14 ก.ย. 2557

ข้อตกลงท้ายสัญญาจำนองว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ถ้าในกรณีที่หนี้ขาดอายุความ จะบังคับทรัพย์สินอื่นได้หรือไม่

          สัญญาจำนองมีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบนั้น กรณีที่หนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้ว ถ้าผู้รับจำนองฟ้องบังคับจำนอง ได้เงินไม่พอชำระหนี้ จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองได้หรือไม่ 
          เรื่องนี้ได้มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้ตัดสินเอาไว้ครับ ดังนี้
          ธนาคารเป็นโจทก์ ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 นางเหลืองทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 490,000 บาท เพื่อไถ่ถอนห้องชุดตกลงยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตรา ดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้นางเหลืองทราบล่วงหน้า ทั้งนี้นางเหลืองจะชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 7,550 บาท ภายในทุกวันที่ทำสัญญากู้เงิน เริ่มชำระตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ทำสัญญากู้เงินเป็นต้นไป โดยชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 10 ปี เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่มีต่อโจทก์นางเหลืองได้นำห้องชุดเลขที่ 181/151 จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 490,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ นางเหลืองยอมรับผิดชำระเงินส่วนที่ขาดจนครบถ้วน นอกจากนี้นางเหลืองยังสัญญาจะทำประกันภัยทรัพย์ที่จำนองโดยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์และนางเหลืองเป็นผู้ออกเงินค่าเบี้ยประกันภัยตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์จนครบถ้วน นับแต่นางเหลืองได้กู้เงินไปจากโจทก์ได้ประพฤติผิดสัญญาต่อโจทก์ค้างชำระหนี้ติดต่อกันหลายงวดโดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2540 จำนวน 23,000 บาท ต่อมานางเหลืองได้ถึงแก่ความตายบรรดาทรัพย์สินตลอดจนสิทธิและหน้าที่ในทรัพย์สินจึงตกแก่ นายแดง จำเลย ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ก่อนฟ้องคดีธนาคารโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้นายแดงในฐานะทายาทโดยธรรมของนางเหลือง ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองแต่นายแดงเพิกเฉย นับถึงฟ้องมีหนี้ที่นายแดง จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์เป็นต้นเงิน 455,591.43 บาท ดอกเบี้ย 772,311.68 บาท ค่าเบี้ยประกันภัย 5,541,17 บาท รวมเป็นเงิน 1,233,444.28 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,233,444.28 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 455,591.43 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยจำนวน 700.89 บาท ทุกวันที่ 1 เมษายน ของทุกสามปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ในกองมรดกของนางเหลืองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
          นายแดงต่อสู้ว่าหนี้ขาดอายุความแล้ว
          เรื่องนี้มีการต่อสู้ขึ้นมาถึงชั้นฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนางเหลืองให้รับผิดในมูลหนี้เงินกู้ และบังคับจำนอง โจทก์ฟ้องคดีหลังจากที่นางเหลืองถึงแก่ความตายเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ในมูลหนี้เงินกู้จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสี่ แต่โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองได้ คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของนางเหลือง หรือไม่ เห็นว่า เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214 เมื่อปรากฏว่านางเหลืองลูกหนี้ถึงแก่ความตาย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนางเหลืองชำระหนี้จาก ทรัพย์สินในกองมรดกของนางเหลืองได้ แม้หนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม และมาตรา 193/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นในกองมรดกของนางเหลืองได้ด้วยไม่ แม้สัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 จะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของ ลูกหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองไม่พอชำระหนี้ก็ตาม เพราะเมื่อหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว ทรัพย์สินอื่นในกองมรดกของนางเหลืองย่อมไม่ตกอยู่ในความรับผิดทางแพ่งอีก ต่อไป"
          สรุป คือ เมื่อหนี้ที่จำนองขาดอายุความแล้ว แม้มีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองไม่พอชำระหนี้ ก็ตาม ลูกหนี้ก็ไม่ต้องรับผิดตามข้อตกลงนั้น เจ้าหนี้คงบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะจากทรัพย์สินซึ่งเป็นหลักประกันที่จำนองไว้เท่านั้น (เทียบเคียง คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3705/2551)