25 ก.ค. 2559

สิทธิยึดหน่วง


          สิทธิยึดหน่วงเป็นสิทธิพิเศษของเจ้าหนี้ที่มีอำนาจเหนือตัวทรัพย์ซึ่งสามารถจะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยการยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้

          ป.พ.พ. มาตรา 241  "ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้  ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนด
          อนึ่ง บทบัญญัติในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าการที่เข้าครอบครองนั้นเริ่มมาแต่ทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย"

           
          เจ้าหนี้จะมีสิทธิใช้สิทธิยึดหน่วงได้ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ
          (1) ต้องมีการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น
          (2) การที่เข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นต้องเริ่มแต่การที่ชอบด้วยกฎหมาย
          (3) มีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น
          (4) หนี้นั้นต้องถึงกำหนดชำระแล้ว

          (1) ต้องมีการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น

          จำเลยมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของโจทก์และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 จึงไม่อาจอ้างสิทธิยึดหน่วง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9790/2558  จำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารของโจทก์ ทั้งมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของโจทก์ในขณะทำการก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของโจทก์และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 หากแต่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่จะได้รับค่าจ้างงวดงานจากโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าจ้างตามงวดงานที่จำเลยที่ 2 ส่งมอบแก่โจทก์ ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำมูลหนี้ดังกล่าวฟ้องโจทก์ในอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างสิทธิยึดหน่วงเพื่ออยู่ในอาคารและพื้นที่อาคารของโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12429/2558  ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายที่จำเลยค้างจ่ายแก่โจทก์เป็นเพียงหนี้ที่นายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง ไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกจ้างที่นายจ้างครองอยู่ ทั้งค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายกับข้ออ้างเรื่องความเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ส่งมอบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับเอกสารการทำงานของสถานที่ก่อสร้าง 13 แห่ง เมื่อโจทก์ลาออกจากงานนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยครองอยู่โดยมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวด้วยทรัพย์สินนั้น ดังนั้นจำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายแก่โจทก์ 



          (2) การที่เข้าครอบครองนั้นต้องเริ่มแต่การที่ชอบด้วยกฎหมาย

          การเข้าครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นนั้นต้องเป็นการเข้าครอบครองที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ถ้าเป็นการเข้าครอบครองที่ละเมิดต่อกฎหมายย่อมไม่อาจอ้างสิทธิยึดหน่วงได้ ตามมาตรา 241 วรรคสอง

          (3) มีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น

          หนังสือค้ำประกันที่มอบให้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อค้ำประกันการปฏิบัติงานและผลงานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างนั้น หากหนังสือค้ำประกันสิ้นภาระผูกพันแล้ว จึงต้องมีการคืนหนังสือค้ำประกัน ผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิยึดหน่วงเอาไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13204/2558   จำเลยเป็นสถาบันการเงินประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัท ค. ผู้รับจ้างไปมอบให้แก่โจทก์เพื่อค้ำประกันการปฏิบัติงานและผลงานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโครงการ บ. ที่ทำไว้กับโจทก์ ทั้งในหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับมีการประทับข้อความว่า หากหมดอายุการบังคับหรือหมดภาระผูกพันแล้วโปรดคืนธนาคาร (หมายถึงจำเลย) อันเป็นการแสดงว่าหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับเป็นเอกสารของจำเลยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการค้ำประกันการทำงานก่อสร้างของบริษัท ค. ผู้รับจ้างที่ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารไว้กับโจทก์หาใช่เอกสารดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์เพื่อความมั่นคงหรือหลักประกันอันเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ค. ผู้รับจ้างตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาไม่ เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับ หนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับย่อมสิ้นภาระผูกพันแล้ว จึงต้องมีการคืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้จำเลย
          แม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในอีกคดีหนึ่งพิพากษาให้โจทก์คดีนี้คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับแก่บริษัท ค. ผู้รับจ้าง ก็ตาม แต่ถ้าหากโจทก์คืนให้บริษัท ค. ผู้รับจ้างไปแล้วบริษัท ค. ผู้รับจ้างก็ต้องนำไปคืนให้จำเลยเนื่องจากเป็นเอกสารของจำเลย เมื่อโจทก์ยังไม่ได้คืนให้แก่บริษัท ค. ผู้รับจ้าง ทั้งไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับของจำเลยเนื่องจากสิ้นภาระผูกพันแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้แก่จำเลยได้

           การตกลงมอบใบจอง (น.ส.2) หรือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันเงินกู้ ไม่มีหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์เกี่ยวด้วยที่ดินใบจอง (น.ส.2) หรือที่ดินตามโฉนด จึงไม่เป็นสิทธิยึดหน่วง แต่เป็นสัญญาที่คู่สัญญาสมัครใจทำกันไว้ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมมีผลบังคับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8752/2556    การที่ผู้ตายมอบใบจอง (น.ส.2) ให้จำเลยยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน แม้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิยึดหน่วงแก่จำเลยเพราะหนี้ที่จำเลยมีเป็นเพียงหนี้เงินกู้ที่จำเลยจะได้รับชำระหนี้คืนจากผู้ตายเท่านั้น หาได้มีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวด้วยที่ดินใบจอง (น.ส.2) ซึ่งครอบครองไว้นั้นจึงไม่เป็นสิทธิยึดหน่วงดังที่โจทก์ฎีกากล่าวอ้างก็ตาม แต่อย่างไรก็ดีเมื่อผู้ตายมอบใบจอง (น.ส.2) ให้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงิน ซึ่งจำเลยมีสิทธิฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ ดังนั้นตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้รับชำระหนี้คืนจนเสร็จสิ้นเชิง จำเลยย่อมมีสิทธิยึดถือใบจอง (น.ส.2) ดังกล่าวไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6664/2556  แม้จำเลยในฐานะผู้ให้กู้ยืมจะไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 เพราะหนี้เงินกู้ไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์พิพาท แต่เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ระบุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิยึดทรัพย์พิพาทไว้เป็นประกันจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้เป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทำกันไว้ ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับ ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิยึดถือทรัพย์ที่นำมาประกันไว้จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอโฉนดที่ดิน และหนังสือสัญญากู้เงินคืนจนกว่าโจทก์จะได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลย

           ผู้จะซื้อซึ่งชำระราคาที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายครบถ้วนและผู้จะขายส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญา ย่อมถือได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้จะซื้อเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ ทำให้ผู้จะซื้ออยู่ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง ซึ่งย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาแม้คดีจะขาดอายุความแล้วก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19411/2555  การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้ต่อโจทก์โดยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งต้องเริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คือนับแต่โจทก์ทราบว่าเอกสารสูญหายและให้จำเลยนำเอกสารชุดใหม่มาให้อันเป็นช่วงระหว่างปี 2525 และเมื่อนับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 9 ธันวาคม 2545 ล่วงเลย 10 ปี แล้วก็ตาม แต่จากคำฟ้องและคำเบิกความของโจทก์อ้างว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ชำระราคาที่ดินครบถ้วนและจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา อันเป็นเหตุให้โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา เช่นนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ ย่อมถือได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่โจทก์ครอบครองอยู่ ทำให้โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง ซึ่งย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาแม้คดีจะขาดอายุความแล้วก็ตาม อันเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 241
          



          กรณีมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนตามข้อตกลง อันเป็นบุคคลสิทธิบังคับกันได้ แต่หาใช่สิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ไม่ ดังนั้น เมื่อหนี้ที่จำเลยอาศัยเป็นมูลเหตุยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ไม่อาจบังคับคดีได้เสียแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้อีกต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16776/2555   การที่จำเลยไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา จำเลยย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ ส. และทายาท เมื่อหนี้ที่จำเลยอาศัยเป็นมูลเหตุยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ไม่อาจบังคับคดีได้เสียแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้อีกต่อไป
          เหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิยึดหน่วงตามกฎหมายได้ ต้องปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น จึงจะใช้สิทธิยึดหน่วงไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ได้ แต่การที่ ส. กู้ยืมเงินและส่งมอบโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้นั้น หนี้เงินกู้ดังกล่าวหาได้เป็นหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวกับโฉนดที่ดินไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้
          โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายในการยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลยด้วยจึงเป็นการบังคับบุคคลภายนอกที่มิได้เป็นคู่ความในคดี ศาลไม่อาจบังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินกระทำการตามที่โจทก์ขอได้ อีกทั้งเป็นเรื่องวิธีการในชั้นบังคับคดี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามคำขอของโจทก์ในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้แก้ไขและปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

          โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขนส่งมีสิทธิตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 15 ที่จะยึดหน่วงสินค้าไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางหรือจนกว่าผู้รับตราส่งจะได้จัดให้มีประกันตามสมควร โดยการใช้สิทธิยึดหน่วงนี้จะกระทำได้สำหรับหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยสินค้าที่โจทก์ครอบครองอยู่ อันได้แก่หนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งสินค้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 720/2554   โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการขนส่งมีหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเลที่จะต้องดำเนินการให้มีการส่งมอบสินค้าที่ท่าปลายทางแก่ผู้รับตราส่ง การที่โจทก์มีคำสั่งให้ระงับการส่งมอบใบตราส่งแก่ผู้รับตราส่งมีผลให้สินค้ายังคงอยู่ในความครอบครอบของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 15 ที่จะยึดหน่วงสินค้าไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางหรือจนกว่าผู้รับตราส่งจะได้จัดให้มีประกันตามสมควร โดยการใช้สิทธิยึดหน่วงนี้จะกระทำได้สำหรับหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยสินค้าที่โจทก์ครอบครองอยู่ อันได้แก่หนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งสินค้าครั้งที่ 19 เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์จะไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งก่อนๆ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยค้างชำระค่าระวาง ค่าขนส่ง ค่าบริการ และค่าดำเนินการการขนส่งสินค้าก่อนหน้านั้นอีก 18 ครั้ง เพราะจำเลยประสบปัญหาทางธุรกิจนั้น นับได้ว่าจำเลยเป็นคนสินล้นพ้นตัวไม่สามารถใช้หนี้แก่โจทก์ได้ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 243 แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวที่จะยึดหน่วงสินค้าที่ขนส่งไว้ได้ แม้ในขณะนั้นหนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งที่ 19 จะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม การที่โจทก์ใช้สิทธิยึดหน่วงสินค้าด้วยการไม่ส่งมอบใบตราส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ท่าปลายทาง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญารับขนของทางทะเล

          จำเลยได้รับความเสียหายจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งว่าจ้างมาจากโจทก์ แต่ไม่มีสิทธิยึดหน่วงเงินค่าจ้างที่ค้างชำระ เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยครอบครองอยู่ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 241
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4993/2552   แม้จำเลยจะได้รับความเสียหายจำนวน 900,000 บาท เนื่องจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโจทก์ซึ่งจำเลยจ้างไปรักษาความปลอดภัยให้แก่อาคารชุดของจำเลย ซึ่งจำเลยได้ทวงถามค่าเสียหายดังกล่าวแล้วแต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระโจทก์จำนวน 401,761.46 บาท เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยครอบครองอยู่ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 241
          ความเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดชอบต่อจำเลยยังไม่ยุติ จะต้องตกลงกันอีก ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะตกลงกันได้หรือไม่ ดังนี้ แม้เป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างฉบับเดียวกัน ก็ต้องถือว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อโจทก์ยังมีข้อต่อสู้อยู่ตาม ป.พ.พ. 344 จำเลยจึงไม่อาจใช้สิทธิขอหักกลบลบหนี้ได้ เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงและจะขอหักกลบลบหนี้ไม่ได้ดังกล่าวข้างต้น จำเลยจึงโต้แย้งว่ายังไม่ผิดนัดมิได้

          ***ถ้าไม่มีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น ก็ย่อมไม่มีสิทธิยึดหน่วง***
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2552   ศาลฎีกามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และขับไล่ ท. ระหว่างบังคับคดี จำเลยได้ยึดถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) อยู่ในเขตที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินที่จำเลยครอบครองและใช้ประโยชน์ และจำเลยเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาท โดยรับมอบการครอบครองมาจาก ท. โดยชอบ จนได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท กับมีสิทธิยึดหน่วงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงขัดแย้งกันไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทกับที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นที่ดินคนละแปลงกันหรือไม่ และจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท กรณีจึงรับฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทกับที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแม้จำเลยไม่ใช่คู่ความในคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาก็ตาม แต่คำพิพากษาในคดีดังกล่าวก็ใช้ยันจำเลยผู้เป็นบุคคลภายนอกได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) การที่จำเลยให้การรับว่าได้รับที่ดินพิพาทมาจาก ท. ซึ่งไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่จำเลยได้ อันเป็นการรับมอบที่ดินพิพาทโดยเด็ดขาด มิใช่เพื่อประกันการชำระหนี้แล้วได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 1 ปี ทำให้ได้สิทธิครอบครอง โดยไม่ได้ให้การว่าจำเลยมีสิทธิดีกว่าโจทก์ด้วยเหตุประการอื่น จำเลยจึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามบทบัญญัติข้างต้น โจทก์ย่อมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ไว้ แม้ว่า ท. ยังไม่ได้ชำระเงินยืมและดอกเบี้ยให้จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 658/2541   แม้ ช.จะเป็นผู้ครอบครองหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทโดยโจทก์มอบให้ไว้ เนื่องจากตกลงจะขายฝากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาททั้งสองแปลงให้ แต่การที่ ช.เคยครอบครองหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทไว้นั้น ก็เป็นเพียงการครอบครองเอกสารซึ่งแสดงว่าผู้มีชื่อในเอกสารนั้นได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเท่านั้น ช.ไม่ได้ครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีความผูกพันที่จะต้องขายฝากให้แก่ ช. ฉะนั้นจึงถือไม่ได้ว่า ช.หรือกองมรดกของ ช.มีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาท เมื่อ ช.ถึงแก่ความตายจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ช.ย่อมไม่มีสิทธิยึดหน่วงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 241
          โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาคืนซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทจาก ช. เมื่อ ช.ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงชอบที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทของ ช.คนใดก็ได้ จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของ ช. โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2558  โจทก์ติดตั้งหลังคาเสร็จ พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบงานแล้วโดยเมื่อฝนตกไม่ปรากฏการรั่วซึม จึงลงลายมือชื่อรับมอบงาน แสดงว่าขณะจำเลยที่ 1 รับมอบงานความชำรุดบกพร่องยังมิได้เห็นประจักษ์ หากแต่มาปรากฏภายหลังจากมีการรับมอบสินค้าแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าที่เห็นความชำรุดบกพร่องประจักษ์โดยมิได้อิดเอื้อน เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดจากการติดตั้งสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ถือเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ขณะส่งมอบสินค้า โจทก์ผู้ขายจึงต้องรับผิดแม้จะรู้หรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และการที่บริษัทผู้ว่าจ้างปรับลดค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนหลังคาดังกล่าว ถือได้ว่าไม่ประสงค์ให้โจทก์เข้าไปแก้ไขความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นอีก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจใช้สิทธิยึดหน่วงเงินราคาค่าสินค้าได้อีกต่อไป คงมีสิทธิหักทอนเป็นค่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากความชำรุดบกพร่องนั้น

          การกู้ยืมที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กู้ยืมจากจำเลยนั้นไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ จำเลยจึงไม่อาจอ้างการกู้ยืมเงินดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์เพื่อยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2549   บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ที่ว่า ถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้นั้น หมายความรวมถึงการห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้คดีด้วย เมื่อการกู้ยืมเงิน 5,000,000 บาท ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กับ ร. ร่วมกันกู้ยืมจากจำเลยนั้นไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ จำเลยจึงไม่อาจอ้างการกู้ยืมเงินดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์เพื่อยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ได้ และการที่โจทก์กับ ร. ตกลงโอนที่ดินให้แก่จำเลยเป็นการตีใช้หนี้ โดยจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์กับ ร. อีกจำนวนหนึ่ง เห็นได้ว่าจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มนั้นเป็นสาระสำคัญที่จะต้องตกลงกัน แต่จำเลยก็ยังไม่มีการตกลงกันในรายละเอียดว่าจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์กับ ร. เป็นจำนวนเท่าใด จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ได้



          โจทก์ชำระเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินครบถ้วนและเข้าครอบครองที่ดินแล้ว โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ได้ โจทก์ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 193/27 และ 241 แม้โจทก์จะฟ้องคดีเกิน 10 ปี คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2547   โจทก์กับ ข. ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยโจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ส่วน ข. ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองอยู่จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอน โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทตามความหมายใน ป.พ.พ. มาตรา 241 แม้คดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 วรรคสาม ก็ตาม แต่ตามมาตรา 1755 วรรคสาม ยังบัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 ก็กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินไว้จนกว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ข. ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งยังมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความมรดกที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ทั้งในชั้นอุทธรณ์โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องอายุความดังกล่าวและอ้างว่ามีสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้วินิจฉัยเรื่องอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 และมาตรา 241 อันเป็นเรื่องอายุความมรดกตามที่คู่ความว่ากล่าวกันมาโดยชอบ จึงมิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2546    โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาท โดยมีข้อตกลงว่าจะไปจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนให้โจทก์เมื่อจำเลยนำที่ดินพิพาทไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว จึงเป็นสัญญาจะซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองโจทก์ชำระเงินให้จำเลยครบถ้วนและจำเลยมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้วแม้สิทธิครอบครองจะยังไม่โอนมาเป็นของโจทก์เพราะคู่สัญญาประสงค์จะให้มีการโอนทางทะเบียน แต่โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ได้ โจทก์ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 193/27 และ 241 แม้โจทก์จะฟ้องคดีเกิน 10 ปี คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
          แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยไปแบ่งแยกที่ดินด้านทิศใต้ส่วนที่โจทก์ครอบครอง แล้วโอนให้โจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ก็เป็นเพียงประมาณการเท่านั้นเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ช่างรังวัดสอบเขตและทำแผนที่พิพาทตามคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยโจทก์และจำเลยเป็นผู้นำชี้ซึ่งช่างรังวัดที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ครอบครองได้เนื้อที่ 27 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเนื้อที่ซึ่งปรากฏในแผนที่พิพาทได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621/2544   อ. กับ ส. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินเงินผ่อนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2510 โดย อ. เข้าครอบครองปลูกบ้านในปี 2510 ต่อมา ส. จะแบ่งแยกที่ดินโอนแก่ อ. แต่การแบ่งแยกมีปัญหาเพราะมีการฟ้องร้องระหว่าง ส. กับเจ้าของเดิม คดีถึงที่สุดในปี 2514 และ ส. ถึงแก่ความตายในปี 2522 การที่ ส. ยอมให้ อ. เข้าครอบครองปลูกบ้านจนกระทั่ง อ. ถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองต่อมา โจทก์จึงมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินไว้จนกว่าจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ส. จะปฏิบัติตามสัญญาโดยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 และมาตรา 193/27 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์เมื่อปี 2536 จึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 1754
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5469/2539   ผ.ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จริง โดยได้รับเงินค่าที่ดินพิพาทแล้วและได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาแม้สัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อมีการชำระหนี้กันแล้วก็มีผลใช้บังคับกันได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคสอง เมื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิยึดหน่วงไว้จนกว่าจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ แม้ ผ.จะถึงแก่ความตายแล้วกว่า 30 ปี โจทก์ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงก็มีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ผ.ให้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 241 และมาตรา 193/27 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

          ผู้ร้องมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนโดยอาศัยข้อตกลงในหนังสือสัญญากู้นั้น แต่สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิบังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญาไม่สามารถใช้ยันแก่บุคคลอื่นได้ เพราะมิใช่สิทธิยึดหน่วง ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินฉบับพิพาทไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1894/2546  ผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินโดยจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เงินกู้มอบให้ยึดถือเป็นประกันเงินกู้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนโดยอาศัยข้อตกลงในหนังสือสัญญากู้นั้น แต่สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิบังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญาไม่สามารถใช้ยันแก่บุคคลอื่นได้ ส่วนสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 หมายถึง การที่ผู้ครอบครองได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ครอบครองเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น หนี้ที่ผู้ร้องมีเป็นเพียงหนี้เงินกู้ที่ผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้คืนเท่านั้น หาได้เป็นคุณแก่ผู้ร้องเกี่ยวด้วยที่ดินโฉนดดังกล่าวไม่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินฉบับพิพาท ผู้ร้องต้องส่งต้นฉบับที่ดินดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อทำการบังคับคดีต่อไป

          โฉนดที่ดินของที่ดินที่ถูกยึดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้จำนองในที่ดิน แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ผู้ร้องส่งมอบโฉนดที่ดินที่จะขายทอดตลาดนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275, 276 ประกอบด้วยมาตรา 304 กรณีเรื่องสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินจึงเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เท่านั้น ผู้ร้องจะยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้รอจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้อันเป็นการกระทบสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งที่จะบังคับยึดที่ดินเพื่อขายทอดตลาดหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6293/2545   โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดปรากฏว่าโฉนดที่ดินของที่ดินที่ถูกยึดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากเจ้าหนี้เดิมของจำเลย ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้จำนองในที่ดินผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินจำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง เพราะการจำนองย่อมติดตามตัวที่ดินไปตลอดจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ผู้ร้องส่งมอบโฉนดที่ดินที่จะขายทอดตลาดนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275, 276 ประกอบด้วยมาตรา 304 กรณีเรื่องสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินจึงเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เท่านั้น ผู้ร้องจะยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้รอจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้อันเป็นการกระทบสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งที่จะบังคับยึดที่ดินเพื่อขายทอดตลาดหาได้ไม่

          เป็นผู้ครอบครองที่ดินในฐานะผู้รับแบ่งทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินนั้นไว้จนกว่าจะได้รับแบ่งทรัพย์ตามสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7326/2541   การที่โจทก์ตกลงแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ แต่ก็ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ได้มอบการครอบครองให้แก่จำเลยแล้ว ดังนี้ ย่อมเข้าลักษณะเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์ซึ่งมีผลผูกพันโจทก์ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินในฐานะผู้รับแบ่งทรัพย์ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะปรับบทกฎหมายในเรื่องสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 มาวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมถือได้ว่ามีหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวกับโฉนดพิพาท ฉะนั้นจำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงโฉนดพิพาทจนกว่าจะได้รับแบ่งทรัพย์ในฐานะผู้มีสิทธิอันชอบธรรมตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

          (4) หนี้นั้นต้องถึงกำหนดชำระแล้ว

          ถ้าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระก็จะอ้างสิทธิยึดหน่วงไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5897/2544   แม้จำเลยจะจ้างโจทก์ทำเพลทแม่พิมพ์หลายครั้ง แต่ในการจ้างแต่ละครั้งสามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อหนี้ ค่าจ้างตามสัญญาจ้างทำเพลทแม่พิมพ์ครั้งที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่เกี่ยวกับการว่าจ้างครั้งที่ 4 และไม่เป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยเพลทแม่พิมพ์ตามสัญญาจ้างครั้งที่ 4 ที่โจทก์ยึดถือไว้ ทั้งหนี้ค่าจ้างทำเพลทแม่พิมพ์ครั้งที่ 4 ยังไม่ถึงกำหนดชำระ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงเพลทแม่พิมพ์ดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 การที่โจทก์ยึดเพลทแม่พิมพ์ไว้  ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ทำให้จำเลยไม่สามารถพิมพ์หนังสือออกจำหน่าย ย่อมทำให้จำเลยเสียหายอยู่ในตัว


          ข้อยกเว้นที่ทำให้ไม่เกิดสิทธิยึดหน่วง

          ป.พ.พ. มาตรา 242 " สิทธิยึดหน่วงอันใด ถ้าไม่สมกับลักษณะที่เจ้าหนี้รับภาระในมูลหนี้ก็ดี ไม่สมกับคำสั่ง อันลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนหรือให้ในเวลาที่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นก็ดี หรือเป็นการขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ดี สิทธิยึดหน่วงเช่นนั้นท่านให้ถือว่าหามีไม่เลย "
          เหตุแห่งข้อยกเว้นที่ทำให้ไม่เกิดสิทธิยึดหน่วงตามที่ได้บัญญัติในมาตรา 242 คือ
          (1) สิทธิยึดหน่วงที่ไม่สมกับลักษณะที่เจ้าหนี้รับภาระในมูลหนี้
          (2)สิทธิยึดหน่วงที่ไม่สมกับคำสั่งอันลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนหรือในเวลาที่ส่งมอบทรัพย์สินนั้น
          (3) สิทธิยึดหน่วงที่ขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน


          ผลของสิทธิยึดหน่วง

          เมื่อเกิดสิทธิยึดหน่วงขึ้นแก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิและตกอยู่ในบังคับแห่งหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติในมาตรา 244, 245, 246, 247 และ 248 กล่าวคือ

          ก. สิทธิของเจ้าหนี้ 
          ผลของการยึดหน่วงทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิ 3 ประการ
          (1) สิทธิที่จะยึดทรัพย์ไว้ได้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้จนสิ้นเชิง มาตรา 241, 244
          (2) สิทธิในดอกผล มาตรา 245 คือ สิทธิเก็บดอกผล และสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากดอกผลนั้นก่อนเจ้าหนี้รายอื่น
          (3) สิทธิได้ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น มาตรา 245, 247
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16776/2555   การที่จำเลยไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา จำเลยย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ ส. และทายาท เมื่อหนี้ที่จำเลยอาศัยเป็นมูลเหตุยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ไม่อาจบังคับคดีได้เสียแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้อีกต่อไป
          เหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิยึดหน่วงตามกฎหมายได้ ต้องปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น จึงจะใช้สิทธิยึดหน่วงไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ได้ แต่การที่ ส. กู้ยืมเงินและส่งมอบโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้นั้น หนี้เงินกู้ดังกล่าวหาได้เป็นหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวกับโฉนดที่ดินไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5896/2533  โจทก์ว่าจ้างจำเลยตัดเย็บเสื้อผ้า เมื่อจำเลยตัดเย็บเสื้อผ้าผิดแบบ โจทก์ก็ส่งเสื้อไปให้จำเลยทำการแก้ไขโดยขยายระยะเวลาให้จำเลยส่งมอบเสื้อที่แก้ไขแล้วให้แก่โจทก์ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ส่งไปให้แก้ไข จำเลยได้แก้ไขเสื้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้ส่งกลับคืนไปให้โจทก์ภายในกำหนด 10 วัน เพราะโจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าจ้างตัดเย็บเสื้อให้แก่จำเลยดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะจำเลยมีสิทธิไม่ยอมส่งมอบเสื้อที่แก้ไขแล้วให้แก่โจทก์ได้ จนกว่าโจทก์จะชำระสินจ้างหรือขอปฏิบัติการชำระสินจ้าง

          ข.หน้าที่ของเจ้าหนี้   
          มาตรา 246 บัญญัติให้เจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิยึดหน่วง มีหน้าที่ 2 ประการ คือ
          (1) หน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ที่ยึดหน่วงตามสมควร มาตรา 246 วรรคแรก
          (2) หน้าที่ต้องไม่เอาไปใช้สอย หรือให้เช่า หรือทำเป็นหลักประกัน มาตรา 246 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431/2523  เจ้าของนำรถจักรยานยนต์มาจ้างร้านโจทก์ซ่อมแล้วไม่มารับคืนเพราะค่าจ้างสูง โจทก์จึงเอามาใช้ขับขี่ แล้วถูกรถจำเลยชนได้รับความเสียหาย กรณีนี้โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์โดยชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องรับผิดต่อเจ้าของรถหากรถนั้นต้องเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์คันนั้นแก่โจทก์ได้

          ความระงับแห่งสิทธิยึดหน่วง

          สิทธิยึดหน่วงเป็นสิทธิซึ่งเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ประธาน สิทธิยึดหน่วงจะมีได้ก็เมื่อมีหนี้ประธาน ถ้าหนี้ประธานระงับไป สิทธิยึดหน่วงก็ระงับไปด้วย อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ประธานอาจยังมีอยู่ สิทธิยึดหน่วงก็อาจระงับไปด้วยเหตุดังต่่อไปนี้
          (1) เจ้าหนี้ฝ่าฝืนหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 246 การฝ่าฝืนหน้าที่ของเจ้าหนี้มิได้ทำให้สิทธิยึดหน่วงระงับไปทันที เพียงแต่เป็นเหตุให้เกิดสิทธิแก่ลูกหนี้ที่จะเรียกร้องให้ระงับสิทธิยึดหน่วงนั้นเสียโดยเรียกทรัพย์คืน แต่ลูกหนี้ต้องใช้สิทธิทางศาลเท่านั้น
          (2) ลูกหนี้หาประกันมาให้ตามสมควร ตามมาตรา 249
          (3) การครองทรัพย์สูญสิ้นไป ตามมาตรา 250 กล่าวคือ ถ้าการครองทรัพย์สินสูญสิ้นไป สิทธิยึดหน่วงก็เป็นอันระงับสิ้นไปด้วย แต่ ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับแก่ กรณีที่ทรัพย์สินอันยึดหน่วงไว้นั้น ได้ให้เช่าไป หรือจำนำไว้ ด้วยความยินยอมของลูกหนี้
          (4) การระงับโดยเหตุอื่น เช่น ถ้าทรัพย์ที่ยึดหน่วงไว้ถูกทำลายสลายลง