28 กุมภาพันธ์ 2567

การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครอง


          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 1374  "ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้
          การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกรบกวน"

          ในกรณีที่ผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เนื่องจากมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ และถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้ ซึ่งการฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น กฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้ โดยจะต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ถูกรบกวน




          การซื้อขายที่ดินซึ่งมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 แต่มีผลเป็นการสละการครอบครองที่ดินของผู้ขายให้แก่ผู้ซื้อ ไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1401/2553 จ. ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสองและมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองครอบครองแล้วในวันเดียวกัน เมื่อการซื้อขายมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เป็นที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ จ. จึงมีแต่สิทธิครอบครอง เมื่อ จ.ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองเป็นการสละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป โจทก์ทั้งสองย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตามมาตรา 1377, 1378 แล้ว จึงเป็นการได้มาด้วยการครอบครองฟ้องบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และจดทะเบียนคัดชื่อจำเลยออกแล้วใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองแทนชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกอันเป็นการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาซื้อขายหาได้ไม่ และเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวแก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. เจ้ามรดกแล้ว ก็ไม่มีปัญหาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคสาม หรือไม่ แต่โจทก์ทั้งสองได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้วจึงชอบที่จะขอให้ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า นาย ฉ.และนาง จ. เป็นสามีภริยากัน และเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เล่มที่ 7 หน้า 128 สารบบเลขที่ 115 หมู่ที่ 7 ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 12 ไร่ 3 ตารางวา วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ทั้งสองทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวจากนาย ฉ.และนาง จ. จำนวน 5 ไร่ ราคา 700,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. 4 หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินรวม 330,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. 5 ต่อมาในปี 2538 นาย ฉ.ถึงแก่กรรม นาง จ.ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ทั้งสองใหม่ในราคา 1,000,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. 6 ต่อมาโจทก์ได้ชำระราคาค่าที่ดินให้แก่นาง จ.ครบถ้วนแล้ว และนาง จ.ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองครอบครองตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2539 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. 7 และโจทก์ทั้งสองให้นาง ส.และนาย ภ. เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแทน โดยนาย ส. และนาย ภ. ปลูกพริก ข้าวโพดและอ้อยในที่ดินพิพาท แต่นาง จ. ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง และเมื่อปี 2541 นาง จ. ถึงแก่กรรม
          ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อนาง จ. ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสองในวันที่ 12 ตุลาคม 2539 และได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองครอบครองแล้วในวันเดียวกัน ซึ่งนับถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว เมื่อการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับนาง จ. มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ นาง จ. จึงมีแต่สิทธิครอบครอง การซื้อขายเมื่อได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองไปแล้วก็ฟังได้ว่า นาง จ. สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป โจทก์ทั้งสองย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 แล้ว การได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการได้มาด้วยการครอบครองตามกฎหมาย มิใช่เป็นการได้มาตามสัญญาซื้อขายซึ่งตกเป็นโมฆะดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองจะใช้สิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนาง จ.ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เล่ม 7 หน้า 128 สารบบเลขที่ 115 หมู่ที่ 7 ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และจดทะเบียนคัดชื่อจำเลยออกแล้วใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองเนื้อที่ 5 ไร่ แทนชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกอันเป็นการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาซื้อขายหาได้ไม่ และเมื่อฟังว่าโจทก์ทั้งสองไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวแก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง จ. เจ้ามรดกแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม หรือไม่อีกต่อไป แต่เนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะขอให้ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
          พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เล่ม 7 หน้า 128 สารบบเลขที่ 115 หมู่ที่ 7 ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ในส่วนที่นาง จ. สละการครอบครองให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 5 ไร่ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

          เพียงแต่ไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9696/2552  การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1374 โจทก์ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทจะต้องถูกรบกวนโดยการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากฝ่ายจำเลย การที่ฝ่ายจำเลยเพียงแต่ไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่โจทก์จะต้องฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินภายใน 1 ปี นับแต่วันออกโฉนดที่ดิน
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่านาง ล. เป็นมารดาของนาย ฟ. และนาย ง. โจทก์เป็นบุตรของนาย ฟ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นบุตรของนาย ง. ส่วนจำเลยที่ 7 เป็นบุตรของนาย ฟ. และเป็นบุตรบุญธรรมของนาย ง. เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ตามใบแจ้งครอบครองเลขที่ 99 หมู่ที่ 3 ตำบลตะพง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามเอกสารหมาย จ.4 มีชื่อนาง ล. เป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครอง เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2520 นาง ล. จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่นาย ง. ต่อมาปี 2538 นาย ง. มอบอำนาจให้จำเลยที่ 7 ไปดำเนินการขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 84453 และ 84454 ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา และ 39 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 หรือ จ.7 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 7 โจทก์ไม่อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ก็ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาล่วงเลยเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายไว้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงเป็นยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 
          คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประการแรกว่า นาง ล. ยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 84453 และ 84454 ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา และ 39 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 หรือ จ.7 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ให้แก่นาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 แต่เพียงผู้เดียวหรือไม่... ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นาง ล. ยกที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เอกสารหมาย จ.4 ให้แก่นาย ฟ. และนาย ง. คนละครึ่ง โดยนาย ฟ. ได้ที่ดินทางด้านทิศตะวันออกเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ตามสำเนาโฉนดที่ดินส่วนที่ระบายไว้ด้วยสีเหลืองเอกสารหมาย จ.7 ส่วนนาย ง. ได้ทางด้านทิศตะวันตกตามสำเนาโฉนดที่ดินส่วนที่ไม่ได้ระบายสีเอกสารหมาย จ.7 หลังจากได้รับการยกให้นาย ฟ.เข้าทำประโยชน์โดยทำสวนยางพารา ต่อมาปี 2523 นาย ฟ.ยกที่ดินพิพาทโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ทำสวนยางพารา โดยเจตนายึดถือเพื่อตนตลอดมาถึงปัจจุบัน การให้ที่ดินพิพาทระหว่างนาง ล. กับนาย ฟ.บิดาโจทก์ แม้ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ก็ตาม แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เป็นหลักฐาน เจ้าของที่ดินจึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อนาง ล.ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นาย ฟ.บิดาโจทก์ถือว่านาง ล.ได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นาย ฟ.บิดาโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 แล้ว เมื่อโจทก์ได้เข้าครอบครองโดยนาย ฟ.บิดาโจทก์ยกให้ โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ตั้งแต่ปี 2523 การที่นาย ง. บิดาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 นำที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์มีสิทธิครอบครองไปขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 84453 และ 84454 ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา และ 39 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 หรือ จ.7 โดยโจทก์ไม่ทราบเรื่องและนาย ง. มิได้บอกให้โจทก์ทราบ ถึงกระนั้นโจทก์ก็ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน การที่นาย ง. ไปขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยรวมเอาที่ดินพิพาทเข้าไปด้วยนั้น หาเป็นเหตุให้สิทธิครอบครองของโจทก์เหนือที่ดินพิพาทที่มีอยู่แล้วโดยสมบูรณ์เสียไปไม่ เมื่อในขณะออกโฉนดที่ดินนาย ง. ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการออกโฉนดที่ดินให้นาย ง. โดยไม่ชอบ นาย ง. จึงไม่ได้กรรมสิทธิในที่ดินพิพาท นาย ง. ย่อมไม่มีสิทธิที่จะนำที่ดินพิพาทไปทำพินิจกรรมยกให้แก่ทายาทของตน ศาลจึงชอบที่จะสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทในส่วนที่ออกโดยไม่ถูกต้องได้ แม้นาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 84453 และ 84454 ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 หรือ จ.7 อันเป็นเอกสารสิทธิซึ่งเป็นเอกสารมหาชน ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่า นาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างสามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ตามหน้าที่นำสืบของโจทก์ จึงนำพยานหลักฐานโจทก์มารับฟังให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีได้ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การขอออกโฉนดที่ดินของนาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นไปโดยชอบ และนาง ล. ยกที่ดินพิพาทให้นาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เพียงผู้เดียวนั้น จึงฟังไม่ขึ้น
          ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในประการต่อมา การที่นาย ง. ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2539 ถือเป็นการรบกวนสิทธิครอบครอง โจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองที่ดินภายใน 1 ปี นับแต่วันออกโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเวลาที่ถูกรบกวนนั้น เห็นว่า การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 นั้น โจทก์ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทจะต้องถูกรบกวนโดยการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากฝ่ายจำเลย การที่นาย ง. เพียงแต่ไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2539 นั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เช่นกัน ส่วนฎีกาประการอื่นของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”




          ถ้าผู้ถูกฟ้องให้การว่าที่เป็นของตนเอง มิได้แย่งการครอบครอง คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองที่จะต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง แต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1343 - 1344/2552  เมื่อจำเลยทั้งสองให้การชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองมาแต่ต้นมิได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์ จึงไม่มีประเด็นเรื่องการโต้แย้งการครอบครองเพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้แต่เฉพาะที่ดินเป็นของผู้อื่น เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงนอกประเด็นมาวินิจฉัยว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นการไม่ชอบ เพราะการวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องเกิดจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ

          จำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาตั้งแต่ต้นไม่เคยตกเป็นของโจทก์ กรณีจึงไม่อาจมีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8107/2544   โจทก์ฟ้องว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของ ด. บิดาจำเลย ต่อมาก่อน ด. จะถึงแก่ความตาย ด. ได้ขายให้โจทก์โดยการส่งมอบ โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตลอดมา จึงได้สิทธิครอบครอง จำเลยให้การว่า ด. ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อทำกินต่างดอกเบี้ย มิได้ครอบครองเพื่อตน หลังจาก ด. ถึงแก่ความตายโจทก์จำเลยฟ้องร้องกันเป็นคดีอาญาและต่างฝ่ายต่างถอนฟ้องไปแล้วจำเลยได้กลับเข้าครอบครองที่ดินพิพาท เพราะเป็นของจำเลย แสดงว่าจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาตั้งแต่ต้นไม่เคยตกเป็นของโจทก์ กรณีจึงไม่อาจมีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่น จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่

          จำเลยมิได้อ้างว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  116/2552  จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่เคยซื้อที่ดินจาก ก. จำเลยได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และมีเจตนาเป็นเจ้าของ ทั้งได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยตั้งแต่จำเลยได้ซื้อมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิออกโฉนดที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย โจทก์ไม่เคยครอบครองหรือทำประโยชน์ โจทก์ทราบมานานหลายปีแล้วว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ แต่มิได้ฟ้องภายใน 1 ปี จึงหมดสิทธิฟ้องร้องตามป.พ.พ. มาตรา 1374 มาตรา 1375 และมาตราอื่นๆ ในลักษณะ 3 ครอบครอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวจำเลยมิได้อ้างว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองเป็นประเด็นข้อพิพาทด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวมา จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำฟ้องและคำให้การไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
          จำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ที่ดินหรือเป็นเจ้าของที่ดิน มีอาณาเขตทั้งสี่ทิศจดที่ดินอะไรหรือของใคร และไม่ได้บรรยายฟ้องว่าที่ดินโจทก์ทั้งสี่ทิศมีความกว้างยาวเท่าไร จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 172 นั้น เป็นเรื่องนอกเหนือจากเหตุผลที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตามที่จำเลยได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

          ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7393/2550  ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ และ พ. เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ พ. ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า พ. ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย
          คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 จำเลยให้การว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจาก พ. จำเลยครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบันโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ ดังนี้จึงไม่มีปัญหาในเรื่องแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ ก็แต่เฉพาะในกรณีที่ดินเป็นของบุคคลอื่น เมื่อจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและจำเลยครอบครองเอง จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวนหรือนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1374 วรรคสอง และมาตรา 1375 วรรคสอง
           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า นาย ส. กับนาง ฟ. เป็นบุตรของนาง ย. โดยนาง ฟ. เป็นพี่นาย ส.และเป็นพี่มารดาของนาง พ. ส่วนนาย ช. เป็นบุตรของนาย ส. เดิมนาย ช. เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 ตำบลหวายเหนียว อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 โจทก์กับนาย ช. เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย นาย ช. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2537 โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ช. ตามคำสั่งศาล จากนั้นโจทก์ได้ดำเนินการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวทางทะเบียนมาเป็นชื่อของโจทก์ในฐานะผู้รับมรดก เดิมนาง ฟ.เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 989 ตำบลหวายเหนียว อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.10 แผ่นที่ 7 นาง ฟ. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2514 จากนั้นได้มีการโอนที่ดินของนาง ฟ.ทางทะเบียนมาเป็นของนาง พ. ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2536 นาง พ. ยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวในนามเดิม และวันที่ 23 พฤษภาคม 2537 นาง พ. ขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและการสอบสวนสิทธิในที่ดินประเภทแบ่งแยกในนามเดิม โดยขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 989 ออกเป็นโฉนดที่ดินแปลงใหม่ 2 แปลง แปลงแรกโฉนดเลขที่ 14188 เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 7.5 ตารางวา ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนสิทธิประเภทแบ่งแยกในนามเดิมและสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 3 และแผ่นที่ 8 แปลงที่สองโฉนดเลขที่ 14187 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนสิทธิประเภทแบ่งแยกในนามเดิมและสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 หลังจากแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลงดังกล่าวแล้ว คงเหลือเนื้อที่ตามโฉนดเลขที่ 989 เพียง 1 ไร่ 3 งาน 66.3 ตารางวา ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 นาง พ. นำเนื้อที่ดินที่เหลือตามโฉนดเลขที่ 989 ดังกล่าว รวมกันกับที่ดินที่นาง พ. อ้างว่าเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีหลักฐานเนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน ไปขอออกโฉนดที่ดินแปลงใหม่คือโฉนดเลขที่ 15627 เนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา ตามสำเนาหนังสือสำนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรีและสำเนาบันทึกการสอบสวนการครอบครองที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงใหม่เอกสารหมาย จ.10 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 นาง พ. จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 14187 ให้แก่จำเลย ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.1 สำหรับที่ดินที่พิพาทกันในคดีนี้โจทก์และจำเลยนำชี้รังวัดคือที่ดินในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.6 เฉพาะตามเส้นแดงเนื้อที่ 3 ไร่ 12.3 ตารางวา โจทก์นำรังวัดอ้างว่าเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ ส่วนจำเลยนำชี้รังวัดภายในเส้นสีแดงนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนทางด้านทิศใต้ตามเส้นสีฟ้าประ เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 10.1 ตารางวา จำเลยอ้างว่าเป็นที่ดินตามใบ ภ.บ.ท.5 ที่นาง พ. ขายให้แก่จำเลยพร้อมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 14187 และส่วนทางด้านทิศเหนือลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมอันเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 14187 เนื้อที่ของโฉนดดังกล่าว เฉพาะเท่าที่อยู่ภายในเส้นสีแดงมีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งาน 2.2 ตารางวา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์คงอุทธรณ์เฉพาะส่วนทางด้านทิศใต้ภายในเส้นสีฟ้าประเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 10.1 ตารางวา ว่าเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของโจทก์ และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินภายในเส้นสีฟ้าประ เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 10.1 ตารางวา เป็นของโจทก์ ดังนั้น ที่ดินส่วนทางด้านทิศเหนือภายในเส้นสีแดงที่โจทก์นำรังวัดอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินภายในเส้นสีฟ้าประ ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.6 เป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 ของโจทก์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันสรุปได้ว่า เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 เป็นของนาย ช.สามีโจทก์ เมื่อนาย ช. ถึงแก่ความตายจึงได้รับโอนมาเป็นของโจทก์ โดยที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่หมู่ที่ 2 สาเหตุที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวระบุว่าอยู่หมู่ที่ 4 เนื่องจากระบุผิดพลาดตามที่อยู่เดิมของนาย ช. ซึ่งเจ้าพนักงานผู้ทำการรังวัดทำแผนที่วิวาทได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสอบถามจากนาย ว. นาง บ. และนาย จ. ต่างให้ถ้อยคำยืนยันว่าที่ดินที่ทำแผนที่วิวาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 และอยู่หมู่ที่ 2 จริง ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 เดิมนาย ช.และโจทก์ไม่ได้เข้าทำประโยชน์เนื่องจากนาย ส.บิดาของนาย ช. ต้องการเก็บกินในที่ดินดังกล่าว โดยให้นาง พ.เป็นผู้ดูแลและส่งผลประโยชน์ให้แก่นาย ส.ทุกปี ภายหลังที่ดินแปลงดังกล่าวแบ่งออกเป็นสามส่วน เนื่องจากมีคลองและถนนตัดผ่าน ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2543 โจทก์ได้ขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่นาง พ.และจำเลยคัดค้าน โดยจำเลยคัดค้านว่าที่ดินเฉพาะส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินของจำเลยตามใบ ภ.บ.ท.5 ที่ซื้อมาจากนาง พ. นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางสาว ภ. บุตรของโจทก์เป็นพยานเบิกความสนับสนุนข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์ แม้โจทก์และนางสาว ภ.จะเบิกความแตกต่างกับคำเบิกความของนาย ส.ในเรื่องผลประโยชน์ที่เก็บจากผู้เช่า ก็เป็นเพียงพลความมิใช่ข้อสาระสำคัญแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ยังเบิกความได้สอดคล้องต้องกันกับคำให้การตามบันทึกถ้อยคำของนาย ว. อายุ 65 ปี ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ประมาณปี 2512 ถึง 2532 และเคยเป็นกำนันตำบลหวายเหนียวตั้งแต่ประมาณปี 2532 ถึง 2537 นาง บ. อายุ 64 ปี และนาย จ. อายุ 62 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินพิพาทมาแต่เดิมต่างยืนยันตรงกันว่า ที่ดินที่ทำแผนที่วิวาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 ของโจทก์ ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 อีกทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่านาย ว. นาง บ.และนาย จ.มิได้รู้เห็นเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทภายในเส้นสีฟ้าประตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.6 เป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 ของโจทก์ แม้นาย ช.และโจทก์จะไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยตนเอง แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความจากโจทก์และนางสาว ภ.ว่า นาย ช.และโจทก์ได้ให้นาย ส.เป็นผู้เก็บกินในที่ดินพิพาท และนาย ส.ให้นาง พ.เป็นผู้ดูแลแทนและส่งผลประโยชน์ให้แก่นาย ส. โดยโจทก์อ้างส่งคำเบิกความของนาย ส.ซึ่งได้เบิกความต่อศาลเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในคดีที่โจทก์ฟ้องนาง พ. เป็นจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเป็นพยาน จึงเชื่อได้ว่านาย ช.และโจทก์ให้นาย ส.เป็นผู้เก็บกินในที่ดินพิพาท และนาย ส.ให้นาง พ.เป็นผู้ดูแลและเก็บผลประโยชน์แทน แม้โจทก์จะไม่ได้นำนาย ส.มาเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ด้วย เนื่องจากมีอายุมากและความจำเริ่มบกพร่อง แต่เมื่อรับฟังคำเบิกความของนาย ส.ในคดีที่โจทก์ฟ้องนาง พ.เป็นจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทประกอบคำเบิกความของโจทก์และนางสาว ภ.แล้วมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ดังนี้ ย่อมถือได้ว่านาย ส.และนาง พ. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนนาย ช.และโจทก์ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาทตามใบ ภ.บ.ท.5 มาพร้อมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 14187 จากนาง พ. โดยเสียค่าตอบแทนและจำเลยเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่มาตลอด จำเลยครอบครองโดยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2537 จำเลยจึงเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ และนาง พ.เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว นาง พ.ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่านาง พ.ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
          สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นผู้ยึดถือครอบครองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 และมาตรา 1375 กำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนซึ่งสิทธิครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวน หรือนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 จำเลยให้การว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากนาง พ. จำเลยครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบันโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ ดังนี้ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในกรณีที่ดินของบุคคลอื่น เมื่อจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและจำเลยครอบครองเอง จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวนหรือนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ไว้และศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”




          แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินของรัฐ แต่ราษฎรก็อาจเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ได้ ผู้ที่ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ที่ดินของรัฐอยู่ก่อนย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374                 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6667/2542  แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินของรัฐ แต่ราษฎรก็อาจเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ได้ เพียงแต่เมื่อรัฐต้องการที่ดินราษฎรจะยกเอาการครอบครองมาเป็นข้อโต้แย้งรัฐมิได้แต่ระหว่างราษฎรด้วยกันเองแล้ว ผู้ที่ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 เมื่อมีกฎหมายรับรองสิทธิในกรณีดังกล่าวให้ ผู้มีสิทธิก็ย่อมสละสิทธินั้นได้ ดังนั้น การที่จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์พร้อมส่งมอบการครอบครอง ย่อมถือได้ว่าจำเลยสละการครอบครองที่ดินพิพาทโดยโจทก์เข้ายึดถือครอบครองต่อไป การที่จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองโดยอ้างว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทนั้น เป็นการนำข้อความเท็จไปแจ้งทำให้เจ้าพนักงานของรัฐหลงเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิจริง ดังนั้น การที่จำเลยได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ส.3) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการไปโดยผิดหลงจากการแจ้งเท็จของจำเลย เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองอันแท้จริงแล้ว จำเลยย่อมไม่อาจอ้างเอาประโยชน์จากเอกสารสิทธิดังกล่าวได้ โจทก์ซึ่งครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันแท้จริงย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า เดิมจำเลยซื้อที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทมาจากนาย ก. ไม่ปรากฏนามสกุล ตั้งแต่ปี 2507 แล้วเข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมาในปี 2515 มีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองลำตะคองขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 351 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ทำให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตนิคมดังกล่าว ในปี 2525 จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยมอบการครอบครองในที่ดินพิพาทแก่โจทก์แล้ว หลังจากนั้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2526 จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองลำตะคองโดยแจ้งว่าได้เข้าถือครองทำกินในที่ดินพิพาท ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2528 อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จำเลยได้นำไปขอออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และจำเลยได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2533 ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7
          พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของรัฐโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น จำเลยก็ไม่อาจโอนการครอบครองหรือสละการครอบครองให้โจทก์ได้ การที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยย่อมไม่ได้รับสิทธิใด ๆในที่ดินพิพาทไปด้วย จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเอง และได้รับอนุญาตให้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ส.3) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามกฎหมายดีกว่าโจทก์ เห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินของรัฐ แต่ราษฎรก็อาจเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ได้ เพียงแต่เมื่อรัฐต้องการที่ดินดังกล่าว ราษฎรจะยกเอาการครอบครองมาเป็นข้อโต้แย้งรัฐมิได้ แต่ระหว่างราษฎรด้วยกันเองแล้ว ผู้ที่ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 เมื่อมีกฎหมายรับรองสิทธิในกรณีดังกล่าวให้ผู้มีสิทธิย่อมสละสิทธินั้นได้ ดังนั้น การที่จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์พร้อมส่งมอบการครอบครอง ย่อมถือได้ว่าจำเลยสละการครอบครองที่ดินพิพาทโดยโจทก์เข้ายึดถือครอบครองต่อไป การที่จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองโดยอ้างว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 นั้น เป็นการนำข้อความเท็จไปแจ้ง ทำให้เจ้าพนักงานของรัฐหลงเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิจริงจึงออกหนังสือสำคัญทั้งสองฉบับให้ ทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ให้รัฐบาลมีอำนาจจัดที่ดินของรัฐเพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินโดยจัดตั้งเป็นนิคมนั้นน่าจะหมายความว่าที่ดินของรัฐที่จะนำมาจัดให้กับประชาชนต้องเป็นที่ดินซึ่งยังไม่มีผู้ใดยึดถือครอบครอง แต่หากที่ดินผืนใดที่อยู่ในเขตนิคมมีผู้ยึดถือครอบครองเข้าทำประโยชน์อยู่แล้ว รัฐบาลย่อมไม่มีอำนาจยึดกลับคืนมาจัดสรรให้ราษฎรอื่น ทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทมาตราใดที่ให้อำนาจรัฐบาลซึ่งก็คือคณะบุคคลคณะหนึ่งกระทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น การที่จำเลยได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ส.3) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) จึงเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการไปโดยผิดหลงจากการแจ้งเท็จของจำเลย เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองอันแท้จริงแล้ว จำเลยย่อมไม่อาจอ้างเอาประโยชน์จากเอกสารสิทธิดังกล่าวได้โจทก์ซึ่งครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันแท้จริงย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6264/2541   แม้การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จะตกอยู่ในบังคับตามเงื่อนไขห้ามโอนตาม พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครอบชีพ พ.ศ. 2511 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้โอนขายโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาท ให้โจทก์ที่ 1 ก่อนจำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตจาก อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ให้ทำกินถึง 3 ปี โจทก์ทั้งสองซึ่งได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนตามความเป็นจริงนับแต่ซื้อตลอดมา ย่อมมีสิทธิขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกทำละเมิดเป็นเหตุให้ต้นข้าวที่โจทก์ทั้งสองร่วมกันปลูกไว้ในที่ดินพิพาทต้องเสียหายนับได้ว่าโจทก์ทั้งสองถูกรบกวนสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4819/2538  การฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์มิได้ขอให้ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน มิใช่เป็นการฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่จำเลยโดยโจทก์อ้างว่าทำขึ้นโดยไม่สุจริต แต่เมื่อโจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินมาตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 4 โดยชอบอย่างไร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดิน ไม่ว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์จะออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 548 ตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกันและไม่โต้เถียงกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันบุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินเดิมจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายสำหรับที่ดินพิพาท และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 548 ตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2519 ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2521 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่พันตำรวจโท ส. วันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 พันตำรวจโท ส.ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยเสน่หาปรากฏตามเอกสารหมาย จ.13 พิเคราะห์แล้ว ตามฟ้องและทางนำสืบโจทก์อ้างว่าโจทก์และบิดาโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2502 ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่ได้ความว่าโจทก์อาจได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินพิพาทโดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายที่ดินอย่างไร และตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 4 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 6 บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและให้คุ้มครองตอลดถึงผู้รับโอนด้วย"บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2497 เมื่อโจทก์อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมา จึงเป็นการครอบครองภายหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยชอบและคดีนี้มิใช่เป็นการฟ้องขอห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท อันเป็นการฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 แต่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์อ้างว่าทำขึ้นโดยไม่สุจริตเมื่อโจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยชอบโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทไม่ว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์จะออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3372/2538  ที่ดินพิพาทมี น.ส.3 ก.ที่ทางราชการออกให้แก่มารดาโจทก์โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 5 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ก่อนพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวมารดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและมอบการครอบครองให้แล้ว แต่การซื้อขายมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเป็นที่ดินที่ทางราชการห้ามโอนภายใน 5 ปี การซื้อขายจึงไม่ถูกต้องตามแบบและเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามชัดแจ้ง ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิม ส่วนการครอบครองที่ดินพิพาทของผู้รับโอนดังกล่าวต้องถือว่าเป็นการครอบครองไว้แทนเจ้าของ แม้พ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้วก็ยังคงถือว่าการครอบครองไว้แทนตลอดมา จนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 หรือจนกว่าเจ้าของที่ดินพิพาทจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตามมาตรา 1377, 1379  การที่โจทก์รื้อบ้านไปในระยะเวลาห้ามโอน ผลก็เท่ากับการสละเจตนาครอบครองเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามโอนตกเป็นโมฆะเช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเป็นการครอบครองแทนจึงไม่อยู่ในบังคับต้องฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2432/2538  จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเช่าจากโจทก์ จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง
          โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยเปลี่ยนเจตนาในการครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทจากจำเลย
          พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองหรืออาศัยอยู่ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ และมาตรา 12 บัญญัติให้บุคคลผู้อ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในป่าสงวนแห่งชาติอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ ยื่นคำร้องภายในกำหนด 90 วัน มิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น เป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ยันต่อรัฐได้ แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน เมื่อจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ แม้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยได้




กองมรดก


          มาตรา 1599  "เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
          ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1619/2506 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599 ทายาทย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกตั้งแต่เจ้ามรดกตาย  แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธินั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ก็ตาม 

          ความหมายของกองมรดก
          มาตรา 1600  "ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้"

          กองมรดกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1600  คือ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่างๆที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนตาย




           กรณีทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่างๆที่เป็นกองมรดก หรือไม่เป็นกองมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1016/2513   จำเลยทำหนังสือจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้ ส. โดยมิได้ตั้งใจยกให้โดยเสน่หา แต่กระทำไปเพื่อ ส. จะได้นำไปจำนองไว้กับสหกรณ์แล้วเอาเงินมาให้จำเลยใช้สอย นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ เป็นผลให้ที่ดินพิพาทไม่เคยตกทอดเป็นของ ส. แต่ยังคงเป็นของจำเลยตลอดมา ฉะนั้นเมื่อ ส. ตายไปเสียก่อนที่จะนำที่ดินพิพาทไปจำนองสหกรณ์ที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่มรดก ส. ทายาท ส. ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10096/2557   ป. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2544 แต่เหตุรับของโจรโฉนดที่ดินเลขที่ 19724 และฐานใช้เอกสารปลอมเกิดวันที่ 13 ธันวาคม 2539 ขณะที่ ป. ยังมีชีวิตอยู่ ป. จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวและมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2) สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัว ส่วนโจทก์ผู้สืบสันดานจะมีสิทธิฟ้องแทน ป. ได้ต่อเมื่อ ป. ได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แต่ตามฟ้องและทางพิจารณาได้ความว่า ขณะ ป. มีชีวิต ป. ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย โฉนดที่ดินเลขที่ 19724 ตกทอดแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ มาตรา 1600 นั้น เป็นกรณีทรัพย์มรดกของ ป. ตกทอดแก่ทายาท เป็นสิทธิในทางแพ่งเท่านั้น แม้หากโจทก์จะมีสิทธิได้รับมรดกของ ป. ก็ไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในทางอาญาดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8445/2558   แม้ พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 และมาตรา 12 กำหนดให้ทางราชการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมที่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งสมาชิกสามารถนำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่ภายในห้าปีนับแต่วันได้รับโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐซึ่งราษฎรสามารถมีสิทธิครอบครองได้ และไม่มีกฎหมายห้ามโอนสิทธิครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกัน เพียงแต่ราษฎรไม่สามารถยกการครอบครองขึ้นอ้างต่อรัฐได้เท่านั้น เมื่อราษฎรสามารถอ้างสิทธิครองครองยันกันระหว่างราษฎรด้วยกันได้ และสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง  หลังจาก ข. ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของสหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด และได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน (กสน.5) ถึงแก่ความตาย ทายาทของ ข. ตกลงให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ใน กสน.5 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดจึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการแทนทายาทอื่น บันทึกข้อตกลงให้ความยินยอมในการแบ่งแยกโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ 1 และบรรดาทายาทของ ข. ตกลงทำขึ้นเพื่อแบ่งแยกที่ดินพิพาทกัน จึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาท ไม่ถือว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายหรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ย่อมไม่มีผลเป็นโมฆะและสามารถบังคับกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11486/2556    แม้ขณะที่ ก. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2540 ก. ยังไม่มีสิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยเพราะคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติให้ผู้ที่ถูกน้ำท่วมอันเป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรได้รับสิทธิเช่นว่านั้น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรีจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ ก. มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายและมิใช่เป็นมรดกของ ก. ผู้ตายก็ตาม แต่ ป.พ.พ. บรรพ 6 ลักษณะมรดก เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชย ดังนั้น สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยของ ก. จึงควรตกทอดได้แก่ทายาทของ ก. เสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปลอมคำขอสละมรดกสิทธิการได้รับจัดที่ดินและการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 และใช้เอกสารปลอมดังกล่าว จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ก. ไม่ได้รับเงินชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้ โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ ก. จึงได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสามจึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งได้แก่การคืนทรัพย์สินอันโจทก์ร่วมทั้งสามต้องเสียไปจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกอันเป็นการกระทำละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์ รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7487/2538   จ.ครอบครองที่ดินโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนถึงแก่ความตายเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จ. จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ซึ่งการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ดังกล่าวเป็นทรัพยสิทธิอันเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้ตามมาตรา 1599 และ 1600 จึงตกทอดได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ จ. แม้โจทก์มิได้ครอบครองต่อเนื่องในที่ดินที่ จ. ได้กรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ จ. ครอบครองมาโดยทางมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962/2537   ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย  ผู้ตายขายให้แก่จำเลยแม้การซื้อขายจะเป็นโมฆะเพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่ามีเพียงสิทธิครอบครอง  การที่ผู้ตายขายให้จำเลยย่อมเป็นการแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองที่พิพาท ไม่ยึดถือเพื่อตนต่อไปแล้ว การครอบครองของผู้ตายจึงสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 จำเลยได้เข้าครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทโดยนำเงินไปชำระหนี้แทนผู้ตายและรับ ส.ค.1 มาจากเจ้าหนี้ผู้ตายแล้วให้ ส. ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่างดอกเบี้ย ถือได้ว่าเป็นการยึดถือเพื่อตนจำเลยจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367  ที่ดินพิพาทจึงมิได้เป็นมรดกของผู้ตาย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15972/2557  ในการจ่ายค่าทดแทนสำหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายซึ่งกฎหมายบัญญัติให้จ่ายเป็นรายเดือนมีกำหนด 8 ปี ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 18 (4) นั้น ผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายกับผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนดังกล่าวจะตกลงกันจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นก็ได้ตามมาตรา 24 แม้ บ. ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 (2) ได้ขอรับค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนจากจำเลยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยพิจารณาแล้วเห็นควรที่จะจ่ายค่าทดแทนให้ บ. คราวเดียวได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของสิทธิที่สมควรได้รับตามแนวปฏิบัติการพิจารณาจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 (4) คราวเดียวเต็มจำนวน การที่ บ. ยอมรับค่าทดแทนจากจำเลยส่วนแรกเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งไปก่อนจึงถือเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ บ. เกี่ยวกับการจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 24 มีผลทำให้ค่าทดแทนส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งของ บ. จะถึงกำหนดจ่ายหลังจากได้รับเงินครั้งแรกไปแล้ว 4 ปี
          แม้จะปรากฏต่อมาว่าสิทธิในการได้รับค่าทดแทนของ บ. ได้สิ้นสุดลงเพราะ บ. ถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะถึงกำหนดจ่ายค่าทดแทนส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งก็ตาม กรณีก็ต้องนำส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งดังกล่าวของ บ. ผู้หมดสิทธิไปเฉลี่ยให้แก่ผู้มีสิทธิอื่นต่อไปตามมาตรา 21 วรรคสอง ดังนั้น สิทธิในการได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 18 (4) จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 โจทก์ซึ่งแม้จะเป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของ บ. แต่ก็มิใช่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 จึงไม่มีสิทธิขอรับค่าทดแทนเมื่อถึงกำหนดจ่ายส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งจากจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2506    เมื่อปรากฏว่าเงินทุนสงเคราะห์ (ท.ส.+.) ของผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟ เป็นเงินที่เก็บจากผู้ปฏิบัติงานร้อยละ 5 ของเงินเดือนทุกเดือน และการรถไฟจ่ายสมทบอีกมีจำนวนร้อยละ 10 ถ้าผู้ปฏิบัติงานต้องออกจากงาน นอกจากถูกไล่ออกก็ให้จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งดอกเบี้ยและกองทุนจ่ายเพิ่มให้อีกเป็นจำนวนเท่ากันนั้น เห็นได้ว่าเงินทุนสงเคราะห์นี้เป็นเงินที่ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับอยู่ก่อนแล้ว หากผู้นั้นตายลงก็ย่อมตกเป็นมรดก 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2515   เงินสะสมเป็นเงินที่ทางราชการหักเก็บไว้จากเงินเดือนของข้าราชการทุกเดือน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งจะจ่ายคืนเมื่อข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการ เงินสะสมจึงเป็นมรดกของข้าราชการซึ่งถึงแก่ความตาย เพราะเป็นเงินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตาย หากแต่ทางราชการยังไม่ได้จ่ายให้ เพราะยังไม่ถึงคราวที่จะต้องจ่าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2604/2516  บิดาเปิดบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารให้บุตรผู้เยาว์ โดยมอบหมายให้มารดาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ถอนเงินจากธนาคารมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตร แล้วบิดามารดาต่างได้นำเงินเข้าฝากในบัญชีดังกล่าวระคนปนกับเงินได้ของบุตร โดยมีเจตนายกเงินที่นำเข้าฝากนั้นให้แก่บุตรดังนี้ เงินในบัญชีเงินฝากจึงเป็นของบุตรทั้งสิ้น หาใช่เป็นเงินที่บิดามารดาฝากไว้เป็นของตนเอง โดยฝากไว้ในนามของบุตรทำนองลงชื่อบุตรเป็นนามแฝงไม่ แม้จะมีข้อตกลงกับธนาคารว่าผู้ใดจะเป็นผู้ลงชื่อถอนเงินจากธนาคารได้นั้น ก็เป็นเรื่องระเบียบและวิธีการตามธรรมดาของธนาคารซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1545 และ 1546  ก็บัญญัติให้อำนาจและวิธีการแก่ผู้ใช้อำนาจปกครองที่จะนำเงินของบุตรไปใช้จ่ายได้ ย่อมจำเป็นที่จะต้องระบุชื่อผู้มีอำนาจหน้าที่ในการถอนเงินของบุตรจากธนาคารไว้ด้วย มิฉะนั้นจะเกิดความยุ่งยากในกรณีที่จะต้องนำเงินมาใช้จ่ายตามอำนาจ ที่บิดามอบหมายให้มารดาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ถอนเงินจากธนาคารมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรจึงเป็นเรื่องการมอบหมายให้มารดาทำหน้าที่แทนบิดาตามธรรมดานั่นเองมารดาหามีสิทธิถอนเงินของบุตรไปใช้สอยส่วนตัวไม่


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2535   เงินตามโครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงานที่บริษัท ช.คิดให้ผู้ตาย 2.25 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้ายต่ออายุงาน 1 ปีนั้นถือได้ว่าเป็นเงินของผู้ตาย หากผู้ตายยังไม่ตายและออกจากบริษัทฯไป บริษัทฯ ก็ต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่ผู้ตาย ดังนั้น เงินตามโครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงานจึงเป็นมรดกของผู้ตายมิใช่สินสมรส ตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท ช. ที่กำหนดให้เงินตามโครงการผลประโยชน์ดังกล่าวแก่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายครึ่งหนึ่ง กับบุคคลที่ถูกระบุไว้ในหนังสือรับรองทายาทอีกครึ่งหนึ่งนั้น เป็นระเบียบข้อบังคับที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลใช้บังคับได้ โจทก์ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายจึงมีสิทธิรับเงินตามโครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงานครึ่งหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2507  เงินช่วยเพื่อนครู(ช.พ.ค.) ซึงสมาชิกช่วยกันบริจาค เพื่ออนุเคราะห์ช่วยเหลืองานศพและครอบครัวของสมาชิกคนใดคนหนึ่งซึ่งถึงแก่กรรมลงนั้น ไม่ใช่กองมรดกของผู้ตาย ผู้ตายจึงทำพินัยกรรมยกให้ใครไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4/2505  บำนาญตกทอดไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะตาย จึงไม่เป็นมรดก ฉะนั้น การที่ผู้จัดการมรดกฟ้องศาลให้พิพากษาให้ตนมีสิทธิเรียกบำนาญตกทอดจัดการมรดกจึงปราศจากมูลตามกฎหมายที่จะอ้างอิง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1056/2525  เงินบำเหน็จที่จะตกได้แก่บรรดาทายาทผู้มีสิทธิของผู้ตาย ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ พ.ศ.2494 นั้น มิใช่มรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2114/2524  ในวันที่นาย ก. ถึงแก่ความตายโจทก์เป็นบุตรนอกสมรสยังมิได้มีฐานะเป็นทายาทของนาย ก. แม้ภายหลังจะมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ก็ย่อมไม่มีผลย้อนหลัง โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับส่วนแบ่งในเงินสงเคราะห์ตกทอดจากการรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยซึ่งมีข้อบังคับให้ตกทอดแก่ทายาทโดยอนุโลมตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1558 เป็นกรณีที่ให้สิทธิแก่บุตรชอบด้วยกฎหมายโดยคำพิพากษาภายหลังการตายของเจ้ามรดก รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นเรื่องของการรับมรดกโดยตรง เมื่อเงินสงเคราะห์ตกทอดไม่ใช่มรดกจะนำมาตรา 1558 มาบังคับแก่กรณีของโจทก์ไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 139/2530  สิทธิในเงินบำเหน็จเพื่อสงเคราะห์พนักงานไฟฟ้านครหลวงตกได้แก่ทายาทเนื่องจากการตายของพนักงาน ไม่ใช่ทรัพย์สินที่พนักงานมีอยู่ในระหว่างมีชีวิตหรือมีอยู่ขณะตาย เงินจำนวนนี้จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย เมื่อตามข้อบังคับว่าด้วยกองทุนเงินบำเหน็จพนักงานระบุให้จ่ายเงินบำเหน็จแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของพนักงานที่ตาย จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้การไฟฟ้านครหลวงจ่ายเงินบำเหน็จดังกล่าวให้แก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3656/2557  เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายนั้น พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้บัญญัติให้จ่ายแก่บุคคลตามมาตรา 73 (2) และทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 77 จัตวา ตามลำดับ เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว อีกทั้งประโยชน์ทดแทนในกรณีดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายได้มาเนื่องจากความตายหรือได้มาภายหลังที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ประกันตนโดยแท้ ไม่เป็นทรัพย์มรดก  โจทก์เป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ประกันตน ไม่ใช่บุคคลและทายาทผู้มีสิทธิตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2), 77 จัตวา จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4772/2531  การที่ ร.ยอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันหนี้ของจำเลยจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ร.จะพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อจำเลยกลับเป็นฝ่ายชนะคดีหรือจำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้วเท่านั้น ระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด ร.ไม่มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาค้ำประกันโดยที่โจทก์และจำเลยไม่ได้ตกลงยินยอมด้วยเพราะมิใช่เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ ซึ่งผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 699 และแม้ ร.จะถึงแก่กรรมไปก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้นั้น โจทก์ก็มีสิทธิบังคับเอาแก่ที่ดินอันเป็นกองมรดกของ ร.ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2274/2521  โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์สินและสิทธิทั้งหลายร่วมกับนายจิตติ สามี และร่วมกับสามีเป็นผู้ทรงเช็ค 2 ฉบับตามฟ้อง  เมื่อสามีตายโจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของสามีต่อศาล ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินในฐานะที่โจทก์มีส่วนแบ่งในทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับสามี เนื่องจากการตายของสามีประการหนึ่ง และในฐานะคู่สมรสซึ่งโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมในการรับมรดกส่วนของสามีอีกประการหนึ่ง  เมื่อหนี้เงินตามเช็คเป็นทรัพย์สินที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในฐานะภริยาและเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทดังนี้ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คตามฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2522   การสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้านั้นหมายความเพียงว่า ผู้ทรงมีสิทธิเบิกเงินตามเช็คจากธนาคารได้ต่อเมื่อถึงวันที่กำหนดในเช็คเท่านั้น แม้ผู้สั่งจ่ายจะถึงแก่กรรมไปก่อนวันเช็คถึงกำหนด ก็หาทำให้ผุ้สั่งจ่ายที่ได้ลงลายมือชื่อไว้ในเช็คนั้นหลุดพ้นความรับผิดไปได้ไม่ หน้าที่และความรับผิดตามเช็คนั้นย่อมยังคงตกอยู่แก่กองมรดกของผู้สั่งจ่ายนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1733/2519   เช็คพิพาทเป็นเช็คที่ น. สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กันเมื่อตกมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์โดยฐานเป็นผู้รับเงิน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 และ น. เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตามมาตรา 900 ที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่า น. สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์ (ต่อมา น.ถึงแก่กรรม โจทก์ขอให้จำเลยในฐานะทายาทผู้รับมรดกชำระหนี้) แต่จำเลยปฏิเสธนั้นจะเท็จจริงอย่างไรไม่สำคัญ เพราะเป็นรายละเอียดไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับเช็คมาอย่างไร เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คที่ออกโดยมีมูลหนี้แม้มิได้ลงวันที่สั่งจ่าย โจทก์ในฐานะผู้ทรงก็ชอบที่จะลงวันที่ได้ไม่เป็นการฉ้อฉล  จำเลยทั้งสองในฐานะผู้รับมรดกของ น. จึงต้องร่วมกันใช้เงินตามเช็คพร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2516  สัญญาเช่าซื้อก็คือสัญญาเช่าทรัพย์บวกด้วยคำมั่นจะขายทรัพย์สินนั้นสัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวผู้เช่า คำมั่นจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่าเป็นสิทธิในทรัพย์สินซึ่งอาจตกเป็นมรดกของคู่สัญญาที่ถึงแก่กรรมได้
          คู่สัญญาทำสัญญาเช่าซื้อโดยมีข้อสัญญาระบุว่า  ให้ผู้เช่าซื้อระบุตัวทายาทผู้รับสิทธิในการเช่าซื้อแทนได้เมื่อผู้เช่าซื้อถึงแก่กรรมและผู้เช่าซื้อได้ระบุตัวทายาทผู้รับสิทธิในการเช่าซื้อไว้แล้วข้อสัญญาดังกล่าวนี้เป็นข้อสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374  ฉะนั้นเมื่อผู้เช่าซื้อถึงแก่กรรม  และทายาทผู้รับสิทธิดังกล่าวได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญานี้ต่อผู้ให้เช่าซื้อตามมาตรา 374 วรรค 2 แล้วสิทธิในการเช่าซื้อจึงตกเป็นของทายาทผู้รับสิทธิดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ตกเป็นมรดกของผู้ตายต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/2515  ผู้ตายเป็นสมาชิกขององค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขระบุชื่อ ส.  บิดาเป็นผู้รับประโยชน์เงินสังขารานุเคราะห์ไว้ ตามข้อบังคับ  ย่อมมีผลว่ากรมไปรษณีย์โทรเลขโดยองค์การดังกล่าวได้ทำสัญญาว่าจะชำระหนี้แก่ ส. บุคคลภายนอกสิทธิของ ส. จะเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น  เมื่อ ส. ตายเสียก่อนโดยมิได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาสิทธิของ ส. ในเงินสังขารานุเคราะห์จึงยังไม่เกิดขึ้นและไม่อาจตกทอดเป็นทรัพย์มรดกไปยังทายาทของ ส.
          เงินสังขารานุเคราะห์เป็นเงินที่ผู้รับประโยชน์จะได้รับหลังจากที่สมาชิกขององค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขถึงแก่ความตายแล้ว  มิใช่ทรัพย์สินที่สมาชิกผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตาย  จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 132/2507)
          ตามข้อบังคับกรมไปรษณีย์โทรเลข เมื่อสมาชิกตาย ให้จ่าย เงินสังขารานุเคราะห์แก่ผู้รับประโยชน์ซึ่งสมาชิกผู้ตายได้ระบุชื่อไว้แต่เมื่อผู้รับประโยชน์นั้นตายก่อนสมาชิก ย่อมไม่มีตัวผู้รับประโยชน์ที่จะรับเงินสังขารานุเคราะห์ได้ตามข้อบังคับ แม้เงินสังขารานุเคราะห์จะมิใช่ทรัพย์มรดกของสมาชิกผู้ถึงแก่ความตายแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดกเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับเงินสังขารานุเคราะห์ดังกล่าวจึงควรจ่ายให้แก่ทายาทโดยธรรมของสมาชิกผู้ตาย เสมือนหนึ่งทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2548  โจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทโดยได้รับมรดกจาก ป. ซึ่ง ป. ได้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาท กำหนดอายุสัญญาเช่า 15 ปี โดยมีข้อตกลงในสัญญาเช่าข้อ 11 ระบุว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าจะต่อสัญญาเช่าให้ทุกๆ 3 ปี ซึ่งข้อความตามข้อตกลงดังกล่าว เป็นเพียงคำมั่นของ ป. ว่าจะให้ผู้เช่าต่ออายุสัญญาครั้งต่อไปเท่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แต่คำมั่นนี้ยังไม่มีผลผูกพัน ป. เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยได้สนองรับก่อน ป. ถึงแก่ความตายทั้งเมื่อจำเลยได้รู้อยู่ว่า ป. ผู้เสนอตายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 ก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนดคือวันที่ 31 ธันวาคม 2538 กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่าห้ามมิให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองมาใช้บังคับ ดังนั้น คำมั่นของ ป. ดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1599 และมาตรา 1600 หนังสือขอต่อสัญญาของจำเลยจึงไร้ผล และไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าใหม่ โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกจากตึกพิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2542  เงินชดเชยที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ. และได้รับมาหลังจาก ณ.ถึงแก่ความตายไปแล้ว ไม่เป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยา ทั้งสิทธิที่จะได้เงินค่าชดเชยนี้มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ.ได้มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรม จึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของ ณ. เมื่อระเบียบของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างกำหนดให้ต้องนำเงินชดเชยมาหักหนี้สินที่ ณ.สามีโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีต่อจำเลยที่ 2 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะหักหนี้ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อน
          ป.พ.พ.มาตรา 1625 เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อแยกเป็นมรดกของผู้ตายกับทรัพย์สินของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วนำมรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่านั้นหาใช่เป็นการกำหนดให้ต้องมีการนำมรดกของผู้ตายมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตายไม่
          สิทธิในการได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ.มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่ความตาย แม้วิธีการที่จะได้รับเงินจำนวนนี้มาผู้ตายจะต้องเคยชำระเงินในอัตรา 10 บาท ต่อผู้เสียชีวิต 1 ราย ร่วมกับพนักงานของจำเลยที่ 2 คนอื่นๆ เพื่อรวบรวมนำส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่ความตายรายก่อนๆ ก็ตาม ก็มิใช่เป็นมรดกของ ณ. ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสของ ณ.จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่ง
          เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่าง ณ.กับบุคคลภายนอกและจำเลยที่ 2 เพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ คือ จำเลยที่ 1 สืบเนื่องจากความมรณะของ ณ.อันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของ ณ.ที่มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย แม้สัญญาประกันชีวิตที่ ณ.ระบุให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์อันต้องบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 897 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันภัยจำนวนดังกล่าว แต่โจทก์ฟ้องเพื่อเรียกเงินประกันชีวิตว่าโจทก์มีสิทธิกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของ ณ.ที่จะตกแก่ทายาท ดังนี้ฎีกาของโจทก์ในส่วนเบี้ยประกันภัย จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 919/2495  เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมสิทธิ์ในทางทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกทอดได้แก่ทายาททันที  ฉะนั้นทายาทจึงมีสิทธิที่จะไถ่ถอนทรัพย์สินที่ผู้ตายขายฝากไว้ได้  โดยไม่ต้องรอให้รับโอนมรดกก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 212-213/2525  สิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 443 นั้นได้แต่เฉพาะผู้ที่เป็นทายาท เพราะการปลงศพนั้นเป็นหน้าที่ของทายาทตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 649  ภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่ทายาท จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง เอาค่าปลงศพ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2514  ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพตามมาตรา 443 วรรคหนึ่ง หมายความเฉพาะผู้ที่เป็นทายาทของผู้ตายที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิด ทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเพราะสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยเหตุที่ได้ละเมิดแก่เจ้ามรดกตกทอดมายังตนผู้เป็นทายาทภายใต้บังคับของมาตรา 1649 เท่านั้น มิได้หมายความว่าใครทำศพผู้ตายแล้วก็จะมีสิทธิเรียกร้องค่าทำศพในลักษณะที่เป็นค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดเสียเองได้เสมอไป เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทผู้ตายเพราะไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการปลงศพเป็นค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ตาย (อ้างฎีกาที่ 1314/2505)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2556  ก่อน ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายได้ทำหนังสือให้ความยินยอมให้จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้บัตรเครดิตของ ม. แม้ ม. จะเป็นหนี้จากการใช้บัตรเครดิตของจำเลยครั้งสุดท้ายก่อนวันที่ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและหนี้ดังกล่าวไม่ระงับลงเพราะความตายของ ป. เจ้ามรดกก็ตาม แต่การที่จำเลยจะใช้สิทธิและอำนาจในการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดก จำเลยจะต้องดำเนินการในระหว่างที่หนังสือให้ความยินยอมมีผลใช้บังคับ หาใช่จะใช้สิทธิและอำนาจตามอำเภอใจเมื่อใดก็ได้ เมื่อหนังสือให้ความยินยอมทำขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยออกให้แก่ ม. โดยสภาพจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ป. เจ้ามรดก เมื่อ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หน้าที่และความรับผิดตามหนังสือให้ความยินยอมย่อมสิ้นสุดลงหาเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทไม่ จำเลยจะอาศัยแสวงสิทธิจากหนังสือให้ความยินยอมหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดกหลังจาก ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายหาได้ไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยจะทราบเรื่องที่ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ การที่จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดกชำระหนี้บัตรเครดิตของ ม. จึงเป็นการไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16040/2555  ป.พ.พ. มาตรา 1598/41 กำหนดถึงสิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาว่าจะสละหรือโอนไม่ได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี สิทธิหน้าที่เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ทรงสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวเช่นกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นอันสิ้นสุดลงไม่ตกทอดไปยังทายาท เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วสภาพบุคคลของโจทก์ก็หมดสิ้นไป ภาระหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นับแต่มีคำพิพากษาจนบุตรบรรลุนิติภาวะจึงยุติไปด้วย แม้โจทก์จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทไว้ก็ตาม หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ก็ไม่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 กองมรดกของโจทก์ไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้แก่จำเลยอีกต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 357/2554   ส. ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ป. ไปจดทะเบียนขายที่ดิน แต่ตราบใดที่ยังมิได้ไปจดทะเบียนขายที่ดิน การขายก็ยังไม่มีขึ้นโดยสมบูรณ์ เพราะยังไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย หนังสือมอบอำนาจย่อมสิ้นผล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 826 วรรคสอง การที่ ป. นำหนังสือมอบอำนาจที่สิ้นผลแล้วไปดำเนินการจดทะเบียนขายที่ดินหลังจาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว จึงไม่มีผลให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนกองมรดกของ ส. เพื่อประโยชน์ของทายาทต่อไป



การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร

          เด็กที่เกิดย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงซึ่งเป็นมารดานั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1546 แต่สำหรับฝ่ายชายนั้นในกรณีที่สันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตามมาตรา 1536 มาตรา 1537 หรือมาตรา 1538 ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะไม่รับเด็กเป็นบุตรของตนก็ได้ โดยฟ้องเด็กกับมารดาเด็กร่วมกันเป็นจำเลยและพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรภ์คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนเด็กเกิด หรือตนไม่สามารถเป็นบิดาของเด็กได้เพราะเหตุอย่างอื่น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1539


          กรณีฝ่ายชายฟ้องคดีเอง

          เด็กที่เกิดระหว่างสมรส หรือภายใน 310 วันนับแต่การสมรสสิ้นสุดลง เด็กที่เกิดจากการสมรสของหญิงหม้ายที่สมรสใหม่ก่อนครบกำหนด 310 วันนับแต่วันที่ขาดจากการสมรสเดิม หรือเด็กที่เกิดจากการสมรสที่เป็นโมฆะ ซึ่งกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีนั้น สามีมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับว่าเป็นบุตรของตนได้ โดยการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร โดยวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 1539 ดังนี้
          ก. ถ้าเด็กและมารดาเด็กยังมีชีวิตอยู่ ต้องฟ้องเด็กและมารดาเด็กเป็นจำเลยร่วมกัน
          ข. ถ้ามารดาเด็กไม่มีชีวิตอยู่แล้ว จะฟ้องเด็กผู้เดียวเป็นจำเลยก็ได้
          ค. ถ้าเด็กไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ไม่ว่ามารดาเด็กจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ ให้ใช้วิธียื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงว่าเด็กนั้นไม่ใช่บุตรของตน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2547  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ การที่โจทก์จะฟ้องคดีไม่รับจำเลยที่ 2 เป็นบุตร โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าโจทก์ไม่ได้อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 มารดาจำเลยที่ 2 ในเวลาตั้งครรภ์คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนจำเลยที่ 2 เกิดหรือโจทก์ไม่สามารถเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้เพราะเหตุอย่างอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 แต่โจทก์สืบแต่เพียงว่าไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา อันเป็นการนำสืบลอย ๆ การนำสืบของโจทก์ยังไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง ที่ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์

          ข้อยกเว้นห้ามชายฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร
          ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรไม่ได้ ถ้าปรากฏว่าตนเป็นผู้แจ้งการเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตน หรือจัดหรือยอมให้มีการแจ้งดังกล่าว ตามมาตรา 1541
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4791/2542 บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1541 หมายถึงชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา 1539 ซึ่งเป็นกรณีที่สันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีตามมาตรา 1536 และ 1537 หรือมาตรา 1538 โจทก์เป็นบุตรของ ร.และ อ.ซึ่งมีตัวตนแน่นอน ส.และ สค. ไม่ใช่บิดามารดาผู้ให้กำเนิดโจทก์โดยแท้จริง การที่ ส.ไปแจ้งการเกิดลงในสูติบัตรของโจทก์ว่า บิดาโจทก์เป็นคนไทย มารดาเป็นคนกัมพูชาเมื่อมีบุตรขึ้นมาก็แจ้งเกิดไม่ได้ ส. จึงรับสมอ้างไปแจ้งเกิดแทน โดยระบุว่าเป็นบิดาดังนี้ เป็นคนละเรื่องกับกรณีการแจ้งเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1541 เมื่อโจทก์ไม่ใช่บุตรที่แท้จริงของ ส. จึงไม่ใช่บุตรนอกกฎหมายตามความเป็นจริงที่บิดาได้รับรองแล้ว ทั้งไม่ใช่ ผู้สืบสันดานและไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของ ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 และ 1629(1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ส. ผู้ตาย และไม่มีอำนาจฟ้อง

          ระยะเวลาในการฟ้องคดี
          มาตรา 1542  "การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก
          ในกรณีที่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่าเด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ตามมาตรา 1537 หรือชายผู้เป็นสามีในการสมรสครั้งหลังตามมาตรา 1538 ถ้าชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีซึ่งต้องด้วยบทสันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตนตามมาตรา 1536 ประสงค์จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ให้ฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุด"



          กรณีทายาทผู้มีส่วนได้เสียฟ้องคดีแทน

          ตามมาตรา 1544 ให้อำนาจทายาทผู้มีส่วนได้เสียฟ้องคดีแทนชายได้ หากชายได้ถึงแก่ความตายไปก่อน แต่บุคคลเช่นว่านี้ต้องเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็กหรือผู้จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็ก และจะฟ้องได้เฉพาะใน 2 กรณีดังนี้ คือ
          (1) ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตายก่อนพ้นระยะเวลาที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะพึงฟ้องได้
          (2) เด็กเกิดภายหลังการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามี
          ทั้งนี้ การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (1) ต้องฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามี และการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (2) ต้องฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ไม่ว่าเป็นกรณีใด ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก          

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7069/2559  การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีมีสิทธิโต้แย้งว่า เด็กมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตนได้ แต่ต้องกระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตาม ป.พ.พ. 1542 แต่บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้สงวนไว้ใช้เฉพาะชายผู้ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเด็กเท่านั้น เมื่อ ด. ผู้ถูกอ้างว่าเป็นบิดาของจำเลยถึงแก่ความตายไปก่อนที่มีการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ป.พ.พ. 1545 ได้เปิดช่องให้ผู้มีส่วนได้เสียฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรได้ อันได้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็ก หรือผู้ที่จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็ก เมื่อโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด. โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร แต่ทั้งนี้ก็มีกำหนดระยะเวลาที่โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา 1544 (1) คือ ในกรณีที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตายก่อนพ้นระยะเวลาที่ชายผู้เป็นสามีจะพึงฟ้อง ซึ่งมาตรา 1542 กำหนดระยะเวลาไว้ว่า ชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก ดังนั้นเมื่อ ด. เป็นผู้ไปแจ้งเกิดว่า จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2512 เท่ากับอย่างน้อย ด. ต้องฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่วันเกิดของจำเลย คืออย่างช้าในวันที่ 30 เมษายน 2522 การที่ ด. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2544 ด. จึงไม่ได้ตายก่อนพ้นระยะเวลาที่จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามเงื่อนไขแห่งมาตรา 1544 (1) เมื่อ ด. ซึ่งเป็นบิดายังไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ด. แม้เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยมิใช่บุตรของ ด. เช่นกัน ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


           กรณีการฟ้องคดีปฏิเสธความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

           เป็นกรณีที่เด็กปฏิเสธความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีของมารดาตนได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1545 ซึ่งถือว่าเป็นคดีที่บุตรฟ้องบุพการี เป็นคดีอุทลุม จึงฟ้องเองไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 1562 เด็กจะต้องร้องขอให้พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดีแทน ซึ่งต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่บรรลุนิติภาวะ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามห้ามฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่เด็กบรรลุนิติภาวะ




การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร


          กฎหมายได้วางข้อสันนิษฐานว่า เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่มาตรา 1555 วรรคหนึ่งกำหนดไว้ จึงเป็นหน้าที่ของชายที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นบิดาของเด็กจะต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานกฎหมายเช่นว่านี้ ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าวมีอยู่ 7 ประการ กล่าวคือ

          (1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
          ระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรภ์ได้ คือ ระยะเวลา 180 วัน ถึง 310 วันก่อนเด็กเกิด ถ้าในระหว่างนี้มีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงโดยมิชอบด้วยกฎหมายจนหญิงนั้นตั้งครรภ์ ก็เข้าตามข้อสันนิษฐานข้อนี้

          (2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
          การลักพาหรือการล่อลวงตามข้อนี้ ต้องอยู่ในระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรภ์ได้เช่นเดียวกัน คือ ระยะเวลา 180 วัน ถึง 310 วันก่อนเด็กเกิด

          (3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน
          เอกสารที่แสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตร ต้องมีความชัดแจ้ง ซึ่งเอกสารดังกล่าวบิดาจะตั้งใจทำขึ้นหรือไม่นั้น ไม่สำคัญ


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2536  โจทก์คลอดเด็กหญิง บ. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2531 จำเลยได้ร่วมประเวณีกับโจทก์หลายครั้งในระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2530 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2531 และจัดการให้โจทก์ไปอยู่กับเพื่อนของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นจำเลยไปเยี่ยมโจทก์หลายครั้งพาโจทก์ไปหาแพทย์และเขียนจดหมายถึงโจทก์หลายฉบับมีข้อความที่แสดงว่าเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลย ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ร่วมประเวณีกับชายอื่น ย่อมมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าเด็กหญิง บ. มิได้เป็นบุตรของชายอื่น โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลยได้ การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557(3) ดังนั้น ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจะต้องกำหนดให้นับแต่วันดังกล่าวมิใช่นับแต่วันฟ้อง จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเท่าไร ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ชำระตามที่ศาลล่างกำหนดคือเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 10 ปีบริบูรณ์ หลังจากนั้นให้ชำระเดือนละ 1,500 บาท จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ โดยให้จำเลยชำระเป็นเงินก้อนครั้งเดียว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2698/2536  ผู้ตายได้ทำบันทึกมีข้อความระบุว่า ผู้ร้องยินยอมรับเงินจำนวน 15,000 บาท เป็นค่าทดแทนกรณีที่ผู้ร้องมีบุตรกับผู้ตาย โดยผู้ร้องลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้สัญญา ส่วนผู้ตายลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับสัญญา บันทึกดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเอกสารของผู้ตายที่ยอมรับว่าเด็กหญิง ม. เป็นบุตรของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555(3) แล้ว

          (4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5335/2542  ผู้ตายและนาง บ. เป็นสามีภริยากันโดยมีนาง ค. ซึ่งเป็นบุตรของนาง บ.กับสามีเก่าพักอาศัยอยู่ด้วย นาง ค. คลอดผู้ร้องแล้วผู้ตายถึงแก่กรรม โดยผู้ตายมิได้เป็นผู้ไปแจ้งการเกิดผู้ร้อง จึงไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ตายรับผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555(4) นาง ค. พักอาศัยในฐานะที่เป็นบุตรสาวของนาง บ. มิใช่ในฐานะภริยาของผู้ตาย การที่ผู้ร้องใช้นามสกุลของผู้ตายก็เพราะสูติบัตรของผู้ร้องระบุว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายกับนาง บ. หาใช่เพราะผู้ตายยอมให้ใช้นามสกุลของตนเพราะเหตุที่ผู้ร้องเป็นบุตรของนางค.ไม่ จึงฟังไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าผู้ร้องเป็นบุตรผู้ตายที่เกิดจากนาง ค. ไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ตายรับผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555(7)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4141/2535  จำเลยเคยร่วมประเวณีกับโจทก์ และเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2529 โจทก์คลอดเด็กหญิง ธ. ผู้เยาว์ ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2529 โจทก์ได้ไปแจ้งการเกิดของผู้เยาว์ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี โดยนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุบลราชธานี เป็นผู้สอบสวนพยานหลักฐานไว้ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2  ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการที่โจทก์ไปแจ้งเกิดผู้เยาว์จึงอยู่ในความรู้เห็นยินยอมของจำเลย ซึ่งเมื่อฟังประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์จำเลยได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผยในระยะเวลาที่โจทก์อาจตั้งครรภ์เด็กหญิง ธ. ได้แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า เด็กหญิง ธ. เป็นบุตรของโจทก์ที่เกิดกับจำเลย

          (5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2525  ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของจำเลยซึ่งเกิดจากนาง ส. โดยจำเลยกับนาง ส. ได้แต่งงานอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งนาง ส. มารดาโจทก์อาจตั้งครรภ์ได้ และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยไม่ได้บังคับให้นาง ส. ทำหนังสือรับรองว่าโจทก์ทั้งสองไม่ใช่บุตรของจำเลย และไม่ได้บังคับให้นาง ส. ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยไปยื่นคำร้องขอเพิกถอนหลักฐานทะเบียนบ้าน แต่นาง ส. กระทำด้วยความสมัครใจ ย่อมสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของจำเลยซึ่งมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยรับโจทก์เป็นบุตร ถึงแม้นาง ส. มารดาโจทก์จะทำหนังสือรับรองว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่บุตรของจำเลยและทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยไปยื่นคำร้องขอเพิกถอนหลักฐานทะเบียนบ้านด้วยความสมัครใจ ก็หามีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์ไม่"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2268/2533  จำเลยกับมารดาโจทก์รู้จักกันมาก่อนเป็นเวลานานโดยมารดาโจทก์ทำงานเป็นหญิงพาร์ตเนอร์อยู่ที่นครถ้ำไนท์คลับ จำเลยก็เบิกความรับว่ารู้จักกับมารดาโจทก์มาประมาณ 20 ปี จำเลยไปเที่ยวที่ไนท์คลับดังกล่าวและเคยพามารดาโจทก์ไปร่วมหลับนอนด้วย เมื่อมารดาโจทก์คลอดบุตรคือตัวโจทก์แล้วได้มีการแจ้งในใบสูติบัตรว่า บิดาโจทก์ชื่อ ป. อันเป็นชื่อของจำเลยและแจ้งนามสกุลโจทก์เป็นนามสกุลของจำเลยปรากฏตามใบสูติบัตรแจ้งการเกิดจากโรงพยาบาลตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งผู้แจ้งจะต้องนำหลักฐานทางทะเบียนของมารดาเด็กและบิดาเด็กไปแสดงเพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ลงทะเบียนได้ถูกต้อง หลักฐานดังกล่าวได้แก่บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านลักษณะการแจ้งเกิดที่บ้านกับที่โรงพยาบาลไม่แตกต่างกัน ใช้เอกสารอย่างเดียวกันแสดงว่าการแจ้งเกิดตามใบสูติบัตรของโจทก์ดังกล่าวมีหลักฐานการแจ้งเกิดตามระเบียบโดยถูกต้องบ่งชี้โดยแน่ชัดว่าจำเลยเป็นบิดาของโจทก์จริง

          (6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2536  โจทก์คลอดเด็กหญิง บ. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2531 ก่อนโจทก์คลอดบุตรดังกล่าว จำเลยได้ร่วมประเวณีกับโจทก์หลายครั้ง โดยโจทก์ไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์เนื่องจากจำเลยต้องการมีบุตรกับโจทก์ เพราะภรรยาของจำเลยไม่สามารถมีบุตรได้จนโจทก์ตั้งครรภ์และโจทก์ได้บอกให้จำเลยทราบ จำเลยเกรงว่าภรรยาของจำเลยจะทราบเรื่อง จึงจัดการให้โจทก์ไปอยู่กับเพื่อนของจำเลย จากนั้นจำเลยได้ไปเยี่ยมโจทก์หลายครั้งและพาโจทก์ไปหาแพทย์ด้วย นอกจากนี้จำเลยยังได้เขียนจดหมายถึงโจทก์หลายฉบับซึ่งเป็นข้อความที่แสดงว่าเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลย ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ไปร่วมประเวณีกับชายอื่น คดีจึงรับฟังได้ว่าเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลย

          (7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2549  ผู้ร้องเป็นบุตรสืบสายโลหิตของ ป. ป. แสดงออกต่อญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่บ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนาของมารดาผู้ร้อง มิได้แสดงออกต่อญาติข้างบิดาหรือเพื่อนบ้านแถวบ้านพักของ ป. ซึ่งอยู่ต่างท้องที่กันว่าผู้ร้องเป็นบุตร ก็ถือได้ว่าพฤติกรรมที่รู้กันอยู่ทั่วไปตลอดเวลาว่าผู้ร้องเป็นบุตร ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555 (7) แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2538  ม.และโจทก์ที่ 1 ได้แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรโดยให้ความอุปการะเลี้ยงดูให้ใช้นามสกุลเดียวกัน เป็นพฤติการณ์ที่รู้กันโดยทั่วไปตลอดมาว่าโจทก์ที่ 1 เป็นบุตร โจทก์ที่ 1 จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ ม. แต่เมื่อ ม.ซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกตายไปก่อนเจ้ามรดก โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่ ม.ได้


          การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา 1556 กำหนดไว้ดังนี้
          ก. ถ้าเด็กยังเป็นผู้เยาว์และยังมีอายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็กก็ได้
          ข. เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเอง  ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
          ค. กรณีที่เด็กบรรลุนิติภาวะแล้ว จะต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันบรรลุนิติภาวะ
          ง. กรณีที่เด็กตายในระหว่างที่เด็กนั้นยังมีสิทธิฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรอยู่ ผู้สืบสันดานของเด็กจะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก็ได้ ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรมาก่อนวันที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรภายหลังที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้เหตุดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ต้องไม่พ้นสิบปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย

          กฎหมายกำหนดเวลาไว้ชัดเจนว่าการฟ้องให้รับเด็กเป็นบุตรต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่เด็กนั้นบรรลุนิติภาวะ ถ้าฟ้องเกินกำหนด 1 ปี ย่อมต้องห้ามตามมาตรา 1556
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9574/2551  ผู้ร้องบรรลุนิติภาวะเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ป. เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2549 จึงเกินกำหนด 1 ปี นับแต่ผู้ร้องบรรลุนิติภาวะ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้องขอ) ดังนั้นปัญหาว่าผู้ร้องเป็นบุตรของ ป. หรือไม่ ก็ไม่จำต้องวินิจฉัย หากผู้ร้องเห็นว่ามีการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในการรับมรดกของ ป. อย่างไร ผู้ร้องต้องไปใช้สิทธิทางศาลอย่างคดีมีข้อพิพาทต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2549  การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่เด็กบรรลุภาวะแล้วจะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ ปรากฏตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านว่า ผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2512 ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2546 ขณะผู้ร้องมีอายุได้ 34 ปี จึงเป็นการยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ตายไม่เคยปฏิเสธว่าผู้ร้องมิใช่บุตรไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายจนเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องไปติดต่อขอรับเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกคุรุสภา (ช.พ.ค.) แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าไม่มีหลักฐานแสดงว่าผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย นับเป็นเหตุขัดข้องโดยเพิ่งเกิดการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ก็ตาม แต่การใช้สิทธิทางศาลของผู้ร้องก็ยังต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าวด้วย ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ร้องเพิ่งถูกโต้แย้งสิทธิ คดียังไม่ขาดอายุความหาได้ไม่


          ผลของการที่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

          เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเด็กเป็นบุตรแล้ว การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย ให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้ ตามมาตรา 1557
          แต่หากฝ่ายชายผู้เป็นบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วจึงมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเด็กเป็นบุตรของชายผู้ตายในภายหลังเช่นนี้ มาตรา 1558 ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรของผู้ตายที่ได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความมรดก ถ้าต่อมาศาลได้พิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เด็กนั้นมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8504/2544  การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555 หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทคือฟ้องบิดาโดยเสนอข้อหาทำเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือให้เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตามมาตรา 188 (1)




27 กุมภาพันธ์ 2567

การได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง


          สิทธิครอบครอง มาตรา 1367 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง”

          สิทธิครอบครอง เป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน และเป็นสิทธิที่ยิ่งใหญ่รองจากกรรมสิทธิ์ เจ้าของสิทธิครอบครองมีอำนาจใช้สอยทรัพย์ ให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครอง เรียกเอาคืนซึ่งการครอบครอง ได้ดอกผล และโอนสิทธิครอบครองได้ คล้ายคลึงกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งเป็นสิทธิที่ใช้ยันต่อบุคคลอื่นได้ทั่วไป เว้นแต่ผู้อื่นนั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2864/2559  ว. ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยเป็นการเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังที่กฎหมายบัญญัติ หากกระทำผิดเงื่อนไขรัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. แม้ที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐ แต่ ว. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ว. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ตามมาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ว. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ว. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนและรับมรดกกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกของ ว. ตามมาตรา 1600 ตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ว. ตามมาตรา 1599 ส่วนบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทนั้น ว. เป็นผู้ปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่และทำประโยชน์จากรัฐตามกฎหมายดังกล่าว บ้านจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
          ว. ยังไม่ได้ขอให้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง เพื่อนำไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามมาตรา 11 วรรคสอง ว. ถึงแก่ความตายเสียก่อน จำเลยไม่ใช่ทายาทของ ว. แต่กลับกล่าวอ้างว่าเป็นทายาทแล้วขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จากนั้นได้ขอออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และดำเนินการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของตน เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเป็นการไม่ชอบ กระทบสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ว. ที่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้ แต่การที่โจทก์จะให้ใส่ชื่อโจทก์แทนจำเลยโดยไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินนั้นไม่อาจกระทำได้ เพราะโจทก์จะต้องไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนโดยถูกต้องก่อน


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3300/2553  เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บิดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้บิดาจำเลยไปแล้วและขณะมีการทำสัญญาซื้อขายนั้นที่ดินของบิดาโจทก์มีเพียงสิทธิครอบครอง แม้สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะไม่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็ตาม แต่บิดาโจทก์ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาจำเลยแล้ว สิทธิครอบครองจึงตกแก่บิดาจำเลย บิดาจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยสมบูรณ์ เมื่อบิดาจำเลยถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมย่อมมีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นสิทธิครอบครองของจำเลย จำเลยจึงเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2552  จำเลยแสดงเจตนายกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตีใช้หนี้และส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 525 ประกอบด้วยมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ที่ดินพิพาทมีแต่สิทธิครอบครองจึงถือได้ว่าจำเลยสละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไป เมื่อโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1378 อันเป็นการได้สิทธิครอบครองด้วยการครอบครองตามกฎหมาย มิใช่ได้มาตามสัญญายกให้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์

          การได้สิทธิครอบครองนั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ มีการยีดถือทรัพย์สิน และเจตนายึดถือทรัพย์สินนั้นเพื่อตน

          การยึดถือทรัพย์สิน คือการเข้าครอบครองทรัพย์สินได้เท่านั้น และการยึดถือนี้ไม่จำเป็นจะต้องยึดถือหรือครอบครองนั้นไว้ด้วยตนเอง ผู้อื่นยึดถือหรือครอบครองแทนก็เป็นการยึดถือได้ ตามมาตรา 1368 บัญญัติว่า “บุคคลได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11320/2556  การที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันโดยทั้งสองฝ่ายต่างรู้อยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี แม้สัญญาซื้อขายที่ดินจะกำหนดไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองกันในวันพ้นระยะเวลาห้ามโอนก็ตาม ก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ การยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นการครอบครองไว้แทนโจทก์ที่ 1
          

          เจตนายึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อตน คือ มีเจตนาที่จะยึดถือทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเจตนาจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8887/2563  ย. ตกลงขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้พันเอก พ. เมื่อปี 2519 ต่อมาปี 2520 เมื่อมีการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่เนื่องจากติดข้อกำหนดที่ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน ย. และพันเอก พ. จึงทำสัญญาจำนองโดยไม่มีการกู้ยืมเงินจริง แต่ทำเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่ยังไม่อาจโอนสิทธิในที่ดินได้เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ สัญญาจำนองจึงเป็นนิติกรรมอำพราง ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เมื่อสัญญาจำนองเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยได้การทำสัญญาการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น การที่ ย. ทำสัญญาการซื้อขายและมอบให้พันเอก พ. ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท พันเอก พ. ก็หาได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่เพราะอยู่ในกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอนคือวันที่ 24 สิงหาคม 2530 พันเอก พ. และทายาทครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างต่อเนื่องและเป็นผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึง พ.ศ.2559 โดยไม่ปรากฏว่า ย. หรือทายาทเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ย. หรือทายาทได้สละการครอบครองที่พิพาทให้แก่พันเอก พ. แล้ว ย่อมถือว่าพันเอก พ. ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนต่อแต่นั้นมา พันเอก พ. ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 1367 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10408/2555  แม้โจทก์ไม่ได้แต่งตั้งให้ ฐ. ไปทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทกับบริษัท ท. มีผลให้สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าบริษัท ท. สละเจตนาครอบครองเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทพร้อมอุปกรณ์ เมื่อโจทก์เข้ายึดถือเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องผู้ทำละเมิดและฟ้องเรียกเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทคืนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12473/2553 (ประชุมใหญ่)  การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่ ป. โดยมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ป. โดยมิได้กลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินอีก แสดงว่าจำเลยที่ 1 สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้ ป. จะได้ซื้อที่ดินและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน ป. ไม่ได้สิทธิครอบครองเนื่องจากถูกจำกัดสิทธิโดยบทบัญญัติแห่ง ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ แต่เมื่อ ป. และโจทก์ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับ ป. ได้ร่วมกันครอบครองที่ดินตลอดมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ยังครอบครองที่ดินอยู่ จึงถือได้ว่า ป. และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปแบ่งแยกโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จึงไม่มีสิทธิเข้าไปในที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 9 ไม่อาจนำที่ดินพิพาทบางส่วนไปจดทะเบียนจำนอง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่า ป. และโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 (ประเด็นนี้วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่)
          สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะเพราะต้องห้ามตามกฎหมายที่มิให้โอนที่ดินพิพาท การที่ ป. ได้สิทธิครอบครองในที่ดินเป็นการได้ตามผลของกฎหมาย จึงหาอาจเรียกให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ป. ได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589/2553  จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ จำเลยหาได้ยึดถือที่ดินที่เช่าโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนไม่ จำเลยไม่ได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 แม้ว่าก่อนทำสัญญาเช่าที่ดิน จำเลยอาจจะยึดถือที่ดินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนมาก่อนก็ตาม โดยผลของสัญญาเช่าที่ดินต้องถือว่าจำเลยสละเจตนาครอบครองที่ดินเพื่อตนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6437/2550  การฟ้องขอแบ่งทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 ไม่มีอายุความ ตามมาตรา 1363 วรรคสอง เป็นเรื่องผู้มีกรรมสิทธิ์รวมจะทำนิติกรรมห้ามแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้คราวละไม่เกินสิบปี มิใช่เป็นอายุความ
          โจทก์ ฮ. และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงรังวัดที่ดินมือเปล่ายังไม่มีหลักฐานหนังสือสำคัญเพื่อแบ่งกรรมสิทธิ์รวมไว้ โจทก์ได้ที่ดินเป็นที่พิพาท โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเป็นสัดส่วนตลอดมา การแบ่งแยกเจ้าของรวมจึงไม่อาจจดทะเบียนแบ่งแยกต่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ ถือว่าโจทก์ยึดถือที่ดินส่วนที่เข้าครอบครองเพื่อตน โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 แม้ต่อมาทางราชการจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และโฉนดที่ดินมีชื่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และ ฮ. ถือกรรมสิทธิ์รวม โดยไม่ได้ระบุว่ามีส่วนคนละเท่าใดและตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ให้สันนิษฐานว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากันก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมายในกรณีที่ไม่ปรากฏชัดว่าเจ้าของรวมแต่ละคนมีส่วนเท่าใด โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ตามสัดส่วนที่ครอบครอง จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเจ้าของรวมยังคงมีส่วนเท่ากันหาได้ไม่

          ข้อสันนิษฐานว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ตามมาตรา 1373 "ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง"  คือ มีข้อสันนิษฐานทางกฎหมายว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนั้น บุคคลอื่นที่ไม่มีชื่อในทะเบียนแต่อ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่แท้จริงแล้ว ผู้นั้นก็จะต้องมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานทางกฎหมายดังกล่าว หาไม่แล้วก็จะเป็นฝ่ายแพ้คดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3558/2553  ป.พ.พ. มาตรา 1373 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นของโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยทั้งสอง ที่จำเลยทั้งสองอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1367 ที่บัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครองนั้น มาตรา 1367 เป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครองจึงต้องบังคับตามมาตรา 1373 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14737/2551  โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด จำเลยที่ 1 จึงสามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาททางทะเบียนเท่านั้น หาได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามความเป็นจริงไม่ แม้ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จะมีชื่อ อ. เป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง แต่การที่ อ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่ ล. และได้มอบการครอบครองให้แก่ ล. ถือเป็นการสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ล. ตั้งแต่ปี 2530 แล้ว อ. จึงหมดสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 และเมื่อ ล. ขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 เข้าไปไถและถมดินในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2536 จึงเป็นการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยมีเจตนาที่จะยึดถือเพื่อตน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ดังนั้น เมื่อ อ. หมดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะขายฝากที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ แม้การขายฝากระหว่างโจทก์ กับ อ. จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8551/2550  โจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท การที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของจำเลยบางส่วนออกทับที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ครอบครองอยู่ ก็มีผลให้จำเลยยังได้รับคำรับรองของทางราชการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 ทวิ และได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายในฐานที่มีชื่อในทะเบียนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ดังนั้น สิทธิของจำเลยที่ได้รับตามกฎหมายจึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดิน (น.ส.3 ก.) ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองให้แก่โจทก์มาด้วยนั้น พอแปลได้ว่าเป็นคำขอให้เพิกถอนชื่อของจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะส่วนที่ดินที่ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาเพิกถอนชื่อของจำเลยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในส่วนที่ทับที่ดินพิพาทได้



          ถ้าผู้ครอบครองเจตนาสละการครอบครองหรือโอนโดยการส่งมอบการครอบครองแล้ว การครอบครองก็สิ้นสุดลง ผู้รับโอนย่อมได้ไปซึ่งการครอบครอง ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติในมาตรา 1377 และ 1378
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8160/2551  จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ได้นำไปจดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 ทวิ แต่จำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายแล้ว ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา เมื่อจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทอีกต่อไป จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นของตนและไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 เพราะผู้ที่จะจำนองทรัพย์สินได้ต้องเป็นเจ้าของในขณะนั้น การจำนองจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่ เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นั้นต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิที่เกิดจากโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ส่วนคำขอของโจทก์ที่ว่าให้จำเลยที่ 1 จดเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนจากจำเลยที่ 1 มาเป็นชื่อโจทก์นั้น เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดโดยไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น โจทก์จะขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบหาได้ไม่ เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินเองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ใน ป. ที่ดิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2551  สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมทั้งสองกับจำเลย ตามเอกสารหมาย จ.13 ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาขายฝากดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการขายฝากเกิดขึ้นเลย เมื่อสัญญาขายฝากนี้เป็นโมฆะแล้วโจทก์ร่วมทั้งสองย่อมจะอ้างสิทธิการได้มาโดยการครอบครองโดยนิติกรรมการขายฝากนั้นไม่ได้ เพราะการขายฝากมิใช่ว่าผู้ขายฝากสละเจตนาครอบครองโดยเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อฝาก แต่ผู้ขายฝากมอบที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าวันหลังจะเอาคืน ฉะนั้น แม้จะฟังว่าโจทก์ร่วมทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากครบกำหนดไถ่ก็ตาม แต่ก็เป็นการครอบครองโดยอาศัยอำนาจของจำเลยเพื่อทำการตัดไม้โกงกางไปเป็นประโยชน์เท่านั้น โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนข้อสัญญาข้อ 2 ที่ว่า ถ้าไม่ไถ่ถอนในกำหนดให้หลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยและโจทก์ร่วมทั้งสองมีเจตนาแท้จริงเพียงการขายฝากดังวินิจฉัยข้างต้นและพันตำรวจตรี พ.พยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์และจำเลยมาที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคลองด่านเพื่อตกลงกัน พยานได้ทำบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งสรุปได้ว่าจำเลยอ้างว่าหลังจากมีการติดต่อไถ่คืนโจทก์ร่วมที่ 2 ผัดผ่อนอ้างว่าได้นำ ส.ค.1 ไปฝากไว้กับญาติ ไม่อาจให้ไถ่ได้ ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 อ้างว่าหลังจากวันสิ้นสุดสัญญา จำเลยได้มาติดต่อขอไถ่คืน โจทก์ร่วมที่ 2 ได้เลื่อนนัดไปอีก 3 วัน เมื่อครบกำหนดจำเลยได้มาขอไถ่คืน โจทก์ร่วมที่ 2 ให้ไถ่ถอนในราคา 6 ล้านบาท จำเลยแจ้งว่าไม่มีปัญญาไถ่ พยานปากนี้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐทำการตามหน้าที่ราชการไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด นับเป็นพยานคนกลาง คำเบิกความจึงมีน้ำหนักเชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยหาได้ยึดถือข้อความในสัญญาข้อ 2 กันจริงจังแต่ประการใดไม่ประกอบกับสัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.13 เป็นแบบพิมพ์สัญญาสำเร็จรูปซึ่งนาย จ. ผู้เขียนสัญญาเบิกความว่าโจทก์ร่วมที่ 2 บอกว่าไม่ได้นำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินมาแต่มีหนังสือสัญญาขายฝากมาด้วย จึงให้ทำเป็นสัญญาขายฝากซึ่งจำเลยอาจไม่ได้อ่านข้อความโดยละเอียดก็เป็นได้ แม้หลังจากครบกำหนดไถ่จำเลยจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและยังไม่ได้ไถ่ที่ดินพิพาทคืนมาก็ตาม สิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นของจำเลยอยู่ ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยสละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ร่วมทั้งสองดังที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมทั้งสองได้บอกกล่าวเปลี่ยนแปลงการยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนเองให้จำเลยทราบแต่ประการใด โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ร่วมทั้งสองผู้โอนไม่ว่าโจทก์จะรับโอนโดยสุจริตหรือไม่ก็ตาม กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อโต้แย้งอื่นต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 717/2551  โจทก์เข้าไปทำสวนลำไยในที่ดินพิพาท โดยอาศัยสิทธิของ น. โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมาจาก น. และจดทะเบียนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ทั้ง น. ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเองแล้วโดยจ้างให้คนดายหญ้าปีละ 2 ครั้ง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1476/2561  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ หาใช่เป็นการครอบครองที่ดินผิดแปลง แม้การให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับพระภิกษุ ป. ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่เมื่อ ส. สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุ ป. การครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลง พระภิกษุ ป. ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 และแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพระภิกษุ ป. กับโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อพระภิกษุ ป. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสละการครอบครองและส่งมอบที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ค. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่มรดกของ ส. ให้แก่ ป. ป. ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตามความจริง จึงไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้การขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง

          การโอนการครอบครองก็โดยการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง หรือถ้าผู้รับโอนหรือผู้แทนผู้รับโอนยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้แล้ว ผู้โอนก็เพียงแสดงเจตนา หรือกรณีผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ผู้โอนก็เพียงแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินนั้นแทนผู้รับโอน ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติในมาตรา 1378 ถึง 1380 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8486/2553  ที่ดินพิพาทซึ่งบริษัท ซ. ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่ เป็นที่ดินของรัฐที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งไม่เคยมีผู้ใดได้รับสิทธิในที่ดินตามกฎหมายมาก่อนตาม พ.ร.บ.แร่ฯ มาตรา 73 (3) ที่กำหนดมิให้ถือว่าการใช้ที่ดินของผู้ถือประทานบัตรในเขตเหมืองแร่เป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง คงมีผลให้บริษัท ซ. ไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทยันต่อรัฐได้เท่านั้น แต่สำหรับราษฎรด้วยกัน บริษัท ซ. ย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้จนกว่าจะสละเจตนาครอบครองหรือไม่ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป การครอบครองที่ดินพิพาทจึงสิ้นสุดลง ในระหว่างที่บริษัท ซ. ยังคงยึดถือครอบครองอยู่ จึงอาจโอนไปซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นได้ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1380 การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมมีผล แม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้รับโอน การที่บริษัท ซ. ตกลงทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์หลังจากประทานบัตรทำเหมืองแร่สิ้นอายุลง ย่อมถือได้ว่า บริษัท ซ. ได้โอนการครอบครองที่ดินพิพาทโดยสละเจตนาครอบครองให้แก่โจทก์และยึดถือที่ดินพิพาทในฐานะผู้เช่าต่อไป โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยการให้บริษัท ซ. ยึดถือครอบครองไว้แทน ต่อมาเมื่อบริษัท ฟ. ซื้อโรงงานแต่งแร่และเข้าครอบครองที่ดินพิพาท บริษัทดังกล่าวก็ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ต่อไป จำเลยเพิ่งเข้าครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากซื้อโรงงานแต่งแร่ต่อมาจากบริษัท ฟ. จำเลยย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ซึ่งยึดถือครอบครองที่ดินอยู่ก่อน
          หลังจากจำเลยซื้อโรงงานแต่งแร่จากบริษัท ฟ. แล้ว จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในระหว่างกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าที่ดินที่บริษัท ฟ. ทำไว้กับโจทก์หลังจากนั้นบริษัท ฟ. ยังคงชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ต่อมา การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงเป็นการอาศัยสิทธิของบริษัท ฟ. ถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ด้วย จำเลยจะอ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนได้ก็แต่โดยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองไปยังโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แต่ตามคำให้การของจำเลยไม่ได้ให้การว่าได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์แต่อย่างใด จึงไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยในเรื่องการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3680/2535  จ. ทายาทคนหนึ่งทำหนังสือยกทรัพย์สินส่วนของตนซึ่งมีสิทธิจะได้จากการแบ่งปันในกองมรดกให้แก่ ส.และ ส. ยอมรับเอาทรัพย์นั้นแล้ว หนังสือนี้เป็นสัญญาให้โดยเสน่หา หาใช่เป็นเพียงการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดก ลงชื่อยินยอมและรับรู้การยกทรัพย์สินส่วนของ จ. ให้ ส. ในหนังสือยกให้นั้นถือว่ามีการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้แก่ ส. โดยปริยายแล้ว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1379 สำหรับทรัพย์มรดกที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคนนั้น การโอนจึงทำได้โดย จ.ผู้โอนสั่งจำเลยที่ 2 ผู้แทนว่า ต่อไปให้ยึดถือทรัพย์สินไว้แทน ส.ผู้รับโอนก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1380 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 2 รับรู้การยกให้ดังกล่าวเป็นการยอมรับว่าต่อไปจำเลยที่ 2 จะถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์แทน ส. โดยไม่ต้องจดทะเบียนการยกให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 อีก สัญญาให้จึงสมบูรณ์ โจทก์โต้แย้งเพียงว่าหนังสือยกให้นั้นมิใช่หนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง แต่รับการให้โดยเสน่หา เท่ากับโจทก์รับว่าหนังสือยกให้ทำเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2510 จริง เพียงแต่โต้แย้งว่ามิใช่หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังที่จำเลยกล่าวอ้างเท่านั้นโจทก์จะฎีกาว่าหนังสือยกให้นี้ทำเมื่อปี 2521 อันเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วหาได้ไม่ แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยในปัญหานี้ให้ก็เป็นการไม่ชอบ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3128/2526  โจทก์ทำหนังสือสัญญาซื้อที่ดินมือเปล่าจากจำเลยแล้วเข้าทำฮวงซุ้ยที่ดินส่วนที่เหลือโจทก์ยอมให้จำเลยทำนาได้ (ตามหนังสือสัญญาจำเลยยอมโอนสิทธิในที่ดินแก่โจทก์ และโจทก์ยอมให้จำเลยทำประโยชน์ในที่นาพิพาท) จำเลยจะอ้างว่าการซื้อขายเป็นโมฆะหรือโจทก์ไม่ได้ครอบครองที่นาพิพาทไม่ได้ เพราะการโอนสิทธิครอบครองก็ดี การสละสิทธิครอบครองก็ดี หาได้มีกฎหมายกำหนดแบบไว้ไม่  เมื่อจำเลยแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองแก่โจทก์และรับที่จะครอบครองแทนโจทก์ต่อไป ต่อแต่นั้นมาการครอบครองที่นาพิพาทของจำเลยย่อมถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 435/2519 (ประชุมใหญ่)  จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทรวมทั้งสิทธิการเช่าที่ดินที่ตึกพิพาทตั้งอยู่ตีใช้หนี้โจทก์ โดยยอมให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่าที่ดินกับเจ้าของที่ดิน และจำเลยขออยู่ในตึกพิพาทต่อไปอีกสองเดือน แม้การโอนกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทจะไม่บริบูรณ์เพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ก็มิได้เป็นโมฆะ การที่จำเลยโอนสิทธิการเช่าที่ดินให้โจทก์เป็นการแสดงเจตนาโอนการครอบครองตึกพิพาทให้โจทก์แล้ว ที่จำเลยอยู่ในตึกพิพาทต่อมาก็โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ โจทก์มีบุคคลสิทธิที่จะบังคับจำเลยให้ออกไปจากตึกพิพาทซึ่งโจทก์มีสิทธิครอบครองได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2519)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2514  จำเลยทำสัญญาขายที่นาให้โจทก์โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อที่นานั้นเป็นที่ดินมือเปล่ามีแต่เพียงสิทธิครอบครองและจำเลยซึ่งเคยครอบครองอยู่ได้ขอเช่าที่นานั้นจากโจทก์หลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้ว กรณีจึงต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1380 วรรคหนึ่ง ว่า การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผล ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินไว้แทนผู้รับโอน ถือได้ว่าได้มีการโอนการครอบครองให้โจทก์แล้วโดยถูกต้อง



          การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามมาตรา 1381
          มาตรา 1381  "บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14882/2558  การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพียงอย่างเดียวของเจ้ามรดกมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองด้วย แม้หลังจากนั้นจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว ก็จะถือว่าจำเลยในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินพิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวหาได้ไม่ เพราะจำเลยยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือตามที่ทายาทตกลงกัน ก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น จึงจะนำอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7381/2558  จำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินเป็นมรดกของนาย ต. ซึ่งตกทอดแก่ทายาทและจำเลยแย่งการครอบครองจากทายาทอื่นจนได้สิทธิการครอบครองแล้วแต่อย่างใด หากแต่ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนาย ต. ไม่อาจนำไปแบ่งปันแก่ทายาทได้ เพราะนาย ต. ยกให้นาย อ. บิดาจำเลยตั้งแต่นาย ต. มีชีวิตอยู่ เท่ากับอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของนาย อ. และตกทอดมายังจำเลย โดยนาย อ. และจำเลยมิได้แย่งการครอบครองมาจากผู้ใด คดีจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่น ไม่อาจแย่งการครอบครองในที่ดินซึ่งตนเองมีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของได้ แม้ภายหลังโจทก์มีหนังสือแจ้งให้ทายาทและนาย อ. ไปตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของนาย ต. นาย อ. ได้มีหนังสือไปถึงโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนาย ต. ที่จะต้องนำไปแบ่งปันแก่ทายาท ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เพราะจำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของนาย ต. การโต้แย้งตามหนังสือของนาย อ. ดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเกิน 2 ปี นับแต่จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเอาคืนการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16513/2555  จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินกับโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินดาวน์งวดสุดท้ายแล้วได้แสดงเจตนาที่จะให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้ แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากโจทก์นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร อ. จึงได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2526 ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่เรียกร้องให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและการยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะยึดถือที่ดินและบ้านแทนโจทก์อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ดังนี้ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงเจตนายึดถือเพื่อตน เมื่อนับถึงวันฟ้อง เป็นเวลาติดต่อกันเกิน 10 ปี จำเลยทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5697/2553  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป และมาตรา 1375 วรรคสอง การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ในกรณีเช่นนี้จะถือว่าจำเลยทั้งสองได้แย่งการครอบครองก็ต่อเมื่อได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ผู้ครอบครองว่า ตนไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป ดังนั้น การที่ก่อนปี 2539 ระหว่างแนวเขตที่ดินพิพาทมีการปลูกต้นยูคาลิปตัสและนาย จ. บอกฝ่ายจำเลยให้รื้อถอนต้นยูคาลิปตัสกับรั้วลวดหนามออก ไม่ใช่การบอกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยังโจทก์ จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครอง แต่เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 จำเลยทั้งสองได้ทำรั้วลวดหนามอ้างว่าทำขึ้นทดแทนรั้วเดิมซึ่งทรุดโทรมไปแล้วและโจทก์เห็นว่ารั้วดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จึงมีการเจรจากับจำเลยทั้งสองให้รื้อรั้วออกไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอม ต่อมาโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 แล้วว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตนเองซึ่งเข้าลักษณะแย่งการครอบครอง เมื่อโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 จึงเป็นการฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2552  จำเลยขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ อ. และ ล. บิดามารดาโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะจำเลยแจ้งว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลัง แต่ทำสัญญาซื้อขายไว้พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้เข้าครอบครองอย่างเจ้าของ ข้อที่ว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังมีลักษณะเป็นการไถ่ทรัพย์คืนเช่นสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่านิติกรรมขายฝากทำผิดแบบตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
          การที่ อ. และ ล. เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองแทนจำเลย แม้ต่อมา อ. ถึงแก่ความตายและ ล. มอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ต้องถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยจนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือจนกว่าจำเลยจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1379 ที่โจทก์เบิกความว่า ฝ่ายโจทก์ไปหาจำเลยเพื่อให้โอนเปลี่ยนชื่อจำเลยเป็นชื่อโจทก์ 3 ครั้ง แต่จำเลยไม่ยินยอม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 ข้างต้น แต่กลับเป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1379 ดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยย่อมมีสิทธินำไปขอเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน
          เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทได้เปลี่ยนจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นโฉนดที่ดินแล้วจำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ก็แต่โดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าหลังจากที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดและโจทก์ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องโจทก์ยังครอบครองที่ดินพิพาทไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382