17 ก.ย. 2557

กรณีผู้ครองครองแทนได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ โดยแสดงเจตนาว่าจะไม่ยึดถือแทนผู้ครอบครองอีกต่อไปหรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์    
          
          มาตรา 1381  "บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก"     
          มาตรา 1375  "ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้   
          การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง"
           
          การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินนั้น  ก็โดยการที่บุคคลใดเข้ายึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ซึ่งการเข้ายึดถือทรัพย์สินหรือที่ดินแปลงใด ก็อาจทำได้โดยผู้มีสิทธิครอบครองเดิมสละการครอบครองให้ หรือโดยการแย่งการครอบครอง

          ผู้ครอบครองแทนได้ฟ้องต่อศาลขอให้บังคับโจทก์โอนที่ดินพิพาทให้ตนเอง ดังนี้ ถือได้ว่าผู้ครอบครองแทนได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทโดยบอกกล่าวแสดงเจตนาไปยังโจทก์ว่าจะไม่ยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3307/2543  โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันเมื่อปี 2530 ซึ่งขณะนั้นที่ดินพิพาทอยู่ในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายภายในกำหนด 10 ปี การซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 113 (เดิม) เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ทางราชการจัดให้ราษฎรทำกินจึงปกป้องราษฎรให้มีที่ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวซึ่งทางราชการได้ควบคุมที่ดินนั้นอยู่ ยังไม่ปล่อยเป็นสิทธิเด็ดขาดแก่ผู้ครอบครองจนกว่าจะพ้นกำหนดระยะเวลาที่มีข้อกำหนดห้ามโอน ดังนั้น โจทก์จะสละหรือโอนการครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ ศาลจึงยกบทบัญญัติมาตรา 411 แห่ง ป.พ.พ. ขึ้นปรับแก่คดีนี้ไม่ได้
          นับแต่โจทก์และจำเลยที่ 1 ซื้อขายที่ดินพิพาทกันตั้งแต่ปี 2530 จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนปัจจุบัน แม้จะถือว่าในระหว่างระยะเวลาที่มีข้อกำหนดห้ามโอน จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ก็ตามแต่ในปี 2533 ซึ่งเป็นระยะเวลาพ้นกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องต่อศาลขอให้บังคับโจทก์โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทโดยบอกกล่าวแสดงเจตนาไปยังโจทก์ว่าจะไม่ยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป อันเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2539 จึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เอาคืนซึ่งการครอบครอง     
                   
          ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันแล้วต่อมาเมื่อผู้ซื้อชำระเงินดาวน์งวดสุดท้ายได้แสดงเจตนาจะให้ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้ แต่ผู้ขายยังไม่สามารถดำเนินการให้ได้เพราะที่ดินพิพาทยังติดจำนองกับธนาคาร พฤติการณ์ของผู้ซื้อที่เรียกร้องให้ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าวของผู้ซื้อ โดยผู้ขายได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าผู้ซื้อมิได้มีเจตนาจะยึดถือที่ดินและบ้านแทนผู้ขายอีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16513/2555  จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินกับโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินดาวน์งวดสุดท้ายแล้วได้แสดงเจตนาที่จะให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้ แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากโจทก์นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร อ. จึงได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2526 ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่เรียกร้องให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและการยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะยึดถือที่ดินและบ้านแทนโจทก์อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ดังนี้ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงเจตนายึดถือเพื่อตน เมื่อนับถึงวันฟ้อง เป็นเวลาติดต่อกันเกิน 10 ปี จำเลยทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

          จำเลยทั้งสองได้ทำรั้วลวดหนามอ้างว่าทำขึ้นทดแทนรั้วเดิมซึ่งทรุดโทรมไปแล้วและโจทก์เห็นว่ารั้วดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จึงมีการเจรจากับจำเลยทั้งสองให้รื้อรั้วออกไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอม ต่อมาโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้บอกกล่าวไปยังโจทก์แล้วว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตนเองซึ่งเข้าลักษณะแย่งการครอบครอง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5697/2553  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป และมาตรา 1375 วรรคสอง การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ในกรณีเช่นนี้จะถือว่าจำเลยทั้งสองได้แย่งการครอบครองก็ต่อเมื่อได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ผู้ครอบครองว่า ตนไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป ดังนั้น การที่ก่อนปี 2539 ระหว่างแนวเขตที่ดินพิพาทมีการปลูกต้นยูคาลิปตัสและนาย จ. บอกฝ่ายจำเลยให้รื้อถอนต้นยูคาลิปตัสกับรั้วลวดหนามออก ไม่ใช่การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยังโจทก์ จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครอง แต่เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 จำเลยทั้งสองได้ทำรั้วลวดหนามอ้างว่าทำขึ้นทดแทนรั้วเดิมซึ่งทรุดโทรมไปแล้วและโจทก์เห็นว่ารั้วดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จึงมีการเจรจากับจำเลยทั้งสองให้รื้อรั้วออกไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอม ต่อมาโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 แล้วว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตนเองซึ่งเข้าลักษณะแย่งการครอบครอง เมื่อโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 จึงเป็นการฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์

          จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินให้บิดามารดาโจทก์โดยแจ้งว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังพร้อมส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้เข้าครอบครอง แต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นโมฆะ บิดามารดาโจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองแทนจำเลยจนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือจนกว่าจำเลยจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1379

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2552  จำเลยขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ อ. และ ล. บิดามารดาโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะจำเลยแจ้งว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลัง แต่ทำสัญญาซื้อขายไว้พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้เข้าครอบครองอย่างเจ้าของ ข้อที่ว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังมีลักษณะเป็นการไถ่ทรัพย์คืนเช่นสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่านิติกรรมขายฝากทำผิดแบบตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
          การที่ อ. และ ล. เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองแทนจำเลย แม้ต่อมา อ. ถึงแก่ความตายและ ล. มอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ต้องถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยจนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือจนกว่าจำเลยจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1379 ที่โจทก์เบิกความว่า ฝ่ายโจทก์ไปหาจำเลยเพื่อให้โอนเปลี่ยนชื่อจำเลยเป็นชื่อโจทก์ 3 ครั้ง แต่จำเลยไม่ยินยอม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 ข้างต้น แต่กลับเป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1379 ดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยย่อมมีสิทธินำไปขอเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน
          เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทได้เปลี่ยนจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นโฉนดที่ดินแล้วจำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ก็แต่โดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าหลังจากที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดและโจทก์ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องโจทก์ยังครอบครองที่ดินพิพาทไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

          การครอบครองที่ดินที่ขายฝากแล้วไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ถือว่าผู้ขายฝากครอบครองแทนเจ้าของซึ่งเป็นผู้ซื้อ 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3315/2552  ค. บิดาโจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 139 ซึ่งรวมที่ดินพิพาทด้วยแก่ บ. ภริยาจำเลยแล้วไม่ไถ่คืนภายในกำหนด สิทธิในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของ บ. แม้ ค. ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาเป็นเวลานานเพียงใดก็เป็นการครอบครองแทนและโดยอาศัยสิทธิของ บ. หาได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไม่ และหลังจาก ค. ถึงแก่ความตาย โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ค. แล้ว โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ค. จึงไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร และโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง การครอบครองและรับโอนที่ดินพิพาทเป็นการสืบสิทธิของ ค. โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า ค.ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยัง บ. หรือจำเลยผู้ครอบครองว่าโจทก์ไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แต่อย่างใด แม้โจทก์จะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเป็นเวลานานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง

          เข้าอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่า การครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนดโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าใหม่และไม่ชำระค่าเช่า ถือไม่ได้ว่าผู้เช่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากยึดถือแทนเป็นยึดถือเพื่อตน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10255/2551  จำเลยเข้าอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าจาก ฮ. การที่จำเลยครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนดโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าใหม่และไม่ชำระค่าเช่า ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากยึดถือแทนเป็นยึดถือเพื่อตน จำเลยจึงเป็นผู้ยึดถือทรัพย์สินในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง จำเลยจะต้องบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนอีกต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าไม่มีเจตนายึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

          เข้าครอบครองที่ดินโดยเจ้าของรวมคนหนึ่งอนุญาต ถือว่าเป็นการครอบครองแทนเจ้าของ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035/2551  จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดย จ. และเจ้าของรวมคนอื่นให้จำเลยอยู่อาศัย เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนเจ้าของ จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำเลยเพิ่งมาโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทภายหลังจากที่มีการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินและโจทก์ให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินพิพาท นับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

          ปลูกบ้านในที่ดินโดยอาศัยสิทธิของบิดา เมื่อบิดาอยู่อาศัยในที่ดินโดยอาศัยสิทธิผู้อื่น ตนเองย่อมจึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้อาศัยเช่นเดียวกับบิดา ถือว่าครอบครองที่ดินแทนเจ้าของเดิม

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7721/2550  พ. ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทโดยขออาศัยสิทธิของ ส. จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทสืบต่อจาก พ. จึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้อาศัยเช่นเดียวกับ พ. แม้โจทก์จะมิได้ห้ามปรามขณะจำเลยปลูกบ้านหลังใหม่แทนบ้านหลังเดิมของ พ. ก็หาทำให้ฐานะของจำเลยที่เป็นเพียงผู้อาศัยเปลี่ยนแปลงไปไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าจำเลยครอบครองที่ดินอย่างเป็นเจ้าของ และไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ขึ้นยันโจทก์ได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 130 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีเนื้อที่ 3 ไร่ 8 ตารางวา และมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนาง ล. นาง ส. และนาง บ. โดยโจทก์จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินเฉพาะส่วนมาจากนาย ส. บิดาโจทก์เมื่อปี 2514 ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ที่ดินส่วนที่นาง ล. และนาง ส. ครอบครองอยู่ทางด้านทิศเหนือ ส่วนของโจทก์อยู่ตรงกลาง และส่วนของนาง บ. อยู่ทางด้านทิศใต้ตามแผนที่วิวาท เดิมนาย พ. บิดาจำเลยปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทตามแนวเส้นสีเขียวในแผนที่วิวาทดังกล่าว หลังจากนาย พ. ถึงแก่ความตายจำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยปลูกบ้านใหม่ขึ้น 1 หลัง คือบ้านเลขที่ 35/2 หมู่ที่ 5 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ตามสำเนาทะเบียนบ้านและภาพถ่ายบ้าน ส่วนบ้านหลังเดิมจำเลยรื้อถอนออกไป คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนที่ดิน โจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว และจะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ทางนำสืบจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน กับมีนาง ศ. นาง ม. นาง ย. นาง ง. และนาย น. เบิกความทำนองเดียวกันว่า นาย พ.บิดาจำเลยเข้าปลูกบ้านในที่ดินพิพาทโดยซื้อที่ดินพิพาทมาจากนาย ส. บิดาโจทก์ แต่พยานจำเลยดังกล่าวคงมีจำเลยเพียงปากเดียวที่อ้างว่ารู้เห็นขณะนาย พ. กับบิดาโจทก์ซื้อขายที่ดินพิพาทกัน โดยจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า นอกจากจำเลยเลยแล้วไม่มีบุคคลอื่นรู้เห็นอีก พยานจำเลยปากอื่นจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ จำเลยกับนาง ศ.พี่สาวจำเลยซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดและน่าจะทราบความเป็นมาของที่ดินพิพาทได้ดียังเบิกความขัดแย้งกันอย่างเป็นพิรุธ จำเลยเบิกความว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนาย พ. กับบิดาโจทก์ไม่มีการทำหลักฐานเป็นหนังสือ แต่นาง ศ. กลับเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า มีหลักฐานเป็นหนังสือ ที่จำเลยอ้างว่าบ้านหลังใหม่ของจำเลยมีสภาพมั่นคงแข็งแรง และจำเลยมีสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ขอเลขบ้านสำหรับบ้านที่ปลูกใหม่ต่อทางราชการด้วยนั้น ก็ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่าบ้านหลังเดิมของนาย พ. ที่จำเลยรื้อถอนออกไปมีสภาพเป็นอย่างไร ทั้งจำเลยมิได้นำสืบให้ปรากฏว่านาย พ. ได้ขอเลขบ้านไว้ การที่จำเลยปลูกบ้านหลังใหม่แทนหลังเดิมกลับทำให้เห็นว่าบ้านหลังเดิมที่นาย พ. เป็นผู้ปลูกน่าจะมีสภาพที่ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยนัก แนวกั้นเขตที่ดินพิพาทจะมีมาแต่เดิมอย่างไรหรือไม่ จำเลยซึ่งน่าจะทราบเรื่องดีที่สุดก็มิได้เบิกความถึง แต่ในข้อนี้โจทก์มีนาย อ. และนาง ล.ซึ่งมีบ้านและครอบครองที่ดินติดที่พิพาทเป็นพยานเบิกความว่า ต้นมะขามที่ปลูกเป็นแนวด้านทิศตะวันตกของที่ดินพิพาทนาย อ. เป็นผู้ปลูก ส่วนแนวรั้วสังกะสีด้านทิศเหนือของที่ดินพิพาทนาง ล. เพิ่งทำขึ้นภายหลังซึ่งตามภาพถ่ายบ้านปรากฏว่ามีรั้วสังกะสีอยู่จริง จำเลยยังเบิกความยอมรับว่านาย พ. เคยอาศัยอยู่ในที่ดินของกำนัน ช. มาก่อน และได้ความจากนาย น. พยานจำเลยที่เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านต่อไปว่า นาย พ. ย้ายมาอยู่ในที่ดินพิพาทเนื่องจากกำนัน ช. ต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินของตน พฤติการณ์จึงน่าเชื่อว่า นาย พ. มีเหตุจำเป็นที่ต้องมาขออาศัยบิดาโจทก์ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาท ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้นายทองหล่อพยานโจทก์ก็เบิกความทำนองเดียวกันและยืนยันว่านายเพลมาขออาศัยนายสุขปลูกบ้านนาย ท. มีบ้านอยู่ใกล้ที่ดินพิพาท ทั้งได้ความว่านาย ท. ได้ช่วยนาย พ. ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทด้วย พยานโจทก์ปากนี้จึงน่าจะทราบได้ดีว่าสิทธิของนาย พ. มีอยู่หรือไม่เพียงใด ดังนี้ จึงเห็นว่า พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมายังไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่เป็นคุณอยู่แก่โจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า นาย พ. ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทโดยขออาศัยสิทธิของบิดาโจทก์ จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทสืบต่อจากนาย พ. จึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้อาศัยเช่นเดียวกับนาย พ. แม้โจทก์จะมิได้ห้ามปรามขณะจำเลยปลูกบ้านหลังใหม่แทนบ้านหลังเดิมของนาย พ. ก็หาทำให้ฐานะของจำเลยที่เป็นเพียงผู้อาศัยเปลี่ยนแปลงไปไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าจำเลยครอบครองที่ดินอย่างเป็นเจ้าของ และไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ขึ้นยันโจทก์ได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ฎีกาของจำเลยในข้ออื่นที่ว่าโจทก์ยอมขายที่ดินบางส่วนให้แก่นาย อ. แต่ไม่ยอมขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ไม่เป็นสาระที่จะทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”