09 มีนาคม 2567

ความรับผิดในการทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถ

          ผู้ไร้ความสามารถไม่ว่าจะเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตย่อมเป็นผู้ทำละเมิดได้ และต้องรับผิดในการทำละเมิดของตนเช่นกัน ซึ่งตามมาตรา 429 นี้ บัญญัติให้บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลผู้ไร้ความสามารถเช่นว่านี้ต้องรับผิดร่วมด้วย จึงถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วมที่ผู้เสียหายจะเลือกฟ้องคนใดคนหนึ่งหรือฟ้องทั้งสองคนให้ร่วมกันรับผิดก็ได้       
          มาตรา 429 "บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์ หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น"
          บิดาตามมาตรา 429 นี้ จะต้องชอบด้วยกฎหมายด้วย เพราะถ้าเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีหน้าที่ดูแลผู้เยาว์ หรือกรณีที่บิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกถอนอำนาจปกครอง ฝ่ายที่ถูกถอนอำนาจปกครองก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ดูแลผู้เยาว์ จึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 429 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10239/2546  ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 แล้ว โดยมีข้อตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจปกครองเพื่อจัดการดูแลบุตรผู้เยาว์ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป การที่จำเลยที่ 3 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่น จะนำ ป.พ.พ. มาตรา 429 มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ไม่ได้
          หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 แม้จำเลยที่ 2 ยังมีชื่อในทะเบียนบ้านร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 และภายหลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ไปเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์หรือไปดูแลจำเลยที่ 3 เป็นครั้งคราว พฤติการณ์เหล่านี้ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับดูแลจำเลยที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 430 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 3
          นอกจากนี้ บิดามารดาตามมาตรา 429 ยังรวมถึงผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย และกรณีรับบุตรบุญธรรมนี้ถือว่าบิดามารดาผู้ให้กำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่เวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว บิดามารดาผู้ให้กำเนิดจึงไม่มีหน้าที่ดูแลผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมนั้นและไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 429 เช่นกัน
          เหตุยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 429 ตอนท้าย "เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น" หมายความว่า สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นแล้ว ถ้าไม่พิสูจน์หรือพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องแพ้คดี



          แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ถือว่าไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 974/2508  มารดาต้องรับผิดฐานละเมิดร่วมกับผู้เยาว์ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล
          มารดาเห็นบุตรถือปืน จึงว่ากล่าวตักเตือนบุตรไม่เชื่อฟัง กลับเอาปืนไปซ่อนเสีย พอลับหลังมารดาก็เอาปืนมาเล่นอีก ถือว่าการว่ากล่าวตักเตือนของมารดาเพียงเท่านี้ หาเพียงพอกับการที่จะต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลของตนในฐานะเป็นมารดาไม่ มารดาจึงต้องร่วมรับผิดในการที่บุตรประมาทเลินเล่อเอาปืนยิงผู้อื่นตาย.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 985/2515  บิดามารดาเก็บปืนไว้ใต้หมอนในห้องนอน โดยมิได้ถอดแมกกาซีนออก และมิได้ห้ามปรามมิให้บุตรเข้าไป เพื่อป้องกันเหตุร้ายอันอาจจะเกิดจากอาวุธปืนนั้น ถือว่าบิดามารดามิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลของบิดามารดา เมื่อบุตรเอาปืนไปเล่นเป็นเหตุให้ปืนลั่นถูกเพื่อนตาย บิดามารดาต้องร่วมรับผิดกับบุตรในผลละเมิดด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2256 - 2257/2517  บิดามารดามีรถยนต์บรรทุก 2 คันจอดไว้ที่ถนนเพราะไม่มีที่เก็บ มองจากบ้านไม่เห็นรถ บุตรเคยขับรถคันเกิดเหตุไปล้างใกล้ๆ กับที่จอด โดยบางครั้งบิดาก็ใช้ซึ่งแสดงว่าบิดามารดาทราบดีว่าบุตรขับรถยนต์ได้ ทั้งบุตรก็ยังเป็นผู้เยาว์ อายุ 18 ปี อยู่ในวัยคะนองชอบคบเพื่อนเที่ยวเตร่ แต่บิดามารดากลับเก็บกุญแจรถไว้ในลิ้นชักโต๊ะโดยไม่ใส่กุญแจ เป็นโอกาสให้บุตรเอากุญแจรถไปได้ และขับรถของบิดามารดาไปทำละเมิดต่อโจทก์ ย่อมถือได้ว่าบิดามารดาไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์ จึงต้องรับผิดร่วมกับบุตรด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2523  แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาจะเคยห้ามปรามจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุตรผู้เยาว์ไม่ให้เอารถยนต์ไปใช้ และเก็บลูกกุญแจรถไว้เองโดยเก็บไว้ในที่สูงก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 รู้ที่เก็บและเคยเอารถออกไปขับ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถหาได้ใช้ความระมัดระวังในเรื่องนี้ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลไม่ ถือว่าจำเลยที่ 2 นำสืบพิสูจน์หักล้างความรับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2524  จำเลยที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นมานานพอสมควรแล้วแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับยืนยันว่าไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นมาก่อนเลย แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 3 ตามสมควรแก่หน้าที่ของบิดามารดาพึงดูแลบุตรผู้เยาว์ จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 กระทำไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 429
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5752/2534  จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ออกไปเที่ยวใช้หนังสติ๊กยิงด้วยกระสุนในทางเดินสาธารณะในเวลากลางคืนจนเกิดเหตุคดีนี้ ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มักออกเที่ยวกลางคืนด้วยกันบ่อย ๆ การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แสดงว่า บิดามารดามิได้ดูแลอบรมสั่งสอนตามสมควรแก่หน้าที่ ระหว่างนั้นแม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จะไปอยู่บ้านญาติช่วยเลี้ยงกระบือหรือช่วยทำนา แต่การที่ผู้เยาว์ทำละเมิดในขณะที่มิได้พักอาศัยอยู่กับบิดามารดา ย่อมมิใช่ข้อที่บิดามารดาจะยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้ จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 นำสืบเพียงว่าได้สั่งสอนให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้เป็นคนดี มิได้พิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1892/2535  โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานละเมิดเพราะจำเลยที่ 2 ได้ขับรถของโจทก์โดยประมาทเป็นเหตุให้รถของโจทก์พลิกคว่ำเสียหาย จำเลยที่ 2 มีความประพฤติไม่เรียบร้อย ขาดการอบรมดูแลที่ดี จำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 2 ไม่ดูแลเอาใจใส่ ไม่ห้ามปรามในการเที่ยวเตร่จนดึกดื่น แม้แต่คืนเกิดเหตุก็ยังปล่อยให้ไปเที่ยวดื่มสุราในยามดึกและพาผู้หญิงไปนอนค้างที่โรงแรม แม้เหตุละเมิดเกิดจากการขับรถโดยประมาทมิได้เกิดจากความประพฤติด้านอื่นของจำเลยที่ 2 อันจำเลยที่ 3 ที่ 4 จะต้องระมัดระวังดูแลก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่เอาใจใส่ดูแลความประพฤติด้านอื่นของจำเลยที่ 2 ก็แสดงว่าไม่เอาใจใส่ดูแลว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่นั้นจะไปขับรถโดยประมาทอันเป็นความประพฤติอย่างหนึ่งหรือไม่ จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดของจำเลยที่ 2.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9184/2539  จำเลยที่ 2 เป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ การที่จำเลยที่ 1 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่นจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 มาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ไม่ได้ แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ปกครองดูแลจำเลยที่ 1 ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 430 มาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจในขณะที่จำเลยที่ 3 ขายของ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 แอบหยิบเอากุญแจไปใช้ขับรถยนต์จิ๊ปโดยประมาทชนรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่ 1 บุตรผู้เยาว์ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการทำละเมิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9774/2544  จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ นำสืบข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ที่บ้านไปโรงเรียน รถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับเป็นของเพื่อนจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุอยู่ในช่วงเวลาไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้พิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เพราะการใช้อำนาจปกครองของบิดามารดารวมถึงการที่จะต้องคอยอบรมสั่งสอนดูแลตลอดจนควบคุมบุตรผู้เยาว์มิให้ออกไปประพฤติตนเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย การที่บุตรผู้เยาว์ทำละเมิดในระหว่างที่ไปเรียนหนังสือ ย่อมมิใช่ข้อที่บิดามารดาจะยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้
          จำเลยที่ 1 ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์และที่บ้านของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีรถจักรยานยนต์ ปกติจำเลยที่ 1 จะขับออกไปหาซื้อของนอกบ้านแสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 สามารถขับรถจักรยานยนต์ได้และเคยขับรถจักรยานยนต์ออกนอกบ้าน แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ โดยปล่อยปละละเลยให้บุตรผู้เยาว์ของตนขับรถจักรยานยนต์ออกนอกบ้านทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ควรรู้ว่าการขับรถจักรยานยนต์โดยผู้เยาว์ที่ยังไม่ผ่านการสอบใบอนุญาตขับขี่นั้น ย่อมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นได้โดยง่าย การที่จำเลยที่ 1 สามารถไปขับรถจักรยานยนต์ของผู้อื่นในวันเกิดเหตุจึงมีส่วนมาจากการปล่อยปละละเลยไม่ดูแลหรือห้ามปรามจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาแต่ต้นเมื่อจำเลยที่ 1 ไปขับรถจักรยานยนต์ชนรถของผู้อื่นเสียหายเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 480/2548  โจทก์เป็นบิดาของ ป. โจทก์ยอมให้ ป. ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อายุ 16 ปี และยังไม่มีใบอนุญาตขับรถ ขับรถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะออกไปตามถนนสาธารณะ เป็นการเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ถือว่าโจทก์มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ โจทก์จึงต้องร่วมกับ ป. รับผิดในผลที่ ป. ทำละเมิดต่อจำเลยด้วย

           ***แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ถือว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 934/2517  การที่จำเลยผู้เป็นบิดามารดาปล่อยให้เด็กชาย ล. บุตรชายอายุ 5 ขวบเศษเล่นหนังสะติ๊ก ซึ่งคันหนังสะติ๊กยาวประมาณจากข้อมือถึงปลายนิ้วมือ ใช้ยางกลม ๆ โยงต่อกันมีหนังเข็มขัดโตขนาด 2 นิ้วมือเป็นที่รองกระสุน ยิงเล่นอยู่ในบริเวณบ้าน มิได้ปล่อยปละละเลยให้ออกไปเที่ยวยิงเล่นนอกบ้าน ขณะเกิดเหตุนางสาว จ. พาเด็กชาย ส. บุตรโจทก์ไปเที่ยวที่บ้านจำเลย เด็กชาย ส. ยืนอยู่ในมุมระเบียงเรือนของจำเลย ส่วนเด็กชาย ล.เล่นอยู่ที่พื้นดินภายในบริเวณบ้านของจำเลย เผอิญเด็กชาย ล.ยิงหนังสะติ๊กมาทางเรือนเพียงครั้งเดียว ถูกเด็กชาย ส. ได้รับบาดเจ็บถึงนัยน์ตาบอด ดังนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แม้จำเลยจะปล่อยให้เด็กชาย ล. เล่นโดยลำพังเช่นนั้น ก็ไม่อาจคาดหมายได้ว่าการที่เด็กชาย ล. ยิงหนังสะติ๊กเล่นจะเกิดเหตุถึงกับถูกนัยน์ตาของเด็กชาย ส. จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลเด็กชาย ล.ซึ่งจำเลยได้กระทำอยู่นั้นแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในผลที่เด็กชาย ล. ได้กระทำละเมิดดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2850/2524  จำเลยที่ 1 อายุ 17 ปี อยู่ในความปกครองของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดา จำเลยที่ 1 ขับรถแทรกเตอร์ของโจทก์เข้าไปดับไฟซึ่งลุกไหม้ที่ไร่อ้อยเป็นเหตุให้รถแทรกเตอร์ของโจทก์ถูกไฟไหม้เสียหาย แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เคยเห็นจำเลยที่ 1 ขับรถแทรกเตอร์ของโจทก์มาก่อนและมิได้ว่ากล่าวห้ามปรามก็ตาม การขับรถแทรกเตอร์ของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 รู้เห็นและมิได้ห้ามปรามนั้นเป็นการขับรถแทรกเตอร์ตามปกติ แต่การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นการขับรถแทรกเตอร์ของโจทก์เข้าไปดับไฟ โดยรถแทรกเตอร์ของโจทก์มิได้มีไว้เพื่อใช้ในการดับไฟ เป็นการใช้รถแทรกเตอร์ของโจทก์ผิดจากปกติ หาใช่การขับรถที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้ว่ากล่าวห้ามปรามไม่ ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ที่ 3 อยู่ห่างจากที่เกิดเหตุถึง 1 กิโลเมตรเศษย่อมไม่อาจห้ามปรามมิให้จำเลยที่ 1 ขับรถเข้าไปดับไฟได้ และการที่ไฟไหม้ไร่อ้อยเป็นเหตุเกิดขึ้นโดยปัจจุบัน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่อาจคาดหมายและกำชับล่วงหน้ามิให้จำเลยที่ 1 ขับรถเข้าไปดับไฟ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1แล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2056/2526  บุตรโจทก์กับบุตรจำเลยเป็นเพื่อนกันได้พากันขับรถพาเพื่อนออกไปเที่ยวโดยมีบุตรโจทก์เป็นผู้ขับ หลังจากพาเพื่อนกลับมาแล้วบุตรโจทก์ได้ขับรถออกไปกับบุตรจำเลยอีก โดยจำเลยไม่ทราบและไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อแสดงให้เห็นว่าบุตรจำเลยจะทำหน้าที่ขับรถแทนบุตรโจทก์หลังจากนั้นบุตรจำเลยโดยความประมาทเลินเล่อขับรถโจทก์ไปประสบอุบัติเหตุเสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังดูแลบุตรจำเลยตามสมควรแก่หน้าที่ในขณะนั้นแล้วจำเลยไม่ต้องร่วมรับผิดกับบุตรผู้เยาว์ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2732/2528  การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอยืมรถยนต์ของโจทก์ไปใช้และเกิดความเสียหาย โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดามิได้รู้เห็นด้วยและโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ยืมโดยมิได้บอกกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีโอกาสทักท้วงโจทก์และห้ามปรามจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาจะใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรแก่หน้าที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3346/2530  โจทก์ที่ 2 อายุ 15 ปี จำเลยที่ 1 อายุ 14 ปี ต่างสมัครใจเล่นขว้างปา ก้อนดิน ใส่ กัน ก้อนดิน ถูกตา ซ้าย โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บดังนี้ เป็นกรณีเกิดจากการเล่นตามวิสัยเด็กโดยโจทก์ที่ 2 สมัครใจเข้าร่วมเล่นด้วย ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 มีส่วนเป็นต้นเหตุให้เกิดการละเมิด ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 นำกระบือไปเลี้ยงห่างหมู่บ้าน 4 กิโลเมตร จำเลยที่ 2 ไม่ได้ไปด้วยการเล่นขว้างปา ก้อนดิน เป็นการเล่นธรรมดาทั่วไปที่เด็ก ๆ จะชักชวนและสมัครใจเล่นกันเองตามวิสัยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยรู้ว่าจำเลยที่ 1 เคยเล่นขว้างปา ก้อนดิน กันมาก่อนจึงเกินความคาดคิดที่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นบิดาจะควบคุมได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังดูแล จำเลยที่ 1 ตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6014/2534  แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 1 บุตรผู้เยาว์เช่าซื้อรถจักรยานยนต์มาใช้โดยที่ยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีอายุเกินกว่า 18 ปีแล้ว ทั้งยังรู้จักทำงานหาเงินแบ่งเบาภาระของบิดามารดา นับว่าเป็นผู้มีอายุและความรับผิดชอบพอที่จะมีและขับรถจักรยานยนต์ได้โดยปลอดภัย ตามพฤติการณ์ก็เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ขวนขวายเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มาใช้ขับด้วยความจำเป็น มิใช่มีไว้เพื่อใช้ขับเที่ยวเตร่ไม่เป็นสาระคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็ขับรถจักรยานยนต์ออกไปหาซื้อสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ที่มาพักโรงแรมอันเป็นหน้าที่การงานที่จำเลยที่ 1 พึงกระทำ และคืนนั้นหากจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์คันอื่นออกไปกระทำการตามหน้าที่เช่นว่านั้น ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่มีโอกาสที่จะไประมัดระวังดูแลหรือทัดทาน ได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2540  จำเลยร่วมบุตรโจทก์นำรถยนต์ของโจทก์พาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวสถานบันเทิงโดยจำเลยร่วมให้ ฉ. เป็นผู้ขับไปยังสถานบันเทิง ครั้นเลิกจากเที่ยวเมื่อเวลา 3 นาฬิกาของวันใหม่เปลี่ยนให้จำเลยที่ 1 ขับกลับจากสถานบันเทิงแล้วเกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 1 ออกจากบ้านไปเที่ยวและที่จำเลยร่วมยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของโจทก์พาจำเลยร่วมกับเพื่อน ๆ กลับจากเที่ยวสถานบันเทิงไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 จะต้องไปทำหน้าที่ขับรถยนต์ของโจทก์แทน ฉ. การที่จำเลยที่ 1 อาสาขับรถยนต์โจทก์ตอนขากลับต้องถือว่าเป็นการสุดวิสัยของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาจะรู้เห็นได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่ในขณะนั้นแล้ว เพราะไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ให้ไปกระทำหรือรู้แล้วยังยอมให้กระทำดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 แต่หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ในฐานะบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 ได้ตกลงต่อหน้าพนักงานสอบสวนยินยอมชดใช้ค่าเสียหายในการละเมิดของจำเลยที่ 1 ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 มิได้ตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 3
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2692/2540  จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ใช้ไม้เป็นอาวุธทำร้ายร่างกายโจทก์ถูกที่บริเวณตาขวา เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 1 มีอายุ 14 ปีเศษ มีความรู้ผิดชอบพอสมควร เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีนิสัยเกเรชอบรังแกผู้อื่นมาก่อน ย่อมเป็นการยากที่จะให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาใช้ความระมัดระวังควบคุมดูแลจำเลยที่ 1 ตลอดเวลา ทั้งตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ใช้ไม้ขว้างทำร้ายร่างกายโจทก์เป็นการกระทำลับหลังจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่อาจคาดคิดหรือควรคิดได้ว่าจำเลยที่ 1 จะกระทำเช่นนั้นต่อโจทก์จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีโอกาสปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้ดีกว่านี้แล้ว ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187/2540  จำเลยที่ 2 และที่ 3 บิดามารดาจำเลยที่ 1 ไม่เคยทราบมาก่อน ว่าจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ อายุ 17 ปี ขับรถจักรยานยนต์ได้ ทั้ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็อยู่ต่างอำเภอกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ของเพื่อนจำเลยที่ 1 ชนโจทก์โดยละเมิดทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3มิได้รู้เห็นด้วย และไม่มีโอกาสห้ามปรามจำเลยที่ 1 มิให้ขับรถจักรยานยนต์เช่นนั้น จึงเป็นการสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะใช้ความระมัดระวังมิให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ในวันเกิดเหตุได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6967/2541  จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 มีอายุ 15 ปีเศษ และเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออก ไปกิจธุระนอกบ้าน จำเลยที่ 2 ได้นำรถจักรยานยนต์ คันเกิดเหตุเข้าไปเก็บไว้ในบ้านพร้อมกับใส่กุญแจล๊อก คอรถจักรยานยนต์เพื่อป้องกันมิให้จำเลยที่ 1 นำรถจักรยานยนต์ออกไปใช้ และจำเลยที่ 2 นำเอากุญแจติดตัวไปด้วยการที่จำเลยที่ 1 ได้นำกุญแจรถยนต์กระบะไปไขออก ได้โดยบังเอิญแล้วนำไปให้เพื่อนรุ่นพี่ต่อสายไฟตรงติดเครื่องยนต์ให้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ที่มีนิสัยหรือความประพฤติไม่ดีมาก่อน เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นเหมาะสมกับอุปนิสัยและความประพฤติของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุตรแล้วทุกประการ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8138/2555  ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีอายุ 19 ปีเศษ ใกล้บรรลุนิติภาวะ แม้จะยังเป็นผู้เยาว์และต้องอยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาตามกฎหมายก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตนเองไม่เป็นภาระแก่บิดามารดา การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ก็เนื่องมาจากต้องใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปทำงาน ทั้งจำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีวุฒิภาวะพอสมควรที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไว้วางใจจำเลยที่ 1 ในการดำรงชีวิตในสังคมที่จะไม่ก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้อื่น นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยขับรถจักรยานยนต์ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น หรือเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนอยู่เสมอ อันจะทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ควรต้องทักท้วงหรือห้ามปรามมิให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์อีกจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ เช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์



สัญญาประกันชีวิต

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา 889  "ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง"

          มาตรา 890  "จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว หรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา"

          มาตรา 891  "แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น
          ถ้ากรมธรรม์ประกันภัยได้ทำเป็นรูปให้ใช้เงินตามเขาสั่งแล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา 309 มาใช้บังคับ"

          มาตรา 892  "ในกรณีบอกล้างสัญญาตามความในมาตรา 865 ผู้รับประกันภัยต้องคืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทของผู้นั้น"

          มาตรา 893 " การใช้เงินอาศัยเหตุความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลผู้ใด แม้ได้แถลงอายุของบุคคลผู้นั้นไว้คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้ได้กำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัยไว้ต่ำไซร้ ท่านให้ลดจำนวนเงินอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้นั้นลงตามส่วน
          แต่ถ้าผู้รับประกันภัยพิสูจน์ได้ว่า ในขณะที่ทำสัญญานั้นอายุที่ถูกต้องแท้จริงอยู่นอกจำกัดอัตราตามทางค้าปกติของเขาแล้ว ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ"

          มาตรา 894  "ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ด้วยการงดไม่ส่งเบี้ยประกันภัยต่อไป ถ้าและได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อยสามปีไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย หรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัย"

          มาตรา 895  "เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใดท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
          (1) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญาหรือ
          (2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
          ในกรณีที่ 2 นี้ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น"

          มาตรา 896  "ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่ แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งผู้มรณะในอันจะได้ค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่ แม้ทั้งจำนวนเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นจะหวนกลับมาได้แก่ตนด้วย"

          มาตรา 897  "ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าเมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้
          ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้น จักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้"

          สัญญาประกันชีวิต คือ สัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันตกลงว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ หรือผู้สืบสิทธิของเขา โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้เอาประกันชีวิตได้เสียชีวิตภายในเวลา หรือมีชีวิตอยู่จนถึงเวลาอันได้กำหนดไว้ และผู้เอาประกันชีวิตตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทผู้รับประกันชีวิตภายในเวลาที่กำหนด


          เมื่อสัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้วย่อมไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วสิ้นผลไปได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุจมน้ำตายในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 23 นาฬิกา ภายในระยะเวลาที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงิน 500,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18403/2557   สำเนาใบรับเงินชั่วคราวระบุข้อความเกี่ยวกับการรับประกันชีวิตว่า “การชำระเงินตามใบรับเงินชั่วคราวฉบับนี้พร้อมกับใบคำขอเอาประกันภัย... บริษัทจะพิจารณาออกกรมธรรม์... ให้ภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการได้รับใบคำขอเอาประกันภัยหรือคำร้องขอและได้รับเงินแล้ว หากบริษัทมิได้ออกกรมธรรม์...ให้ภายในเวลาที่กำหนด หรือปฏิเสธการขอเอาประกันภัยหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภัย ให้ถือว่าบริษัทตกลงรับสัญญาหรือคำร้องขอซึ่งบริษัทใช้อยู่ในกิจการหลังสุด โดยให้เริ่มมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันสิ้นระยะเวลา 30 วัน ดังกล่าวข้างต้น” แม้จำเลยจะนำสืบระเบียบการประกันชีวิตที่ รบ.2-137/2542 ประกอบคู่มือการตรวจใบคำขอเอาประกันภัยว่า สำนักงานสาขาของจำเลยไม่มีอำนาจในการพิจารณาแบบประกันชีวิตของผู้ตายและสำนักงานสาขาของจำเลยต้องส่งให้สำนักงานใหญ่พิจารณาอนุมัติและออกกรมธรรม์ก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นเรื่องการบริหารภายในระหว่างสำนักงานสาขากับสำนักงานใหญ่ของจำเลยเท่านั้น จำเลยไม่อาจยกขึ้นเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น ระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันจึงต้องเริ่มนับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานสาขาของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกัน สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2545 จำเลยจะต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันดังกล่าว คือภายในวันที่ 30 กันยายน 2545 แม้จำเลยจะมีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2545 แจ้งผู้ตายว่า ขณะนี้การทำประกันชีวิตของผู้ตายอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาดำเนินการของบริษัท ซึ่งหากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะแจ้งผลให้ผู้ตายทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้ตายได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 27 กันยายน 2545 อันเป็นเวลาภายในกำหนด 30 วัน ก็ตาม แต่ข้อความในหนังสือดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการปฏิเสธการขอเอาประกันหรือการแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกัน ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยได้ปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันให้ผู้ตายทราบภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน สัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงมีผลใช้บังคับเมื่อสิ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตาย คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 0.01 นาฬิกา เป็นต้นไป การที่จำเลยมีหนังสือต่อมาอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ปฏิเสธการรับประกันและคืนเงินค่าเบี้ยประกันไปยังผู้ตาย อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากวันที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้วย่อมไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วสิ้นผลไปได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุจมน้ำตายในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 23 นาฬิกา ภายในระยะเวลาที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงิน 500,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์
          บทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยแล้วก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดระงับไปไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2557    เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท ที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ชำระไป เป็นจำนวนเงินที่บริษัททั้งสองพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตระหว่างบริษัททั้งสองกับโจทก์ โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แม้ภัยที่โจทก์ประสบเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 บริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยหาอาจรับช่วงสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่ เพราะตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยแล้วก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับไปไม่
          การที่จำเลยตกลงจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย และในกรณีเจ็บป่วยปีละไม่เกิน 5,000 บาท โดยสมาชิกต้องส่งเงินให้จำเลยเป็นรายปี ปีละ 12,000 บาท เป็นสัญญาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 และการที่ระเบียบกำหนดเงื่อนไขว่า ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท จึงเป็นการใช้เงินโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคล จึงเป็นการประกันชีวิตตาม มาตรา 889 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6423-6424/2555   พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มิได้นิยามคำว่าการประกอบธุรกิจประกันชีวิตไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะประกันภัยของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ การที่จำเลยตกลงจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย และในกรณีเจ็บป่วยปีละไม่เกิน 5,000 บาท โดยสมาชิกต้องส่งเงินให้จำเลยเป็นรายปี ปีละ 12,000 บาท เป็นสัญญาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 ที่บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัย คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย การที่ระเบียบของจำเลยใช้คำว่าให้สมาชิกบริจาคเงินให้แก่จำเลย แต่ความหมายที่แท้จริงคือเงินที่สมาชิกจะต้องส่งให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นเงื่อนไขเพื่อให้จำเลยใช้เงินในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอนาคตตามที่ระบุไว้ในระเบียบเช่นเดียวกับการส่งเบี้ยประกันภัย แม้ตามระเบียบของจำเลยใช้คำว่าบริจาคแทนเงินเบี้ยประกันภัย ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่สมาชิกต้องส่งให้แก่จำเลยไม่เป็นเบี้ยประกันภัย โดยจำเลยมีฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ส่วนสมาชิกมีฐานะเป็นผู้เอาประกันภัย และสมาชิกหรือบุคคลที่สมาชิกระบุในกรณีถึงแก่ความตาย เป็นผู้รับประโยชน์ตาม มาตรา 862 และการที่ระเบียบกำหนดเงื่อนไขว่า ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท จึงเป็นการใช้เงินโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคล จึงเป็นการประกันชีวิตตาม มาตรา 889 เงินที่ได้รับจากสมาชิกตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 14 กำหนดว่า เมื่อสิ้นปีทางบัญชีหากมีเงินเหลือให้ถือว่าเงินจำนวนนั้นเป็นรายได้ของจำเลย หากปีใดเงินไม่เพียงพอ ให้ถือว่าเงินจำนวนที่ขาดเป็นรายจ่ายของจำเลยการที่จำเลยดำเนินการตามระเบียบโดยมีสมาชิกจำนวน 350 คน จึงเป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิต แม้บุคคลที่จะเข้าเป็นสมาชิกจะต้องเป็นสมาชิกหรือครอบครัวและพนักงานของจำเลยเท่านั้นก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำไม่เป็นการประกอบธุรกิจ เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรีโดยคณะรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18
          เงินตามสัญญาประกันชีวิตมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายจึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2554   ผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัทประกันชีวิต โดยระบุภริยาเป็นผู้รับประโยชน์ ปรากฎว่าภริยาผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย บริษัทประกันชีวิตสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินระบุชื่อภริยาผู้ตายเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ เงินตามสัญญาประกันชีวิตมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายจึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย ส่วนภริยาผู้ตายซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิต สิทธิของภริยาผู้ตายที่จะได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยยังไม่เกิดขึ้น เงินตามตั๋วแลกเงินจึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของภริยาผู้ตาย
          แม้เงินตามตั๋วแลกเงินจะมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดกเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่เงินตามสัญญาประกันชีวิต เงินตามตั๋วแลกเงินจึงควรตกแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก
          ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ในส่วนที่เป็นการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียว 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8911/2550   โจทก์รับประกันภัยรถยนต์พิพาทแบบประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล รถยนต์พิพาทถูกรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับชนทำให้คนบนรถยนต์พิพาทรวม 4 คนเสียชีวิต โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตรวม 4 คน ๆ ละ 50,000 บาท เป็นเงิน 200,000 บาท ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ในส่วนที่เป็นการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ดังนั้น แม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท ให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตไป โจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อฟ้องร้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 กับพวกได้ไม่
          ผู้รับประกันภัยบอกล้างสัญญาประกันชีวิตและปฏิเสธการจ่ายสินไหมมรณกรรม จึงผิดสัญญาและถือว่าผิดนัดผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 838/2548   ผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตาย วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยผู้รับประกันภัยมีหนังสือลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ถึงโจทก์ผู้รับประโยชน์บอกล้างสัญญาประกันชีวิตและปฏิเสธการจ่ายเงินสินไหมมรณกรรม จึงเป็นการผิดสัญญาและถือว่าจำเลยผิดนัด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้นับแต่วันดังกล่าว มิใช่นับแต่วันผู้เอาประกันถึงแก่ความตาย
          กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีข้อสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดของผู้รับประกันภัยต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิต เป็นสัญญาประกันชีวิตเพราะอาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1150/2546   ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีข้อสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดของผู้รับประกันภัยต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิต เป็นสัญญาประกันชีวิตเพราะอาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 ซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิแทนกันได้เหมือนอย่างการประกันวินาศภัย แต่เงินส่วนที่โจทก์จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลก่อนตายและค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บซึ่งเป็นการจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ตกลงคุ้มครองหาใช่เป็นการประกันชีวิตไม่
          ธุรกรรมที่เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว โดยการจะใช้จำนวนเงินสงเคราะห์ ย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ยื่นคำขอ ธุรกรรมดังกล่าวจึงเป็นการรับประกันชีวิต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9318/2544   ธุรกรรมของจำเลยที่เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว โดยการจะใช้จำนวนเงินสงเคราะห์ ย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ยื่นคำขอ ธุรกรรมดังกล่าวจึงเป็นการรับประกันชีวิต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 889
         เมื่อจำเลยยอมรับว่า ช. ผู้เอาประกันมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้ และจำเลยจะต้องผูกพันตนในการที่จะต้องพิจารณาอนุมัติตามคำขอหรือไม่ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันรับฝากเงิน หากจำเลยปฏิบัติงานในความรับผิดชอบของตนให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ซึ่งขณะนั้น ช. ยังมีชีวิตอยู่ จำเลยย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ได้ เมื่อกรมธรรม์ออกให้แก่ ช. ล่าช้าเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานจำเลยเพียงฝ่ายเดียว จำเลยย่อมไม่อาจนำข้อกำหนดในตอนท้ายของคำขอเปิดบัญชีฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิต  และครอบครัวที่ระบุว่า "ข้าพเจ้า (ผู้เอาประกัน) ยอมรับว่าธนาคารยังไม่มีข้อผูกพันใดๆ กับข้าพเจ้าจนกว่าธนาคารจะได้ออกกรมธรรม์การฝากเงินให้แล้ว…" ซึ่งมีความหมายมุ่งเฉพาะกรณีผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้มาเป็นข้ออ้างปฏิเสธความรับผิดโดยมิชอบด้วยความเป็นธรรมหาได้ไม่ และต้องถือว่าสัญญารับประกันชีวิตมีขึ้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันฝากเงินแล้ว ทั้งข้อกำหนดในเรื่องการออกกรมธรรม์ ไม่อาจถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนในเรื่องความเป็นผลแห่งสัญญา
          ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้เอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลต่อการเสียชีวิตของบุคคลผู้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยโดยมิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้ เป็นการประกันชีวิตแบบหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1822/2544   โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ไว้กับจำเลย ตามกรมธรรม์ประกันภัยโจทก์ได้เอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลต่อการเสียชีวิตของบุคคลผู้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยโดยมิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้ แม้จะเป็นการประกันชีวิตแบบหนึ่ง แต่ก็มิใช่กรณีที่ผู้ตายเอาประกันชีวิตตนเองไว้ จึงแสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าประสงค์ที่จะให้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ตกได้แก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยโดยตรง หาใช่เป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้ตายไม่ โจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อการเสียชีวิตของผู้ตายซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ในขณะเกิดเหตุจากจำเลยได้
          ผู้เอาประกันกรอกข้อความหรือตอบคำถามจำเลยไปตามความเป็นจริง สัญญาประกันชีวิตจึงไม่เป็นโมฆียะ จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้าง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7219/2542   จำเลยอ้างและขอคำสั่งศาลเรียกประวัติการตรวจรักษาของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเป็นพยานเอกสาร เมื่อโรงพยาบาลส่งเอกสารมาแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานกระบวนการพิจารณาถึง 2 ครั้ง ให้จำเลยชำระค่าอ้างเอกสารเป็นพยาน แต่จำเลยไม่ชำระในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาโจทก์ได้กล่าวแก้อุทธรณ์เป็นประเด็นว่าจำเลยไม่ชำระค่าอ้างเอกสารเป็นพยาน จำเลยมิได้นำค่าอ้างเอกสารเป็นพยานมาชำระต่อศาล ดังนี้แสดงว่าจำเลยจงใจไม่ชำระค่าอ้างเอกสารเป็นพยานตามตาราง 2(5)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เอกสารดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานที่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งศาลชอบที่จะปฏิเสธไม่รับเอกสารนั้นไว้และถ้ารับไว้แล้วก็ไม่ชอบที่จะรับฟังเอกสารนั้น ศาลจึงนำข้อความในเอกสารดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยไม่ได้
          ส. กรอกข้อความหรือตอบคำถามจำเลยไปตามความเป็นจริง สัญญาประกันชีวิตระหว่าง ส. กับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆียะ จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้าง
          สัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามความหมายในมาตรา 889 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5089/2541   สัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามความหมายในมาตรา 889 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งไม่ได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิแทนกันได้เหมือนอย่างการประกันวินาศภัย ดังนี้ โจทก์ผู้รับประกันภัยจึงไม่มีอำนาจฟ้องไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเกี่ยวกับการตายของผู้เอาประกันที่โจทก์จ่ายไป เมื่อค่าเสียหายเกี่ยวกับการเสี่ยงภัยกรณีบาดเจ็บและค่ารักษาพยาบาลก่อนตายของผู้เอาประกันที่โจทก์จ่ายไป ซึ่งเป็นการจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ตกลงคุ้มครอง หาใช่เป็นการประกันชีวิตไม่ถือเป็นค่าเสียหายที่ผู้เอาประกันได้รับจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยเมื่อโจทก์จ่ายให้แก่ผู้เอาประกันแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันมาฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยผู้ทำละเมิดต่อผู้เอาประกันได้
          ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนที่เป็นการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่ง เพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3026/2540  ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนที่เป็นการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่ง เพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียวไม่ ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ดังนั้น แม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 50,000 บาทให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปโจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2539   โจทก์ประกอบอาชีพรับจ้างซ่อมรถจักรยานยนต์และจำหน่ายอะไหล่ต้องอาศัยการฟังเสียงเครื่องยนต์ประกอบการซ่อมรถและพูดคุยกับลูกค้า เมื่อประสบอุบัติเหตุทำให้ประสาทหูทั้งสองข้างของโจทก์เสียไม่ได้ยินเสียง โจทก์จึงหย่อนความสามารถในการประกอบการงานตามปกติโดยสิ้นเชิงตลอดไป ถือว่าโจทก์ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงตามสัญญาแล้ว หาจำต้องเป็นกรณีขาดกำลังที่จะประกอบการงานถึงขนาดไม่สามารถประกอบอาชีพหน้าที่การงานใดๆในอาชีพประจำหรืออาชีพอื่นได้โดยสิ้นเชิงไม่  ข้อสัญญาตกลงกันว่า"การบอกกล่าวเรียกร้องผู้เอาประกันภัยต้องบอกกล่าวให้บริษัททราบถึงการทุพพลภาพดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 180 วันนับแต่วันเริ่มทุพพลภาพเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุจำเป็นอันสมควรจึงไม่อาจแจ้งให้บริษัททราบ" มิได้กำหนดโดยเคร่งครัดว่าต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 180 วันนับแต่วันเริ่มทุพพลภาพทุกกรณี โจทก์ไปติดต่อจำเลยด้วยตัวเองแต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือเพราะใช้มือเขียนหนังสือไม่ได้ และจำเลยได้รับคำบอกกล่าวของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว แสดงว่าไม่ติดใจให้โจทก์แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรตามสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9070/2538   ตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยผู้รับประกันภัยได้จำกัดความรับผิดในกรณีอุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ไว้ไม่เกิน 300,000 บาท ต่อ 1 คน และในกรณีถูกฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกายไว้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อ 1 คน ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าผู้เอาประกันภัยจะเอาประกันภัยไว้เป็นจำนวนเงินหรือมีทุนประกันเท่าใด ดังนั้น แม้ผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิเลือกซื้อสัญญาประกันภัยเช่นนี้ไว้กี่ครั้งก็ตาม หากเป็นผู้เอาประกันภัยรายเดียวกันแล้ว ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว คดีนี้ ล. ทำสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้ต่อจำเลย 2 ครั้ง ครั้งแรก จำนวนเงินเอาประกันภัย 300,000 บาทระบุให้ ม. และ ศ. เป็นผู้รับประโยชน์ ครั้งที่สองจำนวนเงินเอาประกันภัย 500,000 บาท ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ดังนั้น จำเลยผู้รับประกันภัยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อจำกัดความรับผิดตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว กล่าวคือ ต้องนำจำนวนเงินเอาประกันภัยหรือทุนประกันตามสัญญาทั้งสองฉบับมารวมกันถือเป็นจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัยไว้ทั้งสิ้น เมื่อรวมแล้วเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยเกินกว่า 500,000 บาท จำเลยจึงคงต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้รับประโยชน์ทั้งสองสัญญารวมกันเพียง 500,000 บาทเมื่อทั้งสองสัญญามีจำนวนเงินเอาประกันภัยจำนวน 300,000 บาทและ 500,000 บาท จึงต้องเฉลี่ยการได้รับค่าสินไหมทดแทนกันตามอัตราส่วนดังกล่าว ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงจำนวน 312,500 บาท
          ผู้เอาประกันรู้ตัวว่าตนเป็นโรคไตวายร้ายแรง แต่ละเว้นไม่เปิดเผยความจริงทำให้จำเลยเข้าทำสัญญายอมรับประกันชีวิตดังกล่าว ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 เมื่อจำเลยบอกล้างภายในกำหนดแล้ว สัญญาย่อมตกเป็นโมฆะ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1543/2534   ล. รู้ตัวว่าตนเป็นโรคไตวายร้ายแรง แต่ละเว้นไม่เปิดเผยความจริงทำให้จำเลยเข้าทำสัญญายอมรับประกันชีวิต ล. โดยไม่ทราบการเป็นโรคไตร้ายแรงดังกล่าว ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 เมื่อจำเลยบอกล้างภายในกำหนดแล้ว สัญญาย่อมตกเป็นโมฆะ ดังนี้โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตได้
          ตัวแทนแสวงหาผู้เอาประกันของบริษัทประกันขอให้โจทก์เอาประกันชีวิตกับบริษัทประกัน ถือได้ว่าสัญญาประกันชีวิตได้มาเพราะการทำฉ้อฉลของบริษัทประกัน เมื่อสัญญาประกันชีวิตรายนี้เป็นโมฆียะ โจทก์บอกล้างโดยชอบแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะมาแต่แรก โจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1531/2522   โจทก์มิได้รับการตรวจสุขภาพ มิได้รับการฉายเอ๊กซเรย์ และตรวจคลื่นหัวใจ และจำเลยที่ 2 ได้หลอกลวงให้โจทก์เอาประกันชีวิต โดยแจ้งว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพแล้วจัดหาบุคคลอื่นไปรับการตรวจสุขภาพแทน ทำให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าโจทก์มีสุขภาพดี และรับประกันชีวิตโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงทำกลฉ้อฉลหลอกลวงให้โจทก์แสดงเจตนาทำสัญญาประกันชีวิต โดยเข้าใจผิดว่าได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบแล้ว ซึ่งถ้าโจทก์รู้ว่าเป็นการไม่ชอบก็จะไม่ทำสัญญาด้วย
          จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนแสวงหาผู้เอาประกันของจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าสัญญาประกันชีวิตได้มาเพราะการทำฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เมื่อสัญญาประกันชีวิตรายนี้เป็นโมฆียะ โจทก์บอกล้างโดยชอบแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะมาแต่แรก โจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดส่งคืนเบี้ยประกันพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
          ผู้เอาประกันชีวิตได้ลงมือกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยใจสมัครของตนภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประกันชีวิต แม้ผู้เอาประกันจะถึงแก่ความตายภายหลังก็ตาม ผู้รับประกันภัยก็ได้รับยกเว้นความรับผิดไม่ต้องใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2536   ผู้เอาประกันชีวิตได้ลงมือกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยใจสมัครของตนภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประกันชีวิต แม้ผู้เอาประกันจะถึงแก่ความตายภายหลังระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาก็ตามผู้รับประกันภัยก็ได้รับยกเว้นความรับผิดไม่ต้องใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 895(1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 395/2532  แม้สัญญาประกันภัยจะไม่คุ้มครองการทำร้ายหรือฆาตกรรมก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าคนที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เอาประกันเป็นใครและยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าผู้เอาประกันถึงแก่ความตายเพราะถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนับว่าการตายของผู้เอาประกันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุผู้รับประกันภัยคุ้มครองมรณกรรมเนื่องจากอุบัติเหตุจะปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่.
          เมื่อผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันได้แจ้งให้ผู้รับประกันทราบถึงอุบัติเหตุและได้ส่งหลักฐานความเสียหายไปให้ผู้รับประกันภัยครบถ้วนแล้ว ผู้รับประกันเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมจ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์ผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยของเงินที่ผู้รับประโยชน์มีสิทธิได้รับ นับแต่วันผิดนัด.
          แม้ผู้เอาประกันจะป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจตีบก็ตาม แต่เหตุที่ทำให้ผู้เอาประกันถึงแก่ความตายเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุถูกสุกรเข้าชนที่ขาด้านหลังล้มหงายศีรษะฟาดพื้นคอกสุกร กรณีจึงต้องถือว่า ผู้เอาประกันถึงแก่กรรมเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุ มิใช่เนื่องจากการป่วยเจ็บอันเป็นเหตุยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดจ่ายเงินประกันตามสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3489/2530   ขณะศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำ ณ. เข้าสืบยังอยู่ระหว่างการนัดสืบพยานประเด็นโจทก์และโจทก์ยังไม่ได้แถลงหมดพยานทั้งหมดแม้จำเลยจะนำพยานเข้าสืบบ้างแล้วแต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามโจทก์นำพยานมาสืบเพิ่มในกรณีนี้ จึงรับฟังคำพยานของ ณ. ได้  
          กรมธรรม์ประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุที่ ส. เอาประกันไว้กับจำเลยที่ 1 ระบุว่าในกรณีที่ ส. ถึงแก่กรรมเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุจำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินจำนวนประกันรวมจำนวนเงินประกันอุบัติเหตุให้แก่โจทก์ผู้รับประโยชน์ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า ส.ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจตีบก็ตาม แต่เหตุที่ทำให้ส. ถึงแก่ความตายเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุถูกสุกรเข้าชนที่ขาด้านหลังล้มหงายศีรษะฟาดพื้นคอกสุกร กรณีจึงต้องถือว่า ส. ถึงแก่กรรมเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุ มิใช่เนื่องจากการป่วยเจ็บอันเป็นเหตุยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดจ่ายเงินประกันตามสัญญา จำเลยที่ 3 ตัวแทนเชิด เก็บเบี้ยประกันตามที่ได้รับมอบหมายมาให้จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 ผู้รับประกันภัยยังไม่ออกหลักฐานการรับชำระเบี้ยประกันให้โจทก์ ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยโดยผ่านทางจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนแล้ว กรมธรรม์จึงยังไม่สิ้นผลบังคับ.
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1803/2530   สัญญาประกันคุ้มครองอุบัติเหตุมีข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยไว้ว่า จะไม่รับผิดชอบชดใช้ค่าทดแทนใดๆ ถ้าหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยสาเหตุการถูกฆาตกรรม ดังนี้ หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต โดยมีพฤติการณ์แสดงว่าถูกคนร้ายฆ่าตายโดยเจตนา ถือได้ว่าการตายของผู้เอาประกันภัยเกิดจากการฆาตกรรมผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิด
          ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนที่เป็นการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3026/2540   ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนที่เป็นการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียวไม่ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัยดังนั้นแม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 50,000 บาทให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปโจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองได้ไม่



นายจ้างต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของลูกจ้าง ซึ่งทำไปในทางการที่จ้าง

          ความรับผิดของนายจ้างในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำ


          มาตรา 425  "นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น"

          มาตรา 426  "นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น"

          การเป็นนายจ้างและลูกจ้างนั้น ย่อมต้องเป็นไปตามมาตรา 575 " อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ "

          หากเป็นกรณีที่ผู้ทำละเมิดนั้นมิใช่ลูกจ้างของตนแล้ว ผู้นั้นก็ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523  จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นล้างและเฝ้ารถ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานเฝ้ายามอยู่แล้ว ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ต้องทำตามคำสั่งหรืออยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 2 การจ้างเช่นนี้เป็นการจ้างทำของเพราะผู้ว่าจ้างต้องการแต่ผลสำเร็จของ งานคือความสะอาดและความคงอยู่ของรถ ไม่ใช่จ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์
          ผู้เช่าเหมาเรือจากเจ้าของเรือ โดยอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและการจัดการเกี่ยวกับเรือยังอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าของเรือ ไม่ต้องรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดที่ลูกเรือกระทำขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8174/2557  ตามสัญญาเช่าเหมาเรือลงวันที่ 21 มกราคม 2553 ข้อ 6 เอ ซีและดีมีใจความโดยสรุปว่า การเช่าเรือครั้งนี้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้เช่าเรือมุ่งหมายเอาผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการของบริษัท ด. ผู้เป็นเจ้าของเรือ นายเรือและเจ้าหน้าที่ในการเดินเรือเป็นสำคัญ ส่วนการเดินเรือและการจัดการเกี่ยวกับเรือไม่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยร่วม แต่เป็นอำนาจโดยเด็ดขาดของบริษัท ด. ยิ่งไปกว่านั้นในข้อ 7.เอ ยังมีข้อความระบุว่าบริษัท ด. มีหน้าที่จัดหาและจ่ายเสบียงอาหาร ค่าจ้างและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้แก่นายเรือ เจ้าหน้าที่และลูกเรือด้วยตนเอง จำเลยร่วมไม่มีส่วนรับผิดในค่าใช้จ่ายเหล่านั้นด้วย คงรับผิดชอบชำระค่าเรือให้แก่บริษัท ด. ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเท่านั้น ลูกเรือของเรือเฮอริเทจเซอร์วิสและจำเลยทั้งห้าจึงไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยร่วม จำเลยร่วมไม่จำต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกเรือดังกล่าว
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้เช่าเรือเฮอริเทจเซอร์วิสจากบริษัท ด. ผู้เป็นเจ้าของเรือลำดังกล่าวต้องรับผิดในความประมาทเลินเล่อที่ลูกเรือกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าเหมาเรือลงวันที่ 21 มกราคม 2553 ข้อ 6 เอ, ซีและดีมีใจความโดยสรุปว่า การเช่าเรือครั้งนี้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้เช่าเรือมุ่งหมายเอาผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการของบริษัท ด. ผู้เป็นเจ้าของเรือ นายเรือและเจ้าหน้าที่ในการเดินเรือเป็นสำคัญ ส่วนการเดินเรือและการจัดการเกี่ยวกับเรือไม่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยร่วม แต่เป็นอำนาจโดยเด็ดขาดของบริษัท ด. นายเรือและเจ้าหน้าที่ในการเดินเรือที่จะพิจารณาและตัดสินใจ เพื่อให้การเดินเรือมีความปลอดภัย หากจำเลยร่วมไม่พอใจในการปฏิบัติงานของเรือ เจ้าหน้าที่หรือลูกเรือคนใด จำเลยร่วมไม่มีอำนาจที่จะสั่งการสั่งให้หยุดงานหรือเปลี่ยนตัวนายเรือ เจ้าหน้าที่หรือลูกเรือคนใดได้โดยลำพัง แต่ต้องร้องเรียนต่อนายเรือเพื่อให้นายเรือดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน หากผลการสอบสวนเป็นไปตามคำร้องเรียนของจำเลยร่วม นายเรือก็จะสั่งให้เปลี่ยนแปลงตัวเจ้าหน้าที่หรือลูกเรือและสั่งตั้งบุคคลอื่นเข้ามาทำหน้าที่ทดแทนได้ ยิ่งไปกว่านั้นในข้อ 7.เอ ยังมีข้อความระบุว่าบริษัท ด. มีหน้าที่จัดหาและจ่ายเสบียงอาหาร ค่าจ้างและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้แก่นายเรือ เจ้าหน้าที่และลูกเรือด้วยตนเอง จำเลยร่วมไม่มีส่วนรับผิดในค่าใช้จ่ายเหล่านั้นด้วย คงรับผิดชอบชำระค่าเรือให้แก่บริษัท ด. ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเท่านั้น ลูกเรือของเรือเฮอริเทจเซอร์วิสและจำเลยทั้งห้าจึงไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยร่วม จำเลยร่วมไม่จำต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกเรือดังกล่าวด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องจำเลยร่วม ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น




          สำหรับกรณีที่ผู้ทำละเมิดนั้นเป็นลูกจ้าง เนื่องจากนายจ้างมีหน้าที่จะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า การกระทำละเมิดของลูกจ้างนั้นได้กระทำไปในทางการที่จ้างหรือไม่  หรือการทำละเมิดของลูกจ้างนั้นเป็นผลมาจากการปฏิบัติงานหรือไม่ โดยจะเกิดละเมิดในเวลาปฏิบัติงานหรือนอกเวลาปฏิบัติงานก็ได้ แต่ต้องเป็นงานตามที่มอบหมายให้ปฏิบัติไปตามหน้าที่ แต่หากมอบหมายงานให้ทำนอกหน้าที่แล้วลูกจ้างยอมทำก็ถือว่าเป็นทางการที่จ้างเหมือนกัน หรือลูกจ้างทำเกินหน้าที่แต่นายจ้างยินยอมให้ทำ ก็ถือว่าทางการที่จ้างเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11 - 12/2495  นายจ้างใช้ให้ลูกจ้างนำรถยนต์ของนายจ้างไปรับใช้งานของข้าหลวงประจำจังหวัด ลูกจ้างขับรถยนต์ไประหว่างทางด้วยความประมาท รถยนต์จึงชนคนตายดังนี้ ถือว่าลูกจ้างได้ทำละเมิดในทางการที่จ้าง นายจ้างต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425

          ลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถและได้กระทำไปในทางการที่จ้างแล้ว หลังจากนั้นแม้ลูกจ้างจะได้ขับรถไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือประการใดก็ตาม ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้นำรถกลับคืนสู่ความครอบครองของนายจ้าง ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระหว่างทางการที่จ้าง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4786/2558  ความหมายของคำว่า “ในทางการที่จ้าง” มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเวลาทำงานของนายจ้างหรือระหว่างเวลาที่ต่อเนื่องคาบเกี่ยวใกล้ชิดกันกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างดังที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างมาเท่านั้น หากแต่เมื่อลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถและได้กระทำไปในทางการที่จ้างแล้ว หลังจากนั้นแม้ลูกจ้างจะได้ขับรถไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือประการใดก็ตาม ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้นำรถกลับคืนสู่ความครอบครองของนายจ้าง ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระหว่างทางการที่จ้างหรือต่อเนื่องกับทางการที่จ้างซึ่งนายจ้างยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุคดีนี้จะเป็นเวลา 2 นาฬิกา นอกเวลาทำงานปกติและ ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุออกไปเที่ยว ก็ถือได้ว่า ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของ ว. นั้นด้วย

          แม้ขณะลูกจ้างขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถของผู้เสียหายเป็นเวลากลางคืน แต่ลูกจ้างยังคงสวมชุดทำงานและวันรุ่งขึ้นนายจ้างก็ไปพบพนักงานสอบสวนโดยไม่ปฏิเสธความรับผิดและร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหาย เป็นการยอมรับโดยปริยายว่าลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง นายจ้างต้องรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  17440/2555  จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถโดยสารของโจทก์ได้รับความเสียหายแม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงสวมใส่ชุดทำงาน ในวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 3 ไปพบพนักงานสอบสวนกับจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 แต่กลับยอมรับต่อตัวแทนฝ่ายโจทก์และพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และยังร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหายโดยไม่ได้แจ้งหรือแสดงพฤติการณ์ใดให้เห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 รับโดยปริยายแล้วว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเมื่องานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้างที่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างก่อให้เกิดขึ้นด้วย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน บง - 6846 หนองบัวลำภู ด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนรถโดยสาร หมายเลขทะเบียน 10 - 1759 เลย ของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 90,581 บาท สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว
          มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ และการที่จำเลยที่ 2 มาเจรจาชดใช้ค่าเสียหายต่อพนักงานสอบสวนย่อมแสดงว่ายอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ด้วย โจทก์มีนาย ส.และนาย ก. คนขับรถโดยสารและพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารของโจทก์เบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 แต่งตัวลักษณะเป็นช่างก่อสร้าง เนื่องจากบริเวณเนื้อตัวและเสื้อผ้ามีเศษปูนติดอยู่ไม่มีอาการเมาสุรา ส่วนรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นรถที่ใช้ในการขนวัสดุก่อสร้าง จำเลยที่ 2 บอกนาย ส. นาย ก. และนาย จ.พยานโจทก์อีกปากหนึ่งที่อยู่ร่วมในการเจรจาค่าเสียหายที่สถานีตำรวจว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และได้เสนอราคาชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียง 10,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้ ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระเงินค่าปรับแทนจำเลยที่ 1 ด้วย นาย จ.ยังเบิกความตอบคำถามค้านว่าขณะเจรจาได้ยินจำเลยที่ 1 พูดว่านายจ้างให้มาเอาของที่อำเภอภูกระดึงเพื่อไปส่งที่ผานกเค้า ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่เป็นช่างไม้และช่างปูน มีรถจักรยานยนต์ใช้ขับไปกลับที่ทำงาน เริ่มทำงานเวลา 8 ถึง 17 นาฬิกา รถบรรทุกคันเกิดเหตุ เป็นของจำเลยที่ 3 ที่ให้นาย ส.เป็นผู้ขับรับส่งพนักงานและเก็บรักษาที่บ้านของนาย ส. ในวันเกิดเหตุ รถคันดังกล่าวจอดไว้โดยมีกุญแจรถเสียบคาอยู่ จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวไปโดยพลการ เงินค่าปรับที่จำเลยที่ 2 จ่ายแทนจำเลยที่ 1 ไป 400 บาท ได้หักจากค่าจ้างของจำเลยที่ 1 แล้ว และการที่จำเลยที่ 2 มาเจรจาค่าเสียหายเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 และจะหักค่าปรับจากค่าจ้างของจำเลยที่ 1 ในภายหลังนั้น มีแต่จำเลยที่ 2 และนาย ส.เป็นพยานเบิกความลอยๆ ซึ่งจะเบิกความอย่างไรก็ได้ เพราะเป็นเรื่องที่มีแต่จำเลยทั้งสามและพยานจำเลยทั้งสามเท่านั้นที่จะรู้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ อีกทั้งจำเลยที่ 1 จะทำงานล่วงเวลาหรือได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการให้ทำการงานในทางการที่จ้างหรือไม่นั้น เป็นเรื่องกิจการภายในที่อยู่ในความรู้เห็นของฝ่ายจำเลยที่มีความสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างลูกจ้างเท่านั้น ยากที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเข้ามาเกี่ยวข้องหลังเกิดเหตุแล้วจะล่วงรู้ถึงการใช้จ้างวานและการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก่อนเกิดเหตุได้ ประกอบกับข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังขัดแย้งกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่แสดงออกต่อบุคคลภายนอก เพราะจำเลยที่ 1 ยังคงสวมใส่ชุดทำงานอยู่ในขณะเกิดเหตุ ทั้งในวันรุ่งขึ้น จำเลยที่ 2 ก็ไปพบพนักงานสอบสวนกับจำเลยที่ 1 ด้วยโดยมิได้ปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 แต่กลับยอมรับต่อตัวแทนฝ่ายโจทก์และพนักงานสอบสวนในขณะนั้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ตามข้อความที่ปรากฏในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี และยังร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหายกับตัวแทนฝ่ายโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งหรือแสดงพฤติการณ์ใดให้เห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังที่กล่าวอ้าง แสดงว่าจำเลยที่ 2 รับโดยปริยายแล้วว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวัน และขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเมื่องานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้าง ที่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างก่อให้เกิดขึ้นด้วย

          หลังเลิกงานแล้วยินยอมให้ลูกจ้างนำรถไปเก็บไว้เองเพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษารถ แต่ขณะนำรถกลับไปเก็บยังที่พักลูกจ้างขับรถชนผู้ตาย ถือว่าเป็นการขับรถไปในทางการที่จ้าง นายจ้างต้องร่วมรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10392/2553  จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกไม้ยางให้แก่จำเลยที่ 2 หลังเลิกงานจำเลยที่ 2 ยินยอมให้ลูกจ้างนำรถไปเก็บไว้เอง เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษารถและนำรถกลับมาบรรทุกไม้ยางให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องไปส่งลูกจ้าง การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปในเวลากลางคืนในขณะเกิดเหตุซึ่งเป็นเวลาหลังเลิกงานด้วยความยินยอมของจำเลยที่ 2 และเพื่อนำไปเก็บไว้ยังที่พักของจำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 เพื่อประโยชน์ของนายจ้างเองที่จะนำรถกลับมาใช้งานให้จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถชนผู้ตายและบุตรระหว่างขับรถกลับบ้าน ถือว่าเป็นการขับรถไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดกับจำเลยที่ 1

          ลูกจ้างพักอยู่ที่ทำงานและใช้รถคันเกิดเหตุประจำในการทำงาน แม้ลูกจ้างขับรถไปเติมน้ำมันแล้วเกิดเฉี่ยวชนหลังเลิกงานแล้ว แต่ก็เป็นหน้าที่ตามปกติที่ต้องทำ จึงเป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3757/2553  จำเลยที่ 1 พักอยู่ที่ที่ทำงานและจะให้รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเป็นประจำในการทำงาน เหตุรถเฉี่ยวชนกันเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 22 นาฬิกา หลังจากเวลาเลิกงานตามปกติแล้ว ขณะจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปเติมน้ำมัน แม้จะอยู่นอกเวลาทำงานแต่ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย จึงเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2

          กรณีการทำละเมิดของลูกจ้างมิใช่เป็นในทางการที่จ้าง นายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4044/2548  จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานสวนป่าไม่มีหน้าที่ขับรถหรืออำนาจสั่งใช้รถได้โดยลำพัง ทั้งไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายหรืออนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้รถ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ออกไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานสวนป่าซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา การที่ ป. ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ ซึ่งมิใช่คนงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มาขอความช่วยเหลือจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากมีอาการท้องร่วงให้นำตัวส่งโรงพยาบาล จำเลยที่ 1 จึงขับรถยนต์บรรทุกซึ่งเป็นรถที่ใช้ในกิจการของจำเลยที่ 2 ไปส่ง ป. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้วไปเกิดเหตุชนกับรถบรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยความเอื้อเฟื้อส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เอง และกระทำไปโดยพลการนอกเหนือขอบเขตกิจการงานของจำเลยที่ 2 หาใช่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3750/2545  การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปบรรทุกผักและผลไม้ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้แวะรับประทานอาหารและดื่มสุราจนถูกทำร้ายร่างกาย ด้วยความโกรธแค้นเพราะเหตุส่วนตัวที่ถูกทำร้ายดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงขับรถบรรทุกพุ่งชนโจทก์ที่ 5 และผู้ตายกับพวกที่ทำร้ายตนจนเป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บเช่นนี้ เป็นเหตุส่วนตัวที่เกิดขึ้นต่างหากไม่เกี่ยวข้องกับกิจการในทางการที่จ้างหรือกรอบแห่งการจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นายจ้างที่มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างไปกระทำ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นต่อโจทก์ทั้งห้า ส่วนจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยรถบรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 3 ตามข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งจำเลยที่ 4 ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ.มาตรา 887 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่กระทำต่อโจทก์ทั้งห้า จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยค้ำจุน จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งห้าด้วย

          กรณีที่มูลหนี้ละเมิดอันเกิดจากการกระทำของลูกจ้างได้ระงับลงแล้ว นายจ้างย่อมไม่ต้องรับผิดอีกต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2548  เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับตัวแทนของโจทก์ต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 จะนำรถยนต์ของโจทก์ไปทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม อันเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้อย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ โดยจำเลยที่ 1 ไม่จำเป็นจะต้องเสนอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ข้อเสนอของจำเลยที่ 1 ในการซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์ เมื่อตัวแทนของโจทก์ได้ตกลงยินยอมตามนั้น ย่อมถือว่าโจทก์ยอมรับค่าเสียหายในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นแล้ว บันทึกข้อตกลงตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างใด ๆ ในมูลละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นเป็นอันระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 และความรับผิดของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย เพราะไม่มีมูลหนี้ในมูลละเมิดระหว่างโจทก์กับลูกจ้างในอันที่นายจ้างจะต้องรับผิดต่อไปอีก

          ถึงแม้นายจ้างจะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดจากการกระทำของลูกจ้างที่ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง แต่การพิจารณาว่าจะต้องรับผิดเพียงใดก็ต้องดูด้วยว่าความเสียหายที่อีกฝ่ายได้รับนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของอีกฝ่ายด้วยหรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1802/2565  จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ การจัดให้มีพนักงานดูแลลูกค้ารายใหญ่ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับจำเลยถึงที่ทำการของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ต้องมาดำเนินการที่สาขาของจำเลยด้วยตนเอง ถือเป็นบริการอย่างหนึ่งของจำเลยเพื่อประโยชน์ในกิจการของจำเลยเอง ซึ่งจำเลยสมควรคัดเลือกพนักงานที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่นี้และคอยสอดส่องไม่ให้ทำผิดหน้าที่ เมื่อ จ. พนักงานผู้มีหน้าที่ดูแลลูกค้าของจำเลยกลุ่มลูกค้าบุคคลได้รับมอบหมายจากจำเลยให้เป็นผู้ดูแลโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ การที่ จ. อำนวยความสะดวกให้โจทก์ด้วยการนำใบนำฝาก/โอน และใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อถึงที่ทำการของโจทก์ แล้วรับเอกสารดังกล่าวมาดำเนินการต่อที่สาขาของจำเลย ถือเป็นกิจการของจำเลยที่มอบหมายให้ จ. ไปกระทำ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มอบหมายให้ จ. เป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยดังที่จำเลยฎีกา การที่ จ. รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกับโจทก์มาก่อนมีผลเพียงทำให้โจทก์ให้ความไว้วางใจ จ. ในฐานะพนักงานของจำเลยที่มาอำนวยความสะดวกให้โจทก์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น หาทำให้ จ. กลับกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยไม่ จ. เพียงทำหน้าที่นำเอกสารที่ใช้ในการถอนเงินและซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อแล้วรับเอกสารจากโจทก์ไปมอบให้พนักงานของจำเลยที่มีอำนาจหน้าที่ในการทำธุรกรรมนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการต่อ หาใช่ว่า จ. เป็นผู้รับทำธุรกรรมให้โจทก์ด้วยตนเองไม่ ดังนั้น แม้ขณะทำธุรกรรมดังกล่าว จ. ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้แนะนำการลงทุนดังที่จำเลยฎีกา การกระทำของ จ. ก็ยังอยู่ในขอบอำนาจและในกิจการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลย เมื่อ จ. นำใบนำฝาก/โอน มาทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์เข้าบัญชีของบุคคลอื่นโดยมิได้นำไปซื้อหน่วยลงทุนอันผิดไปจากความประสงค์ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ จ. ลูกจ้างของจำเลยกระทำไปในทางการที่จ้าง โจทก์สามารถตรวจสอบได้โดยง่ายว่า จ. ได้ซื้อหน่วยลงทุนถูกต้องตามความประสงค์ของโจทก์ในแต่ละครั้งหรือไม่ โดยการเรียกสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนรวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบทุกครั้งภายหลังจากที่ได้มอบหมายให้ไปทำธุรกรรม ทั้งการโอนเงินตามฟ้องแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกัน หากโจทก์ได้ตรวจสอบดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำก็ย่อมจะทราบได้ตั้งแต่แรกว่ามีการทำธุรกรรมผิดไปจากความประสงค์ของตน ซึ่งอาจจะอายัดเงินในบัญชีของผู้รับโอนกลับคืนมาได้ทันหรืออย่างน้อยก็ทำให้สามารถป้องกันมิให้เกิดความเสียหายซ้ำอีก แต่โจทก์กลับมอบสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนให้ จ. เป็นผู้เก็บรักษา ทั้งยังปล่อยปละไม่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมจนเวลาล่วงเลยมานานหลายเดือนจึงทราบเหตุละเมิด ถือได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ประกอบด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชำระแก่โจทก์มากน้อยเพียงใด จึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง




ตัวการต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของตัวแทนของตน


          ความรับผิดของตัวการในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนได้กระทำ

          มาตรา 425  "นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น"
          มาตรา 426  "นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น"
          มาตรา 427  "บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วย โดยอนุโลม"

          ตัวการก็เช่นเดียวกับนายจ้าง กล่าวคือต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนของตนได้กระทำไป ปัญหาว่าการกระทำละเมิดได้กระทำในขณะทำการเป็นตัวแทนหรือไม่?
          ตัวการ ตัวแทน เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5751/2544  การรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 9 มีหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางตามที่ตกลงไว้กับผู้โดยสาร เมื่อไม่สามารถส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นต่อไปได้ เพราะมีรถไฟตกรางอยู่ข้างหน้า จำเลยที่ 9 ย่อมมีหน้าที่จัดหายานพาหนะอื่นขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง อันเป็นการรับขนส่งผู้โดยสารตาม ป.พ.พ. มาตรา 608, 609 และ พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 9 (7) จำเลยที่ 9 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งโดยสารทางรถยนต์รับขนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถไฟของจำเลยที่ 9 ที่ปรากฏแก่โจทก์ทั้งสองและบุคคลภายนอกซึ่งไปมาระหว่างสถานีรถไฟ ล. กับสถานีรถไฟ ค. จึงเป็นการทำแทนจำเลยที่ 9 นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 9 กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 จึงอยู่ในฐานะตัวการและตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2553  จำเลยทำสัญญารับเหมาก่อสร้างจากกรมทางหลวง ตามสัญญาจำเลยจะนำไปทำสัญญาจ้างเหมาช่วงไม่ได้ จำเลยผิดสัญญานำไปให้บริษัท บ. รับเหมาช่วง ความรับผิดขั้นสุดท้ายต่อกรมทางหลวงยังอยู่ที่จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรง สัญญาข้อ 9 จำเลยรับว่า ผู้รับจ้างช่วงเป็นตัวแทนของจำเลย บริษัท บ. จึงเป็นตัวแทนจำเลยในการทำงานโดยมีจำเลยเป็นตัวการ เมื่อบริษัท บ. ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2116/2553  จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโครงการอาคารชุด ซึ่งจะต้องดำเนินการก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคของโครงการรวมทั้งจัดให้มีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตามประกาศโฆษณาขายอาคารชุดดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 จ้างเหมาบุคคลอื่นติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคารชุด จำเลยที่ 1 ต้องดูแลให้ระบบป้องกันอัคคีภัยดังกล่าวใช้งานได้สมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ หากระบบป้องกันอัคคีภัยไม่สามารถใช้งานได้หรือใช้งานได้ไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในการดำเนินการแก้ไขให้สามารถใช้งานได้ตามที่โฆษณาไว้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างเหมาจากจำเลยที่ 1 ให้ติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยให้แก่อาคารชุด จึงเป็นการกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 2 เชื่อมสายไฟเข้าระบบผิดทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจรเกิดความเสียหายแก่ระบบป้องกันอัคคีภัยดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนก่อให้เกิดขึ้นดังกล่าวด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425
          การที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการแก้ไขระบบป้องกันอัคคีภัยที่ได้รับความเสียหายให้เสร็จสิ้นภายในเวลาอันควร โจทก์ย่อมมีสิทธิจัดหาบุคคลภายนอกมาดำเนินการในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิเข้าจัดการในทรัพย์สินของตนและเรียกค่าใช้จ่ายจากจำเลยทั้งสองได้ โดยถือเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213, 215.
         
          ผู้ประกอบการขนส่งซึ่งยอมให้บุคคลอื่นใช้ชื่อตนในการประกอบการขนส่งจะต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดที่บุคคลนั้นกระทำขึ้น ถือว่าผู้ประกอบการขนส่งอยู่ฐานะตัวการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7200/2558  จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 85 - 3491 นครปฐม และจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถบรรทุกกึ่งพ่วงหมายเลขทะเบียน 82 - 7411 นครปฐม โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกคันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถบรรทุกดังกล่าวไปก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ของรถเท่านั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาได้บอกเลิกการประกอบการขนส่งที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แก่ทางราชการไม่ กลับยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถบรรทุกคันเกิดเหตุดังกล่าวไปใช้ประกอบการขนส่งโดยให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นคนขับในวันเกิดเหตุ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันประกอบการขนส่ง ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปกระทำละเมิดอันต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ทั้งสองภายในขอบอำนาจแห่งฐานะตัวแทนเช่นนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำไปนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 427, 820

          ทำสัญญายอมให้บุคคลอื่นใช้รอยตราหรือเครื่องหมายของตนในการทำงาน เท่ากับเชิดให้บุคคลนั้นเป็นตัวแทนของตน จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่บุคคลนั้นกระทำขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5896/2558  สัญญาเช่าข้อ 7 ระบุว่า สมาชิกต้องไม่นำรถยนต์ไปให้ผู้อื่นขับขี่เป็นอันขาด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทราบแต่แรกว่าไม่สามารถนำรถของตนให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่า สัญญาดังกล่าวนี้จึงเป็นการทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำรถออกรับจ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญายอมผูกพันให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า “สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก” ไว้ที่ด้านข้างของรถแท็กซี่เพื่อออกแล่นรับผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จำเลยร่วมที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การนำรถแท็กซี่เข้าร่วมเป็นกิจการและตรงตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ผลประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่ที่มีตราของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับจ้าง จำเลยร่วมที่ 2 เจ้าของรถย่อมต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ศง 1998 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์บริการ ซึ่งมีจำเลยร่วมที่ 2 เจ้าของรถยนต์แท็กซี่หมายเลขทะเบียน พท 2201 กรุงเทพมหานคร นำมาเข้าแล่นในนามจำเลยที่ 2 ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์แท็กซี่คันดังกล่าวด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์ที่เอาประกันภัยกับโจทก์ได้รับความเสียหาย
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมที่ 2 ว่า จำเลยร่วมที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ จำเลยร่วมที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยร่วมที่ 2 ประกอบอาชีพให้เช่ารถแท็กซี่ โดยจำเลยที่ 1 มาขอเช่ารถแท็กซี่คันเกิดเหตุ จำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่ผู้เช่าไปก่อขึ้นนั้น เห็นว่า พยานของจำเลยร่วมที่ 2 มีจำเลยร่วมที่ 2 กับมารดาจำเลยร่วมที่ 2 เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ได้นำรถยนต์แท็กซี่คันเกิดเหตุให้จำเลยที่ 1 เช่า แต่ในสัญญาไม่ได้ระบุค่าเช่ากันไว้และจำเลยร่วมที่ 2 ก็มิได้เบิกความถึงจำนวนอัตราค่าเช่ากันด้วย คงระบุว่าสามารถนำรถของตนให้เช่าได้ตามสัญญาว่าด้วยการนำรถยนต์เข้ามาเดินร่วมกับสหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก. ซึ่งเมื่อพิจารณาสัญญาที่จำเลยร่วมที่ 2 ทำกับจำเลยที่ 2 แล้วในสัญญาข้อ 7 ระบุว่า สมาชิกสหกรณ์ต้องไม่นำรถยนต์หรือป้ายทะเบียนของสหกรณ์ไปให้ผู้อื่นขับขี่เป็นอันขาด แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 2 ทราบแต่แรกว่าไม่สามารถนำรถของตนให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่า สัญญาเช่านี้จึงเป็นการทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำรถออกไปรับจ้างเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการเช่ากันจริง เพราะไม่มีข้อความระบุในสัญญาเช่าชัดเจนว่าจะตกลงเช่ากันในอัตราเท่าใด ทั้งผู้ให้เช่าก็มิใช่จำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาด้วย ถือได้ว่าจำเลยร่วมที่ 2 เป็นตัวการเชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน ข้ออ้างจำเลยร่วมที่ 2 ข้อนี้ จึงฟังไม่ขึ้น
          ส่วนที่จำเลยร่วมที่ 2 ฎีกาต่อไปว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์จำเลยที่ 2 ก็เพื่อส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจและช่วยเหลือประกอบธุรกิจ ไม่ใช่เป็นการร่วมลงทุนหรือแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์กัน ต่างฝ่ายต่างประกอบกิจการ จึงไม่อาจเป็นตัวการหรือเชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนและไม่ใช่นายจ้างลูกจ้างกัน จำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า จำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญายอมผูกพันซึ่งกันและกันให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า “สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก.” จำเลยที่ 2 ไว้ที่ด้านข้างของรถแท็กซี่ เพื่อออกแล่นรับผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ 2 ได้โดยเปิดเผย ซึ่งจำเลยร่วมที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การนำรถเข้าร่วมเป็นกิจการและตรงตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ผลประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์แท็กซี่ที่มีตราของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับจ้างต่อคนทั่วไปที่ได้พบเห็นรถยนต์แท็กซี่คันดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อมายังจำเลยร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์แท็กซี่คันที่จำเลยที่ 1 ขับ โดยนำออกแล่นในนามจำเลยที่ 2 ย่อมจะต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 เช่นกัน ไม่ใช่เป็นกรณีต่างคนต่างประกอบกิจการแยกจากกัน ดังนั้น การที่จำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันกับได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน

          ใช้ให้คนจุดพลุจนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินผู้อื่น ผู้ใช้เป็นตัวการต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4622/2557   แม้จำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ขึ้นที่บ้านของตนเอง การจุดพลุเป็นพิธีการส่วนหนึ่งของการเปิดงาน การที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุ อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นเปิดงานต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการจุดพลุเปิดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ที่จำเลยที่ 2 จัดให้มีขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปตามคำสั่งที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้กระทำแทนจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองด้วย



          ผู้ซื้อทรัพย์โดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 เจ้าของทรัพย์เดิมมอบอำนาจให้ตัวแทนมายึดทรัพย์คืนโดยไม่ชดใช้ราคา เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์ จึงต้องร่วมกันรับผิดกับตัวแทนในผลแห่งละเมิดนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10499/2555   โจทก์เป็นผู้ซื้อรถคันพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตรวจสอบทราบตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2543 แล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทได้ไปจากบริษัท จ. ก็ควรจะไปขอคืนรถคันพิพาทจากโจทก์โดยการเตรียมเงินไปชดใช้ราคาที่ซื้อมาให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับใช้วิธีไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีในวันดังกล่าวแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้เช่าซื้อ ในข้อหายักยอกรถคันพิพาท ทั้งที่ได้มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2542 แล้ว และปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยนานถึง 1 ปี 4 เดือนเศษ เพิ่งจะมาแจ้งความร้องทุกข์ภายหลังจากทราบแล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทไปจากบริษัท จ. พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 โดยจงใจอาศัยอำนาจของเจ้าพนักงานในการที่จะปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. ว่าด้วยการค้นและยึดสิ่งของใดๆ ซึ่งน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีข้อหายักยอกที่เพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ในภายหลังมายึดรถคันพิพาทไป จำเลยที่ 1 จะใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเพื่อติดตามและเอารถคันพิพาทคืนจากโจทก์ไม่ได้ เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะได้ชดใช้ราคารถคันพิพาทแก่โจทก์ เพราะสิทธิของจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ตกอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1332 และแม้ว่ารถคันพิพาทจะเป็นรถคันเดียวกับรถคันที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าซื้อไปในคดีข้อหายักยอก อันน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ก็มีผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเช่นกัน โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการผู้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำการแทนในการยึดรถคันพิพาทจากโจทก์โดยไม่ชดใช้ราคาที่ซื้อมา จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427

          พฤติการณ์ที่บริษัทประกันยอมให้ตัวแทนประกันชีวิตติดต่อกับผู้เสียหายเพื่อต่ออายุกรมธรรม์และรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าในนามของบริษัทประกันโดยเปิดเผย เท่ากับบริษัทประกันเชิดให้ตัวแทนประกันชีวิตนั้นเป็นตัวแทนของตนในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันล่วงหน้า เมื่อตัวแทนประกันชีวิตนั้นทำการฉ้อฉลเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอันเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายแล้ว บริษัทประกันต้องรับผิดต่อผู้เสียหายเสมือนตัวแทนประกันชีวิตนั้นเป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของตัวแทนประกันชีวิตต่อผู้เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4861/2555   การที่โจทก์ทั้งสามลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตมอบให้จำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 ไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพราะถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าเป็นการขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับเดิม เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม จึงเป็นความสำคัญผิดในสาระสำคัญนิติกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
          โจทก์ทั้งสามรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ทั้งสามทำสัญญาประกันชีวิตฉบับเดิม โจทก์ทั้งสามย่อมให้ความเชื่อถือไว้วางใจ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามประมาทเลินเล่อในการลงลายมือชื่อในคำขอทำสัญญาประกันชีวิต ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์จึงไม่มีผลสมบูรณ์ที่ใช้บังคับได้
          จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจรับเบี้ยประกันชีวิตในนามจำเลยที่ 2 ดังนี้ คนทั่วไปที่ถูกจำเลยที่ 1 ชักชวนให้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 ย่อมต้องเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าด้วย ดังนั้น พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 ติดต่อกับโจทก์ทั้งสามเพื่อต่ออายุกรมธรรม์และรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จึงเท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้า การที่จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์ทั้งสามให้ลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตเป็นการจงใจให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 ด้วย
          ค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ทั้งสามในการติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองคืนเบี้ยประกันชีวิต เป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 มิใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาเป็นโมฆะ หากโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายย่อมเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้
         

          ความรับผิดของตัวการในเรื่องละเมิดนั้น เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นต้องเกิดจากกิจการที่ตัวแทนได้รับมอบหมายด้วย ถ้าเหตุละเมิดเกิดจากกิจการที่ตัวแทนทำขึ้นโดยไม่ได้รับมอบหมายแล้ว ตัวการก็ไม่ต้องรับผิด สำหรับกิจการที่มอบหมายนั้นต้องเป็นกิจการที่มุ่งให้ไปทำกับบุคคลที่สาม แต่ถ้าไม่มีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีวัตถุประสงค์ถึงบุคคลที่สาม ก็ไม่ใช่เรื่องตัวการตัวแทน เป็นต้นว่า การใช้หรือไหว้วานให้ขับรถให้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1980/2505 การใช้หรือวานบุคคลที่มิใช่ลูกจ้างให้ขับรถยนต์ไปในธุรกิจของผู้ใช้เอง โดยผู้ถูกใช้เป็นผู้ที่ขับรถยนต์ได้และเคยขับให้ผู้ใช้มาก่อนแล้วนั้น หากผู้ถูกใช้ขับรถยนต์ไปชนบุคคลอื่นอันเป็นการละเมิดขึ้น ผู้ใช้หาจำต้องร่วมรับผิดด้วยไม่ เพราะมิได้ประมาทเลินเล่อในการใช้หรือวาน
          การรับใช้หรือรับวานขับรถยนต์ให้นั้น ไม่ใช่เป็นตัวแทนเพราะมิใช่เป็นกิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่สาม แต่เป็นกิจการระหว่างผู้ใช้กับผู้รับใช้ ไม่ได้เกี่ยวกับบุคคลที่สามเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2523  การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปชนรถโจทก์ที่ 1 เพราะจะรีบไปซื้อเนื้อตามที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้ไปซื้อและการไปซื้อเนื้อเพื่อทำเนื้อสะเต๊ะขายเป็นกิจการค้าของจำเลยที่ 3 ก็ตามการที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถโจทก์ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดในการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 เพราะมิใช่กิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่สาม จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

          ความรับผิดของตัวการในการทำละเมิดของตัวแทนนนั้น จะต้องเป็นการทำละเมิดของตัวแทนที่อยู่ภายในขอบอำนาจของการเป็นตัวแทนด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4223/2542 จำเลยที่ 2 และบริษัท ธ. เป็นบริษัทในเครือเดียวกันมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้สถานที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่า ร่วมกัน การที่บริษัท ธ. ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 มาดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าดังกล่าว จึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่ศูนย์การค้าของบริษัท ธ. และจำเลยที่ 2 ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังทำหน้าที่ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยไปดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่าที่เกิดเหตุ พฤติการณ์ของบริษัท ธ. กับจำเลยที่ 2 ที่ประกอบกิจการค้าร่วมกัน โดยมีชื่อจำเลยที่ 2 และชื่อศูนย์การค้าดังกล่าวติดอยู่ในอาคารเดียวกัน และมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยในศูนย์การค้านั้น ย่อมเป็นที่แสดงให้ผู้ใช้บริการเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหรือได้ร่วมกับเจ้าของศูนย์การค้าดังกล่าวมอบหมายให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการด้วย
          การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนาย ส. ถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนาย ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของตนในผลแห่งละเมิดต่อนาย ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถของศูนย์การค้าดังกล่าว จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายให้ทำแทนนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 420 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4845/2555  จำเลยที่ 1 มีข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะนำรถเข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 ว่าจะต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เสียก่อน และเมื่อจะนำรถออกจากบริเวณลานจอดรถก็จะต้องนำบัตรจอดรถมอบคืนแก่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทางออกจึงจะนำรถออกจากลานจอดรถได้ แม้ผู้ที่มาใช้บริการที่จอดรถเป็นผู้เลือกที่จอดรถ ดูแลปิดประตูรถ และเก็บกุญแจรถไว้เอง และไม่ต้องเสียค่าบริการก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมาก็ย่อมทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าบริเวณที่จอดรถดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 1 ได้จัดให้มีบริการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยสำหรับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตลอดจนรถที่ลูกค้าจะนำเข้าจอดขณะเข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนรับดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยโดยถือว่าเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการ ซึ่งถือได้ว่ามีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดโดยปล่อยปละละเลยให้คนร้ายลักรถของ อ. ผู้เอาประกันภัย ซึ่งจอดรถอยู่ในลานจอดรถของจำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 420 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยซึ่งได้ชำระค่าเสียหายในการที่รถสูญหายจึงรับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ได้

          สิทธิไล่เบี้ย
          เมื่อตัวการใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายไปแล้วย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากตัวแทนได้ ตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 426 โดยมีอายุความ 10 ปี




ความรับผิดทางละเมิดจากการกระทำของผู้รับจ้าง

          กรณีการว่าจ้างทำของ ซึ่งผู้รับจ้างไม่ต้องทำตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง เพียงแต่ทำให้สำเร็จตามกิจการที่ว่าจ้างเท่านั้น คือ มุ่งถึงผลความสำเร็จของงานที่ว่าจ้าง ดังนั้น หากผู้รับจ้างไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำงานที่ว่าจ้างนั้น โดยหลักแล้วผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายนั้นด้วย เว้นเสียแต่ว่า ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง ซึ่งเฉพาะข้อยกเว้น 3 ประการข้างต้นเท่านั้นที่ผู้ว่าจ้างจะต้องรับผิดด้วย โดยกรณีผู้ว่าจ้างทำของตามมาตรา 428 นี้ ถ้าเป็นกรณีข้อยกเว้นที่ผู้รับจ้างต้องรับผิดแล้วถือว่าผู้ว่าจ้างเป็นผู้ทำละเมิดโดยตรง
          มาตรา 428  "ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตน ให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง"
          มาตรา 587 "อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อ ผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2510  เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่ซ่อมรถแล้วเจ้าของรถยนต์วานให้ช่างซ่อมรถขับรถคันนั้นไปส่งที่อื่น เมื่อส่งเสร็จแล้วช่างซ่อมรถขับรถกลับอู่ไปเกิดชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายระหว่างทางดังนี้ ช่างซ่อมรถไม่ได้เป็นตัวแทนหรือเป็นลูกจ้างของเจ้าของรถยนต์เจ้าของรถยนต์ไม่ต้องร่วมรับผิดในการละเมิดนั้น
          สัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 นั้น ผู้รับจ้างตกลงจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยผู้รับจ้างไม่ได้อยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงานหรือบงการแก่ผู้รับจ้าง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1982/2522  จำเลยที่ 14 เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุ ได้ว่าจ้าง พ. ไปยึดรถคันดังกล่าวคืนมา พ. ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ทำการยึดอีกต่อหนึ่ง เมื่อยึดรถได้แล้วจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันดังกล่าวมาเพื่อมอบให้ พ. ระหว่างทางจำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 จ้าง พ. ไปยึดรถยนต์เป็นการจ้างทำของมิใช่จ้างแรงงาน เพราะเป็นการถือเอาความสำเร็จของงานเป็นวัตถุประสงค์ของสัญญา มิใช่สัญญาระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง เมื่อ พ. จ้างจำเลยที่ 2 ไปยึดรถอีกต่อหนึ่ง จำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้อยู่ในฐานะนายจ้างและไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2

          กรณีข้อยกเว้นที่ผู้ว่าจ้างทำของจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง

          1. ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ คือ ว่าจ้างให้เขาทำอะไรแล้วเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้นเพราะการงานที่สั่งให้ทำแล้ว ถือว่าผู้ว่าจ้างเป็นผู้ทำละเมิด เช่น จ้างสร้างบ้านให้รุกล้ำเขตที่ดินของคนอื่น ในส่วนของผู้รับจ้างจะต้องรับผิดหรือไม่ก็ต้องพิจารณาว่ารู้หรือไม่รุกล้ำ ถ้ารู้ก็ต้องรับผิดด้วยฐานทำละเมิดโดยจงใจ
 
          กรณีวิธีการตอกเสาเข็มเพื่อก่อสร้างอาคารแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก ก็ต้องดูว่าผู้ว่าจ้างเป็นผู้สั่งให้ทำให้ทำหรือไม่ ถ้าสั่งให้ทำผู้ว่าจ้างก็ต้องรับผิด แต่ถ้าเป็นการก่อสร้างตามแบบแปลนปกติแล้วผู้รับจ้างไปใช้วิธีการใดๆที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นโดยผู้ว่าจ้างไม่ได้สั่งการ ผู้ว่าจ้างก็ไม่ต้องรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 457/2514  คำสั่งของจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้าง ที่สั่ง ส. ผู้รับจ้างว่าให้ ส. ทำการก่อสร้างอาคารไปตามแบบแปลนที่จำเลยที่ 1 ได้ยื่นไว้ต่อเทศบาลและเทศบาลได้อนุญาตแล้ว เป็นคำสั่งกำชับให้ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาระหว่างจำเลยผู้ว่าจ้างกับ ส. ผู้รับจ้าง ไม่เป็นคำสั่งที่เกี่ยวกับการทำการก่อสร้างอาคารของ ส. ผู้รับจ้าง ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งให้ ส. ตอกเสาเข็มด้วยเครื่องจักรอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์การตอกเสาเข็มจึงเป็นการกระทำของ ส. ผู้รับจ้างเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2531  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของอาคารโจทก์เกิดขึ้นเนื่องจากการตอกเสาเข็มและการขุดดินสร้างฐานรากอาคารชุดของจำเลยมีปัญหาต่อไปว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดหรือไม่ จำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยซื้อเสาเข็มจากบริษัท น. ซึ่งมีหน้าที่ตอกเสาเข็มด้วย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 428 นั้นได้ความจากวิศวกรพยานจำเลยว่า การตอกเสาเข็มมีอยู่ 2 วิธี คือ วิธีเจาะและวิธีตอก วิธีตอกจะกระเทือนต่ออาคารข้างเคียงมากกว่า เพราะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนมาก ส่วนวิธีเจาะจะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนน้อยมาก แต่จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมากกว่ากันประมาณ 3-4 เท่า เห็นว่าการที่จำเลยทั้งสองเลือกจ้างการตอกเสาเข็มวิธีตอกก็เพราะเห็นว่าจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีเจาะ ทั้งที่ตระหนักดีว่าการตอกเสาเข็มด้วยวิธีตอกจะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนอย่างแรง อันเป็นเหตุให้อาคารโจทก์และของผู้อื่นในบริเวณใกล้เคียงเสียหาย แต่จำเลยทั้งสองไม่สนใจอันถือได้ว่าจำเลยทั้งสองผู้ว่าจ้างให้ตอกเสาเข็มด้วยวิธีตอกเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำทั้งได้ความจากคำเบิกความของนาย ส. พยานจำเลยอีกว่า การขุดดินทำฐานรากเป็นหน้าที่ของจำเลยไม่เกี่ยวกับผู้ขายเสาเข็มเช่นนี้จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2535  จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาให้จำเลยที่ 2 สร้างอาคารคอนโดมิเนียม การตอกเสาเข็มจำเลยที่ 2 ได้ทำตามสัญญาที่ตกลงกันไว้และตรงตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างในระหว่างการก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ได้ให้ตัวแทนไปตรวจการก่อสร้างด้วย การตอกเสาเข็มจึงเป็นส่วนการงานที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 กระทำเมื่อเกิดการเสียหายขึ้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย 
          การที่เศษวัสดุก่อสร้างตกลงไปในบ้านโจทก์หรือคนงานทิ้งขยะลงไปในบ้านโจทก์ เป็นผลจากการกระทำของจำเลยที่ 2 หรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่มิได้ระมัดระวังในการดำเนินการก่อสร้าง มิใช่เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ ในคำสั่งหรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง เพราะจำเลยที่ 2 ดำเนินธุรกิจก่อสร้างมีวิศวกรควบคุมงาน นับได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เลือกหาผู้รับจ้างที่ควรจะทำงานของจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2540/2539  จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินที่มีการก่อสร้างและตอกเสาเข็มยินยอมให้จำเลยที่ 2 ขออนุญาตก่อสร้างบนที่ดิน มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จ้างให้จำเลยที่ 4 ดำเนินการตอกเสาเข็มบนที่ดิน เมื่อเกิดความเสียหายแก่อาคารของโจทก์ที่ 1 ซึ่งอยู่บนที่ดินข้างเคียง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็เคยเข้าไปตรวจดูแลซ่อมแซมให้บางส่วน พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการก่อสร้างอาคารบนที่ดินของจำเลยที่ 1  แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้จ้างให้จำเลยที่ 4 ตอกเสาเข็ม แต่ก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันจ้างจำเลยที่ 4 ในการตอกเสาเข็ม ซึ่งโดยปกติผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง การที่จำเลยที่ 4 ตอกเสาเข็มตามแผนผังแบบแปลนการก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ห่างรั้วกำแพงของโจทก์เพียง 2 เมตรเท่ากับจำเลยที่ 4 ได้ดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3  จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ว่าจ้างจึงเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ อันทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 โดยพิเคราะห์ตามคำเบิกความของ ย. พยานโจทก์ที่ 1 ประกอบภาพถ่ายและใบประเมินราคาแล้ว เห็นว่ากำแพงรั้วพื้นซีเมนต์ตัวอาคารและสระน้ำเสียหายเป็นจำนวนมากจึงเหมาะสมแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 162/2544  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 บัญญัติว่า"ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง" โจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าจำเลยเป็นผู้ผิดตามมาตรา 428 ดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ผิดในส่วนสั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้แก่ผู้รับจ้างอย่างไรและในการเลือกผู้รับจ้างคือบริษัท ฟ. ซึ่งเป็นผู้ตอกเสาเข็มและก่อสร้างฐานรากก็ปรากฏว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษในการก่อสร้างอาคารสูง การที่จำเลยว่าจ้างบริษัท ป. เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ ย่อมหมายความว่าจำเลยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือสั่งการในการทำงานแต่อย่างใด เพราะเป็นหน้าที่ของบริษัททั้งสอง เมื่อความเสียหายเกิดขึ้น โจทก์จะต้องไปเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากผู้ก่อสร้างคือบริษัท ฟ. ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิด จำเลยไม่ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันทำให้จำเลยต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4304/2558  โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตอกเสาเข็มในโครงการบ้านพักอาศัยของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ติดกับอาคารพิพาทของโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องระบุเพียงว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้าง ก็มีความหมายอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 คือผู้ว่าจ้าง ส่วนจำเลยที่ 2 คือผู้รับจ้าง และแม้ความจริงจะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เพียงรับจ้างก่อสร้างอาคาร มิได้รับจ้างตอกเสาเข็มด้วย อันทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ว่าจะจ้างใครเข้าไปตอกเสาเข็มในที่ดินพิพาท ก็ยังคงสถานะความเป็นผู้ว่าจ้างอยู่เช่นเดิม จำเลยที่ 1 จึงไม่พ้นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างทำของ ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 428 ฉะนั้น การพ้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 เนื่องเพราะมิได้เป็นผู้รับจ้างจากจำเลยที่ 1 ในการตอกเสาเข็มจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัว คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นเรื่องของการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

          2. รับผิดเพราะคำสั่งที่ตนให้ไว้ คำสั่งตามมาตรา 428 ไม่ใช่คำสั่งบังคับบัญชา แต่เป็นคำสั่งเชิงแนะนำเท่านั้น เช่น นั่งรถแท็กซี่แล้วบอกให้ขับรถเร็ว เหยียบเต็มที่ไปเลยจะรับผิดชอบเอง หากเกิดเหตุละเมิดขึ้นจากการขับรถเร็ว ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดเพราะคำสั่งที่ตนให้ไว้ เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2134/2532  การตอกเสาเข็มและการขุดดินทำห้องใต้ดินบริเวณก่อสร้างของจำเลยทำให้บ้านของโจทก์และสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นได้รับความเสียหาย แม้จำเลยจะมิได้เป็นผู้ตอกเสาเข็มเอง แต่ก็ได้ว่าจ้างบริษัทอื่นทำและจำเลยควบคุมการตอกเสาเข็มให้ถูกต้องตามจำนวนและตอกตรงจุดที่กำหนดให้ตอก การตอกเสาเข็มดังกล่าวกระทำไปตามคำสั่งหรือคำบงการของจำเลย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการกระทำตามคำสั่งของจำเลยโดยตรง จำเลยหาพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2190/2535  จำเลยที่ 2 รับจ้างเทศบาลจำเลยที่ 1 ก่อสร้างทางระบายน้ำจำเลยที่ 2 ขุดดินวางท่อระบายน้ำตามแนวที่วิศวกรผู้ควบคุมงานของจำเลยที่ 1 กำหนดให้โดยแนวอยู่ห่างจากต้นหางนกยูงเพียงประมาณ 20 เซนติเมตร มีการตัดรากของต้นหางนกยูงด้านที่อยู่ใกล้กับบ่อพักท่อระบายน้ำนั้นออก ต้นหางนกยูงมีลำต้นขึ้นเอียงไปทางถนนโดยทำมุมกับถนนประมาณ 45 ถึง 60 องศา ก่อนเกิดเหตุแล้วและไม่มีรากแก้วคงมีแต่รากฝอย การที่จำเลยที่ 2 ตัดรากของต้นหางนกยูงด้านที่อยู่ติดกับบ่อพักน้ำโดยที่ต้นหางนกยูงเอียงไปทางถนนทำมุมกับถนนอยู่แล้ว จำเลยที่ 2 ควรจะคาดเห็นได้ว่าจะทำให้ต้นหางนกยูงล้มลงได้ แต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้หาทางป้องกันมิให้ต้นหางนกยูงล้มลง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความประมาทที่ต้นหางนกยูงล้มทับผู้ตายทำให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 2 เป็นการละเมิด 
          วิศวกรผู้ควบคุมงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดแนววางท่อระบายน้ำให้จำเลยที่ 2 โดยกำหนดแนวให้อยู่ห่างจากต้นหางนกยูงที่ล้มลงเพียงเล็กน้อย เป็นผลให้การขุดดินวางท่อระบายน้ำของจำเลยที่ 2 ต้องตัดรากของต้นหางนกยูงที่ล้มลงออกด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ก่อสร้างวางท่อระบายน้ำเป็นผู้ผิดในคำสั่งที่จำเลยที่ 1 ให้ไว้ และต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดเพื่อความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วย

          3. รับผิดเพราะการเลือกหาผู้รับจ้าง เช่น การเลือกผู้รับจ้างที่ไม่มีความรู้ความสามารถในการงานที่จะทำนั้นให้มาทำงานให้ เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2835/2552  จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้าง ท. ให้รับเหมาก่อสร้างบ้านโดยจำเลยที่ 2 เป็นคนมาติดต่อรับเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิที่จะบอกกล่าวให้ ท. ทำงานตรงไหนก็ได้ตามที่ต้องการ จำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งให้ ท. เปลี่ยนแปลงขนาดเสาเข็มที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ราคาแพงกล่าวเดิม และเป็นคนเอาเงินให้ ท. ไปซื้อ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัวแทน ดังนั้น แม้ ท. จะเป็นผู้ดำเนินการตอกเสาเข็ม แต่จำเลยที่ 1 ก็มีส่วนผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ และการที่ ท. ไม่ได้เรียนวิชาช่างมาโดยตรง เพิ่งรับเหมางานก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 เป็นงานแรก ก็เกิดเหตุทำให้บ้านของโจทก์ทั้งสองเกิดรอยร้าว เสียหาย แสดงว่า ท. เป็นผู้ขาดความรู้ความสามารถ การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้ ท. เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างถือว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ในการเลือกหาผู้รับจ้างมาก่อสร้างด้วย ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับสารภาพ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และแม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้ฟ้อง ท. ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิด