8 ก.ค. 2559

ผู้ทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สิน จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น

        มรดก‬

          ป.พ.พ. มาตรา 1600  "ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้"
          มาตรา 1646  "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้"

‪          ฝากเงินใช้ชื่อผู้ตายเพื่อผู้เยาว์แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี‬ เงินฝากจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด

‪          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 18489/2556   ป.พ.พ. มาตรา 1646 บัญญัติว่า บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ผู้ตายฝากเงินกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากใช้ชื่อ ผู้ตายเพื่อผู้เยาว์ แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของผู้เยาว์ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ไม่มีผลบังคับ
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้คู่ความแถลงไม่สืบพยาน โดยยอมรับข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองฟ้องและจำเลยทั้งสองให้การ ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 21 ธันวาคม 2550 ดังนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังว่า พลโท จ. หรือนาย จ. เปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาประชาชื่น ระบุผู้ฝากคือ นาย จ. เพื่อผู้เยาว์ ชื่อเด็กชาย ว. ตามเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยที่ 1 โดยสมุดบัญชีก็ใช้ชื่อบัญชีว่า นาย จ. เพื่อเด็กชาย ว. หลังจากนั้นมีการนำเงินเข้าฝากและเบิกถอนเงินจากบัญชีหลายครั้ง ตามสำเนาสมุดคู่ฝากเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ก็ระบุว่า บิดามารดาของจำเลยที่ 2 เคยมาขอรับเงินจากพลโท จ.หลายครั้งเพื่อการศึกษาของจำเลยที่ 2 ต่อมาพลโท จ.ทำพินัยกรรมระบุว่า บัญชีธนาคารออมสิน สาขาประชาชื่น ซึ่งใส่ชื่อบุตรของพันตรี ส. ให้เด็กชาย ส. ทั้งหมด ตามสำเนาบันทึกข้อความเอกสารเพิ่มเติมพินัยกรรมท้ายฟ้อง พลโท จ.ถึงแก่ความตาย มีโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดก ตามสำเนาคำสั่งศาลแพ่งเอกสารท้ายฟ้อง
          มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า เงินฝากในบัญชีที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของพลโท จ.หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 บัญญัติว่า "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้" จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่พลโท จ.ขอเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยใช้ชื่อบัญชีว่า นาย จ. เพื่อเด็กชาย ว. เช่นเดียวกับในสมุดคู่ฝากเงิน แสดงว่าจำเลยที่ 2 (เด็กชาย ว.)เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชีเงินฝาก เช่นนี้กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความต่อมามีการนำเงินเข้าฝากและมีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากหลายครั้ง การเบิกถอนเงินก็เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างธนาคารจำเลยที่ 1 กับพลโท จ.ว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมีอำนาจจัดการเองได้ตามเงื่อนไข หรือระเบียบ และวิธีการของธนาคารจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงก็ได้ความตามคำให้การจำเลยที่ 2 ว่า บิดามารดาของจำเลยที่ 2 ได้มาขอรับเงินจากพลโท จ.หลายครั้งเพื่อการศึกษาของจำเลยที่ 2 ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนว่า การถอนเงินของพลโท จ.เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 และเงินในบัญชีเป็นของจำเลยที่ 2 เมื่อกรรมสิทธิ์ในเงินฝากตกเป็นของจำเลยที่ 2 ทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชี พลโท จ.จึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินในบัญชีเงินฝากที่พิพาทแก่ผู้ใด ดังนั้น ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกเงินฝากในบัญชีดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสำเนาบันทึกข้อความ ลงวันที่ 9 เมษายน 2537 เอกสารเพิ่มเติมพินัยกรรมท้ายฟ้องหมายเลข 3 จึงไม่มีผลบังคับเนื่องจากไม่ใช่ทรัพย์สินของพลโท จ.อันจะกำหนดการเผื่อตายได้ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าว