10 สิงหาคม 2560

กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา

          กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา มาจากสุภาษิตกฎหมายละติน Acta exteriora indicant interiora secreta
          เป็นหลักกฎหมายอาญา มีไว้สำหรับพิจารณาพฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยเพื่อนำมาพิจารณาว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดหรือไม่ เพียงใด และยังใช้สำหรับแยกเจตนาฆ่าออกจากเจตนาทำร้ายร่างกายอีกด้วย เพราะถ้ามีเจตนาฆ่าย่อมต้องรับโทษหนักกว่าเจตนาทำร้าย เละเนื่องจากเจตนาเป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจของผู้กระทำเอง บุคคลภายนอกไม่มีใครหยั่งรู้ได้ ในการวินิจฉัยหรือพิสูจน์ว่าผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิด มีเจตนาฆ่าหรือเพียงมีเจตนาทำร้ายเท่านั้น จึงต้องนำหลักว่า การกระทำที่แสดงออกมาภายนอกเป็นเครื่องชี้ถึงสภาพจิตใจของผู้กระทำ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา มาเป็นหลักในการวินิจฉัย

          การใช้หลักกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาเพื่อวินิจฉัยหรือพิสูจน์ว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่า หรือเจตนาทำร้ายนั้น ศาลไทยอาศัยข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้ ***
          1. พิจารณาจากอาวุธที่ใช้กระทำ
          2. พิจารณาจากอวัยวะที่ถูกกระทำ
          3. พิจารณาจากลักษณะของบาดแผลที่ถูกกระทำ
          4. พิจารณาจากพฤติการณ์อื่นๆ


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1344/2498 ว่า ศาลฎีกาปรึกษาคดีนี้แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามคำพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยทั้งสองต่างใช้ปืนแก๊บยิงซึ่งกันและกันฝ่ายละหนึ่งนัดโดยสมัครใจเข้าโรมรันซึ่งกัน กระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 ใช้ยิงไม่ถูกจำเลยที่ 2 โดยพลาดไปถูกฝาใบตองพลวง กระสุนกระจายไปเสียก่อน แต่กระสุนปืนที่จำเลยที่ 2 ใช้ยิงจำเลยที่ 1 ถูกตามร่างกายจำเลยที่ 1 มีบาดเจ็บหลายแห่ง แสดงให้เห็นว่า ความแรงของกระสุนปืนที่จำเลยต่างใช้ยิงกันนี้ หากถูกในที่สำคัญอาจทำให้ผู้ถูกยิงถึงแก่ความตายได้ รูปคดีควรฟังว่า จำเลยต่างมีเจตนาจะฆ่าให้ถึงตาย แต่ที่ไม่ตายเพราะยิงพลาดไม่ถูกหรือถูกในที่ไม่สำคัญ ซึ่งเป็นเหตุอันพ้นวิสัยมาป้องกันขัดขวางเสีย จำเลยทั้งสองต้องมีความผิดฐานพยายามฆ่าคนโดยเจตนา ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดวางบทกำหนดโทษจำเลยมาชอบแล้ว จึงให้ยกฎีกาจำเลย โดยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006/2501 ศาลฎีกาพิเคราะห์คำพยานโจทก์จำเลยแล้ว กรณีฟังได้ว่าการทำร้ายกันเกิดจากการโต้เถียงกันก่อนจริง และเชื่อว่าคงจะเกิดจากสาเหตุอย่างที่พยานโจทก์กล่าวมากกว่าอย่างจำเลยว่า เพราะไม่น่าจะทวงหนี้สินกันต่อหน้าชุมชนอย่างนั้น และเหตุเท่าที่จำเลยว่าแล้ว นายแดงก็ไม่น่าจะทำร้ายจำเลย ข้อที่จำเลยว่านายแดงได้ฟันจำเลยก่อนก็ไม่น่าเชื่อเพราะบาดแผลที่มือจำเลยเป็นบาดแผล กว้างเพียงหนึ่งเซนติเมตร สี่มิลลิเมตร, ยาวสองเซนติเมตร, ลึกหนึ่งเซนติเมตร ห้ามิลลิเมตร เป็นแผลเล็กน้อยไม่สมที่จะถูกฟันด้วยมีดโดยแรง ทั้งในปัจจุบันนั้นก็ไม่มีใครเห็นบาดแผลของจำเลย แม้นายสุนทรผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ได้ให้การถึงเลย คดีจึงต้องฟังว่าจำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายก่อนจริง แล้วผู้เสียหายจึงใช้มีดขว้างจำเลย แต่ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายนั้นยังไม่พอฟังว่าจำเลยมี เจตนาฆ่าผู้เสียหายเพราะจำเลยยิงไปถูกที่ขาเหนือตาตุ่ม ขณะนั้นจำเลยกับผู้เสียหายอยู่ห่างกันเพียงวาเศษ ถ้าจำเลยตั้งใจจะฆ่าผู้เสียหายแล้วก็คงยิงถูกร่างกายผู้เสียหายในที่สำคัญ ๆ ได้ศาลฎีกาจึงเห็นว่าจำเลยไม่เจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสตาม มาตรา 297 ป.อ. จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนดสองปี

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 777/2505 ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ที่จำเลยฎีกาว่าตอนเกิดเหตุจำเลยมิได้สมัครใจวิวาทกับผู้ตายนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะนายนิตย์พยานจำเลยเบิกความรับว่าผู้ตายร้องท้าว่า "หรุ่น (นายหรุ่น สุขชูพร จำเลย) เอาหรือวะ" จำเลยก็โดดลงจากเรือพูดว่า "แน่รึ" แล้วต่างก็เข้าต่อสู้กัน จึงฟังได้ว่าจำเลยสมัครใจเข้าต่อสู้กับผู้ตาย ไม่ใช่เป็นการป้องกันตัว ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือไม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า จำเลยใช้มีดดาบยาวหนึ่งแขน กระโดดลงจากเรือไปต่อสู้กับผู้ตาย และฟันผู้ตายถึงสามแห่ง แผลที่สำคัญถูกคอเกือบขาดแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย จึงมีความผิดฐานฆ่าคนโดยเจตนา แต่ได้ความว่าเกิดเหตุแล้วจำเลยเข้ามอบตัวต่อกำนันและเล่าเหตุการณ์ให้ฟังโดยตลอด ประกอบกับผู้ตายได้ท้าทายก่อนมีเหตุบรรเทาโทษ พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตาม มาตรา 288  ให้จำคุกสิบห้าปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตาม มาตรา 78 เหลือจำคุกเจ็ดปี หกเดือน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1085/2510 ผู้ตายมีขวานและมีดขอเป็นอาวุธ จำเลยมีมีดพกเป็นอาวุธ ได้เข้าโรมรันซึ่งกันและกันโดยต่างไม่มีเวลาที่จะเลือกแทงเลือกฟันแทงในที่สำคัญ ทั้งสองคนมีบาดแผลรวมเจ็ดแห่งด้วยกัน ผู้ตายเสียโลหิตมากจึงถึงแก่ความตาย ดังนี้ จำเลยมีความผิดฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนา ไม่ใช่ฐานฆ่าคนโดยเจตนา

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1439/2510 ขณะที่ผู้ตายต่อยกับน้องภริยาจำเลยที่ 1, จำเลยที่ 2 ได้ยิงไปก่อนหนึ่งนัดถูกผู้ตาย แล้วต่อมาจำเลยที่ 1 จึงได้ยิงไป ตามพฤติการณ์ดังกล่าวที่จำเลยทั้งสองยิงไปนั้นเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดนั้น โดยต่างคนต่างกระทำลงไปมิได้สมคบร่วมรู้กันมาก่อน จะฟังว่าจำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2 ฆ่าผู้ตายไม่ได้ ผู้ตายมีบาดแผลถูกยิงแผลเดียว และฟังได้ว่าแผลที่ถูกยิงนั้นเป็นผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว ฉะนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้ตาย แต่การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงไปยังผู้ตายกับพวกหลายนัดนั้น ส่อเจตนาให้เห็นว่าจำเลยตั้งใจฆ่า แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกที่ไม่สำคัญ จึงไม่ถึงแก่ความตาย ดังนี้ จำเลยต้องมีความผิดฐานพยายามฆ่าคน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5664/2534 ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะห่างเพียง 3 เมตร ถูกที่บริเวณเอวของผู้เสียหายอันเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ซึ่งหากรักษาไม่ทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถือได้ว่าจำเลยกระทำไปโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายแล้ว ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยยิงขู่เพราะจำเลยอาจเลือกยิงบริเวณอื่นที่สำคัญและยิงแล้วก็มิได้ยิงซ้ำนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะหากเป็นเพียงการยิงขู่ จำเลยก็มีโอกาสที่จะยิงไปยังทิศทางอื่นที่มิใช่ทิศทางที่ผู้เสียหายยืนอยู่ เช่น ยิงขึ้นฟ้า เป็นต้น ข้ออ้างของจำเลยในเรื่องยิงขู่จึงไม่ประกอบด้วยเหตุผลอันจะพึงรับฟัง ทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายหรือพวกผู้เสียหายจะเข้าทำร้ายจำเลย อันจะถือได้ว่าเป็นภยันตรายที่จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำไปโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13908/2558   โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ก่อให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันฆ่า ส. ผู้เสียหายและ อ. ผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต่อมา จำเลยที่ 1 กับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายและผู้ตายหลายนัดโดยเจตนาฆ่าและโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเนื่องจากถูกใช้ จ้าง วาน ยุยงส่งเสริมจากจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ขัดแย้งกับผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 มอบอาวุธปืนและบอกให้จำเลยที่ 1 สั่งสอนผู้เสียหาย การมอบอาวุธปืนมีกระสุนปืนหลายนัดให้จำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 2 ว่าให้จำเลยที่ 1 สั่งสอนผู้เสียหายโดยใช้ปืนยิงและย่อมเล็งเห็นได้ว่าหากผู้เสียหายไม่ตายก็ย่อมได้รับบาดเจ็บจากบาดแผลกระสุนปืน จึงเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำตามที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้และรับโทษเสมือนตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 80 ประกอบมาตรา 84 วรรคสอง และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จัก ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตาย ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 1 ไปสั่งสอนผู้เสียหายให้เข็ดหลาบ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายนัดหมายผู้ตายมารับเพื่อเดินทางกลับบ้าน ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้ติดตามผู้เสียหายและผู้ตายไป ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ไม่อาจคาดหมายว่าจำเลยที่ 1 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายด้วย การที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาก่อให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย เมื่อตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ทางพิจารณาโจทก์สืบไม่สมฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว จึงต้องยกฟ้องในข้อหานี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21379/2556  การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไล่ทำร้ายผู้ตายกับพวกในระยะกระชั้นชิดโดยถือไม้ถูพื้นชูออกนอกรถยนต์เพื่อข่มขู่ผู้ตายกับพวกไปตลอดทาง โดยมีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายกับพวก และผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ตายต้องขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อหลบหนีการถูกไล่ทำร้ายจนเกิดเหตุชนกับรถยนต์กระบะที่จอดอยู่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16412/2555  วันเวลาเกิดเหตุจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงคนรักนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ระหว่างทางได้เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับล้มลงทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ตกจากรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายสาหัสนอนหมดสติในพงหญ้าข้างทาง แล้วจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือ ทิ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 นอนหมดสติในที่เกิดเหตุ เป็นเวลานานถึง 8 วัน และไม่แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาทราบ จนมีผู้ไปพบผู้เสียหายที่ 2 จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การงดเว้นไม่ให้ความช่วยเหลือ ผู้เสียหายที่ 2 อาจถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 59 วรรคท้าย

------------------
*** อ.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1,  พิมพ์ครั้งที่ 5,  (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540)


ที่ดิน ส.ป.ก.4-01


          ที่ดิน ส.ป.ก. คือ ที่ดินในบริเวณที่ได้ประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยที่ดิน ส.ป.ก. เป็นที่ดินที่ทางภาครัฐยกให้แก่เกษตรกรเพื่อสำหรับใช้เป็นที่ดินในการทำมาหากินด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ก็จะได้รับเอกสารสิทธิไว้เป็นหลักฐาน คือ ส.ป.ก. 4-01
          ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 4 “การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม” หมายความว่า  การปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมรวมตลอดถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐ จัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพและสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4431/2550  มติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมายเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งจะทำได้หรือไม่ได้เพียงใด ก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายในเรื่องนั้นบัญญัติไว้ ในกรณีเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก็ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ดังนั้น บุคคลใดจะมีสิทธิที่จะได้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดหาใช่จะถือตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแต่เพียงอย่างเดียวตามที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่ ซึ่งตามที่ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 4 บัญญัติความหมายของคำว่า “เกษตรกร” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และให้หมายความรวมถึงบุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกรบรรดาซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดใน พ.ร.ฎ. ด้วย และตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ข้อ 6 (6) ระบุว่าต้องเป็นผู้ไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยแต่ไม่เพียงพอแก่การประกอบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ แสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก็เพื่อช่วยให้เกษตรกรรมก็เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน และเกษตรกรผู้นั้นจะต้องไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองหรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพหรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรม เมื่อจำเลยมีที่ดินของตนเองจำนวน 108 แปลง และจำเลยประกอบอาชีพอื่นนอกจากด้านการเกษตรโดยประกอบอาชีพค้าขาย มีหุ้นอยู่ในนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัดรวม 16 แห่ง จึงถือได้ว่าจำเลยมีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองและมีรายได้เพียงพอแก่การครองชีพแล้ว และไม่ถือว่าจำเลยเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักแต่อย่างใด จำเลยย่อมขาดคุณสมบัติในการยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน การที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ก.) ในที่ดินพิพาทที่ออกให้แก่จำเลยจึงชอบแล้ว ถึงแม้ในตอนแรก โจทก์ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก 4-01 ก.) ให้แก่จำเลยไปแล้ว แต่เมื่อมาตรวจสอบพบในภายหลังว่า จำเลยเป็นผู้ขาดคุณสมบัติดังกล่าวก็สามารถทำการเพิกถอนได้เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิที่จะได้หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ก.) มาตั้งแต่ต้น และเมื่อเพิกถอนการอนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2919/2545  โจทก์เป็นเกษตรกรได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว 20 ไร่ 2 งาน 84 ตารางวา โดยทำนาทั้งแปลง ถือได้ว่าโจทก์มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองและมีรายได้เพียงพอแก่การครองชีพแล้ว โจทก์จึงขาดคุณสมบัติที่จะได้รับโอนที่ดินพิพาทแม้ทางมรดกตกทอด จำเลยซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชอบที่จะไม่ออกคำสั่งให้โจทก์รับมรดกตกทอดสิทธิการเช่าในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าขัดกับกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ได้


           การซื้อขายหรือโอนสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ต้องห้ามตามกฎหมาย

          ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 39)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2558  จำเลยมีสัญชาติอิตาลี โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากัน และทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าว่า “ให้ที่ดินจำนวน 3 งาน พร้อมบ้านเลขที่ 245 หมู่ที่ 9 ตำบลหนองหว้า อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว เป็นทรัพย์สินของ ซ. (จำเลย) แต่เพียงผู้เดียว” เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย เพื่อให้รัฐนำที่ดินดังกล่าวนี้จัดสรรให้แก่เกษตรกรซึ่งมีคุณสมบัติตามกฎหมายที่มีสิทธิจะได้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) และเกษตรกรผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินนั้นจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิไปให้แก่บุคคลอื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 39 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมายดังกล่าว อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่อาจได้ไปซึ่งที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าว แม้โจทก์จะมิได้บรรยายมาในฟ้อง แต่เป็นข้อกฎหมายที่สามารถยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9152/2557  ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาในคดีก่อน จำเลยซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในคดีดังกล่าวทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 มีสาระสำคัญในข้อ 1 ว่า จำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลชั้นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในวันที่... จะทำกันที่ศาลฎีกา โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ข้อ 2 ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้อง โดยตกลงชำระเงินเป็นค่าซื้อขายที่ดินพิพาทจำนวน 40,000,000 บาท โดยชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่... ให้แก่ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินค่าที่ดิน และจำเลยสามารถตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้ซื้อก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ ข้อ 5 จำเลยและทายาทของ ห. ทุกคนจะต้องยินยอมให้ความร่วมมือในการที่ ก. จดทะเบียนรับ ส. เป็นบุตรบุญธรรม เพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 - 01 และทายาทของ ห. ทุกคนต้องสละสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ได้ทำการซื้อขายกันตามสัญญาโอนสิทธิฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ที่ได้ออกหลักฐาน ส.ป.ก. 4 - 01 ในปัจจุบัน ข้อ 6 ในวันที่โจทก์ไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อที่สำนักงานที่ดินนั้น จำเลยจะต้องได้รับเงินครบถ้วน 40,000,000 บาท หากโจทก์หรือผู้ซื้อผิดสัญญาให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกัน และโจทก์ยินยอมรับผิดชดใช้เงินค่าที่ดินพร้อมค่าเสียหายแก่จำเลย ในทางกลับกันหากจำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จำเลยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินค่าปรับ 40,000,000 บาท นั้น บันทึกดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ คู่กรณีต้องดำเนินการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องและชำระเงินกันก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษา เพราะเมื่อศาลฎีกาพิพากษาแล้วคำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อตกลงนอกศาลที่ทั้งสองฝ่ายทำไว้ไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนคำพิพากษาได้ ส่วนตามบันทึกข้อตกลงตามเอกสาร จ.5 ข้อ 5 ที่ระบุว่าจำเลยและทายาทอื่นของ ห. ทุกคนต้องยินยอมและให้ความร่วมมือในการที่ ก. ภริยา ห. จดทะเบียนรับ ส. พี่ชายโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่มีหลักฐานเป็น ส.ป.ก. 4 - 01 ดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ข้อตกลงดังกล่าวจึงทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามโดยชัดแจ้งของกฎหมาย หาใช่เป็นข้อตกลงที่เป็นการแก้ไขข้อขัดข้องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ตามที่โจทก์ฎีกา จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์เบิกความว่าเงิน 40,000,000 บาท ที่จะจ่ายให้แก่จำเลยตามบันทึกข้อตกลงนั้น เป็นเงินรวมทั้งหมดไม่ได้แบ่งแยกเป็นหลายแปลง จึงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาให้จำเลยโอนที่ดินทั้งหมดทุกแปลงแก่โจทก์โดยโจทก์ตกลงจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินรวม 40,000,000 บาท จึงไม่สามารถแยกส่วนที่ไม่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6540/2557  เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 ที่ต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น ไม่อาจตกทอดแก่ทายาทโดยพินัยกรรมได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมให้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตกแก่ผู้คัดค้านเพียงผู้เดียว การทำพินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย พินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงมิใช่กรณีที่ผู้ร้องถูกตัดมิให้รับมรดกด้วยพินัยกรรม ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม และมีสิทธิที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 จึงไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย


05 สิงหาคม 2560

การใช้กฎหมายอาญา (ไม่มีความผิดและไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้)

          ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรก  "บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย" หลักกฎหมายตามมาตรานี้นับได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายอาญา ซึ่งมาจากสุภาษิตกฎหมายละตินว่า "ไม่มีความผิดและไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ หรือ NULLUM CRIMEN, NULLA POENA SINE PRAEVIA LEGE POENALI


          หลักการใช้กฎหมายอาญาตามมาตรา 2 


          (1) การจะลงโทษบุคคลใด จะต้องมีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ โดยต้องบัญญัติไว้โดยชัดเจน จะใช้จารีตประเพณีหรือกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับใช้เพื่อลงโทษไม่ได้
          กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3643/2526  บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 217 โดยให้ผู้กระทำความผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ใน มาตรา 218(1) ถึง (6) ต้องได้รับโทษหนักขึ้น แต่การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม มาตรา 217 จะต้องเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น เมื่อบ้านที่ถูกเพลิงไม้เป็นบ้านที่จำเลยเป็นเจ้าของร่วมกับ ร. สามีจำเลยซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้จะฟังว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิง จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม มาตรา 218 เพราะเมื่อมาตรา 217 บัญญัติว่าการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิด จะตีความคำว่า "ทรัพย์ของผู้อื่น" ให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยหาได้ไม่เป็นการขัดต่อหลักกฎหมายใน มาตรา 2
          กรณีไม่มีกฎหมายกำหนดโทษไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2557  คดีหมิ่นประมาท ป.อ. มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาเท่านั้น มิได้มีกฎหมายให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำขออภัยด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำขออภัยโจทก์จึงเป็นการลงโทษจำเลยที่ 2 นอกเหนือจากโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ต้องห้ามตาม ป.อ มาตรา 2 วรรคหนึ่ง



          (2) หากมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ก็ต้องแปลหรือตีความกฎหมายนั้นโดยเคร่งครัด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5354/2539  โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม 2537 ถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2537 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้ทำและมีเครื่องวิทยุคมนาคม โดยการนำโทรศัพท์มือถือมาทำการปรับจูนโดยใช้เครื่องดีเลอโค๊ด และก๊อปปี้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336 ซึ่งเป็นคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ระบบเซลลูล่า 900 มือถือของบริษัท อ. ผู้เสียหาย เข้าเครื่องโทรศัพท์มือถือดังกล่าวจนสามารถใช้ส่งและรับวิทยุคมนาคมได้ แล้วจำเลยได้บังอาจลักเอาไปซึ่งสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336 ของผู้เสียหาย คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 24,733 บาท โดยทุจริต โดยใช้โทรศัพท์มือถือดังกล่าวส่งและรับวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตนั้น ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 334 การที่ฟ้องระบุว่าจำเลยนำโทรศัพท์มือถือมาทำการปรับจูนและก๊อปปี้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336 ของผู้เสียหายแล้วใช้ทำการรับส่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตนั้นเป็นเพียงการทำการรับส่งวิทยุคมนาคม โดยอาศัยคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือเป็นการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธิ มิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 334 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

          (3) กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งมาจากถ้อยคำว่า "กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น" คือ ในขณะที่ลงมือกระทำความผิดจะต้องมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดอยู่แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2553  โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2510 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2545 จำเลยเข้ายึดถือที่ดินสาธารณประโยชน์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน ตามคำฟ้อง จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่พิพาทก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 อันเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ ใช้บังคับ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2510 ตลอดมาเป็นการครอบครองสืบเนื่องมาจากการเข้ายึดครอบครองในครั้งแรก เมื่อ ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับผู้กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุก ฯลฯ เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406/2523  จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติก่อนกฎกระทรวงกำหนดให้ที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติใช้บังคับ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด

          อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่ใช่โทษทางอาญาก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 2 จึงอาจบังคับย้อนหลังไปถึงการกระทำของเขาก่อนมีการออกกฎเกณฑ์นั้นได้ จึงต้องพิจารณาก่อนว่าสิ่งนั้นใช่โทษทางอาญาหรือไม่ ทั้งนี้ โทษทางอาญาตามมาตรา 18 มีอยู่ 5 ประการได้แก่ ประหารชีวิต, จำคุก, กักขัง, ปรับ และริบทรัพย์สิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8229/2556  พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 มาตรา 21 ตรี วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีมติว่าเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติตามมาตรา 21 ทวิ ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่ชักช้าเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นจะสามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นตนได้มาโดยชอบ ในกรณีนี้ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม" จากผลของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นมาตรการในทางแพ่งเพื่อบังคับให้ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน มิใช่เป็นการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาอันจะสามารถบังคับได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติและกำหนดโทษไว้ตาม ป.อ มาตรา 2 แม้ในขณะยื่นคำร้องเพื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวมีการยักย้ายทรัพย์สินไปก่อน และบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 21 ตรี วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราบการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 มิได้กล่าวถึงวิธีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นตามที่ผู้คัดค้านฎีกา แต่เมื่อต่อมาได้มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 83 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 บัญญัติวิธีการบังคับคดีในกรณีไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน จึงชอบที่จะนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับให้มีผลย้อนหลังแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ต้องตกเป็นของแผ่นดินนั้นได้ด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ผู้คัดค้านชดใช้เงิน 73,525,436.09 บาท จึงเป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติตามคำพิพากษาในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้คัดค้านแทนทรัพย์สินที่ศาลมีคำพิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือเพื่อให้มีการขอให้เพิกถอนการโอนหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ได้กระทำหลังจากผู้คัดค้านแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 82 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2539  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 20 ที่บัญญัติให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาโดยมิชอบตกเป็นของแผ่นดินนั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการอันเป็นวิธีการทางวินัยเท่านั้น มิใช่เป็นการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาอันจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของหลักกฎหมายที่ว่าบุคคลจะต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและได้กำหนดโทษไว้ ดังนั้น กฎหมายนี้ย้อนหลังไปบังคับถึงทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้มาโดยมิชอบและยังคงมีอยู่ในขณะที่กฎหมายนี้ใช้บังคับได้เพราะการได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบด้วยหน้าที่นั้นเป็นการผิดวินัยตั้งแต่ที่ได้รับมา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3174/2538  การที่ศาลชั้นต้นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดจนกว่าจะอายุครบ18ปีไม่เป็นการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา18แต่เป็นวิธีการสำหรับเด็กตามมาตรา74(5)ที่เบากว่าการลงโทษจำคุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9083/2544  การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท กล่าวคือนอกจากจำเลยมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ป.อ. มาตรา 157 แล้ว ยังมีความผิดต่อ พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 59 , 60 , 71 , 72 โดยเหตุที่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นมาตรการที่มุ่งจะจำกัดสิทธิของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งซึ่งกระทำหน้าที่โดยทุจริต มิใช่โทษตามกฎหมาย เมื่อศาลลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 157 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแต่เพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยได้ มิฉะนั้นแล้วการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวย่อมไร้ผลอันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย


          ข้อยกเว้นหลักที่ว่ากฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง


          (1) กรณีมีกฎหมายยกเลิกความผิดเดิม มีผลย้อนหลังได้ ตามมาตรา 2 วรรคสอง
          มาตรา 2 วรรคสอง "ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5166/2537  โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตั้งโรงงาน ประกอบกิจการโรงงานและรับเด็กอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่ถึงสิบห้าปีบริบูรณ์เข้าทำงานในโรงงานดังกล่าวโดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ดังนี้ แม้ขณะเกิดเหตุการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามฟ้อง แต่เมื่อระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ออกมายกเลิกพระราชบัญญัติโรงงานฉบับเดิมทั้งหมด และเมื่อปรากฏว่าโรงงานของจำเลยเป็นโรงงานซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ระบุไว้ว่าการตั้งโรงงานหรือประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตและไม่มีบทกำหนดโทษไว้ เช่น พระราชบัญญัติโรงงานฉบับเดิม ถือได้ว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานตั้งโรงงาน และฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2546  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรม โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 11 ซึ่งความผิดดังกล่าวมีบัญญัติไว้แล้วใน พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 21 จึงถือว่าความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ในส่วนที่เกี่ยวกับสาขาเวชกรรมถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2544 เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำความผิดฐานประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรม โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 4 , 11 , 21 ที่แก้ไขแล้ว เท่ากับเป็นการขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างกฎหมายอันใดมาเลย ไม่ใช่เรื่องอ้างกฎหมายผิด ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ไม่ได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2753/2540  โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ทั้งสองออกเช็คพิพาทให้ ส. ยึดถือไว้แทนสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ที่1กู้ยืมเงินไปจาก ส. แต่จำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีอาญาที่ ส. ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ว่าโจทก์ทั้งสองออกเช็คพิพาทแลกเงินสดไปจากจำเลยอันเป็นการออกเช็คพิพาทให้จำเลยเพื่อชำระหนี้ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง คำเบิกความของจำเลยย่อมเป็นความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว จำเลยย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จ แต่เนื่องจากในขณะคดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ซึ่งเป็นกฎหมายในคดีเดิมที่โจทก์ทั้งสองนำมาเป็นมูลในการฟ้องคดีนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว มี พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดการใช้เช็ค พ.ศ.2534ออกมาใช้บังคับแทน ปรากฏว่ากฎหมายฉบับใหม่ที่ออกภายหลังการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้นต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แต่กรณีการออกเช็คพิพาทแล้วแลกเงินสดมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ดังนี้คำเบิกความของจำเลยในคดีนั้นจึงไม่เป็นข้อสำคัญในคดีนี้อันจะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จการกระทำของจำเลยไม่เป็นของผิดตามฟ้อง

          (2) กฎหมายที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดตามมาตรา 3 มีผลย้อนหลังได้
          มาตรา 3  "ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด....."
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2548  จำเลยที่ 2 อายุ 16 ปี กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสอง (เดิม) , 66 วรรคสอง (เดิม) ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2546 มาตรา 3 ให้เพิ่มความขึ้นเป็นวรรคสองและวรรคสามของมาตรา 18 แห่ง ป.อ. ซึ่งข้อความในวรรคสามที่เพิ่มมีข้อความว่า ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่า สิบแปดปีกระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษห้าสิบปี ระวางโทษตามที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 3
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2551 โทษที่จะลงแก่จำเลยนั้น ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดมาบังคับแก่คดีตาม ป.อ. มาตรา 3 เมื่อมาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำความผิด ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ ในขณะที่มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิด ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องใช้กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังในส่วนที่ไม่มีระวางโทษจำคุกซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาใช้บังคับ เมื่อมีแต่ระวางโทษปรับสถานเดียว จึงไม่อาจรอการกำหนดโทษแก่จำเลยในความผิดฐานนี้ได้ สำหรับอัตราระวางโทษปรับนั้น ตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่า จึงต้องใช้อัตราระวางโทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6517/2552  ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74, 75 และ 76 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน เมื่อปรากฏว่ากฎหมายที่แก้ไข ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำความผิดในขณะอายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะกระทำความผิดอายุ 17 ปีเศษ กฎหมายบังคับให้ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษลงให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง มิใช่อยู่ในดุลพินิจของศาลตามกฎหมายเดิม เป็นกรณีมีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ภายหลังเป็นคุณกว่า ต้องใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225


09 กรกฎาคม 2560

ความผิดตามมาตรา 346 (ชักจูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน โดยอาศัยเหตุที่ผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอ หรือเป็นเด็กเบาปัญญา)

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 346  "ผู้ใดเพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ชักจูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน โดยอาศัยเหตุที่ผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอ หรือเป็นเด็กเบาปัญญา และไม่สามารถเข้าใจตามควรซึ่งสาระสำคัญแห่งการกระทำของตน จนผู้ถูกชักจูงจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          องค์ประกอบความผิดมาตรา 346

          องค์ประกอบภายนอก
          1. ผู้ใด
          2. ชักจูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน
          3. โดยอาศัยเหตุที่ผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอ หรือเป็นเด็กเบาปัญญา และไม่สามารถเข้าใจตามควรซึ่งสาระสำคัญแห่งการกระทำของตน
          4. ผู้ถูกชักจูงจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินนั้น

          องค์ประกอบภายใน
          1. เจตนาธรรมดา
          2. เพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม (เจตนาพิเศษ)

          ส่วนของการกระทำ ได้แก่ การชักจูงและการจำหน่าย
          การชักจูง คือ ชวน แนะนำ ยุยง ส่งเสริม หรือมีส่วนในการตัดสินใจ
          การจำหน่าย คือ การโอนกรรมสิทธิ์

          ความผิดตามมาตรานี้ ต้องการผล คือ มีการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นผลมาจากการถูกชักจูงของผู้กระทำ ถ้ามีการชักจูงแล้ว แต่ผู้ถูกชักจูงไม่เชื่อก็เป็นได้แค่พยายามกระทำความผิด

          สำหรับเจตนาพิเศษ คือ เพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ดังนั้น ถ้าการชักจูงนั้นไม่มีเจตนาเอาทรัพย์สินเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม เช่น การชักจูงให้ทำลายทรัพย์สิน ก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้


21 พฤษภาคม 2560

สิทธิและหน้าที่ของทายาทที่มีร่วมกันจนกว่าแบ่งมรดกเสร็จสิ้น

          ในกรณีที่เจ้ามรดกมีทายาทหลายคน ทรัพย์สิน สิทธิและหน้าที่ รวมทั้งความรับผิดของเจ้ามรดกที่ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวย่อมตกแก่ทายาททุกคน ทายาททุกคนมีสิทธิและหน้าที่ร่วมกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกนั้นจนกว่าการแบ่งมรดกจะเสร็จสิ้น ซึ่งสิทธิและหน้าที่ร่วมกันของทายาทนั้น มาตรา 1645 บัญญัติให้นำมาตรา 1356 ถึงมาตรา 1366 ในเรื่องกรรมสิทธิ์รวมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในเรื่องมรดก บทบัญญัติเรื่องกรรมสิทธิ์รวมซึ่งนำมาใช้ ได้แก่
          (1) การจัดการมรดกต้องจัดการร่วมกัน
          (2) การใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกทั้งหมดต่อสู้บุคคลภายนอก
          (3) มีสิทธิใช้ทรัพย์มรดกและสิทธิได้ดอกผล
          (4) จำหน่ายทรัพย์มรดกส่วนของตนหรือจำนองหรือก่อให้เกิดภาระติดพันในทรัพย์มรดกส่วนของตนได้
          (5) ร้องขอให้ศาลแบ่งทรัพย์มรดกได้หากไม่สามารถตกลงการแบ่งกันได้


          สิทธิของทายาทในกองมรดกก่อนแบ่งปันมรดก


          (1) ทายาทมีส่วนเท่ากันในมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานตามมาตรา 1746
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2519  โจทก์ฟ้องว่าเดิมโจทก์จำเลยได้ครอบครองที่นามรดกร่วมกัน 2 แปลง เรียกว่านา ต. กับนา ห. ต่อมาจึงแยกกันทำนา โดยโจทก์ทำนา ต.จำเลยทำนา ห. แต่จำเลยไปขอ น.ส.3 เป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวโจทก์ขอให้แบ่งกันคนละแปลง จำเลยไม่ยอม ขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่นามรดกกับโจทก์คนละแปลง โดยให้โจทก์ได้นา ต. ซึ่งโจทก์ครอบครองอยู่ จำเลยให้การว่าได้แบ่งมรดกกันแล้วโดยนา ต. กับนา ห. ให้แก่จำเลย ได้ความว่านาทั้งสองแปลงนี้เป็นทรัพย์มรดกที่โจทก์จำเลยได้รับมา โจทก์จำเลยแยกกันทำนาคนละแปลง แต่ต่างฝ่ายต่างครอบครองแทนอีกฝ่ายหนึ่งตลอดมา โจทก์จำเลยต่างยังเป็นเจ้าของนาทั้งสองแปลงร่วมกัน นา ต. ก็เป็นทรัพย์มรดกที่จำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย จะแบ่งให้แก่โจทก์ฝ่ายเดียวไม่ได้ จึงพิพากษาว่านาทั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่โจทก์จำเลย ให้แบ่งนา 2 แปลงนี้ให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง

          (2) ทายาทมีสิทธิรับมรดกแม้จะเคยได้รับทรัพย์สินจากเจ้ามรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ตามมาตรา 1747

          (3) ทายาทมีสิทธิจะเรียกร้องให้แบ่งมรดก โดยต้องใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องคดีภายในอายุความมรดกตามมาตรา 1754 ยกเว้นจะเป็นกรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คือ กรณีทายาทครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังไม่ได้แบ่งกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 418/2493  การที่บิดาพูดรับรองในวันทำบุญ 7 วันศพภริยาจะแบ่งนาพิพาทให้บุตรทุกคน แล้วบิดาได้ครอบครองนาพิพาทต่อมาร่วมกับบุตรบางคน ดังนี้ ถือว่าบิดาได้ครอบครองนาพิพาทแทน
          สินสมรสระหว่างบิดามารดานั้น หากมารดาตาย แต่ถ้าบิดายังมีชีวิตอยู่ บุตรคงมีส่วนเฉพาะที่เป็นมรดกของมารดาเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2493  การที่ทายาทของผู้ตายร่วมกันไปกู้เงินผู้อื่นมาไถ่นาพิพาท และให้เจ้าหนี้ทำนาพิพาทต่างดอกเบี้ยภายใน 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตายนั้น ถือว่าทายาทเหล่านั้นได้ครอบครองนาพิพาทด้วยกัน ตลอดเวลาที่เจ้าหนี้ทำนามรดกนั้นต่างดอกเบี้ยอยู่ หากทายาทคนใดไปลอบไถ่มาโดยไม่แจ้งให้ทายาทอื่นทราย ก็ไม่ถือว่าทายาทคนอื่นสละการครอบครอง คงถือว่าทายาทลอบที่ไถ่มาครอบครองแทนทายาทอื่นนั้น และคดีไม่ขาดอายุความมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 922/2498  เมื่อได้ความว่าเจ้าหนี้ครอบครองที่ดินพิพาทของเจ้ามรดกไว้ทำประโยชน์ต่างดอกเบี้ยตลอดมา โดยทายาทมิได้ครอบครองมรดกนั้นด้วย ดังนี้ถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ครอบครองในนามของผู้ตายหรือครอบครองแทนทายาทของผู้ตายร่วมกัน และอายุความที่เกี่ยวกับฟ้องขอให้แบ่งที่พิพาทระหว่างทายาทด้วยกันนั้นจึงไม่อยู่ในบังคับบท มาตรา 1754 (อายุความ 1 ปี)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2506  โจทก์อยู่กับมารดาที่เรือนมารดาในที่พิพาท ก่อนมารดาตาย มารดาตายที่พิพาทตกเป็นมรดกของมารดา โจทก์ก็ยังคงอยู่ที่เรือนมารดาอีกหลายเดือนนับแต่มารดาตาย แล้วเรือนมารดาก็ถูกรื้อถวายวัด โจทก์จึงมาอยู่ที่เรือนจำเลยในที่พิพาทอีกหลายเดือน รวมเวลาที่โจทก์อยู่ในที่พิพาทหลังจากมารดาตายได้ราวปีเศษ โจทก์จึงไปอยู่ที่จังหวัดอื่น นับว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมากับจำเลยด้วยกันในตอนแรก โจทก์กับจำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาถือได้ว่าครอบครองที่พิพาทไว้แทนในฐานะเจ้าของร่วม แม้โจทก์มาฟ้องขอให้แบ่งมรดกที่พิพาทภายหลังมารดาตายแล้ว 18 ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2528 (ประชุมใหญ่)  การที่จำเลยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ทั้งสองแปลงตามที่โจทก์ขอแบ่ง แสดงว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินในกองมรดกซึ่งอยู่ระหว่างจัดการมรดก ถึงแม้ว่าจำเลยจะครอบครองที่พิพาทนั้นตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมแต่ผู้เดียว ก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน และต่อมาจำเลยก็ได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ดังนั้นการที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจึงจะยกอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทจากจำเลยได้

          (4) ทายาทมีสิทธิตามข้อตกลงไม่ให้แบ่งมรดก คือ ทายาทอาจตกลงกันไม่ให้แบ่งทรัพย์มรดกก็ได้ แต่ข้อตกลงห้ามแบ่งมรดกนี้จะกำหนดเกินคราวละสิบปีไม่ได้

          (5) ทายาทมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีมรดก ตามบทบัญญัติมาตรา 1749 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2491  ผู้ตายมีภริยาคือโจทก์และนางผิวเล็ก โจทก์ฟ้องแบ่งมรดกจากจำเลยซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายกับนางผิวเล็กกึ่งหนึ่ง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การแบ่งทรัพย์มรดก เมื่อเจ้ามรดกตาย เมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 แล้ว ต้องแบ่งตามมาตรา 1635 และ  1636 กล่าวคือ โจทก์และนางผิวเล็กสองคนรวมกันได้หนึ่งส่วน จำเลยเป็นบุตรได้หนึ่งส่วน ระหว่างโจทก์กับนางผิวเล็กได้ในส่วนนั้นคนละครึ่ง และเห็นว่าการแบ่งต้องแบ่งให้เพียงเท่าที่โจทก์มีสิทธิควรจะได้ จะแบ่งให้กึ่งหนึ่ง โดยเอาส่วนของนางผิวเล็กไปให้โจทก์ด้วยหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ของโจทก์และโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอส่วนแบ่งในนามของนางผิวเล็กด้วย การแบ่งนี้ไม่ขัดกับมาตรา 1749  คำว่า "กันส่วนไว้เพื่อทายาทอื่น" ตามมาตรา 1749 ห้ามนั้น หมายความว่า กันไว้เพื่อทายาทนั้นมารับเอาไปได้ทีเดียว โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาเมื่อก่อนใช้ ป.พ.พ.บรรพ 6 เรื่องนี้ ถ้านางผิวเล็กต้องการส่วนของตน จะมารับเอาไปจากศาลไม่ได้ จำต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ การแบ่งให้โจทก์เพียง 1 ใน 4 เช่นนี้ จึงหาใช่เป็นการกันส่วนไว้เพื่อนางผิวเล็กไม่ แต่เป็นการแบ่งให้ตามสิทธิที่โจทก์ควรจะได้รับ

          (6) ทายาทมีสิทธิฟ้องคดี ถึงแม้จะมีผู้จัดการมรดกแล้วก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824/2543  แม้มรดกนั้นจะมีผู้จัดการมรดกอยู่แล้ว ทายาทก็ยังมีสิทธิฟ้องร้องให้บุคคลภายนอกชำระหนี้สินของกองมรดกอันเป็นการรักษาสิทธิอันจะพึงตกแก่กองมรดกได้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 เมื่อเจ้ามรดกตายทรัพย์มรดกนั้นก็จะตกยังทายาท เมื่อมีทายาทหลายคนทายาทแต่ละคนก็ย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของตามส่วนที่ตนจะพึงได้ ซึ่งเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแก่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก รวมถึงการเรียกร้องเอาทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ซึ่งมาตรา 1745 ก็ให้นำมาใช้บังคับได้ ทั้งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 ลักษณะ 4 อันว่าด้วยวิธีจัดการและปันทรัพย์มรดกก็มิได้ห้ามมิให้ทายาทฟ้องร้องในกรณีเช่นนี้ แต่จะเห็นได้ตามมาตรา 1737 ว่าแม้แต่เจ้าหนี้กองมรดกจะฟ้องร้องทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกให้เรียกผู้จัดการมรดกเข้ามาในคดีด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้มรดกมีผู้จัดการมรดกแล้วเจ้าหนี้ก็ยังฟ้องร้องทายาทได้ แต่เพื่อความสะดวกก็ให้เรียกผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วยจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะห้ามมิให้ทายาทฟ้องร้องดังเช่นคดีนี้ โจทก์ในฐานะทายาทจึงมีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10484/2551  แม้จำเลยที่ 2 และ ฉ. จะเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. แล้ว ก็หาทำให้สิทธิของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ อ. ที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกคืนจากบุคคลภายนอกหรือลูกหนี้ของ อ. สิ้นไปแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายบัญญัติห้ามหรือตัดสิทธิไว้ เมื่อ อ. ถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นของทายาทรวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วย หนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจาก อ. ก็ตกเป็นสิทธิของทายาทของ อ. รวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วยเช่นกัน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ถือว่ามีผลประโยชน์ขัดกับกองมรดกจำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 กลับกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นหนี้ตามสัญญากู้เงินอีก หากทายาทไม่มีอำนาจฟ้องย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดก