01 มีนาคม 2567

การรับสภาพหนี้ มีผลทำให้อายุความหยุดลง


          การรับสภาพหนี้ ได้แก่ การที่ลูกหนี้ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งตามกฎหมายถือว่าลูกหนี้ได้ยอมรับว่าตนเป็นหนี้เจ้าหนี้จริง อันเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้ โดยการรับสภาพหนี้นั้นจะมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง


          การกระทำของลูกหนี้ที่ถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ ตามมาตรา 193/14 (1) มีอยู่ 5 กรณี คือ
          (1) ลูกหนี้ทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้
          (2) ลูกหนี้ชำระหนี้ให้บางส่วน
          (3) ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ย
          (4) ลูกหนี้ให้ประกัน
          (5) ลูกหนี้กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้

          (1) ลูกหนี้ทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ คือ ลูกหนี้ทำหนังสือไว้แก่เจ้าหนี้เพื่อยอมรับว่าตนเป็นหนี้เจ้าหนี้จริง
          เมื่อทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว แม้เจ้าหนี้จะไม่ตกลงด้วย แต่หนังสือรับสภาพหนี้นั้นก็ยังมีผลใช้บังคับได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344/2506  จำเลยรับฝากสินค้าราคาสองหมื่นบาทเศษของโจทก์ไว้แล้วสินค้านั้นสูญหายไป จำเลยจึงมีหนังสือยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ 5,000 บาท โจทก์ปฏิเสธ ต่อมาได้มีการเจรจากันอีก จำเลยมีหนังสือยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ครึ่งหนึ่งของราคาสินค้า แต่โจทก์ก็ไม่ตกลง ดังนี้ เห็นได้ว่าเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ที่จำเลยยอมชดใช้ค่าสินค้าที่หายรายนี้ให้โจทก์นั้นเป็นการยอมรับแล้วว่าหนี้ค่าสินค้าของโจทก์ที่หายไปมีอยู่จริงเรียกได้ว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ชดใช้ค่าสินค้าของโจทก์ที่หายไปแล้ว

          (2) ลูกหนี้ชำระหนี้ให้บางส่วน
          การชำระหนี้บางส่วนนี้ อาจจะชำระด้วยตัวเงินหรือเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2533  จำเลยได้ชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์งวดแรกเป็นการชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน อันถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 172 ย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่ ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 2 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8032/2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ให้รื้อถอนและต่อเติมโครงหลังคาเหล็กโรงสีข้าวของจำเลยที่ 1 โดยจ้างเหมาค่าแรงต่อตารางเมตร โจทก์เป็นฝ่ายจัดหาเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำงาน ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายจัดหาสัมภาระ การทำงานของโจทก์จึงเป็นการรับเหมาก่อสร้างเป็นลักษณะของการรับจ้างทำของชนิดหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 แม้โจทก์ลงมือทำงานด้วยก็หาทำให้โจทก์เป็นช่างฝีมือตามมาตรา 193/34 (1) ไม่ ความรับผิดของผู้ว่าจ้างจึงไม่อยู่ในอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าจ้างจากผู้ว่าจ้างจึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้น ต้องเรียกร้องเอาภายใน 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/34 (7) โจทก์ส่งมอบงานก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2545 และจำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างครั้งสุดท้ายวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 อายุความจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามมาตรา 193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 เกิน 2 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10969/2555 เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอันเกิดจากการกระทำของลูกหนี้อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ รวมไปถึงการชำระหนี้ให้บางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14
          เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยตกลงชำระหนี้บัตรเครดิตโดยยินยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลย และสัญญาการใช้บัตรเครดิตระบุว่า หากมีการยกเลิกการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าด้วยเหตุประการใด ให้ถือว่าเป็นการยกเลิกการใช้บัตรเครดิตเท่านั้น มิใช่เป็นการยกเลิกสัญญา และหากปรากฏว่ามียอดเงินเป็นลูกหนี้โจทก์ จำเลยตกลงที่จะชำระหนี้โดยให้โจทก์หักเงินจากบัญชีชำระหนี้ได้ ดังนี้ การที่โจทก์หักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยเพื่อชำระหนี้จึงเป็นกรณีที่จำเลยยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์หักเงินจากบัญชีของจำเลยตามอำเภอใจไม่ กรณีจึงเป็นการรับสารภาพหนี้ต่อโจทก์ด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วนอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เช่นนี้นับแต่วันที่จำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายจนถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15907/2553 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างโดยขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารของโจทก์และรถยนต์ของบุคคลภายนอกเสียหาย เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในส่วนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดกับรถยนต์โดยสารของโจทก์ จึงเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหาย มิใช่นับจากวันที่โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นที่โจทก์ได้ว่าจ้างให้ซ่อมรถยนต์โดยสารดังกล่าว เมื่อนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหายถึงวันฟ้องเกินสิบปีแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์จึงขาดอายุความ
          สำหรับความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดแก่บุคคลภายนอกซึ่งโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้วนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมให้โจทก์หักค่าจ้างชำระค่าเสียหายดังกล่าวคืนอันเป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ก็ตาม แต่เมื่อเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันถัดจากวันรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้องก็พ้นกำหนดสิบปีแล้ว และแม้ว่าโจทก์จะมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ แต่เมื่อโจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน โจทก์ย่อมมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้อย่างช้าที่สุดคือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน อายุความสะดุดหยุดลงอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายก็คือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน เมื่อนับถัดจากวันดังกล่าวถึงวันฟ้องก็เกินสิบปีแล้วเช่นกัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชำระแก่บุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ


          แต่กรณีที่เจ้าหนี้นำเงินในบัญชีเงินฝากของลูกหนี้มาหักชำระหนี้โดยพลการ ไม่ใช่การรับสภาพหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8051/2551 การที่โจทก์นำเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยมาชำระหนี้หลังจากสัญญาบัตรเครดิตและข้อตกลงในสัญญาได้สิ้นสุดลงแล้วจึงเป็นการกระทำของโจทก์เอง หาใช่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยชำระหนี้ให้เจ้าหนี้บางส่วนไม่ กรณีย่อมไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2544 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2551 หนี้จากการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นหนี้จากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ หรือหนี้จากการถอนเงินสด ล้วนเป็นหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตด้วยกัน จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ไม่อาจแยกบังคับนับอายุความแตกต่างกันได้
          การรับสภาพหนี้โดยการชำระหนี้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น จำเลยจะต้องเป็นผู้กระทำหรือยินยอมให้กระทำ ดังนั้น การที่โจทก์หักทอนบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตอันเป็นการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ โดยมิได้มีข้อตกลงกันไว้ขณะทำสัญญา ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจะถือว่าจำเลยยินยอมในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวด้วยหาได้ไม่ กรณีไม่ถือว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนอันเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งจะมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

          (3) ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ย
          การชำระดอกเบี้ย อาจจะชำระด้วยเงิน หรือทรัพย์สิน หรือกระทำการแทนการชำระดอกเบี้ยด้วยเงินก็ได้ เช่น การอนุญาตให้เจ้าหนี้ทำกินในที่ดินต่างดอกเบี้ย เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2519  ป. กู้เงินของสามีโจทก์ไป และมอบนาให้ทำกินต่างดอกเบี้ยตลอดมา ต่อมา ป. ตาย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ได้มอบนานั้นให้ทำต่างดอกเบี้ยจนกระทั่งสามีโจกท์ตายและเมื่อสามีโจกท์ตายแล้ว จำเลยก็มอบนาดังกล่าวให้โจกท์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกของสามีทำนาต่างดอกเบี้ยต่อมาอีกดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ปฎิบัติการชำระดอกเบี้ยด้วยการให้ทำนา เป็นการรับสารภาพต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยการส่งดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง (อ้างฎีกาประชุมใหญ่ที่ 159/2513)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2513 (ประชุมใหญ่) พฤติการณ์ที่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับมรดกของ ด. ผู้กู้ ให้โจทก์ผู้ให้กู้ทำนาถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติการชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ด้วยการให้โจทก์ได้ทำนาจึงเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยการส่งดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง
          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยยอมให้โจทก์ได้ทำนาต่างดอกเบี้ย หรือมิฉะนั้นให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีดังนี้ โจทก์จะมีสิทธิทำนาได้ก็แต่โดยจำเลยยินยอม เมื่อจำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ทำนาและเอาที่นาคืนไปทำเองแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิติดตามเอาคืน ด. เจ้ามรดกกู้เงินโจทก์ตกลงจะให้ดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่ตกลงให้ก็คือให้โจทก์ทำนาต่างดอกเบี้ย เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระดอกเบี้ยโดยไม่ยอมให้โจทก์ทำนาต่างดอกเบี้ย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดวันใดก่อนโจทก์ฟ้องศาลคิดคำนวณให้จากวันฟ้อง

          (4) ลูกหนี้ให้ประกัน
          การให้ประกัน ลูกหนี้อาจจะหาบุคคลมาค้ำประกัน หรือให้ประกันหนี้ด้วยทรัพย์สิน โดยการจำนองหรือจำนำ ก็ได้ โดยจะต้องทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ในเรื่องนั้นๆด้วย

          (5) ลูกหนี้กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2536  การที่จำเลยเป็นหนี้ค่าซื้อไก่จากโจทก์หลายครั้งหลายรายการในระหว่างวันที่ 22 ถึง 31 มีนาคม 2527 จำเลยนำเช็คมาชำระหนี้ให้โจทก์ 4 ฉบับ ดังนี้ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่า จำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ อายุความจึงสะดุดหยุดลง จำเลยนำเช็คมาชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2527 ซึ่งยังอยู่ภายในอายุความ 2 ปี นับแต่วันทำการซื้อขายสินค้า อายุความสะดุดหยุดลงในวันนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172(เดิม) เช็คพิพาท 4 ฉบับที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ฉบับแรกลงวันที่ 30 ตุลาคม 2527 ฉบับที่สองลงวันที่ 30 พฤศจิกายน2527 ฉบับที่สามลงวันที่ 30 ธันวาคม 2527 และฉบับที่สี่ลงวันที่ 30 มกราคม 2528 เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดสั่งจ่ายเงิน จึงเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2529 จำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกตามเช็คฉบับแรกและฉบับที่สองจึงเกินกำหนด 2 ปี ย่อมขาดอายุความ ส่วนจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกตามเช็คฉบับที่สามและฉบับที่สี่ยังไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558  ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ" มาตรา 193/14 บัญญัติว่า "อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)... กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง..." และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ" วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น" โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14
          แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13839/2553 จำเลยได้บรรยายฟ้องแย้งให้เข้าใจได้แล้วว่า อุปกรณ์ที่สั่งซื้อจากโจทก์ซึ่งมีความบกพร่องต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขคือ อุปกรณ์ระบบควบคุมเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์ตรวจจับควัน และอุปกรณ์วาล์วผีเสื้อปิดเปิดน้ำ ซึ่งโจทก์ก็ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สินค้าอุปกรณ์ดังกล่าวที่ส่งให้จำเลยมิได้ชำรุดบกพร่อง แต่สามารถใช้การได้ดี ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความผิดพลาดจากระบบติดตั้งของจำเลยเอง แสดงว่าโจทก์เข้าใจข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องแย้งเป็นอย่างดี ส่วนค่าใช้จ่ายในการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวที่จำเลยต้องว่าจ้างผู้ชำนาญรายใดมาดำเนินการแก้ไขเป็นรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา จำเลยได้บรรยายฟ้องแย้งไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ดังนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เคลือบคลุม
          ภายหลังจากจำเลยได้รับแจ้งจากบริษัท ซ. ให้ทราบถึงค่าใช้จ่ายในการแก้ไขความชำรุดบกพร่องของสินค้าตามหนังสือลงวันที่ 15 ตุลาคม 2542 เอกสารหมาย ล.9 และจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบถึงค่าใช้จ่ายนั้นแล้ว โจทก์ได้มาดำเนินการแก้ไขในระบบให้จำเลย แต่ไม่อาจแก้ไขให้สมบูรณ์ได้ ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ได้กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายแล้วว่าโจทก์ยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยแล้ว อายุความจึงสะดุดหยุดลงนับแต่เวลาดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แม้จำเลยจะมิได้นำสืบให้เห็นว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นวันเวลาใดก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นระยะเวลาภายหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2542 อันเป็นวันที่บริษัท ซ. เจ้าของสินค้ามีหนังสือแจ้งจำเลยถึงจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงแก้ไข เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันดังกล่าวถึงวันที่ 27 มีนาคม 2543 อันเป็นวันฟ้องแย้ง จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 และแม้จะนับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2542 ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2543 อันเป็นวันฟ้องแย้ง ก็ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2542 เช่นกัน ดังนั้น สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ผู้ขายรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์ตามฟ้องแย้งของจำเลยจึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 474
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7953/2553 การที่จำเลยทำหนังสือแจ้งผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งภริยาโจทก์ไปร้องเรียนไว้ว่าจะซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ของโจทก์ เป็นกรณีที่จำเลยกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดที่จำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ซึ่งขณะที่จำเลยทำหนังสือทั้งสองฉบับนั้นยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เกิดเหตุละเมิดเมื่อกลางปี 2541 อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความและให้เริ่มนับอายุความใหม่ แต่จะนับอายุความใหม่ก็ต่อเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดก็ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 เมื่อเอกสารหมาย จ.7 มีข้อความว่า จำเลยจะเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮาส์เวลาใดจำเลยจะแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน 30 วัน แสดงว่าการยอมรับสภาพหนี้ของจำเลยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะชำระหนี้โดยเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮาส์เมื่อใด จำเลยจะแจ้งล่วงหน้าให้โจทก์ทราบอย่างน้อย 30 วัน ดังนั้นตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้แจ้งกำหนดวันเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ให้โจทก์ทราบ ก็ถือว่าจำเลยยังคงยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวสืบต่อเนื่องตลอดมา แต่เมื่อจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 แจ้งทนายความของโจทก์ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงไม่เข้าดำเนินการซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ของโจทก์ เป็นกรณีจำเลยปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ ถือว่าเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดลงในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 อายุความตามสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 28 มกราคม 2548 จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          แต่ถ้าไม่ใช่กรณีที่ลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้ ก็ไม่ใช่การรับสภาพหนี้ ไม่มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2550 การรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หักลดหนี้ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามบทมาตราดังกล่าว ส่วนการที่จำเลยที่ 1 คืนสินค้าให้โจทก์บางส่วนก็เป็นการใช้สิทธิในฐานะคู่สัญญา มิใช่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ายังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่ ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เช่นกัน จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
       
          การรับสภาพหนี้ต้องกระทำก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2552 เอกสารการส่งมอบและรับสินค้า ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามตกลงหรือขอให้โจทก์หักหนี้ค่าจ้างที่จำเลยทั้งสามค้างชำระกับหนี้สินค้าที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลยทั้งสาม กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามทำหนังสือรับสภาพหนี้หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากสงสัยแสดงให้เป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ส่วนใบเซ็นรับเอกสารการประมาณการค่าใช้จ่ายที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเอกสารไว้นั้น ก็ไม่มีข้อความใดที่ระบุหรือแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าเป็นหนี้ตามที่โจทก์อ้าง การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับเอกสารดังกล่าวไว้ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำอันปราศจากสงสัยที่แสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่อย่างใด กรณีตามที่โจทก์อ้างจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 ที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง และการรับสภาพหนี้จะต้องเป็นการกระทำก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี ตั้งแต่จำเลยทั้งสามรับมอบงานที่โจทก์ทำเสร็จสิ้นแล้ว สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้จ้างทำของทั้ง 3 รายการของโจทก์จึงขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2551 ครบกำหนดชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าธนาคารยอมให้จำเลยใช้บัตรเครดิตอีก แสดงว่าธนาคารกับจำเลยถือว่าสัญญาที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 ธนาคารย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 แต่จำเลยนำเงินมาชำระให้ธนาคารวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 จำนวน 5,000 บาท อันเป็นการรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 2 ปี ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2541 การที่ธนาคารนำเงินจำนวน 6.68 บาท จากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมาหักชำระหนี้บัตรเครดิตเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2541 หลังจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 โดยปล่อยเวลาให้ผ่านไปถึง 2 ปีเศษ และคิดดอกเบี้ยกับค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าตลอดมา นอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า ธนาคารอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้ธนาคารได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยได้ดอกเบี้ยและค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าระหว่างนั้นและเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
          จำเลยนำเงินมาชำระหนี้บางส่วนโดยให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 จำนวน 1,000 บาท เป็นการชำระหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกเงินคืนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิจากธนาคารนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2543 จึงเกิน 2 ปี นับแต่วันที่เริ่มนับอายุความใหม่วันที่ 10 กรกฎาคม 2539 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
          ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 ประกอบมาตรา 247

การให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม


          นิติกรรมที่ตกเป็นโมฆียะนั้น นอกจากบุคคลตามมาตรา 175 จะมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมนั้นแล้ว บุคคลดังกล่าวก็อาจให้ความเห็นชอบด้วยกับนิติกรรมนั้น โดยการให้สัตยาบันแก่นิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้นได้ ซึ่งมีผลให้นิติกรรมนั้นจะสมบูรณ์ตลอดไปไม่อาจบอกล้างได้อีก

          ผู้มีสิทธิให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม

          มาตรา 177  "ถ้าบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา 175 ผู้หนึ่งผู้ใด ได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ให้ถือว่าการนั้นเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก แต่ทั้งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก"
          มาตรา 175  "โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้
          (1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ผู้เยาว์จะบอกล้างก่อนที่ตนบรรลุนิติภาวะก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
          (2) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์
          (3) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่
          (4) บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว
          ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้"

          วิธีการให้สัตยาบัน

          มาตรา 178  "การบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ย่อมกระทำได้โดยการแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวกำหนดได้แน่นอน"
          มาตรา 180  "ภายหลังเวลาอันพึงให้สัตยาบันได้ตามมาตรา 179 ถ้ามีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมโดยการกระทำของบุคคลซึ่งมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา 175 ถ้ามิได้สงวนสิทธิไว้แจ้งชัดประการใดให้ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน
          (1) ได้ปฏิบัติการชำระหนี้แล้วทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
          (2) ได้มีการเรียกให้ชำระหนี้นั้นแล้ว
          (3) ได้มีการแปลงหนี้ใหม่
          (4) ได้มีการให้ประกันเพื่อหนี้นั้น
          (5) ได้มีการโอนสิทธิหรือความรับผิดทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
          (6) ได้มีการกระทำอย่างอื่นอันแสดงได้ว่าเป็นการให้สัตยาบัน"

          ดังนั้น หากภายหลังเวลาอันอาจให้สัตยาบันได้ตามมาตรา 179 นั้น ได้มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 180 (1)-(6) แล้ว ย่อมถือเป็นการให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมนั้นโดยปริยาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 251/2522  จำเลยอ้างว่าได้ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์เนื่องจากถูกข่มขู่ บันทึกดังกล่าวเป็นโมฆียะ แต่ปรากฏว่าหลังจากเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะตามที่จำเลยอ้างนั้นสิ้นไปแล้ว จำเลยได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อีกโดยมิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิไว้แจ้งชัดว่าจะบอกล้างบันทึกข้อตกลงในภายหลัง ต้องถือว่าจำเลยให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 142 (เดิม) จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกล้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2049/2538 จำเลยไม่ได้ให้การว่าได้บอกล้างโมฆียะกรรมภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว การนำสืบของจำเลยที่ว่าได้บอกล้างนิติกรรมไปยังโจทก์ก่อนวันที่พากันไปโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายที่เป็นโมฆียะที่สำนักงานที่ดินจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
          แม้ในวันนัดจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่ได้เพราะภรรยาจำเลยคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนครึ่งหนึ่ง แต่แสดงว่าจำเลยตั้งใจที่จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายตลอดมา ซึ่งเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุที่เป็นโมฆียะกรรมได้สูญสิ้นไปโดยมิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิไว้แจ้งชัด ถือว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมแล้วโดยปริยาย และแม้ต่อมาจำเลยจะยื่นคำให้การต่อสู้คดีโดยถือว่าเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม แต่เมื่อจำเลยได้ให้สัตยาบันก่อนแล้วจึงไม่อาจบอกล้างได้        

          แต่ถ้ามีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 180 แล้วมีการสงวนสิทธิไว้ชัดแจ้งว่ามิให้ถือเป็นการให้สัตยาบัน ก็ยังไม่อาจถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการให้สัตยาบัน นอกจากนี้ กรณีที่มีผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมหลายคน หากคนใดคนหนึ่งได้ให้สัตยาบันไปแล้ว ก็มีผลให้นิติกรรมนั้นไม่อาจบอกล้างได้อีก

          ผลของการให้สัตยาบัน

          มาตรา 177  "ถ้าบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา 175 ผู้หนึ่งผู้ใด ได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ให้ถือว่าการนั้นเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก แต่ทั้งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก"

          เมื่อมีการให้สัตยาบันแก่นิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้นแล้ว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย นิติกรรมนั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย คู่กรณีไม่อาจจะบอกล้างนิติกรรมนั้นได้อีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ความสมบูรณ์ของนิติกรรมนี้ ย่อมไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาก่อนการให้สัตยาบันนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6350/2541 (ประชุมใหญ่) แม้ ส. ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินทั้ง 8 แปลงในขณะที่ส.เป็นปกติอยู่ก็ตามแต่ในช่วงระยะเวลาที่ส.จะต้องไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อขายนั้นเป็นเวลาภายหลังที่ส. ได้ถูกศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ ในความอนุบาลของผู้ร้องแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อนุบาลประสงค์ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายโดยดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 แปลง ขายให้ผู้จะซื้อผู้ร้องจึงต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 วรรคสอง และ 1574(1) ประกอบมาตรา 1598/18 วรรคสอง สัญญาจะซื้อขายเป็นนิติกรรมที่ ส. ผู้จะขายเป็นบุคคลวิกลจริตและได้กระทำในขณะที่จริตวิกลอยู่ ทั้ง จ.ผู้จะซื้อได้รู้แล้วด้วยว่า ส. เป็นคนวิกลจริต นิติกรรมสัญญาจะซื้อขายจึงตกเป็นโมฆียะ แต่ผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาลซึ่งมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้นมิได้บอกล้างต่อผู้จะซื้อ ทั้งผู้ร้องยังได้แสดงเจตนาขอทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวแทน ส.โดยการไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดิน และยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขอทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขายแทน ส. ซึ่งผู้รับมอบอำนาจของ จ. ผู้จะซื้อได้มาแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าประสงค์จะซื้อที่ดินทุกแปลง พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแก่สัญญาจะซื้อขายซึ่งเป็นโมฆียะกรรมโดยการแสดงเจตนาแก่ จ. ผู้จะซื้อซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 178 สัญญาจะซื้อขายจึงเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก ตามมาตรา 177 มีผลผูกพันให้ผู้ร้องต้องปฏิบัติตามสัญญา โดยผู้ร้องจะต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของ ส. ขายให้แก่ผู้จะซื้อ เป็นเหตุให้ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติตาม ข้อกำหนดในสัญญาจะซื้อขาย อีกทั้งบุตรของ ส.อีก 2 คน ที่แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าทราบรายละเอียดในคดีนี้แล้วไม่ค้านตลอดจนศาลได้คำนึงถึงราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวแล้วเห็นได้ว่าราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมและเมื่อพิจารณาถึงการจะไม่อนุญาตให้ผู้ร้องขายที่ดินของ ส.ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียหายต่อ ส. เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายได้ ดังนั้น การขายที่ดินของ ส.ให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อขายถือได้ว่า มีเหตุจำเป็นและสมควร อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อ ส. จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาลของ ส.คนไร้ความสามารถขายที่ดินของ ส. ได้

กรรมสิทธิ์รวม (เจ้าของร่วมกัน)


          กรรมสิทธิ์รวม หมายถึง ทรัพย์สินที่มีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าของรวมกัน 

          มาตรา 1356  ถ้าทรัพย์สินเป็นของบุคคลหลายคนรวมกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

          มาตรา 1357  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน

          การครอบครองของเจ้าของรวมคนหนึ่งถือว่าเป็นการครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6237/2541  ที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 ก. มีชื่อโจทก์จำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากันในขณะนั้นเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ โดยในบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ เพื่ออก น.ส.3 ก. ได้ระบุว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ มีกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย จึงต้องฟังว่าจำเลยมีเจตนาให้โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่ง แม้นับแต่โจทก์หย่าขาดกับจำเลยเป็นต้นมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาสละการครอบครอง เพราะกรณีต้องด้วยลักษณะเจ้าของรวม ซึ่งมีผลในทางกฎหมายว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ตราบใดที่จำเลยยังมิได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของโจทก์ย่อมไม่สิ้นสุดลง โจทก์มีสิทธิเรียกเอาที่ดินพิพาทจากจำเลยได้ครึ่งหนึ่ง

          ทรัพย์สินที่สามีภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่ได้จดทะเบียนสมรส) ได้มาระหว่างอยู่กินด้วยกัน ถือเป็นกรรมสิทธิ์รวมของสามีภริยา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2533  การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ที่พิพาทมาในระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสนั้นถือว่าเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละครึ่ง แม้ที่พิพาทจะมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่ผู้เดียวก็เป็นการกระทำแทนโจทก์ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเอาที่พิพาทส่วนของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2 โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนที่พิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จึงเป็นการไม่สุจริต ไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาทด้วย.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13718/2555  เงินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันก่อนที่โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินและบ้าน ที่ดินและบ้านที่ซื้อจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์และจำเลย การจดทะเบียนสมรสกันในภายหลังไม่มีผลทำให้ที่ดินและบ้านดังกล่าวกลายเป็นสินสมรสแต่อย่างใด จึงยังคงเป็นสินส่วนตัวของทั้งโจทก์และจำเลย ซึ่งต้องแบ่งกันคนละกึ่งหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9577/2552  ขณะจำเลยได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ โดยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่สิทธิดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาขณะอยู่กินด้วยกันแล้ว จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยสมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองเพียงผู้เดียวก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับนิคม เมื่อโจทก์กับจำเลยมีสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกึ่งหนึ่ง แม้ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคสอง จะบัญญัติว่าที่ดินในนิคมซึ่งได้รับการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีภายในห้าปี ศาลก็พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งได้มิใช่เป็นการบังคับให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้โจทก์แต่อย่างใด กรณีไม่ขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10274/2551  สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา โจทก์และจำเลยจึงเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่เมื่อกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีการจดทะเบียนในรูปบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัท ท. จึงมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์และจำเลย นับแต่วันที่มีการจดทะเบียนบริษัท แม้จำเลยจะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ก็เป็นเพียงผู้บริหารในนามบริษัทไม่ใช่บริหารเป็นการส่วนตัว ทั้งมีบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีส่วนแห่งความเป็นเจ้าของในบริษัท ท. ด้วย การที่ไม่ปรากฏว่า มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น แล้วโจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยแบ่งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัท ท. จึงเป็นคำขอที่ไม่อาจบังคับได้ โจทก์ชอบที่จะไปฟ้องเรียกเอาส่วนของโจทก์จากหุ้นที่จำเลยถืออยู่ในบริษัท ท. เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยแบ่งผลกำไรจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น กิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นของบริษัท ท. มิใช่ของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งผลกำไรของบริษัท ท. ทั้งสองกรณีเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้

          ทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาท ทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกจึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2780/2550 โจทก์ทั้งสี่และจำเลยเป็นบุตรของเจ้ามรดก ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนแบ่งให้แก่ทายาททั้งห้าจึงไม่ใช่ของจำเลย โจทก์ที่ 2 เป็นทายาทคนหนึ่งและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาท จึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท และมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์ที่ 2



          ข้อสันนิษฐานทางกฎหมายในเรื่องกรรมสิทธิ์รวม

          1. ข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย ว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน (มาตรา 1357)  กล่าวคือ กรณีที่ยังไม่แน่ชัดว่าเจ้าของรวมแต่ละคนมีส่วนเท่าใด ก็จะนำข้อสันนิษฐานนี้มาใช้  แต่ถ้ามีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดแล้ว หรือได้ตกลงแบ่งสัดส่วนในเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเอาไว้แล้ว ก็ถือเอาตามนั้น ไม่ต้องใช้ข้อสันนิษฐานทางกฎหมายแต่อย่างใด 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6292/2554  จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับทั้งโจทก์และจำเลยที่ 2 ในเวลาห่างกันเพียง 20 วัน และอยู่กินฉันสามีภริยาทั้งกับโจทก์และจำเลยที่ 2 ในลักษณะเป็นครอบครัวเดียวกันมานานถึงประมาณ 20 ปี โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ ทรัพย์สินตามคำฟ้องที่โจทก์อ้างเป็นสินสมรสนั้น เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเวลาดังกล่าวโดยไม่อาจทราบได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของคนละเท่าใด กรณีต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 จึงต้องแบ่งทรัพย์เป็นสามส่วนเท่าๆ กัน และมีสิทธิคนละหนึ่งส่วน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5658/2552  จำเลยที่ 2 ตั้งบริษัท ล. และจำเลยที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ในบริเวณที่ตั้งของบริษัทดังกล่าวมาตั้งแต่ เริ่มก่อตั้งบริษัทจนมีบุตรด้วยกันถึงเก้าคนและโจทก์ได้ร่วมช่วยเหลือกิจการของบริษัท ล. แม้โจทก์เป็นภริยานอกสมรสก็ต้องถือว่าที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน การที่จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่เพียงผู้เดียวก็เป็นการกระทำแทนโจทก์เท่านั้น ดังนี้ โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง
          เมื่อที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงที่จำเลยที่ 2 ได้มาเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาททั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์อีกคนหนึ่งมิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6034/2551  ผู้เป็นเจ้าของรวมกันในที่ดินจะมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ต้องเป็นกรณีที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน ถ้าแบ่งแยกการครอบครองออกเป็นสัดส่วนแล้ว ก็ต้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมไปตามที่มีการครอบครอง ซึ่งอาจไม่เท่ากันก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2115/2551  โฉนดที่ดินและสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินเป็นเอกสารมหาชนที่รัฐออกให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าได้ออกมาโดยถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 เมื่อโฉนดที่ดินดังกล่าวมีชื่อจำเลยกับพี่น้องเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันย่อมสันนิษฐานได้ว่าจำเลยกับพี่น้องมีส่วนเป็นเจ้าของเท่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 การที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับส่วนแบ่งมากกว่าพี่น้องคนอื่น จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว 

          2. ข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย ว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกัน (มาตรา 1358 วรรคแรก) โดยถ้าเป็นเรื่องจัดการตามธรรมดา พึงตกลงโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม แต่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ อาจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางจัดการตามธรรมดาได้ เว้นแต่ฝ่ายข้างมากได้ตกลงไว้เป็นอย่างอื่น แต่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ อาจทำการเพื่อรักษาทรัพย์สินได้เสมอ (มาตรา 1358 วรรคสอง)  แต่ถ้าเป็นเรื่องจัดการอันเป็นสาระสำคัญ ต้องตกลงกันโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นต้องมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์สิน (มาตรา 1358 วรรคสาม) แต่กรณีที่เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์นั้น จะตกลงกันได้ก็แต่เมื่อเจ้าของรวมเห็นชอบทุกคน (มาตรา 1358 วรรคท้าย)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9009/2552  ส. เป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่เช่าและการให้เช่าที่ดินเป็นการจัดการตามธรรมดาเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามสภาพปกติของทรัพย์สินซึ่งเจ้าของรวมคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอแต่ต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง และ 1360 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่จำเลยเช่า โดยเสียค่าเช่าเพียงเดือนละ 2,500 บาท น้อยกว่าเดิมที่เคยเสียค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท ย่อมทำให้เจ้าของรวมคนอื่นซึ่งได้มอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาเช่ากับ จำเลยได้รับความเสียหาย ส. จึงไม่มีอำนาจที่จะทำสัญญาเช่ากับจำเลย สัญญาเช่าที่ดินจึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยแล้ว จำเลยยังอยู่ในที่ดินที่เช่าจึงเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินเช่าได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  79/2551  การจัดการทรัพย์สินตามธรรมดาเพื่อรักษาทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมคนอื่นก่อน แต่การที่ ส. เจ้าของรวมคนหนึ่งให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทโดยทำสัญญาเช่าหลังจากโจทก์เจ้าของรวมอีกคนกำลังฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าออกไปจากที่เช่า ย่อมเป็นการก่อให้เกิดภาระติดพันตึกแถวพิพาทซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์เจ้าของรวมด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง เมื่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของรวมในตึกแถวพิพาทมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญาเช่าจึงไม่สมบูรณ์และถือว่าเป็นการใช้สิทธิขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง สัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับ ส. เจ้าของรวมจึงไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6520/2549  โจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทร่วมกัน เดิมโจทก์ให้บริษัทจำเลยใช้อาคารพิพาทประกอบการค้า ต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยออกจากอาคารพิพาท แต่หลังจากนั้นจำเลยร่วมทั้งสองให้จำเลยเช่าอาคารพิพาท แม้การทำหนังสือสัญญาเช่าระหว่างจำเลยร่วมทั้งสองจำเลยดังกล่าวโจทก์จะไม่ทราบ แต่การให้เช่าอาคารพิพาทถือเป็นการจัดการธรรมดา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของรวมและนอกจากจะไม่เสียหายแล้วกลับมีประโยชน์ยิ่งกว่า เพราะเดิมโจทก์เพียงให้จำเลยอาศัยโดยไม่มีค่าตอบแทน แต่จำเลยร่วมทั้งสองให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทโดยคิดค่าเช่า กรณีไม่เป็นการใช้ทรัพย์สินในทางขัดต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะไม่ตกลงยินยอมด้วยก็ตาม แต่จำเลยร่วมทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวม ย่อมมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินได้เช่นกันจึงมีสิทธิทำสัญญาให้จำเลยเช่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  250/2547  ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งมีจำเลยที่ 1 พ. และ ก. ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกันและเจ้าของรวมคนอื่นๆมีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ ตามมาตรา 1360 ตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินกันเป็นส่วนสัด การที่ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์คนหนึ่งคนใดเข้าครอบครองส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินก็ต้องถือว่าครอบครองที่ดินส่วนนั้นๆในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งเท่านั้น หาก่อให้เริ่มเกิดสิทธิที่จะอ้างว่าตนครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเสียแต่คนเดียวไม่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทายาทผู้สืบสิทธิจาก พ. ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท หาทำให้จำเลยทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ทางปรปักษ์ไม่ เว้นเสียแต่จะได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ เมื่อจำเลยทั้งห้าไม่ได้บอกกล่าวไปยัง ก. ว่าจะไม่ยึดถือทรัพย์สินแทน ก. อีกต่อไป ตามมาตรา 1381 จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงฐานะยึดถือแทนผู้มีสิทธิครอบครองได้ และไม่อาจถือได้ว่ามีการแย่งการครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6219/2559  เมื่อ จ. และ น. ถึงแก่ความตายแล้วทายาทยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ จ. และ น. ดังนั้น ส. ย่อมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคน เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของทายาททุกคนของ จ. และ น. เช่นเดียวกับ ส. จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ร่วมกับ ธ. และเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ร่วมกับ ก. จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของทายาททุกคนในการจัดการทรัพย์มรดกของ จ. และ น. มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และต้องรับผิดต่อทายาทในฐานะตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1720 โดยทายาทแต่ละคนไม่จำต้องตั้งตัวแทนอีก การที่จำเลยที่ 1 และ ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการประชุมทายาทของ น. ถึงเจ็ดครั้ง และเสนอให้ทายาททุกคนประมูลซื้อที่ดินพิพาทก่อน แต่ไม่มีทายาทคนใดเสนอราคา จากนั้นทายาทลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิได้รับมรดกให้ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองมรดกของ น. แล้วนำเงินส่วนที่เหลือมาแบ่งปันระหว่างทายาท จากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ธ. และบริษัท ซ. เป็นผู้ดำเนินการจัดการประมูลที่ดินพิพาท แต่เมื่อได้ราคาต่ำเกินควร ก็ดำเนินการจัดหาผู้เสนอซื้อรายใหม่ ต่อมาจำเลยที่ 2 เสนอซื้อในราคาที่สูงขึ้น และในการประชุมครั้งที่ 7 ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเกินกว่ากึ่งหนึ่งลงคะแนนเสียงข้างมากให้ขายที่ดินพิพาทในราคาดังกล่าว คงมีแต่เพียงโจทก์ที่ 1 คัดค้าน ซึ่งในวันเดียวกันทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ก็ให้ความยินยอมขายที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นมรดกของ จ. ไปพร้อมกับมรดกของ น. ด้วย กรณีดังกล่าวจึงเป็นการที่เจ้าของรวมจัดการอันเป็นสาระสำคัญโดยตกลงกันด้วยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์มรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1358 วรรคสาม และจำเลยที่ 1 กับ ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกของ น. และทายาททุกคนตามหน้าที่อันควรแล้ว แม้จำเลยที่ 1 และ ธ. จะยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทในส่วนมรดกของ น. ตามเงื่อนไขในคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แต่จำเลยที่ 1 และ ธ. ก็ยื่นคำร้องขออนุญาตขายที่ดินทรัพย์ถึงสามครั้ง และยังยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการห้ามทำนิติกรรมในทรัพย์สินกองมรดกของ น. ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า ผู้จัดการมรดกมีอำนาจตามกฎหมายในการแบ่งปันทรัพย์มรดก และปรากฏว่ากองมรดกของ จ. และ น. มีหนี้ที่ต้องชำระเป็นจำนวนมากและต้องรับภาระชำระค่าดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีละ 66,000,000 บาท หากไม่รีบดำเนินการขายที่ดินพิพาทย่อมเกิดความเสียหายแก่กองมรดกที่จะต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลและทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. เป็นผู้มีชื่อในทะเบียน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีอำนาจจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2

          3. ข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย ว่าเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในทรัพย์สินนั้น (มาตรา 1360 วรรคสอง) ทั้งนี้ เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ (มาตรา 1360 วรรคแรก)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  457/2553  โจทก์ทั้งสี่กับจำเลย เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกัน จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสี่โดยมีกำหนดระยะเวลา เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าแล้ว สัญญาเช่าย่อมสิ้นสุดลง คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ โจทก์ทั้งสี่และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมต่างก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในการที่จะครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งแปลงจนกว่าจะแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมตามกฎหมาย การที่จำเลยยังคงครอบทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวย่อมขัดต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่น ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายต้องขาดประโยชน์อันควรได้รับจากที่ดินดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่เป็นค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลา ที่จำเลยยังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตามควรค่าแห่งการใช้นั้น ตามมาตรา 391 วรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1669/2548  จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในที่ดินพิพาทโดยยังไม่ได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง การใช้ทรัพย์สินกรรมสิทธิ์รวมต้องเป็นการใช้ที่ไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ การที่จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารโดยเลือกบริเวณติดถนนสุขุมวิทโดยไม่ได้รับความยินยอมของเจ้าของรวมคนอื่น จึงไม่มีสิทธิที่จะทำได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4920/2547   โจทก์ จำเลย และ ร. เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน แต่ละคนย่อมมีสิทธิใช้สอยที่ดินดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ และเจ้าของรวมคนหนึ่งๆจะจำหน่ายที่ดินดังกล่าวส่วนของตนก็ได้ การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินไว้นำโฉนดที่ดินไปให้บุคคลอื่นยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนขายที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ได้ ย่อมขัดต่อสิทธิของโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการนำโฉนดที่ดินคืนมาเพื่อส่งมอบแก่โจทก์ กรณีมิใช่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ 

          การใช้สิทธิของเจ้าของรวมเพื่อต่อสู้กับบุคคลภายนอก (มาตรา 1359)
          เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก แต่ในการเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนนั้น ท่านว่าต้องอยู่ในบังคับแห่งเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 302 แห่งประมวลกฎหมายนี้ (มาตรา 1359)  เช่น  เจ้าของรวมคนหนึ่งมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้เช่าหรือผู้บุกรุกได้ (ฎีกาที่ 1721-1722/2534),  เจ้าของรวมคนหนึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขัดทรัพย์ เพื่อให้เพิกถอนการยึดได้ (ฎีกาที่ 116/2553),  เจ้าของรวมที่ถูกฟ้องต่อสู้คดี ถือว่าเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตามมาตรา 1359 จึงเป็นการกระทำแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย ย่อมผูกพันเจ้าของรวมคนอื่นด้วย โจทก์จึงไม่ต้องฟ้องเจ้าของรวมคนอื่นอีก (ฎีกาที่ 4926/2548)  ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น กรณีที่เจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก จึงย่อมมีผลผูกพันเจ้าของรวมคนอื่นด้วย





          มาตรา 1361 “เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายส่วนของตน หรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ 
          แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน             
          ถ้าเจ้าของรวมคนใดจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันทรัพย์สินโดยมิได้รับความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน แต่ภายหลังเจ้าของรวมคนนั้นได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินแต่ผู้เดียวไซร้ ท่านว่านิติกรรมนั้นเป็นอันสมบูรณ์”  

          เช่น สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายได้ทรัพย์สินมาระหว่างสมรสจะเป็นสินสมรส เมื่อหย่าขาดกันแล้วโดยยังไม่แบ่งสินสมรสกัน ทรัพย์สินสิ้นสภาพจากสินสมรสและมีฐานะเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองฝ่าย ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ถือว่ามีส่วนเท่ากัน หากสามีทำสัญญาขายที่ดินและบ้านให้บุคคลอื่น โดยภริยาไม่ทราบเรื่องและไม่ให้ความยินยอม แม้สามีทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน สัญญาดังกล่าวไม่ผูกพันกรรมสิทธิ์ส่วนของภริยาตามมาตรา 1361 วรรคสอง คงผูกพันส่วนของสามี ภริยาฟ้องให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของภริยาได้ (ฎีกาที่ 5461/2544) หรือการจัดการสินสมรสของสามีภริยาต้องบังคับตามมาตรา 1476 คือต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง หากฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวมีผลตามมาตรา 1480 คู่สมรสอีกฝ่ายฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสฝ่ายนั้นให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะทำนิติกรรมบุคคลภายนอกกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ซึ่งกรณีต้องเป็นสามีภริยากันอยู่ หากหย่ากันแล้วแต่ยังไม่แบ่งสินสมรส การจัดการที่ดินและบ้านจึงนำมาตรา 1476 และ 1480 มาใช้ไม่ได้ ต้องบังคับในฐานะกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1361  ซึ่งไม่มีบทบัญญัติคุ้มครองบุคคลภายนอกเช่นมาตรา 1480 แม้บุคคลภายนอกจะสุจริตเสียค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง 
          หรือ โจทก์จำหน่ายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่ ม. มิใช่เป็นการก่อให้เกิดภาระติดพันแก่ตัวทรัพย์สิน ย่อมเป็นสิทธิโจทก์ที่สามารถทำได้ตามมาตรา 1361 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยเจ้าของรวม(ฎีกาที่ 1454/2551) 
          ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์กับจำเลยที่ 2 คนละครึ่ง จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้ (ฎีกาที่ 5658/2552
          เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนองหรือก่อให้เกิดภาระผูกพันก็ได้ หมายถึงส่วนที่จะได้ในฐานะเป็นเจ้าของรวม ไม่ใช่ตัวทรัพย์ การจำหน่ายส่วนของตนเท่ากับเป็นการจำหน่ายสิทธิการเป็นเจ้าของรวมนั่นเอง มีผลทำให้ผู้ซื้อหรือผู้รับโอนเข้าเป็นเจ้าของรวมแทน การจำหน่ายตามมาตรานี้ไม่จำต้องให้เจ้าของรวมคนอื่นยินยอมด้วย แต่ถ้าเป็นตัวทรัพย์แล้ว เจ้าของรวมคนใดจะจำหน่าย ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมคนอื่นด้วยไม่ว่าจะจำหน่ายทั้งหมดหรือบางส่วน เช่นเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ขายที่ดินให้คนอื่นโดยระบุส่วนของตนบอกจำนวนเนื้อที่ไว้ชัดแจ้ง ไม่เกินสิทธิของตน แม้เจ้าของรวมคนอื่นไม่รู้เห็นยินยอมการซื้อขายสมบูรณ์ (ฎีกา 1980/2494)      
          การจำหน่ายตัวทรัพย์ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมดก็ทำไม่ได้ เช่น ที่ดินโฉนดซึ่ง ด.ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ล.บิดาจำเลยทั้งสอง ที่ดินดังกล่าวไม่มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดว่าส่วนของใครอยู่ตอน ไหนและมีเนื้อที่เท่าใด ด.และ ล.ผู้มีชื่อในโฉนดซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ยังเป็นเจ้าของรวมอยู่ตามส่วนที่ตนถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินกับ ด.โดยระบุเนื้อที่ 6 ไร่ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ดิน เป็นการซื้อขายตัวทรัพย์ เมื่อเจ้าของรวมคนอื่นไม่ยินยอมไม่มีผลผูกพันเจ้าของรวมคนอื่น(ฎีกาที่ 5492/2548) เจ้าของรวมคนหนึ่งขายทรัพย์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของร่วมคนอื่น สัญญานั้นไม่ตกเป็นโมฆะ แต่ผูกพันเฉพาะส่วนของเจ้าของรวมที่ทำนิติกรรมนั้น ไม่ผูกพันเจ้าของรวมคนอื่น 
         โจทก์มีสิทธิได้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์และครอบครองมาด้วยกันโดยเข้าทำกินในที่พิพาทแล้วให้เงินจำเลยที่ 1 เป็นรายปีทุกปีตลอดมา ไม่ได้แบ่งกัน ถือว่าต่างเป็นเจ้าของรวมตาม ปพพ.1745 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกให้จำเลยที่ 2 และ 3 ทั้งแปลง จึงผูกพันได้เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 โจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนในส่วนของตนที่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิโอนกลับคืนมาได้(ฎีกาที่ 952/2522) เจ้าของรวมคนหนึ่งจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของตนไม่กระทบถึงสิทธิเจ้าของรวมคนอื่น(ฎีกาที่ 5423/2553)
       
          การแบ่งกรรมสิทธิ์รวม (มาตรา 1363, 1364)          

          1. มาตรา 1363 เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้ 
          สิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินนั้น ท่านว่าจะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้ 
          เจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้"         
    
          นิติกรรมขัดอยู่ จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้ แต่ถ้าสัญญาไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด เจ้าของรวมคนหนึ่งอาจบอกเลิกสัญญาเมื่อเวลาผ่านไปพอสมควรได้ เช่น 
          สัญญาจะขายที่ดินและสัญญาซื้อขายหุ้นคู่สัญญาตกลงนำที่ดินซึ่งโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของรวมไปขายเพื่อนำเงินมาชำระค่าหุ้น ไม่มีลักษณะที่จะให้เป็นเจ้าของรวมอย่างถาวร แต่มีผลให้ยังเรียกให้แบ่งที่ดินไม่ได้ตราบที่ข้อตกลงยังมีผลผูกพันอยู่ เมื่อสัญญาไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด หากจะให้คู่สัญญาต้องผูกพันตลอดไปจนกว่าจะขายที่ดินได้ ไม่แน่ว่าอีกกี่ปี ไม่ใช่เจตนาของคู่สัญญา เมื่อนับแต่วันทำสัญญาถึงวันฟ้องคดีนานกว่า 6 ปี ยังขายที่ดินไม่ได้ จึงมีเหตุผลสมควรที่โจทก์ทั้งสองจะบอกเลิกสัญญาได้ ความผูกพันสิ้นสุดลง นิติกรรมที่เป็นเหตุขัดข้องไม่ให้ขอแบ่งที่ดินจึงไม่มี โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินได้ไม่ขัดมาตรา 1363 (ฎีกาที่ 1576/2550
          และการฟ้องขอแบ่งทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1363 ไม่มีอายุความ ผู้มีกรรมสิทธิ์รวมจะทำนิติกรรมห้ามแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้คราวละไม่เกิน 10 ปี ไม่ใช่อายุความ (ฎีกาที่ 6437/2550)


          2. วิธีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม
          มาตรา 1364 การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน  
          ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไร เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากัน จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้ 

          วิธีแบ่งกรรมสิทธิ์รวมต้องเป็นไปตาม ปพพ.มาตรา 1364 แม้ศาลจะพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์กึ่งหนึ่งก็ตาม แต่จะพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยไม่ได้ หรือจะพิพากษาให้เอาทรัพย์สินขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่งทันทีไม่ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6781/2545 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ แต่จะเรียกให้แบ่งในเวลาไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้การแบ่งทรัพย์สินในเวลานั้นจะทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของรวมคนอื่น การที่โจทก์และจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาท โดย หจก. อ. ที่มีโจทก์และจำเลยเป็นหุ้นส่วนและได้เลิกกิจการไปแล้วเปิดดำเนินกิจการอยู่ในอาคารบนที่ดินทั้งโจทก์และจำเลยมีปัญหากันถึงขนาดจำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญา โจทก์จึงมิได้เข้าไปในที่ดินและอาคารพิพาทอีก แม้จะปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินและอาคารพิพาท แต่ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียว มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวจะฟังว่าโจทก์ฟ้องขอแบ่งในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้
          การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทออกขายทอดตลาดเอาเงินที่ขายได้แบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่งในทันทีนั้นไม่ถูกต้อง เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ได้บัญญัติกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินของเจ้าของรวมไว้เป็นขั้นตอนแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขโดยให้จำเลยแบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง โดยให้โจทก์จำเลยแบ่งทรัพย์สินกันเองก่อน เมื่อไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันคนละครึ่ง

          การจะแบ่งกรรมสิทธ์อย่างไรเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีศาลไม่จำต้องพิพากษากำหนดวิธีการแบ่งไว้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2537  เมื่อที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ครึ่งหนึ่งโจทก์จึงฟ้องขอให้แบ่งแยกได้ ส่วนการจะแบ่งที่ดินพิพาทกันอย่างไรเป็นเรื่องชั้นบังคับคดีซึ่งสามารถดำเนินการแบ่งได้โดยโจทก์ไม่ต้องขอมา และศาลก็ไม่จำต้องพิพากษากำหนดวิธีการแบ่งไว้

          แต่ถ้าเจ้าของรวมตกลงแบ่งแยกการครอบครองทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมออกเป็นส่วนสัดแล้ว ถือว่าเป็นการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของรวมกันเองแล้วตาม ปพพ.มาตรา 1364 วรรคหนึ่ง ศาลต้องพิพากษาให้แบ่งทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมตามที่ตกลงกันนั้น กรณีนี้หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามย่อมถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้  
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2503/2523  เหตุที่จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยกำหนดส่วนของที่ดินด้วย และทำบันทึกให้จดทะเบียนบรรยายส่วนกรรมสิทธิ์ในโฉนดเกิดจากการกระทำของโจทก์และ ว. โดยจำเลยสำคัญผิดในข้อสารสำคัญแห่งนิติกรรมว่าแบ่งตามที่ครอบครองเป็นส่วนสัด จึงตกเป็นโมฆะไม่อาจแบ่งที่ดินให้โจทก์ตามที่ได้จดทะเบียนบรรยายส่วนกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้ เมื่อโจทก์จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมต่างครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของเป็นส่วนสัด จึงต้องแบ่งที่พิพาทตามส่วนดังกล่าว

          เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธิขอให้ยึดถือเอาทรัพย์สินส่วนที่เป็นของเจ้าของรวมคนอื่นมาขายทอดตลาด คงยึดได้เฉพาะส่วนที่เป็นของเจ้าของรวมซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2451/2548  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด เมื่อผู้ร้องและจำเลยได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยกับผู้ร้องก่อนจะมีการบังคับคดีแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยและผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 โจทก์ซึ่งเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญจึงมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่มีสิทธิเอาที่ดินของผู้ร้องมาขายทอดตลาดได้ ถือได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิอื่นๆ อันอาจร้องขอให้บังคับเหนือที่ดินนั้นได้ตามกฎหมายซึ่งการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้กันที่ดินส่วนที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินพิพาททั้งแปลงออกขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287

          การแบ่งทรัพย์สินกรรมสิทธิ์รวม ศาลย่อมใช้ดุลพินิจเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่เจ้าของรวมได้ เช่น ให้แบ่งที่ดินให้เจ้าของรวมได้รับตรงตามที่ดินที่เจ้าของรวมปลูกบ้านอยู่อาศัย โดยไม่จำต้องสั่งให้ประมูลหรือขายทอดตลาดก็ได้ (ฎีกาที่ 4329/2539)  เจ้าของรวมมิได้แบ่งแยกกันครอบครองที่ดิน โจทก์ฟ้องประสงค์ให้ศาลพิพากษาแบ่งที่ดินที่โจทก์และจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมกันตามส่วนของแต่ละคนที่มีกรรมสิทธิ์อยู่เป็นประการสำคัญ แม้โจทก์ขอมาในคำขอท้ายฟ้องอย่างไร ศาลย่อมมีอำนาจแบ่งให้ได้ตามที่กำหนดไว้ใน ปพพ.มาตรา 1354 ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ (ฎีกาที่ 2299/2539
          ทรัพย์สินสามีภริยาเมื่อยังไม่แบ่งกัน ย่อมเป็นทรัพย์สินซึ่งสามีภริยาเป็นเจ้าของรวม การแบ่งทรัพย์สินตาม ปพพ.มาตรา 1364 กระทำได้โดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวมหรือโดยการขายแล้วเอาเงินที่ขายแบ่งกัน ไม่ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือต่อกันก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ (ฎีกาที่ 3415/2524

          การฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ไม่จำเป็นต้องฟ้องเจ้าของรวมทุกคน 
          เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้โดยกฎหมายมิได้บังคับให้เจ้าของรวมผู้ประสงค์จะให้แบ่งทรัพย์สินต้องฟ้องผู้มีกรรมสิทธิ์รวมทุกคน 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8121/2540  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 บัญญัติให้เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้โดยมิได้บังคับให้เจ้าของรวมผู้ประสงค์จะให้แบ่งทรัพย์สินต้องฟ้องผู้มีกรรมสิทธิ์รวมทุกคน และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีนิติกรรมขัดอยู่ ทั้งวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทก็ไม่มีลักษณะเป็นการถาวร โจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมร่วมกับจำเลยบุคคลอื่นอีก จึงมีสิทธิเรียกขอให้แบ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่ตนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363   การที่โจทก์เรียกให้แบ่งที่ดินพิพาทซึ่งอาจต้องดำเนินการแบ่งตามวิธีการที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 กำหนดไว้นั้น มิใช่เป็นการเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรตามมาตรา 1363 วรรคสาม

          แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่การกำหนดส่วนแบ่งตามคำขอในฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมอาจจะกระทบถึงสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่นๆด้วย ก็ควรต้องฟ้องเจ้าของรวมทุกคน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5/2538  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานที่ดิน และให้จำเลยให้ความยินยอมในการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมจำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาท คือ โจทก์ จำเลยและพี่น้องร่วมบิดามารดารวมทั้งหมด 5 คน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก ซึ่งมีทายาทคนอื่นนอกจากโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยแต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยผู้เดียวแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การกำหนดส่วนแบ่งตามคำขอของโจทก์อาจกระทบถึงสิทธิของทายาทคนอื่นซึ่งมิได้เข้ามาในคดีได้ คำขอของโจทก์จึงไม่อาจบังคับได้ ศาลย่อมพิพากษายกฟ้อง




คำมั่นจะให้เช่า

 

          ตามบทบัญญัติมาตรา 538 กำหนดให้การเช่าอสังหาริมทรัพย์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ และการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีกำหนดเวลาเกินกว่า 3 ปี หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้น จะบังคับได้เพียง 3 ปี ดังนั้น ถ้าหากคู่สัญญาเพียงแค่มีหลักฐานการเช่าอสังหาริมทรัพย์เป็นหนังสือ หรืออาจจะทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็มีผลให้การเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะบังคับได้เพียง 3 ปีเท่านั้น

          ในกรณีที่คู่สัญญาอาจจะยังไม่แน่ใจว่าจะเช่าระยะยาวท่าใด ก็อาจจะทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์เพียงไม่เกิน 3 ปี โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าได้เช่าทรัพย์สินนั้นต่อไป กรณีเช่นนี้ เป็นเรื่องผู้ให้เช่าแสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าจะตกลงต่อสัญญาเช่าต่อไปหรือไม่ก็ยังไม่แน่นอน การแสดงเจตนาของผู้ให้เช่าดังกล่าว จึงเป็นเพียงคำมั่นที่จะให้เช่า และมีผลบังคับได้ 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2490  ทำสัญญาเช่าและมีข้อสัญญาว่า "ถ้าครบกำหนด 2 ปี ตามสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่ามีสิทธิจะเช่าต่ออีก 2 ปีและเมื่อแจ้งความประสงค์ต่อผู้ให้เช่าแล้วผู้ให้เช่าจะปฏิเสธไม่ได้ และเมื่อครบแล้วก็มีสิทธิเช่นนี้ในเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว" ดังนี้เป็นคำมั่นของผู้ให้เช่าซึ่งสมบูรณ์ ผู้เช่าบังคับตามสัญญาได้



          คำมั่นจะให้เช่ามีหลักเกณฑ์ ดังนี้


          1. คำมั่นจะให้เช่าต้องมีลักษณะเป็นคำเสนอของผู้ให้เช่า โดยมีข้อความชัดเจน และแสดงให้เห็นว่าผู้ให้เช่าตกลงผูกพันจะให้เช่าต่อไป ถ้าผู้เช่าต้องการ แต่ถ้ามีข้อความที่ไม่แน่ชัด เช่น จะต้องมาตกลงเงื่อนไขหรือค่าเช่ากันใหม่ ดังนี้ ก็มิใช่คำมั่น 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2555  สัญญาเช่ามีคำมั่นว่าก่อนครบสัญญาเช่า โจทก์และจำเลยจะปรับเปลี่ยนค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าในอัตราที่เป็นธรรม ดังที่ปฏิบัติมาเป็นปกติประเพณี ข้อความดังกล่าวไม่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าที่แน่นอนอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า จึงยังไม่เข้าลักษณะคำมั่นจะให้เช่า

          คำมั่นจะให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ด้วยวาจาก็อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากคำมั่นเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 538 แต่ทั้งนี้ ตราบใดที่มิได้มีการทำหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้เช่า ผู้เช่าก็ไม่อาจบังคับให้ผู้ให้เช่าให้ต้องยอมให้เช่าทรัพย์สินนั้นได้ 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2539  คำมั่นจะให้เช่าที่ดินพิพาทต่อของโจทก์เป็นเพียงคำมั่นด้วยวาจาซึ่งอยู่นอกเหนือจากข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิมแม้จำเลยจะสนองรับคำมั่นนั้นก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าเดิมและเกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ก็ตาม แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ทำหลักฐานการเช่าที่ดินพิพาทใหม่เป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับผิดเป็นสำคัญ จำเลยย่อมไม่อาจขอบังคับให้โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538


          2. ถ้าคำมั่นจะให้เช่ามีกำหนดเวลา ย่อมมีผลผูกพันผู้ให้เช่าที่จะต้องยินยอมตกลงให้ผู้เช่าได้เช่าทรัพย์สินนั้นภายในเวลาที่กำหนดไว้ถ้าหากผู้เช่าต้องการ แต่ถ้าคู่สัญญาตกลงยกเลิกคำมั่นก่อนครบกำหนดเวลา คำมั่นจะให้เช่าดังกล่าวก็ย่อมไม่ผูกพันผู้ให้เช่าอีกต่อไป 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2509/2555  ประกาศการรถไฟแห่งประเทศไทยมีข้อความระบุถึงการจัดพื้นที่ชดเชยให้แก่กลุ่มร้านค้าบริเวณตลาดนัดซันเดย์ที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่กับจำเลย จะได้รับสิทธิการเช่าโครงการใหม่มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี ข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยผู้ให้เช่าฝ่ายเดียว ประกาศดังกล่าวจึงถือเป็นคำมั่นแก่ผู้ค้ารวมทั้งโจทก์ว่าหากผู้ค้าตกลงเข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิเช่าอาคารมีกำหนด 10 ปี โดยเงื่อนไขว่าผู้จะได้รับสิทธิการเช่าจะต้องร่วมออกค่าก่อสร้างโครงการใหม่ ต้องชำระค่าเช่าตามอัตราที่จำเลยกำหนด และชำระค่าธรรมเนียมจัดประโยชน์ล่วงหน้าจำนวน 10,000 บาท ตลอดจนให้ความร่วมมือในการรื้อถอนอาคารร้านค้าเดิมที่กีดขวางการก่อสร้างโครงการใหม่
          โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทต่อกัน แสดงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดไว้ในประกาศของจำเลยซึ่งเป็นคำมั่นจะให้เช่า และเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่จะสนองรับคำมั่นตามประกาศของจำเลยภายในเวลาที่กำหนดแล้ว จำเลยจึงต้องผูกพันตามคำมั่นของตนและตกเป็นลูกหนี้ที่โจทก์มีสิทธิจะฟ้องบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับโจทก์ต่อไปจนครบระยะเวลาตามประกาศดังกล่าวได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3078 - 3079/2552  แม้คำมั่นจะให้เช่าจะผูกพันผู้ให้เช่าในอันที่ต้องยอมให้ผู้เช่าได้เช่าทรัพย์สินต่อไปอีก และผู้ให้เช่าไม่อาจถอนคำมั่นนั้นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่ก็มิได้ห้ามคู่สัญญาในอันที่จะตกลงกันยกเลิกคำมั่นนั้นเสียได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยตกลงยกเลิกข้อความในสัญญาเช่าต่างตอบแทนเกี่ยวกับคำมั่นนั้นเสียแล้ว คำมั่นดังกล่าวย่อมสิ้นผลไป โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าต่อไปภายหลังครบกำหนดเวลาเช่าได้อีก

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2495  ทำสัญญาเช่าห้องกันมีกำหนด 3 ปี สัญญาข้อหนึ่งมีว่า "เมื่อผู้ให้เช่าจะต้องการคืนห้องทั้งสองฝ่ายจะต้องบอกให้รู้ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนไม่น้อยกว่า 30 วัน" แต่คู่สัญญาก็ได้เขียนสัญญาต่อไปอีกข้อหนึ่งว่า "เมื่อสิ้นอายุสัญญาฉะบับนี้แล้ว ผู้ให้เช่ายินดีจะทำสัญญาต่อให้แก่ผู้เช่าต่อไปอีกเป็นงวด ๆ จนครบ 10 ปี" ดังนี้ ก็ต้องแปลข้อสัญญาข้อหลังนี้เป็นข้อยกเว้นข้อสัญญาข้อแรกเสียแล้ว โดยผู้ให้เช่ายอมสละสิทธิตามที่เขียนไว้แต่เดิมในข้อแรกนั้นเสียแล้ว ฉะนั้นเมื่อผู้เช่าได้แสดงเจตนาขอเช่าต่อไปแล้ว ผู้ให้เช่าก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกการเช่าได้


          3. ผู้เช่าต้องแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นก่อนครบกำหนดสัญญาเดิม ถ้าหากผู้เช่าแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นภายหลังสัญญาเดิมครบกำหนดแล้ว คำมั่นจะให้เช่านั้นย่อมระงับไปโดยไม่มีผลผูกพันผู้ให้เช่าอีก 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2506  คำมั่นที่ผู้ให้เช่าตกลงว่า เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดแล้ว ยินยอมจะให้ต่ออายุสัญญาเช่าต่อไปอีกได้นั้น ผู้เช่าต้องแสดงความจำนงขอปฏิบัติตามคำมั่นเสียก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่า มิฉะนั้น หามีผลที่จะบังคับกันได้ไม่

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1051/2514  สัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างห้องแถวมีกำหนดระยะเวลาสามปีและผู้ให้เช่าให้คำมั่นไว้ว่า จะยอมให้ผู้เช่าได้เช่าที่ดินนั้นต่อไปอีกครั้งละสามปีจนกว่าห้องแถวจะถูกทำลายหรือเสื่อมสภาพ หากผู้เช่าไม่แสดงความจำนงสนองรับคำมั่นโดยแจ้งขอเช่าที่ดินตามคำมั่นต่อไปเสียก่อนสัญญาเช่าสิ้นอายุ คำมั่นนั้นย่อมสิ้นผล


          4. เมื่อผู้เช่าแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นภายในกำหนดเวลาโดยถูกต้อง ย่อมมีผลให้เกิดสัญญาเช่าใหม่ขึ้นทันที โดยไม่ต้องไปทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือกันใหม่ 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1925/2517  สัญญาเช่ามีข้อความว่า ผู้ให้เช่าให้คำมั่นแก่ผู้เช่าว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก 3 ปี ตามเงื่อนไขประเพณีที่ได้กระทำกันในวันทำสัญญานี้ ทั้งนี้ ผู้เช่าต้องแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันสัญญาเช่านี้ครบกำหนด ดังนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าให้คำมั่นไว้ เมื่อผู้เช่ามีหนังสือแสดงความจำนงขอทำสัญญาเช่าต่อภายในกำหนดเวลา เท่ากับผู้เช่าสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าแล้ว และถือว่ามีสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่ทันทีตามเงื่อนไขและประเพณีที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าฉบับเดิม โดยไม่ต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่อีก
          
          แต่ถ้าคำมั่นจะให้เช่าที่ผู้เช่าแสดงเจตนาสนองรับนั้นมีผลทำให้ระยะเวลาการเช่าครั้งใหม่มีกำหนดเกิน 3 ปี ก็ต้องไปจดทะเบียนการเช่าเพื่อให้มีผลบังคับได้เกิน 3 ปีตามกฎหมาย 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2533  หนังสือสัญญาเช่ามีข้อตกลงว่า ผู้ให้เช่าสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญานี้แล้ว ผู้ให้เช่าก็จะให้ผู้เช่าได้เช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปี ทั้งนี้ โดยผู้ให้เช่าตกลงยินยอมให้ผู้เช่าเช่าที่ดินดังกล่าวแล้วในค่าเช่าเดือนละ 800 บาท โดยผู้เช่ามิต้องจ่ายเงินเป็นก้อนเพิ่มเติม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นคำมั่นของฝ่ายผู้ให้เช่าที่จะให้ผู้เช่าเลือกจะบังคับผู้ให้เช่าให้ต้องยอมทำสัญญาเช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปีหรือไม่ และตามข้อตกลงนี้มีผลทำให้ผู้ให้เช่าตกเป็นฝ่ายลูกหนี้ที่ผู้เช่ามีสิทธิที่จะเรียกร้องบังคับเอาได้ก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่า ผู้เช่าได้แจ้งความจำนงขอเช่าต่ออีก 10 ปี ผู้ให้เช่าจะไม่ยอมให้เช่าไม่ได้.


          5. ถ้าผู้ให้เช่าซึ่งเป็นผู้ให้คำมั่นได้ถึงแก่ความตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ และผู้เช่าได้ทราบข้อเท็จจริงนั้นก่อนสนองรับคำมั่น คำมั่นจะให้เช่าย่อมสิ้นผลผูกพัน ตามมาตรา 360 ประกอบมาตรา 169 วรรค 2

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1213/2517 (ประชุมใหญ่)  หนังสือสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนาย จ. ข้อ 5 ที่มีข้อความว่า เมื่อครบอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่ายินยอมจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าให้แก่ผู้เช่าอีกสิบปีตามสัญญาเดิม เป็นแต่เพียงคำมั่นของนาย จ. ว่าจะให้โจทก์เช่าต่อไปเท่านั้นยังมิได้ก่อให้เกิดสัญญาแม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนไว้ คำมั่นนี้ก็ไม่มีผลผูกพันนาย จ. เพราะโจทก์ไม่ได้สนองรับก่อนนาย จ. ตาย และเมื่อโจทก์ได้รู้อยู่แล้วว่านาย จ. ตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนดสิบปี กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 130 วรรคสอง มาใช้บังคับคำมั่นของนาย จ. ย่อมไม่มีผลบังคับ ไม่ผูกพันจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินส่วนที่โจทก์เช่าให้ต้องปฏิบัติตาม โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่จดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าให้โจทก์อีกสิบปีไม่ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5995 - 5996/2538  สัญญาเช่ามีข้อความว่า "มีกำหนดเวลาการเช่า 10 ปี และให้ผู้เช่ายินยอมต่อสัญญาให้ผู้เช่า 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปีนับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป" ข้อความตามสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นเพียงคำมั่นของ ย.ว่าจะให้โจทก์เช่าที่ดินต่อไปเท่านั้นยังมิได้ก่อให้เกิดสัญญา เมื่อโจทก์ไม่ได้สอนงอรับก่อน ย.ตาย และโจทก์รู้แล้วว่า ย ตายก่อนจะครบกำหนด 10 ปี ตามสัญญาเช่า กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 130 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่มาตรา 169 วรรคสอง) มาใช้บังคับ คำมั่นของ ย ย่อมไม่มีผลบังคับ แม้สัญญาเช่าข้อ 3 จะระบุให้สัญญาเช่ามีผลผูกพันไปถึงทายาทผู้รับพินัยกรรมของ ย. ด้วยก็ตาม แต่เมื่อคำมั่นของ ย. ไม่มีผลบังคับเสียแล้ว ก็ไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันจำเลยในฐานะทายาท

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4392/2547  ต. ให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทมีกำหนด 30 ปี และจะให้จำเลยที่ 1 เช่าต่อไปอีก 30 ปี หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงถ้าจำเลยที่ 1 ต้องการ โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้ ต. กู้ยืมเงิน 300,000 บาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินพิพาท การกู้ยืมเงิน ต. จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังไม่เรียกให้ ต. ชำระดอกเบี้ยนับแต่กู้ยืมเงินแต่ให้ชำระเมื่อครบกำหนดการเช่า 30 ปี ถ้ามีการต่ออายุสัญญาเช่าเป็นงวดที่สองอีก 30 ปี จำเลยที่ 1 จะไม่เรียกร้องดอกเบี้ยดังกล่าว ดังนี้ การได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มีสภาพบังคับโดยสมบูรณ์ในตัวของแต่ละสัญญา สัญญาทั้งสองประเภทแม้จะผูกโยงสิทธิประโยชน์ต่อกัน แต่โดยผลแห่งสัญญาแล้ว แต่ละฝ่ายได้ป้องกันสิทธิอันจะก่อผลได้เสียภายหน้าของแต่ละสัญญาแล้ว ถ้าหากมี หาใช่ข้อตกลงที่เพิ่มภาระแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าให้ต้องปฏิบัติยิ่งกว่าหน้าที่ของผู้เช่าตามปกติ สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่าง ต. กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

          ข้อความตามข้อตกลงในสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเป็นแต่เพียงคำมั่นของ ต. ว่าจะให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทต่อไปเท่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ แต่คำมั่นนี้ก็ยังไม่มีผลผูกพัน ต. เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สนองรับก่อน ต. ถึงแก่ความตาย ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รู้อยู่แล้วว่า ต. ถึงแก่ความตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนด 30 ปี กรณีก็ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่ามิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นของ ต. ย่อมไม่มีผลบังคับ และไม่เป็นมรดกของ ต. จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 เช่าให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จำเลยที่ 1 จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนต่ออายุการเช่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 อีก 30 ปีไม่ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2548  สัญญาเช่ามีข้อความว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าเช่าอยู่ต่อไป โดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุก ๆ 3 ปี ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นของ ป. ผู้ให้เช่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบก่อนจะสนองรับว่า ป. ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 360 ต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นจึงไม่เสื่อมเสียไป มีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนซึ่งเป็นทายาทให้ต้องปฏิบัติตาม โดยให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม โจทก์ต้องยินยอมให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ส่วนการต่ออายุสัญญาเช่าในระยะ 3 ปีถัดมานับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป ต้องแยกพิจารณาต่างหากอีกกรณีหนึ่ง หาใช่มีผลผูกพันตลอดไปไม่
          แม้ข้อความในสัญญาเช่าจะมีคำมั่นที่ ป. ผู้ให้เช่าให้ไว้ แต่คำมั่นดังกล่าวจะมีผลผูกพันในการต่ออายุสัญญาเช่าครั้งต่อไปและตกทอดแก่โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อคำมั่นนั้นมีผลบังคับก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าครั้งท้ายสุดด้วยการที่จำเลยได้แสดงเจตนาสนองรับคำมั่นโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายแล้วตึกแถวพิพาทตกเป็นของโจทก์ผู้เป็นทายาท จำเลยทราบว่า ป. ถึงแก่ความตายแล้งจึงมีหนังสือขอต่ออายุสัญญาเช่าไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2538 กรณีเช่นนี้จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับหากว่าก่อนจะสนองรับนั้นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย คำมั่นดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นทายาท หนังสือต่ออายุสัญญาเช่าจึงไร้ผลและไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่ต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยได้ เมื่อโจทก์มีหนังสือไปยังจำเลย แจ้งว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทอีกต่อไปและบอกเลิกสัญญาเช่า สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจึงต้องสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 อันเป็นวันครบกำหนดการต่ออายุสัญญาเช่า โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยได้


          6. คำมั่นจะให้เช่านั้นไม่มีผลผูกพันผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากคำมั่นจะให้เช่าเป็นเพียงข้อตกลงต่างหากที่อยู่นอกเหนือสัญญาเช่า จึงไม่ตกทอดไปยังผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ด้วย

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6491/2539  สัญญาเช่าระหว่างผู้ให้เช่าเดิมกับจำเลยระบุว่า ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าต่อระยะเวลาการเช่าไปอีกหลังจากที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วเป็นเพียงข้อตกลงต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่าซึ่งเป็นบุคคลสิทธิ ไม่ใช่เป็นทรัพยสิทธิที่จะได้เช่าต่อไป คงผูกพันเฉพาะคู่สัญญาคือผู้ให้เช่าห้องพิพาทเดิมกับจำเลยเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องพิพาท ซึ่งมิได้ตกลงกับจำเลยในข้อตกลงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้โจทก์ต่อสัญญาเช่าให้อีก เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในห้องพิพาทต่อไป จำเลยก็ต้องออกไปจากห้องพิพาทนั้น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6975/2537  เดิมตึกแถวตามฟ้องเป็นของ ด.ให้จำเลยเช่า ต่อมา ด.โอนตึกแถวให้ อ. แล้ว อ. โอนขายให้โจทก์ แม้ ด.จะให้คำมั่นแก่จำเลยว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ด. จะให้จำเลยเช่าตึกแถวต่ออีก 3 ปี คำมั่นดังกล่าวก็ไม่ผูกพันโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก



สัญญาประนีประนอมยอมความ


          สัญญาประนีประนอมยอมความ ได้แก่ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ตามมาตรา 850 และต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ ตามมาตรา 851
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15721/2558  ตามบันทึกถ้อยคำไม่รับมรดกที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินมีใจความสำคัญว่า ที่ดินพิพาทที่มีชื่อ ว. เจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อ. สามีของ ว. ได้มายื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ของ ว. ซึ่งโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ทายาทของ ว. ไม่ประสงค์จะขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ และยินยอมให้ อ. เป็นผู้ขอรับมรดกแต่เพียงผู้เดียว ต่อมา อ. จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง ดังนี้ ไม่ใช่การสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612, 1613 เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด แต่บันทึกถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความมีผลบังคับได้ตามมาตรา 850, 852 และ 1750 วรรคสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ว. จึงไม่มีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13552/2558   บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852 แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า “ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง” แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10008/2558   จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์บุตรจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์ที่ อ. ขับซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ เป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย พนักงานสอบสวนทำบันทึกตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า อ. ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โดยคู่กรณีลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน จึงเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไป มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เป็นผลให้ อ. ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้อีก ที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้ อ. เป็นการปฏิบัติตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้จำกัดสิทธิ์ อ. หรือผู้เสียหายที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเนื่องจากมูลหนี้ละเมิดระงับไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037/2558   ข้อตกลงที่ระบุไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี มีข้อความสรุปว่า ความเสียหายของรถยนต์พิพาทนั้น พ. ผู้ครอบครองรถยนต์จะใช้สิทธิการซ่อมตามประกันภัยของตน ส่วนความเสียหายจากเหตุประมาทได้เรียกร้องจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ พ. แล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีกับฝ่ายจำเลยที่ 1 แสดงว่า พ. ผู้ครอบครองรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ประสงค์ที่จะให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าซ่อมรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดีดังเดิมตามสัญญาประกันภัย ส่วนความเสียหายจากเหตุประมาทที่เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาทนั้น เป็นกรณีที่ พ. เรียกร้องค่าเสียหายอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถยนต์ ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่ทำให้สิทธิในการเรียกร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลงอันเป็นการระงับข้อพิพาทตามลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์พิพาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13706/2557    การที่โจทก์ จำเลยและทายาททำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการมรดกของทายาทตระกูล อ. ว่าจำเลยเพียงผู้เดียวจะรับผิดในหนี้สินที่มีอยู่กับธนาคาร โดยทายาทยินยอมยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย และให้กิจการขายรถจักรยานยนต์บริษัท บ. จำกัด พร้อมหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่เกี่ยวกับกิจการดังกล่าวให้จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียว โดยให้กิจการเป็นของจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกและหนี้สินเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เมื่อจำเลยชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเสร็จสิ้น จำเลยย่อมมีสิทธิในที่ดินตามบันทึกข้อตกลง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13357/2557   เมื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตลอดแล้ว แสดงให้เห็นเจตนาว่าโจทก์ประสงค์จะนำที่ดินทั้งหมดกลับมาขายด้วยตนเอง แต่ใช้วิธีทยอยไถ่ถอนที่ดินจากธนาคารทีละจำนวน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายผ่อนผันเวลาให้แก่กันเช่นนี้ จะอ้างว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ หากจำเลยทั้งสามผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ แต่โจทก์หาได้ดำเนินการไม่ และการที่จำเลยทั้งสามโอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ซึ่งที่ดินดังกล่าวถือเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้การชำระหนี้ของจำเลยทั้งสามเป็นการพ้นวิสัยไปด้วย คู่ความทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ และสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมตกไปไม่มีผลบังคับ เช่นนี้ คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068/2557   ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้นจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ สัญญาประนีประนอมแบ่งมรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า จำเลยตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกบ้าน 4 หลังซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินที่เช่าจากวัดกับเงินอีก 10,000 บาท ให้โจทก์ โจทก์ยอมรับส่วนแบ่งดังกล่าว ไม่ติดใจเรียกร้องทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดจากจำเลยอีก เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจากบ้าน 4 หลังดังกล่าวแล้ว ยังมีบ้านอีก 7 หลังซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินที่เช่าจากวัดกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่ง แต่สัญญาดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึง หากเป็นการสละมรดกก็เป็นการสละเพียงบางส่วน จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาประนีประนอมแบ่งมรดกดังกล่าวเป็นการสละมรดก และโจทก์มิได้สละสิทธิในที่ดินพิพาท อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากจำเลยไปยื่นคำขอรับโอนทรัพย์มรดกบ้าน 7 หลังแล้วได้ยื่นคำขอจดทะเบียนรับโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท โดยโจทก์แสดงเจตนาให้ความยินยอมแก่จำเลยในการรับโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวเท่ากับเป็นการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในการสละมรดกถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 ตอนท้าย และมาตรา 850 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3664/2557   ตามบันทึกข้อตกลงมีข้อความระบุไว้แต่เพียงว่า ช. และจำเลยต่างยืนยันว่าไม่ติดใจที่จะเรียกร้องค่าเสียหายหรือดำเนินคดีอย่างใดซึ่งกันและกัน ค่าเสียหายที่เกิดจากรถเฉี่ยวชนกันดังกล่าวมีทั้งค่าซ่อมรถ ค่ารถยก และค่ารักษาพยาบาลของผู้ที่บาดเจ็บ แต่ตามบันทึกดังกล่าวไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่ชัดแจ้งว่าทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยสิ้นเชิงแต่อย่างใด อีกทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เอาประกันรถยนต์กระบะคือ ธ. มิใช่ ช. สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมรถหรือค่ายกรถจึงเป็นสิทธิของ ธ. ไม่ใช่สิทธิของ ช. ทั้งไม่ปรากฏว่า ธ. ได้มอบอำนาจให้ ช. ดำเนินการตกลงกับคู่กรณีแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้หนี้ในมูลละเมิดครั้งนี้ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ถึง 852
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20920/2556   สิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะของ ส. และของโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคท้าย ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว มิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว เมื่อโจทก์มิได้มอบอำนาจให้ ส. ทำแทนโจทก์ การที่ ส. บิดาผู้ตาย ทำบันทึกข้อตกลงกับ ท. พนักงานขับรถของจำเลยจากการที่ ท. ทำละเมิดต่อผู้ตายและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าจะไม่นำคดีไปฟ้องร้องไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มีผลทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจาก ท. และจำเลย ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 จึงไม่ผูกพันโจทก์ สิทธิของโจทก์จึงไม่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10454/2558   การที่ ส. นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง 4 คดี และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งหมดเข้าด้วยกัน แม้ ส. แถลงต่อศาลชั้นต้นว่า กระทำในฐานะทายาทเจ้ามรดก และกระทำแทนทายาทอื่นของเจ้ามรดกในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 851 แต่เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือว่า ส. ได้รับแต่งตั้งจากทายาทอื่นและโจทก์ให้เป็นผู้กระทำการแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 798 สัญญาประนีประนอมยอมความที่ ส. ทำกับจำเลยซึ่งมีการตกลงแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกรวมทั้งที่ดินพิพาทจึงไม่ผูกพันโจทก์ แม้การตกลงระหว่างบุคคลทั้งสองจะมีข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 และโจทก์เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้โจทก์ในฐานะทายาทของเจ้ามรดกใช้สิทธิฟ้องเรียกคืนทรัพย์มรดกจากผู้ที่ได้รับไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ
          เมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นแล้ว ย่อมมีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นว่าเป็นของตน ตามมาตรา 852
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4888/2558   จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นผู้เอาประกันภัยโดยทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนกับจำเลยที่ 2 เพื่อคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกรวมถึงความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยและทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้นคือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ” และวรรคสอง บัญญัติว่า “บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่...” มีความหมายว่าบุคคลผู้ต้องเสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่ตนจากผู้รับประกันภัยโดยตรงและเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบฐานละเมิด คือจำนวนค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ได้รับ และมาตรา 877 บัญญัติว่า “ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) เพื่อจำนวนวินาศภัยแท้จริง...” คำว่า “วินาศภัยอันเกิดขึ้นและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ” จึงหมายความว่า เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงแต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุในกรมธรรม์ ส่วนผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนในหนี้ละเมิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 438 กรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้หนี้ละเมิดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ระงับเกิดเป็นหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และ 852 เป็นเรื่องระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญา เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงยังต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่ก่อนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับในส่วนที่เหลือ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2905/2558   จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นเงิน 90,543 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจะชำระเงิน 5,000 บาท ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2541 ส่วนที่เหลือชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท จนกว่าจะครบภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี หากจำเลยที่ 1 ชำระโดยไม่ผิดนัดจนครบจำนวนเงิน 50,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวมีการลดค่าเสียหายจาก 90,543 บาท เหลือเพียง 50,000 บาท และกำหนดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระกับระยะเวลาชำระเสร็จขึ้นใหม่แตกต่างจากข้อตกลงและจำนวนค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อเดิมซึ่งโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาไปแล้ว นอกจากนี้ยังได้ตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ากรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลงให้ครบ 50,000 บาท ภายใน 1 ปี ด้วย จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อระงับไป และก่อให้เกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิเรียกร้องของโจทก์อันเนื่องมาจากการผิดสัญญาเช่าซื้อจึงระงับไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15467/2558   อ. ลูกจ้างโจทก์เคยใช้สิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาที่พิพาทจากโจทก์พร้อมเงินอื่น เนื่องจากถูกโจทก์เลิกจ้างในคดีหมายเลขแดงที่ รย.310/2551 ของศาลแรงงานภาค 2 ซึ่งระหว่างการพิจารณาในคดีดังกล่าว อ. กับโจทก์ตกลงกันได้และ อ. ได้สละสิทธิเรียกร้องในเงินค่าล่วงเวลาดังกล่าวแล้ว สิทธิเรียกร้องในค่าล่วงเวลาดังกล่าวนั้นจึงระงับสิ้นไป อ. จึงไม่อาจนำเอาสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาที่ระงับไปแล้วไปยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อให้พิจารณาและมีคำสั่งได้อีก ดังนั้น อ. จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาจากโจทก์ คำสั่งของจำเลยที่ 78/2551 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2551 ที่ให้โจทก์จ่ายค่าล่วงเวลาแก่ อ. จึงไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3604/2558   โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองมิได้ให้การโต้แย้งถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว กรณีต้องถือว่าจำเลยทั้งสองรับแล้วว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) ดังนั้น กรณีจึงถือว่าสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลบังคับระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญา และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 นั่นคือ การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ด้วยเหตุนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เข้าผูกพันตนตามสัญญากับโจทก์ยอมยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้เป็นของบุตรทั้งสองเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว โดยจำเลยที่ 1 จะไม่โอนขายบ้านและที่ดินดังกล่าวเด็ดขาด แม้ว่าสัญญาดังกล่าวจะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกคือ บุตรทั้งสอง และบุคคลภายนอกตามที่ระบุไว้ในสัญญายังมิได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นเพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะตามเงื่อนไขในสัญญาก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องผูกพันตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จะย้อนมาอ้างสิทธิว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสหรือไม่อย่างไรไม่ได้ เพราะสิทธิของจำเลยที่ 1 ตามที่มีอยู่เดิมเหนือที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวได้ระงับสิ้นไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้แต่สิทธิและพันธะหน้าที่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น