เดิม พ. จำเลย เป็นพนักงานขายรถยนต์ของห้างสยาม เมื่อปี 2546 โจทก์และ พ. จำเลยเข้าหุ้นกันประกอบกิจการซื้อขายรถยนต์มือสอง โดยโจทก์ลงทุนด้วยเงินสด
พ. จำเลยลงทุนด้วยแรงงานทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อซื้อขายรถยนต์กับลูกค้าและตกลงแบ่งกำไรให้จำเลยร้อยละ 40 จนถึงกลางปี 2547
ก็เลิกการเป็นหุ้นส่วนกัน แต่ พ.จำเลยยังคงประกอบกิจการต่อและกู้ยืมเงินจากโจทก์ไปลงทุนหลายครั้ง
เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ พ.จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์รวม
5 ครั้ง ซึ่งในการกู้ยืมเงินแต่ละครั้งจำเลยได้ออกเช็คธนาคารมอบให้ไว้แก่โจทก์
รวมแล้วมี 6 ฉบับ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 30 เมษายน 2548 จำนวนเงิน 1,200,000 บาท ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 จำนวนเงิน 1,200,000 บาท และฉบับที่ 3 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2548 จำนวนเงิน 340,000 บาท ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 20 เมษายน 2548 จำนวนเงิน 1,200,000 บาท ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 24 เมษายน 2548 จำนวนเงิน
325,000 บาท และฉบับที่ 6 ลงวันที่
24 เมษายน 2548 จำนวนเงิน 1,015,000 บาท ครั้นเช็คทั้งหกฉบับถึงกำหนด
ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับ โจทก์ก็นำคดีมาฟ้องศาล เรื่องนี้ศาลก็ยกฟ้องอีกเช่นกัน ครับ
เหตุผลก็คือ ตามหนังสือสัญญาเงินกู้และหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน แม้มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงและจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท
แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น
ๆ ประกอบเข้าด้วย โดยเฉพาะพฤติการณ์แห่งการกระทำทั้งหลายในขณะที่มีการออกเช็ค
หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว ซึ่งในข้อนี้เดิมได้ความว่า จำเลยเป็นเพียงพนักงานขายรถยนต์
แต่เหตุที่จำเลยมาร่วมกับโจทก์ประกอบกิจการซื้อขายรถยนต์มือสองได้ก็เพราะมีโจทก์เป็นคนออกเงินทุนให้
และที่จำเลยสามารถลงทุนได้ด้วยแรงงานเพียงอย่างเดียว แสดงว่า โจทก์เองทราบเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้นว่า จำเลยไม่มีหนทางใดที่จะหาเงินมาลงทุนด้วยได้เลย
เพราะไม่เช่นนั้นโจทก์คงไม่ยอมให้จำเลยเอาเปรียบที่ไม่ต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินลงทุนหากกิจการประสบภาวะขาดทุน
ดังนี้
การที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวนมากและหลายครั้งในระยะเวลาต่อเนื่องใกล้เคียงกัน
โดยที่จำเลยยังมิได้ชำระหนี้เดิมให้เสร็จสิ้นหรือแม้บางส่วน
เชื่อว่าโจทก์ทราบดีว่าจำเลยจะยังคงไม่สามารถที่จะหาเงินมาชำระหนี้ซึ่งมี
จำนวนมากให้แก่โจทก์ในระยะเวลาอันใกล้ได้เลย
ถึงแม้เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำไปโดยสมัครใจของจำเลยเอง มิได้เกิดจากการบังคับขู่เข็ญของโจทก์และจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์และออกเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์จริง
ก็เป็นการยอมรับการเป็นหนี้ในทางแพ่งเท่านั้น หาใช่เป็นการยอมรับว่าจำเลยออกเช็คเพื่อการชำระหนี้เงินกู้ยืมด้วยไม่
ดังนี้ เมื่อจำเลยไปกู้ยืมเงินโจทก์
โจทก์ก็จะให้จำเลยออกเช็คมอบให้โจทก์ไว้เป็นประกัน
และที่เช็คฉบับที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีการแก้ไขข้อความวันที่และจำนวนเงิน เป็นการนำเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ไว้เดิมมาแก้ไขด้วยเหตุที่จำเลยกู้ยืมเงินเพิ่มเติม
ซึ่งโจทก์เพียงยึดถือเช็คดังกล่าวไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ยืม
ยังเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกับการออกเช็คฉบับที่ 3 ที่ 5 และที่ 6
ทั้งการที่โจทก์มิได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในทันทีที่เช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดใช้เงิน
แต่นำเช็คหลายฉบับไปเรียกเก็บในคราวเดียวกัน
ยังเป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นเพราะโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าถึงอย่างไรเช็คก็ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ตามกำหนดนั่นเอง จึงเชื่อว่าขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วออกเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์ล่วงหน้า
โจทก์ทราบดีแล้วว่าจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คได้ แต่ที่โจทก์ยอมรับเช็คไว้ก็เพื่อเป็นประกันหนี้และอาจนำมาฟ้องร้องบีบบังคับจำเลยเป็นคดีอาญาได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เป็นการออกเช็คเพื่อประกันหนี้ ไม่ใช่ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ครับ
เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2556