01 กรกฎาคม 2559

สัญญาจ้างทำของ(จ้างเหมาก่อสร้าง) - ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน‬ ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า (มาตรา 597)

‎          จ้างทำของ‬ ‪(จ้างเหมาก่อสร้าง‬)

       
          ป.พ.พ.
          มาตรา 587  "อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น"
          มาตรา 597 " ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า"

‪          เมื่อคู่สัญญามิได้ถือเอาระยะเวลาตามที่กำหนดในสัญญาเป็นสาระสำคัญจึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับ‬ จากการส่งมอบงานล่าช้า
          ‪‎ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน‬ ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 3012/2552  นอกจากงานก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำงานเพิ่มเติมไปจากสัญญา ซึ่งโจทก์ต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งงานงวดที่ 14 และที่ 15 โจทก์ส่งมอบพร้อมกันภายหลังล่วงพ้นระยะเวลาก่อสร้างสิ้นสุดแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่างวดทั้งสองงวดให้โจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าในขณะรับมอบงานจำเลยที่ 1 ได้อิดเอื้อนหรือสงวดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับไว้ การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้บอกโจทก์แล้วว่าจะมีคนมาใช้ประโยชน์ในอาคารที่ก่อสร้างก็เป็นเพียงคำปรารภหาใช่เป็นการสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับไม่
          การที่จำเลยที่ 1 รับมอบงานงวดที่ 14 และที่ 15 ทั้งที่ระยะเวลาก่อสร้างสิ้นสุดแล้วและให้โจทก์ก่อสร้างงานงวดที่ 16 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายต่อไป ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาเป็นสำคัญ ทั้งมีงานที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำนอกเหนือสัญญาด้วย จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าข้อสัญญาที่เกี่ยวกับการส่งมอบงานล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามสัญญานี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างมีเจตนาให้ระงับกันไปไม่ถือเป็นการผิดสัญญา จึงทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับที่โจทก์ส่งมอบงานพ้นกำหนดเวลาสิ้นสุดตามสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคสาม และมาตรา 597
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2467 - 2468/2552  โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารขนาด 16 คูหา แบ่งงวดงานก่อสร้างทั้งหมด 11 งวด กำหนดลงมือก่อสร้างวันที่ 1 ตุลาคม 2537 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งงานตามกำหนดงวดในสัญญาได้ โจทก์ที่ 1 ก็ยอมรับโดยเมื่อพ้นกำหนดตามสัญญาคือวันที่ 30 กันยายน 2538 โจทก์ที่ 1 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 เร่งรัดทำการก่อสร้างตามงวดงาน เอกสารทุกฉบับที่โจทก์ที่ 1 ส่งถึงจำเลยที่ 1 เป็นเวลาหลังจากครบกำหนดตามสัญญาก่อสร้างแล้ว ฝ่ายจำเลยที่ 1 ยืนยันว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ถือเอาระยะเวลาเป็นสาระสำคัญแม้จะส่งงานเกินกำหนดเวลาแต่ละงวดโจทก์ที่ 1 ก็ยอมรับผลงาน การที่โจทก์ที่ 1 ยอมรับผลงานก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงวดงานจึงเป็นการขยายระยะเวลาสัญญาว่าจ้างไปโดยไม่มีกำหนด มิได้ถือเอาวันที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินค่างวดงานในงวดที่ 9 แต่โจทก์ที่ 1 ปฏิเสธโดยขอให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน 2539 แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานทั้งหมดใหม่คือวันที่ 15 กันยายน 2539 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 16 กันยายน 2539 ส่งถึงจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2539 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2539 มิใช่วันที่ 30 กันยายน 2538 ดังนั้น จำเลยจที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสิบหก
          เมื่อฝ่ายโจทก์มิได้ถือเอากำหนดส่งมอบงานเดิมในวันที่ 30 กันยายน 2538 เป็นสาระสำคัญ และได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานใหม่เป็นวันที่ 15 กันยายน 2539 โจทก์ที่ 1 จึงอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก่อนวันที่ 15 กันยายน 2538 หาได้ไม่ โจทก์ที่ 1 ไม่อาจเรียกร้องค่าปรับรายวันตามสัญญาในระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2538 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2539 จากจำเลยที่ 1 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7809/2540  จำเลยทำงานล่วงเลยเวลาที่กำหนดไว้ แต่โจทก์ยอมรับเอาผลงานและชำระเงินให้จำเลยโดยดี โดยงานที่จำเลยทำส่วนใหญ่สมบูรณ์ มีความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยได้ทำงานที่จ้างให้โจทก์เสร็จแล้ว
          ตามสัญญาจ้างเหมาฉบับพิพาทมีข้อความว่า ผู้รับจ้างต้องทำงานรายนี้ให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ปรากฏในสัญญานี้เป็นต้นไปถ้าหากไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดนี้ผู้รับจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างปรับเป็นรายวันจนกว่าผู้รับจ้างจะทำงานรายนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่ถ้าผู้ว่าจ้างเห็นว่าผู้รับจ้างไม่มีทางที่จะทำงานจ้างรายนี้ให้แล้วเสร็จได้ เมื่อครบกำหนด 60 วันแล้ว ผู้รับจ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างมีอำนาจที่จะเลิกสัญญานี้ได้ทันที และหากเกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้นอันเนื่องจากผู้รับจ้างเหมาผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้ เมื่อครบกำหนดแล้วโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแล้วใช้สิทธิเรียกเบี้ยปรับตามสัญญา แต่กลับยอมต่ออายุสัญญาให้จำเลยโดยยอมรับเอาผลงานของจำเลยและชำระค่าจ้างให้จำเลยในวันซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ครบกำหนดอายุสัญญาที่โจทก์ต่อให้แล้ว แสดงว่า โจทก์ไม่ได้ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6697/2540  แม้โจทก์ผู้รับจ้างจะก่อสร้างอาคารให้จำเลยไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญา แต่จำเลยก็ตกลงยินยอมให้โจทก์ทำการก่อสร้างต่อจนอาคารแล้วเสร็จ และจำเลยได้จดทะเบียนโอนขายอาคารนั้นให้บุคคลอื่นไป หลังจากนั้นจำเลยยังให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารอีกหลังหนึ่งด้วยและจำเลยก็ไม่ติดใจเรื่องค่าปรับวันละ 1,000 บาท ตามสัญญา ดังนี้เมื่อจำเลยไม่ได้เคร่งครัดเรื่องกำหนดเวลาการก่อสร้างและไม่ได้ติดใจในเรื่องค่าปรับ ทั้งยังยอมรับผลงานของโจทก์หลังจากพ้นกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว อันเป็นการยอมรับชำระหนี้โดย มิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับ จำเลยย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคสาม

          ***แต่ถ้าผู้ว่าจ้างรับมอบงานโดยมีการโต้แย้งเรื่องค่าจ้างไว้ ถือว่ารับมอบงานโดยอิดเอื้อนแล้ว ได้สงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลาชำระหนี้แล้ว ผู้ว่าจ้างจึงมีสิทธิเรียกค่าปรับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2919/2540  ในวันส่งมอบงานมีการโต้แย้งกันเรื่องค่าจ้าง จึงมิใช่โจทก์รับมอบงานโดยไม่อิดเอื้อน และบันทึกที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานให้โจทก์ระบุว่าค่าปรับจำเลยที่ 1 ขอผัดผ่อนไปก่อน โจทก์ขอสงวนสิทธิไว้เพื่อจะเรียกร้องต่อไป ดังนี้จึงฟังได้ว่า โจทก์ได้สงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลาชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งสองได้
          โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 ทำงานผิดพลาดบกพร่อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 มาจัดการซ่อมแซม แต่จำเลยที่ 1ไม่มาทำ โจทก์ต้องไปจ้างช่างอื่นมาทำให้ใหม่ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์รวมเป็นเงิน 67,650 บาท ซึ่งเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญา จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30
          ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ารายการเกี่ยวกับการทาสีบ้าน บันไดหลุดหลวม ก๊อกน้ำโถส้วม ปูนฉาบบ้านร้าวขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์ว่ารายการดังกล่าวไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความจึงไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับความเสียหายดังกล่าว เป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ.ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายในรายการดังกล่าวหรือไม่โดยไม่ส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247
          บ้านโจทก์ชำรุดบกพร่อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 มาทำการซ่อมแซมแล้วแต่จำเลยที่ 1 ไม่มา โจทก์จึงมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำงานแทนจำเลยที่ 1 ได้และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ทำการซ่อมแซม จำเลยที่ 1 จึงผิดสัญญาข้อ 6 แม้โจทก์จะยังไม่ได้จ้างบุคคลอื่นซ่อมแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ก็เป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างบุคคลอื่นทำแทนจำเลยที่ 1 จากจำเลยทั้งสองได้ แต่ตามสัญญาก่อสร้างไม่ได้ระบุว่า ช่องหลังคาต้องป้องกันค้างคาวได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับรายการดังกล่าว