14 ก.ค. 2559

ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย

          ประมวลกฎหมายอาญา 
          มาตรา 295  "ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
          มาตรา 297  "ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี
          อันตรายสาหัสนั้น คือ
          (1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
          (2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
          (3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
          (4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
          (5) แท้งลูก
          (6) จิตพิการอย่างติดตัว
          (7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
          (8) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน"
          มาตรา 391  "ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น

          ใช้มีดขนาดไม่ใหญ่ฟันกลางหลังแผลไม่ลึก บาดแผลไม่ร้ายแรง ทั้งที่มีโอกาศเลือกแทงอวัยวะสำคัญได้ เป็นเจตนาทำร้ายร่างกาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5744/2555  โจทก์ร่วมที่ 3 จำเลยใช้มีดแทงและฟันโจทก์ร่วมที่ 3 ตามโอกาสอำนวยไม่ได้เลือกแทงอวัยวะส่วนที่สำคัญของร่างกายทั้งมีดที่ใช้แทงและฟันไม่ใช่มีดขนาดใหญ่ แม้บาดแผลที่โจทก์ร่วมที่ 3 ถูกฟันด้านหลังยาวจากสะบัดขวาถึงเอวด้านซ้ายยาว 50 เซนติเมตร แต่ลึกเพียง 0.4 เซนติเมตร แสดงว่าไม่ใช่บาดแผลร้ายแรงที่จะทำให้โจทก์ร่วมที่ 3 ถึงแก่ความตายได้ จำเลยกับพวกมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมที่ 3 เท่านั้น




          ใช้มีดแทงเพียงครั้งเดียวแล้ววิ่งหนีไป บาดแผลที่ถูกแทงไม่ลึกรักษาเพีบง 7 วันหาย เจตนาเพียงทำร้ายร่างกาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  290/2554  ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ไม่ได้ระบุขนาดของบาดแผลเพียงแต่ระบุว่า บาดแผลไม่ผ่านเข้าปอด แสดงว่า บาดแผลไม่ได้มีความลึกถึงปอดอันเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญอันจะทำให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งบาดแผลดังกล่าวสามารถรักษาหายภายใน 7 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า หลังจากถูกแทงแล้วผู้เสียหายยังสามารถวิ่งไล่จำเลยที่ 1 ไปได้ประมาณ 300 เมตร ซึ่งสนับสนุนให้เห็นว่าบาดแผลของผู้เสียหายไม่ร้ายแรงนักทั้งก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อนเหตุที่เกิดขึ้นก็เป็นเพราะผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วจึงมีการด่าทอและท้าทายกัน ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขนาดจะมีมูลเหตุจูงใจให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดของกลางแทงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า ทั้งผู้เสียหายยังเบิกความว่า จำเลยที่ 1 กับพวกวิ่งหลบหนีไปก่อนที่พวกของผู้เสียหายจะออกมาช่วย แสดงว่า หลังจากจำเลยที่ 1 แทงผู้เสียหายไปเพียง 1 ครั้ง จำเลยที่ 1 ก็วิ่งหนีไปโดยมิได้แทงซ้ำอีกทั้งที่มีโอกาสจะกระทำได้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย

          บาดแผลจากการถูกตบหน้าหลายครั้งที่มุมปากด้านในขนาดครึ่งเซนติเมตรและแผลที่คอเป็นรอยแดงยาวประมาณ ๒ เซนติเมตร รักษา 7 วันหาย เป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 อันเป็นความผิดลหุโทษ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8192/2553  ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย เมื่อพิจารณาถึงผลการตรวจชันสูตรบาดแผลแล้ว ถือว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 โดยการทำร้ายร่างกาย ย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลย จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายและฐานชิงทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาหรือไม่ ...... สำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ได้ความจากผู้เสียหาย จำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่บริเวณลานปั๊มน้ำมัน โดยตบหน้าหลายครั้งและในห้องน้ำอีกหลายครั้ง เมื่อได้พิจารณาถึงผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์แล้วปรากฏว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลที่มุมปากด้านในขนาดครึ่งเซนติเมตร และแผลที่คอเป็นรอยแดงยาวประมาณ 2 เซนติเมตร แพทย์มีความเห็นว่า สามารถรักษาให้หายได้ภายใน 7 วัน ถือได้ว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 โดยการทำร้ายร่างกาย ย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย และกำหนดโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีได้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นของจำเลยอีก

          ยิงลงพื้นในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะสำคัญ ลักษณะบาดแผลอยู่ในระดับต่ำกว่าสะเอวลงมา แสดงว่ามิได้มีเจตนาที่จะทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิต เป็นความผิดเพียงเจตนาทำร้าย มาตรา 295
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1336/2553  ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า 1 นัด เพื่อขู่ไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้ามาทำร้าย ลักษณะจึงเป็นการเตือนก่อน จากนั้นได้ยิงลงพื้นดินระหว่างจำเลยกับกลุ่มผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเพื่อให้ถอยไป เมื่อไม่ได้ผลจึงยิงจนกระสุนปืนหมดลูกโม่ แต่ละนัดที่ยิงจำเลยพยายามยิงลงพื้นและในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะส่วนสำคัญของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวก ลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับจะอยู่ในระดับต่ำกว่าสะเอวลงมาคงมีเพียงผู้เสียหายที่ 3 ได้รับบาดแผลที่แผ่นหลังเมื่อนอนหมอบลงแล้ว แสดงว่าจำเลยมิได้มุ่งหมายที่จะให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 โดยมิได้บรรยายว่าผู้เสียหายทั้งสี่ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าจะพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) มิได้ คงลงโทษได้เพียงตามมาตรา 295
          จำเลยกับพวกได้กลับมาที่เกิดเหตุก็เพื่อเอารถจักรยานยนต์ของพวกจำเลยที่จอดทิ้งไว้ มิได้กลับมาหาเรื่องและชวนทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวก การที่ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยกับพวกไม่มีหน้าที่ที่จะต้องหลบหนีแต่มีอำนาจที่จะป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการรุมทำร้ายของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้ ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้ลงมือทำร้ายชกต่อยจำเลยตกจากรถจักรยานยนต์ ภยันตรายที่จำเลยได้รับจึงถึงตัวจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่น แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงยิงไปทางผู้เสียหายที่ 1 กับพวกจนหมดลูกโม่จำนวน 6 นัด การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการป้องกันสิทธิของตนและผู้อื่นเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิง ก. ผู้เสียหายที่ 1  ช. ผู้เสียหายที่ 2  ป. ผู้เสียหายที่ 3 ท. ผู้เสียหายที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ปัญหาประการแรกจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยมีเจตนาฆ่าหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสี่เบิกความสอดคล้องทำนองเดียวกันว่าในวันเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวกได้ชวนกันไปดื่มน้ำชาในร้านเกิดเหตุพบจำเลย ถ. ส. และ ว. นั่งอยู่อีกโต๊ะหนึ่ง ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวกนั่งดื่มน้ำชาได้ประมาณ 15 นาที ถ.ได้เดินเข้าไปชกหน้าผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 ได้เตะตอบไป ถ.ดึงอาวุธมีดปลายแหลมแทงผู้เสียหายที่ 1 เฉียดชายโครง ผู้เสียหายที่ 1 วิ่งหนี เมื่อเห็นว่าไม่มีผู้ใดวิ่งไล่ตาม ผู้เสียหายที่ 1 เดินกลับมาร่วมกลุ่มกับพวกที่ร้านน้ำชาเกิดเหตุ ต่อมาอีกประมาณ 10 นาที ส.ได้ขับรถจักรยานยนต์โดยมี ว.และจำเลยตามลำดับนั่งซ้อนท้ายกลับมาที่ร้านเกิดเหตุเพื่อมาเอารถจักรยานยนต์ของ ส.ซึ่งจอดทิ้งไว้ เมื่อมาถึงผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปถามหา ถ.ว่าไปไหน เมื่อจำเลยกับพวกตอบปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้รุมต่อยจำเลยกับพวก จำเลยชักอาวุธปืนของกลางยิงมาทางผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวกรวม 5 นัด ถูกผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ได้รับบาดเจ็บและพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ได้รับบาดเจ็บด้วย เห็นว่า ที่ผู้เสียหายที่ 1 มีเรื่องกับ ถ. จำเลยกับพวกที่ไปด้วยกันไม่ได้เข้าไปร่วมทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 กับพวกด้วย ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้จากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ว่า ก่อนเกิดเหตุไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน จึงเชื่อได้ว่าจำเลยไม่ได้คิดวางแผนและมีเหตุจูงใจที่จะทำร้ายหรือมุ่งหมายเอาชีวิตผู้เสียหายที่ 1 กับพวกมาก่อน เมื่อผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยรับว่าได้ใช้อาวุธปืนของกลางยิงขึ้นฟ้า 1 นัด เพื่อขู่ไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้ามาทำร้าย จากนั้นได้ยิงลงพื้นดินระหว่างจำเลยกับกลุ่มผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเพื่อให้ถอยไป เมื่อไม่ได้ผลจึงยิงจนกระสุนปืนหมดลูกโม่ มีกระสุนบางนัดเกิดจากการยิงแล้วสะบัดจะไปถูกผู้ใดบ้างไม่ทราบ พันตำรวจโท ร. สารวัตรป้องกันและปราบปรามสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิชล ผู้จับกุมจำเลยเบิกความว่าหลังเกิดเหตุได้รับแจ้งว่ามีเหตุยิงกันที่ร้านน้ำชาเกิดเหตุ ผู้ก่อเหตุได้ขับรถจักรยานยนต์หลบหนี จึงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจตั้งด่านสกัดทุกเส้นทาง ต่อมาได้รับแจ้งว่าจับจำเลยกับพวกอีกสองคนได้ จึงร่วมตรวจค้นจำเลยกับพวกพบปลอกกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 6 ปลอก สอบปากคำจำเลยเบื้องต้น จำเลยให้การรับว่าใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 กับพวกจริง และได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า อาวุธปืนของกลางบรรจุกระสุนคราวละ 6 นัด นอกจากนี้ผู้เสียหายที่ 4 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ เห็นกลุ่มผู้เสียหายที่ 1 ชกต่อยจำเลยตกจากรถจักรยานยนต์ จากนั้นได้ยินเสียงปืน 3 ถึง 4 นัดเห็นแต่แสงไฟแลบออกมา แต่ไม่เห็นตัวคนยิง ระดับแสงไฟจากปากกระบอกปืนอยู่สูงบ้างต่ำบ้าง ต่อมาได้ยินเสียงปืนอีก 2 นัด ห่างจากช่วงแรกเล็กน้อย ผู้เสียหายที่ 4 ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า แสงจากปากกระบอกปืนนัดแรกที่เห็นพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ส่วนนัดอื่นๆ พุ่งมาทางผู้เสียหายที่ 4 และกลุ่มวัยรุ่นที่ทะเลาะกัน สำหรับบาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับได้ความจากคำเบิกความของแพทย์ผู้ตรวจว่า ผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดขนาด 2 X 1 เซนติเมตร บริเวณขาขวา มีเขม่าดำรอบๆ ขอบแผล ซึ่งบาดแผลน่าจะเกิดจากอาวุธปืน คาดว่าจะใช้เวลาในการรักษา 2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีโรคแทรก ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลจำนวน 6 แห่ง บาดแผลที่ขาขวาด้านซ้ายมีรอยเขม่าสีดำขนาด 2 เซนติเมตร น่าจะเป็นบาดแผลที่เกิดจากอาวุธปืน คาดว่าจะหายเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนผู้เสียหายที่ 3 มีบาดแผล 2 แห่ง บริเวณแผ่นหลังคาดว่าจะหายภายใน 10 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรก ผู้เสียหายที่ 4 มีบาดแผล 2 แห่ง บริเวณโคนขาซ้ายด้านหลังพบเขม่าสีดำบริเวณบาดแผล น่าจะเกิดจากอาวุธปืน คาดว่าใช้เวลาในการรักษา 2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีโรคแทรก ซึ่งคำเบิกความของพันตำรวจโท ร. ผู้เสียหายที่ 4 และแพทย์ผู้ตรวจ สอดรับกับคำเบิกความของจำเลยว่า จำเลยยิงปืนนัดแรกขึ้นฟ้าและยิงต่อมาอีกจนกระสุนหมดลูกโม่รวม 6 นัด แต่ละนัดที่ยิงจำเลยพยายามยิงลงพื้นและในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะส่วนสำคัญของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวก ลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับจะอยู่ในระดับต่ำกว่าสะเอวลงมา คงมีเพียงผู้เสียหายที่ 3 ที่ได้รับบาดแผลที่แผ่นหลัง แต่จากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 3 ได้ความว่า เมื่อได้ยินเสียงปืนจึงหมอบลงกับพื้นเห็นแต่แสงไฟจากปากกระบอกปืน ไม่เห็นตัวผู้ยิง ขณะหมอบรู้สึกตัวว่าถูกกระสุนปืนที่หลังด้านขวามือแสดงว่าผู้เสียหายที่ 3 ได้รับบาดแผลเมื่อนอนหมอบลงแล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงรับกับลักษณะการยิงของจำเลยเช่นเดียวกันแม้อาวุธปืนจะเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงสามารถก่อให้เกิดภยันตรายที่อาจทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ แต่การกระทำเนื่องจากการใช้จะต้องคำนึงถึงเจตนาของผู้ใช้ด้วย การที่จำเลยยิงปืนนัดแรกขึ้นฟ้าเพื่อขู่มิให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้ามาทำร้ายลักษณะจึงเป็นการเตือนก่อน ต่อมาการที่จำเลยยิงอีกหลายนัดจนหมดลูกโม่ก็เป็นการยิงลงพื้นดินและระดับต่ำเพื่อมิให้ถูกอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกาย แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มุ่งหมายที่จะให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต การที่กระสุนปืนพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 จำเลยก็รับว่าเกิดจากการไม่สามารถบังคับการยิงได้ ทำให้ปืนสะบัดไปสะบัดมา แต่ลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ได้รับก็เกิดจากการยิงในระดับต่ำเช่นกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 โดยมิได้บรรยายว่าผู้เสียหายทั้งสี่ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ดังนี้เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) มิได้ คงลงโทษได้เพียงตามมาตรา 295 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          ฟันเพียงครั้งเดียว บาดแผลไม่ฉกรรจ์ เจตนาเพียงทำร้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1190/2553  จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหายเพียงครั้งเดียว เมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีไป ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยวิ่งไล่ตามไปทำร้ายผู้เสียหายอีก ซึ่งจำเลยนำสืบต่อสู้ว่าใช้มีดฟันผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวเพื่อช่วยเหลือเพื่อนที่ชกต่อยกับผู้เสียหาย โดยไม่ได้เลือกว่าจะฟันผู้เสียหายบริเวณใด หากจำเลยมีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายมาก่อน จำเลยสามารถวิ่งไล่ตามไปใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายได้อีกโดยไม่ปรากฏว่ามีสิ่งใดมาขัดขวางไม่ให้จำเลยทำเช่นนั้น ประกอบกับพวกของจำเลยก็มีหลายคนสามารถวิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปได้นอกจากนี้ขณะที่จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหาย ผู้เสียหายเพียงแต่ยกแขนขึ้นบังเท่านั้นไม่ได้ปัดป้องแต่อย่างใด ปรากฏว่าผู้เสียหายมีบาดแผลฉีกขาดบริเวณข้อศอกข้างขวายาวประมาณ 10 เซนติเมตร ซึ่งไม่ใช่บาดแผลฉกรรจ์ แสดงว่าจำเลยไม่ได้ใช้มีดฟันอย่างรุนแรง อีกทั้งจำเลยและผู้เสียหายไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนถึงขนาดจะต้องเอาชีวิต พฤติการณ์การกระทำของจำเลยมีเจตนาเพียงแต่จะทำร้ายเท่านั้น

          เจตนาทำร้าย แต่เกิดผลทำให้ผู้เสียหายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็ยเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส มาตรา 297(8)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5087/2551  จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้มีดปลายแหลมแทงและฟันผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่แขนขวาท่อนล่างยาว 5 เซนติเมตร เอ็นฉีกขาดและเส้นประสาทขาด บาดแผลถูกแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้ายกว้าง 1.5 เซนติเมตร ลึก 2 เซนติเมตร นิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บมากจนนิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ผู้เสียหายที่ 1 รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 5 วัน และรักษาตัวที่บ้านประมาณ 2 เดือน แผลจึงหายเป็นปกติ ระหว่างที่รักษาตัวไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ จึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน อันเป็นอันตรายสาหัส
          ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานพยายามฆ่าแต่ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกทำร้ายเนื่องจากการชุลมุนต่อสู้ ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญจึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอันเป็นการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเนื่องจากการชุลมุนดังกล่าวหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

          แม้จำเลยพูดว่าจะฆ่า แต่ตามพฤติการณ์เป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธเพื่อให้พวกจำเลยสั่งสอนผู้เสียหายเท่านั้น จากนั้นพวกจำเลยมีการลงมือทำร้ายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน จำเลยจึงรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 297(8)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  17866/2555  การที่จำเลยสั่งให้ ส. กับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ด้วยคำพูดของจำเลยที่ว่า “กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย” นั้น แม้ตามพฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธ และเพียงแต่มีเจตนาใช้ให้ทำร้ายร่างกายเพื่อสั่งสอนเท่านั้น แต่เมื่อการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่จำเลยใช้ให้กระทำความผิดเกิดผลให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสซึ่งผู้ถูกใช้จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้น จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดย่อมต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8), 84 ประกอบมาตรา 87 วรรคสอง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหาย ถูก ส.ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย และผู้เสียหายอ้างว่ายังมีคนร้ายอีกหลายคนร่วมทำร้ายร่างกายด้วย ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีแผลถลอกที่ข้อศอกซ้าย ต้นขาซ้าย แผลฟกช้ำที่หลังด้านขวาบริเวณเอว และกระดูกหักที่ข้อมือซ้าย ต่อมา ส.ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและดำเนินคดี
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน จำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายเป็นเวลานานถึง 5 นาที ผู้เสียหายย่อมมีโอกาสจำเสียงของจำเลยได้ ซึ่งผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าเสียงที่ตะโกนด่าไล่หลังว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย เป็นเสียงของจำเลย และ ช. พยานโจทก์ซึ่งยืนอยู่ข้าง ๆ ผู้เสียหายก็เบิกความยืนยันเช่นเดียวกับผู้เสียหาย ซึ่งขณะนั้นคงมีแต่จำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายเท่านั้นโดยไม่มีพนักงานคนอื่นของบริษัทเข้าโต้เถียงกับผู้เสียหายด้วย และเหตุการณ์ที่ ส. กับลูกน้องของจำเลยอีกหลายคนเข้ารุมทำร้ายผู้เสียหายก็เกิดขึ้นทันทีหลังจากจำเลยตะโกนสั่ง รูปคดีบ่งชี้ว่าจำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายแล้วเกิดอารมณ์โกรธจึงตะโกนว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย และการที่ ส.กับลูกน้องของจำเลยคนอื่นๆ ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายก็เป็นการกระทำตามที่จำเลยตะโกนสั่ง มิฉะนั้นแล้วก็ไม่น่าจะมีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเกิดขึ้นต่อเนื่องทันทีหลังจากมีเสียงตะโกนสั่งของจำเลย อีกทั้งโจทก์ยังมีรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมาแสดงเป็นพยานหลักฐานประกอบ โดยผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทันทีหลังจากเกิดเหตุ จึงน่าเชื่อว่าเป็นการแจ้งความร้องทุกข์ตามความเป็นจริงโดยไม่ได้ปรุงแต่งเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวยังระบุคำพูดของจำเลยและรายละเอียดรวมทั้งขั้นตอนการกระทำความผิดสอดคล้องตรงกับคำเบิกความของผู้เสียหายและ ช. ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายและ ช. มีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งขึ้น นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความจากพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า ในชั้นสอบสวน ส. ให้การรับสารภาพว่าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเนื่องจากได้ยินเสียงจำเลยพูดทำนองว่าให้จัดการหน่อย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า จำเลยสั่งให้ ส.กับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีแผลถลอกที่ข้อศอกซ้าย ต้นขาซ้าย แผลฟกช้ำที่หลังด้านขวาบริเวณเอว และกระดูกหักที่ข้อมือซ้าย ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าต้องใช้เวลารักษานานเกินกว่า 1 เดือน และได้ความจากผู้เสียหายว่ากระดูกข้อมือซ้ายหักต้องเข้าเฝือก ระหว่างนั้นยกของหนักไม่ได้ กว่าจะหายเป็นปกติใช้เวลารักษา 2 เดือน จึงฟังได้ว่าผู้เสียหายป่วยเจ็บจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ถือได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนคำพูดของจำเลยที่ว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย นั้น แม้ตามพฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธและเพียงแต่มีเจตนาใช้ให้ทำร้ายร่างกายเพื่อสั่งสอนเท่านั้น แต่เมื่อการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่จำเลยใช้ให้กระทำเกิดผลให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสซึ่งผู้ถูกใช้จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้น จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดย่อมต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 84 ประกอบมาตรา 87 วรรคสอง

          ถูกทำร้ายจนมีบาดแผลฉีกขาดยาว 3 เซนติเมตร ลักษณะบาดแผลใช้เวลารักษา 7 วัน นับได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2888/2547   การทำร้ายเพียงใดจะถือว่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจนั้น ต้องพิจารณาถึงการกระทำและบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับประกอบกัน โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนนี้ว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันรัดคอและตัวผู้เสียหายที่ 1 และขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ถูกบริเวณหน้าผาก และน้ำก๋วยเตี๋ยวสาดถูกใบหน้าผู้เสียหายที่ 1 และขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ที่หน้าอก 1 ครั้ง เมื่อพิเคราะห์รายงานผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ผู้เสียหายที่ 1 มีรอยถลอกที่แขนยาว 3 เซนติเมตร 2 แผล รอยบวมแดงกลางหน้าอก 2 เซนติเมตร และขอบตาบวมทั้งสองข้าง ส่วนผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดที่หน้าผากยาวประมาณ 3 เซนติเมตร 2 แผล และรอยบวมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ทั้งแพทย์ลงความเห็นว่า ลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายทั้งสองใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน ซึ่งลักษณะของการกระทำและบาดแผลดังกล่าว นับได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83

          แค่จับมือยกขึ้นให้ตำรวจเห็น ไม่ถือว่ามีเจตนาทำร้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3580/2545  จำเลยเข้ามาจับข้อมือของโจทก์ยกขึ้นพร้อมกับพูดว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเก็บค่าเช่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเข้ามา จำเลยก็ปล่อยมือของโจทก์ โดยใช้เวลาจับมือของโจทก์ไว้ไม่ถึงหนึ่งนาที เจตนาอันแท้จริงของจำเลยในการจับข้อมือของโจทก์ยกขึ้นก็เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่าโจทก์ได้รับเงินค่าเช่าบ้านไว้โดยไม่มีสิทธิจะรับเท่านั้น หาได้มีเจตนาที่จะทำร้ายโจทก์ให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

          บาดแผลถลอกและรอยฟกช้ำ ใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน จะหายเป็นปกติ ถือได้ว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7665/2544  ผู้เสียหายมีบาดแผลถลอกและฟกช้ำที่คอด้านขวาขนาด 1 x 2 เซนติเมตร และมีบาดแผลถลอกฟกช้ำที่โหนกแก้มซ้ายขนาด 1 x 1 เซนติเมตร แพทย์มีความเห็นว่าเกิดจากถูกของแข็งไม่มีคมกระแทกโดยแรง ใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน จะหายเป็นปกติ ถือได้ว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 391 ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสุดท้าย

          จำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายโดยใช้กำลังชกต่อย แม้จำเลยจะไม่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในภายหลัง แต่จำเลยก็ยังต้องรับผิดในการกระทำของตน คือ การทำร้ายร่างกาย เมื่อไม่มีบาดแผลจากการชกต่อย จึงรับผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9650/2553  ในคดีเกิดเหตุจำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายโดยใช้กำลังชกต่อย แม้จำเลยจะไม่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในภายหลัง แต่จำเลยก็ยังต้องรับผิดในการกระทำของตน อย่างไรก็ตามจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าการที่จำเลยชกต่อยผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายเกิดอันตรายแก่การหรือจิตใจอย่างไร ทั้งตามรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ก็ระบุว่าผู้ตายมีเพียงบาดแผลลักษณะถูกฟันและแทงด้วยวัตถุของแข็งมีคมที่บริเวณใต้ราวนมข้างซ้าย 1 แผล กับที่ด้านข้างแขนซ้ายท่อนบนเหนือข้อศอก 1 แผลเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีบาดแผลอื่นที่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการถูกจำเลยชกต่อยอีก เช่นนี้จำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ซึ่งแม้ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย แต่การจะลงโทษจำเลยตามที่ได้ความจากทางพิจารณาก็จะต้องพิจารณาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ด้วย ซึ่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนจึงมีอายุความหนึ่งปีตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 เป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

          การทำร้ายร่างกายต้องดูพฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยและบาดแผลของผู้เสียหายประกอบกัน ใช้กำปั้นทุบทำร้าย ไม่มีบาดแผล เป็นเพียงความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 เท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3630/2550  การทำให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 นั้น จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยและบาดแผลของผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกัน ผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยใช้กำปั้นและมือทุบตีบริเวณท้ายทอยและด้านหลังหลายครั้ง ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่ปรากฏบาดแผล ทั้งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายบริเวณใบหน้าของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 2 ครั้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นอันตรายแก่กายและจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่เป็นเพียงความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งรวมการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายอยู่ในตัว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

          ตบหน้าเพียงสองครั้ง ไม่เกี่ยวกับแขนหัก จึงรับผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 เท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2770/2544  จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยใช้มือตบหน้าเพียง 2 ครั้งส่วนการที่กระดูกต้นแขนซ้ายของผู้เสียหายหักอาจเกิดจากผู้เสียหายวิ่งล้มลง มิได้เกิดจากจำเลยใช้ไม้ตีผู้เสียหายดังที่โจทก์อ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของจำเลยดังกล่าวมากน้อยเพียงใด จึงฟังได้เพียงว่า การกระทำของจำเลยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 และการที่ผู้เสียหายตะโกนด่าถึงมารดาจำเลยว่ามารดาจำเลยเป็นโสเภณีและถึงแก่กรรมด้วยโรคเอดส์ เป็นการกล่าวหาว่ามารดาจำเลยสำส่อนทางเพศ ถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การที่จำเลยตบหน้าผู้เสียหาย 2 ครั้ง ในขณะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ซึ่งศาลฎีกาลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคท้ายประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225