01 มีนาคม 2567

การบอกล้างโมฆียะกรรม


          นิติกรรมอันเป็นโมฆียะ หมายถึงนิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมายจนกว่าจะมีการบอกล้าง เนื่องจากเป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องในเรื่องความสามารถของผู้ทำนิติกรรม หรือเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน หรือเกิดจากการแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพระถูกกลฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ หรือเกิดจากกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว ย่อมมีผลทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะย้อนไปถึงเวลาเริ่มแรกทำนิติกรรมนั้น

          การบอกล้างโมฆียะกรรม เป็นการแสดงเจตนาทำลายนิติกรรมอันเป็นโมฆียะที่ยังมีผลสมบูรณ์อยู่นั้น ให้เป็นอันเสียเปล่าไป ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว โดยหากมีการบอกล้างแล้ว นิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้นย่อมเป็นอันสิ้นผลไป มีผลให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่หากไม่ใช้สิทธิในการบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะดังกล่าว จนล่วงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้วนิติกรรมนั้นก็จะมีผลสมบูรณ์ตลอดไป ไม่อาจใช้สิทธิบอกล้างได้อีก


          ผู้มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ

          มาตรา 175  "โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้
          (1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ผู้เยาว์จะบอกล้างก่อนที่ตนบรรลุนิติภาวะก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
          (2) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์
          (3) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่
          (4) บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว
          ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16512/2557  จำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ทำการซื้อขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 3 รับราชการอยู่ที่สำนักงานเขตมีนบุรีโดยทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ อีกทั้งมีหลักฐานสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทย่อมสามารถตรวจสอบสภาพที่ดินได้ตลอดเวลาว่าที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นบ่อดิน ป่ารก มีน้ำท่วมขังซึ่งความนี้จำเลยที่ 1 เองก็ทราบจากผู้รับมอบอำนาจของตนที่ไปขอรังวัดสอบเขตที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 3 พาจำเลยที่ 4 ไปดูที่ดินของ ส. แต่กลับอ้างว่าเป็นที่ดินพิพาท จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งความจริงให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายหน้าฝ่ายโจทก์ทราบ ครั้นจำเลยที่ 4 พาโจทก์ที่ 1 ไปดูที่ดินตามที่จำเลยที่ 3 เคยนำชี้ไว้ ทำให้ฝ่ายโจทก์หลงเข้าใจผิดว่าที่ดินที่ต้องการซื้อเป็นที่ดินนา มิใช่ที่ดินมีสภาพน้ำท่วมขังอันเป็นสภาพแท้จริง นอกจากนี้แล้วในวันเจรจาจะซื้อจะขายครั้งแรก โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 สอบถามสภาพที่ดิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็บอกเป็นที่ดินนา เมื่อโจทก์ที่ 1 แจ้งว่ามีคนทำนาอยู่ จำเลยที่ 2 ก็รับว่าจะจัดการให้ออกไปเสียจากที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวสนับสนุนได้ว่า ฝ่ายโจทก์ประสงค์ซื้อที่ดินนามิใช่ที่ดินที่มีสภาพน้ำท่วมขัง จำเลยที่ 1 เอง ขายที่ดินต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาในปี 2535 เกือบ 3,000,000 บาท แล้วยังยอมออกค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีที่ดิน ค่านายหน้าแทนฝ่ายโจทก์อันทำให้ขาดทุนจำนวนมาก และจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงให้ฝ่ายโจทก์ทราบ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 เป็นคนนำชี้ที่ดิน อีกทั้งตามสภาพที่ดิน แม้โจทก์ที่ 1 จะมีสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทก็ไม่อาจตรวจสอบได้โดยง่ายยังไม่ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกลฉ้อฉล อันเป็นทางให้โจทก์ทั้งหกเสียเปรียบ เมื่อโจทก์ทั้งหกส่งมอบที่ดินนาคืนแก่ ส. และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าซื้อขายที่ดินโดยชอบแล้ว ถือว่าโจทก์ทั้งหกซึ่งถูกกลฉ้อฉลได้บอกล้างสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะกรรม แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย โจทก์ทั้งหกมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินเพื่อให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินค่าซื้อขายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดทวงถามเป็นต้นไป

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16115/2557  ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินมีข้อความชัดแจ้งว่า ที่ดินที่จำเลยทั้งสองจะขายให้แก่โจทก์นั้นมีภาระติดพันเพียงการจำนองที่ดินไว้แก่ธนาคารเท่านั้น และจำเลยทั้งสองรับรองว่าที่ดินที่จะขายให้แก่โจทก์ไม่มีภาระติดพันหรือการรอนสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหมายรวมถึงที่ดินของจำเลยทั้งสองนั้นไม่มีภาระจำยอมในที่ดินพิพาท การที่จำเลยทั้งสองเบิกความขัดแย้งกับสัญญาจะซื้อขายจึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ถือว่าขณะมีการตกลงทำสัญญาซื้อขายนั้น จำเลยทั้งสองปกปิดความจริงว่าที่ดินพิพาทที่มีการทำสัญญาจะซื้อขายรวมกับที่ดินแปลงอื่นมีภาระจำยอมติดอยู่ แต่จำเลยทั้งสองปกปิดไม่ยอมแจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ทราบ ถือว่าจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ หากจำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทมีภาระติดพันคือภาระจำยอมอยู่ในที่ดินดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่เข้าทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยทั้งสอง นิติกรรมจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 โจทก์จึงมีสิทธิในการบอกล้างนิติกรรมการทำสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 วรรคหนึ่ง (3)

          กำหนดเวลาบอกล้างโมฆียะกรรม

          มาตรา 181  "โมฆียะกรรมนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น"
          มาตรา 179  "การให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมนั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว
          บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือบุคคลวิกลจริต ผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้ต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียะกรรมนั้นภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกล แล้วแต่กรณี
          ทายาทของบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้นับแต่เวลาที่ผู้ทำนิติกรรมนั้นถึงแก่ความตาย เว้นแต่สิทธิที่จะบอกล้างโมฆียะกรรมของผู้ตายนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว
          บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับ ถ้าการให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมกระทำโดยผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์"
       
          โดยสรุป การบอกล้างโมฆียะกรรมต้องกระทำภายในเวลา 1 ปี นับแต่สาเหตุที่ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะได้สิ้นสุดลง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2493/2553  ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดระบุว่า โครงการคิดถึง คอนโดมิเนียม เป็นอาคารชุดตั้งอยู่บนที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 380 ตารางวา แต่ความจริงโฉนดที่ดินมีเนื้อที่เพียง 200 ตารางวา จึงเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขในสัญญา ส่วนที่จอดรถของอาคารชุดไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดว่าจะมีที่จอดรถได้กี่คันและตามแผ่นพิมพ์โฆษณาอาคารชุดก็ไม่ได้ระบุจำนวนรถยนต์ที่จะจอดได้ไว้เช่นเดียวกัน ที่จอดรถจำนวน 17 คัน คงปรากฏอยู่ในคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นต่อเทศบาลตำบลแสนสุขเท่านั้น ความจริงอาคารชุดมีที่จอดรถได้เพียง 6 คัน จึงเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ขออนุญาตไว้ต่อเทศบาลตำบลแสนสุข ซึ่งทางเทศบาลตำบลแสนสุขได้ดำเนินคดีในส่วนนี้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นหรือโฆษณาที่ให้ไว้แก่ผู้จะซื้อ อีกทั้งอาคารชุดของจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในบังคับของการจัดบริเวณที่จอดรถตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2517) จะถือว่าโจทก์และ ด. สำคัญผิดในข้อนี้ไม่ได้
          การผิดเงื่อนไขในเนื้อที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุดซึ่งไม่ได้เป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมิใช่เป็นสาระสำคัญแห่งการทำสัญญาจะซื้อจะขายอันจะเป็นโมฆะ เพราะจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมิใช่ที่ดิน ห้องชุดจึงเป็นทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขาย การผิดเงื่อนไขในจำนวนเนื้อที่ดินจึงเป็นเพียงการสำคัญผิดในคุณสมบัติของอาคารชุดอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 ซึ่งจะต้องบอกล้างภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือภายในเวลา 10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 สัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่เป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2553  ป.พ.พ. มาตรา 181 บัญญัติกำหนดเวลาที่จะบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะว่าจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ การที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของผู้ตายทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทตามหนังสือมอบอำนาจอันเป็นโมฆียะให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2507 โจทก์ซึ่งเป็นทายาทฟ้องคดีวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 จึงล่วงพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกล้างและฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทได้


          วิธีการบอกล้างโมฆียะกรรม

          มาตรา 178  "การบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ย่อมกระทำได้โดยการแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวกำหนดได้แน่นอน"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063/2549  จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินให้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินไว้กับจำเลยที่ 2 นิติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลยที่ 1 นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆียะ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ตามมาตรา 175 และการที่โจทก์ฟ้องคดีถือได้ว่าเป็นการบอกล้างแล้ว นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 176
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2543  โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เพราะถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าจะชำระราคาที่ดินพิพาทด้วยเงินสด และจำเลยที่ 1 มีฐานะดี เช็คที่นาย ย. พวกของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายก็จะเรียกเก็บเงินได้ หากจำเลยที่ 1 กับพวกไม่หลอกลวงเช่นนี้โจทก์จะไม่ทำสัญญาซื้อขายด้วย ดังนี้ การแสดงเจตนาขายที่ดินพิพาทของโจทก์ถือได้ว่าเกิดขึ้นเพราะถูกกลฉ้อฉล ทำให้นิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนย่อมมีผลเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ทำให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 176 วรรคหนึ่ง
          จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการทำกลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ได้ที่ดินพิพาทโดยการรับซื้อฝากจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิตามสัญญาขายฝากขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้บอกล้างโมฆียะกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลหาได้ไม่ นิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองไม่มีผลใด ๆ ตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7003/2542  การบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบไว้ การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาอ้างว่าถูกข่มขู่ จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาถือได้ว่าเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว


          ผลของการบอกล้างโมฆียกรรม

          มาตรา 176  "โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน
          ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ
          ห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2558  โจทก์เป็นผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของตนแก่จำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่ผู้เยาว์กระทำนิติกรรมเอง ไม่ใช่ผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำ จึงหาใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ไม่ แต่ต้องปรับตามมาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เยาว์จะกระทำนิติกรรมใดต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆียะ เมื่อมีการบอกล้างก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สัญญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ กรณีมิใช่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19696/2557  จำเลยทราบว่าอาคารพิพาทก่อสร้างไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2549 แต่จำเลยก็ไม่เคยคิดจะไปขออนุญาตเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้อง ซึ่งหากจำเลยมีความสุจริตใจประสงค์จะขายอาคารพิพาทตามสภาพที่มีการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบที่ได้รับอนุญาต ก็ควรแจ้งให้โจทก์ทราบก่อนทำสัญญาจะซื้อขาย เพราะหากโจทก์เข้าครอบครองเป็นเจ้าของอาคารแล้วโจทก์อาจถูกระงับการใช้อาคารพิพาทหรือถูกปรับในอัตราค่าปรับสูง และการไปขออนุญาตเพิ่มเติมภายหลังเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียเวลา พฤติการณ์ที่โจทก์ยอมทำสัญญาจะซื้อขายตามที่ฝ่ายจำเลยจัดทำขึ้นซึ่งไม่มีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องไปจัดการเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้องก่อน และไม่มีการกำหนดเบี้ยปรับทั้งที่โจทก์ต้องวางเงินมัดจำจำนวนมาก เชื่อว่าโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าอาคารพิพาทก่อสร้างไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตก่อสร้างก่อนทำสัญญาจะซื้อขาย การทำสัญญาจะซื้อขายของโจทก์จึงเป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติอาคารพิพาทว่าก่อสร้างถูกต้องตามใบอนุญาตก่อสร้าง นิติกรรมที่โจทก์ทำไปจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมแล้วจึงมีผลเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16512/2557  จำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ทำการซื้อขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 3 รับราชการอยู่ที่สำนักงานเขตมีนบุรีโดยทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ อีกทั้งมีหลักฐานสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทย่อมสามารถตรวจสอบสภาพที่ดินได้ตลอดเวลาว่าที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นบ่อดิน ป่ารก มีน้ำท่วมขังซึ่งความนี้จำเลยที่ 1 เองก็ทราบจากผู้รับมอบอำนาจของตนที่ไปขอรังวัดสอบเขตที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 3 พาจำเลยที่ 4 ไปดูที่ดินของ ส. แต่กลับอ้างว่าเป็นที่ดินพิพาท จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งความจริงให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายหน้าฝ่ายโจทก์ทราบ ครั้นจำเลยที่ 4 พาโจทก์ที่ 1 ไปดูที่ดินตามที่จำเลยที่ 3 เคยนำชี้ไว้ ทำให้ฝ่ายโจทก์หลงเข้าใจผิดว่าที่ดินที่ต้องการซื้อเป็นที่ดินนา มิใช่ที่ดินมีสภาพน้ำท่วมขังอันเป็นสภาพแท้จริง นอกจากนี้แล้วในวันเจรจาจะซื้อจะขายครั้งแรก โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 สอบถามสภาพที่ดิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็บอกเป็นที่ดินนา เมื่อโจทก์ที่ 1 แจ้งว่ามีคนทำนาอยู่ จำเลยที่ 2 ก็รับว่าจะจัดการให้ออกไปเสียจากที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวสนับสนุนได้ว่า ฝ่ายโจทก์ประสงค์ซื้อที่ดินนามิใช่ที่ดินที่มีสภาพน้ำท่วมขัง จำเลยที่ 1 เอง ขายที่ดินต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาในปี 2535 เกือบ 3,000,000 บาท แล้วยังยอมออกค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีที่ดิน ค่านายหน้าแทนฝ่ายโจทก์อันทำให้ขาดทุนจำนวนมาก และจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงให้ฝ่ายโจทก์ทราบ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 เป็นคนนำชี้ที่ดิน อีกทั้งตามสภาพที่ดิน แม้โจทก์ที่ 1 จะมีสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทก็ไม่อาจตรวจสอบได้โดยง่ายยังไม่ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกลฉ้อฉล อันเป็นทางให้โจทก์ทั้งหกเสียเปรียบ เมื่อโจทก์ทั้งหกส่งมอบที่ดินนาคืนแก่ ส. และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าซื้อขายที่ดินโดยชอบแล้ว ถือว่าโจทก์ทั้งหกซึ่งถูกกลฉ้อฉลได้บอกล้างสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะกรรม แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย โจทก์ทั้งหกมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินเพื่อให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินค่าซื้อขายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดทวงถามเป็นต้นไป

สิทธิเหนือพื้นดิน

          สิทธิเหนือพื้นดิน คือ กรณีที่เจ้าของที่ดินก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่บุคคลอื่น โดยให้บุคคลนั้นมีสิทธิเป็นเจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเพาะปลูก บนดินหรือใต้ดินนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1410 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          สิทธิเหนือพื้นดินเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ดังนั้น สิทธิเหนือพื้นดินจึงต้องจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนจึงจะสามารถใช้ต่อสู้กับบุคคลภายนอกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9683-9685/2558   พินัยกรรมพิพาทมีลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา หรือพินัยกรรมแบบมีพยาน เป็นหนังสือที่มีการลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม รอยลบ ขีด ฆ่า เติมข้อความที่ช่องวัน เดือน ปี และอายุของผู้ตายมีการลงลายมือชื่อผู้ตายและลงลายมือชื่อของ ว. กับ ศ. ผู้เป็นพยานรับรองลายมือชื่อผู้ตายซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วทั้งสองคนกำกับไว้ ทั้งผู้ตายได้ลงลายมือชื่อกับพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือไว้ที่ช่องผู้ทำพินัยกรรม โดยมีลายมือชื่อของ ศ. และ ว. ที่ช่องพยานครบถ้วน แม้พินัยกรรมที่พิพาทไม่มีข้อความที่เป็นถ้อยคำระบุการเผื่อตายไว้โดยชัดแจ้ง แต่ก็มีข้อความว่า “พินัยกรรม” ที่หัวกระดาษตรงกลาง ซึ่งหมายถึงเอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย และยังมีข้อความระบุไว้ว่า “....ข้าพเจ้าขอให้ ผ. บุตรสาวเป็นผู้จัดการมรดกให้ปฏิบัติตามเจตนาของข้าพเจ้าในการแบ่งปันทรัพย์สิน... ขอทำพินัยกรรมให้แบ่งทรัพย์สินดังนี้...” กรณีจึงมีความหมายอยู่ในตัวว่าข้อกำหนดในเอกสารดังกล่าวจะมีผลต่อเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย พินัยกรรมที่พิพาทจึงเป็นไปตามแบบที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1656 แห่ง ป.พ.พ. และมีผลบังคับตามกฎหมาย หาได้เป็นโมฆะไม่
          การที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ตายให้ปลูกสร้างอาคารห้องเช่า 26 ห้อง บนที่ดินของผู้ตายเป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 อันเป็นทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งที่ไม่อาจได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม จึงต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นสิทธิเหนือพื้นดินที่ได้มานั้นยังไม่บริบูรณ์และไม่อาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อตกลงที่ผู้ตายอนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารห้องเช่าบนที่ดินดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ โจทก์จึงปราศจากสิทธิตามกฎหมายที่จะใช้ยันต่อจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 6 ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินชอบที่จะขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินตามฟ้องแย้งได้


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2554  จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารบนที่ดินพิพาทโดยได้รับความยินยอมจากธนาคาร ท. เจ้าของที่ดินเดิม จึงก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีกำหนดเวลา ต่อมาโจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากธนาคาร และได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินพิพาท แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1413 บัญญัติว่า ถ้าสิทธิเหนือพื้นดินนั้นไม่มีกำหนดเวลาไซร้ ท่านว่าคู่กรณีฝ่ายใดจะบอกเลิกเสียในเวลาใดก็ได้ แต่ต้องบอกล่วงหน้าแก่อีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร การที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินและจำเลยทั้งสองได้รับแล้ว ถือได้ว่าโจทก์บอกเลิกสิทธิเหนือพื้นดินแก่จำเลยทั้งสองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว นอกจากนี้ยังปรากฏว่าสิทธิเหนือพื้นดินพิพาทของจำเลยทั้งสองที่ได้มานั้นมิได้มีการนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้สิทธิเหนือพื้นดินของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงไม่บริบูรณ์ ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1298 ประกอบมาตรา 1299 วรรคหนึ่งจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากธนาคารส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าสิทธิเหนือพื้นดินไม่สิ้นไปโดยเหตุที่โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเพาะปลูกสลายไป แม้การสลายนั้นเป็นเหตุสุดวิสัยก็เป็นเรื่องที่สิ่งปลูกสร้างพังทลายหรือสลายไป โดยที่อายุการใช้สิทธิเหนือพื้นดินนั้นยังคงอยู่ ส่วนกรณีนี้เป็นเรื่องโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสิทธิเหนือพื้นดินแก่จำเลยทั้งสองตามกฎหมายแล้ว สิทธิเหนือพื้นดินของจำเลยทั้งสองจึงหมดไป เมื่อจำเลยทั้งสองยังคงเพิกเฉยไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จึงเป็นการกระทำละเมิดแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6188/2545  แม้ ท. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 ก. จะทำบันทึกสัญญาต่อหน้านายอำเภอยอมให้จำเลยปลูกบ้านบนที่ดินของตนก็ตาม แต่บันทึกสัญญาที่ ท. และจำเลยทำต่อกันนั้นเป็นการประนีประนอมระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับบ้านที่จำเลยปลูกและทรัพย์สินภายในบ้าน ไม่ใช่หนังสือจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดิน ดังนั้น การได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินของจำเลยจึงไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง คงมีผลบังคับได้ระหว่างคู่กรณีเท่านั้น หามีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนที่ดินจาก ท. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ทำการโดยสุจริตหรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2542   ตามข้อกำหนดพินัยกรรมระบุให้โจทก์มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินได้ชั่วชีวิตของโจทก์ สิทธิอยู่อาศัยดังกล่าวเป็นสิทธิเหนือพื้นดินตาม ป.พ.พ.มาตรา 1410 และเป็นทรัพยสิทธิซึ่งโจทก์ได้รับมาตามพินัยกรรมโดยชอบ โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์มีสิทธิบริบูรณ์ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมตามวัตถุประสงค์ของเจ้ามรดก โดยการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตามที่ ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ แม้ตามข้อกำหนดพินัยกรรมมิได้ระบุให้จดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินต่อเจ้าพนักงานก็ตาม
          โจทก์ได้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินซึ่งโจทก์มีสิทธิอาศัยได้ชั่วชีวิตโจทก์ตามข้อกำหนดพินัยกรรมอยู่ก่อนที่ ท.เจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมและก่อนที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย แม้ว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการโอนที่ดินซึ่งโจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดิน กรณีเช่นนี้จึงเปรียบได้เสมือนหนึ่งว่า โจทก์ในฐานะทายาทตามพินัยกรรมได้ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นโดยฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรมให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่โจทก์ได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความ1 ปีแล้ว โดยปรับเข้ากับ ป.พ.พ.มาตรา 1748 ซึ่งเป็นบทมาตราข้อยกเว้นที่จะใช้บังคับตามมาตรา 1754 ดังนี้แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์ควรรู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรมก็ตาม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1719/2539   การที่จำเลยที่ 1 ออกเงินปลูกสร้างตึกแถวให้ ว. เจ้าของที่ดินเดิม และ ว. ยอมให้จำเลยที่ 1 เอาตึกแถวดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 2 เช่ามีกำหนดเวลารวม 20 ปี เป็นสัญญาต่างตอบแทนระหว่าง ว. กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลสิทธิอันผูกพันจำเลยที่ 1 กับ ว. คู่สัญญา โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อครบ 20 ปีแล้ว ให้ตึกแถวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. ทันที แต่ข้อตกลงนี้มิได้จดทะเบียนสิทธิเป็นสิทธิเหนือพื้นดิน จึงมีผลใช้บังคับได้ระหว่าง ว. กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งมิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะทราบสัญญานี้ก็ไม่ผูกพันโจทก์เพราะโจทก์มิได้ยินยอมตกลงกับจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิอย่างใดที่จะให้ตึกแถวนั้นคงอยู่ต่อไปในที่ดินของโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรื้อถอนตึกแถวออกไป ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น แม้จะจดทะเบียนสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปีก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะให้ตึกแถวอยู่ในที่ดินของโจทก์ได้แล้ว ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นบริวารของจำเลยที่ 1จึงต้องออกไปจากที่ดินของโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5851/2538    สัญญาให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินกำหนดไว้ว่า "ผู้ใช้ (จำเลย) มีสิทธิปรับปรุงที่ดินโดยถม ขุดดินมาถม ทำสะพาน ถนนเชื่อมต่อกับที่ดินของผู้ใช้ (จำเลย)หรือผู้ใกล้เคียง หรือออกสู่ถนนได้" ดังนี้ จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินจึงมีสิทธิตามสัญญาที่จะทำถนนบนที่ดินได้
          แม้ตามสัญญาให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินในตอนต้นจะกำหนดว่า ผู้ใช้(จำเลย) จะต้องใช้สิทธิเหนือพื้นดินตามสัญญาเพื่อเป็นสวัสดิการสำหรับพนักงานของผู้ใช้ (จำเลย)เท่านั้นก็ตาม แต่ข้อความในตอนท้ายได้กำหนดไว้ด้วยว่า "รวมทั้งการใช้เป็นถนนผ่านเข้าออกเพียงบางส่วนเพื่อสะดวกในกิจการของผู้ใช้ได้ด้วย"โดยที่การขนส่งคนทางอากาศ ครัวการบินและกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าวเป็นกิจการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้ ดังนั้นที่จำเลยใช้ถนนคอนกรีตบนที่ดินตามสัญญาให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินเป็นทางเข้าออกบางส่วน สำหรับการลำเลียงอาหารฝ่ายโภชนาการของจำเลยไปยังเครื่องบินของจำเลยก็ดี ที่จำเลยอนุญาตให้พนักงานสายการบินอื่นใช้ถนนคอนกรีตดังกล่าวเป็นทางผ่านไปยังครัวการบินของจำเลยก็ดี ถือได้ว่าเป็นการใช้ที่ดินตามสัญญาให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินเป็นถนนผ่านเข้าออกเพียงบางส่วนเพื่อความสะดวกในกิจการของจำเลยตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจำเลยมีสิทธิทำได้โดยชอบ หาได้เป็นการผิดสัญญาไม่
          จำเลยได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเฝ้าทางเข้าออกของถนนบนที่ดินที่จำเลยเช่าจากโจทก์ตลอดเวลา บุคคลภายนอกที่จะใช้ถนนดังกล่าวได้มีเฉพาะพนักงานของบริษัทสายการบินอื่นที่เป็นลูกค้าของจำเลย ซึ่งมาติดต่อธุรกิจกับจำเลย ส่วนบุคคลอื่นจะใช้ถนนดังกล่าวได้เฉพาะเมื่อมาติดต่อภายในอาคารของจำเลย ทั้งจะต้องลงเวลาเข้าออกและติดบัตรผู้มาติดต่อไว้ด้วย และจะใช้ถนนดังกล่าวเป็นทางผ่านไม่ได้ บุคคลภายนอกที่ไม่มีธุรกิจกับจำเลยจะใช้ถนนดังกล่าวไม่ได้ ดังนั้นการที่บุคคลภายนอกใช้ถนนบนที่ดินที่จำเลยเช่าจากโจทก์นั้น เป็นการใช้โดยอาศัยสิทธิของจำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่าบุคคลภายนอกที่ใช้ถนนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อื่นแต่อย่างใด ดังนั้นแม้บุคคลภายนอกจะได้ใช้ถนนบนที่ดินที่จำเลยเช่าจากโจทก์เป็นเวลานานเท่าใด ถนนบนที่ดินที่จำเลยเช่าจากโจทก์ก็ไม่ตกอยู่ในภาระจำยอมการที่จำเลยให้บุคคลภายนอกใช้ถนนจึงหาได้เป็นการไม่สงวนทรัพย์สินที่เช่าเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองไม่ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560/2537   ข้อตกลงและทางปฏิบัติระหว่าง บ. กับจำเลยก่อนที่ดินพิพาทจะเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ มีลักษณะที่ บ. ยอมให้จำเลยมีสิทธิเป็นเจ้าของฮวงซุ้ย ซึ่งได้ก่อสร้างบนที่ดินพิพาทนั้นมาแต่เดิม  เป็นการก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลยโดยทางนิติกรรมตาม ป.พ.พ.มาตรา 1410 ข้อตกลงดังกล่าวมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  กรณีต้องด้วยป.พ.พ. มาตรา 1299  วรรคแรก การได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินอันเป็นทรัพย์สิทธิเกี่ยวกับที่ดินพิพาทไม่บริบูรณ์ คงใช้ได้ในฐานะบุคคลสิทธิระหว่างคู่กรณีคือ  บ. กับจำเลยเท่านั้น  ไม่ว่าโจทก์ผู้รับซื้อที่ดินพิพาทจาก บ. จะรู้ถึงข้อความระหว่าง บ. กับจำเลยมาก่อนหรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336  ที่จะขัดขวางมิให้จำเลยหรือบุคคลอื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 749/2536   การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินอันเป็นทรัพย์สิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและมิได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่บริบูรณ์ โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้โจทก์เพื่อให้เป็นทรัพยสิทธิที่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคแรก หาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2536  ข้อตกลงตามหนังสือก่อสร้างต่างตอบแทนว่า โจทก์ตกลงก่อสร้างอาคารพิพาทบนที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์จะได้รับกรรมสิทธิ์ในตัวอาคารพิพาทเพื่อประกอบธุรกิจสถานบันเทิงจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 ข้อตกลงดังกล่าวแม้มีผลทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทตามข้อยกเว้นในเรื่องส่วนควบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 109 แต่ก็เป็นเพียงบุคคลสิทธิที่อาจเรียกร้องและบังคับระหว่างกันเองได้เท่านั้น ข้อตกลงที่ให้โจทก์ได้รับกรรมสิทธิ์เหนืออาคารพิพาทเป็นทรัพย์สิทธิ์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ทำการจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ใน อาคารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ใน อาคารพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินจึงไม่บริบูรณ์ ใช้ยันต่อจำเลยที่ 2 ผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้

          สิทธิเหนือพื้นดินนั้นสามารถโอนได้และรับมรดกกันได้ เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1411

          สิทธิเหนือพื้นดินนั้นจะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลา หรือตลอดชีวิตเจ้าของที่ดิน หรือตลอดชีวิตผู้ทรงสิทธิเหนือพื้นดินนั้นก็ได้ แต่ถ้าก่อให้เกิดสิทธิพื้นดินโดยมีกำหนดเวลาแล้วจะต้องไม่เกิน 30 ปี ถ้ากำหนดเวลาไว้เกิน 30 ปี  ก็ต้องลดลงมาเป็น 30 ปี แต่เมื่อครบกำหนดเวลาก็อาจต่อเวลาต่อไปได้ไม่เกินครั้งละ 30 ปี ตามมาตรา 1412 ประกอบมาตรา 1403 วรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8015/2551   ตามบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับ ช. มารดาจำเลยทั้งสองนั้นเป็นบันทึกข้อตกลงที่ก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิใช้ยันบุคคลภายนอกได้ แต่แม้จะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็หาทำให้เป็นโมฆะเสียเปล่าไม่ ยังคงบังคับกันได้ในฐานะเป็นบุคคลสิทธิระหว่างคู่สัญญา เมื่อโจทก์เป็นคู่สัญญาตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง
          บันทึกข้อตกลงระบุให้ ช. และบริวารอยู่อาศัยในห้องแถวทั้งสี่ห้องจนกว่าจะทรุดโทรมจนอยู่อาศัยไม่ได้ อันเป็นข้อตกลงที่ระบุเงื่อนไขไว้ชัดแจ้งว่า ช. และบริวารสามารถอยู่อาศัยในห้องแถวพิพาทซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์ได้จนกว่าห้องแถวนั้นจะทรุดโทรมประการหนึ่งและการทรุดโทรมนั้นต้องทำให้ไม่สามารถอยู่ในห้องแถวได้อีกประการหนึ่ง เมื่อครบทั้งสองประการดังกล่าว ช. และบริวารจึงจะอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ต่อไปไม่ได้ต้องออกไปจากที่ดินของโจทก์ ซึ่งเงื่อนไขทั้งสองประการเป็นที่เห็นได้ว่าการทรุดโทรมจนอยู่อาศัยไม่ได้นั้น ไม่อาจกำหนดเวลาได้ว่าจะทรุดโทรมเมื่อใดและเมื่อทรุดโทรมแล้วเมื่อใดจึงจะถือว่าอยู่อาศัยไม่ได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าบันทึกข้อตกลงเป็นการก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินโดยมีกำหนดเวลา อันจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1412 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1403 วรรคสาม

          ถ้าสิทธิเหนือพื้นดินนั้นไม่มีกำหนดเวลา คู่กรณีฝ่ายใดจะบอกเลิกเสียในเวลาใดก็ได้ แต่ต้องบอกล่วงหน้าแก่อีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร ถ้ามีค่าเช่าซึ่งจำต้องให้แก่กัน ก็จะต้องบอกล่วงหน้าปีหนึ่ง หรือให้ค่าเช่าปีหนึ่ง ตามมาตรา 1413
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2577/2551   จำเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมโดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ บ้านหรือโรงเรือนที่จำเลยปลูกสร้างย่อมไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินที่ โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 ประกอบมาตรา 1410 โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่จำเลยสร้างขึ้นใหม่ บ้านดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านหรือโรงเรือนบนที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมย่อมเป็นการก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย แต่สิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นเพียงบุคคลสิทธิระหว่างโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลย เมื่อสิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวไม่มีกำหนดเวลา โจทก์บอกเลิกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1413 โดยการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยตามสมควร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2543   จำเลยยอมให้โจทก์ใช้ที่ดินของจำเลยบางส่วนทำแปลงเพาะชำต้นกล้ากระท้อนโดยไม่มีค่าตอบแทน และไม่มีกำหนดระยะเวลา หากจำเลยต้องการที่ดินคืนวันใดจะแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร ดังนี้ เป็นการยอมให้โจทก์เข้าใช้สิทธิในที่ดินของจำเลยเป็นการชั่วคราวในลักษณะสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งเป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง โจทก์จะอ้างว่าในการเข้าใช้ที่ดินเพื่อเพาะชำต้นกล้ากระท้อนย่อมเป็นที่รู้กันดีว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อประโยชน์ของโจทก์ฝ่ายเดียวมิได้ เมื่อเป็นกรณีสิทธิเหนือพื้นดินไม่มีกำหนดเวลาและจำเลยไม่ต้องการให้โจทก์เข้าใช้ที่ดินดังกล่าวต่อไป จำเลยย่อมบอกกล่าวให้โจทก์ออกไปจากที่ดินนั้นได้ ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และไม่เป็นการผิดสัญญาหรือละเมิดต่อโจทก์
          แม้จำเลยจะบอกกล่าวให้โจทก์ออกจากที่ดินของจำเลยภายใน 2 วัน แต่โจทก์ก็ไม่ได้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปภายในกำหนดดังกล่าว ตรงข้ามโจทก์กลับห้ามคนงานมิให้เข้าไป และโจทก์ได้ขนของออกไปจากที่ดินของจำเลยหลังจากจำเลยบอกกล่าวถึง 1 เดือนเศษ นับว่าจำเลยได้ให้เวลาแก่โจทก์พอสมควรแล้วเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตกลั่นแกล้งโจทก์ แม้จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

          ถ้าผู้ทรงสิทธิเหนือพื้นดินละเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญซึ่งระบุไว้ในนิติกรรมก่อตั้งสิทธินั้น หรือถ้ามีค่าเช่าซึ่งจะต้องให้แก่กัน แต่ผู้ทรงสิทธิเหนือพื้นดินละเลยไม่ชำระถึงสองปีติด ๆ กัน คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสิทธิเหนือพื้นดินนั้นเสียก็ได้ ตามมาตรา 1414  แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิเหนือพื้นดินนั้นไม่สิ้นไปโดยเหตุที่โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเพาะปลูกสลายไป แม้จะเป็นเหตุสุดวิสัยก็ตาม

          มาตรา 1416  เมื่อสิทธิเหนือพื้นดินสิ้นไป ผู้ทรงสิทธิจะรื้อถอนโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง สิ่งเพาะปลูกของตนไปก็ได้ แต่ต้องทำให้ที่ดินเป็นตามเดิม
          แต่ถ้าเจ้าของที่ดินจะไม่ยอมให้รื้อถอนไป และบอกเจตนาจะซื้อตามราคาท้องตลาดไซร้ ท่านว่าผู้ทรงสิทธิเหนือพื้นดินจะไม่ยอมขายไม่ได้ เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร




สิทธิเก็บกิน

          สิทธิเก็บกิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1417 เป็นทรัพยสิทธิชนิดหนึ่งที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นอยู่ แต่ยอมให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินเข้ามามีสิทธิครอบครอง ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินของตน ตลอดจนมีอำนาจจัดการทรัพย์สินนั้นได้ อาทิเช่น เจ้าของที่นาย่อมมีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่นาของตน ส่วนผู้ทรงสิทธิเก็บกินในที่นานั้นก็ใช้ที่นาทำนาได้ หรือจะนำที่นานั้นออกให้เช่าเพื่อเก็บค่าเช่าก็ได้เสมอกับเป็นเจ้าของเองทีเดียว เพียงแต่กรรมสิทธิ์ในที่นาดังกล่าวยังอยู่ที่เจ้าของ
          สิทธิเก็บกินนั้นเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ดังนั้น สิทธิเก็บกินจึงต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนจึงจะสามารถใช้ต่อสู้กับบุคคลภายนอกได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าไม่ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินต่อเจ้าหน้าที่ แต่สิทธิเก็บกินนั้นก็มีผลเป็นบุคคลสิทธิซึ่งใช้ยันได้ระหว่างคู่สัญญา ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจึงสามารถยกเรื่องสิทธิเก็บกินขึ้นยันกับคู่สัญญาได้


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15033/2555   โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดที่พิพาท โจทก์จดทะเบียนให้ ส. และ บ. เป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินใน ที่ดินพิพาทตลอดชีวิต ส. และ บ. ย่อมมีสิทธิครอบครอง ใช้และถือเอาประโยชน์แห่งที่ดินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1417 วรรคหนึ่ง ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังไม่สิ้นไป เจ้าของกรรมสิทธิ์จึงหามีสิทธิเช่นว่านั้นด้วยไม่ การบอกเลิกสัญญาเช่าหรือการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากที่ดินพิพาทจึงเป็นอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของผู้ทรงสิทธิเก็บกิน แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทก็ไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4446/2543  โจทก์ตกลงให้จำเลยใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดชีวิตของจำเลยจำเลยจึงมีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทตลอดชีวิต แม้จะมิได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนสิทธิดังกล่าวให้บริบูรณ์อย่างทรัพยสิทธิตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ก็สมบูรณ์ อย่างบุคคลสิทธิที่ใช้ยันกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลย  โจทก์ต้องผูกพัน ตามข้อตกลงดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7341/2542   แม้ตามรายการจดทะเบียนเพียงแต่จดทะเบียนให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 3350 ตามฟ้อง โดยไม่ได้ระบุถึงตึกแถวพิพาทซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยเป็นผู้ทำสัญญาเช่าจากเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินก็ตามแต่โจทก์ก็เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้มีชื่อในที่ดินโฉนดเลขที่ 3350 ตามฟ้อง และผู้มีชื่อซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้จดทะเบียนให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินเฉพาะส่วนตลอดชีวิต ดังนี้ ข้อความที่จดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น ย่อมหมายรวมถึงสิ่งปลูกสร้างใด ๆบนที่ดิน คือ ห้องแถวพิพาทซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินที่โจทก์มีสิทธิเก็บกินด้วย และการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินก็ไม่ได้ระบุจำกัดว่าให้โจทก์มีสิทธิถือเอาประโยชน์แต่เฉพาะในที่ดินโดยแยกออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากตึกแถวพิพาทที่ปลูกอยู่บนที่ดินที่จำเลยเช่าอยู่นั้นและแม้โจทก์จะมิใช่เป็นผู้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทในฐานะเป็นผู้ให้เช่าก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะผู้ทรงสิทธิเก็บกินหมดสิทธิในการจัดการให้จำเลยออกไปจากตึกแถวพิพาทซึ่งเป็นการจัดการทรัพย์สินหรือถือเอาประโยชน์แห่งทรัพย์สินในที่ดินนั้นจนตลอดชีวิตของโจทก์ตามที่จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้ดังกล่าวตาม ป.พ.พ.มาตรา1417 และเมื่อสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทได้สิ้นอายุการเช่าแล้ว และโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อไป และมีหนังสือบอกกล่าวให้ออกไป จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2380/2542 (ประชุมใหญ่)  โจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลอดชีวิตของโจทก์ เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่โจทก์ยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ จำเลยจะมีผลประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างโดยได้เงินกินเปล่าจากผู้เช่า ส่วนโจทก์มีรายได้เฉพาะการเก็บค่าเช่าเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงพิเศษอย่างสัญญาต่างตอบแทน ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้นตราบใดที่จำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังมิได้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่บุคคลอื่น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1256/2519   การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยมิได้จดทะเบียนนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 บัญญัติไว้เพียงว่า "การที่ได้มาซึ่ง ฯลฯ ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะ ฯลฯ ได้จดทะเบียนการได้มา ฯลฯ" เท่านั้น  ฉะนั้น ถ้าหากเมื่อใดได้มีการจดทะเบียนการได้มาเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมจะกลายเป็นทรัพยสิทธิที่สมบูรณ์ขึ้นมาทันที หาใช่ว่าสิทธิเช่นว่านั้นจะไม่สมบูรณ์เสียเปล่าไปเสียเลยไม่
          สัญญาต่างตอบแทนที่จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิอาศัยและสิทธิเก็บกินในบ้านและห้องแถวที่พิพาทจนกว่าโจทก์จะถึงแก่กรรม เพื่อตอบแทนที่โจทก์ไม่ร้องคัดค้านในการที่จำเลยร้องขอต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกนั้น แม้ไม่ได้จดทะเบียนการได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ไม่เป็นทรัพยสิทธิที่จะใช้ยันบุคคลภายนอกได้ทั่วไป แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิซึ่งใช้ยันได้ระหว่างคู่สัญญา สัญญาต่างตอบแทนนี้จึงมีผลบังคับกันได้ เมื่อจำเลยจะโอนขายบ้านห้องแถวพิพาทพร้อมทั้งที่ดินซึ่งบ้านและห้องแถวนั้นตั้งอยู่ไปเสีย โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้จำเลยโอนขายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2514 (ประชุมใหญ่)  จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า ให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินของจำเลย ย่อมเป็นการทำนิติกรรมที่ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้เป็นทรัพย์สิทธิอันบริบูรณ์ตามกฎหมายได้ตราบเท่าที่จำเลยยังมิได้โอนที่ดินให้แก่บุคคลอื่น และสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยประนีประนอมยอมความเช่นนี้ มีกำหนดอายุความ 10 ปี
          ตั้งแต่วันทำสัญญาดังกล่าว จำเลยยอมให้โจทก์เข้าใช้สิทธิเก็บกินตลอดมา ดังนี้ย่อมถือว่าจำเลยได้ทำการอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ อายุความฟ้องร้องของโจทก์จึงยังไม่เริ่มนับ

          ประเภทของการจดทะเบียนเกี่ยวกับสิทธิเก็บกิน (กรมที่ดิน)
          1. สิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีอสังหาริมทรัพย์หนึ่งต้องตกอยู่ในบังคับสิทธิเก็บกินทั้งหมด
          2. สิทธิเก็บกินเฉพาะส่วน หมายถึง กรณีที่เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งในอสังหาริมทรัพย์แต่ไม่ใช่ทุกคนก่อให้เกิดสิทธิเก็บกินในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเฉพาะส่วนของตนทั้งหมด
          3. ปลอดสิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีที่ที่ดินได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว ต่อมามีการแบ่งแยกออกไป คู่กรณีตกลงกันให้ที่ดินแปลงที่แยกออกไปหรือที่ดินแปลงคงเหลือไม่มีสิทธิเก็บกินติดไปด้วย
          4. ครอบสิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีที่ที่ดินได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว ต่อมามีการแบ่งแยกออกไป คู่กรณีตกลงกันให้ที่ดินแปลงที่แยกออกไปยังคงมีสิทธิเก็บกินต่อไปด้วย
          5. เลิกสิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีที่ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว ต่อมาคู่กรณีประสงค์จะเลิกสิทธิเก็บกินต่อกัน หรือผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย และเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มาขอจดทะเบียนเลิกสิทธิเก็บกินตามผลของกฎหมาย

          สิทธิเก็บกินนั้นจะก่อให้เกิดขึ้นโดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตของผู้ทรงสิทธิก็ได้ แต่ถ้าเป็นสิทธิเก็บกินที่ไม่มีกำหนดเวลากฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิทธิเก็บกินนั้นมีอยู่ตลอดชีวิตของผู้ทรงสิทธิ ส่วนถ้ามีกำหนดเวลาก็ต้องไม่เกิน 30 ปี ถ้าเกินก็ต้องลดมาเหลือเพียง 30 ปี อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย สิทธิเก็บกินนั้นย่อมสิ้นไปเสมอ
          แม้สิทธิเก็บกินระงับสิ้นไป แต่หามีผลให้สัญญาเช่าที่ผู้เช่าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทำไว้กับผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องระงับไปด้วยไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2297/2541   โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ ท. ต่อมา ท.ในฐานะผู้ทรงสิทธิเก็บกินทำสัญญาให้จำเลยเป็นผู้เช่ามีกำหนดเวลา 30 ปี โดยมีการทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาเช่าย่อมมีผลผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แม้ในระหว่างอายุสัญญาเช่า ท.จะถึงแก่ความตายซึ่งเป็นผลให้สิทธิเก็บกินสิ้นไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 1418 วรรคสุดท้าย แต่ก็ไม่กระทบถึงสิทธิของจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และหามีผลทำให้สัญญาเช่าดังกล่าวระงับไปไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 498/2536   เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2525 ห.ทำสัญญาให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทมีกำหนด 11 ปี 5 เดือน โดยได้ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนการเช่าต่อเจ้าหน้าที่ในวันเดียวกัน สัญญาเช่าย่อมมีผลใช้บังคับได้ไม่เป็นโมฆะ เป็นแต่ว่าหากไม่มีการจดทะเบียนการเช่าก็บังคับกันได้เพียง 3 ปี การที่เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนการเช่าอาคารพิพาทเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2525 ก็มิได้หมายความว่าสัญญาเช่าเพิ่งเกิดขึ้นในวันดังกล่าว การที่ ห. จดทะเบียนยกที่ดินและอาคารพิพาทให้ภรรยาและบุตร แล้วภรรยาและบุตรของ ห.จดทะเบียนให้ห.มีสิทธิเก็บกินในที่ดินและอาคารพิพาทก่อนวันจดทะเบียนการเช่า ภรรยาและบุตรของ ห.ผู้รับโอนย่อมต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าที่ ห.ทำไว้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 ภรรยาและบุตรของห.จดทะเบียนโอนที่ดินและอาคารพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2530 โจทก์ผู้รับโอนย่อมต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าดังกล่าว โดยต้องยอมให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทจนครบ 11 ปี 5 เดือน การที่ ห.ถึงแก่ความตาย หาทำให้สัญญาเช่าระงับไม่ เมื่อสัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนด และไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องขับไล่จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 807/2503   การที่โจทก์ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกที่จำเลยเช่าให้แก่บุตรในภายหลัง โดยโจทก์ยังสงวนสิทธิ์เก็บกินไว้ต่อไปจนตลอดชีวิต ผู้ทรงสิทธิเก็บกินเช่นโจทก์นี้ ตามกฎหมายย่อมมีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งที่ดินและตึกนั้นได้แต่ผู้เดียว เจ้าของกรรมสิทธิ์หามีสิทธิเช่นว่านี้ด้วยไม่ในระหว่างมีสิทธิเก็บกินยังไม่สิ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิจะตัดให้เช่าตึกหลังนี้ เพื่อเก็บเอาประโยชน์จากการเช่าได้

          ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดสิทธิเก็บกิน ผู้ทรงสิทธินั้นจะโอนการใช้สิทธิของตนให้บุคคลภายนอกก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นเจ้าของทรัพย์สินอาจฟ้องร้องผู้รับโอนโดยตรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6278/2537   ที่ดินและตึกแถวที่เกิดเพลิงไหม้เป็นของบิดาโจทก์ บิดาโจทก์ให้ ข. มีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิต  ข. ให้จำเลยเช่าเป็นเวลา 7 ปี  เมื่อบิดาโจทก์และ ข. ถึงแก่ความตายระหว่างสัญญาเช่ายังไม่สิ้นสุดลง  โจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินและตึกแถวดังกล่าว  จึงรับโอนสิทธิหน้าที่ที่บิดาโจทก์ทั้งสองมีอยู่รวมถึงสิทธิที่ ข. ผู้มีสิทธิเก็บกินให้จำเลยเช่านี้ด้วย  โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
          สัญญาเช่าระบุวัตถุประสงค์การเช่าว่าเพื่อใช้ประกอบธุรกิจการค้า การที่จำเลยนำสินค้าของจำเลยซึ่งมีกล่องกระดาษบรรจุสินค้าและเศษกล่องกระดาษที่ใช้แล้วเก็บไว้ในตึกแถวพิพาทจำนวนมากเป็นการใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากการที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยไม่จัดให้มีเครื่องดับเพลิงและเวรยาม แม้ผลการสอบสวนไม่อาจทราบได้ว่าบุคคลใดทำให้เกิดเพลิงไหม้ก็ตามแต่เหตุเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้ก็เพราะความผิดของจำเลยดังกล่าวมาแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 552 และมาตรา 562

          อายุความฟ้องคดี
          คดีอันเกี่ยวกับสิทธิเก็บกินในระหว่างเจ้าของทรัพย์สินกับผู้ทรงสิทธิเก็บกิน หรือผู้รับโอนนั้น ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อเกินปีหนึ่งนับแต่วันสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลง แต่ในคดีที่เจ้าของทรัพย์สินเป็นโจทก์นั้น ถ้าเจ้าของไม่อาจรู้ว่าสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลงเมื่อใด ให้นับอายุความปีหนึ่งนั้นตั้งแต่เวลาที่เจ้าของทรัพย์สินได้รู้ หรือควรรู้ว่าสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลง ตามมาตรา 1428
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1548/2503   ตั้งแต่จำเลยจดทะเบียนสิทธิเก็บกินสวนพิพาทให้โจทก์ตลอดชีวิต โจทก์ ไม่เคยเข้าครอบครองและไม่เคยให้สิทธิเก็บกินเลยตลอดมา เป็นเวลา 7 - 8 ปี แล้ว โจทก์ก็ยังฟ้องขอให้บังคับจำเลยตามสิทธินี้ได้ คดีเช่นนี้มีอายุความฟ้องร้อง 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30) ไม่ใช่อายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1374, 1375 หรือ 1428




การรับสภาพหนี้ มีผลทำให้อายุความหยุดลง


          การรับสภาพหนี้ ได้แก่ การที่ลูกหนี้ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งตามกฎหมายถือว่าลูกหนี้ได้ยอมรับว่าตนเป็นหนี้เจ้าหนี้จริง อันเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้ โดยการรับสภาพหนี้นั้นจะมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง


          การกระทำของลูกหนี้ที่ถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ ตามมาตรา 193/14 (1) มีอยู่ 5 กรณี คือ
          (1) ลูกหนี้ทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้
          (2) ลูกหนี้ชำระหนี้ให้บางส่วน
          (3) ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ย
          (4) ลูกหนี้ให้ประกัน
          (5) ลูกหนี้กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้

          (1) ลูกหนี้ทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ คือ ลูกหนี้ทำหนังสือไว้แก่เจ้าหนี้เพื่อยอมรับว่าตนเป็นหนี้เจ้าหนี้จริง
          เมื่อทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว แม้เจ้าหนี้จะไม่ตกลงด้วย แต่หนังสือรับสภาพหนี้นั้นก็ยังมีผลใช้บังคับได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344/2506  จำเลยรับฝากสินค้าราคาสองหมื่นบาทเศษของโจทก์ไว้แล้วสินค้านั้นสูญหายไป จำเลยจึงมีหนังสือยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ 5,000 บาท โจทก์ปฏิเสธ ต่อมาได้มีการเจรจากันอีก จำเลยมีหนังสือยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ครึ่งหนึ่งของราคาสินค้า แต่โจทก์ก็ไม่ตกลง ดังนี้ เห็นได้ว่าเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ที่จำเลยยอมชดใช้ค่าสินค้าที่หายรายนี้ให้โจทก์นั้นเป็นการยอมรับแล้วว่าหนี้ค่าสินค้าของโจทก์ที่หายไปมีอยู่จริงเรียกได้ว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ชดใช้ค่าสินค้าของโจทก์ที่หายไปแล้ว

          (2) ลูกหนี้ชำระหนี้ให้บางส่วน
          การชำระหนี้บางส่วนนี้ อาจจะชำระด้วยตัวเงินหรือเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2533  จำเลยได้ชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์งวดแรกเป็นการชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน อันถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 172 ย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่ ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 2 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8032/2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ให้รื้อถอนและต่อเติมโครงหลังคาเหล็กโรงสีข้าวของจำเลยที่ 1 โดยจ้างเหมาค่าแรงต่อตารางเมตร โจทก์เป็นฝ่ายจัดหาเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำงาน ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายจัดหาสัมภาระ การทำงานของโจทก์จึงเป็นการรับเหมาก่อสร้างเป็นลักษณะของการรับจ้างทำของชนิดหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 แม้โจทก์ลงมือทำงานด้วยก็หาทำให้โจทก์เป็นช่างฝีมือตามมาตรา 193/34 (1) ไม่ ความรับผิดของผู้ว่าจ้างจึงไม่อยู่ในอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าจ้างจากผู้ว่าจ้างจึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้น ต้องเรียกร้องเอาภายใน 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/34 (7) โจทก์ส่งมอบงานก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2545 และจำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างครั้งสุดท้ายวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 อายุความจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามมาตรา 193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 เกิน 2 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10969/2555 เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอันเกิดจากการกระทำของลูกหนี้อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ รวมไปถึงการชำระหนี้ให้บางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14
          เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยตกลงชำระหนี้บัตรเครดิตโดยยินยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลย และสัญญาการใช้บัตรเครดิตระบุว่า หากมีการยกเลิกการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าด้วยเหตุประการใด ให้ถือว่าเป็นการยกเลิกการใช้บัตรเครดิตเท่านั้น มิใช่เป็นการยกเลิกสัญญา และหากปรากฏว่ามียอดเงินเป็นลูกหนี้โจทก์ จำเลยตกลงที่จะชำระหนี้โดยให้โจทก์หักเงินจากบัญชีชำระหนี้ได้ ดังนี้ การที่โจทก์หักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยเพื่อชำระหนี้จึงเป็นกรณีที่จำเลยยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์หักเงินจากบัญชีของจำเลยตามอำเภอใจไม่ กรณีจึงเป็นการรับสารภาพหนี้ต่อโจทก์ด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วนอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เช่นนี้นับแต่วันที่จำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายจนถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15907/2553 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างโดยขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารของโจทก์และรถยนต์ของบุคคลภายนอกเสียหาย เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในส่วนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดกับรถยนต์โดยสารของโจทก์ จึงเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหาย มิใช่นับจากวันที่โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นที่โจทก์ได้ว่าจ้างให้ซ่อมรถยนต์โดยสารดังกล่าว เมื่อนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหายถึงวันฟ้องเกินสิบปีแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์จึงขาดอายุความ
          สำหรับความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดแก่บุคคลภายนอกซึ่งโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้วนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมให้โจทก์หักค่าจ้างชำระค่าเสียหายดังกล่าวคืนอันเป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ก็ตาม แต่เมื่อเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันถัดจากวันรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้องก็พ้นกำหนดสิบปีแล้ว และแม้ว่าโจทก์จะมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ แต่เมื่อโจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน โจทก์ย่อมมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้อย่างช้าที่สุดคือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน อายุความสะดุดหยุดลงอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายก็คือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน เมื่อนับถัดจากวันดังกล่าวถึงวันฟ้องก็เกินสิบปีแล้วเช่นกัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชำระแก่บุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ


          แต่กรณีที่เจ้าหนี้นำเงินในบัญชีเงินฝากของลูกหนี้มาหักชำระหนี้โดยพลการ ไม่ใช่การรับสภาพหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8051/2551 การที่โจทก์นำเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยมาชำระหนี้หลังจากสัญญาบัตรเครดิตและข้อตกลงในสัญญาได้สิ้นสุดลงแล้วจึงเป็นการกระทำของโจทก์เอง หาใช่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยชำระหนี้ให้เจ้าหนี้บางส่วนไม่ กรณีย่อมไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2544 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2551 หนี้จากการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นหนี้จากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ หรือหนี้จากการถอนเงินสด ล้วนเป็นหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตด้วยกัน จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ไม่อาจแยกบังคับนับอายุความแตกต่างกันได้
          การรับสภาพหนี้โดยการชำระหนี้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น จำเลยจะต้องเป็นผู้กระทำหรือยินยอมให้กระทำ ดังนั้น การที่โจทก์หักทอนบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตอันเป็นการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ โดยมิได้มีข้อตกลงกันไว้ขณะทำสัญญา ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจะถือว่าจำเลยยินยอมในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวด้วยหาได้ไม่ กรณีไม่ถือว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนอันเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งจะมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

          (3) ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ย
          การชำระดอกเบี้ย อาจจะชำระด้วยเงิน หรือทรัพย์สิน หรือกระทำการแทนการชำระดอกเบี้ยด้วยเงินก็ได้ เช่น การอนุญาตให้เจ้าหนี้ทำกินในที่ดินต่างดอกเบี้ย เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2519  ป. กู้เงินของสามีโจทก์ไป และมอบนาให้ทำกินต่างดอกเบี้ยตลอดมา ต่อมา ป. ตาย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ได้มอบนานั้นให้ทำต่างดอกเบี้ยจนกระทั่งสามีโจกท์ตายและเมื่อสามีโจกท์ตายแล้ว จำเลยก็มอบนาดังกล่าวให้โจกท์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกของสามีทำนาต่างดอกเบี้ยต่อมาอีกดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ปฎิบัติการชำระดอกเบี้ยด้วยการให้ทำนา เป็นการรับสารภาพต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยการส่งดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง (อ้างฎีกาประชุมใหญ่ที่ 159/2513)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2513 (ประชุมใหญ่) พฤติการณ์ที่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับมรดกของ ด. ผู้กู้ ให้โจทก์ผู้ให้กู้ทำนาถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติการชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ด้วยการให้โจทก์ได้ทำนาจึงเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยการส่งดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง
          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยยอมให้โจทก์ได้ทำนาต่างดอกเบี้ย หรือมิฉะนั้นให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีดังนี้ โจทก์จะมีสิทธิทำนาได้ก็แต่โดยจำเลยยินยอม เมื่อจำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ทำนาและเอาที่นาคืนไปทำเองแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิติดตามเอาคืน ด. เจ้ามรดกกู้เงินโจทก์ตกลงจะให้ดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่ตกลงให้ก็คือให้โจทก์ทำนาต่างดอกเบี้ย เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระดอกเบี้ยโดยไม่ยอมให้โจทก์ทำนาต่างดอกเบี้ย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดวันใดก่อนโจทก์ฟ้องศาลคิดคำนวณให้จากวันฟ้อง

          (4) ลูกหนี้ให้ประกัน
          การให้ประกัน ลูกหนี้อาจจะหาบุคคลมาค้ำประกัน หรือให้ประกันหนี้ด้วยทรัพย์สิน โดยการจำนองหรือจำนำ ก็ได้ โดยจะต้องทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ในเรื่องนั้นๆด้วย

          (5) ลูกหนี้กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2536  การที่จำเลยเป็นหนี้ค่าซื้อไก่จากโจทก์หลายครั้งหลายรายการในระหว่างวันที่ 22 ถึง 31 มีนาคม 2527 จำเลยนำเช็คมาชำระหนี้ให้โจทก์ 4 ฉบับ ดังนี้ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่า จำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ อายุความจึงสะดุดหยุดลง จำเลยนำเช็คมาชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2527 ซึ่งยังอยู่ภายในอายุความ 2 ปี นับแต่วันทำการซื้อขายสินค้า อายุความสะดุดหยุดลงในวันนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172(เดิม) เช็คพิพาท 4 ฉบับที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ฉบับแรกลงวันที่ 30 ตุลาคม 2527 ฉบับที่สองลงวันที่ 30 พฤศจิกายน2527 ฉบับที่สามลงวันที่ 30 ธันวาคม 2527 และฉบับที่สี่ลงวันที่ 30 มกราคม 2528 เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดสั่งจ่ายเงิน จึงเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2529 จำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกตามเช็คฉบับแรกและฉบับที่สองจึงเกินกำหนด 2 ปี ย่อมขาดอายุความ ส่วนจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกตามเช็คฉบับที่สามและฉบับที่สี่ยังไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558  ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ" มาตรา 193/14 บัญญัติว่า "อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)... กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง..." และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ" วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น" โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14
          แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13839/2553 จำเลยได้บรรยายฟ้องแย้งให้เข้าใจได้แล้วว่า อุปกรณ์ที่สั่งซื้อจากโจทก์ซึ่งมีความบกพร่องต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขคือ อุปกรณ์ระบบควบคุมเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์ตรวจจับควัน และอุปกรณ์วาล์วผีเสื้อปิดเปิดน้ำ ซึ่งโจทก์ก็ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สินค้าอุปกรณ์ดังกล่าวที่ส่งให้จำเลยมิได้ชำรุดบกพร่อง แต่สามารถใช้การได้ดี ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความผิดพลาดจากระบบติดตั้งของจำเลยเอง แสดงว่าโจทก์เข้าใจข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องแย้งเป็นอย่างดี ส่วนค่าใช้จ่ายในการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวที่จำเลยต้องว่าจ้างผู้ชำนาญรายใดมาดำเนินการแก้ไขเป็นรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา จำเลยได้บรรยายฟ้องแย้งไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ดังนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เคลือบคลุม
          ภายหลังจากจำเลยได้รับแจ้งจากบริษัท ซ. ให้ทราบถึงค่าใช้จ่ายในการแก้ไขความชำรุดบกพร่องของสินค้าตามหนังสือลงวันที่ 15 ตุลาคม 2542 เอกสารหมาย ล.9 และจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบถึงค่าใช้จ่ายนั้นแล้ว โจทก์ได้มาดำเนินการแก้ไขในระบบให้จำเลย แต่ไม่อาจแก้ไขให้สมบูรณ์ได้ ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ได้กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายแล้วว่าโจทก์ยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยแล้ว อายุความจึงสะดุดหยุดลงนับแต่เวลาดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แม้จำเลยจะมิได้นำสืบให้เห็นว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นวันเวลาใดก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นระยะเวลาภายหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2542 อันเป็นวันที่บริษัท ซ. เจ้าของสินค้ามีหนังสือแจ้งจำเลยถึงจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงแก้ไข เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันดังกล่าวถึงวันที่ 27 มีนาคม 2543 อันเป็นวันฟ้องแย้ง จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 และแม้จะนับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2542 ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2543 อันเป็นวันฟ้องแย้ง ก็ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2542 เช่นกัน ดังนั้น สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ผู้ขายรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์ตามฟ้องแย้งของจำเลยจึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 474
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7953/2553 การที่จำเลยทำหนังสือแจ้งผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งภริยาโจทก์ไปร้องเรียนไว้ว่าจะซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ของโจทก์ เป็นกรณีที่จำเลยกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดที่จำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ซึ่งขณะที่จำเลยทำหนังสือทั้งสองฉบับนั้นยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เกิดเหตุละเมิดเมื่อกลางปี 2541 อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความและให้เริ่มนับอายุความใหม่ แต่จะนับอายุความใหม่ก็ต่อเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดก็ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 เมื่อเอกสารหมาย จ.7 มีข้อความว่า จำเลยจะเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮาส์เวลาใดจำเลยจะแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน 30 วัน แสดงว่าการยอมรับสภาพหนี้ของจำเลยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะชำระหนี้โดยเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮาส์เมื่อใด จำเลยจะแจ้งล่วงหน้าให้โจทก์ทราบอย่างน้อย 30 วัน ดังนั้นตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้แจ้งกำหนดวันเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ให้โจทก์ทราบ ก็ถือว่าจำเลยยังคงยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวสืบต่อเนื่องตลอดมา แต่เมื่อจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 แจ้งทนายความของโจทก์ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงไม่เข้าดำเนินการซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ของโจทก์ เป็นกรณีจำเลยปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ ถือว่าเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดลงในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 อายุความตามสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 28 มกราคม 2548 จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          แต่ถ้าไม่ใช่กรณีที่ลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้ ก็ไม่ใช่การรับสภาพหนี้ ไม่มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2550 การรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หักลดหนี้ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามบทมาตราดังกล่าว ส่วนการที่จำเลยที่ 1 คืนสินค้าให้โจทก์บางส่วนก็เป็นการใช้สิทธิในฐานะคู่สัญญา มิใช่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ายังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่ ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เช่นกัน จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
       
          การรับสภาพหนี้ต้องกระทำก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2552 เอกสารการส่งมอบและรับสินค้า ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามตกลงหรือขอให้โจทก์หักหนี้ค่าจ้างที่จำเลยทั้งสามค้างชำระกับหนี้สินค้าที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลยทั้งสาม กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามทำหนังสือรับสภาพหนี้หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากสงสัยแสดงให้เป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ส่วนใบเซ็นรับเอกสารการประมาณการค่าใช้จ่ายที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเอกสารไว้นั้น ก็ไม่มีข้อความใดที่ระบุหรือแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าเป็นหนี้ตามที่โจทก์อ้าง การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับเอกสารดังกล่าวไว้ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำอันปราศจากสงสัยที่แสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่อย่างใด กรณีตามที่โจทก์อ้างจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 ที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง และการรับสภาพหนี้จะต้องเป็นการกระทำก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี ตั้งแต่จำเลยทั้งสามรับมอบงานที่โจทก์ทำเสร็จสิ้นแล้ว สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้จ้างทำของทั้ง 3 รายการของโจทก์จึงขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2551 ครบกำหนดชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าธนาคารยอมให้จำเลยใช้บัตรเครดิตอีก แสดงว่าธนาคารกับจำเลยถือว่าสัญญาที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 ธนาคารย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 แต่จำเลยนำเงินมาชำระให้ธนาคารวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 จำนวน 5,000 บาท อันเป็นการรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 2 ปี ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2541 การที่ธนาคารนำเงินจำนวน 6.68 บาท จากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมาหักชำระหนี้บัตรเครดิตเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2541 หลังจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 โดยปล่อยเวลาให้ผ่านไปถึง 2 ปีเศษ และคิดดอกเบี้ยกับค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าตลอดมา นอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า ธนาคารอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้ธนาคารได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยได้ดอกเบี้ยและค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าระหว่างนั้นและเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
          จำเลยนำเงินมาชำระหนี้บางส่วนโดยให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 จำนวน 1,000 บาท เป็นการชำระหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกเงินคืนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิจากธนาคารนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2543 จึงเกิน 2 ปี นับแต่วันที่เริ่มนับอายุความใหม่วันที่ 10 กรกฎาคม 2539 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
          ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 ประกอบมาตรา 247

การให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม


          นิติกรรมที่ตกเป็นโมฆียะนั้น นอกจากบุคคลตามมาตรา 175 จะมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมนั้นแล้ว บุคคลดังกล่าวก็อาจให้ความเห็นชอบด้วยกับนิติกรรมนั้น โดยการให้สัตยาบันแก่นิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้นได้ ซึ่งมีผลให้นิติกรรมนั้นจะสมบูรณ์ตลอดไปไม่อาจบอกล้างได้อีก

          ผู้มีสิทธิให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม

          มาตรา 177  "ถ้าบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา 175 ผู้หนึ่งผู้ใด ได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ให้ถือว่าการนั้นเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก แต่ทั้งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก"
          มาตรา 175  "โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้
          (1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ผู้เยาว์จะบอกล้างก่อนที่ตนบรรลุนิติภาวะก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
          (2) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์
          (3) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่
          (4) บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว
          ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้"

          วิธีการให้สัตยาบัน

          มาตรา 178  "การบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ย่อมกระทำได้โดยการแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวกำหนดได้แน่นอน"
          มาตรา 180  "ภายหลังเวลาอันพึงให้สัตยาบันได้ตามมาตรา 179 ถ้ามีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมโดยการกระทำของบุคคลซึ่งมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา 175 ถ้ามิได้สงวนสิทธิไว้แจ้งชัดประการใดให้ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน
          (1) ได้ปฏิบัติการชำระหนี้แล้วทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
          (2) ได้มีการเรียกให้ชำระหนี้นั้นแล้ว
          (3) ได้มีการแปลงหนี้ใหม่
          (4) ได้มีการให้ประกันเพื่อหนี้นั้น
          (5) ได้มีการโอนสิทธิหรือความรับผิดทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
          (6) ได้มีการกระทำอย่างอื่นอันแสดงได้ว่าเป็นการให้สัตยาบัน"

          ดังนั้น หากภายหลังเวลาอันอาจให้สัตยาบันได้ตามมาตรา 179 นั้น ได้มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 180 (1)-(6) แล้ว ย่อมถือเป็นการให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมนั้นโดยปริยาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 251/2522  จำเลยอ้างว่าได้ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์เนื่องจากถูกข่มขู่ บันทึกดังกล่าวเป็นโมฆียะ แต่ปรากฏว่าหลังจากเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะตามที่จำเลยอ้างนั้นสิ้นไปแล้ว จำเลยได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อีกโดยมิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิไว้แจ้งชัดว่าจะบอกล้างบันทึกข้อตกลงในภายหลัง ต้องถือว่าจำเลยให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 142 (เดิม) จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกล้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2049/2538 จำเลยไม่ได้ให้การว่าได้บอกล้างโมฆียะกรรมภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว การนำสืบของจำเลยที่ว่าได้บอกล้างนิติกรรมไปยังโจทก์ก่อนวันที่พากันไปโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายที่เป็นโมฆียะที่สำนักงานที่ดินจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
          แม้ในวันนัดจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่ได้เพราะภรรยาจำเลยคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนครึ่งหนึ่ง แต่แสดงว่าจำเลยตั้งใจที่จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายตลอดมา ซึ่งเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุที่เป็นโมฆียะกรรมได้สูญสิ้นไปโดยมิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิไว้แจ้งชัด ถือว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมแล้วโดยปริยาย และแม้ต่อมาจำเลยจะยื่นคำให้การต่อสู้คดีโดยถือว่าเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม แต่เมื่อจำเลยได้ให้สัตยาบันก่อนแล้วจึงไม่อาจบอกล้างได้        

          แต่ถ้ามีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 180 แล้วมีการสงวนสิทธิไว้ชัดแจ้งว่ามิให้ถือเป็นการให้สัตยาบัน ก็ยังไม่อาจถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการให้สัตยาบัน นอกจากนี้ กรณีที่มีผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมหลายคน หากคนใดคนหนึ่งได้ให้สัตยาบันไปแล้ว ก็มีผลให้นิติกรรมนั้นไม่อาจบอกล้างได้อีก

          ผลของการให้สัตยาบัน

          มาตรา 177  "ถ้าบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา 175 ผู้หนึ่งผู้ใด ได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ให้ถือว่าการนั้นเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก แต่ทั้งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก"

          เมื่อมีการให้สัตยาบันแก่นิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้นแล้ว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย นิติกรรมนั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย คู่กรณีไม่อาจจะบอกล้างนิติกรรมนั้นได้อีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ความสมบูรณ์ของนิติกรรมนี้ ย่อมไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาก่อนการให้สัตยาบันนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6350/2541 (ประชุมใหญ่) แม้ ส. ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินทั้ง 8 แปลงในขณะที่ส.เป็นปกติอยู่ก็ตามแต่ในช่วงระยะเวลาที่ส.จะต้องไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อขายนั้นเป็นเวลาภายหลังที่ส. ได้ถูกศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ ในความอนุบาลของผู้ร้องแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อนุบาลประสงค์ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายโดยดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 แปลง ขายให้ผู้จะซื้อผู้ร้องจึงต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 วรรคสอง และ 1574(1) ประกอบมาตรา 1598/18 วรรคสอง สัญญาจะซื้อขายเป็นนิติกรรมที่ ส. ผู้จะขายเป็นบุคคลวิกลจริตและได้กระทำในขณะที่จริตวิกลอยู่ ทั้ง จ.ผู้จะซื้อได้รู้แล้วด้วยว่า ส. เป็นคนวิกลจริต นิติกรรมสัญญาจะซื้อขายจึงตกเป็นโมฆียะ แต่ผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาลซึ่งมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้นมิได้บอกล้างต่อผู้จะซื้อ ทั้งผู้ร้องยังได้แสดงเจตนาขอทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวแทน ส.โดยการไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดิน และยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขอทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขายแทน ส. ซึ่งผู้รับมอบอำนาจของ จ. ผู้จะซื้อได้มาแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าประสงค์จะซื้อที่ดินทุกแปลง พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแก่สัญญาจะซื้อขายซึ่งเป็นโมฆียะกรรมโดยการแสดงเจตนาแก่ จ. ผู้จะซื้อซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 178 สัญญาจะซื้อขายจึงเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก ตามมาตรา 177 มีผลผูกพันให้ผู้ร้องต้องปฏิบัติตามสัญญา โดยผู้ร้องจะต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของ ส. ขายให้แก่ผู้จะซื้อ เป็นเหตุให้ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติตาม ข้อกำหนดในสัญญาจะซื้อขาย อีกทั้งบุตรของ ส.อีก 2 คน ที่แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าทราบรายละเอียดในคดีนี้แล้วไม่ค้านตลอดจนศาลได้คำนึงถึงราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวแล้วเห็นได้ว่าราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมและเมื่อพิจารณาถึงการจะไม่อนุญาตให้ผู้ร้องขายที่ดินของ ส.ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียหายต่อ ส. เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายได้ ดังนั้น การขายที่ดินของ ส.ให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อขายถือได้ว่า มีเหตุจำเป็นและสมควร อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อ ส. จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาลของ ส.คนไร้ความสามารถขายที่ดินของ ส. ได้