19 กันยายน 2557

ทำสัญญาซื้อขายที่ดินเพื่ออำพรางสัญญากู้ จะต้องบังคับตามสัญญากู้อันเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้

 หลักกฎหมายเรื่องนิติกรรมอำพราง มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.  มาตรา 155 วรรคสอง คือ ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ  

 กล่าวคือ การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้  และเมื่อการแสดงเจตนาลวงเป็นโมฆะ ก็ต้องมาดูว่า การแสดงเจตนาลวงนั้น ทำขึ้นโดยมีเจตนาที่แท้จริงอย่างไร ถ้ารู้ว่ามีเจตนาแท้จริงอย่างไรแล้ว ก็นำกฎหมายที่คู่กรณีมีเจตนาที่แท้จริงมาใช้บังคับ 

 เช่น ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน เพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ก็ต้องนำกฎหมายในเรื่องการกู้ยืมเงินมาใช้บังคับ เป็นต้น

 ตัวอย่าง
 ข้อเท็จจริงมีว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่ารวมสองแปลง ซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1340 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อนาย ต.เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1341 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528 นาย ต.และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ ต่อมาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 32763 และ 32764 มีชื่อนาย ต.กับจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 
          แต่มีปัญหาว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องโจทก์เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้หรือไม่
          เรื่องนี้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยไว้ว่า ที่โจทก์นำสืบอ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเนื้อที่รวม 50 ไร่เศษ จากนาย ต.และจำเลยที่ 1 ในราคา 48,000 บาท นั้น คำนวณราคาได้ไร่ละประมาณ 900 บาท เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ นางสาว น. นางสาว ท. และนาง ย. เบิกความเป็นพยานโจทก์ ในทำนองเดียวกันว่า ปี 2528 พยานทั้งสามมีที่ดินอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ซึ่งมีราคาไร่ละ 2,000 ถึง 3,000 บาท จะเห็นได้ว่าราคาซื้อขายที่ดินพิพาทตามท้องตลาดสูงกว่าราคาที่โจทก์อ้างว่านาย ต.และจำเลยที่ 1 ขายให้แก่โจทก์มาก คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า โจทก์ให้นาย ต.และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องกับโจทก์ ซึ่งเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ โดยให้นาย ต.ลงลายมือชื่อในฉบับที่ระบุจำนวนเงินต้นที่กู้ไปจากโจทก์ 30,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในฉบับที่ระบุจำนวนเงินดอกเบี้ย 18,000 บาท และให้โจทก์เข้าทำกินในที่ดินพิพาทต่างดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายตลอดมา เมื่อคำนวณเงินดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนจากต้นเงิน 30,000 บาท แล้ว ในเวลา 1 ปี ก็จะได้ดอกเบี้ยเป็นเงิน 18,000 บาท พอดี หากนาย ต.และจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ในปี 2528 จริง โจทก์น่าจะดำเนินการให้นาย ต.และจำเลยที่ 1 จัดการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นของโจทก์นับแต่วันทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกัน เนื่องจากโจทก์ทราบดีว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แต่โจทก์ก็ไม่ดำเนินการเช่นนั้น จนกระทั่งปี 2532 ทางราชการเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นโฉนดที่ดิน โจทก์ก็มิได้ให้ทายาทของนาย ต.และจำเลยที่ 1 ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เพียงแต่โจทก์รับโฉนดที่ดินพิพาทแปลงที่มีชื่อนาย ต.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาเก็บรักษาไว้เท่านั้น จนกระทั่งปี 2536 และปี 2541 มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแปลงที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาเป็นของจำเลยที่ 2 และโอนมาเป็นของจำเลยที่ 3 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแต่อย่างใด การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจากนาย ต.และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน นิติกรรมการซื้อขายจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง     
          และแม้ในกรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อนาย ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างนาย ต.กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้
          เมื่อคดีรับฟังได้ว่านาย ต.และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่นาย ต.และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ 30,000 บาท แล้วให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย นาย ต.และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทนนาย ต.หรือทายาทของนาย ต.และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ต.ไม่ประสงค์ให้โจทก์และบริวารอยู่ในที่ดินพิพาทของนาย ต.อีกต่อไป โจทก์และบริวารจึงต้องออกไปจากที่ดินของนายต.นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ต.หรือทายาทของนาย ต.ชำระเงินกู้ 30,000 บาท คืนแก่โจทก์ 
สรุปคือ เรื่องนี้ ศาลรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากนาย ต.และจำเลยที่ 1 เพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน จึงต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงิน โดยถือว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างนาย ต.กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้

เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่  2574/2556