27 ก.พ. 2567

อายุความคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก

          ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง"

          คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก คือ คดีที่เกี่ยวกับกรณีพิพาทในเรื่องการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกนั้นไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างไร โดยมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นลง

          คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก เป็นคดีที่ฟ้องผู้จัดการมรดกว่าจัดการมรดกโดยไม่ชอบมีอายุความ 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นลงตามมาตรา 1733 วรรคสอง แต่ถ้าเป็นการฟ้องให้แบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก แต่เป็นคดีมรดก มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันได้รู้หรือควรได้รู้ความตายของเจ้ามรดก ตามป.พ.พ.มาตรา 1754
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6797/2543  โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ป. ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยไม่แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาท สำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก เมื่อทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินสองแปลง จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไปแล้วถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว โจทก์มาฟ้องเกินกว่า 5 ปีคดีย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตร ป. เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกย่อมมีความชอบธรรมที่จะรับไว้และครอบครองทรัพย์มรดกได้ด้วยอำนาจของตนไม่เข้าข่ายการปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดกและไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อรับเอาทรัพย์มรดก จึงเป็นคดีมรดกมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 โจทก์ฟ้องเกินกว่า 1 ปี จึงขาดอายุความ
          คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับแห่งอายุความฟ้องร้องคนละมาตรา โดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1754 วรรคสี่ เมื่อโจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่ของมารดาในทรัพย์มรดกของ ส. ที่ พ. ปกปิดความเป็นทายาทของมารดาโจทก์ และ พ. ไม่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมาย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การตั้งผู้จัดการมรดกมีการปกปิดทายาท การแบ่งทรัพย์มรดกเป็นไปในทางที่ไม่สุจริต การโอนทรัพย์มรดกให้กับตนเองเพียงคนเดียวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โดยไม่มีการแจ้งให้ทายาททราบ เมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ชอบจึงไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว กรณีต้องถือว่า พ. ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน ตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงจะนำอายุความห้าปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง และอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง หรือพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามวรรคสี่มาใช้บังคับไม่ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะโอนเกินกว่าห้าปีและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558  คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับการฟ้องร้องคนละมาตรา อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่ผู้จัดการมรดกแต่เป็นทายาทและถูกโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ย่อมเป็นคดีมรดก อันมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วย ก็หาอาจทำให้สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกของโจทก์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทกลับเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ไม่
          ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ" มาตรา 193/14 บัญญัติว่า "อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)...กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง..." และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ" วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น" โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14
          แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9745/2558  โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. และ ส. เจ้ามรดก ฟ้องเรียกเอาคืนทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 18 แปลง ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยทั้งสี่โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทจำนวน 8 แปลง จำเลยที่ 1 ได้รับโอนมาจากเจ้ามรดกทั้งสองก่อนที่เจ้ามรดกทั้งสองจะถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง สำหรับที่ดินพิพาทส่วนที่เหลืออีก 10 แปลง จำเลยที่ 1 ได้รับโอนมาจาก ว. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. โดยชอบ และได้ครอบครองเพื่อตนเองมาโดยตลอด โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่เจ้ามรดกทั้งสองถึงแก่ความตาย คดีจึงขาดอายุความ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า ที่ดินพิพาทจำนวน 8 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองหรือไม่ และ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกคนก่อนของ ส. โอนที่ดินพิพาทจำนวน 10 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวให้ชัดแจ้งเสียก่อนแต่กลับไปวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งคดีนี้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องเรียกเอาทรัพย์คืนและขอให้เพิกถอนนิติกรรมจากผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ได้มาโดยมิชอบอันเนื่องมาจากการจัดการทรัพย์มรดกที่ยังไม่สิ้นสุดลงซึ่งมีอายุความกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง จึงไม่อาจนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นอายุความเกี่ยวกับการฟ้องคดีมรดกระหว่างทายาทมาปรับใช้บังคับได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7844/2557  โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ต่างเป็นทายาทโดยธรรมของ พ. เจ้ามรดกลำดับเดียวกัน ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากัน ทั้งมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกันจนกว่าจะแบ่งมรดกแล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวจากจำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกระทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวซึ่งไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่บังคับตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1755
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2551  เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ถือว่าผู้จัดการมรดกเป็นผู้ถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน และมีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 หากผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยมิชอบขัดต่อกฎหมายและถึงแก่ความตายก่อนจัดการมรดกเสร็จสิ้น ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของทายาทย่อมฟ้องผู้จัดการมรดกที่ศาลแต่งตั้งขึ้นใหม่ให้จัดการแก้ไขแบ่งทรัพย์มรดกให้ถูกต้องได้ภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคท้าย
          ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกแก่ทายาทหลังเจ้ามรดกตายเกินกว่า 1 ปี การฟ้องขอเพิกถอนการโอนทรัพย์มรดกดังกล่าว จึงนำอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาใช้ไม่ได้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย



          การจัดการมรดกถือว่าเสร็จสิ้นเมื่อใด ?


          ถ้าผู้จัดการมรดกได้รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันให้ทายาท เมื่อยังไม่ได้แบ่งให้ทายาท การจัดการมรดกก็ยังไม่เสร็จสิ้น อายุความก็ยังไม่เริ่มนับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14882/2558  การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพียงอย่างเดียวของเจ้ามรดกมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองด้วย แม้หลังจากนั้นจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว ก็จะถือว่าจำเลยในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินพิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวหาได้ไม่ เพราะจำเลยยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือตามที่ทายาทตกลงกัน ก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น จึงจะนำอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16430/2557   อ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับและถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาท โดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และ พ. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 และมาตรา 1384
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย อ.ต้องแบ่งเงินและหุ้นให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า เดิมบิดามารดาของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 นาย พ. นาย อ. และจำเลย ประกอบธุรกิจแบบกงสี ตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ย. ค้าขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า จำเลยเป็นพี่ชายคนโตช่วยบิดามารดาดำเนินธุรกิจ ส่วนโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 นาย พ. และนาย อ. ยังเรียนหนังสือ ต่อมาบิดาจำเลยกับจำเลยก่อตั้งบริษัทขึ้นอีก 4 แห่ง โดยบิดาจำเลยเป็นผู้บริหาร จำเลยเป็นผู้ช่วย แสดงว่าธุรกิจของบริษัททั้งสี่แห่งที่ตั้งขึ้นใหม่ยังคงดำเนินกิจการแบบกงสี คือเป็นธุรกิจของครอบครัว สมาชิกในครอบครัวช่วยกันดำเนินกิจการ ต่อมาเมื่อบิดาและมารดาถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีการจัดการมรดกหรือแบ่งทรัพย์มรดกกันอย่างไร กลับปรากฏว่ายังปรากฏชื่อบุตรทุกคน คือโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 นาย พ. นาย อ. และจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นทุกบริษัท แสดงว่าบริษัททั้งสี่แห่งยังเป็นกิจการของครอบครัว สมาชิกทุกคนในครอบครัวมีส่วนเป็นเจ้าของและร่วมดำเนินกิจการ ที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้ลงทุนจ่ายค่าหุ้นแทนน้องๆ ก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดและน่าเชื่อว่าเมื่อโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 นาย พ. และนาย อ. เติบโตขึ้นได้เข้ามาช่วยดูแลกิจการของครอบครัวด้วย กระทั่งเห็นว่าจำเลยบริหารกิจการไม่โปร่งใส่ จึงร่วมกันถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนบริษัท ทำให้เกิดข้อพิพาทกันต่อมาอีกหลายคดี ดังนั้น เมื่อมีการขายหุ้นของกลุ่มครอบครัวโจทก์จำเลยในบริษัท เอ.พี. เนชั่นแนล อีเลคทริค จำกัด แก่ผู้ร่วมลงทุนชาวญี่ปุ่น แม้จำเลยได้รับมอบอำนาจให้ไปเจรจาขายหุ้นก็เป็นการกระทำแทนโจทก์ที่ 1 ที่ 3 นาย พ. และนาย อ. ด้วย เงินที่ผู้ร่วมลงทุนชาวญี่ปุ่นชำระค่าหุ้นย่อมตกเป็นของสมาชิกในครอบครัวทุกคนที่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวตามสัดส่วนจำนวนหุ้น โดยนาย อ. ถือหุ้น 10 หุ้น เท่ากับโจทก์ที่ 1 ที่ 3 นาย พ.  จำเลยและนาย ป. ซึ่งส่วนแบ่งที่ผู้ถือหุ้นกลุ่มครอบครัวได้รับต้องคำนวณจากจำนวนเงินราคาที่ผู้ร่วมลงทุนชาวญี่ปุ่นชำระ ไม่ใช่คำนวณจากมูลค่าหุ้นดังจำเลยอ้าง ต่อมาเมื่อนาย อ. ถึงแก่ความตาย ส่วนแบ่งของนาย อ. ย่อมตกเป็นมรดกแก่ทายาท จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย อ. มีหน้าที่ต้องแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท นาย อ. ไม่มีบุตรภริยา และบิดามารดาถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ทายาทของนาย อ. ได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของนาย อ. คือเงินและหุ้นให้แก่โจทก์ทั้งสี่จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า คดีของโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า นาย อ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับและถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย อ. ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาท โดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และนาย พ. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 และมาตรา 1384 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13705/2557  ร. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฟ. จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะส่วนตัว โดยไม่ปรากฏว่า ร. ได้บอกกล่าวทายาทของ ฟ. ทุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวโดยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ย่อมถือได้ว่า ร. ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ฟ. แทนทายาทอื่นและเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกจนกระทั่ง ร. ถึงแก่ความตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาจาก ร. ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ฟ. เช่นเดียวกัน ประกอบกับที่ดินของ ฟ. อีกแปลงหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าได้มีการแบ่งปันแก่ทายาทแล้ว แสดงว่าทรัพย์มรดกของ ฟ. ยังจะต้องมีการแบ่งปันแก่ทายาท การจัดการมรดกของ ฟ. ยังไม่เสร็จสิ้น อายุความที่ห้ามมิให้ทายาทฟ้องภายในห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงจึงยังไม่เริ่มนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิติดตามเอาที่ดินพิพาทคืนเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทได้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8985/2557  ในการวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง นั้น จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติเสียก่อนว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ และเสร็จสิ้นลงเมื่อใด เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การว่าได้เรียกประชุมทายาทเพื่อจัดการมรดกและทายาทตกลงกันว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้แก่บริษัท ท. ทั้งหมด โดยทายาทอื่นไม่ต้องรับผิดชอบ และต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากบริษัท ท. และจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกแล้ว อันเป็นการให้การต่อสู้ว่าโจทก์ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่โจทก์และทายาทอื่นได้ตกลงกันไว้ ซึ่งหากเป็นความจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ก็ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองทรัพย์มรดกและโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ยุติเสียก่อนว่า ได้มีการตกลงกันเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะหากไม่มีการตกลงกันดังกล่าวไว้ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินอันเป็นมรดกมาเป็นของตัวเองและจำเลยที่ 2 และโอนไปยังจำเลยที่ 3 นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบ การครอบครองที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกจึงถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นและถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นด่วนงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามกับจำเลยร่วมทั้งสิบเอ็ด และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดอายุความตามมาตรา 1754 และพิพากษายกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4264/2557  โจทก์ฟ้องว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ปรากฏว่านับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 13 ปี จำเลยมิได้ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมและทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมรวมทั้งดอกผลของทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และทายาททั้งหมด โจทก์เคยบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามคำขอท้ายฟ้องให้โจทก์ จำเลยให้การว่า ที่ดินและตึกแถวอันเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โจทก์ จำเลย และทายาทของ ส. ทุกคนได้ประชุมตกลงทำสัญญาแบ่งปันมรดกกันเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2536 หลังทำสัญญาดังกล่าว โจทก์และทายาทคนอื่นไม่สนใจเข้าไปครอบครองดูแลทรัพย์มรดกในส่วนของตน จำเลยจึงเข้าครอบครองเพื่อตนเองต่อเนื่องตลอดมาถึงปัจจุบัน สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงตกแก่จำเลยโดยสมบูรณ์ โจทก์เสียสิทธิในการรับทรัพย์มรดกทั้งหมดของ ส. โดยอายุความแล้ว แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ยังมิได้ดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้รับมรดก ถือว่าการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

          แต่การที่ทายาทใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ไม่ใช่การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 5 ปี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13689/2556  โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายฟ้องขอให้เพิกถอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งกระทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้ตายและตกเป็นของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ไม่ใช่การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และไม่ใช่การฟ้องคดีละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว
          จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นและโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
          จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะกรณีไม่ต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพิพาทได้