30 ก.ย. 2557

การทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์บางประเภท ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ตามมาตรา 1574

          ป.พ.พ.มาตรา 1574  นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
          (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
          (2) กระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
          (3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
          (4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
          (5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
          (ุ6) ก่อข้อผูกพันใดๆที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
          (7) ให้กู้ยืมเงิน
          (8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
          (9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
          (10) รับประกันโดยประการใดๆอันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
          (11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้มาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)
          (12) ประนีประนอมยอมความ
          (13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

          การทำนิติกรรมใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์นั้น โดยหลักแล้วผู้ใช้อำนาจปกครองสามารถทำได้ ยกเว้นกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1574 จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะทำได้ หากกระทำนิติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1574 นิติกรรมนั้นก็ไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์


          ตัวอย่าง

          นาย ว.มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนนาย ย.กับนาง ส. ซึ่งเป็นบิดามารดา นาย ย.กับนาง ส.จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตลอดมา เมื่อนาย ย.กับนาง ส.ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นทรัพย์มรดกของนาย ย.กับนาง ส.ซึ่งตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลทั้งสองรวมทั้งนาย ว.ซึ่งเป็นบุตรชายด้วย ต่่อมาได้มีการตั้งผู้จัดการมรดกของนาย ย.กับนาง ส.ตามคำสั่งศาล หลังจากนั้นต่อมา นาย ว.ซึ่งเป็นทายาทได้ถึงแก่ความตาย มรดกของนาย ว.จึงตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร(ผู้เยาว์)และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยา หลังจากนั้นต่อมา ได้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ระหว่างผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2545 ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ข้อ 4 กำหนดว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 73 เลขที่ีดิน 155 ตำบลเมืองพล อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นมรดกของเจ้ามรดกให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทนาย ว.ซึ่งในวันทำบันทึกนี้ผู้จัดการมรดกได้มอบโฉนดให้แก่ทายาทของนาย ว.ไปเรียบร้อยแล้ว 
          กรณีนี้ มีปัญหาขึ้นเมื่อทายาทบางคนนำมาฟ้องเป็นคดีขอให้เพิกถอนนิติกรรมการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว โดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ตามมาตรา 1574(12) มีผลทำให้บันทึกที่ทำขึ้นตกเป็นโมฆะทั้งหมด  ที่สุดศาลได้มีคำวินิจฉัยว่า แม้บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก จะมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 1574(12) ที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะกระทำแทนผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตและจำเลยที่ 2 กระทำบันทึกดังกล่าวแทนบุตรผู้เยาว์โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่การขออนุญาตศาลหรือไม่ ไม่ใช่แบบของนิติกรรม และกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะกรรม ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามมาตรา 1574 ไม่ได้ เว้นแต่ศาลอนุญาตนั้น เป็นเจตนารมย์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้ศาลเป็นผู้กำกับดูแลผลประโยชน์ส่วนได้เสียของผู้เยาว์ โดยดูแลให้ผู้แทนโดยชอบธรรมปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์อย่างถูกต้องแท้จริงเท่านั้น นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถึงขนาดตกเป็นโมฆะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันผู้เยาว์ที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเท่านั้น..... และเมื่อบันทึกดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะอันจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดก็สามารถยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่มีผลเพียงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์เพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เยาว์....จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ยกการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามบันทึกดังกล่าวได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเพิกถอนบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกได้....
          สรุปว่า กรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์นั้น หากนิติกรรมนั้นเป็นกรณีตามมาตรา 1574 แล้ว จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน หากฝ่าฝืนมาตรา 1574 นิติกรรมนั้นย่อมไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์ แต่ไม่ใช่เรื่องโมฆะกรรม ดังนั้น เฉพาะผู้เยาว์เท่านั้นที่จะยกการฝ่าฝืนมาตรา 1574 ขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามนิติกรรมดังกล่าว บุคคลอื่นไม่มีสิทธิยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้าง

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6838/2555)