16 ตุลาคม 2567

ความผิดฐานฟอกเงิน

          องค์ประกอบความผิดและความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน

          พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
          มาตรา 5  "ผู้ใด
          (1) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ
          (2) กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
          (3) ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะที่ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สินนั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
          ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน"

          มาตรา 3 "ในพระราชบัญญัตินี้
          “ความผิดมูลฐาน” หมายความว่า
          (1) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
          (2) ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับเพศ เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไป พาไป หรือรับไว้เพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น หรือความผิดฐานพรากเด็กและผู้เยาว์ เฉพาะที่เกี่ยวกับการกระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่ออนาจาร หรือโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กหรือผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากนั้น หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี หรือที่เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการค้าประเวณี หรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี
          (3) ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
          (4) ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งกระทำโดยกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของสถาบันการเงินนั้น
          (5) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
          (6) ความผิดเกี่ยวกับการกรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ที่กระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่ หรือซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา
          (7) ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
          (8) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
          (9) ความผิดเกี่ยวกับการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน เฉพาะความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป หรือเป็นการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์
          (10) ความผิดเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมที่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิด
          (11) ความผิดเกี่ยวกับการรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการช่วยจำหน่าย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้า
          (12) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมหรือการแปลงเงินตรา ดวงตรา แสตมป์ และตั๋วตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นการค้า
          (13) ความผิดเกี่ยวกับการค้าตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะที่เกี่ยวกับการปลอม หรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า หรือความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอันมีลักษณะเป็นการค้า
          (14) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือหนังสือเดินทางตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระหรือเพื่อการค้า
          (15) ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า
          (16) ความผิดเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้ได้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน
          (17) ความผิดเกี่ยวกับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะกรณีเพื่อเรียกหรือรับผลประโยชน์หรือเพื่อต่อรองให้ได้รับผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง
          (18) ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ
          (19) ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นโจรสลัดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด
          (20) ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมที่มีผลกระทบต่อราคาการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าหรือเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
          (21) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน เฉพาะที่เป็นการค้าอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด และความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์เฉพาะที่เป็นการค้ายุทธภัณฑ์เพื่อนำไปใช้ในการก่อการร้าย การรบ หรือการสงคราม"
          ความผิดมูลฐานตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการกระทำความผิดอาญานอกราชอาณาจักร ซึ่งหากการกระทำความผิดนั้นได้กระทำลงในราชอาณาจักรจะเป็นความผิดมูลฐานด้วย

           "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หมายความว่า
          (1เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินและให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน
          (2) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ
          (3) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2)
          ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินตาม (1) (2) หรือ (3) จะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้งและไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด

          ***การกระทำความผิดฐานฟอกเงิน จะต้องเป็นการกระทำที่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 5 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดมูลฐาน (1)-(21) ตามมาตรา 3




           คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

          เงินของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และไม่อยู่ในความผิดมูลฐาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7290/2554  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2544 เจ้าพนักงานตรวจยึดเงินจากจำเลยเป็นเงินตราต่างประเทศจำนวน 12 สกุล คิดเป็นเงินไทย 25,602,000 บาท ขณะที่จำเลยบรรจุไว้ในกระเป๋าเดินทางแบบล้อลากเพื่อจะเดินทางโดยสายการบินคาเธย์แปซิฟิก เที่ยวบินที่ ซีเอ็กซ์ 700 จากท่าอากาศยานกรุงเทพไปยังเมืองฮ่องกง
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยจะมีความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 60 นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความประการแรกว่า เงินของกลางเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ในกรณีที่โจทก์ฟ้องนี้ คือ ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามมาตรา 3 (7) แต่โจทก์ก็นำสืบได้ความแต่เพียงว่า ก่อนตรวจยึดเงินของกลางจำเลยเดินทางไปเมืองฮ่องกงและประเทศสิงคโปร์รวม 110 ครั้ง เท่านั้น โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำของอะไรเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงศุลกากรจนเป็นเหตุให้มีเงินของกลางดังกล่าว การที่จำเลยจะนำเงินของกลางเพื่อออกไปนอกราชอาณาจักร จำเลยจะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เงินของกลางอาจเป็นเพียงของที่ใช้ในการกระทำความผิดคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเท่านั้น ไม่อยู่ในนิยามคำว่า “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
          ส่วนการที่จำเลยซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเหตุให้ได้เงินของกลางมานั้น ก็เป็นความผิดต่อกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉพาะ ไม่อยู่ในนิยาม “ความผิดมูลฐาน” ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฟอกเงิน
  
          ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน 
          ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานด้วย ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้ง และไม่ว่าจะโอนไปเป็นของบุคคลใดหรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนั้น เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาททั้งหมดจึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเช่นกัน การจะนำไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินหรือจะสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เมื่อปรากฏตามคำร้องว่า ผู้เสียหายได้รับความเสียหายประมาณ 17,369,000,000 บาท และดำเนินการตามกฎหมายเพื่อค่าเสียหายได้ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของความเสียหายทั้งหมด จึงให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดและนำเงินจากการขายทอดตลาดทั้งหมดพร้อมดอกผล คืนให้แก่ผู้เสียหาย แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนความเสียหายที่ยังไม่ได้รับคืนหรือชดใช้คืนตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49/1

          แม้รับว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการขายยาเสพติด แต่ถ้าไม่ปรากฏว่าได้กระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาของเงินจำนวนนี้ กล่าวคือ ทำให้เงินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแปรสภาพเป็นเงินที่ได้มาโดยเสมือนหนึ่งถูกต้องตามกฎหมาย  ก็ไม่มีความผิดฐานฟอกเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2770/2550  ตามมาตรา 5 (2) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ บัญญัติว่า “การกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน” ในข้อนี้แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำนวนเงิน 710,000 บาท ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความเพียงว่าเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 1 และตรวจค้นพบเงินจำนวนดังกล่าวบรรจุอยู่ในกล่องสุราที่จำเลยที่ 1 ถืออยู่ และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาของเงินจำนวนนี้ในลักษณะที่เป็นการฟอกเงิน กล่าวคือ ทำให้เงินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแปรสภาพเป็นเงินที่ได้มาโดยเสมือนหนึ่งถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานฟอกเงินตามฟ้อง

          ความผิดฐานฟอกเงินเป็นคดีอาญา โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบเพื่อให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดจริง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2267/2550  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 60 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบในการกระทำความผิดดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบเพื่อให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดจริง เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองก่อนถูกจับกุมว่า จำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจนมีรายได้นำไปซื้อทรัพย์สินของกลาง ลำพังจากการสอบสวนพบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประกอบอาชีพ และจำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง จะสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อทรัพย์สินของกลาง ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสอง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสองรับโอนหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

          ความผิดเกี่ยวกับการพนันตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9) 

          วงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไปนั้น ต้องพิจารณาองค์ประกอบของความผิดมูลฐานในส่วนดังกล่าวจากวงเงินในการเล่นการพนันที่จัดให้มีขึ้นทั้งหมด หากจัดให้มีการเล่นการพนันหลายครั้งต่อเนื่องกันก็ต้องพิจารณาจากวงเงินในการเล่นการพนันทุกครั้งรวมกัน
          พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 บัญญัติให้มีความผิดมูลฐานเพื่อกำหนดประเภทของความผิดอาญาที่นำมาใช้เป็นฐานในการดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินต่อบุคคลที่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน และดำเนินการทางแพ่งร้องขอให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินเท่านั้น หาได้บัญญัติความผิดมูลฐานขึ้นมาเป็นฐานความผิดใหม่เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดเหมือนดังเช่นความผิดอาญาทั่วไปไม่ ดังนั้น การพิจารณาองค์ประกอบของความผิดมูลฐานจึงไม่จำต้องพิจารณาแยกเป็นรายกรรมเหมือนความผิดอาญาทั่วไป แต่ต้องพิจารณาตามบทนิยามของความผิดมูลฐานนั้น ๆ เมื่อความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9) ได้กำหนดองค์ประกอบของความผิดในส่วนวงเงินในการกระทําความผิดเพียงว่า มีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป โดยมิได้ระบุว่าเป็นวงเงินในการกระทำความผิดแต่ละครั้ง จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบของความผิดมูลฐานในส่วนดังกล่าวจากวงเงินในการเล่นการพนันที่จัดให้มีขึ้นทั้งหมด หากจัดให้มีการเล่นการพนันหลายครั้งต่อเนื่องกันก็ต้องพิจารณาจากวงเงินในการเล่นการพนันทุกครั้งรวมกัน
          บ่อนการพนันทั้งสามแห่งจัดให้มีการเล่นการพนันหมุนเวียนกัน เปิดให้เล่นทั้งกลางวันและกลางคืน มีนักพนันหมุนเวียนกันเข้ามาเล่น บางช่วงเวลาถึงกับต้องรอคิวที่จะเล่น โดยเปิดให้เล่นการพนันประเภทไพ่ป๊อกบ่อนละประมาณ 2 ถึง 5 โต๊ะ มีตั้งแต่โต๊ะที่เปิดให้เล่นในราคา 50 บาท 100 บาท 200 บาท 500 บาท 1,000 บาท และ 2,000 บาท หากมีผู้เล่นจำนวนมากก็จะเปิดโต๊ะพนันเพิ่ม การเล่นใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที ต่อตา ผู้เล่นสามารถแทงกับเจ้ามือกี่คนก็ได้ ในการเล่นแต่ละตาหากเป็นโต๊ะ 100 บาท จะมีเงินสะพัดประมาณ 10,000 บาท หากโต๊ะใหญ่ขึ้นจะมีเงินสะพัดประมาณ 30,000 ถึง 60,000 บาท ประกอบกับได้ความว่าทางบ่อนยังรับจำนำทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เข้าเล่นที่เสียการพนันจนหมดเพื่อนำเงินไปเล่นต่อ โดยในวันเข้าตรวจค้นเจ้าพนักงานสามารถยึดกุญแจรถจักรยานยนต์ที่รับจำนำได้ถึง 63 ดอก แสดงว่าบ่อนทั้งสามแห่งมีวงเงินในการเล่นการพนันมีมูลค่าสูง นอกจากนี้ยังได้ความจาก ธ. ว่าเป็นหนี้การพนันค้างชำระผู้คัดค้านที่ 1 จำนวนมาก จึงโอนที่ดินสี่แปลงพร้อมอาคารสี่ชั้นตีราคาใช้หนี้การพนันประมาณ 15,000,000 บาท คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อันเป็นมาตรการทางแพ่ง การพิสูจน์ถึงการกระทำความผิดมูลฐานต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ผู้ร้องหาจำต้องนำสืบถึงขนาดให้รับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยเหมือนดังเช่นคดีอาญาไม่ เมื่อพิจารณาจำนวนหนี้การพนันของ ธ. ที่ค้างชำระแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ประกอบพฤติการณ์ที่สถานที่ตรวจค้นทั้งสามแห่งเป็นบ่อนการพนันที่มีวงเงินในการเล่นการพนันมีมูลค่าสูงและเปิดให้เล่นการพนันต่อเนื่องกันมาหลายครั้งเป็นเวลานานหลายปีแล้ว พยานหลักฐานผู้ร้องมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันที่สถานที่ตรวจค้นทั้งสามแห่งโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9)

          ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (15)

          การใช้ ยึดถือหรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหมายถึงการกระทำต่อหรือแสวงหาประโยชน์จากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ตามธรรมชาติรอบตัวมนุษย์ และย่อมหมายความรวมถึงทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2562  ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้าซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15) นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า "ทรัพยากรธรรมชาติ" หมายความว่า ทรัพย์อันเกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ตามธรรมชาติ และคำว่า "สิ่งแวดล้อม" หมายความว่า สิ่งต่าง ๆ ทั้งทางธรรมชาติและทางสังคมที่อยู่รอบ ๆ ตัวมนุษย์... ดังนั้น การใช้ ยึดถือหรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจึงหมายถึงการกระทำต่อหรือแสวงหาประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ตามธรรมชาติรอบตัวมนุษย์ และย่อมหมายความรวมถึงทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วย การที่ผู้คัดค้านทั้งสามเข้าไปทำสวนป่าในที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการเข้าไปทำลายระบบนิเวศน์ของทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ อันถือได้ว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าสภาพเดิมของที่ดินเป็นป่าสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่โล่งเตียนอย่างใดก็ตาม และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 เข้าไปปลูกต้นสัก ต้นยูคาลิปตัส และต้นสัตบรรณบนเนื้อที่ 624 ไร่ และผู้คัดค้านที่ 2 เข้าไปปลูกต้นสัตบรรณบนเนื้อที่ 15 ไร่ ตามส่วนสัดที่แต่ละคนยึดถือที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์มีมูลค่าสูงและนับว่าเป็นจำนวนเกินกว่าที่จะนำไปใช้สอยเองมาก โดยประสงค์ให้ต้นไม้เจริญเติบโตแล้วตัดฟันขายไม้นั้นต่อไป ลักษณะการกระทำจึงเป็นการค้าขายสินค้าทางการเกษตรอันมีลักษณะเป็นการค้าในความหมายของมาตรา 3 (15) แล้ว
          ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นการใช้ที่ดินพิพาทปลูกไม้ยืนต้นโดยไม่สุจริต การปลูกต้นไม้ลงในที่ดินซึ่งเป็นการกระทำโดยมิชอบนั้น แม้จะมีเจตนาตัดฟันขายเมื่อโตใหญ่ต่อมาก็ตาม ไม้ยืนต้นย่อมตกเป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และไม้ยืนต้นที่เติบใหญ่และมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจึงเป็นของแผ่นดินเจ้าของที่ดินตามมาตรา 144 วรรคสอง ผู้คัดค้านทั้งสามไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่จะตัดฟันไม้ยืนต้นนั้นนำออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ และเมื่อการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15) และผู้คัดค้านทั้งสามไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง ไม้ยืนต้นนั้นคงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน
          

          การขอคืนทรัพย์สิน

          ผู้คัดค้านเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทและรับเงินตามสัญญาเช่าซื้อโดยสุจริต ไม่ทราบว่าผู้เช่าซื้อนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับความผิดฐานฟอกเงินมาชำระค่างวดเช่าซื้อบางส่วน ผู้คัดค้านจึงชอบที่จะขอคืนรถยนต์พิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 666/2564  ร. เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากผู้คัดค้าน แต่ชำระค่าเช่าซื้อยังไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทจึงยังคงเป็นของผู้คัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านให้ ร. เช่าซื้อรถยนต์พิพาทและรับเงินตามสัญญาเช่าซื้อโดยสุจริตไม่ทราบว่า ร. นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาชำระค่างวดเช่าซื้อบางส่วน ผู้คัดค้านจึงชอบที่จะขอคืนรถยนต์พิพาทได้ แต่รถยนต์พิพาทคงมีส่วนที่เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดินรวมอยู่ด้วย โดยเมื่อ ร. ชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้คัดค้านยังไม่ครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อ จึงเหลือเงินลงทุนของผู้คัดค้านที่ยังขาดอยู่ ซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะได้รับ จึงให้คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทแก่ผู้คัดค้านตามจำนวนเงินลงทุนที่ยังขาดพร้อมดอกผลส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้คัดค้านชำระไปก่อนแล้ว ผู้คัดค้านเรียกเก็บจาก ร. เมื่อชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านแล้วบางส่วน ส่วนที่ยังขาดอยู่ผู้คัดค้านมีสิทธิรับคืนได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2317/2563  ห. ยังชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาทไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 1 พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่ารถยนต์ที่ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อมาเพื่อให้เช่าซื้อมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด แต่เมื่อ ห. ผู้เช่าซื้อรถยนต์เป็นเครือข่ายผู้กระทำความผิดมูลฐาน เงินที่ ห. ชำระเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้อจึงเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวที่มีรถยนต์เป็นวัตถุแห่งสัญญา จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรวมอยู่ด้วยซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดินตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มีราคาเงินสด 1,111,214.95 บาท หักเงินดาวน์แล้ว 301,721.50 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 ใช้เงินลงทุนให้ ห. เช่าซื้อรถยนต์ 809,493.45 บาท ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระไป ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกเก็บจาก ห. เมื่อชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 แล้วบางส่วน ส่วนที่ยังขาดอยู่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิได้รับคืนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคสาม เมื่อระยะเวลาเช่าซื้อมีกำหนด 84 งวด คิดเป็นเงินค่าเช่าซื้อส่วนที่เป็นราคารถยนต์งวดละ 9,636.83 บาท ห. ชำระค่าเช่าซื้อรวม 24 งวด เป็นเงิน 231,283.92 บาท จึงเหลือเงินลงทุนของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ยังขาดอยู่ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับ 578,209.53 บาท เมื่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินนำรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่แบ่งแยกไม่ได้ออกขายทอดตลาดแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์เป็นเงิน 578,209.53 บาท พร้อมดอกผล ส่วนที่เหลือ (หากมี) พร้อมดอกผลจึงตกเป็นของแผ่นดิน

ฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 342  "ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
          (1) แสดงตนเป็นคนอื่น ....
          ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"


          มาตรา 341  "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          การแสดงตนเป็นคนอื่นตามมาตรา 342 (1) นั้น ต้องเป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงคนอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่เป็นการหลอกลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดในเรื่องฐานะของตนผิดไปเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2506 (ประชุมใหญ่)  จำเลยไม่ได้แสดงตนเป็นคนอื่น  แต่เป็นเพียงแสดงฐานะของตนเองเป็นเท็จเท่านั้น  ย่อมไม่ผิดฐานแสดงตนเป็นคนอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1784/2493 (ประชุมใหญ่)  คำว่า "ปลอมตัวเป็นคนอื่น" ตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 306(1) นั้น มุ่งหมายถึงการแสดงตัวให้เขาหลงเชื่อว่าเป็นคนอื่น ซึ่งไม่ใช่ตัวของตัวเอง
          จำเลยใช้ถ้อยคำหลอกลวงให้เขาหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นนายร้อยตำรวจโทประจำกองสอบสวนกลางปทุมวัน (ระบุชื่อ) เมื่อความจริงจำเลยมิใช่เป็นนายร้อยตำรวจประจำกองสอบสวนกลางแล้ว แม้จะไม่ปรากฎว่ามีนายร้อยตำรวจโทชื่อนั้นในกองสอบสวนกลางหรือไม่, ก็ถือว่าเป็นการปลอมตัวตามความหมายในมาตรา 342 (1) แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2507   เมื่อการที่จำเลยลงลายมือชื่อปลอมลงในตั๋วแลกเงินธนาคารออมสินนั้น เป็นการกระทำส่วนหนึ่งที่ต้องทำลงในเอกสารดังกล่าว เพื่อให้เอกสารนั้นสมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อที่เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินจะจ่ายเงินให้  และก็ทำให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อว่าเป็นผู้ทรงที่แท้จริงจึงได้จ่ายเงินให้จำเลยรับไป ดังนี้ ย่อมเป็นไปโดยประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้มีสิทธิรับเงินที่แท้จริงและแก่ธนาคารออมสิน การกระทำของจำเลยเป็นผิดตามมาตรา 266 (4) แต่การลงลายมือชื่อปลอมก็เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน คือ เงิน อันเป็นการกระทำส่วนหนึ่งในกรรมที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 342(1) การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20/2546   การที่จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ระบุชื่อ ส. และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ส. ซึ่งเลอะเลือนมองเห็นไม่ชัดเจนมาแสดงต่อผู้เสียหายเพื่อขอกู้ยืมเงิน ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยคือ ส. เจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 ก. ที่แท้จริง จึงตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงินไปนั้น เป็นความผิดฐานฉ้อโกงผู้อื่นโดยการแสดงตนเป็นคนอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342(1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10552/2553  จำเลยหลอกลวงด้วยการทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นบุคคลเดียวกับ ป. ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินที่จำเลยนำมาเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 จากการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ได้ไปซึ่งเงินจากผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

นิติกรรมอำพราง


          มาตรา  155 วรรคสอง "ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ"

          นิติกรรมอำพรางเป็นเรื่องที่คู่กรณีได้แสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันตามมาตรา 155 วรรคหนึ่งเช่นกัน แต่นอกจากที่จะได้แสดงเจตนาลวงแล้ว คู่กรณียังได้ทำนิติกรรมที่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของเขาไว้อีกนิติกรรมหนึ่ง เพียงแต่ไม่แสดงนิติกรรมนั้นให้ปรากฏแก่บุคคลอื่น กลับแสดงเจตนาทำนิติกรรมอีกอย่างหนึ่งออกมาให้ปรากฏ ทั้งที่นิติกรรมที่แสดงออกมาให้ปรากฏนั้นคู่กรณีไม่ต้องการผูกพัน เป็นการกระทำเพื่อจะหลอกบุคคลภายนอกให้เข้าใจว่าคู่กรณีได้ทำนิติกรรมตามที่แสดงออกให้ปรากฏนั้น ดังนั้น นิติกรรมที่แสดงออกให้ปรากฏซึ่งเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง จึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง ในขณะที่นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาที่แท้จริงซึ่งไม่แสดงออกมาให้ปรากฏ ซึ่งเรียกว่านิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้น ตามมาตรา 155 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ คือ นิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นเป็นนิติกรรมอะไร ก็ให้นำกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติกรรมนั้นๆมาใช้บังคับ เช่น นิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นเป็นสัญญากู้ยืม ก็ให้นำกฎหมายที่เกี่ยวกับลักษณะกู้ยืมมาใช้บังคับ อาทิเช่น

           1. ทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน สัญญาขายฝากเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2514/2561  ดอกเบี้ยที่โจทก์ผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน เป็นเงิน 2,100 บาท หรือเท่ากับ 25,200 บาท ต่อปี เมื่อนำไปรวมกับต้นเงิน 70,000 บาท เป็นเงิน 95,200 บาท เป็นจำนวนใกล้เคียงกับราคาสินไถ่ 95,000 บาท การที่โจทก์ชำระดอกเบี้ยทุกเดือน จึงเป็นการชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้และแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่ต้น ไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝาก การนำโฉนดที่ดินมาวางเป็นเพียงให้จำเลยที่ 1 ยึดถือประกันหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น สัญญาขายฝากที่ทำไว้จึงเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10834/2556  โจทก์และจำเลยมีเจตนาจะผูกพันในเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่าง อ. กับจำเลยโดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน และให้โฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้ หาได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาขายฝากไม่ แม้การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในการทำนิติกรรมอำพรางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสองนั้น คู่กรณีจะต้องแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรมคือ นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยเปิดเผย คู่กรณีไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับอย่างใดตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งเป็นนิติกรรมที่ไม่เปิดเผยเรียกว่านิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้ โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ แม้คู่กรณีในเรื่องนิติกรรมอำพรางจะต้องมีเพียงคู่เดียวก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์เป็นสามีของ อ. ผู้กู้ ทั้งยังเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญากู้เงิน โดยโจทก์มีความประสงค์ต้องการใช้เงิน แสดงว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในเงินกู้ดังกล่าวด้วย การที่โจทก์และ อ. ทำนิติกรรมดังกล่าวจึงมีผลประโยชน์ร่วมกัน และถือได้ว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน ดังนี้ แม้คู่กรณีในนิติกรรมขายฝากจะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมเป็นนิติกรรมระหว่าง อ. กับจำเลย ก็ถือได้ว่าคู่กรณีในนิติกรรมทั้งสองนิติกรรมนั้นเป็นคู่กรณีเดียวกัน ฟังได้ว่านิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืม จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง โดยจำเลยยังมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันได้
          เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่ามีการชำระหนี้ตามสัญญากู้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากกับขอให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินพิพาทได้ และเมื่อการขายฝากที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างตกเป็นโมฆะดังกล่าว ศาลฎีกาก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสีย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4686/2552  เมื่อสัญญาขายฝากที่ดินเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินจึงเป็นนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยจะขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองชำระเงินตามราคาขายฝากที่ดินเป็นต้นเงินกู้ไม่ได้ แต่ต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง โดยถือเพียงว่าสัญญาขายฝากที่ดินเป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากจำเลย และโจทก์ทั้งสองได้มอบโฉนดที่ดินของตนให้จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักประกันเงินกู้เท่านั้น สำหรับการขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยเมื่อตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยแล้ว ศาลชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสียได้โดยจำเลยยังคงยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองไว้ได้จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะชำระเงินกู้และดอกเบี้ยแก่จำเลยครบถ้วน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4698/2551  ค. กับจำเลยทั้งสามขอกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท มีที่ดินและบ้านพิพาทเป็นประกัน โดยจำเลยทั้งสามยินยอมทำเป็นสัญญาขายฝากตามความประสงค์ของโจทก์มีการทำรายการคิดการชำระเงินกัน กำหนดค่าไถ่ถอน 3,500,000 บาท และมีการคิดดอกเบี้ยกับหักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าจำนวน 300,000 บาท ด้วย เมื่อตามกฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมขายฝากมีการเรียกดอกเบี้ยกันได้ ประกอบกับโจทก์เองเบิกความรับว่า ค. ติดต่อเพื่อขอกู้ยืมเงินโจทก์ จึงฟังได้ว่าการทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดินและบ้านพิพาทเป็นประกัน จึงต้องนำกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมกู้ยืมมาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เป็นผลให้ที่ดินและบ้านพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสาม โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามได้


          2. ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินเพื่อเป็นการอำพรางการยกให้ นิติกรรมซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญาให้ที่ถูกอำพรางไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6342/2552  ท. มีเจตนายกที่ดินให้แก่จำเลยแต่จดทะเบียนนิติกรรมเป็นการขาย ถือได้ว่าการจดทะเบียนนิติกรรมขายที่ดินเป็นการอำพรางนิติกรรมให้ นิติกรรมขายที่ดินย่อมเป็นการแสดงเจตนาด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณี ย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนนิติกรรมให้ต้องบังคับบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกอำพรางตามมาตรา 155 วรรคสอง การที่ ท. จดทะเบียนนิติกรรมขายมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คือที่ดินเช่นเดียวกับนิติกรรมให้ต่างกันเพียงว่ามีค่าตอบแทนแก่กันหรือไม่เท่านั้น ย่อมถือได้ว่าการจดทะเบียนขายดังกล่าวเป็นการทำหนังสือและจดทะเบียนสำหรับการให้ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลมนิติกรรมการให้ที่ดินระหว่าง ท. และจำเลย จึงไม่เป็นโมฆะและมีผลบังคับตามมาตรา 155 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1871/2549   ผ. กับจำเลยทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมให้แก่จำเลยจำนวน 2,000 ส่วน โดยจำเลยเสียค่าตอบแทน แต่ความจริง ผ. ได้โอนกรรมสิทธิ์ยกที่ดินให้แก่จำเลยโดยไม่มีค่าตอบแทน เพื่อลวงไม่ให้บิดาโจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ผ. ทราบ ถือได้ว่า ผ. ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมซึ่งก็คือนิติกรรมซื้อขายที่ดินไว้กับจำเลยเป็นการอำพรางการยกให้นิติกรรมอันแรกคือบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมอันหลังคือสัญญาให้ที่ถูกอำพรางไว้นั้นต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมอันที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา 155 วรรคสอง เมื่อ ผ. มีเจตนาทำสัญญาให้ที่ดินจำเลยแล้ว การที่ ผ. จดทะเบียนบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียวกัน ต่างกันเพียงแต่ว่ามีค่าตอบแทนหรือไม่ไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนสำหรับนิติกรรมการให้ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลม นิติกรรมให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ผ. กับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆะ

           3. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นการอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน นิติกรรมซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ โดยต้องบังคับตามสัญญาที่แท้จริงคือสัญญากู้เงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2561 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ โดยให้ที่ดินแก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน และย่อมถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์กับจำเลยและถูกอำพรางไว้ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะจึงต้องเพิกถอนสัญญาดังกล่าว เป็นผลให้ที่ดินยังเป็นของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2556  จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนแรกว่า ต. และจำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่สัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ที่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ จึงเป็นคำให้การที่แสดงการปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ รวมทั้งอ้างเหตุแห่งการนั้น ว่าสัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนหลังว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ และตัดฟ้องโจทก์ว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ก็มิใช่ว่าเป็นคำให้การที่ยอมรับหรือถือว่า ต. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์จริง จึงมิได้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงแสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมด รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธินำพยานเข้าสืบหักล้างสัญญาซื้อขายตามฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
          การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจาก ต. และจำเลยที่ 1 โดยมิได้จัดให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาททั้งสองซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ทำให้นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง
          แม้กรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้อง เป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ต. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้
          การที่ ต. และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2976/2548   แม้จำเลยจะได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์กับโจทก์และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็ตาม เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฉบับดังกล่าว จำเลยก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่า ความจริงเป็นการทำสัญญากู้เงินกัน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง เพราะเป็นการนำสืบว่า สัญญาซื้อขายนั้นเป็นนิติกรรมอำพราง ต้องบังคับตามสัญญาที่แท้จริงคือสัญญากู้เงิน
          การที่จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดินและให้ปากคำว่าต้องการซื้อขายกันจริงโดยยินยอมเสียค่าธรรมเนียมต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามระเบียบ เป็นการยืนยันเจตนาแท้จริงของจำเลยที่ต้องการขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ต้องการขายที่ดินพิพาทให้โจทก์จริงดังจำเลยอ้าง ก็น่าจะทำสัญญาจะซื้อขายกันไว้เป็นหลักฐานก็พอ ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงิน

           4. ทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายกิจการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5457/2560  โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองต่างให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์และยกข้อต่อสู้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิบางประการตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ดังนี้ คดีย่อมมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วยการให้ผู้มีสัญชาติไทยมีชื่อถือหุ้นแต่เพียงในนาม สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กรณีเป็นเรื่องโจทก์รู้อยู่ว่า การที่โจทก์ซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ทั้งหมดและให้ผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นแต่เพียงในนามแทนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าว อันเป็นการจงใจกระทำการฝ่าฝืนและต้องห้ามตามกฎหมายมาแต่ต้น เมื่อได้ความดังนี้ เงินที่โจทก์อ้างว่าให้กู้ยืมแต่แท้ที่จริงเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายและไม่อาจเรียกคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

          5. สัญญาร่วมลงทุนเพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13219/2556  เมื่อสัญญาที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำกันในรูปสัญญาร่วมลงทุนเพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินต่อกัน สัญญาร่วมลงทุนจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง กรณีคงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องกู้ยืมเงินที่ถูกอำพราง และสัญญาร่วมลงทุนที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์เป็นหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินได้หรือไม่ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า "ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวน จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้" คำว่าตราสารดังกล่าวหมายความถึงหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่คู่สัญญาเจตนาแสดงออกว่าเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกัน ไม่ได้หมายรวมไปถึงหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ในรูปสัญญาอื่น เพราะคู่สัญญาไม่ได้ต้องการที่จะแสดงออกอย่างเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกัน หนังสือสัญญาในลักษณะเช่นนี้ จึงไม่ได้เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามความหมายของคำว่าตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 คงเป็นได้เพียงหลักฐานเป็นหนังสือแสดงการกู้ยืมเงินเท่านั้น เมื่อสัญญาร่วมลงทุนนี้มีเนื้อความครบถ้วนว่าจำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์ไป แบ่งจ่ายแต่ละครั้งเมื่อใด และจะคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เมื่อใด โดยมีการลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ไว้ หนังสือสัญญาร่วมลงทุนจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ แม้สัญญาร่วมทุนจะตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อถือว่าสัญญาร่วมทุนดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันด้วย

          6. ทำสัญญาซื้อขายเพื่ออำพรางนิติกรรมสัญญาจ้างทำของ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2563  สัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. ซึ่งคู่สัญญาทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แม้ว่าอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางตกเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางและให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะสัญญาจ้างทำของมาใช้บังคับ ซึ่งสัญญาที่ทำเป็นหนังสือในรูปแบบของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. นี้เป็นโมฆะ เพราะเกิดจากเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีลักษณะสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างทำของได้ หากมีลักษณะเข้าทุกองค์ประกอบของสัญญา และไม่มีข้อบกพร่องขององค์ประกอบทุกข้อในทางกฎหมาย ทั้งไม่มีข้อบกพร่องในการแสดงเจตนา ซึ่งสัญญาจ้างทำของนี้ไม่ต้องทำตามแบบแต่อย่างใด สัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. เป็นสัญญาจ้างทำของจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ เมื่อมีการทำสัญญาดังกล่าวไว้เป็นหนังสือ แม้จะเป็นโมฆะในลักษณะของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. แต่เนื้อหาของสัญญานั้นยังอยู่และสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ข้อสัญญาหรือข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการจึงยังคงมีอยู่ในรูปของหนังสือ สัญญาอนุญาโตตุลาการจึงมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ต้องตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคสอง นอกจากนี้ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “...และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ (ซึ่งหมายถึงอำนาจของอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ) ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลัก เป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการที่ว่าสัญญาหลักเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์จะไม่กระทบกระเทือนถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ” ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ที่เป็นหนังสือนั้นยังมีอยู่ อนุญาโตตุลาการจึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำชี้ขาดได้ และคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงชอบด้วยกฎหมาย สามารถบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง, 43, 44

          8. ทำสัญญาโอนที่ดินพิพาทและสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้จำนอง เพื่อเป็นการอำพรางสัญญาซึ่งมีข้อตกลงว่าให้ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้อันเป็นสัญญาขายฝาก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2561  การที่โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง แต่ได้เงินไม่ครบตามที่จดทะเบียนจำนองไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ทำสัญญาให้โจทก์ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้ นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้เก็บค่าเช่าในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แสดงว่าการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง โดยไม่มีเจตนาผูกพันกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาโอนที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้จำนอง จึงเป็นการอำพรางสัญญาซึ่งมีข้อตกลงว่าให้ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้อันเป็นสัญญาขายฝาก เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายฝากต่างมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์กู้ การทำสัญญาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จนครบจำนวนที่โจทก์ยืมจากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์ 

          9. ทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนำจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญาจำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3692/2564  พยานโจทก์และพยานจำเลยเบิกความยันกันอยู่ว่าโจทก์จำนำหรือขายฝากรถยนต์ ยากที่รับฟังว่าฝ่ายใดเบิกความตามจริง แต่ตามคำเบิกความของโจทก์และ ส. ได้ความว่า โจทก์ชำระหนี้จำนำรถยนต์แก่จำเลย 5 ครั้ง และ ส. เบิกความตอบคำถามติงทนายโจทก์ว่าโจทก์และจำเลยเข้าใจตรงกันว่าให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน นอกจากนั้น จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์รับว่า โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยและข้อความสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์เป็นการติดต่อระหว่างโจทก์และจำเลย โดยข้อความดังกล่าวระบุว่าเป็นการโอนเงินชำระดอกเบี้ยไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าซื้อรถยนต์คืนจากจำเลย ตามพฤติการณ์จึงเชื่อว่า โจทก์ส่งมอบรถยนต์ให้จำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้อันเป็นการจำนำรถยนต์ อีกทั้งการขายฝากนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายฝากย่อมตกเป็นของผู้ซื้อฝากตั้งแต่เมื่อทำสัญญาขายฝาก แต่ตามคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ปรากฏว่าจำเลยหักเงินที่จ่ายให้โจทก์เป็นค่าจอดรถยนต์และค่าดูแลรักษาไว้ด้วย ส่อแสดงว่าจำเลยถือว่ารถยนต์ดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และตามสำเนาสัญญาขายฝากรถยนต์ มีข้อความว่า “ข้อ 1 ผู้ขายตกลงขายฝากและผู้ซื้อตกลงซื้อรถยนต์...ในราคา 90,000 บาท...ผู้ขายได้รับเงินไปเรียบร้อยแล้ว จึงได้มอบรถพร้อมใบคู่มือจดทะเบียน...ให้แก่ผู้ซื้อไว้เพื่อกระทำการโอนรถได้หากพ้นกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนแล้ว ข้อ 2 ผู้ขายฝากจะกระทำการไถ่รถในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ทำสัญญามิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิ์ ข้อ 6 ถ้าในระหว่างสัญญาขายฝาก...จะด้วยเหตุผลใดก็ตามทำให้รถที่ขายฝากไม่สามารถที่จะกระทำการโอนได้ในภายหลังที่ผู้ขายฝากสละสิทธิ์ไถ่รถ...ผู้ขายฝากจะต้องคืนเงินที่รับไปตามข้อ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ย...ให้แก่ผู้ซื้อ...” ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า โจทก์จะยอมให้รถยนต์ตกไปยังจำเลยก็ต่อเมื่อโจทก์ไม่ชำระเงิน 90,000 บาท คืนแก่จำเลยเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตกไปยังจำเลยทันทีโดยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์อาจไถ่รถยนต์นั้นคืนได้ในภายหลัง อันจะต้องด้วยลักษณะของสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาผูกพันตามสัญญาจำนำ หาได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายฝากไม่ สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนำจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญาจำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่รับชำระหนี้จำนำในส่วนที่เหลือ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับชำระหนี้จำนำในส่วนที่เหลือกับขอให้จำเลยคืนรถยนต์ตามฟ้องได้ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน

          10. ทำสัญญาจำนองเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่ยังไม่อาจโอนสิทธิในที่ดินได้เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ สัญญาจำนองจึงเป็นนิติกรรมอำพราง ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8887/2563  ย. ตกลงขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้พันเอก พ. เมื่อปี 2519 ต่อมาปี 2520 เมื่อมีการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่เนื่องจากติดข้อกำหนดที่ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน ย. และพันเอก พ. จึงทำสัญญาจำนองโดยไม่มีการกู้ยืมเงินจริง แต่ทำเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่ยังไม่อาจโอนสิทธิในที่ดินได้เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ สัญญาจำนองจึงเป็นนิติกรรมอำพราง ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เมื่อสัญญาจำนองเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยได้การทำสัญญาการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น การที่ ย. ทำสัญญาการซื้อขายและมอบให้พันเอก พ. ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท พันเอก พ. ก็หาได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่เพราะอยู่ในกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอนคือวันที่ 24 สิงหาคม 2530 พันเอก พ. และทายาทครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างต่อเนื่องและเป็นผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึง พ.ศ.2559 โดยไม่ปรากฏว่า ย. หรือทายาทเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ย. หรือทายาทได้สละการครอบครองที่พิพาทให้แก่พันเอก พ. แล้ว ย่อมถือว่าพันเอก พ. ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนต่อแต่นั้นมา พันเอก พ. ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 1367 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา

          แต่ถ้าเดิมคู่กรณีตั้งใจทำนิติกรรมอย่างหนึ่งแล้วปรากฏว่าต่อมาเกิดความไม่สะดวกที่จะทำนิติกรรมนั้นๆ ก็เลยเปลี่ยนใจไปทำนิติกรรมอีกอย่างหนึ่ง โดยที่คู่กรณีตกลงตั้งใจผูกพันกันตามนิติกรรมที่ทำในภายหลัง กรณีนี้นิติกรรมที่ทำนั้นมีผลสมบูรณ์และไม่ใช่เรื่องนิติกรรมอำพราง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 956/2519   จำเลยมีเจตนาจะจำนองที่ดินและบ้าน แต่โจทก์ไม่ยอม โจทก์ขอให้ทำเป็นสัญญาขายฝาก เหตุที่จำเลยยอมทำสัญญาขายฝากตามความประสงค์ของโจทก์ก็เพื่อจะได้เงินตามที่ต้องการ สัญญาขายฝากจึงมิใช่นิติกรรมอำพราง

          ถ้าคู่กรณีทำนิติกรรม 2 อย่าง โดยประสงค์จะผูกพันกันตามนิติกรรมทั้ง 2 อย่าง นิติกรรมที่เกิดจากนิติกรรมที่แท้จริงจึงมีผลผูกพันตามที่ทำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2546   เดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทที่จดทะเบียนจำนองแก่ธนาคาร ก. และจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์จำนวนหนึ่ง ต่อมาธนาคาร ก. ทวงให้จำเลยชำระหนี้จำนอง จำเลยจึงตกลงทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ แล้วโจทก์นำไปจำนองธนาคาร ท. โดยมีข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์เมื่อชำระครบถ้วนแล้วโจทก์จะโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนจำเลย ดังนั้น สัญญาขายบ้านและที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทำขึ้นโดยมีเจตนาที่แท้จริง แต่มีเงื่อนไขในการโอนกลับคืนอันถือเป็นข้อตกลงที่บังคับได้ การซื้อขายบ้านและที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่การแสดงเจตนาลวง แต่เมื่อจำเลยไม่ได้ผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์ และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ประสงค์ให้จำเลยและบริวารอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทอีกต่อไป โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 829/2537   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยกู้ยืมเงินจาก จ.สามีโจทก์มาประกอบการค้าโดยมอบเช็คลงวันที่ล่วงหน้า รวมทั้งเช็คตามเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.15 แก่ จ.เพื่อชำระหนี้เงินที่จำเลยกู้ยืมมา มิใช่เป็นการประกันหนี้ เมื่อจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ด้วยเช็คเพราะยังไม่มีเงินในบัญชี จ.จึงให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทแก่โจทก์แทนและโจทก์ทำสัญญาให้จำเลยอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาท จึงเป็นกรณีที่ จ.ยอมรับชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ การทำนิติกรรมอำพรางนั้นขณะทำนิติกรรมคู่กรณีจะต้องมีเจตนาทำนิติกรรมอันหนึ่งขึ้นมาอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่ง แต่คดีนี้ขณะจำเลยกู้ยืมเงินจาก จ.สามีโจทก์ โจทก์จำเลยยังไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทและสัญญาให้จำเลยอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาทมาปิดบังอำพรางนิติกรรมที่จำเลยกู้ยืมเงินสามีโจทก์ สัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทและสัญญาให้อาศัยได้ทำขึ้นภายหลัง และมิได้ทำขึ้นโดยบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีเดียวกันจึงไม่อยู่ในความหมายของนิติกรรมอำพราง สัญญาให้อาศัยระหว่างโจทก์จำเลยจึงมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทครบกำหนดตามสัญญาแล้ว ไม่ยอมออกไปโดยโจทก์ไม่ยินยอม จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์

          สามารถนำสืบพยานบุคคลว่าสัญญาที่ทำนั้นเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมอื่นได้ ไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร อันต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 273-274/2501  โจทก์จำนองที่ดินไว้เป็นประกันเงินกู้แต่ทำหลักฐานทางทะเบียนเป็นการขายฝากและโจทก์คงครอบครองที่ดินมาดังนี้ โจทก์ย่อมนำสืบว่าสัญญาขายฝากที่ทำต่อเจ้าพนักงานว่าเป็นนิติกรรมอำพรางการจำนองได้ไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร อันต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เพราะถ้าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการจำนองก็เป็นโมฆะเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ (อ้างฎีกา 272/2498 ประชุมใหญ่ 4/2498)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2498 (ประชุมใหญ่)  โจทก์บรรยายฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งได้ขายให้แก่จำเลยบางส่วนแต่ได้โอนชื่อทางทะเบียนเป็นชื่อจำเลยเป็นเจ้าของทั้งแปลงส่วนของโจทก์ที่ยังเหลือโจทก์ฝากจำเลยไว้ เพราะการแบ่งแยกโฉนดไม่สะดวก ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องได้ความชัดแล้วว่าเป็นเรื่องนิติกรรมอำพราง เป็นเรื่องทำสัญญาขายอำพรางสัญญาฝาก โจทก์จึงมีสิทธินำสืบถึงนิติกรรมที่อำพรางไว้ได้ ไม่ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2531   โจทก์ได้รับการยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากบิดา แต่เนื่องจากพี่น้องของโจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนบิดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวการโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์จึงทำเป็นสัญญาซื้อขาย แล้วโจทก์ได้ขายที่ดินไปหลังจากได้กรรมสิทธิ์มาเป็นเวลาถึง 14 ปี แม้ระหว่างนั้นจะมีการจำนองและไถ่จำนองที่ดินและการรวมที่ดินเป็นแปลงใหญ่รวมทั้งจัดหาที่ดินทำทางเข้าออกติดกับถนนใหญ่ด้วย ก็เป็นการกระทำเพียงเพื่อจะให้ได้ขายที่ดินได้ในราคาสูงซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของปุถุชนและไม่ได้ความว่าโจทก์ได้เคยซื้อขายที่ดินมาก่อนคงมีการขายที่ดินครั้งพิพาทนี้ครั้งเดียว การกระทำของโจทก์ยังไม่เป็นการกระทำเพื่อมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร โจทก์ได้รับการยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากบิดา แต่ทำเป็นสัญญาซื้อขาย การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าสัญญาซื้อขายไม่สมบูรณ์นั้นย่อมนำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง
          การกระทำของโจทก์ในการจดทะเบียนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินนั้นเป็นการแสดงเจตนาลวง แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 118 วรรคแรก ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายแต่การแสดงเจตนาลวงนั้นก็ตาม แต่ในการประเมินเรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน จะกระทำได้ก็ต้องให้ได้ความด้วยว่าโจทก์ได้มุ่งในทางการค้าและหากำไรด้วยซึ่งข้อนี้จำต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

          ถ้านิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้นั้นมีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้ว นิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ หรือกรณีที่นิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นมีกฎหมายกำหนดแบบไว้ นิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นต้องทำให้ถูกต้องตามแบบ มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นย่อมเป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1038-1039/2509 (ประชุมใหญ่)  ทำสัญญาจ้างทำนาเป็นหนังสือโดยอำพรางนิติกรรมการเช่านาสัญญาเช่านาที่ถูกอำพรางนั้นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้  มิฉะนั้นไม่มีผลบังคับและจะถือเอาหลักฐานสัญญาจ้างทำนาเป็นหลักฐานการเช่านามิได้ เมื่อการเช่านามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ  และโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากนาแล้ว  จำเลยก็ไม่มีสิทธิอยู่ในนาที่เช่านั้นต่อไปได้  การอยู่ต่อมาของจำเลยจึงเป็นละเมิด (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 20/2509)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2561  โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน และกำหนดเวลาชำระคืนกันไว้ แต่จำเลยทั้งสองมีเงินให้โจทก์กู้ยืมเพียงบางส่วน จึงขอให้โจทก์ลงลายมือชื่อ ในหนังสือมอบอำนาจที่มิได้กรอกข้อความให้จำเลยทั้งสองยึดถือไว้เพื่อทำนิติกรรมกู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้โจทก์ เมื่อครบกำหนดโจทก์ไม่ชำระเงินต้นและกู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสองอีกหลายครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสองนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงชื่อไปกรอกข้อความและโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลัง โจทก์ทราบการโอน โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมีสิทธิไถ่ถอนที่ดินคืน ภายใน 3 ปี หากไม่ไถ่ถอนถือว่าสละสิทธิและโจทก์จะได้รับเงินคืนจากจำเลยทั้งสองเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี แต่หากโจทก์ไถ่ถอนที่ดินพิพาทก่อนครบกำหนด โจทก์ต้องชำระภาษีพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินที่ยืมไปทั้งหมด จำเลยทั้งสองให้การตอนแรกว่าไม่เคยตกลงทำสัญญากับโจทก์ แต่ตอนท้ายกลับให้การว่า หากฟังว่าจำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ชำระเงินไม่ครบจึงเป็นฝ่ายผิดนัด ผิดสัญญาและไม่มีสิทธิมาฟ้องเรียกร้องตามสัญญา เท่ากับจำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่ามีการทำสัญญากับโจทก์จริง คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงขัดแย้งกันเอง จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ การที่โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง แต่ได้เงินไม่ครบตามที่จดทะเบียนจำนองไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ทำสัญญาให้โจทก์ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้ นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้เก็บค่าเช่าในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แสดงว่าการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง โดยไม่มีเจตนาผูกพันกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาโอนที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้จำนอง จึงเป็นการอำพรางสัญญาซึ่งมีข้อตกลงว่าให้ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้อันเป็นสัญญาขายฝาก เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายฝากต่างมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์กู้ การทำสัญญาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จนครบจำนวนที่โจทก์ยืมจากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์

          ซึ่งศาลฎีกาได้อนุโลมโดยนำหลักเรื่องนิติกรรมที่เป็นโมฆะอาจสมบูรณ์ในฐานะที่เป็นนิติกรรมอย่างอื่นมาใช้วินิจฉัยคดีกรณีนิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นมีกฎหมายให้ทำตามแบบ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2517   การที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสัญญาขายฝากที่ดินพิพาท ถ้าโจทก์จำเลยไม่มีเจตนาจะผูกพันกันตามสัญญาขายฝาก สัญญานั้นก็เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก (เดิม)
          ก่อนทำสัญญาขายฝากก็ดี ขณะทำสัญญาขายฝากก็ดี ภายหลังทำสัญญาขายฝากก็ดีโจทก์จำเลยมิได้ตั้งใจจะผูกพันกันตามสัญญาขายฝาก  เป็นเรื่องที่จำเลยต้องการดอกเบี้ยเท่านั้นโดยจำเลยสัญญาจะไม่เอาที่ดินหลุดเป็นสิทธิ  ถือได้ว่าโจทก์ทำสัญญาขายฝากอำพรางการจำนอง
          การที่นิติกรรมอันหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งนิติกรรมอันแรกคือสัญญาขายฝากย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณี  ที่จะไม่ผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น  นิติกรรมอันแรกที่ปรากฏออกมานั้นย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก (เดิม) ส่วนนิติกรรมอันหลังคือสัญญาจำนองที่ถูกอำพรางไว้โดยนิติกรรมอันแรก ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา 118 วรรค 2 (เดิม) เมื่อโจทก์จำเลยมีเจตนาทำสัญญาจำนองแล้วแต่การจำนองไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงเรียกไม่ได้ว่าเป็นการจำนอง เป็นเพียงการที่โจทก์กู้เงินจากจำเลย และให้ที่ดินแก่จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน  และย่อมถือได้ว่าเอกสารการขายฝากที่โจทก์จำเลยทำไว้ ณ สำนักงานที่ดิน  เป็นนิติกรรมสัญญากู้เงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์จำเลยนั้น ฉะนั้น  เมื่อโจทก์ฟ้องขอนำเงินมาไถ่ถอนที่พิพาท  ก็เท่ากับโจทก์ขอชำระหนี้เงินกู้ จำเลยมีหน้าที่รับชำระและคืนที่พิพาทที่เป็นประกันนั้นให้โจทก์ไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4696/2536  จำเลยกู้เงินโจทก์โดยมอบรถยนต์ให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกันแต่ทำหนังสือการรับเงินค่าขายรถยนต์มอบให้โจทก์เป็นหลักฐานนิติกรรมการซื้อขายรถยนต์จึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้เงินและตกเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา155 วรรคสอง แม้จะต้องถือว่าหนังสือการรับเงินค่าขายรถยนต์ใช้บังคับเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4686/2552   เมื่อสัญญาขายฝากที่ดินเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินจึงเป็นนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยจะขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองชำระเงินตามราคาขายฝากที่ดินเป็นต้นเงินกู้ไม่ได้ แต่ต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง โดยถือเพียงว่าสัญญาขายฝากที่ดินเป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากจำเลย และโจทก์ทั้งสองได้มอบโฉนดที่ดินของตนให้จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักประกันเงินกู้เท่านั้น สำหรับการขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยเมื่อตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยแล้ว ศาลชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสียได้โดยจำเลยยังคงยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองไว้ได้จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะชำระเงินกู้และดอกเบี้ยแก่จำเลยครบถ้วน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1871/2549   ผ. กับจำเลยทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมให้แก่จำเลยจำนวน 2,000 ส่วน โดยจำเลยเสียค่าตอบแทน แต่ความจริง ผ. ได้โอนกรรมสิทธิ์ยกที่ดินให้แก่จำเลยโดยไม่มีค่าตอบแทน เพื่อลวงไม่ให้บิดาโจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ผ. ทราบ ถือได้ว่า ผ. ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมซึ่งก็คือนิติกรรมซื้อขายที่ดินไว้กับจำเลยเป็นการอำพรางการยกให้นิติกรรมอันแรกคือบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมอันหลังคือสัญญาให้ที่ถูกอำพรางไว้นั้นต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมอันที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา 155 วรรคสอง เมื่อ ผ. มีเจตนาทำสัญญาให้ที่ดินจำเลยแล้ว การที่ ผ. จดทะเบียนบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียวกัน ต่างกันเพียงแต่ว่ามีค่าตอบแทนหรือไม่ไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนสำหรับนิติกรรมการให้ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลม นิติกรรมให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ผ. กับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2544   โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์กู้เงินจากมารดาจำเลยหลายครั้ง โจทก์มอบโฉนดที่ดินให้มารดาจำเลยไว้เป็นประกัน ต่อมามารดาจำเลยแจ้งว่าโจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและในวันเดียวกันนั้น โจทก์กับจำเลยก็ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทที่บ้านของมารดาจำเลยในราคา 180,410 บาท เจตนาของโจทก์จำเลยที่แท้จริง คือต้องการขายฝากที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาท สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้ก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 155 วรรคสองและมาตรา 152 เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะ คู่สัญญาคือโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ คือ โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย และจำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิเสธในยอดหนี้ที่มารดาจำเลยกล่าวอ้าง อีกทั้งยอมไถ่ถอนที่ดินพิพาทในราคา 180,410 บาท ตามคำขอท้ายฟ้อง ต้องถือว่ามีการรับเงินหรือหักกลบลบหนี้กันตามจำนวนดังกล่าว เมื่อสัญญาตกเป็นโมฆะโจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวน 180,410 บาท แก่จำเลย แต่จำเลยฎีกาขอให้โจทก์คืนเงินเพียง 180,000 บาท ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปจากคำขอฎีกาของจำเลยได้

การชำระหนี้ตามอำเภอใจ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 407 เป็นการชำระหนี้ทั้งที่รู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้นั้น มีผลให้ ผู้นั้นไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์

          ป.พ.พ.มาตรา 407 บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่

          การชำระหนี้ตามอำเภอใจเป็นการชำระหนี้โดยสมัครใจ คือ มิได้กระทำโดยหลงผิด สำคัญผิด โดยเป็นการกระทำการชำระหนี้ทั้งที่รู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้นั้น มีผลให้ ผู้นั้นไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เช่น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2565 การออกหุ้นกู้ต้องอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1229 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 65 กล่าวคือ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดและต้องได้รับโทษตาม มาตรา 268 การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเหตุให้การออกหุ้นกู้ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจใช้บังคับในฐานะหุ้นกู้ตามกฎหมายได้ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ และมีกำหนดเวลาการชำระคืน ถือได้ว่า สำเนาใบหุ้นกู้มีข้อความครบถ้วนเพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่เป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานได้ ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงพยานเอกสารเมื่อฟังได้ว่าสำเนาใบหุ้นกู้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นการให้ดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 654 ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไป ส่วนผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้ชำระแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง จึงเป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยที่ 1 ไม่อาจขอให้นำเงินที่ชำระไปดังกล่าวมาหักกลบกับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6614/2562  จำเลยรับจะดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองหรือผ่านบุคคลอื่นเพื่อแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โดยมีเงินที่ได้รับจากโจทก์เป็นค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การที่โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม มาตรา 172 วรรคสอง การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ เสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี จึงไม่อาจเรียกร้องเงินคืนได้ตาม มาตรา 407 และ 411

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6518/2562  ฎีกาของผู้ประกันเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เกี่ยวกับการบังคับตามสัญญาประกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า การที่ผู้ประกันนำเงิน 500,000 บาท มาชำระตามสัญญาประกันในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ทั้งที่ผู้ประกันอ้างในคำร้องฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ว่า ศาลชั้นต้นสิ้นสิทธิในการบังคับคดีเพราะไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกันชำระหนี้โดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าวคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ประกัน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ดังกล่าว ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง

          *** การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 411 จำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระไป แต่โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ดอกเบี้ยเป็นโมฆะ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำเงินที่จำเลยชำระดอกเบี้ยทั้งหมด ไปหักต้นเงินกู้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560 (ประชุมใหญ่) การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560  โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2560  เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าว ต่อมาสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้แทนของสหกรณ์เพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด โจทก์และที่ประชุมใหญ่ของโจทก์มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยเป็นไปตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายหรือมติคณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ การที่โจทก์จ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่จำเลยเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลยที่จะได้รับจากการทำงานของตน ขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้ผลแห่งการงานที่จำเลยได้กระทำในระหว่างที่เป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เป็นการตอบแทนด้วย แม้ภายหลังรองนายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งควบคุมและกำกับการดำเนินกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีหนังสือแจ้งเพิกถอนมติการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เรื่องการสรรหากรรมการดำเนินการ ก็เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด และกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เท่านั้น หาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยมีสิทธิได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ยังเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์คืนจากจำเลยไม่ เงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยได้รับ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยได้รับมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ ส่วนเงินโบนัสประจำปี 2553 ซึ่งเป็นบำเหน็จรางวัลแก่กรรมการดำเนินการและไม่ถือเป็นผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานโดยตรง เมื่อที่ประชุมชุมนุมสหกรณ์โจทก์มีมติให้จ่ายโบนัสดังกล่าวแก่กรรมการดำเนินการรวมทั้งจำเลย หลังจากที่รองนายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด การที่จำเลยได้รับเงินโบนัสดังกล่าวไปจากโจทก์จึงเป็นการได้รับไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ซึ่งเป็นลาภมิควรได้ การที่โจทก์จ่ายเงินโบนัสดังกล่าวให้แก่จำเลยไปย่อมเป็นกรณีที่โจทก์ได้กระทำการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินโบนัสดังกล่าวคืนจากจำเลยได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2558  โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 แม้ต่อมาจำเลยจะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท แต่ตราบใดคดีที่จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดโจทก์ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่จะใช้สอยที่ดินพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ถมดินในที่ดินพิพาทก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดจึงย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ และกรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่โจทก์สมัครใจถมดินในที่ดินพิพาทตามอำเภอใจตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โดยรู้อยู่ว่าอาจมีการเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทภายหลังได้ ส่วนข้อสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยหาอาจนำมาอ้างให้เสื่อมสิทธิของโจทก์และเป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ เพราะเป็นข้อตกลงที่โจทก์มีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี หาได้เกี่ยวและมีผลผูกพันจำเลย แต่เมื่อจำเลยได้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยได้ดินที่โจทก์ถมไว้โดยสุจริตในที่ดินพิพาทไปด้วย อันทำให้มูลค่าที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สิ่งใดที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยต้องคืนดินที่ถมในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ปรับปรุงถมดินเต็มเนื้อที่ในที่ดินพิพาทเพื่อจะปลูกสร้างบ้านเป็นเวลาล่วงเลยมานานถึง 12 ปี ดินที่โจทก์นำมาถมย่อมเปลี่ยนแปลงสภาพเกลื่อนกลืนกับที่ดินพิพาทของจำเลยไปตามกาลเวลากลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนดินที่ถมหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนก็ตาม ก็ไม่อาจคืนดินที่ถมไปแล้วให้แก่โจทก์ได้ แต่การที่โจทก์ขอให้ใช้ราคาแทนดินที่ถม ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาสูงขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์เรียกจากจำเลยได้ก็เพียงเท่าราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 38 ตารางวา และโจทก์ถมดินไป 3,000 คิว ประกอบกับสภาพสถานที่ตั้งของที่ดิน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีแล้วเห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 510,000 บาท
          ตราบใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้มีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุด การที่โจทก์ถมที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน และมีการตัดต้นไม้ในที่ดินพิพาทเพื่อถมดิน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎหมายในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ หาเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยไม่ และแม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ถึงที่สุดดังกล่าวจะมีผลเท่ากับว่าไม่มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทมาแต่แรก ทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ล.5 ไม่มีผลบังคับ แต่ก่อนที่ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะถึงที่สุด สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 อยู่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามฟ้องแย้ง




ฉ้อโกงประชาชน


          มาตรา 343 "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท"

          ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้และมีโทษหนักกว่าความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 โดยการกระทำความผิดจะต้องมีลักษณะเป็นการฉ้อโกงซึ่งได้กระทำต่อประชาชนโดยทั่วไป สาระสำคัญของความผิดจึงต้องดูว่าการกระทำความผิดนั้นได้กระทำต่อประชาชนหรือไม่ ทั้งนี้ คำว่าประชาชนตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานหมายถึงบรรดาพลเมือง ซึ่งมีความหมายถึงชาวเมืองทั้งหลาย


          หลอกลวงเฉพาะเจ้าหนี้ของตนแม้มีจำนวนมาก แต่มิใช่การหลอกลวงประชาชนทั่วไป จึงไม่ผิดมาตรา 343
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 709/2523  ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 เป็นเรื่องฉ้อโกงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คำว่า "ประชาชน" มิได้มีคำจำกัดความไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง "บรรดาพลเมือง" และคำว่า "พลเมือง" มีความหมายถึง "ชาวเมืองทั้งหลาย"
          โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกหลอกลวงโจทก์และประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ประมาณ 30 คน จึงเป็นการหลอกลวงเฉพาะบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ซึ่งมีจำนวนมากเท่านั้น มิใช่เป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วๆ ไป ฟ้องดังกล่าวจึงไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343

          หลอกลวงกลุ่มนักศึกษาเพื่อขายข้อสอบไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2531  จำเลยโฆษณาหลอกลวงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อขายข้อสอบที่จำเลยเขียนขึ้นเองเพื่อให้นักศึกษาที่ซื้อข้อสอบจากจำเลยหลงเชื่อว่าเป็นข้อสอบจริงที่จะออกสอบ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 เท่านั้น

          หลอกลวงเฉพาะกลุ่มคนต่างด้าวในหมู่บ้านเดียวกับจำเลยเท่านั้น ไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15505/2553   ป.อ. มาตรา 343 บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน" คำว่า "ประชาชน" หมายถึงบุคคลทั่วไปไม่จำกัดตัวว่าเป็นผู้ใด แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นคนต่างด้าวและคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านซึ่งจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น โดยคนต่างด้าวดังกล่าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงเฉพาะคนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น อันเป็นการจำกัดตัวผู้ถูกหลอกลวงว่าเป็นผู้ใดมิใช่หลอกลวงบุคคลทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 ตามที่จำเลยให้การรับสารภาพเท่านั้น ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งหกว่าจำเลยได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งหกแล้ว และผู้เสียหายทั้งหกไม่ติดใจดำเนินคดีนี้แก่จำเลยอีก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวย่อมระงับไปตาม .ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

          แม้มีการหลอกลวงผู้เสียหายเพียงรายเดียว แต่ถ้ามีลักษณะแสดงเจตนาหลอกลวงต่อประชาชนทั่วไปก็ผิดมาตรา 343
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1867/2523  การแสดงข้อความอันเป็นเท็จจริงต่อประชาชน ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นั้น หาได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลวงลวงมากหรือน้อยเป็นหลักไม่ แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ แม้ไม่ได้ความว่าจำเลยหลอกผู้อื่นอีกนอกจากผู้เสียหายรายเดียว แต่แสดงเจตนาต่อประชาชนทั่วไปหลอกให้สมัครฝากเงินไว้กับบริษัทจำเลยก็ผิดมาตรา 343 (ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีการดำเนินการด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงประชาชน โดยได้พิมพ์ข้อความโฆษณา)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2540  การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อยแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญและไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการดังกล่าวด้วยต้นเองมาตั้งแต่ต้นทุกครั้ง เพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกต่อกันไปเป็นทอดๆ เมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลยจำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้นและให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้ง อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวก แม้จะไม่มีการประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 แล้ว จำเลยกับพวกมิได้เป็นผู้รับอนุญาตให้จัดหางานมิได้เป็นกรรมการหุ้นส่วนหรือผู้จัดการของผู้ได้รับอนุญาตให้จัดหางานซึ่งเป็นนิติบุคคล ประกอบกับฟ้องโจทก์ที่บรรยายไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่ายังไม่มีตำแหน่งงานหรืออัตรางานในประเทศบาร์เรนตามที่โฆษณาชักชวนแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายอย่างจริงจังเป็นเพียงอุบายหลอกลวงอ้างเรื่องการจัดหางานเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมอบค่าบริการให้จำเลยเท่านั้นไม่ต่างกับการหลอกลวงโดยอ้างเหตุอื่นๆ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326/2566  โจทก์ร่วมโอนเงินให้จำเลยเพื่อลงทุนกับบริษัทฺ อ. การที่จำเลยส่งแพ็กเกจการลงทุนกิจการต่าง ๆ ที่บริษัทนำเงินผู้ลงทุนไปลงทุน รวมทั้งผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากบริษัท บอกวิธีการแนะนำชักชวนผู้อื่นมาลงทุนกับบริษัท และรายได้ของผู้ชักชวนหรือแนะนำผู้อื่นลงทุนในไลน์กลุ่มโดยมีเว็บไซต์ประกอบฟังได้ว่า จำเลยแสดงเนื้อหาและข้อมูลต่อประชาชนหรือบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงได้ และข้อเท็จจริงได้ความจากพันตำรวจโท ส. ว่า พยานตรวจสอบการมีอยู่ของบริษัท อ. กับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุโขทัยพบว่าไม่มีชื่อในนิติบุคคลจดทะเบียนไว้ ตามหนังสือตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคล โดยจำเลยตอบคำถามค้านโจทก์ว่า อ. จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่นั้น จำเลยไม่ทราบ แสดงว่า บริษัท อ. อาจจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ได้ การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจึงเป็นข้อมูลสำคัญที่จำเลยต้องแจ้งในกลุ่มไลน์ด้วยเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนการที่จำเลยไม่แจ้งข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้ที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อยแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญและคำว่า “ประชาชน” หมายถึงบุคคลทั่วไป ไม่จำกัดตัวว่าเป็นบุคคลใด มีลักษณะเป็นการแสดงต่อประชาชนทั่วไปมิได้เจาะจงคนหนึ่งคนใดเป็นพิเศษโดยเฉพาะ และไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการต่อผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้น ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยจะซื้อหน่วยลงทุนผ่าน ท. และจำเลยสนทนาการซื้อขายหน่วยลงทุนกับ ท. ผ่านไลน์ จำเลยนำเงินที่ได้รับจากโจทก์ร่วมรวมกับเงินของจำเลยเพื่อซื้อหน่วยลงทุนของบริษัทเข้าบัญชีของ บ. และ ท. ตามรายการโอนเงิน จำเลยพูดคุยกับ ท. ผ่านไลน์ว่า โอนเงินต่อให้ ร. และจำเลยก็โอนเงินลงทุนกับบริษัท อ. โดยซื้อหน่วยลงทุนจาก ท. น่าจะเป็นแผนการหลอกลวงโจทก์ร่วมและประชาชนให้หลงเชื่อนำเงินมาลงทุนตามเจตนาของจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยไม่ได้เป็นคนชักชวนโจทก์ร่วม จำเลยไม่ได้เป็นผู้บริหารของบริษัทจึงไม่ถูกจับกุมดำเนินคดีไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ร่วม

          วางแผนหลอกลวงโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันเปิดรับสมัครบุคคลมาทำงานกับบริษัท เป็นการฉ้อโกงประชาชน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 340/2512 (ประชุมใหญ่)  จำเลยวางแผนประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันเปิดรับสมัครบุคคลมาทำงานกับบริษัท เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อมาสมัครทำงาน โดยวางอัตราค่าจ้างเงินเดือนสูง วางระเบียบให้ต้องซื้อหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้นเป็นเงิน 900 บาท บริษัทตั้งขึ้นแล้ว จำเลยก็มิได้ดำเนินกิจการค้าดังวัตถุประสงค์แต่อย่างใด สินค้าในบริษัทก็ไม่มี ธุรกิจที่จะมอบหมายให้ผู้สมัครรับจ้างปฏิบัติก็ไม่มี ถือได้ว่าจำเลยก่อตั้งบริษัท ดำเนินการด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเพื่อหลอกลวงประชาชน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343
          เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับการฉ้อโกงของจำเลยดังกล่าวแล้ว โจทก์ฟ้องจำเลยฐานฉ้อโกงผู้เสียหายคนอื่นในกรณีนี้อีกได้ เพราะผู้เสียหายเป็นคนละคนต่างถูกหลอกลวงคนละวันคนละเวลา จำนวนเงินที่ถูกหลอกแตกต่างกัน ตำแหน่งงานที่จะจ้างผู้เสียหายไม่เหมือนกัน จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ  มิใช่เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 135/2547   จำเลยกับพวกได้ก่อตั้งบริษัท ด. ขึ้น และได้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ประกาศแพร่ข่าวชักชวนประชาชนว่าบริษัท ด. เป็นบริษัทที่มั่นคงประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ต้องการรับสมัครพนักงานหรือบุคลากรเพิ่มหลายตำแหน่ง และโฆษณาชักชวนให้บุคคลทั่วไปนำเงินมาลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่กับบริษัทซึ่งให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งความจริงแล้วบริษัท ด. ไม่ได้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และไม่ได้เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อการลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์ ก. เป็นความเท็จโดยทุจริตของบริษัท ด. เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ได้อ่านข่าวหลงเชื่อ จึงไปติดต่อและมอบเงินให้จำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกสำหรับผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

          เลือกสุ่มโทรศัพท์ไปหลอกลวงประชาชน อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับบัตรและบัญชีธนาคาร โดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินในบัญชีของประชาชน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใด จึงเป็นการฉ้อโกงประชาชน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2559   การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวก แล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติ ให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

          แม้จะแสดงข้อความเท็จแก่ประชาชน แต่ถ้าการแสดงข้อความเท็จนั้นไม่มีเจตนาจะได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวง ก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง เมื่อไม่ผิดฐานฉ้อโกงก็ย่อมไม่ผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2557   โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง ทำสัญญานายหน้ากับโจทก์กับพวกเพื่อให้โจทก์กับพวกทำหน้าที่ชี้ช่องติดต่อหาผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาโจทก์กับพวกติดต่อจำเลยที่ 2 ว่าจะซื้อที่ดิน แต่ยังไม่มีการนัดจดทะเบียนโอน จำเลยทั้งสองร่วมกันไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 3 แปลง และจำเลยที่ 2 ให้บริษัท จ. ซึ่งมี ธ. เป็นตัวแทนเป็นผู้ซื้อที่ดิน โจทก์กับพวกมีสิทธิได้รับค่านายหน้าตามสัญญาเป็นเงิน 5,560,000 บาท แต่จ่ายค่านายหน้าให้โจทก์เพียง 250,000 บาท การให้บริษัท จ. โดย ธ. เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลง เพื่อให้ตนได้รับค่านายหน้าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นการแสดงตนเป็นคนอื่น และการติดต่อทำสัญญากับโจทก์และพวกให้มีการซื้อขายที่ดินของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งเงินค่านายหน้าของโจทก์ ดังนี้ หากจะฟังว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องจริง การหลอกลวงเช่นนั้นก็มิได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวงแต่อย่างใด เงินที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ไปนั้นเป็นเพียงเงินค่านายหน้าซึ่งโจทก์ถือว่าตนมีสิทธิจะได้ และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้เท่านั้น เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ทั้งข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแสดงตนเป็นบุคคลอื่นหรือฉ้อโกงประชาชนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามฟ้องโจทก์และไม่มีมูลเป็นความผิด

          เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องถึงจำเลยคนใด ถึงแม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยคนนั้นกระทำความผิด แต่ศาลก็ลงโทษไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่มิได้กล่าวในฟ้องและเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ซึ่งต้องห้าม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2562  ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 306 และฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343 มีองค์ประกอบที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล โดยทุจริต หลอกลวง ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน โดยนำข้อมูลเท็จไปเผยแพร่ในงบการเงินประจำปี 2547 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไป แล้วผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนเข้ามาดูข้อมูลเท็จในงบการเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่างบการเงินเป็นความจริง จึงตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจนเหลือหุ้นที่ยังไม่ได้ขาย 140,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 878,169.19 บาท และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินลงทุนจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนผู้ถูกหลอกลวง เห็นได้ว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวเพียงคนเดียว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดฐานดังกล่าวมาด้วยนั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอและที่มิได้กล่าวในฟ้อง เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225