06 กันยายน 2567

การเล่นแชร์ อย่างไร ให้ถูกกฎหมาย

          การเล่นแชร์ ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 คือ การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย 

          สิ่งที่ควรจะต้องรู้เกี่ยวกับการเล่นแชร์ ให้ถูกกฎหมาย
          1) ห้ามนิติบุคคลเป็นท้าวแชร์ หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ (มาตรา 5)  
               โทษ นิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 5 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงสามเท่าของทุนกองกลางแต่ละงวดของทุกวงแชร์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าสองแสนบาท และให้ศาลสั่งให้นิติบุคคลนั้นหยุดดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือการจัดให้มีการเล่นแชร์ (มาตรา 16)
          2) ห้ามมิให้โฆษณาประกาศชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ (มาตรา 9)
               โทษ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท (มาตรา 19)
          3) บุคคลธรรมดา สามารถตั้งวงแชร์ได้ แต่
               3.1 ห้ามมิให้ เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง
               3.2 ห้ามมิให้ มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน
               3.3 ห้ามมิให้ มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (300,000 บาท)
               3.4 ห้ามมิให้ นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย  (มาตรา 6)
                 โทษ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 17)
          ทั้งนี้ บทบัญญัติในมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ (มาตรา 7)
          4) ห้ามมิให้นิติบุคคลสัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์หรือสมาชิกวงแชร์ (มาตรา 8)
               โทษ นิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 8 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท (มาตรา 18)

          เมื่อการเล่นแชร์ได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 แล้ว หากต่อมามีเหตุให้วงแชร์นั้นล้ม เช่น ท้าวแชร์บริหารผิดพลาด หรือเรียกเก็บเงินไม่ได้ ก็เพียงต้องรับผิดทางแพ่งเท่านั้น ไม่มีความผิดอาญาแต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2926/2544 เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลย เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ ก็จะตกได้แก่ผู้นั้น กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไปอีกและหากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็ต้องรับผิดแทน ซึ่งเป็นความผิดในทางแพ่งจำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก

          แต่ถ้าหากมีการตั้งวงแชร์โดยเจตนาทุจริตหลอกลวง เพียงเพื่อใช้การเล่นแชร์หลอกเอาเงินจากลูกวงแชร์เท่านั้น ไม่มีเจตนาเล่นแชร์จริง ท้าวแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ ก็ย่อมมีความผิดฐานฉ้อโกง

          เมื่อกฎหมายห้ามนิติบุคคลเป็นท้าวแชร์ การแล่นแชร์ที่นิติบุคคลเป็นท้าวแชร์จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น หนี้ค่าแชร์ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวจึงปราศจากมูลหนี้ที่จะบังคับกันได้ตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2774/2547 พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ ได้แยกการกระทำของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะเป็นความผิดไว้ต่างหากจากกันตามมาตรา 5 และมาตรา 6 ทั้งได้บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ในการเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะกรณีนายวงแชร์ผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่ในกรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่เป็นนิติบุคคล กฎหมายหาได้ให้สิทธิเช่นว่านั้นแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ เมื่อแชร์รายพิพาทมีบริษัท ส. เป็นนายวงแชร์ การแล่นแชร์รายนี้จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เช็คพิพาทที่สั่งจ่ายเงินเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวจึงปราศจากมูลหนี้ที่จะบังคับกันได้ตามกฎหมาย แม้โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเป็นสมาชิกวงแชร์ด้วยกัน โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ได้
          
          แม้ท้าวแชร์หรือนายวงแชร์จะจัดให้มีการเล่นแชร์โดยกระทำการอันฝ่าฝืนมาตรา 6 แห่ง พรบ.การเล่นแชร์ฯ แต่เมื่อในระหว่างลูกวงแชร์ด้วยกันนั้นมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังกล่าว ฉะนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของลูกวงแชร์ด้วยกันจึงไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วย สามารถฟ้องร้องได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231/2552 ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ไม่ประสงค์ให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งเอาแก่สมาชิกวงแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมตรา 6 เท่านั้น เพราะมาตรา 7 บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ แสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด การที่โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกมีการประมูลแชร์ระหว่างกันมาตลอด และจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ด้วยนั้นแสดงว่าโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกซึ่งเป็นลูกวงแชร์มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังกล่าว ฉะนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกจึงไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินค่าแชร์ที่ติดค้างให้โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2552  พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนและเพื่อมิให้มีการประกอบธุรกิจการเล่นแชร์ที่กระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบซึ่งส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม แต่การเล่นแชร์ของประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจยังให้กระทำต่อไปได้ ดังนั้น มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 ประการ เช่น ตามมาตรา 6 (3) อีกทั้งมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บัญญัติเอาความผิดแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืนมาตรา 6 แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์จะเอาความผิดเฉพาะผู้เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ดังนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ แต่นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 สิทธิหรือหน้าที่ของสมาชิกวงแชร์มีความผูกพันตามกฎหมายอยู่อย่างไรความผูกพันย่อมมีอยู่เช่นนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้และสั่งจ่ายเช็คเงินค่าแชร์มอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล เพื่อให้โจทก์นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าแชร์แก่โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่น สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อวงแชร์ล้มในวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 และเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกัน โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2543 จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทแม้เช็คดังกล่าวโจทก์จะได้มาจากการเล่นแชร์ซึ่งตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง แต่ในมาตรา 7 ก็บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ได้ ย่อมแสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียหมด การที่โจทก์จำเลยกับพวกซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมเล่นแชร์มีการประมูลระหว่างกันและจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์แล้วเช็คมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ด้วยกัน ย่อมไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์จำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์