10 ก.ค. 2559

คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี มีผลให้ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก

          คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี
       
          ป.วิ.อ. มาตรา 147  "เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้"

          บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 เป็นผลของคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี โดยมีผลให้ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก ยกเว้นว่าจะมีพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ จึงจะสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันอีกได้

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เช่น

          คดีนี้พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยไปแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาท จึงเป็นความผิดที่เกิดขึ้นใหม่ มิใช่เรื่องเดียวกัน การสอบสวนคดีใหม่จึงไม่ขัดต่อมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4243/2550   จำเลยมิได้ครอบครองที่ดินมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินตาม ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 4
          พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีแรกเนื่องจากมีการแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทไม่ครบตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ พนักงานอัยการยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาสาระสำคัญแห่งคดี อีกทั้งการที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นความผิดใหม่ที่ต่อเนื่องกันมา ทางอำเภอจึงได้แจ้งความร้องทุกข์และมีการสอบสวนดำเนินคดีใหม่และแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทให้ครบถ้วนตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ การฟ้องคดีนี้จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147

          ความเห็นของพนักงานสอบสวนว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหา ยังไม่ใช่คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีของอัยการ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8481/2544  แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 และมาตรา 146 ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147 ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
          จำเลยที่ 4 มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย เงิน ทอง นาก และนาฬิกา ได้รับใบอนุญาตให้ค้าของเก่าจำเลยที่ 4 ซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการมาจากจำเลยที่ 3เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท แสดงว่าจำเลยที่ 4 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไป และย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ทราบว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก

          ความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหาของอัยการพิเศษประจำเขต 8 นั้น เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งในบางข้อหา และไม่มีความเห็นในบางข้อหาเนื่องจากพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบและมิได้ดำเนินคดีมาแต่แรก จึงไม่ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย  ทำให้คำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวยังไม่เป็นที่สุด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5721/2548  พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตได้ทำสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ. กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ และฐานร่วมกันยักยอกให้อัยการจังหวัดภูเก็ตพิจารณา อัยการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยตามความเห็นของพนักงานสอบสวนและสั่งฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 ด้วย โดยให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวเพิ่มเติมให้จำเลยทราบก่อนฟ้อง แต่อัยการพิเศษประจำเขต 8 มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหา ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 ผู้เสียหายมิได้แจ้งความให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยจึงไม่ต้องดำเนินการในข้อหานี้แก่จำเลย ซึ่งอัยการจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการตามความเห็นของอัยการพิเศษประจำเขต 8 โดยมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหา และยุติการดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตทำสำนวนพร้อมความเห็นเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตพิจารณา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและความผิดฐานยักยอก ดังนี้ เห็นได้ว่า ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการนั้น ในชั้นต้นพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ และมิได้ดำเนินคดีในข้อหานี้มาแต่แรก เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินการแก่จำเลยในข้อหานี้ ย่อมถือได้ว่าอัยการจังหวัดภูเก็ตยังไม่มีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าว การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตไม่มีความเห็นเกี่ยวกับข้อหานี้ จึงไม่ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย อันจะทำให้คำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวเป็นที่สุด เมื่อสำนวนการสอบสวนเสนอไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาเนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคสอง การที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการและใช้เอกสารดังกล่าวด้วยนั้น เป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. พนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 12 ที่ให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีได้ทุกศาล ไม่ใช่เป็นการสั่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคสอง คำสั่งให้ฟ้องจำเลยของอัยการสูงสุดย่อมชอบด้วยกฎหมาย