16 ตุลาคม 2567

ความผิดฐานหมิ่นประมาท


          ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326  "ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          ความผิดฐานหมิ่นประมาท มีลักษณะดังนี้
               1. เป็นการใส่ความผู้อื่น
               2. ต่อบุคคลที่สาม 
               3. โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่น......(พฤติการณ์ประกอบการกระทำ)
                    o เสียชื่อเสียง
                    o ถูกดูหมิ่น หรือ
                    o ถูกเกลียดชัง
               4. เจตนา

          การใส่ความในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น หมายความว่า การยืนยันข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นความจริงก็ได้หรือเป็นความเท็จก็ได้ แม้จะเป็นการบอกเล่าเรื่องที่ได้ยินมาให้กับผู้อื่นฟังก็อยู่ในความหมายของคำว่าใส่ความ (ฎ.380/2503) 
          วิธีการใส่ความ โดยการพูดต่อบุคคลที่สาม หรือโดยวิธีอื่น เช่น ส่งจดหมาย (ฎ.2822/2515) พิมพ์ลงในนิตยสาร (ฎ.83/2501 และ 1310/2500) ส่งข้อความหรือภาพถ่ายผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์




ข้อเท็จจริงที่จะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทหรือเป็นการใส่ความ 


          1. ต้องไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นเพียงคำหยาบหรือข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ด่าว่าไอ้เหี้ย หรือกล่าวหาเป็นผีปอบ ย่อมไม่ผิดหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 324/2490  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อันถ้อยคำที่บุคคลกล่าวตามภาษาไทยธรรมดานั้น จะมีความหมายอย่างไรคนธรรมดาจะเข้าใจได้ ศาลย่อมรู้ได้เอง คู่ความไม่ต้องนำสืบ เว้นแต่โจทก์จะกล่าวหาว่า ถ้อยคำนั้นมีความหมายเป็นพิเศษ คดีตามฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องกล่าวถ้อยคำตามธรรมดาสามัญ เมื่อพิเคราะห์คำที่จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนว่า "อ้ายครูกำจร ครูชาติหมา สอนให้เด็กชกต่อยกัน" แล้วเห็นว่า ถ้อยคำที่กล่าวนอกจากเป็นคำหยาบแล้ว มีความหมายเพียงว่า ครูสอนให้เด็กชกกัน ซึ่งคนทั่วไปย่อมไม่เห็นเป็นการใส่ร้ายอย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2509  ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ต้องเป็นการแสดงข้อความให้คนฟังคนเห็นเชื่อ จึงจะเกิดความรู้สึกเกลียดชัง ดูหมิ่น ขึ้นได้ จำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นผีปอบ เป็นชาติหมา ความรู้สึกนึกคิดของคนธรรมดาไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นไปได้ จึงไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นอย่างใด และข้อความใดจะเป็นการทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ต้องถือตามความคิดของบุคคลธรรมดาผู้ได้เห็นได้ฟัง คำกล่าวของจำเลยจึงไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท 
          ความผิดฐานดูหมิ่น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ต้องเป็นกล่าวซึ่งหน้าตามมาตรา 393 โจทก์มิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ มิใช่กล่าวซึ่งหน้า จึงไม่ผิดฐานดูหมิ่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2550  คำฟ้องโจทก์อ้างเหตุประการแรกว่า จำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ด้วยถ้อยคำว่า "โจทก์ยกที่ดินให้แล้ว ยังจะเอาคืน เสือกโง่เอง อย่าหวังว่าจะได้สมบัติคืนเลย" ข้อความนี้ เป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด ดังนั้นแม้หากจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กล่าวถ้อยคำตามคำฟ้องจริงก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเพิกถอนการให้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้กล่าวข้อความตามคำฟ้องหรือไม่ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2562  ข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆไป เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวถึงนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทซึ่งเป็นทนายความน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า "เอาทนายเฮงซวยที่ไหนมา สถุล" นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายของคำว่า "เฮงซวย" ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี เช่น คนเฮงซวย ของเฮงซวย เรื่องเฮงซวย ส่วนคำว่า "สถุล" ให้ความหมายว่า หยาบ ต่ำช้า เลวทราม (ใช้เป็นคำด่า) เช่น เลวสถุล เช่นนี้ แม้ถ้อยคำที่จำเลยด่าโดยการกล่าวว่าทนายเฮงซวย เป็นเพียงการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทโจทก์ อันเป็นการพูดดูหมิ่นเหยียดหยามให้อับอายเจ็บใจ แต่ยังไม่เป็นการใส่ความให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังก็ตาม แต่เมื่อฟังประกอบกับถ้อยคำตอนท้ายว่า "สถุล" แล้ว วิญญูชนทั่วไปจึงอาจเข้าใจว่า โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดีและเป็นไปในทางหยาบ ต่ำช้า เลวทราม ถ้อยคำดังกล่าวจึงอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันอาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3073/2565 ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 จะต้องเป็นการใส่ความคือ การพูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า “ไอ้สันดานหมา” คำว่า “สันดาน” หมายความถึงอุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด ซึ่งอาจมีสันดานดีหรือสันดานเลวก็ได้ แม้มักใช้ไปในทางไม่สู้จะดี แต่ก็มิใช่เป็นการใส่ความให้ร้ายผู้ร้อง ทั้งตามความรู้สึกนึกคิดของบุคคลธรรมดาไม่เชื่อว่าผู้ร้องจะเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่น่าจะทำให้ผู้ร้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่จำเลยกล่าวถ้อยคำนั้น น่าจะเป็นเพราะจำเลยไม่พอใจผู้ร้องที่ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ ส. ซึ่งเป็นหลานของจำเลยมาก่อนหน้านี้แล้ว ครั้นพนักงานสอบสวนเรียกคู่กรณีและผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นญาติไปไกล่เกลี่ย ผู้ร้องก็ยังคงยืนกรานให้ดำเนินคดี ส. ต่อไป โดยไม่เห็นแก่ความเป็นญาติ ย่อมทำให้จำเลยไม่พอใจผู้ร้องเพิ่มขึ้นไปอีก จึงเป็นการด่าผู้ร้องอันเนื่องมาจากความรู้สึกไม่พอใจผู้ร้อง ไม่ได้มีความมุ่งหมายถึงความประพฤติของผู้ร้องว่าเป็นคนมีอุปนิสัยที่ไม่ดีมาแต่กำเนิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็เป็นการรับสารภาพตามฟ้องที่ไม่เป็นความผิด ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
          
          2. ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่แน่นอน ไม่คลุมเครือ เลื่อนลอย หรือกล่าวด้วยความน้อยใจ 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2490  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความในจดหมายของจำเลยหาได้มีข้อความว่า โจทก์เป็นผู้ร้ายปล้น ฉ้อ, ยักยอกดังกล่าวในฟ้องใน และโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องให้ชัดแจ้งว่า ข้อความใด, วรรคใด, ตอนใด, ที่เป็นที่เสียหายต่อชื่อเสียงของโจทก์ และเรื่องนี้มิใช่กล่าวต่อหน้าหรือกล่าวต่อคนสองคน จึงไม่ต้องด้วยลักษณะหมิ่นประมาท 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2506  ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนว่าโจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี มีความรู้สึกต่ำ โจทก์เป็นคนมีหนี้สินเป็นแสนๆ ยังใช้หนี้เขาไม่หมด อวดมั่งมีคาดเข็มขัดทอง ไม่เป็นถ้อยคำที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี มีความรู้สึกต่ำนั้น เป็นถ้อยคำที่เลื่อนลอย ไม่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าโจทก์นิสัยไม่ดีหรือมีความรู้สึกต่ำอย่างไร จึงไม่เป็นถ้อยคำที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ส่วนที่จำเลยกล่าวอีกว่าโจทก์เป็นคนมีหนี้สินเป็นแสนๆ ยังใช้หนี้เขาไม่หมด อวดมั่งมีคาดเข็มขัดทองนั้น จำเลยก็มิได้กล่าวถึงกับว่าโจทก์เป็นคนหนี้สินล้นพ้นตัวและโจทก์ก็มิได้ฟ้องว่าจำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นหนี้เขาถึงขนาดนั้น การที่โจทก์กล่าวว่าจำเลยเป็นหนี้เขามาก ยังใช้ไม่หมด แล้วอวดมั่งมีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงความชั่วร้าย คดโกง ขาดความเชื่อถือไว้วางใจ อันจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังอย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยยังไม่มีความผิดดังฟ้อง พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426-427/2520  ส่งข่าวไปลงหนังสือพิมพ์ว่า  ส. เป็นนายทุนขูดรีดจนถึงขนาดถูกสอบสวนว่าเป็นภัยต่อสังคม เป็นคำกล่าวหมิ่นประมาทและไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ส่วนที่กล่าวว่าเป็น  ส.ส. ขบวนการปลาทู เป็นการเปรียบเทียบเลื่อนลอย ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง ไม่เป็นหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4425/2545  จำเลยพูดกับชาวบ้านที่เดินผ่านมาว่า "ระวังทนายสกปรกจะเอาเรื่อง" พร้อมกับชี้มือมาที่โจทก์ คำพูดของจำเลยดังกล่าวไม่มีข้อความประกอบให้เห็นว่าโจทก์ซึ่งมีอาชีพทนายความสกปรกในเรื่องอะไร แม้จะเป็นคำเสียดสีโจทก์ว่าเป็นคนน่ารังเกียจ แต่ไม่ถึงขนาดทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนคดโกงขาดความน่าเชื่อถือหรือน่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง 
          โจทก์ยอมรับในคำฟ้องฎีกาว่า หากคนธรรมดาพูดเช่นนั้น ก็คงไม่เป็นการหมิ่นประมาท เท่ากับโจทก์เห็นว่าโดยสภาพของถ้อยคำดังกล่าวไม่เป็นการหมิ่นประมาท ดังนั้น แม้จำเลยผู้พูดจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็ไม่ทำให้ความหมายของถ้อยคำเปลี่ยนแปลงไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6624/2537  จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อหน้าโจทก์ร่วมและลูกน้องของโจทก์ร่วมว่า "แม่มึงไม่ต้องไปฟัง กูจะเอาอย่างนี้ ถ้าเซ็นไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คุณเป็นหัวหน้าคนได้อย่างไร ทำงานไม่รับผิดชอบ ตัดสินปัญหาไม่ได้ พอมีปัญหาก็โยนกันไปโยนกันมา คน ร.ส.พ.ทำงานกันอย่างนี้หรือ" โดยกล่าวในที่ทำงานของโจทก์ร่วมขณะที่โจทก์ร่วมกำลังปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นการสบประมาทโจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมอับอายขายหน้าเป็นการดูหมิ่นโจทก์ร่วมซึ่งหน้า ตาม ป.อ. มาตรา 393 และเนื่องจากถ้อยคำดังกล่าวเป็นการวิจารณ์การทำงานของโจทก์ร่วมที่กล่าวต่อโจทก์ร่วมโดยตรง ไม่มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3073/2565  ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 จะต้องเป็นการใส่ความคือ การพูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า "ไอ้สันดานหมา" คำว่า "สันดาน" หมายความถึงอุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด ซึ่งอาจมีสันดานดีหรือสันดานเลวก็ได้ แม้มักใช้ไปในทางไม่สู้จะดี แต่ก็มิใช่เป็นการใส่ความให้ร้ายผู้ร้อง ทั้งตามความรู้สึกนึกคิดของบุคคลธรรมดาไม่เชื่อว่าผู้ร้องจะเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่น่าจะทำให้ผู้ร้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่จำเลยกล่าวถ้อยคำนั้น น่าจะเป็นเพราะจำเลยไม่พอใจผู้ร้องที่ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ ส. ซึ่งเป็นหลานของจำเลยมาก่อนหน้านี้แล้ว ครั้นพนักงานสอบสวนเรียกคู่กรณีและผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นญาติไปไกล่เกลี่ย ผู้ร้องก็ยังคงยืนกรานให้ดำเนินคดี ส. ต่อไป โดยไม่เห็นแก่ความเป็นญาติ ย่อมทำให้จำเลยไม่พอใจผู้ร้องเพิ่มขึ้นไปอีก จึงเป็นการด่าผู้ร้องอันเนื่องมาจากความรู้สึกไม่พอใจผู้ร้อง ไม่ได้มีความมุ่งหมายถึงความประพฤติของผู้ร้องว่าเป็นคนมีอุปนิสัยที่ไม่ดีมาแต่กำเนิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็เป็นการรับสารภาพตามฟ้องที่ไม่เป็นความผิด ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

          3. ข้อเท็จจริงที่กล่าวนั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันในอดีตหรือในปัจจุบัน ไม่ใช่การคาดคะเนหรือกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคต

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734/2503  มารดาถูกขว้างด้วยก้อนอิฐ บุตรไม่เห็นคนขว้าง แต่ได้กล่าวต่อหน้าคนหลายคนว่า ไม่มีใครนอกจากอ้ายแก้ว (โจทก์) อ้ายชาติหมา อ้ายฉิบหาย ดังนี้ พฤติการณ์ในคดีแสดงว่าเป็นแต่เพียงคาดคะเนไม่มีเจตนาใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2531  จำเลยถาม ป. ว่า มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์จริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ให้เลิกเสีย ไม่ได้ยืนยันว่า ป. มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์ยังไม่เข้าลักษณะเป็นการใส่ความอันจะเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยกล่าวเช่นนั้นต่อหน้าโจทก์จึงมิใช่เป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้าอีกเช่นกัน


          การหมิ่นประมาทต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม คำว่า "ผู้อื่น" นั้น ต้องทราบว่าหมายถึงใคร แต่ไม่จำเป็นต้องระบุชื่อคนนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 56/2490  โจทก์บรรยายฟ้องใจความว่า จำเลยได้สมรู้ร่วมคิดกันออกคำสั่งและส่งข้อความทางวิทยุกระจายเสียงถึงคณะกรรมการจังหวัดทุกจังหวัดไม่ให้เชื่อฟังคำโฆษณาขอเสียงเลือกตั้งของบุคคลที่เป็นพวกและพรรค "ประชาธิปัตย์" โดยจำเลยกล่าวว่า คำโฆษณาของพวกและพรรคประชาธิปัตย์เป็นการหลอกลวงราษฎรให้หลงเชื่อโจทก์ถือตัวว่าเป็นพวกหรือพรรคประชาธิปัตย์ คำกล่าวในคำสั่งนั้นเล็งถึงโจทก์หรืออาจเล็งถึงโจทก์และกระทบกระเทือนหรืออาจกระทบกระเทือนถึงโจทก์ ขอให้ลงโทษฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ทุจจริต ผิดพระราชบัญญัติเลือกตั้งและหมิ่นประมาท 
ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีเช่นนี้ต้องพิจารณาถึงข้อหาหมิ่นประมาทอันเป็นมูลเหตุที่โจทก์ฟ้องก่อน ตามหลักกฏหมายการที่จะเป็นหมิ่นประมาทได้ จะต้องมุ่งต่อบุคคลใดโดยฉะเพาะและโจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่าตนเป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึง ในคดีนี้ คำสั่งของกระทรวงมหาดไทยที่โจทก์กล่าวอ้างนั้น กล่าวถึงการกระทำของบุคคลบางคนในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีข้อความอันใดที่กล่าวว่าเป็นการกระทำของโจทก์ทั้งไม่มีเหตุอะไรที่จะแสดงว่า เป็นการกล่าวเพ่งเล็งถึงโจทก์ซึ่งโจทก์ควรเป็นเจ้าของคดี ในฟ้องของโจทก์ก็มิได้ยืนยันว่าข้อความในคำสั่งนั้นเป็นการกล่าวโดยมุ่งหมายถึงโจทก์ การกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกและไม่พอใจนั้นจะนับว่าเป็นผู้เสียหายยังไม่ได้ ส่วนข้อหาว่าละเมิดกฏหมายอื่นก็มิใช่เป็นการกระทำต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายดุจกัน จึงพิพากษายืน.
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2522   จำเลยกล่าวถ้อยคำถึงราษฎร 2 อำเภอ ที่อพยพมาอยู่รวมกันในหมู่บ้านซึ่งมีจำนวนประมาณ 4,000 คน ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ดังนี้ คนธรรมดาสามัญย่อมไม่เข้าใจว่าเป็นการกล่าวพาดพิงหรือใส่ความบุคคลใด เพียงแต่โจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลที่รวมอยู่ในจำนวนคนเหล่านั้น  จะว่าจำเลยใส่ความโจทก์ทั้งสองโดยตรงหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่เป็นผู้เสียหาย อันจะมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2489  ได้ความว่า จำเลยได้กล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนในงานวัดญาโนทัยว่า "พระวัดนี้ดูหนัง พระวัดนี้เลวมากดูหนังบ้าง บ้าผู้หญิงบ้างฯลฯ"  ปรากฎว่าพระวัดที่กล่าวนี้มีอยู่ 5 รูป พระภิกษุแดงซึ่งเป็นพระอยู่ในวัดนี้ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน 
ศาลฎีกาเห็นว่า  ตามถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทพระภิกษุในวัดนั้นทุกรูป และพระในวัดนั้นก็มีอยู่เพียง 6 รูป พระภิกษุแดงย่อมมีอำนาจร้องทุกข์ได้ เพราะเป็นผู้เสียหายด้วยผู้หนึ่ง ส่วนผู้เสียหายอื่นๆ จะไม่ร้องทุกข์ก็แล้วแต่ท่าน พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดให้ลงโทษจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2517  ภาพวาดและข้อความที่จำเลยโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ไม่มีข้อความตอนใดพาดพิงถึงเทศบาลเมืองยะลา หรืออาจให้เข้าใจได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความ ส.ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีกับคณะเทศมนตรีเมืองยะลาครั้งแรกจนถึงวันเกิดเหตุคดีนี้ เทศบาลเมืองยะลามีคณะเทศมนตรีสับเปลี่ยนกันถึง 7 ชุด มิใช่มีคณะเทศมนตรีชุดนี้เพียงชุดเดียว และในความผิดฐานหมิ่นประมาทอันจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังนั้น ต้องถือตามความรู้สึกนึกคิดของบุคคลธรรมดาทั่วไป มิใช่ถือเอาแต่ความรู้สึกของผู้ที่อ้างว่าตนเป็นผู้เสียหายเท่านั้น จึงยังไม่พอถือได้ว่า ส.และคณะเทศมนตรี เมืองยะลาเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยได้ โจทย์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 326, 328
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2505  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 โดยกล่าวในฟ้องว่า จำเลยได้โฆษณาด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อชุมนุมชนซึ่งมาประชุมกันว่า ทนายความเมืองร้อยเอ็ดคบไม่ได้ เป็นนอกสองหัว เหยียบเรือสองแคม เป็นมวยล้ม ว่าความทีแรกดี ครั้นได้รับเงินแล้วก็ว่าเป็นอย่างอื่น และได้กล่าวในฟ้องด้วยว่าทนายความจังหวัดร้อยเอ็ดมีอยู่ในวันที่จำเลยกล่าวข้อความนี้เพียง 10 คนและในขณะที่จำเลยกล่าว จำเลยได้เห็นโจทก์ซึ่งเป็นทนายความคนหนึ่งประกอบอาชีพว่าความอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ดเข้าประชุมอยู่ด้วย กับยืนยันมาในฟ้องว่า การที่จำเลยกล่าวเช่นนั้นก็โดยมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์และบรรดาผู้ประกอบอาชีพทนายความในจังหวัดร้อยเอ็ดทุกคนให้ได้รับความเสียหาย ดังนี้เป็นฟ้องที่ควรให้มีการไต่สวนมูลฟ้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2505)

          การใส่ความนั้น ต้องเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม ความผิดฐานหมิ่นประมาทจะสำเร็จก็ต่อเมื่อบุคคลที่สามได้ทราบและเข้าใจข้อความนั้น ดังนั้น ถ้าบุคคลที่สามไม่ได้รับข้อความหรือหูหนวกหรือไม่รู้เรื่อง ก็เป็นความผิดแค่เพียงพยายามหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 23/2474 พูดกับ ก. เป็นภาษาไทย เป็นถ้อยคำหมิ่นประมาท ก. ต่อหน้าบุคคลอื่นที่เป็นชาวต่างชาติ โดยผู้พูดคิดว่าชาวต่างชาตินั้นไม่เข้าใจภาษาไทย ไม่ผิดหมิ่นประมาท ก.ต่อหน้าบุคคลที่สาม แม้ ก. จะแปลให้ชาวต่างชาติฟังในภายหลัง ก็ไม่ใช่การกระทำของจำเลย

          องค์ประกอบสุดท้ายของความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 คือ เจตนา ถ้าขาดเจตนาก็ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2557  โจทก์และจำเลยทะเลาะโต้เถียงกันด้วยความโกรธ ต่างคนต่างว่าซึ่งกันและกัน ที่จำเลยพูดว่า "มึงโกงกู" เป็นคำโต้ตอบโจทก์เนื่องจากจำเลยไม่เชื่อว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ให้จำเลยแล้วโดยการโอนเงินผ่านธนาคาร จะถือว่าจำเลยเจตนาใส่ความโจทก์อันจะเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6310/2539  จำเลยนำแถบบันทึกเสียงที่มีผู้สนทนากันกล่าวถึงผู้เสียหายทั้งสองมีพฤติกรรมในทางชู้สาวต่อกันที่โรงเรียนที่ผู้เสียหายทั้งสองสอนอยู่ไปเปิดให้นาย ส.ม.หัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอกับพวกฟังที่บ้านของนาย ส.ม.โดยเกิดจากการแนะนำของนาย ส.กับนายส.ม. และผู้ร่วมฟังแถบบันทึกเสียงก็เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาทั้งสิ้น ทั้งไม่ใช่เปิดในที่สาธารณสถานเป็นทำนองปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะหากผู้เสียหายทั้งสองกระทำการในทางชู้สาวจริง นอกจากจะผิดต่อศีลธรรมแล้วยังผิดในทางวินัยข้าราชการอีกด้วย เนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองต่างรับราชการเป็นครูและต่างมีสามีและภรรยาแล้ว ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงไม่มีเจตนาที่จะใส่ความผู้เสียหายทั้งสองให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือเสียหาย แต่เป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2526  จำเลยส่งจดหมายที่มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงโจทก์โดยตรง ณ สำนักงานโจทก์ แสดงเจตนาจำเลยว่าจะให้โจทก์ทราบเท่านั้น มิใช่เจตนาใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม แม้เสมียนของโจทก์ทราบข้อความในจดหมายก็เป็นเรื่องที่นอกเหนือเจตนาของจำเลย จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

          เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท นอกจากมาตรา 326 แล้ว  ยังมีบทบัญญัติเพิ่มเติมไว้อีก เช่น

          หมิ่นประมาทผู้ตาย

          มาตรา 327  "ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส  หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2531  จำเลยที่ 1 เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มีข้อความว่า"พรรคไหนเอ่ยที่คนในพรรคพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก" ข้อความดังกล่าวทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าหมายถึงพรรค ป. และ ด. สามีโจทก์ ดังนี้ จำเลยที่ 1 มีเจตนาใส่ความผู้ตายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารอันน่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ตายและบุตรเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้อื่นได้ มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท

          หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

          มาตรา 328  "ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"

          การกระทำที่ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          มาตรา 329  "ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต 
          (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
          (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
          (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
          (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
          ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท"
          มาตรา 331  "คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท"

          การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามมาตรา 329 (1) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20106/2556 จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด โจทก์เคยเป็นประธานทอดกฐิน โจทก์ จำเลย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดและกรรมการของวัดขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัดแยกออกเป็นหลายฝ่าย และกล่าวหาอีกฝ่ายยักยอกเงินของวัดจนมีการฟ้องคดีต่อศาล โจทก์เขียนข้อความกล่าวหาจำเลยว่าเคยบวชพระและมีประวัติเป็นอลัชชียักยอกเงินของวัด ไม่มีความละอายต่อบาป และเขียนป้ายประกาศติดไว้ที่หน้าวัดห้ามจำเลยเข้าบริเวณวัดและจำเลยยักยอกเงินของวัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนโกง เป็นคนไม่ดี การที่จำเลยเขียนหนังสือ และแจกจ่ายหนังสือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดเป็นทำนองตอบโต้โจทก์ เนื่องจากจำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การแสดงข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10034/2555 การที่จำเลยซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม ออกแถลงการณ์เป็นหนังสือแจกจ่ายแก่ประชาชนว่า โจทก์ร่วมปลอมประกาศนียบัตรผ่านการอบรมงานด้านคอมพิวเตอร์ขององค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม และนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ในการสมัครเป็นพนักงานส่วนตำบลที่จังหวัดราชบุรี โดยองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียมไม่เคยฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ให้แก่โจทก์ร่วม และการที่จำเลยประกาศด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงให้ประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แม้ข้อความนั้นจะมีลักษณะน่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่การกระทำของจำเลยมีเหตุให้เชื่อตามผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนที่มีความเห็นเชื่อว่าโจทก์ร่วมทำปลอมประกาศนียบัตร จึงถือได้ว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8974/2555 จำเลยพิพาทสิทธิในที่ดินพิพาทกับ ส. การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยได้รับสิทธิจาก ส. โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ซึ่งมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิที่ดินพิพาทอยู่เช่นเดิม แม้ข้อโต้แย้งในปี 2541 ระหว่างจำเลยกับ ส. จะได้ข้อยุติตามคำแนะนำของพนักงานสอบสวนให้คู่กรณีดำเนินการในทางแพ่ง แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการฟ้องคดีแพ่งก็หาได้ทำให้ข้อโต้แย้งถึงสิทธิเหนือที่ดินพิพาทเดิมระงับลงแต่ประการใด ดังนั้น การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ส. จึงต้องถือว่าโจทก์ยังโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทกับจำเลยเช่นเดียวกับ ส. การที่จำเลยเข้าแจ้งความเป็นหลักฐานอันเป็นการอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์ต่อไป จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนตามกฎหมายเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2554 การที่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการร้องขอจาก ห. ให้ไปช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องบุตรของ ห. ทะเลาะวิวาทกันเอง จึงไปที่บ้านของ ค. พบ ค. และบุตรของ ห. อีกหลายคน บรรดาบุตรของ ห. และจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ ห. จึงปรึกษาหารือพูดคุยกับ ส. เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกเกรงว่า ห. จะถูกโจทก์ร่วมหลอกลวงเอาทรัพย์สินไปหมดจะทำให้จำเลยกับพวกเดือดร้อน ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ถือได้ว่าในฐานะที่จำเลยเป็นลูกบ้านอยู่ในความปกครองของ ส. การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นการปรับทุกข์กับ ส. เพื่อให้ ส. หาทางช่วยแก้ไขปัญหาให้ครอบครัวของ ห. เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12460/2547 เวลาเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่หลายคนแต่งกายนอกเครื่องแบบไปขอค้นบ้านจำเลยเพื่อพบและจับน้องชายของจำเลยในคดีเช็ค ส่วนโจทก์ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ แต่ได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลยด้วยในฐานะที่เป็นบิดาของผู้เสียหายในคดีเช็คที่น้องชายของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้ แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์และพฤติการณ์เกี่ยวกับการทวงหนี้ของโจทก์ที่แต่งเครื่องแบบไปขอค้นบ้านของจำเลยซึ่งเป็นผู้หญิงและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน จนจำเลยเกิดความเกรงกลัวต่อโจทก์จนต้องยอมใช้หนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์และมีสิทธิที่จะร้องเรียนโดยสุจริตได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประพฤติตนไม่เหมาะสม ดังนั้น การที่จำเลยส่งโทรสารไปลงหนังสือพิมพ์โดยมีใจความเป็นการแสดงความเสียใจ น้อยใจของจำเลยและเกรงกลัวจากการกระทำของโจทก์จนต้องชำระหนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ไป เป็นทำนองขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสอดส่องตักเตือนเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นมิตรกับประชาชน จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนเยี่ยงจำเลยที่ต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นพึงกระทำได้ และการที่จำเลยระบุชื่อนามสกุลจริงของโจทก์และจำเลย ตลอดจนที่อยู่ของจำเลยไว้แจ้งชัดในโทรสารด้วยย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยเขียนข้อความในโทรสารนั้นด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565/2544 จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์เบียดบังเอาทรัพย์สินของทางราชการไปขายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นการไม่ชอบทำให้ราชการเสียหายและอาจทำให้จำเลยซึ่งรับราชการในตำแหน่งเดียวกันกับโจทก์และปฏิบัติงานร่วมกันต้องร่วมรับผิดด้วยในการที่ทรัพย์สินของทางราชการขาดหายไป การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์เป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1)

          การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ ตามมาตรา 329 (2) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท


          การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมเพื่อความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามมาตรา 329 (3) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2567 การที่จำเลยพิมพ์ข้อความ “#ท่าน ม.หัวหน้าพรรค ท. #ขอติดตามความคืบหน้ากรณีแต่งตั้งปลัดกระทรวงที่อยู่ระหว่างการถูกสอบ #ขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ออกเมื่อ 27 มีนาคม 2561 #ใครรับผิดชอบเรื่องนี้ผ่านมา 2 ปีแล้วจะปล่อยให้ความไม่ถูกต้องอยู่แบบนี้หรือ #ขอขอบคุณภาพและข่าวจากสำนักข่าวไทยอสมท ท่าน สส. ม. เรื่องนี้ท่านต้องติดตามนะครับว่าสรุปแล้วเป็นอย่างไรเท่าที่ทราบมีการตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงแล้ว กรรมการสรุปแล้วว่ามีความผิดจริงแต่เป็นความผิดเล็กน้อย ขอโทษนะครับถ้าเป็นมาตรฐานความผิดที่ ปปช. ลงดาบมาตลอดสำหรับการใช้รถหลวง ใช้เวลาหลวงไปใช้ในกิจการส่วนตัว ปปช. ไม่ไล่ออกก็ให้ออกครับไม่ใช่ความผิดเล็กน้อยแบบนี้ คงต้องอาศัยท่าน สส. ม. สส. ขวัญใจประชาชนติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ด้วยครับ”... ในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เห็นว่าตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นตำแหน่งราชการสูงสุดของข้าราชการประจำกระทรวงอุตสาหกรรม จึงนับว่าเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่ในสายตาของสาธารณะการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความรู้ความสามารถ ตลอดจนจริยธรรมและคุณธรรม และการติดตามผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวโดยสุจริตย่อมเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้ การที่จำเลยติดตามผลการสอบสวนข้อเท็จจริงภายในกระทรวงอุตสาหกรรม หรือมีหนังสือร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินหรือคณะกรรมการ ปปช. เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการของปลัดกระทรวง พิมพ์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในเว็บไซต์เฟซบุ๊กย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการแจ้งให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายใช้ดุลพินิจตรวจสอบบุคคลสาธารณะ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยนำเสนอข้อมูลในเว็บไซต์เฟซบุ๊กโดยไม่สุจริตอย่างไร ต้องการสร้างความเสียหายหรือประสงค์ให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เพราะเหตุใดตามหน้าที่ภาระการพิสูจน์ของโจทก์ตามกฎหมายในคดีอาญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2559  การเปิดบ่อนที่มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มิใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ประชาชนโดยทั่วไปประสงค์จะทราบเท่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า การพนันเป็นการมอมเมาประชาชนให้หลงในอบายมุข ก่อให้เกิดการกระทำความผิดอื่นตามมาเป็นลูกโซ่ มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลปราบปรามอาชญากรรมกลับมากระทำความผิดเสียเอง นอกจากจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อวงการราชการตำรวจแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการปราบปรามอาชญากรรมอีกด้วย ที่จำเลยทั้งสองสัมภาษณ์ พล.ต.อ. ส. ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดาซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ก็เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้จะมีข้อความหมิ่นประมาท การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558 ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8511/2554 จำเลยลงพิมพ์ข้อความโดยอาศัยข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ พ.2/2543 ของศาลล้มละลายกลาง และคดีหมายเลขดำที่ 2450/2546 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อันเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง ทั้งข้อมูลดังกล่าวยังเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นศาลที่ดำเนินไปโดยเปิดเผย แม้ในการลงพิมพ์ข้อความของจำเลยจะเป็นการกล่าวสรุปโดยมิได้อ้างว่าเป็นเรื่องของการกล่าวอ้างของคู่ความฝ่ายตรงข้ามกับโจทก์ในชั้นพิจารณาของศาล แต่ก็มิได้เกินเลยไปจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ และความผิดปกติต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นเรื่องที่วิญญูชนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ แม้จะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าความจริงเป็นเช่นใดแน่ก็ตาม ประกอบกับเนื้อหาในการลงพิมพ์ข้อความของจำเลยโดยรวมมิได้กล่าวถึงการกระทำของโจทก์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการกล่าวในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ความล้มเหลวของบรรษัทภิบาลในเอเชียหลังวิกฤตการณ์ด้านการเงินปี 2540 โดยกล่าวถึงการแก้ปัญหาของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซียและประเทศสิงคโปร์ด้วย ส่วนที่มีการกล่าวถึงบริษัท อ. เนื่องจากเป็นบริษัทได้รับผลกระทบที่เป็นผลร้ายมากที่สุดและมีข้อพิพาทรุนแรงที่สุดในเรื่องล้มละลาย ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์การเงินจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ อันเป็นเรื่องประชาชนควรรู้ จึงไม่พอถือว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาร้าย หากแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4563/2544 โจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว จำเลยได้พูดผ่านเครื่องกระจายเสียงว่า โจทก์เป็นคนขี้โกงเอาที่สาธารณประโยชน์เป็นของตนเอง เพื่อให้ประชาชนต่อต้านการกระทำที่จำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการที่โจทก์เสนอตัวต่อประชาชนให้เลือกตน เป็นการแสดงว่าตนเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริต ไว้วางใจให้เข้าไปมีส่วนร่วมบริหารกิจการแทนประชาชนได้ และการเรียกร้องเอาที่สาธารณประโยชน์คืนก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนและจำเลยเองด้วย จำเลยจึงมีความชอบธรรมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตลอดจนแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งการกระทำดังกล่าวอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้ขณะจำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าว โจทก์ยังไม่ถูกดำเนินคดีอาญา หากจำเลยเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งใส่ร้ายโจทก์และมีมูลอันควรเชื่อ ก็เป็นการกระทำโดยสุจริตแล้ว จำเลยไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6310/2539 จำเลยนำแถบบันทึกเสียงที่มีผู้สนทนากันกล่าวถึงผู้เสียหายทั้งสองมีพฤติกรรมในทางชู้สาวต่อกันที่โรงเรียนที่ผู้เสียหายทั้งสองสอนอยู่ไปเปิดให้นาย ส.ม.หัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอกับพวกฟังที่บ้านของนาย ส.ม.โดยเกิดจากการแนะนำของนาย ส.กับนายส.ม. และผู้ร่วมฟังแถบบันทึกเสียงก็เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาทั้งสิ้น ทั้งไม่ใช่เปิดในที่สาธารณสถานเป็นทำนองปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะหากผู้เสียหายทั้งสองกระทำการในทางชู้สาวจริง นอกจากจะผิดต่อศีลธรรมแล้วยังผิดในทางวินัยข้าราชการอีกด้วย เนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองต่างรับราชการเป็นครูและต่างมีสามีและภรรยาแล้ว ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงไม่มีเจตนาที่จะใส่ความผู้เสียหายทั้งสองให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือเสียหาย แต่เป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำจำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 62/2535 ก่อนเกิดเหตุได้มีผู้บริจาคเงินให้โรงเรียนซึ่งผู้เสียหายเป็นครูใหญ่จำนวนหนึ่ง ผู้เสียหายลงจำนวนเงินไว้ในบัญชีรับบริจาคน้อยกว่าตามที่รับบริจาคมาทั้งไม่มีบัญชีแสดงว่าได้ใช้จ่ายเป็นค่าอะไรจำนวนเท่าใด ไม่เคยทำบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายของโรงเรียนให้คณะกรรมการศึกษาของโรงเรียนทราบเหมือนครูใหญ่คนก่อน ๆ การกระทำของผู้เสียหายดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยซึ่งเป็นกรรมการศึกษาของโรงเรียนเข้าใจไปได้ว่าผู้เสียหายไม่สุจริต การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อบุคคลที่สามในทำนองที่ว่าผู้เสียหายทุจริตว่าเบียดบังเอาเงินของโรงเรียนไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ไม่ทำการพัฒนาโรงเรียน จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมผู้เสียหายด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของจำเลยในฐานะกรรมการศึกษาของโรงเรียนย่อมกระทำได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1861/2561  ป.อ. มาตรา 329 เป็นบทบัญญัติยกเว้นการกระทำที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อมิให้ผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตต้องตกเป็นผู้กระทำผิด ทั้งนี้เพื่อให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่กระทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติ และเพื่อรักษาประโยชน์ของบุคคลหรือสาธารณะ ขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์จะกระทำได้มากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากองค์ประกอบความผิดแล้ว ยังต้องพิเคราะห์ความเกี่ยวข้องของผู้กระทำ ผู้เสียหาย สถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนมูลเหตุ และพฤติการณ์แวดล้อมอันเป็นที่มาแห่งการกระทำด้วยแม้ถ้อยคำและข้อความที่จำเลยที่ 2 กล่าวโจมตีโจทก์ แต่สถานะของโจทก์ที่เป็นนักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้นำประเทศ ย่อมเป็นที่คาดหวังของสังคมทุกระดับชั้นทั้งในและต่างประเทศว่าต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรม มีพฤติกรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกด้านของการกระทำทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะในมิติของกฎหมายหรือศีลธรรม ตลอดจนการดำรงตนในสังคมในทุกกรณีบุคคลสาธารณะในฐานะนักการเมืองเช่นโจทก์ ผู้มีส่วนได้เสียย่อมใช้สิทธิติชมได้โดยสุจริต และต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวาง ตามพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุดังวินิจฉัยเชื่อมโยงถึงขณะเกิดเหตุที่จำเลยที่ 2 กล่าวถ้อยคำในการแถลงข่าว ทั้งเป็นการแถลงต่อสื่อมวลชนโดยเปิดเผยอันแสดงถึงเจตจำนงที่ต้องการให้สาธารณชนรับรู้ จึงเข้าเกณฑ์ข้อยกเว้นว่าเป็นการกระทำไปโดยสุจริต เพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นจำเลยที่ 2 ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ในนามของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 329 (3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ส่วนถ้อยคำเปรียบเปรยหรือเสียดสีโจทก์เป็นผีปอบนั้น แม้เป็นการไม่สมควรกล่าวถึงโจทก์ แต่ก็เป็นถ้อยคำเสียดสีในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป ถ้อยคำส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
          
          การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม ตามมาตรา 329 (4) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3654/2543 ข้อความที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยคำฟ้องของจำเลยที่ 1ที่จำเลยที่ 2 ได้นำไปพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. เป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลทั้งข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ตามที่ได้ความจากคำฟ้องของ โจทก์ในคดีนี้กับที่จำเลยที่ 2 นำไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. ก็ปรากฏว่าล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะหมิ่นประมาทโจทก์ หากแต่เพื่อประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 1 ที่ฟ้องโจทก์เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และข้อความที่จำเลยที่ 2 นำไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. นอกจากข้อเท็จจริงจะฟังได้ ตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ว่าเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลดังกล่าวแล้ว ยังได้ความอีกว่าการกระทำของ จำเลยที่ 2 เป็นการเผยแพร่คำฟ้องไม่มีข้อความอื่นนอกเหนืออันจะ ส่อแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 นำข้อความดังกล่าวลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. จึงเป็น การรายงานข่าวเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องคดีอาญาต่อ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลโดยสุจริต จำเลยที่ 2 จึงได้รับ ความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(4) ไม่เป็นความผิด ฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

           การกระทำที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรับโทษ

           มาตรา 330  "ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14401/2555  ในความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้ตาม ป.อ. มาตรา 330 วรรคสอง จะห้ามไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ว่า ข้อความที่หมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนก็ตาม คดีนี้โจทก์เป็นภริยาที่ไม่จดทะเบียนสมรสของ ป. กำนัน บุตรชายโจทก์เปิดร้านเกมได้รับอนุญาตตามกฎหมายภายในบริเวณบ้านโจทก์ จำเลยทำหนังสือถึงสารวัตรใหญ่หัวหน้าสถานีตำรวจว่า มีเด็กนักเรียนมั่วสุมติดตู้เกมที่ร้านเกมซึ่งตั้งอยู่หน้าบ้านเมียน้อยกำนัน ข้อความที่จำเลยร้องเรียนนั้น เป็นการส่งหนังสือร้องเรียนไปถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อขอให้ดูแลกวดขันร้านเกมเพราะจำเลยเห็นว่ามีเด็กนักเรียนเข้าไปมั่วสุมติดเกมไม่สนใจการเรียน ไม่สนใจงาน อันเป็นการแสดงข้อเท็จจริงและความเห็นโดยสุจริตด้วยความชอบธรรมป้องกันตนและส่วนได้เสียของตน ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยมีสิทธิทำหนังสือดังกล่าวได้ ข้อความในหนังสือร้องเรียนของจำเลยต้องพิจารณารวมกันทั้งฉบับ จะพิจารณาแยกออกเป็นส่วน ๆ เพื่อพิจารณาว่าส่วนใดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยแยกจากกันหาได้ไม่ เว้นแต่ข้อความเห็นได้โดยชัดเจนว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จำเลยร้องเรียนหรือเห็นเจตนาของจำเลยโดยชัดแจ้งว่า มีเจตนาจะใส่ความโจทก์เป็นการเฉพาะ และเมื่อพิจารณาการกระทำของจำเลยแล้วจำเลยส่งหนังสือร้องเรียนโดยนำหนังสือร้องเรียนใส่ในซองจดหมายซึ่งระบุชื่อและที่อยู่ผู้รับสารวัตรใหญ่อันเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจฯ อันเป็นตำแหน่งที่มีผู้รับเอกสารของจำเลยโดยแน่ชัดเพียงคนเดียวมิได้มีเจตนาให้ข้อความดังกล่าวแพร่หลายออกไป ส่วนในหนังสือร้องเรียนที่โจทก์อ้างว่า มีข้อความที่หมิ่นประมาทว่า ตู้เกมตั้งอยู่หน้าบ้านเมียน้อยกำนัน แต่ในบรรทัดถัดมาของหนังสือร้องเรียน มีข้อความว่า "พวกพ่อแม่เด็กนักเรียน เยาวชนได้แต่มองดูแล้วก็พูดอะไรไม่ได้ เพราะตู้เกมตั้งอยู่บ้านกำนันเลยก็ว่าได้ พ่อแม่ของเด็กไม่มีที่พึ่ง มีหลายคนไปหาผม บอกให้ผมทำหนังสือมาหาท่าน..." อันเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ต้องการให้เจ้าพนักงานตำรวจกวดขันดูแลจับกุม มิให้เด็กนักเรียนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศชาติไปถูกมอมเมาและมั่วสุมทำสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและครอบครัวเท่านั้น นอกจากนี้ในหนังสือของจำเลยยังให้ข้อมูลแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่า สาเหตุที่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองมิได้กวดขันดูแล เป็นเพราะสาเหตุใด ผู้ปกครองของเด็กไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานในท้องที่ได้แล้ว จึงได้ทำหนังสือมาแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้มีหน้าที่รับผิดชอบให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แม้ข้อมูลบางอย่างจะเป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์ แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเลยมีความชอบธรรมที่จะกระทำได้ เพราะเป็นเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวพันกับเรื่องที่จำเลยร้องเรียน การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

          ความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้

          มาตรา 333  "ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
          ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย"
 
          เมื่อเป็นความผิดที่ยอมความได้ ดังนั้น ความผิดฐานหมิ่นประมาทจึงต้องดำเนินคดีภายในอายุความร้องทุกข์ตามมาตรา 96 แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย กล่าวคือ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3870/2562 โจทก์ทราบว่า จำเลยทั้งห้าร้องเรียนโจทก์ว่าทุจริตต่อหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ประกอบกับได้ความจากคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงว่า เคยเรียกโจทก์และจำเลยทั้งห้ามาพูดคุยไกล่เกลี่ยในปี 2557 เนื่องจากเห็นว่าโจทก์และจำเลยทั้งห้าเป็นเพื่อนร่วมงานกัน จึงเชื่อว่าโจทก์ทราบมูลความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดว่าเป็นจำเลยทั้งห้าตั้งแต่วันที่มีการร้องเรียนในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม ป.อ. มาตรา 326 และ 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่โจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด โดยโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากมีการร้องเรียนแล้วกว่า 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

          บันทึกการไกล่เกลี่ยยอมความที่มีเงื่อนไขให้ผู้กระทำผิดดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนภายในเวลากำหนด หากไม่ดำเนินการผู้เสียหายจะนำคดีหมิ่นประมาทนี้มาดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดภายในอายุความ แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายไม่ได้มีเจตนาจะสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิดในทันที แต่จะมีผลเป็นการยอมความต่อเมื่อผู้กระทำผิดดำเนินการครบถ้วนตามเงื่อนไขภายในกำหนด เมื่อผู้กระทำผิดยังไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ดังกล่าว กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความตามกฎหมาย อันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2565 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 บัญญัติว่า "สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้...(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย...." และตาม ป.อ. มาตรา 333 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติอยู่ในหมวดความผิดฐานหมิ่นประมาทว่า "ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้..." ดังนั้น ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งบัญญัติอยู่ในหมวดความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงเป็นความผิดต่อส่วนตัวซึ่งยอมความกันได้ เมื่อปรากฏว่า ข้อเท็จจริงตามบันทึกการไกล่เกลี่ยยอมความ ข้อ 1 กำหนดว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยถอนค้ำประกัน 1,500,000 บาท โดยให้เปลี่ยนบุคคลอื่นค้ำประกันแทนภายในเดือนเมษายน 2560 และข้อ 4 กำหนดว่า หากจำเลยไม่หาคนเปลี่ยนค้ำประกันได้ภายในเดือนเมษายน 2560 โจทก์จะนำคดีหมิ่นประมาทนี้มาดำเนินคดีกับจำเลยภายในอายุความ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้มีเจตนาจะสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที แต่กลับมีเงื่อนไขกำหนดให้จำเลยเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้จากโจทก์เป็นบุคคลอื่นเป็นผู้ค้ำประกันแทนให้แล้วเสร็จโดยมีกำหนดเวลาให้จำเลยดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2560 หากจำเลยไม่ดำเนินการโจทก์จะดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทแก่จำเลยภายในอายุความ เมื่อปรากฎว่าจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้จำเลยยังมิได้เปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้จากโจทก์เป็น ร. หรือบุคคลอื่นแทนโจทก์ การที่จำเลยดำเนินการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยต่อธนาคาร ก. จากโจทก์เป็น ร. ก็เป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งที่จำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบันทึกการไกล่เกลี่ยยอมความ แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้เป็นบุคคลอื่นแทนโจทก์เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ในระหว่างโจทก์ดังกล่าว กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความตามกฎหมาย อันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

          การพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท จะต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบหรือขัดต่อกฎหมาย เช่น การแอบบันทึกเสียงการสนทนาโดยอีกฝ่ายไม่ยินยอมและข้อความจากการถอดเทปดังกล่าว เป็นต้น พยานหลักฐานดังกล่าวย่อมไม่อาจรับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และ 226/1
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8575/2563  การกระทำของ น. ที่แอบนำเอาเครื่องบันทึกเสียงมาทำการบันทึกการสนทนาระหว่างจำเลยทั้งสองกับคู่สนทนา โดยจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าขณะที่ตนทำการสนทนาอยู่นั้น การสนทนาได้ถูกบันทึกลงไปในเครื่องบันทึกเสียงเรียบร้อยแล้ว ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของจำเลยทั้งสองอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ซึ่งต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดาจึงนำไปใช้บังคับแก่กรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ได้พยานหลักฐานนั้นมาจากการกระทำโดยมิชอบด้วย ส่วนจะมีเหตุยกเว้นให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบนั้นได้หรือไม่เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/1 อันเป็นข้อยกเว้นให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาด้วยวิธีการอันเกิดจากการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหมิ่นประมาท อันเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน และเป็นความผิดอันยอมความได้ พฤติการณ์ของความผิดในคดีจึงมิใช่เรื่องร้ายแรง ที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนโดยส่วนรวม ลักษณะแห่งคดียังอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งสองสามารถหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันสุจริตชอบด้วยกฎหมายมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองได้ การอนุญาตให้รับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ เท่ากับอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมในส่วนที่ตนนำสืบบกพร่องไว้ เพื่อจะลงโทษจำเลยทั้งสองแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลและกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป ประกอบกับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้แสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ มิใช่ผู้ที่จะต้องได้รับการลงโทษในทางอาญา หากศาลปฏิเสธไม่รับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ดังนี้ การรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวกลับจะเป็นผลเสียมากกว่า บันทึกเสียงการสนทนาและข้อความจากการถอดเทปจึงไม่อาจรับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และ 226/1




ความผิดฐานฉ้อโกง


          ประมวลกฎหมายอาญา 
          มาตรา 341  "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          ความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำผิดจะต้องมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งชัด และต้องมีเจตนามาตั้งแต่ต้น และโดยผลของการหลอกลวงนั้น ผู้กระทำผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ  

          ถ้าหากมีเจตนาทุจริตและทำการหลอกลวงในภายหลังจากที่ได้ทรัพย์สินไปแล้ว ก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอก

          ความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ผู้กระทำผิด จะต้อง
          1. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
          2. โดยการหลอกลวงดังว่านั้น 
               (1) ผู้กระทำผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
               (2) ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
          3. กระทำโดยเจตนา
          4. กระทำโดยทุจริต (มีเจตนาพิเศษ)

         
          
          1. กรณีที่ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          
          ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีเนื้อที่ โฉนดที่ดินและที่ตั้งตรงกับที่ดินพิพาท ทั้งรูปแผนที่ก็ตรงตามผังแสดงแนวเขตที่ดินของที่ดินทุกแปลง เพียงแต่ตอนนำชี้แนวเขตที่ดินเพียงคร่าวๆ ก่อนที่จะตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกับตอนที่รังวัดแนวเขตชัดเจนแล้วปรากฏว่า ทิศทางและแนวเขตแตกต่างไปจากที่เจรจาตกลงกันตอนแรก การที่จำเลยชี้แนวเขตที่ดินในตอนแรกโดยที่ยังไม่มีการรังวัด เป็นการกะประมาณเท่านั้น การกระทำของจำเลยยังไม่พอที่จะฟังว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2558  จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท อ. ประกอบกิจการก่อสร้างบ้านพร้อมจัดสรรที่ดินขายให้แก่ลูกค้า ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีเนื้อที่ โฉนดที่ดินและที่ตั้งตรงกับที่ดินพิพาท ทั้งรูปแผนที่ก็ตรงตามผังแสดงแนวเขตที่ดินของที่ดินทุกแปลง เพียงแต่ตอนนำชี้ก่อนที่จะตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขาย ได้ชี้แนวเขตที่ดินเพียงคร่าว ๆ ครั้นรังวัดแนวเขตชัดเจนแล้วปรากฏว่า ทิศทางและแนวเขตแตกต่างไปจากที่เจรจาตกลงกันตอนแรก ที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่า การก่อสร้างกำแพงตามแนวเขตดังกล่าว ทำให้บดบังทัศนียภาพของท้องน้ำนั้น เมื่อดูจากภาพถ่ายก็ยังสามารถมองเห็นทัศนียภาพของท้องน้ำได้อย่างชัดเจน พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านรวมราคากว่า 7,000,000 บาท แต่โจทก์ร่วมชำระเงินไปเพียง 400,000 บาท หลังจากรังวัดแล้ว เนื้อที่ดินทั้งหมดก็ยังเป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขาย การที่จำเลยชี้แนวเขตที่ดินในตอนแรกโดยที่ยังไม่มีการรังวัด เป็นการกะประมาณเท่านั้น การกระทำของจำเลยยังไม่พอที่จะฟังว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

          ขายบ้านและที่ดินในโครงการหมู่บ้าน โดยปกปิดข้อความจริงว่าโครงการหมู่บ้านไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรตามกฎหมาย กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2283/2565 โจทก์ทั้งสิบสองซื้อบ้านและที่ดิน โครงการหมู่บ้าน ศ. 1 โดยจำเลยทั้งสองและ จ. ปกปิดข้อความจริงว่า โครงการหมู่บ้าน ศ. 1 ไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรตามกฎหมายและ จ. แจ้งว่าโครงการจัดให้มีลานจอดรถอันเป็นสาธารณูปโภค โจทก์ทั้งสิบสองชำระเงินครบถ้วนและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านแล้ว ดังนั้น เงินค่าซื้อที่ดินและบ้านที่จำเลยทั้งสองได้รับจากโจทก์ทั้งสิบสอง จึงเกิดจากการซื้อขายที่ดินและบ้าน มิใช่เกิดจากการปกปิดข้อความจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดิน ทั้งการที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ขออนุญาตจากทางราชการให้ดำเนินการจัดสรรที่ดิน ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะฉ้อโกงโจทก์ทั้งสิบสอง และที่จำเลยทั้งสองไปขออนุญาตก่อสร้างอาคารบนที่ดินที่ จ. จัดให้เป็นลานจอดรถโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสิบสองทราบนั้น มิใช่การปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งเพราะจำเลยทั้งสองไม่จำเป็นต้องแจ้งให้โจทก์ทั้งสิบสองทราบ ทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ทรัพย์สินไปจากโจทก์ทั้งสิบสองเพราะที่ดินเป็นลานจอดรถยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. ส่วนการที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารเจ็ดชั้นบนที่ดินสาธารณูปโภคที่เป็นลานจอดรถ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามคำมั่นของ จ. ที่ให้ไว้กับโจทก์ทั้งสิบสองเท่านั้น กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

          จำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น การที่บริษัทเงินทุน จ. ยกเลิกการเช่าซื้อในเวลาต่อมาเนื่องจากจำเลยไม่นำรถไปตรวจสภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายส่งมอบรถกระบะแล้ว มิได้เกิดจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1429/2555  จำเลยกับพวกติดต่อขอซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายในราคา 430,000 บาท ชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญา 150,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุน จ. ในวันดังกล่าวจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ไม่ได้กรอกข้อความไว้พร้อมมอบสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการและสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่ผู้เสียหาย แล้วพนักงานของบริษัทเงินทุน จ. นำสัญญาเช่าซื้อที่ยังไม่ได้กรอกรายละเอียดให้จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้เช่าซื้อไว้ จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น การที่บริษัทเงินทุน จ. ยกเลิกการเช่าซื้อในเวลาต่อมาเนื่องจากจำเลยไม่นำรถไปตรวจสภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายส่งมอบรถกระบะแล้ว มิได้เกิดจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การที่จำเลยมิได้ชำระราคาเช่าซื้อส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น

          สัญญาซื้อขายแร่เหล็กระหว่างจำเลยผู้ขายกับโจทก์ผู้ซื้อ ไม่ได้ระบุว่าแร่เหล็กที่จะขายให้โจทก์นั้นจะต้องนำมาจากที่ใด โดยกำหนดแต่เพียงคุณภาพ ขนาด ราคา การขนส่ง การตรวจสอบ ตลอดจนการชำระราคาเท่านั้น หากจำเลยไม่สามารถหาแร่เหล็กมาส่งให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ก็เป็นการผิดสัญญาเท่านั้น หาใช่เป็นการกระทำโดยทุจริตปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11089/2557  สัญญาซื้อขายแร่เหล็กระหว่างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจผู้ขายกับโจทก์ผู้ซื้อ ไม่ได้ระบุว่าแร่เหล็กที่จะขายให้โจทก์นั้นจะต้องนำมาจากที่ใด โดยกำหนดแต่เพียงคุณภาพ ขนาด ราคา การขนส่ง การตรวจสอบ ตลอดจนการชำระราคาเท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.เหมืองแร่ ที่ให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ตลอดจนภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินแสดงต่อโจทก์ แต่ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 นำแร่เหล็กไปขาย เพียงแต่ให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนไปติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ในกิจการที่ระบุไว้เท่านั้น โจทก์ก็มีแร่เหล็กในที่ดินของโจทก์แต่ไม่มีประทานบัตรจึงนำออกมาไม่ได้ ต้องอาศัยประทานบัตรของบุคคลอื่นโดยต้องเสียค่าตอบแทน แสดงว่าโจทก์เองก็ทราบดีว่าการที่จำเลยที่ 1 นำประทานบัตรและหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาแสดง ก็เพื่อยืนยันว่าจำเลยที่ 1 สามารถขนแร่เหล็กของจำเลยที่ 1 มาขายให้แก่โจทก์ได้ โดยอาศัยประทานบัตรดังกล่าว เช่นเดียวกับโจทก์ที่ต้องขนแร่เหล็กในส่วนของตนไปขายให้แก่ลูกค้าที่ประเทศจีนก็ใช้วิธีการเดียวกัน ดังนี้ หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหาแร่เหล็กมาส่งให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ก็เป็นการผิดสัญญาเท่านั้น หาใช่เป็นการกระทำโดยทุจริตปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่

          ถ้าการหลอกลวงนั้นถึงแม้จะสำเร็จ ก็ไม่มีผลให้ผู้ถูกหลอกลวงต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ไปแก่ผู้หลอกลวงแต่อย่างใด แต่อาจจะไม่ได้ผลประโยชน์หรือค่าจ้างจากผู้หลอกลวง เช่นนี้เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2557  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง ทำสัญญานายหน้ากับโจทก์กับพวกเพื่อให้โจทก์กับพวกทำหน้าที่ชี้ช่องติดต่อหาผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาโจทก์กับพวกติดต่อจำเลยที่ 2 ว่าจะซื้อที่ดิน แต่ยังไม่มีการนัดจดทะเบียนโอน จำเลยทั้งสองร่วมกันไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 3 แปลง และจำเลยที่ 2 ให้บริษัท จ. ซึ่งมี ธ. เป็นตัวแทนเป็นผู้ซื้อที่ดิน โจทก์กับพวกมีสิทธิได้รับค่านายหน้าตามสัญญาเป็นเงิน 5,560,000 บาท แต่จ่ายค่านายหน้าให้โจทก์เพียง 250,000 บาท การให้บริษัท จ. โดย ธ. เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลง เพื่อให้ตนได้รับค่านายหน้าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นการแสดงตนเป็นคนอื่น และการติดต่อทำสัญญากับโจทก์และพวกให้มีการซื้อขายที่ดินของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งเงินค่านายหน้าของโจทก์ ดังนี้ หากจะฟังว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องจริง การหลอกลวงเช่นนั้นก็มิได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวงแต่อย่างใด เงินที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ไปนั้นเป็นเพียงเงินค่านายหน้าซึ่งโจทก์ถือว่าตนมีสิทธิจะได้ และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้เท่านั้น เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ทั้งข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแสดงตนเป็นบุคคลอื่นหรือฉ้อโกงประชาชนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามฟ้องโจทก์และไม่มีมูลเป็นความผิด

          ถ้าพฤติการณ์ของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กล่าวเท็จต่อโจทก์ด้วยเจตนาทุจริตมาแต่ต้นก็ไม่ผิดฉ้อโกง แต่อาจเป็นเรื่องการผิดนัดผิดสัญญาในทางแพ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1667/2506 การที่จำเลยนำรถยนต์ของจำเลยซึ่งศาลได้มีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้โอนขายหรือจำหน่ายในคดีหนึ่งอยู่แล้วไปทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์โดยรับรองกับโจทก์ว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยผู้เดียว โดยไม่นำไปขายหรือจำนำหรือทำสัญญาใดผูกพันรถยนต์ดังกล่าวเลย แล้วจำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์นั้น แม้ศาลจะได้มีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยโอนขายหรือจำหน่ายรถยนต์ของจำเลย คำสั่งนั้นก็เป็นเพียงคำสั่งห้ามชั่วคราว รถยนต์ของจำเลยอยู่ในวิสัยที่จำเลยอาจโอนขายให้โจทก์ได้ตามสัญญา เพราะคำสั่งห้ามชั่วคราวนั้นย่อมยกเลิกไปในตัวเมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาคดีนั้นแล้ว (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 260 (2)) พฤติการณ์ของจำเลยจะฟังว่าจำเลยได้กล่าวเท็จต่อโจทก์ด้วยเจตนาทุจริตมาแต่ต้นหาได้ไม่ เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้โจทก์ตามสัญญา ก็เป็นเรื่องการผิดนัดผิดสัญญาในทางแพ่งการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง 

          จำเลยได้รับประโยชน์เพียงไม่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ผู้ถูกหลอกลวง จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10577/2557 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันนำโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินมาหลอกลวงโจทก์ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาทั้งสองและคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงว่าขอนำที่ดินโฉนดเลขที่ 67633 และ 70225 ตีใช้หนี้โจทก์ โจทก์หลงเชื่อหนังสือรับรองราคาประเมินว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 70225 มีราคาประเมิน 1,302,000 บาท จึงรับโอนที่ดินและถอนคำร้องทุกข์และถอนฟ้องทั้งสามคดี ความจริงที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินเพียง 117,180 บาท ไม่ได้มีราคาประเมินตามหนังสือรับรองดังกล่าว
          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับประโยชน์เพียงไม่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ด้วย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ การถอนฟ้องคดีแพ่งนั้นโจทก์สามารถฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ การที่โจทก์ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาทั้งสองคดีและถอนฟ้องคดีแพ่งก็ไม่ใช่การถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ เพราะคำฟ้องคดีแพ่งและคำร้องทุกข์ไม่ใช่เอกสารสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

          จำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น การที่บริษัทเงินทุนยกเลิกการเช่าซื้อในเวลาต่อมาเนื่องจากจำเลยไม่นำรถไปตรวจสภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายส่งมอบรถกระบะแล้ว มิได้เกิดจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การที่จำเลยมิได้ชำระราคาเช่าซื้อส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1429/2555   จำเลยกับพวกติดต่อขอซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายในราคา 430,000 บาท ชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญา 150,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุน จ. ในวันดังกล่าวจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ไม่ได้กรอกข้อความไว้พร้อมมอบสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการและสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่ผู้เสียหาย แล้วพนักงานของบริษัทเงินทุน จ. นำสัญญาเช่าซื้อที่ยังไม่ได้กรอกรายละเอียดให้จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้เช่าซื้อไว้ จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น การที่บริษัทเงินทุน จ. ยกเลิกการเช่าซื้อในเวลาต่อมาเนื่องจากจำเลยไม่นำรถไปตรวจสภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายส่งมอบรถกระบะแล้ว มิได้เกิดจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การที่จำเลยมิได้ชำระราคาเช่าซื้อส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น

          เจ้าหนี้เพียงแค่ทำผิดคำรับรองที่ให้ไว้ ไม่เข้าลักษณะฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2504 ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยและผ่อนชำระต้นเงินกู้ให้แก่เจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้รับรองว่าจะสลักหลังสัญญากู้ให้ในภายหลัง แต่แล้วไม่สลักหลังให้ ถือได้เพียงว่ากระทำผิดคำรับรองที่ให้ไว้ ไม่เข้าลักษณะฉ้อโกง 

          ถ้าเป็นเรื่องที่จำเลยผิดคำมั่นสัญญาที่ได้บอกแก่ผู้เสียหายไว้เท่านั้น การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 707/2516 ความผิดฐานฉ้อโกงว่าความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 นั้น ต้องมีการเอาความเท็จมากล่าวหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง แต่ความปรากฏว่าขณะจำเลยพูดเอาเงินจากผู้เสียหายไปนั้น จำเลยได้บอกผู้เสียหายว่าเพื่อนำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจ การที่จำเลยยืมเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจจึงเป็นเรื่องที่จำเลยรับจะไปทำกิจการอย่างหนึ่งในการใช้เงินที่ยืมไปนั้นเพื่อกิจการของจำเลยเองในโอกาสข้างหน้า จึงเป็นเรื่องที่จำเลยให้คำมั่นสัญญาแก่ผู้เสียหายถึงผลงานที่จำเลยจะไปกระทำ จำเลยมิได้เอาความเท็จมากล่าวหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งมีอยู่แล้วในขณะนั้นแก่ผู้เสียหาย เมื่อจำเลยไม่เอาเงินที่ยืมไปนั้นไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยผิดคำมั่นสัญญาที่ได้บอกแก่ผู้เสียหายไว้เท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

          2. กรณีที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

          การปลอมใบถอนเงินนำไปหลอกลวงเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว แม้จะเป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ธนาคารทำพิธีการทางบัญชีของธนาคารหักจากบัญชีของผู้เสียหายก็ตาม แต่เป็นเพราะจำเลยนำเอกสารปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารหลงเชื่อ เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคาร จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินผู้เสียหาย แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9663/2554  ผู้เสียหายไม่ได้มอบหมายให้จำเลยเบิกเงิน 490,000 บาท จากบัญชีของผู้เสียหายที่เปิดไว้ที่ธนาคาร แต่เป็นเจตนาของจำเลยที่ต้องการได้เงินโดยมิชอบและหาวิธีการโดยการปลอมใบถอนเงินนำไปหลอกลวงเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ดังนั้น เงินที่จำเลยได้มาตามฟ้อง แม้จะเป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ธนาคารทำพิธีการทางบัญชีของธนาคารหักจากบัญชีของผู้เสียหายก็ตาม แต่เป็นเพราะจำเลยนำเอกสารปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารหลงเชื่อ เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคาร มิใช่เงินของผู้เสียหาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินผู้เสียหาย แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร

          หลอกลวงให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลที่สาม อันเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงให้ทำเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 341 เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2566 โจทก์ร่วมหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงจึงไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แม้ผู้รับโอนจะไม่ใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้หลอกลวง แต่การที่ ฐ. ได้ไปซึ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ร่วม จึงเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงให้ทำเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ใช่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก ฐ. จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของโจทก์ร่วมให้แก่โจทก์ร่วม หากจำเลยที่ 1 คืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เป็นของโจทก์ร่วมไม่ได้ จำเลยที่ 1 จะต้องใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์ร่วม

          ขายที่ดินโดยหลอกลวงว่ามีอาคารอาพาร์ตเม้นต์ตั้งอยู่ ซึ่งเป็นความเท็จ ผิดฐานฉัอโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893 - 4895/2565 โจทก์ร่วมทั้งสองตกลงซื้อที่ดินพิพาทเพราะหลงเชื่อคำหลอกลวงว่า ที่ดินพิพาทมีอาคารอะพาร์ตเมนต์ตั้งอยู่ มิใช่เพราะหลงเชื่อว่าจะมีการซื้อคืนในราคา 17,000,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำพวกของตนมาแอบอ้างแสดงตนเป็น บ. ผู้จะซื้อคืน ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่การหลอกลวงขายที่ดินพิพาทอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม) เท่านั้น หาเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นตามมาตรา 342 (1) (เดิม) ประกอบมาตรา 341 (เดิม)

          ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2558  ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง 
          โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตใช้อุบายหลอกลวงให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 30277 และ 30301 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่จำเลยอ้างว่าจะนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไปดำเนินการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกและโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกลับนำที่ดินทั้งสองแปลงไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ค. ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติทางการสมรสกับจำเลย ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงที่ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ได้

          จำเลยหลอกขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหาย ว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21183/2556  การที่จำเลยแอบอ้างขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 15 โดยอ้างว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 188 และ 341

          ผู้เสียหายจะต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 340/2506 การที่จำเลยกล่าวข้อความเท็จหลอกลวงโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้ใกล้ชิดกับพนักงานอัยการและผู้พิพากษาเรียกร้องเอาเงินโจทก์เพื่อจะนำไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาเพื่อให้ช่วยเหลือบุตรของโจทก์หลุดพ้นคดีอาญาโจทก์หลงเชื่อว่าเป็นความจริงได้มอบเงินให้จำเลยไปนั้น การกระทำของโจทก์เป็นการร่วมกับจำเลยในการนำสินบนไปให้เจ้าพนักงานอันอาจถือได้แล้วว่าโจทก์เป็นผู้ใช้ให้จำเลยกระทำความผิด
          โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องร้องได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5612/2556  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341, 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายนำเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และพวกเล่นการพนันเพื่อเอาเงินจากจำเลยที่ 2 ซึ่งมีเงินเป็นจำนวนมาก ผู้เสียหายถูกหลอกนำเงิน 3,000,000 บาท มาร่วมลงทุนเล่นการพนันโดยจำเลยทั้งสองกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกัน แต่การพนันเป็นเพียงแผนการที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกเอาเงินของผู้เสียหายให้แนบเนียน ทั้งผู้เสียหายก็ไม่มีเจตนาที่จะร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ต้น การที่ผู้เสียหายมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองกับพวกเพื่อเล่นการพนันดังกล่าวเป็นการตกหลุมพรางที่วางไว้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายเข้าร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยทั้งสอง ทั้งถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายร่วมเล่นการพนันกับจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกระทำผิด ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2563  พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่า จำเลยกับพวกกล่าวอ้างว่า สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ได้ อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ตามที่กล่าวอ้างได้ โดยการหลอกลวงของจำเลยกับพวกเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นความจริงและมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปดำเนินการตามที่จำเลยกับพวกกล่าวอ้าง ถือว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีในข้อหานี้ได้ ส่วนที่โจทก์ร่วมมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปนั้นล้วนเกิดขึ้นเพราะถูกจำเลยหลอกลวง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8013/2561  โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังด้วย ดังนั้น ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้นที่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ แต่ในส่วนที่เป็นต้นเงินกู้นั้นโจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้เอกสารปลอมหลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อยอมให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมโดยมอบเงินให้ไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวนี้ด้วย
          สำหรับจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และโจทก์รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 จะนำเงินไปปล่อยกู้และเรียกเอาผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง แสดงให้เห็นว่าโจทก์เจตนาทุจริตมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 นำเงินที่กู้ยืมดังกล่าวไปปล่อยกู้โดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ก็ตาม ถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกง

          จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งเพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812-3814/2556  จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอโนนแดง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของอำเภอโนนแดง เงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้งสี่โครงการรวม 1,308,104.40 บาท เป็นเงินที่ทางอำเภอโนนแดงต้องเบิกจากทางจังหวัดนครราชสีมาไปชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. แต่จำเลยไม่ได้เป็นกรรมการรับเงินที่จะมีอำนาจหน้าที่ไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าว การที่จำเลยใช้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ผู้ลงชื่อประสงค์จะตั้งจำเลยไปดำเนินการดังกล่าว ทั้งบางคำสั่งก็ตั้งกรรมการไม่ครบตามกฎระเบียบไปแสดงต่อเสมียนตราจังหวัดเพื่อขอเบิกและรับเงินโครงการดังกล่าว เมื่อได้รับเช็คแล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปโดยทุจริต เป็นการกระทำในส่วนที่นอกอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเจ้าพนักงาน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 147 ตามฟ้องอันเป็นบทเฉพาะได้ แต่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์เงินดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นจำเลยไม่ได้รับมอบทรัพย์โดยชอบแล้วเบียดบังไว้โดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อ ก. เพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษฐานนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ จึงเป็นการแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม แต่อำเภอโนนแดงร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

          จำเลยเป็นลูกจ้างร้านทองใช้กลอุบายนำสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายที่จำเลยมีหน้าที่ขายให้แก่ลูกค้าไปบอกแก่พนักงานเก็บเงินในร้านของผู้เสียหายว่าเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำแก่ทางร้าน เมื่อพนักงานเก็บเงินส่งมอบเงินซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่จะต้องนำไปมอบให้แก่ลูกค้าที่นำทรัพย์มาจำนำให้แก่จำเลยตามที่จำเลยอ้าง จำเลยก็รับเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตน การที่จำเลยได้เงินของผู้เสียหายไปจึงเกิดจากการที่พนักงานเก็บเงินซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16889/2555  จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายซึ่งประกอบอาชีพค้าขายทองคำและเป็นผู้จัดการร้าน มีหน้าที่ขายทองคำของผู้เสียหายให้แก่ลูกค้า และยังมีหน้าที่รับจำนำทองคำของลูกค้าด้วย จำเลยใช้กลอุบายนำสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายที่จำเลยมีหน้าที่ขายให้แก่ลูกค้าไปบอกแก่พนักงานเก็บเงินในร้านของผู้เสียหายว่าเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำแก่ทางร้าน เมื่อพนักงานเก็บเงินส่งมอบเงินซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่จะต้องนำไปมอบให้แก่ลูกค้าที่นำทรัพย์มาจำนำให้แก่จำเลยตามที่จำเลยอ้าง จำเลยก็รับเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตน การกระทำของจำเลยมิใช่เอาเงินของผู้เสียหายไปโดยพลการโดยทุจริต หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำ การที่จำเลยได้เงินของผู้เสียหายไปจึงเกิดจากการที่พนักงานเก็บเงินซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

          การกู้ยืมเงินดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ร่วมปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่า จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก่อนที่จะทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินและมีผลบังคับตามกฎหมายได้ จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2555   แม้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติให้มีการประกาศโฆษณาคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า เมื่อได้มีการประกาศโฆษณาดังกล่าวแล้วให้ถือว่าบุคคลภายนอกทุกคนต้องทราบคำพิพากษานั้นและมิได้ระบุถึงผลของการประกาศโฆษณาโดยแจ้งชัด ซึ่งตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้พออนุมานได้ว่าประสงค์จะให้การประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า บุคคลภายนอกทราบคำพิพากษาให้ล้มละลายที่ประกาศโฆษณาแล้วหรือไม่เท่านั้น ดังนี้ ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบถึงคำพิพากษาให้ล้มละลายก็ได้ 
          จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย และให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ร่วมปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่า จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก่อนที่จะทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินและมีผลบังคับตามกฎหมายได้ จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและได้มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง

          3. ความผิดฐานฉ้อโกง เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ การดำเนินคดีจึงอยู่ภายใต้อายุความร้องทุกข์ตามมาตรา 96 แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย กล่าวคือ ต้องร้องทุกข์ภายในเวลา 3 เดือนหรือกรณีไม่มีการร้องทุกข์ก็จะต้องฟ้องคดีภายในเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิเช่นนั้น คดีย่อมขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2564  ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลฉลองกรุงบันทึกไว้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 มีใจความว่า โจทก์ร่วมแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่าประมาณเดือนเมษายน 2559 โจทก์ร่วมว่าจ้างจำเลยก่อสร้างสนามฟุตบอล โดยจำเลยมีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง การจ่ายเงินในการก่อสร้าง การสั่งสินค้าต่าง ๆ ต่อมาโจทก์ร่วมเห็นว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเกินกว่างบที่ตั้งไว้ จึงให้จำเลยส่งมอบใบเสร็จรับเงินมาให้ตรวจสอบ เมื่อโจทก์ร่วมตรวจสอบแล้วจึงทราบว่าจำเลยนำใบเสร็จรับเงินซึ่งมีจำนวนเงินค่าสินค้าสูงเกินกว่าความเป็นจริงมาแอบอ้างแก่โจทก์ร่วมว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่ร้านค้าออกให้ ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีให้จำเลยไป เหตุเกิดที่ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งไว้และจะได้สอบสวนต่อไป ข้อเท็จจริงที่โจทก์ร่วมแจ้งแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวพอเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์ร่วมถูกจำเลยหลอกลวงด้วยการนำใบเสร็จรับเงินซึ่งหมายถึงบิลเงินสดที่ระบุจำนวนเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างสูงกว่าความเป็นจริงมาแสดงแก่โจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและจ่ายเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างให้จำเลยไปเกินกว่าความเป็นจริง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยฉ้อโกงโจทก์ร่วม ทั้งยังได้ความดังกล่าวข้างต้นว่าโจทก์ร่วมส่งมอบบิลเงินสดให้พนักงานสอบสวนไว้ด้วย และในข้อที่พนักงานสอบสวนบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่าจะได้สอบสวนต่อไป ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ขอให้พนักงานสอบสวนระงับการดำเนินการสอบสวนไว้ก่อน พฤติการณ์ของโจทก์ร่วมเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยแก่พนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษแล้ว จึงเป็นคำร้องทุกข์ซึ่งได้กระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2562  การที่ อ. รับฟังจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนของ อ. แนะนำว่าจำเลยที่ 2 สามารถฝากผู้เข้าสอบเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงออกให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปถึงเรื่องดังกล่าวอย่างไร เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมิได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรับหน้าที่ให้มากระจายข่าวในหมู่ผู้เข้าสอบให้แพร่หลาย เมื่อ อ. ไปพบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านเพื่อให้ช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองเข้ารับราชการตำรวจ โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกร้อง เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัวเท่านั้น หาได้มีพฤติการณ์อันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 โจทก์ทั้งสองทราบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 จึงล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
          โจทก์ร่วมทราบว่าถูกหลอกลวงเมื่อโจทก์ร่วมไปตามหาจําเลยที่หน่วยงานของจําเลย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 โจทก์ร่วมย่อมทราบได้ว่า จําเลยคือผู้ที่หลอกลวงโจทก์ร่วมตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ร่วมไปพบพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ข้อความที่ปรากฏในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุแจ้งชัดว่า เป็นการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและผู้แจ้งขอไปติดตามการสนทนาระหว่างผู้แจ้งกับจําเลยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป มิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ การแจ้งความตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน จึงไม่เป็นคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ โจทก์ร่วมเพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจําเลย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 เมื่อโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทำความผิด ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2561 การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมจึงพ้นกำหนดระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ สิทธิของโจทก์และโจทก์ร่วมในการนําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง เป็นเหตุในการฟ้องหย่า


          สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (6))

          การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง หมายความถึง การกระทำที่ขัดขวางต่อการที่ชายและหญิงจะดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างปกติสุข และการกระทำนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย จิตใจ สุขภาพ ของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงอันจะเป็นเหตุฟ้องหย่าได้นั้น การกระทำนั้นจะต้องถึงขนาดที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบด้วย ซึ่งต้องพิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดโดยมาตรฐานของคู่สมรสแต่ละคู่อาจจะแตกต่างกันไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2561  การที่โจทก์หายไปจากบ้านทิ้งจำเลยกับบุตรสองคนอยู่ตามลำพังนาน 3 เดือน ไม่สามารถติดต่อได้ จำเลยเป็นฝ่ายออกติดตามจนพบว่าโจทก์ไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล ส. จังหวัดภูเก็ต จำเลยเดินทางไปอยู่กับโจทก์ 3 เดือนต่อครั้ง โดยโจทก์จำเลยยังมีเพศสัมพันธ์กัน แม้โจทก์อ้างว่าการมีเพศสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามปกติในความเป็นสามีภริยา แต่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงย่อมต้องมีความยินยอมพร้อมใจ โดยเฉพาะฝ่ายชายหากไม่ยินยอมพร้อมใจ ย่อมยากที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ จึงหาใช่โจทก์จำเลยไม่มีเพศสัมพันธ์กันจนทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินควรและจนเป็นเหตุหย่าไม่ การที่จำเลยเดินทางไปตามหาโจทก์ที่จังหวัดภูเก็ต พบคลินิกแต่ไม่พบตัวโจทก์ พบแต่ ก. ทำงานในคลินิกและมีห้องนอนอยู่ติดกับห้องนอนโจทก์ในคลินิก แล้วจำเลยก็ไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้อีก เมื่อทราบว่าโจทก์มาเรียนต่อเฉพาะทางที่กรุงเทพ จำเลยจึงไปดักพบ โจทก์ไม่ยอมพูดด้วย จำเลยต้องเข้าไปนั่งข้างโจทก์ในห้องเรียน การที่ทันตแพทย์ที่ร่วมเรียนด้วยและอาจารย์ที่สอนพูดว่า โจทก์มีเมียมาคุม น่าจะเป็นคำพูดล้อเล่น ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำใดๆ ทำให้โจทก์ต้องอับอาย การที่สามีภริยาปรากฏตัวด้วยกันเป็นครั้งคราวย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งจำเลยกลับถูก ก. ที่มานั่งเฝ้าโจทก์ใช้กำลังทำร้ายและตะโกนด่าต่อหน้าบุคคลอื่น เมื่อโจทก์ขอร้องจำเลยก็ใจอ่อนไม่ดำเนินคดี การกระทำของจำเลยจึงหาใช่จำเลยทำให้โจทก์เสียหายเดือดร้อนเกินควรและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่ จึงไม่เป็นเหตุหย่า
          สามีภริยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง เมื่อฝ่ายภริยาคือจำเลยไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้ จำเลยย่อมเป็นฝ่ายได้รับการอุปการะเลี้ยงดู แต่เมื่อไม่ได้รับ จึงมีสิทธิเรียกจากฝ่ายสามีคือโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38



          พฤติการณ์ที่ถือว่าทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง


          พยายามถ่ายโอนทรัพย์สินหลายรายการออกไป และอยู่กินฉันสามีภริยากับชายอื่นโดยเปิดเผยในระหว่างที่จำเลยยังคงเป็นภริยาโจทก์ และการที่จำเลยมิได้ดูแลเอาใจใส่โจทก์เท่าที่ควรในขณะที่โจทก์อุปสมบทเป็นภิกษุ ล้วนเป็นการทำการปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3494/2547  โจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2530 มีบุตรแฝดด้วยกัน 2 คน โดยวิธีผสมเทียม ปัจจุบันบุตรทั้งสองมีอายุ 8 ปีเศษ ระหว่างอยู่กินกันฉันสามีภริยาในเดือนเมษายน 2537 โจทก์ไปบวชเป็นพระภิกษุ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2540 โจทก์ลาสิกขามาจดทะเบียนสมรสกับจำเลยและกลับไปบวชอีก ครั้นต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2542 จำเลยกับสิบตำรวจโทไพบูลย์ ได้เข้าพิธีแต่งงานกันและได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ในขณะที่โจทก์ยังเป็นสามีของจำเลยอยู่ แม้โจทก์จะไปร่วมงานในพิธีแต่งงานด้วย แต่โจทก์ก็อ้างว่าถูกข่มขู่และจำเลยยินยอมที่จะคืนหนังสือมอบอำนาจเกี่ยวกับที่ดินทั้งเจ็ดฉบับให้โจทก์ซึ่งเป็นเหตุที่โจทก์ต้องยินยอมไปร่วมพิธีแต่งงานของจำเลยกับสิบตำรวจโทไพบูลย์ พฤติการณ์ที่จำเลยพยายามถ่ายโอนทรัพย์สินหลายรายการไปจากโจทก์ และอยู่กินฉันสามีภริยากับสิบตำรวจโทไพบูลย์โดยเปิดเผยในระหว่างที่จำเลยยังคงเป็นภริยาโจทก์ และการที่จำเลยมิได้ดูแลเอาใจใส่โจทก์เท่าที่ควรในขณะที่โจทก์อุปสมบทเป็นภิกษุ ล้วนเป็นการทำการปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง และมิได้ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้

          การใช้ถ้อยคำหยาบคาย อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามอีกฝ่ายนั้น อีกทั้งการไม่ยอมร่วมหลับนอนด้วย ย่อมถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนอันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8803/2559  จำเลยใช้ถ้อยคำพูดกับโจทก์ว่า "กูเบื่อผู้ชายแก่ ๆ ควยเล็ก เซ็กส์ห่วย หัวล้าน ตัวเตี้ย ๆ หน้าเหี้ยใจยังเหี้ย หัวขโมยแบบมึงเต็มที" และ "กูมีความพร้อมทุกอย่าง สาวสวยเหมาะสมกับหนุ่ม ๆ แข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ พร้อมเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรยาก กูแต่งงานกับมึงเพื่อประชด อ. เจ็บ ก็แค่นั้น กูไม่ได้พิศวาสมึงเลย..." และส่งข้อความทางโทรศัพท์ว่า "เดี๋ยวกูจะไปนอนให้คนอื่นเอา" เป็นถ้อยคำหยาบคาย อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนอันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และ (6) ส่วนการที่โจทก์ไม่กลับบ้านนานนับสัปดาห์ ไม่ยอมหลับนอนกับจำเลย ออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมาอยู่ด้วยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ไม่อุปการะเลี้ยงดู จึงเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. 1516 (6) เช่นกัน
       
          แม้จะไม่มีหลักฐานชัดแจ้งว่ามีชู้ แต่เมื่อมีการกระทำในลักษณะที่ปันใจให้แก่ชายอื่นทั้งที่มีสามีอยู่แล้ว อันเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อขนบธรรมเนียมและประเพณีของสังคมไทย การกระทำของภริยาดังกล่าวย่อมทำให้ครอบครัวแตกแยกขาดความปกติสุข อีกฝ่ายหนึ่งต้องมีความทุกข์ทรมาน ถือว่าได้รับความเดือดร้อนเกินควร การกระทำดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุฟ้องหย่า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2559  โจทก์บันทึกข้อความหลายตอนลงในสมุดบันทึกที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความรักฉันชู้สาวกับชายอื่น ย่อมทำให้ครอบครัวแตกแยกขาดความปกติสุข อีกฝ่ายหนึ่งต้องมีความทุกข์ทรมาน ถือว่าได้รับความเดือดร้อนเกินควร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6)
          ในคดีแพ่งผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาให้ชัดแจ้งเท่านั้น ส่วนการปรับบทกฎหมายแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุหย่าตามป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แต่เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ความจากการสืบของทั้งสองฝ่ายถือเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (6) ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแห่งคดีได้
       
          บังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมร่วมประเวณีด้วยโดยไม่เต็มใจ ถือเป็นพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2559  แม้โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้าง แต่การร่วมประเวณีต้องเกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ไม่อาจบังคับได้ หากขืนใจถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276
          การที่จำเลยเรียกบุตรผู้เยาว์มาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีเพื่อให้บุตรผู้เยาว์ไปพักผ่อน เช่นนี้จะถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีไม่ได้ และการที่โจทก์มดลูกอักเสบจากการร่วมประเวณีของจำเลย จำเลยทราบแต่ไม่หยุดร่วมประเวณีกับโจทก์ จนโจทก์ต้องหนีออกจากบ้าน พฤติกรรมของจำเลยถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และยังถือเป็นพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) ด้วย



          ภริยาไปพักอาศัยอยู่กับชายอื่น ไม่ยอมกลับมาอยู่กินร่วมกันกับสามีที่บ้าน นอกจากมีพฤติการณ์ที่เป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงแล้ว ยังเป็นการทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นภริยาอย่างร้ายแรงอีกด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2543  เดิมโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาจดทะเบียนสมรสกันมีบุตรด้วยกัน 1 คน ต่อมาจดทะเบียนหย่าแล้วจดทะเบียนสมรสกันอีก ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์จำเลยแยกกันอยู่ โดยโจทก์กับบุตรอยู่ในประเทศไทย ส่วนจำเลยพักอาศัยอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาตามลำพัง โจทก์พาบุตรเดินทางไปเยี่ยมจำเลยตามปกติพบชายอื่นพักอาศัยอยู่ร่วมห้องกับจำเลยในอพาร์ตเมนต์ของจำเลย โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันหลังจากนั้นประมาณ 3 ปี โจทก์พาบุตรเดินทางไปพบจำเลยเนื่องจากต้องการให้จำเลยลงชื่อให้ความยินยอมในการขายตึกแถวสินสมรส โจทก์ก็พบจำเลยพักอาศัยอยู่ร่วมห้องกับชายอื่นอีกคนหนึ่งในอพาร์ตเมนต์ของจำเลยอีก โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันเช่นเคย เมื่อจำเลยเดินทางจากประเทศสหรัฐอเมริกามาที่ประเทศไทย จำเลยก็มากับชายอื่นและเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ด้วยกัน แทนที่จำเลยจะพักอยู่บ้านโจทก์ผู้เป็นสามีพฤติการณ์ของจำเลยจึงเป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้งเป็นการทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นภริยาอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1516 (2) (ก) (ข) และ (6) แม้ในระหว่างที่จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่น และให้ความอุปการะเลี้ยงดูด้วย ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยก็ชอบที่จำเลยจะยกขึ้นว่ากล่าวเอาความกับโจทก์ตามสิทธิที่มีอยู่ กรณีหาเป็นเหตุทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์สิ้นไปไม่

          ไม่ยอมกลับมาอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา ถือได้ว่าเป็นการกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2540  โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2493 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2519 ต่อมาปี 2528 จำเลยไปได้นางมีเป็นภริยา มีบุตรด้วยกัน 1 คนโจทก์ได้ฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 781/2528 คดีหมายเลขแดงที่ 1028/2528 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานีศาลในคดีดังกล่าวได้ทำการไกล่เกลี่ย โจทก์จำเลยตกลงกันว่าจำเลยจะต้องกลับมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกับโจทก์ห้ามเกี่ยวข้องกับหญิงอื่นต่อไป รวมทั้งห้ามนำหญิงอื่นเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านของโจทก์ โจทก์จึงได้ถอนฟ้องไป ปรากฏว่าหลังจากที่โจทก์ถอนฟ้องในคดีก่อนแล้ว จำเลยยังคงอยู่ร่วมกับนางมีฉันสามีภริยาต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน เห็นว่า การที่โจทก์ยอมถอนฟ้องในคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยนั้น ก็เพราะจำเลยตกลงเงื่อนไขกับโจทก์ไว้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขยังอยู่กินฉันสามีภริยากับนางมีต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน จึงมิใช่กรณีที่โจทก์ยอมให้อภัยจำเลยตลอดไปตามที่จำเลยกล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(6)

          สามีอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา ถือว่าทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีอีกด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2232/2535  การกระทำของโจทก์มีเหตุที่ทำให้จำเลยระแวงสงสัยว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่น เป็นเหตุให้จำเลยไม่พอใจและมีการทะเลาะกับโจทก์เสมอ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อพลทหารรับใช้ขณะที่โจทก์ซึ่งเป็นนายทหารไปราชการชายแดนสาปแช่งโจทก์ว่า ถ้าพิการก็เลี้ยงดูเอาเอง หากตายจะกลับมาเอาเงิน ทั้งบุพการีของโจทก์เป็นผู้ใหญ่เสียเปล่าทำตัวไม่น่านับถือ ไม่เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์เป็นการร้ายแรง เป็นเพียงถ้อยคำที่จำเลยกล่าวด้วยความน้อยใจที่ทราบว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นเท่านั้น ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ โจทก์อุปการะเลี้ยงดูยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา จำเลยไม่สามารถทนอยู่กินกับโจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่า แต่กรณีดังกล่าวจำเลยมีสิทธิฟ้องหย่าได้ การที่โจทก์อุปการะเลี้ยงดูยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาตลอดมา ย่อมมีเหตุที่จะทำให้จำเลยฟ้องหย่าได้ตลอดเวลาที่การกระทำยังไม่สิ้นสุด ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2556  สามีอุปการะเลี้ยงดูยกย่องภริยาเก่าฉันภริยา เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ภริยาฟ้องหย่าได้

          จำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน ถือได้ว่าจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4104/2564 การที่จำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน ถือได้ว่าจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) การที่จำเลยพาโจทก์และบุตรทั้งสามไปเที่ยวพักผ่อนค้างคืนด้วยกันเป็นเพียงการดูแลให้ความอบอุ่นแก่บุตรตามสมควรเท่านั้นยังไม่เพียงพอให้ถือว่าเป็นการที่โจทก์ได้ให้อภัยจำเลยในเหตุที่โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518


สัญญาขายฝาก


          มาตรา 491  "อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้"

          สัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายชนิดหนึ่ง โดยมีข้อตกลงในการทำสัญญาซื้อขายซึ่งทำให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ซื้อ และมีข้อตกลงว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้
          เมื่อสัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายชนิดหนึ่ง สัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์จึงต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด โดยต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2552  จำเลยขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ อ. และ ล. บิดามารดาโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะจำเลยแจ้งว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลัง แต่ทำสัญญาซื้อขายไว้พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้เข้าครอบครองอย่างเจ้าของ ข้อที่ว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังมีลักษณะเป็นการไถ่ทรัพย์คืนเช่นสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่านิติกรรมขายฝากทำผิดแบบตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1510/2552  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 บัญญัติว่า สัญญาขายฝากคือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อโดยมีข้อความตกลงว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์คืนได้ซึ่งตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ การขายฝากที่ดินจึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การฟังพยานหลักฐานต้องอยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข) คือ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลในกรณีขอสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น เมื่อตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินระบุว่าผู้ขายฝากได้รับเงินจากผู้ซื้อฝากครบถ้วนแล้ว การนำพยานบุคคลมาสืบว่ายังได้รับเงินไม่ครบ ย่อมเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2551  โจทก์ร่วมทั้งสองกับจำเลยทำสัญญาขายฝากที่พิพาทโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการขายฝากเกิดขึ้นเลย โจทก์ร่วมทั้งสองย่อมจะอ้างสิทธิการได้มาโดยการครอบครองโดยนิติกรรมการขายฝากนั้นไม่ได้ เพราะการขายฝากมิใช่ว่าผู้ขายฝากสละเจตนาครอบครองโดยเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อฝาก แต่ผู้ขายฝากมอบที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าวันหลังจะเอาคืน การที่โจทก์ร่วมทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากครบกำหนดไถ่เป็นการครอบครองโดยอาศัยอำนาจของจำเลยเพื่อทำการตัดไม้โกงกางไปเป็นประโยชน์เท่านั้น โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2544  โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์กู้เงินจากมารดาจำเลยหลายครั้ง โจทก์มอบโฉนดที่ดินให้มารดาจำเลยไว้เป็นประกัน ต่อมามารดาจำเลยแจ้งว่าโจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและในวันเดียวกันนั้น โจทก์กับจำเลยก็ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทที่บ้านของมารดาจำเลยในราคา 180,410 บาท เจตนาของโจทก์จำเลยที่แท้จริง คือต้องการขายฝากที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาท สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้ก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 155 วรรคสองและมาตรา 152 เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะคู่สัญญาคือโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ คือ โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย และจำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิเสธในยอดหนี้ที่มารดาจำเลยกล่าวอ้าง อีกทั้งยอมไถ่ถอนที่ดินพิพาทในราคา 180,410 บาท ตามคำขอท้ายฟ้อง ต้องถือว่ามีการรับเงินหรือหักกลบลบหนี้กันตามจำนวนดังกล่าว เมื่อสัญญาตกเป็นโมฆะโจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวน 180,410 บาท แก่จำเลย แต่จำเลยฎีกาขอให้โจทก์คืนเงินเพียง 180,000 บาท ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปจากคำขอฎีกาของจำเลยได้


          ข้อพิจารณาในกรณีที่ผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้


          (1) ถ้อยคำที่จะถือว่าเป็นข้อตกลงให้ไถ่ทรัพย์คืน จะใช้ถ้อยคำอย่างไรไม่สำคัญ เพียงให้ได้ความเข้าใจได้ว่าให้มีการไถ่คืนก็ใช้ได้ เช่น ซื้อกลับคืน ซื้อกลับมา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 594/2486  ขายที่ดินต่อกันแล้วมีข้อตกลงไว้ท้ายสัญญานั้นว่าถ้าผู้ขายต้องการซื้อคืนผู้ซื้อยอมขายให้ดังนี้ ถือว่าเป็นเรื่องขายฝาก การขายฝากที่ไม่ได้ตกลงว่าจะไถ่คืนเท่าไรก็ต้องไถ่คืนเท่าราคาที่ขายต่อกัน


          (2) ข้อตกลงให้ไถ่คืนหรือซื้อคืนจะต้องเกิดในขณะทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินนั้น จึงจะทำให้เป็นสัญญาขายฝาก แต่ถ้าผู้ซื้อให้สิทธิผู้ขายไถ่คืนได้ในภายหลัง ก็เป็นเพียงคำมั่นว่าจะขายนอกเหนือไปจากสัญญาซื้อขายนั้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3670/2528  ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว โจทก์จำเลยทำสัญญาต่อกันอีกฉบับหนึ่งว่า โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนได้ภายใน 10 ปี ดังนี้ สัญญาที่ทำต่อกัน ไม่ใช่สัญญาขายฝากหรือนิติกรรมอำพราง แต่ข้อกำหนดที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนจากจำเลยได้ภายใน 10 ปี เป็นคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง จึงมีผลผูกพันคู่กรณีใช้บังคับกันได้

          (3) ถ้าพ้นกำหนดเวลาไถ่แล้ว ต่อมามีการตกลงจะซื้อคืนกัน ก็จะกลายเป็นสัญญาซื้อขายขึ้นใหม่ต่างหาก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2535  หลังจากครบกำหนดการขายฝากแล้ว ส. ผู้ซื้อฝากกับ บ.ผู้ขายฝากทำหนังสือสัญญากันมีข้อความว่า "บ. ได้ให้เงิน ส.ค่าไถ่ถอนที่พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 33,000 บาท ส. ขายคืนที่พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ บ." ในวันที่ ส. รับเงินจาก บ.นั้น ส. และ บ. ได้พากันไปสำนักงานที่ดินจังหวัดเพื่อโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้ บ. แต่ยังโอนกันไม่ได้เพราะ บ.ไม่มีเงินค่าธรรมเนียมการโอน ได้ตกลงกันว่าก่อนปีใหม่ 2-3 วันจะไปโอนกันใหม่ แต่ ส. ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนแสดงว่า ส. จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้ บ.ภายหลัง จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทมิใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดและข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการขยายเวลาการขายฝาก เนื่องจากได้ครบกำหนดการขายฝากและ บ.หมดสิทธิไถ่คืนการขายฝากไปก่อนแล้ว

          (4) ข้อตกลงว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ถ้าทรัพย์นั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษแล้วจะต้องจดทะเบียนข้อตกลงดังกล่าวไว้ด้วย กล่าวคือ ต้องทำนิติกรรมตามแบบที่กฎหมายในเรื่องซื้อขายกำหนดไว้ในมาตรา 456 เพราะเหตุว่าสัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายชนิดหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2544  โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์กู้เงินจากมารดาจำเลยหลายครั้ง โจทก์มอบโฉนดที่ดินให้มารดาจำเลยไว้เป็นประกัน ต่อมามารดาจำเลยแจ้งว่าโจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและในวันเดียวกันนั้น โจทก์กับจำเลยก็ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทที่บ้านของมารดาจำเลยในราคา 180,410 บาท เจตนาของโจทก์จำเลยที่แท้จริง คือต้องการขายฝากที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาท สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้ก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 155 วรรคสองและมาตรา 152 เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะคู่สัญญาคือโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ คือ โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย และจำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิเสธในยอดหนี้ที่มารดาจำเลยกล่าวอ้าง อีกทั้งยอมไถ่ถอนที่ดินพิพาทในราคา 180,410 บาท ตามคำขอท้ายฟ้อง ต้องถือว่ามีการรับเงินหรือหักกลบลบหนี้กันตามจำนวนดังกล่าว เมื่อสัญญาตกเป็นโมฆะโจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวน 180,410 บาท แก่จำเลย แต่จำเลยฎีกาขอให้โจทก์คืนเงินเพียง 180,000 บาท ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปจากคำขอฎีกาของจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2546  โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากวัด พ. แต่โจทก์ยังไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาเช่า ส่วนจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าของ ส. มารดาจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าเดิมมาก่อน แม้สัญญาเช่าระหว่าง ส. กับวัด พ. ระงับไปแล้วถือว่าจำเลยอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นการละเมิดต่อเจ้าของที่ดิน มิใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินพิพาทโดยลำพัง
          ส่วนที่ ส. ทำสัญญาขายฝากบ้านพิพาทซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทแก่ ล. ภริยาโจทก์ แม้ระบุชื่อสัญญาว่าสัญญาขายฝากเฉพาะสังหาริมทรัพย์ แต่เนื้อหาสัญญาระบุขายฝากบ้านพร้อมที่ดินพิพาท ทั้งเมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน ล. อาศัยสัญญาขายฝากไปทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากวัด พ. ทันที และคำฟ้องโจทก์ที่ว่าโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพราะประสงค์เข้าอยู่อาศัยในบ้านพิพาทเอง พฤติการณ์มีเหตุผลน่าเชื่อว่า ล. รับซื้อฝากบ้านพิพาทเพื่ออยู่อาศัย มิใช่รื้อถอนไปอย่างสังหาริมทรัพย์จึงเป็นการขายฝากบ้านในลักษณะอสังหาริมทรัพย์ เมื่อคู่สัญญาทำสัญญากันเองโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 491โจทก์ไม่ใช่เจ้าของบ้านพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากบ้านพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2551  โจทก์ร่วมทั้งสองกับจำเลยทำสัญญาขายฝากที่พิพาทโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการขายฝากเกิดขึ้นเลย โจทก์ร่วมทั้งสองย่อมจะอ้างสิทธิการได้มาโดยการครอบครองโดยนิติกรรมการขายฝากนั้นไม่ได้ เพราะการขายฝากมิใช่ว่าผู้ขายฝากสละเจตนาครอบครองโดยเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อฝาก แต่ผู้ขายฝากมอบที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าวันหลังจะเอาคืน การที่โจทก์ร่วมทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากครบกำหนดไถ่เป็นการครอบครองโดยอาศัยอำนาจของจำเลยเพื่อทำการตัดไม้โกงกางไปเป็นประโยชน์เท่านั้น โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท



          กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินคืน

          กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินมีบัญญัติอยู่ในมาตรา 494 และ 495

          มาตรา 494  "ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้
          (1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย
          (2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย

          มาตรา 495  "ถ้าในสัญญามีกำหนดเวลาไถ่เกินไปกว่านั้น ท่านให้ลดลงมาเป็นสิบปีและสามปีตามประเภททรัพย์"

          กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์ถ้ากำหนดไว้ในสัญญาอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่กำหนดเวลาในสัญญาดังกล่าวจะต้องไม่เกินที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนด 10 นับแต่เวลาซื้อขาย ส่วนถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กำหนด 3 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย หากในสัญญากำหนดเวลาไถ่ทรัพย์ไว้เกินกำหนดเวลาตามมาตรา 494 ก็จะต้องลดลงมาเป็นสิบปีและสามปีตามประเภททรัพย์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องกำหนดระยะเวลาไถ่ทรัพย์สินไว้ในสัญญาขายฝาก ดังนั้น หากในสัญญาไม่มีกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินไว้ ก็ต้องใช้ระยะเวลาตามกฎหมาย โดยบังคับตามมาตรา 492 ประกอบมาตรา 494 คือ 10 ปีสำหรับอสังหาริมทรัพย์ และ 3 ปีสำหรับสังหาริมทรัพย์

          สัญญาขายฝากนั้น ถึงแม้ผู้ขายฝากตายไปทายาทก็ยังมีสิทธิไถ่ทรัพย์นั้นได้ตามกำหนด และกรณีนี้จะไม่เอาอายุความมรดกมาใช้บังคับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1093/2509  อายุความตามมาตรา 1754 เป็นอายุความห้ามฟ้องคดีมรดกหรือคดีที่เจ้าหนี้ขอบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก ส่วนคดีที่เจ้ามรดกเป็นเจ้าหนี้มิได้กำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษในมาตรา 1754 แต่อย่างใด เมื่อเป็นคดีที่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของนาย ก. ผู้ขายเดิมฟ้องขอไถ่ทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับซื้อฝากตามมาตรา 497(1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยหลังจากนาย ก. ผู้ขายเดิมตายเกิน 1 ปีคดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ เพราะคดีนี้ไม่เป็นคดีมรดกหรือเป็นคดีที่เจ้าหนี้ขอบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก จะนำมาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้        


          การขยายเวลาไถ่ทรัพย์สิน

          กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินสามารถขยายได้ตามมาตรา 496
          มาตรา 496  "กำหนดเวลาไถ่นั้น อาจทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ได้ แต่กำหนดเวลาไถ่รวมกันทั้งหมด ถ้าเกินกำหนดเวลาตามมาตรา 494 ให้ลดลงมาเป็นกำหนดเวลาตามมาตรา 494
          การขยายกำหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ ถ้าเป็นทรัพย์สินซึ่งการซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ห้ามมิให้ยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เว้นแต่จะได้นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือดังกล่าวไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086 - 2087/2550  สัญญาขายฝากที่ดินที่โจทก์ผู้ซื้อฝากทำกับจำเลยผู้ขายฝากมิได้กำหนดค่าสินไถ่ไว้ จำเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากตามราคาที่ขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคแรก หากจำเลยมีเงินไถ่ที่ดินที่ขายฝากภายในกำหนดเวลาตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้ไถ่ จำเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากด้วยการนำเงินสินไถ่ไปวางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าที่ดินที่ขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 วรรคแรก
          บันทึกข้อตกลงที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นหลักฐานว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยไถ่ที่ดินที่ขายฝากหลังจากครบกำหนดตามสัญญาแล้ว ถือได้ว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ แม้มิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็มีผลบังคับให้ผูกพันโจทก์ผู้รับไถ่ซึ่งลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 เมื่อสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่มิได้กำหนดเวลาไว้ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 494 กล่าวคือ จำเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินขายฝากภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาขายฝาก เมื่อจำเลยฟ้องขอไถ่ที่ดินที่ขายฝากจากโจทก์ยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาขายฝาก จำเลยจึงมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากจากโจทก์
          เมื่อจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่ขายฝากหลังจากทำสัญญาขายฝากให้โจทก์แล้วโดยโจทก์ยินยอมและโจทก์ทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ที่ดินที่ขายฝากให้จำเลย การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินที่ขายฝากต่อไปหลังจากครบกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาเดิมจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

          แต่ในกรณีที่ครบกำหนดเวลาไถ่แล้วภายหลังผู้ซื้อฝากยินยอมจะขายทรัพย์สินคืนให้นั้น เข้าลักษณะเป็นคำมั่นจะขายทรัพย์ มิใช่การขยายเวลาไถ่ทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2530  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขายฝากที่ดินและบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินให้โจทก์ กำหนดไถ่ภายในหนึ่งปี ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ไถ่ขอให้บังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านดังกล่าว จำเลยรับว่าขายฝากที่ดินและบ้านแก่โจทก์และครบกำหนดไถ่แล้วจริงแต่โจทก์ยินยอมให้จำเลยไถ่ที่ดินและบ้านได้ในภายหลัง จำเลยกำลังจะหาเงินมาไถ่ ดังนี้หากได้ความจริงตามคำให้การของจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวอาจเข้าลักษณะเป็นคำมั่นจะขายทรัพย์ซึ่งบังคับกันได้ มิใช่เป็นการขยายเวลาไถ่ทรัพย์
       


          บุคคลผู้มีสิทธิไถ่

          ตามมาตรา 497 สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้แต่บุคคล 3 ประเภทเหล่านี้ คือ

          (1) ผู้ขายเดิม หรือทายาทของผู้ขายเดิม คือ บุคคลที่ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สิน ถ้าผู้ขายฝากตายไป ทายาทของผู้ขายฝากก็มีสิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2018/2530  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497 บุคคลที่จะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากต้องเป็นผู้ขายเดิมทายาทผู้ขายเดิมผู้รับโอนสิทธิหรือบุคคลซึ่งในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้เป็นการกำหนดตัวผู้มีสิทธิไถ่ทรัพย์สินไว้โดยเฉพาะเจาะจงแล้ว โจทก์มิใช่บุคคลที่มีสิทธิในการไถ่ที่ดินพิพาทตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้น แม้โจทก์จะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ผู้ขายฝากหรือไม่ก็ตามโจทก์จะอ้างเหตุว่าที่พิพาทเป็นสินสมรสและขอใช้สิทธิไถ่ที่พิพาทหาได้ไม่.

          (2) ผู้รับโอนสิทธินั้น คือ สิทธิในการไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากถือเป็นทรัพย์สินจึงสามารถขายหรือโอนกันได้ หากผู้ขายฝากหรือทายาทได้ขายหรือโอนสิทธินั้นให้บุคคลอื่นไป บุคคลที่รับโอนสิทธินั้นมาย่อมมีสิทธิในการไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4729/2543  จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้แก่ ภ. บิดาโจทก์ ระหว่างที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝาก จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ ต่อมา จำเลยทำสัญญากับ ภ. ว่าไม่ประสงค์จะไถ่ถอนและขอสละสิทธิไถ่ถอน ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ ภ. ถือได้ว่า เป็นการขายขาดที่ดินให้แก่ ภ. โดยทำสัญญากันเอง จึงไม่เกิดผลเป็นสัญญาซื้อขายที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยยังมีสิทธิไถ่ถอนการขายฝากได้ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝากอยู่ และภายในกำหนดระยะการขายฝาก จำเลยย่อมมีสิทธินำที่ดินไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ได้ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนสิทธิมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นได้ด้วย เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิมีสิทธิไถ่ที่ดินได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3390/2538  สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อขาย ซึ่งตามสัญญาจะซื้อขายมีการวางมัดจำหรือชำระราคาบางส่วนไว้แล้วเข้ากรณีตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งอาจฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แม้ไม่มีเอกสารมาแสดงเมื่อมีปัญหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาซื้อขายครบถ้วนแล้วหรือไม่ โจทก์จึงมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบได้ มิใช่เป็นการสืบพยานเพื่อหักล้างเอกสารตาม ป.วิ.พ.มาตรา 94
          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 3 ต่อมาได้นำที่ดินและบ้านดังกล่าวไปทำสัญญาจะขายให้แก่โจทก์ดังนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 497 กำหนดบุคคลที่จะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก และใน (2) กำหนดให้ผู้รับโอนสิทธินั้นมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นได้ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องรับการไถ่แม้ว่าจะมิใช่คู่สัญญาขายฝากก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ยอมรับการไถ่ โจทก์จึงนำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ก่อนพ้นกำหนดไถ่ทรัพย์สินตามสัญญาขายฝาก จำเลยที่ 3 จึงปฏิเสธไม่ยอมรับการไถ่ถอนการขายฝากไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2492  โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะขายที่นา ขณะที่ฟ้องคดีนาไม่ได้อยู่ในกรรมสิทธิ์ของจำเลย โดยได้ตกไปเป็นของผู้รับซื้อฝากเสียแล้ว เมื่อจำเลยยังมิได้ไถ่ถอนกลับคืนมาก็ไม่มีทางที่จะบังคับให้จำเลย ทำการโอนขายให้โจทก์ได้ เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ศาลพิพากษาบังคับได้
          คดีผิดสัญญาจะซื้อขายที่นาอาจมีทางที่โจทก์จะเรียกร้องได้ในทางอื่น เช่น ใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายหรือใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยทำการไถ่ถอนการขายฝากจากผู้รับซื้อฝากแทนที่จำเลย แต่โจทก์หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ โจทก์ฟ้องโดยเฉพาะเจาะจงขอให้ศาลบังคับจำเลยโอนขายที่นาให้โจทก์แต่ประการเดียว เมื่อศาลบังคับให้โดยตรงเช่นนั้นไม่ได้ ต้องยกฟ้อง

          (3) บุคคลซึ่งในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้ 
          อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้ของผู้ขายฝากไม่ถือว่าเป็นบุคคลซึ่งในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2523  การที่ก่อนครบกำหนดไถ่ทรัพย์คืน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้มีหนังสือแจ้งขอสวมสิทธิไถ่ทรัพย์แทนผู้ขายฝากซึ่งเป็นลูกหนี้นั้น ถือไม่ได้ว่าผู้มีสิทธิในการไถ่ทรัพย์ได้ใช้สิทธิขอไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืน เพราะโจทก์เป็นเจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้เท่านั้น ไม่ใช่บุคคลผู้มีสิทธิไถ่ทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497


          ผู้มีหน้าที่รับไถ่

          ตามมาตรา 498 สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้เฉพาะต่อบุคคล 2 ประเภทเหล่านี้ คือ
          (1) ผู้ซื้อเดิม หรือทายาทของผู้ซื้อเดิม คือ บุคคลที่รับซื้อฝากไว้มีหน้าที่รับไถ่ แต่ถ้าภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์นั้นผู้ซื้อเดิมตาย ทายาทของผู้ซื้อเดิมก็มีหน้าที่รับไถ่
          (2) ผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น แต่ในข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ในเวลาโอน ว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน



          สินไถ่

          มาตรา 499  "สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก
          ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559  บันทึกเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความสรุปว่า จำเลยได้รับขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยยินดีจะทำสัญญาซื้อขายตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2556 ตามสัญญาเดิมที่ทำไว้พร้อมดอกเบี้ย โดยบันทึกดังกล่าวมีการอ้างถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมที่ น. มารดาโจทก์ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งหากเป็นการตกลงจะซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างกันใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมไว้ ทั้งยังตกลงให้โจทก์ต้องชำระสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝากเดิมให้แก่จำเลยภายในวันที่ 26 มกราคม 2556 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง แล้ว
          น. มารดาโจทก์ผู้ขายฝากและจำเลยผู้รับซื้อตกลงคิดดอกเบี้ยเดือนละ 12,000 บาท กรณีจึงเป็นการกำหนดราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ราคาสินไถ่ที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้


          การใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สิน

          มาตรา 492  "ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี
          ในกรณีที่ได้วางทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานของสำนักงานวางทรัพย์แจ้งให้ผู้รับไถ่ทราบถึงการวางทรัพย์โดยพลัน โดยผู้ไถ่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 333 วรรคสาม"

          การไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากโดยชอบตามมาตรา 492 ต้องปฏิบัติดังนี้
          (1) มีการไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
          (2) ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่ครบถ้วน หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2540  การใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากนั้น โจทก์ทั้งสองผู้ขายฝากจะต้องแสดงเจตนาเพื่อขอไถ่ต่อจำเลยผู้รับซื้อฝาก และจะต้องนำสินไถ่ตามราคาที่ขายฝากพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมการไถ่ไปพร้อมในวันไถ่การขายฝากด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 499 และมาตรา 500 เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ไถ่มีหน้าที่จะต้องชำระตอบแทนให้แก่จำเลย ฉะนั้น แม้โจทก์ทั้งสองจะยืนยันว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินพร้อมที่จะไถ่การขายฝากที่ดินจากจำเลยก็ตาม แต่ไม่ปรากฎว่าโจทก์ทั้งสองได้แสดงเงินสินไถ่ให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินดูและให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินเพียงพอที่จะไถ่การขายฝาก แต่กลับได้ความจาก ว. พยานจำเลยซึ่งเป็นสมุห์บัญชีธนาคารว่าได้รับการติดต่อจากจำเลยให้มารับเงินจากการไถ่การขายฝากที่ดิน แต่โจทก์ทั้งสองบอกให้รอนายทุนนำเงินมาไถ่ ซึ่งในวันนั้นไม่มีผู้ใดมาไถ่ที่ดินพิพาท แสดงว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีเงินสินไถ่จำนวนเพียงพอที่จะไถ่การขายฝากจากจำเลยได้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิไถ่โดยชอบแล้ว

          ถ้าผู้ขายฝากขอใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากไว้ภายในกำหนดเวลาไถ่แล้ว แต่ผู้ซื้อผัดผ่อนประวิงเวลาไปเรื่อยจนพ้นกำหนดไถ่ถอนคืน ก็ต้องถือว่ามีการใช้สิทธิไถ่ภายในกำหนดระยะเวลาไถ่แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1283/2508  ผู้ขายฝากขอไถ่ถอนที่ดินซึ่งขายฝากไว้ภายในกำหนดเวลาตามสัญญา ผู้ซื้อขอผัดผ่อนประวิงเวลาไปเรื่อย จนพ้นกำหนดไถ่ถอนคืน ดังนี้ จะถือว่าผู้ขายผิดนัดไม่ใช้สิทธิขอไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากภายในกำหนดหาได้ไม่ และไม่เป็นการขยายเวลาไถ่ถอนจากสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496 ด้วย (อ้างฎีกา 339/2502)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2515  ก่อนครบกำหนดไถ่คืนการขายฝาก ผู้ขายได้ติดต่อขอไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนจากผู้ซื้อและนัดวันที่จะไปจดทะเบียนไถ่ถอนกันแล้ว แต่ผู้ซื้อไม่ไปตามนัด หลังจากนั้นผู้ขายได้พยายามติดต่อกับผู้ซื้ออีก แต่ไม่สามารถติดต่อได้ผู้ขายจึงไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้เป็นหลักฐานว่าผู้ขายพร้อมแล้วที่จะไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนภายในกำหนดดังนี้ ถือได้ว่าผู้ขายได้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนภายในกำหนดแล้วโดยชอบ ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องรับไถ่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 899/2495)

          ผู้ซื้อนำทรัพย์ที่รับขายฝากไปโอนให้แก่ภริยาโดยเสน่หาทั้งๆ ที่ผู้ซื้อรู้อยู่ว่าผู้ขายยังมีสิทธิไถ่คืน ดังนี้ เป็นการฉ้อฉลอันทำให้ผู้ขายเสียเปรียบ ผู้ขายชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนให้นั้นเสียได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2516  โจทก์ขายฝากที่นาไว้กับจำเลย ต่อมาโจทก์ขอไถ่การขายฝากภายในกำหนดเวลา แต่จำเลยไม่ยอมโดยเกี่ยงจะให้โจทก์ชำระค่าเช่านาที่ค้างด้วย โจทก์จึงไม่ยอมวางเงินค่าขายฝาก เช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายไม่ยอมรับค่าขายฝากจากโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้ขอไถ่จากจำเลยภายในกำหนดเวลาขายฝากแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 627/2521  โจทก์มีเงินแต่ยังเบิกไม่ได้เพราะเป็นวันหยุดราชการรุ่งขึ้นไม่ได้ไถ่ขายฝากเพราะจำเลยว่าหนังสือสัญญาอยู่ที่อื่นให้มาไถ่วันหลังถือว่าโจทก์ใช้สิทธิไถ่ภายในกำหนดแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3372/2536  บันทึกด้านหลังของหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพากษากำหนดเงื่อนไขว่าโจทก์ขายฝากต้องนำเงินค่าไถ่ถอนไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาขายฝาก หากไม่สามารถติดตามตัวจำเลยผู้ซื้อฝากเพื่อขอไถ่ถอนได้นั้น หากปรากฎว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนที่ดินพิพากษาตามกำหนดเวลาแล้ว แต่จำเลยหลีกเลี่ยงประวิงเวลาเอาไว้ไม่ให้ไถ่ถอน โจทก์จึงหาจำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5377/2539  แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 320 โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้จะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้ไม่ได้ ซึ่งตามสัญญาระบุให้ชำระสินไถ่เป็นจำนวน 8,800,000 บาท สินไถ่จำนวนดังกล่าวเป็นเงินจำนวนมาก การชำระค่าสินไถ่ด้วยแคชเชียร์เช็คซึ่งเป็นเช็คที่ทางธนาคารออกให้ เช็คดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเงินสด หากจำเลยมีความสงสัยว่าเป็นเช็คปลอมหรือไม่มีเงินก็อาจตรวจสอบโดยโทรศัพท์สอบถามไปยังธนาคารที่ออกแคชเชียร์เช็คได้ แต่จำเลยก็ยืนกรานไม่ยอมรับแคชเชียร์เช็คซึ่งเป็นการผิดปกติ เพราะหากจำเลยต้องการรับชำระหนี้ด้วยเงินสดก็น่าจะระบุไว้ในสัญญาหรือแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมรับชำระหนี้เองและโจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากแล้ว แม้โจทก์มิได้ติดต่อกับจำเลยเรื่องไถ่ถอนการขายฝากด้วยตนเอง แต่ ส.ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมกันกระทำแทนแล้ว ส่วนการติดต่อล่วงหน้า 30 วันก่อนมีการไถ่ถอนหรือไม่ไม่ปรากฎ ซึ่งแม้จะติดต่อการไถ่ถอนล่วงหน้าไม่ครบ 30 วัน แต่จำเลยก็ได้มาพบโจทก์กับพวกที่ธนาคารและไม่ได้ยกระยะเวลาดังกล่าวขึ้นเป็นสาระสำคัญ จำเลยคงยกเรื่องไม่รับแคชเชียร์เช็คและต้องการเงินสดเท่านั้น แสดงว่าระยะเวลาบอกกล่าวการไถ่ถอนล่วงหน้า 30 วันไม่เป็นสาระสำคัญอีกต่อไป โจทก์จึงไม่ผิดสัญญาในข้อนี้


          ผลของการใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินโดยชอบ

          (1) ตามมาตรา 492 วรรคหนึ่ง "....มีผลให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี"
          (2) ดอกผลของทรัพย์สินที่ขายฝากตกเป็นของผู้ขายฝากนับแต่นั้น
          (3) กรรมสิทธิ์จะกลับคืนมาเป็นของผู้ไถ่โดยไม่จำเป็นต้องรอให้โอนทางทะเบียนก่อน แม้จะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษก็ตาม
          (4) ผลตามมาตรา 501 "ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น ท่านว่าต้องส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่ แต่ถ้าหากว่าทรัพย์สินนั้นถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของผู้ซื้อไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน"
          (5) ผลตามมาตรา 502
          มาตรา 502  "ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น ท่านว่าบุคคลผู้ไถ่ย่อมได้รับคืนไปโดยปลอดจากสิทธิใด ๆ ซึ่งผู้ซื้อเดิม หรือทายาท หรือผู้รับโอนจากผู้ซื้อเดิมก่อให้เกิดขึ้นก่อนเวลาไถ่
          ถ้าว่าเช่าทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างขายฝากอันได้จดทะเบียนเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วไซร้ ท่านว่าการเช่านั้นหากมิได้ทำขึ้นเพื่อจะให้เสียหายแก่ผู้ขาย กำหนดเวลาเช่ายังคงมีเหลืออยู่อีกเพียงใด ก็ให้คงเป็นอันสมบูรณ์อยู่เพียงนั้น แต่มิให้เกินกว่าปีหนึ่ง"

06 กันยายน 2567

การเล่นแชร์ อย่างไร ให้ถูกกฎหมาย

          การเล่นแชร์ ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 คือ การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย 

          สิ่งที่ควรจะต้องรู้เกี่ยวกับการเล่นแชร์ ให้ถูกกฎหมาย
          1) ห้ามนิติบุคคลเป็นท้าวแชร์ หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ (มาตรา 5)  
               โทษ นิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 5 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงสามเท่าของทุนกองกลางแต่ละงวดของทุกวงแชร์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าสองแสนบาท และให้ศาลสั่งให้นิติบุคคลนั้นหยุดดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือการจัดให้มีการเล่นแชร์ (มาตรา 16)
          2) ห้ามมิให้โฆษณาประกาศชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ (มาตรา 9)
               โทษ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท (มาตรา 19)
          3) บุคคลธรรมดา สามารถตั้งวงแชร์ได้ แต่
               3.1 ห้ามมิให้ เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง
               3.2 ห้ามมิให้ มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน
               3.3 ห้ามมิให้ มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (300,000 บาท)
               3.4 ห้ามมิให้ นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย  (มาตรา 6)
                 โทษ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 17)
          ทั้งนี้ บทบัญญัติในมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ (มาตรา 7)
          4) ห้ามมิให้นิติบุคคลสัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์หรือสมาชิกวงแชร์ (มาตรา 8)
               โทษ นิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 8 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท (มาตรา 18)

          เมื่อการเล่นแชร์ได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 แล้ว หากต่อมามีเหตุให้วงแชร์นั้นล้ม เช่น ท้าวแชร์บริหารผิดพลาด หรือเรียกเก็บเงินไม่ได้ ก็เพียงต้องรับผิดทางแพ่งเท่านั้น ไม่มีความผิดอาญาแต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2926/2544 เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลย เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ ก็จะตกได้แก่ผู้นั้น กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไปอีกและหากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็ต้องรับผิดแทน ซึ่งเป็นความผิดในทางแพ่งจำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก

          แต่ถ้าหากมีการตั้งวงแชร์โดยเจตนาทุจริตหลอกลวง เพียงเพื่อใช้การเล่นแชร์หลอกเอาเงินจากลูกวงแชร์เท่านั้น ไม่มีเจตนาเล่นแชร์จริง ท้าวแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ ก็ย่อมมีความผิดฐานฉ้อโกง

          เมื่อกฎหมายห้ามนิติบุคคลเป็นท้าวแชร์ การแล่นแชร์ที่นิติบุคคลเป็นท้าวแชร์จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น หนี้ค่าแชร์ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวจึงปราศจากมูลหนี้ที่จะบังคับกันได้ตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2774/2547 พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ ได้แยกการกระทำของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะเป็นความผิดไว้ต่างหากจากกันตามมาตรา 5 และมาตรา 6 ทั้งได้บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ในการเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะกรณีนายวงแชร์ผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่ในกรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่เป็นนิติบุคคล กฎหมายหาได้ให้สิทธิเช่นว่านั้นแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ เมื่อแชร์รายพิพาทมีบริษัท ส. เป็นนายวงแชร์ การแล่นแชร์รายนี้จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เช็คพิพาทที่สั่งจ่ายเงินเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวจึงปราศจากมูลหนี้ที่จะบังคับกันได้ตามกฎหมาย แม้โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเป็นสมาชิกวงแชร์ด้วยกัน โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ได้
          
          แม้ท้าวแชร์หรือนายวงแชร์จะจัดให้มีการเล่นแชร์โดยกระทำการอันฝ่าฝืนมาตรา 6 แห่ง พรบ.การเล่นแชร์ฯ แต่เมื่อในระหว่างลูกวงแชร์ด้วยกันนั้นมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังกล่าว ฉะนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของลูกวงแชร์ด้วยกันจึงไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วย สามารถฟ้องร้องได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231/2552 ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ไม่ประสงค์ให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งเอาแก่สมาชิกวงแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมตรา 6 เท่านั้น เพราะมาตรา 7 บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ แสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด การที่โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกมีการประมูลแชร์ระหว่างกันมาตลอด และจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ด้วยนั้นแสดงว่าโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกซึ่งเป็นลูกวงแชร์มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังกล่าว ฉะนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกจึงไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินค่าแชร์ที่ติดค้างให้โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2552  พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนและเพื่อมิให้มีการประกอบธุรกิจการเล่นแชร์ที่กระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบซึ่งส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม แต่การเล่นแชร์ของประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจยังให้กระทำต่อไปได้ ดังนั้น มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 ประการ เช่น ตามมาตรา 6 (3) อีกทั้งมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บัญญัติเอาความผิดแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืนมาตรา 6 แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์จะเอาความผิดเฉพาะผู้เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ดังนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ แต่นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 สิทธิหรือหน้าที่ของสมาชิกวงแชร์มีความผูกพันตามกฎหมายอยู่อย่างไรความผูกพันย่อมมีอยู่เช่นนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้และสั่งจ่ายเช็คเงินค่าแชร์มอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล เพื่อให้โจทก์นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าแชร์แก่โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่น สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อวงแชร์ล้มในวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 และเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกัน โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2543 จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทแม้เช็คดังกล่าวโจทก์จะได้มาจากการเล่นแชร์ซึ่งตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง แต่ในมาตรา 7 ก็บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ได้ ย่อมแสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียหมด การที่โจทก์จำเลยกับพวกซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมเล่นแชร์มีการประมูลระหว่างกันและจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์แล้วเช็คมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ด้วยกัน ย่อมไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์จำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์