23 ก.ย. 2557

ละเมิด ห้างสรรพสินค้าซึ่งจัดให้มีที่จอดรถแก่ลูกค้า ต้องรับผิดชอบหากรถของลูกค้าสูญหาย

          ป.พ.พ. มาตรา 420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

          ห้างสรรพสินค้าโดยทั่วๆไป ต้องจัดให้มีที่จอดรถให้แก่ลูกค้าเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาใช้บริการของลูกค้า ซึ่งในการจัดให้มีที่จอดรถดังกล่าว ทางห้างจะจัดให้มีการอำนวยความสะดวกโดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาคอยดูแล รวมทั้งมีการแลกบัตรเข้าออกสถานที่จอดรถ และมักจะมีปัญหาเมื่อเกิดรถสูญหาย ทางห้างมักจะอ้างว่า การจัดให้มีที่จอดรถดังกล่าว ทางห้างไม่รับผิดชอบหากรถสูญหาย แต่ปรากฏว่า ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในกรณีนี้ไว้ ว่าห้างต้องรับผิดชอบ จะปัดความรับผิดไม่ได้

          ตัวอย่าง
          ห้างสรรพสินค้า บ. เป็นห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ได้จัดให้มีที่จอดรถแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยมีการแจกบัตรให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาจอดรถ เมื่อจะนำรถออกจากสถานที่จอดรถก็จะมีการตรวจสอบบัตรผ่านจากพนักงานของห้าง หากไม่มีบัตรผ่านก็นำรถออกไปไม่ได้ ต่อมาเปลี่ยนไปใช้วิธีติดกล้องวงจรปิดแทน แล้วปรากฏว่ารถลูกค้าสูญหาย ห้างฯจึงปฏิเสธความรับผิด อ้างว่าได้ปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบหากรถสูญหายแล้ว ลูกค้าจะมาเรียกร้องให้ห้างรับผิดชอบไม่ได้ เรื่องนี้มีการฟ้องร้องต่อสู้คดีกัน สุดท้ายไปจบที่ศาลฎีกา 
          โดยศาลได้วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถ ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นๆหรือไม่ แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8(9), 34 บัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารต้องจัดให้มีที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร แต่จำเลยต้องคำนึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง การที่จำเลยจัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่นำเข้ามาในห้าง ซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่าน กรณีจะนำรถยนต์ออกไปต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุกลับยกเลิกวิธีดังกล่าวเสีย โดยใช้กล้องวงจรปิดแทน เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกลานจอดรถห้างฯของจำเลย และโจรกรรมรถได้ง่ายยิ่งขึ้น แม้จำเลยจะปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใดๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังนำรถเข้ามาจอดก็ตาม ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการทำละเมิดของจำเลย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556)
          สรุปได้ว่า แม้ห้างฯจะอ้างว่าปิดประกาศไว้แล้วว่าไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใดๆก็ตาม แต่ศาลก็ยังต้องให้ห้างฯรับผิดชอบ สาเหตุก็เพราะ ห้างฯต้องคำนึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน  มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง