03 มีนาคม 2567

การจดทะเบียนสมรสซ้อน เป็นโมฆะ

          มาตรา  1452 "ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้"
          มาตรา  1495 "การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ"

          มาตรา 1452 กำหนดเงื่อนไขห้ามชายหรือหญิงทำการสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ ซึ่งเป็นหลักการของกฎหมายครอบครัวที่กำหนดให้มีคู่สมรสได้เพียงคนเดียว หากทำการสมรสซ้อนหรือสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว การสมรสนั้นย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถกล่าวอ้างว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะหรือจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะก็ได้ เมื่อมีการกล่าวอ้างหรือมีคำพิพากษาแล้วการสมรสซ้อนนั้นย่อมเป็นอันเสียเปล่าตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ถ้ายังไม่มีการกล่าวอ้างหรือมีคำพิพากษาดังกล่าวแล้วก็ต้องถือว่าชายหญิงในการสมรสครั้งหลังยังคงเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ซึ่งการสมรสซ้อนนี้แม้ชายหรือหญิงคู่สมรสจะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายมีการสมรสเดิมอยู่แล้ว ก็ยังคงเป็นโมฆะอยู่นั่นเอง ไม่มีทางที่จะทำให้สมบูรณ์ขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตามคู่สมรสผู้ทำการโดยสุจริตไม่เสื่อมเสียสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสนั้นก่อนที่ตนจะรู้เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2527  พ.จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ขณะที่ พ. มีโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 อยู่แล้ว เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสและเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 และ 1496 โจทก์คงเป็นภริยาของ  พ. แต่ผู้เดียว

          ถ้าขณะก่อนสมรสครั้งหลังชายหรือหญิงได้หย่ามาก่อนแล้ว เท่ากับการสมรสครั้งหลังย่อมมีผลสมบูรณ์ แม้จะมีการเพิกถอนการหย่าในภายหลังก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1053/2537  แม้ภรรยาเดิมของจำเลยจะฟ้องเพิกถอนการหย่าเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2532 และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้เพิกถอนการจดทะเบียนหย่าซึ่งศาลจังหวัดนนทบุรีก็ให้เพิกถอนการหย่าไปแล้ว เป็นการทำภายหลังที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว พฤติการณ์ของภรรยาเดิมกับจำเลยที่กระทำดังกล่าวไม่อาจฟังได้ว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1496 ประกอบด้วยมาตรา 1452 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว



          ถ้าหากการสมรสครั้งแรกเป็นโมฆะ เท่ากับไม่เคยมีคู่สมรสมาก่อน การสมรสครั้งหลังย่อมชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6077/2537  ขณะจำเลยจดทะเบียนสมรสกับ น. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2522  น. จดทะเบียนสมรสกับโจทก์อยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้นการสมรสระหว่างจำเลยกับ น. จึงฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1496 เดิมซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การตกเป็นโมฆะดังกล่าวมีผลเท่ากับว่าจำเลยและ น. มิได้ทำการสมรสกัน ดังนั้น การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์และ น. ในครั้งหลังจึงกระทำในขณะที่จำเลยไม่มีฐานะเป็นคู่สมรสของ น. การสมรสระหว่างโจทก์และ น. จึงชอบด้วยกฎหมายโจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 133 เดิม และมาตรา 1497 เดิม มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยกับ น. เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1496 เดิมได้

          แม้ชายหญิงคู่สมรสจะไม่ได้อยู่กินด้วยกันแล้ว ถ้ายังมิได้หย่าก็ต้องถือว่ายังคงเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2549  ป.พ.พ. มาตรา 1461 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งเป็นเรื่องภายหลังการสมรสตามหมวด 2 เรื่อง เงื่อนไขแห่งการสมรส กล่าวคือ เมื่อสมรสกันแล้วหากฝ่ายใดปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 1461 ดังกล่าวก็จะเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) หรือ (6) ที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจนำมาฟ้องร้องได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. และไม่มีคำพิพากษาของศาลให้หย่ากัน การสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จึงยังสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้หากโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จะมิได้อยู่ด้วยกันและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันในระยะหลังก็มิได้มีผลต่อความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว.โจทก์จึงยังเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจตรี ว. อยู่ตลอดมา เมื่อจำเลยมาจดทะเบียนสมรสกับพลตำรวจตรี ว. ขณะที่พลตำรวจตรี ว. มีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสในมาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้ต่อมาพลตำรวจตรี ว. ถึงแก่ความตาย โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับตำรวจตรี ว. เป็นโมฆะได้

          ผู้มีส่วนได้เสียจะยกเอาความเป็นโมฆะของการสมรสซ้อนขึ้นกล่าวอ้างเมื่อใดก็ได้ เพราะไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้อง แม้จะเกิน 10 ปีแล้วคดีก็ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2556  โจทก์สมรสกับพันตรี จ. ในขณะที่พันตรี จ. มีคู่สมรสอยู่แล้วเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งรวมถึงโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะกล่าวอ้างหรือมีคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 ซึ่งความเป็นโมฆะของการสมรสย่อมมีผลไปถึงวันที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับพันตรี จ. หาใช่มีผลนับตั้งแต่วันที่โจทก์จดทะเบียนหย่าในปี 2532 ไม่ ฉะนั้นในขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายจึงถือไม่ได้ว่าในขณะนั้นโจทก์ยังมีคู่สมรสอยู่ การสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายจึงไม่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1452 เมื่อจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายในปี 2533 โดยโจทก์กับผู้ตายยังเป็นคู่สมรสกันอยู่การสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495
          การร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1497 มิใช่เรื่องอายุความในกรณีใช้สิทธิเรียกร้องซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่ให้มีกำหนด 10 ปี ผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะเมื่อใดก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9006/2557  ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ท. นั้น ท. จดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้วและยังคงเป็นคู่สมรสกับโจทก์ตลอดมาจนกระทั่ง ท. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. จึงเป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ตามมาตรา 1497 แม้ภายหลัง ท. ถึงแก่ความตายเป็นเหตุให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. สิ้นสุดลงไปก่อนโจทก์ฟ้องก็ตาม แต่เมื่อการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. ยังเป็นโมฆะอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. เป็นโมฆะได้

           ผลของการสมรสซ้อนซึ่งตกเป็นโมฆะ

          1. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
          หากต่อมาได้มีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะหรือมีการกล่าวอ้างว่าการสมรสซ้อนนั้นเป็นโมฆะ ต้องถือว่าการสมรสนั้นเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น คู่สมรสจึงไม่มีความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างกัน จึงไม่ต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา สินสมรสไม่เกิดขึ้น เพราะถือว่าทรัพย์สินของใครก็เป็นของคนนั้น สำหรับกรณีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันก็ต้องถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองฝ่ายตามสัดส่วนเท่ากัน เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรกำหนดให้สัดส่วนไม่เท่ากันโดยพิเคราะห์ถึงภาระและพฤติการณ์อื่นทั้งปวง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1426/2537  โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาได้ช่วยกันประกอบอาชีพทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มทวีขึ้นซึ่งโจทก์จำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เมื่อศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกัน โจทก์จำเลยต่างมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวคนละกึ่งหนึ่ง เป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมกับจำเลยโจทก์มีสิทธิขอแบ่งจากจำเลยในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์มีส่วนร่วมในการทำมาหาได้ในทรัพย์สินร่วมกับจำเลย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิแบ่งทรัพย์สินนั้นจากจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4027/2548  จำเลยจดทะเบียนสมรสกับเรือเอก ช. ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญของกองทัพเรือโจทก์ เมื่อเรือเอก ช. ถึงแก่ความตายจำเลยได้ขอรับเงินบำเหน็จตกทอดจากโจทก์ และโจทก์จ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่จำเลย 207,750 บาท ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสโดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากัน หากแต่กระทำเพื่อต้องการได้รับเงินบำเหน็จตกทอด การสมรสของจำเลยฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว เมื่อศาลพิพากษาว่าการสมรสตกเป็นโมฆะจึงไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคหนึ่ง และมีผลเท่ากับจำเลยกับเรือเอก ช. มิได้เป็นสามีภริยากันมาแต่แรกจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวและสิทธิของจำเลยดังกล่าวก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1499 เพราะจำเลยมิได้สมรสโดยสุจริต จำเลยจึงต้องคืนเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 406
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7152/2553  ป.พ.พ. มาตรา 1497 บัญญัติว่า “การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้” เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องกล่าวอ้างในคดีนี้ว่า การสมรสระหว่างตนเองกับ ช.เป็นการสมรสซ้อน ผลคือทำให้การสมรสเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคแรก ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยร่วมที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ไม่ใช่สินสมรส
          2. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ทำให้คู่สมรสที่สุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสและยังมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพและค่าทดแทนได้อีกด้วย
          อย่างไรก็ตาม การสมรสซ้อนนั้นแม้คู่สมรสอีกฝ่ายจะทำการสมรสโดยสุจริตก็ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง
          สำหรับชายหรือหญิงที่ทำการสมรสโดยสุจริตมีสิทธิเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3134/2530  การที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะนั้นเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แม้จะมีคำขอเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย คู่ความก็ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 ทั้งคำขอในส่วนที่เกี่ยวกับค่าทดแทนนี้ยังเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวอีกด้วย จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาได้   ขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นอยู่แล้ว โจทก์จึงเป็นผู้สมรสโดยสุจริตเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยได้
          3. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต
          มาตรา 1500 "การสมรสที่เป็นโมฆะไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสตามมาตรา 1497/1"
          4. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
          มาตรา 1536 "เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี
          ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่บุตรที่เกิดจากหญิงก่อนที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ หรือภายในระยะเวลาสามร้อยสิบวันนับแต่วันนั้น"
          มาตรา 1538 "ในกรณีที่ชายหรือหญิงสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1452 เด็กที่เกิดในระหว่างการสมรสที่ฝ่าฝืนนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลัง
          ในกรณีที่หญิงสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1452 ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าเด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลัง ให้นำข้อสันนิษฐานในมาตรา 1536 มาใช้บังคับ
          ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่เด็กที่เกิดภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้การสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 ด้วย"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1580/2494  บุตรที่เกิดในระหว่างที่บิดามารดาสมรสอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและจดทะเบียนการสมรสกันแล้ว จนกระทั่งบิดาถึงแก่กรรมแล้วจึงมีคำพิพากษาของศาลชี้ขาด ว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างบิดากับมารดานั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขณะนั้นบิดายังมีภริยาเดิมอยู่มิได้หย่าขาดกันดังนี้ ก็ต้องถือว่าบุตรนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาตลอดมา และมีสิทธิได้รับมรดกของบิดา



การบอกเลิกสัญญาทางปกครองโดยคู่สัญญาฝ่ายเอกชน จะต้องใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองเท่านั้น | สัญญาทางปกครอง | คดีปกครอง

          คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง       


          "สัญญา" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ การที่คู่สัญญาสองฝ่ายแสดงเจตนาทำคำเสนอและคำสนองรับถูกต้องตรงกัน และก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างคู่สัญญาที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา ซึ่งกรณีสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างมีหน้าที่ชำระหนี้ตอบแทนซึ่งกันและกัน หากฝ่ายใดไม่พร้อมที่จะชำระหนี้ตอบแทน คู่สัญญาอีกฝ่ายสามารถปฏิเสธการชำระหนี้และอ้างเหตุเพื่อเลิกสัญญานั้นได้
          สำหรับกรณี สัญญาทางปกครอง หากคู่สัญญาฝ่ายปกครองไม่พร้อมที่จะให้มีการปฏิบัติตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายเอกชนจะปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามสัญญาอีกต่อไปและบอกเลิกสัญญาได้หรือไม่ อย่างไร
          กรณีดังกล่าวนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยโดยวางแนวบรรทัดฐานเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองว่า สัญญาทางปกครองมีวัตถุประสงค์หลักในการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อให้การบริการสาธารณะสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและบรรลุตามวัตถุประสงค์ ฝ่ายปกครองจึงต้องมีเอกสิทธิ์เหนือคู่สัญญาฝ่ายเอกชน คู่สัญญาฝ่ายเอกชนจึงไม่อาจบอกเลิกสัญญากับฝ่ายปกครองได้ แต่จะต้องนำข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลปกครองเพื่อให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เลิกสัญญา ซึ่งมีความแตกต่างกับสัญญาทางแพ่งที่มีความเท่าเทียมกันของคู่สัญญา แม้ฝ่ายปกครองจะอยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญา คู่สัญญาฝ่ายเอกชนก็มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาและใช้สิทธิตามสัญญาได้ตามหลักของสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่จำต้องนำข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลเพื่อให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เลิกสัญญา
          โดยศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1500/2558 สำหรับข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า  ผู้ฟ้องคดี (เอกชน) ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างป้ายประชาสัมพันธ์กับผู้ถูกฟ้องคดี (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) โดยมีหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ในระหว่างที่ดำเนินการขุดเจาะเสาเข็มปรากฏว่าบริเวณสถานที่ก่อสร้างมีชั้นหินแข็งทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถขุดเจาะตามระดับความลึกที่กำหนดไว้ตามแบบแปลนในสัญญา จึงได้แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อให้แก้ไขแบบรูปและรายการให้ถูกต้อง ซึ่งต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีหยุดงานเพื่อรอผลการพิจารณาหาสถานที่ก่อสร้างใหม่ที่มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดในการก่อสร้างป้ายประชาสัมพันธ์ จนระยะเวลาตามสัญญาสิ้นสุดลงและล่วงเลยถึง 8 เดือน ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมขอหลักประกันคืน แต่ปรากฏว่าทางผู้ถูกฟ้องคดีไม่ประสงค์จะเลิกสัญญาและต้องการให้ผู้ฟ้องคดีเข้าทำการก่อสร้างที่สถานที่เดิม
          ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนหลักประกันตามสัญญาและให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการเตรียมการก่อสร้าง
          คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่ผู้ฟ้องคดีสามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่ผู้ถูกฟ้องคดียืนยันที่จะให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติตามสัญญา กรณีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอหลักประกันสัญญาคืนหรือไม่ ?
          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การชำระหนี้ต่างตอบแทนตามมาตรา 369 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องมีความพร้อมในการชำระหนี้ หากคู่สัญญาฝ่ายใดไม่พร้อมที่จะชำระหนี้ตอบแทน อีกฝ่ายก็สามารถปฏิเสธไม่ชำระหนี้ได้ อันเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองประโยชน์ของคู่สัญญาอย่างเท่าเทียมกัน แต่สำหรับสัญญาทางปกครองมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองฝ่ายปกครองให้สามารถปฏิบัติภารกิจหลักในการจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผล ทั้งเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของมหาชนหรือประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาทางปกครองของคู่สัญญาฝ่ายเอกชน หากทำให้การจัดทำบริการสาธารณะของฝ่ายปกครองต้องหยุดชะงักหรือไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ คู่สัญญาฝ่ายเอกชนก็ไม่อาจบอกเลิกสัญญากับฝ่ายปกครองได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากคู่สัญญาฝ่ายเอกชนเห็นว่าตนมีข้อโต้แย้งหรือถูกโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองและประสงค์จะให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เลิกสัญญาก็มีสิทธินำข้อพิพาทดังกล่าวขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เลิกสัญญาได้
          เมื่อการที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าดำเนินการก่อสร้างได้ เนื่องจากปัญหาสภาพพื้นที่ก่อสร้างไม่สามารถขุดเจาะเสาเข็มให้ได้ความลึกและรับน้ำหนักตามแบบแปลนในสัญญาได้ และผู้ถูกฟ้องคดียอมรับว่ารูปแบบรายการในสัญญาบางรายการมีปัญหา ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่จะต้องใช้อำนาจที่กำหนดไว้ในสัญญาสั่งแก้ไขแบบรูปและรายการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาอันสมควร แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็มิได้ดำเนินการจนครบกำหนดเวลาตามสัญญา การที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถก่อสร้างงานตามสัญญาและล่วงเวลาไปอีก 8 เดือน จึงเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่มีความพร้อมที่จะให้มีการปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดำเนินการก่อสร้างในสถานที่เดิม ทั้งที่ยังไม่แก้ไขปัญหา จึงไม่ชอบด้วยสัญญาและระเบียบกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาด้วยเหตุสภาพพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงชอบที่จะคืนหนังสือค้ำประกันและค่าเสียหายจากการไม่ชำระหนี้ตามมาตรา 213 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นค่าเสียหายในการจัดการตามสัญญา
          ข้อสังเกต *** คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่าให้เลิกสัญญา เนื่องจากคดีนี้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายเอกชนมีข้อโต้แย้งในสัญญาทางปกครอง จากการที่คู่สัญญาฝ่ายปกครองไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างในสภาพพร้อมที่จะทำงานตามสัญญาให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาได้และได้แจ้งขอเลิกสัญญา พร้อมทั้งขอให้คืนหนังสือค้ำประกันสัญญา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ประสงค์จะเลิกสัญญาและให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดำเนินการก่อสร้างโดยใช้สถานที่เดิม ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยมีความประสงค์หรือคำขอให้ศาลเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหาย 4 ประการ คือ (1) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนหนังสือค้ำประกันสัญญา (2) ชดใช้ค่าเสียหาย (3) ชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการก่อสร้าง (4) ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ โดยมิได้มีคำขอให้เลิกสัญญาแต่อย่างใด
          แต่ผลของคำวินิจฉัยมีนัยทางกฎหมายเสมือนเป็นการเลิกสัญญา เนื่องจากในเบื้องต้นศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางหลักเกี่ยวกับการเลิกสัญญาทางปกครอง โดยคู่สัญญาฝ่ายเอกชนไม่อาจจะบอกเลิกสัญญาได้ แต่หากมีข้อโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองจะต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเลิกสัญญาได้
          คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยโดย “หลักการพิจารณาหรือพิพากษาไม่เกินคำขอ” คือ การพิพากษาของศาลวินิจฉัยให้เพียงเท่าที่ปรากฏตามคำขอท้ายฟ้อง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่า การที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถก่อสร้างงานตามสัญญาเกิดจากผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามสัญญา จึงเป็นการไม่ชอบด้วยสัญญาและระเบียบกฎหมาย โดยมีคำพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา พร้อมค่าเสียหายจากการไม่ชำระหนี้ตามมาตรา 213 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาของศาลปกครองได้วินิจฉัยประเด็นความไม่ชอบของสัญญาและระเบียบกฎหมาย ย่อมมีผลทำให้สัญญาไม่มีผลผูกพันคู่กรณีอีกต่อไป



สิทธิที่จะทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง | คดีปกครอง

          กระบวนการพิจารณาทางปกครองนั้น อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติหลักการสําคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการที่จะมีโอกาสได้รู้ข้อเท็จจริง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง ซึ่งเป็นหลักการรับฟังความสองฝ่าย คือ ฝ่ายปกครองจะไม่อาจใช้อํานาจได้ตามอําเภอใจ หากการกระทํานั้นจะมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่เป็นคู่กรณีในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง ฝ่ายปกครองจะต้องให้โอกาสคู่กรณีที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของตน โดยมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ได้กําหนดเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองอาจไปกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่จะต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน กล่าวคือ ถ้าหากว่าคําสั่งทางปกครองที่จะออกไปนั้น มีท่าทีว่าจะไปกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีแล้ว ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะออกคําสั่งทางปกครองนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องรับฟังคู่กรณีก่อนเสมอ โดยการที่เจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงที่จะใช้เป็นเหตุผลในการออกคําสั่งทางปกครองไปให้แก่คู่กรณีได้รับทราบด้วย และยังจะต้องเรียกคู่กรณีเข้ามาโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตน ซึ่งเมื่อคู่กรณีได้เข้ามาโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนเสร็จแล้ว ตัวเจ้าหน้าที่คนนั้นก็จะต้องนําเอาข้อโต้แย้งและพยานหลักฐานมาพิจารณาประกอบด้วย แล้วจึงค่อยตัดสินใจออกคําสั่งทางปกครองต่อไป ดังนั้น ถ้าหากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้โอกาสคู่กรณีเข้ามาโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานแล้วออกคําสั่งทางปกครอง ก็จะต้องถือว่าคําสั่งที่ออกมาดังกล่าวเป็นคําสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ นี้


          มีกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 23/2553  ข้อเท็จจริงมีว่า เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นผู้อํานวยการพิพิธภัณฑ์สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สถาบันพระปกเกล้า) และได้รับแต่งตั้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) ให้ปฏิบัติหน้าที่อนุกรรมการและเลขานุการของคณะอนุกรรมรวบรวมจัดหาสิ่งของ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้รับมอบแหนบพระราชทาน ปปร. ที่จัดทําเป็นของที่ระลึก ไปเก็บรักษาไว้ในตู้เหล็กภายในห้องทํางานของผู้ฟ้องคดีโดยไม่มีการตรวจสอบประเมินราคา ลงทะเบียนรับหรือทําหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมและเจ้าหน้าที่ผู้รับ รวมทั้งมิได้ทําประกันภัยไว้ด้วย ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ทราบว่าแหนบพระราชทาน ปปร. ที่ผู้ฟ้องคดีคืนให้กับพลตรีหม่อมราชวงศ์ ศ. ก้ามปูหายไปหนึ่งข้อและสายสร้อยถูกเปลี่ยนเป็นทองชุบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนวินัยเห็นว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทําการประมาทเลินเล่อในการทํางาน เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสียหายอย่างร้ายแรงสมควรลงโทษปลดออก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีคําสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นพนักงาน
          ผู้ฟ็องคดีได้อุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการบริหารงานบุคคล โดยอ้างว่าคณะกรรมการสอบสวนวินัยมิได้แจ้งหรือมอบแบบบันทึกสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในการสอบสวนวินัยให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถโต้แย้งคัดค้านหรือนําพยานหลักฐานมาหักล้างได้และคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงเดิมที่ปรากฏในรายงานการสอบสวนวินัยเท่านั้น การสอบสวนวินัยและการพิจารณาอุทธรณ็จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนําคดีมาฟ้องเพิกถอนคําสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากพนักงาน
          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนพนักงานและลูกจ้างที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นไปตามระเบียบสถาบันพระปกเกล้าว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนวินัย พ.ศ. 2545 โดยข้อ 5 ข้อ 7 และข้อ 11 ของระเบียบดังกล่าว กําหนดให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยมีหน้าที่ในการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับเรื่องที่ทําการสอบสวน รวมทั้งมีหน้าที่รายงานความเห็นเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทําผิดวินัยหรือไม่อย่างไร และควรได้รับโทษสถานใด ตลอดจนให้มีอํานาจเรียกบุคคล เอกสาร หรือสิ่งของที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลใดในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มาเพื่อทราบข้อเท็จจริงในเรื่องที่สอบสวนได้และให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิรับทราบข้อกล่าวหา ให้ถ้อยคําหรือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตลอดจนเสนอพยานหลักฐานหรือนําพยานหลักฐานมาประกอบการแก้ข้อกล่าวหา หรือคัดค้านกรรมการสอบสวนวินัยและเมื่อคณะกรรมการสอบสวนวินัยสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้วให้รายงานผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทําผิดวินัยตามกฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หลักเกณฑ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในข้อใด หรือไม่อย่างไร ควรได้รับโทษสถานใดและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดําเนินการสั่งลงโทษโดยอาศัยอํานาจตามมาตรา 17 (3) แห่งพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2541 ซึ่งในการลงโทษปลดออกนั้นตามข้อบังคับสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2542 ข้อ 37 วรรคท้าย ได้กําหนดให้เป็นอํานาจของเลขาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารสถาบันตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้าฯ จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า ระเบียบสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนวินัยฯ กําหนดถึงอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนวินัยให้เป็นผู้ดําเนินการดังกล่าว และให้รายงานเรื่องต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีอํานาจสั่งลงโทษทางวินัยโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารสถาบัน นอกจากนี้ตามข้อ 6 ของระเบียบสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนวินัยฯ กําหนดให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยพิจารณาและวางแนวทางในการสอบสวน ตลอดจนกําหนดประเด็นข้อกล่าวหาและขอบเขตในการสอบสวนก่อนที่จะเรียกผู้ถูกกล่าวหามาเพื่อรับทราบเรื่องที่ถูกกล่าวหาและแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยมิให้กําหนดถึงการแจ้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบไว้ด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนตามระเบียบดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กําหนดในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กําหนดในพระราชบัญญัตินี้เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกําหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กําหนดในพระราชบัญญัตินี้
          ดังนั้น ในการสอบสวนวินัย คณะกรรมการสอบสวนวินัยจึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติว่า ในกรณีคําสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน ซึ่งบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวประสงค์จะให้โอกาสแก่ผู้อาจกระทบสิทธิจากคําสั่งทางปกครองได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนมีคําสั่งดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อประกันความเป็นธรรมและให้มีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานทางปกครอง อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน กําหนดให้คําสั่งทางปกครองที่ออกโดยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การรับฟังคู่กรณีที่จําเป็นต้องกระทําได้ดําเนินการมาโดยไม่สมบูรณ์ไม่เป็นเหตุให้คําสั่งทางปกครองนั้นไม่สมบูรณ์ ถ้าได้มีการรับฟังให้สมบูรณ์ในภายหลังและวรรคสาม กําหนดให้การกระทําดังกล่าวจะต้องกระทําก่อนสิ้นสุดกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหรือตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการนั้น
          เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อมิได้มีการสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาที่ได้จากถ้อยคําของพยานบุคคลและพยานเอกสารดังกล่าวในลักษณะของการระบุวัน เวลา สถานที่ และการกระทําของพยานบุคคล ตลอดจนความเกี่ยวข้องของพยานเอกสารที่อ้างอิงว่ามีลักษณะเป็นการสนับสนุนข้อกล่าวหาอย่างเพียงพอตามแบบ สว. 3 อันเป็นมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัย การรักษาวินัย และการดําเนินการทางวินัย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีสามารถเข้าใจข้อกล่าวหาอย่างชัดแจ้งและสามารถชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อย่างเต็มที่ กรณีแห่งคดีนี้จึงถือได้ว่าคณะกรรมการสอบสวนมิได้สรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาที่มีให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จากพฤติการณ์เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้ดําเนินการเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครองได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอที่จะทําให้ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานเพื่อยกเป็นข้อต่อสู้แก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ดังนั้น การส่งบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา จึงไม่เข้าลักษณะของการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การรับฟังคู่กรณีที่จําเป็นต้องกระทําให้สมบูรณ์ในภายหลังก่อนสิ้นสุดกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ตามความในมาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ การดําเนินการเพื่อออกคําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ได้ดําเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสําคัญที่กําหนดไว้ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ จึงเป็นคําสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

           คําพิพากษาดังกล่าว วางหลักสําคัญเกี่ยวกับสิทธิของคู่กรณีในอันที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง ได้ว่า
          (1) องค์กรฝ่ายปกครองจะต้องปฏิบัติต่อสิทธิของคู่กรณีใน 2 ลักษณะ คือ
               1) ต้องให้คู่กรณีได้รับทราบข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุที่ต้องดําเนินกระบวนพิจารณาทางปกครองอย่างชัดแจ้งและเพียงพอ
               2) ต้องให้โอกาสคู่กรณีที่จะได้โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐาน เพื่อหักล้างข้อกล่าวหาของอีกฝ่ายหรือสนับสนุนข้อโต้แย้งของตนอย่างเพียงพอ ทั้งในเรื่องระยะเวลาที่จะใช้สิทธิโต้แย้งและการรวบรวมพยานหลักฐาน ตลอดจนความครบถ้วนของพยานหลักฐานที่อีกฝ่ายยกขึ้นเป็นข้อกล่าวหา แต่หากฝ่ายปกครองได้ให้โอกาสดังกล่าวแล้ว แต่คู่กรณีไม่รักษาสิทธิของตน ถือว่าฝ่ายปกครองได้กระทําการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
          (2) การดําเนินการเพื่อให้คู่กรณีได้ทราบข้อเท็จจริงหรือมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน เป็นขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสําคัญที่กําหนดไว้ หากฝ่ายปกครองไม่ปฏิบัติตาม คู่กรณีมีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้
          (3) สิทธิที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงและโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน เป็นเงื่อนไขความสมบูรณ์ของคําสั่งทางปกครองที่ฝ่ายปกครองจะต้องถือปฏิบัติในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง และคู่กรณีมีสิทธิที่เรียกร้องให้ฝ่ายปกครองปฏิบัติให้ถูกต้องหรือโต้แย้งคัดค้าน หากฝ่าฝืนจะมีผลทําให้คําสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค (เช็คเด้ง)


          การสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ ถ้าต่อมาเมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้วปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค (เช็คเด้ง) ผู้สั่งจ่ายก็อาจจะถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีโทษถึงจำคุกได้ 

          พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 


          มาตรา 4  "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
          (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
          (2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
          (3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
          (4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
          (5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
          เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ"

          ต้องเป็นกรณีที่ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และหนี้นั้น
ามารถบังคับได้ตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 814/2563  การออกเช็คที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบการกระทำความผิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)เช็คมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย ทั้งจำนวนเงินและวันที่ลงในเช็คตรงตามหนังสือรับสภาพหนี้ เมื่อโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินตามปกติแสดงว่าจำเลยออกเช็คไว้ล่วงหน้าให้เป็นการชำระหนี้ มิใช่เพียงเพื่อประกันหนี้ จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คมอบให้โจทก์เป็นผู้กรอกวันเดือนปีในเช็คต่อหน้าจำเลยด้วยความยินยอมเห็นชอบของจำเลย ถือว่าจำเลยเป็นผู้ออกเช็คดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1677/2557  เมื่อบันทึกการรับสภาพหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กระทำขึ้นภายหลังที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ ม้จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์อยู่จริง แต่เมื่อการกู้ยืมเงินไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้นั้นก็ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13362/2556  เมื่อจำเลยปฏิเสธว่าการสั่งจ่ายเช็คพิพาทมิใช่เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงจะครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เมื่อพยานโจทก์ทราบเรื่องภายหลังจากที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้นำเช็คไปขึ้นเงินแล้ว ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น แสดงว่าพยานโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่รู้เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ รวมถึงรายละเอียดมูลหนี้ของเช็คพิพาท แต่พยานทราบเรื่องดังกล่าวจากการบอกเล่าของโจทก์ในภายหลัง พยานมิได้รู้เห็นข้อเท็จจริงที่เบิกความด้วยตนเองจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าซึ่งไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1286/2553 ขณะทำสัญญาซื้อขายสินค้าและสัญญาเช่า โจทก์ไม่ทราบว่าสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เหตุแห่งการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดของโจทก์จึงเกิดจากการฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 และที่ 3 อันเป็นผลทำให้นิติกรรมการซื้อขายและการทำสัญญาเช่าตกเป็นโมฆียะ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่กรณีที่เป็นฝ่ายฉ้อฉลโจทก์ย่อมมีความผูกพันตามสัญญาดังกล่าวจนกว่าจะมีการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น และการบอกล้างโมฆียะกรรมเป็นนิติกรรมระงับสิทธิจึงต้องมีการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง การที่โจทก์ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ถือเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม เพราะการร้องทุกข์ไม่ใช่การแสดงเจตนาเพื่อก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาเช่าดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าสินค้าตามสัญญาเช่าดังกล่าว จึงถือว่าเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ซึ่งบังคับได้ตามกฎหมาย

          ออกเช็คโดยมีเจตนามุ่งหมายให้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น มิใช่เพื่อชำระหนี้ จึงไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8884/2563  คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินท้ายฟ้องจะระบุว่า “เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งข้าพเจ้ากู้ไปนี้ ข้าพเจ้าได้นำเช็คธนาคาร ก. ให้ท่านถือไว้เป็นประกัน” อันทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ขัดกับคำฟ้องก็ตาม แต่การค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วยหาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียวและเป็นเรื่องที่คู่ความสามารถนำสืบข้อเท็จจริงได้ กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์บรรยายฟ้องขัดกันอันจะทำให้จำเลยทั้งสองไม่อาจเข้าใจข้อหาที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้ ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้วแม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพทำให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คพิพาทให้โจทก์ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ได้นั้น จำเลยทั้งสองต้องมีเจตนาออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือสัญญากู้เงินว่า “เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งข้าพเจ้ากู้ไปนี้ ข้าพเจ้าได้นำเช็คธนาคาร ก. ให้ท่านถือไว้เป็นประกัน” เมื่อโจทก์ไม่นำสืบถึงพฤติการณ์หรือข้อตกลงที่ทำให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แตกต่างจากข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงินอย่างไร ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทโดยมีเจตนามุ่งหมายให้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น ส่วนข้อความในแบบพิมพ์ที่พิมพ์ออกจำหน่ายและใช้กันอยู่ทั่วไป โจทก์สามารถอ่านเข้าใจได้โดยง่าย หากไม่ตรงตามเจตนาที่โจทก์และจำเลยทั้งสองประสงค์ โจทก์สามารถตกเติมแก้ไขได้ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำการดังกล่าว ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4



          ถ้าเป็นกรณีที่ไม่มีเจตนาออกเช็คเพื่อชำระหนี้ ก็ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6581-6582/2556  จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายรู้ดีว่าขณะที่ออกเช็คนั้น จำเลยไม่อาจชำระเงินตามเช็คได้ แต่จำเลยอยู่ในภาวะที่ต้องออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้เสียหายในเวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยยังไม่มีเงินที่จะมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีเจตนาใช้เช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2556  แม้หนังสือสัญญาเงินกู้และหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน จะมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงและจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆ ประกอบเข้าด้วย โดยเฉพาะพฤติการณ์แห่งการกระทำทั้งหลายในขณะที่มีการออกเช็ค หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์แห่งความสัมพันธ์และการกระทำซึ่งโจทก์ทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้น เชื่อว่าขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วออกเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์ล่วงหน้า โจทก์ทราบดีแล้วว่าจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คได้ แต่ที่โจทก์ยอมรับเช็คก็เพื่อเป็นประกันหนี้และอาจนำมาฟ้องร้องบีบบังคับจำเลยเป็นคดีอาญาได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น จำเลยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

          เช็คซึ่งออกเพื่อชำระหนี้โดยบุคคลซึ่งถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว หรือถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนถึงกำหนดวันที่ลงในเช็ค ดังนี้ หนี้ตามเช็คพิพาทย่อมไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยผู้ออกเช็คจึงขาดองค์ประกอบความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5209/2566  จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ก่อนถึงกำหนดวันที่ลงในเช็ค จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยย่อมไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเองนับแต่วันดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 เมื่อโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย” แสดงว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการตามอำนาจในการจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยเพื่อเข้ากองทรัพย์สินและนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ด้วยการมีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท การที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินมิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2618/2564  จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็คซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย โดยมิใช่กรณีกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หนี้ตามเช็คพิพาทไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18850/2555  ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด หลังจากนั้นจำเลยออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อหลักทรัพย์ (หุ้น) แก่โจทก์ การออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์เป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็คซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย โดยมิใช่กรณีกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หนี้ตามเช็คพิพาทไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18851/2555  พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 บัญญัติห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนเว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ ในขณะที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายแล้ว จึงเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยซึ่งจำเลยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย

          ถ้าในขณะออกเช็คนั้นยังไม่มีมูลหนี้ แม้ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ผู้ออกเช็คก็ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12203/2555  การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สัญญาซื้อขายรถยนต์สมบูรณ์ การที่โจทก์ร่วมตกลงกับจำเลยนอกเหนือจากสัญญาซื้อขายรถยนต์ว่าจะยังไม่โอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้แก่จำเลยจนกว่าเช็คทั้งสี่ฉบับจะเรียกเก็บเงินได้นั้น แสดงว่าโจทก์ร่วมและจำเลยตกลงให้ถือการที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับหรือไม่ เป็นเงื่อนไขของการที่จะมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ ตราบใดที่ธนาคารยังไม่จ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ สัญญาซื้อขายรถยนต์ย่อมไม่มีผลสมบูรณ์ โจทก์ร่วมมีสิทธิติดตามเอารถยนต์กลับคืนมาได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์ร่วมให้การในชั้นสอบสวนว่ามีข้อตกลงนอกเหนือจากสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าว ย่อมฟังได้ว่าขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับยังไม่มีมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4951/2556  จำเลยและผู้เสียหายเป็นหุ้นส่วนกันลงทุนซื้อเหล็กในแต่ละครั้ง เมื่อขายเหล็กได้ จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คตามยอดเงินที่ขายได้ให้แก่ผู้เสียหายซึ่งจะมียอดเงินในเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับเปรียบเทียบกับรายการซื้อขายเหล็ก ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า ขณะที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับแก่ผู้เสียหายตามมูลค่าการขายเหล็กซึ่งยังไม่ได้แบ่งเงินตามข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนกันเป็นยอดเงินสุทธิว่ามีจำนวนเท่าใด ทำให้ขณะนั้นจำเลยยังไม่มีหนี้ที่ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับโดยยังไม่มีมูลหนี้ซึ่งอาจบังคับได้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

          จงใจเขียนเช็คทั้งสองฉบับด้วยการลงลายมือชื่อในเช็คไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคาร พฤติการณ์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5388/2556  จำเลยจงใจเขียนเช็คทั้งสองฉบับด้วยการลงลายมือชื่อในเช็คไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคารและจงใจเขียนตัวเลขอารบิกให้แตกต่างกันอีก พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีของธนาคารดังกล่าวการกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1)

          ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ เป็นความผิดอาญา ผู้ที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คจึงต้องรับผิดในฐานะตัวการ ตาม ป.อ.มาตรา 83
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14667/2556   แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จะใช้คำว่า ผู้ใดออกเช็ค แต่มิได้หมายความว่า ผู้ที่จะมีความผิดตามมาตราดังกล่าวคือผู้ที่ออกเช็คเท่านั้น ส่วนผู้ที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คไม่มีความผิด การออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ออกเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ และออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น อาจจะมีผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็ค และถือว่าผู้ที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็คเป็นตัวการเช่นเดียวกันตาม ป.อ. มาตรา 83 
          การที่จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทมาทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาท ซึ่งมีความหมายว่าเป็นผู้สลักหลัง ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่าย นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และการลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในเช็คพิพาท เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการออกเช็คพิพาท แล้ว ทั้งไม่มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการออกเช็คพิพาท จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพ ศาลก็ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 สามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

          ถ้าไม่ลงวันที่สั่งจ่ายในขณะออกเช็ค  ถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5924/2556  ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือฐานออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงจ่ายให้ได้นั้น สาระสำคัญอยู่ที่วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าเช็คพิพาทที่จำเลยออกไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ในขณะที่ออกเช็ค ย่อมถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด แม้ ป.พ.พ. มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 จะให้สิทธิผู้ทรงเช็คไว้ว่า ถ้าเช็ครายการใดมิได้ลงวันออกเช็ค ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้นั้น กฎหมายเพียงแต่ให้เช็คฉบับนั้นเป็นเช็คที่มีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4   แม้โจทก์จะอ้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 คลาดเคลื่อนไปเป็น พ.ศ.2497 ก็ตาม แต่มิใช่ข้อสำคัญที่จะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง 


          มาตรา 5  "ความผิดตามมาตรา 4 เป็นความผิดอันยอมความได้"


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2544  หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมมีข้อความว่า โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ ร. จัดการแจ้งความเรื่องเช็คคืน โดยไม่ได้ระบุให้มีอำนาจแจ้งความเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย จึงไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายมีเจตนาที่จะให้จำเลยต้องรับโทษ ทั้งเหตุที่แจ้งความร้องทุกข์ก็เพราะไม่ต้องการให้เช็คขาดอายุความ จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7)

          เมื่อความผิดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เป็นคดีความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่มีคำร้องทุกข์ ย่อมห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ ต้องถือว่าไม่ได้มีการสอบสวนโดยชอบพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง


          มาตรา 7  "ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา"


          ถ้าหนี้ที่ผู้กระทำความผิดได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7242/2553   จำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แม้ผู้เสียหายทั้งสองมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งทำให้ผู้เสียหายทั้งสองขอชำระหนี้รายนี้ได้อีกก็มิได้หมายความว่าผู้เสียหายทั้งสองได้รับชำระหนี้แล้ว ยังไม่อาจถือได้ว่าหนี้ตามเช็คได้ระงับและสิ้นผลผูกพัน จึงหาได้ทำให้ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นอันเลิกกัน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5240/2553   ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีข้อความว่า จำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวนเต็มตามฟ้องโดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนจนกว่าจะครบถ้วนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี หากโจทก์ได้รับชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องคดีนั้น เป็นข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น และตามข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2553  กรณีคดีอาญาเลิกกันตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 เป็นกรณีที่มูลหนี้ที่ผู้กระทำความผิดได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา โดยไม่จำเป็นที่โจทก์และจำเลยทั้งสองต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีอาญา
          มูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชดใช้เงินเป็นคดีแพ่งของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามมูลหนี้ในเช็คพิพาท เป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284 - 285/2553  จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและบันทึกข้อตกลงการชำระค่าเช่าซื้อ เมื่อโจทก์ร่วมเรียกเก็บเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้ต่อมาโจทก์ร่วมได้ยึดรถที่ให้เช่าซื้อคืนอันเป็นผลทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ก็ไม่ทำให้ความผิดอาญาที่เกิดขึ้นสำเร็จแล้วระงับไป จึงเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ มิได้ระงับหรือสิ้นผลผูกพันไป คดีจึงยังไม่เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9286/2552  มูลหนี้ตามเช็คผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยให้ชดใช้เงินทางแพ่ง ต่อมาผู้เสียหายและจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดไปแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามมูลหนี้ในเช็ค เป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 ผู้เสียหายคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น แม้จำเลยจะไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นผู้เสียหายก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 แม้ตามรายงานกระบวนพิจารณาผู้เสียหายและจำเลยจะตกลงกันว่า ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลสมบูรณ์ในคดีอาญาเมื่อจำเลยชำระเงินครบถ้วนแล้ว และตามสัญญาประนีประนอมยอมความจะระบุว่า คดีอาญาให้เป็นไปตามข้อตกลงในคดีอาญา หากจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ (ผู้เสียหาย) ครบถ้วน โจทก์ (ผู้เสียหาย) ในฐานะผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ หากจำเลยผิดนัดขอให้ศาลดำเนินคดีอาญาต่อไปตามรูปคดีก็ตามแต่กรณีดังกล่าวเป็นคนละกรณีกันกับคดีอาญาเลิกกันตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 ซึ่งเป็นกรณีที่มูลหนี้ที่ผู้กระทำความผิดได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาอันเป็นอีกกรณีหนึ่งที่มิใช่การยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2208/2552  เมื่อพิเคราะห์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งมีข้อตกลงที่โจทก์ยอมให้แก่จำเลยทั้งสามผ่อนชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นงวด โดยฝ่ายจำเลยยอมออกเช็คฉบับใหม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งผลของการประนีประนอมยอมความดังกล่าว ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น แม้เช็คที่ฝ่ายจำเลยสั่งจ่ายทั้งสามฉบับตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้อันเป็นการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยทั้งสามรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ได้อีก ถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสามได้ออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อใช้เงินนั้นเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10302/2550  มูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ โจทก์ได้เคยฟ้องจำเลยให้ชดใช้เงินตามคดีแพ่งของศาลจังหวัดราชบุรี ต่อมาโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลจังหวัดราชบุรีพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทเป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
          ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า โจทก์และจำเลยยังมิได้มีเจตนาที่จะยุติข้อพิพาทในทางอาญาจนกว่าจำเลยจะชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความแก่โจทก์แล้ว และไม่มีข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความแสดงให้เห็นว่าโจทก์จะไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย คงเป็นเพียงข้อตกลงที่จำเลยจะชดใช้ให้แก่โจทก์อันเป็นสิทธิทางแพ่งที่โจทก์สามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้อีกทางหนึ่งเท่านั้น จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) นั้น เป็นคนละเรื่องคนละกรณีกันกับคดีอาญาเลิกกันตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 เพราะคดีในส่วนอาญาจะเลิกกันตาม พ.ร.บ.และมาตราดังกล่าวนั้น เป็นกรณีที่มูลหนี้ที่ผู้กระทำผิดได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งดังกล่าว และศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้วผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 852 ซึ่งเป็นกรณีที่มูลหนี้ที่จำเลยคดีนี้ได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา คดีในส่วนอาญาจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 ซึ่งมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป อันเป็นอีกกรณีหนึ่งที่มิใช่กรณีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5387 - 5388/2550  ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยมีเงื่อนไขในลักษณะที่โจทก์มีเจตนาจะให้จำเลยทำงานให้โจทก์แล้วเสร็จก่อน แล้วจึงหักหนี้ค่าก่อสร้างกับมูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทคดีนี้ภายหลัง เมื่อจำเลยก่อสร้างหรือชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วน โจทก์จึงจะถอนฟ้องคดีนี้ให้ ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทันทีแต่อย่างใด จึงมิใช่การยอมความเพื่อให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
          ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ฝ่ายเดียวผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยมิใช่ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไป แล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน




02 มีนาคม 2567

ฟ้องว่าเจ้าหน้าที่รัฐละเลยต่อหน้าที่ จะต้องร้องเรียนก่อนฟ้องคดีปกครอง | เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร | คดีปกครอง

           

          ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร อาจยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อเยียวยาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นได้
          ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวนี้ ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นคำขอหรือมีหนังสือร้องเรียนต่อฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนฟ้องคดีด้วย

       
          กรณีเรื่องเกี่ยวกับการที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ไม่ดำเนินการควบคุมการประกอบกิจการค้าของเก่า ทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน

          ผู้ฟ้องคดีเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันกับที่ตั้งสถานประกอบกิจการค้าของเก่า เห็นว่า ตนเองได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ (กรุงเทพมหานคร ที่ 1 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ 2  กระทรวงสาธารณสุข ที่ 3 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ 4) ที่ไม่ดำเนินการควบคุม ตรวจสอบการประกอบกิจการค้าของเก่า รวมทั้งไม่แก้ไขปัญหาทางด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้จนก่อให้เกิดผลกระทบด้านต่าง ๆ เช่น ปัญหาการส่งเสียงรบกวน การเผาพลาสติกและสายไฟจนเกิด
กลิ่นเหม็น และการตัดโลหะโดยใช้แก๊สทำให้เกิดเหตุระเบิดจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้มีการจัดทำแผนหรือมาตรการการป้องกันสาธารณภัยและแผนฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติภายหลังเกิดเหตุและให้จัดระเบียบการขายทอดตลาดหรือรับซื้อของเก่าเป็นโซนตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งตรวจสอบสถานที่รับซื้อของเก่าให้ถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานทุกปี
          ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีไม่ได้มีหนังสือร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีท้ังสี่ให้ดําเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนการฟ้องคดีแต่อย่างใด

          ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาประเด็นการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีโดยได้วินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ที่ไม่ดำเนินการควบคุมและตรวจสอบการประกอบกิจการค้าของเก่า รวมทั้งไม่แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการดังกล่าวตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ผู้ฟ้องคดีซึ่งได้รับความเดือดร้อนเสียหายจึงชอบที่จะยื่นคำขอแสดงความประสงค์หรือมีหนังสือร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่เพื่อให้ดําเนินการแก้ไขปัญหาตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด
          นอกจากนี้การจะดําเนินการตามคำขอโดยกำหนดมาตรการหรือดําเนินการจัดระเบียบสําหรับผู้ประกอบกิจการค้าของเก่าอย่างไรนั้น เป็นอำนาจดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ศาลปกครองไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปสั่งให้ดําเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ คําขอของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคําขอที่ศาลไม่อาจกําหนดคําบังคับตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
          ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยื่นคําขอหรือทําหนังสือร้องเรียนก่อนการฟ้องคดีและการมีคําขอประกอบคําฟ้องในลักษณะที่เป็นอํานาจดุลพินิจที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ต้องดําเนินการจึงเป็นกรณีที่ทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

          (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 602/2558)

          คดีนี้ศาลได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ว่า
          (1) การฟ้องคดีเพื่อให้ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เป็นกรณีที่เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่แล้ว ก่อนการยื่นฟ้องคดีต้องมีการยื่นคําขอหรือมีหนังสือร้องเรียนต่อฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการดําเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่เกิดขึ้นก่อน เพื่อให้ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่ ก่อนจะฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
          (2) การมีคําขอประกอบคําฟ้องนั้นจะต้องเป็นคําขอที่ศาลปกครองสามารถกําหนดคําบังคับได้ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 หากคำขอใดเป็นคำขอที่ศาลปกครองไม่อาจกำหนดคำบังคับได ้เช่น การขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นอำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองแล้ว จะส่งผลให้บุคคลดังกล่าวไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองและศาลปกครองมีอำนาจไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา