20 ก.ค. 2559

ความผิดฐานฟ้องเท็จ

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 175  "ผู้ใดเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท"
          มาตรา 176  "ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 175 แล้วลุแก่โทษต่อศาล และขอถอนฟ้องหรือแก้ฟ้องก่อนมีคำพิพากษา ให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือศาลจะไม่ลงโทษเลยก็ได้"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น

          ความผิดฐานฟ้องเท็จ เป็นความผิดสำเร็จทันทีเมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15243/2557  ความผิดฐานฟ้องเท็จเกิดขึ้นเมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล การถอนฟ้องในระหว่างชั้นไต่สวนมูลฟ้องคงเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ตาม ป.อ. มาตรา 176
          คำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อมีการยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องโดยลงลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองมาในส่วนของคำขอท้ายฟ้องก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ดังนี้ กรณีถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้สั่งโจทก์ให้แก้ฟ้องให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง จนเห็นได้ว่าเป็นฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15232/2553   เมื่อจำเลยเอาความเท็จมาฟ้องโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหาย และความผิดของจำเลยย่อมเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยฟ้องคดี แม้จำเลยที่ 2 ในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์จะให้การรับสารภาพ ก็หาใช่ว่าโจทก์มีส่วนมีร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อันมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่
          ส่วน ป.อ. มาตรา 176 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 175 แล้วลุแก่โทษต่อศาล และขอถอนฟ้องหรือแก้ฟ้องก่อนมีคำพิพากษา ให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือศาลจะไม่ลงโทษเลยก็ได้” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการบรรเทาโทษให้แก่ผู้กระทำความผิด ดังนี้ เมื่อจำเลยถอนฟ้องในคดีอาญาที่เอาความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์ก่อนมีคำพิพากษา ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ลุแก่โทษต่อศาลแล้ว ควรได้รับการบรรเทาโทษตามบทบัญญัตินั้นทั้งกฎหมายหาได้บัญญัติว่าจำเลยต้องให้การรับสารภาพจึงจะได้รับการบรรเทาโทษ

          โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงข้อความที่อ้างว่าเป็นเท็จ โดยมีความจริงว่าอย่างไรและผู้กระทำทราบว่าความที่นำไปฟ้องเป็นเท็จด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19980/2555   ความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงข้อความที่อ้างว่าเป็นเท็จ โดยมีความจริงว่าอย่างไรและผู้กระทำทราบว่าความที่นำไปฟ้องและเบิกความเป็นเท็จด้วย ที่โจทก์กล่าวบรรยายฟ้องว่า การที่ ว. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 250/2548 ของศาลชั้นต้น โจทก์เพียงบรรยายและเรียงคำฟ้องในฐานะทนายความที่รับคำบอกเล่ามาจาก ว. ซึ่งเป็นลูกความ ข้อความที่ปรากฏในคำฟ้องจะเป็นความเท็จหรือความจริงโจทก์ย่อมไม่มีโอกาสทราบได้ หากในเวลาภายหน้าความปรากฏว่า คำฟ้องเป็นความเท็จผู้ที่จะต้องรับผิดชอบคือ ว. ไม่ใช่โจทก์นั้น เป็นเพียงการอ้างผลของคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 310/2548 หมายเลขแดงที่ 895/2549 ของศาลชั้นต้น ว่าศาลในคดีดังกล่าววินิจฉัยชี้ขาดคดีว่าอย่างไรเท่านั้น มิใช่เป็นการกล่าวยืนยันข้อความใดที่อ้างว่าเป็นความเท็จ โดยความจริงมีว่าอย่างไรแต่อย่างใด
          ส่วนที่โจทก์กล่าวว่า โจทก์ทำหน้าที่เพียงเป็นทนายความที่รับคำบอกเล่ามาจาก ว. ตัวความซึ่งจำเลยทั้งสองทราบดี แต่การเป็นทนายความผู้เรียงคำฟ้องก็อาจเป็นตัวการร่วมกับตัวความกระทำความผิดฐานฟ้องเท็จได้ หากทนายความกระทำไปโดยรู้เห็นหรือร่วมกับตัวความวางแผนเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องยืนยันข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงด้วยว่า ความจริงจำเลยทั้งสองทราบเป็นอย่างดีว่า โจทก์มิได้รู้เห็นหรือทราบมาก่อนว่าเรื่องราวตามที่โจทก์บรรยายและเรียงคำฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 250/2548 ของศาลชั้นต้น เป็นความเท็จ ลำพังการอ้างว่า โจทก์บรรยายและเรียงคำฟ้องในฐานะทนายความ จึงมิใช่เป็นการกล่าวถึงข้อความที่อ้างว่าเป็นเท็จนั้นเช่นไร โดยมีความจริงเป็นอย่างไรและจำเลยทั้งสองทราบดีเช่นเดียวกัน ถือว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเท็จและจำเลยทั้งสองเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) คดีไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 175 และ 177 วรรคสอง      
          
          การฟ้องเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์และพวกร่วมกันหลอกลวงเอาเงิน 1,100,000 บาท ไปจากจำเลยแล้วไม่คืนให้ตามที่ตกลงกันโดยจำเลยเชื่อว่าตนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีอาญาได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาที่จะทำให้เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9941/2553  ตามพฤติการณ์ทั้งโจทก์ ศ. และ น. ต่างมีความประสงค์ที่จะหาเงินเพื่อมาลงทุนค้าขาย เมื่อโจทก์รับว่าจำเลยเป็นผู้ให้กู้ยืมเงิน การที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในเวลาต่อมาไม่ว่าด้วยประการใดๆ ย่อมทำให้จำเลยในฐานะผู้ให้กู้ยืมเงินย่อมต้องเข้าใจว่าการที่ ศ. สั่งจ่ายเช็คซึ่งบัญชีปิดแล้วและลายมือชื่อไม่ตรงตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคารเป็นผลทำให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ ซึ่งเท่ากับมีผลทำให้จำเลยไม่ได้รับชำระหนี้เงินกู้ยืมจากโจทก์นั่นเอง บุคคลในสถานะเช่นจำเลยย่อมต้องเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อกู้ยืมเงินต้องมีส่วนรู้เห็นกับ ศ. ออกเช็คชำระหนี้ให้แก่จำเลย โดยมิพักต้องคำนึงว่าตัวโจทก์จะอยู่รู้เห็นในขณะที่ ศ. ออกเช็คนั้นหรือไม่ก็ตาม เมื่อ ศ. เป็นผู้ที่ติดต่อให้โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อประโยชน์ของ น. บุตรโจทก์ที่จะหาเงินร่วมลงทุนค้าขายกับ ศ. และเช็คนั้นก็เป็นเช็คที่สั่งจ่ายตามจำนวนเท่ากับที่โจทก์กู้ยืม และลงวันที่เดียวกับวันครบกำหนดที่โจทก์ต้องชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนให้แก่จำเลยเช่นนี้ เช็คฉบับดังกล่าวจึงเป็นเช็คที่ ศ. ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายให้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินของโจทก์ในอันที่จะได้เงินจากจำเลยไปมอบให้แก่ น. เพื่อร่วมลงทุนค้าขายกับ ศ. เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทำให้จำเลยไม่ได้รับเงินที่ให้กู้ยืมคืน การที่จำเลยเข้าใจว่าโจทก์รู้เห็นกับ ศ. ในการสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ต้องเข้าใจเช่นนั้น ฉะนั้น การที่จำเลยฟ้องคดีอาญาต่อโจทก์และ ศ. กล่าวหาโจทก์และ ศ. ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์และ ศ. ร่วมกันหลอกลวงเอาเงิน 1,100,000 บาท ไปจากจำเลยแล้วไม่คืนให้ตามที่ตกลงกันโดยจำเลยเชื่อว่าตนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีอาญาได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาที่จะทำให้เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ เมื่อจำเลยไม่มีความผิดฐานฟ้องเท็จแล้ว การที่จำเลยเบิกความไปตามที่ฟ้องนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

          ปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายในสัญญากู้เพื่อสร้างหลักฐานการกู้เงิน แล้วนำมาฟ้องผู้เสียหายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ และเมื่อเบิกความยืนยันและอ้างส่งหนังสือสัญญากู้ยืมเงินปลอมเป็นพยานต่อศาล จึงเป็นความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8902/2552   เมื่อโจทก์ร่วมมิได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกับ บ. แต่จำเลยจัดให้ บ. และ ฝ. ลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินโดยปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วม จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมสัญญากู้ยืมเงิน การที่จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ร่วมโดยระบุว่าโจทก์ร่วมออกเช็คชำระหนี้เงินกู้ยืมถึงกำหนดชำระและบังคับได้ตามกฎหมายจึงเป็นฟ้องเท็จ เพราะการกู้ยืมเงินไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ร่วม จึงไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ เมื่อจำเลยเบิกความยืนยันและอ้างส่งหนังสือสัญญากู้ยืมเงินปลอมเป็นพยานต่อศาล จึงเป็นความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จด้วย

          กรณีฟ้องความผิดอาญาในข้อหาบุกรุกที่ดิน สืบเนื่องมาจากการโต้แย้งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้วโจทก์นำรถแบกโฮเข้าไปขุดที่ดินพิพาท จำเลยยื่นฟ้องโจทก์เนื่องมาจากเข้าใจโดยสุจริตในขณะนั้นว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นการฟ้องโดยสุจริตตามที่จำเลยเข้าใจ ไม่มีความผิดฐานฟ้องเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8520/2544  ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะฟ้องโจทก์เป็นความผิดอาญาในข้อหาบุกรุกที่ดิน ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์นั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 โต้แย้งกันในที่ดินพิพาทโดยต่างอ้างว่าตนเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาท และโจทก์ได้ว่าจ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดที่ดินพิพาทดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์จึงสืบเนื่องมาจากที่จำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตในขณะนั้นว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และการที่โจทก์จ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดดินในที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 และก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 อีกด้วย การฟ้องคดีของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องโดยสุจริตตามที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าตนเองมีสิทธิตามกฎหมาย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทแล้วนำข้อความซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จไปฟ้องโจทก์แต่อย่างใด ส่วนข้อหาลักทรัพย์เสาปูนซิเมนต์จำนวน 18 ต้นนั้น แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นอ้างแต่ว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เป็นพิรุธชวนให้สงสัยจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่โจทก์กับพวก โดยศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าคำฟ้องของจำเลยที่ 1 ในข้อหาลักทรัพย์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งกล่าวหาโจทก์และคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงไม่มีมูล

          แต่ถ้าฟ้องว่าผู้เสียหายบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่มีทรัพย์ที่เสียหายตามคำฟ้องจริง ย่อมมีความผิดฐานฟ้องเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5100/2539   โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่ การที่จำเลยที่ 1 เอาความอันรู้อยู่ว่าเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลว่า โจทก์กระทำความผิดอาญาในความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพยานยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำความผิดดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏว่าในบริเวณที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์นำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันต้นยางพาราของจำเลยที่ 1 ไม่มีต้นยางพาราพันธุ์ จี.ที.ปลูกอยู่ การที่จำเลยที่ 1 นำความอันรู้อยู่ว่าเป็นเท็จมาฟ้องและเบิกความเท็จว่า โจทก์นำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันต้นยางพาราพันธุ์จี.ที. ของจำเลยที่ 1 เสียหาย 57 ต้น และจำเลยที่ 2 เบิกความเท็จว่าต้นยางพาราบริเวณดังกล่าว จำเลยที่ 1 ปลูกมาประมาณ 2 ถึง 3 ปีแล้ว อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยจำเลยที่ 1 รู้อยู่ว่า ข้อความตามฟ้องและที่จำเลยทั้งสองเบิกความเบิกความนั้นเป็นเท็จและความเท็จดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฟ้องเท็จ และเบิกความเท็จตามป.อ. มาตรา 175 และ 177 วรรคสอง จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคสอง

          ฟ้องคดีอาญาไปตามความเข้าใจตามที่พบเห็นมา แม้ความจริงจะไม่เป็นตามฟ้อง ก็ไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนากระทำผิดฐานฟ้องเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  389/2542  แม้จะได้ความตามคำเบิกความของ ส. พยานโจทก์และคำวินิจฉัยของศาลล่างว่าพฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสองขาดเจตนา กระทำความผิดดังที่จำเลยฟ้อง แต่จำเลยก็ฟ้องโจทก์ทั้งสอง เป็นคดีอาญาไปตามความเข้าใจของจำเลยตามที่พบเห็นมา จึงเป็นการขาดเจตนากระทำผิดฐานฟ้องเท็จ การกระทำของจำเลยไม่เป็น ความผิดฐานฟ้องเท็จ คดีโจทก์ไม่มีมูล
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองในชั้นนี้ว่า คดีมีมูลหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าแต่เดิมจำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันต่อศาลชั้นต้นโดยกล่าวหาว่า โจทก์ที่ 2 กระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ส่วนโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยละเว้นไม่จับกุมโจทก์ที่ 2 ซึ่งกระทำความผิดซึ่งหน้า ซึ่งตามคำฟ้องของจำเลยไม่เป็นความจริง คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในความผิดฐานฟ้องเท็จ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูลพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าคดีมีมูลข้อเท็จจริงได้ความว่า ข้อหาฐานวิ่งราวทรัพย์เกิดในบริษัท ค. ซึ่งในวันเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองเข้าไปขอยืมใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ของบริษัทดังกล่าวจากจำเลยซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท สำหรับสาเหตุที่โจทก์ทั้งสองขอยืมเอกสารดังกล่าวได้ความว่ากรรมการผู้จัดการของบริษัทดังกล่าวและภริยาซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยหลบหนีคดีอาญาเรื่องเช็คที่โจทก์ที่ 1 ได้แจ้งความดำเนินคดีไว้ โจทก์ทั้งสองอ้างว่าตามวิสัยของปุถุชนโดยทั่วไป โจทก์ทั้งสองซึ่งมีความสนิทสนมกับจำเลยและนายจ้างของจำเลยมาก่อน นำใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ดังกล่าวซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยไปถ่ายเอกสารย่อมแสดงได้ว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีเจตนาร่วมกันวิ่งราวทรัพย์คือใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ ทั้งโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่มีหน้าที่ต้องจับกุมโจทก์ที่ 2 เพราะโจทก์ที่ 2 มิได้กระทำความผิดแต่อย่างใดซึ่งจำเลยก็ทราบดีการที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองในข้อหาฐานวิ่งราวทรัพย์และข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจึงเป็นเท็จนั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว แม้จะได้ความตามคำเบิกความของนางสาวเสาวคนธ์จิตรัตน์ พยานโจทก์ และคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองว่าพฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสองขาดเจตนากระทำความผิดดังที่จำเลยฟ้องแต่จำเลยก็ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีอาญาตามฟ้องไปตามความเข้าใจของจำเลยเองตามที่พบเห็นมาซึ่งนับว่าขาดเจตนากระทำผิดฐานฟ้องเท็จเช่นกัน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า คดีไม่มีมูลนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น"

          จำเลยมิได้บรรยายฟ้องคดีหมิ่นประมาทโดยการบิดเบือนข้อเท็จจริง พฤติการณ์แห่งคดีไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาฟ้องเท็จ         
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  489/2539  การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 175 นอกจากจะต้องเอาข้อความเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญาแล้ว ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาตาม ป.อ.มาตรา 59 ด้วย เมื่อปรากฏว่าหนังสือตามเอกสารหมาย ล.1 ที่โจทก์ทำและนำไปปิดประกาศที่หน้าบ้านโจทก์ซึ่งบุคคลอื่นที่ผ่านไปมาสามารถพบเห็นได้โดยง่ายมีข้อความว่า ป.ผู้เช่าบ้านของ ก.ภริยาโจทก์ซึ่งถูกฟ้องขับไล่ทนต่อความละอายไม่ได้ ได้ออกจากบ้านเช่าไปอยู่ที่อื่นแล้ว แต่จำเลยกับมารดาและน้องๆ ของจำเลยบริวารของ ป.ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านเช่าตามลำพังโดยไม่จ่ายค่าเช่า และจำเลยได้นำป้ายชื่อและอาชีพของตนไปติดไว้ที่ฝาบ้านโดยเปิดเผยแสดงเจตนาครอบครองบ้านเช่าเช่นนี้ ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์ใส่ความจำเลยต่อบุคคลที่สามโดยการโฆษณาด้วยเอกสารว่า แม้ผู้เช่าบ้านได้ยอมออกจากบ้านไปแล้ว จำเลยซึ่งเป็นบริวารยังดื้อดึงอาศัยอยู่ในบ้านเช่าตามลำพังโดยไม่จ่ายค่าเช่าให้แก่ผู้เช่า ทั้งยังเอาป้ายชื่อและอาชีพของจำเลยไปติดไว้แสดงเจตนาครอบครองบ้านเช่า เป็นการกระทำที่น่าจะทำให้จำเลยเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังและตามหนังสือเอกสารหมาย ล.1 ก็เป็นหนังสือของโจทก์ถึงจำเลยโดยตรงข้อความที่ว่า ป.ผู้เช่าได้ออกจากบ้านเช่าไปอยู่ที่อื่นแล้วนั้น ก็มีความหมายอยู่ในตัวว่า ป.ไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าบ้านอีกต่อไป ผู้ที่ตัองรับผิดชำระค่าเช่าบ้านคือผู้ที่อยู่ในบ้านเช่า ซึ่งก็หมายถึงตัวจำเลยนั่นเอง ทั้งจำเลยได้แนบเอกสารหมาย ล.1 เป็นเอกสารท้ายฟ้องของคดีอาญาที่โจทก์กล่าวหาว่าเป็นฟ้องเท็จด้วย จำเลยจึงมิได้บรรยายฟ้องคดีหมิ่นประมาทโดยการบิดเบือนข้อเท็จจริง พฤติการณ์แห่งคดีไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาฟ้องเท็จ