29 ก.ย. 2557

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก คือ กรณีเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล แล้วกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษ.............
          มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิิดตามมาตรา 352 หรือมาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ต้องระวางโทษ............

          กรณีเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแล้วได้กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก


          ตัวอย่าง

          จำเลยที่ 1 เป็นมารดาและเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของนาย ท.ผู้ตาย  โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. มีบุตรกับนาย ท. 2 คน ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด เดิมมีชื่อนาย ท. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หลังจากนาย ท.ถึงแก่ความตายและศาลมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ท. แล้ว เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ท. แล้วโอนขายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 บุตรของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องสาวของนาย ท. ในวันเดียวกัน ดังนี้ จึงเกิดการฟ้องร้องกัน ซึ่งโจทก์ในฐานะภริยาของเจ้ามรดก ได้ฟ้องให้ลงโทษ จำเลยที่ 1 กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์มรดก 
          ซึ่งศาลได้มีคำวินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 (ฐานยักยอกทรัพย์มรดก)
          สำหรับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 นั้น เป็นน้องสาวของนาย ท. ทราบดีว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. และมีบุตรกับนาย ท. 2 คน หากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมาเป็นของตน จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ย่อมทราบว่าโจทก์และบุตรโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนาย ท. ต้องไม่ได้รับมรดกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทดังกล่าว ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เสียค่าตอบแทนในการโอนทรัพย์มรดกพิพาทตามที่อ้าง ก็ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่  1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนจีนอายุมาก พูดและอ่านภาษาไทยไม่ได้ ทั้งยังป่วยเป็นโรคพาร์คินสันซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเชื่อว่าการโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทน่าจะมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการมากกว่า ......... ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 สมคบกับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนาย ท. พี่ชาย มาเป็นของตนโดยทุจริต แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลเหมือนเช่นจำเลยที่ 1 กรณีไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ช่วยเหลือให้จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้จดทะเบียนโอนมรดกเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก และโอนขายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงคงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 86
          สรุปว่า กรณีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น(ผู้เสียหาย) ก็จะต้องรับผิดทางอาญาฐานยักยอกทรัพย์มรดก ส่วนบุคคลอื่นที่ให้ความร่วมมือก็ผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกเท่านั้น เพราะบุคคลอื่นไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล