ผู้ที่มีสิทธิบังคับคดี คือ คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีที่เรียกว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น บุคคลอื่นไม่มีสิทธิเข้ามาบังคับคดีได้ ซึ่งการบังคับคดีจะต้องบังคับภายในระยะเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ระยะเวลาบังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชั้นที่สุด
แต่เดิมนั้นแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้วางหลักว่าระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หมายถึง คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด ต่อมาเมื่อปี 2558 ศาลฎีกาโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10731/2558 (ประชุมใหญ่) ได้วางหลักเกณฑ์ใหม่เป็นว่าระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หมายถึง วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชั้นที่สุด กล่าวคือ คดีถึงที่สุดในชั้นศาลใดก็นับแต่วันที่ศาลชั้นนั้นได้มีคำพิพากษา จึงเป็นการกลับกลักเกณฑ์เดิมที่ศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานไว้ว่าระยะเวลาบังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดนั้นจะไม่เป็นบรรทัดฐานให้ต้องยึดถืออีกต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10731/2558 (ประชุมใหญ่) เมื่อศาลมีคำพิพากษาและคำพิพากษาก่อให้เกิดหนี้ตามคำพิพากษา ศาลจะต้องออกคำบังคับตามที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 272 คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยขาดนัดให้จำเลยทั้งสองแพ้คดี ศาลชั้นต้นไม่อาจออกคำบังคับในวันมีคำพิพากษาได้ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ออกคำบังคับ โดยส่งคำบังคับไปยังภูมิลำเนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเมื่อครบกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดี หากหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี จากนั้นต้องดำเนินการให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีและแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้นตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติระยะเวลาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องปฏิบัติในการร้องขอให้บังคับคดีไว้ โดยหาได้บัญญัติให้ต้องเริ่มนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และมาตรา 231 วรรคหนึ่ง ที่ระบุให้คำพิพากษาผูกพันคู่ความนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษาถูกเปลี่ยนแปลง กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี และแม้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็มีสิทธิขอให้บังคับคดี เว้นแต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับและได้รับอนุญาตจากศาล ในกรณีนี้ระยะเวลาบังคับคดีภายในสิบปีต้องเริ่มแต่วันมีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยจำเลยขาดนัดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ วันสุดท้ายที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนในการขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา คือวันที่ 3 เมษายน 2553 ปรากฏว่า ผู้เข้าสวมสิทธิเพิ่งยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 ล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้แล้ว จึงหามีเหตุให้ศาลชั้นต้นต้องออกคำบังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่เพราะระยะเวลาสิบปีในการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเริ่มนับแต่วันมีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุด มิใช่จะต้องเริ่มนับแต่คดีถึงที่สุด
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2558)
ซึ่งต่อมายังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14517/2558 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15084/2558 ก็ได้วินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10731/2558 (ประชุมใหญ่) ว่าระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หมายถึง วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชั้นที่สุด ไม่ใช่ถือเอาวันที่คดีถึงที่สุดตามที่บัญญัติใน ป.ว.พ. มาตรา 147
2. กำหนดระยะเวลาบังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชั้นที่สุดนั้นใช้บังคับรวมไปถึงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นผู้รับจำนองด้วย
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาก่อนหน้านี้ได้วางหลักไว้ว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่เป็นเจ้าหนี้จำนองสามารถบังคับคดีได้แม้จะเกินกำหนด 10 ปีนับแต่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้วก็ตาม เพราะจำนองไม่สิ้นไป แต่จะบังคับชำระดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองย้อนหลังห้าปีไม่ได้ ซึ่งต่อมาเมื่อปี 2559 ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4613/2559 (ประชุมใหญ่) ได้กลับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเดิม โดยวางหลักเกณฑ์ใหม่ว่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะต้องบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุด อย่างไรก็ตามแม้จะไม่ได้บังคับคดีภายใน 10 ปี แต่บุริมสิทธิจำนองยังคงอยู่ สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ ซึ่งเป็นบรรทัดฐานใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4613/2559 (ประชุมใหญ่) ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า สิทธิจำนองเป็นทรัพยสิทธิจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อมีกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 744 (1) ถึง (6) ดังนี้ ผู้รับจำนองซึ่งทรงทรัพยสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ที่ประกันหรือสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ เพียงแต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 และมาตรา 745 บัญญัติไว้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายสารบัญญัติ ซึ่งกำหนดสิทธิและหน้าที่ของคู่กรณีที่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โดยหากเจ้าหนี้ประสงค์บังคับตามสิทธิก็ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพราะเหตุถูกลูกหนี้โต้แย้งสิทธิ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 อันเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติคือกฎหมายวิธีพิจารณาความบัญญัติไว้ และเมื่อคดีเข้าสู่ศาล กระบวนพิจารณาก็ต้องบังคับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ดังนี้ การร้องขอให้บังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินจำนองจึงต้องกระทำในระยะเวลาสิบปีดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการบังคับคดีที่ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายวิธีพิจารณาความ แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำขอฉบับลงวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองของจำเลย ล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2543 แล้ว โจทก์จึงสิ้นสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินจำนองของจำเลย อย่างไรก็ตามทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่ และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองต่อไปได้
3. กรณีมีคำพิพากษาตามยอม ซึ่งสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดเวลาให้ชำระหนี้หรือผ่อนชำระเป็นงวดๆ กำหนดระยะเวลาบังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ต้องนับแต่วันที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
สำหรับกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม ซึ่งในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นได้กำหนดเวลาให้ลูกหนี้ชำระหนี้หรือผ่อนชำระหนี้เป็นงวดๆ แนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้วางหลักไว้ว่ากำหนดระยะเวลาบังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ต้องนับแต่วันที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจขอดำเนินการบังคับคดีได้ และปัจจุบันยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่มากลับหลักตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกานี้แต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5829/2548 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เป็นงวดๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 31 ตุลาคม 2534 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก ระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 การที่จำเลยทั้งสองนำเงินมาชำระบางส่วนให้แก่โจทก์วันที่ 25 ธันวาคม 2537 ไม่มีผลทำให้การเริ่มนับระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป เมื่อโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 วันที่ 21 ตุลาคม 2546 จึงล่วงเลยเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3564/2549 ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยทั้งสองยอมผ่อนชำระเงินเป็นรายเดือนแก่โจทก์ เริ่มวันที่ 5 มิถุนายน 2536 แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีเพื่อชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองนับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2536 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามคำพิพากษาได้ ต่อมาศาลพิพากษาให้โจทก์ล้มละลาย ผู้ร้องได้ทำสัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสองคดีนี้ ผู้ร้องจึงได้สิทธิมาเท่าที่โจทก์มีอยู่ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ในชั้นบังคับคดีในวันที่ 14 กันยายน 2547 เกินกำหนด 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้ร้องย่อมไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ ทั้งการยื่นคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 เป็นดุลพินิจของศาลที่พิจารณาตามความจำเป็นและความสะดวกในการพิจารณาคดี คดีจึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11069/2554 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องผ่อนชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2537 โจทก์จะขอบังคับคดีได้หลังวันที่ 31 กรกฎาคม 2537 ไปแล้ว กำหนดเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ย่อมเริ่มนับแต่วันที่โจทก์อาจขอดำเนินการบังคับคดีได้ คือวันที่ 1 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนดภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 แม้ปรากฏว่า จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 เป็นผลให้แตกต่างไปจากคำพิพากษาตามยอมก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อตกลงนอกศาลของคู่ความในชั้นบังคับคดีไม่อาจส่งผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาและกำหนดเวลาของการบังคับคดีแต่อย่างใด อีกทั้งกำหนดเวลาของการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ไม่ใช่อายุความ ดังนี้การที่โจทก์ไปยึดทรัพย์ของลูกหนี้มาชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 จึงไม่ทำให้กำหนดเวลาบังคับคดีสะดุดหยุดลงหรือขยายออกไปได้อีก โจทก์มีสิทธิบังคับคดีสำหรับหนี้ตามคำพิพากษาที่ยังค้างของ จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกำหนด 10 ปี คือภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 และเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับเอากับ จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอีกต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 จำเลยทั้งสองและ ส. ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 698
4. การบังคับคดีภายในกำหนดระยะเวลาสิบปี
การบังคับคดีที่ถือว่าได้บังคับคดีภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดีสิบปีนั้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องดำเนินการตามขั้นตอนการบังคับคดีให้ครบถ้วนภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง คือ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และขั้นต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดี ต่อจากนั้นเจ้าหนี้ต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (เดิม) และมาตรา 278 (เดิม)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5992/2556 การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ของการบังคับคดีให้ครบถ้วนภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา โดยขั้นแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และขั้นต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดี ต่อจากนั้นเจ้าหนี้ต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 และมาตรา 278 ดังนั้น การที่ผู้ร้องเพียงแต่ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีโดยมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปอีกจนพ้นกำหนดเวลาสิบปี ย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่หนี้ตามคำพิพากษา แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าการจำนองได้ระงับสิ้นไป การจำนองจึงยังคงมีอยู่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9823/2554 ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ของการบังคับคดีให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี ประการแรก เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ประการที่สอง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงหรือแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว ประการที่สาม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาบ้าง คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 506,425 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ เฉพาะจำเลยที่ 4 ให้รับผิดในต้นเงินไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยเมื่อคิดคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 25 พฤษภาคม 2536) ต้องไม่เกิน 40,344 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2547 แต่ในวันดังกล่าวโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการยึดทรัพย์ดังกล่าวไว้ก่อนเพราะชื่อสถานที่ไม่ตรงกับจำเลยที่ 3 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ได้ยึดทรัพย์ดังกล่าว ดังนี้ แม้โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุดก็ตาม แต่การนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ แต่ของดการยึดทรัพย์ย่อมเท่ากับไม่มีการยึดทรัพย์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 แล้ว เมื่อโจทก์ยื่นคำแถลงใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2550 ซึ่งพ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ได้