25 ก.ย. 2557

คำมั่นจะให้เช่าไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่ตกติดไปกับผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เช่า

          ป.พ.พ.มาตรา 569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า
          ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

          ดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 569 ว่าแม้โอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์(บ้าน อาคาร หรือที่ดิน)ที่ให้เช่าไป สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นก็ยังไม่ระงับ คือ สัญญาเช่ามีอยู่อย่างไรก็ยังคงบังคับกันไปโดยผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งผู้โอนมีต่อผู้เช่านั้นต่อไป แต่จะมีปัญหาในบางกรณีที่มีข้อตกลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขการต่อสัญญาเช่า ว่าผู้รับโอนจะต้องรับผิดชอบตามข้อตกลงนั้นด้วยหรือไม่


          ตัวอย่าง

          นายแดงทำสัญญาให้นายดำเช่าบ้านมีกำหนด 3 ปี ค่าเช่าเดือนละ 6,000 บาท กำหนดชำระค่าเช่าทุกวันที่ 5 ของเดือน และให้คำมั่นไว้ด้วยว่าจะให้เช่าต่อไปอีก 3 ปี หากผู้เช่ามีความประสงค์จะเช่าต่อไป จากนั้นเมื่อให้เช่าไปแล้ว 2 ปี นายแดงเอาบ้านที่ให้เช่าไปทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากไว้กับนายเขียว มีกำหนดไถ่ถอนภายใน 2 ปี แล้วแจ้งให้นายดำซึ่งเป็นผู้เช่าทราบ ต่อมาเมื่อก่อนจะครบสัญญาเช่า 3 ปี นายดำได้ไปแสดงเจตนาต่อนายเขียวว่าจะเช่าอยู่ต่อไปอีก 3 ปี นายเขียวทราบเรื่องแล้วไม่ว่าอะไร คงเก็บค่าเช่าเรื่อยมา จากนั้นเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า 3 ปีแล้วผ่านไปอีก 5 เดือน นายแดงได้ไปไถ่ถอนบ้านที่ขายฝากคืนจากนายเขียว จากนั้นนายแดงก็ฟ้องขับไล่นายดำออกจากบ้านเช่าของตน เรื่องไปจบที่ศาล
          ศาลพิพากษาให้ขับไล่นายดำออกจากบ้านเช่า โดยให้เหตุผลว่า สัญญาเช่าบ้าน 3 ปี ระหว่างนายแดงและนายดำมีอยู่ก่อนการขายฝาก จึงต้องตกติดไปยังนายเขียวผู้รับซื้อฝากตาม ป.พ.พ.มาตรา 569 แต่คำมั่นที่จะให้เช่าไม่ตกติดไปด้วยเพราะไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่า คงตกติดไปเฉพาะ "สัญญาเช่า" เท่านั้น ดังนั้น การแสดงเจตนาของนายดำต่อนายเขียวซึ่งแม้จะทำตามคำมั่นก็ไม่เกิดสัญญาเช่าขึ้น แต่การอยู่ต่อมาของนายดำผู้เช่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญา 3 ปีแล้ว โดยผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง ทำให้เป็นการเช่าโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 570  การที่นายแดงไถ่ถอนการขายฝากเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าไปได้ 5 เดือนนั้น แม้นายดำจะต้องการแสดงเจตนาเข้ารับคำมั่นในตอนนี้ก็ไม่ได้ เพราะการแสดงเจตนาเข้ารับคำมั่นจะให้เช่าจะต้องกระทำภายในสัญญาเช่า คือ 3 ปี ส่วนระยะเวลา 5 เดือนก่อนมีการไถ่ถอนการขายฝากนั้นถือว่า เป็นการเช่าที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาระหว่างนายเขียวกับนายดำ เมื่อนายแดงไถ่ถอนการขายฝาก ตามมาตรา 502 วรรคหนึ่ง ทรัพย์ที่ไถ่ถอนย่อมปลอดจากสิทธิใดๆที่เกิดขึ้นในระหว่างการขายฝาก การเช่าจึงไม่ติดมาในตอนที่นายแดงไถ่ถอน นายแดงจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่นายดำได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนล่วงหน้า ตามมาตรา 566
          สรุปว่า คำมั่นจะให้เช่่าที่เป็นข้อตกลงในสัญญาเช่า ไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่า ผู้รับโอนทรัพย์สินที่ให้เช่าจึงไม่ผูกพันตามคำมั่นนั้น