09 มีนาคม 2567

การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

 
          ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ย่อมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 แต่อย่างไรก็ตาม หากการกระทำนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยการยกเว้นความผิดให้

          ประมวลกฎหมายอาญา 
          มาตรา 329 "ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
          (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
          (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
          (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
          (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
          ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท"

          การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ซึ่งไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 329 ได้แก่

          1. การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ตามมาตรา 329 (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11119/2558  การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลงข้อความในเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมไปที่หน่วยงานราชการหลายแหล่ง แม้จะเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมก็ตาม แต่มิใช่เป็นการใส่ความโจทก์ร่วม เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริงว่าจำเลยทั้งสามไม่ยอมขายที่ดินให้โจทก์ร่วม เป็นเหตุให้เกิดความหวาดกลัวว่าโจทก์ร่วมเป็นข้าราชการทหารจะใช้อิทธิพลข่มขู่ รังแกจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นชาวบ้านและผู้หญิง จำเลยทั้งสามมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์ร่วม อีกทั้งการที่จำเลยทั้งสามระบุชื่อจริงนามสกุลจริงของโจทก์ร่วมและของจำเลยทั้งสามตลอดจนที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามไว้โดยชัดแจ้ง ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามนำข้อความลงในเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลยทั้งสาม การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11118/2558  ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่สำนักงาน น. ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง ว. นั้น โจทก์ร่วมดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน น. และในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่ศูนย์ พ. ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ให้ทุนสนับสนุนทางวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์แก่สำนักงาน น. เพื่อดำเนินงานโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพในหัวข้อ "การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของภาคเกษตรอินทรีย์ไทย" (Strengthening the Export Capacity of Thailand's Organic Agriculture) โดยทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมงานซึ่งดำเนินงานตามโครงการนี้ดังนั้นไม่ว่าการดำเนินงานตามโครงการนี้จะอยู่ในขอบเขตการทำงานตามที่สำนักงาน น. ว่าจ้างจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม เมื่อปรากฏชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการนั้นย่อมถือได้ว่าทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ซึ่งต่อมาทีมดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวได้จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอันมีใจความสำคัญและรายนามผู้เขียนร่วมกันตรงกันกับบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการฉบับหนึ่ง คงมีความแตกต่างในลำดับของรายนามผู้เขียน ซึ่งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างก็โต้แย้งว่าตนเองเป็นผู้เขียนหลักในบทความดังกล่าว ดังนั้นเมื่อทั้งรายงานฉบับสมบูรณ์ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมทั้งบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการดังกล่าวมีรายนามผู้เขียนร่วมกัน 7 คน เหมือนกัน และมีชื่อทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันเหมือนกันโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เขียนคนใดเขียนในเนื้อหาส่วนใด จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าบุคคลทั้งเจ็ดคนดังกล่าวเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าวร่วมกันทั้งหมด แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการดำเนินการตามโครงการนวัตกรรม ชื่อ "โครงการวิเคราะห์เชิงลึกการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย" ที่บริษัท ส. ได้รับทุนอุดหนุนการดำเนินโครงการจากสำนักงาน น. แต่เมื่อปรากฏว่าหัวข้อโครงการที่บริษัท ส. ดำเนินการดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกันกับหัวข้อโครงการที่สำนักงาน น. ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมดำเนินงาน และระยะเวลาการดำเนินโครงการของบริษัท ส. เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับระยะเวลาดำเนินโครงการของสำนักงาน น. ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. และใกล้เคียงกับช่วงระยะเวลาที่ทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ จึงมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าเนื้อหาการดำเนินโครงการของบริษัท ส. ดังกล่าวอาจมีความทับซ้อนกันกับเนื้อหาการดำเนินโครงการตามรายงานฉบับสมบูรณ์ที่มีชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งทีมงานจัดทำขึ้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมทำดุษฎีนิพนธ์ในการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ที่มีความใกล้เคียงกันกับหัวข้อดำเนินงานวิจัยในโครงการที่สำนักงาน น. ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 อยู่ในทีมดำเนินงาน และคล้ายคลึงกันกับหัวข้อบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ที่วารสารทางวิชาการ ทั้งยังเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันทั้งหมด โดยเอกสารทางวิชาการที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นมีเนื้อหาอันเป็นใจความสำคัญเหมือนกันโดยบรรณานุกรมของดุษฎีนิพนธ์ที่โจทก์ร่วมทำขึ้นก็อ้างอิงถึงรายงานฉบับสมบูรณ์ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งทีมงานได้จัดทำขึ้นด้วย ทั้งยังได้ความอีกด้วยว่า จำเลยที่ 1 สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตโดยจะเสนอหัวข้อดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยส่งบทความทางวิชาการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการมาแล้วนั้น แต่อาจารย์ที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 แจ้งว่า ไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ร่วมดำเนินงานโครงการวิจัยและมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันในบทความทางวิชาการที่มีการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการก่อนที่โจทก์ร่วมจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อที่ใกล้เคียงกัน ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมนำผลงานทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมวินิจฉัยและร่วมเขียนบทความไปใช้ในการเขียนดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมในผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องตามที่กล่าวอ้างถึงข้างต้นหรือไม่ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้เขียนร่วมในผลงานทางวิชาการที่กล่าวอ้างถึงดังกล่าว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วม ทั้งในวงวิชาการนั้นพึงมีบรรทัดฐานด้านจรรยาบรรณของนักวิชาการในระดับสากลเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้วิจัยหรือผู้เขียนผลงานทางวิชาการนำผลงานทางวิชาการของผู้สร้างสรรค์ร่วมกันมาใช้ในผลงานทางวิชาการของตน ก็ควรอย่างยิ่งที่โจทก์ร่วมจะได้บอกกล่าวผู้สร้างสรรค์ร่วมกันทุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 1 ว่าจะนำบทความที่เขียนร่วมกันนั้นไปใช้ในดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม และเมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม โดยในส่วนของจำเลยที่ 1 คือการกระทำในส่วนที่ให้สัมภาษณ์แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ลงพิมพ์เผยแพร่ข้อความคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์เป็นบทความภาษาอังกฤษ จึงต้องพิจารณาจากข้อความในบทความที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นเบื้องต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อความภาษาอังกฤษในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แล้ว เห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ข้อความดังกล่าวตามฟ้องทั้งหมด ทั้งใจความสำคัญของข้อความที่กล่าวอ้างไว้ในบทความภาษาอังกฤษล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม รายงานการดำเนินงานวิจัยที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมดำเนินงาน และบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับรายงานการดำเนินงานตามโครงการที่บริษัท ส. เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งงานสร้างสรรค์ในลักษณะงานนิพนธ์อันเป็นงานวรรณกรรมทั้งหกชิ้นดังกล่าวนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหรืออาจถึงขนาดที่กล่าวได้ว่าทับซ้อนกันในเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญได้ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมด ประกอบกับปรากฏตามสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงจากรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงจากรายงานการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำสั่ง จ. ว่า คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเอกสารทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 นั้นเป็นผลงานของจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ แต่ดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วมมีการคัดลอกงานวิชาการจากเอกสารจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งเป็นงานเขียนของกลุ่มบุคคลในปริมาณงานที่มาก แม้ว่าโจทก์ร่วมจะอ้างอิงเอกสารบางรายการไว้ในบรรณานุกรมของดุษฎีนิพนธ์ แต่การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism) ไม่ว่าจะเป็นการลอกวรรณกรรมของตนเองหรือเป็นการลอกวรรณกรรมของผู้อื่นหรือโดยผู้อื่นเป็นเจ้าของผลงานร่วมด้วย นอกจากนี้ สัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ในงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อโต้แย้งของทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการทำรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและในบทความที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยเป็นผู้จัดทำขึ้น รวมทั้งบทความทางวิชาการที่เผยแพร่ต่อเนื่องจากการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวมาทั้งหมดข้างต้นย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกันกับบุคคลอื่นในคณะบุคคลหรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกันกับหน่วยงานผู้ให้สนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้อง และแม้ลิขสิทธิ์ในรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและบทความที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยเป็นผู้จัดทำขึ้นจะมิใช่ของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย แต่ในฐานที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมในผลงานวิชาการในรูปแบบงานนิพนธ์อันเป็นงานวรรณกรรมซึ่งมีลิขสิทธิ์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์นั้นด้วย ดังนั้น จึงมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 พึงได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิในฐานะผู้เขียนเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดังกล่าวนั้นด้วยการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเป็นธรรม การแสดงข้อความตามฟ้องที่ปรากฏในบทความภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมในรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและบทความที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าโจทก์ร่วมได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงข้อความอันเป็นสาระสำคัญดังกล่าวของผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยมิได้บอกกล่าวหรือขออนุญาตผู้สร้างสรรค์ร่วมกันหรือผู้เขียนร่วม หรือผู้มีลิขสิทธิ์ในผลงานนั้นครบถ้วนทุกคน ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 ประกอบมาตรา 326 ดังที่โจทก์ฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20106/2556  จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด โจทก์เคยเป็นประธานทอดกฐิน โจทก์ จำเลย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดและกรรมการของวัดขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัดแยกออกเป็นหลายฝ่าย และกล่าวหาอีกฝ่ายยักยอกเงินของวัดจนมีการฟ้องคดีต่อศาล โจทก์เขียนข้อความกล่าวหาจำเลยว่าเคยบวชพระและมีประวัติเป็นอลัชชียักยอกเงินของวัด ไม่มีความละอายต่อบาป และเขียนป้ายประกาศติดไว้ที่หน้าวัดห้ามจำเลยเข้าบริเวณวัดและจำเลยยักยอกเงินของวัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนโกง เป็นคนไม่ดี การที่จำเลยเขียนหนังสือ และแจกจ่ายหนังสือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดเป็นทำนองตอบโต้โจทก์ เนื่องจากจำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การแสดงข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10034/2555  การที่จำเลยซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม ออกแถลงการณ์เป็นหนังสือแจกจ่ายแก่ประชาชนว่า โจทก์ร่วมปลอมประกาศนียบัตรผ่านการอบรมงานด้านคอมพิวเตอร์ขององค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม และนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ในการสมัครเป็นพนักงานส่วนตำบลที่จังหวัดราชบุรี โดยองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียมไม่เคยฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ให้แก่โจทก์ร่วม และการที่จำเลยประกาศด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงให้ประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แม้ข้อความนั้นจะมีลักษณะน่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่การกระทำของจำเลยมีเหตุให้เชื่อตามผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนที่มีความเห็นเชื่อว่าโจทก์ร่วมทำปลอมประกาศนียบัตร จึงถือได้ว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8974/2555  จำเลยพิพาทสิทธิในที่ดินพิพาทกับ ส. การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยได้รับสิทธิจาก ส. โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ซึ่งมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิที่ดินพิพาทอยู่เช่นเดิม แม้ข้อโต้แย้งในปี 2541 ระหว่างจำเลยกับ ส. จะได้ข้อยุติตามคำแนะนำของพนักงานสอบสวนให้คู่กรณีดำเนินการในทางแพ่ง แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการฟ้องคดีแพ่งก็หาได้ทำให้ข้อโต้แย้งถึงสิทธิเหนือที่ดินพิพาทเดิมระงับลงแต่ประการใด ดังนั้น การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ส. จึงต้องถือว่าโจทก์ยังโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทกับจำเลยเช่นเดียวกับ ส. การที่จำเลยเข้าแจ้งความเป็นหลักฐานอันเป็นการอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์ต่อไป จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนตามกฎหมายเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3269/2533  จำเลยและผู้เสียหายต่างทำงานอยู่ที่สำนักงานที่ดินแห่งเดียวกันการที่มีผู้ไปติดต่อขอรับมรดกที่ดินที่สำนักงานที่ดินดังกล่าวโดยได้ไปติดต่อกับผู้เสียหายก่อนแล้วจึงไปสอบถามจำเลยในลักษณะที่มีมูลทำให้จำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายได้เรียกเอาเงินจากผู้ไปติดต่อ อันเป็นการมิชอบ จำเลยจึงแจ้งเรื่องให้ ศ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทั้งของตนและของผู้เสียหายทราบเพื่อจะได้ดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไปนั้น เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยได้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความที่ถูกกล่าวหาโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

          แต่ถ้าเป็นการกล่าวประจาน โดยมีเจตนามุ่งประสงค์ให้ได้รับความอับอายและเพื่อทำลายชื่อเสียง การกระทำนั้นก็ย่อมมีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2554  การที่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการร้องขอจาก ห. ให้ไปช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องบุตรของ ห. ทะเลาะวิวาทกันเอง จึงไปที่บ้านของ ค. พบ ค. และบุตรของ ห. อีกหลายคน บรรดาบุตรของ ห. และจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ ห. จึงปรึกษาหารือพูดคุยกับ ส. เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกเกรงว่า ห. จะถูกโจทก์ร่วมหลอกลวงเอาทรัพย์สินไปหมดจะทำให้จำเลยกับพวกเดือดร้อน ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ถือได้ว่าในฐานะที่จำเลยเป็นลูกบ้านอยู่ในความปกครองของ ส. การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นการปรับทุกข์กับ ส. เพื่อให้ ส. หาทางช่วยแก้ไขปัญหาให้ครอบครัวของ ห. เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม แต่เมื่อ ป. เข้ามาร่วมรับฟังในภายหลังและจำเลยกล่าวต่อหน้า ป. ว่าโจทก์ร่วมเป็นชู้กับ ห. และหลอกเอาเงิน ห. แม้จำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมเป็นชู้กับ ห. และหลอกเอาเงิน ห. ก็ตาม แต่ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะกล่าวประจานโจทก์ร่วมต่อหน้า ป. ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาท เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมได้รับความอับอายและเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

          2. การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ตามมาตรา 329 (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 858/2523  ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการในตำแหน่งสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท จำเลยในฐานะหัวหน้าส่วนราชการของอำเภอวัดสิงห์ ได้เข้าร่วมประชุมข้าราชการประจำเดือนของทางอำเภอวัดสิงห์มีนายอำเภอเป็นประธาน ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล รวมราว 100 คนเข้าร่วมประชุม จำเลยกล่าวในที่ประชุมขอความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ดูแลสอดส่องรายงานความเคลื่อนไหวของผู้ลักลอบเล่นการพนันและโจรผู้ร้ายซึ่งได้กล่าวพาดพิงถึงโจทก์ว่า โจทก์ตั้งบ่อนการพนันทั้งในและนอกสถานที่ โจทก์เลี้ยงโจร ลูกน้องเป็นโจร โจทก์ตั้งตัวเป็นหัวหน้าโจร ลูกน้องโจทก์ไปทางไหน ขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านช่วยสอดส่องดูด้วย มูลเหตุที่จำเลยกล่าวเช่นนี้ก็สืบเนื่องจากเรื่องบัตรสนเทห์ ซึ่งมีผู้ร้องเรียนกล่าวหาตำรวจในอำเภอวัดสิงห์ โจทก์และคนอื่นหลานคนตั้งบ่อนการพนันและเรื่องนาย จ. นาย ส. ลูกจ้างของโจทก์รับสารสภาพในชั้นสอบสวนว่าคนร้ายปล้นทรัพย์และวางเพลิง แสดงว่าจำเลยมิได้จงใจกล่าวให้โจทก์เสียหายและเป็นการกล่าวถึงโจทก์ในขณะจำเลยเข้าประชุมข้อราชการประจำเดือนของทางอำเภอวัดสิงห์ที่จำเลยพูดเป็นเรื่องปฏิบัติตามหน้าที่เพราะจำเลยมีหน้าที่จะต้องชี้แจงในที่ประชุมจำเลยมีความประสงค์จะไม่ให้มีบ่อนการพนันและซ่องโจรในท้องที่ของจำเลยจึงเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ด้วย จำเลยไม่มีความผิด

          3. การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ตามมาตรา 329 (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1861/2561  ป.อ. มาตรา 329 เป็นบทบัญญัติยกเว้นการกระทำที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อมิให้ผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตต้องตกเป็นผู้กระทำผิด ทั้งนี้เพื่อให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่กระทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติ และเพื่อรักษาประโยชน์ของบุคคลหรือสาธารณะ ขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์จะกระทำได้มากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากองค์ประกอบความผิดแล้ว ยังต้องพิเคราะห์ความเกี่ยวข้องของผู้กระทำ ผู้เสียหาย สถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนมูลเหตุ และพฤติการณ์แวดล้อมอันเป็นที่มาแห่งการกระทำด้วยแม้ถ้อยคำและข้อความที่จำเลยที่ 2 กล่าวโจมตีโจทก์ แต่สถานะของโจทก์ที่เป็นนักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้นำประเทศ ย่อมเป็นที่คาดหวังของสังคมทุกระดับชั้นทั้งในและต่างประเทศว่าต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรม มีพฤติกรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกด้านของการกระทำทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะในมิติของกฎหมายหรือศีลธรรม ตลอดจนการดำรงตนในสังคมในทุกกรณีบุคคลสาธารณะในฐานะนักการเมืองเช่นโจทก์ ผู้มีส่วนได้เสียย่อมใช้สิทธิติชมได้โดยสุจริต และต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวาง ตามพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุดังวินิจฉัยเชื่อมโยงถึงขณะเกิดเหตุที่จำเลยที่ 2 กล่าวถ้อยคำในการแถลงข่าว ทั้งเป็นการแถลงต่อสื่อมวลชนโดยเปิดเผยอันแสดงถึงเจตจำนงที่ต้องการให้สาธารณชนรับรู้ จึงเข้าเกณฑ์ข้อยกเว้นว่าเป็นการกระทำไปโดยสุจริต เพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นจำเลยที่ 2 ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ในนามของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 329 (3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ส่วนถ้อยคำเปรียบเปรยหรือเสียดสีโจทก์เป็นผีปอบนั้น แม้เป็นการไม่สมควรกล่าวถึงโจทก์ แต่ก็เป็นถ้อยคำเสียดสีในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป ถ้อยคำส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2559  การเปิดบ่อนที่มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มิใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ประชาชนโดยทั่วไปประสงค์จะทราบเท่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า การพนันเป็นการมอมเมาประชาชนให้หลงในอบายมุข ก่อให้เกิดการกระทำความผิดอื่นตามมาเป็นลูกโซ่ มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลปราบปรามอาชญากรรมกลับมากระทำความผิดเสียเอง นอกจากจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อวงการราชการตำรวจแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการปราบปรามอาชญากรรมอีกด้วย ที่จำเลยทั้งสองสัมภาษณ์ พล.ต.อ. ส. ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดาซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ก็เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้จะมีข้อความหมิ่นประมาท การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558  ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3553/2550  ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีพลตรี ส. ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ทั้งพลตรี ส. และโจทก์เป็นผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง โจทก์จึงเป็นบุคคลที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามพฤติกรรมและย่อมวิพากษ์วิจารณ์ได้ เหตุคดีนี้เกิดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลตรี ส. โดยร้อยตำรวจเอก ฉ. เป็นผู้อภิปรายเสนอข้อมูลต่าง ๆ ว่ามีการวิ่งเต้นช่วยเหลือ อ. ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลในการอภิปรายดังกล่าวและเสนอข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีนี้ เป็นการตั้งข้อสงสัยพฤติกรรมของโจทก์ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือ อ. หรือไม่เท่านั้น กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ติชมและวิพากษ์วิจารณ์มิได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์รับสินบนแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงได้รับยกเว้นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) นั้นชอบแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12460/2547  เวลาเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่หลายคนแต่งกายนอกเครื่องแบบไปขอค้นบ้านจำเลยเพื่อพบและจับน้องชายของจำเลยในคดีเช็ค ส่วนโจทก์ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ แต่ได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลยด้วยในฐานะที่เป็นบิดาของผู้เสียหายในคดีเช็คที่น้องชายของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้ แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์และพฤติการณ์เกี่ยวกับการทวงหนี้ของโจทก์ที่แต่งเครื่องแบบไปขอค้นบ้านของจำเลยซึ่งเป็นผู้หญิงและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน จนจำเลยเกิดความเกรงกลัวต่อโจทก์จนต้องยอมใช้หนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์และมีสิทธิที่จะร้องเรียนโดยสุจริตได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประพฤติตนไม่เหมาะสม ดังนั้น การที่จำเลยส่งโทรสารไปลงหนังสือพิมพ์โดยมีใจความเป็นการแสดงความเสียใจ น้อยใจของจำเลยและเกรงกลัวจากการกระทำของโจทก์จนต้องชำระหนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ไป เป็นทำนองขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสอดส่องตักเตือนเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นมิตรกับประชาชน จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนเยี่ยงจำเลยที่ต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นพึงกระทำได้ และการที่จำเลยระบุชื่อนามสกุลจริงของโจทก์และจำเลย ตลอดจนที่อยู่ของจำเลยไว้แจ้งชัดในโทรสารด้วยย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยเขียนข้อความในโทรสารนั้นด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

          4. การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ตามมาตรา 329 (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3654/2543  การที่จำเลยที่ 2 นำข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลซึ่งเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ และข้อความดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่คดีของตนที่ฟ้องโจทก์ เท่านั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 136 ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการเผยแพร่คำฟ้อง ไม่มีข้อความอื่นนอกเหนืออันจะส่อแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงการรายงานข่าวเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลโดยสุจริต จำเลยที่ 2 จึงได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329 (4) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้อง

08 มีนาคม 2567

สิทธิเรียกร้องอันเนื่องมาจากผลของการหย่า


          การใช้อำนาจปกครองบุตรหลังการหย่า


          มาตรา 1520 กำหนดให้ใครมีอำนาจปกครองบุตร ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี

          (1) การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรส  สำหรับกรณีนี้ เมื่อสามีภริยาตกลงกันได้โดยทำเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรคนใด อำนาจปกครองบุตรก็เป็นไปตามนั้น แต่หากสามีภริยาตกลงกันไม่ได้ในเรื่องอำนาจปกครองบุตร ก็จะต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
          สำหรับข้อตกลงเป็นหนังสือในเรื่องอำนาจปกครองบุตรนั้น จะต้องมีข้อความชัดแจ้งด้วยว่าให้อำนาจปกครองบุตรอยู่ที่ใคร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2565/2536  โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยามีบุตรด้วยกันสองคน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2528 โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน และได้ทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าไว้ว่า โจทก์จำเลยตกลงให้จำเลยเป็นผู้อุปการะบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง และเกี่ยวกับทรัพย์สินได้ตกลงกันว่า จำเลยจะยกรถยนต์ 2 คัน และบ้านอีก 1 หลัง ให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนภายในกำหนด 1 ปี มีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ตามบันทึก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในนามของโจทก์เองได้ แต่เป็นเรื่องของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแล้ว เห็นว่า ข้อความในข้อ 2 ดังกล่าวเพียงให้จำเลยอุปการะบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเท่านั้น หาใช่ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ผู้เดียวไม่ อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองยังอยู่กับโจทก์ด้วย โจทก์มีอำนาจฟ้องในนามของตนเองได้ไม่จำต้องให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเรียกชำระหนี้จากโจทก์ เพราะบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะยอมรับทรัพย์สินหรือไม่เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี

          (2) การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล  กรณีนี้ศาลก็จะเป็นผู้ชี้ขาดว่าฝ่ายใดจะมีอำนาจปกครองบุตร ซึ่งแม้คู่ความมิได้มีคำขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องอำนาจปกครองบุตร ศาลก็มีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้เอง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2548 แต่อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติคู่ความควรจะมีคำขอและนำสืบถึงความเหมาะสมในเรื่องอำนาจปกครองบุตร เพื่อให้ศาลมีข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเพียงพอแก่การวินิจฉัย


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8087/2543  โจทก์ฟ้องขอหย่าจากจำเลยและขอให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียว เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยเป็นผู้เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์ยิ่งกว่าโจทก์ แม้จำเลยจะไม่ได้ฟ้องแย้งศาลก็มีอำนาจที่จะชี้ขาดว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ฝ่ายเดียวได้
          อย่างไรก็ตาม แม้ศาลสั่งให้ใครมีอำนาจปกครองบุตรแล้ว หากต่อมาปรากฏว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลก็มีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรนั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8161/2543  บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521ประกอบมาตรา 1566(5) ที่ให้อำนาจศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้เยาว์ในการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจปกครองมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้ทั้งการเสนอคดีโดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขอแบบคดีไม่มีข้อพิพาท ฉะนั้น เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาของเด็กหญิง ป. อ้างในคำร้องขอว่า ร. มารดาเด็กหญิง ป. ไม่สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กหญิง ป. เนื่องจากมิได้ประกอบอาชีพ ประสงค์จะให้เปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้ร้อง ทั้งผู้ร้องรับราชการเป็นทหาร สามารถอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและความอบอุ่นแก่เด็กหญิง ป. ได้ หากเป็นจริงย่อมถือได้ว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภายหลังแล้ว ศาลจึงมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองได้โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กหญิง ป. เป็นสำคัญหาใช่เป็นเรื่องไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลไม่แม้ผู้ร้องสอดเสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องขอศาลก็รับคำร้องขอของผู้ร้องไว้พิจารณาได้


          การอุปการะเลี้ยงดูบุตรหลังการหย่า


          เมื่อหย่าขาดจากกัน สามีและภริยายังมีหน้าที่จะต้องออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรต่อไป เนื่องจากการหย่าขาดจากกันมิได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรสิ้นสุดลงแต่อย่างใด โดยในการหย่าโดยความยินยอมอาจมีการกำหนดว่าฝ่ายใดต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจำนวนเท่าใด แต่หากมิได้ตกลงกันไว้ในหนังสือหย่า ก็ต้องให้ศาลสั่งกำหนดจำนวนเงินให้ตามสมควร ส่วนกรณีการหย่าโดยคำพิพากษาของศาลนั้น ศาลก็จะสั่งกำหนดจำนวนเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่สามีหรือภริยาจะต้องเป็นผู้ชำระเช่นเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1753/2520  เมื่อจำเลยตกลงให้โจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูบุตรโดยจำเลยยอมจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรและค่าเล่าเรียนตลอดจนอุปกรณ์การเรียนกับค่ารักษาพยาบาลบุตรให้โจทก์ตามสัญญาแล้ว จำเลยจะนำเหตุที่ว่าตนมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรภริยา (คนใหม่)และมีหนี้สินมาอ้างเพื่อปัดความรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2697/2548  บทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 เป็นการกำหนดให้สิทธิแก่บิดามารดากับบุตรสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างกันได้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูมีบทบัญญัติมาตรา 1565 ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวแล้วยังกำหนดให้บิดาหรือมารดาสามารถนำคดีขึ้นว่ากล่าวได้เองด้วย
          บทบัญญัติมาตรา 1564 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 296
          โจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ แต่มิได้ตกลงว่าโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ฝ่ายเดียวจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่ได้ออกไปก่อนนับแต่วันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตามมาตรา 229 (3) แม้ขณะยื่นฟ้องนั้นบุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรสมควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดตามมาตรา 1522
          การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มีอายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไปซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12


          การเรียกค่าทดแทน


          กรณีศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกันเนื่องจากเหตุมีการล่วงเกินในทางประเวณีนั้น สามีหรือภริยาผู้เป็นโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน โดยอาจแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
          (1) ภริยาประพฤตินอกใจสามีหรืออุปการะเลี้ยงดูชายอื่นฉันสามี มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับชายอื่นเป็นอาจิณ หรือมีการล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาว
          กรณีนี้ อาจโดยการฟ้องหย่าแล้วเรียกค่าทดแทนหรือเลือกฟ้องเรียกเฉพาะค่าทดแทนโดยไม่ต้องหย่าก็ได้ โดยการฟ้องภริยาและชายอื่นเป็นจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2530  การล่วงเกินในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสองมีความหมายรวมถึงการทำชู้ด้วย สิทธิเรียกค่าทดแทนนี้มิได้มีเงื่อนไขว่าสามีจะต้องฟ้องหย่าภริยาเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวได้และค่าทดแทนในกรณีนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งที่ชายชู้ต้องรับผิด ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามฐานานุรูปแห่งผู้ต้องได้รับความเสียหาย ซึ่งรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2533  เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นชู้กับภริยาโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2โดยไม่จำเป็นจะต้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ด้วย และค่าทดแทนเกี่ยวกับกรณีนี้ กฎหมายให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์
          (2)  สามีประพฤตินอกใจภริยาหรืออุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา เป็นชู้ หรือร่วมประเวณีกับหญิงอื่นเป็นอาจิณ หรือสามีไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นในทำนองชู้สาว
          กรณีนี้ หากภริยาต้องการเรียกค่าทดแทนจากสามีและหญิงอื่น ภริยาต้องฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนโดยการฟ้องสามีและหญิงอื่นเป็นจำเลย หรือหากไม่ต้องการฟ้องหย่าก็สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2535  พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมเรือนเดียวกันและมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างเปิดเผย โดยเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปว่าบุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวต่อกันจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าโจทก์เคยไปพบบิดาของจำเลยที่ 2 ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ไปบ้านจำเลยที่ 2 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนแก่บุคคลทั่วไปว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาวจึงเป็นเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรมอยู่ในตัวและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ซึ่งเป็นภรรยาโดยตรง ซึ่งโจทก์ก็แสดงให้เห็นว่ามีฐานะทางสังคมที่ดี เมื่อมีพฤติการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นผู้บังคับบัญชาของโจทก์มีทัศนะต่อโจทก์ในทางไม่ดี ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความราบรื่นในชีวิตสมรสของโจทก์ และความผาสุกในครอบครัว ซึ่งถูกกระทบกระเทือนอยู่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ค่าทดแทนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนตามควรแห่งพฤติการณ์และสถานะของคู่สมรสประกอบกัน โจทก์ได้ทราบถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองกลางปี 2525 แต่คำฟ้องและชั้นนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ยืนยันความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมาถึงปี 2528 มิได้หยุดการกระทำและสิ้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนภายในปี 2528 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2538   การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ไม่มีเงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหย่าสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียก ค่าทดแทนจากหญิงนั้นได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


          การเรียกค่าเลี้ยงชีพ


          (1) การหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายเดียวและการหย่าทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง โดยคู่สมรสฝ่ายที่จะเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเรียกค่าเลี้ยงชีพในคดีฟ้องหย่านั้น จะมาฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพในภายหลังจากคดีฟ้องหย่าไม่ได้ เพราะสิทธิเรียกร้องเรียกค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุดลงแล้ว เช่นเดียวกันกับการหย่าโดยความยินยอมที่ต้องตกลงกันในเรื่องค่าเลี้ยงชีพให้เรียบร้อยพร้อมกับการทำสัญญาหย่า หากไม่ตกลงกันไว้ก็จะมาฟ้องในภายหลังไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2985/2525 โจทก์เพิ่งจะหางานทำได้หลังจากที่แยกกันอยู่กับจำเลยจึงติดใจขอค่าเลี้ยงชีพจากจำเลย จำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น กรณีถือได้ว่าการหย่าทำให้โจทก์ยากจนลง เพราะไม่มีรายได้จากการงานตามที่เคยทำอยู่ในระหว่างสมรส เมื่อเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของจำเลยจำเลยจึงต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4815/2539  โจทก์ออกจากบ้านที่ปลูกสร้างและอยู่กินกับจำเลยเพราะต้องการพาบิดาซึ่งเป็นโรคหัวใจไปให้พ้นจากบิดาจำเลยซึ่งชอบดื่มสุราแล้วส่งเสียงดังโจทก์และจำเลยเคยตกลงจะไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกันแต่หย่าไม่ได้เพราะโจทก์ไม่มีเงินชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่จำเลยพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และจำเลย สมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาและการแยกกันอยู่ดังกล่าวเป็นเวลานับถึงวันฟ้องเกินสามปีแล้วโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/2) การที่จำเลยจะ เรียกค่าเลี้ยงชีพได้จะต้องปรากฎว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียว ดังนี้เมื่อฟังได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นเพราะโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีจำเลยจึงเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์มิได้

          (2) การหย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตหรือเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง โดยฝ่ายผู้วิกลจริตหรือเป็นโรคติดต่อจะต้องฟ้องแย้งให้โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนด้วย จะมาฟ้องในภายหลังไม่ได้

          (3) กรณีทำสัญญาตกลงเรื่องค่าเลี้ยงชีพกันเอง หากผิดสัญญาก็ฟ้องร้องได้ แต่ถ้าไม่มีการตกลงกันไว้ในสัญญาหย่า ก็จะมาฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพภายหลังไม่ได้

          (4) การเลิกชำระค่าเลี้ยงชีพ สิทธิในการรับค่าเลี้ยงชีพย่อมสิ้นสุดลงเมื่อฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการจ่ายค่าเลี้ยงชีพ

          (5) สิทธิที่จะได้รับค่าเลี้ยงชีพจะสละหรือโอนไม่ได้และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี



การเรียกค่าเลี้ยงชีพเนื่องจากการหย่า

 

          

          มาตรา 1526 ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติมาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
          สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น


          1. การเรียกค่าเลี้ยงชีพตาม ป.พ.พ.มาตรา 1526 ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ

          (1) เหตุแห่งการหย่านั้น เป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายที่ถูกเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพแต่เพียงฝ่ายเดียว 

          จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ อันเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจฟ้องแย้งเรียกค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8151/2560  ค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ การที่จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ อันเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าได้ อย่างไรก็ตามจำเลยสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูก่อนฟ้องจนถึงศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้หย่าได้ และสิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ถึงแม้จำเลยจะมิได้ขอมา ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38

          กรณีที่คู่สมรสต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินกว่า 3 ปี แม้คดีจะมีเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ประกอบด้วย แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10770/2558  โจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในขณะนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นอันสิ้นผลไปทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่สถานะเดิมหมายถึงการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิและได้รับการคุ้มครองในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมเป็นภริยาจนมีบุตรด้วยกันจนถึงวันที่มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นเหตุต่อเนื่องที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยมิได้หยุดการกระทำหรือหมดสิ้นไป จำเลยยังคงมีสิทธิฟ้องหย่าโจทก์ได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง
          โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ตั้งแต่ปลายปี 2538 จนถึงวันฟ้องและฟ้องแย้งเป็นเวลาประมาณ 16 ปี โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความพยายามที่จะกลับไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอีก คงมีแต่การฟ้องคดีกันทั้งสองฝ่าย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินกว่า 3 ปี แม้คดีจะมีเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ประกอบด้วย แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์มาตรา 1526 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์

          (2) การหย่าจะทำให้คู่สมรสฝ่ายที่เรียกร้องเอาค่าเลี้ยงชีพนั้นยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2561  เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียว ทั้งจำเลยไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรโดยโจทก์เคยให้เงินจำเลยเป็นค่าใช้จ่าย การที่โจทก์หย่ากับจำเลยทำให้จำเลยยากจนลง จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7072/2559  ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่าจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง อีกฝ่ายหนึ่งจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1526 วรรคหนึ่ง แต่แม้จะได้ความว่าการหย่าเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นความผิดของฝ่ายจำเลยก็ตาม แต่ศาลจะกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงว่าอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงด้วย โจทก์มีอาชีพรับจ้างตัดต่อภาพทางคอมพิวเตอร์ มีรายได้ประมาณเดือนละ 5,000 บาท โจทก์เป็นบุตรคนเดียวของบิดามารดา บิดารับราชการแต่เกษียณอายุแล้ว มารดาเป็นแม่บ้าน เมื่อแยกทางกับจำเลยแล้วโจทก์ต้องกลับไปพักอาศัยกับบิดามารดา ต้องช่วยค่าใช้จ่ายในบ้านด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการหย่าเป็นเหตุให้โจทก์ยากจนลง แต่เมื่อปรากฏจากรายงานผลการกำกับการทดลองปกครองเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ครั้งที่ 1 ของผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 โจทก์ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับ อ. ซึ่งเป็นคู่ครองใหม่ของโจทก์แล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าเป็นการอยู่กินฉันสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นพฤติการณ์ที่ศาลสามารถนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ ศาลฎีกาสมควรกำหนดให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2557
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3232/2533  การที่โจทก์ป่วยเป็นอัมพาตได้ประมาณ 3 เดือนแล้วจำเลยได้ออกจากบ้านไปโดยมิได้กลับมาอีกเป็นเวลาประมาณ 7 ปี ทั้งมิได้ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสมควรแต่อย่างใดนั้นเป็นการจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินหนึ่งปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516(4) โจทก์ป่วยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล จำเลยรับราชการไม่มีเวลาดูแล รักษาพยาบาลโจทก์ได้ โจทก์จึงนำน้องชายมาอยู่ในบ้านด้วยเพื่อให้เป็นผู้ช่วยเหลือดูแล ถือได้ว่าโจทก์มีเหตุผลอันจำเป็นและสมควรเป็นอย่างยิ่ง การที่น้องชายโจทก์ทะเลาะกับจำเลยและทำร้ายจำเลยนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งจำเลยเองก็มีอำนาจที่จะบอกให้น้องชายโจทก์ออกไปจากบ้านได้ แต่จำเลยก็มิได้กระทำเช่นนั้น กลับออกไปจากบ้านเสียเอง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าโจทก์ป่วยเป็นอัมพาตช่วยเหลือตนเองมิได้และกำลังต้องการความช่วยเหลือจากจำเลยอยู่ เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยถือโอกาสละทิ้งร้างโจทก์โดยมิได้ตั้งใจจะอยู่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามความสามารถและฐานะของตน จึงถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าดังกล่าวเป็นเพราะความผิดของจำเลยเองแต่เพียงฝ่ายเดียว และเนื่องจากโจทก์มีอาชีพค้าขายของชำแต่หลังจากป่วยเป็นอัมพาตแล้วโจทก์มิได้ทำมาค้าขายอีก ทำให้ขาดรายได้ต้องอาศัยญาติพี่น้องออกค่ารักษาพยาบาลและค่าเลี้ยงดูประมาณเดือนละ 1,000 บาท โจทก์จึงมีฐานะยากจนลงเช่นนี้ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์หลังจากหย่าขาดจากกัน

          ถ้าการหย่านั้นไม่ได้ทำให้คู่สมรสฝ่ายที่เรียกร้องเอาค่าเลี้ยงชีพยากจนลง  ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2533 ระหว่างอยู่กินกับจำเลยที่ 1 โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว และสำหรับเรื่องเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยเกี่ยวข้องกัน ทั้งโจทก์ยังช่วยออกค่าใช้จ่ายภายในบ้านอีกด้วย ฟังไม่ได้ว่าการหย่าทำให้โจทก์ยากจนลงในอันที่จะมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526

          (3) คู่สมรสฝ่ายที่ต้องการเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพ จะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งมาในคดีหย่านั้น

          กรณีที่ศาลมิได้พิพากษาให้หย่าขาดจากกัน ก็ไม่อาจบังคับให้อีกฝ่ายรับผิดชำระค่าเลี้ยงชีพให้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2550  แม้จำเลยให้การและบรรยายคำฟ้องแย้งตอนแรกว่า โจทก์ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยเป็นทำนองว่า โจทก์ในฐานะสามีไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเป็นภริยาเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของสามีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง กำหนดก็ตาม แต่เมื่ออ่านคำฟ้องแย้งของจำเลยแต่แรกจนถึงคำขอท้ายฟ้องแย้งโดยตลอดทั้งหมดแล้ว ได้ใจความตามที่บรรยายว่า เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นสามีฝ่ายเดียว การฟ้องหย่าของโจทก์ทำให้จำเลยยากจนลง หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยเป็นรายเดือน ซึ่งตรงตามหลักเกณฑ์เรื่องค่าเลี้ยงชีพที่ ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในกรณีที่มีการหย่าแล้ว จะทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง ถือไม่ได้ว่าจำเลยฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลย เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดกัน จึงไม่อาจบังคับให้โจทก์รับผิดชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยตามคำขอท้ายฟ้องแย้งได้

          กรณีตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่า จะต้องตกลงในเรื่องค่าเลี้ยงชีพให้เรียบร้อยด้วย จะมาเรียกร้องภายหลังไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2561  โจทก์ฟ้องจำเลยขอหย่า ขอแบ่งสินสมรส ขอถอนอำนาจปกครองจำเลย และขอให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยยินยอมที่จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว การที่โจทก์จะเรียกให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนได้นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ครบหลักเกณฑ์ 3 ประการว่า เหตุแห่งการหย่าในคดีนี้เป็นความผิดของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว การหย่านั้นทำให้โจทก์ยากจนลงเพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่และโจทก์จะต้องฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพมาในคดีฟ้องหย่า เมื่อคดีนี้โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระหว่างพิจารณาโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย จึงไม่มีประเด็นฟ้องหย่าต่อศาลให้วินิจฉัย และไม่มีกรณีที่จะถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายใด จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 เมื่อมิได้ตกลงกันไว้ในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ ย่อมไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมาเรียกค่าเลี้ยงชีพได้

          อย่างไรก็ตาม ถ้าพฤติการณ์เกี่ยวกับรายได้หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2540  มาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่คู่หย่าได้ในกรณีหนึ่ง เมื่อปรากฎว่าการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง มิได้เป็นบทบัญญัติที่บังคับว่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้แต่เฉพาะมีคดีฟ้องหย่าเท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่าว่าจำเลยยอมจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และยอมชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนทุกเดือนตลอดไป ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยึดขยายหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภรรยาออกไปหลังการสมรสสิ้นสุดลง อันเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกัน ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมใช้บังคับได้ และในมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูมาใช้บังคับเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพโดยอนุโลม ซึ่งเมื่ออนุโลมตามมาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง แล้วจะได้ความว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลดเพิ่มหรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไปจึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ 
          โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนจำเลยซึ่งเป็นความเหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าว และจำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์นับแต่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตลอดมา แต่เมื่อพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์และจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งนี้ กฎหมายมิได้กำหนดให้ดูความเปลี่ยนแปลงของฐานะของคู่กรณีแต่เฉพาะทรัพย์ที่มีขึ้นภายหลังการหย่า จึงต้องคำนึงถึงทรัพย์สินทุกชนิดที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมีอยู่ขณะที่พิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลง เมื่อโจทก์ยังมีที่ดินเนื้อที่ 80 ตารางวา พร้อมบ้านสองชั้นมีราคาสูงกว่า 700,000 บาท ส่วนจำเลยมีรายได้เฉพาะเงินเดือนเพียงอย่างเดียวจำนวนเดือนละ 15,380 บาท มีภริยาและบุตรอายุ 13 ปี ที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาอีก 1 คน นอกจากนี้ยังเป็นหนี้สหกรณ์ 120,000 บาท โดยไม่มีทรัพย์สินใด ๆ เป็นของตนเอง หากจำเลยต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือน เป็นเงินเดือนละ 5,383 บาท จำเลยจะเหลือเงินที่ใช้จ่ายในครอบครัวเดือนละไม่ถึง 10,000 บาท และเหลือเวลารับราชการอีกเพียง 4 ปี ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบฐานะของโจทก์กับจำเลยแล้วเห็นได้ว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์และจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยปัจจุบันจำเลยกลับอยู่ในสภาพที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าโจทก์ จึงถึงเวลาสมควรที่จะสั่งให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ โดยให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้
          

          2. การเรียกค่าเลี้ยงชีพอันเนื่องมาจากการหย่าเพราะเหตุวิกลจริตหรือเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง ตามมาตรา 1527

          มาตรา 1527 ถ้าหย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตตามมาตรา 1516 (7) หรือเพราะเหตุเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1516 (9) คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องออกค่าเลี้ยงชีพให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริตหรือฝ่ายที่เป็นโรคติดต่อนั้นโดยคำนวณค่าเลี้ยงชีพอนุโลมตามมาตรา 1526

          กรณีนี้ ฝ่ายจำเลยซึ่งถูกฟ้องหย่าเพราะเหตุวิกลจริตหรือเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงดังกล่าว สามารถฟ้องแย้งให้ฝ่ายโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนเองได้ หากศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกัน ตามมาตรา 1527  

          3. คู่สมรสสามารถตกลงกันกำหนดเรื่องค่าเลี้ยงชีพไว้ในสัญญาหย่าได้ ถ้าไม่ตกลงค่าเลี้ยงชีพกันไว้ในสัญญาหย่า จะมาฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพกันในภายหลังไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1228/2523  บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิมถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 3 ขณะฟ้องคดีนี้เป็นเวลาที่ใช้บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ การเรียกค่าเลี้ยงชีพต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1526 ซึ่งจะเรียกได้ก็ต่อเมื่อมีคดีหย่าและจะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเรียกมาในคดีหย่านั้นและศาลจะสั่งให้ได้ก็ต่อเมื่อปรากฏว่าเหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว กรณีคดีนี้โจทก์จำเลยได้ตกลงหย่ากันเองและจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายโดยไม่มีคดีฟ้องหย่าต่อศาลจึงไม่มีกรณีที่จะถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายใด เมื่อมิได้ตกลงกันไว้ในเรื่องค่าเลี้ยงชีพย่อมไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมาเรียกค่าเลี้ยงชีพจากกันภายหลังหย่ากันแล้ว

          4. การเลิกชำระค่าเลี้ยงชีพ 
          เมื่อศาลพิพากษาให้ฝ่ายใดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแล้ว ฝ่ายนั้นย่อมมีหน้าที่จ่ายค่าเลี้ยงชีพตามจำนวนและระยะเวลาตามที่กำหนด แต่ถ้าฝ่ายที่ได้รับค่าเลี้ยงชีพทำการสมรสใหม่ หรือกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการจ่ายค่าเลี้ยงชีพ เมื่อฝ่ายที่มีหน้าที่จ่ายยื่นคำร้องขอต่อศาล โดยแสดงให้เห็นว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว



06 มีนาคม 2567

สัญญาจะซื้อจะขาย


          สัญญาจะซื้อจะขาย คือ สัญญาซื้อขายซึ่งคู่สัญญาตกลงทำกันไว้ในวันทำสัญญาหรือในขณะทำสัญญา โดยตกลงกันว่าจะไปทำการซื้อขายให้ถูกต้องตามแบบของกฎหมายอีกครั้งหนึ่งในวันข้างหน้า การทำสัญญาจะซื้อจะขายจึงยังไม่มีผลให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15097/2558   ป.พ.พ. มาตรา 519 บัญญัติว่า “บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายนั้น ท่านให้ใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย โดยให้ถือว่าผู้เป็นคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ขายในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้ส่งมอบ และเป็นผู้ซื้อในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้รับในการแลกเปลี่ยนนั้น” แม้หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดินจะระบุชื่อสัญญาว่าเป็นหนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดิน อันอาจจะแปลได้ว่าเป็นสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาดก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาโจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าจะแลกโฉนดที่ดินกัน โดยจำเลยจะแบ่งที่ดินคืนให้โจทก์ 12 ไร่เศษ ตามจำนวนที่จำเลยแบ่งขาย จึงไม่ใช่สัญญาที่ตกลงกันให้ความเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโอนไปทันทีที่มีการทำสัญญา แต่จำเลยยังมีหน้าที่แบ่งแยกที่ดินแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ตามข้อตกลงในสัญญา จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์กับจำเลยมีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันในภายหลัง หามีเจตนาจะให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันโอนทันทีในวันทำสัญญาไม่ หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง หาใช่สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาดซึ่งจะตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12705/2557  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่มีข้อตกลงว่า หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อจะดำเนินการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือธนาคาร เมื่อธนาคารอนุมัติสินเชื่อ จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์นั้น เห็นได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมีเงื่อนไขที่โจทก์จะต้องไปขอสินเชื่อกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือธนาคารเพื่อชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย สถาบันการเงินหรือธนาคารจะให้กู้หรือไม่เป็นเรื่องไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินหรือธนาคารจะเป็นผู้พิจารณา หากสถาบันการเงินหรือธนาคารไม่ให้กู้ สัญญาจะซื้อจะขายย่อมไม่อาจสำเร็จลุล่วงได้ เมื่อโจทก์ได้ดำเนินการเพื่อขอกู้เงินจากธนาคารถึงสองธนาคาร แต่ธนาคารทั้งสองแห่งไม่อนุมัติ เงื่อนไขตามสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่เป็นผล สัญญาไม่อาจสำเร็จลุล่วงไปได้ แม้จะไม่ปรากฏว่ามีการจำกัดช่วงเวลาหรือจำนวนสถาบันการเงินหรือธนาคารที่โจทก์จะดำเนินการขอสินเชื่อ โจทก์จึงยังอาจดำเนินการขอสินเชื่อได้อีก ไม่ใช่เรื่องพ้นวิสัย แต่ก็ไม่แน่นอนว่าการดำเนินการขอสินเชื่อจะได้รับอนุมัติจากสถาบันการเงินหรือธนาคารใดหรือไม่ เมื่อไร ทั้งการดำเนินการขอสินเชื่อจากธนาคารมาสองแห่งแล้ว ถือว่าโจทก์ขวนขวายดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามสัญญาตามสมควรแล้ว กรณีมิใช่ว่าโจทก์จะต้องดำเนินการขอสินเชื่อเรื่อยไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของคู่สัญญา เมื่อโจทก์พยายามปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาแล้วแต่ไม่สำเร็จไม่สามารถนำเงินมาชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือได้ จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้ผิดนัดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบมัดจำ ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับว่า ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14921/2555   สัญญาซื้อขายเรือระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีใจความแสดงให้เห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ซื้อตามสัญญามีความประสงค์ที่จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในเรือซึ่งมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไปที่ซื้อขายเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินครบถ้วนแล้ว แม้โจทก์จะส่งมอบเรือทั้งสามลำที่ซื้อขายให้จำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในเรือทั้งสามลำให้เสร็จเด็ดขาดต่อไป สัญญาซื้อขายเรือดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง จึงไม่ตกเป็นโมฆะ
          ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว ผู้ทำสัญญาไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเรือที่จะซื้อขายขณะทำสัญญาก็ได้ เพราะสาระสำคัญที่เป็นวัตถุประสงค์ของการซื้อขายก็คือให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยชำระราคาตามที่ตกลงกัน และเป็นหน้าที่ของผู้ขายที่ต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ทั้งได้ความว่าโจทก์ได้ส่งมอบเรือทั้งสามลำที่จะซื้อขายพร้อมหนังสือมอบอำนาจในการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือทั้งสามลำให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญา แสดงว่าโจทก์สามารถดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในเรือทั้งสามลำที่จะซื้อขายให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ สัญญาซื้อขายเรือดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีผลใช้บังคับได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7221/2552   คดีนี้โจทก์เบิกความว่า เมื่อทำสัญญาซื้อขายแล้ว อ. ได้ส่งมอบที่ดินกับบ้านพิพาทที่โจทก์ครอบครองอยู่ก่อนแล้วตามสัญญาเช่าให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์และโจทก์ก็ได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าการซื้อขายระหว่างโจทก์กับ อ. มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายที่โจทก์และ อ. ทำขึ้นแก่กันโดยกำหนดข้อตกลงให้คู่สัญญาไปจดทะเบียนโอนแก่กันหลังจากทำสัญญาซื้อขาย 5 ปีเศษ ดังนี้ สัญญาซื้อขายที่ทำกันจึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย และตราบใดที่ยังไม่มีการจดทะเบียนโอน สิทธิครอบครองก็ยังไม่โอนไปยังโจทก์ผู้จะซื้อ แม้จะมีการส่งมอบการครอบครองแต่ อ. ผู้จะขายก็ยังไม่มีเจตนาสละการครอบครอง การครอบครองของโจทก์เป็นเพียงการครอบครองแทน อ. ผู้จะขายเท่านั้น โจทก์ไม่อาจอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้างศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย
          เมื่อฟังว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทไม่ประสงค์ให้โจทก์อยู่และให้โจทก์ออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท การที่โจทก์ยังคงอยู่จึงเป็นการละเมิดทำให้จำเลยเสียหาย โจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6939/2552  โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทกับจำเลย ย่อมแสดงว่าโจทก์ผู้จะซื้อเชื่อถือข้อสัญญาที่ทำกับจำเลยและมุ่งหมายจะได้รับประโยชน์จากการใช้สอย โดยมั่นใจว่าโครงการของจำเลยจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จพร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ตามที่ระบุในสัญญา กำหนดระยะเวลาก่อสร้างและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของสัญญา หาเป็นเพียงการประมาณเวลาที่จะแล้วเสร็จมิใช่กำหนดเวลาตายตัวแต่อย่างใดจำเลยเป็นเจ้าของโครงการขนาดใหญ่ มีประสบการณ์ในการจัดสรรที่ดินมาแล้วหลายโครงการย่อมทราบถึงขั้นตอนและระยะเวลาในการขอใบอนุญาตจัดสรรเป็นอย่างดีจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องขวนขวายเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญา จำเลยจะอ้างเหตุเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินล่าช้าเพื่อขยายระยะเวลาก่อสร้างและโอนกรรมสิทธิ์ออกไปหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงปรากกฎว่าหลังจากโจทก์ชำระเงินดาวน์ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้น 29 งวดแล้ว โจทก์ได้รับการติดต่อจากจำเลยว่าหากจะผ่อนค่าบ้านต่อไปก็ผ่อนได้ โดยจำเลยจะนำเงินดังกล่าวไปเป็นทุนสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ โจทก์จึงชำระเงินให้แก่จำเลยอีก 5 งวด เป็นเงิน 75,000 บาท การที่โจทก์ขวนขวายหาเงินมาผ่อนชำระให้จำเลยอีก 5 งวด ทั้ง ๆ ที่ผ่อนเงินดาวน์มาครบแล้ว ย่อมแสดงว่าขณะนั้นโจทก์ต้องการจะรับโอนกรรมสิทธิ์และเข้าอยู่อาศัยแต่จำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ ทำให้โจทก์ต้องหยุดผ่อนชำระ จนกระทั่งปี 2543 หลังจากครบกำหนดตามสัญญาแล้วถึง 3 ปีเศษ และเป็นเวลาหลังจากที่โจทก์หยุดผ่อนชำระไปแล้วกว่า 2 ปี จำเลยเพิ่งมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ การที่โจทก์ยังชำระเงินให้แก่จำเลยต่ออีก 5 งวด หลังจากชำระเงินดาวน์เสร็จสิ้นแล้วจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ผู้จะซื้อมิได้ถือเอาระยะเวลาเป็นสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่สามารถก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ภายใน 2 ปี นับแต่วันทำสัญญาตามข้อตกลง จำเลยย่อมเป็นฝ่ายผิดสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5416/2552   ตามสัญญาซื้อขาย โจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าโจทก์จะต้องชำระค่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญอีกสองงวด เมื่อโจทก์ชำระครบถ้วนแล้วจำเลยจะโอนที่ดินพิพาทให้ สัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาที่ตกลงกันให้ความเป็นเจ้าของและการครอบครองที่ดินพิพาทโอนไปทันทีที่มีการทำสัญญาแต่เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งต้องการเพียงหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญหรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วก็สามารถฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ดังนั้น การซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขายไม่ใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทนั้นจะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาก็ไม่เป็นโมฆะ

          อย่างไรก็ตาม ***หากการซื้อขายที่ดินโดยทำเป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาด แม้การซื้อขายที่ดินนั้นจะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายจึงเป็นโมฆะ แต่นิติกรรมนั้นก็อาจสมบูรณ์ในฐานะเป็นนิติกรรมอย่างอื่น เช่น การส่งมอบการครอบครองที่ดิน เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1476/2561  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ หาใช่เป็นการครอบครองที่ดินผิดแปลง แม้การให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับพระภิกษุ ป. ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่เมื่อ ส. สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุ ป. การครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลง พระภิกษุ ป. ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 และแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพระภิกษุ ป. กับโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อพระภิกษุ ป. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสละการครอบครองและส่งมอบที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ค. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่มรดกของ ส. ให้แก่ ป. ป. ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตามความจริง จึงไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้การขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง

          สัญญาจะซื้อจะขายต้องมีหลักฐานการฟ้องร้องบังคับคดี


          มาตรา 456 วรรคสอง "อนึ่ง สัญญาจะขายหรือจะซื้อทรัพย์สินอย่างใด ๆ ดั่งว่ามานี้ก็ดี คำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินเช่นว่านั้นก็ดี ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่"

          ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายนั้นต้องมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีอย่างใดอย่างหนึ่ง กฎหมายจึงจะอนุญาตให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ ซึ่งได้แก่
          (1) หลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิด หรือ
          (2) วางประจำหรือมัดจำ หรือ
          (3) การชำระหนี้บางส่วน
          หลักฐานการฟ้องร้องบังคับคดีเป็นหลักฐานที่กฎหมายบังคับไว้ในกรณีที่มีการฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษ โดยจะต้องมีหลักฐานเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งมาแสดงต่อศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2508   ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 หาได้กำหนดว่าจะต้องมีหนังสือสัญญาซื้อขายจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้เสมอไปไม่ หากการซื้อขายมีการวางประจำหรือชำระหนี้บางส่วนแล้ว ก็ย่อมฟ้องร้องได้เช่นกัน คดีนี้ จำเลยได้รับเงินราคากระบือไปจากโจทก์แล้ว โจทก์จึงฟ้องโดยไม่ต้องอาศัยสัญญาซื้อขาย  
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8163/2554   โจทก์และจำเลยมีเจตนาก่อนิติสัมพันธ์กันเป็นสัญญาจะซื้อขายโดยการวางมัดจำตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งมิได้กำหนดแบบไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ สัญญาจะซื้อจะขายเกิดขึ้นนับแต่เวลาที่โจทก์วางมัดจำ มิใช่เพิ่งเกิดในภายหลังเมื่อมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือ เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำกัดเฉพาะกรณีที่กฎหมายกำหนดว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องที่ฟ้องร้องกันนั้นจะต้องแสดงให้ปรากฏด้วยการนำสืบพยานเอกสาร จึงต้องห้ามนำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารที่ได้นำมาแสดงแล้ว จึงไม่ตกอยู่ในบังคับข้อห้ามดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานบุคคลว่าจำเลยตกลงจะหาสถาบันการเงินให้โจทก์กู้ยืมชำระหนี้คืนจำเลยโดยมีระยะเวลาผ่อนนาน 15 ปี ได้

          การชำระหนี้บางส่วน


          (1) การชำระหนี้บางส่วนโดยผู้จะซื้อชำระราคาทรัพย์สินที่จะซื้อให้แก่ผู้จะขาย (รวมถึงการชำระหนี้เต็มจำนวนด้วย)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214/2498  สัญญาจะซื้อขายมีข้อตกลงว่าให้ผู้ขายเก็บผลส้มอันเป็นดอกผลธรรมดาจากที่ดินของผู้ขายซึ่งผู้จะซื้อได้ปลูกต้นส้มขึ้นต่อมาเป็นการชำระราคาบางส่วนและต่อมาปรากฎว่าผู้ขายได้เก็บผลส้มไปตามข้อตกลงนั้นแล้ว ก็ถือได้ว่าผู้ซื้อได้ชำระหนี้บางส่วนตาม ป.พ.พ.ม. 456 แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2524  จำเลยได้ตกลงขายที่พิพาทให้แก่ผู้จะซื้อ โดยได้รับชำระราคาส่วนหนึ่งแล้วแม้ลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยในสัญญาจะซื้อจะขายจะไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคนตามกฎหมายจึงถือไม่ได้ว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลย แต่ก็ถือได้ว่าการซื้อขายรายนี้ได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนที่พิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 911/2501  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งผู้จะซื้อชำระเงินล่วงหน้าส่วนหนึ่งและผู้ขายชำระหนี้บางส่วนโดยการส่งมอบที่ดินให้ผู้จะซื้อครอบครอง แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องให้โอนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2501  จำเลยตกลงจะโอนขายที่ดินส่วนของตนให้แก่โจทก์ตอบแทนในการที่โจทก์ออกเงินแต่งงานให้จำเลย แม้ข้อตกลงนี้จะไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ แต่เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้คือออกเงินแต่งงานให้แก่จำเลยไปตามที่ได้ตกลงกันแล้วย่อมถือว่าจำเลยให้คำมั่นจะขายที่ดินส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ย่อมฟ้องร้องขอให้บังคับคดีตามที่จำเลยตกลงไว้นั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1075/2533   จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพิพาทจากโจทก์โดยการส่งหินทรายให้โจทก์เป็นการชำระราคาครบถ้วนแล้วกรณีถือ ว่าจำเลยได้ ชำระหนี้ตาม สัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพิพาทนั้นให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยได้ โดย หาจำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อโจทก์ฝ่ายต้องรับผิดจึงจะฟ้องบังคับคดีได้แต่ประการใดไม่ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4796/2537   โจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะไปทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะมีอุปสรรค เนื่องจากที่พิพาทติดจำนอง และโจทก์ไม่ยอมไปไถ่ถอนจำนองให้ก่อนตามที่ได้ตกลงกันไว้ ถือว่าสัญญาซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขายไม่ใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แม้สัญญาจะซื้อขายจะมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายจะต้องรับผิดเป็นสำคัญ แต่จำเลยก็ได้ชำระราคาค่าที่พิพาทให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ซึ่งการชำระราคาครบถ้วนย่อมมีน้ำหนักดีกว่าการชำระราคาบางส่วนจึงถือได้ว่าการชำระหนี้ครบถ้วนเป็นการชำระหนี้บางส่วนได้โดยอนุโลมจำเลยจึงมีอำนาจฟ้องแย้งให้บังคับคดีแก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง

          (2) การชำระหนี้บางส่วนโดยผู้จะขายส่งมอบทรัพย์สินที่จะขายบางส่วนให้แก่ผู้จะซื้อ (รวมถึงการชำระหนี้เต็มจำนวนด้วย)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2509  การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีราคาตั้งแต่ห้าร้อยบาทขึ้นไปนั้น หากผู้ขายได้ส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อขายให้ผู้ซื้อแล้ว ก็ถือเป็นการชำระหนี้ซึ่งผู้ขายมีสิทธิฟ้องเรียกราคาทรัพย์ได้ โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ และในกรณีเช่นนี้ การตั้งตัวแทนไปซื้อทรัพย์นั้นก็หาต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือไม่

           แต่ถ้าคู่สัญญาเลือกทำหลักฐานเป็นหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำกันไว้ กรณีนี้ถือว่าทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหากฟ้องร้องบังคับคดีต้องมีสัญญาจะซื้อขายมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ดังนั้น การที่นำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างเพิ่มเติมว่ายังมีข้อตกลงด้วยวาจาว่า มีข้อตกลงอย่างอื่นนอกจากที่ปรากฏในหนังสือสัญญาดังกล่าว จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2559   การจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกฎหมายกำหนดรูปแบบและหลักฐานในการทำสัญญากันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ว่า สัญญาจะขายหรือจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ จากบทกฎหมายดังกล่าว หากคู่สัญญาจะทำสัญญาจะซื้อขายให้มีผลทางกฎหมายในการฟ้องร้องบังคับกันได้ ต้องเลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือวางประจำหรือมัดจำ หรือมีการชำระหนี้บางส่วน เมื่อโจทก์และจำเลยเลือกรูปแบบของสัญญาโดยทำสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำกันไว้ ถือเป็นกรณีทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด โดยลงลายมือชื่อโจทก์และจำเลยไว้เพื่อให้คู่สัญญาฟ้องบังคับฝ่ายที่ผิดสัญญาได้ จึงเป็นกรณีที่หากฟ้องร้องบังคับคดีต้องมีสัญญาจะซื้อขายมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ดังนั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างเพิ่มเติมว่ายังมีข้อตกลงด้วยวาจาว่า ก่อนทำสัญญาจำเลยแจ้งต่อโจทก์ว่ามีถนนทางผ่านเข้าออกไปยังที่ดินพิพาทเชื่อมกับถนนสาธารณะ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ปัญหาข้อนี้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งคู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงรับฟังไม่ได้ว่ามีข้อตกลงเรื่องถนนเชื่อมผ่านตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องเงินมัดจำคืน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14241/2553  สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายกำหนดรูปแบบและหลักฐานในการทำสัญญากันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองว่า สัญญาจะขายหรือจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญหรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ จากบทกฎหมายดังกล่าว หากคู่สัญญาจะทำสัญญาจะซื้อขายให้มีผลทางกฎหมายในการฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ต้องเลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือวางประจำ หรือมัดจำ หรือมีการชำระหนี้บางส่วน เมื่อโจทก์และจำเลยเลือกรูปแบบของสัญญาโดยทำสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำกันไว้ ถือเป็นกรณีทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดโดยลงลายมือชื่อโจทก์จำเลยไว้เพื่อให้คู่สัญญาฟ้องบังคับฝ่ายที่ผิดสัญญาได้ จึงเป็นกรณีที่หากฟ้องร้องบังคับคดีต้องมีสัญญาจะซื้อขายมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ดังนั้น จำเลยจะขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนำสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำมาแสดงแล้ว อ้างว่ายังมีข้อตกลงด้วยวาจาว่าโจทก์จะชำระเงินที่เหลือภายใน 1 เดือน จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


การตรวจสอบดุลพินิจของฝ่ายปกครองที่ใช้ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ | การใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองในการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่ง | คดีปกครอง

          การใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง เป็นการใช้ดุลพินิจตามอํานาจที่กฎหมายมอบให้ฝ่ายปกครองสามารถเลือกตัดสินใจภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย แต่การที่กฎหมายได้มอบอํานาจให้ฝ่ายปกครองสามารถใช้ดุลพินิจดังกล่าวนั้น ต้องมีเหตุผลและอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่สําคัญ 3 ประการ คือ 
          (1) หลักความสมเหตุผลที่จะทําให้การใช้อํานาจนั้นบรรลุตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ให้อํานาจ 
          (2) หลักความจําเป็นโดยการเลือกมาตรการที่ก่อให้เกิดความรุนแรงน้อยที่สุดหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ตกอยู่ในอํานาจน้อยที่สุด และ  
          (3) การใช้อํานาจนั้นต้องเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าเมื่อเทียบกับความเสียหายของเอกชน  
          ทั้งนี้ หากการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ย่อมเป็นการใช้อํานาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองมีอํานาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อํานาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองและมีอํานาจที่จะเพิกถอนคําสั่งที่เกิดจากการใช้อํานาจไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นได้ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542


          แม้จะมีกฎหมายฉบับที่ให้อํานาจจะบัญญัติโดยเปิดโอกาสให้ฝ่ายปกครองสามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง แต่ฝ่ายปกครองก็ไม่อาจที่จะใช้อํานาจได้ตามอําเภอใจ เพราะยังคงต้องผูกพันกับหลักกฎหมายปกครองที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การใช้อํานาจเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทําทางปกครอง ที่มุ่งหมายจะควบคุมให้ฝ่ายปกครองใช้อํานาจกระทําการในทางปกครองภายใต้กฎหมาย เช่น การใช้อํานาจในการออกคําสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งให้ผู้ออกคําสั่งจะต้องใช้อํานาจในการบริหารงานบุคคลตามระบบคุณธรรม คือ ต้องคํานึงถึงความรู้ความสามารถ คุณสมบัติของบุคคล และการจัดคนให้เหมาะสมกับงาน รวมทั้งสอดคล้องกับหลักคุณธรรม ซึ่งให้ยึดมั่นในความถูกต้องดีงามและเป็นหลักการที่ส่งเสริมให้เกิดการบริหารกิจการภาครัฐที่ดี

          คําพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ อ.776/2557  เป็นกรณีการใช้อํานาจตามพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547  มีข้อเท็จจริง กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีเมื่อครั้งดํารงตําแหน่งสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตํารวจภูธรกุยบุรีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้รับการเสนอชื่อตามบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตํารวจ ที่ผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เสนอให้ไปดํารงตําแหน่งสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตํารวจภูธรสามกระทาย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในลําดับที่ 12 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้บัญชาการตํารวจภูธร ภาค 7) มีความประสงค์จะแต่งตั้งพันตํารวจตรี ย. สารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตํารวจภูธรยะหริ่งจังหวัดปัตตานี มาดํารงตําแหน่งในสังกัดกองบัญชาการตํารวจภูธรภาค 7 โดยให้ผู้ฟ้องคดีสับเปลี่ยนตําแหน่งแทน จึงได้มีหนังสือขอทําความตกลงกับกองบัญชาการตํารวจภูธรภาค 9 ซึ่งในวันเดียวกันผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้บัญชาการตํารวจภูธร ภาค 9) ได้มีหนังสือแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ว่า ไม่ขัดข้อง
          ต่อมา เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ) เห็นชอบแต่งตั้งพันตํารวจตรี ย. ตามที่เสนอแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงได้มีคําสั่งแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีไปดํารงตําแหน่งสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตํารวจภูธรยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
          ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงได้ร้องทุกข์แต่ อ.ก.ต.ร. เกี่ยวกับการร้องทุกข์ มีมติให้ยกคําร้องทุกข์ดังกล่าว
          ผู้ฟ้องคดีจึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนคําสั่งดังกล่าวและมติที่ให้ยกคําร้องทุกข์

          ศาลปกครองชั้นต้นมีคําพิพากษาเพิกถอนคําสั่งในส่วนที่แต่งตั้งผู้ฟ้องคดีโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ศาลปกครองมีคําพิพากษา เป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีกลับคืนต้นสังกัดเดิม
          ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการข้าราชการตํารวจ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงยื่นอุทธรณ์ว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับการเลื่อนตําแหน่งสูงขึ้นเป็นรองผู้กํากับการฝ่ายอํานวยการ ตํารวจภูธรจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นตําแหน่งที่สูงกว่าระดับสารวัตรแล้ว ทําให้คําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่เพิกถอนคําสั่ง ไม่มีผลเป็นการแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายของผู้ฟ้องคดีอีกต่อไป จึงมีเหตุที่จะต้องสั่งจําหน่ายคดีออกจากสารบบความ

          ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ การใช้ดุลพินิจในการแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีชอบด้วยหลักการใช้ดุลพินิจและเป็นไปตามระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลหรือสอดคล้องกับหลักคุณธรรมหรือไม่ ?

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า มาตรา 55 (3) และมาตรา 57 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ประกอบข้อ 14 ของกฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตํารวจระดับสารวัตรถึงจเรตํารวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2549 ได้วางหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตํารวจไว้อย่างกว้างๆ เพื่อให้ผู้มีอํานาจแต่งตั้งใช้ดุลพินิจในการจัดสรรข้าราชการตํารวจให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งที่เหมาะสมกับงานซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ภารกิจของสํานักงานตํารวจแห่งชาติเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ทางราชการ
          เมื่อสาเหตุในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ฟ้องคดีเกิดจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีความประสงค์จะแต่งตั้งพันตํารวจตรี ย. มาดํารงตําแหน่งในสังกัดกองบัญชาการตํารวจภูธรภาค 7 โดยให้สับเปลี่ยนตําแหน่งกับผู้ฟ้องคดี และแม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จะได้ทําหนังสือชี้แจงต่อ อ.ก.ตร. เกี่ยวกับการร้องทุกข์ว่า เหตุที่แต่งตั้งโยกย้ายผู้ฟ้องคดี เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนผู้ฟ้องคดีเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่เมื่อปรากฏว่าไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและไม่ได้ดําเนินการทางวินัยกับผู้ฟ้องคดี เนื่องจากในการสอบสวนทางลับทราบว่าผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือร้องเรียนทั้งสองรายนั้น รายหนึ่งไม่มีตัวตน ส่วนอีกรายหนึ่งยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ทําหนังสือร้องเรียน
          จึงเห็นได้ว่า สาเหตุการย้ายผู้ฟ้องคดีมิได้เกิดจากความจําเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ และมิได้เป็นไปตามระบบคุณธรรมที่ต้องคํานึงถึงความรู้ความสามารถ คุณสมบัติของบุคคล และการจัดคนให้เหมาะสมกับงานเป็นสําคัญ ซึ่งหากไม่รักษาระบบคุณธรรมดังกล่าวไว้ก็จะถูกแทนที่ด้วยระบบอุปถัมภ์ ดังนั้น การมีคําสั่งแต่งตั้งโยกย้ายผู้ฟ้องคดีจึงขัดหรือแย้งต่อหลักคุณธรรม และขัดหรือแย้งต่อ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตํารวจ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมา คือ การที่ผู้ฟ้องคดีได้รับการเลื่อนตําแหน่งสูงขึ้นและไม่สามารถกลับไปดํารงตําแหน่งเดิมได้อีก จะถือว่าเหตุแห่งความเดือดร้อนหรือเสียหายสิ้นสุดลงหรือไม่ ?

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คําสั่งที่พิพาทก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายทางด้านจิตใจแก่ผู้ฟ้องคดีทําให้ผู้ฟ้องคดีมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา ความเดือดร้อนหรือเสียหายจึงยังคงมีอยู่ อันเป็นเหตุให้ศาลปกครองต้องมีคําพิพากษา เพื่อแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับการเลื่อนตําแหน่งสูงขึ้นแล้ว และการเพิกถอนคําสั่งจะมีผลเสมือนหนึ่งว่าไม่เคยมีคําสั่งมาก่อนตั้งแต่วันที่มีคําพิพากษา ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงมีหน้าที่ต้องกลับไปดําเนินการในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคําพิพากษาโดยมิให้ส่งผลกระทบกระเทือนกับการดํารงตําแหน่งปัจจุบันและสิทธิตามกฎหมายของผู้ฟ้องคดี