10 สิงหาคม 2560

ที่ดิน ส.ป.ก.4-01


          ที่ดิน ส.ป.ก. คือ ที่ดินในบริเวณที่ได้ประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยที่ดิน ส.ป.ก. เป็นที่ดินที่ทางภาครัฐยกให้แก่เกษตรกรเพื่อสำหรับใช้เป็นที่ดินในการทำมาหากินด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ก็จะได้รับเอกสารสิทธิไว้เป็นหลักฐาน คือ ส.ป.ก. 4-01
          ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 4 “การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม” หมายความว่า  การปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมรวมตลอดถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐ จัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพและสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4431/2550  มติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมายเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งจะทำได้หรือไม่ได้เพียงใด ก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายในเรื่องนั้นบัญญัติไว้ ในกรณีเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก็ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ดังนั้น บุคคลใดจะมีสิทธิที่จะได้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดหาใช่จะถือตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแต่เพียงอย่างเดียวตามที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่ ซึ่งตามที่ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 4 บัญญัติความหมายของคำว่า “เกษตรกร” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และให้หมายความรวมถึงบุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกรบรรดาซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดใน พ.ร.ฎ. ด้วย และตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ข้อ 6 (6) ระบุว่าต้องเป็นผู้ไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยแต่ไม่เพียงพอแก่การประกอบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ แสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก็เพื่อช่วยให้เกษตรกรรมก็เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน และเกษตรกรผู้นั้นจะต้องไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองหรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพหรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรม เมื่อจำเลยมีที่ดินของตนเองจำนวน 108 แปลง และจำเลยประกอบอาชีพอื่นนอกจากด้านการเกษตรโดยประกอบอาชีพค้าขาย มีหุ้นอยู่ในนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัดรวม 16 แห่ง จึงถือได้ว่าจำเลยมีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองและมีรายได้เพียงพอแก่การครองชีพแล้ว และไม่ถือว่าจำเลยเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักแต่อย่างใด จำเลยย่อมขาดคุณสมบัติในการยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน การที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ก.) ในที่ดินพิพาทที่ออกให้แก่จำเลยจึงชอบแล้ว ถึงแม้ในตอนแรก โจทก์ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก 4-01 ก.) ให้แก่จำเลยไปแล้ว แต่เมื่อมาตรวจสอบพบในภายหลังว่า จำเลยเป็นผู้ขาดคุณสมบัติดังกล่าวก็สามารถทำการเพิกถอนได้เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิที่จะได้หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ก.) มาตั้งแต่ต้น และเมื่อเพิกถอนการอนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2919/2545  โจทก์เป็นเกษตรกรได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว 20 ไร่ 2 งาน 84 ตารางวา โดยทำนาทั้งแปลง ถือได้ว่าโจทก์มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองและมีรายได้เพียงพอแก่การครองชีพแล้ว โจทก์จึงขาดคุณสมบัติที่จะได้รับโอนที่ดินพิพาทแม้ทางมรดกตกทอด จำเลยซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชอบที่จะไม่ออกคำสั่งให้โจทก์รับมรดกตกทอดสิทธิการเช่าในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าขัดกับกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ได้


           การซื้อขายหรือโอนสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ต้องห้ามตามกฎหมาย

          ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 39)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2558  จำเลยมีสัญชาติอิตาลี โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากัน และทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าว่า “ให้ที่ดินจำนวน 3 งาน พร้อมบ้านเลขที่ 245 หมู่ที่ 9 ตำบลหนองหว้า อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว เป็นทรัพย์สินของ ซ. (จำเลย) แต่เพียงผู้เดียว” เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย เพื่อให้รัฐนำที่ดินดังกล่าวนี้จัดสรรให้แก่เกษตรกรซึ่งมีคุณสมบัติตามกฎหมายที่มีสิทธิจะได้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) และเกษตรกรผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินนั้นจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิไปให้แก่บุคคลอื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 39 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมายดังกล่าว อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่อาจได้ไปซึ่งที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าว แม้โจทก์จะมิได้บรรยายมาในฟ้อง แต่เป็นข้อกฎหมายที่สามารถยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9152/2557  ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาในคดีก่อน จำเลยซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในคดีดังกล่าวทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 มีสาระสำคัญในข้อ 1 ว่า จำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลชั้นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในวันที่... จะทำกันที่ศาลฎีกา โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ข้อ 2 ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้อง โดยตกลงชำระเงินเป็นค่าซื้อขายที่ดินพิพาทจำนวน 40,000,000 บาท โดยชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่... ให้แก่ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินค่าที่ดิน และจำเลยสามารถตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้ซื้อก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ ข้อ 5 จำเลยและทายาทของ ห. ทุกคนจะต้องยินยอมให้ความร่วมมือในการที่ ก. จดทะเบียนรับ ส. เป็นบุตรบุญธรรม เพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 - 01 และทายาทของ ห. ทุกคนต้องสละสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ได้ทำการซื้อขายกันตามสัญญาโอนสิทธิฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ที่ได้ออกหลักฐาน ส.ป.ก. 4 - 01 ในปัจจุบัน ข้อ 6 ในวันที่โจทก์ไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อที่สำนักงานที่ดินนั้น จำเลยจะต้องได้รับเงินครบถ้วน 40,000,000 บาท หากโจทก์หรือผู้ซื้อผิดสัญญาให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกัน และโจทก์ยินยอมรับผิดชดใช้เงินค่าที่ดินพร้อมค่าเสียหายแก่จำเลย ในทางกลับกันหากจำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จำเลยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินค่าปรับ 40,000,000 บาท นั้น บันทึกดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ คู่กรณีต้องดำเนินการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องและชำระเงินกันก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษา เพราะเมื่อศาลฎีกาพิพากษาแล้วคำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อตกลงนอกศาลที่ทั้งสองฝ่ายทำไว้ไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนคำพิพากษาได้ ส่วนตามบันทึกข้อตกลงตามเอกสาร จ.5 ข้อ 5 ที่ระบุว่าจำเลยและทายาทอื่นของ ห. ทุกคนต้องยินยอมและให้ความร่วมมือในการที่ ก. ภริยา ห. จดทะเบียนรับ ส. พี่ชายโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่มีหลักฐานเป็น ส.ป.ก. 4 - 01 ดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ข้อตกลงดังกล่าวจึงทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามโดยชัดแจ้งของกฎหมาย หาใช่เป็นข้อตกลงที่เป็นการแก้ไขข้อขัดข้องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ตามที่โจทก์ฎีกา จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์เบิกความว่าเงิน 40,000,000 บาท ที่จะจ่ายให้แก่จำเลยตามบันทึกข้อตกลงนั้น เป็นเงินรวมทั้งหมดไม่ได้แบ่งแยกเป็นหลายแปลง จึงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาให้จำเลยโอนที่ดินทั้งหมดทุกแปลงแก่โจทก์โดยโจทก์ตกลงจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินรวม 40,000,000 บาท จึงไม่สามารถแยกส่วนที่ไม่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6540/2557  เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 ที่ต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น ไม่อาจตกทอดแก่ทายาทโดยพินัยกรรมได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมให้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตกแก่ผู้คัดค้านเพียงผู้เดียว การทำพินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย พินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงมิใช่กรณีที่ผู้ร้องถูกตัดมิให้รับมรดกด้วยพินัยกรรม ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม และมีสิทธิที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 จึงไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย