28 ก.ค. 2559

สามีมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวและภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

          ป.พ.พ.
          มาตรา 1523  "เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น
          สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
          ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1)  หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ เช่น
          ถ้าฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งเป็นชู้กับสามีตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากสามี แต่ถ้าเป็นกรณีหย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล ก็มิใช่กรณีพิพากษาให้หย่ากัน จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทน 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2557   ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น” ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว

          ถ้าเพียงแต่สงสัยในความสัมพันธ์ระหว่างสามีโจทก์กับจำเลย ก็ยังเรียกค่าทดแทนมิได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10851/2555  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง การที่ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาวได้ก็เฉพาะแต่หญิงนั้นต้องแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาว เมื่อโจทก์เพียงแต่สงสัยในความสัมพันธ์ระหว่างสามีโจทก์กับจำเลย เช่น การที่สามีโจทก์ไปค้ำประกันหนี้เช่าซื้อรถยนต์ให้จำเลย การรับฟังผู้อื่นเล่ามาว่ามีคนต้องการโทรศัพท์ไปหาสามีโจทก์ เมื่อโทรหาจำเลยก็ติดต่อกับสามีโจทก์ก็ได้ หรือมีผู้เล่าว่าสามีโจทก์ไปหาจำเลยที่บ้านเช่า แต่ไม่ปรากฏว่ามีพยานอื่นสนับสนุนยังไม่พอฟังว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผย ทั้งการที่จำเลยกับสามีโจทก์อยู่ด้วยกันตามลำพังในโรงแรมชานเมือง แม้เป็นพฤติกรรมที่ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยอาจจะไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อสิทธิที่โจทก์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยนั้น จำเลยต้องแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลักลอบและพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยและสามีโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย

          แม้ไม่เคยพาออกงานสังคมหรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยา แต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) และมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากบุคคลที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวจากสามีโจทก์ตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่งแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2552  แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยาแต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย

          ไม่ว่าจะได้อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องฉันภริยาอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ แต่เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว โจทก์ย่อมได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6164/2552   เมื่อโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา ไม่ว่าจะได้อุปการะหรือยกย่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเมื่อจำเลยที่ 2 รู้ว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่ยังรับการอุปการะเลี้ยงดูและการยกย่องฉันภริยาอยู่อีกจึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะนำคดีมาสู่ศาลเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสองได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

          ค่าทดแทนนี้ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ ตามมาตรา 1525 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2552  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การกำหนดค่าทดแทนกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามีเป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ ตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย เมื่อโจทก์เรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสเป็นเงิน 5,000,000 บาท โดยมิได้แสดงพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่าเพราะเหตุใดโจทก์จึงควรได้ค่าทดแทนจำนวนดังกล่าว ศาลจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงฐานานุรูปของโจทก์ จำเลยและพฤติการณ์แห่งคดี อีกทั้งทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับจากการแบ่งสินสมรสตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองตามบทบัญญัติมาตรา 1525 ดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพราะเหตุจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาเป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะกำหนดค่าทดแทนให้มากไปกว่านี้