01 มีนาคม 2567

การแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาอันเนื่องมาจากการหย่า


           1. การเริ่มต้นมีผลของการหย่า


          มาตรา 1531  การสมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายนั้น การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีผลนับแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไป
          การหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว 

          การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีผลนับตั้งแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไปตามมาตรา 1531 วรรคแรก  ส่วนการหย่าตามคำพิพากษาของศาลมีผลนับแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่หากยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่านั้นจะนำเหตุการหย่าไปอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมเสียสิทธิของบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่ได้
          คำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่ 952/2531  การหย่าโดยคำพิพากษาจะมีผลต่อเมื่อเวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1531 และเมื่อหย่ากันแล้วจึงให้มีการแบ่งทรัพย์สินของสามีภรรยาได้ ตามมาตรา 1532 แต่ในเมื่อคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะขอทุเลาการบังคับในระหว่างฎีกาให้ยกคำร้องค่าคำร้องเป็นพับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2141/2531  การจดทะเบียนการหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีก ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้นศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่า หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย.

          การหย่าตามมาตรา 1531 จะต้องมีเจตนาจดทะเบียนหย่ากันอย่างแท้จริง มิใช่จดทะเบียนหย่ากัน โดยที่คู่สมรสไม่ได้มีคเจตนาหย่ากันจริง เช่น จดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจ หรือความสะดวกในการทำนิติกรรมต่างๆ เท่านั้น กรณีนี้ การหย่าย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8333/2560  ภายหลังจากจำเลยกับ ส. จดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับ ส. ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแล ส. เมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส. กระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไป เพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ ส. ใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของ ส. ที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้
          


           2. การแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา


          ก. เวลาที่จะกำหนดจำนวนทรัพย์สิน
          เมื่อมีการสิ้นสุดการสมรสโดยการหย่า ตามมาตรา 1532 ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา หากเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า 

          มาตรา 1532  เมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา
          แต่ในระหว่างสามีภริยา
           (ก) ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
           (ข) ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า

          ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3029/2566  การจัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาในกรณีที่มีการฟ้องหย่ากัน ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) บัญญัติว่า “ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า” คดีนี้เป็นฟ้องให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาเมื่อมีการหย่ากันแล้วโดยคำพิพากษาของศาล จึงต้องบังคับตามมาตรา 1532 (ข) กล่าวคือ ในส่วนของการบังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้นให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า การพิจารณาการได้มาเกี่ยวกับสินสมรสจึงต้องพิจารณามาตรา 1532 (ข) ประกอบด้วย โดยหากเป็นกรณีที่มีการหย่าโดยคำพิพากษา ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสที่จะเป็นสินสมรสจะต้องได้มาอย่างช้าสุดไม่เกินวันฟ้องหย่า จำเลยฟ้องหย่าโจทก์วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 จำเลยจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20691 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ส่วนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 53456 จำเลยจดทะเบียนรับโอนมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 อันเป็นการได้รับโอนมาภายหลังจากวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยื่นฟ้องหย่าโจทก์แล้ว และทางนำสืบของโจทก์ไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยนำเงินที่เป็นสินสมรสไปชำระค่าที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้จำเลยได้มาภายหลังวันที่ฟ้องหย่า จึงไม่เป็นสินสมรสของจำเลยกับโจทก์ตามมาตรา 1574 (1) ประกอบมาตรา 1532 (ข) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20691 และเลขที่ 53456 จากจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8803/2559  เงินฝากในบัญชีธนาคารและสลากออมสินนั้น โจทก์นำสืบว่า ระหว่างสมรสจำเลยนำเงินส่วนที่โจทก์มอบให้ไปเปิดบัญชีเงินฝากและซื้อสลากออมสิน ทางนำสืบจำเลยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินดังกล่าวที่อ้างว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยได้มาอย่างไร จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากโจทก์ที่ให้เงินมาในระหว่างเป็นสามีภริยา จึงเป็นการได้มาภายหลังจากที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ กรณีต้องถือตามข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคท้ายว่า เงินฝากในบัญชีธนาคาร และสลากออมสินเป็นสินสมรส ชายและหญิงพึงได้ส่วนเท่ากัน โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรสดังกล่าวกึ่งหนึ่งมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันฟ้องหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) และ 1533
          รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า โจทก์ซื้อมาใส่ชื่อจำเลยในใบคู่มือจดทะเบียน ก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ จำเลยนำสืบประกอบภาพในสื่อสังคมออนไลน์ (facebook) ที่ลงภาพเพื่อขอบคุณโจทก์ มีของใช้ส่วนตัวของจำเลยวางในรถ มีสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยแปะกระจกรถ โจทก์ได้แสดงความเห็นในเชิงหยอกล้อการขับรถของจำเลย และโจทก์เองก็มีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว ถือว่าโจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา เป็นสินส่วนตัวจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) โจทก์ต้องคืนรถทั้งสองคันดังกล่าวที่โจทก์เอาไปให้จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7860/2559  เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกัน หากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตราดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้
          เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนหย่าแล้วว่าให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดูบุตร ให้บ้านและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์จำเลย ให้โจทก์ออกจากบ้านดังกล่าว ให้รถยนต์ 2 คัน เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์รวม 3,500,000 บาท โดยโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้อีก ก็ต้องเป็นไปตามนั้น และลงลายมือชื่อโดยมีพยาน 2 คน และนายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้ด้วย แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความ "ทรัพย์สินอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้อง" ก็ตาม แต่โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่า ไม่มีการตกลงว่าจะไม่ขอแบ่งอีก โดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุนคำเบิกความ จำเลยมีพยานบุคคลซึ่งเป็นคนกลางยืนยันถึงการเจรจาตามบันทึกข้อตกลง ทั้งจำเลยได้ดำเนินการตามข้อตกลงแก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่หย่ากันแล้วจะไม่เจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินให้เสร็จสิ้น จึงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินกันชัดเจน โดยโจทก์ตกลงเอาทรัพย์สินตามที่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่นตามฟ้องนอกจากที่ตกลง หากมีชื่อของโจทก์หรือจำเลยก็ให้ตกเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนหนี้สินให้จำเลยรับผิดชอบ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วย ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามมาตรา 850 ผลของสัญญาย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์และจำเลยได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นเป็นของตน ตามมาตรา 852 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินตามฟ้องอีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4345/2559  ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์และจำเลยตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรีในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีผลสมบูรณ์ในวันดังกล่าว โดยไม่จำต้องไปจดทะเบียนการหย่า เพียงแต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 วรรคสอง
          แม้ข้อตกลงจะระบุให้ไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี แต่ในวันที่ศาลพิพากษาตามยอมโจทก์และจำเลยไม่ได้ไปจดทะเบียนการหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี โจทก์และจำเลยคนใดคนหนึ่งย่อมนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนหย่าได้ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 ข้อ 6 ระบุว่า ในการขอจดทะเบียนและบันทึกการหย่าจะร้องขอต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ และการจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาต้องนำสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้สามีภริยาหย่ากันและมีคำรับรองถูกต้องมาแสดงนั้นสามารถดำเนินการฝ่ายเดียวได้ ดังจะเห็นได้ในข้อ 22 (4) ที่ระบุว่า สำหรับในกรณีที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องเพียงฝ่ายเดียวให้เก็บรักษาใบสำคัญการหย่าฉบับที่เหลือไว้และแจ้งให้อีกฝ่ายมารับไป การที่จำเลยนำสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความกับสำเนาคำพิพากษาตามยอมซึ่งมีคำรับรองถูกต้องไปจดทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตลาดพร้าวจึงถูกต้องแล้ว การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยมีผลสมบูรณ์
          สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมแล้ว มีข้อตกลงในการหย่าระหว่างโจทก์และจำเลย การแบ่งทรัพย์สินและความรับผิดเกี่ยวกับหนี้สินอันเป็นหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งมิได้มุ่งหมายให้เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสมรสโดยแท้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ที่โจทก์จะมีสิทธิบอกล้างได้ เพราะหากให้โจทก์ใช้สิทธิบอกล้างได้ในกรณีนี้ก็เท่ากับยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงผลของสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอมของศาล ย่อมเป็นการไม่ชอบและขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 145
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558  ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4961/2558  ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เดิมผู้ร้องเคยสมรสกับจำเลยที่ 3 ต่อมาเมื่อปี 2535 ผู้ร้องหย่ากับจำเลยที่ 3 และได้ตกลงสัญญาในการหย่าให้ที่ดินพิพาทตกแก่ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาโดยจำเลยที่ 3 ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง โจทก์ให้การต่อสู้คดี โดยมิได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของผู้ร้อง ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับว่าผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนหย่ากันและได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 ว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 84 (3) เช่นนี้ เมื่อผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนสมรสกันในปี 2527 ต่อมาปี 2534 ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทแม้จะใส่ชื่อผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพียงคนเดียวก็ตาม ที่ดินพิพาทก็เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (2) ซึ่งเมื่อทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันและทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 ว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 ผู้ร้องมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพียงคนเดียวอยู่แล้ว แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสิทธิของผู้ร้องนับแต่เวลาจดทะเบียนหย่า และเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรสกับจำเลยที่ 3 ใหม่ ในปี 2549 จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ไม่ได้ ผู้ร้องมีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6388/2550  บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนการหย่าให้แล้ว ถือว่าได้มีการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่มีการทำบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์จึงตกเป็นสิทธิของ ร. ตั้งแต่เวลานั้น ไม่ใช่สินสมรสระหว่าง ร. และโจทก์ที่โจทก์จะมาขอแบ่งแยกได้อีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080/2540  โจทก์และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมสิ้นสุดลง และขาดจากการเป็นสามีภริยาตาม ป.พ.พ.มาตรา 1501 โดยมีผลสมบูรณ์เมื่อจดทะเบียนหย่าแล้ว ตามมาตรา 1515 และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์สินว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งในทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหรือไม่ และการโอนขายที่ดินโฉนดพิพาทพร้อมบ้านระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาลวงหรือไม่เท่านั้น โดยไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง รวมทั้งการแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้หย่าขาดจากกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้แบ่งทรัพย์สินขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบ
          การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้วทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ระหว่างอยู่ร่วมกันและมิได้แบ่งกันต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมและสันนิษฐานว่ามีส่วนเท่ากันตามมาตรา 1357
          โจทก์ฟ้องขอใส่ชื่อโจทก์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ แม้ใบคู่มือดังกล่าวมิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปี ซึ่งแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้นก็ตาม แต่ในกรณีที่เจ้าของขายรถยนต์แล้วกรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนเป็นของผู้ซื้อทันที แม้ไม่จดทะเบียนโอนก็ใช้ได้ แต่ ป.พ.พ.มาตรา 1361 วรรคสอง บัญญัติว่า ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่ายได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน ดังนั้น การมีชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ย่อมเป็นการคุ้มครองประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์คันที่มีเจ้าของรวมให้ทราบว่าการซื้อรถยนต์คันดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมของเจ้าของรวมทุกคนก่อนเป็นการตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่รถยนต์เป็นทรัพย์ของบุคคลหลายคน แต่มีชื่อเจ้าของรวมเพียงคนเดียวในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ซึ่งผู้ซื้อซื้อไปโดยไม่ทราบว่ามีเจ้าของรวมที่ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขาย ทำให้เจ้าของรวมที่ไม่ยินยอมและผู้ซื้อได้รับความเสียหายจากการที่ต้องฟ้องและถูกฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขาย
          ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ไม่มีบทบัญญัติห้ามลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ดังนั้น การลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์นอกจากไม่ขัดต่อกฎหมายแล้ว ยังมีประโยชน์มากกว่าการไม่ลงชื่อไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ เมื่อได้ความว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันพิพาท จึงสมควรพิพากษาให้โจทก์ลงชื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวได้ตามขอ
          การที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องแก่โจทก์นั้น เมื่อปรากฏว่า แต่เดิมสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์รวมอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 โดยอาศัยสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของรวม และไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิการเป็นเจ้าของรวม ประกอบกับไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้เจ้าของรวมจำต้องครอบครองทรัพย์สินที่ตนมีกรรมสิทธิ์รวมโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยส่งมอบการครอบครองสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องแก่โจทก์


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4561/2544  บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสินสมรสต่อท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ตกลงยกบ้านพิพาทให้แก่บุตรทั้งสามนั้นเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคหนึ่ง แต่บุตรทั้งสามไม่ได้แสดงเจตนาต่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา 374 วรรคสอง กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทจึงยังเป็นของโจทก์กับจำเลยที่ 1 คนละครึ่ง นอกจากนี้โจทก์ยังอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ซึ่งหากฟังได้ตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคนละครึ่งหนึ่งเช่นเดียวกัน การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้ยินยอมด้วย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้
          ว. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ระหว่างปี 2514 ถึง 2516 ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิม มาตรา 1466 เพราะการให้มิได้แสดงว่าให้ไว้เป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 1464(3) และกรณีเป็นการยกให้ก่อนปี 2519 จึงไม่อาจใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 บังคับ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 เคยขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่ ท. เมื่อปี 2525 และมิได้ไถ่คืนภายในกำหนด ต่อมาจึงได้ซื้อคืนจาก ท. เมื่อปี 2526 แม้จะใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1474(1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519
          ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะทำสัญญาดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนสัญญาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์ตามมาตรา 1361 วรรคสอง แต่ยังคงมีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1361 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้
 
          แต่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าทีคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ย่อมไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1291/2558  ข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า แม้จะเป็นข้อตกลงที่แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า ในอนาคตหากจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสิ่งใด จำเลยที่ 1 จะยอมแบ่งให้แก่บุตรทั้งสาม อันหมายถึงบุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เนื้อหาตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นลักษณะที่ตกลงกันกว้าง ๆ ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการระบุทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ เป็นการระบุที่ครอบคลุมทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งย่อมรวมทรัพย์สินทุกชนิดที่ได้มาในอนาคตและไม่จำกัดเวลา และในข้อตกลงส่วนที่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นั้น ก็ไม่ระบุชัดเจนว่าจะแบ่งแก่บุตรคนใด เท่าใด อันหมายความแล้วแต่ดุลยพินิจของจำเลยที่ 1 ข้อตกลงดังกล่าวนี้ จึงไม่ชัดแจ้ง ไม่มีสภาพบังคับให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งสามารถปฏิบัติให้ตรงตามวัตถุที่ประสงค์แห่งข้อตกลงได้

          ข. วิธีแบ่งทรัพย์สิน
          ในการแบ่งทรัพย์สินนี้ มาตรา 1533 กำหนดให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ถ้าสินสมรสที่มีอยู่ไม่พอใช้หนี้ก็ไม่ต้องแบ่ง ส่วนวิธีการแบ่งก็โดยการแบ่งกันเองหรือการขายแล้วเอาเงินที่ได้มาแบ่งกัน หรือการประมูลราคากันเองระหว่างชายและหญิง หรือขายทอดตลาดก็ได้

          มาตรา 1533  เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน

          มาตรา 1534  สินสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายไปเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวก็ดี จำหน่ายไปโดยเจตนาทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียหายก็ดี จำหน่ายไปโดยมิได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่กฎหมายบังคับว่าการจำหน่ายนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยก็ดี จงใจทำลายให้สูญหายไปก็ดี ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533 และถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้รับส่วนแบ่งสินสมรสไม่ครบตามจำนวนที่ควรจะได้ ให้คู่สมรสฝ่ายที่ได้จำหน่ายหรือจงใจทำลายสินสมรสนั้นชดใช้จากสินสมรสส่วนของตนหรือสินส่วนตัว 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7860/2559  บทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้ และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2857/2558  ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. เมื่อ อ.ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. ย่อมสิ้นสุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 มีผลให้ต้องคิดส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. ตั้งแต่วันที่การสมรสสิ้นไปด้วยเหตุความตายนั้น ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งให้จำเลยที่ 1 และ อ. ได้คนละส่วนเท่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 ที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งส่วนของ อ. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมคือ โจทก์กับบุตรอีก 4 คน ของ อ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 และจำเลยที่ 1 คู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599, 1629 (1) และ 1635 (1) ดังนี้ ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นมรดกของ อ. จึงต้องแบ่งให้แก่ บุตรทุกคนรวมทั้งโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละ 1 ใน 6 จำเลยที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 7 ใน 12 ส่วน และมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่ทายาทโดยธรรม ของ อ. โดยไม่มีค่าตอบแทน เป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ อ. คนหนึ่งย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเฉพาะส่วนของตนและเรียกทรัพย์มรดกของ อ. ในส่วนของตนได้ ตาม ป.พ.พ มาตรา 1300 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 กึ่งหนึ่งของที่ดินพิพาท นั้น จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19772/2557  การสมรสสิ้นสุดด้วยความตาย การหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 และจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ดังนี้ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 การสมรสของโจทก์กับผู้ตายยังมีอยู่ เมื่อคู่ความรับว่าทรัพย์สินตามฟ้องผู้ตายได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์ ย่อมเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย และในทะเบียนหย่าก็ไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานลงลายมือชื่อโจทก์ระบุข้อความว่าโจทก์สละสินสมรสที่ตนมีสิทธิได้ ทั้งกรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนหย่ากัน ต้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวในวันจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และผู้ตายคนละครึ่งหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3786/2546  ประเด็นในการฟ้องหย่าในคดีก่อนมีสาระเป็นเรื่องของสภาพการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา แต่เรื่องการขอแบ่งสินสมรสในคดีหลังเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์สินโดยมีสาระอยู่ที่ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสหรือไม่ จึงเป็นคนละมูลคดีกันแม้จะมีผลมาจากการฟ้องหย่าแต่ก็หาจำต้องขอแบ่งสินสมรสมากับคดีฟ้องหย่าไม่ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าจะต้องฟ้องขอแบ่งสินสมรสมาพร้อมกันกับการฟ้องหย่า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3819/2547 ทรัพย์สินส่วนที่เป็นสินสมรสอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์และจำเลยมีเพียงตึกแถว 2 หลัง การจะให้ขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ซึ่งมีบ้านพักอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยอยู่อีก 1 หลังย่อมเป็นการไม่ชอบ เพราะทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นสินส่วนตัวของจำเลย ไม่ใช่กรรมสิทธิ์รวม แต่หากจะให้ขายทอดตลาดเฉพาะตึกแถว 2 หลัง ที่เป็นสินสมรสแล้วนำเงินมาแบ่งกันก็คาดหมายได้ว่าจะไม่มีผู้ซื้อ หรือถึงจะขายได้ก็จะได้ราคาที่ไม่เหมาะสม เพราะผู้ซื้อไม่มีสิทธิในที่ดิน จึงเห็นควรแบ่งทรัพย์โดยให้ตึกแถว 2 หลังที่เป็นสินสมรส เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และนำค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นถือเป็นสินสมรสอันจะต้องนำมาแบ่งให้แก่โจทก์ตามส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 ประกอบมาตรา 1364
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 960/2552  ข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยซึ่งเป็นสามีภริยาที่ว่าเรื่องทรัพย์สินที่ดิน 21 ตารางวา พร้อมบ้านอันเป็นทรัพย์พิพาท ซึ่งอยู่ระหว่างผ่อนส่งกับบริษัท หากผ่อนส่งชำระเสร็จสิ้นแล้วจะยกกรรมสิทธิ์ให้ฝ่ายหญิง ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าจำเลยยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ร่วมทั้งหมด เพียงแต่ถ้าหากโจทก์ร่วมผ่อนชำระหมดแล้ว โจทก์ร่วมจะยกกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์ร่วมให้แก่จำเลยเท่านั้น เมื่อไม่มีข้อตกลงแบ่งแยกสินสมรสกันไว้ การแบ่งสินสมรสต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533
          โจทก์ร่วมนำทรัพย์พิพาทไปขายให้โจทก์โดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมจึงผูกพันแต่เฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ผลตามกฎหมายจึงมีว่าโจทก์และจำเลยต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์พิพาทคนละเท่าๆ กันในทุกส่วนของทรัพย์พิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากทรัพย์พิพาท และจำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายทรัพย์พิพาทระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้ ในกรณีที่ไม่อาจโอนส่วนกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์และโจทก์ร่วมต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ราคาในส่วนนี้แทน

          อย่างไรก็ตาม ในการแบ่งสินสมรสนี้ ถ้าสินสมรสขาดหายไปก็อาจมีการชดใช้สินสมรสที่ขาดหายไปนั้นได้ตามมาตรา 1534
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6244/2550  บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1522 กำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้เป็นกรณีเฉพาะเมื่อศาลพิพากษาให้หย่าหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ ดังนั้น แม้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง ศาลชั้นต้นก็กำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเป็นรายเดือนจนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะได้ ปัญหาการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังกล่าว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นพิพากษาเป็นประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองของโจทก์จำเลย
          ในการเช่าซื้อรถยนต์พิพาท บิดาโจทก์เป็นผู้วางเงินจองให้ 10,000 บาท และบิดามารดาโจทก์ออกเงินดาวน์ให้อีกส่วนหนึ่ง รถยนต์คันดังกล่าวโจทก์จำเลยได้ออกเงินบางส่วนเป็นค่ารถยนต์ด้วย ทั้งเงินที่บิดามารดาโจทก์ช่วยออกเป็นค่ารถยนต์ ภายหลังก็ไม่ปรากฏว่าบิดามารดาโจทก์ได้ทวงถามให้โจทก์จำเลยชำระหนี้ส่วนนี้แต่อย่างไร แสดงว่าบิดามารดาโจทก์มีเจตนาที่จะออกเงินค่ารถยนต์ส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำเลย รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้มาในระหว่างสมรส เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่ ว. ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากัน โดยจำเลยไม่ทราบเรื่องจึงเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์อันเป็นสินสมรสไปโดยมีเจตนาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1534 ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533 โจทก์ต้องแบ่งสินสมรสดังกล่าวให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง
          แม้การกู้เงินของจำเลยทั้งสองครั้งจะเป็นการกู้หลังจากจำเลยแยกมาอยู่กับบิดามารดาจำเลยแล้ว แต่จำเลยได้นำบุตรไปเลี้ยงดูด้วย จึงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โจทก์เป็นบิดาต้องมีส่วนอุปการะเลี้ยงดูบุตรเช่นกัน จำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้เงินในการกู้ปี 2543 จำเลยได้ระบุในวัตถุประสงค์ขอกู้ว่า ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ และมีหลักฐานใบสั่งซื้อสินค้า ส่วนการกู้ในปี 2546 เป็นการกู้เงินเพื่อเหตุฉุกเฉิน ฟังได้ว่า จำเลยกู้เงินสองครั้งดังกล่าว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของบุตรอันเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครอบครัวและเป็นหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรสจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490



          แม้ว่าจะจดทะเบียบหย่าแล้ว แต่ในเมื่อยังไม่ได้แบ่งสินสมรส ก็ยังสามารถฟ้องแบ่งสินสมรสได้ในภายหลัง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2538  การที่โจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบข้อตกลงหย่าว่า"เรื่องทรัพย์สินไม่มี" แต่ต่อมาภายหลังจดทะเบียนหย่าแล้วโจทก์ทราบว่ามีสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิจะแบ่งได้ตามกฎหมาย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่ง แม้โจทก์จะตั้งสิทธิเรียกร้องในการขอแบ่งว่านิติกรรมหย่าเป็นโมฆียะและคดีฟังไม่ได้ว่าข้อตกลงหย่าเป็นโมฆียะก็ตาม ในการแบ่งสินสมรสศาลย่อมพิพากษาให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 ที่ศาลล่างพิพากษาให้จดทะเบียนโอนหุ้นให้โจทก์ครึ่งหุ้นนั้นแม้จะไม่อาจแบ่งแยกหุ้นออกเป็นครึ่งหุ้นได้ก็ตาม แต่ในการบังคับตามคำพิพากษาในกรณีเช่นนี้เป็นการฟ้องขอแบ่งสินสมรสซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 เว้นแต่ศาลจะพิพากษาเป็นอย่างอื่น เมื่อศาลมิได้พิพากษาเป็นอย่างอื่นหากมีข้อขัดข้องในชั้นบังคับคดีก็ต้องดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4381/2539  โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันแล้วแต่ยังคงอยู่กินฉันสามีภริยาตลอดมาโดยยังมิได้แบ่งสินสมรสกัน หลังจากนั้นจำเลยนำที่ดินสินสมรสไปจำนองและซื้อที่ดิน 3 แปลงและร่วมกันทำประโยชน์จนกระทั่งตกลงเลิกอยู่กินฉันสามีภริยากัน โจทก์จำเลยจึงร่วมกันเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว ต่อมาจำเลยขายที่ดินทั้งสามแปลงแล้วนำเงินไปซื้อที่ดินใหม่ 2 แปลงและรถยนต์ 2 คันพร้อมด้วยสิทธิการเดินรถ ดังนี้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวพร้อมสินสมรสที่ยังมิได้แบ่งด้วยกึ่งหนึ่ง



          3. ความรับผิดในหนี้สิน


          เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ชายและหญิงต้องแบ่งความรับผิดในหนี้สินร่วมกันคนละครึ่ง ตามมาตรา 1535 ถ้าฝ่่ายใดชำระหนี้ร่วมแทนไปแล้วก็มาไล่เบี้ยแบ่งความรับผิดเอาจากอีกฝ่ายได้อีกครึ่งหนึ่ง

          มาตรา 1535  เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกันตามส่วนเท่ากัน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2980/2533  การที่จำเลยเมาสุรากลับเข้าบ้านและด่า โจทก์ว่า "มึงเลว มึงมีชู้ ไม่สมควรอยู่กับกู แม่มึงไม่ดี ไม่เคยสั่งสอน" แล้วจำเลยยังได้ตบ ตีโจทก์ได้รับบาดเจ็บบริเวณขอบตาซ้าย จนโจทก์ต้องรับการรักษาจากแพทย์ในวันรุ่งขึ้น โจทก์ต้องออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับน้องสาวเพราะได้รับความคับแค้นใจจากการอยู่กินกับจำเลยนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์และบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรง พร้อมทั้งเป็นการทำร้ายร่างกายโจทก์ จึงมีเหตุให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยได้ จำเลยกู้เงินบุคคลภายนอกมาใช้จ่ายเกี่ยวกับที่ดินและบ้านซึ่งเป็นสินสมรสโดยโจทก์มีส่วนรู้เห็นในการกู้เงินดังกล่าวโจทก์จึงต้องร่วมกับจำเลยในการชำระหนี้รายนี้ ฉะนั้นศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ศาลย่อมกำหนดให้โจทก์จำเลยร่วมกันรับผิดชำระหนี้รายนี้คนละครึ่งได้.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2556  ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอาจกระทำในขณะจดทะเบียนหย่า โดยให้นายทะเบียนบันทึกไว้หรือไม่ก็ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ๆ กำหนดให้ความตกลงในการแบ่งสินสมรสต้องกระทำต่อหน้านายทะเบียนหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การจะฟังว่ามีข้อตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากพยานทั้งสองฝ่ายประกอบกับพฤติการณ์ของแต่ละคดีไป พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยต่างครอบครองสินสมรสแต่ละรายการต่างหากจากกัน และมีภาระการผ่อนชำระหนี้ในทรัพย์สินที่ตนถือครองกรรมสิทธิ์อยู่ภายหลังการหย่าจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาเกือบ 5 ปี แม้ไม่มีหลักฐานข้อตกลงแบ่งสินสมรสในขณะจดทะเบียนหย่า แต่ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาโดยให้สินสมรสทั้งสองรายการรวมทั้งหนี้สินตกแก่จำเลย การที่โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างกัน มีผลให้แต่ละฝ่ายได้รับทรัพย์สินและมีภาระหนี้ต้องชำระหนี้สินซึ่งเป็นหนี้ร่วมมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งผิดแผกแตกต่างจาก ป.พ.พ. มาตรา 1533 และมาตรา 1535 บัญญัติไว้ แต่มิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลบังคับและไม่ตกเป็นโมฆะ


การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์



          (1) ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตามมาตรา 14(1)
          
          ต้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาพิเศษด้วย กล่าวคือ ต้องมีเจตนาพิเศษ “โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง” จึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5764/2562  ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า “(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า “(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาพิเศษด้วย กล่าวคือ ต้องมีเจตนาพิเศษ “โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง” จึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยเป็นผู้นำข่าวอันเป็นเท็จลงในเว็บไซต์ที่จำเลยเป็นผู้ดูแล โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริตหรือหลอกลวง แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (เดิม) แต่ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (ที่แก้ไขใหม่) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 จึงเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

          บุคคลผู้เป็นเจ้าของสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยเปิดเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ เป็นผู้นำเสนอข่าวสารทางระบบคอมพิวเตอร์ในนามของตนเอง เจ้าของสื่อย่อมเป็นผู้ให้บริการตามบทนิยามของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และการที่เว็บไซต์เสนอข่าวใด ๆ ย่อมถือว่าเจ้าของสื่อในฐานะเจ้าของและเป็นผู้ให้บริการ ยินยอมให้มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวแล้ว เมื่อข่าวสารเป็นข้อมูลเท็จ เจ้าของสื่อซึ่งเป็นผู้ให้บริการยินยอมให้มีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 (1) 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2560  จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์ ม.ออนไลน์ เป็นผู้นำเสนอข่าวสารทางระบบคอมพิวเตอร์ในนามของตนเอง คือเว็บไซต์ ม.ออนไลน์ จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้ให้บริการตามบทนิยามของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และการที่เว็บไซต์ ม.ออนไลน์เสนอข่าวใด ๆ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของและเป็นผู้ให้บริการ ยินยอมให้มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้มอบให้บุคคลอื่นควบคุมดูแลบริหารจัดการเว็บไซต์โดยจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องกับข่าวดังกล่าวเลยหาได้ไม่ เพราะบทกฎหมายข้างต้นมีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์จะควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ให้บริการโดยเฉพาะ
          โจทก์มิได้เป็นแกนนำหรือเข้าร่วมการชุมนุมตามข่าวที่ปรากฏ ถือได้ว่าข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวโจทก์เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ เมื่อข่าวดังกล่าวระบุว่าการชุมนุมมีการนำรถบรรทุกสิบล้อมาปิดถนน อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้รถทุกประเภทไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งตามข่าวระบุว่าเป็นแกนนำการชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้บริการยินยอมให้มีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 (1)
          

          (2) ความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก ตามมาตรา 14(4)

          ถ้าการนำภาพและวิดีโอลามกส่งเข้าระบบคอมพิวเตอร์นั้น มีเพียงผู้ส่งและผู้เสียหายเท่านั้นที่ดูได้ แต่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าดูได้หากไม่ทราบรหัส ก็ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2561  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำภาพและวิดีโอลามกส่งเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ส่งให้บุตรสาวโจทก์ดูเพื่อประจานโจทก์ ซึ่งมีเพียงจำเลยและบุตรสาวโจทก์เท่านั้นที่มีรหัสในการเข้าดูประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าดูได้หากไม่ทราบรหัส จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4)
          จำเลยส่งข้อความทางผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตถึงโจทก์หลายครั้ง ขู่เข็ญโจทก์ให้จ่ายเงินจำเลย มิเช่นนั้นจะเปิดเผยความลับรูปภาพและวิดีโอที่โจทก์ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ในขณะที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากจำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหายครบองค์ประกอบความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมมอบเงินให้ตามที่จำเลยขู่เข็ญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์


          บทนิยามศัพท์ (มาตรา 3)

          “ระบบคอมพิวเตอร์” หมายความว่า อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ

          “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

          “ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลา ชนิดของบริการ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์นั้น

          “ผู้ให้บริการ” หมายความว่า
          (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
          (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น

          “ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม


          ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 

          มาตรา 5 "ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 6 "ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 7 "ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 8 "ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 9 "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 10 "ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 11 "ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
          ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
          ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดลักษณะและวิธีการส่ง รวมทั้งลักษณะและปริมาณของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับ
และลักษณะอันเป็นการบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย"

          มาตรา 12 "ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 หรือมาตรา 11 เป็นการกระทําต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
          ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
          ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 เป็นการกระทําต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาท
ถึงสามแสนบาท
          ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสามโดยมิได้มีเจตนาฆ่า แต่เป็นเหตุให้บุคคลอื่น
ถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท"

          มาตรา 12/1 "ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
          ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 โดยมิได้มีเจตนาฆ่า แต่เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท"

          มาตรา 13 "ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 หรือมาตรา 11 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ผู้ใดจําหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคําสั่งที่จัดทําขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนําไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทําความผิดตามมาตรา 12 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
          ผู้ใดจําหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคําสั่งที่จัดทําขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนําไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทําความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 หรือมาตรา 11 หากผู้นําไปใช้ได้กระทําความผิดตามมาตรา 12 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม หรือต้องรับผิดตามมาตรา 12 วรรคสองหรือวรรคสี่ หรือมาตรา 12/1 ผู้จําหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคําสั่งดังกล่าวจะต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกําหนดโทษสูงขึ้นด้วย ก็เฉพาะเมื่อตนได้รู้หรืออาจเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลเช่นที่เกิดขึ้นนั้น
          ผู้ใดจําหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคําสั่งที่จัดทําขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนําไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทํา
ความผิดตามมาตรา 12 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม หากผู้นําไปใช้ได้กระทําความผิดตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม หรือต้องรับผิดตามมาตรา 12 วรรคสองหรือวรรคสี่ หรือมาตรา 12/1 ผู้จําหน่าย
หรือเผยแพร่ชุดคําสั่งดังกล่าวต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกําหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย
          ในกรณีที่ผู้จําหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคําสั่งผู้ใดต้องรับผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง และตามวรรคสาม หรือวรรคสี่ด้วย ให้ผู้นั้นต้องรับโทษที่มีอัตราโทษสูงที่สุดแต่กระทงเดียว"

          มาตรา 14 "ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
          (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
          (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
          (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
          (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
          (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
          ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้"

          มาตรา 15 "ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทําความผิด
ตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตามมาตรา 14

          ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทําให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์
          ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้อง
รับโทษ"

          มาตรา 16 "ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์
ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง
ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น
ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
          ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําต่อภาพของผู้ตาย และการกระทํานั้นน่าจะทําให้บิดา
มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย
ผู้กระทําต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง
          ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยสุจริตอันเป็น
การติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา ผู้กระทำไม่มีความผิด
          ความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นความผิดอันยอมความได้
          ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส
หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย"

          มาตรา 16/1 "ในคดีความผิดตามมาตรา 14 หรือมาตรา 16 ซึ่งมีคําพิพากษาว่าจําเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง
          (1) ให้ทําลายข้อมูลตามมาตราดังกล่าว
          (2) ให้โฆษณาหรือเผยแพร่คําพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ตามที่ศาลเห็นสมควร โดยให้จําเลยเป็นผู้ชําระค่าโฆษณา หรือเผยแพร่
          (3) ให้ดําเนินการอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทําความผิดนั้น"

          มาตรา 16/2 "ผู้ใดรู้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ในความครอบครองของตนเป็นข้อมูลที่ศาลสั่งให้ทําลาย
ตามมาตรา 16/1 ผู้นั้นต้องทําลายข้อมูลดังกล่าว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้
ในมาตรา 14 หรือมาตรา 16 แล้วแต่กรณี"

          มาตรา 17 "ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักรและ
          (1) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหาย
ได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
          (2) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหาย
ได้ร้องขอให้ลงโทษจะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร"

          มาตรา 17/1 "ความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 11 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง มาตรา 16/2 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 27 ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง มีอํานาจเปรียบเทียบได้
          คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้มีจํานวนสามคน ซึ่งคนหนึ่งต้องเป็น
พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทําการเปรียบเทียบกรณีใดและผู้ต้องหาได้ชําระเงินค่าปรับตามคําเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบกําหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ชําระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กําหนด ให้เริ่มนับอายุความในการฟ้องคดีใหม่นับตั้งแต่วันที่ครบกําหนดระยะเวลาดังกล่าว"


การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก


          กรณีผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควร ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดย่อมจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ โดยจะต้องร้องขอต่อศาลเสียก่อนที่การปันมรดกจะเสร็จสิ้นลง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1727

          มาตรา 1727  "ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง
          แม้ถึงว่าจะได้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ดี ผู้จัดการมรดกจะลาออกจากตำแหน่งโดยมีเหตุอันสมควรก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล"

          1. ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2559  พินัยกรรมของ พ. ที่ว่า ทรัพย์เหล่านี้ขอยกให้ผู้ตายรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมขอยกให้ผู้ร้องรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ถือเป็นข้อกำหนดตั้งผู้รับพินัยกรรม คือผู้ตายและผู้ร้องตามลำดับ ข้อความในพินัยกรรมทั้งสองในส่วนที่ว่า รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไปนั้น เป็นเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมแก่บุคคลอื่น ป.พ.พ. มาตรา 1707 ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย เมื่อพินัยกรรมกำหนดให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของ พ. ตกได้แก่ผู้ตายเพียงคนเดียวและผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว โดยข้อความต่อท้ายที่ว่า "ให้รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป" ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นอันไม่มีเลย ผู้คัดค้านย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีจึงถือว่าผู้คัดค้านมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14777/2558  พินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสาม คือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ. และเด็กหญิง ก. ดังนั้นแม้จะฟังว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6628/2550  การที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 342 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 และผู้ตายเป็นเจ้าของร่วมกัน เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เลิกร้างกับผู้ตายแล้วได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดโดยผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิครอบครองเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินในส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิครอบครองนี้ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายที่จะมาร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หากผู้คัดค้านที่ 1 มีข้อโต้แย้งอย่างใดหรือผู้ร้องได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 342 ดังกล่าวอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิครอบครองของผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำร้องขอ ก็ชอบที่จะไปฟ้องเป็นคดีใหม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2548  การที่โจทก์อ้างว่าเป็นสามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของ ส. เจ้ามรดกและมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกเพราะทำมาหาได้ร่วมกัน ถือว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้

          2. ผู้มีส่วนได้เสียต้องร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกเสียก่อนที่การปันมรดกจะเสร็จสิ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2150/2561 (ประชุมใหญ่) การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องได้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้วโดยไม่มีทรัพย์มรดกของผู้ตายหลงเหลือให้จัดการอีกต่อไป จึงถือได้ว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว แม้ผู้คัดค้านจะอ้างเหตุว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยมีเจตนาทุจริตปกปิดผู้คัดค้านและบุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ทั้งได้โอนทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ หรือมีเหตุอื่นตามกฎหมายอันอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าการปันมรดกรายดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2561)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2559  ผู้ตายเป็นผู้จัดการปกครองดูแลศาลจ้าวใต้เซียฮุดโจ๊วจะต้องมีคุณสมบัติตามกฎเสนาบดีฯ ข้างต้น ซึ่งเป็นการประกอบกิจการอาชีพอันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ย่อมไม่เป็นมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 อันจะตกแก่ทายาทตาม มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง
          ตามพินัยกรรมที่ผู้ตายทำเมื่อไม่มีทรัพย์สินที่ตามพินัยกรรมที่จะปันแก่ทายาท และทรัพย์สินนอกพินัยกรรมของผู้ตายก็ไม่มีแล้ว การจัดการมรดกของผู้ตายโดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกย่อมเสร็จสิ้น ผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13399/2556 การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดในกองมรดกต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการปันทรัพย์มรดกรายนี้ได้เสร็จสิ้นลงแล้วก่อนที่ผู้คัดค้านจะมายื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น เพราะผู้ร้องยักยอกทรัพย์มรดกไปเป็นของผู้ร้องและสามีเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการจัดการมรดกโดยทุจริตไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้ออ้างดังกล่าวอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม แต่หาเป็นเหตุทำให้การจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นลงแต่อย่างใด ไม่เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับเป็นการขยายอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ออกไปอีกไม่สิ้นสุดเพราะเหตุที่กองมรดกอยู่ในระหว่างจัดการโดยมีผู้จัดการมรดกครอบครองแทนตามมาตรา 1748

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12752/2556  กิจการโรงเรียน ป. นั้น เป็นเพียงการงานอาชีพของผู้ตายและผู้ร้องที่ร่วมประกอบกิจการเท่านั้น อันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้และไม่ตกทอดเป็นมรดกอันจะต้องมาแบ่งปันกัน ส่วนอาคารของโรงเรียนซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินตามเอกสารหมาย ร.6 หรือ ค.4 ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมก็รับโอนมาแล้ว การที่ผู้ร้องนัดประชุมเพื่อตั้งมูลนิธิหรือจดทะเบียนโรงเรียนเป็นนิติบุคคลตามที่ผู้ตายเคยสั่งเสียด้วยวาจาก่อนตายก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมแบบทำด้วยวาจาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1663 เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์พิเศษอันเป็นเงื่อนไขของบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อคู่คัดค้านมายื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว จึงต้องห้ามตามมาตรา 1727

          3. มูลเหตุที่ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกจึงมีอยู่ 2 กรณี คือ
          (1) ผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือ
          (2) มีเหตุอย่างอื่นที่สมควรถอนผู้จัดการมรดก

          (1) กรณีผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หมายความว่า ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกซึ่งกฎหมายบังคับไว้ เช่น หน้าที่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1728 หน้าที่แจ้งหนี้อันเป็นคุณหรือโทษระหว่างผู้จัดการมรดกกับกองมรดก หน้าที่หาประกันในการจัดการมรดกและแถลงความเป็นไปในการจัดการมรดกแก่ทายาท ตามมาตรา 1730 หน้าที่ฟ้องคดีหรือแก้ฟ้อง รวมทั้งเรียกเก็บหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดก ตามมาตรา 1736 วรรคสอง หรือหน้าที่ทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม ทายาทโดยจำนวนข้างมาก หรือศาลจะได้กำหนดเวลาให้ไว้เป็นอย่างอื่น ตามมาตรา 1732 เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9317/2556  ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งอ้างเหตุเพียงประการเดียวว่า ผู้ร้องไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในเวลาอันสมควร ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีและแบ่งปันมรดกให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา 1728" แสดงว่า ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการแบ่งปันมรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี หากไม่ดำเนินการในเวลาดังกล่าวอาจถูกศาลถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายในหนึ่งปี การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกก่อนที่จะครบกำหนดเวลาหนึ่งปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องกระทำผิดหน้าที่ไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดอันจะเป็นเหตุให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 และจะถือว่าผู้ร้องไม่มีความสามารถตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 (2) อันจะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ในวันที่ผู้คัดค้านยื่นร้องขอ จึงยังไม่มีเหตุตามคำร้องขอ ที่จะถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือจำต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ต่อมาระหว่างการพิจารณาผู้ร้องยังไม่แบ่งทรัพย์มรดกก็เป็นเหตุการณ์ภายหลังอันจะถือว่าเป็นเหตุตามคำร้องขอหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18893/2555  ป.พ.พ. มาตรา 1726 บัญญัติว่า "ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก...ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด" ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาล การฟ้องคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกประการหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์แต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจยื่นฟ้องเพียงลำพัง แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นปฏิปักษ์และเสียหายต่อกองมรดกก็ตาม เพราะโจทก์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุขัดข้องเพื่อขออนุญาตฟ้องหรือขอให้ศาลถอดถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ได้ นอกจากนี้โจทก์อาจใช้สิทธิความเป็นทายาทฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการจัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6847/2555  ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างร้องขอให้ถอนอีกฝ่ายจากการเป็นผู้จัดการมรดกร่วม ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนผู้คัดค้านโดยอ้างว่า ผู้คัดค้านไม่ให้ความร่วมมือโดยไม่ยอมลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินมรดกจากบัญชีเงินฝากของผู้ตายโดยไม่มีเหตุอันสมควร ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านยอมลงชื่อถอนเงินฝากของผู้ตายแล้วบัญชีหนึ่ง โดยผู้ร้องตกลงว่าจะแบ่งเงินให้ผู้คัดค้าน 10,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่แบ่งให้ตามตกลง การที่ผู้คัดค้านไม่ยินยอมลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินให้อีก ยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านละเลยไม่ทำตามหน้าที่ ไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้คัดค้านออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก แต่การที่ผู้ร้องเบิกเงินของผู้ตายออกจากบัญชีธนาคาร ก. ไปเพียงผู้เดียวโดยไม่แบ่งให้แก่ผู้คัดค้าน ถือได้ว่าผู้ร้องละเลยมิได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก หากให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านต่อไปจะล่าช้าติดขัดก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงมีเหตุสมควรให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9217/2547  ป.พ.พ. มาตรา 1716 บัญญัติว่า หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว และมาตรา 1728 (2) บัญญัติว่า ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1716 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน คงมีแต่ฝ่ายผู้ร้องที่ขวนขวายจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกและติดต่อฝ่ายผู้คัดค้านเพียงฝ่ายเดียวแม้ผู้คัดค้านพอมีเหตุผลในข้อขัดข้อง โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ไปตามนัดเพื่อร่วมจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตาย เพราะเหตุติดไปท่องเที่ยวตามที่ได้ซื้อตั๋วทัวร์ไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อผู้คัดค้านตอบขัดข้องแล้ว ก็น่าจะเป็นฝ่ายกำหนดวันสะดวกแจ้งแก่ฝ่ายผู้ร้องบ้าง หาใช่ถือเป็นภาระหน้าที่ของผู้ร้องฝ่ายเดียวไม่ เพราะเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกันกระทำภารกิจให้ลุล่วง นอกจากนี้เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อผู้ร้องได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตายเสนอศาลชั้นต้น ซึ่งผู้คัดค้านได้ไปขอถ่ายสำเนาแล้วคงค้านแต่เพียงทรัพย์สินรายการเดียวว่าไม่ใช่มรดกของผู้ตาย หากเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านและเบิกความรับว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้อง กับตอบคำถามค้านทนายผู้ร้องโดยรับว่าผู้คัดค้านไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับกิจการร้านค้าของผู้ตายนับแต่ปี 2541 และผู้คัดค้านมีอายุถึง 80 ปี ในปี 2547 แล้วเช่นนี้ หากยังคงให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การจัดการมรดกจะยังคงมีปัญหาและไม่ลุล่วงตามที่ควรกรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง


          (2) มีเหตุอย่างอื่นที่สมควรถอนผู้จัดการมรดก เช่น ผู้จัดการมรดกมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริต เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4703/2552  แม้การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกกฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องยื่นบัญชีเครือญาติพร้อมไปกับคำร้องก็ตาม แต่การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคท้าย บัญญัติให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม ถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และมาตรา 1719 บัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้จัดการมรดกจึงเป็นบุคคลที่เจ้ามรดกให้ความไว้วางใจหรือเป็นบุคคลที่ศาลเห็นว่าน่าจะจัดการเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกมากที่สุดและให้สมดังเจตนาของเจ้ามรดก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิเคราะห์ดูจากพฤติการณ์และความสุจริตใจของผู้ร้องขอเป็นสำคัญ เมื่อฟังว่าผู้ร้องมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริต แสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จเพื่อปิดบังข้อเท็จจริงในเรื่องจำนวนทายาทของผู้ตายอันอาจเป็นการเสียหายแก่ทายาทของผู้ตายที่ถูกปิดบังเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นเหตุอย่างอื่นอันสมควรที่ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งได้แล้ว
          นับแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องไม่เคยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นเลย ซึ่งเมื่อนับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก จนถึงวันที่ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นเวลาถึง 2 ปีเศษ จึงเป็นระยะเวลานานพอสมควรที่ผู้ร้องจะสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นได้แล้ว การที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นของผู้ตายจนเวลาล่วงเลยมาหลายปีแล้วเช่นนี้ ถือได้ว่าผู้ร้องทำผิดหน้าที่และละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกอันเป็นเหตุอย่างอื่นที่ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง

          4. ถ้าผู้จัดการมรดกไม่ได้ละเลยการตามหน้าที่หรือไม่มีเหตุอย่างอื่นที่สมควร ก็ไม่มีเหตุให้ถอดถอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6911/2560  คดีนี้ ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 และข้อ 6 มีเงื่อนไขบังคับก่อนให้ทายาททุกคนที่เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความและผู้ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาต้องเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายร่วมกับทายาทอื่นในการจดทะเบียนโอนที่ดิน และตามข้อ 6 ศ. ต้องออกค่าใช้จ่ายในการรับโอนที่ดินและทาวน์เฮาส์ แต่ทายาททุกคนรวมทั้ง ศ. ไม่ออกค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน ผู้ร้องจึงไม่อาจทำหน้าที่แบ่งมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ถึงข้อ 6 ได้ ทั้งผู้คัดค้านไม่ยอมรับโอนที่ดินส่วนของตนและได้อายัดที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน แต่ไม่ใช้สิทธิทางศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินจึงเพิกถอนการอายัด ทนายผู้ร้องมีหนังสือลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 แล้วให้ผู้คัดค้านไปรับโอนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องได้พยายามดำเนินการแบ่งปันมรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกแล้ว กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ผู้คัดค้านจะเป็นทายาท ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งของกองมรดก แต่การมอบหน้าที่ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียวอาจกระทบถึงสิทธิของทายาทคนอื่นของกองมรดกได้ ดังนั้น หากผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่อาจร่วมกันจัดการมรดกของผู้ตายได้ ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดได้ หรือหากฝ่ายใดกระทำผิดหน้าที่หรือละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน รวมทั้งทายาทคนอื่นก็สามารถยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไปได้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2560  เมื่อผู้ตายยังมีทายาทโดยธรรมและร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเข้ามาเช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมย่อมสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยิ่งกว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นเพียงเจ้าของรวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันมากับผู้ตายในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ทั้งทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ตายถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นของมารดาผู้คัดค้านและผู้ตาย เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน และเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย แสดงว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของผู้ตายเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกและผู้คัดค้านเอง ไม่ใช่กระทำไปเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการรวบรวม จัดการและแบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย นอกจากนี้ในคดีที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิตนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องของผู้คัดค้านด้วยเหตุผลว่าผู้คัดค้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลอมลายมือชื่อของผู้ตาย น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านวางแผนทำสัญญาประกันชีวิตให้ผู้ตายเพื่อต้องการได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขในกรมธรรม์มากกว่าทำสัญญาประกันชีวิตเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ผู้ตาย ผู้คัดค้านใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน และผู้ร้องยังฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลชั้นต้นในข้อหาเบิกความเท็จ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีที่ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ยิ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          การที่ศาลใช้ดุลพินิจตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น นอกจากจะต้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ศาลยังจะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการนั้นด้วย ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์จากการทำสัญญาประกันชีวิตของผู้ตายแต่ผู้เดียวสูงถึง 22,000,000 บาทเศษ อันเป็นเรื่องผิดปกติทั้งๆ ที่ผู้คัดค้านเป็นภริยาซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาก่อนผู้ตายจะเสียชีวิตเพียง 2 ปีเศษ อีกทั้งสาเหตุที่ผู้ตายถูกคนร้ายยิงจนถึงแก่ความตายยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าผู้คัดค้านมีส่วนรู้เห็นที่ผู้ตายถูกยิงหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยถึงความน่าเชื่อถือในตัวผู้คัดค้านว่าสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ส่วนการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย และกิจการโรงเรียนกวดวิชาขาดทุนและปิดกิจการไปแล้ว ประกอบกับการที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านข้อหาเบิกความเท็จ แสดงว่าต่างมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย การจัดการมรดกร่วมกันมีข้อขัดข้อง ไม่อาจจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันต่อไปได้ ทั้งหมดเหล่านี้ย่อมเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการต่อไปประกอบการตั้งผู้จัดการมรดกหรือการเพิกถอนผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่ง ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน และเมื่อประเด็นที่ว่า ผู้คัดค้านละเลยต่อหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9929/2551  ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว การที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกจึงต้องมีเหตุตามกฎหมาย คือ ผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 แต่ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้เรียกร้องให้ผู้ร้องแบ่งทรัพย์มรดกให้ผู้คัดค้านแต่อย่างใด จึงไม่อาจถือว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ และได้ความว่าที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย แม้หากจะฟังว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์ส่วนของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องก็ยังคงมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ จึงไม่มีเหตุอย่างอื่นที่สมควรจะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6473/2548  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่เหตุที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างว่าทรัพย์สินตามคำร้องมิใช่ทรัพย์ของเจ้ามรดกแต่เป็นของผู้คัดค้าน มิใช่เหตุตามกฎหมายดังกล่าวอันจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4410/2547  ผู้ขอถอดถอนเป็นทายาทเจ้ามรดกอ้างว่าเงินในบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารเป็นทรัพย์มรดกทั้งหมด แต่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอ้างว่ามีสิทธิในเงินฝากดังกล่าวหนึ่งในสี่ส่วน และไม่ยอมลงลายมือชื่อถอนเงินดังกล่าวมาแบ่งปันให้แก่ทายาท ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้ช่วยไกล่เกลี่ย ผลการไกล่เกลี่ยตกลงกันว่าให้กันเงินตามส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์เฉพาะตนไว้ในบัญชีที่เหลือนอกนั้นคงถอนมาแบ่งกันตามส่วนของทายาท ซึ่งผู้ร้องได้จัดการเสร็จสิ้นแล้ว พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ขอถอดถอนเท่านั้น แต่หาใช่เหตุที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้ละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2542  แม้ผู้คัดค้านเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินมรดกจากธนาคารก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านไม่ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องย่อมไม่สามารถจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทได้การที่ผู้คัดค้านเป็นผู้ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินจากธนาคารไม่ใช่เหตุที่จะอ้างไม่ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การที่ผู้ร้องไม่สามารถจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่ความผิดของผู้ร้อง นอกจากนี้ผู้คัดค้านเป็นบุตรเจ้ามรดก ส่วนผู้ร้องเป็นมารดาผู้คัดค้านและเป็นภริยาเจ้ามรดกและทุกฝ่ายทราบดีอยู่แล้วว่าทรัพย์มรดกมีอะไรบ้าง การที่ผู้ร้องไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกจึงไม่พอฟังว่าผู้ร้องมีเจตนาปิดบังทรัพย์มรดก ส่วนเรื่องผู้ร้องไม่เรียกประชุมทายาทก็ปรากฏว่าทายาทของเจ้ามรดกบางคนอยู่ต่างประเทศบางคนอยู่ต่างจังหวัดจึงเป็นการยากที่จะจัดประชุมทายาทดังนั้น ที่ผู้ร้องไม่จัดประชุมทายาทเพราะเหตุดังกล่าวมาจึงไม่พอฟังว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ และแม้ผู้ร้องจะไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1728 และ 1729 บัญญัติไว้ก็ตาม แต่มาตรา 1731 ก็ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า มีเหตุสมควรจะถอนผู้จัดการมรดกเพียงใดหรือไม่ ซึ่งตามพฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่มีเหตุผลสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก 

ความสิ้นสุดจากการเป็นผู้จัดการมรดก


          เมื่อเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ความเป็นผู้จัดการมรดกก็อาจสิ้นสุดลงได้ด้วยเหตุดังต่อไปนี้


          1. เมื่อผู้จัดการมรดกตาย เนื่องจากสิทธิในการเป็นผู้จัดการมรดกนั้นเป็นสิทธิเฉพาะตัว ดังนั้น เมื่อผู้จัดการมรดกตายลงทายาทของผู้จัดการมรดกจึงไม่สามารถจะเข้ามาทำหน้าที่ต่อไปได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 96/2516  การเป็นผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ที่ได้รับการตั้ง เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกถึงแก่กรรม การเป็นผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงด้วย จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาฎีกาของจำเลยว่าสมควรจะถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ อีกต่อไป จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลฎีกา คืนค่าตัดสินและค่าคำบังคับ 

          2. เมื่อผู้จัดการมรดกลาออก หมายความว่า เมื่อผู้จัดการมรดกนั้นเข้ารับหน้าที่แล้ว แต่ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลนั้น การลาออกจะมีผลต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล ถ้ายังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ลาออกแล้วความเป็นผู้จัดการมรดกก็ยังไม่สิ้นสุดลง หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในระหว่างนี้ ผู้จัดการมรดกก็ต้องรับผิดชอบ



          3. ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดก แต่การยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกต้องยื่นก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้นตามมาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5374/2552   คำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนระบุว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นไม่จัดการโอนทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ทำให้ทายาทอื่นที่จะได้รับส่วนแบ่งในกองมรดกได้รับความเสียหาย โดยผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านเป็นทำนองปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เนื้อหาตามคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 2 จึงแสดงรายละเอียดชัดเจนแล้วว่า ผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้มายื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นจำต้องไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 เพื่อฟังพยานหลักฐานจากผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องให้ครบถ้วนกระบวนความเสียก่อนว่า ผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ตามคำร้องขอหรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควรที่ศาลจะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งผู้ร้องได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1728 ถึง 1733 ซึ่งถือเป็นสาเหตุอย่างอื่นที่ศาลอาจเห็นว่าเป็นเหตุสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเสียก็ได้หรือไม่ โดยมิพักต้องคำนึงถึงว่าผู้คัดค้านที่ 2 มีเนื้อหาและประเด็นอย่างเดียวกันกับคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเคยยื่นคำร้องขอแล้วได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ร้องและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุดไปแล้วหรือไม่ เพราะในกรณีเช่นนี้ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 เป็นการเฉพาะตัวของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละคน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ

          4. ผู้จัดการมรดกตกเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น กลายเป็นบุคคลล้มละลาย ความเป็นผู้จัดการมรดดกก็สิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2538   เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง ย.เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ต่อมา ย.ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายย่อมขาดคุณสมบัติการเป็นผู้จัดการมรดก ทำให้กองมรดกของผู้ตายไม่มีผู้จัดการมรดก แม้ขณะที่ ย.เป็นผู้จัดการมรดกอยู่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันมรดกกับทายาทบางคน ก็ไม่ปรากฏว่า ย.ได้แบ่งทรัพย์มรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความเรียบร้อยแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ทายาทอีกสองคนคือ ก.และ พ. มิได้ตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย ดังนั้น การจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงมีเหตุขัดข้องต้องตั้งผู้จัดการมรดกอีก

          5. การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คือ เมื่อมีการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีมรดกอะไรให้จัดการอีกต่อไป ความเป็นผู้จัดการมรดกก็สิ้นสุดลง และเป็นการเริ่มต้นนับอายุความจัดการมรดก 5 ปี ซึ่งเป็นกรณีที่ทายาทจะมีสิทธิฟ้องผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่เกิดความเสียหายแก่ทายาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2551  เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ถือว่าผู้จัดการมรดกเป็นผู้ถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน และมีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 หากผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยมิชอบขัดต่อกฎหมายและถึงแก่ความตายก่อนจัดการมรดกเสร็จสิ้น ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของทายาทย่อมฟ้องผู้จัดการมรดกที่ศาลแต่งตั้งขึ้นใหม่ให้จัดการแก้ไขแบ่งทรัพย์มรดกให้ถูกต้องได้ภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคท้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9018/2547   เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งตามคำฟ้องและจากการตรวจสอบของโจทก์ทั้งสามว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนให้แก่ตนเองเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์มรดกอื่นอีก ดังนี้ ย่อมเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 182 (4) โดยไม่จำต้องทำการชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์จำเลยก่อน และการที่ทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินพิพาท 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมรดกตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2535 ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสามซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเห็นว่าการจัดการมรดกไม่ชอบโจทก์ทั้งสามก็ฟ้องภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คือภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2540 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2544 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

          แต่ในกรณีที่การแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น การจัดการมรดกก็ยังไม่ถือว่าสิ้นสุดลง จึงยังไม่เริ่มนับอายุความจัดการมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14882/2558   การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพียงอย่างเดียวของเจ้ามรดกมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองด้วย แม้หลังจากนั้นจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว ก็จะถือว่าจำเลยในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินพิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวหาได้ไม่ เพราะจำเลยยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือตามที่ทายาทตกลงกัน ก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น จึงจะนำอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16430/2557   อ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับ และถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาท โดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และ พ. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 และมาตรา 1384



          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13705/2557   ร. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฟ. จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะส่วนตัว โดยไม่ปรากฏว่า ร. ได้บอกกล่าวทายาทของ ฟ. ทุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวโดยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ย่อมถือได้ว่า ร. ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ฟ. แทนทายาทอื่นและเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกจนกระทั่ง ร. ถึงแก่ความตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาจาก ร. ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ฟ. เช่นเดียวกัน ประกอบกับที่ดินของ ฟ. อีกแปลงหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าได้มีการแบ่งปันแก่ทายาทแล้ว แสดงว่าทรัพย์มรดกของ ฟ. ยังจะต้องมีการแบ่งปันแก่ทายาท การจัดการมรดกของ ฟ. ยังไม่เสร็จสิ้น อายุความที่ห้ามมิให้ทายาทฟ้องภายในห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงจึงยังไม่เริ่มนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิติดตามเอาที่ดินพิพาทคืนเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทได้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8985/2557   ในการวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง นั้น จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติเสียก่อนว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ และเสร็จสิ้นลงเมื่อใด เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การว่าได้เรียกประชุมทายาทเพื่อจัดการมรดกและทายาทตกลงกันว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้แก่บริษัท ท. ทั้งหมด โดยทายาทอื่นไม่ต้องรับผิดชอบ และต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากบริษัท ท. และจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกแล้ว อันเป็นการให้การต่อสู้ว่าโจทก์ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่โจทก์และทายาทอื่นได้ตกลงกันไว้ ซึ่งหากเป็นความจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ก็ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองทรัพย์มรดกและโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ยุติเสียก่อนว่า ได้มีการตกลงกันเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะหากไม่มีการตกลงกันดังกล่าวไว้ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินอันเป็นมรดกมาเป็นของตัวเองและจำเลยที่ 2 และโอนไปยังจำเลยที่ 3 นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบ การครอบครองที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกจึงถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นและถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นด่วนงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามกับจำเลยร่วมทั้งสิบเอ็ด และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดอายุความตามมาตรา 1754 และพิพากษายกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4264/2557  โจทก์ฟ้องว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ปรากฏว่านับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 13 ปี จำเลยมิได้ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมและทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมรวมทั้งดอกผลของทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และทายาททั้งหมด โจทก์เคยบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามคำขอท้ายฟ้องให้โจทก์ จำเลยให้การว่า ที่ดินและตึกแถวอันเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โจทก์ จำเลย และทายาทของ ส. ทุกคนได้ประชุมตกลงทำสัญญาแบ่งปันมรดกกันเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2536 หลังทำสัญญาดังกล่าว โจทก์และทายาทคนอื่นไม่สนใจเข้าไปครอบครองดูแลทรัพย์มรดกในส่วนของตน จำเลยจึงเข้าครอบครองเพื่อตนเองต่อเนื่องตลอดมาถึงปัจจุบัน สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงตกแก่จำเลยโดยสมบูรณ์ โจทก์เสียสิทธิในการรับทรัพย์มรดกทั้งหมดของ ส. โดยอายุความแล้ว แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ยังมิได้ดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้รับมรดก ถือว่าการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4116/2550  โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาล อ้างว่าจำเลยจัดการมรดกโดยทำบัญชีทรัพย์มรดกและแบ่งมรดกไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง เมื่อยังมีทรัพย์มรดกที่จำเลยจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทและการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง จึงยังไม่เริ่มนับอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว และโดยเหตุที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 ในลักษณะตัวการตัวแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 809 ถึง 812, 819 และมาตรา 823 การที่จำเลยครอบครองที่ดินซึ่งมีส่วนเป็นทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยจะยกอายุความตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2546   โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของผู้ตายจากจำเลยทั้งสอง สำหรับจำเลยที่ 1 จะยกอายุความมรดก 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์หาได้ไม่ เพราะกฎหมายได้บัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทไว้โดยเฉพาะแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี นับตั้งแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ดังนั้น ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรมอันจะถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดก เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินและให้คืนเงินสดเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาท จึงเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยกอายุความมรดก 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ

          ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย แต่กลับไม่ยอมแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน เลือกแบ่งทรัพย์มรดกให้เฉพาะทายาทบางคน ย่อมเป็นการจัดการมรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีผลทำให้การจัดการมรดกนั้นยังไม่เสร็จสิ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553  เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนาง น. ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ย. นาง น. จึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของนาย ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่านาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของนาย ย. ทุกคน แม้ต่อมานาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนาย ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนาย ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และการจัดการมรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลง ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนาย ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก เมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาง น. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก



การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้

 

          
          เมื่อลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องที่จะบังคับเอาจากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้ของลูกหนี้ แต่กลับเพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธินั้น ย่อมทำให้เจ้าหนี้ไม่มีทรัพย์สินของลูกหนี้ที่จะบังคับชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้จึงต้องเรียกร้องโดยการฟ้องลูกหนี้ของลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้ชำระหนี้ได้ตามมาตรา 233 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถ้าชเจ้าหนี้นะคดีแล้ว แต่บุคคลภายนอกยังไม่ยอมชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็บังคับยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้ 

          มาตรา 233  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

          อย่างไรก็ตาม ถ้าเจ้าหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้โดยการฟ้องบังคับเอาจากบุคคลภายนอก เจ้าหนี้ก็อาจเลือกใช้วิธีฟ้องลูกหนี้ของตนให้ชำระหนี้ แล้วนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ก็ได้ เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิเรียกร้องเหนือบุคคลภายนอกที่จะต้องชำระหนี้เป็นเงินให้แก่ลูกหนี้ กรณีนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นโดยให้บุคคลภายนอกชำระเงินคืนให้แก่เจ้าหนี้ผ่านทางเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้ ถ้าบุคคลภายนอกไม่ชำระ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็สามารถยึดทรัพย์สินของบุคคลภายนอกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเสมือนบุคคลได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2549  สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นสิทธิเรียกร้องที่บริษัทจำเลยมีต่อผู้ถือหุ้นเป็นสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ เมื่อบริษัทจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้ ว. ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดค่าหุ้นที่ค้างชำระนั้น เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งอายัดให้ ว. ส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 312 วรรคสอง ที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้นและดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
          ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1125 เป็นเรื่องวิธีการเรียกค่าหุ้นค้างชำระของบริษัทในกรณีปกติ แต่เมื่อกรรมการบริษัทจำเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนี้ ก็ไม่ห้ามเจ้าหนี้ที่จะให้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ทั้งไม่ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขออายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ

          การที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง จะต้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ ถ้าเจ้าหนี้ไม่เสียประโยชน์ก็ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2536  การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ฟ้องคดีในนามของตนเองนั้น นอกจากลูกหนี้จะต้องขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว การขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเช่นนั้นจะต้องทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์ด้วย ซึ่งหมายความว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีอยู่โดยไม่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องนั้นไม่พอจะชำระหนี้ หากลูกหนี้มีทรัพย์สินอยู่พอที่จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้แล้ว การที่ลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง ก็ไม่ทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์แต่ประการใด โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 19 ตามตั๋วเงินจำนวน 58,267,483.30 บาทแต่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า หากมีการชำระบัญชีถึงที่สุดจำเลยที่ 19 มีความสามารถชำระหนี้เป็นเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทแสดงว่าขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 19 มีทรัพย์สินประมาณ 500 ล้านบาทซึ่งหากโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าหนี้จำนวนดังกล่าวจริง ทรัพย์สินของจำเลยที่ 19 ก็สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ครบถ้วน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 19 และจำเลยที่ 19 ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องก็ก็ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 จึงไม่สามารถใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233มาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 ได้โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2562  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้ เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้น หรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตร สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1614 ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่อย่างใด เมื่อจ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกโดยทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง รวมถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ได้
          จ่าสิบตำรวจ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาก็ตาม เพราะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ก็เป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันและตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 4 และในภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้สละมรดกดังกล่าว แต่โจทก์ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 อยู่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิร้องขอเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนการสละมรดกดังกล่าวนั้นได้ เพราะสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ไม่ยอมใช้นั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีอยู่ก่อนหรือได้มาในภายหลังย่อมอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ แม้จะปรากฏว่านอกจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว เจ้ามรดกยังมีที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่ง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ถือเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา และมีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 จะมีทรัพย์สินอื่นหรือที่ดินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนถึง 1,332,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โอนทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามฟ้องได้
          การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดก จะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 อันเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หรือการที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ตาม ที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้มีการจัดการเสร็จสิ้นและแบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งเป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16273/2557  จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวแทน เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าทดแทนจากอาคารของจำเลยที่ 1 ถูกทางราชการเวนคืน อันเกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนแล้วไม่ยอมส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 เมื่อจำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 และต้องเสียประโยชน์จากการเพิกเฉยของจำเลยที่ 1 ก็ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนเองแทนจำเลยที่ 1 เพื่อป้องกันสิทธิของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อจำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่แท้จริง และจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ทวงถามเอาจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของตนเองตามมาตรา 233 บังคับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้จ่ายเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ได้

          ในการฟ้องคดีนั้น เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้ได้เลย โดยไม่ต้องรับมอบอำนาจจากลูกหนี้อีก แต่ต้องบรรยายฟ้องให้เข้าหลักเกณฑ์เรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2546  บริษัท ท. หรือผู้ชำระบัญชีมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงิน ส่วนแบ่งซึ่งเป็นสินทรัพย์ของบริษัท ท. ในฐานลาภมิควรได้และหากบริษัท ท. ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้น เป็นเหตุให้กรมสรรพากรโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรค้างต้องเสียประโยชน์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนบริษัท ท. ลูกหนี้ได้โดยโจทก์จะต้องขอหมายเรียกบริษัท ท. เข้ามาในคดีด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และมาตรา 234แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ฟ้องคดีแทนบริษัท ท. เพราะบริษัท ท. ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินส่วนแบ่งที่จำเลยรับไปโดยมิชอบหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง รวมทั้งโจทก์มิได้ขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงของโจทก์เข้ามาในคดี จึงต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์ที่ได้รับจากผู้ชำระบัญชีโดยมิชอบให้แก่โจทก์เองโดยตรง ซึ่งโจทก์หามีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยเช่นนั้นไม่ เนื่องจากจำเลยไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือตามกฎหมายที่จะต้องคืนเงินสินทรัพย์ของบริษัท ท. ที่ตนได้รับไว้คืนให้แก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1633/2565  แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาอำพรางไม่ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้และบรรยายฟ้องถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์เสียประโยชน์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 และมาตรา 234
          
          การฟ้องคดีเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้นั้น เจ้าหนี้จะต้องฟ้องภายในอายุความด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18624/2555  จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ท. ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2536 จดทะเบียนเลิกบริษัทโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี ในระหว่างการชำระบัญชี โจทก์ตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระ จึงแจ้งให้ชำระ ขณะนั้น จำเลยที่ 1 ก็รวบรวมทรัพย์สินของบริษัทแล้วแบ่งคืนเป็นเงินให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงยื่นฟ้องบริษัทต่อศาลภาษีอากรกลางและยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อเรียกเงินคืน จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 รับเงินไว้โดยปราศจากมูลจะอ้างด้วยกฎหมาย จึงเป็นลาภมิควรได้ที่จะต้องคืนให้แก่บริษัท แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนแทนลูกหนี้รวมทั้งไม่ได้เรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีด้วย จึงให้ยกฟ้องแต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะฟ้องใหม่ คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์หาได้ไม่ เมื่อสิทธิของโจทก์เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แล้ว โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่รู้หรือ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นมีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 การที่โจทก์ได้ฟ้องคดีก่อนภายในอายุความแล้ว แม้ระหว่างนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะนำเงินบางส่วนไปชำระให้แก่โจทก์หรือไม่ก็ตาม ย่อมถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง และต่อมาเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีนั้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2546 ซึ่งอายคุวามครบกำหนดสิบปีไปแล้วโจทก์จึงต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ภายใน 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สำหรับจำเลยที่ 2
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5806/2539  โจทก์ฟ้องขอใช้สิทธิเรียกร้องแทนบริษัท บ. โดยอ้างว่าก่อนที่จำเลยจะพ้นจากการเป็นกรรมการบริษัท บ. จำเลยเบียดบังทรัพย์สินของบริษัท บ.ไปโดยทุจริต บริหารงานหรือจัดการทรัพย์สินของบริษัท บ.ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บ. ซึ่งเท่ากับกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อบริษัท บ. บริษัท บ.ชอบจะฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของบริษัท บ.ชอบจะใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 ฟ้องเรียกร้องบังคับเอาจากจำเลยแทนบริษัท บ.เท่าที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัท บ.อยู่ การเรียกร้องดังกล่าวเป็นการเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่กระทำละเมิดต่อบริษัท บ.มีอายุความตามมาตรา 448 เมื่อการกระทำละเมิดเกิดขณะจำเลยเป็นกรรมการบริษัท บ.อยู่ คือก่อนวันที่ 17 กันยายน 2525 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยลาออกจากบริษัท บ. โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 23 กันยายน 2535 พ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่จำเลยได้กระทำละเมิดแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ

          การฟ้องคดีนั้น เจ้าหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย

          มาตรา 234  เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นจะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย

          เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้

          มาตรา 235  เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้ ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น คดีก็เป็นเสร็จกันไป แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้
          แต่อย่างไรก็ดี ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย

          จำเลยสามารถยกข้อต่อสู้ที่มีต่อลูกหนี้เดิมขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้    
       
          มาตรา 236  จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆ ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1748/2540  จำเลยทั้งสองต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วซึ่งกันและกัน และเป็นหนี้เงินเหมือนกัน ทั้งเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดจะชำระแล้วด้วย จึงเป็นหนี้ที่สามารถนำมาหักกลบลบกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ จึงขอใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของโจทก์ เพื่อบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และในกรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 236 กำหนดให้จำเลยที่มีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2 จึงยกข้อต่อสู้ที่มีอยู่กับจำเลยที่ 1 ขึ้นต่อสู้โจทก์ โดยขอหักกลบลบหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 และ 342 ได้