12 มีนาคม 2567

ความผิดฐานแจ้งความเท็จ

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 137  "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
          มาตรา 172  "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
          มาตรา 173  "ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท"
          มาตรา 174  "ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา ๑๗๒ หรือมาตรา ๑๗๓ เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท
          ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น

          จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิและแจ้งย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทต่อนายทะเบียน โดยอ้างว่าบอกกล่าวนัดประชุมและที่ประชุมมีมติถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9556/2558  การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ ป.พ.พ. มาตรา 1145 และมาตรา 1146 กำหนดว่าจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการลงมติพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการประชุมใหญ่โดยมีคำบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษ และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องจัดให้ไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ และเหตุที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องนำเรื่องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก กรณีที่จำต้องใช้เอกสารยืนยันภูมิลำเนาคือ สำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคลเป็นพยานหลักฐานที่มีการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งกิจการของบริษัท บ. ก็มิได้เป็นเพียงนิติบุคคลที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวข้องแต่เฉพาะบุคคลในเครือญาติของจำเลย หากแต่ต้องติดต่อกับนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นด้วย จำเลยจะอ้างความเคยชิน และความไว้วางใจระหว่างเครือญาติของจำเลยมาเป็นข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้
          การที่จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และแจ้งย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท บ. ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยอ้างว่าจำเลยได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2552 โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งมอบให้ผู้ถือหุ้น และที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจากเดิมที่ตั้งอยู่กรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดราชบุรีโดยไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267



          แม้ทำเอกสารในหน้าที่ไม่ตรงกับความจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชา ก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะเพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15248 - 15249/2557   จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในงานเบิก - จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืมและตัดยอดเงินยืม ดังนั้น แม้จำเลยจะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับงานการเงินในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยไม่ตรงกับความเป็นจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 ฐานปลอมเอกสาร มาตรา 268 ฐานใช้เอกสารปลอม และมาตรา 137 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด

          โฉนดอยู่ในความครอบครองของผู้อื่น แต่ไปแจ้งว่าโฉนดหายเพื่อนำบันทึกคำแจ้งความไปขอออกโฉนดใหม่ ผิดฐานแจ้งความเท็จ
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19287/2555  จำเลยเป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์มิได้สูญหาย แต่กลับไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินพิพาทสูญหาย แล้วนำบันทึกคำแจ้งความไปขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้วโอนขายที่ดินพิพาทให้บุคคลภายนอก เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษในการกระทำความผิดดังกล่าว มีอำนาจฟ้องคดีได้

          ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในคดีส่วนแพ่งอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งในศาล จึงมิใช่เป็นเรื่องการแจ้งความแก่เจ้าพนักงาน คำร้องดังกล่าวถึงแม้เป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เข้าลักษณะความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15508/2555  การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล ถือว่าศาลทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมในการพิจารณาคดี มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานอย่างเจ้าพนักงานทั่วไป การที่จำเลยทั้งสองกับพวกยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในคดีส่วนแพ่งอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งในศาล จึงมิใช่เป็นเรื่องการแจ้งความแก่เจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เข้าลักษณะความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137

          สิทธิของผู้ต้องหาจะให้การหรือไม่ให้การเลยก็ได้ ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ แต่ถ้าได้แจ้งความเท็จไว้แก่เจ้าพนักงานก่อนจะตกเป็นผู้ต้องหาในภายหลัง จึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5346/2540  จำเลยแจ้งข้อความต่อพนักงานสอบสวนขณะปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวน อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ว่า"ภายหลังเกิดเหตุรถชนกันแล้ว ผู้ขับขี่รถสามล้อเครื่องได้หลบหนีไป" ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วคนขับรถสามล้อเครื่องยังคงอยู่ในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยน่าจะทำให้พนักงานสอบสวน หรือประชาชนเสียหาย แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ผู้ต้องหาจะให้การหรือไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นสิทธิของผู้ต้องหาก็ตามแต่ได้ความจากคำร้องขอผัดฟ้องและฝากขังว่า พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอผัดฟ้องและฝากขังจำเลยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 โดยระบุในคำร้องดังกล่าวว่าจำเลยถูกจับเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539 และถูกกล่าวหาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายไม่หยุดให้การช่วยเหลือ ไม่แสดงตนและแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ใกล้เคียง และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78, 157, 160 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวตามฟ้องแก่เจ้าพนักงานในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 จึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเช่นนั้นแก่เจ้าพนักงานก่อนจำเลยถูกสอบสวนว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 หรือไม่ มิใช่เป็นการให้การของจำเลยในฐานะผู้ต้องหาในความผิดดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนอันจะทำให้จำเลยไม่มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137

          สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาจะให้การหรือไม่ให้การเลยก็ได้ ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ แต่การที่จำเลยแจ้งความเท็จและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของ ธ. เพื่อให้ร้อยตำรวจโท ด. หลงเชื่อว่าจำเลยเป็น ธ. ในเรื่องการผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้การและใช้สิทธิในขั้นตอนการทำคำให้การที่จำเลยเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 367
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7123/2557  ป.วิ.อ. ได้บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในชั้นแจ้งข้อหาตามมาตรา 134 ซึ่งความในวรรคหนึ่งกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ที่เกิดของผู้ต้องหาเป็นประการแรก ต่อจากนั้นจึงแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ รวมทั้งให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตน ดังนั้น เมื่อเริ่มทำการสอบสวนพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนเองตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีสภาพบังคับทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 367 ภายใต้หลักเกณฑ์ที่พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อกล่าวหาและแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคสี่เพื่อให้การสอบสวนดำเนินต่อไปได้ถูกต้องและชอบธรรม ส่วนการถามคำให้การผู้ต้องหาอันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 บัญญัติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งสิทธิในการให้ทนายความและบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำ ซึ่งเป็นขั้นตอนเมื่อผ่านการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ไม่อาจแปลความไปถึงขนาดให้สิทธิผู้ต้องหาที่จะจะปฏิเสธอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเมื่อเริ่มทำการสอบสวนดังกล่าวข้างต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแจ้งให้ร้อยตำรวจโท ด. เจ้าพนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกคำให้การของจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นว่าจำเลยเป็น ธ. ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว หลังจากนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกตัวจำเลยไปสอบถามเนื่องจากจำเลยผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของ ธ. เพื่อให้ร้อยตำรวจโท ด. หลงเชื่อว่าจำเลยเป็น ธ. จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้การและใช้สิทธิในขั้นตอนการทำคำให้การที่จำเลยเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 (1) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 367

          แจ้งข้อความต่อผู้อำนวยการเลือกตั้งโดยปกปิดเรื่องที่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน แต่ผลจาก พ.ร.บ.ล้างมลทินฯออกใช้บังคับ มีผลให้ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษหรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาก่อน จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2187/2554   วันที่จำเลยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวันภายหลังจากที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับ ดังนี้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องอันฟังได้ว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้อำนวยการเลือกตั้ง โดยปกปิดเรื่องที่จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา แต่โดยผลของ พ.ร.บ.ดังกล่าวถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษหรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาก่อน จำเลยจึงมิใช่บุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 45 (5) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 การกระทำของจำเลยย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งหรือประชาชน กรณีไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยย่อมยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

          จำเลยรู้ดีว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น แต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำผิดข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137, 174 วรรคสอง ประกอบมาตรา 173 และยังผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8611/2553  การที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยเห็นโจทก์ร่วมหยิบเอาเศษสร้อยคอทองคำของจำเลยไปและไปและได้แจ้งความแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีโจทก์ร่วมในข้อหาลักทรัพย์ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ โดยจำเลยรู้ดีว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น แต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวว่าได้มีการกระทำผิดข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137, 174 วรรคสอง ประกอบมาตรา 173 นอกจากนี้ จำเลยยังมีเจตนายังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นเกลียดชังและเสียชื่อเสียง จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย

          แจ้งความร้องทุกข์ไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำจะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่แจ้งหรือไม่ม่สำคัญ การแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5236/2549  ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์ทั้งสองจะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยแจ้ง และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์ทั้งสองก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ

          จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรส(อันเป็นความเท็จ)ไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8739/2552  จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์ อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137
          เมื่ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย อำนาจการจัดการจำนองอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือโจทก์มีสินสมรสเพิ่มขึ้นหรือไม่ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
          การคุมความประพฤติจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 เป็นเพียงวิธีการที่ศาลกำหนดเงื่อนไขประกอบ การใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีหลักเกณฑ์ว่า ความผิดที่จะกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติต้องเป็นความผิดร้ายแรง หรือจำเลยต้องมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือเป็นอันตรายต่อสังคม หรือติดยาเสพติดให้โทษดังที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อปรากฏว่าศาลล่างทั้งสองรอการลงโทษจำคุกจำเลย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 จึงชอบแล้ว

          แต่ถ้าเคยจดทะเบียนสมรสและหย่าแล้ว แม้จำเลยจะแจ้งต่อนายทะเบียนว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกันว่าจำเลยไม่มีคู่สมรสในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. นั่นเอง ไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1237/2544   ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. ในวันที่ 10 สิงหาคม 2531 จำเลยไม่มีคู่สมรสเพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากับ ค. แล้วตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2515 จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 การที่จำเลยไม่มีคู่สมรสอยู่ในขณะที่จดทะเบียนสมรส แม้จำเลยจะแจ้งว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกันว่าจำเลยไม่มีคู่สมรสในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. นั่นเองการที่นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับ ส. โดยเชื่อว่าจำเลยไม่เคยสมรสมาก่อนจึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายและไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267

          จำเลยร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ทั้งนี้เพื่อประสงค์ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ จึงเป็นขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับความประพฤติโจทก์ต่อบุคคลทั้งสองในฐานะผู้บังคับบัญชาโจทก์ มิใช่ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาแต่อย่างใด ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  133/2548  แม้พลตำรวจโท ป. และพลตำรวจโท ว. เป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 แต่ตามหนังสือที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพลตำรวจโท ป. และพลตำรวจโท ว. ซึ่งบุคคลทั้งสองต่างเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ ทั้งนี้เพื่อประสงค์ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ และย้ายโจทก์ออกจากพื้นที่รับผิดชอบทางราชการ จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงพลตำรวจโท ป. และพลตำรวจโท ว. ขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับความประพฤติโจทก์ต่อบุคคลทั้งสองในฐานะผู้บังคับบัญชาโจทก์ มิใช่ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาแต่อย่างใด และพลตำรวจโท ป. มิได้มีคำสั่งให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนความผิดในทางอาญาแก่โจทก์ คงมีคำสั่งให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชุมพรตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาให้ความคุ้มครองจำเลยที่ 1 แล้วรายงานให้พลตำรวจโท ป. ทราบด้วยเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172



ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้


          ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ 

          โกงเจ้าหนี้จำนำ ตามมาตรา 349
          โกงเจ้าหนี้ทั่วไป ตามมาตรา 350

          โกงเจ้าหนี้จำนำ

          มาตรา 349  "ผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          ความผิดตามมาตรา 349 ผู้กระทำผิดจะต้อง

          1. เอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ 
          2. ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น  
          3. โดยมีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ 

          การจำนำก็เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 747 "อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้"
          
          การจำนำนั้น ผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนำให้ไว้แก่ผู้รับจำนำ ที่ส่งมอบให้ไว้ก็เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ ถ้าเพียงแต่ทำสัญญาจำนำกันไว้ โดยผู้รับจำนำยอมคืนทรัพย์ที่จำนำให้ผู้จำนำไป สัญญานั้นก็ไม่ใช่การจำนำตามความหมายของกฎหมาย

          กรณีที่ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้จำนำ
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2550 โจทก์ร่วมกับจำเลยทำสัญญาจำนำข้าวระหว่างกันโดยโจทก์ร่วมยอมให้ข้าวอยู่ในความครอบครองของจำเลย ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมอบข้าวไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะจำนำ เมื่อไม่มีการจำนำจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดข้อหาโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 349
          โจทก์ร่วมเช่าโกดังเก็บข้าวซึ่งเป็นโกดังที่จำเลยใช้ประกอบกิจการโรงสีของจำเลย เมื่อทำสัญญาเช่าแล้วจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจโกดังเพียงฝ่ายเดียว จำเลยเป็นผู้ครอบครองโกดังอยู่เช่นเดิม สัญญาเช่าที่ทำไว้มีค่าเช่าเพียงปีละ 100 บาท นับว่าน้อยมาก จึงเป็นการทำสัญญาเช่าเป็นแบบพิธีเท่านั้น คู่สัญญาไม่ได้มีเจตนาให้เป็นการเช่าตามกฎหมายอย่างแท้จริง กรณีถือว่าจำเลยยังเป็นผู้ครอบครองโกดังที่เช่าอยู่ตลอดเวลา จำเลยจึงไม่อาจรบกวนการครอบครองของตนเองได้ ไม่มีความผิดฐานบุกรุก 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5590/2536  จำเลยนำข้าวสารและข้าวเปลือกที่จำเลยจำนำแก่โจทก์ไปจำหน่าย ซึ่งตามทางปฎิบัติ ข้าวสารและข้าวเปลือกที่ลูกค้าจำนำแก่โจทก์จะอยู่ในความดูแลของลูกค้า ลูกค้าสามารถนำออกไปจำหน่ายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตโจทก์ แต่ต้องนำข้าวสารและข้าวเปลือกจำนวนใหม่เข้าไปไว้แทน แสดงว่าโจทก์ยอมให้ข้าวสารและข้าวเปลือกอยู่ในความครอบครองของจำเลย ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมอบข้าวสารและข้าวเปลือกไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจำนำ เมื่อไม่มีการจำนำจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ทวงถามและจำเลยรู้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยขนย้ายทรัพย์ไปเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือไม่ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

          ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้ เพราะว่า ไม่มีการส่งมอบทรัพย์สิน คือ ข้าว ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำนำให้แก่ผู้รับจำนำ ดังนั้น แม้จะเรียกว่าสัญญาจำนำข้าว แต่ก็มิใช่การทำสัญญาจำนำตามความหมายของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747  เมื่อมิใช่สัญญาจำนำตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของความผิด คือ ข้าวมิใช่ทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น 


          โกงเจ้าหนี้ทั่วไป 

          มาตรา 350  "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"


          ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา 350 มีอยู่ 2 กรณี คือ 
          1. ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด หรือ
          2. แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง
          โดยมีเจตนาพิเศษ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

          กรณีทำการยักย้ายหรือซ่อนเร้น ทรัพย์สิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16070 - 16072/2555 ตาม ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แล้วย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขณะที่คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา แม้คดีแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้ง และผลคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงโดยศาลฎีกาอาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นที่สุดหรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว ไม่จำต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าว 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2555 แม้ขณะจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินจำนวน 32 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2548 คดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งสองคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็ตาม แต่ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้สำคัญที่ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อว่า เมื่อโจทก์ชนะคดีแพ่งแล้ว โจทก์อาจไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ ทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 มิได้บัญญัติให้เจ้าหนี้หมายถึงเฉพาะบุคคลผู้ที่ชนะคดีและคดีได้ถึงที่สุดแล้วเท่านั้น หากหมายความถึงเจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ คำพิพากษาของศาลที่ให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งจึงมิใช่องค์ประกอบความรับผิดในทางอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ทั้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 615/2551 ก็มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น จึงไม่อาจนำมารับฟังในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินหลังจากที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถือว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14025/2557  การที่จำเลยที่ 2 รับโอนใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรและใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปจากจำเลยที่ 1 มาเป็นของตน ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนามิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ยึดใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปและใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักร ซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 มาบังคับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกโกงเจ้าหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557  โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
          ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 175/2563  จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยที่ 1 จากเดิมเลขที่ 286 ไปอยู่ที่ใหม่ แล้วจำเลยที่ 4 จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 3 ขึ้นมาโดยใช้สำนักงานแห่งใหญ่เดิมของจำเลยที่ 1 เป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 3 มีวัตถุที่ประสงค์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 คือประกอบกิจการรับจ้างผลิตเหล็ก รีด หล่อและหลอมเหล็ก และจำเลยที่ 4 ก็เบิกความรับว่า จำเลยที่ 3 ได้ใช้เครื่องจักรที่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 286 ด้วย เมื่อขณะนำยึดป้ายทะเบียนเครื่องจักรมีร่องรอยถูกขูดลบออก โดยจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ครอบครองดูแลสถานที่เก็บรักษาเครื่องจักรตามที่ได้จดทะเบียนไว้ และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้เครื่องจักรในการประกอบกิจการ รวมทั้งนำป้ายชื่อจำเลยที่ 3 มาติดอยู่หน้าเลขที่ 286 การกระทำของจำเลยทั้งสี่นอกจากจะเป็นทางทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจผิดแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการร่วมกันซ่อนเร้นเครื่องจักรของจำเลยที่ 1 ไว้เพื่อมิให้โจทก์ติดตามยึดเครื่องจักรนั้นมาชำระหนี้ได้ แม้โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนขายกิจการและเครื่องจักรไปให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จริงหรือไม่ ตั้งแต่เมื่อไร แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ก็รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยแล้วว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาเพื่อไม่ให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเป็นความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

          กรณีเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น ก็ถือว่าสามีของภรรยาที่ตนเองไปเป็นชู้ด้วยเป็นเจ้าหนี้ เพราะสามีมีสิทธิเรียกค่าทดแทน ถ้ายักย้ายทรัพย์สินเพื่อมิให้สามีของหญิงได้รับชำระหนี้ก็มีความผิด
          ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้...” แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 จำเลยเป็นชู้กับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ วันที่ 25 กรกฎาคม 2541 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยไม่ชดใช้กลับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4179 ตำบลปากพลี อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เฉพาะส่วนของจำเลย และโฉนดเลขที่ 834 ตำบลปากพลี (เบ็ญพาศ) อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่บุตรจำเลย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2541 หลังจากนั้นวันที่ 11 สิงหาคม 2541 โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเรียกค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 แล้ว
        

          กรณีแกล้งเป็นหนี้ อันไม่เป็นความจริง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 701/2553 จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2541 จำนวนเงิน 500,000 บาท และฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2542 จำนวนเงิน 200,000 บาท โดยมิได้เป็นหนี้กันจริง แล้วดำเนินคดีและบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้นต่อที่ดินโฉนดเลขที่ 47781 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1142/2544 ของศาลชั้นต้น บังคับคดีต่อทรัพย์สินดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจงใจทำผิดกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 สัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ฉบับและสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยไม่ต้องเพิกถอน




          กรณีไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้

          กรณียังไม่แน่ว่าเป็นเจ้าหนี้จริงหรือไม่ เนื่องจากมีประเด็นโต้แย้งเรื่องการเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทกันอยู่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10314/2550 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีแพ่งอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ แต่ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินทับเอาที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้เพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมบริวารรื้อถอนขนย้ายทรัพย์ออกไป และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จนกว่าจะส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในสภาพเดิม  จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินในที่ดินของตน มิได้ออกทับที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง  ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ไป ในคดีแพ่งโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังโต้เถียงกันถึงความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในอันที่จะขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามความหมายของมาตรา 350 แห่ง ป.อ. ที่จะฟ้องจำเลยทั้งสาม  

          กรณีที่ลูกหนี้ไม่รู้ว่าผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล        
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5175/2547 เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ในคดีที่โจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้และในที่สุด ศาลฎีกามีคำพิพากษาวินิจฉัยว่ามีเหตุให้พิจารณาใหม่ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้ที่ศาลแพ่ง แต่เพิ่งมาทราบเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2540 ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นอันยุติและผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นคู่ความด้วยเหตุนี้เอง การที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยทั้งสามร่วมกันโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในกรรมสิทธิ์ส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่าในวันตามฟ้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้ ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุตามฟ้อง จึงไม่อาจฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันโอนทรัพย์โดยรู้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ทั้งนี้เพื่อมิให้โจทก์ได้ รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 

          กรณีที่โจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้หรือหมดสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2563  หนี้ของโจทก์เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์จึงต้องยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ยื่นขอรับชำระหนี้ โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ต่อไป ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 350 ที่บัญญัติว่า เจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้นั้น หมายถึงเจ้าหนี้ที่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมหมดสิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลยได้อีกต่อไป เพราะผลของการประนอมหนี้หลังล้มละลายย่อมผูกพันโจทก์ และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายไปแล้ว จำเลยย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย ทั้งคำว่า “เจ้าหนี้ของตน” ย่อมหมายถึงเฉพาะโจทก์ที่เป็นผู้เสียหายในคดีนี้เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่มิได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยขายที่ดินตามฟ้องจึงมิใช่การกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในคดีแพ่งได้รับชำระหนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3120/2559  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องไปทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 8,500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 สิทธิเรียกร้องที่จะให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายยังมิอาจบังคับกันได้ โจทก์ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามความหมายในบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่โอนที่ดิน 3 แปลงใน 15 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

          กรณีที่ฟ้องโดยอาศัยสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์ที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนจากทายาทของลูกหนี้ ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ มิใช่คดีที่ฟ้องโดยอาศัยสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อจะบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของลูกหนี้ ฟ้องจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2562  โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของ ส. ตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนของ ส. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ที่ตกทอดแก่ทายาท แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ม. ที่ศาลจังหวัดชลบุรี เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้รับมรดกที่ดินตามพินัยกรรมซึ่ง ส. ทำไว้ก่อนตาย จึงฟ้องติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์ที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนจากทายาทของ ส. ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ หาใช่คดีที่โจทก์ฟ้องทายาทของ ส. ให้รับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินที่ ส. ทำไว้ต่อโจทก์ไม่ การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีที่ศาลจังหวัดชลบุรี จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อจะบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ในส่วนของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพราะโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ประสงค์จะบังคับเอาทรัพย์สินของ ส. ลูกหนี้ซึ่งตกทอดแก่ทายาท เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)







          
          
          
          

         

11 มีนาคม 2567

คดีอุทลุม (ห้ามฟ้องบุพการี)

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 1562  "ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้"

          หลักการเรื่องห้ามฟ้องบุพการีนี้ เป็นการนำเอาหลักเรื่องคุณธรรมของมนุษย์มาใช้ในกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดี โดยมีที่มาจากกฎหมายตราสามดวง ในพระอัยการลักษณะรับฟ้อง มาตรา 21 และ 25 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ฟ้องพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ของตนเอง

           โดยที่บทบัญญัติมาตรา 1562 มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ดังนั้น กรณีผู้สืบสันดานชั้นบุตร จึงหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ที่ต้องห้ามฟ้องบุพการีของตน 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2548  จำเลยที่ 1 กับ ท. อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2480 อันเป็นเวลาภายหลังใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงเป็นเพียงบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1562 ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา เป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงต้องถือว่าข้อห้ามดังกล่าวเป็นการห้ามเฉพาะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 1562
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2554  การห้ามฟ้องบุพการีเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิจำต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า กรณีของผู้สืบสันดานชั้นบุตรหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่ต้องห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562

          กรณีทายาทฟ้องบุพการีในฐานะอื่น ก็ไม่ต้องห้าม เช่น

          ฟ้องบุพการีในฐานะเป็นกรรมการของบริษัท ฟ้องได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2550  ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้..." อันเป็นบทบัญญัติตัดสิทธิห้ามมิให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดฟ้องบุพการีของตน จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 โดยระบุว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท และจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการของบริษัท จำเลยทั้งสามอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในฐานะเป็นกรรมการของบริษัท ร่วมกันจงใจทำหลักฐานอันเป็นเท็จว่า บริษัทเป็นหนี้เงินกู้ยืมจากกรรมการ เพื่อนำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่บริษัท โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวร่วมกันกรรมการอีก 2 คน คือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ชดใช้เงินให้แก่บริษัท มิได้ให้ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัว ทั้งจำนวนเงินตามฟ้องหากรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวหาก็เป็นเงินของบริษัทมิใช่เงินของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องจำเลยที่ 1

          ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกฟ้องให้บุพการีในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกรับผิด ฟ้องได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2536  ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาโจทก์และเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับโจทก์ว่ายื่นคำร้องขอออก น.ส.3ทับที่ดินโจทก์อันเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์นั้นเป็นการฟ้องในฐานะส่วนตัว หาใช่ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกไม่จึงเป็นคดีอุทลุม ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1562

          กรณีบุตรบุญธรรมฟ้องผู้รับบุตรบุญธรรม สามารถฟ้องได้ เพราะผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ใช่บุพการีของบุตรบุญธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2538  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/28 ที่บัญญัติว่าบุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม...และในวรรคที่ 2 ที่บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 2 แห่งบรรพนี้ (ตั้งแต่มาตรา 1561 ถึงมาตรา 1584/1) มาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้น หมายความเพียงว่า ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรมาใช้บังคับแก่บุตรบุญธรรมโดยอนุโลมเท่านั้น ไม่ได้บังคับว่าจะต้องนำทุกมาตรามาใช้บังคับทั้งหมดส่วนบทบัญญัติในมาตรา 1562 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ นั้น เป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด
          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 เดิม (มาตรา28 ที่แก้ไขใหม่) ให้ความหมายของคำว่า ผู้บุพการีไว้ว่าหมายถึงบิดามารดา ปู่ย่าตายาย ทวด และผู้สืบสายโลหิตกันโดยตรงขึ้นไปตามความเป็นจริง จำเลยเป็นเพียงผู้รับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมไม่ใช่บิดาโจทก์ จึงไม่ใช่ผู้บุพการีของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562



เบี้ยปรับ

          มาตรา 379 "ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้น ได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่ง หากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใด ก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น "
          มาตรา 380 "ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ ชำระหนี้เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป
          ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่ง ค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นท่านก็อนุญาตให้ พิสูจน์ได้"
          มาตรา 381 "ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ ให้ถูกต้องสมควร เช่นว่าไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นต้น นอกจากเรียกให้ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นอีกด้วยก็ได้
          ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่ง มาตรา 380 วรรค 2
          ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้"

          เบี้ยปรับ มี 2 ประเภท
          1. เบี้ยปรับกรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ (มาตรา 380)
          2. เบี้ยปรับกรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควร (มาตรา 381)

          ข้อสังเกต

          1. ถ้าเป็นเบี้ยปรับกรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิ
               (1) เรียกเอาเบี้ยปรับ แต่ไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้
               (2) บังคับชำระหนี้ หมดสิทธิเรียกเบี้ยปรับ
          ทั้ง 2 ประการ ถ้าดำเนินการแล้วยังมีความเสียหายอยู่ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ตามมาตรา 380 วรรคสอง แต่เป็นการเรียกค่าเสียหายตามมาตรา 213 วรรคสี่ และ 215
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6030/2554  แม้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ โดยยึดเอาเบี้ยปรับในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหาย และพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคสองก็ตาม แต่เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ 2,000,000 บาท นั้นเป็นจำนวนพอสมควรและไม่สูงเกินส่วนแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายยิ่งกว่าจำนวนเบี้ยปรับนั้น


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14175/2558  หลังจากโจทก์ทราบว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบต้นพันธุ์ยางพาราให้แก่โจทก์ครบถ้วน โจทก์ได้สั่งซื้อต้นพันธุ์ยางพาราจากบุคคลอื่นมาปลูกทดแทนลงในแปลงเพาะปลูกที่โจทก์ไถดินจัดเตรียมไว้ จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากการไถดินเตรียมแปลงเพาะปลูกแล้ว ย่อมไม่มีความเสียหายเป็นค่าไถ่ดินเตรียมแปลงเพาะปลูกที่โจทก์จะมาเรียกร้องให้จำเลยรับผิด
          จำเลยทำบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาเดิมยอมรับว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายและยินยอมชดเชยค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วยการส่งมอบต้นพันธุ์ยางพาราเพิ่มอีกจำนวน 20,000 ต้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อให้จำเลยรับผิดสัญญาเดิม มิใช่ให้รับผิดตามบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาเดิม โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยรับผิดในต้นพันธุ์ยางพาราจำนวน 20,000 ต้น เพราะต้นพันธุ์ยางพาราดังกล่าวเป็นเพียงค่าเสียหายที่จำเลยตกลงว่าจะชดเชยให้แก่โจทก์ ไม่ใช่ต้นพันธุ์ยางพาราที่จำเลยจะต้องส่งมอบตามสัญญาเดิม
           เบี้ยปรับนั้น เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา เจ้าหนี้ย่อมเรียกเบี้ยปรับแทนการชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคหนึ่ง แต่ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายได้เท่านั้น ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคสอง เมื่อศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการที่โจทก์ต้องซื้อต้นพันธุ์ยางพาราจากผู้อื่นในราคาที่สูงขึ้น เป็นเงิน 1,988,595 บาท อันเป็นค่าเสียหายยิ่งกว่าเบี้ยปรับแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนอีกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2552  ข้อตกลงซื้อขายหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ข้อ 3 วรรคแรก มีข้อความว่า "ผู้ขายตกลงเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สินของบริษัท ก. มีวงเงินค้ำประกัน 350,000,000 บาท ต่อไปจนถึงวันที่ 3 เมษายน 2534... และภายในวันที่ 3 เมษายน 2534 เช่นกัน ผู้ซื้อจะดำเนินการให้ธนาคารปลดผู้ขาย ส. และ ว. ออกจากเป็นผู้ค้ำประกัน และปลดจำนองทรัพย์สินซึ่งจำนองประกันหนี้สินของบริษัท ก. ทั้งหมด" วรรคสอง มีข้อความว่า "ถ้าหากล่วงเลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้ซื้อไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ ผู้ซื้อและบริษัท ก. ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ขายเดือนละ 1,000,000 บาท ทุกๆ เดือนจนกว่าผู้ขายจะหลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง" ซึ่งหมายความว่า โจทก์ที่ 1 จะมีสิทธิเรียกค่าตอบแทนรายเดือนต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อหุ้นจากโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการปลดโจทก์ที่ 1 จากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้จำนองให้สำเร็จได้อันเป็นการผิดข้อตกลงแล้วเท่านั้น ค่าตอบแทนรายเดือนจึงเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ทั้งตามข้อตกลงดังกล่าวก็มิได้ระบุว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ภายเวลาที่กำหนดแล้ว ยังจะต้องดำเนินการเช่นนั้นอีกต่อไปจนสำเร็จ จึงเป็นเรื่องที่สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคแรก ซึ่งหากเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป
          หลังจากพ้นกำหนดวันที่ 3 เมษายน 2534 โจทก์ที่ยอมรับเอาค่าตอบแทนของเดือนพฤษภาคม 2534 และต่อมาโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าตอบแทนที่ยังค้างชำระสำหรับเดือนต่อไป ถือว่าโจทก์ที่ 1 แสดงต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ที่จะบังคับให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ดำเนินการปลดโจทก์ที่ 1 จากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้จำนองย่อมเป็นอันขาดไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2548  โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ 3 ห้อง ซึ่งตามข้อตกลงเป็นการจะซื้อที่ดินพร้อมด้วยอาคารพาณิชย์มาเป็นของโจทก์แต่เพียงผุ้เดียวมิใช่จะซื้อส่วนเพื่อเข้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินเท่านั้น เพราะมีผลแตกต่างกันซึ่งต้องมีการตกลงกันเป็นพิเศษโดยชัดแจ้ง จำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลง ๆ ตามพื้นที่ของอาคารพาณิชย์ที่โจทก์จะซื้อและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ละแปลงให้โจทก์ แต่เมื่อถึงวันนัดจดทะเบียนจำเลยมิได้แบ่งแยกที่ดินพร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ แม้โจทก์ไม่ไปตามนัดและมีเงินพอที่จะชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่จำเลยจะริบเงินที่โจทก์จ่ายแล้วทั้งหมดตามข้อตกลงในสัญญาได้ สัญญายังคงมีผลผูกพันให้โจทก์และจำเลยชำระหนี้ตอบแทนกันอยู่ เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ในเวลาต่อมา แต่จำเลยไม่ไปตามนัด ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (3) และมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้จากจำเลยได้ตามมาตรา 380 อีกด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2546  สัญญาที่โจทก์จ้างจำเลยตรวจซ่อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระบุว่า "ในขณะทำสัญญาผู้รับจ้าง (จำเลย) ได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันความรับผิดตามสัญญาของธนาคาร ท. ภายในวงเงินร้อยละห้าของเงินค่าจ้างตามสัญญาเป็นเงิน 44,405 บาทมอบให้แก่ผู้ว่าจ้าง (โจทก์) เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา" ดังนั้น เงินตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่จำเลยมอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญา แต่เป็นเพียงหลักประกันเบื้องต้นเพื่อที่จะให้โจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยจะปฏิบัติตามสัญญา และหากจำเลยผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายอย่างน้อยก็คือเงินที่เป็นหลักประกันนั่นเอง เงินตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่โจทก์จะริบได้ทันทีเมื่อจำเลยผิดสัญญา แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญาที่โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอื่นอีก กรณีต้องนำเงินที่ธนาคาร ท. ส่งมาไปหักกับค่าเสียหายนั้นก่อนในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง

          2. เบี้ยปรับกรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควร เจ้าหนี้มีสิทธิ
               (1) เรียกให้ชำระหนี้
               (2) เรียกค่าปรับ แต่ต้องสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับไว้ แต่ต้องดำเนินการเมื่อเป็นการชำระหนี้ที่เจ้าหนี้เป็นการยอมชำระหนี้โดยสิ้นเชิงแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ 1078/2496)
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2496  ข้อตกลงที่เรียกกันว่า"ค่าปรับ"เมื่อผิดสัญญานั้น ก็คือค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้านั่นเอง
               ข้อความในสัญญามีความว่า "ฯลฯหากปรากฏว่าผู้ขายไม่ส่งมอบไม้ให้กับผู้ซื้อให้ครบภายในเวลาดังกล่าวข้างต้นผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันทีฯลฯ" นั้นหมายความว่าเป็นความตกลงให้ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับว่าผู้ซื้อจะต้องใช้สิทธิ ทันทีจึงจะได้ค่าปรับไม่ การที่ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแต่ยังไม่ใช้สิทธินั้น ผ่อนผันให้ผู้ขายได้แก้ตัวโดยเห็นใจผู้ขายต่อมาโดยความขอร้องของผู้ขายนั้น หาทำให้ผู้ซื้อหมดสิทธิเรียกค่าปรับในที่สุดอย่างใดไม่
               ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 381 วรรค 3 ที่มีข้อความว่า "ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้น" นี้หมายความว่าลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยสิ้นเชิงแล้ว ถ้าลูกหนี้ยังชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ไม่ครบจำนวน กรณีก็ยังไม่เข้ามาตรา 381 วรรค 3
               (3) เรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติม
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2541  โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเป็นเงิน 53,200,000 บาท จำเลยที่ 1 ส่งมอบงาน 5 งวด รับเงินไปแล้ว 14,151,200 บาท เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสร้าง จำเลยที่ 1 ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันที่ธนาคารได้ส่งเงินตามสัญญาค้ำประกันจำนวน 2,660,000 บาท แต่หนังสือค้ำประกันมิใช่สิ่งซึ่งจะพึงริบ เมื่อมีการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 378(2) เงินจำนวน 2,660,000 บาท ที่ธนาคารส่งมอบให้แก่โจทก์จึงมิใช่มัดจำแต่เป็นเงินประกันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง กำหนดว่า เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นใน ฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ริบเบี้ยปรับแล้วต้องนำเบี้ยปรับที่ริบจำนวน 2,660,000 บาท ไปหักออกจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการที่โจทก์ต้องไปจ้างบุคคลภายนอกให้ทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จในราคา 62,900,000 บาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเพียง 21,191,200 บาท การที่สัญญาจ้างระบุว่า เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วบรรดางานที่ผู้รับจ้างได้ทำขึ้นผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างโดยผู้รับจ้างจะเรียกค่าตอบแทนและค่าเสียหายใดๆไม่ได้นั้น เป็นการที่ผู้รับจ้างให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งมิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382 โจทก์ย่อมมีสิทธิริบเบี้ยปรับนี้ได้ตามมาตรา 381 วรรคแรก เมื่อพิจารณาถึงทางได้เสียของโจทก์ผู้ว่าจ้างกับผลงานและพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างที่ปฏิบัติมาตามสัญญา เห็นได้ว่าเบี้ยปรับดังกล่าวเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว โจทก์ย่อมริบผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าตอบแทนหรือค่าเสียหายใดๆเกี่ยวกับค่าผลงานที่ทำไปแล้วอีก
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5517/2537  ค่าปรับรายวันตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างเหมาทำการก่อสร้างคือเบี้ยปรับที่จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะใช้ให้แก่โจทก์เมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 381 วรรคแรก นั่นเอง ส่วนค่าตัดลดเปลี่ยนแปลงรายการอันเป็นค่าเสียหายตามสัญญา จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคสอง ที่ให้บังคับตามบัญญัติแห่งมาตรา 380 วรรคสอง โจทก์จะเรียกค่าเสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ต่อเมื่อโจทก์สามารถพิสูจน์ได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายสูงกว่าเบี้ยปรับที่กล่าวแล้ว โดยหากมีโจทก์ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวนที่สูงกว่าเบี้ยปรับนั้นอีกได้ สำหรับคดีนี้โจทก์เรียกค่าเสียหายซึ่งไม่สูงไปกว่าเบี้ยปรับที่โจทก์ได้รับดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์อีก

          3. เบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายล่วงหน้า ศาลลดเบี้ยปรับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 แต่ต้องพิเคราะห์ทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย แต่จะลดได้ต่อเมื่อลูกหนี้ยังมิได้ชำระค่าปรับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16520/2557  เมื่อจำเลยชำระเงินตามสัญญาโดยหักเงินค่าปรับไว้ตามที่โจทก์ยินยอม จึงเป็นกรณีโจทก์ใช้เงินตามเบี้ยปรับแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกขอลดเบี้ยปรับหรือขอคืนเบี้ยปรับได้ แม้ว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็ตาม ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9528/2557  โจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์มิใช่ลูกหนี้ผู้ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่การที่โจทก์มีภาระหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้สินค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีและตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้ ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้ทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 นั่นเอง ชอบที่โจทก์จะยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 376 เมื่อหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินค้างจ่าย มีอายุความ 5 ปี และโจทก์ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว โจทก์จึงคงรับผิดรับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี สำหรับค่าปรับและเงินเพิ่มซึ่งโจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาในลักษณะอย่างไร แต่เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่าปรับไว้อัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ ก็ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคหนึ่ง ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18324/2556  สัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โจทก์ทำกับจำเลยนั้น จำเลยมีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนและดำเนินการต่าง ๆ แทนโจทก์ ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความผูกพันในฐานะตัวการกับตัวแทน หาใช่เป็นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของไม่ ซึ่งในเรื่องตัวการตัวแทนนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
          การที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยตกลงกันไว้ว่า หากจำเลยบริหารจัดการกองทุนโจทก์ได้รับผลประโยชน์ในอัตราเฉลี่ยต่อปีของผลประโยชน์รวมทั้งหมดของกองทุนก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่รวมเงินบริจาคต่ำกว่าอัตราผลประโยชน์ที่จำเลยรับประกัน จำเลยจะชดเชยเงินที่ขาดนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379 นั่นเอง เมื่อถือว่าเป็นเบี้ยปรับแล้ว ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383


มัดจำ

          ในการทำสัญญานั้นคู่สัญญาอาจกำหนดเงื่อนไขลงไว้ในสัญญา ว่าให้มีการชำระเงินหรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าบางส่วนไว้เป็นการประกันการปฏิบัติตามสัญญา ที่เรียกว่า "มัดจำ"

          มาตรา 377  "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย"
          มาตรา 378 "มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นท่านให้เป็นไปดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
          (1) ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้
          (2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น
          (3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ"



          ลักษณะของมัดจำ


          1. ต้องเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่มอบให้แก่กันในขณะทำสัญญา
          หนังสือค้ำประกันของธนาคารซึ่งมอบไว้แทนการวางเงิน แม้ธนาคารจะส่งเงินมาให้เมื่อมีการผิดสัญญาก็ริบไม่ได้ เพราะมิได้มีการส่งมอบเงินให้แก่กันไว้เมื่อเข้าทำสัญญา
          เงินมัดจำที่ยังไม่ได้ชำระ เมื่อสัญญาเลิกแล้วจะบังคับให้ส่งเงินไม่ได้ เพราะสัญญาได้สิ้นสุดความผูกพันแล้ว เงินมัดจำจะริบได้ต้องมีการส่งมอบกันแล้ว ถ้าไม่มีการส่งมอบก็ไม่ใช่มัดจำ ริบไม่ได้
          แต่ถ้าหากการไม่ชำระหนี้เป็นความผิดของคู่สัญญาฝ่ายที่รับมัดจำแล้ว ผู้รับมัดจำจะต้องส่งคืนมัดจำให้แก่ผู้วางมัดจำ ไม่มีสิทธิที่จะริบมัดจำนั้นได้ตามมาตรา 378 (3) นอกจากจะต้องส่งคืนมัดจำ หากมัดจำนั้นเป็นเงินที่ต้องเสียดอกเบี้ยในเงินมัดจำนับตั้งแต่วันที่ตนผิดนัดอีกด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2509)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 918/2558  คำว่า "มัดจำ" ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว..." ดังนั้นเงินที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลยในวันทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก จึงถือว่าเป็นมัดจำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายวางมัดจำเป็นฝ่ายผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้แก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินจำนวน 50,000 บาท ดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินอีกจำนวน 50,000 บาท ที่โจทก์นำมามอบไว้ให้แก่จำเลยภายหลังจากวันทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก แม้จะมีข้อความของตอนท้ายหนังสือสัญญาดังกล่าวระบุว่า " สัญญาเพิ่มเติม ผู้ซื้อจะโอนเงินค่ามัดจำเพิ่มเติมให้แก่ผู้ขาย 50,000 บาท รวมเป็นค่ามัดจำ 100,000 บาท" ก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ โจทก์ได้ให้ไว้แก่จำเลยภายหลังจากวันทำสัญญา จึงไม่ถือว่าเป็นมัดจำ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 377 แต่เป็นเพียงเงินที่ชำระราคาซื้อขายบ้านไม้สักบางส่วน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5941/2552  แม้ข้อความในบันทึกข้อตกลงวางเงินมัดจำราคาซื้อขายที่ดินจะเรียกเงินที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ท. ว่าเป็น "มัดจำ" ก็ตาม แต่เนื้อหาสาระแห่งข้อตกลงและนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับเงินดังกล่าวหาใช่เป็น "มัดจำ" ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 377 และ มาตรา 378 ไม่ เพราะเนื้อหาสาระแห่งข้อตกลงในข้อ 2 และข้อ 3 เพียงแต่กำหนดให้คู่สัญญาต้องเจรจาตกลงกันในสาระสำคัญ และรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินตามที่ระบุไว้ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด โดยระบุถึงผลของการที่คู่สัญญาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเพียงว่าให้โจทก์คืนเงินมัดจำแก่บริษัท ท. เท่านั้น หาได้มีข้อตกลงให้ริบหรือส่งคืนเงินมัดจำไม่ เงินมัดจำตามข้อตกลงเช่นนี้จึงมิใช่เงินที่บริษัท ท. ให้ไว้แก่โจทก์เมื่อเข้าทำสัญญาเพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว และเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 อีกทั้งความในข้อตกลงข้อ 3.2 ระบุว่า หากคู่สัญญาไม่สามารถเจรจาตกลงเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินได้ภายในเวลาที่กำหนด โจทก์ตกลงคืนเงินมัดจำทั้งหมดให้แก่บริษัท ท. โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ซึ่งเป็นการตกลงยกเว้นหลักการเกี่ยวกับผลของมัดจำที่มาตรา 378 (1) ถึง (3) กำหนดให้ส่งคืนหรือให้ริบเสียทั้งสิ้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าต่อมาโจทก์ได้คืนเงินมัดจำทั้งหมดให้บริษัท ท. ไปแล้ว ประกอบกับข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รับรู้รายได้เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์โดยเลือกวิธีปฏิบัติที่จะเสียภาษีโดยคำนวณฐานภาษีขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 26 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีรายรับจากเงินมัดจำดังกล่าวอันจะต้องนำไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7122/2549  คำว่า "มัดจำ" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 คือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ไว้ในวันอื่น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 3 ระบุว่า ในวันทำสัญญาโจทก์ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำไว้ส่วนหนึ่งเป็นเงิน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 914,000 บาท จะชำระเป็นงวดรายเดือน จำนวน 10 เดือน ดังนั้น เงินที่วางมัดจำไว้ในวันทำสัญญาดังกล่าวจึงมีเพียง 10,000 บาท เท่านั้น ส่วนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามอีก 10 งวด เป็นเงิน 170,000 บาท นั้น แม้ตามสัญญาจะระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำ ก็ไม่ใช่เงินมัดจำตามความหมายดังกล่าว แต่เป็นเพียงการชำระราคาที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสามบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินที่โจทก์ชำระค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าว จำเลยทั้งสามต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันให้ริบเงินดังกล่าวได้ตามสัญญาข้อ 13 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาฎีกาที่ 46/2515 ใช้เช็ควางมัดจำได้ แต่เมื่อจะริบมัดจำก็ต้องฟ้องเรียกเงินตามเช็คภายในอายุความ
          หนังสือค้ำประกันของธนาคาร มิใช่มัดจำ ริบไม่ได้ แม้แต่ธนาคารจะส่งเงินมาให้เมื่อมีการผิดสัญญาก็ริบไม่ได้ เว้นแต่สัญญาจะระบุให้ริบได้
          การเอาหนังสือค้ำประกันธนาคารมาวาง โดยหลักมิใช่มัดจำ แต่ถ้าเขียนไว้ในสัญญาให้มีสิทธิเหมือนเป็นมัดจำ ก็มีสิทธิเรียกได้แต่ไม่ได้เรียกในฐานะที่เป็นมัดจำ แต่เรียกเพราะมีข้อสัญญาไว้เช่นนั้นโดยให้ถือเป็นเบี้ยปรับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2541  โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเป็นเงิน 53,200,000 บาท จำเลยที่ 1 ส่งมอบงาน 5 งวด รับเงินไปแล้ว 14,151,200 บาท เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสร้าง จำเลยที่ 1 ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันที่ธนาคารได้ส่งเงินตามสัญญาค้ำประกันจำนวน 2,660,000 บาท แต่หนังสือค้ำประกันมิใช่สิ่งซึ่งจะพึงริบ เมื่อมีการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 378(2) เงินจำนวน 2,660,000 บาท ที่ธนาคารส่งมอบให้แก่โจทก์จึงมิใช่มัดจำแต่เป็นเงินประกันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสองกำหนดว่า เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นใน ฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ ฉะนั้นเมื่อโจทก์ ริบเบี้ยปรับแล้วต้องนำเบี้ยปรับที่ริบจำนวน 2,660,000 บาท ไปหักออกจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการที่โจทก์ต้องไปจ้างบุคคลภายนอก ให้ทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จในราคา 62,900,000 บาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเพียง 21,191,200 บาท การที่สัญญาจ้างระบุว่า เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วบรรดางานที่ผู้รับจ้างได้ทำขึ้นผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างโดยผู้รับจ้างจะเรียกค่าตอบแทนและค่าเสียหายใดๆไม่ได้นั้น เป็นการที่ผู้รับจ้างให้ สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งมิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382 โจทก์ย่อมมีสิทธิริบเบี้ยปรับนี้ได้ตามมาตรา 381 วรรคแรก เมื่อพิจารณาถึงทางได้เสียของโจทก์ผู้ว่าจ้างกับผลงานและพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างที่ปฏิบัติมาตามสัญญา เห็นได้ว่าเบี้ยปรับดังกล่าวเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว โจทก์ย่อมริบผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าตอบแทนหรือค่าเสียหายใดๆ เกี่ยวกับค่าผลงานที่ทำไปแล้วอีก


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2549  จำนวนเงินตามหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ บริษัท ล. ผู้รับจ้างนำไปมอบให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา มิใช่เงินที่บริษัท ล. มอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญา แต่เป็นเพียงหลักประกันเบื้องต้นเพื่อที่จะให้โจทก์เชื่อได้ว่า บริษัท ล. จะปฏิบัติตามสัญญา และหากบริษัท ล. ผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ผู้ออกหนังสือค้ำประกันนั้นแทน จำนวนเงินตามสัญญาไม่ใช่เงินมัดจำที่บริษัท ล. ให้ไว้แก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 377 และ 378 จึงมิใช่หลักประกันที่โจทก์จะริบได้ทันทีเมื่อบริษัท ล. ผิดสัญญา แต่จะถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา และเป็นเพียงข้อตกลงที่ให้ความสะดวกในวิธีการบังคับชำระหนี้หากมี และจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันบริษัท ล. ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเพียงเท่ากับความรับผิดที่บริษัท ล. ต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น

          2. เป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาได้ทำกันแล้ว
          แต่ไม่ใช่พยานหลักฐานหรือข้อสันนิษฐานเด็ดขาด

          3. เป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา 
          ตราบใดที่ลูกหนี้ยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นตามสัญญา จะเรียกมัดจำคืนจากเจ้าหนี้มิได้ และจะขอให้เจ้าหนี้จัดเอาเงินที่วางมัดจำไว้เป็นการชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง โดยยังมิได้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1356/2499  ทำสัญญาซื้อขายกันโดยมีการวางเงินมัดจำไว้ ในสัญญากำหนดว่าจะต้องชำระราคาทรัพย์ที่ส่งมอบกันเป็นเงินสดเป็นงวดๆ ไป บัดนี้ผู้ซื้อจะไม่ชำระเงินสดให้เป็นงวดๆ แต่จะขอให้หักเอาจากเงินมัดจำนั้นไม่ได้ ต้องถือว่าผู้ซื้อผิดสัญญา ผู้ขายฟ้องเรียกเงินค่าไม้ที่ได้ส่งเป็นงวดๆ ไปแล้วได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4612/2552  ตามหนังสือสัญญาเช่ามีหมายเหตุท้ายหนังสือสัญญาเช่าที่ระบุว่า "วันที่ 9 มีนาคม 2544 วางมัดจำ 200,000 บาท" โดยจำเลยผู้ให้เช่าได้ลงลายมือชื่อไว้ท้ายหมายเหตุด้วยและในวันดังกล่าวจำเลยก็ได้ออกใบรับเงินระบุว่า วางมัดจำค่าเช่าดำเนินกิจการ 200,000 บาท โดยมิได้มีข้อความตอนใดที่จะทำให้เห็นว่าเป็นเงินกินเปล่าที่จำเลยไม่ต้องคืนแก่โจทก์ผู้เช่าก็ตาม แม้เงินจำนวน 200,000 บาท จะฟังว่าเป็นเงินมัดจำค่าเช่าดำเนินการก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือเป็นพยานหลักฐานว่า สัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว เพราะในวันดังกล่าวได้มีการทำสัญญาเช่ากันขึ้นด้วย จึงไม่ต้องมีสัญญามัดจำอีกเงินจำนวน 200,000 บาท ที่โจทก์วางให้แก่จำเลยดังกล่าวจึงต้องถือเป็นค่าเช่าที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยล่วงหน้า มิใช่เงินมัดจำตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 377 และมาตรา 378 ที่จำเลยจะริบได้ ทั้งไม่มีข้อสัญญาให้จำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไว้ล่วงหน้านี้ได้ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2545  จำเลยสร้างตึกแถวที่จะขายให้โจทก์เสร็จพร้อมที่จะโอนตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2539 โจทก์ย่อมมีหน้าที่รับโอนและชำระราคาส่วนที่เหลืออีก 2,000,000 บาท แก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ชำระแม้ในช่วงเวลานั้นต่างมิได้ถือเอาเงื่อนไขในการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ เนื่องจากจำเลยกำลังบอกขายตึกแถวพร้อมที่ดินให้แก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์ของโจทก์ แต่ไม่เป็นการแน่นอนว่าจะสำเร็จได้ โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอในการเตรียมเงินชำระให้แก่จำเลยการที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินที่ค้างชำระแก่จำเลยภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ อันเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จเกือบ 1 ปี จึงเป็นการบอกกล่าวให้เวลาอันสมควรแล้ว เมื่อหนังสือดังกล่าวมีข้อความแสดงเจตนาเลิกสัญญา และโจทก์ไม่ชำระเงินภายในเวลากำหนดสัญญาจะซื้อจะขายย่อมเป็นอันเลิกกันเมื่อล่วงพ้น 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือทวงถามนั้น แต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยมีหน้าที่คืนเงิน 1,200,000 บาท ที่รับไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
          โจทก์ชำระเงินดาวน์ 300,000 บาท อันเป็นส่วนหนึ่งของเงินจำนวน 1,200,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญา โดยมิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จึงต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ชำระล่วงหน้า มิใช่มัดจำที่จำเลยจะริบได้ เมื่อจำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแล้วโจทก์เพิกเฉย โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง จำเลยมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดได้ตามมาตรา 215 การที่จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงินล่วงหน้า 1,200,000 บาท ให้แก่โจทก์จนครบจำนวน เนื่องจากจำเลยได้รับความเสียหาย เพราะเหตุที่โจทก์ผิดนัดและต้องรับภาระดอกเบี้ยที่กู้ยืมเงินจากธนาคารมาลงทุนปลูกสร้างอาคารพอแปลได้ว่าจำเลยเรียกเอาเงิน 1,200,000 บาท นั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้
          การที่โจทก์ไม่ชำระเงิน 2,000,000 บาทให้แก่จำเลยเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี แต่ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์จึงมิได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นถึงความเสียหายเช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จำเลยจะเรียกร้องให้โจทก์รับผิดไม่ได้ อย่างไรก็ดีการที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่จำเลยย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายดังนั้น แม้จำเลยจะนำสืบถึงค่าเสียหายไม่ได้ ศาลก็มีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีโดยเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบกับความสุจริตในการดำเนินคดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2540  สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างฉบับพิพาท ข้อ 20 ระบุว่า ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างริบหลักประกันในสัญญาข้อ 3 ปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ทำงานแล้วเสร็จเรียบร้อยและโจทก์ได้รับมอบงานจากจำเลยที่ 1ตามสัญญาแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 1 ทำงานครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมหมดสิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดชอบต่องานที่โจทก์ได้รับมอบไปแล้วถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาข้อ 6 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากจำเลยที่ 1 บิดพริ้วเพิกเฉย โจทก์มีสิทธิว่าจ้างผู้อื่นทำงานนั้นหรือทำการแก้ไขเองโดยจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อค่าแก้ไขซ่อมแซมเท่านั้น ดังนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิริบหลักประกันตามสัญญาข้อ 20

          4. ผลของมัดจำกำหนดไว้ในมาตรา 378

          ให้ส่งคืนมัดจำ ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 217/2487 ถ้ากรณีที่การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยด้วยเหตุที่โทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ฝ่ายที่วางมัดจำย่อมหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตามมาตรา 219 ฝ่ายที่รับมัดจำก็ต้องส่งคืนมัดจำเพราะไม่มีหนี้อันจะต้องยึดมัดจำไว้เป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13389/2555  เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จะซื้อจะขายไปโดยไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาตัวแทน การที่โจทก์ไม่อาจดำเนินการโอนที่ดินให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจึงถือได้ว่าเป็นกรณีการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายโจทก์ต้องรับผิดชอบ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายที่รับผิดจำต้องส่งคืนมัดจำตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (3) โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองจ่ายเพื่อชำระหนี้เงินมัดจำตามฟ้อง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2550  โจทก์ไม่ได้ออกทุนรอนหรือยุยงส่งเสริมให้ จ. เป็นความกับ ม. กับพวก ข้อกำหนดตามสัญญาจะซึ้อขาย ข้อ 4 ที่ว่าจะโอนที่ดินเมื่อผู้ขายชนะคดีความไม่มีภาระผูกพันต่อคดีนั้น มีลักษณะเป็นเงื่อนไขในสัญญาประการหนึ่งและเป็นข้อความที่คัดลอกมาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยกับ จ. ไม่ถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกันไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยใช้บังคับกันได้ไม่เป็นโมฆะ เงินมัดจำที่โจทก์วางไว้แก่จำเลยจึงไม่ใช่เงินที่ชำระโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411
          จำเลยได้ฟ้อง จ. ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ แล้วต่อมาคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยตกลงให้ทายาทของ จ. นำที่ดินแปลงที่ จ. ทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยไปขายให้แก่ผู้อื่นได้โดยทายาทของ จ. ยินยอมชำระเงินให้จำเลย 1,000,000 บาท จึงเป็นผลให้จำเลยไม่มีที่ดินโอนให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายอีกต่อไป ถือว่าการโอนที่ดินตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบ จำเลยจึงต้องคืนมัดจำที่รับไปแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (3) จึงฟังได้ว่าหนี้เงินมัดจำที่รับไว้จากโจทก์จำนวน 2,450,000 บาท เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5347/2540  ในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจำเลยทั้งห้าไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาโดยที่โจทก์ได้นำเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือมาชำระให้ครบถ้วนแล้ว สำหรับขั้นตอนของการชำระค่าธรรมเนียม ค่าภาษีตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นขั้นตอนภายหลังที่จำเลยทั้งห้าสามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ตรงตามสัญญาเสียก่อน ซึ่งยังไม่แน่นอนเมื่อถึงขั้นตอนนั้นโจทก์จะมีเหตุขัดข้องในค่าธรรมเนียมดังกล่าวหรือไม่ โจทก์จึงยังไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายผิดสัญญาด้วยการละเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ตรงตามสัญญา จำเลยทั้งห้าก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิริบมัดจำแต่จะต้องส่งคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 378 (3)
          ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับพิพาท ข้อ 8 กำหนดว่าหากผู้จะขายผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ให้ผู้จะซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนได้ทั้งหมดและเรียกค่าเสียหายได้อีกจำนวนเงิน 14,000,000 บาท (สิบสี่ล้านบาทถ้วน) หรือฟ้องบังคับให้ผู้จะขายปฏิบัติตามสัญญานี้ พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายอีกโสดหนึ่งด้วย ฯลฯ ข้อกำหนดดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับถ้าสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 379 ประกอบมาตรา 383

          ให้ริบมัดจำ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3946/2553  โจทก์ทำสัญญาซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไคโตซานและวางเงินจำนวน 200,000 บาท แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยสัญญาข้อ 4 ระบุว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องขอใบอนุญาตขึ้นทะเบียนการใช้ฉลากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้แก่โจทก์ แต่ไม่ได้กำหนดเวลาว่าจำเลยต้องขอใบอนุญาตให้แล้วเสร็จเมื่อใด จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องขอใบอนุญาตดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยโดยไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายในเวลาที่โจทก์กำหนดเสียก่อน จึงไม่เป็นผลให้สัญญาระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ทั้งหลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาเพียงสิบวัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็ออกใบสำคัญการใช้ฉลากอาหารให้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของโจทก์จึงเป็นการบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามสัญญาและมีผลให้โจทก์ตกเป็นผู้ผิดสัญญา การที่จำเลยมีหนังสือตอบกลับไปยังโจทก์ว่า จำเลยตกลงสนองรับการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ยอมคืนเงินจำนวน 200,000 บาท ให้ เนื่องจากโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยตกลงเลิกสัญญาโดยไม่มีเงื่อนไข แต่เป็นการที่จำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ อันเป็นผลมาจากการที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาเสียก่อน เมื่อโจทก์มอบเงินให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาจึงมีผลเป็นมัดจำ จำเลยย่อมริบเงินจำนวนดังกล่าวนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8283/2551  โจทก์ทั้งสองผิดนัดไม่ชำระค่างวดตามกำหนด จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินค่างวดที่ 17 และที่ 18 ภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2541 แล้ว นับว่าเป็นการให้โอกาสโจทก์ทั้งสองในการปฏิบัติตามสัญญา ถือเป็นการกำหนดเวลาให้คู่สัญญาชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 แล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ชำระเงินค่างวดตามกำหนดรวม 2 งวดติดต่อกันและจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองเพิกเฉย จึงถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาจองเพื่อจะซื้อขายที่ดินและโรงเรือนจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองเนื่องจากโจทก์ทั้งสองผิดสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินค่าบ้านและที่ดินบางส่วนและเงินค่าอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อตกแต่งบ้านให้แก่จำเลยก่อนที่สัญญาจะเลิกกัน การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงกันตามสัญญาว่าหากผู้จองผิดนัดไม่ชำระราคา ฯลฯ รวม 2 งวด ฯลฯ เมื่อผู้รับจองใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว ให้ผู้รับจองมีสิทธิริบเงินมัดจำและเงินที่ผ่อนชำระแล้วได้ทั้งหมดทันที ฯลฯ นั้น ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383        

          5. ถ้ามัดจำไม่เพียงพอ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมได้ ถ้ามัดจำที่ริบสูงเกินไป ศาลลดมัดจำได้ โดยพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 บัญญัติในมาตรา 7 ว่า “ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลง ให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้" ในปัจจุบันจึงลดมัดจำได้ โดยเป็นดุลยพินิจของศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7302/2559   เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายกลายเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยบอกกล่าวให้เวลาแก่โจทก์ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาใหม่โดยชอบ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิริบมัดจำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และมีสิทธินำที่ดินไปเสนอขายบุคคลอื่นได้ ไม่ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์โดยปริยายแต่อย่างใด          
          พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำหากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ ซึ่งโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยในราคา 1,400,000 บาท วางมัดจำไว้ 500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 35.71 ของราคาที่ดิน เมื่อเทียบมัดจำกับราคาที่ซื้อขายกันแล้ว เห็นได้ว่าเป็นมัดจำที่สูงเกินส่วน เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลง โจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบว่าความเสียหายแท้จริงที่จำเลยได้รับมีเพียงใด แต่เห็นว่าหากจำเลยขายและได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ย่อมนำเงินไปหาประโยชน์อย่างอื่นได้ เมื่อโจทก์ผิดสัญญาแล้ว จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับผู้ซื้อรายใหม่ในราคาที่ลดลง เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลงเหลือ 200,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่จำเลยน่าจะเสียหายจริงและจำเลยต้องคืนเงินมัดจำอีก 300,000 บาท แก่โจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจศาลในการพิจารณาคดีและเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ สำหรับเงินมัดจำที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์นั้น มิใช่กรณีที่จำเลยผิดนัดอันจะต้องชำระดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ทั้งเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในเงิน 300,000 บาท ที่ต้องคืนแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8942/2554   เงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายนั้น เป็นการให้เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาจะซื้อจะขายได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยคู่สัญญามีเจตนาจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ หรือหากโจทก์ละเลยไม่ชำระหนี้ก็ให้ริบเงินนั้นได้ตามสัญญา เงินจำนวนนี้จึงเป็นมัดจำมิใช่เบี้ยปรับ เพราะเบี้ยปรับเป็นกรณีที่ลูกหนี้สัญญาจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อตนไม่ชำระหนี้อันเป็นการกำหนดค่าเสียหายเอาไว้ล่วงหน้าเท่านั้น คู่สัญญามิได้มีเจตนาให้เอาเบี้ยปรับเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ แม้ตาม ป.พ.พ. มิได้ให้อำนาจศาลที่จะลดมัดจำดังเช่นเบี้ยปรับ แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ โดยบทกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งให้ศาลพิจารณาตามที่เห็นสมควรหากมัดจำสูงเกินส่วน ศาลจึงมีอำนาจลดมัดจำได้

          6. ถ้าเจ้าหนี้บังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิริบมัดจำ
          คำพิพากษาฎีกาที่ 517/2487  โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินกัน แต่ผู้ซื้อเป็นคนต่างด้าวซึ่งแปลงสัญชาติเป็นไทย ทางการไม่อนุญาตให้โอนทะเบียน ดังนี้ มิใช่เป็นเพราะความผิดของฝ่ายใด ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและผู้ขายไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำ จะต้องให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
          คำพิพากษาฎีกาที่ 1541/2509  วางมัดจำเพื่อทำสัญญาซื้อขาย สัญญาซื้อขายยังไม่เกิดมีผลผูกพันเพียงที่จะกำหนดในสัญญา ไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาจึงริบมัดจำไม่ได้        

          7. การคืนมัดจำถ้ามีดอกเบี้ยต้องเสียดอกเบี้ยในเงินมัดจำด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7117/2544  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมีข้อความว่า ผู้จะซื้อได้ชำระเงินค่าที่ดินแล้ว 432,000 บาท คงค้างชำระอีกเพียง 4,200 บาทซึ่งจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์... หากสัญญาจะซื้อจะขายนี้ไม่ได้กระทำภายในกำหนดเวลาเพราะความผิดของผู้จะขาย ผู้จะขายต้องคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้จะซื้อพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีดังนี้ เมื่อตามสัญญาไม่ปรากฏว่ามีการวางมัดจำกันไว้ก็ต้องถือว่าเงิน 432,000 บาท ที่จำเลยรับไปจากโจทก์แล้วนั้นเป็นมัดจำซึ่งตรงตามคำฟ้องที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงิน 432,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ในฐานที่เป็นมัดจำ อันเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(3) และเป็นคนละกรณีกับการใช้เงินคืนเมื่อมีการใช้สิทธิเลิกสัญญาตามมาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งกำหนดให้คิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลาที่รับไว้เมื่อการเรียกคืนเงินมัดจำไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คิดดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะจึงต้องเป็นไปตามหลักทั่วไปตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด เมื่อหนังสือทวงถามให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ โจทก์ยังมิได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและเรียกเงินมัดจำคืน จึงต้องถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและเรียกเงินมัดจำคืนโดยการฟ้องคดี จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยของเงินมัดจำนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ