วมที่ 1 จะยกเหตุการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมที่ 1 เพื่อจำเลยจะได้มีเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 ตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยร่วมที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นหรือตัดสินใจในการกำหนดราคาซื้อขายหรือเข้าถือเอาประโยชน์จากการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างกันเอง มาเป็นเหตุอ้างปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายเพราะการนี้หาได้ไม่ เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ทราบว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยร่วมที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมที่ 2 นั้น จำเลยร่วมที่ 2 ย่อมทราบแล้วว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ย่อมอยู่ในฐานะที่จะต้องรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบอยู่ก่อนรับโอนที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9740/2558  ขณะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้จำเลยและผู้ร้องสอดทราบแล้วว่า โจทก์ยื่นคำขออายัดที่ดินเนื่องจากจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2555 แต่จำเลยไม่ยอมมาโอนตามสัญญา เจ้าพนักงานที่ดินได้รับคำขออายัดมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2555 และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 จำเลยและผู้ร้องสอดรับทราบและยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนขายให้ หากเกิดความเสียหายใดๆ ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าเงื่อนไขที่โจทก์ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6239/2555  จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินจนเจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าว แล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไป จำเลยที่ 1 ย่อมรู้ดีว่าทำให้โจทก์ไม่อาจที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินพิพาท ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นพอจะชำระหนี้ได้ และจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าไม่ได้ประกอบอาชีพและไม่มีรายได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7824/2553  การทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์เรือระหว่างจำเลยทั้งสองต้องจดทะเบียนต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานดำเนินการรับจดทะเบียนได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเรื่องที่โจทก์แจ้งสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคขอให้ระงับการทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์เรือก่อนจดทะเบียน ต้องถือว่าขณะทำนิติกรรมจำเลยที่ 2 รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 237 โจทก์จึงใช้สิทธิขอเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์เรือระหว่างจำเลยทั้งสองได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3975/2553  การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214  ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้ เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีกนอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้

          (6) ผู้รับนิติกรรมที่เป็นบุคคลภายนอกซึ่งได้ลาภงอกโดยเสียค่าตอบแทนต้องรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2559  การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย..."แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าขณะที่ทำนิติกรรมจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ 3 รู้ว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ให้สิทธิโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทคืน ดังนี้ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในคำฟ้อง ยังไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ตามคำขอบังคับของโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ได้ ทั้งนี้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้ในเหตุนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 246 ประกอบมาตรา 142 (5)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 558/2553  ป.พ.พ. มาตรา 1167 บัญญัติว่า ความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน ตามบทบัญญัติดังกล่าว หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการในขอบอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว กิจการดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นการส่วนตัว แต่เมื่อได้ความว่า ในการทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการ โดยมอบอำนาจให้ ว. ดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2542 ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ภายในเงื่อนเวลาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกันอยู่และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้มีการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิ่งมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2542 อันเป็นเวลาหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมทราบดีว่าจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การใช้สิทธิของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์นั้น เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอ้างสิทธิอันมิชอบด้วยกฎหมายนี้มาต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้ไม่
          จำเลยที่ 4 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์อยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 4 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและจดทะเบียนการได้มาโดยสุจริตกับพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว แม้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้และต้องเสียเปรียบจากการจดทะเบียนนั้นก็ตาม โจทก์ก็หามีสิทธิเรียกให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนนั้นได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6026/2552  ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารพิพาทไม่ได้มีข้อสัญญาห้ามมิให้นำสินค้าของโจทก์คือถังแก๊สหุงต้มเข้าไปในอาคารพิพาท อาคารพิพาทเป็นอาคารพาณิชย์โจทก์ซื้อมาเพื่อทำการค้า การขายแก๊สหุงต้มเป็นอาชีพสุจริตไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เหมือนกับการขายยาเสพติด แม้การขนย้ายถังแก๊สหุงต้มเข้าไปในอาคารพิพาทจะไม่ได้แจ้งต่อทางราชการ ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้เพราะเป็นคนละส่วนกับสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารพิพาท จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงต้องเสียค่าปรับให้โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท
          หลังจากโจทก์โอนขายอาคารพาณิชย์ของตนให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ได้ย้ายเข้าไปอยู่ในอาคารพิพาท และจำเลยที่ 2 รู้ว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารพิพาทกับจำเลยที่ 1 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะโอนขายที่ดินและอาคารพิพาทให้แก่ตน จำเลยที่ 2 รู้ถึงความจริงข้อนี้อันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 แม้โจทก์จะไม่ใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5572/2552  แม้สิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจะเป็นเพียงบุคคลสิทธิ แต่การที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 5 เพื่อตีใช้หนี้ค่าวัสดุก่อสร้างให้จำเลยที่ 5 ไปโดยจำเลยที่ 5 รู้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์และรับชำระราคาบางส่วนจากโจทก์แล้วนั้น เป็นการทำนิติกรรมที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 โจทก์จึงมีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้การโอนที่ดินพิพาทจะได้มีการจดทะเบียนแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 5 รับโอนไว้โดยไม่สุจริต จำเลยที่ 5 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตรา 1300 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์เฉพาะกรณีผู้รับโอนเสียค่าตอบแทนและรับโอนมาโดยสุจริต เท่านั้น

          (7) เจ้าหนี้ต้องฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม โดยต้องฟ้องทั้งลูกหนี้และผู้รับนิติกรรมนั้นด้วยเป็นจำเลยร่วมกัน
          จะฟ้องเพียงลูกหนี้ไม่ได้ และหากมีการโอนทรัพย์สินไปยังบุคคลภายนอกแล้วก็ต้องฟ้องผู้รับโอนด้วย และนิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นนั้นแม้จะมีคำพิพากษาในคดีอื่นรับรองแล้วก็สามารถเพิกถอนได้ เพราะเป็นการฟ้องเพิกถอนนิติกรรม มิใช่เพิกถอนคำพิพากษา ซึ่งในขณะฟ้องคดีหากลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ครบถ้วนแล้ว ศาลก็พิจารณาคดีต่อไม่ได้ เพราะถือว่าหนี้ของเจ้าหนี้นั้นระงับแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5444/2551  การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 นั้น เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมคือลูกหนี้และผู้ได้ลาภงอกจากนิติกรรมเป็นจำเลยจะฟ้องเพียงคนใดคนหนึ่งไม่ได้เพราะมิฉะนั้นแล้วคำพิพากษาของศาลก็ไม่มีผลผูกพันลูกหนี้และผู้ได้ลาภงอก
          โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกจากนิติกรรมที่ทำกับ อ. ลูกหนี้ของโจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทำนิติกรรมจำนองที่ดินกับจำเลยที่ 1 เป็นจำเลย มิได้ฟ้อง อ. เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย แม้ อ. ผู้ทำนิติกรรมขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จะถึงแก่ความตายไปแล้วโจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ อ. เข้ามาเป็นคู่ความในคดี ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อน อ. ถึงแก่ความตายได้พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรและเป็นผู้ดูแลรักษา อ. ตลอดมา จึงเป็นไปไม่ได้ที่ อ. จะทำนิติกรรมขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะขัดต่อเหตุผล ถือว่านิติกรรมดังกล่าวทำขึ้นเพื่อฉ้อฉลโจทก์ ทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น เป็นเพียงการบรรยายข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า อ. กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันทำนิติกรรมเพื่อฉ้อฉลโจทก์เท่านั้น มิใช่การบรรยายฟ้องเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ อ. เมื่อโจทก์มิได้ฟ้อง อ. หรือทายาทของ อ. โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว






          ผลของการเพิกถอนการฉ้อฉล

          (1) ลูกหนี้ย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม ไม่ผูกพันที่จะต้องปฎิบัติตามนิติกรรมที่ถูกเพิกถอนนั้นอีกต่อไป
          (2) นิติกรรมที่ถูกเพิกถอนนั้นถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย ถ้านิติกรรมนั้นเป็นการโอนทรัพย์สิน ทรัพย์สินนั้นย่อมกลับคืนสู่กองทรัพย์สินเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทุกคน
          (3) ผู้รับนิติกรรมไม่ได้สิทธิตามนิติกรรมนั้น
          (4) สำหรับบุคคลภายนอกนั้น การเพิกถอนการฉ้อฉลไม่มีผลกระทบกับบุคคลภายนอกที่ได้สิทธิมาก่อนเริ่มฟ้องคดีเพิกถอน ยกเว้นสิทธิของบุคคลภายนอกเกิดจากการให้โดยเสน่หา อย่างไรก็ตามบุคคลภายนอกต้องสุจริตด้วย

          มาตรา 238  "การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้น ไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอก อันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน
          อนึ่ง ความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10252/2546  เอกสารหมาย จ. 4 เป็นเอกสารที่โจทก์อ้างอิงและยื่นต่อศาลภาษีอากรกลางก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ตามข้อ 15 แห่งข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2544 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ดังนั้น แม้ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความถึงเอกสาร ดังกล่าว โจทก์ย่อมสามารถหยิบยกเอกสารดังกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้
          เอกสารหมาย จ. 4 เป็นหนังสือทั่วไปที่สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ 10 แจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการ ของธนาคารจำเลยที่ 4 รวมทั้งแจ้งถึงผู้จัดการธนาคารอื่นว่า จำเลยที่ 1 และบุคคลอื่นตามบัญชีรายชื่อผู้ค้างชำระภาษีอากรดังกล่าว มีบัญชีเงินฝากอยู่ที่ธนาคารหรือไม่ หากมีเป็นเงินฝากประเภทใด เลขที่บัญชีใด จำนวนเท่าใด แล้วแจ้งให้สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ 10 ทราบ โดยไม่ได้แจ้งว่าโจทก์กำลังจะบังคับชำระหนี้ที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 จำนองไว้กับจำเลยที่ 4 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 รู้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้าง ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ถือว่าจำเลยที่ 4 ได้จดทะเบียนรับจำนอง ที่ดินพิพาทโดยมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จำเลยที่ 4 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต ก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอนการฉ้อฉล การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น ย่อมไม่กระทบถึงสิทธิของจำเลยที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 238
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3180/2540  โจทก์มีเจตนาที่จะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 ให้เสร็จเด็ดขาดไป เหตุที่ไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในวันนัดเกิดจากการบิดพลิ้วของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ไปตามกำหนดนัด ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งทราบดีว่าจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่เคยบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแก่โจทก์ และตั้งแต่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทมาจนกระทั่งขายให้จำเลยร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีโฉนดที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองแทน ผิดปกติวิสัยผู้ที่ทำการซื้อขายที่ดินกันโดยทั่วไป ไม่น่าเชื่อว่ามีการซื้อขายกันโดยสุจริตการที่จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
          ผู้ได้ลาภงอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 หมายถึงผู้ที่เป็นคู่กรณีทำนิติกรรมกับลูกหนี้โดยตรง ส่วนบุคคลภายนอกในมาตรา 238 เป็นผู้ที่ได้รับโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อจากผู้ทำนิติกรรมกับลูกหนี้ จำเลยร่วมทั้งสองเป็นผู้ได้รับโอนที่ดินพิพาทของลูกหนี้ต่อจากผู้ทำนิติกรรมกับลูกหนี้ จึงเป็นบุคคลภายนอกตามความหมายของมาตรา 238 หาได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 237 ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5467/2539   จำเลยที่ 5 โจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ 1 มาเจรจาตกลงกันตามบันทึกเอกสารหมาย ล.8 ซึ่งจำเลยที่ 5 ได้ไกล่เกลี่ยให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ทั้งสองตกลงกันในเรื่องเงินช่วยค่าก่อสร้างโดยถืออัตราค่าก่อสร้างเฉพาะตัวอาคารเป็นเกณฑ์กำหนดตามที่กรมธนารักษ์แจ้งมา และโจทก์ทั้งสองก็ยินยอมเสียเงินช่วยค่าก่อสร้างอาคารตามจำนวนที่จำเลยที่ 5 ไกล่เกลี่ย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมและตกลงด้วยก็ถือได้ว่า โจทก์ทั้งสองแสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 5 แล้ว ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 5 จึงหาอาจจะเปลี่ยนแปลง หรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 375
          แม้จะได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของ จ.หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ย่อมจะรู้ถือสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่มีต่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 อันจะถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 5 โดยไม่สุจริตก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนสิทธิการเช่าแก่จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลภายนอกซึ่งได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่ากระทำการโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 โจทก์ทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 4 รับโอนสิทธิการเช่าโดยไม่สุจริต แต่โจทก์ทั้งสองนำสืบได้แต่เพียงว่าจำเลยที่ 4 ได้สอบถามเรื่องราวเกี่ยวกับอาคารพิพาทจากโจทก์ทั้งสองตลอดมา ซึ่งยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าจำเลยที่ 4 ไม่สุจริต ด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจเพิกถอนสัญญาเช่าอาคารระหว่างจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 5 ได้
          สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 5 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ระงับสิทธิของโจทก์ทั้งสองโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าทำสัญญาเช่าอาคารแทนที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 จึงต้องรบผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายเอากับจำเลยที่ 1 เท่านั้น จึงบังคับให้ได้เท่าที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้อง สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น มิใช่คู่สัญญาในสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ทั้งสองไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 4 นอกจากฟังไม่ได้ว่ารับโอนสิทธิการเช่าโดยไม่สุจริต ยังไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ทั้งสอง จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเช่นกัน




          อายุความการเพิกถอนการฉ้อฉล

          มาตรา 240  "การเรียกร้องขอเพิกถอนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องร้อง เมื่อพ้นปีหนึ่ง นับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น"
         
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18346/2556  แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าการที่ ห. กับ ส. สมคบกันโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ และขอให้เพิกถอนสัญญาระหว่าง ห. กับ ส. และจำเลยเสีย คำฟ้องของโจทก์ก็ไม่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย เพราะโจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ด้วย หาใช่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมใดที่ทำขึ้นอันเป็นการให้โจทก์เสียเปรียบไม่ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องขอเรียกทรัพย์คืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2551  จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน ไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 จึงนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้
          จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนารที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2550  การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับจำเลยที่ 1 โดยก่อนจะมีการทำสัญญาซื้อขายห้องชุดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คมาแลกเงินสดไปจากจำเลยที่ 2 รวม 10 ฉบับ เป็นเงิน 597,000 บาท ภายหลังจากเช็คถึงกำหนดชำระ จำเลยที่ 2 นำเช็คทั้งสิบฉบับไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1 จึงโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน ซึ่งจำเลยที่ 2 รับเช็คไว้ถึง 10 ฉบับ ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีอาชีพปล่อยเงินกู้ อีกทั้งไม่เคยรับแลกเช็ค เพิ่งทำครั้งนี้เป็นครั้งแรก การที่จำเลยที่ 2 รับแลกเช็คจากจำเลยที่ 1 จึงผิดปกติวิสัยหลายประการ ประการแรก คือ พฤติการณ์ที่ลุงของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่กล้าให้จำเลยที่ 1 แลกเช็ค แต่แนะนำให้จำเลยที่ 1 นำเช็คมาแลกเงินสดจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานของตนเอง ประการต่อมาเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาแลกเงินสดทั้งสิบฉบับล้วนเป็นเช็คของคนอื่น ไม่ใช่เช็คของจำเลยที่ 1 และเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดแทนที่จำเลยที่ 2 จะรีบนำเช็คแต่ละฉบับไปเรียกเก็บเงินทันที กลับปล่อยเวลาล่วงเลยไป จึงเพิ่งนำไปเรียกเก็บเงินพร้อมกัน และต่อมาจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเพื่อชำระหนี้ตามเช็ค และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองต่อจำเลยที่ 3 ในวันเดียวกัน อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยังได้ทำบันทึกว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับโอนห้องชุดดังกล่าวชำระหนี้ตามเช็คทั้งสิบฉบับ รวมเป็นเงิน 597,100 บาท และหนี้ที่เหลือไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อเหตุผล เพราะกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่จำเลยที่ 2 รับโอนมีราคาประมาณ 400,000 บาท อีกทั้งยังจำนวนแก่จำเลยที่ 3 เป็นประกันหนี้อยู่ประมาณ 270,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์แล้วจึงยังต้องรับภาระชำระหนี้จำนองดังกล่าวด้วย แต่จำเลยที่ 2 กลับทำบันทึกว่า หนี้ที่เหลือไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป ทั้งช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 รับแลกเช็คจากจำเลยที่ 1 และทำสัญญารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด อยู่ในระหว่างเวลาที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้และจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ดังกล่าว จึงเป็นข้อบ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดโดยรู้ว่าจะเป็นการให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลโจทก์
          โจทก์ได้ไปตรวจสอบเอกสารกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่สำนักงานที่ดิน เขตลาดพร้าว วันที่ 2 มีนาคม 2542 จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 เมื่อนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนคือวันที่ 2 มีนาคม 2542 ถึงวันฟ้อง จึงเป็นระยะเวลาไม่พ้นหนึ่งปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ      
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2547  จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยได้มีการส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองเข้าซ่อมแซมครอบครองตลอดมา อันเป็นการชำระหนี้บางส่วน ข้อตกลงจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทจึงมีผลผูกพันบังคับต่อกันได้แล้ว
          จำเลยทั้งสองสมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แท้จริง การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 ก็ได้ โจทก์ทั้งสองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อใดก็ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองมิใช่การฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240



หน้าที่และความรับผิด ของผู้จัดการมรดก


          ผู้จัดการมรดกอาจมีที่มาจากโดยทายาทแต่งตั้ง โดยพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล ซึ่งผู้จัดการมรดกแต่ละประเภทนั้นกฎหมายให้มีอำนาจหน้าที่แตกต่างกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8740/2547  คดีขอจัดการมรดก ประเด็นในคดีมีว่า ผู้ร้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ มีเหตุที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 และบุคคลที่จะเป็นผู้จัดการมรดกมีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 1718 หรือไม่
          ขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ซ. บุตรของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของ ซ. จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทของเจ้ามรดกอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยอ้างความเป็นทายาทได้ และเมื่อ ล. บุตรอีกคนหนึ่งของเจ้ามรดกได้ยื่นคำร้องขอรับที่ดินมรดก ซ. และ ถ. คัดค้าน แต่ต่อมา ซ. และ ถ. ได้ตกลงให้ ล. รับโอนที่ดินมรดกไปแต่ผู้เดียวและ ล. ได้ครอบครองทำกินโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน เช่นนี้ถือได้ว่า ซ. ถ. และ ล. ทายาทเจ้ามรดกได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันแล้วตามมาตรา 1750 วรรคหนึ่ง หาก ซ. ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่อาจเรียกร้องที่ดินมรดกตามที่ตกลงแบ่งปันกันได้ จึงไม่มีมรดกที่จะตกทอดแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 181/2537   ผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ที่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือทางพินัยกรรมของผู้มรณะโดยตรง บุคคลใดที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกก็ชอบที่จะร้องขอได้ เมื่อ ง. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกจึงตกแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นมารดากับบุตรทั้งสามและ ญ.ภริยาของเจ้ามรดก แต่ที่ดินพิพาทยังไม่ได้แบ่ง ญ. ก็ถึงแก่ความตายดังนี้ สิทธิในที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกได้แก่ ญ. จึงเป็นมรดกของ ญ.ที่ต้องตกได้แก่ผู้คัดค้านกับ ถ. บิดามารดาและบุตรทั้งสามของ ญ. ผู้คัดค้านย่อมมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ง. ด้วยตามส่วน ถือได้ว่าผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 419/2541  ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ ฉบับแรกตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ฉบับหลังตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก แต่ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมทั้ง 2 ฉบับเป็นทรัพย์คนละส่วนกัน ตามคำร้องขอของผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องเป็นบุตรคนหนึ่งของผู้ตายและมีสิทธิรับมรดกส่วนหนึ่งของผู้ตายตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารท้ายคำร้อง ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะทายาทของผู้ตาย เมื่อปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกตามที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องขอ ผู้ร้องจึงใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขอตั้งผู้จัดการมรดกได้
          การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ ฉบับแรกตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์มรดกส่วนหนึ่ง และฉบับหลังตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่ง แต่ข้อกำหนดในพินัยกรรมทั้งสองฉบับมิได้ขัดกัน จึงไม่มีผลทำให้ผู้ร้องถูกเพิกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก
เมื่อผู้ร้องยังคงมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับแรก ดังนั้น พินัยกรรมของผู้ตายทั้งสองฉบับย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย และเมื่อผู้ตายมีความประสงค์ให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมให้แยกจากกันเช่นนี้ จึงไม่สมควรที่ศาลจะตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว จึงให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพื่อจัดการมรดกตามพินัยกรรมแต่ละฉบับตามความประสงค์ของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4886/2541   ศ.ภริยาของ ช. ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ศ. ส่วนผู้คัดค้านมิใช่บุตรของ ศ. มิใช่ทายาทโดยธรรม และไม่ใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ช.และ ศ.ในอันที่จะยื่นคำร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ เมื่อผู้ร้องเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมของ ศ.ทั้งเป็นผู้จัดการมรดกของ ศ.ซึ่งมีทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมกับ ช.ในที่ดินโฉนดเลขที่13566 เมื่อ ศ. ถึงแก่กรรม ที่ดินส่วนที่ ศ. มีกรรมสิทธิ์รวมย่อมตกแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมทันที ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1599 ดังนี้ ผู้ร้องย่อมมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดดังกล่าว และถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์มรดกของ ช.ด้วย ตามป.พ.พ.มาตรา 1713 ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ช.ได้

          เวลาเริ่มต้นมีอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก

          กรณีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล เริ่มมีอำนาจหน้าที่ตั้งแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาล ซึ่งคำสั่งศาลอาจจะยังไม่ถึงที่สุดก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5516/2536  ระหว่างอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ตั้งผู้ร้องผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส.ร่วมกัน ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมยังคงผูกพันตามคำสั่งศาลชั้นต้นในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ร่วมกันและมีหน้าที่จะต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งเอกสารตัวจริงที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกมาไว้ที่ศาล เพื่อจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จตามกำหนดได้
          กรณีผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม เริ่มมีอำนาจหน้าที่ตั้งแต่เมื่อแสดงเจตนาเข้ารับหน้าที่ โดยหากยังไม่เข้ารับหน้าที่และทายาทแจ้งมาว่าจะรับหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ หากไม่ตอบรับภายใน 1 เดือนก็ถือว่าปฏิเสธไม่เป็นผู้จัดการมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 985/2535  ข้อกำหนดพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านเป็นส่วนใหญ่ และตั้งพันโทหญิง ม. และนาง ม. บุตรผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านให้ทนายความแจ้งไปยังพันโทหญิง ม. และนาง ม. ว่าจะรับเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ คนทั้งสองได้รับหนังสือแล้วไม่ตอบรับเป็นผู้จัดการมรดกภายใน 1 เดือน นับแต่วันรับแจ้งความ ถือได้ว่าคนทั้งสองปฏิเสธที่จะรับเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1717 ไม่สมควรตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          ผู้จัดการมรดกโดยทายาทแต่งตั้ง กรณีนี้เป็นเรื่องตั้งตัวแทนจึงต้องมีคำเสนอคำสนองรับ หากเมื่อตกลงรับหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ก็เริ่มมีอำนาจหน้าที่ทันที

          สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก

          สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลและผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมที่สำคัญมีอยู่ 2 ประการตามมาตรา 1719 กล่าวคือ ประการแรก สิทธิและหน้าที่กระทำการเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และประการที่สอง สิทธิและหน้าที่ที่จะจัดการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6838/2555  หลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ว. ทายาทคนหนึ่งของเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของ ว. จึงตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิชั้นบุตรและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยา หลังจากนั้นได้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกระหว่างผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของเจ้ามรดกให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาท ว. ซึ่งในวันที่ทำบันทึกแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ปรากฏว่าผู้จัดการมรดกกระทำโดยมิชอบหรือทำผิดหน้าที่หรือทำเกินอำนาจหน้าที่ผู้จัดการมรดกแต่ประการใด จึงเป็นสิทธิของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกทำกิจการในขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1724 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงมีผลผูกพันทายาททั้งหมดของเจ้ามรดก รวมทั้งโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นทายาทของเจ้ามรดกทั้งไม่ใช่ทายาทผู้เข้ารับมรดกแทนที่ ว. เป็นเพียงทายาทของ ว. ซึ่งมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกที่ตกได้แก่ ว. เท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1724
          แม้บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกจะมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะกระทำแทนผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต และจำเลยที่ 2 ได้กระทำบันทึกดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่การขออนุญาตศาลหรือไม่ ไม่ใช่แบบของนิติกรรมและกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะกรรม ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามมาตรา 1574 ไม่ได้ เว้นแต่ศาลอนุญาตนั้น เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้ศาลเป็นผู้กำกับดูแลผลประโยชน์ส่วนได้เสียของผู้เยาว์ โดยดูแลให้ผู้แทนโดยชอบธรรมปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์อย่างถูกต้องแท้จริงเท่านั้น นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถึงขนาดตกเป็นโมฆะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันผู้เยาว์ที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะอันจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดก็สามารถยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แต่มีผลเพียงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่จะยกการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามบันทึกดังกล่าวได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเพิกถอนบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวได้



          การปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก


          (1) ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จจากกองมรดกว้นแต่พินัยกรรมหรือทายาทโดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดไว้ ตามมาตรา 1721

          (2) ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใดซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตหรือได้รับอนุญาตจากศาล ตามมาตรา 1722
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3886/2566  การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นหนังสือและต่างได้ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 กรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันต่อกันและได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในบันทึกที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงกันนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิอันพึงมีพึงได้แก่โจทก์ทั้งสามตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย ดังนั้น โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องร้องให้บังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย แต่การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้ใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด” ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำคำพิพากษาของศาลไปให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาได้ และการเพิกถอนดังกล่าวมิใช่หนี้ที่เป็นการทำนิติกรรมที่ศาลจะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง
          จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ให้แก่ตนเองแล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 แต่เพียงผู้เดียว จากนั้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองไว้แก่สหกรณ์การเกษตร ป. เป็นการกระทำภายหลังวันที่ 6 สิงหาคม 2560 ที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายกัน โดยที่บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 ในส่วนของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 นั้น เฉพาะแต่จำเลยทั้งสองเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองย่อมสามารถกระทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตายที่ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมนั้นหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 และมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 ยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนที่ตนจะได้โดยรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่นที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กลับสู่กองมรดกของผู้ตายและบังคับให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองได้
          ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ. 17 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ให้แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 2 และยังไม่มีการแบ่งปันให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายและจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงเพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก แม้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ได้ในฐานะทายาทของจำเลยที่ 1 แต่ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนแบ่งปันที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 แทนจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ได้ เพราะกรณีเช่นนี้เป็นสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 คงพิพากษาได้แต่เพียงแสดงกรรมสิทธิ์ว่าโจทก์ที่ 3 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 จำนวน 1 ใน 2 ส่วน เมื่อที่ดินพิพาทดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันมรดกของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิแบ่งส่วนเอาจากที่ดินพิพาทดังกล่าวได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2560  ป. เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ตามคำสั่งศาลจึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท ย่อมมีสิทธินำหุ้นอันเป็นทรัพย์มรดกของ อ. เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยอันเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ทั่วไปของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1723 โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาท เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ได้มีลักษณะเป็นตัวแทนของทายาท เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดก ให้นำบทบัญญัติ บรรพ 3 ลักษณะตัวแทนมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น และการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่การทำนิติกรรมอันจะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 จึงไม่ตกเป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19759/2557 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย ตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัวในฐานะที่ตนเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นของผู้ตาย ซึ่งมีโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองรวมอยู่ด้วย จะทำให้โจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3408/2525   การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของสามีโจทก์ร่วมกับโจทก์ เอาทรัพย์สินกองมรดกมาทำสัญญาแบ่งให้ตนเอง ประโยชน์ส่วนได้เสียของจำเลยย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก แม้จะเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัวก็ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 สัญญาแบ่งทรัพย์นั้นจึงตกเป็นโมฆะ 

          (3) ผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่จะกระทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาลหรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ตามมาตรา 1723
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1825/2523   ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง น. ส. และ สมเป็นผู้จัดการมรดกระหว่างจัดการมรดก ศาลนัดพร้อมผู้จัดการมรดกมาพร้อมกัน ผู้จัดการมรดกแถลงร่วมกันว่า ว.ข., และ ข. ขอซื้อที่นามรดกราคาไร่ละ 3,350 บาท  ผู้จัดการมรดกเห็นชอบและตกลงขาย ศาลชั้นต้นให้รับเงินค่าที่นา 25% ไว้ หลังจากนั้นในวันเดียวกันนั้น สม. ยื่นคำร้องขอซื้อที่นามรดกในราคาไร่ละ 3,500 บาท ศาลชั้นต้นสั่งใหม่อนุญาตขายให้ สม. และคืนเงินให้ ว. กับพวก เช่นนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1723 การจัดการมรดกตกเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดก จะให้ผู้ให้ทำแทนไม่ได้  เว้นแต่จะมีอำนาจทำได้โดยพินัยกรรมและอื่นๆ (มาตรา 1723 ตอนท้าย) กรณีที่จะขายนามรดกให้กับบุคคลใดย่อมเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการมรดก เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำเอง มิใช่เป็นอำนาจของศาล ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไป จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว  (ศาลสูงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้น)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2953/2523   ป. บ. และ ส. กับจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ได้จัดแบ่งที่ดินมรดกและตกลงให้มีการทำถนนเพื่อให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินด้านในๆ มีทางออกสู่ถนนได้กับตกลงกำหนดแนวทางที่จะทำถนนไว้แล้ว ป. บ. และ ส. เป็นโจทก์โดย ป. และ บ. มอบอำนาจให้ ส. ฟ้อง อ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่ยอมสละที่ดินให้ทำถนน อันเป็นการฟ้องให้สละที่ดินทำถนนเพื่อทายาทอื่นใช้ร่วมกันตามข้อตกลงแบ่งมรดกตามที่ ป. บ. และ ส. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเห็นพ้องต้องกัน ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมรดกร่วมกันนั่นเองไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผู้จัดการมรดกตั้งตัวแทนให้จัดการมรดกรายนี้โดยไม่มีอำนาจ อันจะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1723
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5141/2543   ผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1723 เมื่อโจทก์ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกจึงไม่อาจจัดการมรดกได้โดยตนเอง ทั้งเหตุที่ต้องโทษจำคุกก็เนื่องมาจากการเบียดบังทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนในฐานะผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์ ดังนี้ ถือได้ว่ามีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดก

          (4) ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมกับบุคลภายนอกโดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันบุคคลภายนอกได้ให้คำมั่นว่าจะเป็นลาภส่วนตัวไม่ได้ เว้นแต่ทายาทจะยินยอมด้วย ตามมาตรา 1724
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107/2541  เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ อ.ตามคำสั่งศาลแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1719 และจะต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน ตามมาตรา 1728 หากในการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของ อ. จำเป็นต้องขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกเพื่อนำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจนำที่ดินนั้นไปขายได้
          หลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการใดอันเป็นการแสดงให้เห็นว่า เป็นการจัดการมรดกหรือมีการทำบัญชีทรัพย์มรดก การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ก็มิใช่เพื่อจะนำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันให้แก่ทายาทของ อ. แต่กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินส่วนหนึ่งของเงินมัดจำที่โจทก์มอบให้ไว้ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไปใช้จ่ายในคดีล้มละลายที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้อง อีกทั้งก่อนโจทก์และจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับพิพาทกัน จำเลยที่ 1 และโจทก์รู้อยู่แล้วว่าทายาทของ อ.ไม่ต้องการให้ขายที่ดินแปลงพิพาท โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของ อ.ได้ยื่นคำขออายัดที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ กับได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. และศาลได้มีคำสั่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ อ.แทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ อ.ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ เมื่อมิใช่เป็นการทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ทั้งยังเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายกันโดยไม่สุจริต นอกจากนี้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจปรับเข้ากับ ป.พ.พ.มาตรา 1736 และมาตรา 1740 ได้ เพราะมิใช่กรณีที่จะทำการใดๆ ในทางจัดการที่จำเป็นตามมาตรา 1736 หรือเป็นการขายทรัพย์เพื่อชำระหนี้ตามมาตรา 1740 ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จึงไม่ผูกพันทายาทของ อ. โจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ.ให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้

          (5) การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดหลายคนต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากันเมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดตามมาตรา 1726 ซึ่งกรณีนี้แยกเป็น 2 กรณี กล่าวคือ 
          ก. กรณีผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล กฎหมายให้จัดการร่วมกัน คือ หากคนใดคนหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือเสียชีวิต ผู้จัดการมรดกที่เหลือก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อีกต่อไป จะต้องมาขออำนาจจากศาล
          ข. กรณีผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม กรณีนี้แม้ต้องจัดการร่วมกัน แต่ถ้าคนใดคนหนึ่งตายไป คนอื่นที่เหลือก็ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป แต่ต้องถือเอาเสียงข้างมาก ตามมาตรา 1715 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2544  จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจาก ข. ผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่ง จึงไม่ใช่นิติกรรมที่ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงส่วนมาก ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1726 ย่อมไม่ผูกพันกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 การที่ ข. ให้ความยินยอมในภายหลังไม่ทำให้นิติกรรมที่ไม่ชอบกลับเป็นนิติกรรมสมบูรณ์ขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้จำเลยที่ 1 และ ข. ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขาย เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และ ข. ในภายหลังโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 ได้แจ้งยกเลิกการขายที่ดินพิพาทกับโจทก์แล้ว จึงไม่ใช่เป็นการกระทำที่ทำลงโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18893/2555  ป.พ.พ. มาตรา 1726 บัญญัติว่า “ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก...ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด” ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาล การฟ้องคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกประการหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์แต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจยื่นฟ้องเพียงลำพัง แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นปฏิปักษ์และเสียหายต่อกองมรดกก็ตาม เพราะโจทก์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุขัดข้องเพื่อขออนุญาตฟ้องหรือขอให้ศาลถอดถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ได้ นอกจากนี้โจทก์อาจใช้สิทธิความเป็นทายาทฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการจัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ก็ได้



          อำนาจหน้าที่ผู้จัดการมรดกที่กฎหมายบังคับ

          (1) ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพผู้ตาย ตามมาตรา 1649 (แต่ผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพผู้ตาย)
          (2) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ทำบัญชีทรัพย์มรดก แต่กรณีผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลอาจมีข้อยกเว้นได้ตามมาตรา 1713 ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก จัดการมรดกเพื่อการใดโดยเฉพาะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4692/2552  ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลยังมีภาระหน้าที่ที่จะต้องรวบรวมทรัพย์มรดกซึ่งมีจำนวนมากมายหลายรายการ ต่อสู้คดีที่ถูกเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องให้ชำระหนี้แทนกองมรดก รวมทั้งบริหารจัดการบริษัทกล้วยไม้สืบแทนเจ้ามรดก เมื่อภาระหน้าที่ดังกล่าวยังไม่ลุล่วง ผู้ร้องย่อมจะไม่สามารถลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ฟังคำสั่งศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1728 (2) ประกอบมาตรา 1716 โดยให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนตามมาตรา 1729 นับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 เพราะมีอุปสรรคขัดขวาง มิใช่ผู้ร้องละเลย ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเพราะผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ผู้คัดค้านล่วงรู้ว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกมากเพื่อปิดบังทรัพย์มรดกนั้น ผู้คัดค้านมิได้นำสืบพยานใดสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนตามภาระการพิสูจน์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 84 (1) พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงไม่พอรับฟัง แม้ผู้ร้องไปขอรับเงินฝากอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกจากธนาคาร ตามหนังสือทายาทขอรับมรดก แต่ความก็ปรากฏจากเอกสารฉบับนั้นว่าผู้ร้องขอรับเงินในฐานะผู้จัดการมรดก มิได้กระทำเป็นการส่วนตัว ส่วนการรับโอนที่ดินมรดกก็ปรากฏจากคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านเองว่าผู้ร้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกเช่นกัน จึงไม่ใช่การกระทำที่ส่อว่าเป็นการทุจริตหรือปิดบังทรัพย์มรดก ที่ผู้ร้องยังมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทก็เนื่องจากกองมรดกมีหนี้สิน ดังนั้น ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ โดยในวรรคสองกำหนดว่าในระหว่างเวลาเช่นว่านั้นผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่น แก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้วผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก แม้กระนั้นมาตรา 1744 ยังบัญญัติรับรองต่อไปว่า ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เว้นแต่เจ้าหนี้กองมรดกที่ปรากฏตัวได้รับชำระหนี้แล้วทุกคน ดังนั้น การกระทำของผู้ร้องจึงมิใช่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก
          ป.พ.พ. มาตรา 1713 เพียงแต่กำหนดเหตุที่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งพนักงานอัยการอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีต่างๆ เท่านั้น และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องเสนอบัญชีทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกต่อศาลด้วยในคราวเดียวกัน หากแต่แยกกำหนดไว้ในมาตรา 1725 ว่า ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้นั้นภายในเวลาอันสมควร การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก เช่นนั้นในขณะที่ยังไม่มีภาระหน้าที่ผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องทายาทของเจ้ามรดกและไม่เป็นเหตุที่ศาลอาจถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก
          (3) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่แจ้งหนี้อันเป็นคุณหรือเป็นโทษระหว่างผู้จัดการมรดกกับกองมรดก ตามมาตรา 1730
          (4) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่หาประกันในการจัดการมรดก ตามมาตรา 1730 ประกอบมาตรา 1597(1) 
          (5) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ในการแถลงความเป็นไปในการจัดการทรัพย์มรดกแก่ทายาท ตามมาตรา 1730 ประกอบมาตรา 1597(2)
          (6) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่สืบหาผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนดพินัยกรรม ตามมาตรา 1725
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2170/2538   เมื่อผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการโอนทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามที่พินัยกรรมกำหนดไว้ การจัดการมรดกจึงยังไม่เสร็จสิ้น แม้ต่อมาผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมจะถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการตามที่จำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดแห่งพินัยกรรมโดยการสืบหาทายาทของผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมเพื่อแจ้งให้ทราบและรับโอนทรัพย์มรดกดังกล่าวของผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719  ซึ่งไม่ใช่เป็นการจัดการมรดกของผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม
          (7) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่เรียกเก็บหนี้สิน ตามมาตรา 1736 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292/2491   ผู้จัดการมรดกของผู้ตายมีอำนาจนำคดีขึ้นสู่ศาลฟ้องผู้ทำสัญญาจะขายอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้ตาย ให้บังคับโอนขายอสังหาริมทรัพย์นั้น แก่กองมรดกได้ 
          (8) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ส่งเงินและทรัพย์สินที่ได้จากการจัดการทรัพย์มรดกเข้ากองมรดก ตามมาตรา 1720 ประกอบมาตรา 810
          (9) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการมรดกและแบ่งปันมรดก ตามมาตรา 1732 ซึ่งต้องจัดการทำบัญชีให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี เว้นแต่ผู้รับพินัยกรรมหรือทายาทเสียงข้างมากหรือศาลจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

          ความรับผิดของผู้จัดการมรดก

          กรณีที่ผู้จัดการมรดกไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือประมาทเลินเล่อ ผู้จัดการมรดกนั้นก็จะต้องรับผิดต่อทายาทหรือต่อบุคคลภายนอก ตามมาตรา 1720

          ความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาท

          (1) รับผิดชดใช้ดอกเบี้ยสำหรับหนี้เงิน กรณีที่ผู้จัดการมรดกนำเงินที่ควรส่งเข้ากองมรดกไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ก็ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับต้้งแต่วันเอาไปจนกระทั่งถึงวันที่นำเงินส่งเข้ากองมรดก ตามมาตรา 1720 ประกอบมาตรา 811
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2529  ป.เป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ.ตามคำสั่งศาล จึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนผู้รับพินัยกรรม ป.ตายขณะที่ยังไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดก จำเลยเข้าเป็นผู้จัดการมรดกของ ป.ตามคำสั่งศาลโดยระบุรายการทรัพย์สินต่าง ๆ ของ ป.ไว้เป็นอย่างเดียวกับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของ ฉ. จึงถือว่าจำเลยครอบครองทรัพย์มรดกของ ฉ. สืบต่อจาก ป. และตามคำฟ้องแสดงว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวด้วย มิใช่ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป.แต่ประการเดียว ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิตามพินัยกรรมของ ฉ.ด้วยผู้หนึ่ง ได้ทวงถามจำเลยให้แบ่งปันทรัพย์มรดกแล้ว จำเลยปฏิเสธ สิทธิของโจทก์จึงถูกโต้แย้ง โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย
          ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกอันเป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ประเภทที่มิใช่ตัวเงิน ความรับผิดของจำเลยมีเพียงหนี้ที่จะต้องแบ่งทรัพย์มรดกที่มิใช่หนี้เงิน จำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์.    
          (2) รับผิดเพราะประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหาย ตามมาตรา 1720 ประกอบมาตรา 812
          (3) รับผิดเพราะไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย ตามมาตรา 1720 ประกอบมาตรา 812
          (4) รับผิดเพราะกระทำไปโดยปราศจากอำนาจหรือกระทำนอกเหนืออำนาจ ตามมาตรา 1720 ประกอบมาตรา 812
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 713/2557  จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกพิพาทมาเป็นของตนแต่ผู้เดียว แล้วต่อมาจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์และทายาทอื่นมิได้รู้เห็นยินยอม เป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ถือเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ไม่มีผลผูกพันโจทก์และทายาทอื่นตามมาตรา 1720 และมาตรา 823 จำเลยที่ 2 ผู้รับการยกให้ไม่อาจได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ แม้จำเลยที่ 3 ผู้ซื้อทรัพย์มรดกพิพาทจากจำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่มีสิทธิ ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน แต่ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งมีทายาทด้วยกันรวม 6 คน การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมการขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาทด้วยกันทั้งหมดทุกคนตามมาตรา 1359 เมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่ 1 ใน 6 ส่วน จึงต้องเพิกถอนนิติกรรมการให้และนิติกรรมการขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 111/2528  คำฟ้องของโจทก์กล่าวโดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ตามคำสั่งศาล สมคบกับจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนทรัพย์มรดกส่วนของโจทก์มาเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวแล้วจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2  โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม ขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว แม้จะกล่าวว่าเป็นการฉ้อฉล ก็หาได้ทำให้สาระสำคัญของคำฟ้องเสียไปไม่  และโจทก์ไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีกว่าจำเลยที่ 2 ใช้วิธีการฉ้อฉลอย่างไร การที่จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกทั้งหมดมาเป็นของตนผู้เดียว ย่อมเป็นการกระทำที่ผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดก เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทย่อมมีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวได้ 

          ความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อบุคคลภายนอก

          กรณีนี้นำเอามาตรา 823 มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือ ถ้าทำโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจ และทายาทไม่ให้สัตยาบันแก่การที่ทำไปนั้น ผู้จัดการมรดกก็จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพัง เว้นแต่บุคคลภายนอกจะรู้ว่าผู้จัดการมรดกทำโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจ