14 มีนาคม 2567

สัญญากู้ยืมเงินที่เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654  "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี"

          การคิดดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงินนั้น ต้องเป็นไปตามมาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 (ที่ประกาศใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475) มาตรา 4 กำหนดให้การคิดดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา
          มาตรา 4 "บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          (1) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้
          (2) กำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือ
          (3) กำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือสิ่งของหรือโดยวิธีการใด ๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน"



          ดังนั้น การที่บุคคลทั่วไปให้กู้ยืมเงินโดยมีการตกลงคิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นความผิดและมีโทษทางอาญา จึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5781/2533 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้จำนวน 84,000บาท แต่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นหนี้จำนวนดังกล่าวเมื่อจำเลยให้การว่าเป็นหนี้โจทก์จำนวน 33,000 บาท โดยได้ความว่าแยกเป็นหนี้ต้นเงินจำนวน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือ 23,000 บาท เป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินจำนวน 10,000 บาทได้ ส่วนเงินอีก 23,000 บาท เป็นดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงตกเป็นโมฆะ แม้จำเลยจะให้การยอมรับจะชำระเงินจำนวนนี้ ก็บังคับให้ไม่ได้ เมื่อได้ความว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5), 246, 247

          สำหรับสถาบันการเงิน ปัจจุบันมี พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 (แต่เดิมการคิดอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505) การคิดดอกเบี้ยจึงเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 654
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16376/2557  ขณะจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2536 กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็ม แอล อาร์) ร้อยละ 11.5 ต่อปี ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ร้อยละ 13.25 ต่อปี แต่ในสัญญากู้ยืมเงินระบุดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขการชำระหนี้ แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดอัตราดอกเบี้ยมิได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์พึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งโจทก์ออกประกาศดอกเบี้ยและส่วนลดตามอัตราดอกเบี้ยแต่ละกรณีตามประกาศดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญาเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ อันต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) จึงเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จากจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 7 เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ โดยมีการส่งหนังสือทางไปรษณีย์ไปตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แต่ส่งไม่ได้เนื่องจากไม่มารับภายในกำหนด กำหนดระยะเวลาที่ให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อความในหนังสือยังไม่อาจเริ่มนับ จึงให้ถือเอาวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นวันที่เริ่มคิดดอกเบี้ยเงินกู้
          ส่วนดอกเบี้ยสำหรับหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้คิดในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี คงที่นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เป็นการคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีในอัตราสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกการคำนวณดอกเบี้ยและประกาศอัตราดอกเบี้ยว่าโจทก์ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะ ๆ ดังนั้นหากนับถัดจากวันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นต้นไป โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 12.75 ต่อปี จะทำให้การคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ดังกล่าวเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าประกาศของโจทก์ในช่วงนั้นได้ จึงเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 7 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นอัตราสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามประกาศของโจทก์ แต่ไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงิน ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

          การที่ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะนั้นมีผลต่อมาคือ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ ผู้ให้กู้ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่ผู้กู้ชำระแก่ผู้ให้กู้มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่ผู้กู้ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่ผู้กู้ชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560  โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8000/2553  การที่ธนาคาร ธ. ระบุดอกเบี้ยไว้ในสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญา โดยในขณะดังกล่าวนั้นลูกหนี้ยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาแต่อย่างใด จึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคาร ธ. อันเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ มาตรา 14 ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา มาตรา 3 (ก) ถือเป็นโมฆะ แม้ว่าตามความจริงแล้วจะยังไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในขณะที่ลูกหนี้ยังมิได้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะกลับกลายไปเป็นชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ จึงเท่ากับว่าตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับไม่อาจมีการคิดดอกเบี้ยกันได้
          การที่ธนาคาร ธ. เป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินย่อมต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์รวมถึงอัตราในการเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนลูกหนี้นั้นโดยสภาพและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจะทราบถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด การดำเนินการของสถาบันการเงินซึ่งประกอบกิจการอันเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุให้ลูกหนี้เข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่ามีการคิดดอกเบี้ยโดยถูกต้องแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าการชำระดอกเบี้ยเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 กรณีจึงต้องนำเงินดอกเบี้ยที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดไปหักชำระออกจากต้นเงินที่ยังคงค้างชำระตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับ

          แต่อย่างไรก็ตาม แม้ดอกเบี้ยสัญญากู้ยืมตกเป็นโมฆะ แต่ผู้ให้กู้ก็ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างที่ผู้กู้ผิดนัดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5162/2553  แม้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจะระบุว่า ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 15 ต่อปี ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่โจทก์และจำเลยตกลงเรียกดอกเบี้ยสัญญากู้ยืมเงินกันในอัตราร้อยละ 3 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงเป็นการไม่ชอบและตกเป็นโมฆะ เสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ผลเท่ากับไม่เคยมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอยู่ในสัญญา แต่กรณีเป็นหนี้เงินโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 ได้

          ความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดนั้นเกิดขึ้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันที่มีการให้กู้ยืมเงินด้วยการทำสัญญากันและจำเลยเรียกดอกเบี้ยจากผู้เสียหายเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15866/2557  ความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดนั้นเกิดขึ้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันที่มีการให้กู้ยืมเงินด้วยการทำสัญญากันและจำเลยเรียกดอกเบี้ยจากผู้เสียหายเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด หาใช่ความผิดต่อเนื่องตลอดระยะเวลาตราบเท่าที่จำเลยยังคงเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราอยู่และผู้เสียหายแต่ละคนได้ผ่อนชำระดอกเบี้ยนั้นดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 25 กันยายน 2551 เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันกระทำผิดสำเร็จ จึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18180/2556  ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นความผิดเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วตั้งแต่ผู้ให้กู้ให้กู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การชำระดอกเบี้ยต่อเนื่องกันมาเป็นผลของการกระทำความผิดเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันให้โจทก์ร่วมกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2541 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีจึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4)



บุคคลสาบสูญ

          การร้องขอให้ศาลสั่งเป็นบุคคลสาบสูญ

          หลักเกณฑ์ตามมาตรา 61
          1. ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี หรือ
          2. ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาสองปีในกรณีต่อไปนี้
               (1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
               (2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
               (3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
          3. เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5770/2548   เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พบรถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะที่ ช. ใช้เดินทาง กรณีจึงมิใช่ยานพาหนะที่ ช. เดินทางสูญหาย อันจะเข้าหลักเกณฑ์ระยะเวลา 2 ปี ที่จะร้องขอให้ ช. เป็นคนสาบสูญตาม ป.พ.พ. มาตรา 61 วรรคสอง แต่เป็นกรณีที่จะต้องใช้หลักเกณฑ์ระยะเวลา 5 ปี ตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2535   ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผ.เป็นคนสาบสูญโดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ผ.แทนที่ ท. บิดาผู้ร้องซึ่งเป็นลุงของ ผ. ดังนี้ หากศาลสั่งให้ ผ. เป็นคนสาบสูญตามกฎหมาย ก็ต้องถือว่า ผ. ถึงแก่ความตายเมื่อครบ 7 ปี นับแต่ไปจากภูมิลำเนา คิดแล้วไม่เกินปี พ.ศ. 2476 เพราะ ผ. ไปจากภูมิลำเนาเมื่อปี พ.ศ. 2469 แต่ ท. บิดาผู้ร้องถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2478 ดังนั้น ถึง ท.จะมีสิทธิรับมรดกของ ผ.ในฐานะลุงดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของผ.แทนที่ ท. เพราะขณะที่ถือว่า ผ. ถึงแก่ความตายนั้นท.ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผ. เป็นคนสาบสูญ


          ผลของการที่ศาลสั่งเป็นบุคคลสาบสูญ

          บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61 (มาตรา 62)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2739/2556   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 บัญญัติว่า “ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อเจ้ามรดกตาย...” หมายความว่าในขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกต้องปรากฏว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอและตามทางไต่สวนได้ความว่า ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลยังมิได้มีคำสั่งว่า บ. เป็นคนสาบสูญ จึงถือไม่ได้ว่า บ. ถึงแก่ความตายแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 61 และ 62 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. มาพร้อมกับขอให้ศาลสั่งให้ บ. เป็นคนสาบสูญ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5513/2552   ล. ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญมีผลเท่ากับ ล.ถึงแก่ความตาย และเมื่อ ล.เป็นสมาชิกของจำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว โดยโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ล. เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยว่า หากไร้ซึ่งศพที่จะต้องจัดการแล้วจำเลยไม่อาจจ่ายเงินค่าจัดการศพได้นั้น รับฟังไม่ได้ ดังนั้น การเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาลเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์

          การขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
          เมื่อบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นเองหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล และพิสูจน์ได้ว่าบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ก็ดี หรือว่าตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ในมาตรา 62 ก็ดี ให้ศาลสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้น แต่การถอนคำสั่งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไปโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้น (มาตรา 63 วรรคหนึ่ง)
          บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินมาเนื่องแต่การที่ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ แต่ต้องเสียสิทธิของตนไปเพราะศาลสั่งถอนคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา 63 วรรคสอง)

ลาภมิควรได้

          การที่บุคคลหนึ่งได้ทรัพย์สิ่งใดมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ บุคคลที่ได้ทรัพย์มานั้นมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา
          มาตรา 406  "บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใด เพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่งการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย
          บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มา เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3207/2559  แม้ลายมือชื่อจำเลยในการทำนิติกรรมยื่นขอกู้และทำสัญญากู้ไว้แก่โจทก์จะเป็นลายมือชื่อปลอมที่ภริยาจำเลยเป็นผู้ดำเนินการให้แทน แต่จำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์ไปแล้ว การที่จำเลยได้รับเงินจากการกู้ยืมที่มีลายมือชื่อปลอมจึงเป็นการรับเงินกู้ไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้        


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3132/2556  ผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลยตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 9 ต้องเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 120 ต่อปี ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มิใช่เป็นการกู้เงินอันจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 จึงมีผลทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ดังนั้นเงินที่จำเลยที่ 2 ได้ไปจึงเป็นลาภมิควรได้ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นละเมิด จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง และ 438 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงิน ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

          กรณีที่ไม่มีสิทธิได้รับคืนทรัพย์
          (1) บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ (มาตรา 407)
          (2) บุคคลผู้ชำระหนี้อันมีเงื่อนเวลาบังคับเมื่อก่อนถึงกำหนดเวลานั้น (มาตรา 408 (1))
          (3) บุคคลผู้ชำระหนี้ซึ่งขาดอายุความแล้ว (มาตรา 408 (2))
          (4) บุคคลผู้ชำระหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรม หรือตามควรแก่อัธยาศัยในสมาคม (มาตรา 408 (3))
          (5) บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ได้ชำระหนี้ไปโดยสำคัญผิด เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ผู้ทำการโดยสุจริตได้ทำลาย หรือลบล้างเสียซึ่งเอกสารอันเป็นพยานหลักฐานแห่งหนี้ก็ดี ยกเลิกหลักประกันเสียก็ดี สิ้นสิทธิไปเพราะขาดอายุความก็ดี เจ้าหนี้ไม่จำต้องคืนทรัพย์ (มาตรา 409)
          (6) บุคคลผู้ใดได้ทำการชำระหนี้โดยมุ่งต่อผลอย่างหนึ่ง แต่มิได้เกิดผลขึ้นเช่นนั้น ถ้าและบุคคลนั้นได้รู้มาแต่แรกว่าการที่จะเกิดผลนั้นเป็นพ้นวิสัยก็ดี หรือได้เข้าป้องปัดขัดขวางเสียมิให้เกิดผลเช่นนั้นโดยอาการอันฝ่าฝืนความสุจริตก็ดี (มาตรา 410)
          (7) บุคคลซึ่งได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี (มาตรา 411)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2565  การออกหุ้นกู้ต้องอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1229 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 65 กล่าวคือ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดและต้องได้รับโทษตาม มาตรา 268 การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเหตุให้การออกหุ้นกู้ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจใช้บังคับในฐานะหุ้นกู้ตามกฎหมายได้ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ และมีกำหนดเวลาการชำระคืน ถือได้ว่า สำเนาใบหุ้นกู้มีข้อความครบถ้วนเพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่เป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานได้ ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงพยานเอกสารเมื่อฟังได้ว่าสำเนาใบหุ้นกู้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นการให้ดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 654 ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไป ส่วนผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้ชำระแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง จึงเป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยที่ 1 ไม่อาจขอให้นำเงินที่ชำระไปดังกล่าวมาหักกลบกับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6614/2562 จำเลยรับจะดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองหรือผ่านบุคคลอื่นเพื่อแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โดยมีเงินที่ได้รับจากโจทก์เป็นค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การที่โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม มาตรา 172 วรรคสอง การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ เสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี จึงไม่อาจเรียกร้องเงินคืนได้ตาม มาตรา 407 และ 411
          โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

          การคืนทรัพย์
          (1) กรณีทรัพย์ที่รับไว้เป็นเงิน การคืนเงินต้องคืนเต็มจำนวน เว้นแต่รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน (มาตรา 412)
          (2) กรณีทรัพย์สินอันจะต้องคืนนั้นเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงิน และบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต บุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์สินเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่ (มาตรา 413 วรรคแรก)
          (3) กรณีทรัพย์สินอันจะต้องคืนนั้นเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงิน และบุคคลได้รับไว้โดยทุจริต บุคคลนั้นก็จะต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบสลายนั้นเต็มภูมิ แม้กระทั่งการสูญหายหรือบุบสลายจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง (มาตรา 413 วรรคสอง)
          (4) ถ้าการคืนทรัพย์ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะสภาพแห่งทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้นเองก็ดี หรือเพราะเหตุอย่างอื่นก็ดี และบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต บุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน (มาตรา 414 วรรคแรก) แต่ถ้ารับไว้โดยทุจริต ก็ต้องใช้ราคาทรัพย์สินนั้นเต็มจำนวน (มาตรา 414 วรรคสอง)


          ดอกผลของทรัพย์นั้นตกเป็นของใคร
          บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่ แต่ถ้าผู้ที่ได้รับไว้จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อใด ให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่เรียกคืนนั้น (มาตรา 415)

          ค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปใครรับผิดชอบ
          ค่าใช้จ่ายทั้งหลายอันควรแก่การเพื่อรักษาบำรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น ท่านว่าต้องชดใช้แก่บุคคลผู้คืนทรัพย์สินนั้นเต็มจำนวน แต่บุคคลเช่นว่านี้จะเรียกร้องให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายตามธรรมดาเพื่อบำรุงซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น หรือค่าภาระติดพันที่ต้องเสียไปในระหว่างที่ตนคงเก็บดอกผลอยู่นั้นหาได้ไม่ (มาตรา 416)
          ส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่นนอกจากที่กล่าวมาในวรรคต้นแห่งมาตราก่อนนั้น บุคคลผู้คืนทรัพย์สินจะเรียกให้ชดใช้ได้แต่เฉพาะที่เสียไปในระหว่างที่ตนทำการโดยสุจริต และเมื่อทรัพย์สินนั้นได้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายนั้นในเวลาที่คืน และจะเรียกได้ก็แต่เพียงเท่าราคาที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น (มาตรา 417 วรรคแรก)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2558 โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 แม้ต่อมาจำเลยจะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท แต่ตราบใดคดีที่จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดโจทก์ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่จะใช้สอยที่ดินพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ถมดินในที่ดินพิพาทก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดจึงย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ และกรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่โจทก์สมัครใจถมดินในที่ดินพิพาทตามอำเภอใจตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โดยรู้อยู่ว่าอาจมีการเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทภายหลังได้ ส่วนข้อสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยหาอาจนำมาอ้างให้เสื่อมสิทธิของโจทก์และเป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ เพราะเป็นข้อตกลงที่โจทก์มีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี หาได้เกี่ยวและมีผลผูกพันจำเลย แต่เมื่อจำเลยได้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยได้ดินที่โจทก์ถมไว้โดยสุจริตในที่ดินพิพาทไปด้วย อันทำให้มูลค่าที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สิ่งใดที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยต้องคืนดินที่ถมในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ปรับปรุงถมดินเต็มเนื้อที่ในที่ดินพิพาทเพื่อจะปลูกสร้างบ้านเป็นเวลาล่วงเลยมานานถึง 12 ปี ดินที่โจทก์นำมาถมย่อมเปลี่ยนแปลงสภาพเกลื่อนกลืนกับที่ดินพิพาทของจำเลยไปตามกาลเวลากลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนดินที่ถมหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนก็ตาม ก็ไม่อาจคืนดินที่ถมไปแล้วให้แก่โจทก์ได้ แต่การที่โจทก์ขอให้ใช้ราคาแทนดินที่ถม ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาสูงขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์เรียกจากจำเลยได้ก็เพียงเท่าราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 38 ตารางวา และโจทก์ถมดินไป 3,000 คิว ประกอบกับสภาพสถานที่ตั้งของที่ดิน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีแล้วเห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 510,000 บาท

          ถ้าบุคคลรับทรัพย์สินอันมิควรได้ไว้โดยทุจริต และได้ทำการดัดแปลงหรือต่อเติมขึ้นในทรัพย์สินนั้น ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นต้องจัดทำทรัพย์สินนั้นให้คืนคงสภาพเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองแล้วจึงส่งคืน เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินจะเลือกให้ส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าของจะใช้ราคาค่าทำดัดแปลงหรือต่อเติม หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นราคาทรัพย์สินเท่าที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ได้ แล้วแต่จะเลือก แต่ถ้าในเวลาที่จะต้องคืนทรัพย์นั้นเป็นพ้นวิสัยจะทำให้ทรัพย์สินคืนคงสภาพเดิมได้ หรือถ้าทำไปทรัพย์สินนั้นจะบุบสลายไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้ได้รับไว้จะต้องส่งคืนทรัพย์สินตามสภาพที่เป็นอยู่ และไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อราคาทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นเพราะการดัดแปลงหรือต่อเติมนั้นได้ (มาตรา 418)

          อายุความ
          ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น (มาตรา 419)


การจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่

          การร้องขอให้ศาลสั่งให้จัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่

          เมื่อปรากฏว่าบุคคลใดไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้ (มาตรา 48 วรรคสอง)


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2550   ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายได้ออกไปจากภูมิลำเนาและไม่ได้กลับมาอีกเป็นเวลา 1 ปีเศษ โดยไม่ทราบว่าจำเลยเป็นตายร้ายดีประการใด จำเลยไม่อาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยผู้ร้องได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีมาพร้อมคำร้อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าจำเลยยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องก็ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องของผู้ร้องให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ไต่สวนคำร้องเสียก่อนเช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและมีคำสั่งใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
         
  
          เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไปหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีผู้ใดได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นประการใดเลยก็ดี หรือหนึ่งปีนับแต่วันมีผู้ได้พบเห็นหรือได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งหลังสุดก็ดี เมื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งร้องขอ(ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ) ศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้ (มาตรา 48 วรรคสอง)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2546  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ในคดีนี้ซึ่งเป็นหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารโรงเรียนเทคโนโลยี ร. การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการกิจการโรงเรียนเทคโนโลยี ฉ. แทนจำเลยผู้ไม่อยู่ชั่วคราว จนกว่าจำเลยจะกลับมา และผู้ร้องได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการกิจการของโรงเรียนเทคโนโลยี ฉ. ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่า ผู้ร้องมีอำนาจจัดการแต่เฉพาะในกิจการของโรงเรียนเทคโนโลยี ฉ. อันเป็นกรณีที่ศาลสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของจำเลยผู้ไม่อยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคหนึ่ง  หาใช่กรณีที่ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของจำเลยผู้ไม่อยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคสอง อันจะทำให้ผู้ร้องมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไม่แม้ในเหตุฉุกเฉินผู้ร้องก็ไม่อาจจะก้าวล่วงไปจัดการในกิจการอื่นของจำเลยได้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่

          ในกรณีที่ผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป หรือปรากฏว่าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปได้จัดการทรัพย์สินนั้นในลักษณะที่อาจเสียหายแก่บุคคลดังกล่าว ให้นำมาตรา 48 มาใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา 49) กล่าวคือ เป็นกรณีที่กฎหมายอนุโลมให้ร้องขอต่อศาลเพื่อให้สั่งจัดการทรัพย์สินหรือตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ได้เช่นกัน

          อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการทรัพย์สิน

          ผู้จัดการทรัพย์สินมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปตามมาตรา 801 และมาตรา 802 ถ้าผู้จัดการทรัพย์สินเห็นเป็นการจำเป็นจะต้องทำการอันใดอันหนึ่งเกินขอบอำนาจ ต้องขออนุญาตต่อศาล และเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะกระทำการนั้นได้ (มาตรา 54)
          ถ้าผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเฉพาะการอันใดไว้ ผู้จัดการทรัพย์สินจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการอันเป็นอำนาจเฉพาะการนั้นไม่ได้ แต่ถ้าปรากฏว่าการที่ตัวแทนจัดทำอยู่นั้นอาจจะเสียหายแก่ผู้ไม่อยู่ ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอให้ศาลถอดถอนตัวแทนนั้นเสียก็ได้ (มาตรา 55)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2549. ธ. เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ไม่อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคสอง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2548 ดังนั้น ขณะที่ ธ. ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การแทนจำเลยที่ 1 ในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ธ. ยังไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 การยื่นคำร้องดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 โดยเห็นควรเพิกถอนคำสั่งรับคำร้องตลอดจนกระบวนพิจารณาและคำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การแทนจำเลยที่ 1 ของ ธ. และมีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าว

          ความสิ้นสุดของการเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน

          ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินย่อมสิ้นสุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้
          (1) ผู้ไม่อยู่นั้นกลับมา
          (2) ผู้ไม่อยู่นั้นมิได้กลับมาแต่ได้จัดการทรัพย์สินหรือตั้งตัวแทนเพื่อจัดการทรัพย์สินของตนแล้ว
          (3) ผู้ไม่อยู่ถึงแก่ความตายหรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
          (4) ผู้จัดการทรัพย์สินลาออกหรือถึงแก่ความตาย
          (5) ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
          (6) ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นบุคคลล้มละลาย
          (7) ศาลถอดถอนผู้จัดการทรัพย์สิน (มาตรา 58)
          ในกรณีที่ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินสิ้นสุดลงเพราะเหตุตามมาตรา 58 (4) (5) หรือ (6) ผู้จัดการทรัพย์สินหรือทายาทของผู้จัดการทรัพย์สิน ผู้จัดการมรดก ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของผู้จัดการทรัพย์สิน แล้วแต่กรณี จะต้องแถลงให้ศาลทราบถึงความสิ้นสุดนั้นโดยไม่ชักช้าเพื่อศาลจะได้มีคำสั่งเกี่ยวกับผู้จัดการทรัพย์สินต่อไปตามที่เห็นสมควร ในระหว่างเวลาดังกล่าวนั้น บุคคลดังกล่าวจะต้องจัดการตามควรแก่พฤติการณ์เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ไม่อยู่ จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตามที่ศาลจะได้มีคำสั่ง (มาตรา 59)

          ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่การจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่โดยอนุโลม (มาตรา 60)



การเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ

          ค่าสินไหมทดแทน หมายความถึง การชดใช้แก่ผู้เสียหายเพื่อทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะแต่การชดใช้เป็นเงิน ("ค่าสินไหมทดแทน" จึงมีความหมายกว้างกว่าคำว่า "ค่าเสียหาย")        

          มาตรา 222 "การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น
          เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว"

          ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายตามมาตรา 222 นี้ ใช้บังคับแก่หนี้ที่เกิดจากมูลสัญญาเท่านั้น ไม่ใช้แก่หนี้ที่เกิดจากมูลละเมิดที่มีมาตรา 438 ถึง 447 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ลูกหนี้จะไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์แท้จริงแห่งมูลหนี้นั้น แต่ถ้าปรากฏว่าเจ้าหนี้ไม่ได้รับความเสียหาย เจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สิ่งสำคัญก็คือว่า ต้องเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ ไม่ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วหรือจะได้รับในอนาคต

          การเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายตามมาตรา 222 แบ่งได้เป็นสองกรณี
          1. ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น ตามมาตรา 222 วรรคหนึ่ง เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้ได้ หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
          2. ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ตามมาตรา 222 วรรคสอง เจ้าหนี้จะเรียกได้เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว

          เมื่อเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากมูลสัญญา สำหรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติจากการไม่ชำระหนี้นั้นไม่จำต้องระบุไว้ในสัญญาแต่อย่างใด แต่ในส่วนค่าเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษที่จะต้องรับผิดต่อเมื่อคาดเห็นได้หรือควรจะคาดเห็นได้นั้น กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าคาดเห็นได้ในขณะทำสัญญา ดังนั้น จึงอาจคาดเห็นหรือบอกกล่าวให้ทราบในภายหลังก่อนที่จะไม่ชำระหนี้ก็ได้ หรือถ้าควรจะคาดเห็นได้ก็ไม่จำต้องบอกกล่าวก่อนแต่อย่างใด



          กรณีความเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษเกี่ยวกับการต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ธนาคาร อันเนื่องมาจากสาเหตุการไม่ชำระหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่าย คู่สัญญาฝ่ายซึ่งไม่ชำระหนี้ที่จะต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นจะต้องรู้หรือคาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นล่วงหน้าก่อนแล้วถึงการต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2545  จำเลยสร้างตึกแถวที่จะขายให้โจทก์เสร็จพร้อมที่จะโอนตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2539 โจทก์ย่อมมีหน้าที่รับโอนและชำระราคาส่วนที่เหลืออีก 2,000,000 บาท แก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ชำระ แม้ในช่วงเวลานั้นต่างมิได้ถือเอาเงื่อนไขในการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ เนื่องจากจำเลยกำลังบอกขายตึกแถวพร้อมที่ดินให้แก่ผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของโจทก์ แต่ไม่เป็นการแน่นอนว่าจะสำเร็จได้ โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอในการเตรียมเงินชำระให้แก่จำเลยการที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินที่ค้างชำระแก่จำเลยภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ อันเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จเกือบ 1 ปี จึงเป็นการบอกกล่าวให้เวลาอันสมควรแล้ว เมื่อหนังสือดังกล่าวมีข้อความแสดงเจตนาเลิกสัญญา และโจทก์ไม่ชำระเงินภายในเวลากำหนดสัญญาจะซื้อจะขายย่อมเป็นอันเลิกกันเมื่อล่วงพ้น 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือทวงถามนั้น แต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยมีหน้าที่คืนเงิน 1,200,000 บาท ที่รับไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
          โจทก์ชำระเงินดาวน์ 300,000 บาท อันเป็นส่วนหนึ่งของเงินจำนวน 1,200,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญา โดยมิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จึงต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ชำระล่วงหน้า มิใช่มัดจำที่จำเลยจะริบได้ เมื่อจำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแล้วโจทก์เพิกเฉย โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง จำเลยมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดได้ตามมาตรา 215 การที่จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงินล่วงหน้า 1,200,000 บาท ให้แก่โจทก์จนครบจำนวน เนื่องจากจำเลยได้รับความเสียหาย เพราะเหตุที่โจทก์ผิดนัดและต้องรับภาระดอกเบี้ยที่กู้ยืมเงินจากธนาคารมาลงทุนปลูกสร้างอาคารพอแปลได้ว่าจำเลยเรียกเอาเงิน 1,200,000 บาท นั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้
          การที่โจทก์ไม่ชำระเงิน 2,000,000 บาทให้แก่จำเลยเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี แต่ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์จึงมิได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นถึงความเสียหายเช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จำเลยจะเรียกร้องให้โจทก์รับผิดไม่ได้ อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่จำเลยย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ดังนั้น แม้จำเลยจะนำสืบถึงค่าเสียหายไม่ได้ ศาลก็มีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีโดยเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบกับความสุจริตในการดำเนิน
 
          แม้มีกรณีค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษจริง แต่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้ว่า จำเลยได้ทราบหรือคาดคิดหรือควรคาดคิดมาก่อนแล้วว่าหากไม่ชำระหนี้แล้วโจทก์จะได้รับความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนี้ด้วย
          คดีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18292/2556  แม้จำเลยจะทราบว่าโจทก์ประกอบกิจการซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายแก่ลูกค้าของโจทก์ต่อไปก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ว่าโจทก์จะตกลงขายสินค้าแก่ลูกค้าไว้ก่อน หรือมีข้อผูกพันที่จะต้องชำระค่าปรับแก่ลูกค้าของโจทก์แล้วหรือไม่ การที่จำเลยไม่ส่งสินค้าแก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระค่าปรับแก่ลูกค้าของโจทก์ จึงมิใช่ค่าเสียหายที่คาดหมายไว้ว่าจะต้องเกิดขึ้นเสมอไปอันถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายในพฤติการณ์พิเศษซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดต่อเมื่อได้คาดหมายหรือควรคาดหมายถึงพฤติการณ์เช่นนั้นก่อนแล้ว ทั้งตามพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ทราบหรือคาดคิดหรือควรคาดคิดมาก่อนแล้วว่าหากจำเลยไม่ส่งสินค้าให้โจทก์แล้ว โจทก์ต้องเสียค่าปรับแก่ลูกค้า จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายส่วนนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15641/2555  โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการในสังกัดโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบก่อนหรือขณะทำสัญญาว่าโจทก์จะให้ข้าราชการในสังกัดโจทก์เข้าอยู่อาศัยทันทีเมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารดังกล่าวแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดตามสัญญาเนื่องจากโจทก์มีภาระต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ทั้งเมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์ยังขยายเวลาให้จำเลยอีก 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าการที่จำเลยก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จโจทก์จะต้องจ่ายค่าเช่าบ้านให้แก่ข้าราชการในสังกัดโจทก์เป็นเงินเดือนละเท่าใด ค่าเช่าบ้านดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ แต่เป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งโจทก์จะเรียกจากจำเลยได้เมื่อจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนี้ล่วงหน้าก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรได้คาดเห็นพฤติการณ์พิเศษดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2423/2551  ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาจากการที่จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ถอนเงินฝากโดยอ้างว่าโจทก์ได้รับความเดือดร้อนขอค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 350,000 บาท และโจทก์ไม่สามารถนำเงินจากบัญชีพิพาทไปร่วมลงทุนกับญาติทำการค้าขายเครื่องยนต์เก่าและเครื่องมือช่างได้ ทำให้ขาดกำไรเป็นเงินวันละ 1,000 บาท ถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษซึ่งคู่กรณีต้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้นำสืบว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์

          กรณีแจ้งสงวนสิทธิเรื่องค่าปรับจากการไม่ชำระหนี้ไว้และอีกฝ่ายตอบรับ ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนั้นคู่สัญญาอีกฝ่ายได้คาดเห็นแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2550  โจทก์ทำสัญญาซื้อยางแอสฟัลต์ซีเมนต์จากจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้ถูกต้องตามสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาริบหลักประกันและในระหว่างที่ยังไม่บอกเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสินค้าที่ยังไม่ส่งมอบนับแต่วันครบกำหนดส่งมอบถึงวันบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ตามกำหนดในสัญญา โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาในทันที แต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งสินค้าและแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับ จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบรับยินยอมชำระค่าปรับตามสัญญา พฤติการณ์ถือได้ว่าความเสียหายพิเศษของโจทก์ในส่วนนี้ จำเลยที่ 1 ได้คาดเห็นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 จำเลยที่ 1 จึงมีความผูกพันต้องชำระค่าปรับตามสัญญาเป็นรายวัน
          โจทก์เป็นส่วนราชการจะได้รับความเสียหายจากงานของราชการไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการซึ่งเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่คู่ความได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง และคู่กรณีจะต้องรับข้อเท็จจริงกันหรือนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏ แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์เสียหายเป็นพิเศษอย่างไร จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องในส่วนนี้

          ถ้าไม่คาดเห็นหรือไม่ควรคาดเห็นถึงความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ก็ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2/2550  ค่าเสียหายจากการที่เจ้าหนี้ต้องลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลงนั้น โดยลักษณะของความเสียหายที่เจ้าหนี้ได้รับไม่ใช่ความเสียหายที่คนปกติทั่วๆไปจะรู้ได้จึงไม่ใช่ความเสียหายที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้น แต่เป็นความเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษ แม้ลูกหนี้จะประกอบวิชาชีพในการก่อสร้างเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า แต่ในระบบการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของเจ้าหนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเท่าใด ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่อาจทราบได้ และการที่จะใช้กำลังผลิตไฟฟ้าจากแหล่งใด ณ เวลาใด เจ้าหนี้น่าจะต้องมีแผนการปฏิบัติการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของกำลังการผลิตไฟฟ้าในเวลานั้นๆ อยู่แล้ว เมื่อพิจารณารายละเอียดของค่าเสียหายที่เจ้าหนี้กล่าวอ้างแล้วจึงเห็นว่า ค่าเสียหายดังกล่าวไม่อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็น ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้

          การติดต่อทำธุรกิจขนส่งสินค้ากันมานานหลายปี ย่อมคาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นว่าหากสินค้าสูญหายไปเจ้าของสินค้าจะได้รับความเสียหายในส่วนที่เป็นค่าขาดกำไรจากการขายสินค้าดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4844/2545 การที่จำเลยจัดหาสถานที่รับฝากสินค้าให้โจทก์ในประเทศสหราชอาณาจักรและเรียกเก็บเงินค่าเก็บรักษาสินค้าจากโจทก์ในนามของจำเลยนั้น มิใช่เป็นการงานที่จำเลยทำให้เปล่าในฐานะที่จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์และตัวแทนของบริษัท อ. แต่จำเลยและบริษัทดังกล่าวมีผลประโยชน์ร่วมกันในการรับฝากสินค้าของโจทก์ถือได้ว่าจำเลยกับพวกเป็นตัวการร่วมกันในการรับฝากสินค้าที่สูญหายจากโจทก์โดยมีบำเหน็จค่าฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 และมาตรา 659 วรรคสอง และเนื่องจากสินค้าได้สูญหายเพราะถูกคนร้ายลักเอาไป ทำให้การส่งคืนสินค้าแก่โจทก์กลายเป็นพ้นวิสัยซึ่งเกิดจากจำเลยกับพวกไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อรักษาสินค้าของโจทก์ในฐานะเป็นผู้มีวิชาชีพในกิจการค้าขายของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสาม จำเลยต้องรับผิดชอบในการสูญหายของสินค้าต่อโจทก์
          เมื่อสินค้าได้สูญหายไปอันเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถส่งมอบให้โจทก์ได้ จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามราคาของสินค้าที่โจทก์ซื้อมาพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่สินค้านั้นสูญหายไป โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นเวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
          โจทก์ประกอบธุรกิจขายสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่และโจทก์ได้สั่งซื้อสินค้าที่สูญหายมาเพื่อขายหากำไรในประเทศไทย จำเลยย่อมทราบดีเพราะจำเลยได้ติดต่อทำธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์มาเป็นเวลานานหลายปี การที่สินค้าของโจทก์สูญหายไปจำเลยควรจะคาดเห็นว่าโจทก์จะต้องได้รับความเสียหายในส่วนที่เป็นค่าขาดกำไรจากการขายสินค้าดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนี้ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยแต่โจทก์นำสืบพิสูจน์ให้ศาลเห็นถึงความเสียหายอันแท้จริงไม่ได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ ชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี