24 กันยายน 2557

กรณีกรรมการบริษัทได้กระทำการใดให้บริษัทเสียหาย บริษัทสามารถฟ้องกรรมการผู้นั้นได้ แต่ถ้าบริษัทไม่ฟ้อง ผู้ถือหุ้นคนใดจะฟ้องคดีเองก็ได้

          กรณีที่กรรมการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท
          ป.พ.พ.มาตรา 1169  "ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีบริษัทไม่ยอมฟ้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้
          อนึ่ง การเรียกร้องเช่นนี้ เจ้าหนี้บริษัทจะเป็นผู้เรียกบังคับก็ได้เท่าที่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัทอยู่"

          กรณีกรรมการบริษัทไปทำนิติกรรมสัญญาใดๆที่ทำให้บริษัทต้องเสียเปรียบหรือได้รับความเสียหาย ผู้ถือหุ้นของบริษัทหามีอำนาจไปฟ้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นแต่อย่างใดไม่ คงมีสิทธิเพียงให้บริษัทฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการคนนั้น หรือหากบริษัทไม่ยอมฟ้อง ผู้ถือหุ้นดังกล่าวก็ฟ้องเองได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1169

          ตัวอย่าง เช่น
          นาย ป.เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1  ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยนาย ช. และนาย ว. กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินจำนวน 3 แปลงให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 54,000,000 บาทโดยมิได้รับความยินยอมจากนาย ป. และผู้ถือหุ้นคนอื่น โดยในการขายที่ดินดังกล่าวมิได้จ่ายเงินกันจริง วันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 2 นำที่ดินดังกล่าวไปจำนองไว้แก่บริษัทจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 29,000,000 บาท โดยกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องดังกล่าวดี นาย ป. เมืื่อทราบเรื่องดังกล่าวจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายและสัญญาจำนองดังกล่าวเสีย
          ซึ่งศาลได้มีคำวินิจฉัยว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายและสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นการจัดการงานของบริษัทจำเลยที่ 1  นาย ป.ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจกระทำการใดๆแทนบริษัทจำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเพียงควบคุมการดำเนินงานของบริษัทจำเลยที่ 1 บางประการตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น หาอาจก้าวล่วงไปจัดการงานของบริษัทจำเลยที่ 1 เสียเองไม่ และแม้ตัว นาย ป.(โจทก์)เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วยอีกคนหนึ่ง แต่ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเอกสารท้ายคำฟ้อง ลำพังนาย ป.(โจทก์) คนเดียวไม่มีอำนาจกระทำการใดๆแทนบริษัทจำเลยที่ 1 เช่นกัน นาย ป.(โจทก์) จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินและสัญญาจำนอง  
          แต่ นาย ป (โจทก์) และผู้ถือหุ้นคนอื่นสามารถใช้มติที่ประชุมใหญ่ถอดถอนกรรมการชุดเดิมและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ แล้วให้กรรมการชุดใหม่ดำเนินการฟ้องแทนบริษัทจำเลยที่ 1 หรือหากนาย ป. (โจทก์) และผู้ถือหุ้นรายอื่นเสียหายก็สามารถเรียกร้องให้บริษัทจำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ โดยหากบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ฟ้อง นาย ป.(โจทก์) ในฐานะผู้ถือหุ้นจะดำเนินการฟ้องเองตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ก็ได้ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2541)
          
          ดังนั้น ผู้ถือหุ้นหรือกรรมการที่ไม่มีอำนาจ ไม่สามารถเข้าไปจัดการงานของบริษัทโดยตนเองได้ ต้องให้กรรมการของบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเป็นคนจัดการ หากผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการกระทำของกรรมการผู้มีอำนาจทำให้บริษัทเสียหาย ผู้ถือหุ้นต้องเรียกร้องให้บริษัทเป็นคนฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการเท่านั้น ถ้าบริษัทไม่ยอมฟ้อง ผู้ถือหุ้นก็ไปฟ้องเอง ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4605/2561 ความเกี่ยวพันระหว่างผู้ลงทุนในบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 มาตรา 1015 ซึ่งกำหนดว่า บริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติลักษณะดังกล่าวแล้ว จัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นบริษัทนั้น โดยบทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นบทบังคับโดยเด็ดขาด มิได้มีลักษณะเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นตามกฎหมาย ที่จะสามารถนำสืบเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จากบทบัญญัติดังกล่าวบริษัทจึงมีสิทธิหน้าที่แยกต่างหากจากบรรดาผู้ถือหุ้น สามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของตนเอง ทรัพย์สินของบริษัทจึงแยกต่างหากจากทรัพย์สินของบรรดาผู้ถือหุ้น หากบริษัทก่อหนี้สินก็ต้องถูกบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของบริษัท
          โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคนของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือหุ้นแทนโจทก์ หากเป็นจริงดังที่กล่าวอ้าง โจทก์ก็มีสถานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้ที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัท ไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลของบริษัท จะมีสิทธิแต่เพียงควบคุมการดำเนินงานของกรรมการบริษัทบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น หาอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเองได้ไม่ หรือหากกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ซึ่งบริษัทมีสิทธิจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการแล้วบริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้สิทธิของบริษัทเพื่อประโยชน์ของบริษัท แต่ผู้ถือหุ้นหาอาจจะเข้ามาดำเนินการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญาที่กรรมการบริษัทกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้นิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายทรัพย์สินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ และให้โอนทรัพย์สินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม หากไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแทน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ฟังขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2558 ป.พ.พ. มาตรา 1169 บัญญัติว่า "ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ ..." ตามบทบัญญัติดังกล่าว บริษัทย่อมเป็นผู้ฟ้องเรียกให้กรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหายชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ส่วนผู้ถือหุ้นจะเป็นผู้ฟ้องได้ต้องฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทเฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ส. ฟ้องขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างบริษัท ส. กับจำเลย หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหายไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นอกจากนี้จำเลยเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นกรรมการบริษัทจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว

          การฟ้องหรือดำเนินคดีของผู้ถือหุ้นเป็นการฟ้องคดีแทนบริษัท ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนและผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งจึงยังมีอำนาจฟ้อง หรือดำเนินคดี หรือบังคับคดีต่อไปได้ตราบเท่าที่ผู้ถือหุ้นคนนั้นยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอยู่ หากมิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแล้ว ย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องคดีหรือบังคับคดีได้แต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2565
การฟ้องคดีของผู้ถือหุ้นมิใช่เป็นการตั้งฐานแห่งสิทธิในการฟ้องในฐานะส่วนตัว แต่เป็นการฟ้องคดีแทนบริษัท ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนและผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ การฟ้องคดีแทนบริษัทของผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีแทนผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ด้วย ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งจึงยังมีอำนาจฟ้อง หรือดำเนินคดี หรือบังคับคดีต่อไปได้ตราบเท่าที่ผู้ถือหุ้นคนนั้นยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอยู่ เพราะหากมิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแล้ว ย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องคดีหรือบังคับคดีได้แต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกยื่นฟ้องคดีแทนบริษัท ส. ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง แต่ต่อมาโจทก์ทั้งหกได้ขายหุ้นส่วนของตนในบริษัทออกไปหมดแล้ว โจทก์ทั้งหกย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือใช้สิทธิใด ๆ ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทได้อีก และถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามคำพิพากษาอีกต่อไป โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจบังคับคดี