27 กุมภาพันธ์ 2567

ผู้ครอบครองทรัพย์สินแทนผู้อื่น ไม่ว่าจะครอบครองแทนเป็นเวลายาวนานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง


          ผู้ที่ได้ซึ่งสิทธิครอบครองจะต้องมีเจตนายึดถือทรัพย์สินไว้เพื่อตนเท่านั้น ตามมาตรา 1367 และการยึดถือทรัพย์สินไว้เพื่อตนที่ทำให้ได้สิทธิครอบครองนั้น อาจทำโดยให้ผู้อื่นยึดถือไว้ให้ ตามมาตรา 1368 ซึ่งการครอบครองแทนกันนั้น ผู้ครอบครองแทนไม่ว่าจะครอบครองมาเป็นเวลายาวนานเท่าใดก็ยังถือว่าเป็นการครอบครองแทนผู้ที่มีสิทธิครอบครองเท่านั้น ไม่อาจอ้างประโยชน์ในการครอบครองดังกล่าวเพื่ออ้างเอาสิทธิครอบครองได้ โดยได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้ดังนี้


           1. กรณีครอบครองทรัพย์มรดก
           ก. การครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่ง ในฐานะทายาทโดยธรรม ถือว่าทายาทนั้นครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย
           การครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมกันและแทนกัน ไม่ว่าทายาทผู้ครอบครองจะครอบครองทรัพย์มรดกนั้นยาวนานเพียงใดก็ต้องถือว่าครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2627/2542  เมื่อบิดามารดาของผู้ร้องถึงแก่ความตายโดยมิได้ยกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะทั้งก่อนตายและโดยพินัยกรรม นอกจากนี้ระหว่างทายาทด้วยกันเองก็ยังไม่มีการแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว แม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทนั้นนานสักเพียงใด ตราบใดที่ผู้ร้องไม่เคยแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังทายาททั้งหลายว่า ผู้ร้องมีเจตนายึดถือเพื่อตน ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ของมารดาทายาทผู้หนึ่งที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกร่วมกับผู้ร้องยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์และขับไล่ผู้คัดค้านที่ 3 ออกจากที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาททั้งปวง ที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่จะแบ่งให้แก่ทายาท ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3455/2537  การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร กับจำเลยที่ 2 และโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นหลาน โดยโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น เมื่อเจ้ามรดกตายที่พิพาทจึงตกได้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ขอออก น.ส.3 ก. สำหรับที่พิพาท โดยใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้รับมรดกคนหนึ่งและเป็นพี่ของโจทก์ทั้งสองร่วมด้วย อันเป็นการเข้ารับมรดกแสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่พิพาทในฐานะทายาทตามพินัยกรรมและเป็นการเข้าครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจึงยังคงเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการขายเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น จำเลยที่ 3 ได้สิทธิไปเท่าที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอยู่ การครอบครองที่พิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสองจะถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองไม่ได้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์นั้นได้และจะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ



          ข. การครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดก ถือว่าผู้จัดการมรดกครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย
          กรณีการครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดกก็เช่นกัน ถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกจึงไม่สามารถอ้างว่าตนเองมีสิทธิครอบครองเพื่อต่อสู้ทายาทโดยธรรมได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8661/2544  เมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่จะตกทอดไปยังทายาทของ ป. ตามกฎหมาย บ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ป. โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. โจทก์จึงเป็นทายาทของ ป. แต่เพียงผู้เดียว ที่ดินพิพาทจึงตกได้แก่โจทก์ซึ่งยังเป็นเด็กเล็กและอาศัยอยู่กับ บ. มารดา ดังนั้น จึงต้องถือว่า บ. ครอบครองดูแลที่ดินพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์มาตลอด แม้ต่อมา บ. จะได้ ส. เป็นสามีและรับ ส. เข้ามาอยู่ร่วมกันในที่ดินพิพาทก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บ. และ ส. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหรือเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่มีเจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป บ. และ ส. จึงไม่เกิดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและยังต้องถือว่าบุคคลทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์มาตลอดเมื่อ บ. โอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีไปกว่า บ. ผู้ครอบครองที่ดินแทนโจทก์ จำเลยจึงเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนเท่านั้น
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2544  ครั้งแรกที่ ล. โอนที่ดินมรดกของ ท. มาเป็นของตนในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นทุกคน แม้จะมีการโอนที่ดินมรดกดังกล่าวมาเป็นของ ล. ในฐานะส่วนตัวแล้วก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินมรดกแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวโดยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวเพราะ ล. ยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ทั้งปรากฏว่าก่อนหน้านี้ ล. ได้ถูก ป. ยื่นฟ้องในอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้นเรื่องขอแบ่งมรดก คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า ล. ครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกับ ส. กับ ป. ทายาทผู้ตายต้องถือว่าครอบครองแทนทายาทของ ส. คำพิพากษาจึงผูกพัน ล. และจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ล. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ต้องถือว่า ล. ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นอยู่เช่นเดิม ล. ยังคงมีหน้าที่จะต้องจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น การจัดการมรดกยังมิได้เสร็จสิ้นจึงจะนำอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2544  เมื่อข้อเท็จจริงยังมีที่ดินมรดกอีก 3 แปลงที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการแบ่งให้ทายาทแสดงว่าการจัดการมรดกยังอยู่ในระหว่างจัดการ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้แทนของทายาททั้งปวงโดยนำลักษณะตัวการตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1368 โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 ทั้งนี้ ตามมาตรา 1748

           2. กรณีครอบครองในฐานะเจ้าของรวม ถือว่าเจ้าของรวมนั้นครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย
          กรณีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน การที่เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ก็ต้องถือว่าครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 600/2536  แม้เดิมที่พิพาทจะเป็นของ ป. แต่ผู้เดียว แต่เมื่อออกโฉนดแล้ว ที่ดินพิพาทกลับมีชื่อ ช. ด. และผู้คัดค้าน เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย แสดงให้เห็นเจตนาของ ป.ว่า ต้องการให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้มีชื่อในโฉนดทุกคน การที่ ป.ยกที่ดินพิพาทให้แก่ ช. แต่ผู้เดียว โดยผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นมิได้แสดงเจตนายกให้โดยชัดแจ้ง ช. จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทในส่วนของเจ้าของรวมคนอื่น โดยเฉพาะในส่วนของผู้คัดค้าน การที่ ช. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งครอบครองที่ดินพิพาทต่อมา จึงถือว่า ครอบครองแทนผู้คัดค้านและเจ้าของรวมคนอื่น ผู้ร้องสืบสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทต่อจาก ช.ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า ช. ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้คัดค้าน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้ร้องว่าเมื่อปลายปี 2532 ผู้คัดค้านได้มาพบเพื่อขอแบ่งที่ดินพิพาท แต่ผู้ร้องปฏิเสธอ้างว่า ที่ดินเป็นของผู้ร้อง เท่ากับผู้ร้องเพิ่งเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1381 นับแต่วันดังกล่าวถึงวันยื่นคำร้อง ยังไม่ครบ 10 ปีตามมาตรา 1382 ผู้ร้องจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3135/2529  ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์จำเลยร่วมกัน จำเลยไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไปขายโดยโจทก์ไม่ยินยอม จำเลยคงมีสิทธิขายได้เฉพาะส่วนของตนเท่านั้นการที่จำเลยทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องจึงมีผลผูกพันเฉพาะส่วนของจำเลยส่วนของโจทก์ยังคงมีอยู่ตามเดิม
          ผู้ร้องเข้าครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทก่อนจำเลยทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องนั้น เป็นการเข้าครอบครองทำกินต่างดอกเบี้ย ถือว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์จำเลย ส่วนหลังจากจำเลยทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องถือได้ว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งผู้ร้องได้สิทธิเฉพาะส่วนของจำเลยเท่านั้น ที่ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาททั้งแปลงย่อมถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วม มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 มาใช้บังคับไม่ได้
          ผู้ร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็ดี เสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินพิพาทก็ดี ไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมได้รู้เห็นในการกระทำดังกล่าวด้วย ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองต่อโจทก์ผู้ร้องจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์

           3. กรณีผู้ขออาศัยในที่ดิน ถือว่าผู้อาศัยนั้นครอบครองแทนเจ้าของที่แท้จริง
          ผู้ครอบครองที่ดินในฐานะเป็นผู้ขออาศัยโดยการอนุญาตจากเจ้าของ ถือได้ว่าเป็นการยึดถือครอบครองไว้แทนเจ้าของที่ดินที่แท้จริงเท่านั้น ดังนั้น ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่อาศัยในที่ดินยาวนานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2476/2536  จำเลยอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดิน น.ส.3 ก่อนที่โจทก์จะรับซื้อฝาก จาก ส. เมื่อ ส. ไม่ไถ่ถอนภายในกำหนดโจทก์จึงได้ซึ่งสิทธิครอบครองบ้านและที่ดินพิพาท การที่จำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ การที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่าง ส.กับโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือบ้านและที่ดินพิพาทโดยบอกกล่าวแสดงเจตนาไปยังโจทก์ว่าจะไม่ยึดถือบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป อันเป็นการแย่งการครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทจากโจทก์แล้ว ในคดีดังกล่าวนั้นโจทก์ในฐานะจำเลยได้ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งขอให้ขับไล่จำเลย แม้ต่อมาศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้น ซึ่งเป็นผลทำให้ฟ้องแย้งของโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นจำเลยจะตกไปด้วยผลของกฎหมายก็ตาม แต่จะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องแย้งด้วยหาได้ไม่ คำสั่งดังกล่าวย่อมไม่ลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องแย้งของโจทก์ในคดีก่อน และในคดีดังกล่าวโจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2531 การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2531 จึงเป็นกรณีสืบเนื่องมาจากฟ้องแย้งเดิมซึ่งโจทก์ได้ใช้สิทธิฟ้องเพื่อเอาคืน ซึ่งการครอบครองภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองแล้ว โจทก์จึงไม่ขาดสิทธิฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1720/2536  ที่ดินของโจทก์ออก น.ส.3 มาก่อนกฎกระทรวงประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินของโจทก์ยังไม่ถูกเพิกถอน น.ส.3 โจทก์จึงยังคงมีสิทธิในที่ดินตามมาตรา 12 วรรคท้าย ของพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ การที่จำเลยทั้งห้าทำนาในนาพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ต้องถือว่าจำเลยทั้งห้ายึดถือนาพิพาทแทนโจทก์ จำเลยทั้งห้าจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ว่าไม่เจตนาจะยึดถือนาพิพาทแทนโจทก์ต่อไป ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 เท่านั้น เพียงแต่การไปขอให้ทางราชการออกหนังสืออนุญาตให้ได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิทำกินในนาพิพาทได้ชั่วคราว หรือ สทก.1 ยังไม่ถือว่าเป็นการบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครอง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1166/2536  โจทก์อนุญาตให้จำเลยเข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของโจทก์ การที่จำเลยครอบครองที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์และยึดถือแทนโจทก์ จำเลยจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเพื่อตัวจำเลยเองได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ว่าจำเลยไม่เจตนาจะยึดถือแทนโจทก์ต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1381 แม้จำเลยจะได้คัดค้านการออกโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งการคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ทราบอันจะถือได้ว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป ดังนั้น เมื่อสำนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ และกำหนดวันเวลาให้โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานเพื่อดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบ เมื่อโจทก์และจำเลยได้พบกันในวันดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่าจำเลยได้บอกให้โจทก์ทราบในวันนั้นแล้วว่าจำเลยคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์และไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองยังไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันดังกล่าวซึ่งถือได้ว่าเป็นวันที่จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

           4. การครอบครองในกรณีที่เจ้าของส่งมอบที่ดินให้ทำกินต่างดอกเบี้ย
          ผู้ครอบครองที่ดินโดยการอาศัยสิทธิจากเจ้าของที่มอบให้ทำกินต่างดอกเบี้ย ถือว่าเป็นการครอบครองแทนเจ้าของเช่นเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 35/2531  โจทก์มอบที่พิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย การที่จำเลยได้ไปยื่นขอรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทเมื่อปี พ.ศ. 2520 และโจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2520 เจ้าหน้าที่จึงมิได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลย กรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการถือที่พิพาทโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ว่าตนไม่เจตนาที่จะยึดถือที่พิพาทไว้แทนโจทก์อีกต่อไปดังที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 จึงต้องถือว่าจำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์อยู่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2525  โจทก์กู้เงินจำเลยแล้วมอบที่นาให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยการที่จำเลยครอบครองทำกินในที่นาแปลงพิพาท และเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมานั้น เป็นการครอบครองแทนโจทก์

           5. กรณีการครอบครองในฐานะเป็นตัวแทน
          กรณีที่ตัวแทนครอบครองทรัพย์สินแทนตัวการนั้น เมื่อพ้นหน้าที่ตัวแทนแล้ว ตัวแทนจะต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนตัวการ ทรัพย์สินใดที่ยังไม่ส่งคืนแก่ตัวการ ต้องถือว่าตัวแทนยังคงยึดถือครอบครองไว้แทนตัวการเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 385/2544  ทางราชการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทเมื่อปี 2508 โดยม.มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ หลังจากปี 2508 ช.และผู้ร้องก็อยู่ร่วมบ้านเดียวกันโดยอาศัยสิทธิของ ม. แม้เมื่อปี 2515 ผู้ร้องจะได้ปลูกบ้านขึ้นใหม่เลขที่ 17/1 แทนบ้านเดิมบนที่ดินพิพาทและอยู่ต่อมาโดย ม.มิได้ว่ากล่าว ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องอาศัยสิทธิของ ม.ครั้นปี 2523 ม. ขายที่ดินโฉนดที่พิพาทให้แก่บริษัท ส. ผู้ร้องก็มิได้โต้แย้งคัดค้านแม้จะปรากฏว่าในปี 2524 ม.ได้รื้อบ้านของตนออกจากที่ดินพิพาทไปปลูกบ้านขึ้นใหม่และมารดาผู้ร้องได้ย้ายออกไปอยู่ที่บ้านที่ปลูกขึ้นใหม่ด้วย ส่วนผู้ร้องยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทมาจนถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเวลาประมาณ 15 ปี ก็ฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทเพราะ ม. ขายที่ดินพิพาทให้แก่ อ. ผู้ซื้อแล้ว อ. ฝากให้ ม. ช่วยดูแล ม.จึงอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาอยู่อาศัย จึงต้องถือว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนบริษัท ส. เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังเจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ดังนี้ แม้ผู้ร้องจะอยู่ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาช้านานเท่าใด ผู้ร้องก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2493  ตัวแทนเมื่อพ้นหน้าที่เป็นตัวแทน จะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ตนปกครองดูแลคืนให้ตัวการโดยสิ้นเชิง ทรัพย์สิ่งใดที่ตัวแทนยังคงยึดถือครอบครองไว้ ไม่ส่งคืนให้ตัวการ โดยตัวการไม่ทราบนั้น ตัวแทนจะอ้างว่าเป็นการครอบครองโดยปรปักษ์เพื่อเอาเป็นของตนเสียมิได้ ต้องถือว่ายังคงยึดถือครอบครองไว้แทนตัวการและผู้อื่นที่เข้าครอบครองโดยตัวแทนแบ่งให้เมื่อทราบว่าตัวแทนไม่มีอำนาจเอาทรัพย์นั้นมาแบ่งให้ตนแล้ว การที่ผู้อื่นเข้าครอบครอง จึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ครอบครองแทนตัวการเช่นเดียวกับตัวแทนนั้นซึ่งจะอ้างมาใช้ยันตัวการไม่ได้ จนกว่าจะได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองแห่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แล้ว

           6. การครอบครองของผู้รับโอน ในกรณีที่ผู้โอนไม่มีอำนาจ
          กรณีที่ผู้โอนที่ดินมีฐานะเป็นเพียงผู้ครอบครองแทนเจ้าของที่แท้จริงเท่านั้น ผู้รับโอนก็คงต้องมีสิทธิเท่าที่ผู้โอนมีอยู่เท่านั้น ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ผู้รับโอนจึงมีฐานะเป็นเพียงผู้ครอบครองแทนเจ้าของที่แท้จริงเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3917/2563  ผู้ตายครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสร้างตนเอง เมื่อยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐ การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่ บ. มิใช่การตกทอดโดยมรดก เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ดังกล่าว ผู้ตายมีเพียงสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย เมื่อทายาททุกคนของผู้ตายตกลงให้ บ. เป็นผู้รับโอนสิทธิในที่ดินของผู้ตายตามที่พระราชกฤษฎีกานิคมสร้างตนเองกำหนดให้ทายาทเข้ารับสิทธิได้เพียงผู้เดียว บ. จึงเป็นแต่เพียงผู้มีชื่อในหนังสือแสดงการทำประโยชน์แทนบุตรทุกคนของผู้ตายเท่านั้น ต่อมา บ. ไปขอออกโฉนดที่ดินจนได้รับโฉนดที่ดินพิพาท ก็ยังต้องถือว่าเป็นการดำเนินการแทนทายาทอื่น ทายาททุกคนมีส่วนเท่า ๆ กันและเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท บ. ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 ขอรับโอนมรดกที่ดินใส่ชื่อของตนเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็ยังคงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนของผู้ตาย สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้รับโอนคงมีสิทธิในทำนองเดียวกันกับสิทธิของ บ. ผู้โอน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แบ่งแยกที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่หากการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองไม่อาจดำเนินการได้ ก็ต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2542  ล. ในฐานะส่วนตัวและในฐานะบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ทั้งสี่ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้เยาว์ ได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ ก. โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสี่ และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสี่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ล. กับ ก. จึงไม่มีผลผูกพันส่วนของโจทก์ทั้งสี่ แม้ ล. ได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้ ก. และจำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากันเข้าทำประโยชน์ตลอดมาเป็นเวลาถึง 16 ปีเศษ ก็ต้องถือว่า ก. และจำเลยเข้ายึดถือที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสี่แทนโจทก์ทั้งสี่ ก. และจำเลยจึงไม่อาจยกเอาระยะเวลาที่ ก. และจำเลยเข้าทำนาในที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสี่ จนกว่าจำเลยกับ ก. จะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาท โดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งสี่ว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสี่อีกต่อไป แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวจำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสี่
          แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ล. กับ ก. จะไม่ผูกพันที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสี่ แต่เมื่อได้ความว่าหลังจากทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแล้ว ล. ยอมให้จำเลยกับ ก. เข้าทำนาในที่ดินพิพาทตลอดมา ประกอบกับที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งบุคคลมีเพียงสิทธิครอบครอง และอาจโอนการครอบครองให้กันได้ด้วยการส่งมอบทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 การที่ ล. มอบที่ดินพิพาทให้จำเลยกับ ก. เข้าทำนาจึงมีผลเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนของ ล. ให้แก่จำเลยและ ก. จำเลยและ ก. ย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนนี้ การที่จำเลยฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งหมด แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยได้รับส่วนแบ่งตามสิทธิของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2)


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5681/2538  ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่มีข้อกำหนดห้ามโอน 10 ปีตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 เป็นที่ดินที่รัฐยังไม่ได้มอบสิทธิครอบครองจนกว่าจะพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน ผู้ที่ได้ที่ดินยังไม่มีสิทธิครอบครองไม่ว่าจะตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่อาจโอนสิทธิครอบครองให้แก่บุคคลใด จะโอนกันได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเงื่อนไขห้ามโอนแล้ว เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกหรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์ การที่โจทก์อ้างว่า ย.ยกที่ดินและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้ในระหว่างเวลาที่มีเงื่อนไขห้ามโอน ถือได้ว่า ย. ยังไม่มีสิทธิครอบครอง จึงไม่อาจโอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ได้ เมื่อ ย. ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงตกทอดทางมรดกแก่จำเลยซึ่งเป็นทายาท การที่โจทก์ยังคงครอบครองอยู่จึงเป็นการครอบครองแทนทายาทของ ย. โจทก์จะต้องเปลี่ยนลักษณะการครอบครองโดยบอกกล่าวไปยังทายาทของ ย. เพื่อเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองแทนมาเป็นยึดถือครอบครองเพื่อตนเสียก่อนจึงจะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท

          7. การครอบครองที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ต้องถือว่าผู้จะซื้อครอบครองที่ดินแทนผู้จะขาย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2074/2542  ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ ซึ่งเพิ่มเติมโดยข้อ 2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96(พ.ศ. 2515) บัญญัติว่า "นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน ซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่" เมื่อหนังสือสัญญาการซื้อขายที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ระหว่างโจทก์และ ผ. ทำขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 และมีบันทึกที่ด้านหลังของเอกสารว่า โจทก์และ ผ. นัดจะไปจดทะเบียนโอนกันภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2520 หากผู้ขายบิดพลิ้วประการใดประการหนึ่ง ผู้ขายยินยอมให้ผู้ซื้อปรับสามเท่าของราคาหลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้ว โจทก์ได้ติดต่อ ผ. เพื่อขอรับโอนที่ดินพิพาท แต่ ผ. แจ้งว่ายังไม่พร้อม หลังจากที่ ผ. เสียชีวิต โจทก์ไปติดต่อ จ. ภริยาของ ผ. จ. แจ้งว่าจะโอนให้ภายหลัง ดังนี้หนังสือสัญญาที่โจทก์และ ผ. ทำขึ้นจึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายและคู่สัญญามุ่งถึงการจดทะเบียนเป็นสำคัญในการโอนสิทธิครอบครอง ตราบใดที่โจทก์และ ผ. ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนกัน การครอบครองที่ดินตามหนังสือสัญญาการซื้อขายของโจทก์ก็ย่อมเป็นการครอบครองแทน ผ. ผู้ขายอยู่ตราบนั้น เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของ ผ. และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดกฟ้องร้องภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องร้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีของโจทก์ย่อมเป็นอันขาดอายุความ

           8การครอบครองแทนกรณีอื่นๆ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7672/2544  ก. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนที่จำเลยมิได้คัดค้านในกรณีที่โจทก์แจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 ก็ดี หรือขอรังวัดออกโฉนดที่ดินทั้งแปลงรวมเอาที่ดินส่วนที่พิพาทกันนี้ไปด้วยก็ดี อาจเป็นไปได้ว่าจำเลยไม่ทราบเรื่องหรือไม่เข้าใจ เพราะโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินส่วนใหญ่และเป็นผู้ไปดำเนินการเองโดยไม่บอกกล่าวให้จำเลยทราบ ถึงกระนั้นจำเลยก็ยังคงครอบครองที่ดินส่วนที่พิพาทมาตลอดจนถึงปัจจุบัน การที่โจทก์ไปขอออกโฉนดที่ดินโดยรวมเอาที่ดินพิพาทเข้าไปด้วยนั้น หาเป็นเหตุให้สิทธิของจำเลยเหนือที่ดินส่วนที่พิพาทที่มีอยู่แล้วโดยสมบูรณ์เสียไปไม่
          ที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ดำเนินการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้จำเลยเข้าชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์นั้น โจทก์ไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมในอันที่จะต้องปฏิบัติต่อจำเลย แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินเฉพาะส่วนที่พิพาทคือส่วนที่ขีดเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทเป็นของจำเลย การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดออกโฉนดรวมเอาที่ดินส่วนที่พิพาทกันนี้เข้าไปด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนที่ทับที่ดินส่วนที่พิพาทกันนี้เสียได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 61 และเมื่อเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบแล้ว จำเลยจะขอให้ใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ในโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบหาได้ไม่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินเองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินฯ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1806/2535  บิดาโจทก์ยกที่พิพาทให้โจทก์ก่อนที่บิดาโจทก์จะสมรสกับจำเลยการที่จำเลยและบิดาโจทก์อยู่ในที่พิพาทต่อมาโดยจำเลยรู้แล้วว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ดังนี้ การครอบครองที่พิพาทของจำเลยจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยได้แสดงเจตนาต่อโจทก์ว่า ไม่ประสงค์จะครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ต่อแล้วอันเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ย่อมถือว่าจำเลยยังครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์อยู่เช่นเดิมแม้จำเลยจะครอบครองที่พิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้วจำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทในฐานะครอบครองปรปักษ์ตาม มาตรา 1382.




สัญญาก่อนสมรส


          สัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สินนั้น กฎหมายเปิดโอกาสให้สามีภริยามีสิทธิที่จะเลือก โดยกำหนดให้สามีภริยามีสิทธิทำสัญญาก่อนสมรสเพื่อเป็นการยกเว้นไม่ใช้ระบบทรัพย์สินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ได้ โดยการทำเป็นสัญญาก่อนจะมีการจดทะเบียนสมรสกัน ตามมาตรา 1465 อันเป็นการยกเว้นไม่ปฏิบัติตามมาตรา 1466 ถึงมาตรา 1493 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อความในสัญญาก่อนสมรสจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือจะต้องไม่ระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น มิฉะนั้นข้อความดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ

          มาตรา  1465 "ถ้าสามีภริยามิได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้
          ถ้าข้อความใดในสัญญาก่อนสมรสขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น ข้อความนั้นๆ เป็นโมฆะ"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4214/2534  โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภรรยากันอยู่และไม่ปรากฏว่าได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาของโจทก์จำเลยในเรื่องทรัพย์สินนั้นก็ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 4 ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา และโจทก์จำเลยซึ่งเป็นสามีภรรยากัน จะฟ้องร้องกันด้วยเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาไม่ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น กรณีตามคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ขอแบ่งเงินค่าขายที่ดินสินสมรสจากจำเลยกึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ฟ้องแบ่งได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง  

          แต่การทำสัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สินนั้น ข้อความในสัญญาก่อนสมรสจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น มิฉะนั้น ข้อความดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะตามมาตรา 1465 วรรคสอง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6711/2537  การที่โจทก์จำเลยทำความตกลงในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา โดยจำเลยให้สัญญาว่าบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยให้เป็นสินสมรส  จึงเป็นกรณีที่คู่สมรสจดแจ้งข้อความอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1466  เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อความขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1465 วรรคสอง

          การทำสัญญาก่อนสมรสจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินเท่านั้น ถ้าทำสัญญาก่อนสมรสว่าเมื่อหย่าขาดจากกันแล้วให้สินสมรสทั้งหมดตกเป็นของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียวนั้น สัญญาดังกล่าวนี้ใช้บังคับไม่ได้เพราะไม่ใช่สัญญาเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สิน แต่เป็นสัญญาเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินหลังการหย่า


          การทำสัญญาก่อนสมรส

          เมื่อคู่สมรสจะทำสัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สิน ทำได้โดยการจดแจ้งสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือโดยการทำเป็นหนังสือสัญญาก่อนสมรสลงลายมือชื่อคู่สมรสพร้อมทั้งจดไว้ในทะเบียนสมรสในขณะจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้ก็ได้ ซึ่งกฎหมายให้ทำตามแบบใดแบบหนึ่งข้างต้นเท่านั้น หากไปทำสัญญาก่อนสมรสนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดแบบไว้ข้างต้น สัญญานั้นย่อมตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1466

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497/2552   เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนสมรสว่า ไม่ประสงค์จะให้บันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สิน แม้ภายหลังในวันเดียวกันทั้งสองฝ่ายจะมาขอบันทึกเพิ่มเติ่มว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลงจะยกให้โจทก์ บันทึกครั้งหลังนี้ก็มิใช่สัญญาก่อนสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1466 แต่เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาทำไว้ต่อกันตามมาตรา 1469 ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีสิทธิตามกฎหมายที่จะบอกล้างได้ในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการสุจริต การที่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งขอเลิกสัญญาถือเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่แล้ว จำเลยมีสิทธิเรียกร้องที่ดินคืนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6711/2537  การที่โจทก์จำเลยทำความตกลงในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา โดยจำเลยให้สัญญาว่าบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยให้เป็นสินสมรส  จึงเป็นกรณีที่คู่สมรสจดแจ้งข้อความอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1466  เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อความขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1465 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3346/2532   สัญญาก่อนสมรสที่ผู้ร้องและจำเลยทำขึ้นมีข้อความว่า ให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรสตกเป็นสินสมรสนั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยมิได้จดแจ้งข้อความอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทำสัญญาก่อนสมรสเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้ สัญญาก่อนสมรสดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เมื่อทรัพย์สินดังกล่าวถูกโจทก์ยึดขายทอดตลาดชำระหนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วนของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287

          การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาหรือเพิกถอนสัญญาก่อนสมรส
          สัญญาก่อนสมรสเมื่อทำแล้วจะมีผลผูกพันคู่สมรสตลอดไปจะเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสนั้นไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาล ตามบทบัญญัติในมาตรา 1467 ถ้าคู่สมรสไปตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อนสมรสโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อนสมรส และแม้ในสัญญาก่อนสมรสจะมีข้อความชัดแจ้งว่าให้สามีและภริยามีสิทธิเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสได้เอง ข้อความนั้นย่อมใช้บังคับไม่ได้เพราะขัดกับมาตรา 1467

          ผลของสัญญาก่อนสมรสอันมีต่อบุคคลภายนอก
          สัญญาก่อนสมรสมีผลผูกพันเฉพาะสามีภริยาที่เป็นคู่สัญญาเท่านั้น ในส่วนของบุคคลภายนอกแล้วระบบทรัพย์สินของสามีภริยาต้องถือตามกฎหมายเหมือนกรณีปกติทั่วไป และแม้สัญญาก่อนสมรสจะถูกเปลี่ยนแปลงเพิกถอนโดยได้รับอนุญาตจากศาลก็ตาม ก็ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1082/2504  ที่ดินและเรือนเป็นของภริยาก่อนสมรสและได้ทำสัญญาก่อนสมรสว่า สามีจะไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ของภริยาก็ตาม แต่เมื่อภริยาปล่อยให้สามีลงชื่อในใบไต่สวนเพื่อขอออกโฉนดว่าเป็นที่ของสามี แล้วสามีเอาไปจำนองผู้อื่นและเอาเงินนั้นมาซื้อรถยนต์ใช้รับส่งคนโดยสารอันเป็นอาชีพของสามีภริยา เป็นเหตุให้ผู้รับจำนองเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นที่ของสามีและผูกพันภริยา ดังนี้ การจำนองนั้นสมบูรณ์ใช้บังคับได้

ครอบครองปรปักษ์


          การครอบครองปรปักษ์  เป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการครอบครองตามหลักเกณฑ์ใน มาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

          มาตรา 1382 "บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์"

          หลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์

          1. ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น 
          การครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นนั้น แม้สำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ใช้ได้
          แต่ถ้าอ้างว่าที่ดินเป็นของตนเอง ก็มิใช่การครอบครองปรปักษ์ เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้เฉพาะที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4182/2554  จำเลยครอบครองที่ดินของโจทก์โดยสำคัญผิดว่าที่ดินเป็นของจำเลย ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น และการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินเป็นที่ดินของโจทก์ด้วยไม่ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์โดยการครอบครองแล้วได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8064/2553   ในการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น หามีกฎหมายบัญญัติว่า ผู้ครอบครองจะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นเป็นของผู้อื่นหรือไม่ใช่ทรัพย์สินของตนแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยเชื่อว่าเป็นที่ดินของตนเองที่รับโอนมรดกมา แม้จำเลยเพิ่งจะทราบภายหลังว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของจำเลย เมื่อปี 2547 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันมาเกินกว่าสิบปีโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านจำเลยก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว โดยหาจำต้องเป็นการครอบครองโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นที่ดินของผู้อื่นไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679 - 682/2559  จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาย อ. ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายประไว โดยเริ่มต้นนายประไวซื้อที่ดินพิพาทมาจากพลอากาศตรีอำนวยเมื่อประมาณปี 2533 และมีการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยก่อนจดทะเบียนโอนมาเป็นของจำเลยทั้งสี่ การที่จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองปลูกบ้านอาศัยอยู่ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่เคยถูกผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก่อนหน้านั้น จึงถือเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาตลอด รวมเวลาของผู้โอนกับเวลาที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยทั้งสี่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อีกทั้งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้อย่างแจ้งชัดว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองนั้น จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น ข้อสำคัญมีเพียงว่า การครอบครองนั้นมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นผู้อาศัยหรือผู้เช่า แม้ผู้ครอบครองจะเข้าใจว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของตน แต่ความจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ ก็หาทำให้สิทธิจากการครอบครองเสียไปไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6151/2558   จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์รวมทั้งทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของจำเลย โดยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินของโจทก์ แม้จำเลยจะครอบครองโดยสำคัญผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ด้วยไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2443/2563  ท. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์มาแล้วประมาณ 18 ปี ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ท. และไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องครอบครองแทนทายาทคนอื่น โจทก์จึงไม่สามารถขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบได้ ท. ยกที่ดินให้จำเลยโดยมิได้จดทะเบียนการยกให้ แต่เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ ท. ยกที่ดินพิพาทให้ด้วยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แม้จำเลยครอบครองโดยเข้าใจผิดว่าที่ดินเป็นของจำเลยก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น จำเลยไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ เนื่องจากเข้าใจว่ามารดาจำเลยเป็นทายาทแต่เพียงผู้เดียวและถึงแก่ความตายแล้ว ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องว่าโจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิในที่ดินดีกว่าจำเลย เมื่อที่ดินมิใช่ทรัพย์มรดกของ ท. ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่สุจริต จำเลยให้การว่า ท. ยกที่ดินพิพาทให้และจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและสามารถอ่านเข้าใจเจตนาของจำเลย ไม่ใช่การบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนเองหรือขัดกันเอง ดังนั้น คำให้การจึงชัดแจ้งการวินิจฉัยคดีเมื่อศาลเห็นสมควรจะหยิบยกประเด็นข้อพิพาทข้อใดขึ้นวินิจฉัยก่อน ย่อมกระทำได้เมื่อวินิจฉัยประเด็นข้อใดแล้วมีผลให้คดีเสร็จไปแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่าศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำฟ้องทั้งหมดแม้คำฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อความว่าผู้เรียงพิมพ์และลายมือชื่อผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งดังกล่าวและได้ดำเนินกระบวนพิจารณากันมาจนเสร็จสิ้นถึงศาลฎีกาแล้ว ตามสำนวนปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้ง ด. เป็นทนายความ และ ด. ได้ลงชื่อเป็นผู้เรียงและพิมพ์ในคำแถลงขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง จึงพอที่จะฟังได้ว่า ด. เป็นผู้เรียงและพิมพ์คำฟ้อง



          2. การครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นนั้น จะต้องครอบครองโดยความสงบ และโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ

          (1) ต้องครอบครองโดยความสงบ

          การร้องทุกข์และนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจสอบแจ้งให้ผู้บุกรุกออกไปเสียจากที่ดิน ย่อมมีผลให้การครอบครองที่ดินถูกโต้แย้ง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการครอบครองโดยสงบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12639/2553  โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่าโจทก์รับโอนที่ดินมาจาก ห. โดยไม่สุจริต โดยไม่ปรากฏว่าไม่สุจริตอย่างไร และทางนำสืบของจำเลยก็ไม่ปรากฏเรื่องนี้ ถือว่าคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทนี้

          การร้องทุกข์และนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจสอบแจ้งให้ผู้บุกรุกออกไปเสียจากที่ดิน ย่อมมีผลให้การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยถูกโต้แย้ง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการครอบครองโดยสงบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10061/2555  การจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองนั้น นอกจากจะต้องครอบครองโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีแล้ว ยังจะต้องได้ความว่าเป็นการครอบครองไว้โดยสงบอีกด้วย การร้องทุกข์และนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจสอบแจ้งให้ผู้บุกรุกออกไปเสียจากที่ดิน ย่อมมีผลให้การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยถูกโต้แย้ง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการครอบครองโดยสงบที่จะนำระยะเวลาการครอบครองไปรวมเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1812 ดังกล่าว จำเลยปลูกสร้างบ้านชั้นเดียวอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 10 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1812 โดยบ้านดังกล่าวมิได้ปลูกสร้างขึ้นก่อนปี 2530
          คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้วหรือไม่ เห็นว่า การจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองนั้น นอกจากจะต้องครอบครองโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีแล้ว ยังจะต้องได้ความว่าเป็นการครอบครองไว้โดยสงบอีกด้วย โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า ในช่วงปี 2530 ถึง 2533 โจทก์ให้นาย ล. คนขับรถของโจทก์ไปขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินทุกรายรวมทั้งจำเลยด้วย แต่จำเลยและบุคคลเหล่านั้นไม่ยอมออกไป โจทก์จึงไปแจ้งความร้องทุกข์แก่พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน ว่าจำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปในที่ดิน ดังนั้น เมื่อในปี 2533 เจ้าของที่ดินได้มีการร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกในที่ดินพิพาทซึ่งรวมถึงจำเลยซึ่งบุกรุกเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทด้วย แม้ไม่ปรากฏว่าต่อมาได้มีการดำเนินคดีแก่จำเลย แต่การร้องทุกข์และนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจสอบแจ้งให้ผู้บุกรุกออกไปเสียจากที่ดินดังกล่าวย่อมมีผลให้การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยถูกโต้แย้ง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการครอบครองโดยสงบที่จะนำระยะเวลาการครอบครองไปรวมเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ทั้งยังได้ความต่อมาว่าในปี 2542 โจทก์ได้ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกไปทำการรังวัดในที่ดินเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2542 ซึ่งมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมารับรองแนวเขต ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน นอกจากนี้ยังได้ความว่า โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดเพื่อแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยเปิดเผย ผู้คนในชุมชนรับรู้และอยู่ในวิสัยที่จะรับรู้ได้แต่ไม่มีผู้ใดรวมทั้งจำเลยโต้แย้งแสดงสิทธิในที่ดิน ในทางกลับกันการดำเนินการของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ได้แสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแล้วอันมีผลให้การครอบครองของจำเลยถูกกระทบกระเทือนโต้แย้ง ไม่อาจถือว่าเป็นการครอบครองโดยสงบอีกเช่นเดียวกัน ดังนี้แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว แต่การครอบครองดังกล่าวมิใช่การครอบครองโดยสงบติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี เพราะนับแต่วันที่โจทก์ดำเนินการรังวัดที่ดินจนถึงวันฟ้องยังไม่ถึงสิบปี เช่นนี้ จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

          กรณีที่มีการจดทะเบียนเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทตลอดมาเกือบทุกปี การครอบครองที่ดินจึงถูกกระทบสิทธิมาตลอด จึงไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยสงบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2902/2535 ที่ดินพิพาทมีการจดทะเบียนเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตลอดมาเกือบทุกปีนับแต่ฝ่ายผู้ร้องอ้างว่าได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท การอ้างว่าได้เข้าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจึงถูกกระทบสิทธิมาตลอด ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยความสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาสิบปีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 1382 การครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากผู้คัดค้านจดทะเบียนรับโอนมาจนถึงวันที่ยื่นคำร้องขอก็ยังไม่ครบสิบปี แม้ฟังว่าฝ่ายผู้ร้องได้ครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด ผู้ร้องทั้งสองก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์

          แต่ถ้าเพียงแต่โต้เถียงสิทธิกัน ยังไม่หมายความถึง ไม่สงบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 772/2505  การครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น หมายความว่า ครอบครองอยู่ได้โดยไม่ได้ถูกกำจัดให้ออกไป หรือไม่ได้ฟ้องร้อง เพียงแต่โต้เถียงสิทธิกัน ยังไม่หมายความถึงไม่สงบ


          (2) ต้องครองครองโดยเปิดเผย

          ครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดิน โดยปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดินดังกล่าวด้วย ถือว่าครอบครองโดยเปิดเผย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8122/2540  จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยเชื่อว่าเป็นที่ดินของตนเองด้วยการรับมรดกมาจากบิดา แม้จำเลยจะเพิ่งทราบว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของจำเลยก่อนฟ้องประมาณ 3 ปีก็ตาม แต่เมื่อจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 แล้ว หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยรู้อยู่ว่าเป็นที่ดินของบุคคลอื่นไม่
          โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเนื้อที่ 32 ไร่เศษ โดยเห็นบ้านจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าว แต่ไม่ได้ซักถามว่าบ้านจำเลยอยู่ในหรือนอกเขตโฉนดที่ดินที่ซื้อขายกัน และจำเลยอยู่โดยสิทธิอันใด พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์รู้ว่ามีผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินบางส่วนของที่ดินที่โจทก์รับซื้อมาจากผู้ขาย กรณีดังกล่าวย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับโอนไว้โดยสุจริต และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตาม ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 แต่โจทก์ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวไม่มีหน้าที่ไปจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองให้แก่จำเลย เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ต้องดำเนินการให้มีชื่อของตนในโฉนดที่ดินต่อไป


          (3) ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ

          ครอบครองที่ดินเพื่อทำกินต่างดอกเบี้ยที่เจ้าของที่ดินกู้ยืมไป ถือว่าครอบครองแทนเจ้าของที่ดินตลอดมา ไม่ได้เจตนาครอบครองอย่างเจ้าของ ดังนั้น จะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2556   การที่ ต. และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป

          จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นการอาศัยสิทธิของบิดาโจทก์ หาใช่การครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของไม่ ครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1506/2556  ขณะจำเลยทำสัญญาจะให้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบิดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ บิดาโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินการขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทได้เอง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยบุคคลที่ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลโดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ซึ่งไม่มีมูลความจริง และขัดต่อเหตุผลดังที่ระบุในสัญญาดังกล่าวว่า โจทก์เป็นผู้ดำเนินการให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท หากโจทก์สามารถดำเนินการจนทำให้จำเลยสามารถได้กรรมสิทธิ์ จำเลยจะแบ่งให้โจทก์ 6 ส่วน โดยจำเลยได้ 1 ส่วน ซึ่งผิดวิสัยของผู้ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์อย่างแท้จริง อีกทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ระบุชัดเจนว่า จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ป. โดยได้รับอนุญาตจากบิดาโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ป. แสดงว่าการที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นการอาศัยสิทธิของบิดาโจทก์ หาใช่การครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของไม่ การทำสัญญาจะให้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีใจความเช่นนี้จึงมีสาระสำคัญอันเป็นความเท็จ ซึ่งหลังจากทำสัญญาดังกล่าวมีการไปยื่นคำร้องขออันเป็นเท็จต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นหลงเชื่อจนมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลที่ย่อมต้องคำนึงถึงการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมตามความเป็นจริง ถือได้ว่าเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการทำโดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับข่มขู่ หลอกลวง หรือกลฉ้อฉล สัญญาดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

          การครอบครองโดยอาศัยสิทธิของผู้อื่นยังไม่ถือว่าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ดังนั้น แม้ครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ จนกว่าจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป จึงจะเริ่มนับระยะเวลาการครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16513/2555  จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินกับโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินดาวน์งวดสุดท้ายแล้วได้แสดงเจตนาที่จะให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้ แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากโจทก์นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร อ. จึงได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2526 ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่เรียกร้องให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและการยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะยึดถือที่ดินและบ้านแทนโจทก์อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ดังนี้ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงเจตนายึดถือเพื่อตน เมื่อนับถึงวันฟ้อง เป็นเวลาติดต่อกันเกิน 10 ปี จำเลยทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

          การครอบครอง ต้องเป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการเข้ายึดถือครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9788/2553   การครอบครองที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 นั้น ผู้ครอบครองต้องครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี การที่จะพิจารณาว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่ จึงต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการเข้ายึดถือครอบครองอยู่อาศัยของจำเลยในที่ดินพิพาทว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของหรือไม่
          ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์โดยไม่ได้ยึดถือที่ดินตามสัดส่วนของเจ้าของรวมและครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ทราบว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรวม แสดงถึงเจตนาของผู้ร้องทั้งสองว่าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับรู้ถึงสิทธิของเจ้าของรวมทั้งฝ่ายที่ส่งมอบการครอบครองต่อ ๆ มาแก่ตนและเจ้าของรวมฝ่ายผู้คัดค้านจึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของเอง หาใช่ครอบครองในฐานะเจ้าของรวมหรือผู้สืบสิทธิจากเจ้าของรวมอันจะต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินแก่เจ้าของรวมไม่ เมื่อผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

          ลักษณะการปลูกสร้างบ้านและสภาพสิ่งแวดล้อมของบ้านผู้ร้องจึงมีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการปลูกสร้างไม่แน่นหนาและถาวรเพื่อเป็นที่อาศัยพักพิงชั่วคราว ไม่เคยขอเลขที่บ้านและหลักฐานทางทะเบียนราชการ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการครอบครองโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3343/2553   สภาพบ้านของผู้ร้องเป็นบ้านชั้นเดียวหลังคามุงด้วยสังกะสี ผนังบ้านกั้นด้วยกระเบื้องแผ่นเรียบ พื้นบ้านมีการยกพื้น โดยเป็นการปลูกสร้างอย่างง่ายๆ ใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่ยากต่อการรื้อถอน ทางด้านขวาของบ้านผู้ร้องติดกับผนังของบ้านข้างเคียง ส่วนทางด้านซ้ายอยู่ห่างจากผนังบ้านข้างเคียงประมาณ 1 เมตร บริเวณด้านข้างและด้านหลังมีน้ำท่วมขังไม่สามารถใช้เป็นทางเดินได้ ลักษณะการปลูกสร้างบ้านและสภาพสิ่งแวดล้อมของบ้านผู้ร้องจึงมีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการปลูกสร้างไม่แน่นหนาและถาวรเพื่อเป็นที่อาศัยพักพิงชั่วคราวดังเช่นบ้านในชุมชนแออัดทั่วไปซึ่งมักจะอาศัยโอกาสปลูกสร้างบ้านชั่วคราวในลักษณะเช่นนี้ในที่ดินว่างเปล่าของผู้อื่น โดยการปลูกสร้างหรือต่อเติมรวมทั้งการรื้อถอนโยกย้ายสามารถกระทำได้ง่ายตลอดเวลา นอกจากนี้ยังปรากฏว่าผู้ร้องไม่เคยขอเลขที่บ้านหรือหลักฐานทะเบียนบ้านจากทางราชการ ทั้งได้ความว่าบุตรของผู้ร้องไปขอใช้บริการไฟฟ้าและน้ำประปาให้ผู้ร้องโดยใช้บ้านเลขที่ของน้องต่างมารดาของผู้ร้อง และติดตั้งมาตรวัดน้ำและมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้านดังกล่าวด้วย ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่าผู้ร้องยอมรับว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของบ้านซึ่งปลูกสร้างชั่วคราวในที่ดินของผู้อื่น พฤติกรรมการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องเช่นนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการครอบครองโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของอันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ได้

          ครอบครองที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขาย ถือว่าครอบครองแทนเจ้าของที่ดิน แม้ครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7490/2541  โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และ ม. ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยในสัญญาซื้อขายระบุว่าได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยแต่ยังไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากโจทก์ที่ 2 และที่ 5 ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วจะโอนทันที แสดงว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเท่านั้นเพราะยังมีข้อตกลงจะไปโอนกรรมสิทธิ์ในภายหลัง ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์กันตามข้อตกลงในสัญญากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงอยู่แก่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของเดิม ถึงจำเลยจะเป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองแทนโจทก์ทั้งห้า จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้ยันกับโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทได้ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะขับไล่โจทก์ทั้งห้าออกจากที่ดินพิพาท

          เพียงสร้างรั้วรุกล้ำ แต่ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอย่างจริงจัง แสดงว่าไม่ได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 486/2542  คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสร้างรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์เป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 21 ตารางวา และโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกเป็นคดีอาญาว่าจำเลยกับพวกร่วมกันสร้างรั้วลวดหนามบุกรุกเข้าไปในที่ดินโจทก์เป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 21 ตารางวา เมื่อคดีนี้และคดีอาญาดังกล่าวเป็นมูลกรณีเดียวกัน คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ซึ่งตาม ป.วิ.อ.มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และเหตุที่จำเลยยกปัญหาเรื่องให้ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์เนื่องจากจำเลยไม่สามารถยกปัญหาดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้นได้เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคสอง
          แม้คดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ฟังว่า จำเลยได้สร้างรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์เป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 21 ตารางวา ตั้งแต่ปี 2524 เกินกว่า 10 ปี แล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาคงรับฟังเป็นยุติได้แต่เพียงว่า จำเลยได้สร้างรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทจริงเท่านั้น แต่การครอบครองที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์จะต้องเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ พฤติการณ์ที่จำเลยเข้าไปล้อมรั้วลวดหนามในที่ดินพิพาท ก็เพราะจำเลยซื้อที่ดินซึ่งอยู่ติดกันและเป็นที่ดินแปลงใหญ่มาเพื่อขยายโรงงาน และที่ดินดังกล่าวมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอีก 12 คน ภายหลังต่อมาจำเลยจึงได้ฟ้องคดีเพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ในขณะที่จำเลยให้ลูกจ้างไปทำรั้วลวดหนามเพื่อแสดงอาณาเขตที่ดิน ก็ไม่มีการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินก่อน โดยจำเลยเข้าใจตลอดมาว่าแนวรั้วลวดหนามตรงตามแนวเขตที่ดิน ไม่ได้รุกล้ำที่ดินโจทก์ ทั้งสภาพที่ดินพิพาทก็เป็นที่ดินว่างเปล่ามีหญ้าขึ้นรกปกคลุมแนวรั้ว ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใด ๆและไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์อย่างจริงจัง แสดงว่าจำเลยไม่ได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แม้จำเลยจะทำรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทของโจทก์ติดต่อกันนานเกินกว่า 10 ปี แล้วก็ตาม จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

          เข้าครอบครองทำประโยชน์โดยไม่ได้ยึดถือที่ดินตามสัดส่วนของเจ้าของรวม แสดงถึงเจตนาของผู้ครอบครองว่าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับรู้ถึงสิทธิของเจ้าของรวมทั้งฝ่ายที่ส่งมอบการครอบครองต่อ ๆ มาแก่ตนและเจ้าของรวมฝ่ายผู้คัดค้านจึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของเอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2566  ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์โดยไม่ได้ยึดถือที่ดินตามสัดส่วนของเจ้าของรวมและครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ทราบว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรวม แสดงถึงเจตนาของผู้ร้องทั้งสองว่าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับรู้ถึงสิทธิของเจ้าของรวมทั้งฝ่ายที่ส่งมอบการครอบครองต่อ ๆ มาแก่ตนและเจ้าของรวมฝ่ายผู้คัดค้านจึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของเอง หาใช่ครอบครองในฐานะเจ้าของรวมหรือผู้สืบสิทธิจากเจ้าของรวมอันจะต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินแก่เจ้าของรวมไม่ เมื่อผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

          ที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ต่อเมื่อที่พิพาทกลายเป็นที่งอกอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว โจทก์ยังครอบครองไม่ถึง 10 ปี โจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2543  เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนน ดังนั้น ก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว โจทก์ครอบครองไม่ถึง 10 ปี โจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

          การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้นไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว จึงย่อมตกทอดไปยังทายาทผู้รับมรดกได้         
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12735/2555  ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ว. มารดาของผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 และที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดที่ 918 ทางทิศตะวันตกของ ท. โดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2529 ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่า 22 ปี หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องขอ ว. มารดาของผู้ร้องย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนทางทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 และโฉนดเลขที่ 918 โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้และตกทอดแก่ผู้ร้องและทายาทอื่นที่เป็นบุตรของ ว. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 และแม้ผู้ร้องกับทายาททั้งหมดเพิ่งทราบว่า ว. มารดาของผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองภายหลัง ก็ไม่ทำให้ทรัพยสิทธิที่มารดาของผู้ร้องได้มาและเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้ร้องกับทายาทอื่นเสียไป ทั้งการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของผู้ครอบครอง ประกอบกับผู้ร้องมีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกตาม ป.ที่ดิน มาตรา 81 โดยที่ดินที่ผู้ร้องอ้างว่าเจ้ามรดกได้มาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ซึ่งต้องดำเนินการขอจดทะเบียนสิทธิตามมาตรา 78 ก่อน ผู้ร้องในฐานะทายาทผู้รับมรดกจาก ว. มารดาของผู้ร้องจึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่เป็นมรดกตกทอดมายังผู้ร้องและทายาทอื่นได้





          3. ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี

          ระยะเวลาครอบครอง 10 ปี สามารถนับระยะเวลาต่อจากผู้ครอบครองเดิมได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1981/2556  ท. ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นบางส่วนของที่ดินที่จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว  ท. ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง เมื่อ ท. ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ในปี 2547 และโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาโดยตลอดมิได้ขาดตอนโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนา เป็นเจ้าของ แสดงว่า ท. เจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครอง และย่อมนับระยะเวลาที่ ท.ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกับระยะเวลาที่โจทก์ครองครองที่ดินพิพาทเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1385 เมื่อนับเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทของ ท. รวมเข้าด้วยแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ไม่ได้บัญญัติว่าการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองจะต้องเป็นการครอบครองด้วยเจตนาที่สุจริต คงบังคับไว้แต่เพียงว่าให้ผู้ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แม้ผู้ครอบครองจะรู้ว่าที่ดินที่ครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นก็ตาม

          ครอบครองที่พิพาทโดยการซื้อมาจากผู้ครอบครองเดิมตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่ความจริงแล้วที่ดินมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นโฉนดแล้ว เมื่อครอบครองที่ดินพิพาทไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของครอบครองติดต่อกันมาจากผู้โอนซึ่งเป็นผู้ครอบครองเดิมเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3843/2543  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน ส.ค.1 ป. เจ้าของที่ดินได้ขอออกโฉนดระหว่างเดินสำรวจเพื่อออกโฉนด ป. ได้ยกที่ดินพิพาทให้ ย. เมื่อ ป. ตาย เจ้าพนักงานที่ดินจึงออกโฉนดแล้วส่งมอบให้ ค. ลูกของ ป. แต่ ย. ไม่ทราบถึงการดำเนินการขอออกโฉนด จึงนำ ส.ค.1 ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซ้ำซ้อนขึ้นอีก ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทจาก ย. โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วเข้าครอบครองที่พิพาทตลอดมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาจาก ย. ผู้โอนเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสองแปลง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินมีโฉนดในระหว่างเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดตั้งแต่ปี 2512 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการออกโฉนดของเจ้าพนักงานที่ดิน ต่อมาในปี 2515 นาย ป. ได้ยกที่ดินให้แก่นาง ย. ซึ่งเป็นหลานเมื่อนาย ป. ถึงแก่กรรม นาง ย. ไม่ทราบถึงการดำเนินการขอออกโฉนดในที่ดินพิพาทตาม ส.ค.1 ที่ได้รับยกให้จึงนำ ส.ค.1 ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซ้ำซ้อนขึ้นอีก ครั้นเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกโฉนดแล้วแต่นาย ป. ถึงแก่กรรมจึงมอบให้แก่นาง ค. ผู้เป็นบุตร หลังจากนาง ค. ถึงแก่กรรมโฉนดที่ดินพิพาทสูญหายไปส่วนนาง ย. ได้ครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมาและด้วยความสำคัญผิดไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดถูกต้องแล้วจึงได้ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ขึ้นใหม่อาจเป็นเพราะความไม่รอบคอบหรือด้วยความประมาทเลินเล่อของทางสำนักงานที่ดินท้องที่จึงได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้เมื่อปี 2517 อีก ต่อมาเมื่อปี 2534 นาง ย. ได้ขายที่ดิน น.ส.3 ก. ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องโดยได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จากพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมาตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทที่ได้รับโอนมาจากนาง ย. ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดแล้ว แต่ด้วยความสำคัญผิดของนาง ย. และความไม่รอบคอบหรือด้วยความประมาทเลินเล่อของเจ้าพนักงานที่ดินไม่ตรวจตราให้รอบคอบเสียก่อนดังกล่าวแล้วข้างต้น จึงมีการออก น.ส.3 ก. ทับโฉนดเกิดขึ้นเป็นคดีนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรมจึงเห็นได้ว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของครอบครองติดต่อกันมาจากนาง ย. ผู้โอนเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
          อนึ่ง ที่ผู้ร้องมีคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาป่าซางออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่ผู้ร้องด้วยนั้นเป็นคำขอบังคับแก่บุคคลภายนอก ซึ่งมิได้เป็นคู่ความในคดีนี้ด้วย ศาลไม่อาจบังคับให้ได้"
          พิพากษากลับว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3324และ 3325 ตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 คำขออื่นให้ยก

          การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ไม่ต้องคำนึงถึงความสุจริต 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12746/2555  ผู้คัดค้านขายที่ดินโฉนดเลขที่ 31186 ให้ผู้ร้องแล้ว โดยมิได้สนใจที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่งของผู้คัดค้านซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 31186 อีกเลย คงปล่อยให้ผู้ร้องเข้าครอบครองโดยเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าบ้านที่ปลูกไว้ในที่ดินพิพาทรวมทั้งรื้อถอนบ้านเช่าออกไป แล้วถมดินปรับปรุงพื้นที่และปลูกสร้างอาคารอู่ซ่อมรถให้ผู้อื่นเช่าเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทติดต่อกันเรื่อยมาโดยผู้คัดค้านไม่เคยโต้แย้ง แม้ผู้คัดค้านได้นำเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาท แต่ก็เป็นการกระทำหลังจากที่ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยไม่คำนึงว่าผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ เพราะการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์มิได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการครอบครองโดยสุจริต
        
          การครอบครองปรปักษ์มีได้เฉพาะที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์แล้วเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2270/2554   การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จะต้องเป็นการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์และครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ผู้ร้องจะนับระยะเวลาการครอบครองในระหว่างเป็นที่ดินมือเปล่าก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดรวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ภายหลังที่ดินมีโฉนดแล้วหาได้ไม่ ขณะที่มีการออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทปี 2529 ผู้ร้องไม่ได้คัดค้านอย่างใด ต่อมาปี 2533 ผู้ร้องเข้าไปตักดินในที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านห้ามแล้วไม่หยุด ผู้คัดค้านจึงนำโฉนดที่ดินไปแจ้งความที่สถานีตำรวจว่าผู้ร้องบุกรุก ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและแสดงออกว่ามีเจตนาเป็นเจ้าของเมื่อปี 2533 เมื่อนับระยะเวลาจนถึงผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 ยังไม่ครบ 10 ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง
          
          การครอบครองที่ดินของคนต่างด้าวแม้จะไม่เสียเปล่า แต่คนต่างด้าวจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายที่ดินซึ่งจะทำให้สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ เมื่อคนต่างด้าวไม่ได้มีการดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้ว จะมาขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่คนต่างด้าวครอบครองไม่ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5016/2555   แม้คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวงและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่ ป.ที่ดินไม่ได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดิน เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ดังนั้น การที่ ต. และจำเลยร่วมกันครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วนั้น การครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของ ต. จึงไม่ได้เสียเปล่าไปและยังมีผลตามกฎหมาย เมื่อ ต. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2534 จำเลยได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทต่อมาจาก ต. จึงเป็นการครอบครองเพื่อตนต่อเนื่องมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์
          ต. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้วซึ่งจะทำให้ ต. สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ แม้การครอบครองที่ดินของ ต. จะไม่เสียเปล่าไป แต่ก็จะมาขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ ต. ครอบครองไม่ได้ หากศาลบังคับให้จะเป็นทางให้ ต. ได้ที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำขอของผู้ร้องสอดในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. จึงไม่อาจบังคับให้ได้ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องสอดให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้ รวมทั้งคำขออื่นที่อาศัยสิทธิของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าในข้อต่อไปว่า จำเลยและผู้ร้องสอดได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื้อที่ 12 ตารางวา บริเวณพื้นที่สีเขียวตามแผนที่วิวาทโดยครอบครองปรปักษ์หรือไม่ โจทก์ทั้งห้าฎีกาในข้อกฎหมายว่า ต. เป็นคนต่างด้าว มีเชื้อชาติและสัญชาติจีนซึ่งการได้มาซึ่งที่ดินจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่ ต. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2534 โดยมิได้ดำเนินการให้ถูกต้อง จำเลยครอบครองที่ดินต่อมาจาก ต. หากจะถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อตนก็จะต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่ นับถึงวันที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้ จำเลยยังครอบครองที่ดินไม่ถึง 10 ปี เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งห้าเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของ ต. จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ทั้งห้าจึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง อย่างไรก็ตาม แม้คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวงและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่ประมวลกฎหมายที่ดินไม่ได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดิน เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ดังนั้น การที่ ต. และจำเลยร่วมกันครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วนั้น การครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของ ต. จึงไม่ได้เสียเปล่าไปและยังมีผลตามกฎหมาย เมื่อ ต. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2534 จำเลยได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทต่อมาจาก ต. จึงเป็นการครอบครองเพื่อตนต่อเนื่องมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์
          ส่วน ต. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้วซึ่งจะทำให้ ต. สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ แม้การครอบครองที่ดินของ ต. จะไม่เสียเปล่าไป แต่ก็จะมาขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ ต. ครอบครองไม่ได้ หากศาลบังคับให้จะเป็นทางให้ ต. ได้ที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำขอของผู้ร้องสอดจึงไม่อาจบังคับให้ได้ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องสอดให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้ รวมทั้งคำขออื่นที่อาศัยสิทธิของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์นั้นชอบแล้ว แต่ที่มีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ด้วยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน   
          
          การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว แต่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่นำยึดที่ดินออกขายทอดตลาด ไม่ถือว่าเป็นบุคคลภายนอก 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18606/2556  แม้การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง และแม้ขณะโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าเป็นการยึดโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 การที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องชอบจะขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288

          ถ้าผู้ครอบครองทำครบหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ครอบครองย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์




อายุความ คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก

          ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง"

          คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก คือ คดีที่เกี่ยวกับกรณีพิพาทในเรื่องการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกนั้นไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างไร โดยมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นลง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2566 มูลเหตุที่โจทก์ทั้งห้าอ้างนำคดีนี้มาฟ้องเกิดจากการที่ ท. ผู้จัดการมรดกละเลยและไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก โดยไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ บ. ทายาทอย่างถูกต้อง อันเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 เมื่อ ท. และ บ. ถึงแก่ความตายก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งห้าในฐานะผู้สืบสันดานของ บ. จึงสืบสิทธิของ บ. มาฟ้องคดีนี้ ซึ่งเป็นการฟ้องเกี่ยวกับการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ได้บัญญัติเรื่องอายุความในการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไว้โดยเฉพาะว่า ห้ามมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 เป็นผู้สืบสิทธิของ บ. เช่นเดียวกับโจทก์ทั้งห้า ถือว่าเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมใช้สิทธิของ บ. ยกอายุความห้าปีตามบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งห้าได้ โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้เกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์ทั้งห้าจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

          คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก เป็นคดีที่ฟ้องผู้จัดการมรดกว่าจัดการมรดกโดยไม่ชอบมีอายุความ 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นลงตามมาตรา 1733 วรรคสอง แต่ถ้าเป็นการฟ้องให้แบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก แต่เป็นคดีมรดก มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันได้รู้หรือควรได้รู้ความตายของเจ้ามรดก ตามป.พ.พ.มาตรา 1754
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6797/2543  โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ป. ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยไม่แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาท สำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก เมื่อทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินสองแปลง จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไปแล้วถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว โจทก์มาฟ้องเกินกว่า 5 ปีคดีย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตร ป. เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกย่อมมีความชอบธรรมที่จะรับไว้และครอบครองทรัพย์มรดกได้ด้วยอำนาจของตนไม่เข้าข่ายการปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดกและไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อรับเอาทรัพย์มรดก จึงเป็นคดีมรดกมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 โจทก์ฟ้องเกินกว่า 1 ปี จึงขาดอายุความ
          คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับแห่งอายุความฟ้องร้องคนละมาตรา โดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1754 วรรคสี่ เมื่อโจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่ของมารดาในทรัพย์มรดกของ ส. ที่ พ. ปกปิดความเป็นทายาทของมารดาโจทก์ และ พ. ไม่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมาย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การตั้งผู้จัดการมรดกมีการปกปิดทายาท การแบ่งทรัพย์มรดกเป็นไปในทางที่ไม่สุจริต การโอนทรัพย์มรดกให้กับตนเองเพียงคนเดียวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โดยไม่มีการแจ้งให้ทายาททราบ เมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ชอบจึงไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว กรณีต้องถือว่า พ. ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน ตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงจะนำอายุความห้าปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง และอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง หรือพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามวรรคสี่มาใช้บังคับไม่ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะโอนเกินกว่าห้าปีและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558  คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับการฟ้องร้องคนละมาตรา อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่ผู้จัดการมรดกแต่เป็นทายาทและถูกโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ย่อมเป็นคดีมรดก อันมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วย ก็หาอาจทำให้สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกของโจทก์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทกลับเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ไม่
          ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ" มาตรา 193/14 บัญญัติว่า "อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)...กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง..." และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ" วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น" โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14
          แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9745/2558  โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. และ ส. เจ้ามรดก ฟ้องเรียกเอาคืนทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 18 แปลง ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยทั้งสี่โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทจำนวน 8 แปลง จำเลยที่ 1 ได้รับโอนมาจากเจ้ามรดกทั้งสองก่อนที่เจ้ามรดกทั้งสองจะถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง สำหรับที่ดินพิพาทส่วนที่เหลืออีก 10 แปลง จำเลยที่ 1 ได้รับโอนมาจาก ว. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. โดยชอบ และได้ครอบครองเพื่อตนเองมาโดยตลอด โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่เจ้ามรดกทั้งสองถึงแก่ความตาย คดีจึงขาดอายุความ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า ที่ดินพิพาทจำนวน 8 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองหรือไม่ และ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกคนก่อนของ ส. โอนที่ดินพิพาทจำนวน 10 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวให้ชัดแจ้งเสียก่อนแต่กลับไปวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งคดีนี้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องเรียกเอาทรัพย์คืนและขอให้เพิกถอนนิติกรรมจากผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ได้มาโดยมิชอบอันเนื่องมาจากการจัดการทรัพย์มรดกที่ยังไม่สิ้นสุดลงซึ่งมีอายุความกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง จึงไม่อาจนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นอายุความเกี่ยวกับการฟ้องคดีมรดกระหว่างทายาทมาปรับใช้บังคับได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7844/2557  โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ต่างเป็นทายาทโดยธรรมของ พ. เจ้ามรดกลำดับเดียวกัน ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากัน ทั้งมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกันจนกว่าจะแบ่งมรดกแล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวจากจำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกระทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวซึ่งไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่บังคับตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1755
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2551  เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ถือว่าผู้จัดการมรดกเป็นผู้ถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน และมีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 หากผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยมิชอบขัดต่อกฎหมายและถึงแก่ความตายก่อนจัดการมรดกเสร็จสิ้น ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของทายาทย่อมฟ้องผู้จัดการมรดกที่ศาลแต่งตั้งขึ้นใหม่ให้จัดการแก้ไขแบ่งทรัพย์มรดกให้ถูกต้องได้ภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคท้าย
          ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกแก่ทายาทหลังเจ้ามรดกตายเกินกว่า 1 ปี การฟ้องขอเพิกถอนการโอนทรัพย์มรดกดังกล่าว จึงนำอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาใช้ไม่ได้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย



          การจัดการมรดกถือว่าเสร็จสิ้นเมื่อใด ?


          ถ้าผู้จัดการมรดกได้รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันให้ทายาท เมื่อยังไม่ได้แบ่งให้ทายาท การจัดการมรดกก็ยังไม่เสร็จสิ้น อายุความก็ยังไม่เริ่มนับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14882/2558  การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพียงอย่างเดียวของเจ้ามรดกมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองด้วย แม้หลังจากนั้นจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว ก็จะถือว่าจำเลยในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินพิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวหาได้ไม่ เพราะจำเลยยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือตามที่ทายาทตกลงกัน ก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น จึงจะนำอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16430/2557   อ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับและถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาท โดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และ พ. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 และมาตรา 1384
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย อ.ต้องแบ่งเงินและหุ้นให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า เดิมบิดามารดาของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 นาย พ. นาย อ. และจำเลย ประกอบธุรกิจแบบกงสี ตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ย. ค้าขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า จำเลยเป็นพี่ชายคนโตช่วยบิดามารดาดำเนินธุรกิจ ส่วนโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 นาย พ. และนาย อ. ยังเรียนหนังสือ ต่อมาบิดาจำเลยกับจำเลยก่อตั้งบริษัทขึ้นอีก 4 แห่ง โดยบิดาจำเลยเป็นผู้บริหาร จำเลยเป็นผู้ช่วย แสดงว่าธุรกิจของบริษัททั้งสี่แห่งที่ตั้งขึ้นใหม่ยังคงดำเนินกิจการแบบกงสี คือเป็นธุรกิจของครอบครัว สมาชิกในครอบครัวช่วยกันดำเนินกิจการ ต่อมาเมื่อบิดาและมารดาถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีการจัดการมรดกหรือแบ่งทรัพย์มรดกกันอย่างไร กลับปรากฏว่ายังปรากฏชื่อบุตรทุกคน คือโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 นาย พ. นาย อ. และจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นทุกบริษัท แสดงว่าบริษัททั้งสี่แห่งยังเป็นกิจการของครอบครัว สมาชิกทุกคนในครอบครัวมีส่วนเป็นเจ้าของและร่วมดำเนินกิจการ ที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้ลงทุนจ่ายค่าหุ้นแทนน้องๆ ก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดและน่าเชื่อว่าเมื่อโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 นาย พ. และนาย อ. เติบโตขึ้นได้เข้ามาช่วยดูแลกิจการของครอบครัวด้วย กระทั่งเห็นว่าจำเลยบริหารกิจการไม่โปร่งใส่ จึงร่วมกันถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนบริษัท ทำให้เกิดข้อพิพาทกันต่อมาอีกหลายคดี ดังนั้น เมื่อมีการขายหุ้นของกลุ่มครอบครัวโจทก์จำเลยในบริษัท เอ.พี. เนชั่นแนล อีเลคทริค จำกัด แก่ผู้ร่วมลงทุนชาวญี่ปุ่น แม้จำเลยได้รับมอบอำนาจให้ไปเจรจาขายหุ้นก็เป็นการกระทำแทนโจทก์ที่ 1 ที่ 3 นาย พ. และนาย อ. ด้วย เงินที่ผู้ร่วมลงทุนชาวญี่ปุ่นชำระค่าหุ้นย่อมตกเป็นของสมาชิกในครอบครัวทุกคนที่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวตามสัดส่วนจำนวนหุ้น โดยนาย อ. ถือหุ้น 10 หุ้น เท่ากับโจทก์ที่ 1 ที่ 3 นาย พ.  จำเลยและนาย ป. ซึ่งส่วนแบ่งที่ผู้ถือหุ้นกลุ่มครอบครัวได้รับต้องคำนวณจากจำนวนเงินราคาที่ผู้ร่วมลงทุนชาวญี่ปุ่นชำระ ไม่ใช่คำนวณจากมูลค่าหุ้นดังจำเลยอ้าง ต่อมาเมื่อนาย อ. ถึงแก่ความตาย ส่วนแบ่งของนาย อ. ย่อมตกเป็นมรดกแก่ทายาท จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย อ. มีหน้าที่ต้องแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท นาย อ. ไม่มีบุตรภริยา และบิดามารดาถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ทายาทของนาย อ. ได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของนาย อ. คือเงินและหุ้นให้แก่โจทก์ทั้งสี่จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า คดีของโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า นาย อ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับและถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย อ. ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาท โดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และนาย พ. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 และมาตรา 1384 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13705/2557  ร. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฟ. จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะส่วนตัว โดยไม่ปรากฏว่า ร. ได้บอกกล่าวทายาทของ ฟ. ทุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวโดยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ย่อมถือได้ว่า ร. ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ฟ. แทนทายาทอื่นและเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกจนกระทั่ง ร. ถึงแก่ความตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาจาก ร. ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ฟ. เช่นเดียวกัน ประกอบกับที่ดินของ ฟ. อีกแปลงหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าได้มีการแบ่งปันแก่ทายาทแล้ว แสดงว่าทรัพย์มรดกของ ฟ. ยังจะต้องมีการแบ่งปันแก่ทายาท การจัดการมรดกของ ฟ. ยังไม่เสร็จสิ้น อายุความที่ห้ามมิให้ทายาทฟ้องภายในห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงจึงยังไม่เริ่มนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิติดตามเอาที่ดินพิพาทคืนเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทได้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8985/2557  ในการวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง นั้น จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติเสียก่อนว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ และเสร็จสิ้นลงเมื่อใด เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การว่าได้เรียกประชุมทายาทเพื่อจัดการมรดกและทายาทตกลงกันว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้แก่บริษัท ท. ทั้งหมด โดยทายาทอื่นไม่ต้องรับผิดชอบ และต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากบริษัท ท. และจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกแล้ว อันเป็นการให้การต่อสู้ว่าโจทก์ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่โจทก์และทายาทอื่นได้ตกลงกันไว้ ซึ่งหากเป็นความจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ก็ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองทรัพย์มรดกและโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ยุติเสียก่อนว่า ได้มีการตกลงกันเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะหากไม่มีการตกลงกันดังกล่าวไว้ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินอันเป็นมรดกมาเป็นของตัวเองและจำเลยที่ 2 และโอนไปยังจำเลยที่ 3 นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบ การครอบครองที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกจึงถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นและถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นด่วนงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามกับจำเลยร่วมทั้งสิบเอ็ด และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดอายุความตามมาตรา 1754 และพิพากษายกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4264/2557  โจทก์ฟ้องว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ปรากฏว่านับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 13 ปี จำเลยมิได้ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมและทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมรวมทั้งดอกผลของทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และทายาททั้งหมด โจทก์เคยบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามคำขอท้ายฟ้องให้โจทก์ จำเลยให้การว่า ที่ดินและตึกแถวอันเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โจทก์ จำเลย และทายาทของ ส. ทุกคนได้ประชุมตกลงทำสัญญาแบ่งปันมรดกกันเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2536 หลังทำสัญญาดังกล่าว โจทก์และทายาทคนอื่นไม่สนใจเข้าไปครอบครองดูแลทรัพย์มรดกในส่วนของตน จำเลยจึงเข้าครอบครองเพื่อตนเองต่อเนื่องตลอดมาถึงปัจจุบัน สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงตกแก่จำเลยโดยสมบูรณ์ โจทก์เสียสิทธิในการรับทรัพย์มรดกทั้งหมดของ ส. โดยอายุความแล้ว แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ยังมิได้ดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้รับมรดก ถือว่าการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

          แม้ผู้จัดการมรดกจะจัดการโอนทรัพย์มรดกไปจนหมดสิ้นแล้ว แต่ถ้าการจัดการมรดกนั้นเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ถือว่าการจัดการมรดกนั้นยังไม่สิ้นสุด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2729/2565 คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับแห่งอายุความฟ้องร้องคนละมาตรา โดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1754 วรรคสี่ เมื่อโจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่ของมารดาในทรัพย์มรดกของ ส. ที่ พ. ปกปิดความเป็นทายาทของมารดาโจทก์ และ พ. ไม่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมาย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การตั้งผู้จัดการมรดกมีการปกปิดทายาท การแบ่งทรัพย์มรดกเป็นไปในทางที่ไม่สุจริต การโอนทรัพย์มรดกให้กับตนเองเพียงคนเดียวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โดยไม่มีการแจ้งให้ทายาททราบ เมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ชอบจึงไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว กรณีต้องถือว่า พ. ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน ตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลง จะนำอายุความห้าปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง และอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง หรือพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามวรรคสี่มาใช้บังคับไม่ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะโอนเกินกว่าห้าปีและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

          ผู้จัดการมรดกทำหนังสือให้โจทก์ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้เยาว์สละมรดกโดยไม่ได้รับความยินยอมของมารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ และไม่ได้รับอนุญาตจากศาล อันเป็นการมิชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1611 แม้จะโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกให้ผู้อื่น ก็ไม่มีผลผูกพันโจทก์ และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4172/2565 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำหนังสือให้โจทก์ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้เยาว์สละมรดกของ ต. โดยไม่ได้รับความยินยอมของ ม. มารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ และไม่ได้รับอนุญาตจากศาล อันเป็นการมิชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1611 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดการแบ่งมรดกโดยโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งการจัดการมรดกดังกล่าวเป็นการจัดการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

          แต่การที่ทายาทใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ไม่ใช่การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 5 ปี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13689/2556  โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายฟ้องขอให้เพิกถอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งกระทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้ตายและตกเป็นของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ไม่ใช่การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และไม่ใช่การฟ้องคดีละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว
          จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นและโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
          จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะกรณีไม่ต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพิพาทได้